ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการวารสารวิถีทรรศน์ ชุดโลกาภิวัตน์ โครงการปริญญาโท สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน"4 ปี รัฐธรรมนูญกับการเมืองภาคประชาชน" กรุงเทพ คณะอนุกรรมการเฉลิมฉลองอนุสรณ์สถานวีรชนประชาธิปไตย 2544 / หน้า 37-80
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)
ความเป็นพลเมืองมีความสำคัญกับความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เพราะประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม วางอยู่บนความเชื่อในเรื่องความเท่าเทียม และอำนาจของพลเมืองที่จะควบคุมสังคมการเมืองเหมือนๆ กัน
สำหรับแนวคิดนี้ ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเรื่องของการเลือกตั้ง และการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานบางอย่าง แต่คือการมีประชาธิปไตยในระดับสถาบันสาธารณะ และการไม่แทรกแซงอาณาบริเวณส่วนบุคคล
ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แตกต่างจากประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ เพราะขณะที่ประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ เน้นไปที่การนำและการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม กลับเน้นความสำคัญของการกำหนดชีวิตตัวเอง (self-determination) , การมีส่วนร่วม, ความเท่าเทียมทางการเมือง , การสร้างเจตจำนงทางการเมือง
หมายเหตุ
: ต้นฉบับบทความชิ้นนี้ได้ทำเชิงอรรถและอ้างอิงเอาไว้อย่างสมบูรณ์
แต่มีเหตุจำเป็นต้องตัดทอนออกบางส่วน โดยปัญหาทางเทคนิคเกี่ยวกับการย้ายข้อมูลมาจัดวางหน้า
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบรรณานุกรมได้คงไว้อย่างสมบูรณ์
พ.ศ.2544
เป็นปีที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังจะมีอายุครบห้าปี
สำหรับชีวิตคนเรา ห้าปีเป็นเวลาไม่มาก ยิ่งสำหรับชีวิตทางการเมืองด้วยแล้ว ห้าปีเป็นเวลาที่แทบไม่มีความหมาย.
อย่างไรก็ดี
พ.ศ.2544 เป็นปีที่สังคมการเมืองไทย
เผชิญกับปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาด และน่าสนใจหลายประการ
เริ่มต้นที่ผู้นำทางการเมืองถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า
มีความผิดตามรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ปรากฏการณ์นี้นำมาซึ่ง การผนึกพลังของคนหลายฝักหลายฝ่าย
เพื่อแสดงความปกป้อง และเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของนายกรัฐมนตรี คนจำนวนนับล้านๆ
ออกมาเลือกผู้นำการเมืองรายนี้ และผู้นำรายนี้ก็ได้ทำหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งดูจะแปลกใหม่และแตกต่างไปจากผู้นำรัฐบาลชุดเดิมๆ.
ถ้าถือว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของปรากฏการณ์ทางการเมืองสำคัญในปีนี้ สภาวะการขึ้นมามีอำนาจของนายกรัฐมนตรีคนนี้ ก็วางอยู่บนปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ อย่างน้อย 3 ประการ คือ
หนึ่ง. การเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หลายต่อหลายกลุ่มอย่างเปิดเผย, ตรงไปตรงมา และเห็นได้ชัด
สอง. การเป็นผู้นำพลเรือนที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกองทัพและระบบราชการ.
สาม. การเป็นผู้นำทางการเมืองที่ได้รับความร่วมมือจากปัญญาชนสาธารณะ, ผู้นำประชาชน, ขบวนการคนชั้นล่าง, ศาสนจักร และสถาบันทางการเมืองวัฒนธรรมที่เก่าแก่และมีอิทธิพลที่สุดในสังคมไทย.
ทำไมปรากฏการณ์ทั้ง 3 อย่างนี้ถึงมีความสำคัญ?
สำหรับปรากฏการณ์แรกซึ่งเกี่ยวพันกับเงินและที่มาทางธุรกิจนั้น จริงอยู่ว่าไม่มีรัฐบาลชุดไหนและพรรคการเมืองใดที่ไม่ใช้เงิน แต่ก็เป็นความจริงอีกเช่นกันว่ารัฐบาลชุดนี้และพรรคการเมืองพรรคนี้มีศักยภาพที่จะใช้เงินได้มากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ.
หากเชื่อข้อมูลที่สำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่งว่าไว้ เงินที่พรรคไทยรักไทยจ่ายไปในช่วงเลือกตั้งนั้น มีมูลค่าสูงเทียบเท่าร้อยละ 5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศไทยเลยทีเดียว
การใช้เงินของรัฐบาลชุดนี้น่าสนใจ ไม่ใช่เพราะการใช้เงินจะนำไปสู่การคอรัปชั่นและความชั่วร้าย อันที่จริงการเชื่อมโยงการใช้เงินและการคอรัปชั่นนั้น เป็นวิธีการมองที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทฤษฎีการเมืองเรื่องการซื้อเสียงและถอนทุนมากเกินไป ปัญหาของทฤษฎีนี้คือ มันเป็นการคาดเดาจากแรงจูงใจที่พิสูจน์ได้ไม่ง่าย ซ้ำร้าย ทั้งหมดนี้ยังวางอยู่บนฐานคติที่เห็นรัฐบาลเป็นอิสระจากสังคมมากเกินไป.
