การถึงแก่กรรมของเขาในปี ค.ศ.1979, ทำให้อิทธิพลของ Herbert Marcuse ได้ค่อยๆลดความสำคัญลงมา
การที่ความสำคัญดังกล่าวในงานของเขา
ถูกเพิกเฉยหรือไม่ได้รับความเอาใจใส่ เป็นเรื่องที่น่าหาความรู้เพิ่มเติม ในฐานะที่
Marcuse เป็นหนึ่งในบรรดานักทฤษฎีที่มีอิทธิพลมากที่สุด ของวันเวลาในช่วงระหว่างทศวรรษที่
1960s และงานของเขา ยังคงเป็นหัวข้อหนึ่งของความสนใจ และถกเถียงกันในช่วงระหว่าง
ทศวรรษที่ 1970s.
ขณะเดียวกัน ความเสื่อมถอยของขบวนการต่างๆในการปฏิวัติ ซึ่งเขาได้ถูกนำเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
ได้ช่วยอธิบาย
ความอับแสงลงต่อความนิยม
ในตัวของ Marcuse
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)
HERBERT
MARCUSE By Douglas Kellner
(คนสำคัญที่โลกกำลังจะหลงลืม)
Herbert Marcuse มีชื่อเสียงระดับโลกขึ้นมาในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1960s ในฐานะนักปรัชญา, นักทฤษฎีทางสังคม และนักกิจกรรมทางการเมืองคนหนึ่ง เขายังได้รับการยกย่องจากสื่อต่างๆในฐานะที่เป็น"บิดาแห่งกลุ่มซ้ายใหม่"ด้วย. นอกจากนี้เขายังเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย และเป็นคนที่เขียนหนังสือและบทความเอาไว้เป็นจำนวนมาก
Marcuse เป็นที่รู้จักในทางที่ไม่ค่อยดีนัก เมื่อเขาถูกรับรู้ในฐานะที่เป็นทั้งคนซึ่งมีอิทธิพลและผู้พิทักษ์ปกป้อง"พวกซ้ายใหม่" ทั้งในยุโรปและอเมริกา. ทฤษฎีของเขาเกี่ยวกับ"สังคมมิติเดียว"(one-dimensional" society) ได้ให้มุมมองหรือทัศนียภาพในเชิงวิพากษ์ต่อพวกทุนนิยมร่วมสมัย และบรรดารัฐสังคมคอมมิวนิสท์ ประกอบกับความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับ"การปฏิเสธ" ได้ทำให้เขามีชื่อเสียงในฐานะนักทฤษฎีคนหนึ่งในการการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิวัติ และ"การเป็นอิสระจากสังคมที่มั่งคั่งร่ำรวย" ผลที่ตามมา เขาได้กลายเป็นหนึ่งในปัญญาชนซึ่งมีอิทธิพลมากสุดในสหรัฐอเมริกา ช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1960s และล่วงเข้าสู่ทศวรรษที่ 1970s
สำหรับบทความขนาดสั้นชิ้นนี้จะพยายามให้ภาพต่างๆของ Herbert Marcuse รวมถึงงานเขียนต่างๆของเขาที่มีต่อเรื่องราวทางปรัชญา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ และนอกจากนี้ยังพยายามที่จะอธิบายถึงงานเขียนของ Marcuse ที่มีผลต่อปรัชญาร่วมสมัย พร้อมทั้งพูดถึงที่ทางของเขาในเรื่องราวเกี่ยวกับของปรัชญาภาคพื้นทวีปยุโรป(continental philosophy)ในยุคหลังสมัยใหม่
Heidegger,
Marxism, and Philosophy
ไฮเด็กเกอร์, มาร์กซิสม์, และ ปรัชญา(ที่เกี่ยวข้องกับ Marcuse)
Marcuse เกิดในปี ค.ศ.1898 ในเบอร์ลิน และหลังจากทำงานรับใช้ชาติกับกองทัพเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่
1 แล้วเขาได้ไปที่ Freiburg (อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมันนี ใกล้กับ Black
Forest) เพื่อทำการศึกษา. หลังจากที่เขาได้รับปริญญาเอกในสาขาวรรณคดีในปี ค.ศ.1922
และดำเนินอาชีพเป็นคนขายหนังสือในช่วงระยะเวลาสั้นๆที่เบอร์ลิน เขาได้หวนกลับไปที่
Freiburg อีกครั้งในปี ค.ศ.1928 เพื่อศึกษาทางด้านปรัชญากับ Martin Heidegger
ซึ่งในช่วงนั้นเป็นหนึ่งในบรรดานักคิดที่มีอิทธิพลมากที่สุดในเยอรมันนี
บทความของ Marcuse ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1928 เป็นงานที่พยายามสังเคราะห์เกี่ยวกับมุมมองทางปรัชญาของ phenomenology, existentialism, และ Marxism งานดังกล่าวถือเป็นงานในลักษณะสังเคราะห์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งหลายทศวรรษต่อมาได้มีผู้ดำเนินรอยตามโดยบรรดา "existential" และ "phenomenological" Marxists หลายคน อย่างเช่น Jean-Paul Sartre และ Maurice Merleau Ponty เช่นเดียวกับบรรดานักศึกษาอเมริกัน และปัญญาชนทั้งหลายของขบวนการซ้ายใหม่
Marcuse ให้เหตุผลว่า ความคิดแบบ Marxist ได้เสื่อมทรามลงไปสู่ลักษณะของออร์ธอด็อกซ์ดั้งเดิมแบบตายตัว(a rigid orthodoxy) และด้วยเหตุดังนั้น มันจึงต้องการประสบการณ์อันมีชีวิตชีวาที่เป็นรูปธรรมและในเชิงปรากฎการณ์วิทยา เพื่อฟื้นคืนพลังในทางทฤษฎีขึ้นมาใหม่. ในเวลาเดียวกัน Marcuse ก็เชื่อว่าลัทธิมาร์กซิสม์ไม่ให้ความสนใจในปัญหาของปัจเจกชน และตลอดชีวิตเขาให้ความเอาใจใส่ต่อการปลดปล่อยตัวเองของปัจเจกชนและความผาสุก นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงสังคม และความเป็นไปได้ต่างๆเกี่ยวกับการแปรเปลี่ยนจากลัทธิทุนนิยมไปสู่ลัทธิสังคมนิยม
