โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 09 Febuary 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๕๔ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 09,02.2007)
R

สามสิบปี ประชาธิปไตยไทยไม่เปลี่ยนแปลง
เอกบุรุษ อภิชนาธิปไตย และประชาธิปไตย
ดร. อเนก เหล่าธรรมทัศน์
ผมไม่มองว่าระบบของไทยล้มเหลว ผมกลับมองว่ามันน่าทึ่ง

บทอภิปราย ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ชิ้นนี้นำมาจากสถาบันข่าวอิศรา
เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพองค์ประกอบ ๓ ประการของประชาธิปไตยไทยที่ถ่วงดุลย์กัน
ประกอบด้วย เอกบุรุษ อภิชนาธิปไตย และประชาธิปไตย
และเกี่ยวกับการเมืองไทยในรอบ ๓๐ ปีที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ได้มีการพูดถึงการรัฐประหาร ๑๙ กันยา และข้อห่วงใยบางประการ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๕๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอกบุรุษ อภิชนาธิปไตย และประชาธิปไตย
ดร. อเนก เหล่าธรรมทัศน์
"ผมไม่มองว่าระบบของไทยล้มเหลว ผมกลับมองว่ามันน่าทึ่ง"

ความนำ
… ไม่มีใครไม่รู้จักคำว่า "สองนคราประชาธิปไตย" ซึ่งอธิบายหนึ่งลักษณะการเมืองการปกครองของไทยได้เป็นอย่างดี และหากเรายังจำกันได้ นักวิชาการผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยนี้เคยกระโดดเข้าไปในสนามการเมืองอย่างเต็มตัว ถึงขึ้นตั้งพรรคการเมืองและดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาแล้ว แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้ง และได้ตัดสินวางมือจากการเมืองในที่สุด ด้วยความรู้และประสบการณ์ในสองสถานะ ทำให้ทัศนะทางการเมืองของ "รศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์" อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตหัวหน้าพรรคมหาชน นับว่าแหลมคมและชวน "พิศ" ยิ่ง

บ่ายวานนี้ (16 พ.ย. 2549) กองทุนนรนิติ เศรษฐบุตร จัดสัมมนาเรื่อง "การเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยไทย (พ.ศ.2549)" ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร.เอนก ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการเปลี่ยนประชาธิปไตยไทยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป และดำรงอยู่ได้ด้วยดุลยภาพของ 3 สิ่งที่สำคัญ คือ

- ระบอบกษัตริย์ (เอกบุรุษ)
- อภิชนาธิปไตย และ
- ประชาธิปไตย

ส่วนการทำรัฐประหารที่ผ่านมา ก็คือการปรับดุลยภาพให้ 3 ส่วนที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตยไทย

รศ.ดร.เอนกยังเชื่อว่า การเมืองไทยในวันข้างหน้าจะไม่เปลี่ยนแปลงไป เพราะคนไทย "ลืมง่าย" และ "พร้อมที่จะปรองดองสมานฉันท์" อย่างน่าทึ่ง ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของสถานการณ์ ณ วันนี้ รศ.ดร.เอนก ยังแนะนำว่า คนไทยไม่ควรคาดหวังอะไรจากรัฐบาลและนักการเมือง หากต้องทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ บนฐาน "ความเป็นจริง"

อเนก เหล่าธรรมทัศน์
การเตือนความจำ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น จึงอยากจะพาพวกเรากลับไปถึง 14 ตุลาคม 2516 ต่อคำถามที่ว่า "เรากำลังเปลี่ยนจากอะไรไปสู่อะไร?" ในส่วนตัวผม เราจะมองว่ามันเปลี่ยน มันก็เปลี่ยน แต่คิดว่ามันไม่เปลี่ยน จริงๆ แล้วคิดว่าคุณทักษิณพยายามจะเปลี่ยน แต่เปลี่ยนไม่สำเร็จ คุณทักษิณทำอะไรหลายอย่างที่จะเปลี่ยน รวมทั้งดื้อ พยายามจะเอาชนะให้ได้ด้วยข้ออ้างเรื่อง 16 ล้านเสียงบ้าง 19 ล้านเสียงบ้าง พยายามที่จะเปลี่ยน แต่เปลี่ยนไม่สำเร็จ ในที่สุดก็มีการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ฉะนั้น การเมืองไทยก็กลับมาเป็นแบบเดิม

แบบเดิมมันคือแบบไหน?
ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปัจจุบัน เมืองไทยเป็นประชาธิปไตยแบบที่มีดุลยภาพกับพลังและความเป็นจริงของสังคมไทย เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ใช่แบบตะวันตก เป็นประชาธิปไตยแบบที่เหมาะสมกับความเป็นจริง และเหมาะสมกับพลังต่างๆ ที่เป็นจริงในสังคมไทย และผมคิดว่ามันอยู่ได้ อยู่มาร่วม 30 ปีแล้ว ซึ่งตอนนี้มันก็ยังอยู่ในกรอบของประชาธิปไตยที่เหมาะสม สอดคล้องกับดุลย์ในสังคมไทย

ระบอบประชาธิปไตยแบบนี้มี 3 ส่วนที่สำคัญ มันคาน ถ่วงดุลย์กัน ประสานกัน บางครั้งก็ปรองดองกัน 3 ส่วนนี้ไม่ได้มีแค่ประชาธิปไตย มันมีสิ่งที่เรียกว่า