การใช้เงินของรัฐบาลชุดนี้มีความสำคัญ ไม่ใช่เพราะการใช้เงินจะนำไปสู่การคอรัปชั่นและความชั่วร้าย แต่เป็นเพราะเงินเป็นปัจจัยทางการเมืองที่สังคมการเมืองไทยแสดงท่าทีรับไม่ได้มาโดยตลอด โดยที่นอกจากจะแสดงท่าทียอมรับการใช้เงินไม่ได้แล้ว สังคมการเมืองไทยยังโน้มเอียงที่จะตั้งข้อสงสัยและไม่ไว้วางใจต่อพ่อค้าวาณิชที่เข้ามีบทบาททางการเมืองโดยตรง
อย่างไรก็ดี ในกรณีรัฐบาลชุดนี้ การใช้เงินเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ขณะที่บทบาททางการเมืองของพ่อค้านายทุนก็ไม่ใช่เรื่องซึ่งพึงปฏิเสธหรือตั้งข้อสงสัยอีกต่อไป.
สำหรับปรากฏการณ์ที่สองซึ่งเกี่ยวข้องกับกองทัพและระบบราชการ จริงอยู่ว่านายกรัฐมนตรีมีสถานะเป็นผู้บังคับบัญชาของกองทัพและระบบราชการ แต่ก็เป็นความจริงอีกเช่นกันว่ากองทัพและระบบราชการไม่ได้สนับสนุนผู้นำพลเรือนหลายต่อหลายรายมากเท่าที่กระทำต่อนายกรัฐมนตรีคนนี้ ถึงขั้นที่การเปลี่ยนแปลง, ปลดออก และแทรกแซงหน่วยราชการสำคัญๆ หลายต่อหลายราย เป็นเรื่องนายกรัฐมนตรีสามารถกระทำได้โดยไม่ได้รับการต่อต้าน, ทักท้วง หรือกระทั่งท้าทาย.
สำหรับปรากฏการณ์ที่สาม ใครที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองโดยถี่ถ้วน คงสังเกตเห็นได้ไม่ยากว่านอกจากรัฐบาลชุดนี้จะได้รับคะแนนเสียงอย่างท้วมท้นจากประชาชนแล้ว ยังได้รับความสนับสนุนจากผู้นำของคนหลายกลุ่มหลายวงการมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ไล่มาตั้งแต่ปัญญาชนสาธารณะ, นักวิชาการ, นายทุนข้ามชาติ, นายทุนชาติ, องค์กรพัฒนาเอกชน, หลวงตา และแม้กระทั่งกลุ่มที่เรียกกันอย่างหลวมๆ โดยปราศจากความหมายที่ชัดเจนว่า "ขบวนการประชาชน".
โดยเทียบเทียบกับสภาพความเป็นจริงของประวัติศาสตร์การเมืองไทยในระยะใกล้ คงไม่เกินเลยไปจากความจริงนัก หากจะสรุปว่ารัฐบาลชุดนี้ที่ได้รับความสนับสนุนจากกลุ่มคนที่กว้างขวางหลากหลายมากกว่ารัฐบาลทุกชุดในยุคหลัง 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา เพียงแต่ในขณะที่บรรยากาศทางการเมืองยุคหลัง 6 ตุลาคม เป็นเรื่องของขวาพิฆาตซ้าย บรรยากาศทางการเมืองในยุคปัจจุบันกลับเป็นเรื่องที่ยังต้องดูกันต่อไป
บทความนี้ มีเป้าหมายจะทำความเข้าใจความหมายของปรากฏการณ์ทางการเมืองทั้ง 3 ประการ โดยอาศัยความคิดทางรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์บางอย่าง เพื่อชี้ให้เห็นว่าท่ามกลางปรากฏการณ์ทางการเมืองที่แปลกประหลาดและน่าอัศจรรย์มากมาย การเมืองไทยกำลังจะเดินหน้าไปสู่ความเป็นอนุรักษ์นิยมอย่างไรบ้าง โดยจะขอเริ่มต้นจากคำถามง่ายๆก่อนว่า การเมืองคืออะไร?.
