เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๗: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

2
0
0
4

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 372 หัวเรื่อง
ประยุกต์การศึกษาให้เหมาะกับวัยรุ่น
จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์
สมาชิก ม.เที่ยงคืน
ส่งมาทางจดหมายอีเล็คทรอนิค
(บทความขนาดสั้น)


เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com

R
relate topic
120447
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความวิชาการ ฟรีสำหรับทุกคน
เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ โดยไม่มีเงื่อนไขทางการศึกษา วัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจใดๆมาเป็นอุปสรรค และยังมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตความรู้ขึ้นมาเพื่อพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม
The Alternative University


แนวทางประยุกต์การศึกษากับกระแสวัยรุ่น
วัยรุ่นหลังสมัยใหม่ พวกเขาเรียนรู้กันอย่างไร?
จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์
สาขาพัฒนศึกษา(ป.เอก) คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(บทความนี้ยาวประมาณ 5 หน้ากระดาษ A4)

จากบทความเดิมเรื่อง
ละคร เพลงต่างชาติ "J-T-K" กับวัยรุ่นไทยในกระแสความเปลี่ยนแปลง

ในรอบ 4- 5 ปีที่ผ่านมา เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความแรงของกระแสละคร เพลงต่างชาติในฝั่งญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี บนหน้าจอโทรทัศน์ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และพฤติกรรมของผู้ชมโดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่น ตัวอย่างปรากฏการณ์ F4/ ลูซิเฟอร์/ เจย์ โชว์ "ฟีเวอร์" ไม่เพียงแต่นำไปสู่กิจกรรมบริโภคสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปินและผลงานที่ผลิตออกมาแล้ว ยังได้นำไปสู่การวิพากษ์เกี่ยวกับอิทธิพลและผลกระทบของละคร เพลงดังกล่าวที่กำลังรุกคืบครอบงำวัยรุ่น สังคมและวัฒนธรรมไทย(1)

วัยรุ่นกับการ "ดูหนัง ฟังเพลงนอก" ในสังคมและวัฒนธรรมไทย
อันที่จริง วัฒนธรรมการ "ดูหนัง ฟังเพลงต่างชาติ" ดูจะเป็นปรากฏการณ์สากลที่ไม่จำกัดเฉพาะกับวัยรุ่น/ชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือเฉพาะในปัจจุบัน หากแต่ปรากฏให้เห็นได้มาตั้งแต่อดีต ดังเช่นในยุค 60-70 เป็นต้นมา โดยที่ "โทรทัศน์" (TV) ได้มีส่วนในการแพร่กระจายวัฒนธรรม (cultural diffusion) ดังกล่าวจนเป็นที่นิยมไปทั่ว จนเกิดวัฒนธรรมเฉพาะแบบ เช่น วัฒนธรรมร็อค วัฒนธรรมป๊อบในหมู่วัยรุ่น(2) ซึ่งวัยรุ่นไทยเองก็นิยมในศิลปินละคร เพลงตะวันตกอย่างแรง ดังปรากฏภาพของ " จอห์น เวย์" "เอวิส" หรือ "สี่เต่าทอง" ในแบบ "พันธุ์ไทย" และเช่นเดียวกันการที่อิทธิพลละคร เพลง ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี หรือกลุ่ม "J-T-K" เข้ามาสู่การยอมรับมากขึ้นในสังคมไทยนั้นก็ดูไม่ต่างกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หากแต่มีปัจจัยต่างๆ ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ง่ายขึ้น ก็เช่น

- อิทธิพลของแนวคิดการพัฒนาและลัทธิการล่าอาณานิคมใหม่ที่เน้น "ตะวันออกนิยม" (orientalism) มีส่วนที่ทำให้การแพร่กระจายวัฒนธรรมต่างชาติ รวมถึงการรับเอาวัฒนธรรมอื่นและผสมผสานทางวัฒนธรรม (cultural assimilation) ได้แปรเปลี่ยนไปจากการยึด "ตะวันตกนำ" มาสู่การเปิดพื้นที่ที่ให้คนชาติตะวันออกมากขึ้นด้วย หรืออีกนัยคือ ภาพของศิลปิน "F4" "ลูซิเฟอร์" จึงเปรียบเสมือน "ตัวแทนแห่งความเป็นใหญ่ในทวีป"

