Midnight's Education
December 2000

ความรุนแรงไม่ได้หมายความง่ายๆเพียง
การทำร้ายกันและกันเท่านั้น

ในขณะที่โลกมีอาหารพอสำหรับทุกคน
แต่มีคนจำนวนมากต้องอดอาหาร
ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของสรรพสิ่งบนโลก
แต่มีมนุษย์บางพวกได้เข้าครอบครองเป็นเจ้าของ
และใช้มันอย่างฟุ่มเฟือย
ขาดการทนุถนอมสำหรับสรรพชีวิต
ในขณะที่ ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน
แต่มีบางคนมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น
ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นตัวอย่างของความรุนแรงทั้งสิ้น
ซึ่งแฝงมากับความสลับซับซ้อน
ที่ซ่อนตัวอยู่กับโครงสร้างทางสังคม

เราจะมีทางออกสำหรับสิ่งเหล่านี้ไหม ?
พบกับคำตอบเหล่านี้ได้ ในบทความที่ถอดมาจาก
เทปบันทึกเสียง การเสวนา

Education for Peace
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
วันพฤหัสที่ 14 ธันวาคม 2543
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ
ชมรมเสวนาและการดนตรี
คณะวิจิตรศิลป์ มช.
ได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง
"การศึกษา
เพื่อสันติภาพ"

โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ
นิธิ เอียวศรีวงศ์
ชัชวาล ปุญปัน, ประมวล เพ็งจันทร์
วารุณี ภูริสินสิทธิ์
ไพสิฐ พาณิชย์กุล
สมเกียรติ ตั้งนโม / ดำเนินรายการ

ที่ห้อง 1307 คณะวิจิตรศิลป์ มช.
เวลา 17.30-19.30 น.
(ความยาวประมาณ
16 หน้ากระดาษ A4)
เกริ่นนำ : การศึกษาเพื่อสันติภาพ
Introduction : Education for Peace
the definition of peace
ว่าด้วยนิยามความหมายของคำว่า
"สันติภาพ"

สมเกียรติ : ในทุกวันนี้ หากเราสนใจที่จะสังเกตุ เราจะพบว่ามีความรุนแรง ที่ปรากฏขึ้นมา ในหลายๆรูปแบบ ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย ทั้งที่รู้สึกและไม่รู้สึก ความรุนแรงดังกล่าว เกิดขึ้นมาทั้งมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม และมันรุนแรงซับซ้อนขึ้นทุกวัน

สำหรับการเสวนาในวันนี้ เรากำลังจะมาค้นหากันดูว่า สาเหตุของความรุนแรงเหล่านี้ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรบ้าง การศึกษาจะเป็นส่วนที่ช่วยลดความรุนแรงนี้ หรือเป็นตัวช่วยเพิ่มความรุนแรงนี้ให้มีอำนาจเป็นเท่าทวีคุณ. วันนี้เราจะมาค้นหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน

สำหรับบรรยาการศของการเสวนาหรือการพูดคุยกันวันนี้ เราจะใช้กติกาในแบบของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวคือ เราจะให้วิทยากรซึ่งมีรายชื่ออยู่บนแผ่นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ เป็นผู้พูดหนึ่งรอบก่อน แล้วหลังจากนั้นจะเปิดโอกาสให้ทุกๆท่าน, ซึ่งที่จริงวันนี้มีคณาจารย์หลายๆท่านมาร่วมรับฟังด้วย และจะมาร่วมแลกเปลี่ยนสนทนากัน หรือจะซักถามอะไรก็ได้. ขอให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นให้เต็มที่นะครับ ไม่ต้องอาย… ไม่ต้องวิตกไปว่า ความคิดเห็นของเราเมื่อแสดงออกมาแล้วมันจะไม่ดี หรือมันจะน่าตำหนิติเตียน เพราะฟังดูแล้วไม่ฉลาด… อันที่จริงผมคิดว่าไม่มีใครฉลาดเลย ถ้าไม่เรียนรู้ ไต่ถาม และแลกเปลี่ยนกันและกัน. ดังนั้นขอให้ทุกคนแสดงออกให้เต็มที่ครับ

