เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๗: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

2
0
0
4

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 393 หัวเรื่อง
ความยากจนกับความยุติธรรม
จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com

R
relate topic
290547
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความวิชาการ ฟรีสำหรับทุกคน
เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยไม่มีเงื่อนไขทางการศึกษา วัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจใดๆมาเป็นอุปสรรค และยังมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตความรู้ขึ้นมาเพื่อพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม
The Alternative University


กระบวนการยุติธรรมราคาแพง
ความยากจนกับการเข้าถึงความยุติธรรม
จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


บทความนี้เคยนำเสนอในการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "กระบวนการยุติธรรมกับปัญหาความยากจนในสังคมไทย"
จัดโดย โครงการพัฒนาระบบกฎหมายไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
วันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2545
ณ.โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น

(บทความนี้ยาวประมาณ 13 หน้ากระดาษ A4)



ความนำ

ความยากจน (poverty) การเข้าถึงความยุติธรรม (access to justice) กับ กระบวนการยุติธรรม (criminal justice process) เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมสองสามอย่างที่มีความสัมพันธ์กันทั้งโดยภาพลักษณ์ที่ปรากฏและโดยข้อเท็จจริง เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่พบเห็นได้ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายรวมทั้งสังคมแห่งนี้

"ความยากจน" กับ "การเข้าถึงความยุติธรรม" เป็นปัจจัยที่ต่างก็เป็น "เหตุ" และ "ผล" แก่กัน กล่าวคือ เพราะเหตุที่ยากจนจึงทำให้ผู้คนเหล่านั้นไม่อาจเข้าถึงความยุติธรรมได้ตามสิทธิอันควร เฉกเช่นพลเมืองคนหนึ่งของรัฐ หรือไม่เท่าเทียมกับที่ผู้อื่นที่ "ไม่ยากจน" สามารถกระทำได้ ทางหนึ่ง

ในทางตรงกันข้าม เมื่อกลับเอา"การเข้าถึงความยุติธรรม"เป็นเหตุ จะพบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งที่ว่า เพราะเหตุที่ผู้คนมีความต้องการ"เข้าถึงความยุติธรรม" ซึ่งมักเกิดความต้องการนี้ขึ้นเมื่อ"ได้รับความ อยุติธรรม" หรือ ประสบกับความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน หรือ ถูกเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเกิดความประสงค์จะ "เข้าถึงความยุติธรรม" อันเป็น "เหตุ" ขึ้นแล้ว ผู้คนเหล่านั้นจะต้องใช้จ่ายทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากเพื่อการนั้น ทำให้เกิด "ผล" คือ ความยากจน ขาดแคลน ขาดสภาพคล่องตามมา

หรือบางคนได้เห็นถึงความยุ่งยากซับซ้อนของช่องทางในการเข้าถึงความยุติธรรม ที่เป็นแบบแผนพิธีการซึ่งต้องดำเนินการผ่านกระบวนวิธีที่ต้องใช้จ่ายเงินทองจำนวนมาก จนเกิดเป็นภารกิจใหม่อีกภารกิจหนึ่ง คือ กู้หนี้ยืมสินมาเพื่อการต่อสู้คดี จึงอาจเลือกใช้"กระบวนการยุติธรรมนอกระบบ" ซึ่งรวดเร็วกว่า ย่อมเยากว่าแม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อกฎหมายมากกว่าก็ตาม

ในกรณีหลังนี้จึงเป็นเรื่องที่มี"กระบวนการยุติธรรม" เป็นตัวแปรแทรกซ้อนเข้ามาร่วมอธิบายและจัดกระทำด้วย ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า "ความยากจน" กับ "การเข้าถึงความยุติธรรม" เป็นสองสิ่งที่ต่างก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ขณะเดียวกัน"ความยากจน" กับ "กระบวนการยุติธรรม" ก็เป็นปรากฏการณ์อีกคู่หนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อกันในรูปของ"ปัญหาอาชญากรรม" ตามตัวเลขทางสถิติที่บันทึกไว้ ซึ่งในสังคมมีความเชื่อที่ว่า การว่างงาน-ตกงาน และความยากจนก่อให้เกิดอาชญากรรม และ บ้างก็เชื่อว่า "ความหิวเป็นบ่อเกิดของความผิดทางอาญา" (hunger is the mother of criminality) ซึ่งทำให้บรรดาผู้คนในสังคมพากันคาดหวังว่า "เมื่อหมดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อใด อาชญากรรมก็จะลดลงเมื่อนั้น" (come the end of the depression, crimes will decrease)

และเมื่อเกิดอาชญากรรมขึ้นมา หรือเพื่อป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรมขึ้น "รัฐ" จึงต้องสร้าง"กระบวนการยุติธรรม" เพื่อเป็นกลไกในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมเหล่านี้ โดยมี "กฎหมาย" และ "กระบวนวิธีการ" ตลอดจน "บุคลากรที่ประกอบวิชาชีพในกระบวนการยุติธรรม" เข้ามีส่วนร่วมเป็นตัวแปรสำคัญในระบบคิดชุดนี้ด้วย แต่ความยากจนเป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาอาชญากรรมหรือไม่ คำถามข้างต้นนี้ เป็นประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนจะหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในช่วงต่อไป

ดังนั้น ในบทความนี้ ผู้เขียนประสงค์ที่จะนำเสนอ "วงจรความสัมพันธ์ระหว่าง ความยากจน การเข้าถึงความยุติธรรม กับ กระบวนการยุติธรรม" ในบริบทสังคมไทย เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดระบบและรูปแบบบริการในกระบวนการยุติธรรมไทยที่เหมาะสมกับ "ผู้รับบริการ" ที่มีความหลากหลาย รวมทั้งกลุ่มผู้ด้อยโอกาสโดยฐานะทางเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า "คนยากจน" เหล่านี้ต่อไป

