มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 424 หัวเรื่อง
วัฒนธรรมเกี่ยวกับร่างกายและพื้นที่
สมเกียรติ ตั้งนโม
สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

R
relate topic
200747
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบเรื่องพิเศษบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องร่างกาย และพื้นที่ ผ่านมุมมองวัฒนธรรมทางสายตา
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


The visual culture reader
วัฒนธรรมทางสายตาเกี่ยวกับเรื่องร่างกายและพื้นที่
สมเกียรติ ตั้งนโม
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Nicholas Mirzoeff
Introduction to part three
Visuality: Virtual Bodies, Vitual Space
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ แปลและเรียบเรียงมาจากบทนำในส่วนที่สามของหนังสือ The Visual Culture Reader
Nicholas Mirzoeff บรรณาธิการและเขียนบทนำ
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 13 หน้ากระดาษ A4)

 


Introduction to part three
Nicholas Mirzoeff

ความเสมือนจริง(virtuality)เป็นคำที่ค่อนข้างยอดนิยมในช่วงทศวรรษที่ 1990s สำหรับคำนี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นหนทางใหม่อันหนึ่งเกี่ยวกับประสบการณ์ภายนอกของเรา มันเป็นภาพเสมือนจริงที่สมบูรณ์อันหนึ่ง ซึ่งมองเห็นได้โดยหมวกความจริงเสมือน(virtual reality helmet) ซึ่งถูกสวมโดยผู้ใช้งาน เพื่อที่จะติดต่อประสานงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์(interface) ด้วยการมองเห็นเป็นภาพสามมิติ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์

นักวิจารณ์บางคนต้องการที่จะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นการแตกหักอย่างถึงที่สุดกับอดีต มันเป็นการนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอันหนึ่งของชีวิตประจำวัน ที่ค่อนข้างสุดขั้วนับจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ส่วนคนอื่นๆยืนยันว่า มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ขึ้นมาหน่อยหนึ่งเท่านั้นสำหรับสิ่งนี้ และย้อนรำลึกไปถึงสภาพแวดล้อมของสิ่งประดิษฐ์ทางสายตาต่างๆที่เราอาจหลงลืมกันไปแล้ว นับจากภาพจอกว้างที่เราเรียกว่าพานอรามา ถึงเครื่องมองภาพสามมิติ(stereoscope) และ zootrope ที่ทำให้ผู้ดูรู้สึกเหมือนว่าจ่อมจมอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง

ภาพประกอบ : ตัวอย่างของกล้อง stereoscope

ภาพประกอบ : ตัวอย่างของ zootrope

แน่นอน ความเสมือนจริงนั้นเป็นสิ่งเคยประสบกันมาก่อน บางทีอาจจะนานจนกระทั่งผู้คนต่างๆพากันหลงลืมหรือเขวกันไปแล้ว อย่างเช่นทักษะของศิลปินคนหนึ่ง ซึ่งได้ถ่ายทอดภาพในแบบเหมือนจริง. ส่วนอีกด้านหนึ่ง สภาพแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยคอมพิวเตอร์ได้ให้โอกาสกับเราที่จะมีปฏิกริยาต่อการเปลี่ยนแปลง และแปรสิ่งนี้ไปสู่ความจริงที่เป็นมายาการ มันคือจังหวะโอกาสอันหนึ่งซึ่งไม่มีสื่อใดสามารถทำได้มาก่อน

โดยรากแล้ว คำถามอันนี้คือ ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายของมนุษย์กับพื้นที่(space) ซึ่งถูกสื่อสารโดยประสาทตา. อะไรคือร่างกายในยุคสมัยของความเสมือนจริง? พื้นที่สามารถถูกนำมาพูดถึงได้ในฐานะที่เป็นสื่อกลางที่เปลี่ยนแปลงไป มากกว่าการที่มันถูกพิจารณาในฐานะที่เป็นเพียงความว่างเท่านั้น อันนี้เป็นไปได้อย่างไร? สำหรับคำถามต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ถูกยกขึ้นมาถามกันในส่วนที่สามของหนังสือเล่มนี้

(ก) เรือนร่างเสมือนจริง (The Virtual body)
ทศวรรษหนึ่งมาแล้ว มีงานพิมพ์ที่จะนำมาใช้เพื่อประกอบการสอนจำนวนน้อยมาก เมื่อผมต้องการสอนในกระบวนวิชาหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องร่างกาย(body). แต่ปัจจุบัน ดูเหมือนว่าเรื่องราวหรือเนื้อหาทำนองนี้มีอยู่มากมายและครอบคลุมเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าวทุกๆแง่มุม จนกระทั่งยากต่อเรามันที่จะสามารถครอบคลุมขอบเขตความรู้ทั้งหมดนี้ได้

การคิดให้ตลอดถ้วนทั่วเกี่ยวกับเรื่องร่างกายของคนเรา ได้หล่อมหลอมวิธีการศึกษาต่างๆขึ้นมาใหม่ อาทิเช่นเรื่องของเชื้อชาติและเพศสภาพ เช่นเดียวกับการสร้างขอบข่ายวิชาความรู้ใหม่ๆขึ้นมา อย่างการศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง"การไร้ความสามารถ"(disability studies)

ในส่วนที่สามนี้ ผมได้เลือกที่จะโฟกัสลงไปยังพื้นที่ของการวิจัยใหม่ๆเหล่านี้ ซึ่งได้สร้างไอเดียใหม่จำนวนมากขึ้นมาเป็นลำดับ กล่าวคือ วิธีการศึกษาในแบบสตรีนิยม ไปจนถึงภาพร่างกายในทางเทคนิคและวิทยาศาสตร์. ในที่นี้นักวิชาการทางด้านสตรีนิยม พยายามที่จะหักร้างถางพงเพื่อบุกเบิกพื้นที่ต่างๆขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่เคยได้รับการเหลียวแลมาก่อน ในฐานะที่เป็นแกนกลางต่อลัทธิสตรีนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของภาพ(visual)ในตัวมันเอง

Donna Haraway นักบุกเบิกคนหนึ่งในงานวิจัยทางด้านสตรีนิยมในเรื่องเกี่ยวกับวาทกรรมหรือคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ได้แสวงหาหนทางที่จะใช้การมองและภาพเพื่อนิยามความเชื่อทางวิชาการขึ้นมาใหม่ให้ปรากฎเป็นรูปธรรม ในส่วนที่เป็นใจความสำคัญอันหนึ่งของหนังสือ ซึ่งปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นหนังสือคลาสสิคของเธอไปแล้วเรื่อง Simians, Cyborgs and Women (1991) (simian คำนี้หมายถึงลิงใหญ่ประเภทหนึ่ง ไม่มีหาง)

