มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานวิชาการเรื่องนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 420 หัวเรื่อง
บทนำทางเลือกอุดมศึกษาไทย และ
ภาพกว้างทางออกของอุดมศึกษา

คำนำ หนังสือเล่มใหม่ของ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
110747
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
อุดมศึกษาไม่จำเป็นต้องมีแบบเดียวในโลก โดยลอกเลียนมาจากตัวอย่างซีกโลกตะวันตก
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


คำนำและภาพกว้างของหนังสือชุด ความรู้เที่ยงคืน
บทนำ : ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท
หนังสือเล่มใหม่ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กำลังจะตีพิมพ์จำหน่ายในราวเดือนสิงหาคมนี้
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)

หมายเหตุ : บทความนี้ประกอบด้วยสองส่วน
ส่วนที่หนึ่ง เป็นเรื่องของ"คำนำ"หนังสือ
ส่วนที่สอง เป็นเรื่อง"ภาพกว้างปัญหาและทางออกของมหาวิทยาลัยไทย"

 

1. คำนำ : ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท

หากมีอาจารย์ท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัย ยื่นเรื่องขอเปิดสอนกระบวนวิชาแนวคิดกบฎ กับกรรมการวิชาการของมหาวิทยาลัย คงเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้คนทั้งหลายแตกตื่นและสับสน ปนความรังเกียจเดียดฉันท์ และคงโจษขานกันว่าอาจารย์ท่านนั้นท่าจะบ้า ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

ในโลกยุคหลังสมัยใหม่ หลังอุตสาหกรรม หรือเรียกว่าหลังอาณานิคมก็ตาม โลกที่ประเทศส่วนใหญ่บอกกับตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย ที่มีไตรสรณะอยู่ที่ ความเสมอภาค อิสรภาพ และภราดรภาพนั้น เอาเข้าจริงๆ ตลอดคริสตศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา โลกใบนี้ยังไม่เคยบรรลุถึงเลย

โลกในทุกวันนี้ยังคงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง การปะทะกันอย่างรุนแรง และยังเต็มไปด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษ และกาลใกล้อวสานของพลังงานน้ำมัน แต่มหาวิทยาลัยกลับมิได้ช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้เอาเลย มหาวิทยาลัยกลับกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้สิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่อย่างแนบแน่นกับสังคม เพราะทุกวันนี้ไม่ใช่มหาวิทยาลัยหรอกหรือ ที่หลายคนร่ำเรียนมา กลับเป็นผู้ที่ได้สร้างปัญหาเหล่านี้ให้กับสังคมอย่างไม่รู้จบสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องชนชั้น ปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาค และความคิดอำนาจนิยม จะเห็นว่า มหาวิทยาลัยได้ผลิตนักศึกษาด้วยการให้ปริญญาสูงต่ำนับจาก ตรี โท เอก จนกระทั่งถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่แบ่งกันที่ลำดับขั้นทางวิชาการ เป็นอาจารย์ธรรมดา เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ เท่านี้ยังไม่พอ ยังมีตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 11 พ่วงท้ายตามมาด้วย

ในส่วนของปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความรังเกียจเดียดฉันท์กันทางเชื้อชาติ จะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ทำหน้าที่ลดทอนปัญหาเหล่านี้ลงแต่อย่างใด นับตั้งแต่การรับนักเรียนเข้ามาศึกษาต่อ และรับอาจารย์เข้ามาสอนหนังสือ จะต้องมีการกรอกรายละเอียดเรื่องเชื้อชาติ-สัญชาติกันให้ชัดเจนถูกต้อง คำถามคือว่า มหาวิทยาลัยไปทำหน้าที่อะไรในเรื่องของกระทรวงมหาดไทย หรือมหาวิทยาลัยกำลังถูกหน่วยงานอื่นครอบ

