โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 30 January 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๔๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 30,01.2007)
R

Reforming Thailand
The Midnight University

การปะทะของโลกาภิวัตน์ 2 ทิศทางในประเทศกำลังพัฒน
Globalization from below:
โลกาภิวัตน์จากข้างล่าง กรณีอินเดียและไทย ภาค ๑

ดร. โดม ไกรปกรณ์
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
จากเดิมชื่อ: การปะทะของโลกาภิวัตน์ ๒ ทิศทางในประเทศกำลังพัฒนา:
เปรียบเทียบกรณีขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียและไทย
เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของแนวคิดโลกาภิวัตน์ ซึ่งได้ขยายตัวจากเดิมสู่ภาคประชาชนในยุคสังคมข้อมูล
ทำให้เกิดการก่อตัวของขบวนการสิ่งแวดล้อม ที่ลุกขึ้นมาสวนกระแสกับอำนาจนำในการจัดการทรัพยากร
โดยศึกษากรณีขบวนการชิปโก้ และขบวนการนรมทา บาจาโอ อานโทลัน
ในอินเดีย
รวมถึงการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจน ในไทย
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๔๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การปะทะของโลกาภิวัตน์ ๒ ทิศทางในประเทศกำลังพัฒนา:
เปรียบเทียบกรณีขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียและไทย
(ภาค ๑)
โดม ไกรปกรณ์

ว่าด้วยโลกาภิวัตน์ (Globalization)
ในเวทีสัมมนาเรื่อง "โครงการเปลี่ยนประเทศไทย" ที่จัดโดยวารสารฟ้าเดียวกันเมื่อเดือนมิถุนายน ศกนี้ (พ.ศ.2549) (A)ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์แห่ง Wisconsin-Madison University ได้อภิปรายใน panel หนึ่งของการสัมมนาไว้ว่า

"เวลาเราพูดถึงโลกาภิวัตน์ (Globalization) ในเมืองไทย เรากำลังหมายถึง global capitalism บางครั้งผมสารภาพว่าผมงง เพราะ Globalization มันไม่เหมือน global capitalism เอามาแทนกันผมงงหมดเลย เพราะหัวผมคิดทันทีถึงโลกาภิวัตน์ที่ไม่ใช่แค่ global capitalism...ถ้าพูดถึงโลกาภิวัตน์มันมีแง่อื่นอีก" (1)

"ผมยกตัวอย่างอันหนึ่งที่ globalized มาก social movement ไงครับ social movement ที่อาจารย์(ผาสุก พงษ์ไพจิตร-ผู้อ้าง) เขียนนั่นแหละเป็นตัวอย่างของ globalization มากเลย" (2)

ข้ออภิปรายเกี่ยวกับมิติความหลากหลายของโลกาภิวัตน์ที่ไม่จำกัดเฉพาะความหมายในแง่ของทุนนิยมโลก เป็นปรากฏการณ์ลักษณะเดียวกับที่พบว่าการนิยามโลกาภิวัตน์ของนักวิชาการมีลักษณะเหมือนคนตาบอดคลำช้าง ที่มองไม่เห็นว่าช้างมีรูปร่างอย่างไรและบอกรูปร่างของช้างจากจุดที่ตนเองคลำสัมผัส เช่น คนที่คลำที่งวงก็บอกว่าช้างเหมือนงู คนที่คลำที่ขาช้างก็บอกว่าเหมือนเสาต้นใหญ่ คนที่คลำที่งาก็บอกว่าเหมือนหอก ฯลฯ กล่าวคือนักวิชาการส่วนหนึ่งจะอธิบายว่ากระบวนการทางเศรษฐกิจเป็นแกนกลางของโลกาภิวัตน์ บางส่วนจะมองว่ากระบวนการทางสิ่งแวดล้อมเป็นสาระของโลกาภิวัตน์ หรืออธิบายโลกาภิวัตน์จากมิติทางการเมือง มิติทางวัฒนธรรมทางอุดมการณ์ ต่างๆกันไป (3)

ในบทความนี้จะกล่าวถึงโลกาภิวัตน์ในนัยของ แอนโธนี กิดเดนส์ (Anthony Giddens) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันที่ว่า โลกาภิวัตน์หมายถึง ปฏิสัมพันธ์ของระบบความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและเทคโนโลยีของสังคมมนุษย์ที่เชื่อมโยงถึงกัน โดยมีพัฒนาการของระบบการสื่อสารเป็นตัวเร่งหรือตัวเชื่อม (4) และทำให้แนวคิดเรื่องเวลาและสถานที่ในชีวิตของมนุษย์ได้ถูกแปรรูปไปจากเดิม โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นห่างไกลออกไปไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จะมีผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรงและรวดเร็ว รวมทั้งการที่พรมแดนรัฐชาติซึ่งเป็นหมุดหมายของการจัดระบบความสัมพันธ์ทางสังคม-การเมืองในยุคสมัยใหม่จางหายไป (5)

อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอออกตัวว่าบทความนี้ไม่ใช่การนำเสนอแนวความคิดหรือการถกเถียงวิพากษ์โลกาภิวัตน์ (ซึ่งเป็นอีกระดับหนึ่ง) เนื่องจากผู้เขียนไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีทางสังคมศาสตร์เพียงพอ ได้แต่พยายามอธิบายความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของโลกาภิวัตน์ ตลอดจนวิพากษ์การนิยามโลกาภิวัตน์ของแอนโธนี กิดเดนส์ที่ใช้เป็นตัวตั้งในการทำความเข้าใจเท่าที่พอจะทำได้(ด้วยสติปัญญาที่มีไม่มากนัก) และนำเสนอเกี่ยวกับการปรากฏและปะทะกันของโลกาภิวัตน์ 2 กระแสในประเทศกำลังพัฒนา จากกรณีขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียและไทยที่ได้หยิบยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น