เธอแทนที่เรื่องของ"การจ้องมองอย่างผู้ชนะจากที่ใดที่ไม่ปรากฏ"(the conquering gaze from nowhere) ด้วยการยืนยันอย่างหนักแน่นถึง "ธรรมชาติที่ถูกทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในเรื่องของการมองทั้งหมด"(the embodied nature of all vision), อันนี้ท้าทายต่อความคิดเดิมที่ถือปฏิบัติกันมาในทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการสังเกต ซึ่งสามารถเทียบกันได้กับการที่ Descartes ได้ท้าทายต่อความอิ่มอกอิ่มใจของลัทธิผู้คงแก่เรียนในสมัยกลาง(scholasticism)เลยทีเดียว

Haraway ให้เหตุผลว่า "การมอง"ไม่เคยถูกค้นพบว่ามันมีความบริสุทธิ์ ดังภาพที่ถูกนำเสนอโดยเส้นต่างๆทางเรขาคณิตซึ่งนำมาใช้โดยทัศนียภาพแบบ Cartesian, และไม่ใช่ทุกๆสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างเรียบง่าย. เธอมีเป้าประสงค์หรือจุดมุ่งหมายที่การให้นิยามใหม่อีกครั้งเกี่ยวกับเรื่องของการมอง ซึ่งยินยอมให้มีการสร้างสิ่งที่เธอเรียกว่า"situated knowledge"(ความรู้ที่ได้รับการวางหรือถูกกำหนดขึ้น)

เธอได้แทนที่"การมอง"ในลักษณะหลุดพ้นไปจากร่างกาย(หรือมองมาจากเบื้องบน) ด้วยทัศนะของปัจเจกจากที่ใดที่หนึ่ง เธอเน้นว่า "สายตาหรือการมองนั้นเป็นเรื่องการเมืองเกี่ยวกับเรื่องของตำแหน่ง… การต่อสู้กับสิ่งซึ่งนับได้ว่าเป็นเรื่องราวหรือคำอธิบายในเชิงเหตุผลเกี่ยวกับโลก ที่ต่อสู้กันในเรื่องการมองว่า มีการมองกันอย่างไร"

คล้ายๆกับ Descartes, Haraway ตระหนักและยอมรับว่า การเข้าใจการมองเป็นตัวอย่างที่สำคัญอันหนึ่ง ของสิ่งที่จะได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นระเบียบวิธีของเหตุผล. แต่ไม่เหมือนกับ Descartes ตรงที่ เธอยอมรับอย่างเปิดเผยว่า ภาพอันนั้นมักจะเกี่ยวกับเรื่องอำนาจและตำแหน่งการมอง(power and position) หมายความว่า วิธีการมองใดๆก็ตามจักต้องเป็นบางส่วนของเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจและตำแหน่งการมองเสมอ

ตามการนำของ Haraway - และของบรรดานักวิชาการทางด้านสตรีนิยมคนอื่นๆนั้น อย่างเช่น Sandra Harding และ Chela Sandoval - ได้ก่อให้เกิดการตรวจสอบอันน่าตื่นเต้นขึ้นมาอีกครั้งเกี่ยวกับการมอง และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในความสัมพันธ์กับเรื่องร่างกาย

ในหนังสือสำคัญของเธอเรื่อง Screening the Body (1995), Lisa Cartwright ได้เริ่มต้นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับภาพยนตร์จากทัศนียภาพอันนี้:

เครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับภาพยนตร์ สามารถได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นเทคโนโลยีทางวัฒนธรรมอันหนึ่ง สำหรับระเบียบวินัยและการจัดการเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์… ประวัติศาสตร์อันยาวนานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ และการตรวจตราทางด้านร่างกาย ทั้งในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ได้ถูกนำไปผูกติดกับประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพัฒนาการของภาพยนตร์อย่างน่าวิพากษ์วิจารณ์ ในฐานะที่เป็นสถาบันทางวัฒนธรรมยอดนิยม และในฐานะที่เป็นกลไกหรืออุปกรณ์ต่างๆทางด้านเทคโนโลยี

ในข้อความที่คัดมาข้างต้นนี้ เธอได้แสดงให้เห็นว่า ภาพถ่ายเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ได้รับการผลิตขึ้นมาโดย Etienne-Jules Marey และ Eadweard Muybridge ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 มักจะเป็นจุดเริ่มต้นในเชิงขนบประเพณีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ และมันได้สร้างปฏิกริยาที่มีชีวิตชีวาอันหนึ่งขึ้นมาระหว่าง "ความนิยม" กับ "การเป็นตัวแทนอย่างมืออาชีพเกี่ยวกับร่างกาย ในฐานะที่เป็นที่ตั้งของชีวิตมนุษย์และความเป็นตัวตน"

โดยการดำเนินรอยตามผลงานของ Michel Foucault, ผลงานของเธอจะปรากฏขึ้นมาอยู่บ่อยๆตลอดหนังสือเล่มนี้ในส่วนต่างๆ, Cartwright ได้แสดงให้เห็นว่า ภาพยนตร์และภาพถ่ายได้ถูกนำมาใช้เพื่อสาธิตหรือแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านความรู้อันหนึ่ง ไปสู่การคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับชีวิตในเชิงนามธรรม ในฐานะที่มันตรงข้ามกับการดำรงอยู่ของปัจเจก

ร่างกายในงานภาพยนตร์ได้เผยแสดงให้เห็นถึงสิ่งต่างๆ ซึ่งลูกตา ในตัวของมันเอง ไม่สามารถมองเห็นได้, การใช้ภาพ close-ups หรือการถ่ายภาพเข้าไปใกล้ๆ และการกรอบภาพขนาดใหญ่ ได้ช่วยขยายหรือยกระดับการมองของเราตามธรรมชาติขึ้น. ร่างกายเสมือนจริงนี้ได้กระทำบางสิ่งในหนทางที่ไม่ได้คาดหวังใดๆ มันได้นำเสนอต้นตอของความพึงพอใจทางภาพยนตร์มาให้สำหรับผู้ชมในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 และยังเป็นแหล่งที่มาอย่างสำคัญของความรู้ทางด้านการแพทย์ด้วย

