ภาพประกอบโดยเทคนิคผสม ดัดแปลงโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน / ผลงานภาพถ่ายต้นฉบับของ Simen Johan และผลงานประติมากรรมของ Elizabeth King / จากหนังสือ Art in America : October 2000
บทความทางด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เผยแพร่บน website แห่งนี้วันที่ 5 พย.44
H
home
His
Mid'shistory
051144
Release Date

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการวารสารวิถีทรรศน์ ชุดโลกาภิวัตน์ โครงการปริญญาโท สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน"4 ปี รัฐธรรมนูญกับการเมืองภาคประชาชน" กรุงเทพ คณะอนุกรรมการเฉลิมฉลองอนุสรณ์สถานวีรชนประชาธิปไตย 2544 / หน้า 37-80

CP
MP
WB
contents P.
member P.
webboard
หากประสบปัญหา ภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมา จะแก้ปัญหาได้
ต้นฉบับของบทความนี้ ยาวประมาณ 30 หน้ากระดาษ A4
ขนาดตัวอักษร 14 p.

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)


P1
go back

ประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำเห็นว่า ถ้ากำไรคือเครื่องยนต์ของระบบเศรษฐกิจ อำนาจก็เป็นเครื่องยนต์ของระบบการเมือง การนำและการแข่งขันแย่งชิงอำนาจการนำ จึงเป็นเรื่องธรรมดาในระบบความคิดนี้ ในขณะที่ความคิดเรื่องการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของพลเมืองต่างหาก ที่เป็นเรื่องเพ้อฝันและเหลวไหล เหมือนๆ กับความคิดเรื่องการลดช่องว่างระหว่างผู้นำกับผู้ถูกปกครอง ซึ่งถึงอย่างไรก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้

ไม่ว่าจะในสังคมไหนก็ตาม. ประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำไม่เชื่อว่า ประชาชนเป็นฝ่ายที่กำหนดประเด็นทางการเมือง ไม่เชื่อว่าประชาชนคือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจอย่างแท้จริงในเรื่องต่างๆ ในทางตรงกันข้าม ผู้นำทางการเมืองต่างหากที่เป็นคนทำหน้าที่นี้ แล้วกำหนดโครงสร้างของความคิดเห็นสาธารณะ และประชามติออกมา ผู้นำทางการเมืองเป็นฝ่ายสร้างอุปสงค์ ขณะที่ผู้คนในระบบการเมืองเป็นแค่ลูกค้า ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาว่าจะเลือกสินค้าทางการเมือง

ชาตินิยมของ "ประชาชน"

ชาตินิยมสัมพันธ์กับความคิดเรื่องชาติ แต่ชาตินิยมก็แตกต่างจากชาติในหลายสถาน.

ชาติเป็นมโนทัศน์ทางสังคมเพื่ออธิบายประวัติการรวมกลุ่มของมนุษย์ ชาติจึงเป็นเรื่องที่คลุมเครือและโต้เถียงได้มากว่ามีอยู่จริงหรือไม่ กำเนิดของชาตินั้นเริ่มต้นที่ไหน จิตวิญญาณของชาติมีจริงหรือเปล่า ลักษณะประจำชาติคืออะไร ใครเป็นผู้สร้างขึ้นมา อะไรคือวัฒนธรรมแห่งชาติ ฯลฯ ในขณะที่ชาตินิยมเป็นขบวนการทางการเมืองที่มุ่งสร้างความเป็นหนึ่งเดียว โดยอาศัยความคิดเรื่องดินแดนและสายสัมพันธ์จากอดีตอันไกลโพ้นบางอย่างมาเป็นเครื่องมือ.

ถึงชาติจะเป็นเรื่องคลุมเครือ แต่ชาตินิยมก็เป็นขบวนการทางการเมืองที่ทรงพลัง ชาตินิยมทำลายความแตกต่างของผู้คนด้วยเหตุจากศาสนา, ประเพณี, สายเลือด, ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ฯลฯ แล้วกวาดเอาคนหลายล้านคนเข้ามาอยู่ในหน่วยการคิดชนิดเดียวกัน.

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาตินิยมเป็นพลังให้ชนชั้นนำพื้นเมืองลุกขึ้นต่อต้านประเทศจักรวรรดินิยมและเจ้าอาณานิคม ชาตินิยมในช่วงนี้จึงสัมพันธ์กับการสร้างอำนาจอธิปไตย, ประชาธิปไตย และการยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานบางอย่างของผู้คนในท้องถิ่น แต่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษเดียวกันมาจนถึงกลางคริสตศตวรรษที่ 20 ชาตินิยมก็กลายเป็นเครื่องมือที่ชนชั้นนำในหลายประเทศใช้เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงทางอำนาจ อย่างที่เรียกว่า "ชาตินิยมโดยรัฐ" ก่อนที่จะเลยเถิดไปเป็นลัทธิฟัสซิสต์, เผด็จการขวาจัด และการคลั่งเชื้อชาติในหลายต่อหลายกรณี.

มองในแง่นี้แล้ว 6 ตุลาในกรณีของไทย , การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเขมรแดง และ Holocaust ในสมัยนาซี-ฮิตเลอร์ ก็น่าจะวางอยู่บน mentality บางอย่างที่คล้ายคลึงกัน.

ประวัติศาสตร์ของขบวนการชาตินิยมเป็นเรื่องของขบวนการทางการเมืองที่เป็นแบบไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นซ้าย, ขวา, อนุรักษ์นิยม, เสรีนิยม ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม และดุลกำลังทางเศรษฐกิจการเมืองของแต่ละประเทศในแต่ละห้วงเวลา.

คำถามคือแล้วชาตินิยมไทยเป็นแบบไหน

เท่าที่ผ่านมา ความเข้าใจเรื่องชาตินิยมไทยนั้นผูกติดกับแนวการมองว่าชาตินิยมเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐ หรือที่มักเรียกกันอย่างสั้นๆ ว่า "ชาตินิยมโดยรัฐ".

