Energy
Aristocracy

เราพบว่า การรวมศูนย์ที่ถูกสร้าง
ขึ้นของระบบไฟฟ้า ซึ่งเกิดขึ้นมาในช่วงนโยบายการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ มันได้สร้างอาณาจักรการผูกขาดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมายาวนานถึง 30 ปี แล้วธุริกจอันนี้มันมีมูลค่ามหาศาล ก็คือปีหนึ่ง การไฟฟ้าจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้ากว่าแสนล้านบาท แล้วการไฟฟ้าได้เติบโตมีเจ้าหน้าที่ถึง 3 หมื่นกว่าคน

ขณะนี้เริ่มมีการเปลี่ยน แต่การเปลี่ยนแปลตรงนี้ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า มันไม่ได้เปลี่ยนจากระบบผูกขาดหรือรวมศูนย์ที่นิยมโครงการขนาดใหญ่ๆ มันเพียงแค่เปลี่ยนมาให้เอกชน ธุริกจ กลุ่มทุนเอกชน ได้เข้ามามีส่วนแบ่งในธุรกิจ แต่โครงสร้างยังคงเหมือนเดิม โดยที่ไม่ได้มีการปรับปรุงอะไร

บทความถอดเทปจากชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ภายใต้หัวข้อ "พลังงานกับงานที่มีพลัง" ครั้งที่ 2 วันที่ 9 ก.พ. 2545 : พลังงานกับเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม
อ.นิธิ เรียกกลุ่มบุคคล ที่มีอำนาจ
ผูกขาดและการตัดสินใจ ในเรื่อง
พลังงานเหล่านี้ว่า
ขุนนางพลังงาน
พัฒนาการของ 3 กลุ่มหลักที่เกี่ยวข้องการไฟฟ้า

กลุ่มแรกคือ กลุ่มของรัฐบาล โดยรูปธรรมก็คือ ไฟฟ้าที่พัฒนาโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจนถึงปัจจุบัน
กลุ่มที่สองคือ กลุ่มของธุรกิจไฟฟ้าของเอกชน ที่เข้าไปมีบทบาทในระยะหลังมานี้ และ
กลุ่มที่สามคือ ภาคประชาชน พัฒนาการของภาคประชาชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องของการถกเถียง ทั้งในเชิงนโยบายและปัญหารูปธรรมโดยเฉพาะซึ่งไปเกี่ยวข้องกับไฟฟ้า

H
home
"ประวัติพัฒนาการของระบบไฟฟ้าไทย" บรรยายโดย วิทูร เพิ่มพงศาเจริญ
2545 -
2525 -
2503 -
050445
release date
ภาพประกอบดัดแปลง (ภาพเขียน โดย Doug Bowles เทคนิคสี Pastel จากหนังสือ Illustraion : Society of Illustraors of Los angeles ภาพที่ 290 นำมาประกอบกับภาพถ่ายดาราภาพยนตร์ในเรื่อง The Godfather แสดงโดย Marlon Brando
บทความนี้ยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4 หากนักศึกษา สมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมาจะแก้ปัญหาได้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

ชัชวาล ปุญปัน : สวัสดีนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สำหรับวันนี้เป็นการบรรยายเรื่อง"พลังงาน กับ งานที่มีพลัง" ซึ่งได้นำเสนอเป็นครั้งที่สองในหัวข้อ "พลังงานกับเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม". ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้พูดถึงเรื่อง"พลังงาน และวิกฤต" นำเสนอโดย ชัชวาล ปุญปัน และ นิธิ เอียวศรีวงศ์

วันนี้ในหัวข้อ"พลังงานกับเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม" ก็คือสิ่งที่เราต้องการจะตั้งคำถามว่า ความไว้วางใจซึ่งประชาชนถูกสะกดให้เชื่อว่า"พลังงาน"จะต้องจัดการโดยรัฐ, พลังงานกับอำนาจในสังคมไทย, กฎหมายพลังงาน, หรือ การทุจริตเชิงนโยบายพลังงาน, อะไรต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่วิทยากรของเราคือคุณ วิทูร เพิ่มพงศาเจริญ ซึ่งท่านเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งเป็นเลขาธิการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ได้ให้เกียรติกับเรามาให้ความรู้สำหรับบ่ายวันนี้ ผมจึงขอเรียนเชิญคุณวิทูร เลยครับ

วิทูร เพิ่มพงศาเจริญ : สวัสดีทุกท่าน ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญให้เข้ามาร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ความจริงก็รู้สึกประหม่านิดหน่อยเพราะต้องเข้ามาพูดในชั้นเรียน ผมไม่ได้เป็นครู-อาจารย์ เป็นแต่เพียงนักกิจกรรมทางสังคมคนหนึ่ง ก็คงจะมาแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งตัวเองได้ศึกษาหรือประสบการณ์ที่ตัวเองมี จริงๆก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไฟฟ้าอะไร แต่ต้องศึกษาเพื่อที่จะใช้ในการรณรงค์ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

สิ่งที่ผมจะแลกเปลี่ยนความคิดในชั้นเรียนวันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องทางเทคนิค และเข้าใจว่าทุกคนก็คงไม่ได้สนใจอะไรซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะ แต่คงจะสนใจแง่มุมเชิงวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนมากกว่า วันนี้ผมตั้งใจจะแลกเปลี่ยนในเชิงของข้อมูล เท่าที่ผมเองได้ติดตาม เป็นเรื่องของ"ประวัติพัฒนาการของระบบไฟฟ้าไทย" โดยมองพัฒนาการของ 3 กลุ่มหลัก

กลุ่มแรกก็คือ กลุ่มของรัฐบาล โดยรูปธรรมก็คือ ไฟฟ้าที่พัฒนาโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจนถึงปัจจุบัน
กลุ่มที่สองก็คือ กลุ่มของธุรกิจไฟฟ้าของเอกชน ที่เข้าไปมีบทบาทในระยะหลังมานี้ และ
กลุ่มที่สามก็คือ ภาคประชาชน พัฒนาการของภาคประชาชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องของการถกเถียง ทั้งในเชิงนโยบายและปัญหารูปธรรมโดยเฉพาะซึ่งไปเกี่ยวข้องกับไฟฟ้า