Marcuse ยังธำรงรักษาความคิดของเขาตลอดชีวิตที่ว่า Heidegger เป็นครูและนักคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เขาเคยพบมา. ห้องเก็บเอกสารสำคัญของ Marcuse บรรจุไปด้วยผลงานบันทึกคำบรรยายของเขาชุดหนึ่งที่สมบูรณ์นับจากช่วงปลายทศวรรษที่ 1920s เป็นต้นมา จนกระทั่งเขาได้ละทิ้งจาก Frieburg ในปี ค.ศ.1933 กล่าวได้ว่า เอกสารดังกล่าวนั้นเป็นความสนใจของเขาอย่างเข้มข้นต่อปรัชญาของ Heidegger และเป็นการอุทิศตัวต่อคำบรรยายของครูของเขาคนนี้ กระนั้นก็ตาม Marcuse รู้สึกกระอักกระอ่วนและท้อใจมากในความผูกพันและการร่วมสมาคมทางการเมืองของ Heidegger ที่ไปพัวพันอยู่กับลัทธิสังคมนิยมแห่งชาติ(national socialism)
ต่อมา หลังจากที่เขาได้เขียนงานวิทยานิพนธ์ที่เรียกว่า Habilitations Dissertation เพื่อแสดงคุณสมบัติและความพร้อมที่จะเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเสร็จสมบูรณ์แล้ว ในหัวข้อ Hegel's Ontology and the Theory of Historicity (ภววิทยาของเฮเกล และทฤษฎีเกี่ยวกับความจริงทางประวัติศาสตร์), เขาก็ตัดสินใจละทิ้ง Freiburg ในปี ค.ศ.1933 เพื่อไปร่วมงานที่ institut fur Sozialforschung (Institute for Social Research - สถาบันวิจัยสังคม) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองแฟรงค์เฟริท, แต่ต่อมาไม่นานนัก สถาบันแห่งนี้ได้ไปเปิดสาขาที่ทำการอยู่ที่เจนีวา และถัดจากนั้น ได้ไปเปิดที่ทำการอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ Marcuse ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานด้วย
งานศึกษาของเขาเกี่ยวกับ Hegel's Ontology and Theory of Historicity(1932) ได้ช่วยส่งเสริมฟื้นฟูความสนใจเกี่ยวกับ Hegel ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในยุโรป โดยการเน้นถึงความสำคัญของแนวคิดภววิทยาของ Hegel เกี่ยวกับชีวิตและประวัติศาสตร์, เช่นเดียวกับทฤษฎีจิตนิยมเกี่ยวกับจิตวิญญานและหลักวิภาษวิธีของเขา. ยิ่งไปกว่านั้น, Marcuse ยังได้ตีพิมพ์งานวิจารณ์สำคัญชิ้นแรกในปี ค.ศ.1933 เกี่ยวกับงานเขียนที่เพิ่งมีการตีพิมพ์ขึ้นมาของมาร์กซ์ เรื่อง Economic and Philosophical Manuscripts of 1844 (ต้นฉบับทางเศรษฐศาสตร์และปรัชญาปี 1844) งานเขียนของเขาชิ้นนี้เป็นการวิจารณ์ข้อคิดเห็นดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนแนวโน้มในการแก้ไขปรับปรุงการตีความต่างๆเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซิสม์ จากจุดยืนผลงานต่างๆของมาร์กซ์ในช่วงต้นๆ. ผลงานเหล่านี้ได้เผยให้เห็นว่า Marcuse เป็นนักศึกษาที่ฉลาดเฉลียวคนหนึ่งทางด้านปรัชญาเยอรมันนี และเขากำลังพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นหนึ่งในบรรดานักทฤษฎีทั้งหลายที่มีอนาคตมากที่สุดในรุ่นของเขา
Critical Theory of Society
ทฤษฎีวิพากษ์เกี่ยวกับสังคม
ในฐานะเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสถาบันวิจัยสังคม, ในไม่ช้า Marcuse ได้เข้าไปพัวพันอย่างลึกซึ้งในโครงการสหวิทยาการ(interdisciplinary
projects)ต่างๆ ซึ่งได้สร้างแบบจำลองอันหนึ่งสำหรับทฤษฎีวิพากษ์ทางสังคมขึ้นมา(critical
theory), ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการทางทฤษฎีอันหนึ่งเกี่ยวกับก้าวย่างใหม่ของลัทธิทุนนิยมโดยรัฐและทุนนิยมผูกขาด,
หากจะกล่าวอย่างชัดเจนก็คือ ทฤษฎีวิพากษ์เป็นทฤษฎีที่เน้นความสัมพันธ์กันระหว่างปรัชญา,
ทฤษฎีสังคม, การวิจารณ์สังคม, และได้จัดหาเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่เป็นระบบอันหนึ่ง
พร้อมทั้งวิจารณ์เกี่ยวกับลัทธิฟาสซิสม์เยอรมัน. Marcuse เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างลึกซึ้งกับ"ทฤษฎีวิพากษ์"ของสถาบันแห่งนี้
และตลอดช่วงชีวิตของเขาได้มีความใกล้ชิดกับ Max Horkheimer, T.W. Adorno, และสมาชิกคนอื่นๆที่อยู่วงในของสถาบันดังกล่าว
ในปี ค.ศ.1934, Marcuse - ผู้ซึ่งมีเชื้อสายยิวเยอรมันและเป็นคนหัวรุนแรง - ได้หลบหนีจากลัทธินาซีและอพยพไปยังสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งเขาได้พำนักอยู่ที่นั่นในเวลาที่เหลือทั้งหมดของชีวิต. สถาบันวิจัยสังคมได้ถูกโอนสำนักงานและสมาคมวิชาการให้ไปขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ที่ Marcuse ได้ทำงานอยู่ที่นั่นในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1930s และช่วงต้นของทศวรรษที่ 1940s.
งานชิ้นสำคัญเรื่องแรกของเขาที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษคือ _Reason and Revolution_ (1941), ซึ่งเป็นการติดตามร่องรอยและรากกำเนิดเกี่ยวกับความคิดต่างๆของ Hegel, Marx, และทฤษฎีสังคมสมัยใหม่. งานชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นความคล้ายคลึงกันต่างๆระหว่าง Hegel และ Marx, และเป็นการแนะนำให้บรรดาผู้อ่านที่พูดภาษาอังกฤษได้รู้จักกับขนบประเพณีแบบ Hegelian-Marxian ในส่วนของหลักการวิภาษวิธีและการวิเคราะห์ทางสังคม. ตำราเล่มนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในงานแนะนำที่เยี่ยมที่สุดซึ่งทำให้รู้จัก Hegel และ Marx และยังถือว่าเป็นหนึ่งในหนังสือในแนวการวิเคราะห์ที่ดีที่สุดของการแบ่งหมวดหมู่และวิธีการต่างๆเกี่ยวกับความคิดในลักษณะวิภาษวิธี
