เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๗: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

2
0
0
4


บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 386 หัวเรื่อง
อันตรายจากพืชตัดแต่งพันธุกรรม
ชัชวาล ปุญปัน
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com

R
relate topic
100547
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความวิชาการ ฟรีสำหรับทุกคน
เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ โดยไม่มีเงื่อนไขทางการศึกษา วัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจใดๆมาเป็นอุปสรรค และยังมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตความรู้ขึ้นมาเพื่อพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม
The Alternative University


อันตรายจากพืชตัดแต่งพันธุกรรม
มอนซานโตกับการโจรกรรมชีวิต
เรื่องราวการต่อสู้กับบรรษัทมอนซานโต ที่เข้ามายึดครองพันธุ์พืชของเรา
ชัชวาล ปุญปัน : แปล
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จากเรื่อง Theft of Life เขียนโดย Percy Schmeiser

(บทความนี้ยาวประมาณ 5.5 หน้ากระดาษ A4)


ผมเป็นเกษตรกรนักปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ อยู่แถบตะวันตกของแคนาดา ผมและภรรยาได้ช่วยกันพัฒนาสายพันธุ์คาโนลา(canola)มาตั้งแต่ปี 2490 เพื่อให้ต้านทานโรคบางอย่างที่มักจะเกิดขึ้นในทุ่งหญ้าแพรี่ ผมเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ เช่นเดียวกับเกษตรกรนับแสนคนทั้งหลายทั่วโลก ที่เก็บ เมล็ดพันธุ์ของตนไว้เพื่อเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตปีต่อปี

นอกจากเป็นเกษตรกรแล้ว ผมยังเป็นผู้นำชุมชนมากว่า 25 ปี และในฐานะที่เป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผมพยายามติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ของเกษตรกรอยู่เสมอ

ในปี 2541 นั้นเอง โดยที่ผมไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย บรรษัทมอนซานโตได้ยื่นฟ้องคดี แก่ผม กล่าวหาว่าผมละเมิดสิทธิบัตรของบรรษัทด้วยการปลูกคาโนลาตัดต่อพันธุกรรม ของมอนซานโตโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ผมและภรรยาตกใจแทบสิ้นสติ เพราะเราไม่เคยมีอะไรเกี่ยวข้องกับมอนซานโต สิ่งที่ทำให้เราวิตกมากคือ ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ที่เราได้สู้อุตส่าห์ปรับปรุงพัฒนามากว่าครึ่งศตวรรษนั้น บัดนี้ต้องปนเปื้อนด้วย GMOs

เราสู้คดีมอนซานโตด้วยการโต้แย้งว่า เมื่อไรก็ตามที่เมล็ดพืชของเรากลายพันธุ์ไป เพราะปนเปื้อน GMOs แล้ว มอนซานโตจะต้องรับผิด โทษฐานที่มาทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น กว่าเรื่องจะเข้าสู่การพิจารณาของศาลสหพันธรัฐแห่งแคนาดา (Federal Court of Canada) ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ศาลนี้มีผู้พิพากษา 1 ท่าน แต่ไม่มีคณะลูกขุน และผมก็ไม่มีทางเลือกอื่น

ระหว่าง 2 ปี ก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีของศาลนั้น มอนซานโตได้ถอนข้อกล่าวหาทั้งหมดที่ฟ้องผมในประเด็นที่ว่า ผมได้เมล็ดพันธุ์ของมอนซานโตมาโดยผิดกฎหมายออกไป แต่เนื่องจากบรรษัทพบคาโนลาตัดแต่งพันธุกรรม(canola GMOs) ขึ้นอยู่ตามท้องร่องในไร่ของผม แสดงว่าผมฝ่าฝืนละเมิดสิทธิบัตรของบรรษัท

และนี่คือประเด็นหลักที่นำเข้าสู่การพิจารณาของศาล ต่อไปนี้คือคำวินิจฉัย :