ภาพร่างกายเสมือนที่นำเสนอในภาพยนตร์ โทรทัศน์ และโฆษณาต่างๆ ได้สร้างมาตรฐานที่เป็นไปไม่ได้อันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งสวนทางกันกับการที่ผู้คนจริงๆตัดสินหรือพิจารณาร่างกายของพวกเขาเอง. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเรียงของ Susan Bordo และ Anne Balsamo ได้ทำการสำรวจ ถึงบรรดาผู้หญิงทั้งหลายว่า บ่อยครั้ง พวกเธอมักจะพยายามกระเสือกกระสนที่จะก้าวให้ทัน หรือถลันเข้าไปใกล้ช่องว่างระหว่างภาพลักษณ์และความเป็นจริงอันนั้นอย่างไร

ในงานที่คัดมาลงในส่วนที่สามนี้ จากความเรียงของเธอเรื่อง "Reading the Slender Body" (ภายหลังได้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือของเธอชื่อ Unbearable Weight) Susan Bordo ได้เพ่งเล็งถึงบทบาทของร่างกายตัวแทน ในการสร้างสรรค์ลัทธิหรือความคลั่งไคล้ใหม่ขึ้นมาเกี่ยวกับความผอมบาง(slenderness)(Bordo 1990 - 1993). แค่เพียงศตววรษล่าสุดเท่านั้นที่บรรดาชาวตะวันตกทั้งหลายได้ให้คุณค่าหรือมีค่านิยมเกี่ยวกับความบาง(thinness) ด้วยการงดอาหารและตอนนี้ก็มาออกกำลังกายเพื่อที่จะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายอันนี้

โดยการอ้างอิงถึง Foucault, Bordo ได้แสดงให้เห็นว่า การเป็นตัวแทนของ"ความผอม" กลายมาเป็นรูปแบบหรือระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆในเชิงปฏิบัติชุดหนึ่ง และเป็นข้อบังคับ(ทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย)ขึ้นมา ซึ่งชีวิตร่างกายได้ถูก"ฝึก, ถูกปรับ(รูปร่าง), ถูกทำให้เชื่อฟังและตอบรับต่อกฎระเบียบหรือข้อบังคับอันนั้น" เธอชี้ให้เห็นถึงความผอมว่าได้กลายเป็นเครื่องมืออันหนึ่งซึ่ง ไม่เพียงทำให้ร่างกายบางลงเท่านั้น แต่ก่อให้เกิดความเข้มงวดและความตึงเครียดขึ้นมาด้วย กับร่างกายและกล้ามเนื้อทุกส่วนที่ถูกมองเห็นว่ามากเกินไป

นับจากช่วงต้นของคริสตศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา นำหนักร่างกายที่มากเกินไปได้ถูกมองดูในฐานะที่เป็นผลสะท้อนทางศีลธรรม หรือความไม่รู้จักพอของบุคคล, หรือเป็นผู้ที่ขาดเสียซึ่งเจตจำนงหรือความตั้งใจ ด้วยเหตุนี้ รูปลักษณ์ของเรือนร่างจึงได้รับการมองว่าเป็นตัวบ่งชี้เกี่ยวกับ"ภาวะของจิตวิญญาน"

คำสั่งต่างๆเหล่านี้ คอยจัดระเบียบหรือกำหนดกฎเกณฑ์ให้กับร่างกายของพวกเราเองให้มีผลเป็นไปอย่างนั้น เพราะพวกมันอยู่ภายในแคบซูลเป้าหมายทางสังคมต่างๆที่กว้างกว่า - ร่างกายและกล้ามเนื้อที่ผอมบาง ถูกมองในฐานะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวรวดเร็วหรือความกระฉับกระเฉงทางสังคมและความสำเร็จ - ขณะเดียวกัน บทบาทต่างๆทางเพศสภาพก็พยายามผลักดันผู้คนไปสู่เขตแดนที่กำหนดตายตัวอันนั้นเช่นกัน

เทคโนโลยีทางด้านการแพทย์สมัยใหม่ ได้เปลี่ยนแปลงความสามารถไปสู่การสร้างภาพร่างกายขึ้นมาในขอบเขตหนึ่ง ซึ่งในประโยคที่น่าประทับใจของ Anne Balsamo กล่าวว่า "เทคนิคใหม่ในการทำให้เป็นภาพขึ้นมาเหล่านี้ ได้แปรเปลี่ยนร่างกายที่เป็นวัตถุไปสู่สื่อกลางภาพทางสายตา"

ในงานที่คัดเอามาถ่ายทอดในส่วนที่สามจากความเรียงเรื่อง"On the Cutting Edge(1992)ของเธอ, Balsamo ได้แสดงให้เห็นว่า การวิเคราะห์ตามแนวทางของสตรีนิยมเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่ทางการแพทย์ในเรื่องร่างกายของผู้หญิง สู่เรื่องราวต่างๆทางพยาธิวิทยาอย่างมีศักยภาพชุดหนึ่ง มาถึงตอนนี้ ได้รับการผนวกด้วยการตีความเกี่ยวกับการศัลยกรรมตกแต่งและศัลยกรรมฟื้นฟู(reconstructive surgery - ศัลยกรรมสร้างใหม่)เข้าไปด้วย มากกว่าการพยายามที่จะค้นให้ลึกลงไปในร่างกาย การดำเนินการต่างๆเหล่านี้ได้จัดหาทางลัดรายรอบประเด็นทางศีลธรรมเกี่ยวกับการมีวินัยกับตัวเองทางด้านกายภาพ (เช่น แทนที่จะผอมด้วยการสร้างวินัยให้กับตนเองในการกิน ก็หันไปใช้วิธีการต่างๆทางการแพทย์)

โดยการเพ่งความสนใจหรือความเอาใจใส่เพียงผิวหน้าแต่ลำพังนั้น ศัลยกรรมพลาสติกสามารถทำให้ร่างกายของปัจเจกชน ปรับเปลี่ยนไปสู่บรรทัดฐานทางสุนทรีย์ได้อย่างสอดคล้อง: "ในวิธีการทำศัลยกรรมทางความงามนี้ ได้แปรเปลี่ยนร่างกายในเชิงวัตถุไปสู่เครื่องหมายหนึ่งทางวัฒนธรรม(a sign of culture)"

ขณะที่บรรดาผู้หญิงทั้งหลาย นานมาแล้ว ต้องต่อสู้กับมาตรฐานที่เป็นนามธรรมของความเป็นผู้หญิงและความงาม, ปัจจุบัน ศัลยแพทย์ทั้งหลายทางด้านความงาม แสวงหาหนทางที่จะประยุกต์มาตรฐานต่างๆเหล่านี้โดยตรง สู่บรรทัดฐานเกี่ยวกับใบหน้าต่างๆของผู้คน, ทั้งในรูปของตัวหนังสือที่ได้จากตำรามาตรฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้, และในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องสัดส่วนของความกลมกลืนและดุลยภาพ…