- สื่อโทรทัศน์ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องแพร่กระจายวัฒนธรรมละคร เพลงต่างชาติได้อย่างรวดเร็วแล้ว ในอีกทางหนึ่งยังทำหน้าที่ในกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและการถ่ายทอดวัฒนธรรมใหม่ เพราะถือเป็นเป็นสื่อที่มีลักษณะประชิดตัวผู้ชมมากและมีอิทธิพลด้านวัฒนธรรมมวลชนมากที่สุด(3) ดังนั้น ภาพของละคร เพลง "x Japan" "Girlband" ตัวแทนวัยรุ่นในชาติเอเชียตะวันออกไกลที่ผ่าน "กระบวนการผลิตซ้ำ" บนจอโทรทัศน์ จึงมีอิทธิพลต่อการสร้าง "ค่านิยมวัยรุ่นมวลชน" รวมถึง "วัฒนธรรมวัยรุ่นตะวันออก" ผลก็คือการยอมรับความต่างและความเหมือน/มีร่วมกันของวัยรุ่นในภูมิภาคเดียวกัน หรือไม่อีกนัยหนึ่งก็นำไปสู่การสร้างมายาภาพใหม่ๆ ในโลกของวัยรุ่นที่สร้างโลกจำลองแบบศิลปินที่นิยม

- กระแสวัฒนธรรมการบริโภคได้เป็นกระบวนการให้เกิดการ "ซื้อขาย แลกเปลี่ยน" วัฒนธรรม "ดูหนัง ฟังเพลงต่างชาติ" มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในเชิงของผู้บริโภคจะเห็นได้ว่า สังคมไทยยังให้ความสำคัญกับการบริโภค ละคร เพลงต่างชาติเช่นเคย แต่ผู้ผลิตและสินค้าต่างหากที่เปลี่ยนไป โดยที่การสื่อสารไร้พรมแดนได้มีส่วนเปิดเส้นทาง/ช่องทางให้มีความหลากหลายระหว่างผู้ผลิต ตัวสินค้า และทางเลือกบริโภคที่ไม่ "ผูกขาด" เฉพาะฝากฝั่งเดียว แต่ยังเพิ่มกระบวนการผลิตซ้ำสินค้าทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพให้สนองตอบผู้บริโภคมาก-น้อยต่างกันไป

- โดยแง่นี้ วัยรุ่นไทยได้กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในตลาดบริโภค เพราะเป็นผู้ซื้อที่มีอำนาจในการ "พร้อมจ่าย" ซึ่งโบดริยาร์ด (Baudrillard) เรียกว่าเป็น "การบริโภคเชิงสัญญะ" ที่ผ่านมาทางสินค้าต่างๆ ของสื่อมวลชน(4) ซึ่งผลกระทบสำคัญคือมันกำลังนำไปสู่การรื้อสร้างความเชื่อ ค่านิยม พฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของวัยรุ่นภายใต้สิ่งที่เรียกว่า "ศาสนาบริโภคนิยม"(5)