หนึ่งคือ monarchy ภาษาไทยแปลง่ายๆ ว่า "ระบอบกษัตริย์" แต่ความหมายในทฤษฎีการเมืองมันมากกว่านั้น หมายถึงการมีผู้นำไม่กี่คนหรือคนเดียวที่ทั้งสังคมยอมรับ ทั้งสังคมเชื่อถือ ทั้งสังคมเดินตาม ผมแปลอย่างง่ายๆ ว่า "เอกบุรุษ" เพราะไม่ได้หมายถึงกษัตริย์เท่านั้น

สองคือ มีอภิชน หรือ อภิชนาธิปไตย (aristocracy) หมายถึงคนที่เป็นคนส่วนน้อยในสังคม แต่ว่ามีน้ำหนักด้วยประสบการณ์ ด้วยอายุ ด้วยการศึกษา ด้วยการยอมรับในแวดวงสังคมที่เป็นจริง ผมหมายถึงชนชั้นกลาง ปัญญาชน สื่อ กระทั่งอมาตยาธิปไตย เหล่านี้เป็นอภิชนาธิปไตย หมายถึงข้าราชการ ทหาร กองทัพ พวกนี้เป็นอภิชน ใช้ในความหมายที่ไมใช่เสียดสี แต่ในความหมายที่ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยที่เป็นจริงมันมีชั้นของมัน และ

สุดท้ายก็คือ มีประชาธิปไตย หมายถึงนักการเมือง พรรคการเมือง แล้วก็ผู้ที่ลงคะแนนเสียง ชาวบ้าน เหล่านี้เป็นประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยแบบของไทยที่อยู่มาได้ 30 กว่าปี เพราะมันไม่ได้มีแค่ประชาธิปไตย มันมี monarchy และมันมีอภิชนาธิปไตยคอยถ่วงดุลย์กัน ประสานกัน ปรองดองกัน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้ำเส้น หรือว่าทำพลาด ก็มีที่เหลืออีกสองฝ่ายที่จะคอยตบให้มันกลับเข้ามา ผมมองว่าการยึดอำนาจ 19 กันยา ชี้ให้เห็นว่าเมืองไทยยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบเดิม ถามว่าเคยมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นก่อนนี้หรือเปล่า? ผมเห็นว่าเหตุการณ์ รสช. ยึดอำนาจ แล้วก็ตามมาด้วยพฤษภานองเลือด ก็ชี้ให้เห็นว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่พลัง 3 ส่วนไม่สมดุลย์ ก็จำเป็นที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง

ตอนปี 2534 เรามีประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาเหมือนกัน มีนายกรัฐมนตรีชื่อชาติชาย ชุนหะวัน มาจากการเลือกตั้งด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งแน่ๆ แต่ตอนนั้นไม่ได้นับว่ากี่ล้าน ถ้าไปนับก็คงไม่ต่างจากที่คุณทักษิณบอกว่ามี 19 ล้านเสียง ตอนนั้นปัญหาคือ ประชาธิปไตยแบบนี้ไปขัดกับอภิชนาธิปไตย ซึ่งก็คือในส่วนของชนชั้นกลาง ในส่วนของปัญญาชน ในส่วนของสื่อ ที่มองว่ารัฐบาลเป็นบุพเฟ่คาบิเนต นอกจากนั้นก็ยังไปขัดแย้งกับทหารในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายคุณอาทิตย์ กำลังเอก ไปเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ กลาโหม

คุณชาติชายเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวที่เชียงใหม่ คาดการณ์กันว่าจะมีพระบรมราชโองการปลดคนบางคนออกจากตำแหน่ง ถ้าพวกเราช่วยกันนึก ตอนนั้นจะมีเรื่องคุณเฉลิม อยู่บำรุง รถโมบายอะไรต่างๆ เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล ในเครื่องหมายคำพูดประชาธิปไตย กับคณะทหารอมาตยาธิปไตย บวกกับที่รัฐบาลขัดแย้งกับชนชั้นกลางด้วย ก็ปรับดุลย์กันด้วยการยึดอำนาจของคณะ รสช. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เสร็จแล้วทหารไม่ยอมออกจากเวทีง่ายๆ ก็ยังมีการสืบทอดอำนาจในรูปของพรรคสามัคคีธรรม คุณสุจินดา คราประยูร

เมื่อยึดอำนาจเสร็จแล้วก็ตกอยู่ในบ่วงบาศก์ของประชาธิปไตยแบบไทย คือ "เข้ามาแล้วก็รีบๆ ออกไป อย่าอยู่นาน เมื่ออยู่ไปแล้วก็อย่าโกงกินให้เห็น ถ้าทำท่าทำทางให้เห็น คนไทยก็พร้อมที่จะขับไล่เหมือนกัน" แต่ในที่สุดก็ไม่ได้รักษากฎเกณฑ์นี้ เลยกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคณะทหารซึ่งเป็นอภิชนกลุ่มหนึ่งกับอภิชนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งคือปัญญาชน นักวิชาการ คนชั้นกลางที่อยู่ในกรุงเทพฯ กลายมาเป็นเหตุการณ์พฤษภานองเลือด ขับทหารออกไป แล้วกลับเข้ามาสู่ประชาธิปไตยไทยๆ แบบที่ผมว่า

