โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 11 March 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๘๔ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (March, 11,03.2007)
R

การเมือง การก่อการร้าย และธุรกิจการเลือกตั้ง
ศตวรรษแห่งสงครามไม่สมมาตร การก่อการร้าย และการเลือกตั้งธิปไตย
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความทางด้านรัฐศาสตร์นี้ เคยเผยแพร่แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน
รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ประกอบด้วย
๑. ศตวรรษแห่งสงครามนอกแบบ
(เป็นบทสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญการทำสงครามนอกแบบ)
๒. การก่อการร้ายในนิยามของกองทัพ (เป็นการเปรียบเทียบนิยามการก่อการร้ายของฝ่ายทหารและฝ่ายวิชาการ)
๓. ระบอบเลือกตั้งธิปไตยกำลังจะกลับมา (เป็นการพูดถึงเหตุการณ์การเมืองไทยร่วมสมัย)
ทั้งหมดเขียนโดย รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๘๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

ศตวรรษแห่งสงครามนอกแบบ การก่อการร้าย และเลือกตั้งธิปไตย
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ

1. ศตวรรษแห่งสงครามนอกแบบ
"ตราบใดที่ภัยรูปแบบใหม่ยังอยู่ คิดว่าเราต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ไม่แน่ใจว่าการใช้วัตถุระเบิดนั้นจะยุติลงในระยะเวลาอันสั้น เพราะจากหลายๆ พื้นที่แนวโน้มในลักษณะเช่นนั้นก็ยังคงอยู่ ดังนั้นเป็นเรื่องที่พูดกันได้ว่ามันมาพร้อมกับโลกาภิวัตน์, โรคนี้มาพร้อมกับโลกาภิวัตน์"
นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ (มติชนรายวัน, 27 ก.พ. 2550)

เบื้องหน้าภัยคุกคามของ "การก่อการร้ายเต็มรูปแบบ" ที่กำลังกำเริบลุกลามร้ายแรงขึ้นทุกทีในประเทศ น่าที่เราจะพยายามทำความเข้าใจมันทางวิชาการในฐานะส่วนหนึ่งของแนวโน้มสำคัญของโลกปัจจุบัน เพื่อร่วมกันพิจารณาหาทางรับมืออย่างเหมาะสม

ในเรื่องนี้ ดร.เจราร์ด ชาลีอันด์ (Gerard Chaliand, ค.ศ.1934-ปัจจุบัน) นักวิชาการอิสระชาวฝรั่งเศสเชื้อสายอาร์เมเนีย ผู้เชี่ยวชาญด้านขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ศึกษา ได้เคยทำการวิจัยภาคสนาม กรณีขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธในประเทศต่างๆ กว่า 12 ประเทศนานร่วม 40 ปี เช่น ในเวียดนาม, อัฟกานิสถาน, ศรีลังกา, เปรู, เขตนากอร์โน-คาราบัคในสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน, แคว้นเชชเนียในรัสเซีย, รัฐชิอาปาสในเม็กซิโก, อาณาบริเวณเคอร์ดิสถานในเขตแดนต่อแดนตุรกี-อิหร่าน-อิรัก-ซีเรีย เป็นต้น จนได้ชื่อว่าเป็นเอตทัคคะผู้รอบรู้เรื่องสงครามนอกแบบหรือสงครามไม่สมมาตร (หมายรวมถึงสงครามจรยุทธ์และการก่อการร้าย) คนหนึ่งของโลก

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ศกนี้ เจราร์ด ชาลีอันด์ ได้ให้สัมภาษณ์ Marion Van Renterghem แห่งหนังสือพิมพ์ Le Monde ของฝรั่งเศสเกี่ยวกับประเด็นนี้ในหัวข้อ "ศตวรรษแห่งสงครามจรยุทธ์" (Le siecle des guerillas) ไว้อย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้

คำถาม : เกิดการโจมตีที่มีผู้บาดเจ็บล้มตายนับร้อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อกันในกรุงแบกแดด ความล้มเหลวของสหรัฐอเมริกาในอิรักเป็นเค้าลางว่า ความขัดแย้งระหว่างขบวนการจรยุทธ์กับกองทัพประจำการที่เข้มแข็ง จะแพร่ขยายไปทั่วในอนาคตใช่ไหม?

ชาลีอันด์ : สงครามจรยุทธ์หรือการก่อการร้ายคงจะมีที่ทางแผ่กว้างขึ้น เพราะมันเป็นเทคนิคเดียวที่ผู้อ่อนแอมีไว้ใช้ต่อต้านผู้เข้มแข็ง ความขัดแย้งไม่สมมาตรหรือสงครามนอกแบบเหล่านี้ส่งสารบอกเราอย่างหนึ่ง นั่นคือมันบ่งชี้ว่าผู้เข้มแข็งอาจถูกสกัดกั้นได้ ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้อ่อนแอยอมจ่ายค่าตอบแทนออกไป ในแง่นี้อิรักและอัฟกานิสถานในลำดับถัดไปจะเป็นตัวอย่างปลุกใจบรรดาผู้ก่อการต่อสู้กับกองทหารของโลกตะวันตก

ในอิรัก ฝ่ายอเมริกันผิดพลาดมาแล้วเกี่ยวกับ "ธาตุแท้" ของสงครามที่ตนเผชิญ แรกทีเดียวก็ปฏิเสธเมื่อปี ค.ศ.2003 ว่าไม่มีการก่อการกบฏ แล้วต่อมาก็ยังวิเคราะห์มันผิดอีก อันที่จริงกบฏทั้งหลายแหล่ในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา ล้วนเริ่มต้นด้วยคนหยิบมือเดียว อาวุธปืนไม่กี่กระบอก และเงินทุนเพียงเล็กน้อยทั้งนั้น