- กระแสความทันสมัยนิยม/สมัยใหม่นิยม (modernism) มีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมและวัฒนธรรมไทย รวมถึงโลกทัศน์ของวัยรุ่น ภาพของละคร เพลงข้ามชาติที่เสนอเรื่องราวสาระการใช้ชีวิตวัยรุ่นแบบสไตล์ J culture ที่แต่งตัวและใช้ชีวิตภายใต้วัฒนธรรมญี่ปุ่น/ Japanism หรือภาพของวัฒนธรรมแบบสไตล์ K culture แบบเกาหลี(6) ได้กลายเป็นสื่อสาระให้วัยรุ่นเรียนรู้-ลอกเลียนภาพลักษณ์เหล่านี้ จนเลือกที่จะเป็น "ใคร" (who) ในแบบ J (Japan) หรือ K (Korea) เพื่อให้ทันยุคหรือเป็น "โมเดริ์นแมน" ซึ่งได้นำมาสู่การสร้าง "ความเป็นอื่น" ในวัฒนธรรมของวัยรุ่นควบคู่ไปด้วย นั่นคือ ถ้าวัยรุ่นคนไหนไม่ตามกระแสหรือไม่ทันสมัยก็กลายเป็นพวกเชยล้าหลัง หรือตกกระแส ดังภาพของขบวนการ "แฟนคลับ" ทั้งหลายที่เลียนแบบทางวัฒนธรรม (culture adoption) ก็เป็นมากกว่าแฟชั่นของวัยรุ่นยุคใหม่

จากที่กล่าว จะเห็นว่า ทั้งแรงผลักจากกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เน้นตะวันออก สื่อโทรทัศน์/วัฒนธรรมโทรทัศน์ที่ทำการผลิตซ้ำทางสายตา วัฒนธรรมบริโภคเสรี ความเป็นโมเดิร์น ล้วนเป็นเหตุ-ผลที่สัมพันธ์กับการแพร่การกระจาย การรับวัฒนธรรมละคร เพลงต่างชาติ "J-T-K" ซึ่งมีผลต่อการสร้างตัวตน/กลุ่มวัยรุ่น ยิ่งในยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern) ที่เต็มสังคมเต็มไปด้วยความหลากหลายและสลับซับซ้อนแทบทุกด้าน ยิ่งดูเหมือนว่า วัยรุ่นผู้ต้องเผชิญหน้ากับกระแสอำนาจของสื่อโทรทัศน์ที่ทำการผลิตซ้ำวัฒนธรรมข้ามชาติมากยิ่งขึ้น

และภายใต้พลวัตรเหล่านี้ย่อมหนีไม่พ้นซึ่งปรากฏการณ์ "ตามกระแส" ที่ให้นัยว่า วัยรุ่นกับการคลั่งศิลปินเป็นของคู่กัน หรือไม่ในทางตรงกันข้ามก็เป็นปรากฏการณ์ "ต้านกระแส" ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและต่อต้านวัฒนธรรมต่างชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนสัญญะแห่งบริเวณของการต่อสู้ของภาพแสดง (representation) ผ่านวาทกรรมการเคลื่อนไหวและความขัดแย้งในสังคม(7) และทั้งหมดนี้ย่อมมีผลต่อการสร้างอัตลักษณ์ของวัยรุ่นและวัฒนธรรมวัยรุ่นไทย

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ แนวโน้มภาพของวัยรุ่นไทยที่ดูจะไหลไปตามกระแสนอกมากขึ้นนั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อตัววัยรุ่นแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาวะทางสังคมและวัฒนธรรมโดยรวม ตัวอย่างปรากฏการณ์ "โรคคลั่ง" ดารา ขนาดที่ว่า "ไม่เห็นเธอ ฉันเหงา ไม่เห็นเขา ฉันเศร้า" จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายในหมู่วัยรุ่น หรือปรากฏการณ์ 7 syndrome(8) คล้ายกับเป็นสัญญาณว่านี่เป็น "โลกของเธอกับฉัน/โลกของเขาคือโลกเรา" ถึงมีผู้เปรียบว่า นั่นคือ "ศาสนาใหม่" (modern religion) ที่กำลังแปรเปลี่ยนโลกได้ทั้งใบ

เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว คงต้องย้อนกลับมาถามว่า แล้วการศึกษาควรจะมีบทบาทอะไร อย่างไรในการนี้ เพราะนี่คือโจทย์สำคัญของการปฏิรูปการศึกษาไทย