ประชาธิปไตยไทยเป็นระบบที่มีการปรับแก้ ระบบนี้มันมากกว่ารัฐธรรมนูญ มากกว่าการเลือกตั้ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าสังคมไทยมีชั้นของมันอยู่ แล้วคนก็มีความเชื่อมั่นต่อสิ่งอื่นที่ไม่ใช่คนที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งความไว้ใจที่คนมีต่อนักการเมือง พรรคการเมือง ผู้นำทางการเมือง ก็ไม่ได้สูงมากนัก ซึ่งผมคิดว่าเขาก็คิดไม่ผิด เพราะคนเหล่านั้นไม่ได้มีอะไรที่คุณจะต้องไว้ใจมากนัก วิธีที่ขึ้นสู่อำนาจก็ไม่ได้ขาวสะอาดบริสุทธิ์เท่าไหร่ และพวกเราเองก็ทราบอยู่ว่าการเลือกตั้งมันต้องปรับเข้ากับวัฒนธรรมอุปถัมภ์ของคนไทยแค่ไหน หลังจากที่ผ่านอะไรมากว่า 30 ปี ผมคิดว่าเมืองไทยมันก็อยู่ได้เพราะมี monarchy และมีอีก 2 ส่วนที่ช่วยคาน ช่วยดุลย์เอาไว้

ทีแรกผมคิดว่าประชาธิปไตยแบบนี้จะหมดไปแล้ว และจะกลายเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกในความหมายที่ว่า "ใครมีเสียงข้างมากก็จะอยู่ได้ และยังไงๆ ก็จะอยู่ไปเรื่อยๆ" เดือนกุมภาก็ไม่เกิดอะไร เดือนเมษาก็คิดว่าจะจบแล้ว ก็ไม่จบอีก คุณทักษิณและรัฐบาลทักษิณ จริงๆ แล้วพยายามจะฝืนระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ 9 มิถุนา ผมก็คิดว่าจะจบแล้ว ก็ไม่จบอีก ไล่เรื่อยๆ จนถึงกรกฎา ก็ไม่จบอีก จนกระทั่งถึงกันยาก็ไม่จบ จนกระทั่งคิดว่าคงจะมีการเลือกตั้ง ถ้ามีเลือกตั้ง ผมคิดว่าคุณทักษิณจะชนะ ชนะมากด้วย และระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ประกอบด้วยพลัง 3 ส่วนก็จะหมดสิ้นไป ประเทศไทยก็จะกลายเป็นประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่ง คุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ก็จะเข้าสู่ระบอบนั้น แต่ในที่สุดก็เกิดเหตุการณ์ 19 กันยา (2549)

เหตุการณ์ 19 กันยา
สำหรับผม มันเป็นการชี้ว่า 30 ปีมานี้ สังคมไทยยังไม่เปลี่ยน ยังอยู่ในระบอบนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยนเลย มันก็มีส่วนที่เปลี่ยน อย่างที่บอกว่ามันแปลกนะเที่ยวนี้ ทำไมยึดอำนาจเสร็จแล้วคนรู้สึกว่าสามารถพูดและเขียนได้ในสังคมหลังยึดอำนาจ เรารู้สึกมีเสรีภาพมากกว่าตอนที่อยู่กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือว่าทำไมเราถึงพูดเรื่องนี้ได้ทั้งๆ ที่เราอยู่ในกฎอัยการศึก พูดแบบไม่กระแดะ ผมไม่คิดว่าทหารน่ากลัวกว่าคุณทักษิณ แล้วถ้าจะไปโทษทหาร ผมก็จะพูดว่า "คุณจะไปโทษอะไรคุณสนธิเขาล่ะ ก็ไม่ได้มีอำนาจอะไรนี่ครับ ดูๆ ไปแล้ว" แต่ว่าอย่าไปคิดว่าจะทำอะไรเขาได้

ทหารนี่ทำอะไรไม่เป็น เป็นอย่างเดียวคือใช้ความรุนแรง ถ้าคุณไม่ไล่เขาไปจนชนฝา เขาก็ทำอะไรไม่เป็น เขาไม่รู้เรื่องอะไรหรอก นี่คือเรื่องจริง ทหารนี่ยึดอำนาจเสร็จแล้วก็ไม่รู้จะทำไรต่อ (หัวเราะ) แล้วก็จะทำอะไรที่เป็นรายละเอียดก็ไม่ทราบอีก ต้องใช้กฎหมายอะไรทำก็ไม่รู้อีก ก็หมายความว่า ทำได้อย่างเดียวคือยึดอำนาจ แต่ว่าคุณอย่าไปเล่นจนกระทั่งเขายึดอำนาจ ถ้าเล่นจนกระทั่งเขาไม่มีทางอื่นไปนอกจากยึดอำนาจ ถึงคุณจะมีเหตุผลอะไรเยอะแยะ มีหลักกฎหมายอยู่ก็ตาม ก็เอาไม่อยู่ ผมคิดว่าทหารไม่น่ากลัวอะไร

แต่ก็อย่าไปคิดว่าไม่น่ากลัวเสียเลย ถ้าหากว่าคุณยังบินอยู่ไกลๆ ไม่บินเข้ามาแถวชายแดน ไม่มีอะไรหรอกครับ แต่ว่าถ้าคุณมาป้วนเปี้ยน มาโผล่มากๆ นัก เขาทำอะไรไม่ถูก เขาทำอะไรไม่เป็น ก็ต้องใช้วิธีเดียวเท่านั้น "ไม่ให้มันอยู่" เป็นแบบไหน? ก็เป็นแบบทหารล่ะครับ ทหารทำอะไรแบบธรรมดาไม่ได้ ต้องทำแบบทำลายล้าง

เมืองไทยมีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าตอนนี้เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่เป็นพลัง 3 ฝ่ายประสานกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง มันจะอยู่ได้หรือไม่ บอกอย่างนี้ก็หมายความว่า เมืองไทยมีรัฐธรรมนูญหลักๆ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเวลาที่มีการเลือกตั้ง มีนักการเมือง มีพรรคการเมือง อีกฉบับหนึ่งคือเวลาที่มีการยึดอำนาจ ซึ่งผมก็เห็นว่ามีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับยึดอำนาจกันอย่างเคร่งครัด เช่น ฝ่ายที่ยึดก็ต้องไม่หักหาญ ไม่รุนแรง ไม่ทำให้เสียเลือดเนื้อ ฝ่ายที่แพ้ก็ต้องรีบบอกทันทีเลยว่า "ปรองดอง สมานฉันท์" แล้วอีกสักพักหนึ่งค่อยกลับมา

แต่ถ้าหากว่า พอเขายึดโครม แล้วประกาศสู้ แบบนี้ก็ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ว่าด้วยการยึดอำนาจ ก็จะต้องมีการเลือดตกยางออก ต้องปรับให้ดี "ตอนนี้ยอมเขาก่อน แล้วเขาก็จะค่อยๆ ปรองดองสมานฉันท์" ใจผมไม่ค่อยคิดเรื่องที่จะไปแตกแยก ขัดแย้งอะไรกันหนัก ผมเป็นห่วงว่ามันจะเข้าอีหรอบเดิมมากกว่า นั่นคือ "ปรองดอง สมานฉันท์" แล้วในที่สุดคุณทักษิณจะกลับมาได้ แต่ไม่ใช่กลับมาภายในหนึ่งปีนี้ ถ้ากลับมาภายในหนึ่งปีนี้ มันขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ว่าด้วยการยึดอำนาจ (หัวเราะ) แต่ถ้าไปอยู่นอกประเทศเสียก่อน เหมือนอย่างคุณชาติชายไปอยู่ อันนี้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ว่าด้วยการยึดอำนาจ แล้วผมก็เห็นคุณชาติชายกลับมาสู่การเมือง มาตั้งพรรคชาติพัฒนา แข่งเลือกตั้งจนเกือบได้เป็นนายกฯ อยู่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นคุณทักษิณก็ต้องคิดให้ดีว่า ตัวเองอยู่ในบริบทอะไร ถ้าฟังที่ผมพูดวันนี้แล้ว ก็อยู่เฉยๆ เถอะครับ อย่าไปถ่ายรูปอะไรมากนัก ลูกน้องก็อย่ามาทำอะไรให้มันเสียงแข็งมากนัก อยู่สงบๆ ไป ไอ้ฝ่ายที่จะยึดทรัพย์ ผมก็ว่าคงจะไม่ยึดจริงจังอะไรมากนัก ไม่รู้จะเอาอะไรไปยึด ก็จะฮึ่มๆ ฮั่มๆ ไปสักพักหนึ่ง ส่วนรัฐบาล ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรมาก รัฐบาลที่ทำอะไรมากนักก็อาจจะไม่ค่อยสอดคล้องกับสถานการณ์แบบนี้ แต่ว่ารัฐบาลแบบนี้ ก็ "ไม่จบ" แล้วก็คุณจะไปคาดหวังอะไรจากรัฐบาลนี้แบบที่คาดหวังกับรัฐบาลคุณทักษิณ ก็ไม่ใช่

คิดว่าทางรอดสำหรับทุกฝ่ายก็คือ ต้องมองให้เห็นว่า จากที่คุณทักษิณถูกยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยา แล้วก็การที่ คมช, ก็ดี หรือรัฐบาลก็ดี ปฏิบัติอะไรเช่นที่ผ่านมา พาสปอร์ตสีแดงก็ยังให้ถืออยู่เลย แล้ว คตส. ก็ยังใช้หลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยังไม่ยึดทรัพย์โครมๆ มันชี้ให้เห็นว่า เรายังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพลัง 3 ฝ่ายคานกัน ดุลย์กัน ซึ่งก็หมายความว่าทหารทำอะไรเกินขอบเขตก็ไม่ได้ รัฐบาลที่ขึ้นมาหลังการยึดอำนาจจะทำอะไรเกินขอบเขตก็ไม่ได้ ก็ต้องทำตัวให้อยู่ในกรอบ กรอบอันนี้ผมเรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบไทย" เป็นประชาธิปไตยแบบที่คุณต้องคำนึงถึงดุลยภาพ ฝ่าย monarchy กับฝ่ายอภิชนาธิปไตย จะไม่คำนึงถึงประชาธิปไตยก็ไม่ได้ แต่ประชาธิปไตยจะไม่คำนึงถึงอีก 2 ส่วนนั้นก็ไม่ได้ แล้วก็ส่วนใดส่วนหนึ่งจะโดดเด่นหรือไม่คำนึงถึงส่วนอื่นๆ ไม่เอาเข้ามาสมานฉันท์กันเลยก็ไม่ได้อีก

