บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ประจำเดือนธันวาคม 2545 ลำดับที่ 223 ชื่อเรื่อง "The Piggest Link : ตุ้ยนุ้ยตลอดกาล" โดย นิษฐา หรุ่นเกษม
"The Piggish
Link : ตุ้ยนุ้ยตลอดกาล
โดย นิษฐา หรุ่นเกษม
กว่า 46 หัวข้อจากคอลัมน์ "Health" ในเว็บสำหรับผู้หญิงของ www.simplemag.com เป็นเรื่องราวและคำแนะนำต่างๆสำหรับสาวๆที่อยากลดความอ้วน เช่น "สาเหตุไหนที่ทำให้คุณอ้วน" "เตรียมตัว ลดน้ำหนัก" "ไม่อ้วนเอาเท่าไร" "สูตรสำเร็จสำหรับการเป็นเวิร์กกิ้งวูแมนหุ่นสวย" ฯลฯ
กว่าครึ่งของคำเรียกคนอ้วนในสื่อต่างๆ ทั้งในเกมโชว์ รายการตลก รายการละคร ไม่เคยพ้นไปจาก ตุ้ยนุ้ย ตุ่ม ตุ่มสามโคก ไหกระเทียมต่อขา พังแป้น ช้างน้ำ ฮิปโป หมูอ้วน ฯลฯ
กว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ของภาพของคนอ้วนในโทรทัศน์คือการเป็นคนใช้ เป็นตัวประกอบเพื่อช่วย นางเอกพระเอก หรือบางทีก็เป็นสมุนของตัวโกงหรือนางอิจฉา เป็นตัวตลก เฟอะฟะ เพื่อเรียกเสียงหัวเราะและความบันเทิงจากท่านผู้ชม ไม่เคยมีภาพของคนอ้วนที่จะได้ตำแหน่งผู้บริหารในละคร แต่ถ้ามีคนอ้วน คนนั้นก็จะเป็นเจ้าพ่อหรือเจ้าแม่ของแก๊งอันธพาล
กว่าพันเปอร์เซ็นต์ของภาพผู้หญิงที่ปรากฏในสื่อ เราจะได้เห็นแต่ภาพของผู้หญิงที่สวยมากและผอมมาก ใส่เสื้อผ้าตัวเล็กๆ ผ้ายืดแนบเนื้อ กางเกงเอวต่ำ ทรงแคบ ภาพดังกล่าวถูกนำเสนอควบคู่ไปกับคอลัมน์ลดต้นขาให้เพรียวสวย เซย์กู๊ดบายบั้นท้ายดินระเบิด พร้อมๆกับโฆษณาอาหารลดน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดไขมัน ลดเซลลูไลต์ กระชับสัดส่วน ศูนย์บริการความงาม และสถาบันลดความอ้วน พร้อมๆกันนั้นในโลกแห่งความเป็นจริง เสื้อผ้าในห้างสรรพสินค้ายันเปิดท้ายขายของ เสื้อผ้าที่คนอ้วนจะสามารถซื้อใส่ได้มีแต่ชุดคลุมท้องอย่างเดียวเท่านั้น
ในขณะเดียวกันเนื้อหาหรือเรื่องราวในสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นละคร นวนิยาย คอลัมน์ปรึกษาปัญหาใจทางหน้าหนังสือพิมพ์ และในนิตยสารสำหรับผู้หญิง ยังตอกย้ำปัญหาให้ได้รับรู้กันอยู่เสมอว่า ผู้ชายที่แต่งงานแล้วมักจะนอกใจภรรยาไปตกหลุมรักผู้หญิงที่อายุยังน้อย ทั้งสวยและทั้งผอม
ทั้งหมดนี้ทำให้เราสามารถอ่านนัยยะระหว่างบรรทัดของสื่อมวลชนได้ว่า "ความอ้วนเป็น สิ่งเลวร้ายแปลกปลอมที่ผู้หญิงควรหลีกไกล" ขณะเดียวกัน ภาพของนางแบบที่ผอมซึ่งถูกนำเสนอควบคู่ มากับความสวยได้กลายเป็นมาตรฐานในการตัดสินคน เรามีคุณค่าแค่ไหน เราเป็นสมาชิกของสังคมนี้ ได้หรือไม่ ภาพลักษณ์ความผอมของเราจะเป็นตัวตัดสินชี้ชะตา