ประวัติศาสตร์ของโลกาภิวัตน์และการก่อตัวของทุนนิยมข้ามพรมแดน
โลกาภิวัตน์ตามนิยามของกิดเดนส์นั้น เมื่อมองจากขั้นตอนการพัฒนาของอารยธรรมโลกตามคำอธิบายของอัลวิน ทอฟฟเลอร์ นักวิชาการและนักวิจารณ์สังคมผู้มีชื่อเสียงที่ได้อธิบายว่าอารยธรรมโลกมีพัฒนาการ 3 ขั้นหรือ 3 ระลอกคลื่น จาก

- คลื่นลูกแรกคืออารยธรรมแบบเกษตรกรรม (ตั้งแต่มนุษย์รู้จักทำการเกษตร-ศตวรรษที่17) สู่

- คลื่นลูกที่สองคืออารยธรรมอุตสาหกรรม (ตั้งแต่ศตวรรษที่17-ปลายศตวรรษที่20) และ

- คลื่นลูกที่สามคืออารยธรรมของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ข่าวสาร (ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่20) โดยมีข้อสรุปสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโลกาภิวัตน์อยู่ที่การชี้ว่า คลื่นลูกที่สามหรือยุคอารยธรรมของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ข่าวสาร ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและใหญ่สุดของมนุษย์ เพราะเกิดการเชื่อมโยงจุดต่างๆ ของโลกเข้าด้วยกันอยู่ตลอดเวลา ด้วยเครือข่ายการสื่อสารดาวเทียมและคอมพิวเตอร์ บทบาทของประเทศ(รัฐชาติ)และระบบราชการ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของประเทศ(รัฐชาติ) จะลดบทบาทความสำคัญลงจากในยุคคลื่นลูกที่สองหรือยุคอารยธรรมอุตสาหกรรม (6)

กล่าวคือโลกาภิวัตน์ที่ระบบความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ของสังคมมนุษย์ที่เชื่อมโยงถึงกันโดยมีการพัฒนาของระบบการสื่อสารเป็นส่วนสำคัญ ได้ปรากฏหรือก่อตัวขึ้นในยุคคลื่นลูกที่สามหรือช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีความสอดคล้องกับที่พบว่า "Globalization" เป็นถ้อยคำที่ปรากฏใช้ครั้งแรกๆ ในงานเขียนทั่วไปและงานวิชาการในช่วงทศวรรษ 1960 เพื่อบรรยายกระบวนการหรือสภาพการณ์และยุคสมัยของสังคมมนุษย์ (7)

อย่างไรก็ตามในทัศนะของนักคิดแนว skeptics (มีการแปลเป็นไทยว่านักคิดแนวช่างสงสัย) ได้อธิบายว่า โลกาภิวัตน์เป็น "คราบเงาของอุดมการณ์ตลาดเสรี" ที่มุ่งบั่นทอนอุดมการณ์สวัสดิการสังคมหรือระบบรัฐสวัสดิการ อันเป็นอุดมการณ์หรือระบบการเมืองที่มุ่งเน้นความอยู่ดีมีสุขของสังคม โดยรวมโดยที่รัฐเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการจัดการให้สังคมอยู่ดีมีสุข ซึ่งโลกาภิวัตน์จะเป็นสิ่งที่สร้างอุดมการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบบตลาดเสรี และแนวคิดเสรีนิยมใหม่ รวมทั้งจักรวรรดินิยมใหม่ที่ใช้ระบบทุนนิยมในการแสวงหาอาณานิคม (8)

คำอธิบายของพวก skeptics ชี้ว่า โลกาภิวัตน์มีประวัติศาสตร์ที่ไกลกว่าช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีการพัฒนาของระบบสื่อสารเครือข่ายดาวเทียมและคอมพิวเตอร์เป็นปัจจัยสำคัญ กล่าวคือ โลกาภิวัตน์ปรากฏขึ้นพร้อมกับการก่อตัวของระบบทุนนิยมในโลกตะวันตก ช่วงศตวรรษที่ 18-19 ตั้งแต่ อดัม สมิธ นักเศรษฐศาสตร์ชาวสก็อตแลนด์ บิดาของเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่และแนวการค้าเสรีได้ประกาศทฤษฎีการค้าเสรี และเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมถึงการที่โลกตะวันตกขยายอำนาจเข้ายึดครองดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ (โลกใหม่) เอเชีย แอฟริกา รวมทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะโพลีนีเซียน โดยมีเทคโนโลยีอย่างปืน ม้า ระบบการเมืองที่รวมศูนย์อำนาจ ตลอดจนเชื้อโรครุนแรงที่ชาวตะวันตกเป็นพาหะนำเข้าไปสู่ชาวพื้นเมือง และลักษณะทางภูมิศาสตร์ของโลกตะวันตกซึ่งอยู่ในบริเวณยูเรเซีย (ยุโรปและเอเชีย) ที่ทำให้การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์และการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีเพื่อความอยู่รอดของคนในโลกตะวันตกทำได้ดีกว่าคนในส่วนอื่นๆ (9)

อันที่จริงแล้วประวัติศาสตร์ของโลกาภิวัตน์อาจสืบย้อนไปได้ไกลกว่าศตวรรษที่ 18-19 ด้วยซ้ำ โดยพิจารณาได้จากเครือข่ายการค้าข้ามประเทศ หรืออาณาจักรที่ก่อรูปขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนสมัยใหม่ (3500 ปีก่อนคริสตกาล) และยุคแรกเริ่มของสมัยใหม่ (ศตวรรษที่ 15-17)(10)

ในแง่มุมนี้ระบบรัฐชาติซึ่งเป็นหน่วยของการจัดระเบียบทางการเมืองของโลกตะวันตก ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 15 โดยมีลักษณะประการสำคัญอยู่ที่การมีเขตแดนของประเทศ(รัฐ)ที่แน่นอนตายตัว และเป็นหมุดหมายประการแรกของความสัมพันธ์ทางสังคม-การเมืองสมัยใหม่ จึงเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ที่โลกตะวันตกได้นำไปสู่อาณานิคมของตนเอง และทำให้ประเทศที่เป็นอาณานิคมและประเทศข้างเคียงที่ได้รับผลกระทบจากระบบรัฐชาติสมัยใหม่ มีปฏิสัมพันธ์ต่อโลกตะวันตกและดินแดนอื่นๆ (11)

ซึ่งอันนี้ไม่ได้เป็นการเฉพาะในภาวะเงื่อนไขของโลกาภิวัตน์ตามนิยามของกิดเดนส์ ที่ชี้ว่าโลกาภิวัตน์คือการที่พรมแดนของรัฐชาติจางหายไป หรืออีกนัยหนึ่งการกำหนด/ลากเส้นพรมแดนที่แน่นอนทางภูมิศาสตร์ของรัฐสมัยใหม่ เป็นสิ่งที่ทำให้เวลาและสถานที่ของมนุษย์มีความกระชับแน่นด้วยอำนาจของแผนที่สมัยใหม่ ที่ทำให้พื้นที่โลกที่มีความแตกต่างหลากหลายถูกลดทอนลงอยู่ในระนาบเดียวกัน และความหลากหลายในเชิงประวัติศาสตร์ของโลกกลายเป็นเรื่องเดียวกันหมด (12)

ประกอบกับที่เงื่อนไขอีกประการหนึ่งที่เป็นปัจจัยของภาวะโลกาภิวัตน์ คือ การพัฒนาของระบบการสื่อสารในโลกตะวันตกยุคคลื่นลูกที่สอง หรือยุคอารยธรรมอุตสาหกรรม (ตามการแบ่งยุคสมัยอารยธรรมโลกของทอฟฟเลอร์) ได้มีพัฒนาการขึ้นตามลำดับโดยการสื่อสารระบบไปรษณีย์ ซึ่งเคยผูกขาดโดยชนชั้นสูงในช่วงศตวรรษที่ 16-17 ได้ถูกเปิดทางให้แก่ระบบไปรษณีย์ที่รองรับการสื่อสารในยุคอุตสาหกรรม หรือระบบการผลิตเพื่อมหาชนได้ใช้ในการส่งข่าวสารถึงกัน รวมทั้งการเกิดขึ้นของการสื่อสารโทรคมนาคมผ่านโทรศัพท์และโทรเลข ที่มีการประดิษฐ์ขึ้นในศตวรรษที่19 (13)

การปรากฏขึ้นของรัฐชาติ การก่อตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และการแสวงหาอาณานิคมของโลกตะวันตกในยุคอารยธรรมอุตสาหกรรม กล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ปรากฏ "ระบบโลก"ตามที่ อิมมานูเอล วอลเลอร์สไตน์ นักคิดผู้บุกเบิกแนวการวิเคราะห์เชิงระบบโลกสมัยใหม่ ได้อธิบายประวัติศาสตร์ของ "ระบบ" โลกที่แต่ละส่วนของโลกถูกผนวกเข้ามาในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่มียุโรปเป็นศูนย์กลางตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 "อันยาวนาน" (ปี ค.ศ.1450-1640) ตามด้วยช่วงการแข่งขันในการค้าทางทะเล (ค.ศ.1650-1730) และช่วงที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมขยายตัวในยุโรปและสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งระบบเศรษฐกิจโลกถึงจุดสูงสุด และแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลกอย่างแท้จริงภายหลังสงครามโลกครั้งที่1 (14)

โดยกระบวนการก่อและขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโลก ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมข้ามพรมแดนทางภูมิศาสตร์ของรัฐชาติในโลกตะวันตก และที่กำหนดโดยความรู้ภูมิศาสตร์และแผนที่สมัยใหม่เข้าสู่ดินแดนอาณานิคม (รวมทั้งรัฐเอกราชข้างเคียง) เนื่องจากการแสวงหาอาณานิคมของจักรวรรดินิยมในโลกตะวันตก มีเป้าหมายที่การควบคุมปัจจัยการผลิตและตลาดระบายสินค้า (15)

อาจกล่าวได้ว่า ระบบการเมืองแบบรัฐชาติและระบบเศรษฐกิจ(ทุนนิยม)โลกที่กล่าวมาคือสิ่งที่เรียกว่า "โลกาภิวัตน์จากข้างบน" (Globalization from above) ตามทัศนะมุมมองของนักวิชาการที่มองโลกาภิวัตน์ในฐานะกระบวนการทางเศรษฐกิจของทุนนิยมสากล หรือกระบวนการสร้างส่วนอื่นของโลกให้เป็นตะวันตก (16) โดยจุดเปลี่ยนของโลกาภิวัตน์จากข้างบนที่ดำเนินมาตลอดศตวรรษที่ 15 (ซึ่งวอลเลอร์สไตน์จัดให้เป็นส่วนหนึ่งของ "ศตวรรษที่ 16 อันยาวนาน") มาจนถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 (ซึ่งเกิดสงครามโลกครั้งที่2 (ค.ศ.1939-1945) อยู่ที่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้ประเทศอาณานิคมของตะวันตกทยอยกันเป็นรัฐเอกราช

โดยโลกาภิวัตน์จากข้างบน ได้ก่อตัวเปลี่ยนรูปเป็นสิ่งที่เรียกว่า "การพัฒนา" และมีการจำแนกประเทศในโลกเป็น(กลุ่ม)ประเทศพัฒนา และ(กลุ่ม)ประเทศโลกที่ 3, ประเทศ"ด้อยพัฒนา" ซึ่งเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในลักษณะคู่ตรงข้ามระหว่าง "ประเทศพัฒนา" ซึ่งเกือบทั้งหมด คือประเทศมหาอำนาจในโลกตะวันตก กับ "ประเทศโลกที่ 3, ประเทศด้อยพัฒนา" ซึ่งส่วนใหญ่คือประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมรวมทั้งประเทศอื่นๆ( ที่ไม่เป็นอาณานิคม) ในบริเวณภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้และตะวันออกกลาง ในลักษณะที่ประเทศโลกที่ 3 ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านความรู้ เทคโนโลยีและทุน เพื่อการพัฒนาประเทศของตนจากประเทศพัฒนา ขึ้นมาแทนที่ความสัมพันธ์ในระบบอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่18-19 (17)

วาทกรรมการพัฒนาที่ก่อและขยายตัวตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคงมีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจทุนนิยม ดังเห็นได้จากวาทกรรมว่าด้วยการพัฒนากับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ซึ่งเป็นวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหลักของบทความ คือขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียและไทยที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า) ที่ปรากฏในช่วงทศวรรษ 1960 (2 ทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่2) และได้มีการสืบเนื่องต่อมาว่า มีการก่อตัวของวาทกรรมที่มองธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเทคโนโลยี โดยเห็นว่ามนุษย์ต้องเข้าไปควบคุมผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ที่มนุษย์คิดค้นขึ้น และธรรมชาติมีไว้เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์

ตลอดจนกระแสความคิดของพวกมาร์กซิสต์ ที่วิพากษ์ขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยชี้ให้เห็นว่า ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีรากฐานจากการควบคุมจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยี เพื่อการแย่งชิงและแสวงหาประโยชน์(ทางเศรษฐกิจ) จากสิ่งแวดล้อมโดยมีระบบทุนนิยมเป็นตัวกำหนดความเป็นไปของการจัดการ และสร้างความชอบธรรมให้แก่การแย่งชิงและแสวงหาประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม (18) เช่นเดียวกับที่พบว่า บรรษัทธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติข้ามพรมแดน และมีบทบาทสำคัญในการจัดระบบระเบียบของโลกในยุควาทกรรมการพัฒนา (19)

ประเด็นที่น่าสนใจและจะอภิปรายต่อไปคือ การปรากฏและขยายตัวของโลกาภิวัตน์จากข้างบน และการปรากฏและต่อต้านของโลกาภิวัตน์อีกทางหนึ่ง โดยจะหยิบยกกรณีขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดีย ซึ่งในบริบทของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์จากข้างบน ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาถูกจำแนกให้อยู่ในกลุ่มประเทศชายขอบ(periphery) และขบวนการสิ่งแวดล้อมในไทย ซึ่งถูกจำแนกอยู่ในกลุ่มประเทศกึ่งชายขอบ(semi-periphery)ของประเทศโลกที่สามตามมุมมองของทฤษฎีระบบโลก (20)

โลกาภิวัตน์จากข้างบนกับการต่อต้านโลกาภิวัตน์และ
ขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดีย: กรณีขบวนการชิปโก้และขบวนการนรมทา บาจาโอ อานโทลัน?(B)


ระบบการเมืองแบบรัฐชาติและระบบทุนนิยมโลก อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระบวนการทำให้เป็นตะวันตกหรือโลกาภิวัตน์จากข้างบน ได้ปรากฏในบริเวณอนุทวีปอินเดียโดยตรงในช่วงศตวรรษที่ 16 เมื่อชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกจากยุโรปที่เข้ามาค้าขายในอนุทวีป ตามด้วยชาวเนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สเปนและฝรั่งเศส โดยที่การเข้ามาค้าขายของชาวตะวันตกดำเนินไปในลักษณะของการแข่งขัน และทำสงครามระหว่างชาติตะวันตกด้วยกัน จนกระทั่งอังกฤษสามารถยึดครองแคว้นเบงกอลในปี ค.ศ.1753 และได้อินเดียเป็นอาณานิคมอย่างสมบูรณ์ตลอดช่วงศตวรรษที่18 จนถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20

อันนี้ได้ทำให้อินเดียเกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยมโดยเป็นแหล่งอุตสาหกรรม เพื่อผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมทอผ้า เพื่อผลิตสินค้าผ้าฝ้ายที่เพิ่มขึ้นมากในบริเวณชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย ตามด้วยอุตสาหกรรมทางการเกษตรอื่นๆ เช่น คราม ในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือ, ปอในแคว้นเบงกอล ฯลฯ เป็นต้น

อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ทำให้วิถีชีวิตของชาวอินเดียเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกของตลาด เช่น การที่คนอินเดียส่วนใหญ่เปลี่ยนจากการปั่นฝ้ายทอผ้าใช้เองด้วยมือตามวิถีที่มีมาแต่โบราณ เป็นการใช้เสื้อผ้าที่ทอด้วยเครื่องจักรและมีราคาถูก (21) หรือกรณีแคว้นจำปารัน ในรัฐพิหาร ที่เดิมอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไร่มะม่วง กลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมคราม และมีการตรากฎหมายที่กำหนดให้ชาวนาต้องปลูกต้นคราม 3 ส่วนในทุกๆ 20 ส่วนของที่นา (22)

เมื่ออินเดียได้เป็นเอกราชในปี ค.ศ.1947 ในบริบทที่สังคมโลกโดยรวมกำลังอยู่ภายใต้วาทกรรมการพัฒนา ที่มีการจำแนกประเทศพัฒนาและประเทศโลกที่สาม(ด้อยพัฒนา) โดยประเทศพัฒนาให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่ประเทศด้อยพัฒนา เพื่อให้พัฒนาตัวเองภายใต้กรอบความคิดที่มีสาระเกี่ยวข้องกับทุนนิยม ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับระบบทุนนิยมได้ดำเนินไปในลักษณะดังกล่าว

ดังเห็นได้จากการที่อินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียวาหระลาล เนห์รู (ค.ศ.1947-1964) ได้ริเริ่มโครงการขนาดใหญ่คือโครงการเขื่อนภากระ ซึ่งเป็นบริบทที่กล่าวได้ว่าอยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อนในอินเดีย รวมทั้งประเทศโลกที่สามประเทศอื่นๆ มาจากเงินกู้ยืมจากบรรษัทกองทัพสหรัฐอเมริกา, รัฐบาลสหรัฐอเมริกา, ธนาคารโลก, ที่เปิดตลาดการสร้างเขื่อนขึ้นทั่วโลก (23) โดยที่อาจกล่าวเสริมได้ว่า การพัฒนาประเทศอินเดียภายใต้วาทกรรมการพัฒนา-ทุนนิยม ได้สมาทานวิธีคิดที่มองธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะทุนที่ต้องมีการควบคุม และแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ขณะที่รัฐบาลอินเดียดำเนินการจัดการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวทางโลกาภิวัตน์จากข้างบน(วาทกรรมการพัฒนา) ได้ปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่คัดค้านต่อต้านการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการจัดการป่าไม้และน้ำ โดยรัฐบาล

ขบวนการชิปโก้ การต้านโลกาภิวัตน์ว่าด้วยการจัดการป่าไม้ (ค.ศ. 1970-1985)
จากการศึกษาพัฒนาการนโยบายป่าไม้ของอินเดียพบว่า การรุกเข้ามาของอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 18 ได้ทำให้มีการทำป่าไม้เชิงพาณิชย์ และการประกาศสงวนพื้นที่ป่าโดยห้ามประชาชนเข้าใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดสิทธิในการใช้ป่า โดยมุ่งไปทางอุตสาหกรรมป่าไม้ และรัฐบาลอินเดียภายหลังการประกาศเอกราช ก็ยังคงมีนโยบายในทิศทางที่เน้นอุตสาหกรรมป่าไม้ (24)

ขณะที่วันทนา ศิวะ นักคิดชั้นนำและนักเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมชาวอินเดียได้อธิบายว่า ขบวนการชิปโก้ เป็นปฏิบัติการเพื่อหยุดการทำลายแหล่งน้ำด้วยการตัดไม้ ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย และถูกคุกคามโดยการทำป่าไม้เชิงพาณิชย์ รวมทั้งประสบกับปัญหาน้ำท่วมและแผ่นดินถล่มบ่อยครั้ง (25)

พัฒนาการนโยบายป่าไม้ของอินเดียและการอธิบายขบวนการชิปโก้ของวันทนา ศิวะ ทำให้เห็นได้ว่า การจัดการป่าไม้ของอินเดียเป็นไปตามกระบวนการโลกาภิวัตน์จากข้างบน โดยมีแง่มุมสำคัญที่ว่า ได้มีปฏิบัติการที่ต้านโลกาภิวัตน์ว่าด้วยการจัดการป่าไม้โดยรัฐบาลที่เรียกว่า "ขบวนการชิปโก้" ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชาวบ้านที่ร่วมกับกลุ่มสานุศิษย์ของมหาตมา คานธี ซึ่งทำกิจกรรมด้านรณรงค์รักษาป่า เพื่อประท้วงนโยบายการจัดการป่าไม้ที่ไม่เป็นธรรมให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชน กีดกันสิทธิการจัดการป่าของชาวบ้าน ตลอดจนให้บริษัทเอกชนยุติการทำลายป่า

กิจกรรมรวมหมู่ของกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มสานุศิษย์ของคานธี เป็นกิจกรรมในมิติทางวัฒนธรรมเพื่อปลุกสำนึกให้ชาวบ้านตระหนักถึงการปกป้องป่า เช่น การเดินเท้า(บาทยาตรา) ไปตามหมู่บ้านต่างๆ และพูดคุยกับชาวบ้าน การทำจุลสารเล็กๆ ที่มีเพลงพื้นบ้านที่ทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงปัญหาจากการตัดไม้ทำลายป่า การต่อสู้ด้วยสันติวิธีด้วยการอดอาหาร ฯลฯ (26) โดยขบวนการชิปโก้ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาร่วม 15 ปี (ค.ศ.1970-1985) และได้ขยายตัวโดยมีการประชุมพบปะกันของขบวนการซึ่งในปีหนึ่งๆ จะมีคนจากหลายอาชีพมาร่วมกิจกรรม อีกทั้งยังมีชาวต่างชาติจากสวีเดน เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และสวิสเซอร์แลนด์ มาเยี่ยมชมหมู่บ้านชิปโก้ (27)
(ข้อหลังนี้ทำให้กล่าวได้ว่า กิจกรรมของขบวนการชิปโก้ มีลักษณะข้ามพรมแดนของความเป็นชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการเป็นรัฐชาติที่ทำให้พลเมืองของรัฐหนึ่งๆ ขีดแบ่งให้คนต่างชาติต่างภาษาเป็น "คนอื่น" หรืออาจถึงขั้นเป็น "ศัตรู")

ขบวนการชิปโก้ประสบความสำเร็จในการกดดันให้ยุติการทำไม้ในเขตอุตตรประเทศ การโค่นล้มถางป่าในคาตตันตกและวินทัย รวมทั้งผลักดันให้นโยบายป่าไม้แห่งชาติตอบสนองต่อความจำเป็นทางนิเวศวิทยาของประเทศ (28)

ขบวนการนรมทา บาจาโอ อานโทลัน การต้านโลกาภิวัตน์
ว่าด้วยการจัดการน้ำ (ค.ศ.1988-1995)

หน่วยงานสำรวจแห่งอินเดียได้จัดทำแผนที่ภูมิประเทศของแม่น้ำนรมทา แม่น้ำใหญ่อันดับ 5 ของอินเดียซึ่งไหลผ่านรัฐมัธยประเทศ รัฐมหาราษฏระ (มหาราษฎร์) และรัฐคุชราต ตามโครงการสร้างเขื่อนหลายเขื่อนในบริเวณหุบเขานรมทา ที่มีการวางโครงการภายหลังอินเดียได้เป็นเอกราชในปี ค.ศ.1947 โดยเริ่มจากการสร้างเขื่อนที่โคราในคุชราต ควบคู่ไปกับการเจรจาตกลงเกี่ยวกับสูตรการจัดการน้ำระหว่างทั้ง 3 รัฐ ที่ขัดแย้งกัน และการก่อสร้างได้เริ่มในช่วงต้นทศวรรษ1960 เมื่อนายกรัฐมนตรียวาหระลาล เนห์รู ได้วางศิลาฤกษ์ให้กับเขื่อนขนาดความสูง 49.8 เมตรในปี 1961

ในขณะที่อภิโครงการจัดการแม่น้ำนรมทาและลำน้ำสาขา 41 สายตามแผนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมทั้งหมด 3,200 แห่ง ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางของอินเดียในเวลาเกือบ 20 ปีต่อมา หลังจากผ่านการพิจารณาข้อพิพาทระหว่าง 3 รัฐ ของศาลพิเศษ
ที่รัฐบาลกลางตั้งขึ้นเพื่อการนี้ และมีคำสั่งให้ดำเนินการได้ (29)

โครงการหุบเขานรมทามีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับโลกาภิวัตน์จากข้างบน ที่เน้น "การพัฒนา" โดยธนาคารโลกได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เขื่อนสรทาร์สโรวร ในรัฐคุชราต ซึ่งเป็น1 ใน 2 เขื่อนขนาดใหญ่ที่เมื่อสร้างเสร็จ จะเก็บน้ำได้มากกว่าอ่างเก็บน้ำใดๆ ในชมพูทวีปและเป็นหัวใจของโครงการนรมทา (30)

ทั้งอรุณธตี รอย นักเขียน นักเคลื่อนไหวทางสังคม และวันทนา ศิวะ นักคิดชั้นนำ นักเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม ชาวอินเดีย(ทั้งคู่)ได้ชี้ตรงกันว่า การสนับสนุนทางการเงินของธนาคารโลกต่อโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในอินเดีย เป็นการลงทุนเงินกู้ที่ธนาคารโลก(องค์กรการเงินข้ามพรมแดน) ได้รับเงินกลับคืนมากกว่าเงินต้น และเป็นการควบคุมน้ำอย่างรวมศูนย์อำนาจที่ทำให้ชุมชนเดือดร้อน รวมทั้งเป็นการถ่ายโอนอำนาจการควบคุมน้ำจากรัฐบาล(อินเดีย) ไปสู่อุตสาหกรรมสร้างเขื่อนระดับนานาชาติและธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้อง (31)

การปรากฏของโครงการนรมทาได้นำไปสู่การคัดค้านจากกลุ่มชาวบ้าน และขยายไปสู่กลุ่มพ่อค้า องค์กรผู้ใช้แรงงาน นักเคลื่อนไหวทางสังคม ฯลฯ โดยก่อตัวขึ้นเป็นขบวนการทางสังคมที่ใช้ชื่อว่า "นรมทา บาจาโอ อานโทลัน" (Narmada Bachao Andolan -NBA) หรือขบวนการรักษาแม่น้ำนรมทา ซึ่งต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนสรทาร์สโรวร และเรียกร้องอย่างเป็นทางการให้ยุติการดำเนินงานทุกอย่างของโครงการพัฒนาหุบเขานรมทา ตลอดระยะเวลา 7 ปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988-1995 โดยประชาชนประกาศไม่ยอมย้ายออกจากบ้านของพวกเขาและพร้อมที่จะจมน้ำตายถ้าจำเป็น (32)

กิจกรรมของขบวนการนรมทา บาจาโอ อานโทลัน กล่าวได้ว่าเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรม ดังเห็นได้จากการต่อสู้ด้วยการเดินเท้า(บาทยาตรา)โดยในปี 1990 ชาวบ้านนับพันคนได้เดินฝ่าพื้นที่โครงการพัฒนาหุบเขานรมทา(มีชาวบ้านบางส่วนที่เดินทางด้วยเรือ) ซึ่งกลายเป็นพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอินเดียไปยังเมืองพัทวานี เมืองเล็กๆ ในรัฐมัธยประเทศเพื่อประกาศย้ำคำปฏิญาณของพวกเขาที่จะไม่ย้ายออกจากบ้านและพร้อมจมน้ำตาย หรือการเดินเท้าระยะทางกว่า 100กิโลเมตรของชาวบ้านหญิงชาย ประมาณ 6,000 คน ไปยังจุดก่อสร้างภายหลังการเดินเท้าไปยังเมืองพัทวานีผ่านไปเพียง 3 เดือน (33)