การศึกษากับการสร้างวัยรุ่น/วัฒนธรรมวัยรุ่นที่พึงประสงค์
ละคร เพลงต่างชาติกลุ่ม "J-T-K" นี้ มีผลต่อวัยรุ่นที่นับวันจะมีมากขึ้น ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ต่ออนาคตของวัยรุ่นไทย และวัฒนธรรมวัยรุ่นที่ไม่พึงประสงค์ จนเกิดคำถามว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว ทำอย่างไรที่จะทำให้วัยรุ่นไทยเติบโตขึ้นอย่าง "เป็นวัยใส ไม่ไร้ความคิด ติดกับกระแส" ? และนี่ก็เป็นประเด็นสำคัญที่การศึกษาควรจะมีบทบาทร่วมจัดการในเรื่องนี้

โจทย์ตั้งต้นของการศึกษาเพื่อวัยรุ่นยุคนี้จึงอยู่ที่ว่า ละคร เพลงต่างชาติเหล่านี้สัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของวัยรุ่นในด้านต่างๆ อย่างไร และการศึกษาลักษณะใดที่จะช่วยพัฒนาวัยรุ่นและวัฒนธรรมวัยรุ่นที่พึงประสงค์

อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่จะช่วยให้วัยรุ่นในการนี้ได้จึงจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติวัยรุ่น ซึ่งนักจิตวิทยาอย่าง อิริคสัน (Erikson) (1963) เห็นว่า "วัยรุ่นจะเป็นวัยที่พยายามค้นหาความต้องการที่แท้จริง บทบาทหน้าที่ ความสามารถแห่งตน เพื่อที่จะวางแผนชีวิตต่อไปในอนาคต ถ้าในระยะนี้เด็กประสบความสำเร็จในการหาเอกลักษณ์แห่งตน เด็กก็จะรับรู้บทบาทหน้าที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักความสามารถของตน รวมทั้งมีการวางแผนชีวิตที่เหมาะสมกับตน ในทางตรงกันข้าม ถ้าวัยรุ่นล้มเหลวในการหาเอกลักษณ์แห่งตน วัยรุ่นก็จะสับสนในบทบาทหน้าที่และมีผลต่อการเติบโตต่อไปในอนาคต"(9) โดยนัยนี้กระบวนการทางการศึกษาจะต้องช่วยให้วัยรุ่นได้ค้นพบตนและสร้างเอกลักษณ์ในตนอย่างเหมาะสม

สำหรับแนวคิดและลู่ทางในการจัดการศึกษาให้สัมพันธักับเรื่องเหล่านี้ มีหลายแนวคิดที่น่าสนใจ อาทิ

แนวคิดเรื่องการศึกษาเพื่อบุคลิกภาพ (character education) :
จากปัญหาความสับสนทางอัตลักษณ์ของคน จึงเกิดเป็นแนวคิดการศึกษาเพื่อพัฒนาตัวตนของผู้เรียน เป้าหมายคือการพัฒนาบุคลิกลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์(10)

ฉะนั้นเมื่อละคร เพลงได้มีอำนาจต่อการรับรู้ของวัยรุ่น สิ่งที่ตามต่อมาคือรูปลักษณ์ตัวตนของศิลปินที่ชื่นชอบได้กลายเป็นตัวแบบ (role model) แห่งการเรียนรู้ของวัยรุ่น และภาพของ "แก๊งค์ F4 หน้าไทย" จึงให้ทั้งนัยแห่งการเลียนแบบและเรียนรู้เพื่อการเติบโต ซึ่งในกระบวนการเรียนรู้นี่เองที่ผู้จัดการศึกษา/สื่อ/สังคม จำต้องช่วยให้วัยรุ่นเห็นว่า อะไรคือความเป็นตัวแบบ อะไรคือตัวตนที่แท้จริงของเรา และการเลียนแบบนั้นคือการลอกเลียนรูปแบบ รูปกาย เปลือกนอกหรือสาระสำคัญของความคิด/การกระทำ และวัยรุ่นควรจะให้ความหมาย คุณค่ากับตนในทางใด หรืออย่างไรในทางสังคม ทั้งนี้เพราะกระบวนการสร้างตัวตนของวัยรุ่น จะเกิดจากประสบการณ์ปัจเจกบุคคล การที่มองและให้ความหมายต่อตนเอง และจากการที่บุคคลอื่นมองเขา(11)

