เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๗: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

2
0
0
4

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 381 หัวเรื่อง
แนวคิดสตรีนิยมกับภาพเปลือย
ปลินดา ระมิงค์วงศ์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com

R
relate topic
300447
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความวิชาการ ฟรีสำหรับทุกคน
เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยไม่มีเงื่อนไขทางการศึกษา วัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจใดๆมาเป็นอุปสรรค และยังมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตความรู้ขึ้นมาเพื่อพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม
The Alternative University


แนวคิดสตรีนิยมกับภาพเปลือย
บทวิจารณ์ภาพนู้ด - การข่มขืนครั้งที่สาม
ปลินดา ระมิงค์วงศ์

รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชา"อาชญากรรมทางเพศและความรุนแรงต่อผู้หญิง"
ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2545 หลักสูตรสังคมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา
ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ : ชื่อเดิมของบทความชิ้นนี้คือ
บทวิจารณ์นู้ด : ความชอบธรรมของการคุกคามทางเพศบนร่างกายผู้หญิง
ที่มาของบทความ : ได้รับจาก ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
ส่งมาทางจดหมายอิเล็คทรอนิค เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547

(บทความนี้ยาวประมาณ 19 หน้ากระดาษ A4)

 

ความนำ
กระบวนการลดคุณค่าผู้หญิงให้เป็นสิ่งสนองทางเพศ (Sex Object) ผ่านสิ่งที่เรียกว่าภาพนู้ด หรือภาพโป๊เปลือย (Nude Photography)(1) นั้น ยังเป็นเรื่องที่ยังคงถูกถกเถียงกันอยู่ถึงการให้ความหมายต่อภาพนู้ด ที่บางกลุ่มให้ความหมายไปในเชิงศิลปะ อันได้แก่ พวกช่างภาพ ทีมงานผู้ผลิต ไปจนถึงตัวนางแบบเอง

คนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งมักประกาศเจตนารมณ์ของการผลิตภาพนู้ดออกมาอย่างชัดเจนว่ากระทำไปเพื่อศิลปะทางกามารมณ์ ในขณะที่บางกลุ่มกลับมองภาพนู้ดไปในแง่ของความลามกอนาจาร ที่ต้องการยั่วยุกามารมณ์ของผู้เสพสื่อ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) หรือเป็นการทำให้ผู้หญิงมีสภาพเป็นวัตถุแห่งการจ้องดูในเชิงเพศ ซึ่งสังคมไทยส่วนใหญ่ยังคงให้น้ำหนักสนับสนุนความหมายของภาพนู้ดตามคนกลุ่มหลังมากกว่า

แต่ก็เป็นไปอย่างที่เรียกว่า "ปากว่า ตาขยิบ" เพราะในขณะที่มีการประณามการที่ผู้หญิงตัดสินใจถ่ายรูปโป๊เปลือย แต่ปริมาณของการบริโภคสื่อประเภทนี้ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในลักษณะสวนทางกัน สังเกตได้จากจำนวนนิตยสารประเภทที่ตีพิมพ์ภาพในลักษณะนี้ที่มีอยู่มากมายบนแผงหนังสือ เช่น เพนท์เฮาส์ (Penthouse) ฟอร์เมน (For Men) หรือเอ็มแมกกาซีน (M magazine) ภาพถ่ายแฟชั่นในนิตยสารผู้หญิงต่างๆ ตลอดจนหนังสือประเภทที่เกี่ยวรถยนต์ที่มีการตีพิมพ์ภาพนางแบบนุ่งน้อยห่มน้อยบนหน้าปกด้วย เป็นต้น หรือสื่อประเภทอื่นๆ เช่น ภาพปฏิทินโป๊เพื่อสมนาคุณแก่ลูกค้าของบริษัทสุรา บริษัทน้ำมันเครื่อง (ซึ่งส่วนใหญ่มีลูกค้าเป็นผู้ชาย)

เนื้อหาของภาพนู้ดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกทำให้ถูกกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผิดกฎหมายวางขายอยู่ตามแผงหนังสือแบบที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปอีก เช่น หนังสือโป๊ หรือการ์ตูนโป๊ เป็นต้น

"อุตสาหกรรมภาพนู้ด" จึงกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่นำเม็ดเงินจำนวนมหาศาลผ่านเข้ากระเป๋านายทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เรือนร่างของผู้หญิง และความเป็นเพศหญิงเป็นเครื่องมือในการตอบสนองอรรถรสทางเพศของผู้บริโภคชายเป็นหลัก โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นภาพของระบบชายเป็นใหญ่ หรือปิตาธิปไตย (Patriarchy) ในสังคมไทย

ภาพนู้ดเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงผลจากการพัฒนาในแนวทางอุตสาหกรรมของประเทศไทย ที่ได้บีบให้แรงงานทั้งหญิงและชายจากชนบทเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ ด้วยเงื่อนไขของความอยู่รอด ผู้หญิงบางคนจึงต้องทำงานอื่นที่มากไปกว่าการขายแรงงาน นั่นคือการขายเนื้อตัวร่างกาย

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ผู้หญิงจากชนบทเป็นจำนวนมากต้องตกอยู่ในวังวนของอุตสาหกรรมทางเพศในรูปแบบต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัย ทำให้การขายเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงจึงไม่ได้มีแค่ลักษณะที่ผู้ชายสัมผัสจับต้องได้โดยตรงเพียงอย่างเดียว อุตสาหกรรมการพิมพ์ได้เปิดพื้นที่ใหม่ให้กับผู้หญิงต้องเข้ามาอวดเรือนร่าง สัดส่วนของตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศให้กับผู้ชายได้ทุกเวลาและสถานที่ที่ผู้ชายต้องการ

แม้จะมีการอ้างความชอบธรรมให้กับภาพนู้ดโดยคนบางกลุ่มว่าเป็นการทำงานเพื่อศิลปะ แต่ปัญหาสังคมที่ตามมาจาก"งานศิลปะ" เหล่านี้คือ การลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง การให้ค่าเรือนร่างของผู้หญิงว่าเป็นสิ่งสนองตอบความต้องการทางเพศของผู้ชาย ซึ่งส่งผลต่อไปยังการจัดวางตำแหน่งให้ผู้หญิงในสังคม บทบาทความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ความไม่เสมอภาคทางเพศซึ่งสามารถโยงใยไปยังปัญหาอื่นๆ ได้อีก เช่น

ปัญหาความรุนแรงซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเนื้อตัวร่างกายผู้หญิงก็คือ ปัญหาการข่มขืน การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ที่ผู้หญิงมักต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบ การทำแท้งเถื่อน การทำร้ายร่างกายผู้หญิงที่ถูกนับว่าเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ชาย เป็นต้น หรือปัญหาความรุนแรงในเชิงวัฒนธรรมที่จำกัดโอกาสของผู้หญิงในหลายๆ ทาง เช่น การศึกษา หรือหน้าที่การงานที่ไม่เท่าเทียม

ท่ามกลางความสับสนของการให้ความหมายแก่งานภาพนู้ด ว่าควรเป็นไปหรือควรมองในลักษณะใด ได้เกิดกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับการมองภาพนู้ดรูปแบบหนึ่งในสังคมไทยมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีนั่นก็คือ การเขียนวิจารณ์ภาพนู้ดผ่านคอลัมน์ในนิตยสารข่าวมติชนสุดสัปดาห์ ที่เริ่มอย่างจริงจังมาตั้งแต่พ.ศ. 2538 โดยผู้ที่ได้รับการสถาปนาจากบุคคลทั่วไปให้เป็นเกจินู้ดหนึ่งเดียวของเมืองไทย : นิวัติ กองเพียร ซึ่งประกาศเจตนารมณ์ไว้อย่างชัดแจ้งว่าต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงความหมายของภาพนู้ด หรือภาพโป๊เปลือยที่แสดงถึงความอนาจาร หรือเป็นสื่อที่สร้างขึ้นมาเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศเพียงอย่างเดียว ให้มีแง่มุมของศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งเปลี่ยนจุดประสงค์ของคนที่มักจะมองภาพนู้ดไปในแง่ของกามารมณ์ ให้กลายเป็นการมองภาพนู้ดโดยใช้หลักเกณฑ์ทางศิลปะเข้ามาพิจารณาด้วย

สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการผลิตภาพนู้ดให้มีความพิถีพิถันมากขึ้น คือมีองค์ประกอบทางศิลปะ (composition) เข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อไม่ให้นำเสนอภาพของผู้หญิงแต่ในด้านของความอนาจารเพียงอย่างเดียว แต่นำเสนอเรือนกายของผู้หญิงอย่างมีศิลปะด้วย ซึ่งคุณนิวัติมีความเชื่อว่า จะสามารถเปลี่ยนการมองหรือให้ความหมายแก่ทั้งตัวบริบทของภาพนู้ดเอง และตัวนางแบบที่ตัดสินใจถ่ายนู้ดจากคนในสังคมไทยเสียใหม่ได้

แต่งานเขียนวิจารณ์ภาพนู้ดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความหมายของเกจินู้ดคนนี้ กลับสะท้อนให้เห็นถึงการตกอยู่ใต้อิทธิพลของระบบปิตาธิปไตยเช่นเดียวกัน กล่าวคือ คุณนิวัติมีความพยายามที่จะเปลี่ยนการมองภาพนู้ดหรือภาพโป๊เปลือยแบบให้ค่าแก่ร่างกายผู้หญิงว่าเป็นเพียงวัตถุทางเพศ มาเป็นการเชิญชวนให้มองภาพผู้หญิงไปในทิศทางของความเป็นศิลปะ แต่เมื่อพิจารณางานเขียนของเขาแล้ว กลับไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการยกระดับหรือทำให้สถานการณ์ของผู้หญิงซึ่งเป็นนางแบบในภาพนั้นๆ ดีขึ้นเลย เหมือนยิ่งตอกย้ำให้ผู้หญิงที่เป็นนางแบบมีสภาพเหมือนถูกข่มขืนเป็นครั้งที่สาม กล่าวคือ

