เนื้อหาของข้อความถอดเทปนี้ยาว 13 หน้ากระดาษ A4 (ถอดเทปวันที่ 9 กันยายน 2543 / มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
...ปัจจุบัน นักวิชาการมีบทบาทมากขึ้นทุกวัน แน่นอน เมื่อมีบทบาท ก็ย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมีทั้งทางบวกและทางลบ. มีคำพูดคำพูดหนึ่งว่า นักวิชาการมีบทบาทคล้ายๆกับเครื่องซักผ้า ...คือ คอยที่จะทำความสะอาดหรือคอยที่จะชำระมลทิน ของโครงการ หรือกิจกรรมบางประการที่มีข้อครหานินทา วันนี้ทีทรรศน์ท้องถิ่น จึงนัดคุยกับนักวิชาการ และตัวแทนภาคประชาชน โดยได้รับความอนุเคราะห์สถานที่ จากศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ท่านนักวิชาการและตัวแทนภาคประชาชนจะมีความคิดเห็นอย่างไร ต่อบทบาทของนักวิชาการ ขอให้เรามาร่วมรับชม และรับฟังไปพร้อมกัน. ท่าน อ. ฉลาดชายครับ, พอพูดถึงคำว่านักวิชาการ นักวิชาการที่เราพูดถึงถ้าจะกล่าวให้ถูกต้อง หมายถึงใครครับ. ฉลาดชาย รมิตานนท์ : นักวิชาการ ผมคิดว่าสังคมหมายถึงคนที่มีความรู้ และจะต้องเป็นความรู้ที่ร่ำเรียนมาจากการศึกษาในระบบ หรือมาจากมหาวิทยาลัย นักวิชาการจึงเป็นผู้ที่อ้างว่า มีความรู้และสังคมก็เชื่อว่ามีความรู้. แต่การมีความรู้ ผมคิดว่าต้องทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกนิดว่า ความรู้ในที่นี้ เราเคยมีความรู้สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ, 1000 ปี, 800 ปี, 500 ปี หรืออะไรก็แล้วแต่. แต่ความรู้ประเภทนั้น ในระยะหลังๆนี้ เราไม่เคยให้ความสนใจกับมัน เราถือว่ามันไม่ใช่ความรู้ไปเสียแล้ว. |
ความรู้ที่ว่าให้คุณค่าในปัจจุบัน แล้วถือว่านักวิชาการครอบครองอยู่ ก็คือความรู้ที่เราร่ำเรียนมาจากตะวันตก ซึ่งถ้าจะพูดให้สั้นเข้าก็หมายความว่า เป็นความรู้ที่อ้างกันว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น ความรู้ที่อ้างว่าเป็นวิทยาศาสตร์ จึงเป็นอาวุธสำคัญที่จะทำให้นักวิชาการมีอิทธิพลมาก ทั้งในด้านบวกและในด้านลบ ทั้งในด้านที่จะทำให้เกิดความสกปรกต่อสิ่งแวดล้อมก็ได้ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมก็ได้ หรือจะใช้ความรู้นั้น ทำให้ความสกปรกนั้นหายไปก็ได้เหมือนกัน
ผมคิดว่านักวิชาการจะมีอยู่มากที่สุด ไม่ใช่ในมหาวิทยาลัย แต่อยู่กับระบบราชการ... กระทรวงเกษตรก็มีนักวิชาการ กระทรวงสาธารณสุขก็มีนักวิชาการ กระทรวงคมนาคมก็มีนักวิชาการ ทุกกระทรวงทบวงกรม ก็มีนักวิชาการของเขาทั้งสิ้น. และนักวิชาการราชการเหล่านี้ รวมทั้งนักวิชาการที่อยู่ในสายของนักวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ บุคคลเหล่านี้ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องของชีวิตไทย สังคมไทย และประเทศไทย ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการเมือง รวมไปถึงทุกๆด้านมาตั้งแต่ 40 ปีมาแล้ว ตั้งแต่เราเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯมา. และนักวิชาการเหล่านี้ก็คือ ผู้ที่เป็นคนผลักดันสิ่งที่เราเรียกว่าการพัฒนามาโดยตลอด ไม่ว่าจะผลักดันในเชิงนโยบาย เทคนิค และการบริหาร.