มันไม่เกี่ยวกับว่า พืชตัดต่อพันธุกรรมของมอนซานโต จะเข้าไปหรือลงไปในฟาร์ม หรือเข้าไปในแหล่งเพาะเมล็ดพันธุ์อย่างไร (ผู้พิพากษากล่าวในรายละเอียดด้วยว่า การที่เมล็ด GMOs นั้น เข้าไปในฟาร์มโดยตรงด้วยการที่นกพาไป ลมพัดไป หรือแพร่ไปในทุ่งหญ้าแพรีในตอนน้ำท่วม หรือจากการที่ผึ้งเป็นตัวทำให้เกิดการผสมเกษรข้ามพันธุ์ก็ตาม)

มันไม่ใช่ประเด็นว่า พืชตัดต่อพันธุกรรมจะเข้าไปอยู่ในสวนเกษตรอินทรีย์ (Organic farm) หรือแปลงเกษตรกรรมแบบเดิม (Conventional farm) เช่นของผมนี้ โดยวิธีใด หากพบว่ามีเมล็ดพันธุ์ตัดต่อพันธุกรรมปรากฏอยู่ในที่นั้นแล้ว เมล็ดพันธุ์และพืชเหล่านั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของมอนซานโตทั้งสิ้น

นับเป็นข้อวินิจฉัยที่น่าตระหนกมาก ในคำพิพากษายังระบุด้วยว่าเราทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เมล็ดพันธุ์หรือต้นพืชของเราอีกต่อไป มันหมายถึงบรรดาเมล็ดพันธุ์ทั้งหลายที่เราสู้อุตส่าห์พัฒนาปรับปรุงพันธุ์มานานกว่าครึ่งศตวรรษนั้น ต้องตกเป็นของมอนซานโต ท่านลองนึกดูเถิดว่า เรารู้สึกอย่างไรในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาเป็นเวลาถึงห้าสิบกว่าปีต้องสูญสิ้นไป

ผู้พิพากษายังตัดสินด้วยว่า ผลกำไรที่เราได้รับจากการขายคาโนลานับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา จะต้องนำมาจ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับมอนซานโตด้วย

ผมนั้นเก็บตัวอย่างของเมล็ดคาโนลาจากไร่ทั้งหมดไว้ และส่งไปตรวจที่ มหาวิทยาลัยมานิโทบา(University of Manitoba) มีนักวิทยาศาสตร์ 2 คน ตรวจสอบความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ พบว่าในบรรดาแปลงคาโนลาทั้งหมดของผมนั้น ยังมี 2 แปลงที่ไม่มีการปนเปื้อน GMOs บางแปลงปนเปื้อน 1%, 2%, และ 8% และในท้องร่องที่อยู่ระหว่างแปลงหนึ่งนั้น ปนเปื้อนประมาณ 60% แต่ผู้พิพากษาก็ยังพิพากษาว่า: แม้จะเป็นแปลงที่ไม่มีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมเลยก็ตาม ผลกำไรทั้งหมดที่ได้จากแปลงนั้น จะต้องตกเป็นของมอนซานโต เพราะมีโอกาสเป็นไปได้ที่เมล็ดพันธุ์ของเราจะมีพันธุกรรมของมอนซานโตแฝงอยู่

เราตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ทันที ศาลอุทธรณ์มีผู้พิพากษา 3 ท่าน แต่ก็ไม่มีคณะลูกขุนอีกเช่นเคย หลังจากใช้เวลาปีเศษ ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น แต่ขณะเดียวกันก็ระบุในคำวินิจฉัยว่า คณะผู้พิพากษามิได้เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปเสียทั้งหมด เราคิดว่าหากศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วทำไมไม่ยกฟ้องเสีย แต่ศาลก็ไม่ทำ