แรกเริ่มเดิมทีของวงเสวนา"การศึกษาเพื่อสันติภาพ"กันในวันนี้ เมื่อหลายวันมาแล้ว ผมได้ไปปรารภกับท่านอาจารย์นิธิถึงเรื่องดังกล่าว อาจารย์ได้ตั้งข้อสังเกตุกับผมว่า การจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง"การศึกษาเพื่อสันติภาพ" ก่อนอื่นให้เรามาทำความเข้าใจกับนิยามความหมายเกี่ยวกับคำว่า"สันติภาพ"กันก่อนว่า คำๆนี้ หมายความอะไร หรือมีขอบข่ายกว้างขวางมากน้อยแค่ไหน ? ฉะนั้น ผมจึงใคร่เรียนเชิญท่านอาจารย์นิธิ เป็นผู้นำประเด็นใจวันนี้เลยนะครับ

Midnight University
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นำการเสวนา
นิธิ : เวลาที่เราพูดกันถึงคำว่า"สันติภาพ"กันในเมืองไทยนี่ เรามักจะคิดไปถึงเรื่องของความขัดแย้ง ความรุนแรง หรือการปะทะกันระหว่างชาติ แต่ผมคิดว่า ถ้าเรานิยามกันแบบนั้นจะทำให้ความหมายมันค่อนข้างแคบ และจะทำให้ความเข้าใจคำว่าสันติภาพแคบตามไปด้วย. ผมจึงเสนอว่า คำว่า"สันติภาพ"ในนิยามความหมายของผมคือ การไม่ใช้ความรุนแรงต่อ 3 สิ่งด้วยกันคือ
1. การไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น ผู้อื่นในที่นี้หมายถึง ชาติอื่น ลัทธิอื่น อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นอื่น, เราไม่ใช้ความรุนแรงกับอะไรที่เป็นอื่น
2. การไม่ใช้ความรุนแรงต่อตัวเอง การไม่ใช้ความรุนแรงต่อตัวเอง มันเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆน้อยๆ ตัวอย่างเช่น คนที่ชอบสูบบุหรี่ ก็ถือว่าเป็นคนที่ชอบใช้ความรุนแรงต่อตัวเอง… (รวมไปถึงการฆ่าตัวตาย ก็เป็นความรุนแรงกับตัวเอง) อันนี้จะยังไม่ลงลึกไปในรายละเอียด เพราะเดี๋ยวคงจะแลกเปลี่ยนกันได้ และ
3. การไม่ใช้ความรุนแรงกับสิ่งแวดล้อม เพราะในเสิ่งแวดล้อมนั้นมันมีเครื่องดำรงชีวิตของคนอื่นๆ รวมทั้งของตัวเราเองด้วยมากมายมหาศาล ถ้าเราใช้ความรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว มันก็จะก่อให้เกิดความไม่สงบ จะทำให้เกิดความไม่มีสันติภาพเกิดขึ้นได้
ผมคิดว่า 3 อย่างนี้เป็นประเด็นสำคัญ นั่นคือ ไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น ต่อสิ่งอื่น, ไม่ใช้ความรุนแรงต่อตนเอง, และไม่ใช้ความรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม.

แต่การไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ได้หมายถึงการสมยอม. ผมคิดว่าจะต้องแยกออกจากกันให้ชัด. คนที่ไม่ใช้ความรุนแรงนี่ อาจจะเป็นคนที่ต่อต้านกับสิ่งที่ทำลายสันติภาพ รือคุกคามสันติภาพได้อย่างถึงพริกถึงขิงหรืออะไรก็ได้ โดยการไม่ยอมสมยอมด้วย เป็นแต่เพียงว่าวิธีการต่อสู้นั้นไม่ใช้วิธีการที่รุนแรง แต่คุณนั้นต่อสู้ได้ และควรจะต้องต่อสู้ด้วย… เพราะอะไร ? เพราะเหตุผลที่ว่า ในบรรดาความรุนแรงทั้งหลายที่เราพบในโลกนี้ มันเป็น"ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง"เสียเป็นส่วนใหญ่.

ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
ความรุนแรงของการที่บุคคลหนึ่งกระทำต่อบุคคลหนึ่งนั้น ความจริงเรามีทั้งประเพณี มีทั้งกำปั้น มีทั้งกฎหมาย มีอะไรหลายๆอย่างที่คอยควบคุมอยู่… เช่น อยู่ๆเราเดินออกไปแล้วตบหน้าผู้หญิงสักคน อาจจะมีคนข้างๆหลายคนไม่พอใจเรา แล้วประเคนส้นตีนมาให้เรา ส้นตีนก็เป็นการระงับความรุนแรงด้วยอย่างหนึ่งเหมือนกัน. แต่ว่า สิ่งที่เป็นความรุนแรงซึ่งเรามองไม่ค่อยเห็น และมันมีอยู่มากมายคือ ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

ความรุนแรงเชิงโครงสร้างหมายความว่าอะไร ? หมายความว่า มีคนต้องเจ็บ มีคนต้องตาย มีคนต้องอด มีคนต้องนอนไม่หลับ มีคนต้องถูกรังแกจำนวนมากมาย โดยไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้กระทำแก่เขาโดยตรง แต่เกิดขึ้นจากการจัดการ ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง หรืออะไรก็ตามแต่ที่ไม่ดี และทำให้เขาแย่…

ในประเทศไทย มีคนที่เข้าไม่ถึงแพทย์ ทั้งๆที่คุณมีโรงเรียนแพทย์เยอะแยะไปหมด สามารถที่จะให้การรักษาพยาบาลได้มากมายหลายวิธีมากๆ แต่มีคนต้องตาย ต้องเจ็บ ต้องพิการ ก็เพราะเข้าไม่ถึงแพทย์… ปีหนึ่งๆนับเป็นแสนๆคน. คนที่อาจจะกินยาแค่ 12 บาทก็หาย แต่ต้องกลายเป็นคนกระเพาะรั่วไปเลยจนตลอดชีวิต อย่างนี้เป็นต้น เพราะเขาเข้าไม่ถึงแพทย์. อันนี้คือ ความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง… ไม่มีใครที่ไปกระทำกับเขาโดยตรง จะไปชี้หน้าหมอที่สวนดอก(หมายถึงโรงพยาบาลมหานคร ของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) บอกว่าไม่เคยรักษาเขา ก็ไม่ได้ เพราะหมอคนนั้นไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้นมา…

ถ้าเราคิดถึง"ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง"แบบนี้ เราจะพบว่า …โอ้โฮ มหาศาลมากเลย, การไฟฟ้าฝ่ายผลิต มันคงไม่ได้ตั้งใจหรอกที่รังแกชาวบ้านปากมูล แต่โดยหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็คือว่า จะหาทางในการผลิตไฟฟ้าในราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จะทำได้อย่างไร ? แล้วก็คิดสั้นไปหรืออะไรก็ตามแต่ โดยไปสร้างเขื่อนปากมูล แล้วทำให้คนที่เขื่อนปากมูลจำนวนมากเลย ไม่มีอาหารจะกิน ทั้งๆที่เคยจับปลาได้ เคยมีรายได้จากลำน้ำมูล ครั้งหนึ่งเคยทำมาหากินจนส่งลูกเรียนหนังสือจนจบได้ แต่ปัจจุบันกลับทำไม่ได้ ต้องมีเด็กที่ถูกทำให้ไร้การศึกษาโดยไม่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้กระทำ อันนี้เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

ด้วยเหตุดังนั้น การไม่ใช้ความรุนแรง กับความสมยอม มันไม่เหมือนกัน และเพราะพวกเราไม่ใช้ความรุนแรงนั่นแหละ เราจึงจำเป็นต้องต่อสู้กับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ไม่ควรสมยอมกับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เพราะนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่ในสังคมเรา หรือที่จริงในโลกของเราทั้งหมดก็ว่าได้