ความกลมกลืนและความสมมาตรได้ถูกเปรียบเทียบกับเรื่องของจิตใจ, เกือบจะเป็นเรื่องไสยศาสตร์(magical), หัวข้อในเชิงอุดมคติ, ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานของเราเกี่ยวกับเรื่องของความงาม". ไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใดเลยว่า "ใบหน้าตามอุดมคติ" ที่ผู้คนทั้งหลายต่างต้องการไปให้ถึง ปรากฏว่าเป็นใบหน้าของคนผิวขาวชาวยุโรปตอนเหนือ

แม้ว่าจะมีผู้ชายจำนวนมากขึ้นในทุกวันนี้กำลังปฏิบัติการในสิ่งเหล่านี้อยู่ก็ตาม แต่เดิมทีเดียว พวกมันได้รับการพุ่งเป้าไปยังบรรดาผู้หญิงทั้งหลาย ผู้ซึ่งถูกถือว่าต้องรับผิดชอบต่อความบกพร่องต่างๆอันหลากหลายเกี่ยวกับร่างกายของพวกเธอ มากและเข้มข้นขึ้นยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แรงกดดันต่างๆเพื่อไปสู่ข้อกำหนดอันยากลำบากนั้น ผู้หญิงบางคนจะต้องทำเช่นนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งกลายเป็นทาสของคมมีดผ่าตัด(scalpel slaves) ในช่วงอายุหลังสามสิบและสี่สิบของพวกเธอ

บ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้คือประวัติศาสตร์ตอนเป็นวัยรุ่นของผู้หญิงหลายๆต่อหลายคนเกี่ยวกับการมีภาวะไม่อยากอาหาร(หรือไม่สามารถรับประทานอาหารได้ที่เรียกว่า anorexia) อันนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า การบีบบังคับเพื่อทำให้ร่างกายถูกต้อง เป็นไปตามอุดมคติ ซึ่งถูกเน้นโดย Bordo มาถึงตอนนี้ได้กลายเป็นเรื่องของเทคโนโลยีไปแล้ว

Balsamo สรุปว่า "เรือนร่างกลายเป็น… ที่ทางอันหนึ่งซึ่งผู้หญิงทั้งหลาย จะโดยสำนึกหรือไม่ก็ตาม ต่างยอมรับถึงความหมายต่างๆอันนั้นที่วนเวียนอยู่ในวัฒนธรรมยอดนิยมเกี่ยวกับความงามในเชิงอุดมคติ และในการเปรียบเทียบกับการลดทอนคุณค่าร่างกายในเชิงวัตถุลง"

แต่อย่างไรก็ตาม มองไปที่เรื่องของแฟชั่นที่กว้างกว่าสำหรับ"เรือนร่างที่เปรี้ยวจี๊ด"(body-piercing), ความเพ้อฝันของไซเบอร์พั๊งค์เกี่ยวกับบางส่วนของร่างกายเทียม ที่เป็นเรื่องของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี - และใครบางคนอาจเพิ่มเติมเลยไปถึงศัลยกรรมความงามที่เป็นศิลปะปฏิบัติของ Orlan (the cosmetic surgery performance art of Orlan) - ซึ่งเธอเสนอแนะว่า เราอาจต้องการที่จะไปให้พ้นจาก "ความโหยหานีโอโรแมนติคเกี่ยวกับธรรมชาติ, อันเป็นเรื่องของเรือนร่างที่ไร้เป้าหมาย"

นั่นคือในท้ายที่สุด อุดมคติได้เป็นตัวชี้นำของศัลยกรรมทางด้านความงาม. เทคโนโลยีในฐานะรูปแบบหนึ่งของพลังอำนาจเป็นดาบสองคม: มันสร้างวินัยขึ้นมา และให้อำนาจในเวลาเดียวกัน. คำถามยังคงเป็นเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์(new corporal technologies) จากความถูกต้องของสายตา ไปสู่เทคนิคเกี่ยวกับภาพ และศัลยกรรมรูกุญแจ(keyhole surgery - เป็นการผ่าตัดขนาดเล็กเข้าไปในร่างกาย ด้วยการสอดสายไฟเบอร์ออพติกส์เข้าไปตรวจตราภายใน) สามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ ที่ช่วยปัจเจกชนทั้งหลายวางตำแหน่งตัวของพวกเขาเองได้ในทางกายภาพ หรือพวกเขาได้ถูกดูดซับเข้าไปสู่การสถาปนาความมั่นคงทางการแพทย์ขึ้นมาร่วมกัน ซึ่งได้สร้างเรื่องราวอันยากที่จะอธิบายได้มากยิ่งขึ้นไป และเรื่องราวที่แพงมากเกี่ยวกับร่างกายปกติที่เป็นนามธรรมเอามากๆ

(ข) พื้นที่เสมือนจริง (Virtual space)
"พื้นที่" ถือเป็นข้อสังเกตที่ค่อนข้างมีชื่อ มันคือพรมแดนแห่งสุดท้าย

ถ้าชายแดนต่างๆระหว่างภายในและภายนอกร่างกายไม่มีความมั่นคงอีกต่อไปแล้วอย่างที่เป็นมา หากเป็นเช่นนั้นเราจำเป็นต้องตั้งคำถามกับมัน ทั้งนี้เพราะ พื้นที่ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากความจริงเสมือนตอนนี้กำลังเข้ามาแทนที่พื้นที่จริงอยู่ พื้นที่ไม่สามารถที่จะถูกมองว่าเป็นเรื่องง่ายๆได้อีกต่อไป ในฐานะที่เป็นฉากหลังอันว่างเปล่า แต่จะถูกมองในฐานะที่เป็นแก่นแท้ในเชิงพลวัตของประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์ที่เป็นคุณสมบัติต่างๆอันหนึ่ง ซึ่งแปรผันจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง และจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง

ในการบรรยายของเขา"Of Other Spaces" ซึ่งถูกนำมาพิมพ์ซ้ำในที่นี้ (เดิมทีเดียวได้ถือกำเนิดขึ้นมาในปี ค.ศ.1967 แต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์จนกระทั่งมาถึงปี ค.ศ. 1984), Michel Foucault ได้เรียกร้องความสนใจไปสู่ศูนย์กลางของเรื่องพื้นที่ในวัฒนธรรมของคริตศตวรรษที่ 20. "พื้นที่"กลายเป็นเรื่องราวหลักที่สำคัญสำหรับ "ยุคสมัยที่ตามติดมา, ยุคสมัยที่ใกล้และไกลออกไป, มันเป็นเรื่องการเคียงกัน, เรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่แพร่กระจาย"