โดยส่วนตัว ผมไม่มองว่าระบบของไทยมันล้มเหลว ผมกลับมองว่ามันน่าทึ่ง แต่มีอะไรที่ดีกวานี้ได้ไหม ก็ได้ แต่ ณ เวลานี้มันก็น่าทึ่งพอสมควร ผมไปอเมริกา คุยกับพวกคนไทยที่ทำงานอยู่ธนาคารโลกแถววอชิงตัน ดีซี ทีแรกพวกเขาก็มองว่าการทำรัฐประหารเป็นการกระทำที่ถูกตะวันตกประณาม คุยไปคุยมาในที่สุดก็มีข้อสรุปทีเล่นทีจริงว่า ระบบของไทยมี check and balance (ตรวจสอบ ถ่วงดุลย์) ดีกว่าระบบอเมริกาอีก

ที่อเมริกา ประธานาธิบดีบุช ทำอะไรผิดตั้งเยอะ จนถึงขณะนี้ยังเอาออกไม่ได้ ยังไงๆ ก็ต้องรออีกตั้ง 2 ปี ของไทยก้าวหน้ากว่า (หัวเราะ) มี check and balance ด้วยการไปลากรถถังออกมา แล้วทุกอย่างก็จบลงได้ ถ้าอเมริกามีระบบเหมือนของไทย บุชออกไปนานแล้ว (หัวเราะ) ก็ไม่ใช่ความเห็นที่ถูกเสียทีเดียวนะครับ มันใช้อย่างนั้นในสังคมอเมริกันไม่ได้ แต่ว่าสังคมไทยจะไปอยู่รอแบบที่เขารอบุชออก ก็มองไม่เห็นเหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะออก ฉะนั้นระบบของเรา 30 กว่าปี ก็น่าคิดนะครับ

พลัง 3 ส่วนแบบไทย
ประชาธิปไตยแบบไทยอยู่ได้ด้วยพลัง 3 ส่วนคือ กษัตริย์เอกบุรุษ อภิชนาธิปไตย และประชาธิปไตย พูดเช่นนี้อย่าไปคิดว่าอีก 2 สถาบันไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะว่าจริงๆ ระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องด้วยไม่มีทางเกิดได้ ลำพังเฉพาะคลื่นนักศึกษา คลื่นประชาชน ไม่พอหรอก จอมพลถนอม กิตติขจร ยอมออกนอกประเทศเพราะใคร? นายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะใคร? ไม่ได้เกิดจากพลังนักศึกษาอย่างเดียวแน่ๆ ถ้าหากผมพูดแบบนี้อย่างเดียว ท่านอาจจะคิดด้วยตรรกะว่าประชาธิปไตยต้องเป็นระบอบที่ประชาชนเป็นใหญ่ เป็นผู้มีสิทธิ์มีเสียง คนอื่นมาเกี่ยวได้อย่างไร

แต่ว่าประชาธิปไตยในแต่ละที่ ในแต่ละส่วนของโลกมันเกิดไม่เหมือนกัน ในประเทศไทยมันเกิดครั้งสำคัญเมื่อ 14 ตุลาคม 2516. แน่นอนว่าในปี 2475 ก็ใช่ แต่ 14 ตุลา คือประชาธิปไตยที่มีผลกระทบมากที่สุดในการตีความของผม. เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 บทบาทของพระมหากษัตริย์มีสูงแน่ๆ ฉะนั้นถึงเราเรียกว่า monarchy ก็ไม่ได้เป็น absolutely monarchy อย่าไปใช้ในความหมายว่าท่านเป็นสมบูรณาญาสิทธิ หรือท่านเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง อย่าไปคิดอย่างนั้นครับ

ส่วนอภิชนก็เหมือนกัน ฟังดูแล้วชื่ออาจจะชวนให้หมั่นไส้ ความหมายไม่ได้หมายความเช่นนั้น หมายความประชาธิปไตยแบบไทยที่เกิดมาได้ มันไม่ได้เกิดจากประชาชนชั้นล่างในตอนต้น มันเกิดจากคนชั้นกลาง นักศึกษา คนที่มีความรู้ หนังสือพิมพ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ใช่ประชาชนในความหมายที่จริงจัง แต่ว่าเป็นส่วนกลาง ส่วนบนของสังคม คนเหล่านี้มีอุดมคติเรื่องเสรีภาพ เสรีนิยม หลักประชาธิปไตย และเห็นว่าคนส่วนใหญ่ควรจะมีบทบาทในการปกครองบ้านเมืองและสนับสนุนประชาธิปไตย ประชาธิปไตยที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีกำเนิดใกล้ที่สุดมาจาก 14 ตุลาคม 2516

ในเหตุการณ์ 14 ตุลา คนที่ไปเดินขบวน คนที่ไปนำหน้า คนที่เจ็บและตายกับเหตุการณ์นี้ โดยส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ประชาชน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนละฝ่าย เขาเห็นด้วยว่าประชาขนควรจะมีบทบาท แต่ในเวลานั้นประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขึ้นมา ฉะนั้นที่ผมบอกว่ามันมีพลัง 3 ฝ่าย ก็ฝากให้คิดสักนิดว่า ไม่ได้หมายความว่ามีเฉพาะพรรคการเมือง นักการเมือง และคนที่ไปลงคะแนนเสียงเท่านั้นที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ได้ตั้งใจพูดแบบนั้นนะครับ

