ชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เดือนกุมภาพันธ์ 2544
กระบวนวิชา : โลกาภิวัตน์ และท้องถิ่นวัฒนา ๑๐๑
(Globalization & Localization 101)
ภายใต้ชื่อ "วิกฤตโลก วิกฤตไทย อะไรคือทางรอด"
การบรรยายและเสวนาครั้งที่หนึ่ง หัวข้อ
"โลกาภิวัตน์กับวัฒนธรรมไทย"
ผู้นำการบรรยายและเสวนา : อานันท์ กาญจนพันธุ์
(คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
แนะนำชั้นเรียน"โลกาภิวัตน์
101"
วารุณี ภูริสินสิทธิ์ : ชั้นเรียนในครั้งนี้
จริงๆแล้วเราเรียกชื่อว่า
"วิกฤตโลก วิกฤตไทย อะไรคือทางรอด".
ซึ่งในการบรรยายและเสวนาทั้งหมดในเดือนนี้
จะประกอบด้วยหัวข้อใหญ่ 4 หัวข้อด้วยกันคือ
โลกาภิวัตน์กับวัฒนธรรมไทย, เศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์,
ท้องถิ่นกับโลกาภิวัตน์, และภาคประชาชนกับโลกาภิวัตน์.
เริ่มต้นตั้งแต่เสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ และอีก 3 เสาร์ข้างหน้า.
โดยครั้งแรก จุดมุ่งหมายก็คือว่า ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจใน 3-4 ปีที่ผ่านมา, มีคำถามในสังคมมากขึ้นว่า มันเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย และทำไมสังคมมันเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤตได้เร็วขนาดนี้. อันนี้เริ่มมีคนตั้งคำถามและพยายามที่จะหาคำตอบ. เราจะเห็นศัพท์ใหม่ๆเข้ามาสู่วิถีชีวิตของเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคำว่า โลกาภิวัตน์, กระบวนการทำให้เป็นท้องถิ่น, หรือว่า การครอบงำทางเศรษฐกิจของต่างชาติ. หรือเกิดกลุ่มที่จะพยายามมสร้างความเป็นชาตินิยม รวมไปถึงตั้งกลุ่มที่จะขับไล่โซรอสในการมาเมืองไทยเร็วๆนี้ ....เหล่านี้เป็นต้น.
สิ่งเหล่านี้มันเป็นคำถามหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ที่เราจะมาเรียนรู้ถึงสิ่งเหล่านี้.
เพราะฉะนั้น เราจึงได้กำหนดชั้นเรียนนี้ให้ประกอบด้วย ช่วงแรกเราจะพูดถึงว่า
อะไรคือโลกาภิวัตน์, และโลกาภิวัตน์ที่สัมพันธ์กับสังคมไทย ซึ่งวันนี้ก็จะเป็นมิติของวัฒนธรรม,
ในเสาร์หน้าก็จะเป็นเรื่องของโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจของบ้านเรา อันนี้
อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ท่านรับจะมาเป็นผู้นำเสนอในเสาร์หน้า, และในวันเสาร์ที่สามของเดือนจะมีการคุยกันเรื่อง
กระบวนการความเป็นท้องถิ่น
การที่เราพูดถึงการเป็นท้องถิ่นนี่ มันคือชาตินิยมหรือเปล่า
หรือว่ามันคืออะไร ? ซึ่งในเสาร์ที่สามนี้ อ.เสน่ห์ จามริก ท่านเป็นผู้ที่เสนอแนวคิดในลักษณะนี้เป็นคนแรกๆของเมืองไทย
ท่านจะมาช่วยนำเสนอในเรื่องนี้. ในสัปดาห์สุดท้ายจะเป็น, สังคมไทยจะทำอย่างไร
เราต้องการอะไรเพื่อสังคมไทย ? ซึ่งในช่วง 2-3 ปีนี้ก็มีการเสนอทางออกในหลายๆทางออก
และทางออกซึ่งมีการนำเสนอรวมทั้งได้รับการพูดถึงก็คือ ฉันทามติกรุงรัตนโกสินทร์.
ซึ่งผู้เสนอก็คือ อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
และอาจารย์จะมานำเสนอด้วยตัวเอง.
คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีมากซึ่งเราจะได้มีโอกาสฟัง และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ว่า ข้อเสนอของท่านเหล่านั้นเป็นอย่างไร น่าสนใจไหม ถูกหรือไม่ถูก แล้วเราจะเลือกใช้หรือไม่เลือกใช้. ดิฉันขอเสนอภาพรวมแต่เพียงสั้นๆเอาไว้เพียงแค่นี้ และต่อไปอยากจะเรียนเชิญ อ.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ซึ่งท่านก็ยุ่งมาก แต่ได้กรุณาสละเวลามาพูดคุยกันกับพวกเรา ก็ขอเรียนเชิญ อ.อานันท์นำเสนอได้เลยค่ะ สักประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นก็จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อไป
อานันท์ กาญจนพันธุ์ : ขอบคุณครับ ที่เชิญผมมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทุกๆคนในที่นี้ ในประเด็นที่เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์. สำหรับเอกสารที่ได้ถ่ายเอกสารออกมา(หมายถึงเรื่อง "พลวัตของความรู้ชาวบ้านในกระแสโลกาภิวัตน์" [มีเผยแพร่อยู่ใน website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.geocities.com/midnightuniv สนใจรายละเอียดโปรดคลิกไปดูหน้า contents] ก็ไม่ได้เขียนเพื่อเรื่องที่จะพูดวันนี้โดยตรง อันที่จริง มันเป็นบทสุดท้ายของหนังสือซึ่งผมทำมานานแล้ว แต่ยังไม่เสร็จสักที ผมได้ศึกษาเกี่ยวกับพิธีกรรมและความเชื่อในภาคเหนือ แล้วระหว่างที่ศึกษานั้น ก็เขียนเป็นบทความเรื่อยมา ซึ่งตอนนี้ก็จะรวมขึ้นเป็นเล่ม แล้วเอกสารนี้ก็จะเป็นบทสรุป. ที่เขียนขึ้นมาในครั้งนี้ ก็เขียนขึ้นเพื่อจะไปเสนอที่ญี่ปุ่น เขียนขึ้นมาเป็นภาษาอังกฤษ เพิ่งแปลเสร็จเป็นภาษาไทย ก็เลยคิดว่าลองเอามาให้อ่านกันเล่น ประกอบกับที่ผมจะพูด ซึ่งคงไม่เหมือนกัน เพราะผมจะพูดอีกอย่างหนึ่ง แต่ก็มีสาระบางอันที่อาจจะไปอ่านเอาเองในนั้นได้
เรื่องที่จะคุยกันในวันนี้จะเป็นเรื่องของโลกาภิวัตน์ในแง่วัฒนธรรม ก่อนอื่นผมอยากจะพูดว่า โลกาภิวัตน์ซึ่งเราพูดกันในปัจจุบัน ที่จริงแล้วก็คือ กระบวนการพัฒนาการที่ต่อเนื่องของระบบทุนนิยมนั่นเอง ไม่ใช่เป็นอะไรที่มันมาใหม่. คือระบบทุนนิยมนั้น มีพัฒนาการที่ก้าวออกมาในหลายระดับ ตั้งแต่เริ่มต้นเข้ามาหาประโยชน์กับทรัพยากรในประเทศอื่น โดยผ่านกลไกของอาณานิคม เช่นมาเชียงใหม่ก็มาเอาไม้สักหรือะไรต่างๆออกไป. พูดง่ายๆก็คือ เป็นการมาถลุงทรัพยากรของประเทศอื่น
ขั้นต่อมาของทุนนิยมก็คือว่า พยายามที่จะมาเอาประโยชน์จากแรงงานของสังคมอื่น หมายความว่า ใช้กลไกตลาดเข้ามาหาประโยชน์จากแรงงาน ในรูปแบบการใช้แรงงานในการทำการผลิต ผ่านการส่งสินค้าออก เช่น ปลูกพืชเพื่อส่งออก ทำอุตสาหกรรมพื่อส่งออก ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือกระบวนการของการมาเอาประโยชน์จากแรงงาน -หลังจากที่มาเอาประโยชน์จากทรัพยากรแล้ว ก็มาเอาประโยชน์จากแรงงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าทิ้งทรัพยากร มันยังคงสืบเนื่องมาเรื่อยๆ-
ต่อจากการเอาประโยชน์จากแรงงานแล้ว ก็พยายามที่จะมาหาประโยชน์กับทุน, ทุนต่างๆที่มีในสังคมและด้านอื่นๆ. เพราะสังคมเมื่อพัฒนาขึ้นมา มันจะมีทุนบางอย่าง และทุนนิยมก็จะมาเอาประโยชน์กับสิ่งเหล่านี้
ตัวสุดท้ายของพัฒนาการทุนนิยมก็คือ การมาเอาประโยชน์จากวัฒนธรรม. โลกาภิวัตน์ในปัจจุบันนี้ มันจะมาสู่ระดับขั้นนี้ คือขั้นที่พยายามจะเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เป็นสินค้า. เมื่อก่อนนี้เวลาซื้อขายกัน อาจจะมีการเอาประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนหรืออะไรต่างๆเหล่านี้ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่แล้ว มันมาหาประโยชน์โดยการเปลี่ยนให้วัฒนธรรมหรือเรื่องของคุณค่า จิตใจ ให้กลายเป็นสินค้าดังที่เราได้พบกันอยู่ตลอด.