เรื่องของอาวุโสและเรื่องเพศ จะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำอะไรที่แตกต่างไปจากองค์กรอื่นมากมายนัก นับจากระบบของการเลื่อนขั้นและตำแหน่ง รวมไปถึงหน้าที่การงาน ก็พิจารณากันตามความอาวุโสและทัศนคติที่มีต่อเรื่องเพศ โดยเฉพาะปัญหาการแบ่งแยกทางเพศยังมีให้พบเห็นอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ แม้ว่าจะมีสถาบันสตรีศึกษาปรากฏขึ้นในหลายๆมหาวิทยาลัยก็ตาม

ทุกวันนี้ หากมองไปรอบตัวจะเห็นปัญหาของสังคมครอบคลุมอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยไม่เคยเป็นคำตอบหรือทางออกต่อปัญหาเหล่านี้ สถาบันอุดมศึกษากลับเป็นตัวที่ไปคอยช่วยเสริมสร้างปัญหา ทำให้ความยุ่งยาก ความรุนแรง และความสับสนเหล่านี้ยังคงอยู่ นับจากการเรียนหนังสือที่คัดลอกมาจากตำราฝรั่งกระแสหลัก ทั้งทางด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมวัฒนธรรมตะวันตก ที่มุ่งรับใช้แนวคิดทุนนิยม บริโภคนิยม

อำมาตยธิปไตย ธุรกิจการเมือง ซึ่งผลัดกันครอบคลุมสังคมไทยมาตลอดเวลานับเนื่องติดต่อกันหลายทศวรรษในสังคมก็ยังคงอยู่อย่างนั้น มหาวิทยาลัยไม่เคยคิดแก้ปัญหาการติดตันทางการเมืองเหล่านี้ได้ นอกจกนั้นเรายังเรียนเรื่องรัฐศาสตร์ของกรีก โรมัน ยุโรป และอเมริกา โดยนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ถึงหลักรัฐศาสตร์ของโลกอาหรับ แอฟริกัน อินเดีย และจีนเลย

โลกใบนี้ที่เราคิดว่าเรารู้รอบ ตามข้อเท็จจริงแล้ว เรารู้จักมันเพียงแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น และในความน้อยนิดนั้น เราก็เรียนรู้มันอย่างไม่แตกฉาน ซ้ำร้ายยังเข้าใจความรู้พวกนั้นกันอย่างผิดๆ และวิปริตมากยิ่งขึ้นไปอีกกับการที่เราเชื่อว่า เราถูก คนขาวถูก คนตะวันตกไม่เคยผิด จนหลุดปากเชียร์คนเหล่านี้อย่างออกนอกหน้าตามโทรทัศน์กันอย่างไม่รู้ตัว เมื่อนักวิชาการทั้งหลายปรากฎกายต่อหน้าสื่อมวลชน และพร่ำในเรื่องที่ตัวเองอ่านมาจากภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียว

กระบวนวิชาแนวคิดกบฎ จึงเป็นกระบวนวิชาที่สมควรอย่างยิ่งที่จะเปิดให้มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย โดยเปิดให้มีการศึกษาและวิจัยกันอย่างเป็นสหวิทยาการ ไม่ว่าจะเป็นวิชานิติศาสตร์แหกคอก วิชารัฐศาสตร์แหกคอก หรือความคิดหลังอาณานิคม เศรษฐศาสตร์ข้างถนน ไปจนกระทั่งถึงวิชาสังคมวัฒนธรรมชุมชน และเรื่องคนชายขอบ วิชาการและงานวิจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่า แต่แทบจะไม่เคยมีอยู่ในตำราของมหาวิทยาลัย