"ความยากจน" เป็นอย่างไร
หากจะตั้งคำถามต่อพระพุทธองค์ว่า "ความยากจนเป็นอย่างไร" นั้น ก็จะได้คำตอบที่ว่า "ทพิท.ทิยํ ทุก.ขํ โลเก" ซึ่งมีความหมายว่า "ความยากจนเป็นทุกข์ในโลก"

ในทางสังคมวิทยาอธิบายว่า "ความยากจน" หมายถึง การที่มีสภาพการครองชีพต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ซึ่งชี้วัดด้วยภาวะโภชนาการ สุขภาพอนามัย และ ที่พักอาศัย ความยากจนมีสองประเภท คือ ความยากจนอย่างสุดๆ (absolute poverty) หมายถึงการที่ผู้คนมีระดับการครองชีพต่ำ ดำรงชีพอยู่ได้อย่างแร้นแค้น ยากแก่การรักษาสุขภาพและชีวิต และ ความยากจนเชิงเปรียบเทียบ (relative poverty) คือการที่ถูกจัดว่ายากจนเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นในสังคมที่มีฐานะดีกว่า

ความยากจน: ปัญหาสังคมของทุกสังคม
"ความยากจน" ได้ชื่อว่าเป็น"ปัญหาสังคม"ปัญหาหนึ่ง ซึ่งปัญหาสังคมเป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่คู่สังคมทุกยุคสมัยโดยมีระดับรุนแรงของปัญหามากน้อยแตกต่างกันไป เป็นเรื่องของสภาพความไม่เป็นระเบียบของสังคม เป็นสถานการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของคนจำนวนมากที่รู้สึกถูกคุกคามต่อมาตรฐานค่านิยมเหล่านั้น และประสงค์จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ดีขึ้น หรือขจัดให้หมดไปโดยเชื่อว่าคนในสังคมของตนสามารถกระทำได้

"ความยากจน" ถูกจัดว่าเป็นปัญหาสังคมประเภท "ปัญหาทางเศรษฐกิจ" เพราะถูกนำไปพ่วงกับเกณฑ์ชี้วัดทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า "เส้นความยากจน" (poverty line) ซึ่งเป็นเครื่องมือสากลในการพิจารณาว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนจนหรือไม่ โดยธนาคารโลกเป็นผู้ริเริ่มนำเทคนิคการคิดคำนวณเส้นความยากจนมาใช้ในประเทศไทยครั้งแรกในปีพ.ศ.2513

และต่อมาพบว่าเมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 ใน ปี พ.ศ. 2539 ไทยมีเส้นความยากจนเฉลี่ยทั่วประเทศเท่ากับ 737 บาท ต่อคนต่อเดือน มีสัดส่วนคนจนร้อยละ 11.4 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีจำนวน 6.8 ล้านคน แต่หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจสัดส่วนคนยากจนกลับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.9 คิดเป็นจำนวนคนจน 9.9 ล้านคนในปี พ.ศ.2542 คือเพิ่มขึ้นจำนวน 3.1 ล้านคน (คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2544, น.23) และ ตัวเลขเส้นความยากจนของไทยล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2542 คือ 911 บาทต่อคนต่อเดือน

หลักการสำคัญของการกำหนดมาตรฐานเส้นความยากจน คือ การพิจารณาความจำเป็นพื้นฐานขั้นต่ำในการดำรงชีวิต ที่ได้คิดคำนวณจากความเพียงพอในการบริโภคโดยเฉลี่ย (ทั้งด้านอาหารและสินค้าอุปโภค) ของคนไทย (ศาสตราจารย์นานัค คัควานี และ รองศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว ผู้เชี่ยวชาญผู้คิดคำนวณ) จากนั้นจึงได้มีการนำเส้นความยากจนของไทยไปใช้ประโยชน์ในการประเมินภาวะทางเศรษฐกิจสังคมในระดับสากลต่อไป

แต่ความยากจนในฐานะที่เป็นปัญหาสังคมนั้นมีความหมายมากกว่าการมีรายได้น้อยไม่เพียงพอแก่การยังชีพเพียงประการเดียว ความยากจนหมายรวมถึง ภาวะทุโภชนาการ ความเสื่อมโทรมแห่งสุขภาพอนามัยและมีการศึกษาต่ำอีกด้วย และมิใช่คนยากจนทุกคนจะประสบกับภาวะทุกประการดังกล่าว ทั้งยังไม่มีความลงตัวอย่างชัดเจน ในการขีดเส้นแบ่งระหว่างการเป็นคนยากจนออกจากคนกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งยังไม่มีวิธีการที่ถูกต้องเป็นปรนัยใดๆเพียงหนึ่งเดียว ที่ใช้ในการคำนวณเปรียบเทียบรายได้และมาตรฐานการครองชีพที่ใช้ได้กับทุกกาลเวลาและทุกสถานที่ในสังคมโลกแห่งนี้

ดังจะเห็นได้ว่า ในเมืองใหญ่เส้นความยากจนจะสูงกว่าในชนบท และเส้นความยากจนในประเทศหนึ่งจะสูงกว่าในอีกประเทศหนึ่ง ความแปรเปลี่ยนไม่คงที่ของเครื่องชี้วัดดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึง "อำนาจ" ที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดว่า อย่างไรคือความยากจนหรือไม่ยากจน ซึ่ง "ความยากจน" หรือ "ไม่ยากจน" กลายเป็น "สถานภาพ" ที่ถูกกำหนดให้โดยผู้มีอำนาจ และจากสถานภาพดังกล่าวทำให้มีผลกระทบต่อการถูกเลือกปฏิบัติตามมาเป็นลำดับ

"คนจน": สถานภาพที่สังคมกำหนดให้หรือติดตัวมาแต่กำเนิด
กล่าวกันว่า "ความยากจน" เป็น "สถานภาพ" (status) ประการหนึ่งที่สังคมกำหนดขึ้นภายหลังให้แก่ผู้คนที่มีลักษณะเฉพาะกลุ่มหนึ่ง เช่นเดียวกับสถานภาพการเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย สถานภาพการเป็นผู้นำประเทศ ฯลฯ ที่ถูกกำหนดโดยหลักเกณฑ์กลไกทางสังคมชุดหนึ่งๆ และมีกฎระเบียบรองรับความมีอยู่จริงของสถานภาพนั้น