หากเราสืบค้นร่องรอยปรากฏการณ์การนำเสนอภาพตัวแทนของคนอ้วน ในทางเหยียดต่ำด้อยค่าในสังคมไทยนั้น เราก็จะพบว่า สามารถมองย้อนกลับไปได้ถึงยุคแรกของการสร้าง และนำเสนอมาตรฐานสังคม "ความผอมคือความสวย" ให้เป็นภาพในอุดมคติของผู้หญิงชาวตะวันตก โดยเริ่มตั้งแต่สมัยที่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่มีคริสเตียนดิออร์ ลังโคม และ Mini-skirt เป็นตัวเร่งปรากฏการณ์
ตลอดจนการเกิดวัฒนธรรมการอดอาหารหลังสงครามในสังคมตะวันตกที่ "ความผอมไม่ได้หมายถึง ความจน"(1) มาตรฐานสังคมดังกล่าวถูกถ่ายทอด แผ่ขยาย กระจายอิทธิพลไปยังสังคมต่างๆทั่วโลกที่มีค่านิยม เห็นตะวันตกเป็นเจ้าครอบครองอยู่ก่อนแล้ว ไม่เว้นแม้แต่สังคมไทย ด้วยการสนับสนุน กระตุ้นเร้าจากสื่อมวลชน ที่กดขี่สตรีด้วยวาทกรรมต่างๆของอุดมการณ์หลักตามยุคตามสมัย
ประวัติศาสตร์ของความอ้วน ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใดล้วนเป็นเรื่องของการใช้อำนาจกับร่างกายของคน โดยเฉพาะร่างกายของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจาก "อำนาจ" ของสังคมและวัฒนธรรมมาโดยตลอด ภาพความอ้วนที่ถูกประกอบสร้าง เปรียบได้ดั่งอัตลักษณ์แห่งตัวตนที่ความหมายจากการสร้างเลื่อนไหล ไปมา ดังเช่นในสมัยก่อน ภาพคนอ้วนของทั้งผู้หญิงและผู้ชายในสังคมไทยที่ได้รับค่านิยมมาจาก วัฒนธรรมจีน จะถูกให้ความหมายในเชิงบวกจากคนรอบข้าง ว่าเป็นสิ่งที่ดี มีคุณค่า เป็นสัญลักษณ์ของ ความร่ำรวยอิ่มหนำสำราญ เป็นเสี่ยและเถ้าแก่เนี้ย
แต่ในปัจจุบันตัวตนของคนอ้วนถูกสร้างความหมายใหม่จากอิทธิพลของสังคมตะวันตก ความอ้วนที่รับรู้ที่อยู่ในความคิดความเชื่อ คือ การปล่อยตัว การไม่รู้จักดูแลตัวเอง การไม่รักตัวเอง และหมายถึงการนำไปสู่การหมดคุณค่าในสังคม
นอกเหนือจากภาพตัวแทนของคนอ้วนผ่านสื่อต่างๆ ที่หลอมรวมและมีส่วนทำให้คนอ้วนรับเอาความรู้สึกด้อยค่า ความรู้สึกของการเป็นคนต่ำเตี้ยติดแผ่นดินแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นในลำดับต่อมา คือ ภาพลวงตาจากสื่อมวลชน ที่ดูเหมือนจะหวังดีเปิดที่ทางให้กับคนอ้วนในแผ่นฟิล์ม เช่น ในภาพยนตร์จีน เรื่องหนึ่งที่พยายามเปิดพื้นที่ให้กับคนอ้วนได้เป็นนางเอก แต่ภาพของนางเอกในเรื่องก็คือการที่เธอตั้งหน้าตั้งตาลดความอ้วน เพื่อให้ผู้ชายที่เธอรักหันมาสนใจในตัวเธอ
