มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

บทความแสดงความอาลัยเรื่องนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 421 หัวเรื่อง
บทความแสดงความอาลัย
แด่คุณ เจริญ วัดอักษร
นิธิ เอียวศรีวงศ์

เกษียร เตชะพีระ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
130747
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
"เขียนโลกให้รู้ ว่ามีผู้อยู่ชั่วนิรันดร์ในใจของผู้คน"
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


ความอาลัยรักจาก มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สามเรื่องสำหรับเพื่อนชื่อ เจริญ วัดอักษร
นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ เกษียร เตชะพีระ
คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)

หมายเหตุ : บทความนี้ประกอบด้วยสามส่วน
ส่วนที่หนึ่งเขียนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง"ขอบคุณเจริญ วัดอักษร"
ส่วนที่สองเขียนโดย เกษียร เตชะพีระ เรื่อง"จากหนูกลอย ถึงอาเจริญ" และ
"
ความล้มเหลวของรัฐ กับแนวทางเคลื่อนไหวของภาคประชาชน"
(บทความเหล่านี้ เคยตีพมพ์แล้ว ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน)

 

1. ขอบคุณเจริญ วัดอักษร โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ขอบคุณเจริญ วัดอักษร สำหรับ
ความยั่งยืนของทรัพยากรที่บ่อนอก รอดพ้นจากการถูกทำลายด้วยควันพิษของถ่านหินจากโรงไฟฟ้า การดำรงอยู่ของทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์นี้เปิดโอกาสให้คนเล็กๆ ได้ใช้ทรัพยากรในท้องทะเลอย่างยั่งยืนต่อไป ในวิถีทางที่เขาทำได้ตามทุนและทักษะของเขา

ขอบคุณเจริญ วัดอักษร สำหรับ
โอกาสที่คนไทยทุกคนต้องหันมาทบทวนนโยบายพลังงานของประเทศ หลังจากที่ได้ปล่อยให้รัฐและทุนเข้าไปรังแกคนเล็กๆ โดยแย่งยื้อเอาทรัพยากรท้องถิ่นมาผลิตพลังงานเพื่อบำเรอกลุ่มคนจำนวนน้อยในนามของการพัฒนาตลอดมา

ขอบคุณเจริญ วัดอักษร สำหรับ
การรักษาแหล่งหอยลายขนาดใหญ่ของบ่อนอกไว้ให้แก่ปลาวาฬ แลกกับเงินจำนวนมหาศาลที่นายทุนเรืออวนลากเสนอ การตัดสินใจของคุณกับชาวบ้านที่จะเลือกปลาวาฬก่อนเงิน นับเป็นก้าวสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย เพราะเป็นการเลือกที่ชาญฉลาด ปลดปล่อยผู้คนออกจากบ่วงของปรัชญาการพัฒนาที่มืดบอด คับแคบ และไร้ความเป็นธรรม อันได้ผูกรัดสังคมไทยมาเป็นเวลานาน

ขอบคุณเจริญ วัดอักษร สำหรับ
การยืนหยัดต่อสู้อย่างสันติ เพื่อปกป้องที่ดินสาธารณะของชุมชนเอาไว้ให้พ้นจากการบุกรุกของนายทุนและผู้มีอิทธิพล คุณเป็นอีกแบบอย่างหนึ่งของคนเล็กๆ ในสังคมไทย ที่ได้เสียสละตนเองเพื่อรักษาสมบัติชุมชนไว้ให้แก่ลูกหลานในวันข้างหน้า ฉะนั้นความตายของคุณจึงจะไม่สูญเปล่า อย่างเดียวกับความตายของคนอย่างคุณอีกหลายสิบซึ่งได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ แล้วได้ทำให้สมบัติสาธารณะอีกมากมายทั่วประเทศไทย ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากชาวบ้านให้รอดพ้นจากความทุจริต ฉ้อฉล ของนายทุนร่วมกับข้าราชการ