ความฉลาดช่ำชองของขบวนการกบฏทั้งหมดอยู่ตรงหาทางค่อยๆ พลิกเปลี่ยนความอ่อนแอตอนต้นให้กลับเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับเวลาที่ล่วงเลยไปอย่างในอิรัก หัวหอกของการกบฏคือแกนกลางของรัฐเดิม ได้แก่หน่วยสืบราชการลับ, กองกำลังอาสาเฟดาอีนส์, และกองกำลังพิเศษพิทักษ์สาธารณรัฐ ฝ่ายกบฏจึงมีพร้อมสรรพทั้งกำลังรบ อาวุธ เงินทอง และข่าวกรองโดยทันที

คำถาม : อย่างนี้แล้วจะให้สรุปว่าต่อไปในอนาคต ฝ่ายอ่อนแอที่สุดทางทหารจะกลับเป็นฝ่ายเหนือกว่าอย่างค่อนข้างเป็นระบบกระนั้นหรือ?

ชาลีอันด์ : เนื่องจากเหตุผลชุดหนึ่งเกี่ยวกับประชากรศาสตร์, ความชราภาพยิ่งขึ้นของประชากร, การที่ผู้คนหาทางบ่ายเบี่ยงหลบเลี่ยงความเป็นจริงเรื่องความตายที่จะต้องมาถึงได้มากขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้ส่งผลให้บรรดากองทัพของโลกตะวันตกสามารถแบกรับภาระการสูญเสียกำลังพลต่อไปได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น

ในทางกลับกัน คู่ต่อสู้ที่มาจากสังคมซึ่งค่อนข้างเป็นแบบดั้งเดิม มีประชากรคึกคักเข้มแข็งในวัยหนุ่มสาว ย่อมทนรับการหลั่งเลือดเสียสละได้ไหว เวลาเกิดขัดแย้งรบพุ่งกัน สัดส่วนการสูญเสียชีวิตระหว่างสองฝ่ายจะอยู่ที่ 1 ต่อ 8 โดยเฉลี่ย ฉะนั้นดุลยภาพก็เลยกลับฟื้นคืนมา ความไม่สมมาตรซึ่งตั้งอยู่บนเทคโนโลยีที่เหนือกว่ากลายเป็นแค่ภาพเหมือนภายนอกเท่านั้น

สงครามนอกแบบอย่างในอิรัก อัฟกานิสถาน หรือแม้กระทั่งภาคใต้ของเลบานอนได้แสดงให้เห็นว่า มันทรงประสิทธิภาพน่าเกรงขามเพียงใด มันไม่ทำให้ชนะทางการทหารหรอก แต่มันดักคู่ต่อสู้ให้ติดหล่มจมปลักถอนตัวไม่ขึ้นและเล่นกับ "เวลา" ที่ยืดเยื้อออกไปซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญใหญ่หลวงยิ่ง

คำถาม : ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายได้เตรียมรับมือความขัดแย้งแบบนี้ไว้ในอนาคตหรือไม่?

ชาลีอันด์ : กองทัพแบบคลาสสิคไม่ได้ปรับตัวรับมือมัน โดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ กองทหารประจำการสามารถหลบการตรวจจับด้วยเรดาร์หรือเล็งโจมตีเป้าหมายสำคัญได้ด้วยอาวุธนำวิถีอัตโนมัติแม่นยำสูง ทว่าสมรรถภาพของทหารราบฝ่ายตรงข้ามที่จะกระจายกำลังกันออกไปหรืออำพรางตัวไว้ก็ทำให้รับมือยากยิ่ง โดยเฉพาะในสภาพที่อาวุธประจำกายแต่ละคนสามารถทำลายรถถังได้อย่างในกรอซนีย์ (เมืองหลวงของเชชเนีย) หรือภาคใต้ของเลบานอน

คำถาม : เคยมีการกล่าวอ้างถึงสงครามที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงโดยไม่มีการรบประชิดตัว แต่เมื่อแนวโน้มกลายเป็นแบบนี้แล้วเห็นทีกองทหารของโลกตะวันตกจะต้องปรับตัวให้คุ้นเคยกับการใช้ความรุนแรงใหม่อีกครั้งใช่ไหม?

ชาลีอันด์ : ใช่ครับ ผู้คนในสังคมแถบอเมริกาเหนือหรือยุโรปตะวันตกเราสัมพันธ์กับความรุนแรง แต่ในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเสมือนจริงไปเสียแล้ว ในขณะที่สงครามนอกแบบนั้นดำเนินไปแบบติดดิน มันหมายถึงการรบประชิดติดพันโดยอาศัยการเคลื่อนที่เร็วและการที่ศัตรูคาดคิดไม่ถึง อันเป็นหลักใหญ่ของสงครามจรยุทธ์ ฉะนั้น มันก็ไม่มีทางหลบเลี่ยงความรุนแรงไปได้ ขืนเลี่ยงก็เท่ากับปล่อยให้อีกฝ่ายยึดพื้นที่ไปครอง นี่คือสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน นี่คือสิ่งที่คณะเสนาธิการกองทัพอิสราเอลหลงเชื่อไปว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงได้ในภาคใต้ของเลบานอน

ภาพซากศพเหลวอวัยวะขาดหลุดเป็นชิ้นๆ กลิ่นเหม็นคลุ้งของหลุมศพรวมหมู่ที่เพิ่งกลบฝังมาไม่นาน สลับกับความกลัวเมื่อต้องออกลาดตระเวน เหล่านี้คือกิจวัตรประจำวันของกองทหารที่ประกอบกันขึ้นเป็นประสบการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงของพวกเขาในท่ามกลางความหวาดกลัว ความขัดแย้งแบบนี้แหละที่เป็นพาหนะแห่งความเกลียดชังต่อกันอย่างสุดขั้ว