ในครั้งแรกนั้น ผู้หญิงจะถูกกระทำด้วยสายตาจากช่างภาพ ครั้งที่สองนั้นผู้หญิงจะถูกชำเราและนำมาแยกส่วนมองโดยผู้ชมทั่วไปรวมถึงตัวเกจินู้ดด้วย และในครั้งที่สาม เมื่อผู้อ่านได้อ่านบทวิจารณ์พร้อมภาพประกอบนั้น ก็เท่ากับเป็นการใช้อำนาจซ้อนทับเข้าไปในบทวิจารณ์ผู้หญิงนู้ดอีกชั้นหนึ่ง(2) นางแบบที่ถูกคุณนิวัติเขียนวิจารณ์จะตกอยู่ในสภาพเหมือนถูกชำแหละออกเป็นส่วนๆ ถูกตีแผ่ความดี ความด้อยของรูปร่างหน้าตา ส่วนสัด และให้คุณค่าว่าเธอสามารถทำให้ผู้เสพเกิดอารมณ์ได้อย่างมีศิลปะมากน้อยแค่ไหน ไม่ต่างอะไรจากการตกเป็นวัตถุทางเพศที่พ่วงท้ายมาด้วยคำว่า"อย่างมีศิลปะ"

ดังนั้น ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจึงต้องการที่จะวิพากษ์ความหมายที่ส่งออกมาทางงานเขียนของเกจินู้ดท่านนี้ ว่าสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงที่เป็นนางแบบในภาพนู้ด และสื่อสาร (communicate) ความรุนแรงนั้นต่อไปยังผู้หญิงคนอื่นๆ และคนในสังคมไทยได้อย่างไรบ้าง

1. ภาพนู้ด : การมองในมุมที่ต่างกัน
จนถึงขณะนี้สังคมก็ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ว่าสื่อภาพนู้ดที่มีเกลื่อนกลาดในตลาดนั้น เป็นเรื่องของศิลปะหรืออนาจาร อาจจะเป็นเพราะเจตนาของผู้ผลิตกับสาระที่ปรากฏอยู่ในภาพมักจะขัดแย้งกันเองอยู่เสมอ ดังเช่นที่นิวัติ กองเพียรกล่าวไว้ว่า

"ยังไม่เคยเห็นงานถ่ายนู้ดในเมืองไทย ถ้ามีช่างภาพคนไหนถ่ายอยู่บ้างก็นำเสนอให้ชมกันบ้าง เพราะตอนนี้มีแต่ภาพที่เขาถ่ายเพื่อเอาเงิน เพื่อยั่วยุกามารมณ์ เร้าใจทางเพศ เขามุ่งขายความงามของหญิงสาวชายหนุ่ม เพียงเพื่อให้เกิดอยากดูอยากเห็น และมักแอบอ้างกันเสมอว่าเขากำลังทำงานศิลปะ ทำเพื่อศิลปะ และเป็นศิลปะ ถ้าเป็นอย่างนี้ศิลปะก็จะเสื่อม ผู้คนก็จะไม่เข้าใจ ความรู้สึกเรื่องการถ่ายภาพนู้ดก็จะเป็นเรื่องเลวร้าย สังคมรับไม่ได้ นางแบบนู้ดก็จะถูกตราหน้า ถูกเหยียดหยาม"(3)

ดังนั้นภาพถ่ายนู้ดที่เป็นศิลปะตามความคิดของคุณนิวัติ "จึงต้องสร้างสรรค์ออกมาด้วยความรู้ ความสามารถในเชิงศิลปะ ด้วยฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ประกอบทฤษฎีทางศิลปะครบถ้วน เพื่อเร้าอารมณ์คนดูให้มองเห็นความงามของร่างกายมนุษย์ ภาพถ่ายนู้ดจึงมีความจำเป็นต้องสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความพิถีพิถันละเอียดอ่อน มีเจตนาอันบริสุทธิ์ผุดผ่องที่จะใช้ "นู้ด" เป็นสื่อในการสร้างศิลปะ ด้วยฝีมือและความคิดอันบรรเจิด"(4)

ความหมายของศิลปะตามคำจำกัดความของเกจินู้ด: คุณนิวัติ ก็คือ

"สิ่งเร้าอารมณ์ที่เราสามารถจะรับเข้าสู่ประสาทสัมผัสทางตา หู ทางตา ก็เช่น การดูภาพเขียน รูปปั้น หรือสถาปัตยกรรม ทางหูก็ด้วยฟังการอ่านบทกวี การฟังดนตรี"(5) แต่ก็ได้มีผู้เสริมความหมายของศิลปะเพิ่มขึ้นอีกว่า "ศิลปะมิใช่เป็นเพียง 'สิ่งเร้าอันรับรู้ได้' แต่เป็น 'สิ่งเร้าอันรับรู้ได้ ซึ่งยังมีองค์ประกอบสาระสำคัญส่วนอื่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว' สิ่งนั้นก็คือผลงานที่มีลักษณะ 'ความเป็นสัญลักษณ์ทางสังคม' ชุดหนึ่งซึ่งถูกสร้างและอาจนำสู่การตีความในสังคม และ คำถามหลักที่ว่า 'ผลงานชิ้นหนึ่งเป็นศิลปะหรือไม่?' จะต้องตอบด้วยคำถามองค์ประกอบ 2 ข้อรวมกันว่า: ผลงานนั้นถูกสร้างขึ้นอย่างไร? และ ผลงานนั้นถูกตีความหมายอย่างไร?"(6)

ในขณะที่มีการมองภาพนู้ดไปในทิศทางของศิลปะเช่นนี้ อีกด้านหนึ่ง ภาพนู้ดก็ดูเหมือนจะถูกมองไปในด้านตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ภาพนู้ดสามารถเชื่อมโยงได้กับจุดเริ่มต้นของสื่อลามกอนาจาร (Soft Porn) และวัฒนธรรมมวลชน (Mass Culture) รวมถึงการโฆษณาและการถ่ายทอดการประกวดความงามด้วย(7) จนนำไปสู่การกดขี่และครอบงำเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงโดยผู้ชาย ตามแนวคิดของกลุ่มสตรีนิยม (Feminisms) สายต่างๆ อาจให้ความหมายกับภาพนู้ดหรือภาพโป๊เปลือยไว้แตกต่างกัน เช่น

สตรีนิยมสายเสรีนิยม (Liberal Feminism) มองภาพนู้ด(ในแง่ภาพนู้ดสำหรับผู้หญิง)ว่าเป็นการปลดปล่อยประเวณี (Sexuality) ที่ถูกบีบบังคับของผู้หญิงให้เป็นอิสระ เป็นการแสดงถึงความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ(8)

สตรีนิยมสายมาร์กซิสต์ (Marxist Feminism) ที่มองภาพนู้ดว่าเป็นการกดขี่ผู้หญิงอีกรูปแบบหนึ่ง อันมีผลพวงมาจากโครงสร้างของระบบทุนนิยม และ

สตรีนิยมแนวสุดขั้ว (Radical Feminism) ที่ให้ความหมายของภาพนู้ดไปในทิศทางที่ว่า ความเป็นผู้หญิง(รูปร่างของผู้หญิง)ถูกให้ความหมายว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ชายตื่นเต้น ในระบบชายเป็นใหญ่ที่ให้ความสำคัญต่อผู้ชาย จึงมองสิ่งที่ทำให้ผู้ชายเกิดอารมณ์เป็นเรื่องสำคัญ ระบบคิดแบบนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของผู้ชาย ให้เป็นเรื่องของการครอบงำผู้หญิง(9) และอาจนำผู้ชายไปสู่การประกอบอาชญากรรมทางเพศได้(10)

แต่ได้มีการสรุปข้อโต้แย้งโดยรวมที่กลุ่มสตรีนิยมมีต่อภาพนู้ดออกมาดังนี้ คือ

ประการแรก ภาพนู้ดและสื่อยั่วยุเป็นสื่อที่สะท้อนให้เห็นลักษณะเพศนิยม และเป็นการลดระดับคุณค่าความเป็นผู้หญิง
ประการที่สอง เป็นสื่อสนับสนุนลัทธิเพศนิยมทำให้เกิดการเหมารวมในเรื่องทางเพศ โดยบั่นทอนคุณภาพของความสัมพันธ์ในเรื่องทางเพศ
ประการที่สาม กระบวนการผลิตภาพนู้ดเกี่ยวข้องกับการกดขี่ผู้หญิง และ
ประการสุดท้าย การบริโภคสื่อประเภทนี้ถูกกระตุ้นโดยการกดขี่ทางเพศที่ผู้ผลิตสื่อ (ซึ่งเป็นผู้ชาย) ได้ผลประโยชน์จากการใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกล่อผู้ชายซึ่งเป็นผู้เสพ"(11)

2. มุมมองต่อภาพนู้ดและผู้หญิงในภาพนู้ดของนิวัติ กองเพียร
เพราะคุณนิวัติมองภาพนู้ดที่ถูกผลิตและเผยแพร่ในสังคมไทยในปัจจุบันนี้ว่า เป็นงานที่มุ่งขายกามารมณ์แต่เพียงอย่างเดียว ขาดความเอาใจใส่ในเนื้องาน ทำให้งานที่ออกมาเป็นไปในลักษณะหยาบหรืออนาจาร ขาดความเป็นศิลปะในการสะท้อนความงามของเรือนกายเพศหญิงออกมา เราอาจพิจารณาสิ่งที่คุณนิวัติต้องการได้จากข้อเขียนซึ่งเป็นคำนำเสนอที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนให้กับหนังสือรวมผลงานของนิวัติ กองเพียร ที่ว่า