ผมหวังว่าการให้ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ น่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยน โดยที่ผมพยายามจะปูในเรื่องของบริบททางประวัติศาสตร์ของตัวไฟฟ้า และพยายามจะดูถึงแนวความคิดของเขา ดูถึงกลุ่มผลประโยชน์หรือสถาบันที่เป็นตัว actor เป็นตัวละครในเรื่องนั้นๆ จะดูถึงผลกระทบของมันว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ประวัติและพัฒนาการของการไฟฟ้า
ขอเริ่มต้นโดยดูจากพัฒนาการของภาครัฐในการจัดการเรื่องไฟฟ้า คือถ้าเรานึกถึงเมื่อเกือบ 200 ปีที่ผ่านมา ประมาณปี ค.ศ.1882 เราเคยได้ยินเรื่องของโธมัส เอดิสัน ได้คิดค้นเรื่องของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและหลอดไฟขึ้นมา แล้วมีการตั้งโรงผลิตไฟฟ้าของเขาขึ้นมาที่นิวยอร์ค

ในช่วงนั้นจริงๆถ้าเราถามว่า เอดิสัน เขามีจินตนาการหรือมีวิสัยทัศน์ในเรื่องไฟฟ้าอย่างไร จินตนาการของเอดิสันก็คือว่า จะมีระบบไฟฟ้าเล็กๆ มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และมีผู้ใช้ไฟเป็นกลุ่มๆกระจายกันออกไป มันสะท้อนให้เห็นถึงว่า จริงๆแล้วจินตนาการของผู้คิดค้นในช่วงนั้น เขาก็มองเรื่องไฟฟ้าในลักษณะกระจาย เป็นความหลากหลาย แบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆที่ทำ ปรากฎว่าจินตนาการของเอดิสัน ได้ถูกบิดเบี้ยวและพัฒนาการมาถึงปัจจุบันที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า ทำไมมันถึงบิดเบี้ยว และตรงนี้ที่นำมาสู่ปัจจุบัน มีเหตุผลอะไรบ้าง อย่างไร ?

ประเทศไทยมีการนำเอาไฟฟ้าที่เอดิสันคิดขึ้นมา มาใช้หลังจากคิดขึ้น 2 ปีโดยทางฝ่ายทหารเป็นผู้นำเข้ามาใช้ก่อน แล้วหลังจากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เอามาใช้กับพระบรมมหาราชวัง เพราะฉะนั้น เรื่องของไฟฟ้าก็เป็นเรื่องของสัญลักษณ์ความทันสมัย และเป็นสัญลักษณ์ของอภิสิทธิ์ด้วยในฐานะผู้ปกครองในสมัยนั้น ต่อมาได้มีการตั้งโรงไฟฟ้าย่อยที่วัดเลียบ ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นที่ทำการของการไฟฟ้านครหลวงอยู่ ภาพที่ให้นี้ก็คือภาพของช่วงต้นของการไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

เราจะเห็นว่าก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไฟฟ้าทั่วโลกก็จะมีลักษณะแบบนี้ ก็คือเป็นไปในลักษณะกระจายไม่ได้รวมศูนย์ มีการใช้เป็นจุดย่อยๆ มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มีการปั่นไฟ และมีผู้ใช้เป็นกลุ่มๆ มีทั้งเอกชน มีทั้งรัฐ ส่วนที่เป็นของสหกรณ์ก็มี ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและเป็นผู้ใช้เอง ก็เกิดรูปแบบที่หลากหลายอย่างนี้ขึ้นในช่วงนั้น

การไฟฟ้าหลังสงครามโลกครั้งที่สองในฐานะยุทธศาสตร์ของการพัฒนาและต่อต้านคอมมิวนิสต์
ปรากฏว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เรื่องของไฟฟ้าก็เริ่มถูกมองเข้ามาเป็นส่วนของยุทธศาสตร์ของการพัฒนา เริ่มมองเข้ามาในเรื่องของความมั่นคง และเริ่มที่จะถูกรัฐมองในฐานะที่เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ซึ่งตัวเองจะต้องพัฒนาเรื่องนี้ควบคู่ไปกับบทบาทของตัวเองในฐานะรัฐ

สำหรับประเทศไทย ถ้าเรามองดูถึงช่วงของการเริ่มต้น ดูที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ เราก็คงได้ยินเรื่องที่ว่าในขณะนั้น ประเด็นหลักที่ทางภาครัฐโดยเฉพาะภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ก็คือ กลัวเรื่องการขยายตัวของพวกคอมมิวนิสต์

ในช่วงนั้นเอง การแยกตัวของประเทศอาณานิคมเกิดขึ้นทั่วไป โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ก็มี อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศในอินโดจีน มีการแยกตัวออกจากประเทศเจ้าอาณานิคม เพราะฉะนั้น สหรัฐฯเองก็พยายามที่จะให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างประเทศไทยในเรื่องของความช่วยเหลือทางด้านการพัฒนา ซึ่งไม่ได้ช่วยเหลือแต่เพียงเรื่องของเงินเท่านั้น มีการส่งออกความคิด การจัดตั้งของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอะไรต่างๆก็เกิดขึ้น และที่มากับการพัฒนาที่เชื่อว่าจะต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ได้ก็คือ เรื่องของ"ไฟฟ้า"ด้วย

เราคงเคยได้ยินสโลแกนว่า "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี" ที่ถูกนำมาใช้ในขณะนั้น เขื่อนภูมิพลก็ถูกสร้างขึ้นในช่วงนั้นเช่นกันภายใต้การช่วยเหลือของสหรัฐฯ แล้วเกิดการไฟฟ้ายันฮี ในเวลาช่วงนั้นเอง ระบบก็ยังไม่ถึงกับรวมศูนย์ทีเดียว ยังมีการสร้างโรงไฟฟ้าในลักษณะที่กระจายไปตามจังหวัดต่างๆ มีการไฟฟ้าย่อยๆที่ทำโดยรัฐ และยังให้เอกชนทำในส่วนของตัวเองอยู่ ไม่ได้มีการรวมศูนย์

จนถึงปี 2512 จึงได้ตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตขึ้นมา แล้วหลังจากนั้นจึงมีการรวมทั้งหมดเข้ามาอยู่ภายใต้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แล้วสถาปนาสิ่งที่เรียกว่า ระบบวงจรของไฟฟ้าที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งเรียกว่า Grid ก็คือมีการออกกฎหมาย พรบ.การไฟฟ้า ซึ่งจุดที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ให้อำนาจผูกขาดการผลิตไฟฟ้าให้อยู่กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแต่เพียงผู้เดียว และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็จะเป็นผู้ผลิตและกุมสายส่ง

โครงสร้าง 3 ส่วนของระบบไฟฟ้าในประเทศไทย
ตรงนี้ผมอยากจะขอแทรกว่า ถ้าเราดูระบบไฟฟ้าทั้งระบบ มันจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก.