คราวนี้มาสู่ประเด็นสุดท้ายก็คือว่า การศึกษาอะไรที่จะคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ คำนึงถึงการไม่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น จึงถือว่าเป็นการศึกษาเพื่อสันติภาพ. แต่ตรงนี้ผมอยากจะย้ำสักสองสามประเด็นก็คือว่า ผมไม่ต้องการจะให้หมายถึงเนื้อหา ไม่ใช่หมายความว่า การศึกษาจะพูดถึงเนื้อหาของการต่อสู้ไม่ได้ เช่น ผมเคยสอนประวัติศาสตร์มา… ห้ามพูดถึงสงคราม เพราะว่าสงครามเป็นการใช้ความรุนแรง ผมว่าอันนี้มันก็โง่เกินไป, เพราะในความเป็นจริง มนุษย์ได้ต่อสู้กันมาตั้งแต่ในสมัยหิน แล้วอยู่ๆพอเราสอนประวัติศาสตร์ก็บอกว่า ไม่ให้พูดถึงสงคราม…นี่ก็คงบ้า.

เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดถึงการศึกษา เพื่อสันติภาพอย่าไปนึกถึงแต่เพียงเนื้อหา เพราะว่าเนื้อหามันมีความสำคัญค่อนข้างน้อย แต่ให้นึกถึงท่าที นึกถึงการจัดการศึกษา นึกถึงอุดมคติที่เราพยายามยัดเยียดให้กับการศึกษา… รัฐไทย, นักศึกษา และนักเรียนก็แล้วแต่ โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น การที่ครูเอาไม้เรียวตีเด็ก คือการทำโทษทางร่างกายของเรา… โดยไม่ได้ตั้งใจนะครับ, คุณเอาไม้เรียวตีเด็ก คุณก็คิดว่า เออ เด็กมันจะได้ดี มันจะได้ทำการบ้านมาส่ง หรืออะไรก็แล้วแต่… แต่การเอาเด็กไปตีนี่ มันเป็นการบอกให้เด็กที่ถูกตีและไม่ถูกตีเข้าใจว่า การใช้ความรุนแรงนี่ แก้ปัญหาได้. คืออย่างน้อยที่สุด วันพรุ่งนี้มันก็จะทำการบ้านมาส่งเรา แล้วเด็กๆก็ทำการบ้านมาส่งจริงๆด้วย ก็เพราะกลัวเจ็บ.

ผมคิดว่า ตัวสาระ หรือตัวข่าวสารที่แทรกไปกับไม้เรียวนั้น คือการบอกทุกคนว่า ถึงระดับหนึ่งแล้ว เราจำเป็นต้องใช้ความรุนแรง เพื่อที่จะทำให้แก้ปัญหาได้ แม้แต่การแก้ปัญหาในเหตุการณ์ขนาดใหญ่ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ความรุนแรงกับร่างกายอย่างรุนแรงเพื่อเป็นการแก้ปัญหา

แต่ที่มากยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า ผมคิดว่าการศึกษาที่เราจัดกันในทุกวันนี้ มันเป็นการศึกษาเพื่อตนเอง. เรานึกถึงคนอื่นน้อยมากเลย… คุณเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยก็โดยคิดว่า วิชาที่คุณเรียนมันจะมีงานทำไหม ? มันจะสามารถทำให้คุณมีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงไหม ? แต่จะไม่มีใครเข้ามาเรียนโดยมีความคิดว่า สิ่งที่เราจะเรียนต่อไปนี้ สิ่งที่เราต้องการจะเรียนรู้มากกว่าเรียนในมหาวิทยาลัย มันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างไรบ้าง …ไอ้สิ่งนี้มันก็คือการแฝงความรุนแรงเข้าไว้ในระบบการศึกษา. ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงเท่านี้นะครับ ยิ่งไปกว่านี้อีกก็คือว่า… ผมคิดว่าเราพูดถึงผลกระทบสิ่งที่เราเรียนน้อยมาก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เรานึกถึงผู้อื่นในเนื้อหาที่เราเรียน เรานึกถึงผู้อื่นน้อยมาก เช่นเป็นต้นว่า คนเรียนแพทย์ จะนึกถึงว่า ถ้าเราใช้วิธีการรักษาแบบนี้ จะมีสักกี่คนกันที่ได้รับการบริการรักษาทางการแพทย์ ผมคิดว่าประโยคนี้ไม่เคยมีการถามกันเลยในโรงเรียนแพทย์ทุกแห่ง…