คนที่ผ่านประสบการณ์แบบนี้มาแล้ว นิสัยสันดานก็จะแข็งกระด้างขึ้น จนถึงขั้นที่บ้างอาจกลายเป็นเพชฌฆาต หรือบ้างก็อาจทุเรศรังเกียจตัวเองจนกลายเป็นความสำนึกผิดในที่สุด นี่เป็นสภาพที่ห่างไกลมากจากสงครามซึ่งไม่เห็นหน้าค่าตาของศัตรู

คำถาม : สงครามไซเบอร์ ซึ่งหมายถึงความเป็นไปได้ที่จะก่อกวนโครงสร้างการบังคับบัญชาและสื่อสารโดยฝีมือพวกแฮคเกอร์ (พวกแอบแทรกเข้ามาแก้ไขทำลายข้อมูลในคอมพิวเตอร์ทางอินเตอร์เน็ต) จะเกิดขึ้นได้ไหม?

ชาลีอันด์ : ได้ครับ กรณีแบบนี้อยู่ในข่ายเป็นไปได้ ตัวอย่างเช่นในสภาพการณ์ของสงครามคลาสสิคระหว่างคู่ต่อสู้ที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าล้ำยุค หรือแม้ในกรณีอิรักเมื่อปี ค.ศ.2003 ตอนที่เรดาร์ของอิรักถูกทำให้ใช้การไม่ได้

ทว่าในทางกลับกัน การสร้างความโกลาหลอลหม่านโดยทั่วไปให้กับระบบป้องกันประเทศของรัฐที่ก้าวหน้าด้วยฝีมือคนไม่กี่คนซึ่งรู้เทคนิควิธีการและมีจินตนาการทางเทคโนโลยีนั้น จัดว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันทั้งเพ

คำอธิบายศัพท์
สงครามไม่สมมาตร หมายถึงการต่อสู้ระหว่างกองทัพประจำการกับกองกำลังนอกแบบ อย่างเช่น กลุ่มก่อการร้าย, ขบวนการจรยุทธ์, แก๊งมาเฟีย ฯลฯ คู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยึดถือบรรทัดฐานเรื่องแพ้/ชนะแบบเดียวกัน, ไม่ได้เคารพกฎเกณฑ์เดียวกัน, และที่เด่นชัดคือไม่ได้มียุทโธปกรณ์ทางเทคโนโลยีชนิดเดียวกัน

ตัวอย่างสงครามไม่สมมาตรในประวัติศาสตร์
ค.ศ.1954-1962 สงครามแอลจีเรีย
- ฝ่ายแอลจีเรียตาย 250,000 คน : ทหารฝรั่งเศสตาย 30,000 คน

ค.ศ.1961-1973 สงครามเวียดนาม
- ฝ่ายเวียดนามตายราว 1 ล้านคน : ทหารอเมริกันตาย 58,000 คน

ค.ศ.1979-1989 สงครามอัฟกานิสถาน
- ฝ่ายอัฟกานิสถานตายอย่างน้อย 50,000 คน : ฝ่ายรัสเซียตายราว 13,500 คน

นับแต่ ค.ศ.2003 เป็นต้นมา สงครามอิรัก
- ฝ่ายอิรักตายราว 100,000-150,000 คนตามตัวเลขทางการหรืออาจสูงถึง 650,000 คน ตามการประเมินของวารสาร The Lancet : ฝ่ายอเมริกันตายเพิ่มขึ้นถึง 3,000 คนแล้วในปัจจุบัน

2. "การก่อการร้ายในนิยามของกองทัพ"
"จากการยุบ ศอ.บต. และ พตท.43 ทำให้พวกเขามีเสรีในการปฏิบัติงาน ขณะนี้เข้ามาเต็มหมดแล้ว จนเราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ทำตรงไหนอะไรอย่างไร เหมือนกับเราป่วย ถ้าเราไปหาหมอมันก็หาย แต่หากป่วยและไม่ยอมไปหาหมอ มันก็แย่ รักษายากต้องใช้เวลา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะที่ค่อนข้างไปในทางการก่อการร้าย เมื่อก่อนไม่เต็มรูปแบบ แต่ปัจจุบันค่อนข้างเต็มรูปแบบ"
พลเอก มนตรี สังขทรัพย์ เสนาธิการทหารบกและเลขาธิการ กอ.รมน. (แถลงผลการประชุม กอ.รมน.กรณีวินาศกรรม 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้คืนวันตรุษจีนที่ 18 ก.พ. 2550 เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2550)

ถึงจะล่าช้ากว่าการคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์จริงไปบ้าง แต่อย่างน้อยฝ่ายความมั่นคงของรัฐก็ประกาศยอมรับแล้วว่ากำลังเผชิญกับ "การก่อการร้ายเต็มรูปแบบ" ในเขตชายแดนใต้และกระทั่งไกลกว่านั้นออกมา เพียงแต่ที่น่าสนเท่ห์คือเอาเข้าจริงฝ่ายความมั่นคงเข้าใจ "การก่อการร้าย" ว่าอย่างไร? ตรงกันหรือไม่, รึว่าแตกต่างกันตรงไหน, กับความเข้าใจในวงวิชาการทั่วไป?