ในช่วงปี ค.ศ.1941 Marcuse ได้เข้าไปร่วมงานกับหน่วยงาน OSS (Office of Secret Services - อันเป็นหน่วยสืบราชการลับ) และต่อจากนั้นก็ทำงานให้กับกระทรวงต่างประเทศ(สหรัฐฯ), จนกระทั่งเขาได้เป็นผู้อำนวยการ สำนักงข่าวกลางยุโรปในกระทวงนั้นในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2. หลังจากทำงานรับใช้รัฐบาลสหรัฐฯ นับจากปี ค.ศ.1941 จนตลอดมาถึงช่วงต้นของทศวรรษที่ 1950s, Marcuse มักอ้างเสมอว่าได้รับแรงกระตุ้นมาจากความปรารถนาอันหนึ่งที่จะต่อสู้กับลัทธิฟาสซิสม์, เขาได้หวนคืนกลับไปทำงานทางด้านสติปัญญาและได้ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง _Eros and Civilization_ ในปี 1955 ซึ่งเป็นความพยายามที่จะสังเคราะห์อย่างหาญกล้าเกี่ยวกับแนวคิดของ Marx และ Freud เข้าด้วยกัน และได้ร่างภาพเค้าโครงต่างๆเกี่ยวกับสังคมที่ปราศจากการปราบปรามและการกดขี่
ขณะที่ Freud ได้ให้เหตุผลในงาน _Civilization and Its Discontents_(อารยธรรมและความไม่พอใจ) ว่า อารยธรรมได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปราบปราม การกดขี่ และความทุกข์ยากอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้, Marcuse อ้างว่า ปัจจัยที่เป็นแก่นแกนอื่นๆในทฤษฎีของ Freud เสนอแนะว่า จิตไร้สำนึกต่างๆได้บรรจุพยานหลักฐานเกี่ยวกับแรงขับของสัญชาตญานอันหนึ่งเอาไว้ที่จะมุ่งไปยังความสุขและอิสรภาพ. Marcuse เสนอว่า, หลักฐานดังกล่าวได้ถูกทำให้ชัดเจนในสิ่งที่เราเรียกกันว่า"ฝันกลางวัน", "ผลงานทางศิลปะ", "ปรัชญา", และผลผลิตทางวัฒนธรรมทั้งหลาย
รากฐานการอ่านงานของ Freud อันนี้และการศึกษาเกี่ยวกับขนบจารีตแห่งการปลดปล่อยของปรัชญาและวัฒนธรรม, Marcuse ได้ร่างภาพเค้าโครงต่างๆของอารยธรรมที่ไร้การปราบปรามและการกดขี่ ซึ่งจะเกี่ยวพันกับแรงขับทางเพศ(libidinal labor - แรงขับจากลิบิโด)และแรงขับที่ปราศจากความแปลกแยก, การเล่น, ความมีอิสระและเรื่องเพศที่เปิดเผย, และการผลิตของสังคม - วัฒนธรรม ซึ่งส่งเสริมอิสรภาพและความสุขมากยิ่งขึ้น. วิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับเสรีภาพ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนค่านิยมต่างๆมากมายทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960s ซึ่งสวนกระแสกับวัฒนธรรมอันคร่ำครึก่อนหน้านั้น และได้ช่วยให้ Marcuse กลายเป็นปัญญาชนคนสำคัญคนหนึ่ง และมีอิทธิพลทางการเมืองในช่วงระหว่างทศวรรษดังกล่าว
Marcuse ให้เหตุผลว่า องค์กรทางสังคมทุกวันนี้ได้สร้าง"การกดขี่ส่วนเกินขึ้นมา"โดยการยัดเยียดภาระที่ไม่จำเป็นทางสังคมให้, อย่างเช่น ข้อจำกัดต่างๆที่ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดเกี่ยวกับเรื่องเพศ, และระบบสังคมอันหนึ่งที่สร้างขึ้นรายรอบเรื่องของกำไรและการตักตวงผลประโยชน์
ตามการลดลงเกี่ยวกับโอกาสหรือความหวังมากขึ้นเรื่อยไในเรื่องของความอุดมสมูรณ์, Marcuse เรียกร้องให้ยุติการกดขี่ และสร้างสรรค์สังคมใหม่อันหนึ่งขึ้นมา การวิพากษ์ที่รุนแรงของเขาเกี่ยวกับสังคมที่เป็นอยู่และค่านิยมต่างๆของสังคม รวมถึงข้อเรียกร้องของเขาเกี่ยวกับอารยธรรมที่ปราศจากการบีบคั้น ได้ก่อให้เกิดข้อโต้เถียงกันอันหนึ่งเกี่ยวกับเขา เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยโต้แย้งกับเพื่อนร่วมงานคือ Erich Fromm ผู้ซึ่งกล่าวหาว่าเขาเป็นพวกสุญนิยม(nihilism - ในที่นี้หมายถึงความเชื่อที่ว่า ความเจริญก้าวหน้าจะเกิดขึ้นได้โดยวิธีทำลายคุณค่าที่มีอยู่ องค์กรทางสังคมและการเมืองเดิมๆให้หมดไป แต่มิได้เสนอสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมาทดแทน) และมีลักษณะเป็นสุขนิยมอันปราศจากความรับผิดชอบ(irresponsible hedonism)
Marcuse ได้โจมตี Fromm มาแต่ต้น สำหรับท่าทีที่ลงรอยมากจนเกินไปและแนวคิดอุมคตินิยม และโจมตีซ้ำเข้าไปอีกในการถกเถียงกันเกี่ยวกับข้อโต้แย้งในงานของเขาที่ดำเนินรอยตามงานพิมพ์เกี่ยวกับเรื่อง _Eros and Civilization_(เทพแห่งความรักและอารยธรรม) ซึ่งเป็นการถกกันอย่างดุเดือดในเรื่องที่ Marcuse ได้นำเอาหลักการหรือทฤษฎีของ Freud มาใช้, การวิพากษ์ของเขาเกี่ยวกับอารยธรรมที่เป็นอยู่, และข้อเสนอต่างๆของเขาสำหรับองค์กรทางสังคมและวัฒนธรรมในอีกทางเลือกหนึ่ง