ส่วนแรก ก็คือส่วนของ"เครื่องกำเนิดไฟฟ้า"ที่เรียกว่า Generator ซึ่งมีหลายแบบ มีทั้งเขื่อนพลังน้ำ มีทั้งส่วนที่ใช้พลังความร้อนจากถ่านหิน จากแก๊ส จากน้ำมัน มีแก๊สเธอร์ไบน์ อันนี้รวมเรียกว่า"ส่วนผลิต".
ส่วนที่สอง เมื่อผลิตแล้ว เขาก็จะส่งเข้าไปในสายส่งที่เรียกว่า transmission line แต่เดิม transmission line มันไม่มี, มันจะเป็น"กำเนิด"แล้วไปถึง"ผู้ใช้"เลย ไม่โยงกัน แต่การเกิดขึ้นของการไฟฟ้าและระบบผูกขาด มันทำให้ต้องเข้ามาคุมระบบ transmission line หรือระบบสายส่งให้รวมศูนย์ ภายใต้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต
ส่วนที่สาม ตั้งการไฟฟ้าภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง เป็นผัที่จะจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคซึ่งเรียกส่วนนี้ว่า Distribution อีกต่อหนึ่ง ก็คือรับไฟจากสายส่งของการไฟฟ้า แล้วก็ไปแปลงให้เข้ากับเครื่องไฟฟ้า แล้วก็ต่อสายไปตามบ้านต่างๆ สำหรับส่วนที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกับนครหลวงแบ่งกันทำ

กฎหมายที่เอื้อต่อการผูกขาดการไฟฟ้า
นับแต่นั้นมา ระบบการไฟฟ้าของเราก็เป็นระบบที่รวมศูนย์โดยกฎหมาย คนอื่นจะผลิตและขายไม่ได้แล้ว ถือว่าผิดกฎหมาย แต่จริงๆเขาบังคับไม่ได้ ทำให้ยังมีการกระจายย่อยๆอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในขณะนั้น เปอร์เซนต์ของการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยยังไม่สูงนัก ช่วงประมาณต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชนบทไทยใช้ไฟฟ้าเพียงแค่ 2 เปอร์เซนต์ ในขณะที่ปัจจุบันนี้ใช้เกือบจะ 100 เปอร์เซนต์ หมายความว่าการไฟฟ้าได้ต่อไฟเข้าไปในชนบทของไทยเกือบทุกบ้านทั่วประเทศ เขาใช้ตัวเลขว่า มากกว่า 98 % ของหมู่บ้านในประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้ที่ต่อโยงกับระบบ Grid แล้วในปัจจุบัน

เมื่อมีการออกกฎหมายอย่างนี้และมีระบบผูกขาดแบบนี้ ก็ทำให้ระบบซึ่งเคยเป็นเอกเทศค่อยๆหายไป มีตัวอย่างหลายตัวอย่างที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อน อย่างเช่นมีเขื่อนพลังน้ำเล็กๆ ซึ่งเรียกว่า Micro Hydro ขนาดเล็กกว่า 1 เมกกาวัตต์ ซึ่งเคยเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคนั้น แล้วก็ใช้ได้ผลดีอย่างเช่นที่แม่ออน จ. เชียงใหม่ มีเขื่อนไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีสหกรณ์ของเขารองรับ แล้วก็ใช้กันมาเป็น 10 ปี ได้ผลดี แต่ตอนนี้ทางการไฟฟ้าภูมิภาคต่อสายของตนเข้าไปถึง เลยต้องเลิกอันนั้นไป ตัวอย่างแบบนี้เกิดขึ้นเต็มไปหมดในประเทศไทย อันนี้คือภาพรวมๆที่เราเห็น

แต่ในขณะเดียวกัน ในช่วงนั้น การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นผู้เดียวในการที่จะลงทุนในการผลิตไฟฟ้า เขาก็จะกู้เงินจากธนาคารโลกเป็นหลัก ช่วงนั้นก็นำเอาเงินมาสร้างเขื่อน ผมต้องขอแทรกเรื่องบางอย่างตรงนี้ เพื่อให้พวกเราเห็นอะไรชัดขึ้นคือ มันมีแผนหลังจากการปฏิวัติในประเทศจีนในปี 1949 ซึ่งได้มีการย้ายองค์การสหประชาชาติมาที่ประเทศไทย ปัจจุบันคือเอสแคป.

นโยบายการพัฒนาของสหประชาชาติในภูมิภาคเอเชีย
สหประชาชาติที่ย้ายมานี้มีโครงการใหญ่อยู่ 2 โครงการ, โครงการหนึ่งก็คือ "โครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง" อีกโครงการหนึ่งก็คือ "ถนนสายเอเชียที่จะเชื่อมกับยุโรป" อันนี้เป็นความฝันของเขา

ส่วนของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ก็มีการจัดส่งคณะวิศวกรของทหารสหรัฐฯที่เรียกว่า US Engineering Corps มาสำรวจลุ่มน้ำโขงเพื่อจะสร้างเขื่อน ในขณะนั้นมีการวางแผนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนตัวแม่น้ำโขงเอง 7 เขื่อนใหญ่ เราคงได้ยินเรื่องเขื่อนผามองเป็นตัวอย่าง แล้วก็เขื่อนย่อยๆที่อยู่ตามลำน้ำสาขา อย่างเช่น สิรินธร... ปากมูลก็เป็นส่วนพวกนี้เช่นกัน

