2
0
0
4
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 395 หัวเรื่อง
สื่อกับการสร้างความจริงทางสังคม
นิษฐา
หรุ่นเกษม
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย)
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้
midnightuniv(at)yahoo.com
พลังของสื่อที่มีต่อสังคม
สื่อกับการประกอบสร้างความจริงทางสังคม
นิษฐา หรุ่นเกษม
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
จากบทความเดิม -
รู้เท่าทันสื่อด้วยแนวคิดการประกอบสร้างความจริงทางสังคม
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์แห่งนี้วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๗
(บทความนี้ยาวประมาณ
6.5 หน้ากระดาษ A4)
ในสังคมบริโภคนิยมดังเช่นทุกวันนี้ เราทุกคนต่างได้รับปริมาณเนื้อหาและ ข่าวสารต่างๆอย่างมากมายจากสื่อหลากหลายชนิด ทั้งสื่อมวลชน เช่น โทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ท นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ฯลฯ และสื่อบุคคล เช่น พรีเซ็นเตอร์ ดารานักร้อง พนักงานขายสินค้า เพื่อน ญาติ ฯลฯ
เนื้อหาและข่าวสารเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบทั้งต่อตัวของเราและสังคม
โดยเฉพาะในประเด็นที่มีการศึกษาวิจัยกันอย่างมากในแวดวงวิชาการ เกี่ยวกับอำนาจของสื่อที่มีผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ
เช่น เรื่องทางเพศ เรื่อง ความรุนแรง เรื่องความกลัว ภาพลักษณ์ของร่างกาย (ความอ้วน
ความผอม ความขาว ความดำ) รวมถึงสารเพื่อการโน้มน้าวใจต่างๆที่ปรากฏในโฆษณาตรงและโฆษณาแฝงที่ใช้กลยุทธ์ของการทำให้เกิดความกลัว
ความรู้สึกผิด เป็นต้น
ผลลัพธ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความหวาดวิตกกังวลต่ออิทธิพลอันทรงพลังของสื่อ จนกระทั่งเกิดกระแสตื่นตัวในแวดวงนักวิชาการตะวันตก
ในเรื่องการรู้เท่าทันอิทธิพลของสื่อและการพยายามหาแนวทางให้คนรู้เท่าทันสื่อ
เป็นที่น่าสังเกตว่า
แนวคิดเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อในยุคแรกๆนั้น ดูเหมือนว่าจะมุ่งมองไปที่อิทธิพลของสื่อในประเด็นด้านต่างๆดังได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น
ที่มีต่อเด็กและเยาวชนที่มีลักษณะไร้เดียงสาและ passive ต่อการรับสารที่มีอยู่ในสื่อ
(ในสายตาของนักวิชาการ)
อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาล่วงเลยผ่านไป ปริบททางสังคมก็เปลี่ยนไป ประกอบกับมีการขยายขอบเขตของการทำวิจัยออกไปอย่างกว้างขวาง
ทำให้เกิด ข้อค้นพบใหม่ๆเกี่ยวกับผลกระทบอันจำกัดของสื่อ ลักษณะของผู้รับสาร
ทั้งปัจเจกและกลุ่ม และลักษณะการเลือกรับสื่อและตีความสารของผู้รับสาร (เปลี่ยนมุมมองว่าผู้รับสารมีลักษณะ
active) จึงเป็นผลให้แนวคิดเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ ได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าใหม่ของตัวเองตามไปด้วย
อาทิ การเลิกมองสื่อในแง่ร้าย การมองเห็นถึงพลังของ ผู้รับสาร ไม่ว่าจะอยู่ในวัย
ในเพศสภาพ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ใดๆ ในการต่อรอง ปรับเปลี่ยน หรือต่อต้านคัดค้านท้าทายต่อสิ่งที่สื่อได้นำเสนอ