การยึดอำนาจกับสังคมไทย
เรื่องที่พูดว่าไม่อยากเห็นการยึดอำนาจ ผมก็ไม่อยากเห็นการยึดอำนาจ และผมก็ไม่เชื่อว่ามันจะมี แต่ก็มีการยึดอำนาจจริง เที่ยวนี้มีอะไรเปลี่ยนไหม? เมื่อกี้ผมพยายามพาให้คิดว่ามันไม่เปลี่ยน แต่ถ้าจะมองให้เห็นว่าเปลี่ยน การยึดอำนาจเที่ยวนี้ "เปลี่ยน" มาก คือว่ายึดอำนาจอย่างเปิดเผยเลย หรือว่ากึ่งเปิดเผย ก็ขนาดผมยังรู้ตั้งแต่เช้าของวันที่ 19 กันยาเลยว่า มีข่าวลือจะมีการยึดอำนาจตอนสี่ทุ่ม แต่ผมไม่ได้ใส่ใจมากนัก ผมคิดว่า "ใครจะกล้า?" แล้วผมก็คือว่าใครที่ยึดก่อน คนนั้นแพ้ เพราะคิดว่าประชาชนจะต้องไม่เห็นด้วยกับการยึด

แต่พอเกิดเหตุการณ์ปุ๊บ ประชาชนเป็นแบบประชาชนไทยมาก (หัวเราะ) คือไม่มีใครยอมตายเพื่อเรื่องแบบนี้ ทุกคนสงบและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการยึดอำนาจอย่างเคร่งครัด (หัวเราะ) มีอยู่คนหนึ่งคือลุงนวมทอง อันนี้ก็ต้องยกย่องกัน ท่านก็มีสิทธิ์ที่จะคิดของท่าน แต่ว่าประชาชนไทยโดยทั่วๆ ไปฉลาดที่สุด ไม่มีใครยอมตายกับเรื่องแบบนี้ เพราะฉะนั้นการยึดอำนาจในเมืองไทยจึงอยู่ในความเรียบร้อย ถามว่า ทำไมถึงยึดอำนาจ? ทหารไม่ได้อยากยึดหรอก ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ครับ ทหารพวกนี้เป็นทหารที่ห่างจากการเมืองมานานเหลือเกินแล้ว ไม่เหมือนทหารตอนปี 2534 ที่ยึดอำนาจ รสช. ทหารพวกนั้นเป็นทหารที่รู้เรื่องการเมืองมาก แต่ทหารพวกนี้เป็นทหารที่ไม่ค่อยรู้เรื่องการเมืองมากนัก แต่ว่าด้วยตรรกะและอะไรหลายๆ อย่างก็ทำให้เกิดการยึดอำนาจ

ที่จริงแล้วคุณทักษิณสามารถออกไปได้โดยไม่ถูกยึดอำนาจ ตั้งแต่เดือนกุมภา เดือนเมษา จะออกตอนไหนก็ได้ทั้งนั้น ถ้าคุณทักษิณออกไปในตอนนั้นก็จะเป็นการปฏิบัติตัวตามระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็คือไม่ต้องไปดูหรอกว่าเสียงประชาชนเกินครึ่งหนึ่งของประเทศทั้งหมด นายกฯ ที่ออกๆ กัน เช่น คุณเชาวลิต ยงใจยุทธ ออกเพียงเพราะมีคนมาเดินไล่แถวสีลม แกก็ออกแล้ว ส่วนคุณบรรหาร มีคนมาบอกว่าแกไม่มีสัญชาติไทย แกก็ยอมออกแล้ว หลักประชาธิปไตยแบบไทย คือ "อย่าอยู่นานและออกให้เร็ว"

แต่คุณทักษิณแกทำผิด แกอยากจะอยู่นานเหลือเกิน ปีที่ห้าแล้วแกก็ยังอยากจะอยู่ นี่มันขัดกับหลักประชาธิปไตยแบบไทยๆ แล้วก็อย่าไปคิดว่ารัฐบาลจะทำอะไรได้มากมาย หลักแบบไทยรัฐบาลไม่ทำอะไรมากนัก สังคมมันทำอะไรของมันเองเยอะอยู่ เราเพียงแต่อย่าทำอะไรให้มันน่าเกลียด แต่ถ้าพยายามจะทำโปรเจคเป็นล้านๆ อันนั้นน่ะ เตรียมตัวเลย อยู่ไม่นาน

คิดว่าการมองการเมืองควรมองจากแง่มุมยาวๆ อย่าไปมองแค่เพียงสั้นๆ แล้วก็ใช้ตรรกะมามอง ความเป็นจริงมันไม่เหมือนกับอุดมคติ ไม่เหมือนตรรกะ คิดว่ามองอย่างนี้ ไม่ได้ผล และผมก็เคยมองแบบนี้มานานแล้ว พักหลังๆ ขอมองให้มันต่างไป ถ้ามองแบบตายตัว "เอาอีกแล้ว ยึดอีกแล้ว รัฐประหารอีกแล้ว ล้มเหลว" จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่คราวนี้จะร่างให้มันดีที่สุด สะอาดบริสุทธิ์ หมดจด ใช้ของทุกประเทศทั่วโลกมารวมกันแล้ว (หัวเราะ) รับรองล้มเหลวอีก เพราะมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของไทย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าตอนนี้เราต้องอยู่ในโลกแห่งความจริง คิดให้มันสมจริง