หมายความว่า โรงเรียนแพทย์รับเอาคนเข้ามา แล้วพยายามฝึกปรือจนให้เขากลายเป็นแพทย์ ซึ่งใช้การรักษาแบบวิธีที่…ไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่ทั้งโลกเลยนะครับ ที่คนไม่มีเงินนี่เข้าไม่ถึง. แต่ก็ไม่มีใครตั้งคำถามว่า ถ้าเราใช้วิธีการรักษาแบบนี้ จะมีใครบ้างที่ได้รับการรักษาจากเรา จะไม่มีคำถามเหล่านี้ในโรงเรียนแพทย์. อันนี้ก็คือ การไม่คิดถึงคนอื่นนั่นเอง แล้วก็ไปเสริมสร้างความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่มีอยู่แล้วให้มีความรุนแรงมากขึ้น. กลายเป็นว่าแพทย์ก็ถือว่าตัวนั้น ไม่มีหน้าที่ที่จะไปตอบคำถามในเชิงสังคมแบบนั้น

มาถึงประเด็นที่สามซึ่งผมจะพูดถึงเป็นประเด็นสุดท้ายก็คือ การศึกษาที่ก่อให้เกิดความรุนแรงมากที่สุดก็คือ การศึกษาที่ไม่พยายามเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าหากัน การศึกษาที่เน้น specialization, เน้นการเอาดีเฉพาะด้าน… วิจิตรศิลป์ก็เน้นความเป็นช่างที่เก่งในเรื่องของศิลปะเพียงอย่างเดียว นักศึกษาประวัติศาสตร์ก็บ้าแต่ประวัติศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่เชื่อมโยงให้เห็นว่า ไอ้สิ่งที่เราเรียนนี่มันเชื่อมโยงกับวิชาอื่น และเชื่อมโยงกับสังคมอย่างไร? เชื่อมโยงกับจิตใจอย่างไร ? มันทำให้คนกลายเป็นช่างฝีมือ… จะเป็นช่างสุขภาพ ช่างเขียนรูป ช่างอดีต ช่างภาษาอังกฤษ หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วยัดเข้าไปในโครงสร้างที่รุนแรง.

ถ้าตราบที่เราเรียนอยู่เพื่อที่จะไปเป็นช่างฝีมือเฉพาะด้านแบบนี้ ก็เท่ากับเราได้เข้าไปรับใช้โครงสร้างที่รุนแรงอยู่ตลอดเวลา. ตราบใดก็ตามแต่ ที่การศึกษาไม่เชื่อมโยงช่างทั้งหลายเหล่านี้ ความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ให้เชื่อมโยงเข้าหากัน ให้มองเห็นอะไรที่กว้างกว่าเฉพาะรูที่เรามองหรือเราเรียนอยู่นี้ ผมคิดว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้าง จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้.