ความเชื่อในวาทกรรมหลัก(meta narrative)ของยุคอุตสาหกรรม เมื่อมาถึงวันนี้ได้ถูกตั้งคำถามและตั้งข้อสงสัย ความเชื่อในเรื่องของเอกภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความเป็นสากล ความเสมอภาค ความมีเหตุผล และความก้าวหน้า ซึ่งเป็นฐานหินของยุคสว่าง(Enlightenment) มาถึงปัจจุบันกลับกลายเป็นความซับซ้อน การไร้ซึ่งเอกภาพ ภาพสะท้อนที่ไร้ความชอบธรรมของความคิดแบบผู้ชาย การสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมาซึ่งไม่ใช่สากล สิ่งเหล่านี้ระคนซับซ้อน และสับสนอยู่เต็มไปหมดในสังคมร่วมสมัย

วาทกรรมของคนแต่ละกลุ่มเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น ความต้องการความสามารถอันหลากหลายเป็นที่ต้องการมากขึ้นกว่าความรู้แบบแหลมลึกซึ่งเริ่มใช้การไม่ได้ จนมีการเรียกร้องให้บูรณาการทางวิชาการ เพราะหากขืนยังคงปล่อยให้โลกดำเนินการไปตามหนทางนี้ โลกจะอลหม่านมากขึ้น ทั้งนี้เพราะมันได้แอบแฝงเอาความรุนแรง ความไม่เสมอภาค และการขาดเสียซึ่งอิสรภาพเอาไว้

มหาวิทยาลัยสมัยใหม่ ขอเน้นว่าสมัยใหม่ โดยภาระหน้าที่ของตัวมันเองเมื่อแรกตั้ง มันทำหน้าที่ในการกบฎต่อความเชื่อความศรัทธาของศาสนจักร โดยการยืนอยู่บนหลักการของเหตุผล(the age of reason) ปัจจุบันมหาวิทยาลัยควรธำรงรักษาความเป็นกบฎของตนเองไว้ เพื่อทำหน้าต่อต้านต่อวาทกรรมที่มาครอบงำ พร้อมที่จะเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพซึ่งเหลือรอดอยู่เพียงสถาบันเดียวของสังคมเพื่อสร้างผลผลิตทางความคิดใหม่ๆให้กับสังคม และดำรงตนอยู่ในภาวะแห่งอุดมคติ จินตนาการอันสร้างสรรค์ และการกบฎ

สถาบันอุดมศึกษาควรเป็นสมองด้านขวาให้กับสังคม พร้อมกันนั้นควรเป็นมดลูกที่อุดมสมบูรณ์พร้อมจะคลอดผลผลิตที่เป็นนวัตกรรมทางความคิดและจินตนาการให้กับสังคม มิใช่คอยทำหน้าที่ซ่อนเร้นอำพรางในการสนับสนุนความรุนแรง ความลุ่มหลง ความมัวเมา และยืนอยู่ข้างความเท็จของคนส่วนน้อย ที่ปลอบโยนคนส่วนใหญ่ด้วยคำหวานด้วยความก้าวหน้า เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและการพัฒนา ด้วยการฉกชิงวิ่งราวทรัพยากรของคนอื่น

ด้วยเหตุแห่งปัญหาของสังคมและปัญหาของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่มากมายล้นเหลือนี้ จึงเป็นที่มาของการเชื้อเชิญให้ 4 นักคิดไทยได้มาแสดงปาฐกถานำในหัวข้อ "ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท" ในการเปิดที่ทำการใหม่ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนครั้งที่สอง ในซอยโรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 22 มิถุนายน 2545

ในส่วนของรายละเอียด ซึ่งเป็นสาระสำคัญทางความคิดของ 4 นักคิดไทย ซึ่งประกอบด้วย ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก, นายแพทย์ประเวศ วะสี, อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ และพระไพศาล วิสาโล คงเป็นหน้าที่ของผู้อ่านทุกท่าน ที่จะช่วยกันติดตามและคิดพิจารณาว่า ทั้ง 4 นักคิดไทยนั้น แต่ละท่านได้มองปัญหาสังคม ปัญหามหาวิทยาลัย และทางออกของอุดมศึกษาที่เป็นไท เอาไว้อย่างไร ซึ่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สาระประโยชน์อันอุดมของหนังสือเล่มนี้ จะเป็นแนวทางให้ท่านผู้อ่านได้คิดต่อ เกี่ยวกับการศึกษาที่เป็นไทในอนาคต