อันนั้นเป็นแผนใหญ่ของเขาในขณะนั้น ตั้งแต่ช่วงประมาณเริ่มต้นของสมัยรัฐบาลสฤษดิ์ มีการคิดว่าไฟฟ้าซึ่งจะผลิตได้จากเขื่อนในลุ่มน้ำโขง จะช่วยสร้างความไพบูลย์ให้กับภูมิภาคสุวรรณภูมิทั้งหมด ทั้งไฟฟ้า ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร นั่นก็เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ที่จะเอาชนะคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น

แต่ปรากฎว่าในความเป็นจริง สงครามซึ่งเกิดขึ้นในภูมิภาคก็ได้เปลี่ยนแม่น้ำโขง จากการเป็นวัตถุดิบในการพัฒนามาเป็นกำแพงกั้นระหว่าง 2 อุดมการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นโครงการต่างๆซึ่งมีการวาดฝันเอาไว้ ก็เงียบหายไป แต่ก็มีการสร้างเขื่อนย่อยๆบ้างในฝั่งไทย ตรงนั้นก็ทำให้ไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือไฟฟ้าในช่วงนั้น ถูกลดบทบาทสำคัญที่คิดว่าจะสร้างเขื่อน หันกลับเข้ามาสร้างในประเทศ เช่น มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนสริกิตตามมา แล้วมีการวางแผนหลายอัน

คือในช่วงนั้นเราคงเคยได้ยิน หลัง 14 ตุลา 16 ประเด็นเรื่องเขื่อนผามองคงเคยได้ยินกันบ้าง, อาจจะก่อน 14 ตุลา ด้วยซ้ำไปที่มีการพยายามผลักดัน แล้วก็เงียบไป แต่สมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ หลัง 6 ตุลา ได้เกิดวิกฤตน้ำมันขึ้นมา แล้วก็มองเรื่องน้ำมันว่าเป็นความมั่นคง ทางรัฐบาลจากเดิมที่เคยมี"การไฟฟ้าฝ่ายผลิต" แล้วก็มี"กรมพลังงานแห่งชาติ"ในขณะนั้น กรมพลังงานแห่งชาติตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะไปทำงานร่วมกับคณะกรรมการแม่น้ำโขง มี ดร.บุญรอด บิณฑะสันต์, ดร.ประเทศ สูตะบุตร อะไรพวกนี้เป็นยุคบุกเบิก ที่จะไปร่วมกับทางฝั่งแม่น้ำโขงในการสร้างเขื่อน แต่ปรากฏว่าอันนั้นดูเหมือนว่าจะล้มเหลว แล้วเห็นว่าการสร้างเขื่อนต้องกลับมาอยู่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แล้วก็เกิดวิกฤตน้ำมันขึ้น

ทางรัฐบาลได้ตั้ง"สำนักงานพลังงานแห่งชาติ"ขึ้นมาในช่วงต้นๆของรัฐบาลพลเอกเปรม ที่ปัจจุบันเรียกว่า สพช. แยกตัวออกมาจาก"กรมพลังงานแห่งชาติ" แล้วให้กรมพลังงานแห่งชาติไปเป็น"กรมส่งเสริมพลังงาน" ตรงนี้ก็เลยเริ่มมีตัวละครเพิ่มขึ้น คือมี"การไฟฟ้าฝ่ายผลิต"ในฐานะของรัฐวิสาหกิจ มี"กรมส่งเสริมพลังงาน"ซึ่งไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไหร่ เพราะว่าตัวเองไปเริ่มต้นกับเรื่องของแม่น้ำโขง แล้วก็มี"สำนักงานพลังงานแห่งชาติ" มาทำหน้าที่ที่เป็นผู้กำกับการไฟฟ้าอีกทีหนึ่ง

การไฟฟ้าก็เลยเริ่มบทบาทของตัวเองในการสร้างเขื่อนขึ้นมาในประเทศไทย เขื่อนที่มีการสร้างในช่วงนั้นก็คือ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนเขาแหลม แล้วปรากฎว่าต่อมาเมื่อมีแผนสร้างเขื่อนน้ำโจน ก็ได้เกิดกระบวนการต่อต้านขึ้นมาซึ่งผมจะลงรายละเอียดภายหลัง แต่ว่าอยากจะชี้ตรงนี้ก็คือว่า ในช่วงรัฐบาลเปรม มีวิกฤตเรื่องไฟฟ้า ทำให้มีการปิดไฟ ปิดโทรทัศน์ เป็นที่มาของเพลงฉันทนา ปิดไฟใส่กลอนในช่วงนั้น ทุกคนคงจำได้. ผลตรงนั้นทำให้เกิดการวางแผนขยายการผลิตไฟฟ้าอย่างรุนแรง โครงการเขื่อนต่างๆ โครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ จนได้เกิดการต่อต้านเขื่อนน้ำโจน แล้วพยายามที่จะผลักดันเรื่องแก่งกรุง เป็นต้น

การไฟฟ้าเริ่มเห็นว่าตัวเองคงจะสร้างโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะเขื่อนในประเทศไม่ง่ายแล้ว พอดีกับเป็นยุคที่สงครามเย็นเริ่มสงบลง แผนเดิมของภูมิภาคแม่น้ำโขงก็เริ่มปัดฝุ่นเข้ามาใหม่ ก็เป็นจังหวะที่พอดีการไฟฟ้าเห็นว่า ถ้าพูดถึงการสร้างเขื่อนในประเทศไทยที่ยากขึ้น คงจะต้องมองไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้เกิดโครงการความร่วมมือแม่น้ำโขงฟื้นขึ้นมาอีกทีหนึ่ง ถึงขนาดมีการฟื้นที่จะสร้างผามอง ทางสำนักงานแม่น้ำโขง เคยมีเลขาฯคนหนึ่ง ชื่อนายแรงคาสเตอร์ เคยผลักดันที่จะสร้างเขื่อนผามองขึ้นมาใหม่ เมื่อช่วงต้นปี 1990 แต่ว่าสุดท้ายก็ไม่สำเร็จ

