โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 11 Febuary 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๕๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 11,02.2007)
R

ความรู้ความเข้าใจเชิงทฤษฎีรัฐศาสตร์
ความรุนแรง ณ ข้อต่อประวัติศาสตร์ เผด็จการ และประชาธิปไตย
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความ ๓ เรื่องต่อไปนี้เคยเผยแพร่แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน ประกอบด้วย
๑. การก่อการร้ายและความรุนแรง ณ ข้อต่อประวัติศาสตร์
๒. เผด็จการหน่อมแน้ม / เผด็จการครึ่งใบ
๓. เผด็จการทุนนิยม VS ประชาธิปไตยราชการ?
เป็นเรื่องเกี่ยวกับกรอบความรู้เชิงทฤษฎีรัฐศาสตร์ ในการทำความเข้าใจ
ปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยร่วมสมัย (รัฐประหาร ๑๙กันยา)
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๕๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๐.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

1. การก่อการร้ายและความรุนแรง ณ ข้อต่อประวัติศาสตร์
เหตุระเบิดนองเลือดในกรุงเทพฯ ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นสัญญาณบ่งบอกลักษณะเฉพาะของสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475, หลังรัฐประหาร พ.ศ.2490, และหลังการลุกฮือของนักศึกษาประชาชน พ.ศ.2516 กล่าวคือมันล้วนเป็นช่วงข้อต่อในประวัติศาสตร์ที่ชุกชุมไปด้วยเหตุก่อการร้ายทั้งโดยฝ่ายรัฐเองและกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน และความรุนแรงทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ

เราสามารถหวนนึกถึงเหตุการณ์การพยายามลอบสังหารหลวงพิบูลสงคราม โดยฝ่ายคณะเจ้าหลัง 2475, ฆาตกรรมทางการเมืองนับสิบๆ ราย โดยตำรวจอัศวินแหวนเพชรของ พล.ต.อ.เผ่า หลัง 2490, การลอบยิง ขว้างระเบิดและล้อมปราบฆ่าหมู่นักศึกษาประชาชนฝ่ายซ้าย โดยกลุ่มอันธพาลการเมืองและพลังฝ่ายขวาหลัง 2516 รวมถึงการกบฏและรัฐประหารซ้ำซ้อนยอกย้อนไปมาหลายตลบทั้งสามช่วงเวลา

ปรากฏการณ์ก่อการร้ายและความรุนแรงคล้ายๆ กันเหล่านี้ สะท้อนหัวเลี้ยวหัวต่อของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ซ่อนแฝงอยู่เบื้องหลัง อันมีองค์ประกอบหลักๆ ได้แก่

1) แบบแผนความสัมพันธ์ทางอำนาจกำลังพลิกเปลี่ยน หลังจากพลังใหม่ค่อยๆ สะสมบ่มเพาะเพิ่มพูนอำนาจอิทธิพลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองวัฒนธรรมในเชิงปริมาณมาเป็นเวลานาน ก็ถึงจุดปะทุขั้นคุณภาพ ระเบิดเป็นการเข้าช่วงชิงอำนาจรัฐจากพลังเก่าโดยตรง

2) ความขัดแย้งในลักษณะแย่งชิงอำนาจรัฐและอำนาจรัฐเปลี่ยนมือนี้ ดุเดือดรุนแรงเหลือวิสัยที่จะประคับประคองชักนำให้เป็นไปตามครรลองช่องทางในกรอบของโครงสร้างสถาบันการเมืองเดิมได้ จึงลุกลามออกไปเป็นการก่อการร้ายและความรุนแรงทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ

3) ผ่านเวลาช่วงยาวของการผลัดกันรุกผลัดกันรับ พลิกแพลงได้เปรียบเพลี่ยงพล้ำเสียเปรียบยุคยื้อรื้อปรับระบบโครงสร้างสถาบันการเมืองกลับไปกลับมา จนต่างฝ่ายต่างบาดเจ็บสูญเสียเลือดเนื้อชีวิตทรัพย์สินกันพอสมควรและตระหนักว่า

ก) ไม่อาจทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่งให้ราบคาบสิ้นซากลงไปได้

ข) อีกทั้งไม่มีเส้นทางก้าวหน้าสายตรงที่ฝ่ายพลังใหม่ผู้มาทีหลังจะต้องชนะเสมอไป และฝ่ายพลังเก่าผู้อยู่ก่อนจะต้องแพ้เสมอไป หากทว่าสถานการณ์สามารถพลิกย้อนกลับไปกลับมาได้เสมอแล้ว