สมเกียรติ : พอดี เมื่อสักครู่อาจารย์วารุณี บอกว่ามีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่ท่านอาจารย์นิธิ ได้พูดไป จึงจะขอต่อจากท่านอาจารย์เลย. อาจารย์วารุณี เป็นอาจารย์อยู่ที่ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มช. (และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนด้วย) ผมจึงขอส่งไมค์ต่อให้อาจารย์เลยครับ

การแข่งขันก่อให้เกิดความรุนแรง
วารุณี :
ดิฉันจะใช้เวลาเพียงสั้นๆนะค่ะ พอดีส่วนที่เตรียมมามีอยู่สองประเด็น มีบางส่วนที่เหลื่อมทับกับสิ่งที่ท่านอาจารย์นิธิ ได้เสนอไปเมื่อสักครู่นี้นะคะ ประเด็นแรกนี้ อยากจะพูดถึงการศึกษา ซึ่งอาจารย์นิธิได้พูดไปบ้างแล้ว เกี่ยวกับการที่เนื้อหาไม่เชื่อมโยงกับชีวิตหรืออะไรต่างๆ. แต่ดิฉันอยากจะมองว่าในประเด็นที่ว่า โครงสร้างการศึกษาแบบสมัยใหม่ ค่อนข้างเน้นในเรื่องการแข่งขัน และดิฉันรู้สึกว่า การแข่งขันนี่มันเป็นการไม่ก่อให้เกิดสันติ เพราะว่าทุกคนรู้สึกว่า ตัวเองจะต้องอยู่ข้างหน้า ตัวเองต้องอยู่เหนือคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตัดเกรดก็ดี ในเรื่องแพ้คัดออกก็ดี.

คล้ายๆว่า คุณต้องอยู่ข้างหน้า คุณถึงจะได้รับการยอมรับ. เพราะฉะนั้นจะต้องมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งจะต้องเด่นขึ้นมา หรือว่าจะได้รับการยอมรับ เพราะได้อยู่ข้างบน อันนี้มันก่อให้เกิดการสร้างอัตตาขึ้นมาในคนกลุ่มหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ดูถูกคนอีกกลุ่มหนึ่ง คนที่อยู่ท้ายๆก็จะรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า. ลักษณะการแบ่งคนโดยการใช้วิธีการประเมินในระบบการศึกษานี่ มันจะมีมาตั้งแต่เด็ก ชั้นประถม มัธยม จนกระทั่งเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย.

และถ้ายิ่งเราสังเกตุ คนที่มีการศึกษาสูงๆก็ยิ่งแข่งขันมาก และเมื่อยิ่งแข่งขันมาก ก็จะยิ่งมีความสุขน้อยลงๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดิฉันคิดว่า โดยระบบแบบนี้ ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถเป็นอยู่ หรือมีสันติกับใครได้เลย… ยิ่งคุณรู้มาก คุณก็ยิ่งรู้สึกว่าคุณอยู่เหนือคนอื่น คุณรู้น้อยคุณก็รู้สึกว่าฉันช่างไม่มีค่าเสียเลย แล้วก็จะปลีกตัวออกจากสังคมมากขึ้นๆ. คือดิฉันคิดว่า ตัวโครงสร้างของระบบการศึกษาที่เรารับมานี่ มันค่อนข้างสร้างความรู้สึกที่ไม่ดี ไม่ว่ากับใครก็ตาม

ดิฉันมีเรื่องเล่านิดหน่อย… สักประมาณปีหนึ่งแล้วนะคะ มีนักคิดคนหนึ่งที่เป็นฝรั่ง… เขาได้ตั้งข้อสังเกตุเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง และผู้ชายกับผู้ชาย นี่จะต่างกัน. เขาบอกว่า, สังเกตุไหม เวลาที่คุณมีเพื่อนผู้ชายนี่ เพื่อนผู้ชายด้วยกัน ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยพูดเรื่องส่วนตัวกัน แล้วเวลาไปเที่ยวก็จะไปเที่ยว เวลาที่ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน เช่น ดูฟุตบอลด้วยกัน หรือไม่ก็เล่นกีฬาด้วยกัน ไปดูหนังด้วยกัน ไปฟังเพลงด้วยกัน แต่จะไม่ค่อยพูดกันในเรื่องส่วนตัวว่า เออ…วันนี้เป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไรบ้าง รู้สึกไม่ดีกับตัวเองหรือเปล่า หรืออะไรต่างๆ. ผู้ชายจะพูดหรือสื่อต่อกันน้อยมาก