เขาได้ให้ภาพเค้าโครงประวัติศาสตร์หยาบๆอันหนึ่ง ซึ่งความคิดแบบ"แบ่งแยกลำดับชั้นสูงต่ำของสมัยกลางในเรื่องของพื้นที่" ได้ถูกแทนที่โดยทฤษฎีสมัยใหม่อันหนึ่งเกี่ยวกับ"พื้นที่ที่ขยายตัวออกไป" ซึ่งปัจจุบันนี้มันได้ถูกขับไล่หรือแทนที่โดยสิ่งซึ่งเขาเรียกมันว่า"สถานที่หรือที่ตั้ง"(the site)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสนใจของ Foucault ได้จับไปที่"สถานที่หรือที่ตั้งต่างๆ"(sites) "ซึ่งมีคุณสมบัติที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะในความสัมพันธ์กับสถานที่หรือที่ตั้งอื่นๆทั้งหมด, แต่ในวิธีการนั้นเกี่ยวกับความสงสัยหรือคลางแคลงใจ, ซึ่งทำให้เป็นกลางๆ, หรือพลิกกลับความสัมพันธ์ชุดหนึ่งซึ่งพวกมันเกิดขึ้นมาตามที่ถูกกำหนดแบบนั้น, เช่นดั่งกระจกเงา หรือภาพสะท้อน"

โดยการได้รับอิทธิพลจากผลงานในเชิงบุกเบิกและมีความเป็นนวัตกรรมของ Gaston Bachelard ในเรื่อง The Poetics of Space, Foucault รู้สึกทึ่งและประหลาดใจโดยสถานที่หรือที่ตั้งบางอย่าง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางทางด้านวัฒนธรรมและได้รับการสงวนเอาไว้, เช่นอย่างป่าช้าฝังศพ, คุกหรือตาราง, หรือโรงพยาบาล…

เขาเรียกสถานที่ต่างๆเหล่านี้ว่า "heterotopias" ซึ่งตรงกันข้ามกับ "utopias" ที่ไม่มีอยู่จริง. ในระหว่าง utopia กับ heterotopia ได้วางกระจกเงาบานหนึ่งเอาไว้ ซึ่งมันเป็นทั้งความจริงและไม่จริงในเชิงกายภาพอยู่

ในกระจกเงา ผมเห็นภาพของตัวเองในนั้น ที่ซึ่งผมไม่ได้อยู่ข้างใน, ในพื้นที่เสมือนจริงที่ไม่จริงดังกล่าว มันได้เผยให้เห็นเบื้องหลังของผิวหน้า… แต่มันก็เป็น heterotopia อันหนึ่งด้วย ภายใต้ขอบเขตของกระจกเงาที่มีอยู่ในความเป็นจริง, ซึ่งมันพยายามทำการตอบโต้หรือกระทำในสิ่งตรงข้ามกับตำแหน่งแห่งที่ผมยึดครองอยู่

การตระหนักในตัวตนอันนี้ในกระจกเงา ได้แสดงบทบาทที่สำคัญอันหนึ่งในผลงานทางด้านจิตวิเคราะห์ของ Jacques Lacan, ซึ่งได้จำแนกแยกแยะสิ่งที่เขาเรียกว่า "ขั้นตอนกระจกเงา"(the mirror stage)ขึ้นมา ในฐานะที่เป็นช่วงขณะที่สำคัญมากอันหนึ่งในการก่อตัวขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องของตัวตน(subject). Foucault ได้คัดท้ายบ่ายเบนไปจากข้อสนทนากันต่างๆอันนั้นเกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ ไปคิดถึงเรื่องของกระจกเงาในฐานะที่เป็นตัวกลางอันหนึ่ง ระหว่างรูปแบบที่แตกต่างทั้งหลายของพื้นที่, นั่นคือ ความจริงและความจริงเสมือน(real and virtual)

ดังที่ต่อมาเขาได้ให้การยอมรับว่า การคิดเกี่ยวกับเรื่องของพื้นที่นี้ ได้ก่อให้เกิดประเด็นสนทนาต่างๆขึ้นมาสำหรับผลงานที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ของเขา. ในเรื่อง Discipline and Punish (1977), เป็นการสำรวจตรวจตราถึงว่า heterotopia ของสถาบันที่เกี่ยวกับกฎระเบียบ ซึ่งได้กลายมาเป็นแบบจำลองสำหรับสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ได้อย่างไร

ในความเรียงเรื่องอื่นๆในส่วนที่สามนี้ จะมองไปที่ช่วงขณะต่างๆทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างเกี่ยวกับการสร้างเรื่องพื้นที่ขึ้นมา และความเกี่ยวพันกับพื้นที่ทั้งหลายเหล่านั้น ในด้านของขนบจารีตที่ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยผลงานของ Foucault. ในหนังสือซึ่งได้รับการอ้างอิงกันอย่างกว้างขวางของเขาเรื่อง Techniques of the Observer (1990), นักประวัติศาสตร์ศิลป์ Jonathan Crary ได้แยกแยะแบบจำลองที่สำคัญอันหนึ่งเกี่ยวกับ พื้นที่สมัยใหม่ที่ได้รับการขยายกว้างออกไป, โดยการพูดถึงเรื่องของ camera obscura

สำหรับ camera obscura อันที่จริงแล้ว คือห้องมืดซึ่งแสงสว่างจากภายนอกได้รับการยินยอมให้ผ่านเข้ามาได้โดยผ่านรูเล็กๆ บ่อยครั้งได้มีการนำเอาเลนส์ไปใส่ไว้ตรงช่องรูเล็กๆนั้น. ผลลัพธ์ก็คือ ภาพจากโลกภายนอกจะปรากฎขึ้นในห้องมืดในลักษณะกลับหัวบนผนังอีกด้านหนึ่งของห้องมืดหรือ camera obscura, ซึ่งอันนี้กลายเป็น"สถานที่ในเชิงบังคับ ที่ซึ่งภาพสามารถถูกรับรู้ได้หรือได้รับการแสดงออก" อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางคริสตศตวรรษที่ 17 จนกระทั่งราวช่วงต้นของคริตศตวรรษที่ 19