การเมืองของชนชั้นนำและการเมืองของประชาชน
การเมืองไม่ใช่เรื่องของนักการเมือง เพราะการเมืองที่มีแต่นักการเมืองนั้นเป็นการเมืองที่จำกัดอยู่แต่ในหมู่คนจำนวนน้อย ถ้าถือว่านักการเมืองเป็นชนชั้นนำ การเมืองของนักการเมืองก็คือการเมืองที่มีแต่ชนชั้นนำผูกขาดอำนาจทางการเมืองอย่างเต็มที่ ถ้าถือว่านักการเมืองเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุน การเมืองที่มีแต่นักการเมืองก็คือการเมืองที่ผู้แทนของชนชั้นนายทุน เข้ามาควบคุมและบริหารกลไกรัฐได้อย่างเถรตรงและโดยสมบูรณ์.
หรือหากถือว่านักการเมืองคือนักเลือกตั้ง การเมืองที่มีแต่นักการเมืองก็คือการเมืองที่ปล่อยให้คนจำนวนไม่กี่พันรายผูกขาดอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของสังคม.
งานเขียนแนววารสารศาสตร์การเมืองโจมตีนักการเมืองด้วยเหตุผลที่ตื้นเขินว่าเป็น "ผู้ร้าย" ในขณะที่ข้อเขียนกึ่งวิชาการจำนวนไม่น้อยก็ต่อต้านชนชั้นนำ, ชนชั้นนายทุน และนักเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลที่คลุมเครือและกำกวมไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นก็คือตั้งข้อสงสัยถึงแรงจูงใจในการเข้ามาประกอบกิจกรรมทางการเมืองของคนเหล่านี้
อย่างไรก็ดี การโจมตีนักการเมืองด้วยเหตุผลเรื่องผู้ร้าย เป็นการโจมตีที่ไร้แก่นสารจนยากจะยอมรับได้ ซ้ำร้าย การโจมตีแบบนี้อาจวางอยู่บนทัศนะคติที่เหลวไหลและไม่เข้าใจประชาธิปไตยมากจนเกินไป.
การตั้งคำถามเรื่องแรงจูงใจของชนชั้นนำ, ชนชั้นนายทุน และนักเลือกตั้ง เป็นการตั้งคำถามที่ไร้น้ำยาและปราศจากความหมายไม่น้อยไปกว่าคำโจมตีแบบแรก การเมืองไม่ใช่เรื่องของความจริงใจ และการมองหาความจริงใจในเรื่องทางการเมืองก็ไม่ต่างจากการมองหาจุดปลายของสายรุ้งที่ไม่มีวันพบได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากเข้าใจว่า ธรรมชาติพื้นฐานของการเมืองนั้นเป็นเรื่องของการแย่งชิงตำแหน่งทางอำนาจ คำถามเรื่องแรงจูงใจและความจริงใจของชนชั้นนำและนักการเมือง ก็ดูจะเป็นเรื่องงมงายและไม่มีความจำเป็น.
ในการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยนั้น แนวการมองการเมืองว่าเป็นเรื่องของการต่อสู้ช่วงชิงตำแหน่งทางอำนาจ เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของแนวความคิดที่เรียกอย่างกว้างๆ ว่าประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ.
ประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำคืออะไร?
ประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำเป็นแนวคิดที่มองว่าประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเรื่องของรูปแบบทางสังคม ไม่ได้เป็นเรื่องของเป้าหมายเชิงปทัสถาน และไม่ได้เป็นเรื่องของหลักการนามธรรมบางอย่างที่มีความสูงส่งในเชิงคุณค่าเป็นพิเศษกว่าหลักการอื่นๆ.
ความหมายของประชาธิปไตยนั้นมีเพียงหนึ่งเดียว คือการเป็นเครื่องมือในการเลือกผู้นำทางการเมืองและจัดตั้งคณะรัฐบาล.
ประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำเห็นว่า ถ้ากำไรคือเครื่องยนต์ของระบบเศรษฐกิจ อำนาจก็เป็นเครื่องยนต์ของระบบการเมือง การนำและการแข่งขันแย่งชิงอำนาจการนำจึงเป็นเรื่องธรรมดาในระบบความคิดนี้ ในขณะที่ความคิดเรื่องการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของพลเมืองต่างหากที่เป็นเรื่องเพ้อฝันและเหลวไหล เหมือนๆ กับความคิดเรื่องการลดช่องว่างระหว่างผู้นำกับผู้ถูกปกครอง ซึ่งถึงอย่างไรก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะในสังคมไหนก็ตาม.
ประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำไม่เชื่อว่าประชาชนเป็นฝ่ายที่กำหนดประเด็นทางการเมือง ไม่เชื่อว่าประชาชนคือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจอย่างแท้จริงในเรื่องต่างๆ ในทางตรงกันข้าม ผู้นำทางการเมืองต่างหากที่เป็นคนทำหน้าที่นี้ แล้วกำหนดโครงสร้างของความคิดเห็นสาธารณะและประชามติออกมา ผู้นำทางการเมืองเป็นฝ่ายสร้างอุปสงค์ ขณะที่ผู้คนในระบบการเมืองเป็นแค่ลูกค้าซึ่งมีหน้าที่พิจารณาว่าจะเลือกสินค้าทางการเมืองชิ้นใด เฉพาะเท่าที่ผ่านการคัดสรรของผู้นำทางการเมืองมาเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
การเน้นความสำคัญของการนำและผู้นำ เป็นคนละเรื่องกับการให้ผู้นำมีอำนาจทำอะไรได้ตามอำเภอใจ และเส้นแบ่งของประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ กับระบบเผด็จการ ก็อยู่ที่การประกันสิทธิขั้นพื้นฐานบางอย่าง การแข่งขันเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม การยอมรับการท้าทายทางอำนาจที่ปราศจากความรุนแรงหรือล้มล้างสถาบัน การรู้จักประนีประนอมในหมู่ชนชั้นนำ และการอนุญาตให้พลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการต่างๆ ในระดับที่ไม่มากเกินไป
ประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำเป็นคนละเรื่องกับเผด็จการ เพราะผู้สนับสนุนประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำหลายรายใช้แนวคิดนี้เพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการที่เข้ามาทำลายประสิทธิภาพของการตัดสินใจทางการเมือง
ประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการมีพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการมีการเลือกตั้งที่สม่ำเสมอ เพื่อเป็นหลักประกันว่าความเปลี่ยนแปลงจะเป็นอย่างต่อเนื่องและไม่รุนแรง ประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำอธิบายการเมืองโดยเน้นไปที่พรรคการเมือง, ผู้นำการเมือง และการเลือกตั้ง กิจกรรมทางการเมืองในความหมายของทฤษฎีชนชั้นนำจึงมีศูนย์กลางอยู่ที่กลุ่มคนเหล่านี้
การเน้นความสำคัญของชนชั้นนำทำให้ทฤษฎีการเมืองนี้ไม่มีเสน่ห์สำหรับคนส่วนใหญ่ และแม้ว่าชนชั้นนำกับนักการเมืองจะเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อระบบประชาธิปไตย การเมืองก็ไม่ใช่และไม่ได้เป็นเรื่องของนักการเมืองและนักเลือกตั้งล้วนๆ อยู่ดี ไม่ใช่เพราะคนเหล่านี้เลว, ไม่จริงใจ, เชื่อถือไม่ได้, กระหายอำนาจ ฯลฯ แต่เป็นเพราะการมองการเมืองมีข้อจำกัดในแง่ที่ใกล้เคียงเหลือเกินกับการละเมิดหลักการสำคัญของระบบประชาธิปไตย นั่นคือหลักการเรื่อง "ความเป็นพลเมือง"
"ความเป็นพลเมือง" คืออะไร?
ในทรรศนะของนักคิดทางการเมืองคนสำคัญอย่าง Hannah Arendt ความเป็นพลเมืองคือวิถีทางที่ประชาชนสัมพันธ์กับอำนาจ, กฎหมาย, รัฐบาล และรวมทั้งการร่วมมือซึ่งกันและกันในหมู่พลเมืองด้วยกันเองในชีวิตประจำวัน สำหรับ Arendt แล้ว ชีวิตสาธารณะจึงมีสารัตถะอยู่ที่ความเป็นพลเมือง.
ถ้าถือว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของรูปแบบทางการปกครอง (form of government) ความเป็นพลเมืองก็หมายถึงการเป็นสมาชิกของชุมชนการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยนั้นๆ พลเมืองเป็นสมาชิกของชุมชนการเมืองด้วยความสมัครใจ และการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยก็คือการเมืองที่วางอยู่บนความสัมพันธ์ในหมู่พลเมืองที่เป็นอิสระและมีสถานะเท่าเทียมซึ่งกันและกัน
ความเป็นพลเมืองสัมพันธ์กับการเป็นสมาชิกของรัฐชาติ และในขณะที่รัฐชาติมีหน้าที่เหนือดินแดนที่จะจัดการกิจการภายนอกและภายใน การปกครองแบบประชาธิปไตยก็กำหนดให้พลเมืองของรัฐชาติมีอำนาจที่จะควบคุมการตัดสินใจทางการเมืองในสังคมการเมืองนั้นๆ รวมทั้งมีสิทธิและพันธะต่อสังคมการเมืองบางประการ
ความเป็นพลเมืองมีความสำคัญกับความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เพราะประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมวางอยู่บนความเชื่อในเรื่องความเท่าเทียมและอำนาจของพลเมืองที่จะควบคุมสังคมการเมืองเหมือนๆ กัน