ความสนเท่ห์ดังกล่าวเกิดจากเมื่อเร็วๆ นี้ นักศึกษาปริญญาโทที่มาเรียนวิชาสัมมนาการเมืองเปรียบเทียบกับผมคนหนึ่งได้หยิบยกคำนิยาม "การก่อการร้าย" ของทางราชการทหารมาอ้างอิง ผมซักไซ้ไล่เลียงดูก็ปรากฏว่าเขาได้มาจากเว็บไซต์ของ "ศูนย์ศึกษาการก่อการร้าย (Terrorism Studies Center)" ซึ่งระบุว่า "จัดทำโดยส่วนวิชาสงครามพิเศษ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง"

หน่วยงานวิชาการ-เสนาธิการของกองทัพบกที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงแห่งนี้ได้นิยาม "การก่อการร้าย" โดยอนุวัตตามเอกสาร Countering Terrorism on US Army Installations 1983 (TC 19-16) ของกองทัพบกอเมริกันว่าหมายถึง

- "การกระทำหรือขู่จะกระทำการรุนแรงของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ โดยมุ่งต่อผลทางจิตใจและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง ศาสนา หรือลัทธิอุดมการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง"

ซึ่งหากลองเทียบเคียงดูกับคำนิยาม "การก่อการร้าย" ในแวดวงวิชาการรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์ที่ผมเคยประมวลไว้ว่าหมายถึง:

- "การจงใจใช้ความรุนแรงหรือคุกคามจะใช้ความรุนแรง ต่อพลเรือนหรือเป้าหมายพลเรือน อันส่งผลสร้างบรรยากาศความกลัว และความไม่มั่นคงทั่วไป เพื่อเป้าหมายทางการเมือง" แล้ว
(เกษียร เตชะพีระ, "ขั้นใหม่ของสงครามทรัพยากร: ใช้การก่อการร้ายทำลายการเมืองภาคประชาชน (1)," มติชนรายวัน, 24 มิ.ย. 2548, น.6)

ก็จะเห็นความเหมือน/แตกต่างขององค์ประกอบในนิยามดังนี้

นิยามการก่อการร้ายของทางราชการทหาร

1) บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ (Unauthorized Individual or Group)

2) กระทำการหรือขู่จะกระทำการรุนแรง (Violence Action or Threat)

3) มุ่งโดยตรงต่อผลทางจิตใจและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายหลัก (Interded to influence the attitudes
and behavior of the target groups)

4) เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง (Political Purpose) ศาสนา (Religious Purpose)
หรือลัทธิอุดมการณ์ (Ideological Purpose)

นิยามการก่อการร้ายทางวิชาการ

1) จงใจใช้ความรุนแรงหรือคุกคามจะใช้ความรุนแรง (The Use of Violence or Threat of Violence)

2) ต่อพลเรือนหรือเป้าหมายพลเรือน (against Civilians or Civilian Targets)

3) ส่งผลสร้างบรรยากาศความกลัวและความไม่มั่นคงทั่วไป (to Inspire Fear & a General Sense of Insecurity)

4) เพื่อเป้าหมายทางการเมือง (for Political Ends)

จะเห็นได้ว่าขณะที่องค์ประกอบข้อ 2, 3, 4 ของนิยามของทางราชการทหาร ค่อนข้างสอดคล้องกับองค์ประกอบข้อ 1, 3, 4 ของนิยามทางวิชาการ ทว่า องค์ประกอบที่เหลือได้แก่ ข้อ 1 ของทางราชการทหารกับข้อ 2 ของทางวิชาการ กลับลักลั่นผิดแผกกัน

ผมมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับความแตกต่างในนิยาม "การก่อการร้าย" ข้างต้นดังนี้:

(ก) การใส่องค์ประกอบข้อ 1 ("การกระทำหรือขู่จะกระทำการรุนแรงของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่") เป็นเงื่อนไขกำกับสำทับเข้าไปในนิยามของทางราชการทหาร ทำให้มิติของการก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism) หรือนัยหนึ่งการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรัฐ เช่น

- กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกัน "อุ้ม" ทนายสมชาย นีละไพจิตร หายสาบสูญไปจนทุกวันนี้,
- กรณีนายทหารทำร้ายผู้ต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์ตายคาที่ ระหว่างสอบสวนแล้วเผาศพทิ้งในถังแดงเพื่อทำลายหลักฐานที่ภาคใต้,
- กรณีหน่วยล่าสังหารผู้ต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์ในบัญชีดำของกองทัพ เป็นต้น
(ดูการเปิดเผยกรณีทำนองนี้อย่างตรงไปตรงมาใน พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี, ผมผิดหรือ? ที่ยึดกรือเซะ!, 2547, น.166-172)

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ถูกนิยามหายไปจากคำว่า "การก่อการร้าย" ของทางราชการทหารดังกล่าวจนเกลี้ยงเกลา, หรือนัยหนึ่งสิ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรัฐกระทำต่อพลเรือนผู้ต้องสงสัยโดยผิดกฎหมาย และออกนอกกระบวนการยุติธรรม (จะเรียกว่า "วิสามัญฆาตกรรม" หรือ "ศาลเตี้ย" ก็ตามที) นั้นไม่นับเป็น "การก่อการร้าย" ในกรณีที่ผู้กระทำเป็น "บุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้ที่อำนาจหน้าที่" นั่นเอง