หลังจากศาลอุทธรณ์ตัดสินในปี 2545 แล้ว เรายื่นฎีกาต่อศาลสูงแห่งแคนาดา ใช้เวลาไปปีเศษ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสู้คดีเป็นจำนวนมาก เพราะมอนซานโต้ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางกฎหมายทุกวิถีทางในการยับยั้งมิให้ศาลสูงรับฟ้อง แต่ในที่สุดศาลสูงก็มีคำวินิจฉัยให้รับฟ้อง

คดีเข้าสู่ศาลสูงในเดือนมกราคม 2547 พร้อมกันนั้นเรื่องนี้ก็เริ่มเป็นข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ ยังไม่มีกำหนดการสำหรับการพิพากษาคดี แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่จะต้องตัดสินรวมไปถึงประเด็นการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตด้วย

ในการต่อสู้ที่ศาลชั้นต้นนั้น มอนซานโตกล่าวว่า เมื่อใส่ยีนเข้าไปในเมล็ดพันธุ์พืช ย่อมหมายถึงบรรษัทเป็นผู้ "ประดิษฐ์ "เมล็ดพันธุ์นั้น เมื่อเมล็ดเติบโตเป็นต้นพืช ก็หมายถึงบรรษัทเป็นผู้ "ประดิษฐ์ "ต้นพืชนั้น

ถ้าท่านสังเกตให้ดีจะเห็นนัยที่ส่อว่า สิ่งที่บรรษัทกำลังนำเสนอเป็นประเด็นต่อศาลสูงก็คือ : ถ้าคุณใส่ยีนลงไปในเมล็ดพันธุ์ใดๆหรือในต้นพืช หรือแม้กระทั่งในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นไม่ว่าจะเป็นนก, ปลา,สัตว์ต่างๆ หรือแม้แต่มนุษย์แล้วละก็ จะกล่าวว่าบรรษัทได้ " ประดิษฐ์ " รูปแบบของสิ่งมีชีวิตนั้นขึ้นมาเองได้ ใช่ไหม ? บรรษัทสามารถ "ประดิษฐ์ " มนุษย์ได้ด้วยหรือ?

และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมประเด็นนี้จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมาทันที เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องที่เกษตรกรจะมีสิทธิ์ใช้เมล็ดพันธุ์ของตนที่เก็บไว้เพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไปเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการถือครองสิทธิทั้งหมดในการควบคุม และเป็นเจ้าของยีน ซึ่งหมายถึงการถือครองสิทธิทั้งหมดในการควบคุมและเป็นเจ้าของมนุษย์, นก, ผึ้ง สัตว์และสรรพชีวิตทั้งหลายเลยทีเดียว

เมื่อเดือนธันวาคม 2545 ศาลสูงได้ตัดสินคดีหนึ่งออกมา เป็นคำตัดสินที่สำคัญมาก มีความว่า ในประเทศแคนาดา คุณไม่สามารถจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตชั้นสูงซึ่งรวมถึงเมล็ดพันธุ์และต้นพืชได้ สิ่งที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่งก็คือ ในแผ่นดินที่เราคิดว่ามีสิทธิเสรีภาพในการพูดและการแสดงความคิดเห็นนั้น เราต้องสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไป มันสูญเสียไปได้อย่างไร ?

ผมมีสัญญาของมอนซานโตฉบับหนึ่ง ในความคิดของผมแล้วมันเป็นสัญญาที่น่ารังเกียจที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลก เพราะโดยหลักการของสัญญานี้ก็คือ การทำลายสิทธิของเกษตรกรอย่างสิ้นเชิง ผมจะขอยกตัวอย่างมาบางข้อความดังนี้

คุณไม่สามารถใช้เมล็ดพันธุ์ของคุณได้, คุณจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากเราทุกปี, คุณจะใช้ได้เฉพาะสารเคมีของมอนซานโตเท่านั้น , คุณจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตรวมทั้งค่าเทคโนโลยีให้กับบรรษัทเป็นเงิน 15 เหรียญต่อเอเคอร์ต่อปี ทั้งหมดนี้คุณจะละเมิดสัญญาประการหนึ่งประการใดไม่ได้ และคุณต้องลงนามในใบรับรองที่จะไม่เปิดเผย (non-disclosure statement) และคุณไม่สามารถบอกเล่าเรื่องนี้กับสื่อหรือนำไปพูดคุยกับเพื่อนบ้านได้