ในปี ค.ศ.1958, Marcuse ได้รับตำแหน่งที่มหาวิทยาลัย Brandeis University และได้กลายเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและสมาชิกที่มีอิทธิพลของที่นั่น. ในช่วงระหว่างที่เขาทำงานกับรัฐบาลอยู่นั้น, Marcuse เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเกี่ยวกับลัทธิฟาสซิสม์และลัทธิคอมมิวนิสม์ และเขายังได้ตีพิมพ์งานศึกษาเชิงวิพากษ์ชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับสหภาพโซเวียตในปี 1958 (_Soviet Marxism_ลัทธิมาร์กซิสม์ของโซเวียต) ซึ่งงานชิ้นนี้ ถือเป็นการพังทะลายข้อห้ามในแวดวงต่างของเขาต่อการพูดถึงเรื่องของสหภาพโซเวียต และลัทธิคอมมิวนิสม์โซเวียตในเชิงวิพากษ์วิจารณ์
ขณะที่เขากำลังพยายามพัฒนาวิธีการการวิเคราะห์หลายๆวิธีและหลายๆด้านอยู่นั้น, Marcuse ได้โฟกัสหรือเพ่งความสนใจของเขาเกี่ยวกับการวิพากษ์ลงไปที่ระบบราชการของโซเวียต, วัฒนธรรม, ค่านิยมต่างๆ, และความแตกต่างระหว่างทฤษฎีมาร์กเซี่ยน และเรื่องของของโซเวียตเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซิสม์. การวางระยะห่างของตัวเขาจากบุคคลเหล่านั้นผู้ซึ่งตีความคอมมิวนิสม์ของโซเวียตในฐานะที่เป็นระบบราชการอันหนึ่งที่ไม่มีความสามารถในการปฏิรูป และไร้ช่องทางที่จะทำให้เป็นประชาธิปไตย Marcuse กลับชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้หรือศักยภาพของ"แนวโน้มต่างๆในการทำให้เป็นเสรีนิยม" ซึ่งต่อต้านระบบราชการแบบสตาลินนิสท์ ซึ่งอันที่จริง ในท้ายที่สุดได้ปรากฏเป็นรูปธรรมขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1980s ภายใต้รัฐบาล กอร์บาชอฟ
ต่อมา Marcuse ได้พิมพ์งานในเชิงวิพากษ์ที่กว้างขวางชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาทั้งที่เกี่ยวกับสังคมทุนนิยมที่ก้าวหน้าและคอมมิวนิสม์ใน_One-Dimensional Man_ [มนุษยมิติเดียว](1964). หนังสือเล่มนี้ได้สร้างทฤษฎีความเสื่อมสลายซึ่งเกี่ยวกับศักยภาพหรือความเป็นไปได้ในลักษณะพลิกผันในสังคมทุนนิยมต่างๆ และพัฒนาการของรูปแบบใหม่ๆเกี่ยวกับการควบคุมทางสังคม
Marcuse ได้ให้เหตุผลว่า "สังคมที่ก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม"ได้สร้างสรรค์ความต้องการที่ผิดๆขึ้นมามากมาย ซึ่งได้ประสานปัจเจกบุคคลทั้งหลายเข้าสู่ระบบของการผลิตและการบริโภคที่มีอยู่. สื่อสารมวลชนและวัฒนธรรม, การโฆษณา, การจัดการทางด้านอุตสาหกรรม, และแบบหรือวิธีคิดต่างๆร่วมสมัย ต่างผลิตซ้ำระบบที่มีอยู่และพยายามที่จะขจัดการปฏิเสธออกไป กำจัดการวิพากษ์วิจารณ์ และความตรงข้ามทิ้งไป ผลลัพธ์ก็คือ ทำให้เกิดลักษณะสากลที่มีมิติเดียวทางความคิดและพฤติกรรมขึ้นมา ซึ่งความสามารถและสมรรถภาพสำหรับความคิดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ และพฤติกรรมในทางตรงข้ามกำลังถูกทำให้เหี่ยวเฉาร่วงโรยลง
ไม่เพียงลัทธิทุนนิยมที่ได้มาบูรณาการเข้ากับชนชั้นคนงานเท่านั้น, (ซึ่งครั้งหนึ่ง คนงานเคยเป็นต้นตอเกี่ยวกับพลังของฝ่ายตรงข้ามที่มีศักยภาพในการปฏิวัติ) นายทุนทั้งหลายยังได้พัฒนาเทคนิควิธีการใหม่ๆเกี่ยวกับการทำให้ตัวพวกเขามีเสถียรภาพ โดยผ่านนโยบายต่างๆของรัฐและการพัฒนาเกี่ยวกับรูปแบบใหม่ๆของการควบคุมทางสังคมด้วย. ด้วยเหตุนี้ Marcuse จึงได้ตั้งคำถามขึ้นมาสองข้อ กับคำยืนยันต่างๆในขั้นมูลฐานของลัทธิมาร์กซ์แบบเดิมๆ(orthodox Marxism) นั่นคือ ชนชั้นกรรมาชีพยังจะเป็นต้นตอของการปฏิวัติอยู่อีกหรือไม่ และการไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของวิกฤตการณ์ทุนนิยม ยังจะเป็นเช่นนั้นอยู่อีกหรือเปล่า?
ในทางที่แย้งกันกับข้อเรียกร้องต่างๆอย่างมากมายเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์แบบดั้งเดิม, Marcuse สนับสนุนrพลังอำนาจที่ไม่ได้มีการรวมตัวกันของบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย, คนนอกต่างๆ, และปัญญาชนหัวรุนแรง และพยายามที่จะหล่อเลี้ยงความคิด-พฤติกรรมในเชิงตรงข้ามโดยผ่านการสนับสนุนความคิดที่ตรงกันข้ามและมีลักษณะถอนรากถอนโคน
หนังสือเรื่อง_One-Dimensional Man_ ได้ถูกวิจารณ์อย่างค่อนข้างรุนแรงโดยบรรดามาร์กซิสท์หัวโบราณ(orthodox Marxists)และบรรดานักทฤษฎีทั้งหลายเกี่ยวกับพันธกิจต่างๆทางการเมืองและทางทฤษฎีอย่างหลากหลาย. แม้ว่าจะเป็นการมองโลกในแง่ร้าย, มันก็มีอิทธิพลเป็นอันมากต่อพวกซ้ายใหม่ ในฐานะที่มันได้พูดจากออกมาอย่างชัดเจนถึงความไม่พึงพอใจที่ผุดขึ้นมาของพวกเขา กับสังคมทุนนิยมต่างๆและสังคมคอมมิวนิสท์โซเวียต
ยิ่งไปกว่านั้น, Marcuse ตัวเขาเอง ยังคงปกป้องข้อเรียกร้องต่างๆเพื่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิวัติและปกป้องพลังอำนาจใหม่, ซึ่งเป็นพลังที่เกิดขึ้นมาของฝ่ายตรงข้ามที่รุนแรง ด้วยเหตุนี้ มันจึงทำให้เขาเป็นที่เคียดแค้นและเกลียดชังจากพลังอำนาจเดิมที่ได้รับการสถาปนาจนเป็นที่ยอมรับแล้ว และได้รับการเคารพในฐานะที่เป็นกลุ่มใหม่ที่รุนแรง
The New Left and Radical
Politics
ซ้ายใหม่และแนวคิดการเมืองแบบถอนรากถอนโคน