แม้คำนิยามนี้จะอำนวยความสะดวกง่ายดายแก่การปฏิบัติราชการในด้าน"ตรีลักษณ์แห่งชาติ" [ความมั่นคงแห่งชาติ - สืบราชการลับ - ข่าวกรอง] (the triad of national security, secrecy, and intelligence) อันเป็นเหตุผลข้ออ้างแบบฉบับของรัฐทั้งหลายในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทว่า ปัญหาคือการก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism) ที่ถูกนิยามจนหายไปนั้น เอาเข้าจริงเป็นกรณีที่ก่อความสูญเสียบาดเจ็บล้มตายขนานใหญ่ที่สุดของการก่อการร้ายในโลกทั้งโดยกำเนิด, ประวัติความเป็นมา, และความจริงในปัจจุบัน ขณะที่การก่อการร้ายโดยกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ใช่รัฐ (group terrorism) กลับเป็นกรณีที่ก่อความสูญเสียบาดเจ็บล้มตายน้อยกว่ามากโดยเปรียบเทียบ

ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรัฐนั้นกุมอาวุธ งบประมาณ กำลังพลและหน่วยงานกลไกสำหรับปฏิบัติการรุนแรงต่างๆ ของรัฐอยู่พร้อมสรรพในมือ, ต่างจากกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐซึ่งปกติทั่วไปไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่และต้องไปแสวงหามาด้วยความยากลำบาก

ดังนั้น มันจึงง่ายดายกว่าและมีโอกาสมากกว่าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่เหล่านี้ จะบิดเบนฉวยใช้อำนาจหน้าที่และชักนำอาวุธ งบประมาณ กำลังพล และหน่วยงานกลไกความรุนแรงของรัฐในมือตนไปก่อการร้ายได้อย่างร้ายกาจรุนแรงใหญ่โตกว่านั่นเอง ดังปรากฏการประเมินเมื่อปี ค.ศ.1986 ว่ารัฐบาลประเทศโลกที่สามถึง 52 จาก 114 ประเทศทั่วโลก อาจถูกกล่าวหาได้ว่าก่อการร้ายโดยรัฐบ่อยครั้ง
(ดูข้อถกเถียงและข้อมูลประกอบใน "Terrorism - THE FACTS," New Internationalist, 161 (July 1986); และ โจนาธาน บาร์เกอร์ เขียน, เกษียร เตชะพีระ แปล, คู่มือศึกษาการก่อการร้ายแบบไม่งี่เง่า, 2548, บทที่ 1 ตั้งคำถามกับการก่อการร้าย และบทที่ 3 การก่อการร้ายโดยรัฐ)

ที่สำคัญ การปฏิเสธไม่ยอมรับรู้นับรวมการก่อการร้ายโดยรัฐเข้ามาในความเข้าใจเรื่อง "การก่อการร้าย" - จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม - ยังเป็นการมองข้ามละเลยเหตุปัจจัยหลักประการหนึ่งซึ่งถูกพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า เป็นตัวกระตุ้นให้การก่อร้ายต่อต้านรัฐกำเริบร้ายแรงขึ้น และลุกลามขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากความเจ็บแค้นของชาวบ้าน ญาติมิตรของกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่ถูกเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรัฐข่มเหงรังแกเอาอย่างไม่เป็นธรรมด้วยอารมณ์ "บ้ามาก็บ้าไป". ผลลัพธ์เป็นเช่นนี้ไม่ว่าจะที่ปาเลสไตน์, ศรีลังกา, ไอร์แลนด์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สมัย 6 ตุลาคม 2519, หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในยุครัฐบาลทักษิณก็ตาม
(เกษียร เตชะพีระ, บทความชุด "ปริทัศน์การก่อการร้าย" 4 ตอนใน มติชนรายวัน, มกราคม-กุมภาพันธ์, 2548)

องค์ประกอบข้อ 1 ของนิยามของทางราชการทหารนี้ จึงทำให้การณ์กลับกลายเป็นดังที่ อดีตเอกอัครรัฐทูตสหรัฐอเมริกาประจำแถบอเมริกากลางคนหนึ่งเคยกล่าวว่า:-

"If they do it, it"s terrorism; if we do it, it"s fighting for freedom," (ถ้าพวกมันทำละก็ถือเป็นการก่อการร้าย, ถ้าพวกเราทำละก็ถือเป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ)

(ข) ในทำนองกลับกัน การที่นิยาม "การก่อการร้าย" ของทางราชการทหารไม่ปรากฏเนื้อหาในองค์ประกอบข้อ 2 ของนิยามทางวิชาการ (มุ่งเป้า "ต่อพลเรือนหรือเป้าหมายพลเรือน") ก็มีนัยทางการเมืองที่เด่นชัด กล่าวคือ: มันเปิดขยายคำนิยาม "การก่อการร้าย" ของทางราชการทหารไปครอบคลุมการใช้ความรุนแรงหรือคุกคามว่า จะใช้ความรุนแรงที่มุ่งเป้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจผู้ถืออาวุธที่ไม่ใช่พลเรือนด้วย - ซึ่งในฐานะที่นี่เป็นคำนิยามของทางราชการทหาร ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

นั่นย่อมส่งผลต่อเนื่องให้คำนิยาม "การก่อการร้าย" ของทางราชการทหารครอบคลุมเหมาราบเอาสงครามจรยุทธ์ในชนบทและการลุกขึ้นสู้ในเมือง (rural guerrilla warfare & urban insurrection) ที่มุ่งเป้ารบพุ่งต่อต้านเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจผู้ถืออาวุธโดยตรง หากมิใช่พลเรือน ว่าก็พลอยถูกถือเป็น "การก่อการร้าย" ไปด้วย อาทิ สงครามประชาชนใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต (พ.ศ. 2508 - 2528) หรือการลุกขึ้นสู้ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นต้น