สำหรับแนวคิดนี้ ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเรื่องของการเลือกตั้งและการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานบางอย่าง แต่คือการมีประชาธิปไตยในระดับสถาบันสาธารณะ และการไม่แทรกแซงอาณาบริเวณส่วนบุคคล
ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมแตกต่างจากประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ เพราะขณะที่ประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำเน้นไปที่การนำและการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมกลับเน้นความสำคัญของการกำหนดชีวิตตัวเอง (self-determination) , การมีส่วนร่วม, ความเท่าเทียมทางการเมือง , การสร้างเจตจำนงทางการเมืองระหว่างคู่แข่งขันกลุ่มต่างๆ และการทำให้ความคิดเห็นสาธารณะมีอิสระในการกำหนดนโยบาย รวมทั้งยืนยันว่า ถ้าไม่มีพื้นที่ให้พลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกิจกรรมสาธารณะ และถ้าปราศจากการลดช่องว่างระหว่างประชาชนและผู้ปกครอง สังคมนั้นๆ ก็จะมีประชาธิปไตยเพียงแต่ในนาม
ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมดูมีเสน่ห์ อย่างน้อยก็สำหรับกับคนที่เห็นว่า "ประชาธิปไตยที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ มันเป็นเวทีต่อรองสำหรับคนที่มีกำลัง หรือคนที่ได้เปรียบในสังคมอยู่แล้วเท่านั้น ไม่ได้เป็นเวทีต่อรองของคนอื่นๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนที่เสียเปรียบ เป็นคนด้อยโอกาสในสังคมนี้ และยังเป็นคนส่วนใหญ่ของแผ่นดิน โดยที่แทบไม่มีโอกาสอะไรเลยที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง"
แต่ความคิดเรื่องความเป็นพลเมืองมีปัญหาฉันใด ความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมก็มีปัญหาเดียวกันฉันนั้น แนวความคิดทั้งสองแนว วางอยู่การมองสังคมการเมืองว่าเป็นเรื่องที่สมาชิกทุกกลุ่มทุกฝ่ายทุกอาชีพมีความคิดความอ่านความปรารถนาและความต้องการเฉกเช่นเดียวกัน หรือถึงจะมีความแตกต่างกันทางโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่บ้าง ก็ไม่ได้เป็นความแตกต่างที่ขัดแย้งรุนแรงมากนัก.
และด้วยเหตุที่ทุกฝ่ายเป็นพลเมืองเหมือนๆ กัน จึงเป็นไปได้ที่จะสร้างกติกาหรือข้อตกลงกลางบางอย่างที่ดีสำหรับทุกฝ่ายขึ้นมา.
ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมมองการเมืองแยกออกจากเศรษฐกิจ, สังคม, อุดมการณ์, วัฒนธรรม และปัจจัยอื่นๆ และไม่ตระหนักว่าความไม่เท่าเทียมหรือช่องว่างทางอำนาจที่เกิดขึ้นในปริมณฑลอื่นๆ นั้น เป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมขึ้นมาได้ นอกจากนั้น แนวความคิดนี้ยังมองความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองว่าเป็นเรื่องของความเท่าเทียม ทั้งที่การเมืองในระบบเสรีประชาธิปไตยเป็นเรื่องของพลเมืองที่ถูกทำให้เหมือนกัน (homogeneity) ไม่ใช่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองที่เท่าเทียมกัน (equality)
ถ้าเสน่ห์ของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอยู่ที่การพูดถึงประชาชนและการมีส่วนร่วมของพลเมืองทุกฝ่าย การตั้งคำถามทางทฤษฎีก็ทำให้เห็นว่าแนวความคิดนี้มีลักษณะตื้นเขินและไร้แก่นสาร ถ้าประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำทำให้ประชาธิปไตยเป็นพิธีกรรมทางการเมืองของคนจำนวนน้อย ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมก็คือการทำให้พลเมืองเป็นคำขวัญทางการเมืองสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ หรือทำให้พลเมืองและประชาชนเป็นสิ่งที่ปราศจากเนื้อหาในทางสังคม
การเมืองและความสัมพันธ์ทางอำนาจ
ถ้าการเมืองไม่ใช่เรื่องของชนชั้นนำที่ชั่วร้ายและไม่จริงใจ และการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องของพลเมืองที่เท่าเทียมไปทุกหย่อมหญ้า คำถามคือแล้วเราจะมองการเมืองและความสัมพันธ์ทางการเมืองว่าอย่างไรดี?
ถ้าการมองการเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นนำล้วนๆ ไม่ตระหนักถึงแหล่งอำนาจอันหลากหลายในสังคม ในขณะที่แนวการมองการเมืองเป็นเรื่องของพลเมือง ก็มองไม่เห็นความแตกต่างอย่างไพศาลระหว่างคนกลุ่มต่างๆ คำถามคือแล้วเราจะถมช่องว่างของความเข้าใจทางการเมืองนี้ด้วยวิธีคิดแบบไหนดี?