ทั้งนี้เพราะความยากจนมิใช่สถานภาพที่ได้รับติดตัวมาแต่กำเนิด (ascribed status) เช่น สถานภาพการเป็นชาย-หญิง ผิวดำ-ผิวขาว ฯลฯ เป็นต้น ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะถือกำเนิดมาในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง หรือ ครอบครัวที่ยากจนข้นแค้นก็ตาม

และเมื่อ "ความยากจน" มิใช่สถานภาพที่ติดตัวมาแต่กำเนิดแล้ว ความยากจนจึงเป็นตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงได้ในตัวเองไม่ว่าจะนำไปสัมพันธ์กับเหตุปัจจัยอื่นใดในสังคมก็ตาม ซึ่งวิธีการมองปัญหาความยากจนดังกล่าวเป็นการมองตามแบบทฤษฎีโครงสร้างนิยม คือปัจจัยภายนอกเป็นตัวกำหนดปัญหาความยากจนขึ้น นี้เป็นนัยในการมองปัญหาความยากจนลักษณะแรก

แต่อย่างไรก็ตามชาวอเมริกันส่วนใหญ่ (Judith Chafel, 1997, p.434) กลับมองปัญหาความยากจนอีกลักษณะหนึ่งว่า เป็นเรื่องของการผสมผสานกันระหว่างปัจจัยทางชีววิทยาและวัฒนธรรม หรือเป็นเรื่องที่เกิดจากเหตุปัจจัยภายในตนเองมากกว่าเหตุปัจจัยภายนอก

เช่นเดียวกับที่ Michael Harrington (1963, 21) เชื่อว่า ความยากจนเป็นเรื่องที่ติดตัวมาแต่กำเนิด คือเกิดผิดที่ เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน เกิดมาจากพ่อแม่ที่ยากจน อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผิด และในท้องถิ่นที่ผิดที่ผิดทางของประเทศ ซึ่งคุณลักษณะเหล่านั้นเป็นคุณลักษณะที่ถูกจัดจำแนกไว้เรียบร้อยแล้ว (ก่อนที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะเกิดมาท่ามกลางสิ่งเหล่านี้) เรียกว่าเป็น "การแบ่งแยกเชิงสถาบัน" (institutional discrimination) ดังนั้นจึงควรต้องตำหนิเรื่องของ "ความยากจน" แต่ไม่ควรจะตำหนิ "คนยากจน" เพราะสถานภาพทางสังคม เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงเลื่อนชนชั้นได้ภายหลัง

ความยากจนกับ "วัฒนธรรมความยากจน" (culture-of-poverty)
วิธีการอธิบายเรื่อง "ความยากจน" ที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่ง คือการอธิบายความยากจนด้วยการตำหนิเหยื่อว่ายากจนเพราะรับเอา "วัฒนธรรมความยากจน" (D. Stanley Eitzen and Maxine Baca Linn, 2000,p.198-199) มาเป็นของตน โดยคำอธิบายตั้งอยู่บนฐานที่ว่า คนยากจนมีคุณภาพของค่านิยมและวิถีชีวิตผิดแผกแตกต่างจากธรรมเนียมค่านิยม และวิถีชีวิตของคนชนชั้นอื่นๆในสังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนี้เรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมรอง (subculture) รูปแบบหนึ่ง คือ "วัฒนธรรมความยากจน" ซึ่งเชื่อว่ามีการถ่ายทอดวัฒนธรรมความยากจนผ่านกระบวนการขัดเกลาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานด้วย ลูกหลานของคนยากจนจึงได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้จักดำรงชีพตามอัตถภาพ ขณะเดียวกันก็รอคอยโชคชะตามาพลิกผันชีวิตให้แปรเปลี่ยนไป

ความยากจนทำให้คนประกอบอาชญากรรมจริงหรือ ?
ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่ยังมีปัญหาความยากจนปรากฏอยู่มาก โดยมีประชากรร้อยละ 15.1 ถูกจัดว่าเป็นคนยากจนอย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ.1993 และมีสถิติอาชญากรรมในคดีเกี่ยวกับทรัพย์ในอัตราที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยประเทศอื่นๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเกิดจากการที่มีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนร่ำรวยมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งๆที่มีระบบสวัสดิการสังคมรองรับผู้คนกลุ่มนี้อย่างดียิ่ง

ขณะที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ที่มีความยากจนปรากฏอย่างชัดเจน กลับถูกสอนให้ยอมรับในสภาพความขาดแคลนของชีวิต และไม่มีปัญหารุนแรงที่เกิดจากช่องว่างระหว่างคนจนกับคนร่ำรวยเช่นเดียวกับประเทศที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยแต่อย่างใด

เชื่อกันว่า ความยากจนเป็นปัจจัยนำไปสู่การเกิดพยาธิสภาพแก่ปัจเจกบุคคล และมีผลกระทบต่อส่วนรวม เช่น การเกิดอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นนำไปสู่การเกิดอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์ การฆ่ากันตาย ยาเสพติด และเมาสุรา ซึ่งทำให้คนจนกระทำผิดและติดคุกเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน เมื่อสังคมมีความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สถิติอาชญากรรมน่าจะลดลง

แต่การณ์มิได้เป็นดังที่คาดหมาย เพราะยังปรากฏว่ามีคดีอาชญากรรมประเภทคอเชิ้ตขาว (white-collar crime) ซึ่งกระทำโดยคนชั้นสูง ข้าราชการและนักการเมืองเกิดขึ้นมากมาย พอๆกับอาชญากรรมประเภทคอเชิ้ตน้ำเงิน (blue-collar crime) ซึ่งกระทำโดยชนชั้นผู้ใช้แรงงาน คนยากจนที่หาเช้ากินค่ำ และยังปรากฏว่ามีคดีขึ้นโรงขึ้นศาลอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้บรรดาผู้ชำนาญการทั้งหลายไม่สามารถใช้คำพูดเก่าๆที่ว่า "ความยากจนเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม" (poverty is the mother of crime) ได้อีกต่อไป และทำให้คนยุโรปสร้างคำกล่าวใหม่ขึ้นว่า "ความยากจนเป็นความเลวทรามและความร่ำรวยเป็นความทุจริตที่ชั่วช้า" (poverty degrades and wealth corrupts)

