โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 20 March 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๙๓ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (March, 20,03.2007)
R

โครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมไทย
การพัฒนาปอเนาะชายแดนใต้ ท่ามกลางกระแสการก่อการร้ายภาคใต้
อับดุลสุโก ดินอะ
(อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ดินอะ)
นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา
สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

บทความชิ้นนี้กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการประวัติความเป็นมาของปอเนาะในประเทศไทย
ตลอดจนพัฒนาการและการเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาล เนื่องจากความไม่ไว้วางใจ
และนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคง ทำให้ปอเนาะบางส่วนแปรสภาพไปเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
ในบทความชิ้นนี้พยายามที่จะเสนอทางออกต่อปัญหาข้างต้น ด้วยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๙๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๘ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++

การพัฒนาปอเนาะชายแดนใต้ ท่ามกลางกระแสการก่อการร้ายภาคใต้
อับดุลสุโก ดินอะ

บทความวิชาการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษารายวิชา โครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมไทย
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2549 สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

เนื้อหาโดยภาพรวมของบทความนี้ ประกอบด้วย
- ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์,
- พลวัตของปอเนาะ,

- ปอเนาะชายแดนใต้ท่ามกลางกระแสการก่อการร้ายภาคใต้
,
- ปอเนาะในฝันท่ามกลางความรุนแรงชายแดนใต้

1. บทนำ
ในสังคมของจังหวัดปัตตานี, ยะลา, และนราธิวาสนั้น จัดว่าเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งความหลากหลายนี้ครอบคลุมถึงเรื่องชาติพันธุ์ ภาษา ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ศาสนา และความเชื่อ สำหรับในด้านการศึกษาของชาวมลายูมุสลิม[1]ในพื้นที่นั้น มีสถาบันศึกษาอิสลามที่เก่าแก่ที่สุด และมีบทบาทมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรียกว่า "ปอเนาะ"

ปอเนาะเป็นศูนย์รวมทางอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิม เป็นสถานศึกษาเรียนรู้คู่กับสังคมมุสลิมไทยมากกว่า 500 ปี ปอเนาะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลง ที่เปรียบเสมือนกับเกียรติและศักดิ์ศรีของชาวมลายูมุสลิม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม การเมือง การปกครองหรือเศรษฐกิจ แต่ปอเนาะก็ยังคงอยู่ในสังคมของชาวมลายูมุสลิมมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถาบันศึกษาปอเนาะ จำนวน 255 แห่ง (ณ เดือนพฤศจิกายน 2547)

เป็นที่ทราบดีว่า เหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลต้องการจัดระเบียบโรงเรียนปอเนาะนั้น สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้(เหตุการณ์การปล้นปืน)เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จนขยายกลายเป็นกรณีความรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะวันที่ 28 เมษายนในปีเดียวกัน และสะสมจนกลายมาเป็นเหตุการณ์ประท้วงที่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมต่อมา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีเยาวชนบางส่วนซึ่งเป็นนักศึกษาจากโรงเรียนปอเนาะร่วมในการประท้วงดังกล่าว

นอกจากนี้ จากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในประวัติศาสตร์ ซึ่งมักมีคำว่าปอเนาะเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอกเวลา โรงเรียนปอเนาะจึงถูกมองจากรัฐบาลและคนทั่วไปหรือสังคมภายนอก ว่าเป็นสถานศึกษาที่บ่มเพาะความคิดบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ เป็นสถานศึกษาที่ขาดการควบคุมดูแล ขาดระเบียบกฎเกณฑ์ และขาดมาตรฐานทางการศึกษา ที่สำคัญคือ มองว่าคนเรียนปอเนาะจะทำอะไรกิน

สาระสำคัญของบทความนี้ ผู้เขียนต้องการนำเสนอแนวคิดการพัฒนาปอเนาะชายแดนใต้ ท่ามกลางกระแสการก่อการร้ายภาคใต้โดยใช้ทฤษฎีและวิธีวิทยาต่างๆ ดังนี้

- ภูมิหลังประวัติศาสตร์: การศึกษาในชาติพันธุ์ตามแนวของนักมานุษยวิทยา ในแนว Hermeneutic

- โครงสร้างนิยมของมิเชล ฟูโกต์: ซึ่งเป็นการศึกษาปรากฎการณ์ในเรื่องชนกลุ่มน้อยชาวมลายูมุสลิม ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญปัจจัยกำหนดภายใน( Immanence) และการใส่ใจความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ในปรากฎการณ์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของแรงกระทำระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ที่มีอิทธิพลในการคงอยู่และการเปลี่ยนแปลงของปอเนาะ

- ทฤษฎีปรากฎการณ์วิทยาของอัลเฟรด ชูทช์: (Alfred Schutz) ซึ่งมีความคิดพื้นฐานว่าคนในสังคมสร้างความรู้เกี่ยวกับความเป็นจริงในสังคมขึ้นจากประสบการณ์ เช่น การต่อรองกับรัฐของโต๊ะครู และสถาบันปอเนาะซึ่งคนรุ่นก่อนเคยประสบ

- ลัทธิสหัสวัสนิยม (Millenarianism) การใช้ลัทธิสหัสวัสนิยมของโต๊ะครู ในบทบาทของผู้นำชุมชนทางพฤตินัย (Status Role) เพื่อสร้างบารมีและความชอบธรรมในการจัดการศึกษาให้กับชุมชน ซึ่งเป็นอำนาจที่ได้รับจากพระเจ้าและสามารถทัดทานการจัดการศึกษาของรัฐ

ในขณะรัฐจะใช้ วัฒนธรรมข้ามชาติเกี่ยวระบบการจัดการศึกษาที่รับมาจากภายนอกผ่านมาตรฐานกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อกำหนดมาตรฐานให้กับการจัดการศึกษาที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม และสามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้า (Commoditization of Culture) ผ่านค่าหัวนักเรียน ซึ่งเป็นกระบวนการต่อรอง(Negotiation)หนึ่งระหว่างโต๊ะครู ชุมชนกับรัฐ

- แนวคิดทฤษฎี Revitalization เพื่อฟื้นฟูอัตลักษณ์การจัดการศึกษาที่ถูกกดขี่บังคับจากภาครัฐ และในการฟื้นฟูดังกล่าว ชุมชนมุสลิมได้นำหลักคำสอนมาปรับใช้ให้เหมาะสม กับสถานการณ์และปฏิเสธกระบวนการ "ไถ่ถอนศาสนา" ออกจากสังคมหรือ Secularization ให้เป็น Islamize knowledge ในการเรียนวิชาการศาสนาและสามัญแบบบูรณราการ ผ่านการตีความ(Interpretativism) ของโต๊ะครู

2. ภูมิหลังประวัติศาสตร์
การศึกษาในชาติพันธุ์ตามแนวของนักมานุษยวิทยา เป็นการศึกษาที่เน้นทำการศึกษาจากผลงานในอดีต เป็นการศึกษาในแนว Hermeneutic (การตีความ) โดยได้ให้ความสำคัญกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และวรรณกรรม

สำหรับอดีตของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยเป็นอาณาจักรโบราณที่รุ่งเรืองเพราะเป็นเมืองท่าทางทะเลที่สำคัญ เป็นเมืองท่าที่เชื่อมระหว่างฝั่งทะเลอันดามันกับทะเลจีนใต้ ซึ่งรู้จักในนาม "อาณาจักรลังกาสุกะ" ที่เป็นนครรัฐอิสระ มีผู้ครองนครเป็นของตนเองสืบทอดการปกครองมายาวนานหลายศตวรรษ. ต่อมาเมื่อเจ้าผู้ครองนครเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ประชาชนส่วนใหญ่ก็หันมารับอิสลามตามพระองค์ ดินแดนแห่งนี้จึงเปลี่ยนมาเป็น "นครรัฐปัตตานี"[2] ซึ่งต่อมาเรียกว่า "ปัตตานีดารุสสลาม" ถัดจากนั้นรัฐปัตตานีก็ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยาม ความรู้สึกที่จะแยกตัวเองเป็นอิสระจึงเกิดขึ้น เกิดการต่อสู้เรียกร้องเอกราชตลอดมา อันเป็นสาเหตุหลักของการก่อกำเนิดขบวนการแบ่งแยกดินแดน ต่อสู้กับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุหนึ่งของความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา

ปอเนาะสถาบันศึกษาที่ทำการสอนวิชาศาสนาโดยโต๊ะครู ถูกกล่าวหาว่าเป็นแหล่งกำเนิดและสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่ขบวนการเหล่านี้ยังไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เชื่อว่าการต่อสู้ของพวกเขาคือการต่อสู้ที่บริสุทธิ์ และเป็นสงครามศาสนา

สำหรับความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมของคนที่นี่[3] จะมีความแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย. ความเชื่อ อันเป็นที่มาของความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประเพณีของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่กับภาครัฐ ได้ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การปกครองที่ขาดความเข้าใจในความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี เชื้อชาติ ศาสนาของคนในท้องถิ่นได้นำมาซึ่งปัญหามากมาย

นโยบายรัฐนิยมของอดีตนายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่นำมาใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงปี พ.ศ. 2490 ได้กลายมาเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่พอใจ และเป็นสาเหตุหนึ่งของความหวาดระแวงและความไม่ไว้วางใจซึ่งมีต่อภาครัฐจนถึงทุกวันนี้ การประท้วงเรื่องฮิญาบ[4] ของนักศึกษาวิทยาลัยครูยะลา (มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2531 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นอย่างชัดเจน เมื่อฝ่ายอาจารย์ของวิทยาลัยและคนของภาครัฐมองว่าฮิญาบ (การแต่งกายของสตรีตามหลักการศาสนา) เป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีของชาวอาหรับ ไม่ใช่เป็นหลักการของศาสนา เมื่อนักศึกษาเหล่านี้ถูกกีดกันมิให้ปฏิบัติตามหลักการศาสนา ชาวมุสลิมจึงมองว่ารัฐลิดรอนสิทธิในการปฏิบัติตามหลักการของศาสนา

เหตุการณ์นั้นได้นำไปสู่การประท้วง นานถึงหนึ่งสัปดาห์และต้องมีการประท้วงถึงสองครั้ง หากการเรียกร้องของพวกเขาไม่ได้รับการตอบสนองอย่างทันท่วงที เหตุการณ์นั้นอาจจะนำไปสู่การก่อความไม่สงบที่รุนแรง ยากที่จะแก้ไขได้ อีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือ การนำพระพุทธรูปเข้าไปในโรงเรียนที่จังหวัดสตูลในอดีต เหตุการณ์ดังกล่าวก็เกือบที่จะนำไปสู่ความวุ่นวายเช่นเดียวกัน