"รูปโป๊ที่เกลื่อนแผงในเมืองไทยมาหลายสิบปีจึงหยาบคาย ไม่ใช่หยาบเพราะขาอ่อนผู้หญิง แต่หยาบเพราะเสนอผู้หญิงได้เพียงขาอ่อนของเธอ แม้แต่จะขายกามารมณ์ ก็รู้จักกามารมณ์มนุษย์เพียงผิวเผิน โง่เขลาต่อด้านที่เป็นความงาม ความละเมียดละไม และความรัก ซึ่งเป็นอารมณ์มนุษย์ที่มีความลึกกว่าอวัยวะมากนัก"(12)

ข้อความนี้ อ.นิธิได้เขียนขึ้นมาเพื่อชี้แจงถึงสถานการณ์ของภาพนู้ดที่ตกเป็นจำเลยของสังคม ซึ่งเป็นที่มาที่ผลักดันให้คุณนิวัติเริ่มต้นเขียนวิจารณ์ภาพนู้ด เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับมาตรฐานและความหมายของภาพนู้ดให้มีอะไรมากกว่าการเสนอแค่ความยั่วยวน หรือการทำให้ผู้หญิงถูกมองเป็นวัตถุทางเพศเท่านั้น

"ผมคิดว่าคุณนิวัติเผยแพร่มาตรฐานที่จะนำเอาศิลปะภาพถ่ายเข้ามาสู่การวินิจฉัยร่วมด้วย ในศิลปะภาพถ่ายนั้น นอกจากเรื่องแสงเรื่องเงาและเรื่องการจัดท่าจัดฉากของนางแบบแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับสรีระของนางแบบเองด้วย........ผมได้แต่หวังว่า ความแพร่หลายของงานเขียนเหล่านี้(งานของคุณนิวัติ-ผู้เขียน)จะมีส่วนช่วยยกมาตรฐานรูปโป๊ในเมืองไทยขึ้นมาบ้าง คือแทนที่จะเสนอแต่ความอล่างฉ่างของผู้หญิง ก็จะหันมาสู่การเสนอความงามของเรือนกายและฝีมือทางศิลปะภาพถ่ายมากขึ้น"(13)

ข้อเขียนเหล่านี้ของ อ.นิธิ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองและความคิดของคุณนิวัติที่มีต่อภาพนู้ด และกระบวนการผลิตภาพนู้ด ตลอดจนรวมไปถึงความต้องการและความคาดหวังที่จะสร้างวิถีใหม่ในการบริโภคภาพนู้ดให้กับสังคมไทย โดยใช้คำว่า "ทำเพื่อศิลปะ" มาเป็นใบเบิกทางในการให้ความชอบธรรมทั้งต่อกระบวนการผลิตภาพนู้ดในอนาคต ต่อผู้เสพสื่อประเภทนี้ และต่อการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงผ่านทางงานเขียนของคุณนิวัติเอง

กล่าวคือ ท่ามกลางกระแสที่คนในสังคมส่วนใหญ่มองบริบทของภาพนู้ด ผู้ผลิตภาพนู้ด ผู้หญิงที่มาถ่ายภาพนู้ด ไปจนถึงผู้เสพภาพนู้ดไปในทางลบ เพราะถือว่าภาพนู้ดเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง อันเป็นเรื่องไม่พึงปรารถนาในสังคมที่มองเรื่องทางเพศไปในเชิงของการปกปิดเช่นในสังคมไทย กลุ่มคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับภาพนู้ดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม ก็จะถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนออกจากเรื่องพฤติกรรมทางเพศที่ปรกติ(14)

ภาพนู้ดจึงมักถูกมองและถูกให้ความหมายไปในแง่ของความลามก อนาจาร ผู้หญิงที่มาถ่ายภาพนู้ดก็จะถูกมองว่าเป็นหญิงคนชั่ว ที่เห็นแก่เงินและตกเป็นเหยื่อของความฟุ้งเฟ้อ หรือเป็นตัวการทำลายคุณงามความดีของกุลสตรีไทย ผิดจากบรรทัดฐานที่ทางสังคมวางไว้ ผู้ผลิตภาพนู้ดก็คือตัวการทำลายคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง ตลอดจนผู้นิยมเสพสื่อประเภทนี้ก็จะถูกมองหรือถูกประณามจากคนภายนอกว่าเป็นคนลามก หรือมีความต้องการทางเพศสูง เป็นต้น ทำให้การเสพย์สื่อประเภทนี้ต้องกระทำอย่างลับๆ หรือทำภายในกลุ่มเพื่อน

แต่หลังจากที่คุณนิวัติได้นำคำว่า "เพื่อศิลปะ" มาใช้กับมิติด้านต่างๆ ของภาพนู้ด เพื่อให้ค่านิยมทางลบที่มีต่อภาพนู้ดได้ถูกเปลี่ยนแปลงไป คุณนิวัติต้องการให้เกิดภาพนู้ดที่ยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นภาพนู้ดที่มีลักษณะเป็นงานศิลปะ นายทุนหรือผู้ผลิตก็กำลังผลิตงานศิลปะ ผู้หญิงที่ถ่ายนู้ดก็ทำเพื่องานศิลปะ รวมไปถึงผู้เสพสื่อก็กำลังเสพงานศิลปะ ภาพนู้ดอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยั่วยุ หรือถูกมองว่าเป็นความลามกอนาจารอีก

ปรากฏการณ์เหล่านี้ดูแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสถานการณ์ก่อนหน้าที่จะนำเอาคำว่าทำเพื่อศิลปะมาใช้กับมิติต่างๆ ของภาพนู้ด ตลอดจนการเขียนวิจารณ์เนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงผ่านบทความที่ตีพิมพ์ในสิ่งที่เรียกว่าสื่อมวลชน( Mass Media ) ของเกจินู้ดก็ไม่ใช่สิ่งผิดประการใด เพราะเป็นการวิจารณ์เพื่อศิลปะ หาใช่การคุกคามผู้หญิงแต่อย่างใดไม่

เมื่อพิจารณาจากงานเขียนของคุณนิวัติ ภาพนู้ดที่ดูดีและมีค่าควรเป็นภาพนู้ดที่มีลักษณะครบถ้วนทางศิลปะ กล่าวคือ ใช้แสงเป็นหลักในการสร้างความคิดและความงามให้กับสัดส่วน เรือนร่างของผู้แสดงแบบ ท่าทางหรือการวางท่าของนางแบบต้องจัดให้ถูกต้องตามองค์ประกอบทางศิลปะจึงจะมีความสวยงาม และท่าทางของนางแบบนี่เองที่จะสื่อเจตนาให้เห็นว่าอยู่ในอารมณ์อะไร

"ภาพถ่ายที่ต้องการความวาบหวิว ความเซ็กซี่ของนางแบบนั้น สามารถทำได้อย่างไม่ยากเย็นอันใด ขอเพียงแต่ให้ใช้ความคิด ความสามารถของคนในหลากหลายอาชีพที่เกี่ยวข้อง ผู้รู้เรื่องการถ่ายภาพ ผู้รู้เรื่องเสื้อผ้า คนแต่งหน้าแต่งร่างกาย และนางแบบที่เข้าใจในสิ่งที่เธอต้องนำเสนอ"(15)

การตัดสินคุณค่าของภาพนู้ดในลักษณะนี้ของคุณนิวัติดูจะพุ่งเป้าและให้ความสำคัญไปที่ตัวนางแบบ (สังเกตได้จากงานของคุณนิวัติว่าจะไม่มีการเขียนวิจารณ์ภาพนู้ดของผู้ชายเลย) ว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ภาพนู้ดถูกตีความหมายไปในทิศทางใด ทั้งนี้เพราะนางแบบถือได้ว่าเป็นตัวแทนของภาพนู้ดนั้นๆ โดยคุณนิวัติจะตัดสินภาพและนางแบบจากรสนิยมของตนเอง

ดูรูปร่างเธอสิครับอวบอัดเต่งตึงงามระหงไหม ตั้งแต่ต้นขาที่กลมกลึงได้ส่วนเรียวขึ้นไปรับสะโพกผาย เอวคอด เนินหน้าท้องราบเนียน หน้าอกหน้าใจแน่นเต็ม ไหล่ผายผึ่ง คอระหง หน้าสวย แล้วจะดูตรงไหนอีกล่ะ พลิกร่างกลับมาดูก็ได้ ก้นเธอสวยงามไม่ย้อย แต่กระชับตึงเต็มกลมกลึง สะดือสวย เนินหน้าท้องและลาดลุ่มพุ่มพฤกษ์อิ่มตาอิ่มใจ(16)

หรือ ถ้าใครจะลดกำหนัดในตัวเองก็ดูรูปชุดนี้ของเธอดูเถิด รับรองว่าใช้ได้ จะมองเห็นความไม่งามอยู่มากมาย หลายรูปที่เธอโพสให้ช่างภาพถ่าย ยิ่งท่านั่งยองๆ แล้วเห็นกางเกงในสีขาวแพลมออกมา นี่เป็นภาพที่อนาจารและเป็นมลพิษแก่สายตายิ่ง เป็นภาพที่ส่อเจตนาและขาดความละเอียดในการคัดสรรก่อนนำเสนอ ทำท่าน่ารักในวัยที่พ้นไปแล้ว แถมยังแพลมเกินอายุมาอวดกันอีก เป็นเจตนาที่ผิดรูปผิดวัย ภาพชุดนี้น่าจะเป็นบทเรียนราคาแพงให้กับอาภาพร นครสวรรค์เอง และนักร้องคนอื่นๆ ที่คิดจะถ่ายภาพอย่างนี้ การถ่ายทอดสิ่งที่มิใช่ตัวตนนั้นมันอันตรายยิ่งนัก...(17)