ขอบคุณเจริญ วัดอักษร สำหรับ
การต่อสู้ที่กล้าหาญ เปิดเผยและตรงไปตรงมา ซึ่งคุณได้มีส่วนในการนำตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา แม้คุณจะจากไปแล้ว แต่การต่อสู้ดังกล่าวจะเป็นแบบอย่างแก่คนเล็กๆ อีกมากในเมืองไทย ให้เกิดสำนึกถึงพลังอำนาจที่แท้จริงของตนเอง จึงจะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเป็นผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่มีที่สิ้นสุดตลอดไป เพียงสำนึกตระหนักถึงพลังของตัวเองของคนเล็กๆ ในเมืองไทยซึ่งคุณมีส่วนในการปลุกเร้าขึ้นนี้ ก็จะทำให้โฉมหน้าของเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าปราศจากสำนึกเช่นนี้ของคนเล็กๆ ทั่วไป

ขอบคุณเจริญ วัดอักษร สำหรับ
ความสุขุมรอบคอบของคุณในการจัดองค์กรตามแนวทางประชาธิปไตย เปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเสมอภาค เป็นแบบอย่างของการจัดองค์กรของคนเล็กๆ ฉะนั้นแม้เมื่อสูญเสียผู้นำอย่างคุณไปแล้ว ก็ไม่มีใครหวั่นไหว องค์กรยังอยู่ การต่อสู้ยังอยู่ และจิตใจหาญกล้าเพื่อความเป็นธรรมก็ยังดำรงอยู่อย่างมั่นคง

และด้วยเหตุดังนั้น จึงต้องขอบคุณเจริญ วัดอักษร สำหรับ
ความร่าเริงแจ่มใส และความเชื่อมั่นในตนเองอย่างลึกๆ ซึ่งคุณได้แสดงแก่ผู้ร่วมงานทุกคน ไม่ว่าจะมีอุปสรรคสาหัสสากรรจ์สักแค่ไหน คุณก็ทำให้ทุกคนไม่สิ้นหวัง และมีกำลังใจที่จะเผชิญกับอุปสรรคนั้นอย่างฮึกเหิมเหมือนเดิม

 

2. "จากหนูกลอยถึงอาเจริญ" โดย เกษียร เตชะพีระ
โพล้เพล้วันที่ 24 มิถุนาฯ ผมพาหนูกลอยวัย 10 ขวบซ้อนท้ายจักรยานถีบเล่นไปตามทางในหมู่บ้านจัดสรรเล็กๆ ของเรา มันเป็นเวลาคุณภาพที่พ่อ-ลูกจะได้คุยกันสองต่อสองทุกเรื่องที่อยากคุย รวมทั้งเรื่องยากๆ อย่างเย็นวันนั้น

"ป่าป๊า กลอยรู้แล้วนะว่าเกิดอะไรกับอาเจริญ"

ผมอึ้ง ผมเองรู้ข่าวนี้ตอนตีสามเช้ามืดวันที่ 22 มิถุนาฯ จากอีเมล์พร้อมกันสองฉบับของเพื่อนอาจารย์และนักศึกษา เมื่อเล่าเรื่องนี้ให้ภริยาฟังตอนเช้าตรู่ เธอถึงแก่ตาแดง น้ำตาคลอเบ้า ความที่พ่อ-แม่-ลูกเคยไปพักทานข้าวพบปะ พูดคุยกับคุณเจริญที่ครัวชมวาฬมาหลายครา ครั้งสุดท้ายก็เมื่อสามเดือนก่อนนี้เอง จนกลอยได้ภาพวาดเด็กกับหมาน้อยนั่งชมปลาวาฬโผนตัวริมทะเลมาเป็นที่ระลึก เราจึงตัดสินใจจะรอไปสักพักก่อนค่อยบอกข่าวร้ายให้กลอยรู้

"กลอยรู้ได้ไงล่ะ?"