อย่างไรก็ตาม ในการนำแต่ละแนวคิดหรือทฤษฎีมาใช้เป็นหลักในการเรียนรู้
หรือทำความเข้าใจเพื่อให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อนั้น หากว่าแนวคิดหรือทฤษฎีที่เรานำใช้แตกต่างกันไป
ก็จะทำให้เรามองเห็นโลกแห่งความเป็นจริงที่เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อแตกต่างกันไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น หากเราใช้ "ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง" เพื่ออธิบายประเด็นเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ
เราก็จะได้คำอธิบายต่อกระบวนการทำงานของสื่อ หรือองค์กรผู้ผลิตในการผลิตเนื้อหาในด้านต่างๆ
เพื่อส่งต่อผู้รับสารว่ามีความเป็นมาอย่างไร มีปัจจัยใดบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
เป็นต้น
ในบทความนี้ เลือกใช้ทฤษฎีการประกอบสร้างความจริงทางสังคม (social construction
of reality) มาเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจสื่อ ตามความเชื่อของกลุ่มวัฒนธรรมศึกษาที่ว่า
"ความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา" ดังนั้น เมื่อเราเชื่อมโยง
"การประกอบสร้างความจริงทางสังคม" เข้ากับแนวคิดเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ
เราก็อาจจะตั้งกับคำถามตัวเองได้ว่า เรื่องที่สื่อนำเสนอมานั้นเป็น "เรื่องจริง"
หรือเป็น "เรื่องสร้าง" และสื่อปลูกฝังโลกแห่งจินตนาการให้กลายมาเป็นความเป็นจริงได้อย่างไร
แนวคิดหลักของกลุ่มทฤษฎีวัฒนธรรมก็คือ แนวคิดที่ว่าสิ่งที่เรียกว่า "ความเป็นจริง"
(reality) นั้น มิใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว (given/out there) แต่ความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา
(construct) (กาญจนา แก้วเทพ, 2545:258) หรือถูกนิยามว่า "อะไรเป็นอะไร"
(definition) (กาญจนา แก้วเทพ, 2544:239) กระบวนการสร้างความรู้/ความจริงดังกล่าวเรียกกันว่าเป็น
"การสร้างความเป็นจริงทางสังคม" (social construction of reality)
แนวคิดนี้เริ่มจากข้อเสนอที่ว่า โลกที่แวดล้อมรอบตัวบุคคลนั้นมีอยู่ 2 โลก โลกแรกเป็นโลกทางกายภาพ
อันได้แก่ วัตถุ สิ่งของ บุคคล บรรยากาศด้านกายภาพทั้งหลายที่แวดล้อมบุคคล โลกนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
ส่วนอีกโลกหนึ่งมีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น โลกทางสังคม (social world) สิ่งแวดล้อมเชิงสัญลักษณ์
(symbolic environment) หรือความเป็นจริงทางสังคม (social reality) โลกนี้เกิดจากการทำงานของสถาบันต่างๆในสังคม
เช่น ครอบครัว โรงเรียน ศาสนา ที่ทำงาน รัฐ และสื่อมวลชน (กาญจนา แก้วเทพ, 2544:238)
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเล่าของเด็กหญิงเวอร์จิเนีย โอฮันลอน ที่เขียนจดหมายถึงหนังสือพิมพ์นิวยอร์คซัน
เพื่อสอบถามว่าซานตาคลอสมีอยู่จริงในโลกนี้หรือไม่ และบรรณาธิการได้ตอบจดหมายของเธอว่า
"Yes, Virginia, there is a Santa Claus!" แม้ว่าจะไม่มีใครได้เห็นตัวจริงของซานตาคลอส