การมองชาตินิยมด้วยสายตาแบบนี้จะถูกต้องหรือไม่ก็คงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไปได้อีกมาก อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นแน่ๆ จากการมองแบบนี้ก็คือเป็นการมองที่เน้นไปที่กำเนิดของชาตินิยมมากเกินไป จนทำให้เห็นชาตินิยมแต่ในแง่ที่รัฐสร้างขึ้น โดยไม่ตระหนักว่าชาตินิยมเองก็มีการผลิตซ้ำ, ปรับเปลี่ยน, ถูกต่อต้าน, ท้าทาย, ปฏิเสธ และได้รับการตัดต่อแปรรูป จนกลายเป็นชาตินิยมของประชาชน.

ชาตินิยมของประชาชนคืออะไร?

คำถามนี้ตอบได้ไม่ง่าย ซ้ำยังต้องการเวลาในการพินิจพิเคราะห์อีกมากพอสมควร อย่างไรก็ดี เพื่อประโยชน์ในการกล่าวถึงเรื่องนี้ต่อไปตามประเด็นเรื่องนี้ ก็ขอเสนอความเห็นเรื่องชาตินิยมของประชาชนเอาไว้ 4 ประการ คือ

1.ในขณะที่ชาตินิยมโดยรัฐเป็นชาตินิยมที่รัฐสมัยใหม่ให้กำเนิดขึ้นเพื่อเป้าหมายบางอย่างของรัฐเอง ชาตินิยมโดยประชาชนกลับเป็นสิ่งที่ปัญญาชนภาคนอกรัฐเป็นผู้สร้างและตัดต่อให้กลายพันธุ์ไปจากเดิม

2..โครงเรื่องหลักของชาตินิยมโดยรัฐรวมศูนย์อยู่ที่บทบาทของกษัตริย์และผู้นำในการกอบกู้ชาติจากภัยด้านความมั่นคงและการทหาร ขณะที่โครงเรื่องหลักของชาตินิยมโดยประชาชนพูดถึงบทบาทของประชาชนที่จะเข้าไปมี "ส่วนร่วม" ในการกอบกู้ชาติจากวิกฤติการณ์ด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม.

3.ฐานของชาตินิยมโดยรัฐอยู่ที่การศึกษาและกระบวนการสังคมประกิต (socialization) ที่รัฐจัดการผ่านตัวกลางสมัยใหม่ต่างๆ ขณะที่ฐานของชาตินิยมโดยประชาชนนั้น คือ ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง, ฝ่ายประชาชน, ปัญญาชนสาธารณะ และอารมณ์ความรู้สึกแบบ "ป๊อปปูลิสม์" หรือ ประชานิยม.

4. ไม่ว่าการแปรสภาพชาตินิยมโดยรัฐให้เป็นของประชาชน จะเกิดจากความต้องการต่อต้านชาตินิยมโดยรัฐหรือไม่ แต่ปัจจัยทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหลายประการก็ทำให้ชาตินิยมแนวนี้กลายเป็นส่วนขยายของชาตินิยมโดยรัฐไปอย่างสมบูรณ์. หรือพูดง่ายๆ ก็คือชาตินิยมฉบับนี้ทำให้ประชาชนเข้าไปเป็นหางเครื่องของรัฐไทยได้อย่างมีสติและเต็มภาคภูมิ.

ชาตินิยมโดยประชาชน สัมพันธ์กับการจัดพันธมิตรทางประวัติศาสตร์อย่างไร ?

ปัญหานี้ใหญ่เกินกว่าที่จะตอบอย่างสมบูรณ์ในที่นี้ได้ แต่ก็ขอทดลองตอบ โดยย้อนกลับไปพิจารณาสภาพทางเศรษฐกิจการเมืองไทยในปัจจุบันอีกครั้ง

ถ้าถือว่ารัฐบาลทักษิณเป็นการผนึกตัวทางประวัติศาสตร์ของคนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาอยู่รวมกันภายใต้การนำของคณะรัฐบาลที่มีภูมิหลังมาจากพ่อค้าและนักธุรกิจระดับสูงสุดในสังคมไทย ปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดก็คือ รัฐบาลที่ผิดไปจากจารีตทางการเมืองของไทยชุดนี้ กลับได้รับแรงสนับสนุนจากชนชั้นสูง, ศาสนจักร, สถาบันการปกครองตามประเพณี, ทหาร, ข้าราชการ, ปัญญาชนสาธารณะ, คนชั้นล่าง, ขบวนการประชาชน ฯลฯ อย่างไม่เคยมีมาก่อน.

คนชั้นสูงในแวดวงของชนชั้นนำทางอำนาจสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวไปแล้ว แต่คำถามคือทำไมคนชั้นล่างและพลังภาคนอกรัฐนอกแวดวงคนชั้นนำ จึงมีท่าทีต่อรัฐบาลนี้ในลักษณะเดียวกัน.

มีคำอธิบายว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลป๊อปปูลิสม์ และถ้าถือว่าการเมืองแบบป๊อปปูลิสม์คือการเมืองที่สร้าง "เสน่ห์" จากอารมณ์, สไตล์ และความต้องการขั้นพื้นฐานของสังคม รัฐบาลที่เป็นป๊อปปูลิสม์ก็หมายถึงรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จในการสำรวจความต้องการของผู้คนจำนวนมาก แล้วประมวลมันเข้ามาเป็นนโยบายบางอย่างเพื่อดึงดูดใจสาธารณชน

ตามนิยามแบบนี้ พฤติกรรมของรัฐบาลชุดนี้ก็เป็นป๊อปปูลิสม์อย่างไม่มีปัญหา.

ฐานของรัฐบาลแบบป๊อปปูลิสม์อยู่ที่ประชาชนคนธรรมดา และวิธีการสัมพันธ์กับประชาชนคนธรรมดาของรัฐบาลแบบนี้ ก็คือการสร้าง "ความเหมือน" บางอย่างในหมู่ประชาชนขึ้นมา ธรรมชาติของประชาชนในระดับเอกบุคคลนั้นเต็มไปด้วยความแยกแย้งและหลากหลาย ไม่ว่าจะโดยอาศัยความรู้สึกเรื่องสีผิว, ขาติพันธุ์, เชื้อชาติ, ชนชั้น, ความยากจน หรือศาสนา แต่ภายใต้คำอธิบายแบบนี้ ประชาชนก็กลายเป็นมีเอกภาพขึ้นมา.