สำหรับ camera obscura นั้นได้สร้างการแบ่งแยกอันหนึ่งขึ้นมาระหว่าง"ผู้สังเกต"กับ"โลกภายนอก: "มันเป็นรูปภาพอันหนึ่งสำหรับตัวผู้สังเกต ซึ่งเป็นปัจเจกที่มีอิสระในตัวเอง และมีความเป็นส่วนตัว ซึ่งได้กักตัวเองเอาไว้ในพื้นที่คล้ายประหนึ่งภายในบ้าน สภาพเช่นนี้ได้ตัดเขาออกจากโลกภายนอกที่เป็นสาธารณะ"

ภาพประกอบ : ตัวอย่างภาพของ camera obscura

ผู้สังเกตที่อยู่ภายในไม่อาจที่จะมองเห็นภาพของตัวเขาเองได้ เว้นแต่ภาพที่แยกออกมาจากโลกภายนอกซึ่งผ่านรูรับแสงของเลนส์เข้ามา, อันนี้เป็นการเน้นย้ำถึงความเชื่อในยุคสว่าง(the Enlightenment belief)ในความแตกต่างที่แหลมคมระหว่าง"จิตใจ" ซึ่งเป็นตัวตัดสินการรับรู้ต่างๆทางด้านประสาทสัมผัส กับ "ร่างกาย" ซึ่งเป็นเพียงตัวบันทึกสิ่งเหล่านั้น อันนี้เปรียบเทียบกับการที่ camera obscura ที่ยอมให้แสงผ่านเลนส์ของมันเข้ามา

ในทัศนะนี้ "จิตใจ"นำมาซึ่งผลลัพธ์ต่างๆเกี่ยวกับ"การรับรู้" สู่สิ่งที่นักปรัชญาอย่าง Richard Rorty เรียกว่า "พื้นที่ภายใน"(inner area)อันหนึ่ง, มันถูกจำแนกความแตกต่างอย่างแหลมคมจากความเป็นจริง ที่ขยายออกมาจากดวงตา ซึ่งไม่สามารถสัมผัสและสร้างการตัดสินที่ถูกต้องขึ้นมาได้โดยตัวของมันเอง (เลนส์ทำหน้าที่คล้ายดวงตา ตัวเลนส์เองไม่ใช่ตัวรู้ แต่เป็นตัวรับภาพ, ส่วนคนที่อยู่ข้างใน camera obscura มองเห็นภาพที่ผ่านเลนส์เข้ามา คือตัวรู้)

นักวิจารณ์ภาพยนตร์ Anne Friedberg ดูจะขัดแย้งกับการไม่อาจที่จะขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ได้ของผู้ดูใน camera obscura ด้วยการเคลื่อนไหวของการจ้องมองในตัวของมันเองในวัฒนธรรมทางสายตาของคริสตศตวรรษที่ 19. ในงานซึ่งหยิบยกมานี้จากหนังสือที่ยอดเยี่ยมของเธอเรื่อง Window Shopping: Cinema and Postmodern(1993), Friedberg ได้สำรวจถึงสิ่งที่ได้รับการเรียกว่า the frenzy of the visible (ความคลั่งไคล้เกี่ยวกับสิ่งที่มองเห็น) ซึ่งได้แหวกออกมาจากยุคสมัยแห่งการประดิษฐ์ของภาพถ่าย ไปสู่การประดิษฐกรรมของภาพยนตร์ (1839-95)

เธอบันทึกว่า ในการวิเคราะห์ของ Foucault ในเรื่องของ the panopticon - ซึ่งเป็นระบบคุกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาเป็นรูปวงกลมในลักษณะวงแหวน ที่ซึ่งทัณฑารักษ์หรือผู้ดูแลนักโทษสามารถมองเห็นนักโทษได้โดยรอบ โดยที่เขาจะไม่ถูกสังเกตเห็นเลย กลายเป็นระบบหนึ่งของระเบียบวินัยที่ตรงข้ามหรือแย้งกับ camera obscura: "เครื่องมอง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีลักษณะเป็นห้องมืดที่ปัจเจกชนใช้ในการแอบมองหรือสอดแนม; มันกลับกลายเป็นอาคารโปร่งซึ่งปฏิบัติการของอำนาจ ได้ควบคุมสังคมโดยรวมทั้งหมด"

Friedberg เสนอแนะเงื่อนไขสองอย่างที่มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง สู่การเปลี่ยนผ่านที่ดูเหมือนค่อนข้างจะราบรื่นอันนี้. ประการแรก เธอได้บันทึกว่า "แสงสว่างที่มีการควบคุม"ของ panopticon ได้ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างมายาภาพต่างๆของภาพพานอรามา และไดโอรามาด้วย(panorama เป็นภาพของทัศนียภาพที่เห็นได้โดยรอบหรือลักษณะจอโค้ง, ส่วน diorama คือภาพสามมิติที่เราเห็นได้จากการตกแต่งตามพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติต่างๆ ที่ประกอบด้วยพืชและสัตว์สต๊าฟ ฉากหลังมีงานจิตรกรรมที่เขียนขึ้นมาให้สอดคล้องกับบรรยากาศของเรื่องนั้นๆ). การนำเสนอในลักษณะคล้ายกับละครเหล่านี้ ได้ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการรวมตัวกันอันหนึ่งของแสงและฉากเพื่อนำเสนอ "ความเคลื่อนไหวในลักษณะชั่วคราวและความเคลื่อนไหวของพื้นที่ขึ้นมา - ซึ่งเป็นเพียงภาพเสมือนจริงเท่านั้น"

ภาพพานอรามาได้ให้ทัศนียภาพเกี่ยวกับเมืองต่างๆและเมืองในต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้มันเป็นไปได้สำหรับบรรดานักท่องเที่ยวที่มั่งคั่งเท่านั้น ซึ่งสามารถจะพบเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ในการไปท่องเที่ยวในแบบแกรนด์ทัวร์(grand tour - หมายถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของยุโรป ซึ่งโดยปกติแล้วดำเนินการโดยคนหนุ่มที่มาจากชนชั้นสูง)

ไม่ใช่ความบังเอิญสำหรับการที่ Louis Daguerre, เจ้าของกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับไดโอรามา ได้เป็นนักประดิษฐ์เกี่ยวกับวิธีการทางด้านภาพถ่ายในเชิงปฏิบัติที่เป็นจริงขึ้นมาเป็นคนแรก ซึ่งถูกรู้จักในนาม daguerreotype. สิ่งประดิษฐ์ทั้งสองอย่างได้ทำให้เราหนีพ้นไปจากข้อจำกัดในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับพื้นที่และเวลา(space and time) ซึ่งผิดแผกแตกต่างกับเรื่องของ panopticon, ที่ควบคุมเกี่ยวกับองค์ประกอบทั้งคู่นี้(พื้นที่และเวลา)