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีซานตาคลอส สิ่งที่เป็นจริง (มีอยู่จริง) ที่สุดในโลกคือ
สิ่งที่แม้แต่เด็กหรือผู้ใหญ่ก็ไม่สามารถมองเห็นได้" (Newman, 1997:53)
ข้อความในจดหมายดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพที่เลื่อนไหลไปมาของ ธรรมชาติระหว่าง
"ความจริง" (truth) กับ "ความเป็นจริง" (reality) และบทบาทการทำงานของสถาบันสื่อมวลชนในการสร้างความเป็นจริงขึ้นมาแวดล้อมบุคคล
เด็กหญิงเวอร์จิเนียถูกทำให้เชื่อในความเป็นจริงของบางสิ่งบางอย่างที่เธอไม่สามารถและจะ
ไม่มีวันได้รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสของเธอ และแม้ว่าเมื่อโตขึ้นเธอจะได้รับรู้ความจริง
บางอย่างที่แตกต่างออกไปในเรื่องของซานตาคลอสก็ตาม แต่ในตอนนี้เธอได้ถูกกระตุ้นให้เชื่อในเรื่องราวของซานตาคลอส
แม้ว่าจะไม่สามารถหาหลักฐานใดๆมาพิสูจน์ได้
ความรู้จากโลกทั้งสองในข้างต้นถูกนำมาสร้างขึ้นเป็น "คลังแห่งความรู้ทางสังคม"
(stock of social knowledge) ซึ่งเปรียบได้กับคู่มือการเผชิญโลกของมนุษย์ เป็นคำตอบสำหรับคำถามหลัก
3 ประการ คือ
(1) คนเราสร้างความหมาย (make sense) กับโลกรอบตัวอย่างเราอย่างไร
(2) คนเราก่อสร้าง/ดัดแปลง สร้างใหม่และรื้อซ่อม (construct/reconstruct/deconstruct) ชีวิตประจำวันของตนเองได้อย่างไร
(3) คนเราสามารถทำอะไรไปได้โดยปริยายโดยไม่ต้องหยุดคิดหรือหยุดตั้งคำถามได้อย่างไร
กระบวนการสร้างคลังแห่งความรู้ของเราในชีวิตประจำวันเป็นคล้ายๆกับระบบคอมพิวเตอร์
ประสบการณ์ที่เราสัมผัสเป็นเสมือนกระบวนการป้อนข้อมูลเข้าไปใน CPU รูปธรรมแต่ละครั้งที่ป้อนเข้าไปนั้น
จะเข้าไปถูกจัดระบบไว้เป็นหมวดหมู่เหมือนการจัดแฟ้มที่เรียกว่า typification
จากกระบวนการสร้างคลังแห่งความรู้ในข้างต้น อาจนำมาใช้อธิบายกับเรื่องการรู้เท่าทันสื่อได้ว่า
นักโฆษณาและนักการตลาดมืออาชีพได้ประยุกต์แนวคิดดังกล่าวมาใช้ในการจัดวางตำแหน่งของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่
นั่นคือ การใส่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับตัวสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของกลุ่มคน
ที่ใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้น รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับชื่อเสียงของบริษัทผู้ผลิต
เป็นต้น เพื่อให้เข้าไปอยู่ในคลังแห่งความรู้ของแต่ละบุคคล ผลที่ได้รับก็คือ
ข้อมูลนั้นๆจะเป็นตัวนำทางให้เราซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆโดยไม่มีการหยุดคิดหรือตั้งคำถามใดๆก่อนตัดสินใจซื้อ
งานวิจัยของ Lee (2004) แสดงให้เห็นถึงกระบวนการสร้างคลังแห่งความรู้ ดังกล่าว
Lee พบว่า ธุรกิจยาในอเมริกาทุกวันนี้ จะทุ่มเม็ดเงินเป็นจำนวนมหาศาลให้กับการทำโฆษณาในแบบ
direct-to-consumer เพื่อให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับตัวยา ที่แพทย์ต้องเป็นผู้สั่งนั้นไปถึงมือผู้บริโภคโดยตรง
เนื่องจากธุรกิจยานี้มีความแตกต่างจากสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วๆไปที่ผู้บริโภคมิอาจหาซื้อสินค้าดังกล่าวได้โดยตรง