นี่คือวิธีที่ทำให้ชาวนาเกษตรกรสูญเสียเสรีภาพในการพูดและการแสดงความคิดเห็นไปสิ้น

ยังมีข้อความอื่น ๆ ในสัญญาของมอนซานโตอีก เช่น

คุณต้องยินยอมให้กำลังตำรวจของมอนซานโต (Monsanto's police force) เข้าไปในไร่ของคุณตลอดระยะเวลา 3 ปี หลังจากที่เซ็นสัญญาแล้ว แม้ว่าคุณจะปลูกพืชของมอนซานโตแค่ปีเดียวก็ตาม ตำรวจมอนซานโตสามารถเข้าไปในที่เก็บเมล็ดพันธุ์ , ยุ้งฉางและในไร่ของคุณ เพื่อตรวจสอบว่าคุณกำลังปลูกอะไรอยู่ และดูว่าคุณเก็บอะไรไว้ในคลังเก็บเมล็ดพันธุ์บ้าง ตำรวจสามารถเรียกดูบันทึกเกี่ยวกับการเกษตรของคุณ ตรวจดูเอกสารการเสียภาษีและอื่นๆ โดยคุณต้องอนุญาตให้ตำรวจของบรรษัทปฏิบัติหน้าที่เหล่านั้น

ยังมีข้อความใหม่ๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาในสัญญา เมื่อปี 2546 อีกว่า คุณไม่สามารถฟ้องร้องมอนซานโตได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าทำไมมันถึงสำคัญมากสำหรับผู้คนที่ควรจะได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงๆ จากการนำเอาพืช GMOs มาปลูก และรู้ถึงวิธีการที่บรรษัททำลายสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน

ประเด็นที่สำคัญมากอีกประเด็นหนึ่งคือ วิธีการที่มอนซานโตโฆษณาในใบประชาสัมพันธ์ มอนซานโตบอกว่า ถ้าคุณคิดว่าเพื่อนบ้านของคุณกำลังปลูกพืช GMOs ของมอนซานโต โดยไม่มีใบอนุญาต คุณสามารถแจ้งมาที่บรรษัทได้ ถ้าคุณแจ้งมาคุณจะได้รับเสื้อแจ๊กเก็ตหนัง ฟรีจากมอนซานโต !

เอาละทีนี้ เกิดอะไรขึ้นเมื่อมอนซานโต ได้รับแจ้งข้อมูลภายในเช่นนี้ ทันทีที่ได้รับแจ้ง บรรษัทจะส่งตำรวจมอนซานโต 2 นาย มาที่บ้านผู้ถูกแจ้งทันที และกล่าวหาเกษตรกรผู้นั้นว่า ปลูกพืชของมอนซานโตโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ทั้งข่มขู่จะจัดการด้วยกฎหมายอย่างถึงที่สุด การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบแก่ชุมชน เนื่องจากสร้างความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ชาวบ้านที่โดนร้องเรียนจะพยายามสืบให้ได้ว่าใครเป็นคนกล่าวหาตน นี่เป็นสิ่งที่มอนซานโตใช้เป็นกลยุทธ์ในการสร้างความหวาดกลัวให้กับเกษตรกร เพราะวิธีที่ดีที่สุดที่จะกำกับควบคุมประชาชนได้ก็คือ การใช้วัฒนธรรมแห่งความกลัว

ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นต้องสังวรระวัง เมื่อนึกถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของมอนซานโต กล่าวคือ มันไม่มีสิ่งใดที่จะเรียกว่าเป็นระบบปิดอันมิดชิด (Containment) ได้เลย เชื่อผมเถิด ในฐานะที่ผมเป็นเกษตรกรมานานกว่า 50 ปี ผมรู้ดีว่า คุณไม่สามารถรักษารูปแบบเฉพาะของสิ่งมีชีวิตนั้นไว้ได้ ตราบใดที่คุณนำมันมาอยู่ในสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้เอง ไม่ว่าพืชพันธุ์ของคุณจะปนเปื้อนสารพันธุกรรม GMOs เพียงแค่ 1% หรือ 0.03% ก็ตาม สารพันธุกรรมนี้จะแผ่ซ่านแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง มันไม่มีอะไรที่จะเรียกได้ว่า เป็นระบบปิดหรือที่เก็บเฉพาะได้เลย

ประการต่อมา มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า การอยู่ร่วมกัน (Co-existence) เมื่อไรก็ตามที่คุณเอา GMOs เข้ามาใช้ในสภาพแวดล้อมหนึ่งๆ มันจะกลายเป็นตัวครอบงำเหนือสิ่งอื่นทันที มันจะแพร่เข้าไปติดในสวนเกษตรอินทรีย์ หรือสวนเกษตรแบบเดิม ภายในเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น

เมื่อมีการนำเอาคาโนลาที่เป็น GMOs มาใช้ในปี 2539 เพียงสองปีต่อมา จะเกิดอภิวัชพืช(Super-weed) ที่กลายเป็นตัวรุกรานพืชอื่นๆ อภิวัชพืชคืออะไร? อภิวัชพืชในกรณีนี้ คือ ต้นคาโนลาที่กลายพันธุ์ (mutant canola) เป็นคาโนลาที่มียีนของบริษัทต่างๆ อีกสองบริษัทเช่นเดียวกับบริษัททั้งหลายของมอนซานโตปนอยู่

เจ้ายีนที่แปลงพันธุกรรมนี้ทั้งหมดจะแฝงเข้าไปในพืชแล้วกลายเป็นอภิวัชพืช ก่อให้เกิดมลภาวะแก่ทุ่งแพรี่ในแถบตะวันตกของแคนาดาทั้งหมด มันเข้าไปอยู่ในแปลงข้าวสาลี,แปลงข้าวบาร์เลย์ และแปลงข้าวโอ๊ต ต้องใช้สารเคมีชนิดใหม่ ที่มีอำนาจทำลายสูง มีพิษมากขึ้น ที่จะกำจัดมัน

ด้วยเหตุนี้เกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ จึงไม่สามารถปลูกพืช 2 ชนิด คือ ถั่วเหลือง(soya bean) และคาโนลา ได้อีกต่อไป เพราะเมล็ดพันธุ์ของเรากลายพันธุ์ไปหมด เราไม่สามารถส่งออกคาโนลาให้กับกลุ่มสหภาพยุโรปได้เลยแม้แต่บุชเชลเดียว (1 บุชเชล = 8 แกลลอน : ผู้แปล) เราต้องสูญเสียตลาดทั่วโลก

แต่สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นหายนภัยอันใหญ่หลวงกำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ มันมาในรูปแบบของกระบวนการปลูกพืชที่ใช้ทำยา หรือ "พืชเภสัช"(pharma-plant)

เวลานี้มียาหลักหกชนิด ที่ผลิตจากพืชตัดต่อพันธุกรรมนั่นคือ วัคซีน(vaccines),เอ็นไซม์อุตสาหกรรม(industrial enzymes), ยาละลายเลือด(blood thinners), โปรตีนที่ทำให้เลือดแข็งตัว(blood-clotting proteins), ฮอร์โมนที่ทำให้เติบโต(growth hormones) และยาคุมกำเนิด(contraceptives)

อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าบางคนที่เพิ่งผ่าตัด และได้ทานอาหารจากพืชที่ปนเปื้อนยีนของยาละลายเลือดเข้าไป? จะเกิดอะไรขึ้นกับหญิงมีครรภ์ เมื่อทานอาหารทำจากผักที่มียีนของยาคุมกำเนิด?