ราวกับว่ากรณีเหล่านี้ไม่แตกต่างจากกรณีเครือข่ายอัลเคด้าโจมตีอเมริกาเมื่อ 11 กันยายน ค.ศ.2001 และกรณีวางระเบิด-ยิงสังหารชาวบ้านรายวันของผู้ก่อความไม่สงบชายแดนภาคใต้นับแต่มกราคม พ.ศ.2547 เป็นต้นมาเอาเลย

ทั้งที่หากพิจารณาตรงลักษณะทางการเมืองของปฏิบัติการเหล่านี้แล้ว มันแตกต่างกัน กล่าวคือ

กรณีสงครามประชาชนของ พคท.และการลุกขึ้นสู้ 14 ตุลา นั้นมุ่งช่วงชิงประชาชนให้หันมาเห็นอกเห็นใจสนับสนุน จึงจำแนกแยกแยะพลเรือนออกจากเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ และโดยทั่วไปจะไม่โจมตีพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งหรือไม่เป็นศัตรู เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดผลสะเทือนด้านลบทางการเมืองต่อตนเอง

ทว่า กรณีการโจมตีของอัลเคด้าและการก่อความไม่สงบชายแดนภาคใต้นั้นมุ่งสร้างความกลัว และความรู้สึกไม่มั่นคงในสวัสดิภาพทางชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินให้เกิดขึ้นทั่วไปในสังคม ทำอย่างไรก็ได้ให้บ้านเมืองสับสน ปั่นป่วน วุ่นวาย จนปกครองไม่ได้โดยไม่คำนึงถึงผลสะเทือนด้านลบทางการเมืองต่อตนเอง จึงไม่จำแนกพลเรือนออกจากเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจในการโจมตี

ตราบเท่าที่ลักษณะทางการเมืองที่แตกต่างกันระหว่าง "การก่อการร้าย" กับสงครามจรยุทธ์ในชนบทและการลุกขึ้นสู้ในเมืองที่กล่าวมาข้างต้น มีนัยสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์และวางมาตรการทางการเมืองการทหารเพื่อรับมือมัน, การที่ทางราชการทหารนิยามเหมารวมพวกมันเข้าด้วยกันเป็น "การก่อการร้าย" เหมือนๆ กันหมดโดยไม่จำแนก ก็ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการวิเคราะห์เข้าใจและหาทางแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องเที่ยงตรงแม่นยำในแต่ละกรณีแต่อย่างใด

3. "ระบอบเลือกตั้งธิปไตยกำลังจะกลับมา"
"การเข้ามาปฏิรูปก็เพื่อนำประเทศกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่ผ่านมานั้นไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย เคยเข้าร่วมประชุม ครม.ก็ทราบทันทีว่า การจะอนุมัติโครงการสักโครงการหนึ่งไม่ใช่ ครม.ที่อนุมัติ แต่เป็นเผด็จการทุนนิยม"
พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และประธาน คมช. (ปาฐกถาแก่นักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ 1 ก.พ. 2550)

"ประเทศของเรามีภัยคุกคามทางระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก่อให้เกิดปัญหาและความเดือดร้อนให้กับประชาชน"
พลเอกบุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม (ตอนหนึ่งของคำปราศรัยในโอกาสวันทหารผ่านศึก 3 ก.พ.2550)

"ผมกำลังคิดถึงเรื่องทรัพยากรและทรัพย์สมบัติของชาติที่ถูกซื้อไป จำนวน 1.4 แสนล้านบาทผมอยากได้คืน ผมอยากได้ของๆ ผมคืนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาวเทียม ซึ่งเป็นสมบัติของชาติชิ้นหนึ่งที่ผมอยากได้คืน คงต้องว่าต่อไปในส่วนของอนาคตว่า จะนำสมบัติของเรากลับคืนมาได้หรือไม่ ผมไม่ต้องกู้แผ่นดิน แต่ผมจะกู้สมบัติของผมคืนมา"
พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน บรรยายพิเศษหัวข้อ "อุดมการณ์รักชาติ" (ในพิธีเปิดโครงการ "ปีแห่งการเสริมสร้างอุดมการณ์รักชาติ" ของกองทัพบก ณ สโมสรทหารบก 16 ก.พ. 2550)

ถ้าหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้ศึกษาค้นคว้าประวัติการเมืองไทย ช่วงที่รัฐบุรุษอาวุโสและอดีตนายกรัฐมนตรีปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยคณะรัฐประหารและฝ่ายนิยมเจ้าไปอยู่ต่างแดนบ้างแล้ว ก็คงจะเข้าใจว่ายุทธศาสตร์ "โลกล้อมประเทศไทย" นั้นแม้จะดูดีในทางสากล แต่อาจจะกลับส่งผลลบต่อตัวท่านเองในประเทศ เพราะมันกลายเป็นการหยิบยื่นธง [ชาตินิยม+ต่อต้านทุนนิยม] ใส่มือรัฐบาลและ คมช.ให้โบกสะบัดเรียกระดมชาวไทยมาร่วมกันต้านทาน "ภัยทุนนิยมต่างชาติ" ที่มีนายทุนหลายหมื่นล้านอย่างท่านเสมือนเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนอยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย

พร้อมกันนั้นการที่หัวหน้ามุ้งต่างๆ ในพรรคไทยรักไทยพากันแยกย้ายแตกรังออกมาตั้งกลุ่มก๊วนรอรับรัฐธรรมนูญใหม่และการเลือกตั้งที่จะตามมาอย่างขมีขมัน กระเหี้ยนกระหือรือ โดยไม่ปล่อยให้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ความยืนหยัดยึดมั่นแนวทางของพรรคและจงรักภักดีต่ออดีตผู้นำมาสร้างความตะขิดตะขวงเขินขวยใจ

อีกทั้งอดีตรองนายกฯ และรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ขันอาสาเสนอตัวให้รัฐบาลซึ่งเข้าแทนที่ตนด้วยการรัฐประหาร และประณามนโยบายเศรษฐกิจทักษิโณมิกส์ที่ตนมีส่วนร่วมสร้างอย่างสาดเสียเทเสียนั้นได้ "ใช้ผมให้เป็นประโยชน์" ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ด้วยท่วงทีลีลาวาดแขนผายมือประกอบการบรรยายเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเด็ดขาดจริงจังยอดเยี่ยมนั้น ย่อมสะท้อนว่า....