คำถามน่าสนใจที่เกิดขึ้น คือ "ความยากจนทำให้คนประกอบอาญากรรมจริงหรือ?" หรือว่าความยากจนเป็นเพียงความสัมพันธ์เชิงสัมพัทธ์กับปัญหาอาชญากรรมและสาเหตุของปัญหาอาชญากรรมที่แท้จริง น่าจะเป็นเรื่องของปัจจัยภายในจิตใจ ที่มีความโลภ โกรธ หลง มีความอยาก ความต้องการไม่มีที่สิ้นสุดมากกว่าเพราะเหตุแห่งความยากจนหรือไม่ อย่างไร

การเดินทางสู่ "ความยุติธรรม" ของ "คนยากจน"

กาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมในลักษณะ "รัฐสวัสดิการ" (state welfare) รูปแบบต่างๆเพื่อประกันการว่างงาน ประกันสังคม และจัดสวัสดิการสงเคราะห์ให้กับผู้คนกลุ่มต่างๆรวมทั้งคนยากจน ซึ่งเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้นระดับหนึ่ง

แต่สำหรับ "การจัดบริการของรัฐด้านงานยุติธรรม" เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับสมาชิกสังคม ที่มีความหลากหลายโดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน ผู้ด้อยโอกาส และคนชายขอบของสังคมแล้ว นับว่ายังไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนใดๆเกิดขึ้น ทั้งในด้านทัศนคติของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและในรูปของสวัสดิการที่เป็นรูปธรรม โดย "คุก" ก็ยังได้ชื่อว่า "มีไว้ขังคนจน" เช่นเดิม

หรือว่า "ความยุติธรรม" ในความคิดคำนึงของคนยากจนนั้นขัดแย้งกับ "กฎหมาย" หรือว่า กฎหมายถูกกำหนดขึ้นเพื่อรองรับสถานภาพบางสถานภาพว่าถูกต้อง เหนือกว่าอีกสถานภาพหนึ่งๆ เช่น กฎหมายไม่ได้กำหนดความผิดฐานข่มขืนไว้สำหรับชายที่ข่มขืนภรรยาของตน เพราะสถานภาพการเป็น "สามี" อยู่เหนือสถานภาพการเป็น "ภรรยา" ในทางกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่มีสถานภาพเป็นรองย่อมรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรม เช่นเดียวกับที่ "ความยุติธรรม" ของคนยากจนผู้มีสถานภาพต่ำกว่าคนอื่นๆในสังคมนั้นอาจขัดหรือแย้งกับ "กฎหมาย" ก็เป็นได้ กรณีที่กฎหมายนั้นมีลักษณะเป็น positive law ที่มุ่งปกป้องบรรทัดฐานสังคม นโยบายแห่งรัฐ และคนส่วนใหญ่ที่ไม่ยากจนมากเกินไป

ดังนั้น "การเดินทางสู่ความยุติธรรมของคนยากจน" จึงมีลักษณะแตกต่างไปจากการใช้บริการของรัฐด้านอื่นๆ เช่น การขอรับสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล ด้านการศึกษา หรือด้านที่พักอาศัย เป็นต้น โดยการรับบริการด้านงานยุติธรรมเป็นบริการที่มิใช่ความต้องการขั้นมูลฐานของมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะที่ว่าเมื่อได้รับบริการก็จะได้รับการตอบสนองอันเป็นจุดหมายปลายทางในตัวเอง

ทั้งการบริการด้วยการให้สวัสดิการเหล่านี้เป็นการเริ่มต้นรับรอง "ความเป็นสมาชิกแห่งครอบครัวของมวลมนุษยชาติ" ซึ่งเป็นความคิดเชิงบวกในตัวเอง แต่ การรับบริการด้านความยุติธรรมมีลักษณะที่ทำให้ผู้รับบริการส่วนใหญ่ตกอยู่ในฐานะ "ผู้ถูกกระทำ" และตกอยู่ในสถานภาพที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลการพิจารณาพิพากษาคดีไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าผู้รับบริการจะเป็นผู้กระทำผิดด้วยการฝ่าฝืนบรรทัดฐานของสังคมจริงหรือไม่ก็ตาม

การเข้ารับบริการด้านความยุติธรรมในมิตินี้จึงเป็นเสมือน "การลดทอน" หรือ "ตัดออก" จากการเป็นสมาชิกของสังคมมนุษย์อย่างเป็นทางการและค่อนข้างถาวรมากกว่า เพราะในทางปฏิบัติแล้วผู้ที่มีใบแดงแจ้งโทษจะไม่สามารถเข้ารับราชการได้ รวมถึงการกลับคืนสู่ชุมชนท้องถิ่นที่พักอาศัยเดิมของตนภายหลังการพ้นโทษนั้น ก็ยังไม่มีหลักประกันใดๆที่จะเชื่อได้ว่าเพื่อนบ้านจะ "ยอมรับความมีตัวตน" ของเขาหรือไม่ เพียงใด

หรือแม้แต่ "ผู้ถูกกล่าวหา" หรือ "จำเลย" ที่กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์นั้น บ่อยครั้งที่ยังได้รับการพิพากษาและตราหน้าจากสังคมไปเรียบร้อยแล้วว่า กระทำผิดก่อนที่ศาลจะพิพากษาจริงเสียอีก ซึ่งเหล่านี้เป็น "กลไกป้องกันตนเองของสังคม" ที่พยายามจะมอบสถานภาพหนึ่งๆให้กับบุคคลกลุ่มนี้อันเป็นการ "ตัดออกไปจากสังคม" ด้วยการประจานว่าเป็นผู้กระทำผิด มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม และทำให้คนที่เหลือของสังคมรู้สึกรวมตัวเป็นพวกเดียวกัน และกลายเป็นกลุ่ม "คนดี" อีกครั้งหนึ่ง

ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงความยุติธรรม
จากการศึกษาสำรวจในงานวิจัยทางด้านอาชญาวิทยาหลายชิ้น พบว่าผู้กระทำผิดคดีประเภทอาชญากรรมพื้นฐาน ที่ถูกดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลส่วนใหญ่เป็นคนยากจน ตกงาน หรือไม่ก็ประกอบอาชีพเป็นกรรมกรผู้ใช้แรงงาน ซึ่งสามารถอธิบายความสัมพันธ์ของการที่ชนชั้นต่ำกระทำผิดมากนี้ได้ว่า

ประการแรก การเก็บสถิติคดีอาชญากรรมเน้นการจำแนกประเภทคดีอาชญากรรมพื้นฐาน ที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดที่เป็นชนชั้นต่ำอยู่แล้ว ส่วนคดีอาชญากรรมคอเชิ้ตขาว ซึ่งกระทำผิดโดยชั้นสูงทั้งหลายไม่ปรากฏชัดเจนในสาระบบความ

ประการที่สอง ตำรวจและผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งกระบวนการเชื่อว่า หรือตั้งสมมติฐานว่า ชนชั้นต่ำมักจะเป็นอาชญากรมากกว่า หรือ
ประการที่สาม ความยากลำบากในการครองชีพของคนจน อาจกดดันให้คนเหล่านี้ประกอบอาชญากรรม

ขณะเดียวกันชนชั้นสูงก็ประกอบอาชญากรรมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งแตกต่างออกไปตามระบบการจัดจำแนกชนชั้นทางสังคม คือ อาชญากรรมคอเชิ้ตขาว ซึ่งผู้ประกอบอาชญากรรมชนิดนี้มักเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงาน มีบทบาททางการเมืองและอยู่ในวงสังคมชั้นสูง รวมทั้งคดี ยักยอกทรัพย์ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เรียกรับสินบน ปั่นหุ้น โกงที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ และเกี่ยวข้องกับผู้คนที่อยู่อีกด้านหนึ่งของชนชั้นทางสังคม

ความรู้สึกของสังคมมักจะมองว่าอาชญากรรมคอเชิ้ตขาว และผู้มีส่วนร่วมเหล่านี้ไม่ได้ประกอบอาชญากรรมร้ายแรง ที่เป็นอันตรายแก่สังคมเท่ากับอาชญากรรมที่กระทำโดยคนจน ดังนั้นเมื่อชนชั้นต่ำกระทำผิดจึงรู้สึกว่านั่นคือ เขากำลังก่อปัญหาอาชญากรรมให้แก่สังคม

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่า เมื่อประกอบอาชญากรรมแล้วชนชั้นสูงสามารถ ปกปิดความผิดที่ได้กระทำ โดยใช้อำนาจอิทธิพลจากตำแหน่งหน้าที่ได้มากกว่าชนชั้นต่ำ รวมทั้งภาพลักษณ์ในการติดต่อประสานงานกับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมของชนชั้นสูง ก็มีผลแตกต่างไปจากภาพลักษณ์ของชนชั้นต่ำ เช่น การแต่งกาย ความสุภาพ การขับขี่รถยนต์ราคาแพง ฯลฯ เป็นต้น

คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมคอเชิ้ตขาวซึ่งความจริงแล้วมีผลเสียหายอย่างมากมายมหาศาล ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ทำธุรกิจการสื่อสาร สามารถเก็บเงินค่าใช้โทรศัพท์จากผู้ใช้ได้ประมาณ 15 พันล้านเหรียญอเมริกันต่อปี แต่แก๊งที่ทำงานใต้ดินสามารถหลีกเลี่ยงที่จะจ่ายค่าโทรศัพท์ถึงประมาณ 300 พันล้านเหรียญต่อปี หรือเช่น ในรัฐเท็กซัส มีลูกจ้างโกงแรงงานนายจ้าง เช่น ลาป่วยไม่จริง อู้งาน รับประทานอาหารกลางวันนานกว่าเวลากำหนด ฯลฯ คิดแล้วประมาณ 200 พันล้านเหรียญต่อปี เป็นต้น

ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงการประมาณมูลค่าความเสียหาย ที่เกิดจากอาชญากรรมคอเชิ้ตขาวเท่าที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น เช่นเดียวกับอาชญากรรมพื้นฐานที่ยังมีคดีความอีกส่วนหนึ่งที่ไม่มีการรายงาน และยากที่จะตรวจตราป้องกัน รวมทั้งความเชื่อที่ผู้คนถูกสอนต่อๆกันมาว่า ถ้าตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมแล้วไม่ควรจะเรียกร้องค่าเสียหายหรือการชดใช้ใดๆ ให้ถือว่าเป็นเคราะห์กรรมของตนที่ต้องประสบชะตากรรมเช่นนั้น

ดังนั้น แม้จะทราบว่าอาชญากรรมคอเชิ้ตขาวก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย แต่ไม่ทราบถึงวงเงินค่าเสียหายชัดเจนนัก รู้เพียงว่ามีผู้กระทำผิดกี่คนที่กระทำผิดจากการโกงภาษี โดยจะทราบข้อมูลดังกล่าวต่อเมื่อค้นพบแล้วว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้น รู้เพียงว่ามีการลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ของนายจ้างจำนวนเท่าไร มีเซลแมนกี่คนที่ใช้เล่ห์หลอกลวงทางการค้า เจ้าของบริษัทคอมพิวเตอร์โกงซ็อฟแวร์โดยผิดกฎหมายเท่าไร และถ้าทราบถึงมูลค่าความเสียหายเหล่านั้น อาจทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าทำไมผู้คนจึงพากันประกอบอาชญากรรมคอเชิ้ตขาวกันมากมาย และเมื่อพิจารณาอย่างแท้จริงแล้วเราจะเห็นถึงความไม่สอดคล้องเหมาะสมของการที่ใช้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีราคาแพงไปพิจารณาคดีที่ไม่สมควรและทำให้นักโทษล้นคุกแทนที่จะพิจารณาคดีอาชญากรรมคอเชิ้ตขาวเหล่านี้ ซึ่งยังให้เกิดความเสียหายมากกว่าหลายร้อยเท่า