 

2. ภาพกว้างของปัญหาและทางออกของมหาวิทยาลัยไทย

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้ 42 วัน เด็กน้อยคนที่ 5 จากครอบครัวชาวนายากจน แห่งตำบลเกาะสำโรง บนฝั่งแม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ได้ถือกำเนิดขึ้น และหลังจากนั้น 17 ปี เด็กน้อยคนนั้นสามารถสอบเข้าเรียนต่อชั้นเตรียมแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ และศึกษาต่อที่คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เรื่องราวประดุจนิยายปรัมปรานี้ของ นพ. ประเวศ วะสี เป็นเหตุการณ์จริงในอดีต ซึ่งเกิดขึ้นน้อยครั้งกับเด็กยากจนในชนบท ที่จะสามารถไต่เต้าขึ้นมาเป็นแพทย์คนหนึ่งในสังคมไทยได้ กระทั่งปัจจุบัน เรื่องราวทำนองดังกล่าวก็ยังคงเป็นอยู่อย่างไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

การเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย ยังเป็นเรื่องไกลห่างสำหรับเด็กยากจน ไม่ว่าจะเป็นลูกชาวนา กรรมกร และอาชีพรับจ้างใดๆก็ตามที่จะไขว่คว้าถึงได้ ซึ่งมิได้หมายความถึงเฉพาะคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆเท่านั้น นี่คือเหตุผลหนึ่ง ในหลายๆเหตุผลที่คณาจารย์และนักวิชาการอิสระกลุ่มหนึ่งได้ตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขึ้น

ในวันที่ 22 มิถุนายน 2545 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้เปิดที่ทำการใหม่แห่งที่สอง ข้างรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแห่งที่หนึ่ง วิทยาเขตวัดอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปิดทำการมาตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2543 ต้องปิดตัวลงด้วยเหตุจำเป็นบางประการ

ในวันนั้น คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้เชิญนักคิดไทย 2 ท่านมาแสดงปาฐกถานำในหัวข้อ "ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท" ซึ่งประกอบด้วย นพ.ประเวศ วะสี, ศ.เสน่ห์ จามริก, และในวันที่ 20 กรกฎาคมปีเดียวกัน ได้เชิญนักคิดไทยอีก 2 ท่านมาแสดงปาฐกถานำในหัวข้อเดิมคือ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์, และท่านพระไพศาล วิสาโล

โดยโครงสร้างของเนื้อหาปาฐกถานำเหล่านั้นซึ่งนักคิดทั้ง 4 ท่านนำเสนอ ประกอบด้วย ภาพกว้างปัญหาสังคมไทย ตามมาด้วยปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย และสุดท้าย นักคิดแต่ละท่านได้เสนอทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท โดย นพ.ประเวศ วะสี องค์ปาฐกท่านแรกเสนอว่า …

ปัญหาสังคมไทย เป็นสังคมโครงสร้างอำนาจ เน้นการใช้อำนาจในการจัดการและควบคุม ซึ่งมีคนข้างบนคอยกดขี่คนข้างล่างอยู่เสมอ และนอกจากนี้ ยังให้ภาพกว้างของโลกในยุคปัจจุบันที่เอียงข้างไปทางวัตถุนิยม ขาดมิติทางจิตวิญญาน (spiritual crisis)