3. บทวิจารณ์นู้ด: ความรุนแรงอีกระดับที่เกิดกับผู้หญิง
ตามแนวคิดของนักสตรีนิยม ภาพนู้ดโดยบริบทของตัวมันเองคือการกดขี่ผู้หญิงอย่างเป็นระบบในโครงสร้างแบบปิตาธิปไตย เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศ (power relation) ที่ไม่เท่าเทียมกัน อำนาจของภาพนู้ดคือ การลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงให้เป็นเพียงวัตถุทางเพศที่สนองตอบต่อกามารมณ์ของผู้ชายได้ตลอดเวลา ผู้หญิงที่เป็นนางแบบนู้ดจะปราศจากอิสระในการแสดงออก เริ่มตั้งแต่ในขั้นของการผลิตที่เธอต้องแสดงท่าทางตามที่ช่างภาพกำหนด หรือแสดงท่าทางที่คิดว่าจะทำให้ผู้เสพสื่อรู้สึกเกิดความพึงพอใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำท่าทางให้เป็นธรรมชาติ หรือแสดงท่าทางยั่วยุ ยั่วยวน กระตุ้นกามารมณ์

เสื้อผ้าและองค์ประกอบต่างๆภายในภาพก็ล้วนแล้วแต่ถูกกำหนดมาจากผู้อื่นเพื่อให้เป็นไปตามลักษณะแนวคิดหลัก (concept) ของภาพที่ถูกวางไว้แล้วทั้งสิ้น(18) แม้จะมีการอ้างว่าผู้หญิงที่มาถ่ายนู้ดนั้น พวกเธอตัดสินใจถ่ายด้วยตัวเอง ไม่มีใครบังคับเธอได้ถ้าไม่เต็มใจ แต่ในพื้นฐานของการตัดสินใจนั้นย่อมมีเรื่องของเงินทองและชื่อเสียงที่จะได้รับเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ผู้หญิงต้องการใช้เงินและชื่อเสียงเป็นใบเบิกทางให้อะไรหลายๆ อย่างในชีวิตเพื่อการอยู่รอดของตนเองและครอบครัว การตัดสินใจแบบนี้ เป็นผลพวงของสังคมแบบบริโภคนิยมที่เรียกร้องให้คนแสวงหาสิ่งต่างๆ มากมายเพื่อใช้ในการสนองตอบต่อความต้องการ และเพื่อความสุขสบายของตนเอง

ขั้นตอนของการบริโภคภาพนู้ด ผู้หญิงในภาพจะถูกมอง ถูกวิจารณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกจากผู้เสพสื่อทั่วไป รวมไปถึงการตัดสินให้ค่างานของเธอ หรือตัวตนของเธอจากตัวแทนของผู้เสพสื่อทั่วไปที่รับบทเป็น"เกจินู้ด" ของสังคมไทย ซึ่งเหมือนจะได้รับอำนาจอันชอบธรรมในการวัดระดับคุณค่าของผู้หญิงคนนั้นๆ ว่ามีความสามารถในการปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศอย่างมีศิลปะได้มากแค่ไหน

ในบางกรณีคุณนิวัติจะกล่าวประณามภาพนู้ดที่นางแบบแสดงออกซึ่งท่าทางที่ส่อไปทางความอนาจาร หรือมีเจตนาจะยั่วยุกามารมณ์คนดูภาพแต่เพียงอย่างเดียวอย่างรุนแรง แม้จะเป็นการว่ากล่าวไปถึงผู้ผลิต แต่เนื้อตัวร่างกายของนางแบบกลับเป็นพื้นที่ๆ คุณนิวัติใช้ในการประณาม เช่น

ภาพชุดที่นิตยสารเล่มนี้นำเสนอล้วนออกมาในแนวเดียวกัน คือมีเจตนาที่ยั่วยวนผู้ดู จะเกิดอารมณ์ทางเพศมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับคนดู แต่นิตยสารนี้ตั้งใจนำเสนอภาพถ่ายอย่างนั้นจริงๆ.....เพราะแต่ละภาพที่นำเสนอออกมาให้ความรู้สึกเมื่อเห็นได้ทันทีว่าตั้งใจหรือเจตนา โดยเฉพาะเล่มสองที่มี กมลา กำภู ณ อยุธยา เป็นนางแบบ มีชุดบิกินี่สองชิ้นที่เล็กจิ๋วมาก ห่อหุ้มร่างกายที่อวบอั๋น และด้วยท่าทางของนางแบบที่แสดงลีลาอันเร่าร้อนยั่วยวน มุมกล้องเน้นให้เห็นอวัยวะต่างๆ ชัดเจน ชัดเจนจนสามารถทะลุทะลวงเนื้อผ้าเข้าไปเห็นเนื้อในได้ เนื้อผ้าเบียดรัดเข้าเนื้อตัวจนปริ ง่ามก้นลงลึกอย่างไรเร้นเข้าแนบเนียนเกือบเป็นเนื้อเดียวกัน ความงามไม่มี มีแต่ความชัดเจน รูขุมขนที่โกนเกลาออกก็เห็นหมดสิ้น นางแบบก็สนองความคิด ยืนแอ่นระแน้ระเนนบิดเบี้ยวแอ่นอวดความอวบอัดนูนเนินได้ทุกส่วน ไม่หลบเลี่ยงแม้บางส่วนจะดูคล้ำช้ำเขียว หรือแตกลายพร้อยของเนื้อ(19)

ในทางกลับกัน ภาพใดที่นางแบบสามารถแสดงท่าทางหรือสีหน้าที่สามารถดึงดูดความรู้สึกได้ดี หรือแม้แต่การมีรูปร่างที่สวยงามที่ทำให้คุณนิวัติประทับใจได้ ผู้ผลิตและตัวนางแบบก็จะได้รับการชมเชยหรือการยกย่องเป็นอย่างมาก เช่น

ที่ชอบมากเป็นภาพนี้ ภาพที่เธอยืนเกาะต้นไม่ใหญ่ เบี่ยงก้นจนงอนงาม ทิ้งให้ลาดสะโพกโค้งตัวเข้าหาเอวที่มีช่วงยาวเป็นพิเศษ จนถึงหลังไหล่อิ่มเต็มนวลเนื้อ นวลเนื้อที่นวลขาวมีเพียงเส้นสายของบิกินี่ตัวน้อยที่โอบอุ้มเนินเนื้ออกคาดมาเบื้องหลังกระจ่างตากับแดดอุ่นละไม ขนอุยพราวกระทบแสงเรื่อเรืองเป็นสีทองละมุนตา ก้นงามเป็นพิเศษด้วยบิกินี่ตัวน้อยลายดอกไม้ ต้นขาเรียวลงด้วย เพียงยกขาขึ้นข้างหนึ่งเพื่อให้เห็นอีกข้างที่อวบเต็มกว่าตามมุมมอง อย่าดูหน้านานนักนะครับรูปนี้ เดี๋ยวเกิดอาการยั้งไม่อยู่ เพราะเธอท้าทายทั้งใบหน้า ตากร้าวดุดัน ปากอิ่มเต็มรอรับสัมผัสนุ่ม เล็บเขียวด้วยปีกแมลงทับ น่าจะเพิ่มความรู้สึกที่เนื้อหนังพอให้สติกลับเข้าภวังค์เดิม แสงอุ่นได้อารมณ์ดีเหลือเกิน(20)

วิธีการที่คุณนิวัติใช้ในการวิจารณ์ภาพและนางแบบนั้น ผู้เขียนอยากจะแทนด้วยคำว่าเป็นการใช้ปลายปากกาชำแหละผู้หญิงออกเป็นส่วนๆ แล้วบรรยายให้ผู้อ่านเห็นภาพคล้อยตามและเกิดจินตนาการประกอบได้โดยง่าย ยิ่งมีรูปที่คุณนิวัติหยิบยกมาวิจารณ์ตีพิมพ์ประกอบอยู่ด้วย ยิ่งเป็นการง่ายที่จะให้ผู้อ่านดูรูปแล้วคิดตามข้อความที่คุณนิวัติเขียน ด้วยความที่คุณนิวัติเป็นนักเขียนที่มีประสบการณ์ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเลือกใช้ภาษาเขียนบรรยายภาพให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกต่างๆ ตามมาได้

ถ้าจะพิจารณาแล้ว จุดประสงค์ที่แท้จริงอันเป็นที่มาของการเขียนวิจารณ์ภาพนู้ดของคุณนิวัติก็คือ เพื่อให้เกิด "ภาพนู้ดที่เป็นศิลปะ"มากขึ้นในสังคมไทย และเพื่อยกระดับคุณค่าของผู้หญิงที่เป็นนางแบบไม่ให้มีสภาพเป็นแค่วัตถุทางเพศ แต่ภาษาที่คุณนิวัติใช้เขียนบรรยายวิจารณ์ภาพ ผู้เขียนรู้สึกว่ามันก็คือการรุกรานเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงอีกแบบหนึ่งที่เพิ่มความชอบธรรมด้วยคำว่า "เพื่อศิลปะ/ด้วยศิลปะ หรืออย่างมีศิลปะ"เท่านั้น เช่น

รูปสุดท้ายนี่อยากให้เห็นความอ่อนหวานน่ารัก เป็นธรรมชาติที่ยากจะทำเมื่ออยู่หน้ากล้อง แต่เธอก็ทำได้สวยและงามน่าเอ็นดู เหมือนเด็กสาวที่ได้เปลมานั่งตามใจปรารถนา ภาพนี้บอกถึงความงามแห่งเนินอกเนินนมที่มีไหล่ผายกว้างรับกัน หน้าหวานระรื่นชื่นใจเหลือเกิน ฉากและสีสันสวยงามในโทนเดียวกันหมด ไม่มีอะไรหลุดลอยออกมาเลย เป็นโทนสีที่น่ารักแต่สุขุมนุ่มนวล ต้นสนใหญ่สีน้ำตาลแห้งบอกถึงความมั่นคงมั่นใจ เปลญวนเชือกถักทอเป็นสีน้ำตาลอ่อน ชุดสองชิ้นสีแดงลายดอกไม้เข้ากับเนื้อตัวคนใส่ที่หวานแต่แข็งแรง เรือนกายเนื้อตัวอวบอิ่ม ดูแล้วอิ่มตาอิ่มใจเข้าไปถึงข้างใน(21)