การเมืองไม่ใช่เรื่องของชนชั้นนำ และการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องของพลเมือง แต่การเมืองคือเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ ในขณะที่ความเป็นการเมืองก็เป็นเรื่องของสัมพันธภาพทางอำนาจที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างพลังทางเศรษฐกิจการเมือง, อุดมการณ์ และชนชั้นต่างๆ ความสัมพันธ์นี้ไม่คงที่และแปรเปลี่ยนไปได้ตามสภาพแวดล้อม, บรรยากาศ และดุลกำลังทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป
ถึงการเมืองจะเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีลักษณะเผชิญหน้าและแตกหักไปตลอดเวลา ในทางตรงกันข้าม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการประนีประนอมและจัดโครงสร้างใหม่ก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ซ้ำยังต้องใช้เวลาพอสมควร ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าการเมืองเป็นเรื่องของการจัดความสัมพันธ์โดยมีเป้าหมายเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งอำนาจและผลประโยชน์บางอย่าง ก็เป็นไปได้มากว่าที่ตัวการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น จะมีผลในการปกป้อง, สืบทอด และขยายอำนาจและผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มไว้ต่อไป.
พูดอีกแง่หนึ่งแล้ว การเมืองจึงหมายถึงความสัมพันธ์ที่เป็นเรื่องของการเผชิญหน้าและการประนีประนอมอันเป็นนิรันดร์ หรืออย่างที่นักทฤษฎีว่าด้วยรัฐคนสำคัญคนหนึ่งว่าไว้ การเมืองเป็นเรื่องของการจัดพันธมิตรทางชนชั้นและกลุ่มย่อยต่างๆ ในชนชั้น ตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละ ช่วงเวลา
ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพลังทางเศรษฐกิจการเมือง, อุดมการณ์ และชนชั้นต่างๆ เป็นแผนผังทางอำนาจสูงสุดที่กำหนคดวามสัมพันธ์ระหว่างคนส่วนต่างๆ ในสังคม ความสัมพันธ์นี้เป็นเรื่องที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับไหน เป็นข้อตกลงที่ไม่ได้กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ และเพราะไม่สามารถมองเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรได้นี่เอง ทำให้ความสัมพันธ์นี้ดำรงอยู่อย่างเหนือวิสัยที่ใครจะเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ เพราะมันเป็นข้อตกลงที่อยู่นอกเหนือการเมืองแบบเป็นทางการ ระหว่างรัฐ-สังคมการเมือง จึงไม่สามารถจะทำการตรวจสอบและแก้ไขได้ด้วยกลไกของระบบประชาธิปไตยทั่วไป
คำถามคือแล้วจะแก้ "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" อย่างไร?
การศึกษาเรื่องเมืองไทยนั้นแทบไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ อย่างน้อยก็ไม่ได้กล่าวถึงในระดับที่เปิดเผย, ตรงไปตรงมา และชัดเจนมากเท่ากับความสำคัญที่เรื่องนี้มีต่อสังคมการเมืองไทย
งานบุกเบิกชิ้นสำคัญที่พูดถึงเรื่องนี้ได้แก่บทความของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" แต่ก็มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้การศึกษาสถาบันต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของ "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" ไม่อาจก้าวไปข้างหน้าได้มากนัก และเพราะเหตุนั้น "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" จึงยังคงรักษาสถานะของการเป็นงานชิ้นบุกเบิกเอาไว้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ.
ไม่ว่าปัจจัยเหล่านี้จะประกอบด้วยอะไร และไม่ว่าปัจจัยเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้นมาบนเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แบบไหน ผลที่เกิดขึ้นก็คือการไม่สามารถกล่าวถึงสถาบันที่มีความสำคัญต่อการเมืองไทยได้อย่างเสรี
"รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" เสนอว่า บางส่วนของสถาบันที่มีส่วนกำหนดความสัมพันธ์ที่เป็นจริงอย่างจริงๆ ของสังคมการเมืองไทยนั้น ได้แก่ สถาบันพระมหากษัตริย์, ศาสนา, กองทัพ, ส.ส. และกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ชี้ให้เห็นมากนักว่า แต่ละสถาบันมีความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนและขัดแย้งกันหรือไม่ และอย่างไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันที่กล่าวมานี้ ฯลฯ
อันที่จริงพลังที่มีอิทธิพลกำหนดสังคมการเมืองไทยอย่างนี้คงมีมากกว่านี้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นพลังในแง่ที่เป็นชนชั้นนำตามสถานภาพ ดังที่ "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" ได้เสนอเอาไว้ หรือพลังในแง่ที่เป็นชนชั้นทางเศรษฐกิจตามนัยของความสัมพันธ์ทางการผลิต ซึ่งผู้เขียน "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" ไม่ได้พูดถึงเลยก็ตาม.