ประชาธิปไตยไทยไม่ได้อยู่เพราะประชาชน
ประชาธิปไตยไทยไม่ได้อยู่ได้เพราะประชาชนอย่างเดียวแน่ๆ อยู่ได้เพราะอีกสองส่วนครับ และถ้าจะมาพูดว่าประชาธิปไตยเกิดจากอะไร ก็เกิดจากสองส่วนข้างบน แต่สองส่วนนี้ ถ้าไม่มีประชาชนก็อยู่ไม่ได้ ตอนนี้ผมคิดว่าเราต้องอย่าไปหวังอะไรมาก เราต้องพยายามเข้าใจสถานการณ์ วิวัฒนาการ ตรรกะ จะได้ไม่หลงอยู่ในแต่ละเรื่องในแต่ละประเด็นมากเกินไป ระบอบที่มีพลัง 3 ฝ่าย ข้อดีของมันก็คือ มันมีการยุติ

เหตุการณ์ตั้งแต่ต้นปี 2548 ถึงปลายปี 2548 มันไม่มีที่ยุติ มันทำให้ยุติไม่ได้ จนถึงทุกวันนี้ถ้ามีคนมาเข้าข้าง ผมก็ต้องฟังเขานำเสนอ ถ้าเขาบอกว่าผมผิด ผมก็ต้องฟัง แม้ผมไม่เห็นด้วยกับเขา แต่ว่าในทางการเมืองมันจะต้องมีที่ยุติ ในสถานการณ์ที่มันคับขันขนาดนั้น การเกิดรัฐประหาร 19 กันยา และการได้เข้าเฝ้าในเวลาที่เร็วขนาดนั้น ผมว่ามันยุติแล้ว ชอบไม่ชอบ เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร ก็ต้องยุติไปก่อน แต่จากนั้นเราก็ต้องถกเถียงพูดคุย เพราะสังคมไทยมันพัฒนาไปมากแล้ว ไม่สามารถจะให้คนยุติแล้วอยู่เฉยๆ ได้ ยังไงก็ขอให้ยุติไปก่อน แล้วเดี๋ยวก็ค่อยว่ากันใหม่ แต่ว่าถ้าไม่ยุติเลย มันขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ว่าด้วยการยึดอำนาจ แล้วเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร?

เรื่องน่าห่วง 2 เรื่อง
ผมว่ามีเรื่องน่าเป็นห่วง 2 เรื่อง

เรื่องหนึ่งคือ การยึดอำนาจครั้งนี้เป็นการยึดอำนาจแล้วพยายามจะปกครองแบบประชาธิปไตย ผมว่าอันนี้หนักหน่วง สังคมที่ก้าวหน้าขึ้นมามาก ทำให้การยึดอำนาจมาแล้วปกครองแบบรัฐบาลเฉพาะการเหมือนที่ผ่านๆ มา ทำได้ยาก ฉะนั้นมันจึงเกิดอะไรที่เป็นเรื่องน่าฉงน พอยึดแล้วต้องพยายามปกครองแบบประชาธิปไตย แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านก็ต้องไปขอประชามติก่อน ผมว่าเผลอๆ ไม่ผ่านหรอกครับ เพราะฉะนั้นแนะเอาไว้เลยว่าให้เตรียมรัฐธรรมนูญฉบับอื่นเอาไว้ด้วย. อีกอย่างหนึ่งคือ การที่จะไปอายัดทรัพย์เขาแล้ว ดำเนินการแบบที่ไม่คำนึงถึงกฎหมายที่เป็นรายละเอียดเลยก็ไม่ได้ ตอน รสช. ยังทำได้ อายัดทรัพย์นักการเมืองเป็นสิบๆ คน ในที่สุดเรื่องมันเดินไปเรื่อยๆ จนถึงศาล ศาลบอกว่าอายัดทรัพย์แบบนั้นทำไม่ได้ พูดง่ายๆ ว่าถึงต่อมาศาลจะบอกว่าทำไม่ได้ แต่ทีแรกทำไปแล้ว แต่ว่าคราวนี้มันทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องใช้เวลาที่จะยึดทรัพย์หรือตรวจสอบว่าผิดหรือไม่ผิด แม้จะมีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์แล้วก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทันที

ที่ท่านนายกฯ พูดว่าจะให้ผมไปกราบเท้าใครก็ได้ นี่ก็เป็นนายกฯ ที่ไม่เป็นตามแบบฉบับของการยึดอำนาจนะครับ นายกฯ ที่มาจากการยึดอำนาจต้องพูดจาเด็ดขาดขึงขัง ไปไหนคนต้องหลบวูบๆ (หัวเราะ) แต่ว่านายกฯ คนนี้ ท่านชนะใจคนด้วยความอ่อนน้อมของท่าน สิ่งที่ท่านทำไม่เหมือนว่าท่านเป็นนายกฯ ที่มาจากการยึดอำนาจ ท่านเป็นนายกฯ ที่มาจากการยึดอำนาจ แต่อยู่ฟังการอภิปรายนโยบายในสภาตลอดเวลาเลย แต่นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่เคยอยู่ฟังเลย ฉะนั้นมันเป็นอะไรที่เป็น Paradox มันน่าฉงน แต่มันจะน่าฉงนอีกนานขนาดไหนก็ไม่ทราบ แต่ตอนนี้ในความพิลึกมันทำให้เกิดความตรึงเครียดขึ้นเหมือนกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