ในขณะที่ผู้หญิง จะค่อนข้างใช้เวลาในการพูดกันเยอะมาก จนบางคนก็ไปกระแนะกระแหนว่าผู้หญิงนี้ช่าง mouth, ทำอย่างอื่นไม่เป็น นอกจากพูดเป็นอย่างเดียว. ผู้หญิงจะแลกเปลี่ยนกันเองเยอะมาก รู้กันเลยว่าตอนนี้รู้สึกกันอย่างไร จะให้ความรู้สึกเป็นกันเองและสามารถที่จะเปิดเผยตัวเองได้

ที่นี้ฝรั่งคนนั้นก็เสนอคำตอบว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนี้… เขาบอกว่า เพราะผู้ชายได้รับการเลี้ยงมาให้แข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นผู้ชายจึงรู้สึกว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร, ถ้าคุณเป็นผู้ชายอีกคนหนึ่ง คุณจะต้องเป็นคู่แข่งของฉัน. ฉะนั้นการที่ผู้ชายคนนั้นรู้สึกว่า ผู้ชายทุกๆคนเป็นคู่แข่งของฉัน มันทำให้ผู้ชายไม่ไว้วางใจผู้ชายอีกคนหนึ่ง ไม่ว่าคุณจะคิดว่าเขาเป็นเพื่อนหรือไม่ก็ตาม. ดังนั้น คุณจะไม่กล้าเปิดเผยตัวคุณเอง ด้วยเหตุนี้การแลกเปลี่ยนตรงนี้จึงไม่มี.

ถ้าเรามองแบบนี้ การแข่งขันนี่ มันไม่สามารถสร้างความรักหรือสันติขึ้นมระหว่างคนได้เลย. อันนี้ดิฉันอยากจะทิ้งประเด็นไว้ว่า ในสังคมเราที่เน้นการแข่งขันมากขึ้นๆ เราจะสร้างสันติได้อย่างไร ?

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ นอกจากการศึกษาในบ้านเราที่ไปรับเขามามาก, ดิฉันว่าวัฒนธรรมไทยในบางส่วนที่เป็นเรื่องของ"อำนาจนิยม"นี่ มันมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ การเกิดสันติระหว่างคนมันเกิดขึ้นได้ยาก. ตราบใดก็ตาม สังคมนี่ยังแบ่งคนออกเป็นว่า คนบางกลุ่มมีอำนาจมากกว่า คนบางกลุ่มมีอำนาจน้อยกว่า อย่างเช่น ผู้ใหญ่มีอำนาจมากกว่าเด็ก ผู้ชายมีอำนาจมากกว่าผู้หญิง. สิ่งเหล่านี้, ถ้าหากยังมีโครงสร้างของอำนาจเหล่านี้อยู่ ดิฉันคิดว่ามันเป็นไปได้ยากมากเลยที่สังคมเราที่จะมีสันติ… เราไม่ยอมรับกันในความเท่ากันของคน การที่เราจะอยู่กันอย่างมีความสุขนี่ยากมาก

ดิฉันคิดว่า ประเด็นที่น่าเสียใจมากๆก็คือประเด็นที่เรามักจะพูดว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี". ดิฉันพยายามคิดว่า สุภาษิตนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร จนกลายเป็นวาทกรรมระดับชาติไปได้ ? เพราะว่า ดิฉันคิดว่ามันเป็นอะไรที่ค่อนข้างหยาบคาย, ขนาดวัวคุณแค่ผูกมันเฉยๆ แต่ลูกของคุณ ,คุณตีเลยนะ…

แม้แต่ในยุคนี้ ทางกระทรวงศึกษาเพิ่งออกกฎหมายมาว่า ต่อไปนี้ ครูจะไม่มีสิทธิ์ที่จะตีนักเรียน ปรากฏว่าพวกครูนี่ก็ออกมาประท้วงกันใหญ่เลย. ออกมาบอกว่า ถ้าไม่ตีแล้วก็จะควบคุมเด็กไม่ได้ ซึ่งอันนี้มันน่าสงสารหนักขึ้นไปอีก คือคุณไม่คิดเลยว่า คุณมีวิถีทางอื่นที่จะดูแลและมีความสัมพันธ์กับเด็ก นอกจากการใช้อำนาจในการตี.