ดังนั้น การทำโฆษณาในแบบ direct-to-consumer จะส่งผลให้เมื่อ "คนไข้"
หรือผู้บริโภคเข้าพบแพทย์ก็จะพูดคุยถึงยาที่ได้เห็นหรืออ่านเจอในโฆษณา แล้วก็จะเป็นผู้กระตุ้นให้แพทย์เป็นผู้สั่งยานั้นๆให้
สำหรับคำสำคัญในแนวคิดนี้ก็คือ คำว่า "ความเป็นจริง" (reality) อันหมายถึงโลกแห่งสังคม/โลกแห่งสัญลักษณ์ที่ห่อหุ้มแวดล้อมคนอยู่
คำว่า "ความเป็นจริง" นี้ประกอบด้วยหลายมิติ (กาญจนา แก้วเทพ, 2544:239)
คือ
- เป็นแหล่งสำคัญของการให้คำนิยามแก่สังคมต่างๆ (dominant source of definition) เช่น ความสุขคืออะไร สุขภาพที่ดีต้องเป็นอย่างไร เป็นต้น
- เป็นภาพลักษณ์ (image) ของความเป็นจริงทางสังคมของปัจเจกบุคคล/กลุ่ม/สังคมต่างๆ เช่น ทัศนะที่บุคคลธรรมดามีต่อคนในวงการสื่อสารมวลชน ภาพลักษณ์ระหว่างหมอกับพยาบาลและผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
- เป็นค่านิยมที่แสดงออกมา (value) เช่น การเชื่อมโยงระหว่างความดีกับความชั่วเข้ากับความขาวและความดำ ดังที่ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตัวละครผิวดำกับผิวขาวแล้ว ตัวละครผิวดำจะมีลักษณะที่สนุกสนานหรือมีเนื้อหาสาระน้อยกว่าตัวละครผิวขาว และจะลงเอยในทางลบ ในขณะที่ตัวละครผิวขาวจะมีตอนจบที่เป็นบวกมากกว่า เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ข้อค้นพบของ Sweeper (1993) จากการศึกษารายการละครเกี่ยวกับครอบครัวของคนผิวขาว 6 เรื่อง ระหว่างปี 1970-1980 จำนวน 93 ตอน Sweeper พบว่า ครอบครัวของคนผิวดำจะถูกนำเสนอภาพในแบบของครอบครัวที่แตกแยก มีแม่บ้านเป็นใหญ่ในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวมีการศึกษาต่ำ ประกอบอาชีพต่ำ ตัวละครผู้ชายผิวดำที่เป็นผู้ใหญ่จะมีลักษณะไม่เป็นมิตร อ่อนแอ เห็นแก่ตัว ไม่น่าไว้วางใจ มากกว่าตัวละครผู้ชายผิวขาว
- เป็นบรรทัดฐานสำหรับการตัดสิน (normative judgement) เช่น ระหว่างความกตัญญูต่อพ่อแม่กับการตัดสินใจอย่างอิสระในเรื่องชีวิตรักของพระเอกละครโทรทัศน์ สังคมใช้อะไรเป็นเกณฑ์บรรทัดฐานในการตัดสินใจว่าพระเอกทำถูกต้องหรือไม่
เมื่อความเป็นจริงเกิดมาจากการถูกประกอบสร้างหรือถูกนิยามจากการทำงานของสถาบันต่างๆในสังคม
ก็จะมีกระบวนการซึมผ่านนิยามดังกล่าวเข้าไปในตัวบุคคล นิยามดังกล่าวจะกลายเป็น
"แผนที่ทางจิตใจ" (mental maps) ที่ทำหน้าที่เหมือนแผนที่ทั่วไป คือ
ชี้ทิศทางว่าอะไรเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ความคาดหวังต่างๆเป็นอย่างไร (level of
expectation) แผนที่นี้จะลากเส้นกั้นบอกว่า อะไรบ้างที่เป็นไปได้ (possible)
(กำหนด horizontal line) อะไรบ้างที่เป็นเรื่องปกติ (normal) อะไรบ้างเป็นเรื่องที่ยอมรับได้
(acceptable) รวมทั้งมีการชี้แนะว่ามีวิถีทางแบบใดบ้างที่จะบรรลุเป้าหมายได้
(บอก way of life)
ยกตัวอย่างเช่น การที่เจ้าของธุรกิจสินค้าและบริการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของ นักการตลาดและนักโฆษณา
โดยอาศัยธรรมชาติหรือคุณลักษณะของสื่อและภาษาของสื่อ เช่น การวางมุมกล้อง ขนาดของภาพ
การตัดต่อภาพ วิธีการเล่าเรื่อง ฯลฯ เพื่อประกอบสร้างความเป็นจริงว่าจุดหมายแห่งความสุขของผู้คนคืออะไร