เรื่องที่สอง ส่วนความลำบากอีกอย่างหนึ่งเมื่อมองการเมืองไปข้างหน้า อันนี้เป็นด้านตรงกันข้าม คุณทักษิณพยายามจะกลับมามากไปหน่อย เร็วไปหน่อย และพยายามที่จะเป็นข่าวมากไปสักนิด อันนี้ก็จะทำให้เกิดความตึงเครียดในระบบนี้เหมือนกัน เมื่อสักครู่ผมบอกว่าตึงเครียดเพราะยึดอำนาจมาแล้วอยากจะปกครองแบบประชาธิปไตย อันนี้อันที่หนึ่ง อันที่สองคือคุณทักษิณแพ้แล้วอยากจะกลับมาให้เร็ว และที่ตึงเครียดไปกว่านั้น คือนอกจากเป็นนักการเมืองแล้ว คุณทักษิณเป็นมหานายทุนด้วย คือแกมีทรัพย์สินรวมกันเป็นแสนๆ ล้าน เพราะฉะนั้นยังไงๆ อำนาจเงิน อำนาจเศรษฐกิจ อำนาจธุรกิจยังอยู่แน่ๆ เพราะฉะนั้นจะจัดการกับคุณทักษิณอย่างไร? นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่ใช่แค่เพียงว่าคุณทักษิณไม่กลับมาภายในหนึ่งปีนี้แล้วเรื่องจะยุติ แล้วคุณทักษิณจะจัดการกับตัวเองอย่างไร?

สรุปและข้อเสนอแนะ
ถ้าผมแนะนำได้ ถ้าคุณทักษิณฟังผม, ให้เป็น "บิล เกตต์" หรือว่า "ร็อคกี้ เฟลเลอร์" เถอะครับ ไม่ต้องคิดเป็นอะไรแล้ว เป็นคนที่หลังจากเป็นทุกอย่างแล้วก็ทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์และอุทิศทุกอย่างที่มี ซึ่งคุณทักษิณมีข้อเก่งข้อดีเยอะแยะ น่าจะเอาส่วนนั้นมาใช้อุทิศให้สังคม สังคมไทยก็จะรับคุณทักษิณกลับเข้ามาได้

ผมไม่ได้พูดแบบเพ้อฝัน ผมเห็นว่าสังคมไทยสุดยอดแล้ว ใครๆ ก็กลับมาทั้งนั้น พล.อ.สุจินดา คราประยูร เมื่อก่อนนี้ใครๆ ก็เกลียดแกมาก ตอนนี้ดูๆ ไปแกก็แก่แล้วนะ น่าเห็นใจ น่าสงสารอยู่. จอมพลถนอม ตอน 90 กว่า ไปพูดว่าตอน 14 ตุลาแกทำอะไรก็ชักจะลืมไปหมดแล้ว แล้วก็เห็นใจแก นี่เป็นข้อแข็งของสังคมไทย สังคมไทยเป็นสังคมที่พร้อมจะปรองดองสมานฉันท์ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสังคมไทยพร้อมที่จะรับคุณทักษิณกลับมา แต่ไม่ใช่กลับมาแบบนี้ แต่ถ้ากลับมาแบบนี้มันก็จะเกิดความตึงเครียด ทหารก็จะต้องถูกบีบให้ต้องใช้ความเป็นทหาร มันก็ไม่สงบ

อนาคตการเมืองไทยจะเป็นอย่างไรในวันข้างหน้า? ผมมองว่ามันยังไม่ลงตัว ที่ไม่ลงตัวเพราะมี 2 อย่าง อย่างหนึ่งก็คือยึดอำนาจแต่จำเป็นจะต้องปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย เพราะสังคมไทยมันเป็นประชาธิปไตยไปมากแล้ว ก็ลำบาก เป็นความตรึงเครียดที่จะต้องเอาชนะ อันที่สองเป็นความตึงเครียดที่คุณทักษิณดูจะพยายามกลับมาเร็ว พยายามกลับมาแบบชัดเจนเกินไป แล้วดูๆ ไปแล้วทำท่าจะไม่ยอมรับกติกาที่ผมเรียกว่าหลักรัฐธรรมนูญว่าด้วยการยึดอำนาจเสียเท่าไหร

ผมคิดว่าจริงๆ แล้วถ้าจัดการให้ดี หนึ่งปีเราจะผ่านไปได้ แต่ที่มาพูดวันนี้ อยากจะชวนพวกเราว่า ให้พยายามเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจตรรกะของมัน ดูแล้วก็ช่วยกันคิด อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อมูลนำมาจาก...
สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
Friday ที่ 17 November 2006 / 08:00น.
http://politic.tjanews.org/index.php?option=com_content&task=view&id=255&Itemid=27

เพิ่มเติม
อ่านแนวคิด อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ พูดถึงสิ่งที่ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ อภิปรายข้างต้นได้ที่
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1124 เรื่อง
ดุลยภาพในความเปลี่ยนแปลง
คลิก http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999804.html

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

...ประชาธิปไตยแบบของไทยที่อยู่มาได้ 30 กว่าปี เพราะมันไม่ได้มีแค่ประชาธิปไตย มันมี monarchy และมันมีอภิชนาธิปไตยคอยถ่วงดุลย์กัน ประสานกัน ปรองดองกัน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้ำเส้น หรือว่าทำพลาด ก็มีที่เหลืออีกสองฝ่ายที่จะคอยตบให้มันกลับเข้ามา ผมมองว่าการยึดอำนาจ 19 กันยา ชี้ให้เห็นว่าเมืองไทยยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบเดิม ถามว่าเคยมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นก่อนนี้หรือเปล่า? ผมเห็นว่าเหตุการณ์ รสช. ยึดอำนาจ แล้วก็ตามมาด้วยพฤษภานองเลือด ก็ชี้ให้เห็นว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่พลัง 3 ส่วนไม่สมดุลย์ (คัดลอก)

09-02-2550

Democracy
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com