เรื่อง _One-Dimensional Man_ ได้รับการดำเนินรอยตามโดยหนังสือชุดหนึ่งที่ออกมาหลายเล่ม
ซึ่งได้เปล่งเสียงออกมาอย่างชัดถ้อยชัดคำเกี่ยวกับการเมืองของพวกซ้ายใหม่ และการวิพากษ์ถึงบรรดาสังคมทุนนิยมทั้งหลาย
เช่น "Repressive Tolerance" (1965), _An Essay on Liberation_ (1969), และ _Counterrevolution
and Revolt_ (1972)
สำหรับเรื่อง "Repressive Tolerance" ได้โจมตีแนวคิดเสรีนิยม และบรรดาคนเหล่านั้นซึ่งปฏิเสธที่จะยืนหยัดอยู่ในช่วงระหว่างการโต้เถียงกันของช่วงทศวรรษที่ 1960s. มันทำให้ Marcuse มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะคนที่หัวรุนแรงซึ่งไม่ยอมประนีประนอมหรือยอมอ่อนข้อให้กับใคร และเป็นฝ่ายซ้ายที่ยึดมั่นในอุดมการณ์
เรื่อง _An Essay on Liberation_ ยกย่องสรรเสริญเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวในเชิงปลดปล่อยที่มีอยู่ทั้งหมดนับจากพวกเวียดกงจนกระทั่งไปถึงบรรดาฮิปปี้ทั้งหลาย และกระตุ้นปลุกเร้าพวกหัวรุนแรงมากมาย ในขณะเดียวกันก็แสดงความเป็นฝ่ายตรงข้ามกับบรรดานักวิชาการที่ได้รับการยอมรับที่แปลกแยกออกไปมากขึ้น และกับคนเหล่านั้นซึ่งต่อต้านหรือคัดค้านต่อขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆในช่วงปีทศวรรษที่ 1960s
ส่วนเรื่อง _Counterrevolution and Revolt_, งานชิ้นนี้นับว่าแตกต่างออกไปในทางตรงข้าม โดยได้พูดออกมาอย่างชัดเจนถึงสัจนิยมใหม่ซึ่งกำลังได้รับก่อตัวขึ้นมาในช่วงระหว่างต้นทศวรรษที่ 1960s เมื่อมันได้กลายเป็นความชัดเจนขึ้นที่ว่า ความคาดหวังที่มากเกินไปต่างๆของปีทศวรรษ 1960s กำลังจะถูกทุบทำลายลงโดยการแปรเปลี่ยนไปสู่ฝ่ายขวา หรือความเป็นขวา และการปฏิวัติซ้อนหรือการตีกลับ(counterrevolution) ที่สวนทางกันกับขบวนการต่างๆในช่วงทศวรรษที่ 1960s
ในปี ค.ศ.1965, มหาวิทยาลัย Brandeis ปฏิเสธที่จะต่อสัญญาการสอนของเขา และ ในไม่ช้าหลังจากนั้น Marcuse ก็ได้เข้ารับตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ ลา จอล์ลา ที่ซึ่งเขาได้ทำงานอยู่ที่นั่นจวบจนกระทั่งเกษียรอายุในทศวรรษที่1970s. ช่วงระหว่างเวลานี้ - ด้วยการมีอิทธิพลอย่างมากของเขา - Marcuse ได้พิมพ์บทความเป็นจำนวนมาก และได้เสนอคำบรรยาย ทำการสอน และให้คำปรึกษาแก่บรรดานักศึกษาหัวรุนแรงทั่วโลก เขาเดินทางไปในที่ต่างๆอย่างกว้างขวาง และผลงานของเขา บ่อยครั้งได้ถูกนำไปสนทนากันในสื่อสารมวลชน เขากลายเป็นหนึ่งในปัญญาชนอเมริกันเพียงไม่กี่คนที่ได้รับความสนใจเช่นนั้น
โดยไม่เคยยอมแพ้ต่อทัศนะในเชิงปฏิวัติของเขาและพันธกิจต่างๆ, Marcuse ยังคงปกป้องทฤษฎีมาร์กซ์และลัทธิสังคมนิยมแบบเสรี(libertarian socialism)จนกระทั่งการถึงแก่กรรมของเขา. ในฐานะอาจารย์สอนหนังสือซึ่งเป็นที่ดึงดูดใจและมีความสามารถ, บรรดานักศึกษาของ Marcuse ที่เพิ่งเริ่มได้รับตำแหน่งต่างๆทางวิชาการที่ทรงอิทธิพล จึงได้ให้การสนับสนุนไอเดียต่างๆของเขา, ทำให้เขามีพลังอำนาจสำคัญคนหนึ่งขึ้นมาในแวดวงปัญญาชนอเมริกัน
Marcuse ยังได้อุทิศผลงานของตนเป็นจำนวนมากให้กับเรื่องของสุนทรียศาสตร์ และหนังสือเล่มสุดท้ายของเขาคือ _The Aesthetic Dimension_ (1979), ได้เสนอข้อสรุปสั้นๆถึงการปกป้องเกี่ยวกับศักยภาพในการปลดปล่อยในด้านรูปทรงทางสุนทรียภาพให้เป็นอิสระ ในสิ่งที่เรียกกันว่า"วัฒนธรรมชั้นสูง"(high culture). Marcuse คิดว่า สิ่งที่ดีที่สุดของขนบประเพณีของชนชั้นกลางเกี่ยวกับงานศิลปะ คือ มันได้บรรจุเอาคำฟ้องร้องที่มีพลังของชนชั้นกลางเอาไว้ และวิสัยทัศน์ต่างๆในการปลดปล่อยทางสังคมให้เป็นอิสระไปสู่สังคมที่ดีกว่า ด้วยเหตุนี้เขาจึงพยายามที่จะพิทักษ์ความสำคัญของผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่เอาไว้ เพื่อการวางเค้าโครงเกี่ยวกับการปลดเปลื้อง และให้เหตุผลว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของความจำเป็นอันขาดเสียมิได้ของการปฏิวัติทางการเมือง
ผลงานของ Marcuse ในทางด้านปรัชญาและทฤษฎีสังคม ได้ให้กำเนิดข้อถกเถียงและการโต้แย้งกันอย่างดุเดือด และการศึกษาส่วนใหญ่เกี่ยวกับงานของเขามีความมุ่งหมายที่ซ่อนเร้นภายในสูงมาก ประกอบกับมีลักษณะที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอยู่บ่อยๆ. ถึงแม้ว่าข้อถกเถียงเป็นจำนวนมากจะเกี่ยวพันกันกับการวิพากษ์วิจารณ์ทางด้านสังคมทุนนิยมร่วมสมัยต่างๆ และการพิทักษ์ปกป้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างถอนรากถอนโคน, ในการหวนกลับไปในอดีต, Marcuse ได้ทิ้งเนื้องานในหลายๆด้านและความสลับซับซ้อนอันหนึ่งเอาไว้เบื้องหลัง ซึ่งพอเปรียบเทียบได้กับมรดกต่างๆของ Ernst Bloch, Georg Lukacs, T.W. Adorno, และ Walter Benjamin เลยทีเดียว
Marcuse's Legacy
มรดกของ Marcuse
นับแต่การถึงแก่กรรมของเขาในปี ค.ศ.1979, อิทธิพลของ Herbert Marcuse ได้ค่อยๆลดความสำคัญลงมา.