4) จึงนำไปสู่การตกลงชั่วคราวเพื่อปรับปรุงจัดวางแบบแผนความสัมพันธ์ทางอำนาจ และแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์ใหม่ที่คู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ พอทนรับทนอยู่กับมันด้วยกันได้ จึงเป็นอันผ่านพ้นข้อต่อทางประวัติศาสตร์นั้นไป และเข้าสู่ระยะใหม่ของการแข่งขันช่วงชิงอย่างสันติในกรอบกติกาของโครงสร้างสถาบันทางการเมืองที่ตกลงสร้างขึ้น

สังคมการเมืองไทยเริ่มเข้าสู่ข้อต่อทางประวัติศาสตร์ล่าสุด (ระยะที่ 1) พร้อมกับการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลทักษิณ ณ ไทยรักไทยเมื่อปี พ.ศ.2544 และอาจกล่าวได้ว่าขณะนี้เพิ่งอยู่ในระยะที่ 2 (เมื่อย่างเข้าปี 2549) และคงใช้เวลาอีกนานพอควรกว่าจะหลุดพ้นข้อต่อนี้ออกไป

เรื่องน่าเศร้าใจที่สุดของข้อต่อทางประวัติศาสตร์เหล่านี้คือมันชุ่มโชกไปด้วยเลือด เดิมทีก็เป็นเลือดของกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองด้วยกันเอง ทว่านับแต่ปี พ.ศ.2501 เป็นต้นมาก็แผ่กว้างออกไปดื่มเลือดของสามัญชนชนชั้นต่างๆ มากขึ้น พร้อมกับที่ความขัดแย้ง เวทีและอำนาจอิทธิพลทางการเมืองขยายไปพัวพันถึงมือ "ประชาชน"

เราทั้งหลายผู้มีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะตกเป็นเหยื่อรายถัดไปของการก่อการร้าย ณ ข้อต่อทางประวัติศาสตร์นี้ จะทำอย่างไรดี? ผมคิดว่าเราควรเริ่มโดยทำความเข้าใจให้เที่ยงตรงเสียก่อนว่า ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของโลกและสังคมมนุษย์ และการเมืองย่อมขัดแย้งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์กันเป็นธรรมดา. คนไทยก็เป็นมนุษย์ปุถุชน จึงย่อมขัดแย้งแก่งแย่งอำนาจผลประโยชน์กันได้ และถ้าระวังไม่ดีจัดการไม่ถูก ก็อาจลุกลามไปสู่การก่อการร้ายและความรุนแรงที่คนไทยลุกขึ้นมาฆ่าฟันคนไทยด้วยกันได้ เหมือนดังที่เราเห็นๆ กันอยู่

การเรียกร้องให้คนไทยมา "สมานฉันท์" กันทื่อๆ ลูกเดียวจึงผิดธรรมชาติและเปล่าประโยชน์ มิใช่เพราะคนไทยที่เป็น "พระ" กับคนไทยที่เป็น "โจร" มิอาจ "สมานฉันท์" กันได้ด้วยสันดานต่างกัน หากแต่เพราะไม่ว่าจะในหมู่พระร่วมวัดเดียวกันหรือในหมู่โจรร่วมแก๊งเดียวกัน ก็ย่อมขัดแย้งแก่งแย่งกันได้สารพัดเสมอเป็นธรรมดาในฐานที่เป็นมนุษย์ปุถุชนด้วยกัน

แทนที่จะมุ่งแต่ "สมานฉันท์" อย่างเดียวเราคนไทยจึงควรเรียนรู้และฝึกหัดที่จะ "ทะเลาะกันอย่างสันติ" จะดีกว่า

สังคมการเมืองไทยเรายังมีเรื่องที่จะต้องทะเลาะกันอีกมาก เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนแบบแผนความสัมพันธ์ทางอำนาจในช่วงข้อต่อทางประวัติศาสตร์นี้ ปมเงื่อนคือทำอย่างไรเราจะทะเลาะกันได้โดยไม่ต้องฆ่ากัน ไม่ต้องวางระเบิดใส่กัน ไม่ต้องขนทหารขับรถถังออกมาปฏิวัติซ้ำปฏิวัติซ้อนย้อนไปย้อนมาเหมือนที่เคยทำกันในอดีต

เพื่อเห็นแก่ชีวิตผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะเด็กเล็กลูกหลานของเราจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรงและการก่อการร้าย เพื่อเห็นแก่ระบบเศรษฐกิจการค้าที่เปราะบางอ่อนไหวยิ่งต่อความผันผวนรุนแรงทางการเมือง ประชาชนผู้มีสติควรลุกขึ้นมาร่วมกันประกาศปฏิเสธการก่อการร้าย ปฏิเสธความรุนแรงทางการเมืองทุกรูปแบบ ประณามคัดค้านพลังการเมืองทุกฝ่ายที่เลือกใช้มันมาแก้ไขความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจผลประโยชน์