แม้ปัญหาสังคมไทยและปัญหาสังคมโลกจะเป็นเช่นนี้ก็ตาม ท่านเห็นว่า มหาวิทยาลัยไทยกลับยังสร้างค่านิยมแบบแบ่งชั้น และทำหน้าที่เสมือนกลไกของความอยุติธรรมของสังคม ยิ่งกว่านั้น การศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่นำเอาปัญหาสังคมมาเป็นตัวตั้ง และหาทางคิดแก้ปัญหา แต่ละมหาวิทยาลัยกลับเอาวิชาเป็นตัวตั้ง แล้วท่องจำกัน แต่ละวิชาก็แยกย่อยจนกระทั่งมองไม่เห็นภาพรวม มหาวิทยาลัยจึงอยู่นอกบริบทของสังคม ไม่รู้ร้อนรู้หนาวเรื่องราวของสังคม ดังนั้น มหาวิทยาลัยซึ่งน่าจะเป็นสมองของสังคม จึงแยกส่วนไปจากร่างกายของตัวเอง มหาวิทยาลัยจึงสร้างคนไทยที่ไม่รู้จักแผ่นดินไทยขึ้นมาเต็มไปหมด

ในส่วนของทางออก ท่านมองว่า มหาวิทยาลัยต้องเอาสังคมเป็นตัวตั้ง นอกจากนี้ยังเสนอให้เอาชีวิตและธรรมชาติเป็นตัวตั้งด้วย โดยคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาควรเป็นสมองของสังคม กล่าวคือ ต้องสร้างการรับรู้ความจริง, เอาความจริงมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ได้, สร้างความรู้ให้เป็นปัญญาไปใช้เชื่อมโยง และสุดท้ายต้องมีการประเมินตรวจสอบความรู้ เพื่อเพิ่มปัญญาอยู่ตลอด

ท่านตั้งข้อสังเกตว่า "ความรู้คือการรู้เป็นเรื่องๆ, ส่วนปัญญานั้นเป็นการรู้เชื่อมโยง" และ "ปัญญาอันอุดม จะนำพาไปสู่อิสรภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ" แต่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มิได้มุ่งไปยังเป้าหมายดังกล่าว นอกจากนี้ท่านยังเสนอว่า "ให้มีการจัดการความรู้(knowledge management) โดยสร้างความรู้ให้เชื่อมโยง ด้วยการเชื่อมต่อความรู้กับความจริง"

ส่วนองค์ปาฐกท่านที่สอง ศ.เสน่ห์ จามริก ท่านได้ให้ภาพปัญหาของสังคมไทยว่า สังคมไทยเป็นอาณานิคมทางปัญญา ซึ่งรับใช้กระแสทุน และประกอบไปด้วยความคิดแบบอำนาจนิยม ซึ่งในส่วนของรัฐบาลไทยเองก็ทำตัวเป็นเสมือนนายหน้ากระแสทุนข้ามชาติ ขูดรีดทรัพยากรไทยเอง โดยไม่เคยปกป้องคุ้มครองสิทธิของชุมชนท้องถิ่น

ท่านได้ให้ภาพความจริงของสังคมไทยว่า สังคมไทยเป็นสังคมโลกชีวิตที่เกี่ยวข้องกับฐานทรัพยากรเขตร้อน โลกชีวิตของชุมชนท้องถิ่น เป็นเรื่องของฐานทรัพยากรเขตร้อนซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วย อาหารและยา รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ

ด้วยเหตุที่ มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของญานวิทยา จึงควรตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว มหาวิทยาลัยต้องเรียนรู้ให้รู้จักตัวเอง และในเวลาเดียวกันนั้น ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้จากภายนอก กล่าวคือต้องรู้จักอัตลักษณ์ของตนและสามารถเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมได้

อุดมศึกษาในฐานะองค์กรทางญานวิทยา ต้องสร้างความรู้ซึ่งไม่เป็นไปเพื่ออำนาจและการครอบครอง แต่ต้องสร้างความรู้เพื่อการปลดปล่อยจากแอกอาณานิคมทางปัญญา ด้วยเหตุผลข้างต้น มหาวิทยาลัยจึงต้องเรียนรู้อัตลักษณ์ของตนเอง และต้องเป็นการเรียนรู้ในลักษณะ inside-out ไม่ใช่ outside-in