คุณนิวัติตบท้ายบทวิจารณ์ภาพของคุณคาร่า พลสิทธิ์ชิ้นนี้ ด้วยบทกวีที่ว่า

       จะซื้อเปลญวนที่ด้ายหย่อนหย่อน               จะเอาน้องนอนไกวเช้าไกวเย็น 
       จะซื้อไอศกรีมให้ลิ้มลองเล่น                      คืนไหนเดือนเพ็ญจะพาเล่นน้ำเล่นทราย 
       จะเอาน้ำลูบหัวเอาตัวลูบก้น                       จะให้มังกรมาพ่นจนน้ำกล่นเนินหมาย 
       แล้วลงผุดลงว่ายในถ้ำทองรองราย            สมสุขเสน่ห์หมายอยู่ในสายชะเลวน (22)

ถ้อยคำเหล่านี้ของคุณนิวัติ แสดงให้เห็นถึงการรุกรานเนื้อตัวร่างกายของนางแบบไปในเชิงสังวาสผ่านสู่สาธารณชน โดยอาศัยช่องทางสื่อสารมวลชนที่ถูกกฎหมายและเป็นที่ยอมรับ การยินยอมให้มีการรุกรานหรือคุกคามผู้หญิงอย่างชอบธรรมเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทั้งที่เป็นนางแบบและส่งผลกระทบต่อผู้หญิงคนอื่นๆ ในสังคมไทยได้ 3 ระดับ ตามทฤษฎีของ Johan Galtung คือ

3.1 ความรุนแรงทางตรง (Direct Violence)

งานวิจารณ์ของคุณนิวัติ แม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง เช่น มีการทำร้ายที่ปรากฏร่องรอยอย่างเห็นได้ชัดอย่างที่คนทั่วไปมักเข้าใจกัน แต่ก็ได้มีส่วนในการวางตำแหน่งให้กับผู้หญิงบางคน ซึ่งในบางครั้งก็ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นนางแบบภาพนู้ด แต่เป็นแค่นางแบบเสื้อผ้าแฟชั่นธรรมดา ให้กลายเป็นนางแบบในเชิงที่เกี่ยวข้องกับการดึงดูดกามารมณ์ของผู้เสพสื่อ "ถามตัวเองว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องแปลกไหมที่อยู่ดีๆ จะมีผู้ชายสักคนลุกขึ้นมาเขียนพรรณนาถึงความรู้สึกที่มีต่อทุกสิ่งที่เห็นในงานภาพถ่ายอย่างเปิดเผยแบบนี้ ถามตัวเองอีกว่ารู้สึกอย่างไรที่อยู่มาวันหนึ่งจากที่เคยเป็นแค่ 'นางแบบ'ต้องมาถูกเรียกว่าเป็น 'นางแบบนู้ด' เพราะถูกชมเชยบ่อยๆ จากผู้ที่สังคมและสื่อนิยามว่าเป็น 'เกจินู้ด' ถามตัวเองซ้ำๆ และถามตัวเองอีกหลายๆ คำถาม และก็ไม่แน่ใจว่าจะได้คำตอบที่สมเหตุสมผล"(24)

แม้คุณธรัญญาจะเขียนขอบคุณคุณนิวัติในอีกบรรทัดต่อมาที่แสดงความจริงใจต่อตัวเธอ แต่ข้อความที่ผู้เขียนตัดมาประกอบนี้ก็แสดงให้เห็นว่างานวิจารณ์ของคุณนิวัตินั้นรุกรานความเป็นตัวตนและตีตราให้กับคุณธรัญญา และผู้หญิงอีกหลายๆ คน ให้กลายเป็นผู้หญิงที่มีความสามารถในการปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศของผู้ชายได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลายเป็นภาพติดตัวที่ลบไม่ออก ภาพถ่ายที่เธอตั้งใจจะนำเสนอความสวยงามของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กลับถูกคุณนิวัติตีความและให้ความหมายไปในทิศทางของเรื่องเพศ

เพราะคุณนิวัติจะบรรยายท่าทาง ลักษณะรูปร่างของผู้หญิงคนนั้นอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตามไปว่าผู้หญิงคนนั้นกำลังแสดงท่าที่ดึงดูดความต้องการทางเพศของตนเองได้อย่างไร เป็นการชักจูงให้ผู้อ่านทั่วไปยอมรับภาพลักษณ์ (Image) ของผู้หญิงคนนั้นไปในทิศทางที่คุณนิวัติต้องการ นับเป็นการทำลายตัวตนและลดศักดิ์ศรีของผู้หญิงคนนั้น เพราะถ้าสังคมทั่วไปมองตามและยอมรับการวิจารณ์ของคุณนิวัติ และให้ค่าต่อผู้หญิงคนนั้นไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับความเป็นผู้หญิงที่ดี ที่ต้องรักนวลสงวนตัว คือกลายเป็นนางยั่วหรืออะไรก็ตามที่มีภาพในเชิงสังวาสติดตัวไปตลอด

พ่อแม่ ลูก สามี หรือคู่รักของผู้หญิงคนนั้นๆ จะรู้สึกอย่างไรที่ผู้หญิงที่พวกเขารักต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ คงไม่มีใครยอมรับสภาพนี้ได้อย่างเต็มใจนัก ดังนั้น การวิจารณ์ของคุณนิวัติบางครั้ง นอกจากจะทำลายตัวตนของผู้หญิงคนหนึ่งแล้ว ยังเป็นการทำร้ายจิตใจของผู้คนรอบข้างตัวผู้หญิงคนนั้นๆ อีกด้วย

ผมชอบภาพที่หน้าปก เป็นชุดว่ายน้ำสองชิ้น สีเงินยวงที่เกิดจากพลิ้วของทะเลยามเช้า ไม่ได้ตัดกับสีเนื้อนวลใย หากแต่ขลิบสีดำนั่นต่างหากที่ขับรูปร่างให้ดูกระชับไปทุกส่วนสัด เนียนหน้าท้องที่อยู่ระหว่างส่วนบนกับส่วนล่างนั้น มีเนินสะดืออันเย้ายวน แม้เอวจะไม่คอดกิ่วแต่สะโพกก็งามตา ยิ้มเปิดใจกว้างกว่ามหาสมุทร เสื้อตัวบนรัดรึงอยู่กับรอบอก ขึ้นเงาเป็นรูปทรงที่ตึงเต่งกระชับมั่น รวบผมตึงหัวรัดรึงด้วยเชือกเป็นปอยยาวลงเคลียสะโพก มือซ้ายเท้าสะเอวงาม นิ้วเรียวดั่งลำเทียน กางเกงตัวน้อยแนบกระชับกับเนินเนื้อนาบุญอันไพศาล ใจกระเจิงกระเจิดเตลิดขึ้นถึงวิมานฉิมพลี ฝนก็ซกเซงซ่าทั่วท้องธรณี(25)

และเป็นไปได้ไหมว่า การวิจารณ์ภาพนู้ดแบบชำแหละผู้หญิงออกเป็นส่วนๆ ของคุณนิวัติ จะเป็นการชักจูงให้ผู้เสพเกิดจินตนาการวาดฝันจากเรือนกายของผู้หญิงอย่างไร้ขอบเขต ให้คนคิดว่าเรือนร่างของผู้หญิงเป็นสิ่งที่จับต้องและเข้าถึงได้ การเสพความสุขจากเรือนร่างของผู้หญิงเป็นสิ่งที่ดีและเป็นเรื่องสวยงาม เป็นการบ่มเพาะความคิดของการคุกคามผู้หญิงในรูปแบบอื่นๆ ต่อไปให้กับผู้ชาย นอกเหนือจากแค่ใช้ภาษา ใช้สายตาหรือใช้วาจาพูดโลมเลียผู้หญิงเท่านั้น "การโลมเนื้อนางของผมนั้น มันทำได้เพียงใช้ตัวหนังสือเท่านั้น หาได้ใช้อวัยวะในร่างกายของผมส่วนหนึ่งใดไประคายเนื้อนางไม่ ทั้งๆ ที่มีความปรารถนาเร้นกายอยู่"(26)

คุณนิวัติอาจจะไม่ทำอะไรที่เกินเลยไปจากนี้ แต่คนอื่นๆ ที่เป็นผู้เสพงานแบบนี้เช่นเดียวกับคุณนิวัติที่ไม่ได้มีวุฒิภาวะหรือการควบคุมอารมณ์ที่เพียงพอ เมื่อเกิดความปรารถนาทางเพศที่ต้องการปลดปล่อย แล้วผู้หญิงคนอื่นๆ ในสังคมจะสามารถแน่ใจในความปลอดภัยของตนเองได้หรือไม่

3.2 ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence)

งานเขียนของคุณนิวัติจัดเป็นงานที่เผยแพร่เนื้อหาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ และความเร้าอารมณ์ทางเพศ (sex appeal) ของผู้หญิงไปพร้อมๆ กัน ผ่านสถาบันสื่อสารมวลชนที่มักจะนำเสนอภาพของอุดมการณ์เพศนิยม (sexist ideology) ที่มองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศที่มีไว้เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศอยู่แล้ว(27) โครงสร้างของสถาบันสื่อสารมวลชนจัดเป็นสถาบันที่สามารถกำหนดบทบาททางเพศ (sex role) ให้กับคนในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น บทบาทของผู้หญิงที่เสนอผ่านทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆ มักปลูกฝังแนวคิดที่ว่า ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายรองรับการกระทำ (passive) ผู้หญิงที่ปฏิบัติตัวอยู่ในกรอบของการเป็นผู้หญิงที่ดีจะได้รับผลตอบแทนอันมีค่า นั่นก็คือความรักจากผู้ชาย หรือผู้หญิงมีภาระหน้าที่อันสูงสุด นั่นคือการเป็นเมียและแม่ที่ดี เป็นต้น