สำหรับปัจจุบันประชากร[5] ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู นับถือศาสนาอิสลาม นิยมพูดภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาหลักที่ใช้พูดกันในบ้าน สัดส่วนประชากรในปี พ.ศ.2546 มีจำนวน ร้อยละ 79.3 หรือ 1.39 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 1.75 ล้านคน ในขณะที่มีชาวไทยพุทธอยู่เพียงร้อยละ 20.1 ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในเขตเมืองและชนบท. ในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่เมื่อรัฐบาลสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศ พบว่ามีมุสลิมทั่วประเทศไทยอยู่ 2.78 ล้านคน หรือเพียงร้อยละ 4.56 ของประชากรไทยทั้งหมด ขณะเดียวกันสัดส่วนของพุทธศาสนิกชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ลดลงจากประมาณร้อยละ 26 ในปี พ.ศ.2503 เหลือร้อยละ 20 ในปี พ.ศ.2546 โดยที่อัตราการขยายตัวของประชากรที่เป็นพุทธศาสนิกชนลดลงอย่างมากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ที่น่าสนใจคือ การที่ประชากรชาวไทยพุทธลดจำนวนลงดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นก่อนจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา ผลโดยรวมคือ สัดส่วนประชากรมุสลิมเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์พบว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีอาณาเขตติดต่อกับตอนเหนือของมาเลเซียเป็นระยะยาวถึง 573 กิโลเมตร ประชากรทั้งสองประเทศในเขตพื้นที่ดังกล่าวมีใกล้ชิดกันมาก ความแนบชิดติดกันในสภาพภูมิศาสตร์เช่นนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาอย่างน้อย 2 ประการ: การศึกษา และวัฒนธรรม

การศึกษาสำหรับการศึกษาสังคมมุสลิมมองการศึกษามีว่าความสำคัญอย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ เพราะการศึกษาเปรียบเสมือนดวงประทีปส่องนำชีวิต เป็นประตูของความสำเร็จ และเป็นกุญแจแห่งอารยธรรม ดังนั้นจึงไม่มีประชาชาติใดในโลกอันกว้างใหญ่นี้ที่ปฏิเสธความสำคัญของการศึกษา เพราะต่างตระหนักดีว่า พวกเขามิอาจจะดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุขหากปราศจากการศึกษา ความจริงการศึกษานั้นไม่เพียงแต่จะมีความจำเป็นต่อมนุษย์เท่านั้น หากแต่ยังมีความสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสรรพสิ่งทั้งมวลรวมทั้งจักวาลด้วย เพราะอันเนื่องมาจากการศึกษาของมนุษย์นี้นั่นเอง ที่อาจทำให้โลกนี้สงบสุขหรือเกิดความหายนะได้

สำหรับวิถีการศึกษาชายแดนใต้จะมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากที่อื่น โดยเฉพาะระบบการศึกษา. ระบบการศึกษาในพื้นที่ นอกจากจะมีระบบการศึกษาภาคสามัญทั่วไป(ซึ่งหมายถึง ชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา) ในท้องถิ่นยังมีระบบการศึกษาภาคศาสนาที่เรียกว่า

- ระบบตาดีกา (ระดับอนุบาลเด็กเล็ก)
- ระบบซือกอเลาะฮ (เรียนศาสนาในระดับประถม เรียนหลังเลิกเรียนภาคสามัญในวันธรรมดาหรือเรียนเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์แล้วแต่ชุมชน)
- ระบบปอเนาะ (เรียนได้ตลอดชีวิต) ระบบโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งแบ่งการศึกษาศาสนาออกเป็น 3 ระดับ

- ระดับอิบตีดาอีห์ (ชั้น 1-4)
- ระดับมูตาวัตสิต (ชั้น 5-7) และ
- ระดับซานาวี (ชั้น 8-10) โดยศึกษาควบคู่ไปกับวิชาสามัญในระดับมัธยมศึกษา(ม.1-6) และสุดท้ายคือ
- ระดับกุลลิยะฮ คือ ระดับคณะของวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย เช่น วิทยาลัยอิสลามศึกษาหรือวิทยาอิสลามยะลา เป็นต้น

เมื่อเด็กเจริญเติบโตพอที่จะศึกษาเล่าเรียนได้ บิดามารดาจะต้องให้เด็กเริ่มฝึกหัดอ่านภาษาอาหรับ และคัมภีร์อัลกุรอ่าน การเรียนพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของมุสลิม เพราะจากการเรียนนี้เองจะทำให้เด็กอ่าน พระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านได้ถูกต้อง และนำข้อความไปใช้ในการประกอบศาสนกิจประจำวัน เช่น การละหมาด และอื่นๆ ได้ ผู้ปกครองซึ่งสนใจส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนตั้งแต่ยังเล็ก คืออายุ 7-8 ขวบ ก็จะต้องให้เด็กได้เล่าเรียนคัมภีร์กุรออ่าน ควบคู่ไปกับการศึกษาสามัญตามหลักสูตรของรัฐด้วย

ตอนค่ำๆ ถ้าเราผ่านเข้าไปในหมูบ้านมุสลิม จะได้ยินผู้ปกครองสอนให้ลูกหลานในครอบครัวบ้าง หรือสอนให้ลูกศิษย์บ้าง ตามมัสยิดหลังจากละหมาดตอนค่ำ คือประมาณ 19.00 น. ก็จะมีการสอน พระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน บางที่ก็สอนอ่านอย่างเดียว บางที่ก็สอนคัดเขียนหนังสืออาหรับประกอบไปด้วย เพื่อให้จำได้แม่นยำ ครอบครัวที่อยู่กับลูกหลานเช่นนี้เป็นการช่วยขจัดปัญหาสังคม โดยให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และมีการอบรมมารยาทควบคู่กันไป มัสยิดที่มีการสอนเช่นนี้ ก็จะเป็นที่รวมให้เด็กฝึกฝนตนเป็นคนดีอยู่ในแนวทางของศาสนาตั้งแต่ยังเล็กๆ

ผู้ปกครองส่งเสริมให้เด็กเอาใจใส่การเรียนหนังสืออาหรับ เมื่อเด็กจำตัวพยัญชนะ สาระและสามารถสะกดผสมตัวได้ ก็จะมีการจัดเลี้ยงฉลอง เชิญผู้มีความรู้มาขอพรจากพระเจ้าสักครั้งหนึ่ง พอจบการเรียนในบทต้นๆ อ่านได้โดยไม่ต้องสะกด สามารถเริ่มอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านได้แล้ว ก็มักจะมีการจัดเลี้ยงเพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อให้เป็นกำลังใจกับเด็ก เรียกว่า "พิธีตัมมัติกุรอ่าน" และเมื่อเด็กอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านจบ 30 ตอนแล้ว และสามารถอ่านได้ด้วยตนเองทั้งเล่มก็จะมีการฉลองในการเรียนสำเร็จ มีการแสดงความยินดีต่อกันภายในครอบครัว อาจจัดเป็นงานใหญ่เชิญแขกเหรื่อมาร่วมงานหลายคน

3. พลวัตของปอเนาะ
รากศัพท์ของคำว่า "ปอเนาะ" เป็นคำภาษามลายูปัตตานี ซึ่งเพี้ยนมาจากภาษาอาหรับว่า FUNDOK อ่านว่าฟุนโด๊ก แปลว่า กระท่อม ที่พัก หรือโรงแรม, ความหมายในที่นี้หมายถึง "สำนักศึกษาเล่าเรียนวิชาการศาสนาอิสลาม" สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ฉบับทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) สงขลา ฉบับ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๗ ระบุความเป็นมาว่า[6]

เชื่อกันว่าปอเนาะเกิดขึ้นในประเทศอียิปต์ แล้วแพร่มาสู่เอเชียที่ประเทศมาเลเซียก่อน ต่อมาจึงแพร่เข้าสู่เส้นทางใต้ของประเทศไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเริ่มที่ปัตตานีเป็นแห่งแรก แล้วขยายไปสู่ท้องถิ่นที่มีชาวไทยมุสลิมทั้งในภาคใต้และภาคกลาง. "ปอเนาะ" โดยผู้รู้ทางศาสนาถือเป็นการศึกษาเพื่อชุมชนแบบพึ่งตนเอง เกิดที่ปัตตานีเมื่อ ๒๐๐ ปีมาแล้ว โดยปอเนาะแรกคือ บืดนังดายอ ใกล้ๆ ต.สะนอ, อ.ยะรัง, จังหวัดปัตตานี

ผศ.ดร. หะสัน หมัดหมาน[7] ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในชุมชนมุสลิมชายแดนใต้กล่าวว่า "ระบบการเรียนศาสนา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าปอเนาะที่มีอยู่ในสถานที่ต่างๆ ในมาเลเซีย นับเป็น ระบบที่ได้รับการถ่ายทอดไปจาก ปัตตานี ซึ่งเป็นแหล่งสอนศาสนาที่ชาวมุสลิมได้จัดตั้งขึ้น ระบบการสอนแบบนี้เลียนแบบจากระบบพระสงฆ์ใน พระพุทธศาสนา เพราะเป็นการศึกษาค้นคว้าหลักศาสนาที่พยายามปลีกตัว ออกห่างจากสังคมอันสับสน ข้อนี้สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ระบบการสอนแบบปอเนาะไม่เคยปรากฏขึ้นเลยในประเทศกลุ่มมุสลิม แน่นอน ที่สุด มลายูได้รับอิทธิพลไปจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ สถาบันปอเนาะที่กล่าวนี้ บุคคล ผู้ทรงคุณวุฒิ ทางศาสนาอิสลามเป็นผู้สร้างขึ้น และตั้งตนเป็นเกจิอาจารย์ เรียกว่า โต๊ะครู ทำการอบรมสั่งสอน เผยแพร่ศาสนา โดยมิได้รับค่าตอบแทน เพียงเพื่อผลบุญในปรภพ และเกียรตินิยมจากการยอมรับของสังคมมุสลิม"