ถ้าถือว่าธรรมชาติของการเมืองนั้นเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ ก็ชวนให้คิดต่อไปว่าคนแต่ละกลุ่มแต่ละพวกแต่ละสถาบัน คงจะมีความต้องการอำนาจและและผลประโยชน์ที่ไม่ได้สอดคล้องและเป็นเอกภาพต่อกันและกันมากนัก ความแตกต่างนี้เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งได้ในบางครั้ง แต่ความขัดแย้งนั้นก็อาจจะประสานและประนีประนอมกันได้ในบางกรณี.
การเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้ง และการเมืองก็เป็นเรื่องของการประนีประนอม ผลจากความขัดแย้งและการประนีประนอมระหว่างคนกลุ่มหลักๆ ในสังคม, การเลือกว่าจะเป็นมิตรกับคนกลุ่มไหน, เป็นศัตรูกับคนกลุ่มใด และจะจัดความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างไร หรือที่เรียกว่าการจัด "พันธมิตรทางประวัติศาสตร์" นั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดในการกำหนดทิศทางของสังคมการเมืองในแต่ละห้วงเวลา.
การเมืองใหม่ในสภาพแวดล้อมใหม่
ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจที่สุดที่รัฐบาลชุดนี้(รัฐบาลที่มีพรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำ)ได้ทำลงไป ก็คือการป่าวประกาศให้เห็นอย่างเปิดเผยว่าองค์ประกอบของคณะรัฐบาลมีที่มาจากคนกลุ่มซึ่งร่ำรวยที่สุดในสังคมไทย.
รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเกือบทุกรายล้วนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพลังทางภาคธุรกิจ ไม่ในฐานะเจ้าของทุนเจ้าของกิจการ ก็ในฐานะที่เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นทุนการเกษตร, ทุนสื่อสาร, ทุนอุตสาหกรรม, ทุนพลังงาน, ทุนการเงิน, ทุนพาณิชย์ , ทุนท้องถิ่น ฯลฯ
ถ้ามองรัฐด้วยวิธีคิดแบบลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค องค์ประกอบของรัฐบาลชุดนี้ก็ดูจะสอดคล้องกับสิ่งที่มาร์กซ์กล่าวไว้ใน Communist Manifesto ว่า "รัฐสมัยใหม่คือคณะกรรมการเพื่อจัดการกิจการต่างๆ ของชนชั้นกระฎุมพี" หรือถ้ามองรัฐด้วยวิธีคิดแบบหน้าที่นิยม ก็ชวนให้ตั้งคำถามต่อไปได้อีกกันว่าพ่อค้านายทุนกำลังจะใช้รัฐบาลชุดนี้เป็นเครื่องมือในการครอบงำสังคมเพื่อปกป้องและแสวงหาผลประโยชน์ของตน
อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์รัฐแบบหยาบๆ อย่างนี้เป็นเรื่องเหลวไหล เพราะทำราวกับว่านายทุนหรือกระฎุมพีมีผลประโยชน์ที่เป็นเอกภาพ และที่แย่ไปกว่านั้นคือตอบสิ่งที่เกิดในตอนนี้ไม่ได้ว่าทำไมคนจนและปัญญาชนสาธารณะฝ่าย "ประชาชน" หลายต่อหลายราย จึงออกไปเลือกตั้งและให้ความสนับสนุนรัฐบาลอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของ "คณะกรรมการของกระฎุมพี"
นักทฤษฎีว่าด้วยรัฐคนสำคัญเคยกล่าวว่า "รัฐทุนนิยมรับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนได้ดีที่สุด ก็ต่อเมื่อสมาชิกของชนชั้นนี้ไม่เข้าไปอยู่ในกลไกรัฐ" ในขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ดูจะแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง. ในสถานการณ์ปกติ พันธมิตรทางประวัติศาสตร์อย่างนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ หรือไม่ก็ไม่มีทางทำได้โดยได้รับฉันทานุมัติและแรงสนับสนุนจากสังคมในระดับที่เข้มแข็งมากขนาดนี้.
ตัวอย่างของรัฐบาลชาติชายในปี 2531-2534, รัฐบาลบรรหารในปี 2538-2539 และรัฐบาลชวลิตในปี 2535-2540 ยืนยันถึงความข้อนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะหลังจากมีอำนาจได้ไม่นาน ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนแต่ละฝ่ายก็ปรากฏออกมาให้เห็นเด่นชัด จนมีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำลายความน่าเชื่อถือและพลังทางการเมืองของรัฐบาลชุดต่างๆ ลง ทั้งนี้ ไม่ต้องพูดถึงความเกลียดชังที่ประชาชนมีต่อรัฐมนตรีหลายต่อหลายรายในรัฐบาลเหล่านี้ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าคนเหล่านี้เป็นพ่อค้านายทุน.
แม้กระทั่งรัฐบาลชุดที่แล้วซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2540-2543 โดยมีผู้นำรัฐบาลที่แสดงความเป็นลูกชาวบ้านออกมาอย่างเต็มที่ ท้ายที่สุดก็ถูกโจมตีด้วยวิธีคิดเรื่อง "อุ้มคนรวย" อีกเหมือนกัน.