ปรากฏการณ์ทางสังคมในวงการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้เป็นรูปธรรมของ "ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงความยุติธรรม" ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจาก ความยากจนกับความไม่ยากจน เพราะเหตุแห่งการมีอคติของสังคมและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมในการเลือกปฏิบัติต่อคนจนของสังคมนั่นเอง

กระบวนการยุติธรรมในความเป็นจริง
บาดหลวงโจเซฟ วเรซินสกี้ (2541, น.49) ได้กล่าวคำสดุดีผู้ตกเป็นเหยื่อของความยากไร้ ไว้เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2530 มีใจความตอนหนึ่งว่า ..."ที่ใดก็ตามที่มนุษย์ทั้งชายและหญิงต้องมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ยากลำเค็ญ ที่นั่นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน"... ซึ่ง วเรซินสกี้ (2541, น.2) เรียกพื้นที่ซึ่งคนยากไร้จากทั่วทุกมุมโลกต้องประสบชะตากรรมร่วมกันคือมีสภาพ "ไร้สิทธิ" และจำต้องแยกตัวเองออกไปอยู่ต่างหากซึ่งแปลกแยกออกจากโลกของคนอื่นที่พวกเขาไม่มีสิทธิจะเข้าไปอยู่ด้วย ว่า "โลกที่สี่" ดังนั้น พื้นที่ของ "โลกที่สี่" จึงครอบครองพื้นที่บางส่วนของกระบวนการยุติธรรมในความเป็นจริงไว้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อตัวเลขจากการสำรวจภูมิหลังของผู้ต้องขังในเรือนจำหลายต่อหลายครั้งระบุตรงกันว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ มีรายได้น้อย หนี้สินมาก


ภาพใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมในความเป็นจริงที่มี "คนยากจน" "สิทธิที่จะเข้าถึงความยุติธรรม" และ "มีความจำเป็นต้องใช้บริการ" ของกระบวนการยุติธรรมในฐานะใดฐานะหนึ่งภาพของความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันจึงปรากฏแก่สายตาของสังคมตามมา

"กระบวนการยุติธรรมราคาแพง"
แม้ว่า "กระบวนการยุติธรรม" จะเป็นสถาบันทางสังคม เป็นหลักประกันแห่งอำนาจอธิปไตยและเป็นอะไรต่างๆอีกมากมาย รวมทั้งเป็น "บริการของรัฐ" รูปแบบหนึ่งก็ตาม แต่กระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็น "กระบวนการยุติธรรมที่มีราคาแพง" อย่างยิ่ง กล่าวคือ

ประการแรก เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ผู้รับบริการต้องเสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าธรรมเนียมศาล ฯลฯ ทั้งๆที่บางครั้งเป็นเรื่องของการร้องขอความเป็นธรรม ก็ตาม

ประการที่สอง เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ใช้เวลายาวนานในการดำเนินคดี บางคดีใช้เวลานานถึง 10 ปี กว่าคดีจะสิ้นสุดลง ทำให้คู่กรณีต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เป็นค่าทนายความ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเสียเวลาในการประกอบอาชีพ รวมทั้งรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรเพื่อการนี้อย่างมากมายมหาศาล

ประการที่สาม คนยากจนที่ไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์ประกันตัวต้องถูกขังระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งมีจำนวนมากถึงร้อยละ 40 ของผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ แม้ว่าส่วนหนึ่งจำเป็นต้องขังไว้เพื่อความปลอดภัยของสังคมก็ตาม แต่ผู้คนเหล่านี้เป็นภาระของรัฐที่ต้องจ่ายค่าอาหารเลี้ยงดูตลอดเวลาอันยาวนานดังกล่าวนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนในการพิจารณาคดีให้สูงยิ่งขึ้น

ประการที่สี่ มีคดีความประเภท mala prohibita คือความผิดที่รัฐกำหนดว่าเป็นความผิด ได้แก่ ยาเสพติด (ผู้ติดยา) การพนัน หลบหนีเข้าเมือง ฯลฯ และคดีอาชญากรรมพื้นฐาน (street crime) ได้แก่ ลัก วิ่ง ชิง ปล้นทรัพย์ซึ่งประกอบอาชญากรรมโดยพวกคอเชิ้ตน้ำเงินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากเกินไป และใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ รวมทั้งบุคลากรและงบประมาณกว่าครึ่งหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมไปกับเรื่องเหล่านี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีความชำนาญงานคดีเหล่านี้มาก และกระบวนการยุติธรรมก็มีความคุ้นเคยกับงานคดีประเภทนี้ที่มักจะไม่มีมิติของความซับซ้อนมากนัก ไม่ยุ่งยากในการตามรอยพิสูจน์ความผิด

ไม่เหมือนกับคดีประเภทอาชญากรรม คอเชิ้ตขาวที่มีความสลับซับซ้อนมีอิทธิพลเบื้องหลัง
และกระบวนการยุติธรรมขาดความรู้ความชำนาญในการดำเนินการเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ การใช้กระบวนการยุติธรรมจัดการกับคดีความที่ไม่เหมาะสม หรือพฤติกรรมเบี่ยงเบนรูปแบบต่างๆของสังคมที่อาจใช้มาตรการอื่นทดแทนได้นั้น ทำให้กระบวนการยุติธรรมมีราคาแพงขึ้น ผู้ใช้บริการต้องอดทนและคอยคิวของตนยาวนานขึ้นเป็นลำดับ