- นักเลือกตั้งยังคงประพฤติตัวเป็นนักเลือกตั้งวันยังค่ำ
- นักการตลาดก็ยังคงพร้อมให้ตลาดใช้ประโยชน์ตนเสมอต้นเสมอปลาย

และบัดนี้กลไกกระบวนการแห่งการเมืองในระบอบเลือกตั้งธิปไตย (Electocracy) ได้เริ่มขยับเคลื่อนตัวเข้าที่ตามปกติของมันแล้ว, อนิจจา...เผลอแผล็บเดียว กลุ่มและเครือข่ายต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายนทั้งหลายกำลังจะได้ "ระบอบประชาธิปไตย" ที่ตนสุ่มเสี่ยงเข้าต่อสู้ช่วงชิงกลับคืนมาโดยไม่ทันตั้งตัว. จะทำไงดีล่ะทีนี้...เฮ้อ?!?

ในอีกมุมหนึ่ง ทางด้านสภาร่างรัฐธรรมนูญ...
ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งคือข้อเสนอและผลักดันอย่างเด็ดเดี่ยวขันแข็งของ ส.ส.ร.คนสำคัญได้แก่ คุณจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธานอนุกรรมาธิการกลุ่มสถาบันการเมือง ให้ยกเลิก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ทิ้ง ด้วยเหตุผลที่ท่านให้ในโอกาสต่างๆ ว่า :-

ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ ไม่เหมาะสมกับสังคมไทย เพราะยังไม่เห็นว่าระบบนี้จะมีประโยชน์อะไรกับประชาชน. ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ได้ลงไปสัมผัสชาวบ้านอย่างจริงจัง จึงไม่รู้ปัญหาของชาวบ้าน แค่มีเงินหรือทุนก็เข้ามาเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรีได้ง่ายๆ "ที่สำคัญทำให้คนบางคนรู้สึกว่าบ้าอำนาจมากเกินไป คิดว่ามาจากประชาชน 19 ล้านเสียง จะทำอะไรก็ได้ไม่ผิด ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดอย่างสิ้นเชิง"
("จรัญ" ยันโละทิ้ง "ปาร์ตี้ลิสต์" กันบ้าอำนาจ-อ้างชาวบ้าน" มติชนรายวัน, 31 ม.ค.2550, น.1)

"ระบบบัญชีรายชื่อ ถูกนำเข้ามาใช้ในบ้านเราเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยหวังว่าจะเป็นช่องทางดึงเอาคนดีมีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน แต่ไม่เก่งในการหาเสียง ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ได้ทำงานกับประชาชนในพื้นที่ จะได้มีโอกาสมาทำงานทางการเมืองมากขึ้น แต่ว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา 8-9 ปี พบว่าคนที่เป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เข้ามาในช่องทางนี้น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นช่องทางของกลุ่มทุนมากกว่า

"เออ...ผลก็เลยทำให้โครงสร้างของพรรคการเมืองไม่เป็นโครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตย คือไม่ได้เป็นพรรคของมหาชน ไม่ได้เป็นช่องทางที่บริหารจัดการโดยประชาชนหรือมหาชน แต่กลายเป็นพรรคของกลุ่มทุน และเราก็ไม่ได้จำกัดทุนที่เข้ามาในพรรคว่าจะต้องมีมากน้อยเท่าไหร่ ดังนั้นก็ไม่มีอั้น

"ผลก็เลยเกิดการไหลทะลักของกลุ่มทุนเข้ามาในพรรคการเมืองผ่านทางบัญชีรายชื่อ มาเป็น ส.ส.โดยไม่ต้องทำงานกับประชาชน และเป็น ส.ส.ที่จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารประเทศมากกว่าจะเป็นผู้ที่ทำงานอย่าง ส.ส.ทั่วไป

"ด้วยหลักการนี้ เราก็มองเห็นว่า เมื่อความต้องการที่จะได้คนดีมีความรู้ความสามารถทางบัญชีรายชื่อไม่เป็นจริง มันพลิกผันไปอีกทางหนึ่ง มิหนำซ้ำยังก่อให้เกิดประเด็นของปัญหาที่ทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.ของระบบรัฐสภา ถูกแอบอ้างไปใช้เป็นฐานที่มาของนายกรัฐมนตรีในลักษณะที่จะเป็นประมุขของประเทศ ซึ่งไม่ใช่ระบบของรัฐสภา เห็นไหมครับว่าจะเป็นลักษณะไปเป็นเลือกตั้งโดยตรงซึ่งคือระบบประธานาธิบดี...