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เขตการศึกษา ๒ ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศระเบียบกระทรวงฯ ว่าด้วยการปรับปรุงส่งเสริมปอเนาะ ออกมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ สาระสำคัญคือ: ให้ปอเนาะยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนต่อทางราชการ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๘ รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีให้ปอเนาะที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แปรสภาพเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ให้ปรับปรุงการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐาน ให้มีหลักสูตรการสอน มีชั้นเรียน โต๊ะ เก้าอี้ กระดานดำ มีระยะจบการศึกษาที่แน่นอน และให้เปิดสอนวิชาสามัญด้วย ทางราชการจะช่วยเหลือส่งเสริมโดยการให้เงินอุดหนุน ส่งครูไปช่วยสอนวิชาสามัญ และผ่อนปรนในเรื่องคุณสมบัติบางประการของเจ้าของ ผู้จัดการ ครูใหญ่ และครูผู้สอน โดยไม่ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.๒๔๙๗ อย่างเคร่งครัด

ปี พ.ศ.๒๕๑๐ คณะรัฐมนตรีมีมติให้เร่งรัดปอเนาะที่ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งหมด ให้มาขอแปรสภาพจากปอเนาะเป็น"โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม" ให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๕ มิถุนายน ๒๕๑๔ ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าปอเนาะนั้นล้มเลิกไป และหลังจากนั้นห้ามก่อตั้งปอเนาะขึ้นมาอีก หากจะตั้งต้องเปิดสอนในรูปแบบของโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามเท่านั้น

ถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๔ มีปอเนาะจำนวนมากถึง ๔๒๖ แห่ง มายื่นความจำนงขอแปรสภาพกับทางการ แต่บางแห่งที่เคยขึ้นทะเบียนด้วยความจำยอม เนื่องจากถูกบีบจากทางการ ถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ไม่ยอมแปรสภาพ อีกบางส่วนยอมแปรสภาพจากปอเนาะไปสู่ระบบโรงเรียน แต่สอนเฉพาะวิชาศาสนาเท่านั้น ตามหลักสูตรและแผนการสอนที่โรงเรียนปอเนาะแห่งนั้นๆ กำหนดขึ้น และนอกจากนี้ยังมีปอเนาะแห่งใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา การศึกษาของมุสลิมจึงแบ่งออกเป็นสองรูปแบบ คือ "ปอเนาะ" อันเป็นรูปแบบการศึกษาดั้งเดิมของท้องถิ่นกับการศึกษาในระบบ "โรงเรียน" ที่เรียกกันติดปากว่า โรงเรียนปอเนาะ ซึ่งมีการแบ่งชั้นเรียน มีชุดเครื่องแบบ มีโต๊ะเก้าอี้นั่งเรียน มีการนับชั้น และกำหนดระยะจบการศึกษา และโรงเรียนปอเนาะยังแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ สอนทั้งวิชาสามัญและศาสนา กับสอนเฉพาะวิชาศาสนาเพียงอย่างเดียว

ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ ชื่อโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ถูกรัฐบาลเปลี่ยนเป็น"โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม" เพื่อสอดคล้องตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ และออกระเบียบการให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนเอกชนฯ ที่สอนวิชาสามัญควบคู่วิชาศาสนาอิสลาม ฉบับแก้ไขครั้งล่าสุดออกมาเมื่อปี ๒๕๔๕ ให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนที่ได้มาตรฐานตามมาตรา ๑๕ (๑) ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็ม, ส่วนโรงเรียนที่อยู่ในระยะเตรียมความพร้อม และโรงเรียนที่เพิ่งจดทะเบียนหลังวันออกระเบียบให้เงินอุดหนุน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับโรงเรียนที่สอนเฉพาะวิชาศาสนา จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงื่อนไขนี้สร้างความน้อยเนื้อต่ำใจให้แก่ปอเนาะหลายแห่ง

ตามสถิติจากการสำรวจล่าสุด (ปี พ.ศ. 2547 )ของ กระทรวงศึกษาธิการ มีโรงเรียนปอเนาะกว่า ๕๕๐ โรง, แบ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอย่างเดียว ๓๐๐ โรง และที่เปิดสอนทั้งวิชาสามัญและศาสนาประมาณกว่า ๒๐๐ โรง โดยไม่นับรวมปอเนาะที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน. ปอเนาะที่ผ่านการแปรสภาพเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ กระทั่งปัจจุบัน

ปี พ.ศ.2547 หลังจากเหตุการณ์ไม่สงบชายแดนใต้ ภาครัฐได้สนับสนุนแกมบังคับให้สถาบันศึกษาปอเนาะที่สอนเฉพาะศาสนา จดทะเบียนปอเนาะตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ พ.ศ.2547 ซึ่งทำให้โต๊ะครูรีบนำปอเนาะมาจดทะเบียนอย่างเร่งรีบ[8] ถึงแม้จะไม่มีความพร้อมเพราะกลัวจะถูกขึ้นบัญชีดำในกลุ่มขบวนการก่อการร้าย หากปฏิเสธซึ่งมาตรการดังกล่าวของรัฐ ทำให้มีจำนวนปอเนาะขอขึ้นทะเบียนอีก 255 สถาบันปอเนาะ

4. ปอเนาะชายแดนใต้ท่ามกลางกระแสการก่อการร้ายภาคใต้
ความเป็นจริงมุมมองที่เป็นลบต่อ ปอเนาะไม่ใช่เพิ่งปรากฏขึ้นในภาวะกระแสก่อการร้ายปัจจุบัน แต่จากการศึกษาพบว่า รัฐพยายามเข้ามาใช้อำนาจทางการเมือง[9] พยายามบริหารจัดการโดยให้ปอเนาะมาจดทะเบียนกับภาครัฐ[10] ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

วันที่ 12-17 พฤศจิกายน 2503 มีการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ยอมรับแนวทางการปรับปรุงการศึกษาในปอเนาะ ปรับปรุงอาคาร สถานศึกษา และบริเวณ ปรับปรุงการเรียนการสอน ปรับปรุงหลักสูตรจัดสอนให้เป็นชั้น จัดสอนภาษาไทยและจัดการสอนวิชาชีพตามความต้องการและความพร้อม ให้มีการประเมินผลการสอน. ผลการประชุมสัมมนาในครั้งนั้น เป็นการจุดประกายที่สำคัญของการเริ่มต้นในการส่งเสริมและปรับปรุงปอเนาะเป็น โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ประกาศใช้ "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการปรับปรุงส่งเสริมปอเนาะในภาคศึกษาสอง พ.ศ. 2504" โดยมีสาระสำคัญของระเบียบนี้คือ

1. ปอเนาะใดที่มีความสนใจที่จะปรับปรุงกิจการให้ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนต่อทางราชการ
2. ปอเนาะใดที่จัดกิจการด้านการสอนได้ดี จะได้รับการอุดหนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ
3. ให้ปอเนาะที่จดทะเบียนแล้ว จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร ทั้งวิชาศาสนา วิชาสามัญและวิชาชีพ

ผลการใช้ระเบียบนี้ ปรากฏว่าเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2507 มีปอเนาะในภาคศึกษาสอง มาจดทะเบียน กับทางราชการจำนวน 171 ราย นอกจากนั้น ปอเนาะที่จดทะเบียนแล้วได้มีความสนใจที่จะปรับปรุงกิจการ อาคาร สถานที่ที่สอน หลักสูตรการเรียนการสอน มีชั้นเรียน มีการสอนภาษาไทย และมีการวัดผล และในปี 2508 รัฐบาลมีความเห็นว่า ควรส่งเสริมปอเนาะที่จดทะเบียนแล้วให้แปรสภาพเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการปรับปรุงส่งเสริมปอเนาะในภาคศึกษาสอง พ.ศ. 2504 นั้น นับว่าเป็นการพัฒนาปอเนาะไปสู่ระบบในการจัดการเรียนการสอน หรือเป็นการจัด ระบบการศึกษาเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม

เดิมทีการจัดการเรียนการสอนของปอเนาะนั้น ไม่มีการวัดผลและประเมินผล ไม่มีชั้นเรียนจากการ ที่รัฐได้พัฒนาปอเนาะเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามโดยการสนับสนุน งบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ รัฐได้มีนโยบายให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติของโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนวิชาศาสนา วิชาสามัญ และวิชาชีพอย่างมีคุณภาพ จัดทำเกณฑ์มาตรฐานรับรองวิทยฐานะของโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ

เพื่อยกฐานะโรงเรียนเอกชนตามมาตรา 15 (2) เป็นโรงเรียนเอกชน 15 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 พัฒนาระบบการวัดผลและประเมินผล พัฒนาระบบการบริหาร ส่งเสริมและอุดหนุนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม คือ การอุดหนุนด้านสื่อการเรียนการสอน การอุดหนุนด้านวิทยาคารสงเคราะห์

กล่าวโดยสรุปทางราชการได้มีแนวนโยบายที่จะให้มีการแปลสภาพสถานศึกษาปอเนาะ ให้เป็นโรงเรียนราษฎร์ โดยมีแผนดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน

(1). โครงการปรับปรุงปอเนาะเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามขึ้น ใน พ.ศ.2508-2511 เป็นแนวนโยบายที่ต้องการให้มีการแปลสภาพปอเนาะเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนา อิสลามตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2497 เพื่อให้อยู่ภายใต้การควบคุมของพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ แต่การดำเนินการในขั้นนี้ยังไม่มีการบังคับ คงเป็นไปตามความสมัครใจ

(2). โครงการปรับปรุงปอเนาะเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ขั้นที่ 2 เริ่มขึ้น ในพ.ศ.2509 ขณะที่โครงการแรกดำเนินการยังไม่เสร็จสิ้น หลังจากโครงการปรับปรุงครั้งที่ 2 ก็ได้มีแผนปรับปรุงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ในการจดทะเบียนปอเนาะ ตามระเบียบนี้กำหนดให้ปอเนาะที่จะได้รับการส่งเสริมหรือช่วยเหลือจากทางราชการ ต้องจดทะเบียนเป็นสถานศึกษาวิชาศาสนาให้ถูกต้อง แต่ไม่บังคับให้ปอเนาะที่ตั้งอยู่ก่อนแล้วใช้ระเบียบนี้ต้องมาขอจดทะเบียน เพียงให้เป็นไปตามความสมัครใจของโต๊ะครูปอเนาะ

ในปี พ.ศ.2526 โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม เปลี่ยนเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 สาเหตุที่ปอเนาะยอมเปลี่ยนเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อต้องการพัฒนาโรงเรียนปอเนาะให้ได้เรียนศาสนาควบคู่สามัญ ซึ่งจากวัตถุประสงค์ก็ไม่ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม กอปรกับปอเนาะเองไม่ต้องการให้ทางราชการมองปอเนาะในแง่ลบ และในขณะเดียวกันทางราชการเองก็มิได้ห้ามให้ปอเนาะเลิกสอนวิชาศาสนา ดังที่เคยปฏิบัติมา

ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกล่าวว่า[11]"กระทรวงศึกษาธิการในช่วงปลายปี พ.ศ.2547 ได้ประกาศให้เงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาทางกายภาพแก่ปอเนาะ (หรือ "สถาบันศึกษาปอเนาะ" ในปัจจุบัน) แห่งละประมาณ 200,000-300,000 บาท

การอุดหนุนในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ต้องการจัดระเบียบปอเนาะดั้งเดิมที่หน่วยงานความมั่นคงยังคง "แผ่นเสียงตกร่อง" มองว่า ปอเนาะเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติอีกเช่นเคย นับตั้งแต่ที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงกิจการของปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลได้จูงใจผ่านการอุดหนุนการดำเนินงานของโรงเรียนเหล่านี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นในรูปของบุคลากร เงิน และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ สิ่งสำคัญที่ต้องกล่าวถึงก็คือ การอุดหนุนที่รัฐบาลให้แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมานั้น มิได้พิเศษหรือแตกต่างไปจากโรงเรียนเอกชนอื่นๆ ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ นอกจากนั้นในการแทรกแซงโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่ผ่านมา รัฐบาลมักมีประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติมาโดยตลอด

ในขณะที่รัฐบาลซึ่งทำตัวเป็น "คุณพ่อรู้ดี" ที่ไม่เคยรู้ดีเลยและไม่พยายามเข้าใจวิถีชีวิตของคนมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องเกี่ยวกับการเรียนการสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของการเป็นมุสลิมที่ดี. ในทางกลับกัน เมื่อรัฐบาลไม่เข้าใจในวิถีชีวิตดังกล่าว กลับไปมองเป็นว่าสิ่งที่ชุมชนซึ่งเป็นคนไทยกำลังทำอยู่นั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ (ครั้งหนึ่งทางการเคยห้ามนักเรียนในโรงเรียนของรัฐพูดคุยกันเป็นภาษามลายู) เหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลคิดเช่นนั้น อาจมาจากการนิยามคำว่า "ความมั่นคงของชาติ" ที่แคบเพียง "อธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดน" (ตามที่อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เคยอธิบายไว้ในบทความเรื่อง "ทวงคืนความมั่นคงจากทหารเสียที" ในหน้า 6 ของหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 19 กันยายน 2548)

เมื่อคำนิยามแคบ อะไรที่รัฐบาลไม่เข้าใจก็กลับกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติไปเสียหมด แต่หากปล่อยให้ความไม่เข้าใจยังคงอยู่ ความคิดประเภทแผ่นเสียงตกร่องคงไม่สามารถหายหรือลบเลือนไปได้ ปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และอุซตาซก็ยังคงต้องเป็นจำเลยในฐานที่เป็นแหล่งหรือผู้บ่มเพาะผู้ก่อความไม่สงบต่อไป นี่นับว่ายังโชคดีที่แม้รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แต่ชุมชนมุสลิมท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงสามารถรักษาการศึกษาทางด้านศาสนาเองไว้ได้ ไม่เหมือนกับพุทธศาสนาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซง สิ่งนี้น่าจะเป็นตัวอย่างและบทเรียนที่ดี สำหรับรัฐบาลที่ควรเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ปราบปรามไปเป็นผู้สนับสนุนแทน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าอุซตาซหรือครูสอนศาสนาที่ไม่ดี ก็คงมีอยู่ในปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามบางแห่ง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าครูที่ไม่ดี ในโรงเรียนของรัฐหรือพระที่ไม่ดี ในวัดที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศก็มีอยู่เช่นกัน และหากขยายความคำว่าความมั่นคงของชาติให้กว้างขึ้นกว่า อธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดน ก็คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ครูและพระที่ไม่ดี ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศก็เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติเช่นกัน"

เมื่อพิจารณาบทบาทโต๊ะครูที่มีต่อชาวบ้านและชุมชนจะพบว่าสอดคล้องกับความเชื่อเรื่อง กระบวนการผู้มีบุญที่มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของชาวเขาทางภาคเหนือของไทย ซึ่งใช้ทฤษฎี Revitalization Theory [12] เมื่อถูกกดดันจากภาครัฐ ทำให้โต๊ะครูและชาวบ้านมีทางเลือกสองทางคือ การไม่ยอมรับการจดทะเบียนปอเนาะเพราะกลัวว่ารัฐจะเข้ามาควบคุม ซึ่งเป็นส่วนน้อยเมื่อพิจารณาจากส่วนใหญ่ของปอเนาะที่ยอมจดทะเบียนเพื่อฟื้นฟูพลังการดำรงอยู่ และพลังที่พวกเขานำมาใช้เพื่อการคงอยู่ก็มีบริบทภายในวัฒนธรรมตนเองและปัจจัยทางการเมืองภายนอก. ขณะเดียวกันมีการใช้กระบวนการต่อรอง(Negotiation) ตามแนวคิด ของ อันโตนิโอ กรัมชี ระหว่างโต๊ะครู ชุมชน กับรัฐ โดยการยอมรับของชุมชนและโต๊ะครูนั้น รัฐต้องมาสนับสนุนพัฒนาไม่ใช่มาควบคุม โดยเฉพาะงบประมาณ และที่สำคัญยังคงให้สอนศาสนาได้

สำหรับรัฐเองได้เสนอให้ปอเนาะต่างๆ ต้องมีหลักสูตรสามัญ วิชาชีพ โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยซึ่งจะทำให้คนในพื้นที่สามารถใช้ภาษาไทยได้ และสามารถลดบทบาทภาษามลายูลง เป็นการสร้างความมั่นคงของประเทศในอนาคตและความเป็นไทยตามทัศนะรัฐบาลกลาง ซึ่งคนในพื้นที่ชายแดนใต้มองการกระทำดังกล่าวว่าเป็นวัฒนธรรมข้ามชาติโดยใช้ทุนนำ เสมือนกับการพยายามเลี่ยนแปลงวัฒนธรรมให้เป็นสินค้า (Commoditization of Culture ) [13] (13) ซึ่งปอเนาะหลายโรงได้รับงบประมาณนับสิบล้านต่อปี ผ่านการสนับสนุนเป็นรายหัวนักเรียน(10000/คน/ปี) ทำให้ชุมชนมองปอเนาะหลายโรงเป็นสถาบันทางธุรกิจของโต๊ะครู[14](13)

สาเหตุที่ปอเนาะยอมจดทะเบียนกับภาครัฐพอจะสรุปได้ดังนี้

1. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับทางราชการและการจดทะเบียนก็ไม่ได้มีผลต่อการสอนวิชาศาสนา
2. เนื่องจากทางราชการให้โอกาสในการจดทะเบียนให้เป็นไปตามความสมัครใจ มิได้เป็นการบังคับในการจดทะเบียน
3. ไม่มีการบังคับในการสอนวิชาศาสนาในปอเนาะ
4. ทางราชการให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน วัสดุ อุปกรณ์การศึกษาให้แก่ปอเนาะที่จดทะเบียน

แม้ ปอเนาะยอมที่จดทะเบียนกับรัฐแต่ปอเนาะก็ไม่ประสงค์ที่จะให้ทางรัฐมาแทรกแซง กิจการของปอเนาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนการสอนวิชาศาสนา

ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงปอเนาะ

1. เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านสถานศึกษาคือ มีการปรับปรุงอาคารเรียนให้เป็น
กิจลักษณะและที่พักอาศัยของนักเรียน โดยได้รับเงินสนับสนุนจากทางราชการ
2. เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการบริหารโรงเรียนคือ มีการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย มีการตรวจและนิเทศการศึกษา
3. ได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์การศึกษา
4. เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านวิชาการศึกษา มีการศึกษาวิชาศาสนาและวิชาสามัญควบคู่กัน
5. เกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียกชื่อเจ้าของปอเนาะจากเดิมเรียก "โต๊ะครู" เปลี่ยนเป็นครูใหญ่หรือผู้จัดการโรงเรียน
6. มีหลักสูตรที่เป็นลายลักษณ์อักษร

ปัญหาอุปสรรคและความต้องการของสถาบันปอเนาะ
สำหรับสถาบันปอเนาะทีเพิ่งจดทะเบียนในภาวะปัญหาการก่อการร้ายพบว่า ถึงแม้สถาบันปอเนาะจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ แต่งบประมาณบางส่วนและการสนับสนุนของรัฐยังไม่เพียงพอ ที่จะมาดำเนินการให้ครบตามมาตรฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ซึ่งสามารถสรุปปัญหาพอสังเขปดังนี้

1. ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน
สถาบันศึกษาปอเนาะที่ได้จดทะเบียนปอเนาะตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ พ.ศ.2547 จำนวน 255 โรง ยังมีปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งที่ทางปอเนาะเสนอให้ทางรัฐจัดให้ ได้แก่ ป้ายสถาบันศึกษา เสาธง อาคารสถานที่ บาลาเซาะ และปอเนาะที่พักของนักเรียน สถานที่อาบน้ำละหมาด ถนน สิ่งแวดล้อมภายใน ไฟฟ้าและประปา เป็นต้น เพื่อแก้ไข้ปัญหาดังกล่าวทางสถาบันปอเนาะได้เสนอให้รัฐสนับสนุนงบประมาณให้แก่สถาบันศึกษาปอเนาะ เป็นเงินอุดหนุนประจำปี เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดัง กล่าว

2. ปัญหาด้านโครงสร้างการบริหารสถาบัน
สถาบันศึกษาปอเนาะจะมีผู้บริหารเป็นโต๊ะครู และผู้ช่วยโต๊ะครู (หัวหน้าตะลอเอาะฮ) แต่ละปอเนาะมีจำนวนผู้ช่วยโต๊ะครูไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของโต๊ะครู ในอดีตปอเนาะยังไม่มีโครงสร้างการบริหารที่ชัดเจน ต่อมาได้มีการหาแนวทางเพื่อกำหนดโครงสร้างการบริหารปอเนาะ นอกจากนั้น ทางปอเนาะยังได้เสนอให้ทางราชการช่วยติดตามผล ให้คำชี้แนะแนวทางการบริหารจัดการของสถาบันศึกษาปอเนาะอย่างต่อเนื่อง