ในส่วนของเนื้อหาสาระขององค์ปาฐกถาท่านต่อมาคือ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ข้อคิดและปรัชญาที่ท่านนำเสนอในเรื่อง"ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท" ไม่ได้แปลกไปจากความคาดหมาย แต่ในความราบเรียบที่ดูไม่แปลกนั้น ท่านได้นำเสนอธรรมะและแง่มุมทางศาสนธรรมได้อย่างพิสดาร ด้วยการปรับประยุกต์พระพุทธศาสนากับการศึกษาได้อย่างล้ำลึกไม่รู้จบ ท่านได้เปิดทัศนะของท่านด้วยการชี้ให้เห็นถึงปัญหาสังคมไทยว่า …

สังคมไทยได้ยินยอมให้อำนาจทุนมีอำนาจเหนือรัฐ และเดินตามกรอบของฝรั่ง ไม่เข้าหาสาระของพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้รัฐ, บรรษัทข้ามชาติ, และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี, ซึ่งเป็นสถาบันกระแสหลักจึงไม่ใช่คำตอบสำหรับสังคมไทย ในส่วนของมหาวิทยาลัยไทยนั้นเล่า ก็สอนได้แต่ความรู้ ไม่สามารถสอนเรื่องของคุณธรรมความดีได้เลย

ในเรื่องของทางออกของมหาวิทยาลัย อ.สุลักษณ์เสนอให้ใช้แนวทางอุดมศึกษาแบบพุทธ กล่าวคือต้อง"ปลอดพ้นจากอวิชชา"ไปถึงซึ่ง"ปัญญาและกรุณา" การศึกษาคือหัวใจของพุทธศาสนา ซึ่งมีขั้นตอนนับจากทาน ศีล และภาวนา โดยเริ่มต้นที่ทานอย่างง่าย ไปจนกระทั่งถึงทานที่สละได้ยากคือชีวิตเพื่อรักษาธรรม

ทาน - เป็นสิ่งซึ่งกระทำเพื่อลดความเห็นแก่ตัว, ศีล - เป็นไปเพื่อรักษา กาย วาจา ใจ, และภาวนา - เป็นไปเพื่อพัฒนากาย ใจ และปัญญา

อ.สุลักษณ์ เสนอว่า การศึกษาควรนำศีลธรรม 5 ข้อมาเป็นตัวตั้งนั้น คือสาระสำคัญแห่งอุดมศึกษา เพราะจะคอยทำหน้าที่กำกับให้การศึกษา -ไม่เป็นไปเพื่อความรุนแรงและการฆ่า โดยสร้างความรัก, -ไม่เป็นไปเพื่อการลักขโมย โดยยึดการประกอบกรรมสุจริต, -ไม่เป็นไปเพื่อการพอกกาม โดยการละเลิกและถอยห่างจากกาม, -ไม่เป็นไปเพื่อการกล่าวเท็จ โดยเข้าหาความจริง หรือสัจธรรม, -และสุดท้ายต้องไม่เป็นไปเพื่อความมัวเมา โดยการตั้งอยู่ในสติเสมอๆ

ท้ายสุด อ.สุลักษณ์ได้ให้ข้อสรุป 12 ข้อ ของทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทโดยเริ่มต้นด้วยการเจริญโยนิโสมนสิการ และลงท้ายด้วย การเสนอแนะว่า "อย่าลืมอารมณ์ขัน ให้หัวเราะเยาะตัวเอง และวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง"

หลังสุดของปฐกถานำ"ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท"ชุดนี้ พระไพศาล วิสาโล ได้ปูพื้นปัญหาของมหาวิทยาลัยไทยว่า มหาวิทยาลัยถูกอำนาจทุนและตลาดครอบงำ ความจริงแล้วแม้ว่าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย จักต้องตอบสนองต่อยุคสมัย แต่ก็จะต้องตอบสนองต่อความจริงขั้นพื้นฐาน เช่น ทุกข์ - สุข, อิสรภาพ - สันติภาพ