เชื่อกันว่าป๊อปปูลิสม์ต้องต่อต้านระบบ แต่คงจะถูกต้องกว่าหากจะพูดว่า ผู้นำของขบวนการป๊อปปูลิสม์ต้องดูเหมือนกำลังต่อต้านระบบที่เป็นอยู่ในขณะนั้น การต่อต้านนั้นไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความก้าวหน้า เพราะในหลายสังคม ป๊อปปูลิสม์นำไปสู่ปฏิกริยา

ในนิยามอย่างกว้างๆ แบบนี้ รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลป๊อปปูลิสม์อย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ในขณะที่ป๊อปปูลิสม์ร่วมสมัยในละตินอเมริกามีลักษณะ "กึ่งชนชั้น" ซึ่งสร้างขึ้นมาจากปัญหาความยากจน และอะไรต่อมิอะไรอย่างที่เรียกว่า "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่" ความเป็นป๊อปปูลิสม์ของรัฐบาลชุดนี้กลับเปี่ยมล้นไปด้วยลักษณะตีขลุมเหมารวม, ปราศจากความเป็นชนชั้น, เป็นขบวนการจากบนลงล่าง และสร้างขึ้นจากความรู้สึกแบบชาตินิยม.

พูดสั้นๆ แล้ว ชาตินิยมโดยประชาชนนั่นเองที่ทำให้เกิดความรู้สึกแบบป๊อปปูลิสม์นี้ขึ้นมา หรือจะพูดอีกอย่างก็ได้ว่า ชาตินิยมโดยประชาชนคือพลังที่ทำให้รัฐบาลชุดนี้ได้เสียงสนับสนุนจากคนกลุ่มต่างๆ มากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน.

ชาตินิยมโดยประชาชน สัมพันธ์กับการจัดพันธมิตรทางประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ของชนชั้นนำไทย แต่ตัวชาตินิยมโดยประชาชนเองก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในทางตรงกันข้าม ชาตินิยมโดยประชาชนเป็นวิธีคิดที่ถูกสร้าง, เผยแพร่, ผลิตซ้ำ, ตอกย้ำ และอธิบาย ผ่านกระบวนการและช่องทางต่างๆ ในภาคนอกรัฐมาเป็นเวลานาน ในรูปของแนวการวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ด้วยการสร้างคู่ตรงข้ามที่ขัดแย้งกันระหว่าง "ข้างนอก" และ "ข้างใน"

ในระดับระหว่างประเทศนั้น วิธีคิดแบบ "ข้างนอก vs ข้างใน" อธิบายว่าศัตรูและต้นตอของปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองทุกอย่างในสังคมไทยมีสาเหตุมาจากศัตรูตัวร้ายที่อยู่ "ข้างนอก"

ศัตรูนี้ทำลายสังคมไทยไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายขายชาติที่อยู่ "ข้างใน" และเพราะฉะนั้น ถึงจะเป็นฝ่ายที่อยู่ภายในสังคมไทยเหมือนๆ กัน แต่คนที่ขายชาติก็คือคนที่เป็น "ข้างนอก" มากกว่า "ข้างใน" และมีส่วนในบาปกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไม่น้อยไปกว่าผู้ร้ายที่อยู่ "ข้างนอก".

ถ้าชาตินิยมโดยรัฐในยุคก่อนและหลัง 6 ตุลาฯ เห็นว่า "ข้างนอก" คือผู้ก่อการร้ายที่แทรกซึมมาจากเวียดนามและจีน ส่วนพวกขายชาติที่อยู่ "ข้างใน" ก็ได้แก่นักศึกษาและพวกฝ่ายซ้าย ชาตินิยมโดยประชาชนในปัจจุบันก็เห็นว่า "ข้างนอก" ได้แก่ พ่อค้าการเงินและองค์กรโลกบาล ในขณะที่พวกขายชาติได้แก่คนไทยใจทาสที่อยู่ในรัฐบาลและรัฐสภา

ไม่ว่าการโจมตีพ่อค้าเงินและองค์กรโลกบาลในลักษณะนี้จะถูกต้องและเป็นจริงหรือไม่ ไม่ว่าการด่าทอนักการเมืองและผู้บริหารประเทศในลักษณะนี้จะเป็นจริงหรือเปล่า สิ่งที่การมองแบบนี้สร้างไว้ก็คือภาพลวงตาว่าปัญหาทั้งหมดในสังคมไทยมีที่มาจาก "ข้างนอก" และจะแก้ปัญหานี้ได้ก็มีแต่ต้องอาศัยกลไกที่ไม่ได้อยู่ในระบบรัฐบาล-รัฐสภา .

ในระดับภายในประเทศ วิธีคิดแบบ "ข้างนอก vs ข้างใน" สัมพันธ์กับแนวการมองสังคมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิด "วัฒนธรรมชุมชน" เพราะพื้นฐานของแนวการมองแบบนี้คือวิธีคิดแบบ "ข้างนอก vs ข้างใน" ที่เปลี่ยนหน่วยในการคิดจากประเทศและรัฐอธิปไตย ไปสู่หมู่บ้านและชุมชนที่เป็นอิสระจากพลังภายนอก ซึ่งได้แก่การรุกรานของเศรษฐกิจแบบตลาด

แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนแยกความแตกต่างระหว่างชุมชนกับสังคม เพราะชุมชนเป็นการรวมกลุ่มตามประเพณีที่สมาชิกในกลุ่มเชื่อมโยงระหว่างกันและกันผ่านอดีตที่ยาวนานบางอย่าง ชุมชนมีเอกภาพทางวัฒนธรรม และสมาชิกของชุมชนก็มีวัฒนธรรมและระบบคุณค่าบางอย่างร่วมกัน ในขณะที่สังคมเป็นผลของภาวะสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความแปลกแยกและแตกย่อย สังคมเป็นโลกที่เต็มไปด้วยการใช้เหตุใช้ผลและภูมิปัญญาและเพราะเหตุนั้น สมาชิกในสังคมจึงมีช่องว่างและระยะห่างจากกันและกันอยู่ตลอดเวลา

แน่นอนว่าการประเมินความถูกต้องของวิธีคิดแบบ "ข้างนอก vs ข้างใน" คงเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความรับรู้ทางเศรษฐกิจการเมือง, ประวัติศาสตร์ และอุดมการณ์ของผู้มองแต่ละคนเป็นรายๆ แต่สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ แนวการมองแบบนี้ทำให้ "ข้างใน" เป็นสังคมที่ผสมกลมกลืน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ปราศจากความแตกต่าง ไร้ซึ่งความขัดแย้ง มีความต้องการเหมือนกันไปหมดทุกเรื่อง และกระทั่งเปี่ยมล้นไปด้วยความปรองดอง รักใคร่ และสมานฉันท์ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าเพราะเราเป็นคนที่อยู่ฝั่ง "ข้างใน" เหมือนๆ กัน