รัฐบาลทักษิณก้าวขึ้นมามีอำนาจท่ามกลางสถานการณ์พิเศษ และวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 ก็ทำให้เกิดสถานการณ์พิเศษที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลทักษิณในปัจจุบันโดยไม่อาจปฏิเสธได้.
ไม่ว่าจะมองว่าเหตุการณ์ในปี 2540 เป็นวิกฤติจริงหรือไม่ ไม่ว่าจะอธิบายว่าวิกฤติมีสาเหตุมาจากอะไร พลังของความคิดเรื่องวิกฤติก็เป็นเหตุให้รัฐบาลพลเรือนล้มลงไปแล้วถึง 2 ราย และทำลายความน่าเชื่อถือของผู้นำทางการเมือง-เทคโนแครตทางการเงิน คนสำคัญๆ ลงไปไม่น้อยกว่า 10 คน.
มีใครจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้บริหารธนาคารชาติในช่วงนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ได้บ้าง มีใครรู้บ้างว่านักเศรษฐศาสตร์และเทคโนแครตการเงินเหล่านั้นหายไปไหนในสถานการณ์ปัจจุบัน.
ถ้าถือว่าวิกฤติอยู่ที่ปัญหาค่าเงิน การลดลงอย่างรุนแรงของค่าเงินก็ทำให้กลุ่มทุนใหญ่ๆ จำนวนหนึ่งเผชิญปัญหาถึงขั้นหายนะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ถ้าถือว่าความผันผวนของค่าเงินมีรากฐานมาจากความอ่อนแอของการส่งออก การเกิดวิกฤติค่าเงินก็ยิ่งทำให้กลุ่มทุนส่งออกหลายต่อหลายรายประสบปัญหายุ่งยากวุ่นวายมากขึ้นไปอีก.
ทุนธนาคารขาดทุนจากการลดค่าเงิน ถึงขั้นที่ว่ากันว่าหนึ่งในธนาคารพาณิชย์ที่เก่าแก่ที่สุดนั้นแทบจะล้มละลายไปแล้วด้วยซ้ำในแง่หนี้สิน, ทุนการเงินขาดทุนจากตลาดหุ้น, ทุนอุตสาหกรรมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน, ทุนเกษตรเผชิญปัญหาสินค้าราคาตกต่ำ, ทุนพาณิชย์เผชิญปัญหาสภาพคล่อง ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวและการสะสมทุนอันเป็นกิจกรรมขั้นพื้นฐานที่สุดของระบบทุนนิยม.
จะมีข้อยกเว้นบ้างก็แต่ทุนสื่อสารที่มีลักษณะกึ่งผูกขาด, ทุนท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจนอกระบบ รวมทั้งทุนการเกษตรบางส่วนซึ่งมีฐานอยู่ที่ตลาดภายใน ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นมากนัก หรืออย่างน้อยก็ไม่มากเท่ากับที่กลุ่มทุนอื่นๆ เผชิญ.
รัฐบาลทักษิณประสบความสำเร็จ ในการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทุนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ เพื่อสร้างพันธมิตรทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่สุดในสังคมไทยในช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา
ในทางเศรษฐกิจนั้น คนกลุ่มนั้นเป็นคนกลุ่มที่มั่งคั่งที่สุดในสังคมไทยอย่างไม่มีปัญหา แต่ในทางการเมือง มีปัญหาอีกเช่นกันว่า แล้วจะทำอย่างไรให้พันธมิตรทางการเมืองนี้ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนและพลเมืองกลุ่มต่างๆ ดี.
ถึงจุดนี้เองที่อุดมการณ์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอุดมการณ์ที่กลับมามีความสำคัญอีกครั้ง หลังจากปี 2540 เป็นต้นมา นั่นก็คืออุดมการณ์ชาตินิยม.
ถ้าถือว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นการผนึกตัวเพื่อสร้างพันธมิตรทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่สุดหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การผนึกตัวครั้งนี้มาพร้อมๆ กับการฟื้นชีพและปรับเปลี่ยนรูปร่างของอุดมการณ์ชาตินิยม เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับเหตุการณ์ปี 2519 ในอดีต เพียงแต่ขณะที่ชาตินิยมในปี 2519 จำกัดคำอธิบายไว้ที่ความมั่นคงด้านทหารและความมั่นคงของสถาบัน ชาตินิยมใน พ.ศ.นี้ กลับให้ความสำคัญอย่างมากต่อการอธิบายและเสนอทางออกของระบบเศรษฐกิจไทย.
แต่ที่เหมือนๆ กันก็คือการทำให้ชาตินิยมโดยรัฐกลายเป็นชาตินิยมของประชาชน.
คลิกไปอ่านหน้าต่อไปของบทความนี้
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com