"หม่าม้าเล่าให้กลอยฟัง แต่ถึงหม่าม้าไม่เล่า กลอยดูข่าวทีวี ก็ต้องรู้อยู่ดี"

"แล้วกลอยรู้สึกยังไง?" ผมถามด้วยใจระทึก

"ตอนแรกที่ได้ยินก็เฉยๆ อยู่ล่ะนะ แต่พอไปสักพักคิดขึ้นมาก็รู้สึกแย่เจอกันครั้งก่อนอาเขายังดีๆ อยู่เลย กลอยหลับตายังนึกเห็นหน้าเขาชัด ไม่น่าเชื่อว่าอาเขาจากไปแล้ว"

"กลอยจำได้ไหมว่าอาเจริญพูดอะไรกับกลอยมั่ง?" ผมพยายามเสเรื่อง

"ปกติกลอยไม่ค่อยได้พูดอะไรกับอาเขาหรอก ไปถึงกลอยก็เล่นแต่น้ำกับทราย อาเขาก็คุยกับพวกผู้ใหญ่ แต่หนนึงจำได้ว่าตอนนั้นกลอยนั่งเรือแล้วปวดหัว อาเขาบอกให้กลอยลงว่ายน้ำทะเลซะ แล้วจะหาย"

เงียบไปสักครู่ แล้วกลอยก็เปรยลอยๆ แกมบ่น

"ทำไมคนดีๆ ต้องโชคร้ายอย่างนี้ด้วย"

"บางทีมันอาจจะไม่ใช่เรื่องโชคดีหรือโชคร้ายมั้งกลอย" ผมพยายาม "โลกเราก็มีทั้งคนดีกับคนไม่ดีนั่นแหละ ตอนที่คนดีเขาตัดสินใจทำดีน่ะ เขาคงไม่คิดหรอกว่าทำแล้วโชคจะดีหรือเปล่า เพราะถึงโชคจะไม่ดีเขาก็คงทำดีเหมือนเดิม"

ผมหักจักรยานพากลอยเลี้ยวเพราะมาถึงสุดเขตหมู่บ้าน กลอยยังไม่หายอึดอัดใจ

"มันไม่ถูกเลยอ่ะที่อาต้องมาเป็นอย่างนี้ อาเขาก็เป็นคนดี ที่เขาทำก็ไม่ใช่เพราะเขาอยากเอาชนะคนที่เขาเกลียดหรืออะไรอย่างนั้นสักหน่อย เขาทำเพราะเขารักบ้านของเขา ทำไมเขาต้องมาโดนอย่างนี้ด้วย?"

ผมตั้งหน้าถีบจักรยานต่อ - ถีบแรงๆ พลางถอนหายใจ - ความเงียบดังลั่นสองแก้วหู

"ป่าป๊าว่าตำรวจจะจับผู้ร้ายได้ไหม?"

"ไม่รู้ซี ก็ไม่แน่หรอก"

"ใจร้ายมากนะ ทำได้ยังไง? ไม่กลัวตกนรกเลยหรือ? กลอยว่าตอนตายเขาต้องนอนตาไม่หลับ เพราะเห็นภาพคนที่เขาทำร้ายมาหลอก กลอยได้ยินว่าพระเขาไม่สวดศพให้คนไม่ดีพวกนี้ด้วย"

ขาชักล้าและเส้นตึงแล้ว ผมพากลอยมุ่งหน้ากลับบ้าน

"ป่าป๊าจะไปงานศพอาเจริญใช่มั้ย? กลอยก็อยากไปแต่ไม่รู้จะได้ไปหรือเปล่า การบ้านเยอะ"

เย็นก่อนวันเดินทาง หนูกลอยยิ้มหน้ารื่นกลับมาจากโรงเรียน บอกผมว่า "กลอยทำการบ้าน 3 อย่างเสร็จแล้ว ไปงานศพอาเจริญที่บ่อนอกกับป่าป๊าได้"