การมองโลกโดยเห็นว่าศัตรูอยู่ภายนอก นำไปสู่ความเข้าใจว่าต้องสามัคคีและรักษาไว้ซึ่งความเข้มแข็งของภายใน เมื่อเป็นเช่นนี้ วิธีคิดแบบ "ข้างนอก vs ข้างใน" จึงทำให้พลังฝ่าย "ประชาชน" หลายต่อหลายรายในกระแสวัฒนธรรมชุมชน แสดงท่าทีขานรับ, เห็นด้วย, สนับสนุน หรือกระทั่งผันตัวเองไปเป็นผู้ปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ของนโยบายชาตินิยมในรัฐบาลชุดนี้ และก็คงจะเป็นเหตุผลเดียวกันนี้เองที่ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการ "ปัญญาชนสาธารณะ" ของไทย แสดงท่าทีร่วมมือและเป็นเรือพ่วงลำหนึ่งในพันธมิตรทางประวัติศาสตร์ที่จะผลักดันและค้ำยันรัฐบาลชุดนี้ต่อไป

ทั้งหมดนี้คือคำอธิบายว่า ทำไมบางส่วนของคนชั้นล่างและปัญญาชนสาธารณะ จึงให้ความสนับสนุนและกระโจนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดพันธมิตรทางประวัติศาสตร์ครั้งใหม่อย่างไม่รั้งรอ.

เศรษฐกิจพอเพียงในกระแสทุนนิยมไทย

ถ้าถือว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นการจัดพันธมิตรทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชนชั้นนำในสังคมไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบโต้กับวิกฤติการณ์ในด้านต่างๆ ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ และถ้าเห็นว่าวิกฤติด้านเศรษฐกิจเป็นวิกฤติที่มีความรุนแรงเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดา "วิกฤติ" ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คำถามคือแล้วพันธมิตรทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้จะมีท่าทีเพื่อออกไปจากวิกฤติ และสามารถธำรงรักษาไว้ซึ่งความสนับสนุนของประชาชนไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร.

ชาตินิยมสำคัญต่อการได้มาซึ่งความสนับสนุนนี้ แต่ลำพังอุดมการณ์นี้ก็ไม่เป็นเหตุให้ใครได้รับความสนับสนุนโดยยั่งยืนสถาพรได้. ความหมายของอุดมการณ์สัมพันธ์กับความสำเร็จที่ปฎิบัติการของอุดมการณ์นั้นๆ มีต่อสังคมการเมือง ส่วนข้อที่ว่าความสำเร็จนั้นๆ จะเป็นเรื่องที่มีความหมายต่อสังคมการเมืองจริงๆ หรือไม่นั้น ก็อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญก็เป็นได้ อย่างน้อยก็ไม่สำคัญเท่ากับการทำให้สมาชิกของสังคมการเมืองนั้นๆ รู้สึกถึงความสำเร็จได้จริงๆ.

พูดง่ายๆ ก็คือชาตินิยมไม่มีความหมาย ถ้าไม่มีปฏิบัติการบางอย่างที่จะทำให้ผู้คนในชาติรู้สึก (หรือนึกไปเอง) ว่าพันธมิตรใหม่กำลังทำเพื่อพวกเขาอยู่จริงๆ.

ปฏิบัติการนี้ต้องเป็นเรื่องอัศจรรย์ เพราะเป้าหมายของมันคือการทำให้กลุ่ม "โคตรจน" และกลุ่ม "เดี๋ยวจนเดี๋ยวรวย" เชื่อว่ากลุ่ม "โคตรรวย" จะเป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาได้ ถึงแม้โดยสถานภาพและโดยฐานันดรแล้วจะเต็มไปด้วยความแตกต่างกันขนาดไหนก็ตาม.

รัฐบาลชุดนี้เป็นนายทุน ซ้ำความเป็นนายทุนของรัฐบาลชุดนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดยิ่งกว่ารัฐบาลชุดไหนๆ อย่างไรก็ดี รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ได้ทำการกดขี่ขูดรีดคนยากคนจนตามที่ทฤษฏีคลาสสิคว่าไว้ โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลกลับมีนโยบายหลายต่อหลายอย่างที่มีลักษณะ "เพื่อคนจน".

ถ้าถือว่า "ชาตินิยมของประชาชน" เป็นอุดมการณ์ที่ทำให้รัฐบาลของชนชั้นนายทุน หรือที่ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิคเรียกว่า "คณะกรรมการของกระฎุมพี" เป็นที่ยอมรับจากคนหลายฝ่าย ทรรศนะคติที่ว่ารัฐบาลชุดนี้มีพฤติกรรม "เพื่อคนจน" ก็คือปัจจัยทางนโยบายที่ทำให้รัฐบาลได้รับความสนับสนุนมากขึ้นไปอีก.

ก็อย่างที่ "ปัญญาชนสาธารณะ" คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งว่าไว้ รัฐบาลชุดนี้เอื้ออาทรคนจนมากกว่ารัฐบาลทุกชุดที่เคยมีมา ปัญญาชนท่านนี้มีจิตปฏิพัทธ์ต่อผู้ยากไร้ ด้วยเหตุดังนั้น ท่านจึงเกิดความปีติต่อนโยบายรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะนโยบายหมู่บ้านและเศรษฐกิจชุมชน.

แน่นอนว่านโยบายรัฐที่เอื้ออาทรต่อคนยากคนจนนั้นเป็นเรื่องที่พึงปรารถนา แต่การพิจารณานโยบายเหล่านี้ว่า มีสาเหตุมาจากฉันทาคติของคณะรัฐบาลหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ก็คือปริศนาซึ่งพึงตั้งข้อสงสัย นโยบายสาธารณะในสังคมประชาธิปไตยสัมพันธ์กับตัวแปรและบุคคลจำนวนไม่น้อย และเมื่อเป็นเช่นนี้ เป็นไปได้อย่างไรที่เราจะอธิบายความถูกต้องของนโยบาย ด้วยอัจฉริยภาพของผู้นำแต่เพียงรายเดียว..