พร้อมทั้งแสดงให้เห็นว่า จะทำอย่างไรจึงจะบรรเทาความพร่องในตัวตนให้ลดไปได้ เช่น
ต้องอาศัยการจับจ่าย ใช้สอยสินค้ายี่ห้อแบรนด์เนมต่างๆ เป็นต้น
หรือในกรณีของการประกอบสร้างอุดมการณ์เรื่องเพศในสังคมไทย กำจร หลุยยะพงศ์ (2547)
ชี้ให้เห็นว่า เมื่อลองพิจารณาตัวละครและเรื่องราวที่ปรากฏใน ภาพยนตร์แล้วจะพบว่า
จะมีลักษณะของการถูกจำกัดจำเขี่ยและอยู่ภายใต้อุดมการณ์ทางเพศ หากมองเฉพาะตัวละครหญิงก็จะพบเพียงภาพของหญิงอ่อนหวาน
(แต่โง่) ผู้หญิงในฐานะวัตถุทางเพศ (ดาวยั่ว) ผู้หญิงในฐานะของเหยื่อ (ถูกหลอก
ถูกตบ จูบ ถูกข่มขืน)
และหากมองตัวละครชายก็จะพบมุมอีกด้านหนึ่ง คือ ฉลาด เข้มแข็ง มีอำนาจ และเป็นผู้กระทำ
ในส่วนของเรื่องราวก็จะพบนางเอกแก่นแก้วแสนซนดังนางแมวป่า แต่ท้ายที่สุด พระเอกก็สามารถปราบพยศและทำให้นางเอกกลายเป็น
"กุลสตรี" ได้ดังอุดมการณ์ของสังคมได้อย่างไม่น่าเชื่อ ในทางกลับกัน
แก่นเรื่องที่แสดงให้เห็นภาพ นางเอกท้องก่อนแต่ง หย่า ถูกข่มขืน หรือมีแฟนเป็นนางรอง
จะต้องถูก "ซ่อนเร้น" และเป็นข้อห้ามสำคัญสำหรับหนังเพราะขัดกับขนบความเชื่ออันดีงามของไทย
นอกจากนั้นแล้ว หากศึกษาถึงเรื่องการรู้เท่าทันสื่อโดยนำแนวคิดเรื่องการประกอบสร้างความเป็นจริงทางสังคมมาใช้อธิบายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสื่อ
จะสรุปได้ว่า ทุกครั้งที่สื่อมวลชนเผยแพร่ผลงานของตนก็จะสร้างผลกระทบได้ในหลายระยะ
ทั้งระยะสั้น (ขั้นแรก) ระยะกลาง (ขั้นที่สอง) และระยะยาว (ขั้นที่สาม) เช่น
หลังจากรับข่าวสารไปแล้ว ผลกระทบระยะแรกก็คือ การเก็บข้อมูลเข้าสู่คลังความรู้
สร้างทัศนคติ และค่านิยมต่างๆ หลังจากนั้นก็เป็นขั้นตอนที่มีปฏิกิริยาตอบสนอง
และเมื่อเวลาค่อยๆผ่านไป ข้อมูลข่าวสารที่สะสมกันมากๆเข้าก็จะถูกจัดระบบและห่อหุ้มผู้รับสารจนกลายเป็นโลกแห่งความจริง
(กาญจนา แก้วเทพ, 2545)
ดังเช่นที่ Luara Mulvey (อ้างถึงในกำจร หลุยยะพงศ์, 2547) เสนอแนวคิดในส่วนของผู้ชมหรือผู้รับสารว่า
ไม่ว่าจะเป็นผู้ชมเพศใด ชายหรือหญิงก็ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ภายใต้อุดมการณ์แบบชายเป็นใหญ่แทบทั้งสิ้น
เพราะเมื่อภาพยนตร์ถูกผลิตด้วยมุมมองการผลิตแบบผู้ชาย กล่าวคือ ตากล้อง ผู้กำกับ
คือ ผู้ชาย และหนังก็ตกอยู่ในกรอบของสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ก็ย่อม "ตัด"
และ "ต่อ" ภาพที่ออกมาแบบผู้ชายให้เราดูโดยไม่รู้ตัว
L.Mulvey ยกตัวอย่างกรณีของภาพดาราหญิงที่ถูกถ่ายทำในลักษณะโป๊เปลือยหรือวับๆแวมๆ
ซึ่งแตกต่างจากภาพของดาราชาย อันถือว่า เป็นการตอกย้ำวิถีแห่ง เพศหญิงในฐานะผู้ถูกกระทำและวัตถุทางเพศ
และหากผู้ชมได้ดูภาพดังกล่าวบ่อยครั้ง ก็ย่อมมีทัศนะมองผู้หญิงในฐานะวัตถุทางเพศในที่สุด
อย่างไรก็ตาม แนวคิดของ Mulvey ก็ถูกโต้แย้งและตั้งคำถามว่า และผู้ชมที่เป็นหญิงและเกย์จะเห็นสอดคล้องเช่นนั้นหรือไม่ก็ตาม
แต่ก็ถือว่าเป็นการเปิดประเด็นให้เห็นถึงมิติผู้ชมที่ถูกครอบงำจากอุดมการณ์เพศไม่มากก็น้อย
รายการอ้างอิง
กาญจนา แก้วเทพ. 2544. ศาสตร์แห่งสื่อและวัฒนธรรมศึกษา. กรุงเทพฯ: เอดิสันเพรสโปรดักส์.