อุดมศึกษาต้องเป็นไปเพื่อความเป็นไท ไม่ใช่เพื่อระบบทุนนิยม-บริโภคนิยม อุดมศึกษาที่พึงปรารถนา เน้นการให้ทาน ไม่ใช่สินค้า เพราะทานทำให้ทรัพยากรหมุนเวียน ส่วนสินค้าทำให้ทรัพยากรติดตัน อุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทจะต้องพัฒนาทางด้านจิตวิญญาน, ปลดเปลื้องมนุษย์จากเรื่องตัวตน และต้องสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันขึ้นมา ท่านสรุปว่า อุดมศึกษาที่พึงปรารถนาจะต้องนำพามนุษย์และสังคมไปสู่ภพภูมิที่สูงส่ง ดีงาม ทั้งกายและจิตวิญญาน

นักคิดทั้ง 4 ท่าน เป็นผู้สำเร็จการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยกระแสหลัก ซึ่งทุกท่านมองเห็นว่า มหาวิทยาลัยมีปัญหาสังคมต่างๆรุมเร้าอยู่เต็มไปหมด กระนั้นก็ตามมหาวิทยาลัยกลับไม่สนใจปัญหาของตนเอง ไม่เรียนรู้ที่จะรู้จักอัตลักษณ์ของตนเพื่อมุ่งไปสู่การแก้ปัญหา กลับมุ่งหน้ารับใช้กระแสทุน และสนองตอบแนวคิดบริโภคนิยม โดยไม่มีคำตอบให้กับเรื่องของกาย จิตวิญญาน และสังคม ด้วยเหตุดังนั้น ท่านทั้งหลายจึงพยายามเสนอแนะถึงทางออกของอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท

ดูเหมือนว่าทางออกที่ท่านทั้งหลายนำเสนอ ยังคงสะท้อนถึงเป้าหมายของมหาวิทยาลัยเมื่อแรกตั้ง ซึ่งนับเนื่องมาตั้งแต่ในสมัยกลางของยุโรป โดยมหาวิทยาลัยต่างๆในสมัยนั้น วัตถุประสงค์ในการการทำหน้าในการที่จะรักษาใจ รักษากาย และรักษาสังคมเป็นที่ตั้ง โดยสะท้อนออกมาจากการเปิดให้มีการเรียนการสอนทางด้านเทวศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ และนิติศาสตร์ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แม้บริบทของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน แต่ดูเหมือนว่าภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยดังความข้างต้น จะยังคงเป็นพันธกิจที่สำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัยอย่างไม่เปลี่ยนแปลง


 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




ปัญหาโลก ปัญหาสังคม เป็น ปัญหาที่มหาวิทยาลัยไม่มีคำตอบ เพราะเหตุใด และทำไมปัญหาเหล่านี้จึงยังคงคุกคามมนุษย์และธรรมชาติอยู่

 

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

โลกใบนี้ที่เราคิดว่าเรารู้รอบ ตามข้อเท็จจริงแล้ว เรารู้จักมันเพียงแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น และในความน้อยนิดนั้น เราก็เรียนรู้มันอย่างไม่แตกฉาน ซ้ำร้ายยังเข้าใจความรู้พวกนั้นกันอย่างผิดๆ และวิปริตมากยิ่งขึ้นไปอีกกับการที่เราเชื่อว่า เราถูก คนขาวถูก คนตะวันตกไม่เคยผิด จนหลุดปากเชียร์คนเหล่านี้อย่างออกนอกหน้าตามโทรทัศน์กันอย่างไม่รู้ตัว เมื่อนักวิชาการทั้งหลายปรากฎกายต่อหน้าสื่อมวลชน และพร่ำในเรื่องที่ตัวเองอ่านมาจากภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียว