โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 06 Febuary 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๕๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 06,02.2007)
R

ทฤษฎีแบ่งแยกจากข้อเท็จจริงประวัติศาสตร์
ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย (๕)
ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
โดยกองบรรณาธิการจะทะยอยนำออกเผยแพร่ในลักษณะชุดบทความว่าด้วย
-ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกในภาคใต้ไทย-
เพื่อประโยชน์แห่งความรู้ และวัฒนธรรมการเรียนรู้ความเข้าใจ
ในปัญหาภาคใต้จากความจริงจากชุดคำอธิบายของนักประวัติศาสตร์
สำหรับในส่วนที่ห้านี้ ประกอบด้วย
๑๓) รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ กับจุดจบของการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม
- (หัวข้อย่อย) การเริ่มต้นของจุดจบ
๑๔) บทสรุป
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๕๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++
คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๑
คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๒
คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๓
คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๔

๑๓) รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ กับจุดจบของการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม
เหตุการณ์ที่พลิกผันและเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การเมืองไทยอย่างหน้ามือเป็นหลังมือคือการรัฐประหารโดยคณะทหารในวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เมื่อมองย้อนกลับไป รัฐประหารครั้งนี้มีบทบาทอันสำคัญยิ่งในการกำหนดทิศทางของการเมืองไทยต่อมา สองปัจจัยที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองภายหลังรัฐประหารครั้งนั้น

- อันแรก คือปัจจัยภายนอกที่มาจากภาวะเศรษฐกิจขาดแคลนฝืดเคืองหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และนำไปสู่การเกิดขึ้นของขบวนการชาตินิยมและเอกราชทั่วไปในภูมิภาคนี้

- อันที่สอง คือปัจจัยมูลเหตุภายใน ได้แก่การสวรรคตอย่างกะทันหันและมืดมนของรัชกาลที่ ๘ ในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๙ กรณีนี้นำไปสู่การลาออกของรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ และเป็นเงื่อนไขให้กับการกลับมาหรือรื้อสร้างพลัง "เจ้านิยม"(royalists) กับ "อนุรักษ์นิยม" ขึ้นมาในการเมืองไทย

คณะรัฐประหารซึ่งเรียกตัวเองว่า "คณะทหาร" ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยทหารบก ที่น่าสังเกตคือบรรดานายทหารผู้ใหญ่นั้นเป็นนายทหารนอกประจำการ เช่น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม พลโทผิน ชุณหะวัน และพันเอกกาจ กาจสงคราม เป็นต้น. นายทหารในประจำการคือกลุ่มนายทหารหนุ่มฝ่ายคุมกำลังจำนวนมากเช่นพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑ (1) ทำการยึดอำนาจรัฐบาลจากหลวงธำรงฯและฝ่ายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นพลังการเมืองหลักนับแต่หลังสงครามโลกยุติลง

การเกิดรัฐประหารเป็นเรื่องไม่คาดคิดว่าจะเป็นจริงได้ในขณะนั้น เพราะฝ่ายทหารหมดอำนาจจากรัฐบาลและถูกลดบทบาทการเมืองไปมาก จากการที่จอมพล ป. พิบูลสงครามตกเป็นฝ่ายปราชัยและเป็นจำเลยอาชญากรสงคราม จำต้องล้างมือจากวงการการเมืองไป ทำให้ฝ่ายทหารขาดบุคคลผู้ที่สามารถนำการยึดอำนาจรัฐบาลได้ ในวาระสุดท้ายคณะปฏิวัติถึงกับใช้วิธีแบล๊กเมล์ให้จอมพล ป.พิบูลสงครามรับตำแหน่งหัวหน้าคณะปฏิวัติ อย่างไรก็ตามภายหลังการยึดอำนาจสำเร็จ จอมพล ป. พิบูลสงครามก็ไม่อาจรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะมีชนักติดหลังกรณีประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรและเป็นมิตรกับญี่ปุ่น แน่นอนว่าอังกฤษและสหรัฐฯต้องไม่รับรองรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังนั้นนายควง อภัยวงศ์จึงได้รับการเสนอชื่อให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ในความรับรู้ของผู้คนทั่วไป ต่างคิดตรงกันว่านี่คือรัฐบาลทหารภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จุดนี้ส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังผู้นำมลายูมุสลิมภาคใต้ การพลิกผันของเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ มีส่วนทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองมุสลิมภาคใต้ต้องพลิกตามไปด้วย

หลังจากรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์แห่งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาปกครอง (2) ผู้นำมลายูมุสลิมภาคใต้ก็ดำเนินการเรียกร้อง ๗ ประการต่อไป คราวนี้คำตอบที่ได้จากรัฐบาลควงยิ่งแย่กว่าสมัยรัฐบาลหลวงธำรงฯเสียอีก นายควงบอกว่าตนมีธุระยุ่งหลายเรื่อง นอกจากนั้นปัญหาของมลายูมุสลิมนั้นก็มีมานานแล้ว ถ้าจะรอไปอีกสักหน่อยก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร เป็นไปได้ว่าในระยะปลายปี ๒๔๙๐ ฮัจญีสุหลงและคณะคงรู้แล้วว่า ความหวังในการเจรจากับรัฐบาลควงไม่มีอีกต่อไปแล้ว อาวุธสุดท้ายที่มีอยู่คือการรณรงค์ไม่ร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ต่อไป การบอยคอตรัฐบาลกลายเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองของฝ่ายมุสลิมไปโดยมีน้ำหนักทางศาสนาอยู่ด้วย (3) แต่แผนการบอยคอตที่จะมีผลกระเทือนทางการเมืองสูงมากคือ การบอยคอตการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเดือนมกราคม ๒๔๙๑

มีเหตุการณ์ที่เพิ่มแรงกดดันให้แก่นโยบายเหยี่ยวของรัฐบาลควง(๓) คือในเดือนธันวาคม ๒๔๙๐ เกิดกรณีสังหารตำรวจที่หมู่บ้านบาลูกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยกลุ่มโจร เมื่อตำรวจทราบได้ส่งกำลังไปยังหมู่บ้าน จับชาวบ้านไปทรมานสอบสวนหาฆาตกร จากนั้นเผาหมู่บ้านเป็นเถ้าถ่านเพราะความแค้น เป็นเหตุให้ชาวบ้าน ๒๙ ครัวเรือนไร้ที่อยู่อาศัย

การเริ่มต้นของจุดจบ
นี่เองทำให้รัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาลควง(๓) คือพลโท ชิด มั่นศิลป สินาดโยธารักษ์ ซึ่งถือปัญหาสี่จังหวัดภาคใต้เป็นเรื่องรีบด่วนสองเรื่องที่จะต้องจัดการอย่างเด็ดขาด (เรื่องหนึ่งคือปัญหาคอร์รัปชั่น) เพราะ "ได้ระแคะระคายว่า ชาวพื้นเมืองมีความไม่พอใจในการปกครองของรัฐบาลทวีขึ้น ประจวบกับเหตุที่มลายูได้รับเอกราช จึงบังเกิดความตื่นตาตื่นใจตามไปด้วยเป็นธรรมดา และเป็นช่องทางให้ผู้มักใหญ่ใฝ่สูง ฉวยโอกาสหาทางถีบตัวขึ้นเป็นใหญ่ หาสมัครพรรคพวก ก่อหวอดเพื่อจะแบ่งแยกดินแดนออกจากประเทศไทยไปรวมกับรัฐมาเลเซีย หรือไม่ก็จัดเป็นกลุ่ม แยกตัวออกไปเป็นอิสระโดยเอกเทศ นับว่าเป็นเรื่องที่จะรีรออยู่ไม่ได้ จะต้องขจัดปัดเป่าให้สถานการณ์ดีขึ้นก่อนที่จะทรุดหนักจนเหลือแก้" (4)

ปมเงื่อนสำคัญในการไปบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอยู่ที่การหาผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีคนใหม่ ที่"มั่นคงจงรักภักดีต่อประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์….ต้องกล้าหาญ เอาการเอางานเพื่อเสี่ยงภัยต่อการใช้พระเดช….ต้องรู้ภาษามลายูดีทั้งเป็นที่เชื่อถือของคนพื้นเมือง" หน้าที่เร่งด่วนของผู้ว่าฯคนใหม่นี้คือ "สืบหาตัวการที่คิดแบ่งแยกดินแดน ค้นหาเหตุที่ราษฎรเดือดร้อน…" ในที่สุดก็ได้ตัวพระยารัตนภักดี (แจ้ง สุวรรณจินดา) อดีตผู้ว่าราชการปัตตานี จากปี พ.ศ.๒๔๗๒- ๗๖ โดยถูกออกจากราชการ เหตุเพราะเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในเวลาเดือนเดียว พระยารัตนภักดีก็รายงานไปยังรัฐมนตรีมหาดไทย ว่าสืบได้ตัวหัวหน้าผู้คิดก่อการแยกดินแดนแล้ว นั่นคือการจับกุมฮัจญีสุหลงในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ (5) ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงจากชาวมุสลิมภาคใต้มากมาย จนต้องย้ายการพิจารณาคดีไปยังศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เพระทางการกลัวว่าจะเกิดการจลาจลขึ้นหากพิจารณาคดีที่ปัตตานี กล่าวโดยสรุป สถานการณ์ในสี่จังหวัดภาคใต้ในขณะนั้น กำลังคุกรุ่นและร้อนแรงขึ้นทุกวัน สภาพทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านยังอยู่ในสภาพหลังสงครามโลก ที่ขาดแคลนและมีตลาดมืด ทำให้สินค้าราคาแพงและหายาก โจรผู้ร้ายก็ชุกชุม รวมถึงโจรที่มาจากฝั่งมลายาด้วย ซึ่งชาวบ้านและทางการเรียกรวมๆว่า "โจรจีนคอมมิวนิสต์" (6)

ในเดือนกุมภาพันธ์ มีการประท้วงก่อความไม่สงบกระจายไปทั่วในหลายอำเภอของจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส มีการปะทะกันด้วยกำลังระหว่างชาวบ้านกับตำรวจและกำลังในจังหวัดชายแดน ในระหว่างนั้นเองที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเข้ารับตำแหน่งแทนนายควง อภัยวงศ์ ในวันที่ ๘ เมษายน ๒๔๙๑ เหตุการณ์นี้เรียกกันว่า "การจี้นายควง" ให้ออกจากรัฐบาลโดยคณะทหาร

ในที่สุดก็มาถึงวันที่เกิดการปะทะกันระหว่างชาวบ้านในหมู่บ้านดุซงญอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาสกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๙๑ ดังรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์สยามนิกรขณะนั้นดังต่อไปนี้…

"วิทยุกระจายเสียงรอบเช้าวานนี้ประกาศข่าวรวบรวมหลายกระแสร์ว่า ได้เกิดปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับราษฎรครั้งใหญ่ ในจังหวัดนราธิวาส ข่าวนั้นได้ยังความตื่นเต้นกันทั่วไป จากข่าววิทยุนั้นแสดงให้เห็นว่า ความยุ่งยากในบริเวณ ๔ จังหวัดภาคใต้ได้ปรากฏขึ้นแล้ว ราษฎรกลุ่มหนึ่งในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ประมาณ ๑ พันคน ได้ก่อการจลาจลต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในโทรเลขซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองรายงานมายังกระทรวงมหาดไทย ใช้คำว่า "ก่อการขบถ" แต่รัฐมนตรีนายหนึ่งแถลงแก่คนข่าวของเราว่า "บุคคลเหล่านั้นมักใหญ่ใฝ่สูงก่อการจลาจล"

การต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับราษฎร ๑ พันคนนั้น ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทานกำลังไม่ไหว เนื่องจากมีอาวุธต่อสู้ทันสมัย เช่น เสตน คาร์ไบน์ ลูกระเบิด แม้แต่กระทั่งปืนต่อสู้รถถังก็ยังมีเช่นเดียวกัน โทรเลขฉบับแรกซึ่งส่งเข้ามายังมหาดไทยเมื่อบ่ายวันที่ ๒๖ เดือนนี้ เพื่อขอให้ส่งกำลังไปช่วยเหลือโดยด่วนนั้น ทราบว่าอธิบดีตำรวจได้เรียกประชุมนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่โดยฉับพลัน เพื่อจัดส่งกำลังไปช่วยเหลือตามที่โทรเลขแจ้งมา"