แต่เมื่อกาลเวลามันผ่านไป 40 ปี, สังคมก็เริ่มพบว่า การพัฒนาในประเทศไทยมันมีปัญหา. ปัญหาที่ใหญ่มาก 3 เรื่องที่ใหญ่มากก็คือ...
เรื่องที่ 1. คือเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติสูญหายไปอย่างเอาไว้ไม่อยู่.
เรื่องที่ 2. คือ ความไม่เป็นธรรมของการพัฒนา เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนห่างมากขึ้นภายในประเทศ, นอกจากนั้น ช่องว่างระหว่างความรวยความจน ยังเกิดขึ้นระหว่างในระดับประเทศด้วย นั่นก็คือ ประเทศของเรา จะตกอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้นๆ.
ส่วนเรื่องที่ 3. คือปัญหาในเรื่องของการไร้ศีลธรรม การตายไปของศีลธรรม-จรรยา ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก.
และเมื่อเราเห็นว่ามันมีปัญหา 3 เรื่องใหญ่ๆนี้เกิดขึ้นมา จึงเริ่มมีประชาชนตั้งคำถามว่า การพัฒนานี่...มันยั่งยืนจริงหรือเปล่า การพัฒนานี่ มันเป็นธรรมจริงหรือเปล่า. แต่การตั้งคำถามของเขา ไม่ได้ตั้งคำถามในเชิงนามธรรมอย่างผม. แต่เขาตั้งคำถามว่า เขื่อนที่สร้างขึ้นมานี่ มันดีจริงหรือเปล่า. เขื่อนที่สร้างขึ้นมานี่ ทำไมพวกเรา พวกฉันที่อยู่กับแม่น้ำมูล อยู่กับแม่น้ำชี อยู่กับแม่น้ำปิง...ถึงได้เดือดร้อนไปตามๆกัน. ทำไมถึงได้บ้านแตกสาแหรกขาด นี่คือสิ่งที่เขาตั้งคำถามในเรื่องความเป็นธรรม.
ประมวล เพ็งจันทร์ : ฟังอาจารย์แล้วเห็นภาพว่า นักวิชาการคือคนกลุ่มหนึ่ง ที่ร่ำเรียนมาในระบบ... แบ่งออกเป็นหลายสาขาอาชีพ. อ.ศรีศักร ที่นั่งอยู่ตรงนี้ก็เป็นนักวิชาการ แต่ อ.ศรีศักดิ์ อาจจะต่างจากท่านผู้อื่นนิดหนึ่ง ตรงที่ว่าเวลาพูดถึงอาจารย์ คนมักจะมองว่าเป็นนักวิชาการ ที่ยึดถือความเป็นธรรม เป็นนักวิชาการที่เข้าอกเข้าใจชาวบ้าน เป็นนักวิชาการที่เอื้อและเกื้อกูลกับชาวบ้านในระดับล่าง. ผมอยากจะคุยกับ อ.ศรีศักร ครับว่า เวลาที่อาจารย์พูดถึงนักวิชาการในฐานะที่ตัวเองเป็นนักวิชาการ และเพื่อนนักวิชาการ, นักวิชาการที่อาจารย์มองเห็น และบทบาทหน้าที่ที่พวกเขาทำอยู่ตอนนี้ อาจารย์คิดว่ามีอะไรที่จะต้องพูดถึงบ้างไหมครับ
ศรีศักร วิลลิโภดม : ผมมองประเด็นคล้ายๆกับ อ.ฉลาดชาย คือนักวิชาการเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่สังคมยกย่อง ให้ความยกย่องว่า คำอธิบายของเขาเป็นที่ยอมรับ ดังนั้น หน้าที่ของนักวิชาการก็คือให้คำอธิบายที่มีอำนาจอยู่ในตัว มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว ...สิ่งเหล่านี้มันเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาแล้ว เพราะเราเริ่มมีนักวิชาการที่ส่งไปเรียนนอก พวกนี้เรียกว่าเป็นพวกศักดินาก็ว่าได้ เพราะว่ามีภาพของศักดินาสืบเนื่องกันอยู่ มีการยอมรับของสังคมสืบเนื่องกันอยู่ และทำให้นักวิชาการพูดอะไรก็เป็นที่เชื่อได้ ตัวนักวิชาการเอง ก็มีสถานภาพที่ไม่ใช่คนธรรมดา ซึ่งได้เข้ามาแทนเจ้าขุนมูลนายกลุ่มหนึ่งทีเดียว.
ประเด็นต่อมาคือ นักวิชาการเมืองไทยนั้น ได้รับอิทธิพลตะวันตก แต่มันเป็นตะวันตกที่คับแคบ เพราะเราไปเรียนเฉพาะเรื่องๆมา เราไม่ได้เรียนครบวงจร, เราจะเอาอย่างเขา เราก็เลือกเรียนเฉพาะบางอย่างมา มันก็เลยได้มาไม่ครบอะไรต่างๆในความเป็นมนุษย์
ประมวล เพ็งจันทร์ : เมื่อสักครู่นี้ อ.ฉลาดชายได้พูดว่า วิชาการหรือจะเรียกว่าความผูกชาดทางวิชาการถูกจำกัดอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ ใครจะมาเป็นนักวิชาการ ใครจะมาเป็นผู้พูดให้คนอื่นเชื่อถือ มีความศักดิ์สิทธิ์ก็จะต้องอ้างความเป็นวิทยาศาสตร์...
ศรีศักร วิลลิโภดม : ซึ่งหมายความว่า เชื่อตามแบบฝรั่งว่า วิทยาศาสตร์ต้องเป็นตัวนำ แต่ว่าการที่ฝรั่งมองวิทยาศาสตร์ มันก็ไม่คล้ายกับที่คนไทยมอง เพราะว่ามันขาดตอน. ความเป็นวิทยาศาสตร์นั้น มันมีวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ทางสังคม แต่เราเอามามันก็ไม่ได้ครบ. วิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่เราเอามามันก็ไม่ครบเครื่องของเขา ...ผมคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นความคิดที่ดี คือเป็นการทำความเข้าใจกับธรรมชาติอย่างลุ่มลึก แต่เราไม่ได้เน้นความลุ่มลึก เราเอาวิทยาศาสตร์มาใช้ทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ คือมองวิทยาศาสตร์อย่างคับแคบ เพื่อนำมาใช้สำหรับอะไรสักอย่างหนึ่ง... สรุปก็คือ เป็นวิทยาศาสตร์ที่เน้นทางด้านเทคโนโลยี แต่ไม่ใช่เพื่อจะทำความเข้าใจปรากฎการณ์ทางธรรมชาติอย่างลุ่มลึก
อีกประเด็นหนึ่ง วิทยาศาสตร์ทางสังคมก็เอามาไม่ครบ. มันเอาวิทยาศาสตร์ทางสังคมศาสตร์มาอย่างคับแคบเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น วิทยาศาสตร์ทางสังคมศาสตร์ เราอาจจะเน้นวิทยาศาสตร์เฉพาะวิชา... อย่างนักเศรษฐศาสตร์คิดอย่างไร นักรัฐศาสตร์คิดอย่างไร... เรายังขาดนักวิชาการด้านอื่นๆที่จะคิด อย่างนักสังคมศาสตร์ นักมานุษยวิทยา เขาก็คิดกันอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น ความเป็นวิทยาศาสตร์เหล่านี้ มันจะต้องนำมาประมวลเชื่อมโยงกัน ถึงจะครบองค์ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์
ประมวล เพ็งจันทร์ : คืออาจารย์มองว่ามันเป็นวิชาการที่เราไปเอามาไม่ครบ
ศรีศักร วิลลิโภดม : มันไม่ครบ มันเป็นเสี่ยงๆ เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดลักษณะที่นิยมชมชอบวิชาของตัว เอาหรือยึดวิชาของตัวเองเป็นใหญ่
ประมวล เพ็งจันทร์ : ในวงวิชาการนั้นยังมีการจำแนกใช่ไหมครับ อย่างกรณีของ อ.ฉลาดชาย หรือ อ.ศรีศักร เองก็ดี... นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติก็มองว่าไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์ที่บริสุทธิ์นัก... เป็นวิธีการหรือใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่บางครั้ง ก็มีการถกเถียงกันว่าเป็นวิทยาศาสตร์จริงหรือเปล่า... ตรงนี้ อ.ฉลาดชายมีความคิดเห็นอย่างไรครับ
ฉลาดชาย รมิตานนท์ : แทนที่จะตอบคำถามนี้โดยตรง ผมอยากจะย้อนไปตรงที่ อ.ศรีศักร พูดไว้คือว่า เราไปรับเอาวิทยาศาสตร์เขามา แล้วเราก็ไปรับมาไม่ครบ... แต่ผมอยากจะเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนี้ วงการของนักวิชาการของโลก นักคิดของโลก เขาระบุออกมาอย่างชัดเจนเลยว่า วิทยาศาสตร์เองคือตัวปัญหา... คือไม่ใช่เราเอามาไม่ครบอย่างเดียว ในตัวของมันเองนั่นล่ะมีปัญหา คือมันมีปัญหาหลายอย่าง ที่วิทยาศาสตร์ตอบไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มันเกี่ยวข้องกับมนุษย์ ที่มันเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งมันมีมากกว่าความเป็นวิทยาศาสตร์. มนุษย์มีอารมณ์ มนุษย์มีความรู้สึก มนุษย์มีความเจ็บปวด ความเศร้า ความทะเยอทะยาน ความหวัง ความสิ้นหวัง แต่สิ่งเหล่านี้ วิทยาศาสตร์ไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะถือว่าเป็นเรื่องซึ่งวิทยาศาสตร์ไม่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ พิสูจน์ไม่ได้ เอาเข้าหลอดทดลองไม่ได้
แต่เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับวิทยาศาสตร์ ในนามของเทคโนโลยีบ้าง ในนามของคำอธิบายสรรพสิ่งต่างๆบ้าง ปรากฏว่า มนุษย์ไม่สามารถจะได้รับคำตอบ คำอธิบายที่พึงพอใจได้จากวิทยาศาสตร์. เพราะฉะนั้น นับแต่นี้ต่อไปหรือนับจาก พ.ศ.นี้ไป จะไม่ใช่สิ่งที่เราควรมองไปเพื่อหาคำตอบที่เดียว. เรา ควรจะมองหาคำตอบจากแหล่งอื่นๆด้วย. ซึ่งมีนัยยะว่า เมื่อวิทยาศาสตร์มาจากตะวันตก เราจึงจำเป็นที่จะต้องมองหาคำตอบนอกโลกตะวันตก. ฉะนั้น เราจะมองเห็นว่า แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกเอง เขาก็ไม่ได้มุ่งมั่นที่จะมองหาคำตอบจากวิทยาศาสตร์ หรือตะวันตกที่เดียว. เขาระดมกันเข้ามาศึกษาในเมืองไทย ในเมืองลาว ในเวียดนาม ในแอฟริกา ในที่ไหนต่างๆมากมาย เพื่อแสวงหาภูมิปัญญาความรู้อื่นๆที่เป็นภูมิปัญญาความรู้นอกวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ได้ใช้ระบบคิดและระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องมีการพิสูจน์กันในห้องทดลอง
เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ มันจึงเปิดโอกาสให้สิ่งที่เราเรียกว่าภูมิปัญญาพื้นบ้าน เกี่ยวกับสมุนไพร การรักษาพยาบาล การจัดการทรัพยากรเกิดขึ้น ...อันนี้เป็นกระแสที่ดี. แต่ว่านักวิชาการไทยกลับดูแคลนสิ่งเหล่านี้.
ศรีศักร วิลลิโภดม : ผมคิดว่ามันมีปัญหาอย่างนี้ครับ มันเป็นการมองโลกและค่านิยมที่ปะทะกันระหว่างตะวันตกและตะวันออก. ทางตะวันตกมีมุมมองและท่าทีในการควบคุมธรรมชาติ อธิบายธรรมชาติคือวิทยาศาสตร์ แล้วตรงนี้มันถึงพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาควบคุมธรรมชาติ ตรงนี้ล่ะ คือสิ่งที่เป็นแกนของตะวันตก และเป็นที่มาของวัตถุนิยมทั้งหลาย. แต่ตะวันออกมองธรรมชาติในท่าทีที่สยบต่อธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่สนใจเรื่องที่จะไปควบคุมธรรมชาติ เพราะทางตะวันออกรู้ว่า เราไม่สามารถที่จะไปอธิบายทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกได้ สิ่งซึ่งอธิบายไม่ได้จึงพัฒนาเกิดเป็นความเชื่อขึ้นมา เพราะฉะนั้น พัฒนาการทางตะวันออกจึงเน้นไปในเรื่องศาสนา จริยธรรมเป็นใหญ่ ซึ่งอันนี้มันนอกเหนือธรรมชาติ. ดังนั้นเวลามองโลก ก็จะแฝงไปด้วยสิ่งที่พิสูจน์ได้ในธรรมชาติ และพิสูจน์ไม่ได้คือความเชื่อ ...มันจะมาด้วยกัน เพราะฉะนั้น มันจึงต่างกันมาก
ทีนี้เวลาที่เราไปรับตะวันตก เราไปเอามันมาใช้ แล้วก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เขาเข้าใจ ...เขาพยายามที่จะแสวงหา เมื่อเขาอธิบายตัวเองด้วยวิทยาศาสตร์ด้วยธรรมชาติไม่ได้ เขาถึงมาหาทางตะวันออก แต่เราไปเดินตามทางที่เขาล้มเหลวมา
ประมวล เพ็งจันทร์ : หลังจากที่ฟังนักวิชาการทั้งสองท่านแล้ว เรามีตัวแทนภาคประชาชน หรือเรียกว่าชาวบ้านมานั่งคุยกับเราด้วย. คุณชัยพันธุ์ มีความรู้สึกอย่างไรครับต่อภาพนักวิชาการที่ทั้ง 2 ท่านได้เสนอมา
ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต : สิ่งที่อาจารย์พูด ซึ่งเป็นช่วงที่ผ่านมา 40 กว่าปี. ผมขอย้อนถึงประเทศไทยที่อยู่มานานนับเป็นเวลาหลายร้อยปี สมัยก่อน มันมีนักวิชาการไหม ? ถามว่าวัดพระแก้วเมื่อ 200 ปี ใครสร้างละครับ. ภูเขาทองใหญ่โตใครสร้าง, อยุธยาก็อลังการมาก สร้างมาก่อนประเทศสหรัฐอเมริกาอีก. ถามว่าตอนนั้นเรามีนักวิชาการไหม ? อันนี้มันน่าสงสัย.
นักวิชากรของเราในสมัยก่อนนั้นมันมีอยู่ มันมีวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นโดยชุมชนเอง. ศรีปราชญ์ สุนทรภู่ ถามว่าเป็นนักวิชาการไหม ? คนเหล่านี้มีความรู้มาก สั่งสอนเราด้วยโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ซึ่งสะท้อนออกมาในความรู้เกี่ยวกับเรื่องของวิทยาศาสตร์ สังคม ประเพณี เยอะแยะไปหมด และรู้ลึกด้วย... ถามว่าคนเหล่านั้นเป็นนักวิชาการไหม เขาเรียนจบจากไหน ไปต่างประเทศมาหรือเปล่า ? คนเหล่านี้ ได้ความรู้มาจากชุมชน มาจากท้องถิ่น และสิ่งหนึ่งซึ่งมันขาดไปเมื่อ 40-50 ปี หรือ 100 ปีก็ได้ ที่อาจารย์บอกว่า นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก็คือ เราแยกเอาองค์ความรู้ออกจากวัด.
ก่อนนั้น... นอกจากชุมชนแล้ว วัดจะเป็นศูนย์รวมของชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ การเรียนรู้จากวัดเราจะได้ 2 อย่าง คือได้ความรู้และศีลธรรมด้วย หลังจากที่เราแยกเอาการเรียนรู้ออกจากวัด เรื่องของศีลธรรมจึงขาดหายไป
ศรีศักร วิลลิโภดม : คือแต่ก่อนนั้นมันเป็นองค์รวม ทั้งความรู้ ความเชื่อ ศีลธรรม... แต่มาตอนหลังนี่ อิทธิพลตะวันตกมันทำให้เกิด secularization (การทำให้เป็นเรื่องทางโลก ซึ่งแยกออกมาจากเรื่องของวัด) กันเอาเรื่องของศีลธรรมและความเชื่อออกไป และ secularization มันได้นำมาสู่สิ่งที่จะต้องเป็น objective (วัตถุวิสัย) อันนี้เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว. ยกตัวอย่างเช่น การพิสูจน์ว่าโลกแบนหรือโลกกลม. ตามความเชื่อเดิมของเรา มันไม่ใช่ แต่เราสามารถอธิบายอะไรหลายๆอย่างที่ทำให้คนของเราสามารถอยู่รวมกันได้ เราไม่เน้นหาข้อเท็จจริงทางธรรมชาติ เราไม่เน้นในเรื่องตัวตน...
นักวิชาการสมัยก่อนไม่มีตัวตน แต่มุ่งที่การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างราบรื่น ในระยะหลังนี้มันได้มาทำให้เกิดกระบวนการทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ มันจึงทำให้มีตัวตนขึ้นมา ความเป็นปัจเจกก็เกิดขึ้นมา
ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต : การที่เราตามตะวันตก ทำให้เราต้องมีโรงเรียน เราต้องมีมหาวิทยาลัย แล้วราชการก็จะรับรองคนเหล่านั้น. ถามว่า คนอย่างพ่อหลวงจอนิ โอโดเชา ที่รู้เรื่องป่าไม ้เป็นนักวิชาการหรือเปล่า หรือพ่อทองเจริญ สีหาธรรม ที่รู้เรื่องประมงยิ่งกว่านักประมง เขาก็ไม่ได้จบมหาวิทยาลัย จะยอมรับเขาได้ไหม ? นอกจากนี้ยังมีครูชบ ยอดแก้ว อย่างนี้นะครับ
ศรีศักร วิลลิโภดม : อันนี้คือจุดอ่อนของสังคมที่มองว่าคนเหล่านี้คือคนที่ไม่มีความรู้ คือคนที่ไม่ใช่นักวิชาการ
ประมวล เพ็งจันทร์ : เพราะฉะนั้น การนิยามว่านักวิชาการคือคนที่มีความรู้ คือคนที่จบจากมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษา จึงเริ่มเป็นปัญหาสำหรับสังคมไทย. คุณไชยณรงค์ครับ หลังจากฟังนักวิชาการ และคุณชัยพันธุ์ แสดงความคิดเห็นแล้ว คุณไชยณรงค์มีความคิดเห็นอย่างไร ? ต่อนักวิชาการครับ
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ : ผมมี 3 ประเด็นที่จะมอง. ประการแรก อยากจะชี้ให้เห็นว่า พัฒนาการของเราซึ่งนำเอาองค์ความรู้ตะวันตกเข้ามา เกิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง โดยที่ระบบเศรษฐกิจไทยได้ถูกผนวกกับทุนนิยมโลก. เราได้มีการส่งข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะในบรรดาศักดินาทั้งหลาย และเจ้าขุนมูลนายไปเรียน มีการไปเรียนเรื่องการผสมพันธุ์ข้าวบ้าง ปลูกปอ ปลูกมันบ้าง อันนี้ในด้านเกษตร, ส่วนทางด้านวิศวก็ไปเรียนเรื่องไฟฟ้าบ้าง. และก็กลุ่มคนเหล่านี้เมื่อเรียนจบกลับมา ก็ได้เข้าไปอยู่ในทบวงกรมต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพลในการวางแผนพัฒนาประเทศมาโดยตลอด ในประวัติศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทย.
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดก็คือ หลังจากที่เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว. ตรงนั้น มันไม่ใช่แค่เราส่งคนไปเรียน แต่ว่าเงื่อนไขการเข้ามาของทุนนิยมโลก ของการเข้ามาช่วยเหลือของประเทศโลกที่หนึ่งนี่ นอกจากการช่วยเหลือโครงการต่างๆแล้ว มันยังมีการช่วยเหลือในการตั้งสถาบันการศึกษาด้วย. ซึ่งอันนี้สำคัญมากครับ เพราะมันทำให้มีการผลิตคนที่มีความคิดที่เรียกว่าเป็นนักวิชาการขึ้นมาในสังคมไทย. มหาวิทยาลัยหลายที่ โดยเฉพาะ AIT ได้ผลิตวิศวกรซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ และวิศวกรเหล่านี้ก็คิดเป็นอย่างเดียวก็คือการสร้างเขื่อน หรือคณะวิศวฯ และวิทยาศาสตร์ต่างๆ ในมหาวิทยาลัยในภูมิภาคก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน.
แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผมมองเห็นบรรดานักวิชาการเหล่านี้ ทั้งในส่วนทบวงกรม... นักวิชาการเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจในการที่จะอธิบายอะไรไดทั้งหมด แต่เป็นเพียงผู้ที่รับรอง หรือเป็นตัวกลไกในการดำเนินเรื่องหรือดำเนินโครงการต่างๆ
ประมวล เพ็งจันทร์ : นั่นหมายความว่า มีอำนาจอยู่เหนือนักวิชาการอีก
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ : ผมคิดว่า ถ้าเราไปดูโครงการขนาดใหญ่ ชัดเจนว่า โครงการขนาดใหญ่นี่ เราอาจจะบอกว่าผ่านสภาพัฒน์ฯ ผ่านความเห็นชอบ. แต่ความจริง โครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการ ถูกศึกษาโดยยักษ์ใหญ่ในวงการต่างๆ อย่างเช่น ถ้าในเรื่องการสร้างเขื่อน... ยักษ์ใหญ่ในการสร้างเขื่อนระดับโลกที่เข้ามาทำรายงานการศึกษาความเหมาะสม... อันนี้ชัดเจนมาก. เพราะฉะนั้น นักวิชาการที่ผลิตในประเทศไทย นักวิชาการที่อยู่ในทบวงกรมต่างๆนี่ จึงเป็นเพียงแค่ผู้ปฏิบัติตามเท่านั้นเอง. ผมเชื่ออย่างนั้นเพราะว่า ผมได้ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของโครงการขนาดใหญ่ มันไม่มีโครงการไหนที่มันคิดโดยนักวิชาการไทยจริงๆ แต่ว่าได้ผ่านบริษัท consultant หรือบริษัทที่ปรึกษาที่มาจากต่างชาติทั้งสิ้น.
อันที่สอง, นักวิชาการที่เราผลิตได้ ถ้าอธิบายบทบาทซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าพอจะมีส่วนอะไรบ้าง นอกจากปฏิบัติตรงนี้แล้ว ส่วนหนึ่งก็คือ บริษัทที่ปรึกษา ซึ่งไปศึกษาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม... คือผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างที่เราเข้าใจกัน ไม่ใช่ศึกษาเพื่อที่จะนำไปประเมิน หรือไปคานโครงการนั้นๆ... แต่ว่าไปศึกษาเพื่อว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร, นั่นหมายความว่า โครงการเหล่านั้นได้ตัดสินใจสร้างไปแล้ว เช่นตัดสินใจว่าจะสร้างเขื่อน แล้วก็ค่อยไปศึกษา. ทีนี้นักวิชาการไทย อย่างมากก็เข้าไปศึกษาการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
ประมวล เพ็งจันทร์ : ตรงนี้ใช่ที่ อ.ศรีศักร พูดเมื่อสักครู่ไหมครับ ว่าจริงๆแล้ว นักวิชาการที่มาจากตะวันตก หรือถูกครอบงำโดยตะวันตก คือเชื่อมั่นว่าตัวเองควบคุมธรรมชาติได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีอะไรสักอย่างหนึ่ง ก่ออะไรเกิดขึ้นตามมา เขาคิดว่าจะควบคุมได้ เช่น เขาจะกั้นแม่น้ำให้เป็นเขื่อน แล้วบอกว่า... มีข้อโต้แย้งว่า ปลามันจะไม่มีที่วางไข่ หรือไม่สามารถที่จะขึ้นมาวางไข่ได้. พวกนี้ก็บอกว่า จะสร้างบันไดให้ปลาขึ้นมาวางไข่ได้
(ยังมีต่อ กรุณาคลิกที่ continue)