แนวคิดเรื่องโลกาภิวัฒน์ศึกษา (global education) /นานาชาติศึกษา (international Education) :
การเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็วในทุกด้าน ได้นำไปสู่การศึกษาเพื่อการเรียนรู้และเท่าทันต่อโลภาภิวัฒน์ในด้านต่างๆ และการอยู่ร่วมกันในสังคมโลก (world social) ซึ่งโยงไปถึงแนวคิด นานาชาติศึกษา (international Education) ที่เน้นการเรียนรู้ความเป็นไปในประเทศอื่นที่ต่างมีอิทธิพลต่อกันทั้งในทางปฏิสังสรรค์ การแลกเปลี่ยน การแข่งขัน ความร่วมมือ และการพึ่งพาซึ่งกันและกัน(12)

ตามแนวนี้การศึกษาจะต้องช่วยให้วัยรุ่นได้เข้าใจ รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ กรณีวัยรุ่นกับการตามกระแสละคร เพลงต่างชาติ (J -T- K) จะต้องมีกระบวนการขัดเกลาทางสังคมที่ช่วยให้วัยรุ่นเห็นว่า พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับโลกาภิวัฒน์ ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้ที่จะปรับตัว และยืนอยู่ในสังคมโลกอย่าง "รู้เขา รู้เรา รู้ทัน" แล้วยังต้อง "คิดไกล ไม่ไร้ทิศ" ด้วย

แนวคิดเรื่องพหุวัฒนธรรมศึกษา (multi-cultural education) :
จากปัญหาความขัดแย้งและความแตกต่างทางวัฒนธรรม ได้นำไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องวัฒนธรรมศึกษาที่ชี้ว่า โลกเต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม (diversity of culture) และภายใต้ความหลากหลายเหล่านี้ต่างมีความงามทางวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ทั้งความเชื่อ คติประเพณี ชาติพันธุ์ ภาษา วิถีชีวิต ฯลฯ ที่แตกต่างกัน(13)

ดังนั้น กรณีการแพร่กระจายวัฒนธรรมของละคร เพลงต่างชาติเหล่านี้ จึงน่าจะเป็นบทเรียนที่นำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมที่ต้องช่วยเกิดการเรียนรู้และเข้าใจในคุณค่าของวัฒนธรรมซึ่งสัมพันธ์กับบริบท และพื้นที่ที่วัยรุ่นอยู่ รวมถึงการสร้างความเข้าใจรู้ทันทางวัฒนธรรมว่า "มีความงดงามที่หลากหลาย" ต่างกัน และไม่มีอะไร "เหนือ" หรือ "ด้อย" กว่า

และมากกว่านั้นคือการมองไกลไปให้ถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีต่อการสร้างมรดกทางสังคมและอนาคตของชาติ การเคารพในคุณค่าของวัฒนธรรมภายใน รวมถึงการไม่หลงไหล/เหยียดหยามวัฒนธรรมภายนอก และสามารถอาศัยภูมิรู้ทั้งหลายในการสรรสร้างวัฒนธรรมให้กลายเป็นเพื่อประโยชน์ต่อชีวิตและประเทศชาติ