อย่าสยบยอมอยู่ใต้การปกครองของใครก็ตามที่ช่วงชิงอำนาจไปโดยเอาเลือดเนื้อชีวิตของเรา และญาติมิตรลูกหลานของเราเป็นเครื่องเซ่นสังเวย - ไม่ว่าในนามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออุดมการณ์ใด ปักใจอารยะขัดขืนต่อพลังก่อการร้ายและพลังความรุนแรงเหล่านั้นอย่างสันติวิธีจนถึงที่สุด

ไม่มีหลักการนามธรรมใดในโลกที่มีค่าควรแก่การเอาชีวิตผู้อื่นมาสังเวย!

2. เผด็จการหน่อมแน้ม / เผด็จการครึ่งใบ
1) ด้านอำนาจรัฐ
รายงานข่าวจากที่ประชุม คมช.แจ้งว่าเหตุผลที่ คมช.คิดขันน็อตและจัดระเบียบข้าราชการใหม่ เนื่องจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ คมช.ว่าไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย และมีความล่าช้าต่อเหตุผลในการใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิรูปการปกครองทั้ง 4 ข้อ โดย พล.อ.สนธิ (บุญยรัตกลิน) หยิบยกขึ้นมาพูดในที่ประชุมว่า "มีคนหาว่าผมหน่อมแน้ม ต่อไปนี้เราคงต้องใช้ยาแรงขึ้น"
("สนธิฉุนหาหน่อมแน้มฯ",มติชนรายวัน,10 ม.ค.2550)

คำครหาหัวหน้า คปค.-ประธาน คมช.ว่า "หน่อมแน้ม" ด้านหลักแล้วมิได้ส่อสะท้อนบุคลิกภาพอุปนิสัยหรือความมักชอบส่วนตัวของท่านเท่ากับความจริงที่ว่าประสบการณ์ "ประชาธิปไตย" ต่อเนื่องกัน 14 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนสังคมการเมืองไทยไปพอควร ความเปลี่ยนแปลงนั้นมากพอที่ทางเดียวที่ทหารจะทำรัฐประหารสำเร็จก็แต่โดยได้ความร่วมมือจากประชาสังคม - อย่างน้อยก็บางส่วนที่สำคัญ และดังนั้นเผด็จการเดียวที่เป็นไปได้ในปัจจุบัน จึงเป็นเผด็จการหน่อมแน้มหรือเผด็จการครึ่งใบ (softie of semi-dictatorship) เท่านั้น

สื่อมวลชนภาคเอกชนโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์, ขบวนการเอ็นจีโอ, นักวิชาการ, เทคโนแครต, กลุ่มทุนธนาคาร, เครือข่ายข้าราชการผู้จงรักภักดี ฯลฯ เหล่านี้คือกลุ่มผลประโยชน์ของคนชั้นกลางและชนชั้นนำอันหลากหลายที่เผด็จการทหารต้องช่วงชิงสามัคคีและขอความร่วมมือ พวกเขาเปรียบประดุจภูมิประเทศหลืบซอกสลับซับซ้อนหลากหลายของประชาสังคมที่หยั่งลึกแผ่กว้างออกมาในรอบ 14 ปี มิได้ราบคาบเป็นหน้ากองดังเก่าก่อน ซึ่งเผด็จการทหารจำต้องต่อรองปรับรับปรองดอง

ตัวแทนภาคประชาสังคมเหล่านี้แหละที่เข้าไปร่วมส่วนองค์การอำนาจต่างๆ ในโครงสร้างการเมืองการปกครองใหม่ ตามประกาศคำสั่งทั้งหลายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ไม่ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, สมัชชาแห่งชาติ, สภาร่างรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ, และคณะกรรมการที่ปรึกษาชุดต่างๆ

(หุ้นส่วนอำนาจระหว่างทหาร+ประชาสังคม) ดังกล่าวเป็นฐานรองรับรัฐบาลของนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่แท้จริง ภายใต้ร่มเงาความชอบธรรมคุ้มเกล้าปกกระหม่อมของสถาบันอำนาจนำตามประเพณี

อาการใช้อำนาจอาญาสิทธิ์แบบชักเข้าชักออกประเภท

ไม้แข็งวันนี้ ("ให้ไปดูประกาศ คปค.ฉบับที่ 10 และมาตรา 10 ของกฎอัยการศึกและอำนาจของ คมช." พลเอกวินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คมช., 10 ม.ค. 2550)