เช่นเราไปซื้อของต่างๆ เราก็ไม่ได้ซื้อเฉพาะของอันนั้น. อันที่จริงแล้ว เราไม่แน่ใจว่าเราไปซื้ออะไร ระหว่างของที่เป็นของจริงๆ กับสิ่งที่มีคุณค่าที่ใส่เข้าไป อย่างเช่น เราไปกินแฮมเบอร์เกอร์ อันนี้ไม่รู้ว่า เราไปกินตัวแฮมเบอร์เกอร์ หรือว่าเราไปกินรสนิยมแบบอเมริกัน.
เมื่อเราเปลี่ยนคุณค่าหรือความรู้สึก ให้กลายเป็นวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากลักษณะนี้ก็คือว่า มันทำให้เราคิดว่า สิ่งนั้นมันเป็นของจริง แทนที่ตัวสินค้าซึ่งเป็นของจริง กลับกลายเป็นตัวที่เป็นคุณค่าที่เปลี่ยนเป็นสินค้านั้นกลายเป็นของจริง หมายความว่า เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสิ่งที่มีแก่นสาร.
ดังนั้น ดังที่ อ.วารุณี เมื่อสักครู่ได้พูดถึงคือ พอมีข่าวถึงเรื่องว่านายโซรอสจะมาเมืองไทย เราก็มีความรู้สึกต่อต้าน โดยอาศัยความรู้สึกเรื่องชาตินิยมอะไรต่างๆเข้ามา เพราะชาตินิยมหรือความเป็นไทยอะไรต่างๆเหล่านี้ มันถูกระบบทุนนิยม, ซึ่งนอกจากจะเปลี่ยนวัฒนธรรมเป็นสินค้าแล้ว มันยังทำให้ดูเสมือนหนึ่งเป็นความคิดที่เป็นจริงขึ้นมา ไม่ใช่เป็นเรื่องแค่จิตใจ ความรู้สึก, แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นของจริง สามารถจับต้องได้
สภาพการณ์อย่างนี้ ความจริงไม่ใช่สิ่งที่ใหม่. อันนี้สำหรับผมมันอยู่คาบเกี่ยวว่า จะใช้คำอธิบายในแบบนี้โดยความคิดแบบมาร์กซิสท์ หรือความคิดแบบโพสท์โมเดิร์น. คืออธิบายด้วยวิธีไหนได้ทั้งนั้น. ถ้าจะอธิบายแบบมาร์กซิสท์ สถานการณ์ที่มันกำลังเปลี่ยนไปนี้ มันทำให้ ในภาษามาร์กซิสท์เรียกว่า fetishism คือทำให้วัฒนธรรม ทำให้สิ่งที่เป็นคุณค่าเหล่านี้ ให้มามีอำนาจเหนือตัวคน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เงินตราเป็นสิ่งที่เราผลิตขึ้นมา เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยน เป็นเรื่องของมูลค่าอะไรต่างๆ. แต่ปรากฎว่า ในกระบวนการทางวัฒนธรรม เรากลับเปลี่ยนให้ไอ้ตัวเงินตรา ให้มันมามีอำนาจเหนือตัวคนซึ่งเป็นผู้ผลิตเงินตรานั่นเอง. ดังนั้น เงินตราในเวลานี้ มันไม่เพียงแค่เป็นเครื่องมือของมนุษย์เพื่อนำมาใช้ในการแลกเปลี่ยน แต่มันกลายมาเป็นเจ้าเหนือตัวมนุษย์. คือเราไม่ได้มองเงินตราเป็นสื่อ แต่เรามองว่ามันเป็นพระเจ้า
กระบวนการอย่างนี้ มันเกิดขึ้นกับวัฒนธรรมอย่างอื่นๆทั่วไปหมดเลย ก็คือเปลี่ยนให้ตัวนั้นมาเป็นเจ้าเหนือตัวคนซึ่งเป็นเจ้าของมันอีกทีหนึ่ง. ไม่ว่าเราจะพูดว่าไอ้ตัวนั้นคือความเป็นไทย เราคิดว่าเป็นของเรา เราพัฒนาขึ้นมา แต่ปรากฏว่าความเป็นไทยมันมาอยู่เหนือตัวคน มันมาตรอบงำเหนือตัวคน. กระบวนการที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ มันผ่านเข้ามาอยู่ในกระแสและเคลื่อนไหวของระบบทุนนิยม. พูดง่ายๆก็คือ ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่, ที่เราเรียกว่าโลกาภิวัตน์, คือกระบวนการเข้าสู่ระบบทุนนิยมที่มันสามารถจะเปลี่ยนทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้า, ให้กลายมาเป็นสิ่งที่ครอบงำตัวคนได้หมด.
แต่ถ้าเรามองโลกาภิวัตน์ในลักษณะนี้เพียงอย่างเดียว มันก็อาจจะเป็นปัญหาเหมือนกัน. คนส่วนใหญ่มักจะมองอย่างนี้ คือมองกระแสโลกาภิวัตน์จากด้านเดียว ซึ่งก็เป็นวิธีคิดของคนส่วนใหญ่. การมองลักษณะนี้ มันจะทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีทางออก หรือจนตรอก ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้.