3. ปัญหาด้านหลักสูตรการเรียนการสอน
การจัดการเรียนการสอนในสถาบันศึกษาปอเนาะ ไม่มีหลักสูตรที่เป็นลายลักษณ์อักษร ขึ้นอยู่กับความถนัดของโต๊ะครูแต่ละแห่งแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของโต๊ะครู โต๊ะครูของสถาบันศึกษาบางแห่งไม่ประสงค์จะกำหนดให้มีหลักสูตรที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ต้องการสอนศาสนาและคงสภาพปอเนาะเดิมๆ เอาไว้ นอกจากนั้นนักศึกษาไม่สามารถนำความรู้ความเข้าใจทางด้านศาสนาไปเทียบโอนผลการเรียนได้ เมื่อมีความต้องการไปศึกษาต่อที่อื่น แต่โต๊ะครูมีความประสงค์ให้สามารถเทียบโอนผลการเรียนในวิชาที่สอนได้. ทางปอเนาะได้เสนอแนวแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวดังนี้คือ ในขณะนี้ไม่ควรกำหนดหลักสูตรให้สถาบันศึกษาปอเนาะ ขณะเดียวกันการเรียนการสอนที่จัดในปอเนาะ ให้สามารถเทียบโอนผลการเรียนได้

ในอดีตการอยู่รอดของปอเนาะจะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลักคือ

1. การสนับสนุนทางการเงินจากสังคมซึ่งรวมถึงสังคมรอบๆ ปอเนาะ และสังคมของผู้เรียนในปอเนาะ
2. ชื่อเสียงของโต๊ะครู จำนวนผู้เรียนในปอเนาะจะเป็นตัวบ่งบอกถึงความมีชื่อเสียงของโต๊ะครู
3. ผู้สืบทอด สำหรับผู้สืบทอดของปอเนาะส่วนใหญ่แล้วจะเป็นลูกของโต๊ะครูเองหรือเขยของโต๊ะครู อาจจะมีบางปอเนาะที่หัวหน้าผู้เรียนเป็นผู้สืบทอด ส่วนการอยู่รอดของปอเนาะในอนาคตนั้น อาจจะมีปัจจัยอื่นๆอีกนอกจากปัจจัยข้างต้น เช่น การสนับสนุนหรือการแทรกแซงจากภาครัฐ[15]

5. ปอเนาะในฝันท่ามกลางความรุนแรงชายแดนใต้
จากการศึกษาพลวัตของสถาบันการศึกษาปอเนาะ ณ ปัจจุบันนี้สามารถแบ่งได้ดังนี้

1. ปอเนาะที่มีการสอนทั้งวิชาศาสนาและสามัญเรียกว่า โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
2. ปอเนาะที่มีการสอนเฉพาะวิชาศาสนาเรียกว่าสถาบันปอเนาะ

ปอเนาะที่มีการสอนทั้งวิชาศาสนาและสามัญ
ปอเนาะที่มีการสอนทั้งวิชาศาสนาและสามัญเรียกว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามนั้น จะเป็นนักเรียนในระบบ เข้าเรียนเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่หก การบริหารและการดำเนินกิจการของโรงเรียนเป็นไปอย่างมีระบบ บุคลากรได้รับการพัฒนาอบรม อาคารสถานที่มั่นคงถาวร และได้รับการประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาดั่งโรงเรียนสามัญทั่วประเทศไทย

ในด้านหลักสูตร ได้นำเอาหลักสูตรสามัญศึกษาของโรงเรียนมัธยมต้น และมัธยมปลายมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ มีโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากมายเช่น โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ, พัฒนาวิทยา, จ.ยะลา. โรงเรียนดารุสสลาม, อัตตัรกียะห์, จ.นราธิวาส. ดรุณวิยา, บำรุงอิสลาม, จ. ปัตตานี เป็นต้น. ซึ่งนักเรียนสามารถเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในประเทศทุกสาขาวิชา และต่างประเทศในหลายมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐฯ ในหลักสูตรสามัญ และโลกอาหรับในหลักสูตรศาสนา บางโรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่อนุบาล-มัธยมปลาย

ส่วนหลักสูตรศาสนาอิสลามได้แบ่งชั้นเรียนเป็น ๑๐ ชั้นปี (ปัจจุบันกำลังพัฒนาสู่ 12 ชั้นเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับการศึกษาของสามัญ) ได้แก่

- หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนต้น (- อิบติดาอียะฮฺ ปีที่ ๑-๔ -)
- หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนกลาง (- มุตาวัซซีเตาะฮฺ ปีที่ ๕-๗) และ
- หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนปลาย (- ซานาวียะฮฺ ปีที่ ๘-๑๐)

มาตรฐานของโรงเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน ทำให้โรงเรียนปอเนาะได้รับความสนใจมาก เพราะนักเรียนมีความรู้ทั่งศาสนาและสามัญ ดั่งคำขวัญของบางโรงที่กล่าวว่า "ความรู้ทางโลกปราศจากศาสนา โลกจะสงบสุขได้อย่างไร" ในขณะเดียวกันหลายโรงเรียนเปิดหลักสูตร ฮาฟิซกุรอานเพิ่ม(ท่องจำอัลกุรอาน) บางโรงเปิดหลักสูตรอนุปริญญาด้านศาสนาโดยไปศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยที่อัลอัซฮาร์ ประเทศอียิปต์เพียง 2 ปี

ปอเนาะที่มีการสอนเฉพาะวิชาศาสนา
สำหรับปอเนาะที่สอนเฉพาะศาสนาอิสลามอย่างเดียว ปอเนาะประเภทนี้ เป็นสถาบันที่สอนศาสนาและวัฒนธรรมอิสลามแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้โดยมีผู้ที่มีความรู้ทางด้านศาสนาอิสลาม และต้องมีภาวะเป็นผู้นำของชุมชนที่เรียกว่า`ตุวันคูรู ในภาษามลายูหรือ "โต๊ะครู" และโต๊ะครูในที่นี้ คือ เจ้าของปอเนาะด้วย

การจัดตั้งปอเนาะเป็นไปตามความศรัทธาของชุมชน ที่ต้องการให้มีสถาบันการสอนศาสนาอิสลาม ปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงามตามหลักศาสนาอิสลามแก่ เยาวชนมุสลิม โดยมีโต๊ะครูซึ่งจะเป็นทั้งผู้สอนและผู้จัดการปอเนาะ. การเรียนการสอนในปอเนาะ จะเน้นการเรียนรู้หลักศรัทธา, คัมภีร์อัลกุรอาน, อรรถาธิบายอัลกุรอาน, วจนะศาสดา, กฎหมายอิสลาม, มารยาทอิสลาม และมารยาทกับต่างศาสนิก, ภาษาอาหรับ, สำนวนโวหารอาหรับ, ตรรกศาสตร์, ปรัชญาอิสลาม, ดาราศาสตร์, โดยศึกษาจากตำราที่เป็นภาษาอาหรับ หรือ "ภาษามลายูอักษรยาวี" ซึ่งเรียกว่า "กีตาบยาวี" โดยตำราทั้งสองภาษา ใช้สำนวนภาษาของคนสมัยก่อน (คนสมัยนี้อ่านแล้วยากแก่การเข้าใจ ต้องเรียนกับโต๊ะครูหรือผ่านการศึกษาระบบปอเนาะอย่างเดียวเท่านั้น จึงจะเข้าใจ)

โต๊ะครู
ในส่วนของโต๊ะครูปอเนาะแต่ละคนนั้น จะมีความรู้ ความถนัด รวมทั้งวิธีการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียนที่แตกต่างกัน เช่น รูปแบบ ช่วงชั้น ช่วงเวลา หลักสูตรและการวัดผลที่แน่นอน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของโต๊ะครู มีทั้งโต๊ะครูสอนเองหรือลูกศิษย์ที่โต๊ะครูเห็นว่า สามารถช่วยสอนแทนได้ในบางวิชา ทั้งนี้โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ

ผู้เรียน
ในส่วนของผู้เรียน สามารถเรียนได้ตลอดชีวิต หรือจนกว่าผู้เรียนจะขอลาออกไปประกอบอาชีพ หรือในกรณีโต๊ะครูพิจารณาแล้วว่ามีความรู้เพียงพอแล้ว ผู้มาเรียนปอเนาะจะต้องเป็นผู้ที่ผู้ปกครองนำมาฝากไว้กับโต๊ะครู และต้องอยู่ ในบ้านที่เป็นกระท่อมหรือปอเนาะ ซึ่งจะตั้งเรียงรายอยู่ในบริเวณบ้านของโต๊ะครู หรือบ้าน ที่โต๊ะครูกำหนดให้อยู่ ผู้เรียนจะต้องหาอาหารและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เฉลี่ยคนละ 30-50 บาทต่อวัน

ในปอเนาะบางแห่งมีคนชราและผู้ยากไร้อยู่ด้วย มีผู้เรียนหลากหลายกลุ่มอายุปะปนกัน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และคนชรา การเรียนการสอนจะแยกกันเด็ดขาดระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ผู้เรียนปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด การแต่งกายถูกต้องมิดชิดตามหลักศาสนา นักเรียนที่มาเรียนในปอเนาะจะมีทั้งที่จบชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย มหาวิทยาลัย บางคนเรียนหลักสูตรปอเนาะในเวลากลางคืนและหลังรุ่งสาง ส่วนกลางวันหากเป็นนักเรียนก็จะไปโรงเรียนที่เขาสังกัด หากเป็นผู้ใหญ่กลางวันจะทำงาน (เพราะฉะนั้นการบรรจุการสอนวิชาสามัญเป็นภาษาไทยจึงไม่จำเป็น)

การจัดตั้งปอเนาะและการดำรงอยู่
การจัดตั้งปอเนาะใช่ว่าใครคิดจะตั้งก็ตั้งได้ ผู้ก่อตั้งจะต้องมีความรู้ทางศาสนาชั้นสูง มีความตั้งใจจริง มีจิตใจบริสุทธิ์ และตั้งมั่นในความเสียสละอย่างแรงกล้า. การสร้างปอเนาะ ที่ละหมาด สาธารณูปโภคต่างได้รับการช่วยเหลือจากผู้มีจิตศรัทธาในชุมชนและนอกชุมชน การเติบโตของปอเนาะขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของโต๊ะครูเป็นสำคัญ โต๊ะครูที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ประชาชนให้การยอมรับ มักจะมีผู้มาสมัครเป็นลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก เช่น ปอเนาะดาลอที่ ปัตตานี