ผลของการนำเสนอภาพลักษณ์และบทบาทของผู้หญิงตามที่ระบบเพศสภาพกำหนด มีผลต่อการสร้างตัวตนของผู้หญิงและความเป็นผู้หญิงให้กับคนในสังคม(28) การยอมรับให้มีกระบวนการสร้างความชอบธรรมในการรุกรานเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยอ้างเงื่อนไขของ"ความเป็นศิลปะ" ผ่านสื่อมวลชนที่ง่ายต่อการเข้าถึงโดยคนทุกกลุ่มรวมถึงเด็กและเยาวชนเช่นนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมีอคติทางเพศของผู้ผลิตสื่อ หรือบรรณาธิการที่ทำให้เรารู้สึกว่าการรุกรานเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ชอบธรรมและสามารถกระทำได้ อ.นิธิ ถึงกับเสนอให้หนังสือรวมเล่มของคุณนิวัติเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาเสียด้วยซ้ำ(29)

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่โครงสร้างสถาบันสื่อสารมวลชนยอมรับ แม้แต่กับการที่คุณนิวัติไปแอบถ่ายภาพผู้หญิงชาวลาวที่กำลังอาบน้ำอยู่แล้วนำมาเขียนวิจารณ์หรือพรรณนาบรรยาย แม้จะมีเนื้อหาไปในทางชื่นชมความงามของผู้หญิงแต่ก็เป็นความงามที่สามารถปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศของคุณนิวัติได้อยู่ดี โดยไม่ได้มองถึงแง่ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือความเป็นส่วนตัวของผู้หญิงเหล่านั้นแต่อย่างใด

ที่ชื่นใจจนเป็นปลื้มระรื่นใจยิ่งนัก เห็นจะเป็นตอนที่ได้ดูแม่หญิงที่สวยงามชาวลาวอาบน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำอูในเย็นวันหนึ่งที่เราเดินทางไปถึงเมืองงอย ผมนั่งชมความงามและวิธีอาบน้ำด้วยการนุ่งผ้าถุงอยู่ชั่วโมงเต็มๆ ผมถ่ายรูปมาด้วยและต้องอยู่ไกลอุปกรณ์ก็ไม่ถึง จึงใช้อาชีพตัวเองเขียนสิ่งที่เห็นและรู้สึกแทน ถ้านึกภาพไม่ออกก็แสดงว่าผมเขียนไม่ดี… ครั้นเธอผินกายผินหลังให้เท่านั้น กำหนัดก็เกิด

                                  ง่ามก้นขึ้นเป็นหนั่น	             กลมกลึงปั้นกับผ้าสวย 
                                  เนียนแนบแอบร่องช่วย            ให้เห็นรูปสะโพกงาม 
                                  ผ้ากับเนื้อเป็นเนื้อหนึ่ง             ผ้าถุงตึงเนื้อเต็มตาม 
                                  แหว่งเว้าเข้าซอนงาม              ไม่ติดแง่มีแต่งาม (30) 

การเผยแพร่ลักษณะการจ้องดูผู้หญิงอาบน้ำแบบนี้ผ่านสื่อมวลชนแล้วมองว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม นับเป็นการผลิตซ้ำ "การจ้องมองดูแบบผู้ชาย( Male Gazing )" ที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจตามการตอบสนองสัญชาตญาณที่เรียกว่า Scopophilia หรือความรื่นรมย์ที่ได้จากการจ้องดูคนอื่น แต่ในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ การจ้องมองดูที่ตอบสนองสัญชาตญาณดังกล่าวก็กลับตอบสนองแต่ "ผู้ชาย"เท่านั้น เพราะผู้ชายจะเป็น "ผู้ที่มีโอกาสได้จ้องมองดู" ส่วนผู้หญิงจะเป็นเพียง "สิ่งที่ถูกจ้องดู" เท่านั้น

และเพราะ Foucault ได้กล่าวไว้ว่า "การจ้องมองดู" เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้อำนาจ(31) กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้ชายใช้อำนาจเหนือผู้หญิงในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ถ่ายทอดผ่านสถาบันสื่อสารมวลชนนั่นเอง

การที่โครงสร้างสถาบันสื่อสารมวลชนยินยอมให้มีบทวิจารณ์ภาพนู้ดเกิดขึ้น จึงแสดงให้เห็นถึงการสืบทอดและผลิตซ้ำอุดมการณ์ความคิดของของการกดขี่ รวมถึงการลดคุณค่าของผู้หญิงให้เป็นเพียงสิ่งสนองความต้องการทางเพศของผู้ชายให้ดำรงอยู่ต่อไปในวงกว้าง โดยที่ผู้หญิงไม่มีทางป้องกันหรือปฏิเสธได้เลย

3.3 ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (Cultural Violence)

การที่สังคมไทยยินยอมให้มีการวิจารณ์ภาพนู้ดเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่มันแสดงให้เห็นถึงการยอมรับให้มีการดำรงอยู่ของภาพนู้ดซึ่งเป็นเครื่องมือกดขี่ผู้หญิงอย่างหนึ่ง รวมถึงการยอมรับรูปแบบของการรุกรานเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงที่เป็นนางแบบในเชิงวิเคราะห์ทุกสัดส่วน ผ่านการใช้ถ้อยคำภาษาที่มีลักษณะเชิญชวนให้เกิดจินตนาการทางเพศนั้น นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงในเชิงวัฒนธรรมในระบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งมักให้ความชอบธรรมกับการตัดสินเรื่องราวต่างๆ ของผู้หญิงด้วยความรู้สึกของผู้ชายว่าสิ่งไหนควรกระทำ สิ่งไหนไม่ควรกระทำ สิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี เราจึงไม่แปลกใจเลยที่คุณนิวัติบอกว่าผู้หญิงที่มีการศึกษาดี มีหน้าที่การงานประจำทำ หรือยังอยู่ในวัยศึกษาแล้วมาถ่ายภาพที่คนทั่วไปตีความว่าเป็นภาพกระตุ้นอารมณ์ทางเพศนั้น เป็นสิ่งที่ดีและยอมรับได้ ขอเพียงให้พวกเธอเข้าใจในสิ่งที่เธอนำเสนอเท่านั้น เช่น

นิตยสารสำหรับผู้ชายที่ขายความเย้ายวนของผู้หญิง มักถูกมองจากสังคมเก่าว่าทำให้สังคมเสื่อมเสีย นางแบบดีๆ ใครเขาจะมาถ่ายแบบให้ ช่างภาพบางคนก็ถูกดูแคลน คนอ่านหัวเก่าก็ด่าทอผู้หญิงที่มาเป็นแบบในนิตยสารเหล่านี้ ปัจจุบันเรื่องทำนองที่ว่าได้จืดจางซาลงไปมากแล้ว นางแบบหลายคนที่ได้รับการศึกษาดีมาเป็นนางแบบและให้สัมภาษณ์อย่างน่าชื่นใจในความเป็นตัวของตัวเอง ชื่นใจที่ผู้หญิงเข้าใจตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีความงดงามในเรือนกาย ก็อวดโฉมโนมพรรณอันนั้นอย่างตั้งใจและมั่นใจ ตัวอย่างที่ดีมากในเรื่องนี้มาจากนิตยสารฟอร์เมนฉบับเดือนมิถุนายน ที่นำ Sexy Model 2002 ที่ได้จากการจัดประกวด ตัวมิสและรองสองคน รวมเป็นสามคนมาถ่ายภาพชุดอย่างสวยงามในชุดว่ายน้ำบิกินี่ ทั้งสามคนเป็นนางแบบที่มีงานทำบ้างแล้ว บางคนก็ถ่ายแบบโฆษณา บางคนก็ได้เล่นละครเป็นตัวประกอบ เรียนจบชั้นอุดมศึกษาจากสถาบันชั้นนำ มีการมีงานทำเป็นหลักแหล่ง มีคุณวุฒิ มีคุณภาพ มีความสามารถ(32)

หรือผู้หญิงที่คุณนิวัติมักกล่าวชมในการเขียนวิจารณ์มักจะเป็นผู้หญิงที่หน้าตาสวย รูปร่างดี สมส่วน เป็นต้น

"ทั้งสามคนนอกจากจะมีเรือนกายที่งดงามแล้ว ยังมีท่วงท่าลีลาที่เป็นธรรมชาติ งามและเย้ายวนโดยมิต้องแสดงอาการใดๆ เพียงเยื้องกายไปมาก็เย้ายวนแล้ว ยิ่งเธอทั้งสามคนใส่ชุดบิกินี่ตัวน้อยรัดรูปทรงกระชับ อวดโฉมโนมเนื้อที่ควรอวด ผิวพรรณอันขาวเนียนนวลนั้นงามจนไม่อยากให้เหลือบยุงริ้นไรไต่ตอม อายุอานามกำลังเต่งตั่งอวบอัด เนื้อตัวกำลังเต่งตึง" (33)

ส่วนผู้หญิงที่หน้าตาไม่ดี รูปร่างไม่ดีตามความเห็นของคุณนิวัติ เธอก็จะถูกตำหนิไปในทำนองที่ว่าไม่ควรนำเรือนร่างของตัวเองมาโชว์ หรือมาถ่ายแบบในลักษณะนี้ ทั้งๆ ที่คุณนิวัติกล่าวเสมอว่าอาชีพนางแบบนี้เป็นอาชีพที่สุจริต