ดังนั้นสิ่งที่ผมศึกษา และดูทางด้านวัฒนธรรม ผมพยายามจะมองดูว่า โลกาภิวัตน์มันมีแง่มุมที่มองดูได้ยังไงบ้าง ไม่ใช่ด้านที่มันจะมาครอบงำต่างๆอย่างเดียว ภายใต้กระแสของระบบทุนนิยม. ซึ่งที่ทุนนิยมมันสามารถทำได้ถึงเพียงนี้ก็เพราะว่า มันทำผ่านการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีของการสื่อสาร. คือเมื่อก่อนนี้มันไม่สามารถทำได้กว้างไกลขนาดนี้ เพราะการสื่อสารไม่ได้รวดเร็ว ไม่ได้กว้างขวางเหมือนอย่างปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา เทคโนโลยีดิจิตอล หรือ e-mail. เทคโนโลยีเหล่านี้มันเป็นเครื่องมือที่สำคัญของระบบทุนนิยม มันทำให้โลกาภิวัตน์มันมีอำนาจอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว
แต่ที่นี้ถ้าเผื่อเรามองทำนองนี้อย่างเดียว มันก็จะก่อให้เกิดปัญหาในแง่ว่า เอ๊ะ! มันยังไงกันวะ มันจะหลุดพ้นได้อย่างไร มันจะเกิดปัญหาขึ้นมา. ดังนั้น สิ่งผมอยากจะตั้งเป็นข้อสังเกตุขึ้นมาก็คือว่า โลกาภิวัตน์นั้นมันมีสองด้าน ไม่ใช่ด้านที่มากระทำกับผู้คนทั้งหลายในแง่ที่พูดไปแล้วอย่างเดียว. แต่มันมีด้านกลับอีกด้านหนึ่ง คือมันมีลักษณะ contradiction หรือลักษณะที่ขัดแย้งในตัวของมันเองด้วย. เพราะว่าอะไร ? เพราะโลกาภิวัตน์ ถ้าเผื่อจะพูดอย่างฟันธงลงไปในระยะเวลาอันสั้น ที่มันมาทำอย่างนั้นก็คือว่า มันจะมากดหรือมาลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไปเรื่อยๆ. การที่เราจะไปยึดถือความเป็นไทยให้เป็นพระเจ้านั้น มันก็จะทำให้มนุษย์เรารู้สึกสูญเสียความเป็นมนุษย์ลงไป. เพราะว่าอะไร ? เพราะว่าความเป็นไทยนั้นมันก็จะถูกนำไปใช้ในการกีดกันคนต่างๆ.
อย่างเช่นว่า เวลานี้เราไปบอกว่า "ชาวเขาไม่ใช่คนไทย" ดังนั้นจึงจะไม่ได้สิทธิ์อะไรบางอย่าง. คือการที่ โลกาภิวัตน์ มันสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เป็นสินค้า แล้วมาเป็นเจ้าเข้าครองเหนือคนเรา เราก็จะยึดถือสิ่งนั้นไปกีดกันคนอื่น ดังนั้น เราก็จะไม่สนใจว่าชาวเขาก็เป็นมนุษย์ แต่เราบอกว่าเขาไม่ใช่ไทย. ซึ่งเราก็จะเห็นว่ามันเป็นกระแสที่เริ่มพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆในปัจจุบันนี้
จากการที่กระแสโลกาภิวัตน์มันมาเปลี่ยนไอ้ตัวนี้ในรูปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผ่านการท่องเที่ยว เราจะขายสินค้าที่ความเป็นไทยต่างๆ เมื่อเราถูกสร้างจากกระวนการเหล่านี้มากเข้าๆ เราก็จะยึดถือสิ่งนี้ว่ามันเป็นสรณะหรือเป็นจริง แล้วเอาตัวนี้ไปใช้เป็นเกณฑ์วัดคนอื่นไปหมดเลย. ซึ่งมันก็ก่อให้เกิดปัญหา เพราะว่า ตกลงเรามองคนอื่นนี่ เรามองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา เพราะว่าเราเอาตัวนี้ไปเป็นตัววัด และเราไปเชื่อว่ามันเป็นจริง
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นด้านหนึ่งของผลที่ตามมาของกระแสโลกาภิวัตน์ในด้านลึกของมัน. อีกด้านหนึ่งก็คือว่า เมื่อก่อนเราบอกว่ากระแสทุนนิยม มันทำให้คนมีความรู้สึกเป็นปัจเจกนิยมมากขึ้น. ความเป็นปัจเจกนิยมนี่มันไม่ได้เป็นขั้นตอนของกระแสโลกาภิวัตน์, แต่มันเป็นขั้นตอนก่อนหน้านั้น. คือขั้นตอนของความเป็นปัจเจกนิยม และกระแสบริโภคนิยม มันเป็นช่วงก่อนหน้านี้. แต่พอมาถึงขั้นตอนทุนนิยมที่ผมพูดถึงก่อนหน้านี้ มันยิ่งกว่าเป็นปัจเจกบุคคลอีก คือหมายความว่า ความเป็นปัจเจกบุคคลก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับ การที่เราไปยึดถือคุณค่าที่ถูกทำให้กลายเป็นสินค้า โดยทำให้มันมามีอำนาจเหนือตัวเรา จนกระทั่งตัวความเป็นคนมันไม่เหลือหรอ.
ดังนั้น กระแสโลกาภิวัตน์ มันไม่ใช่แค่เพียงเปลี่ยนคนให้กลายเป็นปัจเจกบุคคล แต่มันเปลี่ยนปัจเจกบุคคลให้ไปยึดเฉพาะสิ่งที่เป็นผลผลิตของมนุษย์เราเอง อย่างที่บอกแล้ว, เช่น ถ้าเผื่อเราไปยึดเงินตราเป็นพระเจ้า เราก็จะไม่กังวลอะไร ต่อให้เกิดปัญหาแม้แต่พ่อแม่ บางทีไม่ให้เงินลูก ลูกก็อาจจะทำร้ายพ่อแม่ได้. เพราะเราไม่เชื่อมั่นในความสำคัญของมนุษย์ เราคิดว่าอันนั้นมันเป็นความจริง มันเป็นสิ่งที่เป็นแก่นสารสำคัญของชีวิตมากเหนือกว่าความเป็นมนุษย์.
ซึ่งตรงนี้ มันเป็นผลซึ่งสืบเนื่องมาในขั้นตอนที่กำลังพัฒนามาอยู่ปัจจุบัน ดังนั้น เราก็ใช้สิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นไทย หรืออะไรที่เรานิยามขึ้นมาใหม่ เราจะใช้สิ่งเหล่านี้มาเป็นตัวกีดกันและลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น อะไรต่างๆ. ดังนั้น สภาพการณ์เหล่านี้ก็คือส่วนที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้
ทีนี้ผมบอกแล้วว่า ถ้าเผื่อเรามองดูว่า กระแสโลกาภิวัตน์มันเป็นเฉพาะด้านนี้อย่างเดียว มันก็คงจะเป็นปัญหา หมายความว่า ด้านที่มันลดทอนความเป็นมนุษย์ ด้านที่มันมาทำอะไรต่างๆเหล่านี้. ผมก็เลยอยากจะเสนอว่า ภายใต้กระแสดังกล่าว มันมีกระแสที่มันขัดแย้งอยู่ในตัวของมันเองบางส่วน. คือในขณะที่มีการนิยามความเป็นไทย ในกระแสโลกาภิวัตน์ก็มีการนิยามเรื่องสิทธิด้วย. นิยามเรื่องสิทธิให้เป็นเหมือนมาตรฐานให้ไปวัดคนอื่นหมดเลย เหมือนย่างที่อเมริกาใช้ความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน, ซึ่งเวลานี้เราก็รับเอามา, อันนี้ได้นำไปวัดประเทศต่างๆหมดเลยว่า ประเทศไหนมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันนี้มันก็มากับกระแสด้วย.
มีคนที่กำลังคิดว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งมันมากับกระแสโลกาภิวัตน์ ก็เป็นเรื่องที่ ด้านหนึ่งมันก็ถูกนำไปใช้ในการกีดกันคนอื่น เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาอาจเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนไปกีดกันประเทศจีน อ้างที่ไม่รับซื้อสินค้าก็เพราะว่า จีนมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน.
แต่ว่า ถ้าเผื่อเรามองกระแสโลกาภิวัตน์ว่ามันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นได้เอง โดยที่ไม่มีใครจัดการ หรือไม่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องเลยนี่ มันก็เป็นไปไม่ได้. เพราะว่าจริงๆแล้วนี่ แม้ว่ากระแสโลกาภิวัตน์มันจะมากับระบบทุนนิยม แต่เมื่อมันมาปรากฎในสังคมใดสังคมหนึ่ง มันไม่ใช่หมายความว่าจะมีผลอย่างนั้นอย่างเดียวนะครับ ผู้คนที่อยู่ในแต่ละสังคม ก็มีปฏิกริยาโต้ตอบกับกระแสเหล่านั้นด้วย.