ที่วัดสี่แยกบ่อนอก คนจอแจหนาตาราวงานเทศกาล เพื่อนสนิทมิตรสหายคนรู้จักในแวดวงกิจกรรมภาคประชาชนที่ห่างหายไม่ได้เห็นหน้าค่าตามานมนาน กลับมาพบปะชุมนุมกันคับคั่งราวนัดหมาย จากเหนือ อีสาน กลาง ใต้ และชาวสลัม คล้ายที่นี่เป็นที่รวมคนทุกข์ทั้งแผ่นดิน ผมไม่ได้สัมผัสกับบรรยากาศแบบนี้มานานแล้วนับแต่คราวพฤษภาทมิฬ 2535 ที่ท้องสนามหลวง

ใครก็แล้วแต่ที่กระหน่ำยิงกระสุนสังหารใส่ร่างคุณเจริญเมื่อคืนวันที่ 21 มิถุนาฯ เขาไม่รู้หรอกว่าเขาได้ยิงเข้าไปในหัวใจของผู้คนนับหมื่นนับแสนทั่วประเทศ ยิงเข้าไปในหัวใจของเราทุกคน

ผมกับครอบครัวและเพื่อนๆ ขึ้นไปบนเวทียกพื้นที่ตั้งศพ รับธูปจากคู่ชีวิตคู่ทุกข์คู่ยากของคุณเจริญ สำรวมจิตระลึกถึงเพื่อนนักสู้ผู้วายชนม์ ปักธูปลงในกระถาง แล้วน้ำตาเจ้ากรรมก็พานจะไหลออกมา

ผมก้มลงหอมผมกลอย ถามว่าบอกลาอะไรอาเจริญ แต่กลอยนิ่งเงียบไม่ตอบ

ผมเองนึกถึงกลอนบทหนึ่งซึ่งแต่งให้สหายผู้พลีชีพเสียสละระหว่างการต่อสู้สงครามประชาชนในเขตป่าเขาหลายปีก่อน คิดว่ามันเหมาะมันควรแก่การนำมากล่าวลาคุณเจริญในวาระนี้....

"คือชีวิต ที่พระเจ้าประทานสิทธิ์ให้เทียมเท่า

เพียงครั้งเดียวทุกผู้ได้อยู่เนา สมบัติใดไหนเล่าค่าเท่าทัน

รักชีวิตมีชีวิตที่คิดหมาย อย่าอยู่อย่างอับอายให้โลกหยัน

อย่าอยู่อย่างเปล่าค่าเปลืองคืนวัน จงอยู่ฝันอยู่สู้อยู่สร้างธรรม

เพื่อวันตายตาคู่จะรู้หลับ ชีวิตดับปลาบปลื้มและดื่มด่ำ

ด้วยได้มอบกายใจใฝ่ตรากตรำ ปลดแอกจำจองมนุษย์จนสุดใจ"

ขอให้คุณเจริญไปดี!

 

3. ความล้มเหลวของรัฐ กับแนวทางเคลื่อนไหวของภาคประชาชน โดย เกษียร เตชะพีระ
(เรียบเรียงจากคำอภิปรายของผู้เขียนในหัวข้อ "บททดลองเสนอ ว่าด้วยยุทธศาสตร์ขบวนการการเมืองภาคประชาชน"
จัดโดยองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2547)

ผมมาพูดวันนี้ด้วยความหนักใจ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้ม, คุณเจริญ วัดอักษร ถูกสังหาร, เหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้ต่อเนื่องมานับแต่ต้นปี, ยังไม่นับสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิต 2,000 กว่าคนเมื่อปีก่อน, อีกทั้งการข่มขู่คุกคามปราบปรามทำร้ายการชุมนุมโดยสงบของประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่าหลายจุดทั่วประเทศ.....