วีนัส มีวรรณ เป็นผู้หญิงที่มีรูปร่างไม่สมส่วน อย่างเช่นน้องมรกตนั่นแหละ ดูอย่างตาธรรมดาก็รู้ นอกจากความแบนราบของเธอแล้ว ยังมีส่วนอื่นไม่สมประกอบอยู่มาก โดยเฉพาะหน้าอกหน้าใจของเธอนั้น ถึงไปทำมาก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น กลับทำให้ของที่ดีอยู่แล้วเหมาะเจาะเหมาะตัวกลับต้องโอ่อ่าโอ่โถงขึ้น........เธอเป็นผู้หญิง 'หน้าใหญ่'หรือที่โบราณเรียกว่าหน้าบานเท่ากระด้ง ส่วนที่แย่ที่สุดและลำบากที่สุดในการหลบหลีกเมื่อถ่ายรูปเธอ เห็นจะเป็นต้นขาที่ 'ลีบ' ไม่กลมกลึงรับกับสะโพกผายไร้เอวของเธอนั่นเอง มีหลายภาพที่จำเป็นต้องถ่าย จะเห็นต้นขาลีบของเธอชัดเจน และเป็นจุดด้อยที่ทำให้เสียความรู้สึกหรือหมดอารมณ์ได้ (34)

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความคิดของผู้ชายในสังคมไทยที่นิยมผู้หญิงหน้าตาแบบนี้ รูปร่างแบบนี้ และเป็นการร่วมผลิตซ้ำมายาคติเรื่องความงาม (Beauty Myth) ให้กับผู้หญิง ให้ผู้หญิงต้องไปเสริมสวย หาเครื่องประทินโฉมมาใช้ ลดความอ้วน ทำศัลยกรรม ทรมานร่างกายตัวเองด้วยวิธีต่างๆ นานาเพื่อให้ผู้ชายพึงพอใจ และเข้าใจว่าความสวยจะเป็นใบเบิกทางให้กับหลายๆ สิ่ง แต่เรื่องแบบนี้เรามักมองไม่เห็นว่าเป็นความรุนแรง เพราะในสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงมีหน้าที่ต้องตอบสนองความต้องการของผู้ชายในทุกๆ ด้านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม

หรือแม้แต่การที่คนทั่วไปมองไม่เห็นว่างานวิจารณ์ภาพนู้ดของคุณนิวัตินั้นเป็นการทำความรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างไรนั้น ก็เพราะคุณนิวัติเลือกที่จะวิจารณ์ผู้หญิงที่เป็นนางแบบนู้ด ซึ่งถูกตีตราจากสังคมว่าเป็น"ผู้หญิงเลว" ผู้ซึ่งทำผิดต่อประเวณีในกรอบความคิดของสังคมวัฒนธรรมไทย และสมควรแล้วที่จะถูกประณามเช่นนี้ จึงกลายเป็นความชอบธรรมที่คุณนิวัติจะวิพากษ์วิจารณ์ผู้หญิงคนนั้นไปในทิศทางใดก็ได้ โดยมีคนบางกลุ่มสนับสนุนการวิจารณ์ของคุณนิวัติอยู่กลายๆ

นั่นเพราะวัฒนธรรมของสังคมไทยที่สนับสนุนให้มีการลงโทษผู้ที่ผิดปรกติหรือเป็นตัวการทำให้สังคมไม่สงบสุขให้สาสมกับการกระทำที่ได้ทำเอาไว้ เช่น การรุมประชาทัณฑ์คนเสพยาบ้าจนเสียชีวิต หรือการประหารชีวิตนักโทษ สิ่งเหล่านี้เราไม่มองว่าเป็นความรุนแรงเพราะมันคือการลงโทษคนผิด

การเห็นชอบไปกับบทวิจารณ์ของคุณนิวัติที่ใช้ภาษาโลมเลียอวัยวะ เรือนร่างของผู้หญิงในภาพนู้ดไปในเชิงสังวาสจึงถูกมองไม่เห็นว่าเป็นความรุนแรงที่เกิดต่อผู้หญิง เพราะมันก็เปรียบเสมือนกับการลงโทษที่ผู้หญิงเหล่านั้นอยากเปิดเผยเนื้อตัวร่างกายต่อสาธารณชนเอง

4. การยอมรับบทวิจารณ์นู้ด: การยอมรับภาพนู้ด
การเกิดบทวิจารณ์ภาพนู้ดของเกจินู้ดขึ้นมาในสังคมไทย ก็เพราะ "ธุรกิจ'นู้ด'จะพยายามสร้างกระแสตอกย้ำให้เห็นคุณค่าของกระบวนการผลิตงาน'นู้ด' เพื่อรองรับการเกิดเป็นสถาบัน"(35) แม้จะมีการอ้างโดยคุณนิวัติว่าวิจารณ์ไปเพื่อให้เกิด"ความเป็นศิลปะ" กับภาพนู้ดที่มักถูกตัดสินให้ค่าจากสังคมภายนอกว่าเป็นเรื่องของความลามก อนาจาร หรือเป็นการกดขี่ผู้หญิงให้มีสภาพเป็นวัตถุทางเพศ ซึ่งคุณนิวัติหวังไว้ว่างานวิจารณ์ของเขาจะสามารถยกระดับบริบทความหมายของภาพนู้ด ขั้นตอนการผลิตภาพนู้ด นางแบบภาพนู้ด และผู้เสพสื่อชนิดนี้ให้แปรเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้

แต่งานเขียนของคุณนิวัติที่มุ่งเน้นความสำคัญไปที่ตัวผู้หญิงเสียเป็นส่วนใหญ่กลับแสดงให้เห็นถึงการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงในภาพนั้นๆ ในอีกรูปแบบหนึ่ง และส่งผ่านความหมายไปยังผู้หญิงและผู้รับสารคนอื่นๆ ในสังคมด้วย วิธีการนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง ที่ผู้ชายมีสิทธิที่จะทำอะไรบนเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงได้ทุกรูปแบบ โดยที่ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายจำยอมต่อการกระทำนั้นๆ

การวิจารณ์ภาพนู้ดถือเป็นการรุกรานเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงอีกลักษณะหนึ่ง ที่ถึงแม้ว่าจะกระทำโดยผ่านปลายปากกา แต่ก็ส่อให้เห็นถึงความปรารถนาในเชิงกามารมณ์ของคุณนิวัติที่มีต่อผู้หญิงในภาพ ซึ่งถ่ายทอดผ่านช่องทางสื่อมวลชนอันเป็นที่ยอมรับ และเป็นช่องทางที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย นับเป็นการผลิตซ้ำวิถีของการคุกคามทางเพศต่อร่างกายผู้หญิงในอีกระดับหนึ่ง

การกระทำของคุณนิวัติถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรมก็เพราะ ได้รับอิทธิพลความคิดจากระบบชายเป็นใหญ่ในวัฒนธรรมไทย ที่มีความเชื่อว่าผู้ชายเป็นมนุษย์เพศที่เหนือกว่าผู้หญิง ผู้หญิงอ่อนแอกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจึงมีค่าเป็นสมบัติของผู้ชาย และผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ เป็นสิ่งที่สามารถหาซื้อได้ด้วยเงินตรา(36)

แม้ว่าคุณนิวัติจะพยายามทำให้ผู้หญิงที่เป็นนางแบบนู้ดถูกมองในทิศทางที่ดีขึ้น จากเมื่อก่อน ที่นางแบบมักถูกนำเสนอในทิศทางของการยั่วยุกามารมณ์ของผู้เสพสื่อเพียงอย่างเดียว มาเป็นการชักจูงให้ผู้เสพมองผู้หญิงเหล่านั้นในแง่มุมที่มีเรื่องของศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่บทวิจารณ์นู้ดก็ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ของผู้หญิงในเรื่องที่เกี่ยวกับการกระตุ้นอารมณ์ของผู้เสพ(ชาย)ไปเลย เพราะภาษาที่คุณนิวัติใช้วิจารณ์เรือนร่างของผู้หญิงก็ยังเป็นไปในเชิงชวนสังวาส ที่พิจารณาว่าร่างกายแต่ละส่วนของผู้หญิงคนนั้นกระตุ้นอารมณ์ความกำหนัดของผู้เสพได้อย่างไร และอย่างมีศิลปะมากแค่ไหน

กล่าวคือ คุณนิวัติชักจูงให้ผู้ผลิตภาพนู้ดและผู้เสพเปลี่ยนการมองผู้หญิงจากการเป็นแค่วัตถุทางเพศที่มีความน่าเอาเฉยๆ มาเป็นวัตถุทางเพศที่น่าเอาและพ่วงท้ายด้วยคำว่า"อย่างมีศิลปะ"เท่านั้น เนื่องจากคุณนิวัติเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานภาพนู้ดส่วนใหญ่ที่นำมาวิจารณ์นั้นไม่ได้ผลิตขึ้นมาด้วยเงื่อนไขของเรื่องของศิลปะเพียงอย่างเดียว ภาพที่นำเสนอส่วนใหญ่ก็นำมาจากนิตยสารบ้าง ปฏิทินต่างๆ บ้าง ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของธุรกิจ และผลกำไรของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอาศัยเรือนร่างของผู้หญิงเป็นแกนหลัก

แม้จากบทวิจารณ์จะมีการชักจูงให้มีการมองและตีความภาพนู้ดไปในด้านของศิลปะแค่ไหน ก็มิอาจละทิ้งแนวคิดของการมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศที่มีไว้เพื่อสนองอรรถรสทางเพศแก่ผู้ชายอยู่ดี แล้วแนวคิดแบบนี้ไม่ใช่หรือที่เป็นฐานที่มาของการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นประจำทั้งในทางเพศ ทางร่างกายและทางจิตใจ การยอมรับบทวิจารณ์ภาพนู้ดที่แม้จะอ้างว่าวิจารณ์เพื่อให้เกิดศิลปะแต่แท้ที่จริงก็คือการยอมรับให้มีการดำรงอยู่ของภาพนู้ด และยอมรับการกดขี่ทางเพศให้มีต่อไปในสังคมไทยนั่นเอง

อ้างอิง

(1) บริบทความหมายของภาพนู้ดที่ผู้เขียนใช้ในบทความนี้ ไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะภาพนางแบบเปลือยแบบที่ไม่มีอะไรมาห่อหุ้มร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่หมายความรวมถึงภาพนางแบบในแฟชั่นชุดว่ายน้ำ หรือชุดอื่นๆ ที่ปรากฏตามหน้านิตยสารทั่วไป ซึ่งคุณนิวัติมักหยิบยกมาวิจารณ์ด้วย และผู้เขียนต้องขออภัยนางแบบที่ทุกท่านที่ผู้เขียนได้นำบทวิจารณ์ตัวท่านมาใช้ในบทความนี้อีกครั้งหนึ่งมา ณ ที่นี้ด้วย

(2) สมสุข หินวิมาน และวีรวัฒน์ อำพันสุข, "ธุรกิจนู้ดกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศในสังคมไทย", Women, Gender Relations and Development in Thai Society (เชียงใหม่: มิ่งเมืองนวรัฐ, 2540), หน้า 417.