ปอเนาะจะมีขนาดเล็ก หรือใหญ่ ขึ้นอยู่กับสถานภาพและความรู้ ความสามารถของผู้เป็นเจ้าของดังได้กล่าวแล้ว การดำรงอยู่ของปอเนาะ ขึ้นอยู่กับความเลื่อมใสศรัทธาของผู้ปกครองนักเรียน ฉะนั้นเมื่อโต๊ะครูถึงแก่กรรม และไม่มีทายาทสืบต่อ หรือประชาชนเสื่อมความนิยม ก็จะล้มเลิกกิจการไปเอง จึงมักพบเห็นปอเนาะร้างมีปรากฏอยู่ทั่วไป

การเรียนในปอเนาะไม่ใช่เรียนเพื่อรับปริญญา หรือศึกษาต่อในระบบโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยทั้งในหรือต่างประเทศ การเรียนการสอนในปอเนาะไม่ใช่เพื่อประกอบอาชีพ แต่การเรียนการสอนในปอเนาะคือการทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม หลักคำสอนของศาสนาอิสลามในปอเนาะมีทั้งพื้นฐานความรู้ทั่วไปที่ทุกคนจะต้องรู้และนำไปปฏิบัติ ในขณะเดียวกันมีหลักคำสอนสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนเป็นถึงระดับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ(อิสลามศึกษา) การถือกำเนิดปอเนาะในภาคใต้นั้นมิใช่เพื่อสนองอารมณ์ หรือธุรกิจ แต่จริงๆ แล้วเพื่อสนองหลักการศึกษาศาสนาอิสลามเพราะอิสลามสอนให้มนุษย์มีการศึกษาตลอดชีวิต และเก่ง ดี มีสุข ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาชาติ ปี พ.ศ.2542[16]

มุสลิมที่ดีต้องศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา และปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด ดังปรัชญาของอิสลามที่ว่า "จงศึกษาตั้งแต่อยู่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ" หรือ "ผู้มีความรู้ มีหน้าที่สอนผู้ที่ไม่รู้" หรือ "ผู้ที่ดีเลิศ คือผู้ที่เรียนและสอนกุรฺอาน" ดังนั้น ปอเนาะจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นแหล่งเผยแผ่ศาสนาในคราวเดียวกัน

ในอดีตปราชญ์อิสลามระดับอาเซียนถือกำเนิดจากระบบปอเนาะในจังหวัดชายแดนใต้ เช่น เชคดาวุด เชคอะห์มัด จนถึงโต๊ะครูอาเยาะเดร์ สะกัม[17] ด้วยจุดเด่นของปอเนาะดังกล่าวทำให้การศึกษาอิสลามระบบปอเนาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ดีที่สุดในประเทศไทยและกลุ่มอาเซียนด้วยกัน จึงทำให้มีมุสลิมจากส่วนอื่นๆ เช่น มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, กัมพูชา, และเวียดนาม, มาศึกษาเล่าเรียนที่นี่ หากรัฐคำนึงถึงจุดเด่นข้อนี้และช่วยเหลือพัฒนาอย่างถูกต้อง ประเทศไทยอาจสามารถเป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษาในระบบปอเนาะระดับอาเซียนได้

อ. อาหมัด เบ็ญอาหลี[18] ผู้คร่ำหวอดในวงการศึกษา และทำงานพื้นที่มานาน (อดีตผู้ตรวจราชการ สพท.นราธิวาส เขต ๒ ปัจจุบันรองผู้อำนวยการ สพท.สงขลา เขต ๒) เคยเสนอว่า ในเมื่อปอเนาะเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ของชุมชน การใช้ปอเนาะเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงกลไกภาครัฐสู่ภาคประชาชน จึงเป็นทางเลือกที่ไม่ควรมองข้าม

ข้อเสนอส่วนตัวในการพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะ
เพื่อให้การบริหารจัดการปอเนาะได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน และสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลควรมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

1. จดทะเบียนปอเนาะที่เหลืออยู่ทุกแห่ง(ตามความเหมาะสม) ให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง เพื่อความสะดวกในการพัฒนาและดูแลอย่างใกล้ชิด

2. ควรให้เงินอุดหนุนเป็นค่าตอบแทนแก่โต๊ะครู และครูสอนศาสนาตามความเหมาะสม เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีความรับผิดชอบสูง ทั้งด้านการจัดการเรียนการสอนและการอบรมจริยธรรม

3. ควรให้การสนับสนุนด้านอาคารสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้นักเรียน และครุภัณฑ์ที่จำเป็นพร้อม ทั้งห้องสมุด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้เรียน

4. สนับสนุนสื่อการสอนประเภทต่างๆ

5. ควรให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการการพัฒนาปอเนาะในด้านต่างๆ ดังนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ดูแลด้านการศึกษาและงานอาชีพ, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้การสงเคราะห์คนชราและผู้ยากไร้, กระทรวงสาธารณสุข ดูแลด้านสุขภาพอนามัย, และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่งเสริมด้านการกีฬาและนันทนาการ

แต่เมื่อ "ปอเนาะ" ถูกมองในแง่ร้ายและเสนอให้ยกเลิกสถาบันปอเนาะที่สอนเฉพาะศาสนา และบังคับให้เปิดเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา บรรจุการสอนวิชาสามัญเป็นภาษาไทยควบคู่ไปกับวิชาศาสนา เพราะเยาวชนที่ไม่รู้วิชาสามัญ ทำให้ไม่สามารถศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ เป็นการเข้าใจบริบท บทบาท ภารกิจของปอเนาะที่มีต่อชุมชนที่ไม่น่าถูกต้องนัก

อุปสรรคของการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะติดขัดอยู่ตรงแนวคิดและทัศนคติที่มีความแตกต่างกัน และความขัดแย้งในบางครั้ง ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ที่มีมาช้านาน เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันที่จะลดหรือยุติความรู้สึกความหวาดระแวง และสร้างความมั่นใจทั้งในด้านสังคมและในด้านการศึกษา ซึ่งต้องทำพร้อมกันไป

ความสับสนต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อันที่จริงแล้วเกิดขึ้นจากความเข้าใจแต่ฝ่ายเดียวและการคิดแทนจากฝ่ายรัฐ และความสับสนจากระแสข่าวที่มาจากสื่อที่ขาดจรรยาบรรณบางกลุ่ม ที่มักเสนอข่าวโดยขาดความรับผิดชอบและขาดความรอบคอบ โดยไม่เล็งเห็นผลที่จะเกิดขึ้นกับสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสังคมโดยรวม

ทางออกของปัญหาสถาบันศึกษาปอเนาะ
ทางออกและแนวทางที่จะพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเริ่มด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะส่วนสำคัญที่มีอำนาจและหน้าที่โดยตรงกับการศึกษา คือ ฝ่ายรัฐที่ต้องมีความเอาจริงเอาจังและมีความจริงใจในการสนับสนุนช่วยเหลือ ฝ่ายผู้บริหารโรงเรียนที่ต้องมีความเข้าใจการบริหารจัดการการศึกษา และฝ่ายหน่วยงานที่ดูแลการศึกษาทั้งในระดับพื้นที่หรือระดับส่วนกลาง

สามส่วนนี้ต้องทำงานประสานกัน ด้วยการติดตามดูแลปัญหาและความขาดแคลนที่เกิดขึ้นกับสถาบันศึกษาดังกล่าว ให้มีความพร้อมทั้งด้านกายภาพและหลักสูตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ และให้เกิดความสอดคล้องและเกิดการยอมรับด้วยความสมัครใจในการจัดการการศึกษา โดยรัฐต้องมีเป้าหมายในการพัฒนาที่ชัดเจนที่จะเข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริม มากกว่าการเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในส่วนของสถาบันศึกษาปอเนาะ รัฐควรปล่อยให้มีความอิสระในการจัดการและกำหนดหลักสูตร และควรให้การส่งเสริมในด้านกายภาพหรือด้านสาธารณูปโภคให้แก่สถาบันศึกษาปอเนาะ โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหลักสูตร ในส่วนของการส่งเสริมวิชาชีพจะต้องไม่กระทบกับตารางการศึกษาที่มีอยู่ และไม่กระทบกับวิถีชีวิตทางการศึกษาภายในสถาบันศึกษาปอเนาะ

ส่วนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม รัฐควรเข้าไปส่งเสริมและช่วยเหลือให้เกิดการพัฒนาวิชาสามัญหรือวิชาชีพให้มีความพร้อมและมีมาตรฐาน และมีคุณภาพทางการศึกษาเหมือนกับโรงเรียนของรัฐหรือโรงเรียนเอกชนทั่วไป

สถาบันการศึกษาทั้งสองนี้มีความสำคัญ และความเหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และพัฒนาไปบนความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรม วิถีคิดที่มีความแตกต่าง ให้เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและประเทศชาติ บนพื้นฐานของการยอมรับความแตกต่างทางด้านต่างๆที่เกิดขึ้นจริงในสังคมต่อไป

โครงการพหุวัฒนธรรมกับการพัฒนาการศึกษา
มีผลวิจัยในพื้นที่ในโครงการพหุวัฒนธรรมกับการพัฒนาการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีศึกษาปอเนาะได้สรุปข้อเสนอแนะดังนี้[19]

สำหรับสถาบันศึกษาปอเนาะ
1. รัฐให้การสนับสนุนสถาบันศึกษาปอเนาะให้คงอยู่ต่อไป ให้เป็นการศึกษาทางเลือกแก่ชุมชนและสังคม

2. ให้ความเป็นอิสระในการบริหารจัดการและหลักสูตรของสถาบันศึกษาปอเนาะ

3. กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับปอเนาะที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ รัฐต้องเข้ามาจัดการแก้ไขด้วยตัวเอง เพราะปัญหาของปอเนาะที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง มักจะมาจากความเข้าใจผิดของรัฐ

4. รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐควรเข้ามาสัมผัสกับปอเนาะโดยตรง ไม่ใช่ผ่านการรับรู้ผ่านตัวกลางหรือกระแสสื่อ หรือรับรู้โดยการรายงานจากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ขาดความรู้และความเข้าใจต่อปอเนาะที่แท้จริง

5. หากปอเนาะมีปัญหาด้านการศึกษา รัฐต้องแก้ไขด้วยรูปแบบทางการศึกษา ไม่ใช่แก้ปัญหาของปอเนาะซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาด้วยวิธีการทางความมั่นคง