ดิฉันเคยมีคนมาชวนให้ไปคุยที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้านะคะ พอดีตอนนั้น ท่าน ผอ. ใหม่มา ท่านก็ชวนไปคุย และดิฉันก็เสนอไปว่า การดูแลเด็กนี่มันอาจจะมีทางเลือกอื่น ไม่จำเป็นต้องตีเด็กก็ได้… ปรากฏว่า คนที่คุมเด็ก เขาก็ไม่พอใจมากนะคะ, เขาบอกว่า…ก็คุณไม่เคยมาอยู่ในสถานที่แบบนี้ ซึ่งต้องคุมเด็กจำนวนมาก การไม่ตีนี่ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้, แล้วเขาก็พูดออกมานะคะว่า ตัวเขาเองโดนพ่อตีมาไม่รู้สักเท่าไหร่ เฆี่ยนมาไม่รู้เท่าไหร่ เขาไม่เห็นเป็นอะไรเลย.

อันนี้เป็นสิ่งที่น่าสังเกตุเหมือนกันนะว่า วัฎจักรของพ่อตีลูก แล้วต่อไปพอลูกเป็นผู้ใหญ่ แล้วไปตีคนอื่นเรื่อยๆ รู้สึกว่าการตีนี่มันไม่เห็นเป็นไร ดิฉันก็ต้องบอกว่า พ่อแม่ของดิฉันไม่เคยตีดิฉันเลยก็ไม่เป็นไรเหมือนกัน คืออันนี้รู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวเหมือนกัน ถ้าครั้งหนึ่งเรายอมรับว่า"การตีมันเป็นการแก้ปัญหา" อันนี้ก็จะสืบเนื่องกันไปเรื่อยๆ มันเป็นการเรียนรู้ซึ่งจริงๆนั้น ในบางประเทศเขาสรุปแล้วว่า ความรุนแรงที่ผู้ใหญ่ทำกับเด็กนี่ มันไม่หายไป แต่จะสะสมอยู่ในตัวเด็กคนนั้น แล้วเมื่อเขาโตขึ้น เขาจะไปใช้ความรุนแรงอันนี้กับลูกเขาต่อไปอีก หรือคนที่เป็นเด็กต่อไป ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องคุยกันจริงๆแล้วว่า มันเป็นทางออกของการแก้ปัญหาจริงๆหรือเปล่า

อยากจะจบเอาไว้ตรงที่… ดิฉันประทับใจมากซึ่งเป็นเรื่องสารคดีนะคะ เขาไปทำในสังคมที่เรามักจะเรียกเขาว่าคนป่า เป็นสังคมชนเผ่าที่ยังไม่ใส่เสื้ออะไรเลย และดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้นะคะ. คนที่ไปทำการศึกษา ได้ไปดูเรื่องการเลี้ยงลูกของชาวเผ่านั้น. สิ่งหนึ่งที่ชาวเผ่าเขาบอกว่า เขาไม่เคยตีลูกเขาเลย ลูกเขาทำอะไร เขาจะปล่อยให้ลูกเขาทำตลอด เพราะเขามองว่า"ลูกคือสิ่งที่พระเจ้าให้มา" เป็นสิ่งพิเศษที่พระเจ้าของเขาประทานมา. เพราะฉะนั้น เขาจึงตระหนักว่า มันไม่ใช่สิทธิของเขาที่เขาจะไปตี

ดิฉันอยากฝากไว้นะคะว่า จริงๆแล้วสังคมเรานี่ มีพื้นฐานอย่างนั้นจริงๆหรือ. คนในชนบทตีลูกเหมือนวัวเหมือนความจริงๆหรือ… มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องสืบทอดความเชื่อแบบนี้