ไม้อ่อนวันพรุ่ง ("คำว่าขอความร่วมมือ นิยามศัพท์ตัวนี้ไม่ต้องแปล ถ้าให้ความร่วมมือก็โอเค ถ้าไม่ให้ความร่วมมือเราก็ไม่ได้รับอะไรจากพวกท่านเท่านั้นเอง อยู่ที่ความสมัครใจของผู้ให้มากกว่า" พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช., 11 ม.ค. 2550)

ก็สะท้อนหุ้นส่วนอำนาจอันเป็นเงื่อนไขความเป็นจริงใหม่ของระบอบเผด็จการนี้

2) ด้านกลไกรัฐ
"และผมอยากฝากทุกกระทรวง อย่าใส่เกียร์ว่าง และคิดว่าเหตุการณ์ระเบิดในปีมหามงคลคงไม่เกิดขึ้น อยากจะบอกว่าเลวบัดซบ ผมอยากบอกว่าข้าราชการทุกกระทรวงใส่เกียร์ว่างอยู่ ไม่ให้ความร่วมมือ"
(พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วย ผบ.ทบ.และผู้ช่วยเลขาธิการ คมช. - มติชนรายวัน 5 ม.ค. 2550)

ปรากฏการณ์ "ข้าราชการทุกกระทรวงใสเกียร์ว่าง" ทั้งที่อยู่ภายใต้เผด็จการทหาร สะท้อนว่าระบบราชการไทยปัจจุบันน่าจะต่างจากระบบราชการสมัยระบอบ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ภายใต้รัฐบาลนายกฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 20 ปีก่อนตามสมควร แม้องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์ จะพรั่งพร้อมไปด้วยข้าราชการ-เทคโนแครตซื่อสัตย์จงรัก และเครือข่ายลูกป๋าละม้ายคล้ายรัฐบาลนายกฯ เปรมแต่ก่อนก็ตาม ทว่ากลไกเครื่องไม้เครื่องมือแห่งอำนาจที่คณะอำมาตยาธิปไตยฟื้นคืนชีพกลับมาหยิบใช้ในคราวนี้ ก็ทำท่าจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังประสบกับการบริหารแบบ CEO หรือสมบูรณาญาสิทธิทุนจากการเลือกตั้ง (elected capitalist absolutism) ของรัฐบาลทักษิณรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่คงต้องรอการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดลึกซึ้งต่อไป ผมใคร่ขยายความข้อสังเกตเบื้องต้นของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ต่อไปว่า ระบบราชการปัจจุบันมีอิสระโดยสัมพันธ์ (relative autonomy) แบบคิดเอง ทำเอง ต่างหากจากอำนาจเศรษฐกิจสังคมนอกภาครัฐน้อยลง, มันเชื่องต่ออำนาจทุนและขึ้นต่ออำนาจผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งมากขึ้น ความเป็นปึกแผ่นภายในองค์กร ความมั่นคงก้าวหน้าในตำแหน่งการงานและความตั้งมั่นในวิชาชีพของข้าราชการ ถูกสั่นคลอนตัดตอนด้วยอำนาจการเมืองและคำสั่งนโยบายรวมศูนย์ - ปรับยุบหน่วยราชการของฝ่ายบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ถ้าหากระบอบเลือกตั้งธิปไตย (electocracy) ได้บ่อนทำลายระบบบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคของเทคโนแครตไทย จนล้มละลายลงคราววิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 ตามข้อวิเคราะห์ของอาจารย์อันมาร สยามวาลา-ผาสุก พงษ์ไพจิตร - คริส เบเกอร์ ก็อาจพูดได้ว่าระบอบทักษิณได้กร่อนกำราบระบบราชการพลเรือน-ตำรวจส่วนใหญ่ จนสยบยอมแก่อำนาจนอกภาคราชการ (extra-bureaucratic forces) ของกลุ่มทุนใหญ่ - พรรคการเมืองไปแล้ว

เหลือแต่กองทัพ ตุลาการ และคณะองคมนตรีที่ยังเหลือเป็นกระดูกสันหลังของพลังข้าราชการอำมาตยาธิปไตยเท่านั้น - ดังข้อสังเกตของอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ในภาษาวิชาการเมืองเปรียบเทียบ (comparative politics) นี่เป็นปัญหาดุลยภาพของระบบรัฐ ระหว่าง (ความเป็นปึกแผ่นภายในสถาบันรัฐ internal coherence) กับ (การที่รัฐเข้าไปหยั่งฐานในสังคม embeddedness)