จนกล่าวได้ว่า ไม่เคยมียุคสมัยใดนับแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 หรือกระทั่งอาจเทียบย้อนกลับไปได้ถึงการฆ่าหมู่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เป็นต้นมาที่

1) เกิดความรุนแรงต่อประชาชนในบ้านเมือง และ
2) เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรงมากมายและต่อเนื่อง เท่าภายใต้การปกครองของรัฐบาลทักษิณ-ไทยรักไทยทุกวันนี้

ในสังคมอารยะประชาธิปไตยที่ปกครองด้วยกฎหมาย ความรุนแรงในบ้านเมืองอนุญาตให้มีได้แต่เฉพาะ

1) ความรุนแรงของรัฐที่ชอบด้วยกฎหมาย และ
2) ความรุนแรงของเอกชนอันควรแก่เหตุ เพื่อป้องกันสิทธิในร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น

ทว่าภายใต้การปกครองของรัฐบาลทักษิณ-ไทยรักไทย กลับเกิดความรุนแรงของรัฐ/เจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมายกับความรุนแรงของกลุ่มทุนอิทธิพลเอกชน ที่ประทุษร้ายต่อประชาชนและผู้นำชุมชนมากมายก่ายกอง ศพแล้วศพเล่า ดังที่สมาชิกวุฒิสภาไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ แห่งนครราชสีมา ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศฯ ได้ร่วมแถลงในนามคณะกรรมาธิการ 3 ชุด ของวุฒิสภาต่อกรณีการสังหารคุณเจริญ วัดอักษรว่า

"3 ปีครึ่งของรัฐบาลชุดนี้ กมธ.เห็นว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ชาวไร่ ชาวนา แกนนำกลุ่มองค์กรต่างๆ โดนฆ่าตายทั้งหมด 15 รายแล้ว รวมกับการฆ่าตัดตอน 3,000 ศพ และ 200 กว่าศพ ในการปฏิบัติการภาคใต้ ถือเป็นจำนวนมหาศาล กระทบภาพพจน์ของประเทศไทยในด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับสากลมาก ถึงขนาดสหประชาชาติต้องส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเรื่องนี้"
(มติชนรายวัน, 23 มิ.ย.2547, น.13)

เมื่อเอามาตรฐานสากลมาทาบวัด นี่นับเป็น systemic state failure หรือความล้มเหลวของรัฐอย่างเป็นระบบในอันที่จะพิทักษ์ปกป้องประชาชน และระงับความรุนแรงในบ้านเมือง อันเป็นหน้าที่พื้นฐานของรัฐตามหลักอารยธรรมโลกและรัฐธรรมนูญไทยเอง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐไทยภายใต้รัฐบาลทักษิณ-ไทยรักไทย สอบตก ในฐานะความเป็นรัฐชาติอารยะประชาธิปไตยตามหลักเกณฑ์สากลปัจจุบัน

ถ้ารัฐบาลไม่สามารถอำนวยการปกครองประชาชน โดยเคารพและปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเรา, รวมทั้งเคารพและปกป้องสิทธิความเป็นคนของเราแล้ว, รัฐบาลก็ไม่ควรจะปกครองอีกต่อไป

แต่สิ่งที่น่าตระหนกแกมอนาถก็คือ เบื้องหน้าความล้มเหลวอย่างเป็นระบบของรัฐไทย ที่จะระงับความรุนแรงต่อประชาชนและเคารพปกป้องศักดิ์ศรี-สิทธิความเป็นคนของประชาชน, กลับไม่มีผู้นำรัฐบาลคนใดกล้าแอ่นอกออกมารับผิดชอบ ต่างพากันแอบหลบหลีกความรับผิดชอบอยู่เบื้องหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังที่พระองค์ทรงทักท้วงไว้ในพระบรมราโชวาท 4 ธันวาคม พ.ศ.2546 ตอนหนึ่งว่า