การปะทะกับกำลังตำรวจดำเนินไปสองวันมีคนเข้าร่วมถึงพันคน จำนวนตัวเลขผู้ตายและบาดเจ็บซึ่งยังไม่ตรงกันรายงานว่า ชาวบ้านมุสลิมตายไปถึง ๔๐๐ คน ส่วนตำรวจตายไป ๓๐ คน. ชาวบ้านเล่าว่าตำรวจเป็นฝ่ายเปิดฉากการยิงเข้าใส่ก่อน ขณะที่กำลังทำพิธีต้มอาบน้ำมัน เหตุที่ชาวบ้านมีการเตรียมอาวุธเพราะต้องการเอาไว้ต่อสู้กับการปล้นของโจรจีนคอมมิวนิสต์ ฝ่ายตำรวจก็สงสัยในพฤติการณ์ของชาวบ้านจึงต้องการมาสอบสวนและเกิดปะทะกันขึ้น

จากคำอธิบายหลายๆ ฝ่าย ทำให้ได้ข้อสรุปว่า กรณี "กบฏดุซงญอ" นั้นคือการที่ความขัดแย้งและความไม่เข้าใจไม่ไว้วางใจของทางการกับชาวบ้านได้เร่งขึ้นถึงจุดเดือด และระเบิดออกมาเมื่อมีชนวนเพียงนิดเดียว อคติและการไม่ไว้ใจชาวบ้านมุสลิมเห็นได้จากรายงานอของเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองที่มีไปถึงรัฐบาลกรุงเทพฯ เช่นบอกว่าชาวบ้านมีปืนสเต็น คาร์ไบน์ ปืนต่อสู้รถถัง ระเบิดเป็นต้น ทั้งๆ ที่ต่อมาหนังสือพิมพ์รายงานว่า ชาวบ้านมีแค่อาวุธชาวบ้านธรรมดาคือมีด ไม้ และหอก ก้อนหินอะไรที่พอหาได้ในหมู่บ้าน ยิ่งกว่านั้นการลุกฮือของชาวบ้านที่ดุซงญอไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการกบฏหะยีสุหลงแต่ประการใดด้วย ดังที่รายงานและวาทกรรมของทางการต่อปัญหามุสลิมภาคใต้จะบรรยายกันต่อๆ มาเป็นวรรคเป็นเวร ผลจากการลุกฮือปะทะกันใหญที่ดุซงญอมีผลทำให้จอมพล ป. พิบูลสงครามมีคำสั่งให้ยอมประกันตัวฮัจญีสุหลงได้

หลังจากการปะทะที่ดุซงญอผ่านพ้นไป ความรุนแรงและผลสะเทือนของเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านมลายูประมาณ ๒,๐๐๐ ถึง ๖,๐๐๐ คนหลบหนีออกจากฝั่งไทยเข้าไปอาศัยอยู่ในฝั่งมลายา ต่อจากนั้นมีชาวมุสลิมปัตตานีถึง ๒๕๐,๐๐๐ คนทำหนังสือร้องเรียนไปถึงองค์การสหประชาชาติให้ช่วยดำเนินการแยกสี่จังหวัดมุสลิมภาคใต้ และไปรวมกับสหพันธรัฐมลายาที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศกฎอัยการศึกในบริเวณสี่จังหวัด และส่งกำลังตำรวจหน่วยพิเศษ ๓ กองลงไปยังนราธิวาส แต่ประกาศว่าภารกิจของหน่วยพิเศษนี้คือการต่อสู้กับ "พวกคอมมิวนิสต์" (7)

รายงานข่าวการ "ก่อการขบถ" ของชาวบ้านนับพันคน ดังที่เจ้าหน้าที่มหาดไทยท้องถิ่นรายงานเข้ากระทรวงฯนั้นเห็นชัดเจนว่า เป็นการข่าวที่คลาดเคลื่อน จะเรียกว่า "บิดเบือน" ก็อาจหนักไป เพราะหากเกิดการปะทะกันขึ้น กำลังเป็นสิบหรือหลายสิบ ก็น่ากลัวพอที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรีบประเมินความหนักหน่วงน่ากลัวของสถานการณ์ให้เบื้องบนทราบ