ดังนั้น ส่วนที่ไปตอบโต้กับกระแสโลกาภิวัตน์ หรือส่วนที่ไปปะทะกับกระแสโลกาภิวัตน์เหล่านี้ มันก็ทำให้เกิดมีการปรับเปลี่ยนโลกาภิวัตน์เหล่านั้นไปคนละทิศคนละทาง. คือบางพวกก็ไปขานรับกับกระแสโลกาภิวัตน์โดยการตกไปอยู่ภายใต้กระแสนั้นเลย เป็นพวกบริโภคนิยม หรือเป็นผู้ที่เดินตามกระแสนั้น. แต่ที่นี้ในอีกหลายส่วนมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น
เพราะว่า...อย่างที่ผมบอกแล้วว่า ในขณะที่กระแสโลกาภิวัตน์มันทำให้คนลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไป, แต่มนุษย์โดยทั่วๆไปแล้ว มันจะไม่ยอมสูญเสียความเป็นมนุษย์ไป. อันนี้เป็นข้อเท็จจริงเลยที่ว่า เมื่อไหร่ก็ตาม ที่คนถูกลดทอนความเป็นคนลงไปมาก มันจะมีลักษณะคล้ายๆกับปฏิกริยาตอบโต้. แต่มิได้หมายความว่าจะทำได้โดยอัตโนมัติ. การที่มนุษย์สามารถตอบโต้กับกระแสเหล่านี้ได้ มันทำโดยผ่าน...ถ้าภาษาที่ผมใช้ก็คือ "ความรู้ชาวบ้าน" หรือ popular knowledge.
ซึ่งเวลานี้เราเรียนหนังสือ เราเรียนความรู้แบบที่เป็นทางการ หรือวิทยาศาสตร์อะไรต่างๆ มันจะต่างจาก"ความรู้ชาวบ้าน". เพราะความรู้ที่เป็นทางการ หรือความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์นี่ เป็นความรู้ที่ถูกควบคุม อยู่ภายใต้สถาบัน. และจะมีกลุ่มคนที่เป็นผู้นิยาม เช่น นักวิชาการ. ดังนั้น ความรู้ที่เป็นทางการ ความู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือความรู้ที่อยู่ในสถาบันต่างๆ มันไม่ได้เป็นความรู้ที่จะปลดปล่อยให้ผู้คนสามารถที่จะทำอะไรได้ตามใจชอบ. แต่ว่าตรงกันข้าม มันกลับกลายเป็นความรู้ที่พยายามจะเข้ามาควบคุมคน แต่ ความรู้ชาวบ้านจะเป็นคนละอย่างเลย
"ความรู้ชาวบ้าน"ที่ผมพูดนี้หมายถึงอะไร ? ก็หมายถึง สิ่งต่างๆที่เราอาจจะคุ้นเคย อย่างเช่น แม้แต่การเข้าทรง อาจจะเป็นเรื่องของการเคารพนับถือสิ่งต่างๆตามความเชื่อ, ไม่ว่าจะเป็นการไปไหว้ต้นไม้ คือ "ความรู้พื้นบ้าน" ก็คือ "ความรู้ที่ไม่มีใครควบคุม มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์... " คล้ายๆกับมันจะฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งก็จะมีรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน แตกต่างกันออกไป.
อย่างที่ อ.นิธิ เขียนเรื่องเสด็จพ่อ ร.๕ อันนี้ก็เป็นเรื่องของ...ในแง่ผมเป็นเรื่องของ"ความรู้พื้นบ้าน" เป็นความรู้ชาวบ้านเหมือนกัน คือว่า เป็นสิ่งที่พูดง่ายๆคือ "ความรู้พื้นบ้าน"นี่ แท้จริงแล้วมันคือ"พื้นที่ทางวัฒนธรรม" ที่มันเปิดให้ผู้คนสามารถแสดงตัวตนของตัวเองออกมาได้. ดังนั้น ในสภาวการณ์ที่โลกาภิวัตน์กกำลังพยายามจะทำลายความเป็นมนุษย์นี่ มนุษย์จะแสดงความเป็นมนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อมันมีพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งจะทำให้ตัวเองรู้ว่า "เขาเป็นใคร ?"
เมื่อสักครู่ที่ อ.วารุณี บอกว่า ที่เราพูดถึงความเป็นชุมชน หรือว่าท้องถิ่นอะไรต่างๆเหล่านี้ ที่จริงแล้ว ความเป็นชุมชนก็ดี ความเป็นท้องถิ่นก็ดี คำต่างเหล่านี้มันล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะหนึ่ง ของการแสดงความเป็นตัวตน. หมายความว่า, หลายคนก็ไม่เข้าใจว่า สิ่งเรียกว่า"สิทธิชุมชน"หรือ"ความเป็นชุมชน" แท้จริงแล้วมันไม่ใช่เป็นเรื่องของว่าคนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันถึงจะแสดงสิ่งเหล่านี้ได้ แต่"ความเป็นชุมชน"คือการแสดงออกของความเป็นมนุษย์ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป. คือ มนุษย์จะแสดงความเป็นมนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่า เรามีความคล้ายคลึงกับคนอื่นอย่างไร ? อันนี้เป็นประการที่หนึ่ง.
ประการที่สองก็คือว่า ความรู้สึกที่ตระหนักว่ามีคุณค่าอะไรบางอย่างที่เราเห็นร่วมกัน ที่เราจะแสดงออกมาได้ เช่นว่า เราจะแสดงออกซึ่งความเป็นชุมชนในลักษณะที่เราคิดว่า...แสดงออกผ่านในเรื่องของความเป็นเพศ อย่างเช่น ความเป็นผู้หญิง. คือขณะที่เมื่อก่อนนี้ ความเป็นผู้หญิงบางคนอาจจะมองไม่เห็น, คือมันมีอยู่แต่ว่าคนมองไม่เห็น, เพราะเนื่องจากว่ามันไม่มีความสำคัญอะไร เพราะเหตุว่ามันอยู่ภายใต้ระบบที่ผู้ชายเป็นใหญ่ครอบงำอยู่. แต่เมื่อความคิดแบบที่ผู้ชายเป็นใหญ่ได้นำมาครอบ จนกระทั่งทำให้คนทั่วๆไปรู้สึกเหมือนกับว่า ตัวเองได้ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ลง ก็อาจจะเอาเรื่องของความเป็นผู้หญิงขึ้นมาเป็นตัวที่จะมารวมตัวกัน เพื่อที่จะไปโต้ตอบกับวัฒนธรรมที่มันมาครอบงำ. ในลักษณะอย่างนี้ มันก็จะก่อให้เกิดการรวมตัวกันขึ้น
การรวมตัวกันนี้อาจเป็นได้หลายรูปแบบ อย่างที่คนยกตัวอย่างกันมาก เกี่ยวกับการรวมตัวของพวกรถติดในกรุงเทพฯ ก็ใช้ผ่านพื้นที่ของ จส.100 เพื่อจะคุยปัญหากัน, อันนี้ก็เหมือนกัน. หมายความว่า มันแสดงถึงว่าคนเห็นปัญหาคล้ายๆกัน แล้วรู้สึกว่ามีความคิดอะไรบางอย่างร่วมกัน ก็มาสื่อสารกัน. รวมถึงการไปเคารพเสด็จพ่อ ร.๕, หรือเจ้าแม่กวนอิม, อะไรต่างๆเหล่านี้นะครับ.