ความเป็นปึกแผ่นภายใน เป็นตัวกำหนดสมรรถนะของสถาบันรัฐที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนและจัดหาสิ่งมีค่าสาธารณะมาให้สังคมอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการรักษากฎหมายบ้านเมือง ป้องกันประเทศ รักษาวินัยการเงินการคลัง ให้สวัสดิการสังคม มิฉะนั้นผู้คนจะวุ่นวายขัดแย้งกันจนไปหาทางออกอย่างอื่น

ส่วน การหยั่งฐานในสังคม หมายถึงสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกลไกรัฐกับกลุ่มพลังนอกรัฐ ทั้งแบบที่เป็นสถาบันและแบบไม่เป็นทางการ เพื่อก่อเกิดความร่วมมือที่จำเป็นไปบรรลุหน้าที่ของรัฐ. ปัญหาคือ การหยั่งฐานดังกล่าวอาจกลับกลายเป็น ระบบพวกพ้องเส้นสาย (cronyism) เพราะชนชั้นนำมั่งมีเรืองอำนาจกลุ่มน้อยมือยาวกว่าเพื่อน จึงเอื้อมถึงและฉวยใช้รับได้อย่างผูกขาด

ฉะนั้นระบบรัฐต้องรักษาสมดุลของ ความเป็นปึกแผ่นภายใน กับ การหยั่งฐานในสังคม ให้ดี

ถ้าความเป็นปึกแผ่นภายใน ล่วงล้ำ การหยั่งฐานในสังคม ประชาธิปไตยอาจเสื่อมลงเป็นระบอบอำนาจนิยม บีบคั้นคุกคามเสรีภาพบุคคล ดังที่สังคมไทยเคยตกอยู่ใต้อำนาจราชการในอดีต. แต่ถ้า การหยั่งฐานในสังคม ก้ำเกิน ความเป็นปึกแผ่นภายใน อาจเกิดพันธมิตรรัฐ - กลุ่มทุนพวกพ้องเส้นสาย แสวงหาค่าเช่าเศรษฐกิจกันจนรัฐบกพร่องในการบริการสิ่งมีค่าสาธารณะให้สังคม ดังที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทักษิณ

อาจประเมินตามแนวการวิเคราะห์ข้างต้นได้ว่าในสมัยระบอบทักษิณ ระบบราชการไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบพรรค - รัฐแบบเม็กซิโก - ไปเป็นแบบปารากวัย กล่าวคือ

จาก (ระบบพรรคที่ชนชั้นนำครอบงำ + รัฐที่แทรกแซงสังคม) ของเม็กซิโก ซึ่ง

- เป็นระบอบประชาธิปไตยที่จำกัด
- ประกอบด้วยองค์การพรรคที่รวมศูนย์สูง ทว่าถ่วงดุลด้วยระบบราชการที่มีเอกลักษณ์แห่งองค์กรแข็งแรง
- อุดมการณ์และวิสัยทัศน์ของผู้นำพรรคชี้นำกิจกรรมของรัฐให้เข้าแทรกแซงสังคม แต่ความเป็นปึกแผ่นภายในของระบบราชการช่วยเป็นเกราะกำบังรัฐไว้ ไม่ให้ถูกผู้นำพรรคยึดกุมไปเสียหมด

ไปเป็น (ระบบพรรคที่ชนชั้นนำครอบงำ + รัฐที่ถูกแทรกแซง) ของปารากวัย ซึ่ง

- กลายเป็นระบอบคณาธิปไตย
- ชนชั้นนำกลุ่มน้อยครอบงำการเมืองผ่านการคุมพรรคเหนียวแน่นและเข้ายึดครอบรัฐ
- ไม่แยกพรรคกับรัฐออกจากกันชัดเจน สถาบันรัฐตั้งหน้าเชิดชูรับใช้ตัวบุคคลนักการเมืองในพรรค แทนที่จะมุ่งบรรลุเป้าหมายกว้างๆ ของส่วนรวม

ทว่าแนวโน้มดังกล่าวถูกตัดตอนโดยรัฐประหาร 19 กันยายนเสียก่อน

แม้พลังอำมาตยาธิปไตย + ประชาสังคมบางส่วน จะร่วมกันยึดอำนาจรัฐและหยุดระบอบทักษิณได้ แต่ก็ต้องเผชิญกับระบอบราชการอันเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจที่เปลี่ยนไปใส่เกียร์ว่าง เพราะเสื่อมถอยทั้งความเป็นอิสระ ความเป็นปึกแผ่นภายในองค์กร ความมั่นคงในตำแหน่งและมั่นใจในวิชาชีพของตน

บรรดาข้าราชการไม่มั่นใจว่าหุ้นส่วนอำนาจใหม่และพลังอำมาตยาธิปไตยจะคงทนยั่งยืนแค่ไหนหลังรัฐบาลสุรยุทธ์ซึ่งมีอายุแค่หนึ่งปี, ท่ามกลางเสียงกระซิบเข้าหูหลอนใจจนมือไม้สั่นเข้าเกียร์ไม่ติดว่า

"อีก 6 เดือน นายกูก็กลับมา..."