ต่อเนื่องจากการให้ตัวเลข ขนาด จำนวน ประเภท ของอาวุธที่ชาวบ้านใช้ ซึ่งล้วนเป็นอาวุธหนักและใช้ในการสงคราม เช่น คาร์ไบน์ ปืนต่อสู้รถถัง ปลยบ.๖๖ ระเบิดมือ สเตน เป็นต้น แสดงว่าทางการได้มีสมมติฐานอยู่ในใจก่อนแล้ว ว่าชาวบ้านมุสลิมภาคใต้กำลังคิดกระทำอะไรอยู่ หากไปอ่านความในใจของรัฐมนตรีมหาดไทยสมัยนั้น เช่นพลโท ชิด มั่นศิล สินาดโยธารักษ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีพระยารัตนภักดี ก็จะไม่แปลกใจว่าทำไม ทางการถึงประเมินและเชื่อว่าชาวบ้านมีอาวุธหนักขนาดทำสงครามไว้ในครอบครอง เพราะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลมีข่าวกรองอยู่ก่อนแล้ว ประกอบเข้ากับอคติและความไม่ชอบในการเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มมุสลิมหัวก้าวหน้าด้วย ทำให้หนทางและวิธีการในการคลี่คลายปัญหาและความตึงเครียดขณะนั้นโดยสันติวิธี และ"ละมุนละม่อม"ตามที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งตามไปในวันหลังๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมากๆ

จากบทเรียนในประวัติศาสตร์ดังกล่าว ก็คือ การใช้ความรุนแรงในภาคใต้นั้น เป็นผลโดยตรงจากการมีทัศนคติ อคติ ความเชื่อในอุดมการณ์การเมืองของชาติที่ไม่สอดคล้องกระทั่งขัดแย้งกับความเป็นจริงของสังคมมุสลิมภาคใต้ ทั้งหมดทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ (ทั้งในโครงสร้างและนอกเหนือกฎหมายหลากหลายสารพัด)

ไม่ต้องสงสัยว่าประเด็นปัญหาปัตตานีดังกล่าวเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติ รวมถึงองค์กรความสัมพันธ์แห่งเอเชีย, สันนิบาตอาหรับ, และองค์การสหประชาชาติ การร้องทุกข์ของคนมลายูมุสลิมมีไปถึงบรรดาประเทศมุสลิมด้วย เช่นสันนิบาตแห่งรัฐอาหรับ อินโดนีเซียและปากีสถาน มีการให้ความช่วยเหลือจากกลุ่มมุสลิมภายในประเทศไทยเองด้วย และจากพรรคชาตินิยมมาเลย์ในมลายา สถานการณ์ขณะนั้นเครียด มีกองกำลังจรยุทธเคลื่อนไหวไปมาตามชายแดนจากมลายาเข้ามายังภาคใต้ไทย ผู้นำศาสนาทั้งสองฟากของพรมแดนเรียกร้องให้ทำญีฮาดตอบโต้อำนาจรัฐไทย (8)

น่าสังเกตว่าเมื่ออัยการโจทย์นำคดีฟ้องร้องฮัจญีสุหลงยื่นต่อศาลนั้น ในคำฟ้องระบุอย่างชัดเจนว่า ฮัจญีสุหลงและสานุศิษย์ของเขาที่ถูกฟ้องนั้นล้วนมีเชื้อชาติไทยและสัญชาติไทย ข้อหาที่ฟ้องร้องฮัจญีสุหลงกับพวกคือ "ตระเตรียมและสมคบกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง และเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป และเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก" (9)

ในคำฟ้องของโจทย์นั้นกล่าวหาจำเลยและพวกว่าคบคิดกันทำการกบฏในเดือนสิงหาคม ๒๔๙๐ โดยจัดการประชุมที่สุเหร่าปรีกี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ฮัจญีสุหลงพูดปลุกปั่นราษฎรว่า "รัฐบาลไทยได้ปกครองสี่จังหวัดภาคใต้มาถึง ๔๐ ปีแล้ว ไม่ได้ทำประโยชน์ให้บ้านเมืองดีขึ้น และกล่าวชักชวนให้ราษฎรไปออกเสียงร้องเรียนที่ตัวจังหวัดเพื่อขอปกครองตนเอง ถ้ารัฐบาลยินยอมก็จะได้เชิญตนกูมะไฮยิดดินมาปกครองแล้ว จะได้ใช้กฎหมายอิสลามเพื่อให้ความชั่วหมดไปและทำให้บ้านเมืองเจริญ ถ้ารัฐบาลไม่ยอมตามคำขอปกครองตนเอง ก็จะได้ให้ราษฎรพากันไปออกเสียงร้องเรียนให้สำเร็จจนได้" (10)