ประการที่ห้า มีการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาจัดการกับคดีแพ่งบางประเภท เช่น คดีเช็ค ที่ดิน เป็นต้น ทำให้พื้นที่ของกระบวนการยุติธรรมบางส่วนต้องเสียไปเพื่อประโยชน์ของเอกชน ซึ่งควรแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการอื่นแทนการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อการนี้

ประการที่หก กระบวนการยุติธรรมมีราคาแพงเฉพาะเมื่อคนยากจนมาใช้บริการ เพราะกระบวนการยุติธรรมมีวิธีคิดที่ผูกติดกับระบบทุนนิยม มีการนำเอาแนวคิดแบบทุนนิยมมาใช้กับกระบวนการยุติธรรม คือ คิดอัตราการต้องโทษเป็นแรงงาน เมื่อกระทำผิดจึงต้องจ่ายคืนให้กับการประกอบอาชญากรรมของตนด้วยการติดคุก คนยากจนไม่มีเงินซื้อตัวเองออกมาจากการจำคุกจึงต้องยินยอมจ่ายคืนให้กับการกระทำผิดของตนด้วยการต้องโทษจำคุกแทน

และถึงแม้ว่าจะมีการใช้วิธีการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในสังคมหรือปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยไม่ใช้เรือนจำก็ตาม แนวคิดแบบทุนนิยมก็ยังคงติดตามผู้กระทำผิดออกมาจากเรือนจำสู่มาตรการทำงานบริการสังคม แทนการกักขัง แทนค่าปรับที่คิดคำนวณการกักขังแทนค่าปรับไว้ในอัตรา 200 บาทต่อคนต่อวัน และเปลี่ยนเป็นสัดส่วนจำนวนวันที่คนยากจนซึ่งต้องโทษปรับต้องชดใช้เงินค่าปรับให้แก่รัฐเป็นแรงงานแทน ขณะที่คนร่ำรวยมีเงินจ่ายค่าปรับไม่ต้องประสบปัญหาเรื่องนี้แต่อย่างใด (วันที่นำเสนอบทความนี้ กฎหมายกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขั้นสุดท้ายของรัฐสภา)

วิธีการนี้นับได้ว่าเป็น "กระบวนการยุติธรรมทางเลือก" ที่น่าสนใจวิธีหนึ่งแต่เป็นวิธีการที่มีผลดีอย่างแท้จริงต่อสถานภาพการเป็นคนยากจนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับให้แก่รัฐหรือไม่ หรือกระบวนการยุติธรรมได้ช่วยลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนร่ำรวยหรือไม่ หรือยิ่งกลายเป็นการกำหนดมาตรการรองรับความไม่เท่าเทียมกันให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น หรือว่าเป็นการแสดงการยอมรับว่าผู้ที่อยู่ใน "โลกที่สี่" เป็นผู้ไร้สิทธิ และสามารถถูกกระทำได้อย่างแท้จริง


ด้วยเหตุนี้ ต้นทุนในการจัดบริการด้านงานยุติธรรมจึงสูงกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมเหมาะสมกับการให้บริการแก่ผู้ที่สามารถจับจ่ายทรัพย์สินเงินทองเพื่อการนี้ ได้มากกว่าที่จะเป็นกระบวนการยุติธรรมซึ่งเหมาะสมกับการเข้ารับบริการสำหรับผู้คนในสังคมทุกชนชั้น ที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกัน จนทำให้ประชาชนรู้สึกได้อย่างสนิทใจว่าเป็น "กระบวนการยุติธรรมของประชาชน" อย่างแท้จริง มิใช่ "กระบวนการยุติธรรมของรัฐ" ที่ยากแก่การเข้าถึงและเข้าใช้บริการ

กระบวนการยุติธรรมกับการใช้วิธีการนอกระบบ

เป็นความจริงที่น่าตระหนกหากทราบว่า "รัฐ" กับ "องค์การอาชญากรรม" ต่างก็ทำงานสองอย่างเช่นเดียวกัน คือ การเก็บภาษีสำหรับรัฐ หรือ เก็บค่าคุ้มครองสำหรับองค์การอาชญากรรม และ การรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองภายใต้กฎหมายของรัฐ หรือ การให้ความคุ้มครองแก่ผู้จ่ายค่าคุ้มครองภายใต้กฎกติกาที่องค์การอาชญากรรมกำหนดขึ้นขององค์การอาชญากรรม ดังนั้นบนพื้นฐานข้อมูลเชิงเปรียบเทียบสองชุดดังกล่าว "กระบวนการยุติธรรม" กับ "วิธีการนอกระบบ" จึงต่างก็ทำหน้าที่เป็นกลไกในการรักษากฎเกณฑ์ที่ "ผู้มีอำนาจ" กำหนดขึ้นเช่นเดียวกัน

แตกต่างกันตรงที่ รัฐสามารถอ้างถึงความถูกต้องชอบธรรมในการจัดการกับองค์การอาชญากรรมได้อย่างชัดเจน และเคยชินต่อการที่ทึกทักว่าจะจัดกระบวนการยุติธรรมอย่างไรก็ได้ ผู้ใช้บริการก็จำต้องใช้ เพราะเป็นสินค้าผูกขาดที่ผู้ใช้บริการจะอย่างไรก็ต้องใช้ช่องทางนี้

แต่อย่างไรก็ตาม วิธีคิดดังกล่าวเริ่มถูกตั้งคำถามจากประชาชนที่มีศักยภาพ และความพร้อมที่เริ่มเข้ามามีบทบาทตรวจสอบการทำงานของภาครัฐในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหลังจากที่มีการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้นมา ว่าบริการของกระบวนการยุติธรรมนั้น ได้คำนึงถึงความต้องการของผู้รับบริการเพียงใด มีบริการที่เหมาะสมกับความหลากหลายของกลุ่มผู้รับบริการมากน้อยเพียงใด ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การเดินทางสู่ "ความยุติธรรม" ของ "คนยากจน" ด้วย "กระบวนการยุติธรรมราคาแพง" เมื่อเกิดคดีความขึ้นนั้น เป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกทั้งของผู้ให้บริการซึ่งก็คือ "รัฐ" และผู้รับบริการ ซึ่งได้แก่ ผู้กระทำผิด เหยื่ออาชญากรรม หรือผู้เสียหาย พยาน ตลอดจนคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกันหรือกระทำการล่วงละเมิดแก่กันด้วยความผิดฐานใดฐานหนึ่ง ทั้งๆที่ การอำนวยความยุติธรรมจัดว่าเป็น "บริการขั้นพื้นฐาน" อย่างหนึ่งของสังคม