ทั้งหมดเหล่านี้ก็คือความพยายามจะแสวงหาความเป็นตัวตนของตัวเอง ในลักษณะที่มีอะไรบางอย่างร่วมกันภายใต้แรงกดดันของกระแสโลกาภิวัตน์ที่จะมาเปลี่ยน ทำให้คนมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง มองไม่เห็นคุณค่าของความเป็นคน ไปยอมรับในคติอะไรบางอย่างซึ่งถูกทำให้เป็นสินค้า ถูกทำให้เป็นจริงมากขึ้น
อันนี้ผมคิดว่าเป็นกระบวนการทางวัฒนธรรมซึ่งมันอาจจะฟังดูยาก แต่ว่า ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง"เงินตรา"มันเห็นได้ชัดที่สุด ซึ่งเรื่องเงินตรามันจะนำไปใช้ในทุกเรื่อง หรือ"ความเป็นไทย" หรืออะไรต่างๆเหล่านี้. ทั้งหมดนี้มันจะอยู่ในแนวทางอย่างเดียวกัน นั่นก็คือ มันจะเปลี่ยนคติความเชื่อของผู้คน ที่เคยมีมาก่อนแต่ไหนแต่ไรให้กลายมาเป็นพระเจ้า. หรือถ้าเผื่อพูดตามภาษามาร์กซิสท์ ซึ่งมีอีกคำหนึ่งคือ rectification, แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นตัวมาร์กซิสท์ เป็น George Lucas เป็นนักคิดชาวฮังกาเรี่ยน คือเขาเป็นคนคิดคำนี้ขึ้นมา คือ"การปั้นน้ำเป็นตัว". ทำให้สิ่งที่เป็นความคิดมันแข็งตัว หรือทำให้มันเป็นตัวที่เรายึดถือเป็นหลักของชีวิต เช่น ไปยึดเอาความเป็นไทยมาเป็นสรณะ มาเป็นตัวยึดเหนี่ยว หรือยึดเอาเงินตรามาเป็นตัวยึดเหนี่ยว.
ทั้งหมดนี้มันเป็นผลมาจากกระบวนการขยายตัวของระบบทุนนิยมในขั้นสุดท้าย เพราะว่า ที่มันทำอย่างนี้ได้ก็เพราะ มันสามารถที่จะเปลี่ยนไอ้สิ่งที่มันเป็น... ที่เราเรียกว่า"คติ"ให้มันกลายมาเป็นพระเจ้า, สามารถเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นสินค้าได้ เพราะคนจะนิยมชมชอบหรือสามาถที่จะขายสิ่งเหล่านี้ได้มากขึ้น โดยผ่านขบวนการระบบสารสนเทศที่ขยายตัว หรือเทคโนโลยีของการสื่อสารสมัยใหม่ ซึ่งได้มาช่วยขยายสิ่งเหล่านี้ให้เป็นที่รับทราบ หรือดื่มด่ำกับสิ่งเหล่านี้มาก. ดังนั้น อันนี้จึงเป็นสิ่งที่ผมอยากจะหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลักของสิ่งที่ผมจะพูดถึง.
ภายใต้กระแสเหล่านี้ ผู้คนต่างๆพยายามจะตอบโต้ และการตอบโต้ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือว่า อย่างเช่นในเรื่องของสิทธิ, เท่าที่พูดไปแล้ว. ในขณะที่สิทธิอาจจะกลายเป็นเกณฑ์ที่จะไปวัดคนอื่น ขณะเดียวกัน ประชาชนหรือกลุ่มคนที่อาจจะถูกกระทำจากกระแสโลกาภิวัตน์นี่ อาจจะใช้เรื่องสิทธิอันเดียวกันนี้มาเป็นเครื่องมือของการต่อรอง. พูดให้ง่ายก็คือ ตัวที่เป็นความคิดหรือคติที่ถูกโลกาภิวัตน์สร้างขึ้นมา โลกาภิวัตน์ไม่สามารถที่จะให้คำอธิบายหรือผูกขาดคำอธิบายนี้ได้ทั้งหมด เพราะว่าผู้คนที่อาจจะรับทราบสิ่งเหล่านั้นไม่เท่าเทียมกัน อาจจะพยายามช่วงชิงการตีความ หรือการให้ความหมายใหม่.
พูดให้ง่ายก็คือว่า ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ถึงแม้ดูเหมือนกับว่า สื่อมวลชนจะมีบทบาทอย่างสำคัญต่อการครอบงำทางความคิด. แต่ว่าภายใต้ปัญหาต่างๆซึ่งเกิดขึ้น ผู้คนที่อยู่ในท้องถิ่น ผู้คนที่อยู่ในชีวิตประจำวันตามที่ต่างๆนี่ ก็ต้องดิ้นรนต่อสู้. ภายใต้การดิ้นรนต่อสู้นี้ เขาจะพยายามนิยามความหมายสิ่งเดียวกันนั้น ไม่ว่า"ความเป็นไทย"ก็ดี เรื่องของ"สิทธิ"ก็ดี เรื่องของ"เงินตรา"ก็ดี นิยามความหมายอย่างอื่น ซึ่งก็จะนำเอาการนิยามความหมายเหล่านี้มาเป็นการตอบโต้ โดยผ่านประเพณี หรือจารีตที่มีอยู่เดิม ซึ่งผมถือว่าเป็นความรู้ชาวบ้าน.
เช่น เราโต้ตอบกระแสโลกาภิวัตน์ อาจจะเน้นให้เรามีความเป็นนักอนุรักษ์มากขึ้น. แต่อนุรักษ์ไปอนุรักษ์มา จะอนุรักษ์แต่เพื่ออนุรักษ์ แล้วก็ไม่แคร์ความเป็นคนอย่างนี้เป็นต้น อันนี้เราจะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องกระแสการอนุรักษ์ที่มันมากับโลกาภิวัตน์. ดังนั้น เวลานี้เราจะอนุรักษ์ เราไล่คนออกหรือทำลายคนที่อยู่ในเขตอนุรักษ์ อะไรต่างๆเหล่านี้. อันนี้ก็จะเป็นปัญหา.
ดังนั้น ภายใต้กระแสความคิดการอนุรักษ์ที่ลงมานี้ โดยที่ไม่สนใจความเป็นคน แล้วใช้การอนุรักษ์นี้ไปกีดกันคนเสียอีก แล้วก็ทำลายคนไปอีก อันนี้มันเป็นผลมาจากลักษณะอย่างเดียวกันนะครับ. ด้วยเหตุนี้ ภายใต้การนิยามของเรื่อง"การอนุรักษ์" แปลว่า "ต้องไม่มีคน มีแต่สัตว์ได้, มีคนไม่ได้". ผู้คนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ก็พยายามที่จะไปโต้ตอบ ด้วยการนิยามความหมายของการอนุรักษ์ใหม่ ซึ่งก็จะทำโดยผ่านกระบวนการความรู้พื้นบ้าน เช่น การที่เรามาพูดถึงการสืบชะตาแม่น้ำ สืบชะตาต้นไม้ การบวชป่า.
ทั้งหมดเหล่านี้มันเป็นความรู้ชนิดที่ ระบบโลกาภิวัตน์หรืออำนาจรัฐก็ไม่สามารถจะควบคุมได้. เพราะมันไม่ต้องผ่านการเข้ามาในโรงเรียนถึงจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้, ถ้าคุณจะบวชป่า คุณไม่ต้องเข้ามหาวิทยาลัยคุณก็สามารถทำได้. ดังนั้น ความรู้ต่างๆเหล่านี้จึงทำให้ผู้คนที่ถูกผลกระทบต่างๆ สามารถจะนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ในการนิยามความหมายเพื่อจะต่อสู้กับความคิดเรื่องของการอนุรักษ์ในอีกแบบหนึ่ง.
ในลักษณะอย่างนี้ เราก็จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า แม้กระแสโลกาภิวัตน์ดูเหมือนกับว่ามันจะมาครอบงำทางความคิด แต่มันไม่เบ็ดเสร็จ. เพราะในด้านกลับ มันกลับกลายเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนอื่นสามารถมาช่วงชิงการนิยามได้ เช่นว่า โลกาภิวัตน์เปิดพื้นที่ในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คนอื่นก็ทำเช่นกันโดยผ่านความรู้พื้นบ้านมานิยามเรื่องการอนุรักษ์ตัวเดียวกันนี้. กระบวนการโลกาภิวัตน์เปิดพื้นที่ในเรื่องสิทธิมนุษยชน มันก็สามารถทำให้ชาวบ้านนิยามเรื่องสิทธิ์ เอามาใช้ตอบโต้ได้.