"นายกฯสั่งให้รองนายกฯ รองนายกฯก็เป็นซีอีโอ นายกฯก็เป็นซีอีโอ ก็เป็นซูเปอร์นายกฯ บอกว่าเป็นผู้ชนะ กลายเป็นฆ่าหมดเลย แต่แท้จริง ลูกน้องก็ต้องรับผิดชอบ ซีอีโอไม่รับผิดชอบอะไรเลยต้องให้รองนายกฯรับผิดชอบ มี 7 คนใช่ไหม รองนายกฯเป็นผู้รับผิดชอบ 7 คนเขารับผิดชอบเขาก็ผลักให้รัฐมนตรีรับผิดชอบ รัฐมนตรีก็บอกไม่รับผิดชอบต้องเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ รัฐมนตรีช่วยโยนให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีรับผิดชอบ นายกฯบอกว่าปลัดกระทรวงไม่ต้องรับผิดชอบ ก็ให้รองปลัด รองปลัดก็ให้อธิบดีแบบนี้เป็นการบอกว่า ไม่มีใครรับผิดชอบ ลงท้ายให้ประชาชนซีอีโอทุกคนรับผิดชอบหมด ไม่รู้จะทำอย่างไง

"การปกครองสมัยนี้แปลกดี ให้ประชาชนรับผิดชอบคนที่เดือดร้อนคือข้าพเจ้าเองเดือดร้อน ท่านรองนายกฯ บอกว่า ทรงเป็นซูเปอร์ซีอีโอ ใช้คำอะไรจำไม่ได้แล้ว ลงท้ายเราก็รับผิดชอบทั้งหมดประชาชนทั้งประเทศโยนให้พระเจ้าอยู่หัวรับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย

"แถวหน้ามีนักกฎหมายที่บอกว่าไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ใครจะรับผิดชอบ นี่ลำบากอย่างนี้"
(มติชนรายวัน, 5 ธ.ค.2546, น.2)

ความล้มเหลวของรัฐอย่างเป็นระบบจึงถูกซ้ำเติมด้วย "ระบบแห่งความไม่รับผิดชอบทางการเมือง" (system of political irresponsibility) ที่ซึ่งความรับผิดชอบถูกผู้นำการเมือง โยนกลองลงล่างและขึ้นบนไม่หยุด โยนต่ำลงไปเรื่อยๆ จากนายกฯ ---> รองนายกฯ ---> รัฐมนตรี ---> รัฐมนตรีช่วยฯ ---> ผู้ช่วยรัฐมนตรี ---> ปลัดกระทรวง ---> รองปลัดฯ ---> อธิบดี ---> จนในที่สุดถึงชาวบ้านผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่และไม่มีอำนาจ

และในทางกลับกันก็โยนสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงองค์พระประมุข ซึ่งพระองค์เองนั้นรัฐธรรมนูญก็บอกอยู่แล้วว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ทรงอยู่พ้นความรับผิดชอบทางการเมืองออกไป ในที่สุดความรับผิดชอบทางการเมืองก็ถูกเล่นกลโยนอันตรธานหายวับไปภายใต้ระบบนี้

ความรุนแรงร้ายกาจที่เกิดขึ้นชีวิตคนที่ตายไป การละเมิดศักดิ์ศรีและสิทธิความเป็นคนของประชาชนในบ้านเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า ศพแล้วศพเล่า จึงไม่มีใครเสนอหน้าออกมารับผิดชอบเลย, ไม่มีใครต้องรับผิดชอบเลย

นี่จึงไม่เพียงเป็นระบบแห่งความไม่รับผิดชอบทางการเมืองเท่านั้น หากยังเป็นระบบแห่งความขี้ขลาดทางจริยธรรมด้วย ที่ซึ่งสัญญามรณะและเส้นตายอำมหิตถูกส่งจากชั้นบนสุดลงไปยังเจ้าหน้าที่ผู้น้อยชั้นล่างและสังคมวงกว้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยผู้ส่งไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่เคยกล้าพอที่จะรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ตัวเลขความตายความเสียหายจากสัญญาณและเส้นตายที่ตนพร่ำส่งเลย

ประชาชนไทยที่ต่อสู้อาบเลือดแลกชีวิตเพื่อช่วงชิงสิทธิเสรีภาพของตนมาอย่างกล้าหาญและเสียสละเมื่อ 14 ตุลาฯ 2516, 6 ตุลาฯ 2519, สงครามประชาชน 20 ปี และพฤษภา 2535 คู่ควรกับรัฐบาลที่รับผิดชอบทางการเมือง กล้าหาญทางจริยธรรม และเคารพรักศักดิ์ศรีและสิทธิความเป็นคนของพวกเขายิ่งกว่านี้

ระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิทธิเสรีภาพ สันติวิธี และความเป็นธรรมในสังคมก็สำคัญต่อประชาชนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน, เราไม่ควรจะยอมเสียสละ 3 อย่างนั้น เพื่อแลกกับการดำรงอยู่ของระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตย

แน่นอน, สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่ either/or คือให้เลือกว่าจะเอาสิทธิเสรีภาพ สันติวิธี ความเป็นธรรมในสังคม หรือ ระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตย, สิ่งที่เราต้องการและควรเป็นเป้าหมายของเรา คือ both...and หมายความว่าเราต้องการทั้ง สิทธิเสรีภาพ สันติวิธี ความเป็นธรรมในสังคม และ ระบอบประชาธิปไตย หากรัฐบาลทักษิณ-ไทยรักไทยไม่มีปัญญาให้เราทั้งสองอย่าง เขาก็ควรออกจากอำนาจไป เปิดทางให้คนอื่นพรรคอื่นที่สามารถทำได้และให้ได้เข้ามาทำงานแทน

แต่แม้จนบัดนี้ก็ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนเลยที่รับผิดชอบพอและกล้าพอที่จะเสนอเอา สิทธิเสรีภาพ สันติวิธี และความเป็นธรรมทางสังคม เป็นเป้าหมายนโยบายหลักของพรรคคนในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ได้แต่แข่งกันลดแลกแจกแถมประชานิยมเอื้ออาทรสูตรต่างๆ ว่าใครจะบำเรอลูกค้าได้เต็มคราบกว่ากัน

ดูเหมือนระบอบทักษิณ ณ ไทยรักไทย ได้ทำให้พรรคการเมืองไทยทุกพรรคและนักการเมืองไทยทุกคนกลายเป็นผู้ไม่รับผิดชอบทางการเมืองและขี้ขลาดตาขาวทางจริยธรรมกันไปจนหมดสิ้นแล้ว

ภายใต้ภาวะเช่นนี้ ขบวนการเมืองภาคประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง? และจะทำอะไรดี?

1) สืบทอดจิตใจ "สมชาย นีละไพจิตร" และ "เจริญ วัดอักษร" ลุกขึ้นมาใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรมช่วยกันรับผิดชอบดูแลบ้านเมือง-ชุมชน-ส่วนรวม, เอื้ออาทร เคารพและปกป้องศักดิ์ศรี-สิทธิมนุษยชนของเพื่อนร่วมชาติและร่วมโลก เพราะบ้านเมือง-ชุมชน-ส่วนรวมเป็นของเราทุกคน อย่าผลักภาระความรับผิดชอบให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างขี้ขลาดตาขาว อย่าอวดอ้างความรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวแล้วแอบอยู่เบื้องหลังพระองค์

2) หากอำนาจรัฐล้มเหลวอย่างเป็นระบบในการระงับความรุนแรงต่อประชาชนและเคารพปกป้องศักดิ์ศรี-สิทธิความเป็นคนของประชาชน, ก็พึงถ่ายโอนอำนาจนั้นให้ประชาคมระหว่างประเทศและชุมชนท้องถิ่นช่วยดำเนินการแทน

ด้านหนึ่งบุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ ที่จะดำเนินการต่างๆ เท่าที่จำเป็นและควรแก่เหตุในกรอบของกฎหมายเพื่อป้องกันชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของตนเอง รวมทั้งทรัพยากรของชุมชนจากความรุนแรงของกลุ่มทุนอิทธิพลเอกชน และความรุนแรงอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐหมดปัญญาที่จะช่วยป้องกันและสังคมเพิกเฉยมึนชา