(3) นิวัติ กองเพียร, "ภาพถ่ายนู้ด(Nude)", มติชนสุดสัปดาห์, วันอังคารที่ 29 สิงหาคม 2538, ปีที่15, ฉบับที่ 784, หน้า 74.
(4) เรื่องเดียวกัน.
(5) เรื่องเดียวกัน.

(6) วรพล พรหมิกบุตร, "นู้ดในสังคมทุนนิยมการตลาด ศิลปะ (4) นิยามตามกระบวนการสังคม", มติชนสุดสัปดาห์, วันอังคารที่ 31 ตุลาคม 2538, ปีที่ 16, ฉบับที่ 793, หน้า 88.

(7) Sarah Gamble, The Routledge critical dictionary of feminism and postfeminism (New York: Routlerge, 1999), p. 285.
(8) Ibid, p. 297.

(9) ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, คำบรรยายประกอบการสอนรายวิชา "ปรัชญาสตรีนิยม", หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2545, วันที่ 3 สิงหาคม 2545.

(10) Sonya Andermahr, Terry Lovell and Carol Wolkowitz, A Glossary of Feminist Theory (London: Arnold, 2000), p. 202.

(11) Alan Soble, "Feminism, Pornography, and Erotica", Pornography Marxism and the Future of Sexuality (Michigan: Edward Brother, 1986), p. 150.

(12) นิธิ เอียวศรีวงศ์, คำนำเสนอใน นิวัติ กองเพียร แนบเนื้อนาง เล่ม 1 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2543).
(13) เพิ่งอ้าง.

(14) ดู ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, "โลกานุวัตรกับเซ็กส์ที่ชอบธรรม: พันธนาการที่ไร้พรมแดน", เซ็กส์ข้ามชาติ เซ็กส์อินเตอร์เน็ต (กรุงเทพฯ: โครงการ-วิถีทรรศน์, 2544).

(15) นิวัติ กองเพียร, "คิดถึงเฮเลน ประทุมรัตน์ วรมาลี", แนบเนื้อนาง เล่ม 1, หน้า 38.
(16) นิวัติ กองเพียร, "ฟ้ารุ่งวันนี้", แนบเนื้อนาง เล่ม 1, หน้า 28-29.
(17) นิวัติ กองเพียร, "ฮาย! ขี้ฮ่ายหลาย", โลมเนื้อนาง เล่ม 1 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2545), หน้า 101.

(18) โปรดดู สมสุข หินวิมาน และวีรวัฒน์ อำพันสุข, "ธุรกิจนู้ดกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศในสังคมไทย", อ้างแล้ว.

(19) นิวัติ กองเพียร, "เจตนายั่วยวน", โลมเนื้อนาง เล่ม 1, หน้า 113.
(20) นิวัติ กองเพียร, "โฉมสะคราญ บานฉ่ำ สิรินยา วินศิริ", แนบเนื้อนาง เล่ม 2 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2543), หน้า 28.
(21) นิวัติ กองเพียร, "แม่เจ้าประคุณเอ๋ย", แนบเนื้อนาง เล่ม 1, หน้า 82.
(22) เรื่องเดียวกัน.

(23) ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, คำบรรยายประกอบการสอนรายวิชา "อาชญาการรมและความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง", หลักสูตรศิลป ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2545, วันที่ 27 มิถุนายน 2545.

(24) ธรัญญา สัตตบุศย์, คำนำเสนอใน นิวัติ กองเพียร โลมเนื้อนาง เล่ม 1.

(25) นิวัติ กองเพียร, "นาตาชา คอฟแมน สวยเต็มอิ่ม", แนบเนื้อนาง เล่ม 2, หน้า 10.
(26) นิวัติ กองเพียร, คำนำใน โลมเนื้อนาง เล่ม 1.

(27) กาญจนา แก้วเทพ, "เพศสภาวะ(gender)กับสื่อมวลชน", ศาสตร์แห่งสื่อและวัฒนธรรมศึกษา (กรุงเทพฯ: เอดิสันเพรสโปรดักส์, 2544), หน้า 496.

(28) ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, "ผู้หญิงทำสื่อ ผู้หญิงในสื่อ: ภาพสะท้อนของพื้นที่สาธารณะในระบบที่ชายเป็นใหญ่", วิกฤติสื่อมวลชนยุคจักรวรรดินิยมวัฒนธรรม (กรุงเทพฯ: โครงการวิถีทรรศน์, 2541), หน้า 186.

(29) นิธิ เอียวศรีวงศ์, คำนำเสนอ ในนิวัติ กองเพียร แนบเนื้อนาง เล่ม 1.

(30) นิวัติ กองเพียร, "ณ ที่ซึ่งแสงแดดส่อง", โลมเนื้อนาง เล่ม 1, หน้า 141-143.

(31) Laura Mulvey, อ้างใน กาญจนา แก้วเทพ, "เพศสภาวะ(gender)กับสื่อมวลชน", อ้างแล้ว, หน้า 511-512.

(32) นิวัติ กองเพียร, "SEXY MODEL 2002", มติชนสุดสัปดาห์, ฉบับวันที่ 8-14 กรกฎาคม 2545, ปีที่ 22, ฉบับที่ 1142, หน้า 74.
(33) เรื่องเดียวกัน.
(34) นิวัติ กองเพียร, "วีนัส ก็ยังราบเป็นหน้ากลอง", แนบเนื้อนาง เล่ม 1, หน้า 146.

(35) สมสุข หินวิมาน และวีรวัฒน์ อำพันสุข, "ธุรกิจนู้ดกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศในสังคมไทย", อ้างแล้ว, หน้า 407.

(36) รัตนา ธนาพรสังสุทธิ์ และสุชีลา ตันชัยนันท์, อ้างใน ชาติ แจ่มนุช, "ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับค่านิยมการสำส่อนทางเพศของเยาวชนชาย", วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล, 2533, หน้า 55.

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

การจ้องดูผู้หญิงอาบน้ำแบบนี้ผ่านสื่อมวลชนแล้วมองว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม นับเป็นการผลิตซ้ำ "การจ้องมองดูแบบผู้ชาย( Male Gazing )" ที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจตามการตอบสนองสัญชาตญาณที่เรียกว่า Scopophilia หรือความรื่นรมย์ที่ได้จากการจ้องดูคนอื่น Foucault ได้กล่าวไว้ว่า "การจ้องมองดู" เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้อำนาจ (ตัดมาบางส่วนจากบทความ)

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชา"อาชญากรรมทางเพศและความรุนแรงต่อผู้หญิง" ศูนย์สตรีศึกษา มช.
H

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนให้กับหนังสือรวมผลงานของนิวัติ กองเพียร ที่ว่า "รูปโป๊ที่เกลื่อนแผงในเมืองไทยมาหลายสิบปีจึงหยาบคาย ไม่ใช่หยาบเพราะขาอ่อนผู้หญิง แต่หยาบเพราะเสนอผู้หญิงได้เพียงขาอ่อนของเธอ แม้แต่จะขายกามารมณ์
ก็รู้จักกามารมณ์มนุษย์เพียงผิวเผิน โง่เขลาต่อด้านที่เป็นความงาม ความละเมียดละไม และความรัก
ซึ่งเป็นอารมณ์มนุษย์ที่มีความลึกกว่าอวัยวะมากนัก"

สตรีนิยมสายเสรีนิยม (Liberal Feminism) มองภาพนู้ด(ในแง่ภาพนู้ดสำหรับผู้หญิง)ว่าเป็นการปลดปล่อยประเวณี (Sexuality) ที่ถูกบีบบังคับของผู้หญิงให้เป็นอิสระ เป็นการแสดงถึงความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ

สตรีนิยมสายมาร์กซิสต์ (Marxist Feminism) ที่มองภาพนู้ดว่าเป็นการกดขี่ผู้หญิงอีกรูปแบบหนึ่ง อันมีผลพวงมาจากโครงสร้างของระบบทุนนิยม และ

 

สตรีนิยมแนวสุดขั้ว (Radical Feminism) ที่ให้ความหมายของภาพนู้ดไปในทิศทางที่ว่า ความเป็นผู้หญิง(รูปร่างของผู้หญิง)ถูกให้ความหมายว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ชายตื่นเต้น ในระบบชายเป็นใหญ่ที่ให้ความสำคัญต่อผู้ชาย จึงมองสิ่งที่ทำให้ผู้ชายเกิดอารมณ์เป็นเรื่องสำคัญ ระบบคิดแบบนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของผู้ชาย ให้เป็นเรื่องของการครอบงำผู้หญิง และอาจนำผู้ชายไปสู่การประกอบอาชญากรรมทางเพศได้