3. เผด็จการทุนนิยม VS ประชาธิปไตยราชการ?
ประธาน คมช.ยังได้เปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า สาเหตุที่แท้จริงในการยึดอำนาจครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงจาก "ระบอบเผด็จการทุนนิยม" ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง ส่วนเรื่องเหตุผลหลัก 4 ข้อที่ระบุก่อนหน้านี้ยังถือเป็นเรื่องรองลงไป
(พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และประธาน คมช. ให้สัมภาษณ์รายการ "สภาท่าพระอาทิตย์" ทางเอเอสทีวี, 18 ม.ค. 2550) www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp?NewsID=9500000006469

คุณศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ได้บ่นไว้ในเวทีสัมมนา "สังคมการเมืองไทย 4 เดือนหลังรัฐประหาร" จัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 มกราคมศกนี้ว่า เดี๋ยวนี้หาหนังสือเกี่ยวกับทหารกับการเมืองไทยได้น้อย เพราะไม่มีใครคิดว่าทหารจะยุ่งกับการเมืองอีกต่อไปแล้ว

เล่มใหม่ล่าสุดที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หาได้ เป็นงานวิจัยปี พ.ศ.2523 หรือเมื่อ 27 ปีก่อน. ส่วนคุณศุภลักษณ์เองเจอใหม่กว่านั้นคือเอกสารโรเนียวเรื่องทหารไทยของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยปี พ.ศ.2529 หรือเมื่อ 21 ปีก่อน ("ศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี : วิเคราะห์ระบอบสนธิ", ประชาไทออนไลน์, 20 ม.ค. 2550, www.prachathai.com

ด้วยความกระดากใจ ผมใคร่เรียนว่า ความจริงยังพอจะมีงานวิชาการเกี่ยวกับทหารกับการเมืองไทยที่ใหม่กว่านั้นอยู่บ้างคือบทความปริทรรศน์เรื่อง "ฤๅทหารจะถอนทัพกลับค่าย? : ทฤษฎีลัทธิแก้ว่าด้วยทหารกับการเมือง ของมานีรุสซามัน, ลิยู, นายผี และเบโธเฟ่น" ลงพิมพ์ในวารสาร รัฐศาสตร์สารของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนกันยายน-ธันวาคม พ.ศ.2533 หน้า 40-71, ทว่าวารสารฉบับนี้ออกล่าช้ากว่าจะพิมพ์เสร็จจริงก็ในปี พ.ศ.2534

เผอิญบทความชิ้นนี้ผมเป็นคนเขียนครับ เขียนส่งมาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ที่ตอนนั้นผมกำลังเรียนต่ออยู่ เขียนเสร็จเมื่อวันสตรีสากล 8 มีนาคม พ.ศ.2534 พอดี และเขียนขึ้นในฐานที่เป็นปฏิกิริยาต่อรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 ของคณะ รสช.

จะว่ากันไปก่อนหน้านั้น 4 ปี ผมก็ยังเคยเขียนบทความวิชาการอีกชิ้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับปัญหาทหารกับการเมือง ในมุมมองภาพกว้างทางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศกำลังพัฒนาชื่อ "ประชาธิปไตยในโลกที่สาม : บทวิเคราะห์ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์กซิสต์" ลงพิมพ์ในวารสารรัฐศาสตร์สารฉบับพิเศษ : ปรัชญาและความคิด ฉบับรวมเล่มปีที่ 12 และ 13 (พ.ศ.2529-2530) หน้า 333-350

คำบ่นของคุณศุภลักษณ์ทำให้ผมนึกถึงงานเก่าๆ ของตัวเอง 2 ชิ้นนั้นขึ้นได้ ก็เลยค้นหิ้งหนังสือเก่ามาเปิดอ่าน อ่านแล้วก็รู้สึกว่าข้อวิเคราะห์มุมมองบางแง่บางอย่างของมันก็ยังไม่ถึงกับล้าสมัยเสียทีเดียว ในการจะใช้มาช่วยทำความเข้าใจรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ของ คปค.

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ผมขอแบไต๋เลยว่าแรงบันดาลใจทางแนวคิดทฤษฎีที่ทำให้ผมเรียบเรียงบทความ "ประชาธิปไตยในโลกที่สาม" ขึ้นนั้นมาจากบทความชื่อ "State Power and Class Interests" หรือ "อำนาจรัฐกับผลประโยชน์ทางชนชั้น" ตีพิมพ์ในวารสาร New Left Review, I/138 (March/April 1983), 57-68, เขียนโดยศาสตราจารย์ Ralph Miliband (ค.ศ.1924-1994) นักรัฐศาสตร์สังคมนิยมเชื้อสายยิวอพยพ ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นปัญญาชนฝ่ายซ้ายผู้เปี่ยมบารมี และทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของอังกฤษสมัยนั้น

ในบทความดังกล่าว Miliband ได้พยายามสังเคราะห์แนวทางวิเคราะห์การเมืองแบบมาร์กซิสต์ที่เน้น ชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้น เข้ากับแนวคิดทฤษฎีรัฐศาสตร์ชั้นหลังที่เน้น ความเป็นอิสระความเป็นตัวของตัวเองของรัฐและผู้กุมอำนาจรัฐในแง่ผลประโยชน์ส่วนตัวและอุดมการณ์ชาตินิยม เพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างการเมืองในประเทศทุนนิยมก้าวหน้าว่า

มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์แบบ หุ้นส่วนอำนาจระหว่างชนชั้นนายทุนกับรัฐ ในฐานะพลังสองพลังที่แตกต่างและแยกต่างหากจากกัน นั่นหมายความว่า ด้านหนึ่ง รัฐ ในสังคมทุนนิยมก็มิใช่เครื่องมือเซื่องๆ ว่า นอนสอนง่ายที่ไร้ชีวิตจิตวิญญาณของตัวเองในกำมือชนชั้นนายทุนล้วนๆ. แต่อีกด้านหนึ่งก็ใช่ว่ารัฐในสังคมทุนนิยมจะเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองถึงขนาดกลายเป็นรัฐเพื่อตัวมันเองล้วนๆ และต่อต้านทุกชนชั้นและคนทุกกลุ่มในสังคมก็หามิได้

ณ ย่อหน้าที่กล่าวได้ว่าเป็นข้อเสนอใจกลางของบทความ, Miliband ได้ตั้งสมมติฐาน 3 ประการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการเมืองอันยอกย้อนพลิกผันระหว่างหุ้นส่วนอำนาจของทุนกับรัฐในสังคมทุนนิยมไว้ดังนี้ (หน้า 61) คือ

(A) ส่วนใหญ่แล้ว ระดับความเป็นอิสระที่รัฐมีอยู่ในความสัมพันธ์กับพลังสังคมฝ่ายต่างๆ ในสังคมทุนนิยมนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับขอบเขตที่การต่อสู้ทางชนชั้น และแรงกดดันจากมวลชนชั้นล่างลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจนำของชนชั้นครอบงำในสังคมนั้นๆ เหนืออื่นใด

(B) ในกรณีที่ชนชั้นครอบงำกุมอำนาจนำในทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมืองและวัฒนธรรมได้อย่างแท้จริง และฉะนั้นจึงปลอดพ้นจากการท้าทายที่สำคัญและได้ผลใดๆ จากมวลชนชั้นล่าง ก็ย่อมมีโอกาสมากที่ตัวรัฐเองจะตกอยู่ใต้อำนาจนำของชนชั้นครอบงำด้วย และรัฐก็จะถูกเหนี่ยวรั้งจำกัดอย่างหนักด้วยอำนาจทางชนชั้นรูปแบบต่างๆ ที่ชนชั้นครอบงำยึดกุมอยู่

(C) ในทางกลับกัน ในกรณีที่อำนาจนำของชนชั้นครอบงำถูกท้าทายอย่างเหนียวแน่นหนักหน่วง รัฐก็น่าจะมีอิสระพอควรถึงขั้นที่หากการต่อสู้ทางชนชั้นเข้มข้นและการเมืองไร้เสถียรภาพ รัฐก็อาจสวมรูปแบบอำนาจนิยมเหมือนอย่างสมัยจักรพรรดิหลุยส์-นโปเลียน โบนาปาร์ต (ดูด้านล่าง) และปลดปล่อยตัวมันเองจากกลไกตรวจสอบควบคุมตามรัฐธรรมนูญที่คอยจำกัดเหนี่ยวรั้งอยู่