ถ้าถือว่าเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจหมู่บ้านเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอใหญ่เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เราก็อาจสรุปโครงเรื่องและความเข้าใจหลักที่ปัญญาชนไทยมีต่อเศรษฐกิจพอเพียงได้ดังนี้.

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเริ่มมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในปี 2517 ซึ่งเป็นช่วงที่ขบวนการพึ่งตนเองในชนบทเริ่มก่อตัว ขบวนการดังกล่าวนี้เติบใหญ่และขยายตัวมากขึ้นภายหลังวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่สอง ในปี 2522 จนเกิดยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา"

"ตลอดช่วงเวลาที่ระบบเศรษฐกิจไทยเผชิญภาวะถดถอยระหว่างปี 2523-2529 ราษฎรในชนบทต้องพึ่งตนเองมากขึ้น เพราะมิอาจพึ่งรัฐบาลได้ ก่อให้เกิดทวิลักษณะของยุทธศาสตร์การพัฒนา ในขณะที่ราษฎรในชนบทยึดกุมยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทุกแห่งหนที่เสด็จประพาส รัฐบาลส่วนกลางกลับยึดกุมยุทธศาสตร์โลกานุวัตรพัฒนา ตามฉันทามติแห่งวอชิงตัน (Washington Consensus)"

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนสติชาวไทยว่าการใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยหรือเกินความพอเพียง นับเป็นเหตุปัจจัยสำคัญอันนำมาซึ่งวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่า 25 ปี แต่ไม่มีผู้นำรัฐบาลขุนนางนักวิชาการท่านใดน้อมเกล้ารับพระราชดำรัสของพระองค์ไปสู่การปฏิบัติ"

"พระองค์ทรงนำเสนอทฤษฎีใหม่เป็นครั้งแรกในปี 2537 เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ และปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อลดทอนความเสี่ยงจากความแปรปรวนทางธรรมชาติ และความผันผวนทางเศรษฐกิจ พระองค์ทรงเผยแพร่ทฤษฎีใหม่อีกครั้ง ภายหลังวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ เดือนกรกฎาคม 2540 คราวนี้พสกนิกรน้อมรับอย่างดียิ่ง"

คำถามคือเราสามารถมองนโยบายเหล่านี้ด้วยวิธีคิดแบบอื่นได้อีกหรือไม่?

ถ้า "โลกาภิวัตน์" หมายถึงการ "เอาชนะโลก" ในขณะที่ "โลกานุวัตร" หมายถึงการ "ประพฤติตามโลก" วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจก็ดูจะทำให้โลกานุวัตรมีความสำคัญยิ่งกว่าโลกาภิวัตน์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจทำให้ทุนนิยมไทยตระหนักถึงฐานานุรูปของตน ที่ดูจะเป็นเรื่องของการ "ประพฤติตามโลก" มากกว่าจะเป็นการทะเยอะทะยานที่จะ "เอาชนะโลก" อย่างที่ผ่านมา

วิกฤติการณ์เศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้ทุนนิยมไทยเดินมาถึงขั้นตอนของการค้นพบว่าการสะสมทุนโดยอาศัยปัจจัยภายนอกล้วนๆ ไม่มั่นคงและหนักแน่นมากพอจะทำให้สินทรัพย์และอัตรากำไรขยายเพิ่มขึ้นได้โดยง่าย ซ้ำร้าย การแข่งขันที่ล้นเกินยังอาจคุกคามต่อสถานภาพของตนเองในระบบตลาดด้วยซ้ำไป

ถ้าถือว่าความเข้าใจตนเองในทศวรรษ 2530 ของทุนนิยมไทยคือการก้าวไปสู่ทุนนิยมภูมิภาคและทุนนิยมข้ามชาติ วิกฤติการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ก็ทำให้ความเข้าใจข้อนี้ถูกท้าทาย หรือไม่ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในแง่ของการตระหนักว่าระบบโลกาภิวัฒน์สมัยใหม่นั้นมีโครงสร้างที่ตายตัว ส่วนช่องว่างระหว่างประเทศศูนย์กลาง-ชายขอบ นั้นก็แข็งทื่อมากกว่าที่เคยคาดคิด.

และเพราะเหตุนั้น การแข่งขันกับทุนข้ามชาติจึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ ตามความเข้าใจในทศวรรษที่แล้วอีกต่อไป. บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีแต่กลุ่มทุนฝ่ายที่มีตลาดภายในประเทศอย่างเข้มแข็งเท่านั้นที่ประคองตัวมาได้จวบจนปัจจุบัน

อันที่จริงกลุ่มทุนหลักๆ ที่มีอิทธิพลต่อการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพลังทางเศรษฐกิจการเมืองต่างๆ ที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังรัฐบาลชุดนี้ ก็คือกลุ่มทุนที่ได้พิสูจน์แล้วว่ามีความสามารถในการเอาตัวรอดจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการได้รับสัมปทานผูกขาด, การคุมตลาดภาคเกษตรได้อย่างเบ็ดเสร็จ หรือการมีอำนาจพิเศษบางอย่างก็ตาม.

ความเข้าใจตัวเองของระบบทุนนิยมไทยเปลี่ยนแปลงไป และผลที่ตามมาก็คือ "ตลาดภายใน" กลายเป็นมโนทัศน์ใหม่ที่ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจการเมืองในปัจจุบันปรารถนา.

แต่ตลาดภายในคืออะไร?

ถ้าตลาดหมายถึงผู้คนที่มีกำลังซื้อ การหันไปหาตลาดภายในก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ กำลังซื้อสัมพันธ์กับรายได้ของพลเมืองส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่การพัฒนาแบบ "เอาชนะโลก" มุ่งกดข่มทำลายมาโดยตลอด ในรูปของการกดค่าจ้างขั้นต่ำให้ต่ำกว่าค่าจ้างที่แท้จริงมาอย่างต่อเนื่อง ในรูปของการปฏิเสธระบบประกันราคาพืชผล ในรูปของการขายทรัพยากรส่วนรวมในราคาถูกๆ ฯลฯ ซึ่งกระทำไปในนามของความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบทางการค้า, การจูงใจนักลงทุน และการกระตุ้นอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย.