กาญจนา แก้วเทพ . 2545. สื่อสารมวลชน: ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ศาลาแดง.
กำจร หลุยยะพงศ์. เอกสารประกอบการเสวนาเรื่อง "เพศวิถีที่ซ่อนเร้นในแผ่นฟิล์ม" ใน "เทศกาลหนังม่านรูด" ระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2547 ณ โรงภาพยนตร์ EGV Metropolis
Lee, Byoungkwan. 2004. The effects of information sources on consumer attitudes toward direct-to-consumer prescription drug advertising: a consumer socialization approach. paper presented in International Communication Association 2004 convention.
Newman, David M. 1997. Sociology: Exploring the architecture of everyday life. CA: Pine Forge Press.
Greenberg, Bradley S. and Brand, Jefferey E.1993. "Minorities and the Mass
Media: 1970s to 1990s" in Bryant, Jennings and Zillmann, Dolf. (eds).
Media effects: Advances in theory and research. Hillsdale, New Jersey:
Lawrence Erlbaum, pp. 273-314
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
กรณีของการประกอบสร้างอุดมการณ์เรื่องเพศในสังคม เมื่อลองพิจารณาตัวละครและเรื่องราวที่ปรากฏใน ภาพยนตร์แล้วจะพบว่า จะมีลักษณะของการถูกจำกัดจำเขี่ยและอยู่ภายใต้อุดมการณ์ทางเพศ หากมองเฉพาะตัวละครหญิงก็จะพบเพียงภาพของหญิงอ่อนหวาน (แต่โง่) ผู้หญิงในฐานะวัตถุทางเพศ (ดาวยั่ว) ผู้หญิงในฐานะของเหยื่อ (ถูกหลอก ถูกตบ จูบ ถูกข่มขืน)
ข้อค้นพบของ Sweeper
(1993) จากการศึกษารายการละครเกี่ยวกับครอบครัวของคนผิวขาว 6 เรื่อง ระหว่างปี
1970-1980 จำนวน 93 ตอนนั้น Sweeper พบว่า ครอบครัวของคนผิวดำจะถูกนำเสนอภาพในแบบของครอบครัวที่แตกแยก
มีแม่บ้านเป็นใหญ่ในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวมีการศึกษาต่ำ ประกอบอาชีพต่ำ ตัวละครผู้ชายผิวดำที่เป็นผู้ใหญ่จะมีลักษณะไม่เป็นมิตร
เห็นแก่ตัว
งานวิจัยของ Lee (2004)
แสดงให้เห็นถึงกระบวนการสร้างคลังแห่งความรู้ ดังกล่าว Lee พบว่า ธุรกิจยาในอเมริกาทุกวันนี้
จะทุ่มเม็ดเงินเป็นจำนวนมหาศาลให้กับการทำโฆษณาในแบบ direct-to-consumer เพื่อให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับตัวยา
ที่แพทย์ต้องเป็นผู้สั่งนั้นไปถึงมือผู้บริโภคโดยตรง เนื่องจากธุรกิจยานี้มีความแตกต่างจากสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วๆไปที่ผู้บริโภคมิอาจหาซื้อสินค้าดังกล่าวได้โดยตรง
ดังนั้น การทำโฆษณาในแบบ direct-to-consumer จะส่งผลให้เมื่อ "คนไข้"
หรือผู้บริโภคเข้าพบแพทย์ก็จะพูดคุยถึงยาที่ได้เห็นหรืออ่านเจอในโฆษณา
แล้วก็จะเป็นผู้กระตุ้นให้แพทย์เป็นผู้สั่งยานั้นๆให้