นโยบายธนาคารโลกช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น การเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนเรื่องการไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน ธนาคารโลกในช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น ก็เริ่มมาส่งเสริมทางด้านภาคเอกชนเพิ่มขึ้น โดยให้เหตุผลว่า หนี้สินที่รัฐมี โดยเฉพาะเรื่องของการไฟฟ้าเยอะเกินไป ทำให้เกิดผลต่อภาระหนี้สินของประเทศ ธนาคารโลกก็ผลักดันประเทศไทยมาว่าจะต้องกำหนดเพดานเงินกู้ต่างๆประเทศ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดของประเทศที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน

การไฟฟ้ามีหนี้สินต่างประเทศสูงประมาณ 1.5 แสนล้าน ธนาคารโลกก็เริ่มต้นบอกว่า ถ้าคุณจะลงทุนต่อไป จะต้องเอาเงินรายได้ของตัวเอง 25% เป็นตัวตั้งในการลงทุน ในขณะเดียวกัน ธนาคารโลกก็เริ่มต้นที่จะบอกว่า คุณจะต้องเปิดให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงผลักดันนโยบาย 3 ส่วนเข้ามาคือ นโยบายการกำหนดเพดานเงินกู้รัฐวิสาหกิจ(1), นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ(2), และนโยบายเรื่องของการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนซึ่งจะนำไปสู่ตลาดเสรี(3).

ช่วงนี้เป็นช่วงประมาณปี 2535 เริ่มมีการปรับ พรบ.การไฟฟ้า โดยให้มีภาคเอกชน อันนี้เป็นยุคที่ผมข้ามไปถึงพัฒนาการของภาคเอกชน. ภาคเอกชนเริ่มเข้ามา โดยช่วงต้นมีการตั้งบริษัทลูกของการไฟฟ้าเข้ามาก่อน เรียกว่า ECGO โดยการไฟฟ้าถือหุ้น 100% แล้ว ECGO ก็ไปซื้อโรงไฟฟ้าที่ระยองและขนอมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกมา โดยที่ ECGO เองเป็นรูปของบริษัท เดิมการไฟฟ้าถือหุ้น 100% และหลังจากนั้นก็เอาเข้าตลาดหุ้น แล้วก็มีการขายให้เอกชนจนปัจจุบัน การไฟฟ้าเหลือหุ้นใน ECGO ประมาณ 25%

ECGO ก็คือตัวอย่างแรกที่พูดง่ายๆก็คือ เป็นปฏิกริยาต่อต้านผลของการประนีประนอมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ถูกผลักดันให้มีการแปรรูปออกมาเป็นของเอกชน แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไม่ยอม ก็เลยออกมาในรูปว่าทำให้เป็นไปในรูปของบริษัท แล้วส่งผู้บริหารของตัวเองเข้าไปคุม ปัจจุบันผู้บริหารของ ECGO ก็เป็นรองผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตด้วย 2 ตำแหน่ง อันนี้เป็นตัวอย่างอันที่หนึ่ง

อันที่สอง เปิดให้มีการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟรายย่อยที่เรียกว่า STP ก็คือว่า จริงๆแล้วในอุตสาหกรรม มันมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ในกระบวนการผลิต มันมีความร้อนเหลือที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ แต่ว่าเนื่องจากเดิมนั้น กฎหมายผูกขาดไม่ให้ผลิตไฟฟ้า จึงทำให้ไม่มีการนำเอาความร้อนเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ พอมีการแก้กฎหมายจึงทำให้มีผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยเกิดขึ้น เขาใช้เกณฑ์ว่าไม่เกิน 90 เมกกาวัตต์ เรียกว่า STP

ในช่วงปี 2533-2537 เริ่มเปิดให้มีการซื้อไฟฟ้าจาก STP เข้ามา คือ STP ผลิตไฟฟ้าขึ้นมาได้แต่เอาไปขายกับลูกค้าโดยตรงไม่ได้ จะต้องขายเข้า Grid ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตอย่างเดียว ต่อจากนั้นก็ได้มีการขยายต่อไปเป็น ITP ก็คือผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ซึ่งจะมีขนาดตั้งแต่ 350 - 1400 เมกกาวัตต์ มีการเปิดประมูลซึ่งเป็นกรณีของโรงไฟฟ้าหินกรูดและบ่อนอกที่เรารู้กัน 7 รายเข้ามา ประมาณ 5900 กว่าเมกกาวัตต์

นอกจากนั้นก็มีการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกรณีของประเทศลาว หลังจากหมดยุคสงครามเย็น ลาวก็มีการสร้างเขื่อนเพิ่ม จากเดิมซึ่งเคยมีเขื่อนน้ำงึม มีการสร้างเขื่อนโดยเฉพาะที่ชื่อเขื่อนเทินหินบูรณ์ กับเขื่อนห้วยห่อ ซึ่งให้เอกชนต่างชาติ ที่มีของไทยเข้าไปร่วมด้วยในฐานะผู้ลงทุน และก็ขายไฟฟ้าให้กับไทย เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นผู้ผูกขาดทั้งระบบ ก็ได้มีการเปิดให้มีสัดส่วนของบริษัทลูกตัวเอง สัดส่วนของ STP, ITP แล้วก็การซื้อจากต่างประเทศเข้ามา แต่ก็ยังคงผูกขาดระบบสายส่งอยู่.