"ที่พูด ไม่ใช่พรรคเดียว พรรคใดก็ตาม ก็มักเกิดข้อเสียอย่างนี้ แล้วหากปล่อยให้มั่นคงเติบโตต่อไป พรรคไหนขึ้นมาเป็นรัฐบาลโดยระบบปาร์ตี้ลิสต์ เบอร์หนึ่งของพรรคนั้นขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะอ้างฐานเสียงประชาชนว่าเลือกเขาเข้ามาในจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งไม่จริงเพราะว่าประชาชนที่เลือกก็อาจเลือกพรรคก็ได้ เลือกนโยบายพรรค อาจจะเลือกเพราะเหตุผลร้อยแปด ไม่เหมือนการเลือกตั้งโดยตรงในระบบประธานาธิบดี

(ระบบนี้เหมือนระบบประธานาธิบดีแบบลับๆ)... "ที่แอบแฝงเข้ามา โดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เกิดผลในลักษณะที่ไม่พึงประสงค์และขัดแย้งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในระบบรัฐสภาอย่างรุนแรง"
(สรวิศ ชุมศรี และอริน เจียจันทร์พงษ์, สัมภาษณ์พิเศษ "ถอดรหัสใจ "จรัญ ภักดีธนากุล" ถอดความ "ประธานาธิบดีแบบลับๆ",
มติชนรายวัน, 5 ก.พ.2550, น.11)


และในที่สุด ข้อเสนอประเด็นนี้ของคุณจรัญก็ผ่านความเห็นชอบของอนุกรรมาธิการกลุ่มสถาบันการเมืองไปเรียบร้อย และน่าจะผ่านที่ประชุม ส.ส.ร. ไปบรรจุอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป. แนวโน้มดังกล่าวสอดรับกับคำร้องทักของ อังคารกุมภ์ ในคอลัมน์ "ที่เห็นและเป็นไป," ลงพิมพ์ใน มติชนรายวัน, 18 ก.พ.2550, น.3 ว่า :-

"รัฐบาลชุดหน้า" จะเป็นการรวมตัวกันของ "พรรคเล็กพรรคน้อย" ด้วยรัฐธรรมนูญที่เพิ่มอิสระและอำนาจให้ ส.ส. มากกว่าที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับ "พรรคการเมือง", ขณะเดียวกัน "บทบาทของภาคประชาชน" จะแข็งแกร่งขึ้น ด้วยการสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงด้วยกลไกการจัดการที่เหนียวแน่นและที่สำคัญ "อำนาจของกองทัพที่ปราศจากการแทรกแซงจากนักการเมือง" จะเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลต้องเตือนตัวเองทุกอย่างก้าวว่า ข้อสรุปที่ว่า "ประเทศนี้ไม่มีปฏิวัติแล้ว" ใช้ไม่ได้

เป็นอันว่า เพื่อตัดตอนอำนาจทุนใหญ่ ไม่ให้แผ่ขยายลุกลามมั่นคงลงตัวจนคุกคามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข,ส.ส.ร.ได้เลือกที่จะ :-

- ทำให้อำนาจการเมืองในระบบผู้แทน (representative government) อ่อนเปลี้ยลง

- ผ่านการโละกลไกระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน (proportional representation) อันเป็นช่องทางแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตย และเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนในระดับชาติ (popular sovereignty & the political will of the people at the national level) ได้ตรงและทรงพลังที่สุดทิ้งเสีย

- ทำให้ "การเมืองแบบใหม่" ของอดีตนายกฯ ทักษิณและพรรคไทยรักไทย ที่ขับเคลื่อนด้วยอาณัติแห่งชาติและการประชันขันแข่งเชิงนโยบาย (national mandate & policy contest) ในการเลือกตั้ง จึงช่วยให้มีพลวัตในการบุกกรุยลุยปัญหายืดเยื้อเรื้อรังหยั่งรากลุกลามต่างๆ (ทั้งด้วยวิธีการที่ถูกบ้างผิดบ้าง สุจริตบ้างต้องสงสัยบ้าง ฯลฯ) ต้องละลายสลายลง เพราะหมดสิ้นเงื่อนไขเชิงสถาบันในการดำรงอยู่สืบไป

- นั่นเท่ากับหันการเมืองระดับชาติให้หวนกลับไปถูกกำหนดโดยปัจจัยและอิทธิพลนักเลือกตั้งท้องถิ่นอีกครั้งหนึ่ง (relocalization of national politics)

- แน่นอน รวมทั้งถูกกำหนดโดยเหล่าปัจจัยและอิทธิพลแห่งความเป็นไทยอันเปี่ยมคุณธรรมที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในสังคมการเมืองไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายเอกบุรุษหรืออภิชนาธิปไตยก็ตาม

ท้ายที่สุด เรากำลังหวนคืนสู่การเมืองในระบอบเลือกตั้งธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข - ก่อนระบอบทักษิณ และกระทั่งก่อนทหารถอนทัพกลับค่ายเมื่อพฤษภาฯ 2535 ด้วยซ้ำไป!

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ผู้คนในสังคมแถบอเมริกาเหนือหรือยุโรปตะวันตกเราสัมพันธ์กับความรุนแรง แต่ในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเสมือนจริงไปเสียแล้ว ในขณะที่สงครามนอกแบบนั้นดำเนินไปแบบติดดิน มันหมายถึงการรบประชิดติดพันโดยอาศัยการเคลื่อนที่เร็วและการที่ศัตรูคาดคิดไม่ถึง อันเป็นหลักใหญ่ของสงครามจรยุทธ์ ฉะนั้น มันก็ไม่มีทางหลบเลี่ยงความรุนแรงไปได้ ขืนเลี่ยงก็เท่ากับปล่อยให้อีกฝ่ายยึดพื้นที่ไปครอง นี่คือสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน นี่คือสิ่งที่คณะเสนาธิการกองทัพอิสราเอลหลงเชื่อไปว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงได้ในภาคใต้ของเลบานอน

11-03-2550

Terrorism and
Thai Politics

The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com