(หมายถึง Louis-Napoleon Bonaparte ค.ศ.1808-1873 หลานของจักรพรรดิ นโปเลียน โบนาปาร์ต, ผู้ชนะเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1848 แล้วต่อมาก่อรัฐประหาร ยุบสภานิติบัญญัติ ประกาศรัฐธรรมนูญใหม่และสถาปนาระบอบเผด็จการขึ้นในปี ค.ศ.1851 ก่อนจะชนะการลงประชามติขึ้นเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่สามในปี ค.ศ.1852)

อย่างไรไม่ทราบ ผมอ่านทบทวนสมมติฐานข้อ (B) ข้างต้นแล้ว ก็หวนคิดถึงระบอบทักษิณ, ส่วนสมมติฐานข้อ (C) ก็ชวนให้นึกถึงการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลทักษิณอย่างดุเดือดยืดเยื้อของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนเกิดรัฐประหาร 19 กันยาฯ ของ คปค. ตามมาในที่สุด

ด้วยแรงบันดาลใจและแนวคิดจากบทความของ Miliband, ผมได้เรียบเรียงสมมติฐานขึ้นชุดหนึ่งเกี่ยวกับกฎเกณฑ์แนวโน้มความเป็นไปของประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนาไว้ตอนท้ายบทความ "ประชาธิปไตยในโลกที่สาม" เมื่อ 20 ปีก่อน โดยดูจากความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนยอกย้อนไปมาของความเป็นอิสระของรัฐ, อำนาจนำของชนชั้นนายทุน, และการต่อสู้ของประชาชน

ขออนุญาตคัดสรรปรับปรุงมาทดลองเสนอใหม่อีกครั้ง ในสถานการณ์ปัจจุบันดังนี้

(ก) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชนชั้นนายทุนในประเทศทุนนิยมโลกที่สาม เป็นแบบหุ้นส่วนระหว่างพลัง 2 ฝ่ายที่ต่างทำหน้าที่ตอบสนองรับใช้กัน พลัง 2 ฝ่ายนี้ไม่เพียงแต่แตกต่างกันและแยกเป็นเอกเทศจากกันเท่านั้น หากยังเข้มแข็งไม่เท่ากันด้วย กล่าวโดยทั่วไป รัฐมักจะเข้มแข็งกว่าชนชั้นนายทุนในประเทศ แต่ทว่าดุลกำลังที่ว่านี้อาจผันแปรไปได้ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมโยงกลุ่มทุนในประเทศเข้ากับพลังเศรษฐกิจทุนนิยมโลกและบรรษัทข้ามชาติ

(ข) ความเป็นอิสระของรัฐกับอำนาจนำของชนชั้นนายทุน แปรผกผันกันโดยผ่านการต่อสู้ของประชาชนที่จำแนกเป้าและจำกัดตัวเองเป็นสื่อประสาน กล่าวคือ

(ค) การต่อสู้ของประชาชนที่ถือรัฐเป็นเป้า จะแปรผกผันกับความเป็นอิสระของรัฐ ทว่าแปรตามอำนาจนำของชนชั้นนายทุน

(ง) ในขณะที่การต่อสู้ของประชาชนที่ถือนายทุนเป็นเป้า จะแปรผกผันกับอำนาจนำของชนชั้นนายทุน แต่แปรตามความเป็นอิสระของรัฐ

(จ) ขบวนการต่อสู้ของประชาชนจะข้ามพ้นทางแพร่งในประวัติศาสตร์ระหว่าง "เผด็จการทุนนิยม" กับ "ประชาธิปไตยราชการ" ได้หรือไม่ อย่างไร ย่อมขึ้นกับการนำทางแนวคิดทฤษฎีและแนวทางการเมืองของขบวนการ

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

การเรียกร้องให้คนไทยมา "สมานฉันท์" กันทื่อๆ ลูกเดียวจึงผิดธรรมชาติและเปล่าประโยชน์ มิใช่เพราะคนไทยที่เป็น "พระ" กับคนไทยที่เป็น "โจร" มิอาจ "สมานฉันท์" กันได้ด้วยสันดานต่างกัน หากแต่เพราะไม่ว่าจะในหมู่พระร่วมวัดเดียวกันหรือในหมู่โจรร่วมแก๊งเดียวกัน ก็ย่อมขัดแย้งแก่งแย่งกันได้สารพัดเสมอเป็นธรรมดาในฐานที่เป็นมนุษย์ปุถุชนด้วยกัน. แทนที่จะมุ่งแต่ "สมานฉันท์" อย่างเดียวเราคนไทยจึงควรเรียนรู้และฝึกหัดที่จะ "ทะเลาะกันอย่างสันติ" จะดีกว่า (คัดมาจากเรื่อง -การก่อการร้ายและความรุนแรง ณ ข้อต่อประวัติศาสตร์-) 11-02-50

11-02-2550

Political Science
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com