6. รัฐควรสนับสนุนปอเนาะให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีค่า ซึ่งระบบปอเนาะเป็นระบบที่สอดรับกับความเหมาะสมของชุมชนได้เป็นอย่างดี และควรนำสิ่งที่ดีในปอเนาะเสนอต่อสาธารณะและสังคมภายนอก ให้หมดความหวาดระแวงและมองปอเนาะในแง่ร้าย โดยการสร้างสมมุติฐานหรือทัศนคติใหม่กับปอเนาะ เพราะในอนาคตปอเนาะอาจเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สังคมภายนอกให้ความสนใจ และเป็นรูปแบบการศึกษาแบบหนึ่งที่รัฐต้องให้ความคุ้มครอง โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดว่าปอเนาะต้องอยู่ในระบบการศึกษาแบบใด แต่ให้คงความเป็นระบบแบบปอเนาะไว้โดยให้ความสำคัญที่ความเหมาะสมมากกว่า หรืออาจจะจัดให้เข้าอยู่ในระบบการศึกษาตามอัธยาศัยรูปแบบหนึ่งได้

7. ควรพิจารณาระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ พ.ศ. ๒๕๔๗ ใหม่ เพราะมีบางข้อที่ยังไม่ชัดเจน และทำให้สภาพภาพของผู้บริหารปอเนาะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยการเชิญโต๊ะครูและผู้มีส่วนในปัญหาเข้าพิจารณาร่วมกัน

8. รัฐควรช่วยเหลือปอเนาะในด้านสาธารณูปโภคโดยเร่งด่วน เนื่องจากสภาพของปอเนาะในปัจจุบันสมควรได้รับการปรับปรุง เช่น เรื่องที่อยู่อาศัยของเด็กนักเรียน อาคารเรียน น้ำ ไฟฟ้า

9. ควรพิจารณาให้โต๊ะครูได้รับค่าตอบแทน และให้มีสวัสดิการเหมือนกับที่รัฐให้กับข้าราชการ

10. การเสริมหลักสูตรด้านสามัญหรือวิชาชีพในสถาบันศึกษาปอเนาะ ควรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดกับระบบดั้งเดิมที่เคยใช้อยู่ในปอเนาะ ไม่ควรดึงเวลาการเรียนการสอนที่เคยเป็นอยู่ แต่ควรหาความลงตัวและความเหมาะสมในการเสริมหลักสูตรสามัญหรือวิชาชีพในปอเนาะ เช่นให้ไปเรียนผ่านทางการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) หรือ การจัดตั้งศูนย์พัฒนาอาชีพในปอเนาะ

11. ส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษาในระบบปอเนาะระดับอาเซียน

สำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

1. รัฐควรให้ความเป็นธรรมกับการอุดหนุนแก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โดยให้การอุดหนุนทั้งวิชาศาสนาและสามัญ ซึ่งในปัจจุบันรัฐให้การอุดหนุนเพียงวิชาสามัญเท่านั้น ไม่ได้ให้การอุดหนุนวิชาศาสนา ซึ่งจะเป็นภาระแก่ผู้บริหารต้องรับผิดชอบ

2. การพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ควรจัดสรรงบประมาณให้พอเพียงและเสริมสร้างวิทยาการสมัยใหม่แก่ทางโรงเรียน เช่น ห้องทดลองและเครื่องมือวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ การเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งยังขาดแคลนอยู่มาก

3. มีการจัดอบรมผู้บริหารให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียน และนโยบายทางด้านการศึกษาให้ชัดเจน

4. ปรับปรุงให้เข้ากับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบอิสลาม

5. ช่วยเหลือ แนะแนวเรื่องอาชีพและธุรกิจให้แก่โรงเรียน ให้มีช่องทางหารายได้ที่ถาวรมาบริหารโรงเรียน โดยให้มีความสอดคล้องและไม่ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

6. จัดให้มีการกู้ยืมเพื่อการศึกษาโดยไม่ขัดกับหลักการอิสลาม

7. ให้มีการประสานงานและติดตามดูแลโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง

สรุป
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมลายูมุสลิมซึ่งถือเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศไทย แต่เป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นมุสลิมจึงมีความจำเป็นต้องมีความเข้าใจต่อหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม เพราะมุสลิมมีหลักคิดว่า อิสลามคือธรรมนูญและรูปแบบการดำเนินชีวิตของมุสลิมทุกคน และไม่สามารถแยกเรื่องของอาณาจักรออกจากเรื่องของศาสนจักรได้ กล่าวคือ มุสลิมต้องรับรู้และรับผิดชอบในเรื่องของศาสนา และเรื่องทางสังคมโดยแยกออกจากกันไม่ได้ และการอ้างอิงเหตุผลใดๆ จะใช้อัล-กุรอาน และอัล-หะดิษเป็นบทสรุปของปัญหาและเหตุผล และเป็นกรอบในการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย

นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวว่า[20]) กระบวนการ "ไถ่ถอนศาสนา" ออกจากสังคมหรือที่เรียกในภาษาฝรั่งว่า secularization เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนสู่ความทันสมัยที่เกิดขึ้นในทุกสังคมทั่วโลก แต่สังคมที่รอดพ้นจากความรุนแรงของกระบวนการ "ไถ่ถอนศาสนา" ที่สุดคือสังคมมุสลิม การที่สังคมมุสลิมผ่านกระบวนการ "ไถ่ถอนศาสนา" ออกจากสังคมน้อย เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของสังคมมุสลิมในโลกปัจจุบัน ทั้งนี้แล้วแต่ใครจะมอง และมองจากแง่ไหน

ก่อนอื่นควรเข้าใจด้วยว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญแก่การศึกษาและการแสวงหาความรู้อย่างยิ่ง ถือกันตามคำสอนว่าการศึกษาหาความรู้เป็นสิ่งที่มุสลิมควรทำตราบจนสิ้นลมหายใจ แต่ความรู้ไม่ได้มีคุณค่าในตัวเอง การมีความรู้มากเพียงลำพัง ไม่มีประโยชน์ในสายตาของอิสลาม แต่ความรู้นั้นต้องเพิ่มสมรรถนะในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า

มูฮัมหมัด อิคบัล (นักปราชญ์และกวีปากีสถาน) อธิบายว่า ความรู้หรือ ilm ในภาษาอาหรับ คือความรู้ที่มีฐานอยู่บนประสาทสัมผัส ความรู้ชนิดนี้ให้อำนาจทางกายภาพ ฉะนั้นความรู้หรืออำนาจทางกายภาพนี้จึงต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ din หรือศาสนาอิสลาม ถ้าความรู้หรืออำนาจไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ din ก็ย่อมเป็นสิ่งชั่วร้าย ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่ต้องทำให้ความรู้เป็นอิสลาม (Islamize knowledge) ถ้าความรู้อยู่ภายใต้กำกับของ din ความรู้ก็จะเป็นพรอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ในทางปฏิบัติ รับใช้พระผู้เป็นเจ้าหมายถึงการมีศีลธรรม, มีความยุติธรรม และมีความกรุณา นักปราชญ์บางท่านอธิบายว่าคุณลักษณะสามประการนี้ สรุปรวมก็คือการมีความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลกับคนอื่น นับตั้งแต่ญาติพี่น้องไปจนถึงสังคมโดยรวมนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ การศึกษาของอิสลามจึงไม่ใช่การฝึกวิชาชีพเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการฝึกวิชาชีพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตนเองในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า หรือรับผิดชอบต่อสังคมได้มากขึ้น หนึ่งในลักษณะเด่นของระบบการศึกษาอิสลามก็คือ ควรแสวงหาความรู้และเผยแพร่ความรู้แก่คนอื่น ไม่ใช่เพื่อได้รับเงินตอบแทน แต่เพื่อประโยชน์ของสังคม และเพื่อความพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า (Afzalur Rahman, Islam : Ideology and the Way of Life)

สถาบันการศึกษาที่เป็นตัวขับเคลื่อนสังคมมุสลิมที่สำคัญ คือ สถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความแตกต่างจากสังคมส่วนใหญ่ทั่วไป อย่างไรก็ตาม รัฐได้ให้ความสำคัญและช่วยเหลือสถาบันทั้งสองตลอดมา โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แต่ในภาพแห่งความเป็นจริง ได้เกิดปัญหามากมายในการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากขาดการติดตามและความต่อเนื่องจากฝ่ายรัฐ และเรื่องงบประมาณที่ไม่พอเพียงในการขับเคลื่อนกลไกลทางการศึกษาให้เดินไปข้างหน้า ยิ่งไปกว่านั้น ยังขาดความเข้าใจและประสบการณ์ทางการศึกษารูปแบบใหม่ของฝ่ายผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งถือเป็นสามเหตุหลักที่ต้องผลักดันให้เกิดเป็นผลในทางรูปแบบต่อไป

อุปสรรคของการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะติดขัดอยู่ตรงแนวคิดและทัศนคติที่มีความแตกต่างกัน และความขัดแย้งในบางครั้งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีมาช้านาน เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันที่จะลดหรือยุติความรู้สึกความหวาดระแวงและสร้างความมั่นใจทั้งในด้านสังคมและในด้านการศึกษา ซึ่งต้องทำพร้อมกันไป

ความสับสนต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เกิดขึ้นมาจากความเข้าใจแต่ฝ่ายเดียวและการคิดแทนจากฝ่ายรัฐ และความสับสนจากระแสข่าวที่มาจากสื่อที่ขาดจรรยาบรรณบางกลุ่ม ที่มักเสนอข่าวโดยขาดความรับผิดชอบและขาดความรอบคอบ โดยไม่เล็งเห็นผลที่จะเกิดขึ้นกับสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสังคมโดยรวม

ทางออกและแนวทางที่จะพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเริ่มด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะส่วนสำคัญที่มีอำนาจและหน้าที่โดยตรงกับการศึกษา คือ ฝ่ายรัฐที่ต้องมีความเอาจริงเอาจังและมีความจริงใจในการสนับสนุนช่วยเหลือ ฝ่ายผู้บริหารโรงเรียนที่ต้องมีความเข้าใจการบริหารจัดการการศึกษา และฝ่ายหน่วยงานที่ดูแลการศึกษาทั้งในระดับพื้นที่หรือระดับส่วนกลาง