เช่น ปัจจุบันเราจะเห็นว่าเรื่องสิทธิได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญ. หลายคนพูดว่าเรื่องสิทธินี้มันมีในสังคมไทยมาก่อนหรือเปล่า หรือว่าเรารับมาทั้งหมด. เราอาจจะพูดได้ว่าเรื่องสิทธินี้เรารับมาจากภายนอกแน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่าคนในสังคมไทย จะนิยามความหมายนี้ใหม่ขึ้นมาไม่ได้ เพื่อใช้ในการตอบโต้. ตรงนี้ล่ะที่เป็นประเด็นสำคัญ
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ "ความเป็นไทย", เรื่อง"สิทธิ", เรื่อง"อนุรักษ์", เรื่อง"สิ่งแวดล้อมนิยม" ฯลฯ. ทั้งหมดเหล่านี้มันมากับกระแสโลกาภิวัตน์ทั้งนั้นเลย. แต่เราก็จะเห็นแล้วว่า มันไม่ได้หยุดนิ่ง หรือว่าเป็นไปตามกระแสโลกาภิวัตน์นิยามแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่มันก็ทำให้เกิดการนำเอาคำเหล่านี้มากลายเป็นเวทีของการช่วงชิงความหมายในสังคม. ด้วยเหตุนี้ สภาพการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ก็คือ สภาพที่เรียกว่า กระแสโลกาภิวัตน์ ในด้านหนึ่งมันพยายามจะมาครอบงำ ส่วนในอีกด้านหนึ่งมันก็เปิดพื้นที่อย่างอื่นๆ ให้ผู้คนในสังคมสามารถนำเอามาใช้เพื่อแสดงตัวตนได้มากขึ้น
ตัวอย่างในต่างประเทศจะเห็นได้หลายอย่าง เช่นว่า พวกไอนุซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า เวลานี้คนที่ไปญี่ปุ่นถามถึงพวกไอนุ คนก็อาจจะไม่รู้จัก เพราะว่าชนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มที่มีขนาดเล็กมาก แต่ปรากฎว่าภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวขยายออกไป พยายามจะไปดูวัฒนธรรมของชาวไอนุ แล้วก็เปลี่ยนวัฒนธรรมของชาวไอนุให้มาเป็นสินค้า เพื่อเอาไปขายในการท่องเที่ยว.
ด้านหนึ่งเราอาจจะเห็นว่า โอ้โฮ! เปลี่ยนความเป็นไอนุให้เป็นสินค้า ในแง่ที่เรารักและปกป้องคนที่เสียเปรียบอะไรต่างๆ อาจจะรู้สึกว่า ตายละวา! กระแสโลกาภิวัตน์กำลังกระทำกับชาวไอนุ ไปย่ำยีเขา. แต่ชาวไอนุกลับเฉยๆ, ตรงกันข้าม กลับยิ่งไปคล้ายๆกับพัฒนาวัฒนธรรมของชาวไอนุเพื่อขายใหญ่เลย. บางคนคงจะคิดไปว่า ชาวไอนุกำลังเดินไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ กำลังขายวัฒนธรรมของตัวเอง. แต่ว่า ถ้าเรามองแบบนั้นแสดงว่าเรากำลังมองเพียงแค่ด้านเดียว.
เราไม่ทราบว่า ชาวไอนุที่อยู่ในญี่ปุ่น ถูกคนญี่ปุ่นดูถูกจนเกือบจะเรียกได้ว่าถูกเหยียบติดดินอยู่แล้ว. ดังนั้นการที่วัฒนธรรมของชาวไอนุถูกเอามาขายในตลาดท่องเที่ยว เขากลับรู้สึกว่า ทำให้พวกเขามีช่องทางที่จะไปต่อกรกับคนญี่ปุ่น ในแง่ที่ว่า เขาก็มีตัวมีตนเหมือนกับคนอื่นเหมือนกัน ไม่ใช่ nobody, ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย. ถ้าเผื่ออยู่ในสังคมญี่ปุ่นก็คือ ไม่มีอะไรเลย.
เช่นเดียวกันกับตัวอย่างของโอกินาวาในญี่ปุ่น, โอกินาวาเป็นเกาะอีกที่หนึ่งในญี่ปุ่น. ปกติชาวโอกินาวาคล้ายๆกับ จะถูกดูถูกว่าเป็นพวกที่อยู่ห่างไกล เป็นพวกบ้านนอกอะไรต่างๆเหล่านี้. แต่คนโอกินาวานี่นะครับ... มีคนไปศึกษาว่า ปรากฎชาวโอกินาวานี่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์เต็มไปหมด เขาก็เลยสงสัยว่าทำไมชาวโอกินาวาจึงนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งศาสนาคริสต์ก็มาตามกระแสโลกาภิวัตน์. ก็พบว่าชาวโอกินาวานี่ เขาเปลี่ยนศาสนาไปก็เพราะว่า ถ้าเผื่อเขายังคงความเป็นโอกินาวาแบบเดิม แบบที่คนญี่ปุ่นนิยามนี่นะครับ เขาก็ nobody เหมือนกัน. ดังนั้นการที่เขาไปนับถือศาสนาคริสต์ซึ่งเป็นศาสนาสากลนี่ ก็สามารถทำให้เขาแสดงความมีตัวตนของเขาออกมาได้.
ดังนั้น พูดง่ายๆก็คือว่า ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ มันมีทั้งส่วนที่ไปลดทอนความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกัน ภายใต้ความรู้ชาวบ้านที่กลุ่มชนทั้งหลายแหล่มีอยู่ สามารถจะใช้ความรู้ชาวบ้านเหล่านี้ไปเปลี่ยนคติที่กระแสโลกาภิวัตน์พยายามนิยามให้เป็นวัตถุ เพื่อมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับที่จะไปต่อสู้มาปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับคนใสังคมของตัวเองก็ได้. ด้วยเหตุนี้ ชาวเขาหรือคนอื่นในบ้านเราก็อาจจะพูดถึงเรื่องสิทธิต่างๆเหล่านี้ ซึ่งมากับกระแสโลกาภิวัตน์ เพื่อเอาไปใช้ต่อสู้ในการปรับเปลี่ยนสถานภาพของตัวเองภายใต้สังคมไทยก็ได้.