รวมไปถึงการต่อสู้ด้วยการประกาศอดอาหารไม่มีกำหนด และปฏิบัติการอดอาหารของกองหน้าของขบวนการจำนวน 7 คน หลังประกาศเป็นเวลากว่า 20 วันในเดือนมกราคม 1991(ระหว่างวันที่ 7-28 มกราคม ซึ่งยุติลงเนื่องจากชาวบ้านจำนวนหนึ่งอ้อนวอนให้ทั้ง 7 คนหยุดการอดอาหาร เพราะเป็นห่วงอาการของผู้อดอาหารที่ทรุดลง ประกอบกับธนาคารโลกได้ประกาศว่าจะให้มีการทบทวนโครงการเขื่อนสรทาร์สโรวร เนื่องจากแรงกดดันจากการนำเสนอข่าวการคัดค้านโดยสื่อมวลชนทั้งของอินเดียและนานาชาติ) (34) หรือการต่อสู้ของหมู่บ้านมณีเพลี ในรัฐมหาราษฏระ(มหาราษฎร์) ที่ชาวบ้านหลายร้อยคนเกาะเสาไม้อยู่ในบ้านที่กำลังถูกน้ำท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อน โดยปฏิเสธที่จะขยับเขยื้อนจนถูกตำรวจลากตัวออกจากบ้าน (35)

หรือที่ปรากฏว่าในปี ค.ศ.1994 ขบวนการนรมทา บาจาโอ อานโทลัน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดของอินเดีย ให้ระงับการก่อสร้างโครงการพัฒนาหุบเขานรมทา โดยมีการตั้งคำถามต่อตัวโครงการและการฟื้นฟูเยียวยาผู้ถูกอพยพ ซึ่งมีผลให้ในช่วงต้นปี 1995 ศาลสูงสุดมีคำสั่งให้หยุดพักงานก่อสร้างที่เขื่อนไว้ก่อน จนกว่าจะมีการตัดสินในใดๆ ต่อไป (36) (อย่างไรก็ดีท้ายที่สุดแล้วในปี 2000 คณะผู้พิพากษาของศาลสูงสุด มีคำตัดสินให้การก่อสร้างเขื่อนสรทาร์สโรวรดำเนินต่อไป) และจุดที่น่าสนใจคือ ขบวนการนรมทา บาจาโอ อานโทลัน มีลักษณะของกิจกรรมที่ไม่จำกัดพรมแดนโดยมีสัมพันธภาพกับองค์กรพัฒนาเอกชนระดับนานาชาติ (37)

++++++++++++++++++++++++++++++ (คลิกไปอ่านต่อ ภาค ๒)
เชิงอรรถ

(A) ยกเว้นจากศกที่กล่าวในที่นี้ ซึ่งระบุว่าหมายถึงปี พ.ศ.2549 ในการกล่าวถึงจุดเวลาหรือช่วงเวลา ในครั้งต่อๆ ไปจะหมายความถึง คริสต์ศักราช หรือ คริสต์ศตวรรษ/ทศวรรษ ตามแต่ที่ระบุไว้ ในที่นั้นๆ

(1) ผาสุก พงษ์ไพจิตร, "พลวัตทุนไทยและแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองไทย:บททดลองเสนอการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ จากกรอบวิเคราะห์ธนกิจการเมือง," ฟ้าเดียวกัน 4:3 (กรกฎาคม-กันยายน 2549): 103

(2) เรื่องเดียวกัน, หน้า104.

(3) Manfred B. Steger, Globalization: A Very Short Introduction (New York: Oxford University Press Inc.,2003), pp.13-14.

(4) Anthony Giddens, Runaway World: How Globalisation Is Reshaping Our Lives (London: Profile Books,1999), p.10.

(5) Ibid, p.8; Anthony Giddens, The Third Way: The Renewal of Social Democracy (Cambridge: Polity,1998), p.31.

(6) อัลวิน ทอฟฟเลอร์, คลื่นลูกที่สาม, สุกัญญา ตีระวนิช และคณะ (แปลและเรียบเรียง), พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: Global Brain, 2533)

(7) Manfred B. Steger, Globalization: A Very Short Introduction, p.7.

(8) สิริพรรณ นกสวน และ เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา(บรรณาธิการ), คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546), หน้า118-119; ผมได้ขยายความเกี่ยวกับอุดมการณ์สวัสดิการสังคม หรือระบบรัฐสวัสดิการ โดยอิงกับคำอธิบายเรื่องดังกล่าวในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ในหน้า 347-258

(9) โปรดดูคำอธิบายเกี่ยวกับการขยายอำนาจของชาวตะวันตกเข้ายึดครองอาณานิคม ใน จาเร็ด ไดมอนด์, ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์, อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ (แปล) (กรุงเทพฯ: คบไฟ,2547); แนวคิดเศรษฐกิจเสรีโปรด ดู แดเนียล อาร์ ฟัสเฟลด์, ยุคทองของนักเศรษฐศาสตร์, ภาวดี ทองอุไทย และคณะ (แปล) (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527), หน้า43-104

(10) โปรดดู Manfred B. Steger, Globalization: A Very Short Introduction, pp.22-29.

(11) ตัวอย่างของงานศึกษาที่อธิบายประเด็นนี้ได้ดี เช่น Thongchai Winichakul, Siam Mapped: A history of the geo-body of a nation (Honolulu: University of Hawaii Press, 1994).

(12) ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, รัฐ-ชาติกับ(ความไร้)ระเบียบโลกชุดใหม่ (กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2549), หน้า8-9

(13) อัลวิน ทอฟฟเลอร์, คลื่นลูกที่สาม, หน้า36

(14) จามะรี เชียงทอง, สังคมวิทยาการพัฒนา (กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์,2549), หน้า18-20.

(15) เรื่องเดียวกัน, หน้า17.

(16) ฐิรวุฒิ เสนาคำ, "อรชุน อัปปาดูรัย กับมโนทัศน์ท้องถิ่นข้ามท้องถิ่น (Translocalities)," รัฐศาสตร์สาร 25:1 (2547):115; ในเชิงอรรถที่ 29 ของบทความที่อ้างนี้มีรายชื่อหนังสือที่น่าสนใจเกี่ยวกับมุมมองโลกาภิวัตน์จากข้างบนของนักวิชาการ ดังนั้นผู้ที่สนใจในประเด็นนี้อาจศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือชุดดังกล่าว

(17) ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์และความเป็นอื่น, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2545), หน้า17-62

(18) เรื่องเดียวกัน, หน้า247-253

(19) โปรดดู เดวิด ซี คอร์เตน, เมื่อบรรษัทครองโลก, อภิชัย พันธเสน (แปล), พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2546)

(20) โปรดดู Chien Ju Huang and Harvey Marshall, "The Effects of State Strength on Economic Growth in the Third World A Critical Perspective on World-System Theory," in Joseph E. Behar and Alfred G. Curzan (eds.), At The Crossroads of Development Transnational Challenges to Developed and Developing Societies (Leiden: E.J. Brill,1997), pp.19-34.

(B) การกล่าวถึงโลกาภิวัตน์จากข้างบนหรือระบบทุนนิยมโลกและขบวนการสิ่งแวดล้อมในอินเดียในส่วนนี้ เป็นการกล่าวโดยสังเขป ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวโดยละเอียดมากขึ้นในบทความอีกชิ้นหนึ่งของผู้เขียนซึ่งจะใช้ชื่อเรื่องว่า "การเคลื่อนไหวทางสังคมในอินเดียยุคหลังอาณานิคม:กรณีขบวนการชิปโก้และขบวนการรักษาแม่น้ำนรมทา" โดยจะหาพื้นที่และโอกาสเผยแพร่ต่อไปเพื่อไม่ให้บทความนี้ยาวเกินไป

(21) มหาตมา คานธี, ชีวประวัติของข้าพเจ้า, กรุณา กุศลาสัย (แปล), พิมพ์ครั้งที่ 9 (กรุงเทพฯ: ไทยร่มเกล้า, 2529), หน้า195

(22) เรื่องเดียวกัน, หน้า156-157

(23) วันทนา ศิวะ, สงครามน้ำ การเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากชุมชนสู่เอกชน มลพิษและผลประโยชน์, ศิริลักษณ์ มานะวงศ์เจริญ (แปล) (กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา, 2546), หน้า63-69

(24) กฤษฎา บุญชัย, "ชิปโก้ ขบวนการนิเวศประชาชนยุคบุกเบิกกับบทเรียนการเคลื่อนไหวต่อสังคมไทย," ฟ้าเดียวกัน 2:1 (มกราคม-มีนาคม 2547): 184-185

(25) วันทนา ศิวะ, สงครามน้ำ..., หน้า13-14

(26) ซุนเดอลาล บาฮูกูนา, "ชิปโก้: ขบวนการพื้นบ้านเพื่อสร้างสรค์ธรรมชาติและชีวิต," ใน พระไพศาล วิสาโล (บรรณาธิการ), โอบกอด บทเรียนและแรงบันดาลในในการพิทักษ์ป่าของขบวนการชิปโก้ (กรุงเทพฯ: กลุ่มประสานงานเพื่อสังคมและโครงการสันติภาพและการพัฒนา, 2534), หน้า51-54

(27) พระไพศาล วิสาโล (บรรณาธิการ), โอบกอด..., หน้า10,19-23

(28) เรื่องเดียวกัน, หน้า40

(29) ข้อมูลตรงนี้เก็บความจาก อรุณธตี รอย, จุดจบแห่งจินตนาการ, ไอดา อรุณวงศ์ และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ (แปล) (กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา, 2548), หน้า23-26 และ Pablo S. Bose, "Critics and Experts, Activists and Academics: Intellectuals in the Fight for Social and Ecological Justice in the Narmada Valley, India," in Michiel Baud and Rosanne Rutten (eds.), Popular Intellectuals and Social Movements: Framing Protest in Asia, Africa, and Latin America (Cambridge: Cambridge University Press,2004), pp.136-137; ควรกล่าวด้วยว่า งานของอรุณธตี รอย ระบุว่าโครงการนรมทา เริ่มเมื่อ ค.ศ.1946 ส่วนบทความของBose ชี้ว่าเริ่มเมื่อ ค.ศ.1947 ในที่นี้ผู้เขียนใช้ปี 1947 ตาม Bose เนื่องจากตรงกับข้อเท็จจริงที่ว่าอินเดียเป็นเอกราชเมื่อปี 1947 และเนห์รูได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียในปีนั้น

(30) อรุณธตี รอย, จุดจบแห่งจินตนาการ, หน้า25-26

(31) เรื่องเดียวกัน, หน้า26-29; วันทนา ศิวะ, สงครามน้ำ..., หน้า78-83, 97-105

(32) อรุณธตี รอย, จุดจบแห่งจินตนาการ, หน้า33-34; Pablo S. Bose, "Critics and Experts...," pp.137-138

(33) อรุณธตี รอย, จุดจบแห่งจินตนาการ, หน้า34-35.

(34) เรื่องเดียวกัน,หน้า35-36

(35) เรื่องเดียวกัน, หน้า42-43

(36) เรื่องเดียวกัน, หน้า43-44

(37) Pablo S. Bose, "Critics and Experts...," p.138.

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

อินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียวาหระลาล เนห์รู (ค.ศ.๑๙๔๗-๑๙๖๔) ได้ริเริ่มโครงการขนาดใหญ่คือโครงการเขื่อนภากระ ซึ่งเป็นบริบทที่กล่าวได้ว่าอยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อนในอินเดีย รวมทั้งประเทศโลกที่สามประเทศอื่นๆ มาจากเงินกู้ยืมจากบรรษัทกองทัพสหรัฐอเมริกา, รัฐบาลสหรัฐอเมริกา, ธนาคารโลก, ที่เปิดตลาดการสร้างเขื่อนขึ้นทั่วโลก โดยที่อาจกล่าวเสริมได้ว่า การพัฒนาประเทศอินเดียอยู่ภายใต้วาทกรรมการพัฒนา-ทุนนิยม

30-01-2550