โปรดอย่าลืมว่า มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าระบบปิด หรือ การอยู่ร่วมกันแต่อย่างใด

มรดกแบบไหนกันแน่ ที่เราต้องการจะมอบไว้ให้แก่ลูกหลานของเรา? แผ่นดิน อาหาร น้ำ และอากาศที่เต็มไปด้วยพิษใช่ไหม? ไม่เลย เราต้องการจะมอบแผ่นดิน อาหาร อากาศ และน้ำ ที่เต็มไปด้วยความสะอาด บริสุทธิ์ และมีสุขภาพและพลังแห่งความสามารถในการดำรงชีวิตต่างหาก

ผมมีบางสิ่งที่อยากจะฝากไว้โดยเฉพาะแก่คนรุ่นต่อไปทั้งหลายว่า คุณอาจจะสูญเสียสิทธิและเสรีภาพภายในชั่วข้ามคืน ; โอกาสที่คุณจะเลือกบริโภคอาหารอย่างคนที่มีร่างกายสมบูรณ์นั้นจะหมดไป ด้วยกฎหมายในประเทศแคนาดาให้อำนาจบริษัทที่จะปฏิเสธสิทธิของเกษตรกรในการปลูกพืชและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ของตนที่มิได้ปนเปื้อนพันธุกรรมไว้

ภรรยาและผมมีอายุล่วงเข้า 70 ปีแล้ว เราตัดสินใจที่จะใช้เวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิทั้งหลายแห่งความเป็นมนุษย์ของเรา

หมายเหตุจากผู้แปล

1. แปลจาก THEFT OF LIFE ปาฐกถาที่แสดงโดย Percy Schmeiser ณ ที่ประชุมไบโอเนียร์ 2003 (Bioneer 2003 conference) ตีพิมพ์ใน Resurgence ฉบับ 223 (มีนาคม-เมษายน 2004)

2. เพอร์ชี ชไมเซอร์ เป็นชาวไร่คาโนลา รัฐซัสแคตเชวัน(Saskatchewan) ประเทศแคนาดา เขาได้รับรางวัลมหาตมะคานธี (Mahatma Gandhi Award) เมื่อปี 2000 ในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษยชาติด้วยสันติวิธี

3. ผู้สนใจติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.percyschmeiser.com

4. คาโนลา(canola)เป็นพืชชนิดหนึ่ง นำเมล็ดมากลั่นเป็นน้ำมันพืช เช่นเดียวกับถั่วเหลือง

5. สวนเกษตรแบบเดิม (conventional farm) คือการทำเกษตรแบบเดิม เช่น นำพันธุ์พืชตั้งแต่สองสายพันธุ์ขึ้นไปมาผสมด้วยวิธีผสมข้ามและมีการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์สังเคราะห์

6. สวนเกษตรอินทรีย์(organic farm) คือ การทำเกษตรแบบธรรมชาติใช้ปุ๋ยธรรมชาติ

อังคาร 27 เมษายน 2547

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
คุณต้องยินยอมให้กำลังตำรวจของมอนซานโต (Monsanto's police force) เข้าไปในไร่ของคุณตลอดระยะเวลา 3 ปี หลังจากที่เซ็นสัญญาแล้ว แม้ว่าคุณจะปลูกพืชของมอนซานโตแค่ปีเดียวก็ตาม ตำรวจมอนซานโตสามารถเข้าไปในที่เก็บเมล็ดพันธุ์ , ยุ้งฉางและในไร่ของคุณ เพื่อตรวจสอบว่าคุณกำลังปลูกอะไรอยู่ และดูว่าคุณเก็บอะไรไว้ในคลังเก็บเมล็ดพันธุ์บ้าง
บทความเกี่ยวกับอันตรายของพืชตัดแต่งพันธุกรรม(GMOs) และการรณรงค์เพื่อต่อสู้กับภัยพิบัติที่เกิดจากฝีมือมนุษย์
H