จะเห็นว่า กระแสโลกาภิวัตน์ มันไม่ได้มีด้านเดียว แต่มันมีด้านหลายด้านซึ่งขัดแย้งในตัวของมันเอง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นสิ่งสำเร็จรูป หรือว่าเป็นอย่างนั้นที่เราแก้ไขอะไรไม่ได้. โลกาภิวัตน์ มันเป็นแต่เพียงเวทีการต่อสู้อีกอันหนึ่ง ซึ่งทุนนิยมก็เอามาใช้, ใครๆก็เอามาใช้ได้. ดังนั้น ในเวทีอันนี้มันก็ขึ้นอยู่กับว่า ความสามารถในการที่จะแย่งชิงพื้นที่ ซึ่งก็จะต้องไปแย่งชิงในพื้นที่ของสื่อมวลชน เวทีสาธารณะ. ด้วยเหตุนี้ การเปิดพื้นที่สาธารณะมากขึ้นเท่าไหร่ มันก็จะสามารถมีการเปิดให้ผู้คนสามารถที่จะเข้ามาช่วงชิงการนิยามสิ่งเหล่านี้ได้มากขึ้น
ทั้งหมดนี้ก็คงจะเป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตุเล็กๆน้อยๆ ซึ่งผมก็คิดว่าคงจะไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่ว่าเราคงจะมีเวลาซึ่งจะมาอภิปราย หรือถกเถียงกันว่า ที่ผมว่าไปนี้มันสามารถจะมาปรับเอามาคิดกันในประสบการณ์ที่เราประสบอยู่ หรือว่าจะเอามาใช้ในเชิงการอธิบาย วิเคราะห์ปัญหาต่างๆที่อยู่รอบตัวของเราได้อย่างไรบ้าง. เพราะมันเป็นแต่เพียงข้อสังเกตุ แนวคิด และมุมมองที่อยากจะหยิบขึ้นมาเพื่อใช้เป็นประเด็นคำถามหรือข้อสังเกตุสำหรับการพูดคุยกันต่อไปมากกว่า ผมก็คิดว่าคงจะใช้เวลาไปพอดีๆนะครับ เพื่อที่จะกระตุ้น หรือท้าทายให้คิด อะไรทำนองนี้
วารุณี : อาจารย์อานันท์ ก็ได้เสนอประเด็นหลายๆประเด็นที่น่าสนใจไปแล้วนะคะ ตอนนี้ก็จะถึงเวลาที่ผู้ฟังร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งก็ขอเชิญชวน... ไม่ต้องรู้สึกกลัวนะคะ เพราะเห็นคนหน้าแก่ๆอยู่เต็มไปหมด จึงทำให้ไม่กล้าพูด. พูดเถิดคะ เพราะว่าอย่างน้อยนี่ ในอายุที่ต่างกันหลายสิบปีนี่ก็อาจจะเกิดการแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างที่แต่ละฝ่ายนึกไม่ถึงเหมือนกัน เชิญเลยคะ
ผู้เข้าร่วมชั้นเรียน : ผมชื่ออัฐนะครับ เป็นคนที่มีความรู้น้อยนะครับ ศึกษามาน้อย สติปัญญาก็มีอยู่น้อยครับ. ทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า"โลกาภิวัตน์"นี่ ผมก็ยังรู้สึกสับสนอยู่ครับว่า จริงๆแล้วมันคืออะไรกันแน่นะครับ รบกวนให้อาจารย์ช่วยเหลือคนที่สติปัญญาน้อยอย่างผมหน่อยนะครับ ว่า ถ้าเกิดจะนิยามมันอย่างสั้นๆกระชับๆนี่ "โลกาภิวัตน์"มันน่าจะหมายถึงอะไรกันแน่. แล้วก็ผมก็สงสัยอยู่ว่า โลกาภิวัตน์มันเป็นกระบวนการ เป็นวิธีการของระบบทุนนิยม หรือว่ามันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากสภาพกระบวนการนั้นกันแน่.
ยกตัวอย่างผมนึกถึงสงครามครูเสด จุดมุ่งหมายของสงครามครูเสดคือไปรบกัน แต่ผลที่ได้ก็คือ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน. เปรียบเทียบกับทุกวันนี้ เหมือนกับการทำสงครามทางเศรษฐกิจกันอยู่ในระบบทุนนิยม โลกาภิวัตน์มันเป็นจุดมุ่งหมายหรือเปล่าครับ หรือว่ามันเป็นเพียงแค่ผลที่มันเกิดขึ้นมาเอง หรือว่าเป็นทั้งสองอย่างเลย คือ เป็นทั้งกระบวนการและเป็นทั้งผลด้วย.
และเมื่อสักครู่นี้ อาจารย์พูดอยู่ตอนหนึ่งที่บอกว่า ความเป็นไทยเป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์. ผมสงสัยว่า โลกาภิวัตน์มันไม่ใช่เป็นตัวทำลายความเป็นไทยหรือครับ. ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการแต่งกายก็ได้ครับ การแต่งกายในทุกวันนี้ เราก็ได้รับอิทธิพลจากโลกาภิวัตน์ ดูอย่างทุกคนที่ใส่เสื้อผ้ากันมาทุกวันนี้นะครับ คนเมืองก็ไม่ได้ใส่เสื้อผ้าเมืองมา หรือคนที่มาจากภาคกลางก็ไม่ได้ใส่เสื้อผ้าของตัวเองมา. ส่วนใหญ่ใส่เสื้อผ้าแบบโลกาภิวัตน์กันมา. ตรงนี้โลกาภิวัตน์ไม่ได้ทำลายความเป็นไทยหรือความเป็นคนเมืองตรงนี้หรือครับ
อานันท์ : ที่บอกว่ามันทำลายความเป็นไทย แท้ที่จริงมันไปทำลายความเป็นไทยอย่างที่เราควบคุมได้ไป แต่มันไปสร้างความเป็นไทยชนิดที่เป็นสินค้าขึ้นมา เพราะฉะนั้น เวลานี้เราไม่เห็นกันหรือครับว่า ไอ้ความเป็นไทยนั้นมันขายกันไปทั่วโลก ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนไทย. คุณควบคุมไม่ได้ คุณสามารถไปกินอาหารไทยที่ไหนในโลกก็ได้ แต่พอกินแล้ว มันจะไทยหรือไม่ไทยคุณควบคุมไม่ได้. ผมไปกินอาหารไทยที่ปารีสนี่ ปรากฎว่าคนเวียดนามขาย...มันกลายเป็นความเป็นไทยที่คุณควบคุมไม่ได้ เพราะมันกลายเป็นสินค้าไปแล้ว
แต่เรื่องที่ถามว่า โลกาภิวัตน์มันเป็นยังไง เมื่อสักครู่ผมก็พูดไปแล้วว่า คือไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครเขาตั้งใจ มันเป็นกระบวนการที่ติดตามมาของระบบทุนนิยม จนเดี๋ยวนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันจะมีใครคุม. บอกว่าโซรอสคุม หรือใครคุม... มันไม่มีใครคุมได้. มันเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องมา เพราะว่ามันเป็นขั้นตอนพัฒนาการของมัน ซึ่งเป้าหมายมันชัดเจนคือเพื่อที่จะสร้างกำไรสูงสุด มันก็ต้องมีวิธีพัฒนาการของระบบของมันเอง. ซึ่งแน่นอน มันก็อาจจะมีกลไกบางอย่างที่เอื้อให้เป็นไปอย่างนั้น... เช่นระบบการสื่อสาร ซึ่งมันทำให้กระบวนการอันนั้นมันขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว.
กระบวนการที่ไปตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรเขานี่ มันเป็นร้อยๆปี, หมายความว่าสมัยอาณานิคม, แล้วก็มาเอาแรงงานของเรา นี่ก็เพิ่งไม่กี่ปีมานี้เอง. มาเอาแรงงานจริงๆนี้ก็คือสมัยจอมพลสฤษฎ์ขึ้นมา พูดง่ายๆคือ มาให้คุณปลูกข้าวหรือพืชเกษตร ยิ่งคุณปลูกมาเท่าไหร่คุณก็เป็นหนี้มากขึ้นเท่านั้น. นี่ก็คือกระบวนการมาตักตวงแรงงาน มาเอาประโยชน์จากแรงงาน.
แต่ไอ้ที่เพิ่งมาเอาประโยชน์จากวัฒนธรรม มาสร้างวัฒนธรรมให้เป็นสินค้านี่ ผมคิดว่ามันคงจะไม่เกินยี่สิบปีมานี้เอง มันเร็วมากเลยนะครับ. สิ่งเหล่านี้มันมีกลไกบางอย่างที่อยู่ในระบบของทุนนิยม ซึ่งมันสร้างขึ้นมาพร้อมกับระบบ. ตั้งแต่ตัวแรกที่มันสร้างขึ้นมาที่ทำให้เงินดอลล่าร์เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนกันทั่วโลก และจนกระทั่งมาถึงเป็นองค์กรโลก. สิ่งเหล่านี้มันค่อยๆพัฒนากันขึ้นมา ดังนั้น มันก็เลยเป็นสิ่งที่อาจจะเรียกว่า เรามองไม่เห็น และมองไม่เห็นตัวคนว่าเป็นใคร แต่ว่ามันเป็นกระบวนการที่พัฒนามาพร้อมด้วยกลไกประกอบเหล่านี้
ส่วนนิยามความหมายของ"โลกาภิวัตน์" ผมไม่รู้ว่าจะนิยามมันยังไง ผมไม่สามารถนิยามมันออกมาเป็นคำๆอย่างนั้นได้ คือ มันเป็นกระบวนการพัฒนาขั้นตอนสุดท้ายของทุนนิยม ที่เปลี่ยนให้สิ่งที่เป็นสื่อของการซื้อขายแลกเปลี่ยน จากเดิมที่เป็นทรัพยากร แรงงาน มันมาเอาแม้กระทั่งวัฒนธรรม ความรู้สึก คุณค่า จิตใจของผู้คนให้เป็นสินค้าไปด้วย ก็คงจะนิยามได้แบบนี้.