แต่หากสังคมใดสร้างช่องทาง "การเข้าถึงความยุติธรรม" ไว้สูงส่งเกินกว่าผู้คนบางกลุ่มในสังคม (ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการประกอบอาชญากรรม) จะสามารถใช้บริการได้โดยง่ายด้วยแล้ว ย่อมเล็งเห็นผลได้ถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจาก "การใช้วิธีการนอกระบบ" จัดการกับความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และทำให้ผู้คนคุ้นเคย เคยชินกับการจัดการกับปัญหาด้วยความรุนแรง ใช้การแก้แค้นแทนการแก้ปัญหาโดยใช้ "คนกลางของรัฐหรือชุมชน" ในรูปของกระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการยุติธรรมทางเลือก (Alternative Dispute Resolutions หรือ ADRs) ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมของรัฐให้เป็นช่องทางที่ง่ายต่อการเข้ารับบริการ เพื่อประชาชนทุกหมู่เหล่าจะสามารถใช้เป็นช่องทางเรียกร้องหาความเป็นธรรมได้อย่างเสมอภาคกัน

บทสรุป
ตลอดช่วงเวลายาวนานแห่งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สัมพันธภาพระหว่าง "คนยากจน" กับ "กระบวนการยุติธรรม" จัดว่าเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นเคียงคู่กันตลอดมา โดยผู้คนเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นลูกค้าของกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอน และบ้างก็ใช้เป็นสถานที่พักพิงยาวนานทั้งชีวิต ซึ่งถ้าหากว่า "รัฐและสังคม" ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกลุ่มคนยากจนทั้งหมดในสังคม ให้กลายเป็นคนที่ไม่ยากจนโดยทั่วหน้ากันแล้ว "กระบวนการยุติธรรม" ก็ควรจะต้องเป็นหน่วยงานแรกๆที่กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจ ในการจัดให้มีบริการที่เหมาะสมกับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างมีมนุษยธรรมเพื่อรองรับ "ความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน" และจะต้องตระหนักโดยทั่วกันว่า "กระบวนการยุติธรรม" ทั้งองคาพยพจะไม่แสดงบทบาทเป็นผู้กระทำการละเมิดสิทธิหรือกระทำการอย่างมีอคติต่อคนยากจนเหล่านี้เสียเอง

 

เอกสารอ้างอิง

โจเซฟ วเรชินนสกี้ (เขียน) อมรสิริ สัณห์สุรัติกุล (แปล), 1989: ปัญหาสิทธิมนุษยชน. กรุงเทพมหานคร:
โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2541.
อดุลย์ เอี่ยมเกื้อกูล รตท. "การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจกับปัญหาอาชญากรรม: ศึกษาเฉพาะกรณีประเทศไทย" วิทยานิพนธ์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519.


Eitzen, Stabley. And Linn, Maxine. 2000. Social Problems. Eight edition. Boston: Allyn and Bacon.
Schmelleger, Frank. 1996. Criminology for Today. Englewood Cliffs, New Jersey: Prentice-Hall, Inc.
Valentine, A. Charls. Culture and Poverty. Chicago: The University of Chicago Press, 1969.

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

เป็นความจริงที่น่าตระหนกหากทราบว่า "รัฐ" กับ "องค์การอาชญากรรม" ต่างก็ทำงานสองอย่างเช่นเดียวกัน คือ การเก็บภาษีสำหรับรัฐ หรือ เก็บค่าคุ้มครองสำหรับองค์การอาชญากรรม และ การรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองภายใต้กฎหมายของรัฐ หรือ การให้ความคุ้มครองแก่ผู้จ่ายค่าคุ้มครองภายใต้กฎกติกาที่องค์การอาชญากรรมกำหนดขึ้นขององค์การอาชญากรรม

บทความในเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาความยากจน กับการเข้าถึงความยุติธรรม และกระบวนการยุติธรรมราคาแพง
H

คดีอาชญากรรมพื้นฐาน (street crime) ได้แก่ ลัก วิ่ง ชิง ปล้นทรัพย์ซึ่งประกอบอาชญากรรมโดยพวกคอเชิ้ตน้ำเงินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมาก และใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ รวมทั้งบุคลากรและงบประมาณกว่าครึ่งหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมไปกับเรื่องเหล่านี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีความชำนาญงานคดีเหล่านี้มาก และกระบวนการยุติธรรมก็มีความคุ้นเคยกับงานคดีประเภทนี้ที่มักจะไม่มีมิติของความซับซ้อน

 

แต่การณ์มิได้เป็นดังที่คาดหมาย เพราะยังปรากฏว่ามีคดีอาชญากรรมประเภทคอเชิ้ตขาว (white-collar crime) ซึ่งกระทำโดยคนชั้นสูง ข้าราชการและนักการเมืองเกิดขึ้นมากมาย พอๆกับอาชญากรรมประเภทคอเชิ้ตน้ำเงิน (blue-collar crime) ซึ่งกระทำโดยชนชั้นผู้ใช้แรงงาน คนยากจนที่หาเช้ากินค่ำ และยังปรากฏว่ามีคดีขึ้นโรงขึ้นศาลอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้บรรดาผู้ชำนาญการทั้งหลายไม่สามารถใช้คำพูดเก่าๆที่ว่า "ความยากจนเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม" (poverty is the mother of crime) ได้อีกต่อไป และทำให้คนยุโรปสร้างคำกล่าวใหม่ขึ้นว่า "ความยากจนเป็นความเลวทรามและความร่ำรวยเป็นความทุจริตที่ชั่วช้า" (poverty degrades and wealth corrupts)