ตัวอย่างแนวคิดทางการศึกษาที่กล่าวมานี้ ได้เกิดขึ้นแล้วในระบบการศึกษาในหลายประเทศ ซึ่งสังคมไทยเองก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้/ให้การศึกษาในเรื่องเหล่านี้กับเยาวชนด้วย นั่นหมายความว่า เรื่องของ "บริโภคศึกษา" (consumer education) ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมบริโภค ทางเลือกและการรู้ทันในการบริโภค(14) จะต้องถูกบูรณาการไปกับการเรียนรู้ทางสังคม ซึ่งมิใช่แค่โรงเรียนจะต้องเน้นการศึกษาเรื่องนี้มากขึ้นแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับเชื่อมต่อความรู้ และกระบวนการเรียนรู้นอกระบบ การเรียนรู้ตามอัธยาศัย รวมถึงการเรียนรู้ไร้พรมแดนที่ผ่านมาทางโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ควบคู่ไปด้วย

นี่คือโจทย์ท้าทายยิ่งสำหรับการศึกษาเพื่อเยาวชนไทยในวันนี้ เพราะที่สุดแล้ว ไม่ว่าวัยรุ่นจะตามกระแสนิยมของละคร เพลงชาติไหน คงไม่สำคัญเท่ากับว่า พวกเขาเรียนรู้อะไร สิ่งที่เรียนรู้นั้นเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไร มีความหมายอย่างต่อชีวิตเขา และมีผลต่อการพัฒนาตน พัฒนากลุ่ม และพัฒนาวัฒนธรรมวัยรุ่นอย่างไร เพราะทั้งหมดนั่นคือคำตอบสำหรับอนาคตของชาติไทยเช่นกัน

 

อ้างอิง
(1) ณรงค์ชัย นิดรกูล และสุนทร อ่อนเกตุผล. อิทธิพลของละคร เพลงต่างชาติ (ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี) ต่อวัยรุ่นไทยกับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป. เอกสารประกอบการวิพากษ์ในวิชา 2403603 การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม, 2546
(2) Sanook.com
(3) กาญจนา แก้วเทพ. การศึกษาสื่อมวลชนด้วยทฤษฎีวิพากษ์ : แนวคิดตัวอย่างงานวิจัย. กรุงเทพฯ : หจก.ภาพิมพ์, 2544
(4) แนวคิดทฤษฎี อ้างอึงในวิชา 2403603 การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม, 2546
(5) พระไพศาล วิสาโล. พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต. http://www.budpage.com/budfuture.zip

(6) ณรงค์ชัย นิดรกูล และสุนทร อ่อนเกตุผล. อิทธิพลของละคร เพลงต่างชาติ (อ้างแล้ว)
(7) แนวการศึกษา "สื่อ" วัฒนธรรม. http://www.sac.or.th/projectstitle/adventures.htm
(8) สุนทร อ่อนเกตุผล. อิทธิพลของละคร เพลงต่างชาติ (อ้างแล้ว)
(9) อ้างถึงใน สุนทร อ่อนเกตุผล. อิทธิพลของละคร เพลงต่างชาติ (อ้างแล้ว)
(10) DETYA - Education - Statistics - Characteristics and Performance Indicators.htm

(11) เคลลี่ (Kelly, 1990) อ้างถึงใน สุนทร อ่อนเกตุผล. อิทธิพลของละคร เพลงต่างชาติ (อ้างแล้ว)
(12) Global and International Education.htm in http://ericae.net/edo/ED384601.htm
(13) wwwlibrary.csustan.edu/lboyer/multicultural/main.htm
(14) http://asia.yahoo.com/Society_and_Culture/Families/Parenting/

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
แนวคิดเรื่องพหุวัฒนธรรมศึกษา (multi-cultural education) :
จากปัญหาความขัดแย้งและความแตกต่างทางวัฒนธรรม ได้นำไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องวัฒนธรรมศึกษาที่ชี้ว่า โลกเต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม (diversity of culture) และภายใต้ความหลากหลายเหล่านี้ต่างมีความงามทางวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ทั้งความเชื่อ คติประเพณี... ที่แตกต่างกัน
บทความเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาสังคม โดยสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จาก จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
H