แต่ถ้าตลาดภายในหมายถึงชุมชน การหันไปหาชุมชนก็เป็นเรื่องที่พอเป็นไปได้.

อันที่จริงความคิดเรื่องนี้เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์และนักรัฐศาสตร์หลายรายได้เสนอเอาไว้ก่อนแล้ว ท่านเหล่านี้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมควรหันมาให้ความสำคัญต่อตลาดภายใน โดยเฉพาะนโยบายการทำให้เกษตรกรและชุมชนมีรายได้สูงขึ้น เพราะนั่นย่อมนำไปสู่การสร้างตลาดภายในที่มีกำลังจะซื้อหาสินค้าจากภาคอุตสาหกรรมเอง ส่วนภาคชุมชนก็ต้องเร่งสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนที่เป็นอิสระเพื่อพัฒนาความสามารถพึ่งตนเองและลดการขึ้นต่อภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน

วิกฤติปี 2540 ทำให้สื่อประชาสัมพันธ์ของธุรกิจรายใหญ่รายย่อยนับสิบรายหันไปเชิดชูความสำคัญของตลาดภายใน ส่วนบรรษัทธุรกิจหลายรายก็หันไปเน้นการสร้างเครือข่ายกับผู้ผลิตในประเทศให้มากยิ่งขึ้น ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่ผู้คนในภาครัฐให้ความสำคัญกับพลังทางเศรษฐกิจมิตินี้มากขึ้นเรื่อยๆ และกระทั่งมีการเชื้อเชิญปัญญาชนสาธารณะแนวชุมชนนิยมไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย.

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่นโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในรัฐบาลชุดนี้ จะได้แก่การกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับหน่วยทางการเมืองขั้นพื้นฐานอย่างหมู่บ้านและตำบล ไม่ว่าจะในรูปของกองทุนหมู่บ้าน หรือ 1 หมู่บ้าน 1 ผลิตภัณฑ์ และไม่ต้องแปลกใจอีกเช่นกันที่คำขวัญทางเศรษฐกิจที่โด่งดังที่สุดในสังคมไทยในห้วงเวลานี้จะได้แก่คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" 000000000 มีแต่การสร้างฐานทางเศรษฐกิจให้ขยายลงไปในหมู่ประชาชนเท่านั้น ที่ขั้นตอนทางประวัติศาสตร์นี้จะแปร "ชาวบ้าน" เป็น "ผู้บริโภค" และแปร "ชุมชน" เป็น "ตลาดภายใน"

วิกฤติเศรษฐกิจทำให้ประชาชนมีความสำคัญ ส่วนปัญหาเฉพาะหน้าของระบบทุนนิยมไทยก็ทำให้ชุมชนมีความหมาย กระบวนการทางประวัติศาสตร์นี้สั้นและเร็วจนเกินกว่าจะประเมินผลได้ แต่ความไม่เข้าใจพัฒนาการข้อนี้ ทำให้พลังฝ่ายชุมชนและคนชั้นล่างเข้าไปเป็นหางเครื่องของพันธมิตรทางการเมืองครั้งนี้อย่างยินดีปรีดา.

สู่การเมืองแบบอนุรักษ์นิยม

เชื่อกันว่าโลกสมัยใหม่คือโลกที่ปราศจากอุดมการณ์ แต่คงจะถูกมากกว่าถ้าจะระบุว่าโลกสมัยใหม่คือโลกที่ไม่มีการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ใดๆ ต่อไปอีกแล้ว เพราะเหตุว่าเสรีนิยมกลายเป็นอุดมการณ์เดียวที่ได้รับชัยชนะเหนืออุดมการณ์ทั้งปวง.

อย่างไรก็ดี คำอธิบายนี้วางอยู่บนความเข้าใจโลกสมัยใหม่ที่เขลา สังคมนิยมที่ลาจากโลกไป - หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นอุดมการณ์ต่อต้านหลักอีกต่อไป - ไม่ได้ทำให้การต่อสู้ทางอุดมการณ์สิ้นสุดไปด้วย ยิ่งถ้าถือว่าเสรีนิยมสัมพันธ์กับทุนนิยม ก็ยิ่งเห็นว่าทั้งเสรีนิยมและทุนนิยมเป็นเรื่องที่ถูกต่อต้านโดยสม่ำเสมอและแทบจะตลอดเวลา.

การต่อต้านนำมาซึ่งปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายขนาน ไม่ว่าจะเป็นการเฟื่องฟูของระบบมาเฟียและอำนาจนิยมแผนใหม่ในกรณีอัลบาเนียและโรมาเนีย, ความคิดแบบมูลฐานนิยม (fundamentalism) ในโลกตะวันออกกลาง, ความเติบโตของพรรคฝ่ายขวาในยุโรปตะวันตก, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา, การเมืองแบบชาตินิยมในยุโรปตะวันออก และแม้กระทั่งความเฟื่องฟูของขบวนการต่อต้านอเมริกาในหลายต่อหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย.

กลับมาดูสังคมไทยกันบ้าง.

ชาตินิยมเป็นปฎิกริยาที่ชนชั้นนำไทยมีต่อโลกทุนนิยมสมัยใหม่ เป้าหมายของปฏิกริยานั้นอยู่ที่การโจมตีและโยนสาเหตุของวิกฤติ, วิบัติ, หายนะ, จุดจบ ฯลฯ ที่สื่อถึงการ "สิ้นชาติ" ออกไปที่โลกภายนอก และถ้าเชื่อตามนักวารสารศาสตร์การเมืองว่ารัฐบาลชุดที่แล้วเป็นรัฐบาลเสรีนิยม ความเฟื่องฟูของชาตินิยมในปัจจุบันนี้ก็เป็นอุดมการณ์ที่มุ่งต่อต้านเสรีนิยมโดยตรง.

แต่ชาตินิยมไทยก็ไม่ได้ต่อต้านเสรีนิยมอย่างรุนแรง อย่างน้อยก็ไม่รุนแรงเท่าการต่อต้านที่ชาตินิยมไทยกระทำกับฝ่ายสังคมนิยมในอดีต ชาตินิยมไทยโจมตีการเปิดประเทศและองค์การโลกบาล แต่การโจมตีนี้ก็ไม่ได้นำไปสู่ปฏิบัติการทางการเมืองที่เป็นหลักเป็นฐานไปกว่าการพูดจาปราศรัยและผลิตข้อเขียน ปฏิบัติการทางการเมืองนี้มีความจริงจังน้อยกว่าการต่อต้านจักรวรรดินิยมเมื่อหลายปีก่อนอย่างเทียบไม่ได้ หรือแม้จะเทียบกับการเคลื่อนไหวของเพื่อนบ้านในแถบบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ก็คงไม่ได้อีกเช่นกัน.