เกรียงศักดิ์ : ประเด็นนี้ก็คิดอย่างที่อาจารย์เสนอได้ ถ้าพูดว่า โลกาภิวัตน์ก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งมันถูกโยนโครมออกมา แล้วมันก็มากำหนดคนอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้น มันก็มีปฏิกริยาของคนในที่ต่างๆที่จะนิยามมัน จะพูดแบบนี้ได้ไหมครับที่จะนิยามและนำมาใช้
อานันท์ : มันเป็นกระบวนการซึ่งในระบบทุนนิยมเอง ก็ไม่ใช่หมายความว่าที่มีใครเป็นผู้กำหนดมันทั้งหมด. ทุนนิยมมันก็มีการต่อสู้ในระบบทุนนิยม คือหมายถึง พวกที่เคยเอาประโยชน์จากทรัพยากร มันก็ทำให้คนอื่นไม่ได้ประโยชน์. หมายความว่า พวกเอาประโยชน์อย่างเช่น บริษัทอีสท์อินเดียของอังกฤษอะไรต่างๆ มันก็ไปทำให้คนอื่นเสียประโยชน์. คนอื่นก็พยายามจะหาวิธีการที่จะมาหาประโยชน์จากระบบที่มันขยายตัวไปทั่วโลกนี่ แทนที่จะมาเอาจากทรัพยากรอย่างเดียว มันก็มาเอา... มาหาทางมาเก็บตักตวงจากแรงงานคนอื่น.
พูดง่ายๆก็คือ มันไม่ใช่มีใครตั้งใจ แต่ว่ามันมีการต่อสู้อยู่ภายในตัวของมันเอง เพื่อจะช่วงชิงความได้เปรียบของการหากำไร เป็นการแสวงหากำไรทุกวิถีทาง. ทุนนิยมมัน creative, มันสร้างสรรค์...มันพยายามหาคำใหม่ๆขึ้นมาเพื่อแสวงหากำไร...เป็นการช่วงชิงหาประโยชน์กันอยู่ตลอดเวลา
วารุณี : ในช่วง 10 ปีนี้เราถูกกระหน่ำด้วยคำพูดของ"ความเป็นไทย" เราถูกกระหน่ำความคิดว่าเรามีความเป็นไทยอยู่ ซึ่งดิฉันคิดว่า...และในขณะนี้ เราก็พยายามจะบอกว่า เวลาเราไปถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย, ส่วนใหญ่ที่เราเห็นตามทีวีนะคะ คือหน่วยงานของรัฐนี่ หรือคนที่อยู่ในะบบ จะพูดเหมือนกันว่าเป็นผลจากวัฒนธรรมตะวันตก หรืออย่างที่บางคนพูดว่าเป็นผลจากโลกาภิวัตน์.
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือว่า "ความเป็นไทย"นี่ มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ? ซึ่งอาจารย์อานันท์บอกว่า มันถูกสร้างขึ้นในช่วงหลังมานี้เอง... ทีนี้ถ้าเราฟังโดยไม่คิดอะไร เราคิดว่ามันมีสิ่งที่เราเรียกว่า "ความเป็นไทย". แต่ถ้าเรามาคิดกันจริงๆว่า ความเป็นไทยคืออะไร ? บางทีเราหาคำตอบไม่ได้นะคะ. เพราะจริงๆ ถ้าเราพูดถึงเผ่าพันธุ์ของเรา มันก็ปนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นจีน เป็นไทย เป็นลาว เป็นแขก อะไรปนกันไปหมด. คือ...มันเป็นอะไรล่ะ ความเป็นไทยอันนี้. จริงๆแล้วมันมีไหมอะไรแบบนี้ ?
ผู้เข้าร่วมเสวนา : ถ้าเราคิดว่า "โลกาภิวัตน์" ก็คือคำใหม่ที่บัญญัติขึ้นในสังคมปัจจุบันนี้ เมื่อระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานะคะ แต่คำว่า"โลกาภิวัตน์"มันน่าจะมีตั้งแต่มีมนุษย์แล้วล่ะ หรือแม้กระทั่งในสมัยพุทธกาล หรือสมัยพระเยซู พวกฮิบรูก็จะถูกดูถูกโดยพวกโรมัน หรือพวกอารยันก็จะดูถูกคนพื้นเมืองอะไรต่างๆ มันมีมาเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าภาษาที่พูดมันเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง.
ทีนี้ที่เรามองว่า เราถูกปัญหาจากข้างนอกมากระทบเรา ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม หรือวิธีการต่างๆซึ่งมากระทบเรา เอาประโยชน์จากเรา หรือว่ามันขายโลกาภิวัตน์ มันขายความเป็นชาติ ...จริงๆแล้วทั้งหมดนี่ มันขึ้นอยู่กับว่า คำว่าโลกาภิวัตน์หรือสิ่งซึ่งกระทำต่อเรา มันเกิดขึ้นมาจากคำๆเดียวก็คือ"กิเลส" อันนี้จะได้ไหม ? เพราะถ้าหากเรามองตัวตนของเราจากข้างในแล้ว ว่า ชีวิตเราที่เกิดมานี้เราต้องการอะไร ? อะไรที่จะทำให้เรามีความสุขแต่เพียงเท่านั้น, มันจะเป็นจีวองชี่ หรือว่าเวอซาเช่ หรือว่าเป็นอะไร ? เรา need สิ่งเหล่านั้น เราต้องการหรือเปล่า. ถ้าเราไม่ต้องการ เราก็มีเพียงปัจจัยสี่ที่จำเป็นเท่านั้นเอง.
ถ้าเราปล่อยให้กิเลสมันเข้ามาครอบงำเรา แล้วเราก็ปล่อยให้สิ่งจากข้างนอกเข้ามาโจมตีเราตลอดเวลา เรา...คงเป็นสังคมที่ซับซ้อนและแก้ไขไม่ได้. แต่ถ้าเรามองเพียงว่า ตัวเราต้องการอะไร และอะไรที่ทำให้เรามีความสุข. ความสุขที่มีมาจากสิ่งฟุ้งเฟ้อหรือเปล่า. ถ้าเรามีความสุขจากการมีชีวิตที่เรียบง่าย เราก็น่าจะปลอดพ้นจากสิ่งที่เข้ามาโจมตีเราซึ่งเรียกว่ากิเลส. ถ้าเรามามองที่ตัวตนเราจริงๆแล้ว เราอาจจะปลอดพ้นจากการถูกจู่โจมจากข้างนอกได้. ถ้าเราจะแก้ไปทีละจุด เราคงต้องแก้เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่นจุด เพราะสังคมมันซ้บซ้อนมาก. เราจะแก้ที่จุดไหนล่ะ ถ้าเราไม่แก้ที่ตัวเราเอง. จะเรียกว่าปลุกระดมพวกเราหรือเปล่า ให้พวกเราย้อนมองตัวเอง มีชีวิตที่เรียบง่ายเท่านั้นเอง...เราจะปลอดภัยไหม ? ขอบคุณค่ะ
I กลับไปหน้าเริ่มต้น I สารบัญบทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I