ในท้ายที่สุดแล้ว เมื่อเธอลดความอ้วนได้ สิ่งตอบแทนที่เธอได้รับก็คือรักแท้จากพระเอกซึ่งเคยอ้วนเหมือนกันมาด้วย ในขณะที่ผู้ชายที่เธอเคยรัก แต่เขาไม่สนใจเพราะเธออ้วน ฉากสุดท้ายสำหรับเขาคือ การกลายเป็นคนอ้วนและเป็นตัวตลกสำหรับสังคม คงไม่อาจคิดเป็นอย่างอื่นได้อีก นอกเหนือจากว่าการเปิดพื้นที่ให้กับคนอ้วนได้เหยียบยืนนั้น ก็ยังคงเป็นเรื่องของภาพลวง เป็นความฉาบฉวย พื้นผิว และจมอยู่ในวังวนของอุดมการณ์เดิมๆไม่เคยเปลี่ยน
การเปิดพื้นที่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือการทำให้คนอ้วนกระเด็นออกจากพื้นที่ของสังคมไกลออกไป ยิ่งกว่าเดิม เป็นคน "อื่น" ที่ช่างแตกต่าง ต้อยต่ำ และไร้ค่า
กรณีดังกล่าวนั้น มีความคล้ายคลึงกับการเปิดพื้นที่ให้กับกะเทยในละครโทรทัศน์เรื่องชายจริง หญิงแท้ นั่นคือ กะเทยสามารถอยู่ในพื้นที่สาธารณะได้ ราบเท่าที่ไม่ไปสั่นคลอนความสัมพันธ์ทางเพศแบบปกติ เพราะคนดูละครไม่อาจรับพระเอกที่มีแฟนเป็นกะเทยได้ พูดอีกนัยยะหนึ่งคือ กะเทยมีที่ทางทางสังคมได้แต่ต้องเป็นคน "ไม่มีเพศ"(2)
ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งก็คือ การทำให้คนอ้วนด้อยค่าถาวรในปัจจุบันยังก้าวลึกลงสู่เรื่องของ จิตใจมากกว่าเพียงเรื่องของภาพผิวที่ปรากฏเห็นจากภายนอก กระแสที่เปลี่ยนไปจากสังคมที่เริ่มจะรู้เท่าทันสื่อ ทำให้สื่อมวลชนอำพรางโฉมหน้าที่แท้จริง ด้วยการเปลี่ยนมาใช้วาทกรรมในทางบวก อย่างเช่นการเปลี่ยนวาทกรรมจาก 'before and after' มาเป็น 'fitness and healthy'
ความผอมไม่ได้มีคุณค่าโดยการทำให้สวย เซ็กซี่ หุ่นดีแต่เพียงอย่างเดียว แต่ความผอมคือการมีร่างกายแข็งแรงและสุขภาพดี เป็นเรื่องของ หลักจิตวิทยา การเอาชนะจิตใจและควบคุมตนเองได้สำเร็จ ดังเราจะพบเห็นได้จากคอลัมน์การกินอาหารให้ถูกเพื่อสุขภาพ คอลัมน์ค้นหากิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม รวมถึงอำนาจในการพูดถึงความอ้วนยังได้รับการหยิบยื่นให้อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โภชนากร หรือผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม
แม้งานเขียนชิ้นนี้จะไม่มุ่งหมายกล่าวร้ายให้โทษสื่อมวลชนเพียงอย่างเดียว ว่ามีส่วนสำคัญในการตอกย้ำ นำเสนอ หรือผลิตซ้ำความหมายที่เหยียบย่ำความอ้วนและคนอ้วน แต่จะมุ่งมองไปที่ระบบของอำนาจในทางการเมือง และเศรษฐกิจ ในระบบทุนนิยมตะวันตกที่ไม่อาจมองเห็นได้อันเป็นตัวชักโยงใยที่อยู่เบื้องหลัง