การที่ความสำคัญดังกล่าวในงานของเขาถูกเพิกเฉยหรือไม่ได้รับความเอาใจใส่ในแวดวงความก้าวหน้า
เป็นเรื่องที่น่าหาความรู้เพิ่มเติม ในฐานะที่ Marcuse เป็นหนึ่งในบรรดานักทฤษฎีที่รุนแรงซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดของวันเวลาในช่วงระหว่างทศวรรษที่
1960s และงานของเขายังคงเป็นหัวข้อหนึ่งของความสนใจและถกเถียงกันในช่วงระหว่างทศวรรษที่
1970s. ขณะเดียวกัน ความเสื่อมถอยของขบวนการต่างๆในการปฏิวัติ ซึ่งเขาได้ถูกนำเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยได้ช่วยอธิบายความอับแสงลงต่อความนิยมในตัวของ
Marcuse
การขาดเสียซึ่งตำรับตำราใหม่ๆและการพิมพ์งานนับว่ามีส่วนด้วย ผลงานของ Marcuse ที่ได้มีการตีพิมพ์ขึ้นสองสามเล่มแต่ยังไม่มีการแปล และเนื้อหาสาระบางอย่างที่ยังไม่ได้มีการรวบรวมของเขาเป็นเล่มหนังสือ แม้ว่ามันยังมีการหลั่งไหลของตำรับตำราต่างๆของ Marcuse ปรากฏตัวออกมาบ้างก็ตาม (ขอให้ดูอ้างอิงท้ายเรื่องในบทความชิ้นนี้) แต่ขณะเดียวกันได้มีการแปลงานใหม่ๆเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นผลงานต่างๆของ Benjamin, Adorno, และ Habermas ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ในเวลาที่ประจวบกัน ได้มีความสนใจอย่างมากที่พุ่งไปยังงานเขียนต่างๆของ Foucault, Derrida, Baudrillard, Lyotard, และบรรดานักทฤษฎีหลังสมัยใหม่ หรือหลังโครงสร้างนิยม(postmodern, or poststructuralist)สกุลฝรั่งเศสอื่นๆ, งานของ Marcuse ไม่เหมาะที่จะถกเถียงหรืออภิปรายตามสมัยนิยมต่อความใส่ใจในความคิดเกี่ยวกับเรื่องของสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่
ไม่เหมือนกับ Adorno, Marcuse ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าถึงยุคหลังสมัยใหม่ที่โจมตีเรื่องของเหตุผล และหลักวิภาษวิธีของเขาไม่มีลักษณะในเชิงนิเสธเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้. ตรงกันข้าม เขาแสดงความเห็นด้วยกับโครงการเกี่ยวกับการฟื้นฟูเรื่องของเหตุผลขึ้นมาใหม่ และเกี่ยวกับการวางทางเลือกในลักษณะยูโธเปียกับสังคมที่มีอยู่ - จินตนาการในหลักการวิภาษวิธีอันหนึ่งซึ่งได้ตกจากความนิยมของยุคสมัย ที่ปฏิเสธความคิดแบบเหมารวมทั้งหมด(totalizing thought) และวิสัยทัศน์แบบยิ่งใหญ่ต่างๆ(grand visions)เกี่ยวกับเสรีภาพและการสร้างสังคมขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
การไม่เอาใจใส่เกี่ยวกับ Marcuse อาจได้รับการผันแปรไปโดยผ่านการตีพิมพ์เกี่ยวกับเนื้อหาสาระทางความคิดที่มั่งคั่งของเขา, จำนวนมากของงานเหล่านี้ไม่ได้ถูกตีพิมพ์และไม่เป็นที่รู้จัก, ซึ่งได้ถูกค้นพบในที่เก็บเอกสารของ Marcuse ใน the Stadtsbibliothek ที่แฟรงค์เฟริท. ช่วงระหว่างฤดูร้อนของปี 1989 และ 1991, รวมถึงฤดูใบไม้ร่วงของปี 1990, ข้าพเจ้าได้เข้าไปยังสถานที่เก็บเอกสารผลงานดังกล่าว และรู้สึกประหลาดใจมากเกี่ยวกับงานเขียนอันทรงคุณค่าเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์
ที่เก็บเอกสารและผลงานของ Marcuse นับว่าเป็นคลังของขุมทรัพย์ทางปัญญาแห่งหนึ่ง และแผนการต่างๆกำลังได้รับการวางรูปขึ้นมาโดยสำนักพิมพ์ Routledge ซึ่งจะนำเอกสารและผลงานเหล่านี้ไปตีพิมพ์ออกมาเป็นชุดๆ. ต้นฉบับที่น่าสนใจอย่างมากบางเรื่องเกี่ยวกับ สงคราม, เทคโนโลยี, และลัทธิอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ(totalitarianism) จากทศวรรษที่ 1940s และต้นฉบับหนังสือที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์บางเล่ม, บทความบางเรื่อง, และคำบรรยายนับจากทศวรรษที่ 1960s และ 1970s อาจน้อมนำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Marcuse Renaissance (การฟื้นฟู Marcuse ขึ้นมาใหม่), หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไปปลุกเร้าความสนใจในงานของเขา
การหวนคืนกลับไปสู่ Marcuse นั้นมีความเป็นไปได้ ประการแรก, เพราะเขาได้พูดถึงประเด็นปัญหาต่างๆที่ยังคงเป็นสิ่งซึ่งมีความสอดคล้องกับทฤษฎีและการเมืองร่วมสมัย และต้นฉบับที่ยังไม่ได้มีการตีพิมพ์มาก่อนของเขา ได้บรรจุเอาเนื้อหาที่เกี่ยวข้องตรงกันกับความสนใจร่วมสมัย ซึ่งสามารถที่จะตระเตรียมพื้นฐานสำหรับการฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ๆเกี่ยวกับความสนใจในความคิดของ Marcuse (ยกตัวอย่างเช่น เรื่องที่สอดคล้องตรงประเด็นร่วมสมัยของ Marcuse โปรดดูงานศึกษาในงานของ John Bokina and Timothy J. Lukes, 1994)
ประการที่สอง Marcuse ได้นำเสนอมุมมองหรือทัศนียภาพเกี่ยวกับความเข้าใจเชิงปรัชญาในเรื่องกาารครอบงำและการปลดปล่อย, วิธีการอันทรงพลังอันหนึ่งและกรอบโครงร่างสำหรับการวิเคราะห์สังคมร่วมสมัย และวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเสรีภาพที่รุ่มรวยและอุดมสมบูรณ์ยิ่งกว่าลัทธิมาร์กซ์แบบคลาสสิค, เรื่องราวอื่นๆเกี่ยวกับทฤษฎีวิพากษ์, และเรื่องราวปัจจุบันที่แพร่หลายทั่วไปเกี่ยวกับทฤษฎีหลังสมัยใหม่
อันที่จริง Marcuse ได้นำเสนอมุมมองต่างๆทางปรัชญาที่รุ่มรวยในเรื่องการดำรงอยู่ของมนุษย์และความสัมพันธ์ต่างๆของมนุษย์กับธรรมชาติและสังคม เช่นเดียวกับทฤษฎีทางสังคมที่เป็นแกนสำคัญและเรื่องการเมืองแบบถอนรากถอนโคน. ในการหวนคืนกลับไปสู่วิสัยทัศน์ของ Marcuse เกี่ยวกับการปลดปล่อยและเสรีภาพ - เกี่ยวกับพัฒนาการที่บริบูรณ์ของปัจเจกชนในสังคมที่ปราศจากการปราบปรามและกดขี่ - ได้ทำให้ผลงานของเขาแตกต่างจากคนอื่น ประกอบกับการวิพากษ์วิจารณ์ที่แหลมคมเกี่ยวกับรูปแบบของการครอบงำและการบีบบังคับที่มีอยู่ และเขาได้พัฒนาการบอกเล่าอันนี้ขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างในฐานะปรัชญาเมธีคนหนึ่งของการขับเคี่ยวเกี่ยวกับการครอบงำและการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ
โดยในขั้นปฐม, ในฐานะนักปรัชญา, ผลงานของ Marcuse อาจขาดเสียซึ่งการวิเคราะห์อย่างไม่ลดละในเชิงประจักษ์ในเรื่องบางเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีมาร์กซิสท์ และการวิเคาะห์แนวความคิดโดยละเอียดที่พบในเรื่องราวปของทฤษฎีการเมืองจำนวนมาก. กระนั้นก็ตาม เขาได้แสดงให้เห็นอย่างสม่ำเสมอว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทฤษฎีในตัวของมันเองมีมิติในทางการเมืองและได้ผลิตเรือนร่างที่แข็งแกร่งอันหนึ่งขึ้นมา เกี่ยวกับวิเคราะห์ทางการเมืองและอุดมการณ์นิยมของรูปแบบต่างๆอันโดดเด่นหลากหลายของสังคม, วัฒนธรรม, และความคิดในช่วงระหว่างยุคสมัยที่วุ่นวายสับสน ซึ่งเขามีชีวิตอยู่และเขาได้ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อโลกที่ดีกว่าใบหนึ่งมาอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่า Marcuse จะมีชัยเหนือข้อจำกัดต่างๆเกี่ยวกับความหลากหลายของปรัชญาและทฤษฎีสังคมที่แพร่หลายในปัจจุบัน และงานเขียนต่างๆของเขานั้นได้ตระเตรียมจุดเริ่มต้นที่จะพัฒนาต่อไปได้สำหรับความเกี่ยวพันกันในทางทฤษฎีและการเมืองของยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกล่าวออกมาอย่างชัดเจนเกี่ยวกับปรัชญาโดยทฤษฎีทางสังคม, การวิจารณ์ทางวัฒนธรรม, และการเมืองในลักษณะถอนรากถอนโคน ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นมรดกตกทอดที่ยืนยงอันหนึ่ง
ขณะที่การแบ่งแยกของวิชาการกระแสหลักได้แยกปรัชญาจากสาขาวิชาอื่นๆ - และแยกสาขาวิชาต่างๆออกจากปรัชญา -, Marcuse และบรรดานักทฤษฎีวิพากษ์คนอื่นๆนำเสนอปรัชญาขึ้นมาในฐานะที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญภายในทฤษฎีทางสังคมและการวิพากษ์ทางวัฒนธรรม และพัฒนามุมมองทางด้านปรัชญาในการมีปฏิกริยาสัมพันธ์กับการวิเคราะห์ต่างๆในเชิงรูปธรรมของสังคม, การเมือง, และวัฒนธรรมในยุคปัจจุบัน. ดังนั้น วิธีการในลักษณะวิภาษวิธีอันนี้จึงได้มากำหนดให้ปรัชญายังคงมีบทบาทหน้าที่อย่างต่อเนื่อง และมีความสำคัญต่อการอรรถาธิบายในเชิงทฤษฎีต่อยุคสมัยของเราในทุกวันนี้
นอกจากนี้ Marcuse ยังปรากฏว่าเป็นนักวิเคราะห์ทางสังคมที่เฉียบแหลม เท่าๆกับเป็นคนที่เห็นการณ์ล่วงหน้า. เขาเป็นหนึ่งในคนแรกๆของพวกฝ่ายซ้ายผู้ซึ่งได้พัฒนาการวิพากษ์ที่แหลมคมเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์ของโซเวียต และยังได้มองเห็นการณ์ล่วงหน้าถึงแนวโน้มความเป็นเสรีนิยมมากขึ้นในสหภาพโซเวียต(โปรดดู, Marcuse 1958). หลังจากการก่อกบฎในประเทศโปแลนด์และฮังการีในปี 1956 ที่ได้รับการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม, สิ่งที่คาดเดากันมากที่ว่า ครุชเชฟ จะลดทอนโครงการของเขาเกี่ยวกับการละทิ้งการบริหารแบบสตาลิน และปราบปรามผู้คนอย่างรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม Marcuse ได้เสนอสิ่งที่ต่างออกไป กล่าวคืองานเขียนในปี 1958 เขาเสนอว่า "เหตุการณ์ต่างๆของยุโรปตะวันออก เป็นไปได้ที่มันจะค่อยๆคลี่คลายลง และบางทีจะย้อนทวนหรือสวนกลับแนวทางการละทิ้งวิธีการบริหารแบบสตาลินในบางขอบเขต; โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุทธศาสตร์ในระดับนานาชาติ, ลักษณะที่แข็งกระด้างมากอันหนึ่งจะเด่นชัดขึ้นมา. อย่างไรก็ตาม ถ้าเผื่อว่าการวิเคราะห์ของเราเป็นไปอย่างถูกต้อง แนวโน้มในขั้นพื้นฐานจะยังคงดำเนินต่อไป และจะยืนยันตัวของมันเองอีกครั้งโดยตลอดการพลิกกลับต่างๆอันนั้น"
Marcuse ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "ด้วยการเคารพนับถือต่อพัฒนาการภายในของสหภาพโซเวียต, วิธีการอันนี้ ณ ความต่อเนื่องในปัจจุบันเกี่ยวกับ"ความเป็นผู้นำในลักษณะหมู่คณะ", จะทำให้พลังอำนาจของตำรวจลับเสื่อมลงไป, จะมีการกระจายอำนาจ, มีการปฏิรูปทางกฎหมาย, มีการผ่อนคลายในเรื่องของการตรวจสอบหรือการเซนเซอร์, มีการทำให้ชีวิตวัฒนธรรมมีเสรีภาพมากขึ้น" (Marcuse, 1958, p.174)
ในส่วนที่เป็นการขานรับต่อการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสม์ และในส่วนที่เป็นผลลัพธ์อันเนื่องมาจากเงื่อนไขทางด้านเทคโนโลยีใหม่และสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ, ระบบทุนนิยมกำลังประสบความเปลี่ยนแปลงในความยุ่งเหยิงไร้ระเบียบและมีการตระเตรียมองค์กรขึ้นมาใหม่. ความจงรักภักดีของ Marcuse ที่มีต่อลัทธิมาร์กซ์ มักจะนำเขาให้วิเคราะห์ถึงเงื่อนไขใหม่ๆภายในสังคมทุนนิยมต่างๆอยู่เสมอ ซึ่งได้ปรากฏตัวขึ้นมานับจากมาร์กซ์เป็นต้นมา. ด้วยเหตุดังนั้น ทฤษฎีสังคมทุกวันนี้จึงสามารถสร้างขึ้นมาได้บนขนบประเพณีแบบ Marcusean ในการพัฒนาทฤษฎีต่างๆเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับสังคมร่วมสมัย ที่วางรากฐานอยู่ในการวิเคราะห์เกี่ยวกับการแปลงสภาพของลัทธิทุนนิยม และการปรากฏตัวขึ้นมาของระบบเศรษฐกิจโลกแบบใหม่
สำหรับ Marcuse ทฤษฎีทางสังคมเป็นเรื่องของประวัตศาสตร์อย่างสมบูรณ์ และจักต้องสร้างแนวคิดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆที่เด่นขึ้นมาของยุคปัจจุบัน และเปลี่ยนแปลงจากการสร้างตัวของสังคมขึ้นมาก่อนหน้านี้ต่างๆ. ขณะเดียวกันบรรดานักทฤษฎีหลังสมัยใหม่อย่าง Baudrillard และ Lyotard ก็อ้างถึงการแตกร้าวในประวัติศาสตร์, พวกเขาล้มเหลวที่จะวิเคราะห์ถึงองค์ประกอบอันเป็นกุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่ดำเนินไป โดย Baudrillard ซึ่งได้ประกาศถึง"การสิ้นสุดของเศรษฐกิจการเมือง". ในทางตรงข้าม, Marcuse มักจะพยายามที่จะวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างหรือองค์ประกอบของลัทธิทุนนิยมเสมอ และทำให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมไปสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจ
ยิ่งไปกว่านั้น, Marcuse ยังมักจะให้ความสนใจเป็นพิเศษกับบทบาทที่สำคัญของเทคโนโลยีเสมอในสังคมร่วมสมัยซึ่งมีการจัดการอย่างเป็นระบบ และด้วยการปรากฎตัวขึ้นมาของเทคโนโลยีใหม่ๆในยุคของพวกเรา การเน้นของ Marcusean ลงบนความสัมพันธ์กันระหว่างเทคโนโลยี, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, และชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ Marcuse ยังมีความสนใจต่อรูปลักษณ์ใหม่ๆทางวัฒนธรรม และหนทางที่วัฒนธรรมได้ทำหน้าที่จัดหาเครื่องมือเกี่ยวกับการจัดการควบคุมและเครื่องมือของเสรีภาพ. การแพร่ขยายเกี่ยวกับเทคโนโลยีในการสื่อสารใหม่ๆและรูปแบบทางวัฒนธรรมในไม่กี่ปีมานี้ยังเรียกร้องให้มุมมองแบบ Marcusean ฉวยเอาความมีศักยภาพของมันมาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้าขึ้นไป และความเป็นไปได้ต่างๆเกี่ยวกับรูปแบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการครอบงำทางสังคม
ในขณะที่ทฤษฎีต่างๆหลังสมัยใหม่ยังคงอธิบายเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ, Marcuse มักจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับวัฒนธรรมและเทคโนโลยี, เขาเห็นถึงศักยภาพของมันทั้งในด้านการปลดปล่อยและการมาควบคุม, ในเวลาเดียวกันบรรดานักทฤษฎีทั้งหลายอย่าง Baudrillard มีลักษณะมิติเดียว, บ่อยครั้งได้ตกเป็นเหยื่อของข้อกำหนดหรือเหตุปัจจัยทางด้านเทคโนโลยี และมุมมองเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งล้มเหลวที่จะเห็นถึงศักยภาพต่างๆในเชิงบวกและการปลดเปลื้องของมัน
ในท้ายที่สุด ขณะที่เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับทฤษฎีหลังสมัยใหม่, อย่าง Baudrillard ได้สลัดหรือละทิ้งการเมืองในลักษณะถอนรากถอนโคน, Marcuse มักจะพยายามที่จะเชื่อมโยงทฤษฎีวิพากษ์ของเขากับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบถอนรากถอนโคนเสมอของวันเวลานั้น และยังพยายามทำให้ปรัชญาของเขาเป็นเรื่องการเมืองและทฤษฎีทางสังคม
ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเสนอว่า ความคิดของ Marcuse ยังคงเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญอยู่ต่อไป และเป็นตัวกระตุ้นสำหรับทฤษฎีแบบถอนรากถอนโคนและการเมืองต่างๆในยุคปัจจุบันอยู่. Marcuse ตัวของเขาเองเป็นคนที่เปิดรับทฤษฎีใหม่ๆและเรื่องราวทางการเมืองที่แพร่หลายในทุกวันนี้ กระนั้นก็ตามก็ยังคงซื่อสัตย์ต่อทฤษฎีเหล่านั้น ซึ่งเขาเชื่อว่าจะให้แรงบันดาลใจและเป็นแก่นแกนสำหรับภารกิจต่างๆของยุคปัจจุบัน
ผลที่ตามมา ดังที่พวกเราได้เผชิญหน้ากับปัญหาในเชิงทฤษฎีและการเมืองของทุกวันนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ผลงานต่างๆของ Herbert Marcuse จะเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญสำหรับสถานการณ์ที่แพร่กระจายอยู่ในปัจจุบันของเรา และการฟื้นคืนชีพแนวคิดแบบ Marcusean นั้น จะช่วยให้แรงบันดาลใจในทฤษฎีใหม่ๆและการเมืองร่วมสมัย, ทำให้ปรัชญาภาคพื้นทวีปยุโรปเกิดแรงกระตุ้นใหม่ๆและมีภารกิจต่างๆขึ้นมา
Writings งานเขียนของ Herbert Marcuse
Marcuse, Herbert: Negations
(Boston: Beacon Press, 1968).
Marcuse, Herbert: Reason and Revolution (New York: Oxford University Press,
1941; reprinted Boston: Beacon Press, 1960).
Marcuse, Herbert: Eros and Civilization (Boston: Beacon Press, 1955).
Marcuse, Herbert: Soviet Marxism (New York: Columbia University Press 1958;
second edition 1988).
Marcuse, Herbert: One Dimensional Man (Boston: Beacon Press, 1964; second
edition, 1991).
Marcuse, Herbert: An Essay on Liberation (Boston: Beacon Press, 1969).
Marcuse, Herbert: Counterrevolution and Revolt (Boston: Beacon Press, 1972).
Marcuse, Herbert: Studies in Critical Philosophy (Boston: Beacon Press, 1973).
Marcuse, Herbert: The Aesthetic Dimension (Boston: Beacon Press, 1978).
References
and Further Reading
หนังสืออ้างอิงและหนังสืออ่านเพิ่มเติม
Alford,
C. Fred: Science and the Revenge of Nature: Marcuse and Habermas (Gainesville:
University of Florida Press, 1985).
John Bokina and Timothy J. Lukes, editors, Marcuse: New Perspectives (Lawrence,
Kansas: University of Kansas Press, 1994).
Institut fur Sozialforschung: Kritik und Utopie im Werk von Herbert Marcuse
(Frankfurt: Suhrkamp, 1992).
Kellner, Douglas: Herbert Marcuse and the Crisis of Marxism (London and Berkeley:
Macmillan and University of California Press, 1984).
Lukes, Timothy J.: The Flight Into Inwardness: An Exposition and Critique
of Herbert Marcuse's Theory of Liberative Aesthetics (Cranbury, N.J., London,
and Toronto: Associated University Presses, 1986).
Robert Pippin, et al, editors, Marcuse. Critical Theory and the Promise of
Utopia (South Hadley, Mass.: Bergin and Garvey, 1988).
ข้อมูลต้นฉบับที่นำมาแปลและเรียบเรียง
Herbert Marcuse By Douglas Kellner
คลิกไปอ่านภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.uta.edu/huma/illuminations/kell12.htm
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail : midnight2545(at)yahoo.com
การที่โลกค่อยๆหลงลืม Marcuse ไปนั้น เนื่องมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งเท่าที่ประมวลมาอาจเป็นเพราะ การขาดเสียซึ่งตำรับตำราใหม่ๆและการพิมพ์งานของเขานั่นเอง อันนี้นับว่ามีส่วนด้วยอย่างสำคัญ
ผลงานของ Marcuse
ที่ยังไม่ได้มีการแปลออกมาในโลกภาษาอังกฤษ ได้มีการตีพิมพ์ขึ้นสองสามเล่ม นอกจากนี้เป็นเพราะ
เนื้อหาสาระบางอย่างเกี่ยวกับข้อเขียนที่สำคัญของเขา
ซึ่งยังไม่ได้มีการรวบรวมจัดทำเป็นรูปเล่ม
แม้ว่าหนังสือต่างๆของ
Marcuse จะยังคงมปรากฏออกมาบ้างก็ตาม แต่ขณะเดียวกันได้มีการแปลงานใหม่ๆเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นผลงานต่างๆของ
Benjamin, Adorno, และ Habermas ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในเวลาที่ประจวบกัน
ได้มีความสนใจอย่างมากที่พุ่งไปยังงานเขียนต่างๆของ Foucault, Derrida, Baudrillard,
Lyotard, และบรรดานักทฤษฎีหลังสมัยใหม่ หรือหลังโครงสร้างนิยม(postmodern, หรือ
poststructuralist)สกุลฝรั่งเศสอื่นๆ
งานของ Marcuse ไม่เหมาะที่จะถกเถียงหรืออภิปรายตามสมัยนิยม
ต่อความใส่ใจในความคิดเกี่ยวกับเรื่องของสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่