สามส่วนนี้ต้องทำงานประสานกัน ด้วยการติดตามดูแลปัญหาและความขาดแคลนที่เกิดขึ้นกับสถาบันศึกษาดังกล่าว ให้มีความพร้อมทั้งด้านกายภาพและหลักสูตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ และให้เกิดความสอดคล้องและเกิดการยอมรับด้วยความสมัครใจในการจัดการการศึกษา โดยรัฐต้องมีเป้าหมายในการพัฒนาที่ชัดเจนที่จะเข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริม มากกว่าการเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในส่วนของสถาบันศึกษาปอเนาะ รัฐควรปล่อยให้มีความอิสระในการจัดการและกำหนดหลักสูตร และควรให้การส่งเสริมในด้านกายภาพหรือด้านสาธารณูปโภคให้แก่สถาบันศึกษาปอเนาะ โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหลักสูตร ในส่วนของการส่งเสริมวิชาชีพจะต้องไม่กระทบกับตารางการศึกษาที่มีอยู่ และไม่กระทบกับวิถีชีวิตทางการศึกษาภายในสถาบันศึกษาปอเนาะ ส่วนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม รัฐควรเข้าไปส่งเสริมและช่วยเหลือให้เกิดการพัฒนาวิชาสามัญหรือวิชาชีพให้มีความพร้อมและมีมาตรฐาน และมีคุณภาพทางการศึกษาเหมือนกับโรงเรียนของรัฐหรือโรงเรียนเอกชนทั่วไป

สถาบันการศึกษาทั้งสองนี้มีความสำคัญ และความเหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และพัฒนาไปบนความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรม วิถีคิดที่มีความแตกต่าง ให้เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและประเทศชาติบนพื้นฐานของการยอมรับความแตกต่างทางด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมต่อไป

++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ

[1] เมื่อกล่าวถึงคนมลายูมุสลิม หลายคนอาจมองว่าเป็นคนมลายูที่อาศัยอยู่ใน 4 จังหวัดภาคใต้ของไทย
แต่แท้ที่จริงแล้ว ยังมีคนมุสลิมกระจัดกระจายอยู่ในประเทศไทยหลายกลุ่ม ได้แก่

1) กลุ่มที่มีบรรพบุรุษเป็นมลายูหรือมาเลย์ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่สุด นอกจากจะอาศัยในภาคใต้ของไทยแล้ว ยังมีในภาคอื่นๆ ด้วย เช่น ที่อยุธยา, กรุงเทพฯ, นครนายก, ฉะเชิงเทรา, เพชรบุรี, เป็นต้น
2) กลุ่มที่สืบเชื้อสายบรรพบุรุษอาหรับเปอร์เซีย
3) กลุ่มที่มีเชื้อสายชวา
4) กลุ่มเชื้อสายจาม - เขมร อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ตาก และสุราษฎร์ธานี
5) กลุ่มเอเชียใต้ และ
6) กลุ่มเชื้อสายจีนและจีนฮ่อมุสลิม

อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ของมลายูมุสลิมกับไทยพุทธนั้น โดยทั่วไปไม่มีปัญหา นอกจากกรณีมลายูมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ทั้งนี้ เนื่องจากมลายูมุสลิมภาคอื่นมีจำนวนไม่มากและไม่ได้อยู่รวมกันหนาแน่นนัก ขณะที่มลายูมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้มีจำนวนมากและมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งกับรัฐบาลไทยมายาวนาน มีการวิเคราะห์กันว่า ปัญหาสี่จังหวัดภาคใต้ (รวมสตูล) คือปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนสองกลุ่มคือ ชาวมลายูมุสลิมฝ่ายหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและชาวไทยพุทธอีกฝ่ายหนึ่ง

[2]โปรดดู พรปวีณ์ ศรีงาม.2549. ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานี: บทเรียนประวัติศาสตร์ความขัดแย้งสู่เส้นทางสมานฉันท์ หน้า 2-21 นำเสนอในการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "ทักษิณศึกษา : กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ " วันที่ 17-29 สิงหาคม 2549 ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ
ซึ่งงานเขียนของพรปวีณ์ ศรีงามได้รวบรวบจากนักเขียนหลายคนเช่น

1. ฮิบรอฮิม ซุกรี เขียน แปลโดย หะสัน หมัดหมาน และมะหามะซากี เจ๊ะหะ ดลมนรรจน์ บากาเรียบเรียง ประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี (History of the Malay Kingdom of Patani)

2. รัตติยา สาและ "ปตานี ดารุสสะลาม (มลายู-อิสลาม ปตานี) สู่ความเป็น "จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส" ในประวัติศาสตร์"ปกปิด"ของ
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐปัตตานีใน"ศรีวิชัย" เก่าแก่ว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 4 มีนาคม 2548 ,

3. A.TEEUW, D.K WYATT ,HIKAYAT PATANI ,THE STORY OF PATTANI. The Hague- Martinus, Nijhoff,1970

4. มูฮัมหมัดซัมบรี อับดุลมาลิก, ปัตตานีในอารยธรรมมลายู, แปลโดย มาหะมะซากี เจ๊ะหะ โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

[3] ความจริงแล้วความเชื่อไม่ใช่ตัวรากเหง้าของปัญหาความไม่สงบที่แท้จริง

[4] ผู้เขียนอยู่ในเหตุการณ์และเข้าร่วมประท้วงด้วย

[5] โปรดดู รายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ .2548. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2550 จาก http://www.nrc.or.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=107&Itemid=66

[6] มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 2529. สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ฉบับทักษิณคดีศึกษา เล่ม ๗

[7] หะสัน หมัดหมาน. 2517. อิทธิพลวัฒนธรรมไทยต่อชาติมลายู ในวารสาร รูสมิแล ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓ กรกฎาคม - สิงหาคม

[8] หะยีโส๊ะ ส่าเม๊าะ โต๊ะครูปอเนาะโคกยาง อ.จะนะ จ.สงขลา เกิดปีพ.ศ. 2459 ท่านศึกษาที่ปอเนาะ เมาะโง อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2474 (หะยีโส๊ะ สาเม๊าะ (สัมภาษณ์) 11 มีนาคม 2550)

[9] จะสอดคล้องกับงานวิจัยของ Waranee Pokapaniahwong เกี่ยวกับกระบวนการทำให้หญิงกลายเป็นสินค้า ตามแนวความคิดของมิเชล ฟูโกต์ โดยใช้อำนาจการเมืองมาบริหารจัดการชีวิตผู้คน

[10] ความเป็นจริงการจดทะเบียนดังกล่าวเป้าหมายหลักมิใช่ต้องการพัฒนาแต่ต้องการควบคุม การพัฒนาที่รัฐกล่าวอ้างนั้น เพื่อรองรับความสมเหตุสมผลซึ่งโต๊ะครูและชุมชนทราบดี

[11] ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร. 2548. ปอเนาะกับความมั่นคงของชาติ. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2550 จากhttp://www.kurusampan.com/postNews.php?nId=21

[12] โปรดดู Corlin, Claes. The Politics of Cosmology : An Introduction to Millenarianism and Ethinicity among Highland Minorities of Northern Thailand .

[13] โปรดดู Waranee Pokapaniahwong, Cultural Politics and The Commodification of Tai Femail Sexuality.

[14] บูดีมัน แยนา ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ (สัมภาษณ์) 11 มีนาคม 2550

[15]บูดีมัน แยนา ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ (สัมภาษณ์) 11 มีนาคม 2550

[16] โปรดดู กระทรวงศึกษาธิการ พรบ.การศึกษา, 2542 หมวดที่ 1-4 หน้า 5-8

[17] โปรดดู Fathi . 1990. Ulama Besar Patani. หน้า 10 - 100

[18] อาหมัด เบ็ญอาหลี (สัมภาษณ์) 14 มีนาคม 2550

[19] บันฑิตย์ สะมะอุนและคณะ. 2548. พหุวัฒนธรรมกับการพัฒนาการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีศึกษาปอเนาะ. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2550 จากhttp://www.southwatch.org/article_detail.php?id=14

[20] นิธิ เอียวศรีวงศ์.2546.จากปอเนาะถึงมหาวิทยาลัยอิสลาม. มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๒๙๒ หน้า ๖

++++++++++++++++++++++++++
บรรณานุกรม

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ .2548. รายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ . สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2550 จาก http://www.nrc.or.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=107&Itemid=66

ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร. 2548. ปอเนาะกับความมั่นคงของชาติ.สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2550 จากhttp://www.kurusampan.com/postNews.php?nId=21

บูดีมัน แยนา ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ (สัมภาษณ์) 11 มีนาคม 2550

บันฑิตย์ สะมะอุนและคณะ. 2548. พหุวัฒนธรรมกับการพัฒนาการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีศึกษาปอเนาะ.สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2550 จากhttp://www.southwatch.org/article_detail.php?id=14

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2546. จากปอเนาะถึงมหาวิทยาลัยอิสลาม. มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๒๙๒ หน้า ๖

พรปวีณ์ ศรีงาม. 2549. ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานี: บทเรียนประวัติศาสตร์ความขัดแย้งสู่เส้นทางสมานฉันท์ หน้า 2-21 นำเสนอในการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "ทักษิณศึกษา : กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ " วันที่ 17-29 สิงหาคม 2549 ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 2529. สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ฉบับทักษิณคดีศึกษา เล่ม ๗

หะสัน หมัดหมาน. 2517. อิทธิพล วัฒนธรรม ไทย ต่อ ชาติ มลายู ใน วารสาร รูสมิแล ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓ กรกฎาคม - สิงหาคม

หะยีโส๊ะ สาเม๊าะ. (สัมภาษณ์) 11 มีนาคม 2550)
Fathi , Ahmad. 1990. Ulama Besar Patani. Kl : UKM

อาหมัด เบ็ญอาหลี (สัมภาษณ์) 14 มีนาคม 2550

+++++++++++++++++++++++++++++++

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

การจัดตั้งปอเนาะเป็นไปตามความศรัทธาของชุมชน ที่ต้องการให้มีสถาบันการสอนศาสนาอิสลาม ปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงามตามหลักศาสนาอิสลามแก่ เยาวชนมุสลิม โดยมีโต๊ะครูซึ่งจะเป็นทั้งผู้สอนและผู้จัดการปอเนาะ. การเรียนการสอนในปอเนาะ จะเน้นการเรียนรู้หลักศรัทธา, คัมภีร์อัลกุรอาน, อรรถาธิบายอัลกุรอาน, วจนะศาสดา, กฎหมายอิสลาม, มารยาทอิสลาม และมารยาทกับต่างศาสนิก, ภาษาอาหรับ, สำนวนโวหารอาหรับ, ตรรกศาสตร์, ปรัชญาอิสลาม, ดาราศาสตร์, โดยศึกษาจากตำราที่เป็นภาษาอาหรับ หรือ "ภาษามลายูอักษรยาวี"

20-03-2550

FUNDOK
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com