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มุ่งหมายป้ายความผิดให้สื่อมวลชน แต่สื่อมวลชนในความหมายของ มหามิตรผู้ถ่ายทอดความจริงและฐานันดรสี่ผู้มีจรรยาบรรณอันสูงส่ง ควรจะสำนึกตัวเองในการยอมตนลงเป็นเครื่องมือของการครอบงำและควบคุม ด้วยการถ่ายทอดวาทกรรมกระแสหลักและชุดปฏิบัติการต่างๆในสังคม ผลิตซ้ำความหมายแห่งการย่ำยี รวมถึงการสร้างความจริงชุดใหม่ ที่ตอกย้ำซ้ำดาบให้คนอ้วนกลายเป็นคนด้อยค่าไร้ตัวตน เป็น "คนอื่น" ในสังคม เพื่อให้ระบบอำนาจเงิน อำนาจการเมืองในสังคม ปิตาธิปไตย ตลอดจนค่านิยมเทิดทูนตะวันตกไว้เหนือหัว สามารถธำรงอยู่ได้ตราบนานเท่านาน
อำนาจหนึ่งดังที่กล่าวในข้างต้นนั้น เกิดจากการที่ร่างกายของผู้หญิงถูกวัฒนธรรมถือชายเป็นใหญ่ใช้เป็นพื้นที่สำหรับรองรับการข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ เหยียบย่ำ กดขี่ ในขณะเดียวกับที่เพื่อกันผู้หญิงไม่ให้มีส่วนในพื้นที่ของ "อำนาจ" มาตรฐานความสวยความงามของสังคมที่ไม่อาจทำให้เป็นไปได้จริง ถูกนำมาใช้ถ่ายทอดผ่านสื่อเพื่อครอบงำกดกักให้ผู้หญิงหมกมุ่น ใช้เวลาทั้งหมดที่มีอยู่ไปกับการทำให้ตัวเองได้ติดเป็นหนึ่งในมาตรฐานความสวยงามนั้น
ผู้หญิงที่อ้วนจะถูกทรมาน บีบบังคับ ให้เห็นดีเห็นงาม หรือให้คิดถึงแต่เรื่องการทำให้ตัวเองจะสวยจะงามจะหุ่นดี ไม่สนใจเรื่องราวหรือความเป็นไปทางการเมือง ไม่สนใจความด้อยสิทธิ์หรือการถูกกระทำต่างๆจากสังคม และในพร้อมกันนั้น ผู้หญิงเองก็จะเห็นผู้หญิงด้วยกันเป็นศัตรู ผู้หญิงอ้วนจะหมั่นไส้ผู้หญิงผอม ผู้หญิงผอมจะรังเกียจผู้หญิงอ้วน ต่างฝ่ายต่างเหยียบยืนคนละพื้นที่ จนไม่สนใจที่จะต่อสู้ร่วมกันหรือรวมพลังกันเพื่อจะเปลี่ยนแปลงสังคม
ยิ่งไปกว่านั้น อีกอำนาจหนึ่งที่โยงใยให้สื่อสร้างความอ้วนเป็นอัตลักษณ์เชิงด้อยค่า ยังเกิดจากระบบทุนนิยมตะวันตก ที่หันมาเน้นระบบการบริโภคมากกว่าการผลิต อุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรม เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมความงามต่างๆ ล้วนมีผู้หญิงเป็นกลุ่มเป้าหมาย การประกอบสร้าง "วาทกรรม" ด้วยความช่วยเหลือจากสื่อมวลชนจึงเกิดขึ้น
ปฏิบัติการทางสังคมต่างๆ ที่มุ่งเป้าโจมตีมายังพื้นที่ร่างกายของผู้หญิง เป็นไปเพื่อเร่งเร้าให้คนอ้วนหาทางออกหรือใช้กลไกในการระบายความรู้สึกต่ำต้อย ชดเชยความรู้สึกเจ็บปวดด้วยโลกที่ตนเองมีอำนาจจากการซื้อ ด้วยการกระหน่ำซื้อ กระหน่ำช้อปปิ้งสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆที่สวมเสียบแทนความหมายของคำว่า "ผอม" คำว่า "สวย"
สังคมทุนนิยมแยกผู้หญิงอ้วนที่มีกำลังซื้อด้วยการส่งเสริมให้ซื้อ แยกผู้หญิงอ้วนที่จนให้ทนทรมานยอมทำงานหนักทุกวิถีทางเพื่อให้มีเงินไปซื้อ สังคมทุนนิยมเปลี่ยนคนอ้วนไม่ว่าจะชนชั้นใดให้กลายเป็นมนุษย์ผู้บริโภคอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง
นอกจากนั้นแล้ว ที่น่าเศร้าและสะเทือนใจอย่างยิ่งก็คือ การที่สังคมทุนนิยมนำผู้หญิงผอมมาใช้เป็นเครื่องมือ ในการขยายระดับการบริโภคของผู้หญิงอ้วนให้มากมายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สถาบันเสริมความงามลดความอ้วนในประเทศไทยผุดขึ้นมายิ่งกว่าดอกเห็ดบาน เช่น การนำเสนอภาพของนางแบบที่สวย ที่ผอม ที่ใช้สินค้าหรือบริการต่างๆในภาพโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นครูเคท อารยา เอฮาร์เก็ต จากบอดี้เชฟ หรือใหม่ เจริญปุระ ในโฉมใหม่จากแมรีฟรานซ์
ภาพของนางแบบแสนสวยดังกล่าว ถูกอ่านความหมายแต่เพียงสิ่งที่มองเห็น คนอ้วนที่ถูกทำร้ายให้บาดเจ็บทางจิตใจอย่างแสนสาหัสจากความพยายามในการลดหุ่นไม่สำเร็จ ฝากความหวังไว้กับสินค้าหรือบริการลดหุ่นเหล่านั้นว่าจะเป็นตัวช่วยเยียวยา ตลอดจนฉุดรั้งตนให้อยู่ในกลุ่มมาตรฐานความงามของสังคมเหมือนกับผู้เป็นนางแบบได้ แต่ด้วยจิตใจที่อ่อนล้า สายตาที่ถูกปิดให้มืดบอดจากความเป็นจริง
เราจะไม่ฉุกคิดเลยว่า ภาพของนางแบบเหล่านี้ผ่านการตกแต่งทางเทคนิคอย่างมหาศาล เพื่อให้ดูดีและสวยงาม จนเราเกิดความ "อยาก" ที่จะเป็นแบบนั้นบ้าง และทำให้เราอ่านความหมายไม่ออกเลยว่า นางแบบเหล่านี้ก็คือคนที่ถูก "อำนาจ" เบื้องหลังเล่นงานเช่นเดียวกับเรา และที่สำคัญคือ เราจะไม่ตระหนักรู้เลยว่า เมื่อ "มนุษย์แสวงหาสิ่งที่ไม่มี เลยได้แต่ สิ่งที่ไม่มี และก็อยู่กับสิ่งที่ไม่มี"(3)
เมื่อเราต่างได้รับรู้รากเหง้าของการใช้อำนาจและวัฒนธรรมต่อร่างกายของผู้หญิงดังกล่าวแล้ว เราย่อมตระหนักได้ในพลันว่า ผลลัพธ์ของระบบอำนาจและวัฒนธรรมแบบนี้มีแต่ก่อให้เกิดปัญหา สร้างความเลวร้ายและรุนแรงต่อผู้หญิงทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะฉะนั้น จะหาทางออกได้อย่างไรในการปลดแอกผู้หญิงจากกับดักในร่างกายของตัวเอง
แนวคิดหนึ่งเริ่มจากความจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้หญิงจะต้องกระทำ ก็คือการตรวจสอบความเชื่อ ระบบวิธีคิด และระบบคุณค่าที่มีอยู่ของตัวเอง เพื่อที่จะปฏิเสธการครอบงำ หลอมรวมอัตลักษณ์เชิงด้อย จากการถูกแปะป้ายด้วยคำว่า "อ้วน" ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยอมจำนนต่อกรอบความคิดในระบบคุณค่าแบบเก่าที่เห็นชายเป็น "เจ้าโลก" และการตกอยู่ใต้อิทธิพลของลัทธิบริโภคนิยม ที่ซึ่ง ณ บัดนี้ หากมองด้วยสายตาของยุคหลังสมัยใหม่ ระบบเก่าก็คือความเก่าที่พ้นสมัยไร้อิทธิพลไปแล้วโดยสิ้นเชิง
การเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนวิธีคิดแบบใหม่ จะส่งผลถึงการเปลี่ยนสำนึก เปลี่ยนความรู้สึก เปลี่ยนพฤติกรรมของเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลดตัวเองให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสของอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ อันจะส่งผลต่อการคลี่คลายพฤติกรรมการซื้อ "สัญญะ" แบบไร้สำนึกได้
อีกแนวความคิดหนึ่งคือ กระแสแห่งการโต้กลับการสร้างความหมายของความสวย ด้วยการให้ คุณค่าที่ความผอม แนวคิดเรื่องการสร้างความแตกต่างที่เท่าเทียมทำให้เส้นขีดกั้นระหว่างความผอมและความอ้วนค่อยๆลบเลือนและจางหายไป ภาพความอ้วนที่ผ่านการนำเสนอในสื่อถูกประกอบสร้าง ความหมายใหม่ในเชิงบวก กรณีตัวอย่างที่เห็นได้เป็นรูปธรรมชัดเจนกรณีหนึ่ง เช่น การจัดงานประกวดราชินีช้าง ใครจะคิดว่าคนอ้วนจะเป็นเทพีได้ ใครจะคิดว่าสายสะพาย คฑา และมงกุฎ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำหรับความสวยอันเกิดจากความผอมของผู้หญิงนั้น จะอยู่ในมือของคนอ้วนได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังมีอีกหลายสายตาหลากความคิดที่คลางแคลงใจในความเท่าเทียมนี้ แต่หากมองว่านี่คือสิ่งที่เราเลือกจะเป็น เลือกจะใช้ความอ้วนที่เรามีอยู่มานำเสนอ ความเท่าเทียมและความสุขอาจเป็นภาพจริงที่เกิดขึ้นได้
ในท้ายที่สุด หากนึกถึงพลังอำนาจอันมหาศาลของหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่ว่า "อนิจจังวัฏฏะสังขารา" การยึดมั่นในพุทธวจนะดังกล่าว ก็จะช่วยให้เราปลงและเลิกมองแต่มุมที่เจ็บที่ปวดของการมี ร่างกายที่อ้วนได้ เพราะไม่ว่าคนอ้วนหรือคนผอม คนสวยหรือคนขี้เหร่ ทุกคนต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายด้วยกันทั้งนั้น และภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนานั้น มีที่ทางสำหรับทุกคนทุกกลุ่มเสมอ และที่ทางนั้นก่อให้เกิดความสุขทางจิตใจอย่างแท้จริง
Footnote
(1) Macdonald, Myra.(1995). Representing women: Myths of femininity in the popular media. New York: Edward Arnold.
(2)อภิญญา เฟื่องฟูสกุล. (2543). "พื้นที่ในทฤษฎีสังคมศาสตร์" วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 2.
(3)ศรันย์ บุญประเสริฐ. อีกคุรุที่ล่วงลับ. คอลัมน์ชีพจรลงเท้า. ในนิตยสารแพรว. ปีที่ 24 ฉบับที่ 555 (10 ตุลาคม 2545), หน้า356-358
(บทความนี้ยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4)
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม word)