ที่นี้ก็มาถึงคำถามที่ว่า ส่วนใหญ่ของผู้ผลิตเอกชนเป็นใคร เราไปดูแล้วก็พบว่า ผู้ผลิตของเอกชนในแง่ของทุนและเทคโนโลยี ส่วนใหญ่แล้วก็พึ่งพิงกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่เป็นบริษัทพลังงานใหญ่ๆ จากสหรัฐฯ อย่างเช่นบริษัทที่ชื่อเอดิสัน ซึ่งเป็นผู้ลงทุนของบริษัท Gulf ที่บ่อนอก เป็นต้น. หรือจากญี่ปุ่น อย่างเช่นโตเมน ที่ลงทุนในหินกรูด หรือจากยุโรป เช่น บริษัทใหญ่ชื่อ เอดีบี, โฟตุม ของฟินแลนด์ ก็จะเป็นอย่างนี้, หรือซีเมนส์ของเยอรมัน พวกนี้ก็จะเป็นพวกที่อยู่เบื้องหลังในเชิงของเทคโนโลยี แล้วก็มีเงิน คือหาเงินกู้หรือเงินลงทุนมาได้

แล้วก็ยังมีกลุ่มบริษัทไทยที่ทำตัวเป็นนายหน้าเข้าไปขอสัมปทาน แล้วก็มาจัดการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กลุ่มเหล่านี้ถ้าเรามดูก็จะพบว่า กลุ่มบุคคลซึ่งเข้ามามีบทบาท ก็คืออดีตผู้บริหารระดับสูงของการไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่น บริษัทล็อกเล่ย์ ก็เป็นบริษัทของครอบครัวของคุณเกษม จาติกวณิช ซึ่งเป็นเจ้าพ่อใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นต้น หรือบางส่วนมาจากบริษัทที่ปรึกษาที่ทำการศึกษาเรื่องของความเป็นไปได้ของโครงการขนาดใหญ่ที่เคยทำงานกับการไฟฟ้ามาก่อน ในการสร้างเขื่อน ในการสร้างโรงไฟฟ้า เช่น กรณีของบริษัทซึ่งในปัจจุบันใช้ชื่อว่า เอ็มดีเอ็กซ์ ซึ่งเป็นของคุณสุบิน ปิ่นขยัน ที่เคยทำงานกับแม่น้ำโขงมาก่อน แล้วก็ตั้งบริษัทที่ปรึกษาชื่อฟรีเท็กซ์ คือพูดง่ายๆได้คอนแทร็กท์ศึกษาเรื่องไฟฟ้ามาโดยตลอด

ส่วนอีกพวกหนึ่งก็จะเป็นพวกบริษัทก่อสร้าง เช่น ยิปซั่มไทย, ช.การช่าง, อะไรพวกนี้ ที่เข้าไปร่วมเพราะตัวเองจะได้สัดส่วนของโครงการก่อสร้างเข้ามา. อีกพวกก็จะเป็นพวกบริษัทเงินทุน ภัทรธนกิจบ้าง อะไรอย่างนี้... เพราะฉะนั้น รูปแบบของ ITP ก็จะออกมาในรูปที่เรียกว่า Joint adventure ก็จะมีบริษัทต่างชาติซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ และเป็นผู้กุมเรื่องเทคโนโลยี แล้วก็หาเงินทุน, บริษัทส่วนของไทยก็จะเป็นบริษัทส่วนที่เป็นที่ปรึกษา บริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไฟฟ้ามาก่อน และบริษัทก่อสร้าง บริษัทเงินทุนที่เข้ามา แล้วใช้ตัวบุคลากรซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารการไฟฟ้าเข้าไป

เพราะฉะนั้น เวลาที่เราดูถึงความสัมพันธ์ของการไฟฟ้าปัจจุบัน กับบริษัทเอกชนที่มาลงทุน ในแง่ของความสัมพันธ์บางทีเราแยกยาก ผู้บริหารการไฟฟ้าบางคนซึ่งแต่ก่อนนั้นเคยเป็นผู้เซ็นสัญญากับบริษัทนั้น ในขณะที่ตัวเองนั่งเป็นผู้บริหาร, อีก 2-3 ปีต่อมาเมื่อเกษียรอายุตัวเองได้ไปเป็นผู้บริหารของบริษัทดังกล่าว อันนี้จะเป็นปรากฎการณ์ทั่วไป แล้วตัวเองก็ยังมีลูกน้องที่อยู่ในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอยู่ต่อไป

แต่บทบาทอีกส่วนที่สำคัญก็คือว่า "สำนักงานการพลังงานแห่งชาติ"ได้กลายมาเป็น เหมือนกับตัวแทนผลักดันกระแสความคิดของธนาคารโลกในการแปรรูปไฟฟ้าและการเปิดเสรีทางการไฟฟ้าโดยผ่านมาทางเนปโป หรือ สพช.เข้ามา เพราะฉะนั้น บางครั้งเราจะเห็นไม้เบื่อไม้เบากันระหว่างคุณปิยสวัสดิ์กับสหภาพการไฟฟ้า กรณีการแปรรูป โดยเฉพาะกรณีโรงไฟฟ้าราชบุรี

สำหรับโรงไฟฟ้าราชบุรีก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งคือการไฟฟ้าสร้างทั้งหมด แล้วหลังจากนั้นก็นำมาขาย เดิมเขาต้องการขายให้กับบริษัทต่างชาติที่เรียกว่า Strategic Parthner คือกลุ่มพลังงานที่ผมว่า แต่สุดท้ายมีการเคลื่อนไหวกัน ก็เลยขายเข้าตลาดหุ้น อันนี้คือความสัมพันธ์และความเกี่ยวพัน

การผูกขาดอำนาจการตัดสินใจโดยกลุ่มขุนนางพลังงาน
แต่ผมอยากจะเรียนว่า การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตผูกขาดอยู่นานและรวมศูนย์อยู่นาน มันได้สร้างชุดของวัฒนธรรมหรือโครงสร้างของการผูกขาด ทั้งในเรื่องของวิชาการและอำนาจการตัดสินใจในระบบตรงนั้น แล้วทำให้ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการเกิดความหลากหลายโดยสิ้นเชิง มีคนกลุ่มที่ อ.นิธิ เรียกว่า"ขุนนางพลังงาน" เป็นกลุ่มของคนซึ่งผูกขาดในเรื่องของการวางแผนไฟฟ้า

เขาได้สร้างกระบวนการทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง การทำงานก็จะเริ่มต้นจากการมีขุนนางพลังงานกลุ่มหนึ่งที่จะมาทำหน้าที่คำนวณหรือคาดการณ์ไฟฟ้าอนาคตว่า มันจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ โดยดูไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เขาก็จะวางแผนซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว 3 แผนล่วงหน้า 15 ปี. เขาจะขอตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์ฯคำนวณ แล้วก็เอาตัวเลขนั้นมาเป็นฐานในการวางแผนว่าอีก 15 ปี แต่ละแผนความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มเท่าไหร่ ก็เป็นคนกลุ่มนี้ที่มาทำหน้าที่คำนวณ