Louis Daguerre

Frieberg ได้ให้เหตุผลด้วยว่า ไม่มีใครสามารถพูดถึงเกี่ยวกับผู้สังเกตการณ์ในฐานะเขาหรือเธอ, และในฐานะ Crary เป็นคนกระทำ. งานที่ตามมา อย่างเช่นงานของ Griselda Pollock, เธอได้แสดงให้เห็นว่า บรรดานักวิจารณ์ทั้งหลายอย่างเช่น Charles Baudelaire พยายามแสวงหาหนทางที่จะเก็บรักษาการจ้องมองเอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ แต่ไม่เสมือนจริง, และเป็นลักษณะของผู้ชายไม่ใช่ลักษณะของผู้หญิง. โดยสรุปสั้นๆ ระเบียบแบบแผนในทางสังคมเกี่ยวกับพื้นที่ได้รับการโต้แย้งภายในยุคหนึ่งโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงจากยุคสมัยหนึ่งไปสู่ยุคต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดานักเขียนเหล่านี้ไม่ได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับนักสังเกตการณ์ที่ไม่ใช่ชาวตะวันตกในยุโรป หรือเกี่ยวกับนักสังเกตการณ์ชาวยุโรปที่อยู่โพ้นทะเลเลย. สำหรับชาวยุโรปโพ้นทะเลนั้น พวกเขาเป็นศูนย์กลางของความเข้าใจสมัยใหม่เกี่ยวกับเรื่องของพื้นที่ (นักสังเกตการณ์ที่ไม่ใช่ชาวตะวันตกจะได้รับการพูดถึงในส่วนที่จะตามมาของหนังสือเล่มนี้)

อย่างไรก็ตาม ความสงสัยและความแตกแยกเกี่ยวกับคำอธิบายของชาวยุโรปเป็นเรื่องซึ่งเกิดขึ้นที่บ้าน(หมายถึงในยุโรป) มันยิ่งเป็นความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นไปอีกเมื่ออยู่โพ้นทะเล. เช่นดังที่บรรดาชาวยุโรปทั้งหลาย ซึ่งได้แผ่ขยายจักรวรรดิ์ของพวกเขาเข้าไปในลาตินอเมริกา, แอฟริกาและเอเชียในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19, ก่อนอื่นใดทั้งหมด พวกเขาต่างเชื่อมั่นในการสังเกตการณ์ทั้งหลายในลักษณะปัจเจกของพวกเขา เกี่ยวกับทิวทัศน์ต่างๆอันไม่เป็นที่รู้จักอันนั้น

นักวิจารณ์วรรณกรรม Mary-Louise Pratt ได้เรียกท่าทีหรือทัศนคตินี้ว่า "the monarch-of-all-I-survey"(ความเป็นเจ้า เกี่ยวกับการสังเกตของตัวข้า)ซึ่งถือเป็นคำที่สื่อสารได้ดีทีเดียว. ในส่วนนี้จากหนังสือของเธอเรื่อง Imperial Eyes (1992) [สายตาของจักพรรดิ์] ซึ่งพิมพ์ซ้ำขึ้นในที่นี้ เธอพูดถึงว่า บรรดานักสำรวจชาวอังกฤษได้ค้นหาต้นตอของแม่น้ำไนล์ในช่วงทศวรรษที่ 1860s ซึ่งได้นำเสนอภาพงานจิตรกรรมพูดได้(verbal painting - คำพูดที่บรรยายให้เห็นเป็นภาพ) ซึ่งเป็นภาพกว้างเกี่ยวกับใจกลางของแอฟริกาสำหรับบรรดาผู้อ่านงานของพวกเขาที่บ้าน(ยุโรป)

เธอได้แสดงให้เห็นว่า บรรดานักสำรวจทั้งหลาย มักจะระมัดระวังเรื่องที่จะสื่อสารหรือรายงานต่างๆของพวกเขา โดยการอ้างอิงภาพที่เขาเห็นให้กับสายตาของชาวยุโรปที่เขาคุ้นเคย. ยกตัวอย่างเช่นในที่นี้ เป็นการพรรณาของนักสำรวจที่ชื่อว่า Richard Burton ซึ่งอธิบายถึงทะเลสาบ Tanganyika:

หมู่บ้านต่างๆ, พื้นดินที่มีการเพาะปลูก, เรือคะนูต่างๆของบรรดาชาวประมงบนลำน้ำที่เห็นกันเป็นนิจ… ได้ให้ภาพบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับความหลากหลาย, เกี่ยวกับความเคลื่อนไหว, เกี่ยวกับชีวิตสำหรับทิวทัศน์อันนั้น, ซึ่ง…ได้พบเห็น แต่มันดูไม่ค่อยจะเรียบร้อย และไม่เป็นงานศิลปะที่กระทำเสร็จสิ้นแล้ว …ที่จะมาแข่งขันได้กับของเรา มันไม่อาจที่จะดีไปกว่าฉากอันน่าชื่นชมส่วนใหญ่ของปริมณฑลอันคลาสสิคต่างๆของพวกเรา

ข้อคิดเห็นของ Burton ได้แสดงให้เห็นว่า ทะเลสาบนั้นไกลห่างจากความรกร้างว่างเปล่าซึ่งไม่มีการเพาะปลูก อันเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับอาณานิคม แต่อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า การขาดเสียซึ่งสุนทรียภาพของมันทำให้มันด้อยค่ากว่าทิวทัศน์ของชาวยุโรป ดังที่ Pratt ได้ให้เหตุผล: การค้นพบในบริบทนี้ประกอบด้วยท่าทีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงความรู้ท้องถิ่นไปสู่ประชาชาติยุโรปและความรู้บนภาคพื้นทวีป ซึ่งไปสัมพันธ์กับรูปแบบต่างๆของคนยุโรปและความสัมพันธ์ต่างๆเกี่ยวกับอำนาจ"