ในอีกด้านหนึ่ง นานาอารยประเทศอันประกอบเป็นสังคมโลกหรือประชาคมระหว่างประเทศ ย่อมมีสิทธิและความชอบธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกฎบัตรของสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกและให้สัตยาบันรับรอง ในอันที่จะกดดันตรวจสอบรัฐไทย และปกป้องคุ้มครองประชาชนไทยจากการใช้ความรุนแรงนอกกฎหมายและการละเมิดศักดิ์ศรี-สิทธิมนุษยชน

นั่นเป็นหลักประกันสิทธิและผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยที่เรามีร่วมกับประชาชนทั่วโลก เมื่อรัฐของเราคุ้มครองเคารพปกป้องประชาชนในชาติไม่ได้ ก็พึงให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้ามาช่วยทำในสิ่งที่รัฐไทยพึงทำตามหน้าที่รับผิดชอบแต่ไม่ได้ทำหรือไม่มีปัญญาทำ

3) เราควรจำแนกกลุ่มฝ่ายต่างๆ ในภาคทุนเอกชน และกลไกรัฐ เพราะในหมู่กลุ่มทุน ก็มีทั้งทุนเสรีประชาธิปไตย, ทุนผูกขาดรวมศูนย์ และทุนเจ้าพ่ออิทธิพล, ในบรรดากลไกรัฐ ก็มีทั้งหน่วยงานที่คุ้มครองประชาชน ปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้ความยุติธรรม และหน่วยงานที่เป็นนักละเมิดสิทธิมนุษยชน นักอุ้ม นักปราบ นักฆ่า นักขาย นักโกหกบิดเบือน ประชาชนควรใช้อำนาจเท่าที่เรามี รวมทั้งอำนาจคะแนนเสียงในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งและอำนาจซื้อในฐานะผู้บริโภค เลือกปฏิบัติ ร่วมมือสนับสนุน วิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้านบอยคอตไม่ซื้อ ไม่ใช้บริการต่อกลุ่มทุนและหน่วยงานรัฐต่างๆ อย่างจำแนก

4) ผลักดันให้ปัญหาความรุนแรงต่อประชาชนกับการละเมิดศักดิ์ศรี-สิทธิความเป็นคน กลายเป็นเกณฑ์วัด-ดัชนีชี้วัดหลักทางการเมือง ที่มีน้ำหนักความสำคัญในการประเมินความสำเร็จ/ล้มเหลวของรัฐบาล ไม่น้อยไปกว่าและควบคู่ไปกับดัชนีเศรษฐกิจ

5) ผลักดันให้ประเด็นสิทธิเสรีภาพ สันติวิธี และความเป็นธรรมทางสังคม ขึ้นเป็นระเบียบวาระสังคมการเมือง กระทั่งเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่จะมาถึง สนับสนุนพรรค-นักการเมืองที่ให้ความสำคัญจริงจังกับเรื่องนี้, ลงโทษ-บอยคอตพรรค-นักการเมืองที่ละเลยเรื่องนี้

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




อาวรณ์เจริญ วัดอักษร จากเหนือ กลาง และทางใต้ คำนับด้วยอักษรเจริญจากพี่ เพื่อน และคนเรือนแสนของสังคมไทย ด้วยอาลัยรักเสมอ

 

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

ขอบคุณเจริญ วัดอักษร สำหรับ
การรักษาแหล่งหอยลายขนาดใหญ่ของบ่อนอกไว้ให้แก่ปลาวาฬ แลกกับเงินจำนวนมหาศาลที่นายทุนเรืออวนลากเสนอ การตัดสินใจของคุณกับชาวบ้านที่จะเลือกปลาวาฬก่อนเงิน นับเป็นก้าวสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย เพราะเป็นการเลือกที่ชาญฉลาด ปลดปล่อยผู้คนออกจากบ่วงของปรัชญาการพัฒนาที่มืดบอด คับแคบ และไร้ความเป็นธรรม อันได้ผูกรัดสังคมไทยมาเป็นเวลานาน