หลังจากคนกลุ่มนี้คำนวณแล้ว ก็จะส่งเรื่องนี้มาให้การไฟฟ้าเพื่อการวางแผน ที่เรียกว่า PDP แผนพัฒนาไฟฟ้า ว่าจะสร้างโรงไหนบ้าง จะใช้เชื้อเพลิงยังไง แล้วหลังจากนั้นก็จะมีกระบวนการก่อสร้าง และดำเนินการอย่างนี้มาโดยตลอด. กลุ่มนี้ไม่เคยถูกตั้งคำถาม จริงๆแล้วคนไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร? ไม่ว่าในเรื่องของผลประโยชน์ ความแม่นยำในด้านข้อมูลอะไรต่างๆ

ภาคประชาชนกับการเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน
ผมอยากจะหันมาพูดถึงเรื่องของภาคประชาชน ประชาชนเริ่มตั้งคำถามกับส่วนต่างๆเหล่านี้ในยุคตั้งแต่สมัยเขื่อนผามอง แต่กรณีของผามอง คนในยุคนั้นที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องผามองไม่ได้มีข้อมูลเรื่องการไฟฟ้าหรอกครับ คิดเรื่องของผลกระทบของเขื่อนผามองเป็นหลัก

แต่หลังจากนั้นมาในยุคเขื่อนน้ำโจน ยุคน้ำโจนเริ่มต้นก็ไม่ได้คิดเรื่องพลังงาน คิดเรื่องของผลกระทบของเขื่อนต่อพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและผลกระทบอื่นๆ แต่ว่าในการถกเถียงเรื่องน้ำโจน เนื่องจากมันยาวและมีกระบวนการหลายกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง ประเด็นเรื่องไฟฟ้าเริ่มเข้ามาในบางระดับของการพูดคุย โดยเฉพาะมีการเริ่มนำความคิดเรื่องของการประหยัดพลังงาน ความคิดเรื่องการปรับระบบพลังงานให้มีประสิทธิภาพเข้ามาสนทนาในช่วงนั้น

จากนั้นเป็นต้นมา หลังจากหยุดเขื่อนน้ำโจนได้ ก็เริ่มทำให้คนที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งเริ่มคิดว่า ถ้าเราจะต้องสู้กับเรื่องเขื่อน เราจำเป็นต้องมี"ความรู้เรื่องพลังงาน"และ"เรื่องการจัดการน้ำ"สองส่วน เราจะไปสู้เรื่องเขื่อนอย่างเดียวไม่ได้ ก็เลยเริ่มเกิดมีการหาข้อมูลและศึกษาเรื่องพลังงานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อเริ่มเข้าไป ประเด็นที่ทางภาคประชาชน นอกจากตามไปเป็นเขื่อนๆแล้ว ก็ดูเรื่องของค่าไฟฟ้า คือค่าไฟฟ้าก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งมีความมืดมนอนธกาลมากในการคิดคำนวณ เพราะว่าแต่ก่อนค่าไฟฟ้าเป็นเรื่องการเมือง ก็คือว่าผู้มีอำนาจอนุมัติให้มีการปรับค่าไฟฟ้าได้ก็คือ ครม.เท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเวลามีการปรับค่าไฟฟ้าทีก็จะมีการเคลื่อนไหวออกมา เช่น สหภาพนักศึกษาออกมา อะไรอย่างนี้ ถ้ารัฐบาลแข็งก็ไม่ฟัง, ถ้าไม่แข็งก็ยอม ซึ่งก็เป็นอย่างนี้มาตลอด ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะล้วงเข้าไปว่า ที่มันไม่ชอบธรรมนั้นเป็นอย่างไร ? เพราะว่าค่าไฟฟ้ามีอัตราเดียว

กลไกค่า FT มายากลของการไฟฟ้าในการผลักค่าใช้ไปให้ประชาชน
แต่พอมายุคของรัฐบาลอานันท์ เริ่มมีการปรับกลไกเรื่องค่าไฟฟ้า โดยเริ่มให้มีค่าที่เรียกว่า FT ขึ้น. FT ก็คือว่า ค่าไฟฟ้าฐานต้องอนุมัติโดย ครม. แล้วทางการไฟฟ้าบอกว่าเป็นการเมืองโดยตลอด และเขาไม่สามารถปรับได้ทัน แต่ยุคของรัฐบาลอานันท์ เป็นยุคที่เริ่มเปิดเสรีในเรื่องของราคาบางตัว โดยเฉพาะน้ำมันที่เราเรียกว่าน้ำมันลอยตัว การที่มีการเปลี่ยนนโยบายเรื่องการให้ค่าน้ำมันลอยตัว เป็นข้ออ้างของการไฟฟ้าว่า เขาไม่สามารถวางแผนเรื่องราคาเชื้อเพลิงได้ เพราะมันลอยตัว เมื่อเป็นอย่างนี้ ราคาค่าไฟฟ้าที่คิดอยู่มันใช้ไม่ได้แล้ว จะต้องมีอีกตัวหนึ่งซึ่งไปรับการผันผวนของราคาเชื้อเพลิง ก็เลยมีกลไกที่เรียกว่า FT ขึ้นมา

FT เป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายทางด้านค่าเชื้อเพลิงที่แตกต่างไปจากการวางแผน เพราะฉะนั้น FT เดิมจะเป็นบวกก็ได้ จะเป็นลบก็ได้ ก็คือว่าถ้าราคาจริงมันต่ำกว่าที่วางแผน FT มันก็ควรเป็นลบ ถ้ามันสูงกว่าก็เป็นบวก แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการนำ FT เข้ามาใช้ ตรงนี้ก็กลายเป็นประเด็นที่การไฟฟ้า เอาตรงนี้มาเป็นช่องว่างในการยัดค่าใช้จ่ายทั้งหลายที่ตัวเอง ผลักลงไปให้กับประชาชนตรงนั้นทั้งหมดโดยที่ไม่มีการควบคุมหรือตรวจสอบได้. เพราะฉะนั้น ประเด็นเรื่อง FT จึงกลายเป็นเรื่องใหม่ ภาคประชาชนเริ่มมีการรณรงค์และทำความรู้จักกับค่า FT มีการรณรงค์เรื่องค่าไฟฟ้าขึ้นมา จนทำให้สังคมเริ่มมีคำถามเรื่อง FT