เทียบกันกับนักสังเกตที่อยู่ใน camera obscura ซึ่งได้ทำให้การสังเกตการณ์ต่างๆธรรมดาของจักษุประสาท เป็นไปอย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงทำให้ชาวยุโรปได้มีการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนทิวทัศน์ดิบหยาบเกี่ยวกับชาวแอฟริกันให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ด้วยการทำให้มันเป็นเรื่องของสุนทรียภาพ. มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทั้งตัวผู้อ่านและตัวผู้ประพันธ์ที่ว่า กระบวนการอันนี้ได้ถูกทำให้เป็นเรื่องของสุนทรียภาพ โดยนักเขียนชาวยุโรป ที่ได้ไปเห็นในสิ่งที่เขาได้อธิบายถึงจริงๆ, ซึ่งหากว่าถ้าเป็นรายงานของชาวแอฟริกันแล้ว มันจะไม่ได้รับการไว้วางใจในตัวของมันเองเช่นนี้เลย

Pratt ได้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ในยุควิคตอเรียน ซึ่งได้แสดงความผึ่งผายทำทีท่าวางโตเพื่อธำรงรักษาทัศนคติต่างๆดังกล่าว ก็เพื่อจะเปิดโอกาสให้มีการเหน็บแนมเสียดสี และในท้ายที่สุดเพื่อวิพากษ์วิจารณ์โดยตรงนั่นเอง. ลัทธิอาณานิคมได้สร้างความเสี่ยงอย่างที่สุดขึ้นมา และท้ายสุดมันเป็นสาเหตุแห่งความล้มเหลวอย่างใหญ่หลวง ในความเข้าใจในเรื่องของพื้นที่เกี่ยวกับโลกของชาวยุโรปสมัยใหม่นั่นเอง

โดยการสรรค์สร้างภาพดิจิตอล ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกตได้แปรเปลี่ยนไป. มันไม่มีความจำเป็นใดๆอีกต่อไปแล้ว หรือความเชื่อมโยงในเชิงตรรกะอันใดระหว่างภาพเสมือนจริงกับความเป็นจริงภายนอก. แต่อย่างไรก็ตาม Geoffrey Batchen ได้ให้เหตุผลในความเรียงของเขาเรื่อง "Spectres of Cyberspace" (ภาพอันน่าหวาดหวั่นของไซเบอร์สเปซ) ว่า "การมองไปข้างหน้า อาจมีความจำเป็นด้วยเช่นกันที่จะต้องมองไปข้างหลัง" (Batchen 1996)

ความจริงเสมือนเริ่มต้นขึ้นด้วยพัฒนาการของเครื่องมือต่างๆตั้งแต่ในสมัยหิน หรือมันเริ่มต้นขึ้นมาโดยเครื่องคอมพิวเตอร์กันแน่? Batchen เน้นถึงบทบาทของกล้องสเตริโอสโคป(stereoscope - กล้องสองตาที่มองเห็นเป็นสามมิติ) ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ชนิดหนึ่งที่ยอมให้ผู้ดูมีประสบการณ์ในภาพสามมิติ โดยการมองผ่านช่องมองภาพที่ส่องไปยังภาพสองภาพที่เป็นรูปเดียวกัน ซึ่งได้รับการพิมพ์ขึ้นและได้นำมาวางเคียงคู่กัน

ในทำนองเดียวกันระหว่างผู้ดูด้วย"กล้องสเตริโอสโคป"กับ"หมวกที่ใช้สวมเพื่อมองเห็นภาพเสมือนจริง" ได้รับการยกระดับขึ้นมาโดยเรื่องราวต่างๆของคริสตศตวรรษที่ 19 เกี่ยวกับประสบการณ์การมองนี้ ซึ่งในคำพูดของ Batchen, คือ "ปรากฎว่า มันขนานกันอย่างใกล้ชิดกับประสบการณ์ความจริงเสมือน(VR experience) ที่บรรดานักวิจารณ์จำนวนมากต้องการที่จะเรียกว่า"เป็นการปฏิวัติ"

โดยการดำเนินรอยตามทฤษฎีต่างๆของ Foucault และ Lacan, Batchen มองภาพถ่าย, สเตริโอสโคป และไซเบอร์สเปซ คล้ายๆกับผลิตผลต่างๆของวิกฤตการณ์สมัยใหม่เกี่ยวกับเรื่องของตัวตนหรืออัตวิสัย ซึ่งเป็น"กลุ่มก้อนที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ของความจริงกับความเสมือนจริง ที่ได้สร้างสายใยที่แท้เกี่ยวกับความเป็นตัวตนของมนุษย์ขึ้นมา"

ที่น่าเศร้ามากไปกว่านั้นคือว่า คอมพิวเตอร์ Deep Blue ได้เอาชนะ Gary Kasparov แชมเปี้ยนหมากรุกที่เป็นมนุษย์ได้, แน่ทีเดียว เราควรจะมองดูมันในฐานะที่เป็นการแสดงออกล่าสุด เกี่ยวกับการเผชิญหน้ากันอันเก่าแก่ระหว่างมนุษย์ทั้งหลาย, เครื่องจักรและสัตว์ต่างๆ ซึ่งปรากฏว่ากำลังยึดครองความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่อันน่าทึ่งนี้

ถึงกระนั้นก็ตาม คอมพิวเตอร์และสภาพแวดล้อมเสมือนจริงใหม่ต่างๆ ดูเหมือนว่าจะเป็นการอุปมาอุปมัยในเชิงสร้างสรรค์มากที่สุดสำหรับตัวตนที่ได้รับการก่อตัวขึ้นมากว่าหนึ่งศตวรรษแล้ว ผลที่ตามมาของมัน ยังคงเป็นสิ่งที่เราสามารถคาดเดาได้



 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




คลี่ความซับซ้อนเกี่ยวกับการโต้แย้งกันทางกฎหมายและขนบจารีต กรณีเรื่องของคุณระเบียบรัตน์ กับพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรม

 

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

แม้ว่าจะมีผู้ชายจำนวนมากขึ้นในทุกวันนี้กำลังปฏิบัติการในสิ่งเหล่านี้อยู่ก็ตาม แต่เดิมทีเดียว พวกมันได้รับการพุ่งเป้าไปยังบรรดาผู้หญิงทั้งหลาย ผู้ซึ่งถูกถือว่าต้องรับผิดชอบต่อความบกพร่องต่างๆอันหลากหลายเกี่ยวกับร่างกายของพวกเธอ มากและเข้มข้นขึ้นยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แรงกดดันต่างๆเพื่อไปสู่ข้อกำหนดอันยากลำบากนั้น ผู้หญิงบางคนจะต้องทำเช่นนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งกลายเป็นทาสของคมมีดผ่าตัด(scalpel slaves) ในช่วงอายุหลังสามสิบและสี่สิบของพวกเธอ