ถ้าถือว่าชาตินิยมไทยต่อต้านเสรีนิยมด้วยการกลับไปหา "ภูมิปัญญา" บทความขนาดยาวของ Craig Reynolds ก็ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการนี้ไม่อาจทำได้เต็มที่นัก ภูมิปัญญาสำคัญต่อความภาคภูมิใจในตัวเอง แต่การแข่งขันในตลาดโลกนั้นต้องการความรู้และวิทยาการที่มีที่มาจากข้างนอก ภาวะลักลั่นขัดแย้งข้อนี้ยากเกินกว่าจะมีข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย และเมื่อถึงจุดนี้ คำถามคือแล้วภูมิปัญญาจะมีความหมายได้อย่างไร

ชาตินิยมไทยโจมตีเสรีนิยม แต่ชาตินิยมไทยก็ไม่เคยต่อต้านเสรีนิยมในระดับที่มากไปกว่าการแสดงโวหาร หากยืมคำตอบของ Craig มาใช้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าเสรีนิยมเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชาติไทยมากจนเกินกว่าที่จะต่อต้านและปฏิเสธได้อย่างจริงๆ จังๆ

ด้วยเหตุดังนั้น แม้ชาตินิยมไทยจะโจมตีเสรีนิยมที่อยู่ "ข้างนอก" แต่เป้าหมายของชาตินิยมไทยกลับได้แก่สังคมการเมืองและคนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ "ข้างใน"

ชาตินิยมไทยเชื่อมโยงปัจจุบันเข้ากับอดีต และอดีตแบบชาตินิยมไทยก็คือสังคมหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีพ่อบ้านผู้เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมบารมีคอยอุปถัมภ์ค้ำจุนให้สังคมอยู่ในความสงบสุขไปจนชั่วนาตาปี.

พ่อบ้านทำงานภายใต้คติสำคัญสามอย่าง คือความเชื่อว่าทุกคนมีพันธะต่ออนาคตในการสร้างความเจริญเป็นปึกแผ่น, ทุกคนมีประวัติศาสตร์ร่วมกันในการดำรงรักษาเอกราชมาแต่โบราณ และทุกคนเคารพสักการะในพระมหากษัตริย์เหมือนๆ กัน.

กำเนิดของชาตินิยมโดยประชาชนแตกต่างจากชาตินิยมโดยรัฐ แต่ชาตินิยมโดยประชาชนไม่คัดค้านคติเหล่านี้ ในทางตรงข้าม ชาตินิยมโดยประชาชนกลับอธิบายอดีตและเสนออนาคตโดยเอาคติเหล่านี้เป็นศูนย์กลางอยู่ตลอดเวลา ชาตินิยมโดยประชาชนมีบทบาทเหมือนชาตินิยมโดยรัฐ คือโจมตีศัตรูภายนอก แต่มองข้ามปัญหาภายใน และเรียกร้องให้จรรโลงไว้ซึ่งสัมพันธภาพทางอำนาจแบบหลักๆ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน.

ถ้าอนุรักษ์นิยมคืออุดมการณ์ที่มุ่งรักษาสถานภาพดังที่เป็นอยู่ ชาตินิยมไทยก็เป็นอนุรักษ์นิยมอย่างไม่ต้องสงสัย.

อนุรักษ์นิยมต่างจากอำนาจนิยม เพราะขณะที่อำนาจนิยมใช้กำลังเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งสถาพภาพ อนุรักษ์นิยมกลับหันไปเชิดชูคุณค่าที่สัมพันธ์กับสถานภาพนั้นๆ โดยเฉพาะคุณค่าเรื่องความมั่นคง, ประเพณี, ศาสนา, อำนาจแบบจารีต,ความคิดเรื่องบ้านเกิดเมืองนอน ฯลฯ แล้วอธิบายว่าทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่บอกว่าเราเป็นใคร

โลกของอนุรักษ์นิยมคือโลกที่คุณค่าและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมกำลังถูกทำลาย อนุรักษ์นิยมจึงเสนอให้เรากลับไปหารากเหง้าของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้.

อดีตนั้นดีงามและใสสะอาด ขณะที่ปัจจุบันสกปรกและชั่วร้าย และเพราะเหตุนี้ อนุรักษ์นิยมจึงเน้นย้ำความสำคัญของครอบครัวและศาสนา เพราะมีแต่ครอบครัวและศาสนาเท่านั้นที่จะควบคุมสมาชิกของสังคมให้อยู่ในร่องในรอยของศีลธรรมและความประพฤติที่ดี

แต่การมองแบบนี้เป็นการมองจากสายตาของชนชั้นนำที่เห็นว่าความเป็นไทยนั้นตายตัวและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซ้ำร้าย ยังเป็นผลของการคิดแบบเหมารวมและแบ่งขั้วมากเกินไป อนุรักษ์นิยมตามความหมายนี้จึงเป็นอนุรักษ์นิยมที่รับวิธีการมองสังคมไทยจากฝ่ายชาตินิยมมาอย่างไม่รู้ตัว.

คำอธิบายแบบนี้อึดอัดและคับข้องใจต่อสภาวะอันวุ่นวาย และนัยยะของความไม่พอใจนี้ก็คือการหันไปโหยหาสังคมที่มีการกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องวินัย, ระเบียบแบบแผน, บทบาทหน้าที่ และมีการจัดโครงสร้างที่เป็นลำดับขั้นอย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จะเป็นไปได้ ก็โดยอาศัยอำนาจเบ็ดเสร็จสูงสุดบางอย่างสร้างขึ้นมา.

ความรู้สึกแบบนี้แพร่หลายในสังคมไทย และควรจะระบุลงไปด้วยว่าปัญญาชนสาธารณะหลายต่อหลายรายก็มองสังคมไทยด้วยสายตาอย่างนี้เช่นเดียวกัน.