แล้วกรณีของ ITP ซึ่งเป็นเรื่องของเอกชนผลิตไฟฟ้า ก็เริ่มมีโครงการซึ่งเกิดการคัดค้านขึ้นโดยเฉพาะ เรื่องของการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด และบ่อนอกขึ้นมา และตรงนี้ก็เลยมาถึงประเด็นการถกเถียงที่เริ่มตั้งคำถามว่า จริงๆแล้ว ไฟฟ้าของบ้านเรามันมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มมากน้อยแค่ไหน ? สัญญาที่ทำกับเอกชนมันได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร ? และภาระต่างๆมันถูกผลักให้กับผู้บริโภค มันจำเป็นหรือไม่ อย่างไร ? เป็นการนำมาสู่การถกเถียงในช่วงนี้มากขึ้น

สรุป
ผมอยากชี้ให้เห็นว่า อันนี้ก็เป็นพัฒนาการที่ผ่านมาซึ่ง เราพบว่า การรวมศูนย์ที่ถูกสร้างขึ้นของระบบไฟฟ้า ซึ่งเกิดขึ้นมาในช่วงนโยบายการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ มันได้สร้างอาณาจักรการผูกขาดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมายาวนานถึง 30 ปี แล้วธุริกจอันนี้มันมีมูลค่ามหาศาล ก็คือปีหนึ่ง การไฟฟ้าจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้ากว่าแสนล้านบาท การลงทุนของการไฟฟ้าในแต่ละปี บางปีสูงถึง 5-6 หมื่นล้านบาท แต่ระยะหลังลดลงมาเหลือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แล้วการไฟฟ้าได้เติบโตมีเจ้าหน้าที่ถึง 3 หมื่นกว่าคน

ขณะนี้เริ่มมีการเปลี่ยน แต่การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า มันไม่ได้เปลี่ยนจากระบบผูกขาดหรือรวมศูนย์ที่นิยมโครงการขนาดใหญ่ๆ มันเพียงแค่เปลี่ยนมาให้เอกชน ธุริกจ กลุ่มทุนเอกชน ได้เข้ามามีส่วนแบ่งในธุรกิจ แต่โครงสร้างยังคงเหมือนเดิม โดยที่ไม่ได้มีการปรับปรุงอะไร

เพราะฉะนั้น ตรงนี้ที่อยากจะชี้ก็คือว่า ดูเหมือนว่าภารกิจของภาคประชาชนที่ได้เข้าไปมีบทบาทในการต่อสู้นั้น ยังอีกยาวไกลที่จะทำให้ระบบผูกขาดและรวมศูนย์นี้มันออกมาจากกลุ่มผลประโยชน์ หรือว่าปัญหาที่เราจะต้องตามแก้หรือตามสู้กันในเรื่องที่จะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นที่นั่นที่นี่ ก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ตราบใดที่เรายังไม่สามารถที่จะรื้อโครงสร้างอันนี้ โดยเปิดให้จินตนาการที่เอดิสันเคยคิดไว้เมื่อสองรอยปีก่อน ที่มีความหลากหลาย แล้วก็กระจัดกระจายการจัดการด้านไฟฟ้าไปในที่ต่างๆ โดยที่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้บริโภคก็ดี หรือว่าในรูปของชุมชนหรือสหกรณ์ก็ดี สามารถที่จะเข้าไปดำเนิการ โดยใช้เชื้อเพลิง เทคโนโลยีที่เขาสามารถหาได้ในท้องถิ่น ผมว่าตรงนี้ยังอีกยาวไกล

แต่ว่าอย่างน้อยที่สุด ม่านหรือเมฆของความดำมืดที่มันเป็นแดนสนธยาได้เริ่มเปิดออกมาแล้ว และประชาชนเริ่มที่จะเข้าไปเห็นอะไรมากขึ้น ผมอยากจะขอแค่นี้ก่อน

 

คลิกไปหน้าบทความถอดเทปเรื่อง"ประวัติและพัฒนาการมาเฟียพลังงาน"
(บทความลำดับที่ 169/2 ช่วงสนทนาในชั้นเรียน ม.เที่ยงคืน)

 

หมายเหตุ : หากพบคำที่สะกดผิด เขียนผิด เข้าใจผิด หรือข้อผิดพลาดใดๆ
ขอช่วยแจ้งให้ผู้รับผิดชอบเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทราบด้วย
โดยแจ้งไปที่ midnight2545(at)yahoo.com หรือ
midnightuniv(at)yahoo.com ขอบคุณครับ

คลิกไปยังหัวข้อเกี่ยวเนื่องเรื่องพลังงาน

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

 

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 169 เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 5 เม.ย.2545

ประวัติและพัฒนาการมาเฟียพลังงาน
(พลังงานกับเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม)

ผู้นำเสวนาชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
วิทูร เพิ่มพงศาเจริญ : เลขาธิการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2545 : เวลา 14.30 น
ณ สวนอัญญา อ.เมือง จ. เชียงใหม่

หัวข้อบรรยายหลัก

- ประวัติและพัฒนาการของการไฟฟ้า
- การไฟฟ้าหลังสงครามโลกครั้งที่สองในฐานะยุทธศาสตร์ของ
การพัฒนา และการต่อต้านคอมมิวนิสต์
- โครงสร้าง 3 ส่วนของระบบไฟฟ้าในประเทศไทย
- กฎหมายที่เอื้อต่อการผูกขาดการไฟฟ้า
- นโยบายการพัฒนาของสหประชาชาติในภูมิภาคเอเชีย และนโยบายธนาคารโลกช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น
- การเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนเรื่องการไฟฟ้า
- การผูกขาดอำนาจการตัดสินใจโดยกลุ่มขุนนางพลังงาน
- ภาคประชาชนกับการเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน
- กลไกค่า FT มายากลของการไฟฟ้าในการผลักค่าใช้ไปให้ประชาชน
- สรุป