ในกรณีของสังคมตะวันตกเมื่อคริสตศตวรรษที่ 19 อารมณ์ความรู้สึกแบบนี้คือพื้นฐานของการเกิดกระแสความคิดเรื่องอนุรักษ์นิยมแบบพระราชา (Monarchical Conservatism)

อนุรักษ์นิยมแบบพระราชได้แรงสนับสนุนจากผู้ดีเก่าและชนชั้นนำนอกราชสำนัก (untitled elites) รวมทั้งจากคนชนบท ผู้ดีเก่าและชนชั้นนำหวังจะได้ประโยชน์และสิทธิพิเศษบางอย่างจากการเมืองแบบนี้ ขณะที่คนชนบทมองกระแสการเมืองนี้ ในแง่ที่เป็นทางเลือกออกไปจากความไม่พอใจที่วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมต้องเปลี่ยนแปลงไป พร้อมๆ กับการเข้าหาโลกในภาวะสมัยใหม่.

การเมืองไทยในช่วง 4- 5 ปีที่ผ่านมา เป็นการเมืองที่อยู่ท่ามกลางสัมพันธภาพทางอำนาจและกระแสทางเศรษฐกิจการเมืองใหม่ๆ ปัจจัยหลายประการทำให้การเมืองไทยกำลังเดินไปสู่ลักษณะอนุรักษ์นิยมมากยิ่งขึ้นๆ เหมือนๆ กับสังคมไทยที่มีแนวโน้มไปสู่ความเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้นทุกที.

แต่อนุรักษ์ทางการเมืองในปัจจุบันจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้เขียนจะคิดได้ในเวลานี้ จึงขอจบบทความนี้ลงแต่เพียงเท่านี้

บรรณานุกรมภาษาไทย

กัญญา ลีลาลัย, ประวัติศาสตร์ชนชาติไท (กรุงเทพ : สถาบันวิถีทรรศน์ , 2544)
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ, ทฤษฎีและเศรษฐกิจชุมชนชาวนา (กรุงเทพ : โครงการวิถีทรรศน์, 2541)
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, "แนวคิดเศรษฐกิจแห่งชาติ," วารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 , 2536, 0
นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาติไทย , เมืองไทย, แบบเรียน และอนุสาวรีย์ : ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, 2538)
นิธิ เอียวศรีวงศ์ , "ประชาธิปไตยบนเส้นทางประชาชน," ใน วิถีทรรศน์ ชุดโลกาภิวัฒน์ 15 ประชาธิปไตยโดย ตรง สู้ทรราชรัฐสภา (กรุงเทพ : สถาบันวิถีทรรศน์, 2543), หน้า 29-41.
พิทยา ว่องกุล, "ธรรมรัฐถึงธรรมาธิปไตย สุดยอดการปกครองที่ไม่ต้องถูกปกครอง," วิถีทรรศน์ ชุดโลกาภิวัฒน์ 6 ธรรมรัฐ : จุดเปลี่ยนประเทศไทย? (กรุงเทพ : โครงการวิถีทรรศน์, 2541), หน้า 1-13.
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ , "รัฐบาลทักษิณ," ผู้จัดการรายวัน, 22 กุมภาพันธ์ 2544.
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, "Bangkok Consensus," ผู้จัดการรายเดือน, มกราคม 2543
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, "การเมืองของความเป็นศัตรู : แง่คิดและปัญหาบางประการในความคิดทางการเมืองของ คาร์ล ชมิทท์," รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 22 ฉบับที่ 1(2543), หน้า 98-129
ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 60 ปี ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (กรุงเทพ : ศูนย์ศึกษา เศรษฐศาสตร์การเมือง, 2544).
เสน่ห์ จามริก, การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์, 2529)
เสน่ห์ จามริก , ฐานคิดสู่ทางเลือกใหม่ของสังคมไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพ : โครงการวิถีทรรศน์, 2544)

บรรณานุกรมภาษาอังกฤษ

Bart Van Steenbergen, The Condition of Citizenship (London, Routledge, 1994)
Benedict Anderson, Imagined Communities : Reflections on the Origins and Spread of Nationalism (London : Verso, 1991)
Bob Jessop, "Recent Theories of the Capitalist State," in John A.Hall, The State : Critical Concerns Volume 1 (London and New York : Routledge, 1994), pp.81-103.
Chantal Mouffe, The Challenge of Carl Schmitt (London, New York, Verso, 1999)
Craig J.Reynolds, Thailand's Response to the Asian Economic Crisis : The Vision Thing, Center for Southeast Asian Studies, March 2000, California, Unpublished Paper
David Held, Models of Democracy (Cambridge : Polity Press, 1996) 0
Ellen Meiksins Wood, Democracy Against Capitalism : Renewing Historical Materialism (Cambridge : Cambridge University Press, 1995)
Erik Olin Wright, "Class Boundaries in Advanced Capitalist Societies," New Left Review no.98, July- August 1976, pp.3-41
Gerald Delanty, Modernity and Postmodernity (London : SAGE Publications, 2000)
Gerald Delanty , "Models of Citizenship : Defining European Identity and Citizenship," Citizenship Studies vol.1 no.3, 1997, pp.285-303.
Goran Dahl, Radical Conservatism and the Future of Politics (London : Routledge, 1999)
Jean L .Cohen and Andrew Arato, "Introduction," in Civil Society and Political Theory (Cambridge,London : The MIT Press, 1992)
John W.P.Veugelers, "A Challenge for Political Sociology : The Rise of Far-Right Parties in Contemporary Western Europe," Current Sociology vol 47 no 4, October 1999, pp.78-100.
Joseph Schumpeter, Capitalism, Socialism and Democracy (New York : Harper & Row, 1942)
Margaret Canovan, "Trust the People! Populism and the Two Faces of Democracy," Political Studies vol.47 no.1, March 1999
Noel O'Sullivan, Political Theory in Transition (London, New York : Routledge, 2000)
Richard Falk, "The Decline of Citizenship in an Era of Globalization," Citizenship Studies, vol.4 no.1, 2000, pp.5-17
Roderick Stackelberg, Hitler's Germany : Origins, Interpretations, Legacies (London :Routledge, 1999)
Tom Gallagher, "Political Change in Eastern Europe," European History Quarterly vol 29 no 7, 1999, pp.587-94
Vladimir Tismaneanu, The Revolutions of 1989 : Rewriting Histories (London: Routledge, 1999)

 

คลิกกลับไปหน้าแรกของบทความนี้

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com