อีกประเด็นที่โจทก์ฟ้องคือฮัจญีสุหลงทำหนังสือฉันทานุมัติแจกให้ราษฎรลงชื่อ หนังสือนี้ถูกกล่าวหาว่าต้องการเชิญตนกูมะไฮยิดดินมาเป็นหัวหน้าปกครองสี่จังหวัด ในขณะเดียวกันเอกสารนี้ยังมีข้อความ "ที่จะก่อให้เกิดความดูหมิ่นต่อรัฐบาลและราชการแผ่นดิน และจะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงกับจะก่อความไม่สงบขึ้นในแผ่นดิน" ในการนี้ศาลชั้นต้นมีความเห็นว่า ข้อความวิจารณ์และติเตียนการกระทำของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่นั้น เป็นการก่อให้เกิดความดูหมิ่นต่อรัฐบาลไทยและข้าราชการไทย ตลอดจนถึงราชการแผ่นดิน ซึ่งผิดวิสัยที่รัฐบาลจะกระทำต่อพลเมือง น่าสังเกตว่าทรรศนะของศาลเป็นการแก้ต่างให้กับการกระทำของรัฐบาล ซึ่งตามหลักการปกครองย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ทำนองเดียวกับการที่ลูกจะฟ้องร้องพ่อแม่ว่าทำทารุณกรรมลูกๆ ไม่ได้ เพราะผิดวิสัยของพ่อแม่ในทางหลักการ แม้ในความเป็นจริงอาจเกิดตรงข้ามกับหลักการก็ได้

ในที่สุดศาลชั้นต้นก็ตัดสินว่า ฮัจญีสุหลงจำเลยมีความผิดฐานกบฏภายในพระราชอาณาจักร ให้จำคุกกับพวกอีก ๓ คนคนละ ๓ ปี อย่างไรก็ตาม ในที่สุดหลังจากศาลตัดสินลงโทษจำเลยอย่างไม่หนักเท่าที่โจทก์ได้คาดหวังไว้ ก็อุทธรณ์ไปถึงศาลชั้นบน คราวนี้ผลออกมาว่า ฮัจญีสุหลงกระทำการละเมิดกฎหมาย ในการเชื้อเชิญให้มะไฮยิดดินมาเป็นผู้นำตามข้อเรียกร้องข้อที่ ๑ "เป็นลักษณะของการสืบทอดเจตนารมณ์ของการกบฏ" การเรียกร้องให้แยกศาลศาสนาออกจากศาลจังหวัด "เป็นการกระทำให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ทั้งในทางการบริหารและการศาล นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองของ ๔ จังหวัด เพื่อให้ผิดแผกไปจากที่เป็นอยู่ในเวลานี้อย่างมากมาย....การคิดการเช่นนี้ย่อมเป็นผิดฐานกบฏ"

การที่ศาลอุทธรณ์สามารถหาความผิดให้แก่คำเรียกร้อง ๗ ข้อได้นั้น ก็ด้วยการนำเอาข้อเขียนของมิสวิททิ่งนั่ม-โจนส์ ที่กล่าวถึงความทารุณต่างๆ ในสี่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นการเมืองอันมีการกระทำมุ่งหวังจะให้คนคล้อยเชื่อตามนั้น จนอาจจะต้องใช้การต่อสู้ของประชาชนก็ตาม มาเป็นพยานหลักฐานหนึ่งในการลงโทษ

ตรรกของศาลไทยสมัยนั้น คือการหาว่าฮัจญีสุหลงและพวกกระทำการ "นอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย" อย่างไรบ้าง กิจกรรมทั้งหลายของจำเลยจึงถูกนำมาทำให้เป็น "การเมือง" ในทรรศนะของรัฐไทยไปหมด ที่ประหลาดก็คือการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ ก็เป็นการกระทำที่ "นอกเหนือรัฐธรรมนูญ" สมัยดังกล่าวไปด้วย รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติตามศาสนาด้วยเช่นกัน ประเด็นหลังนี้ยิ่งหนักขึ้น เพราะพยานโจทก์นายหนึ่งคือนายอุดม บุณยประกอบ อดีตข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทยภาค ๕ ให้การว่า "ทางภาคใต้ ๔ จังหวัดนี้ ศาสนากับการปกครองแยกกันไม่ออก" ดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงมีความเห็นว่า "ขณะใดที่มีการกล่าวถึงศาสนานั้น ก็มีการเมืองการปกครองรวมอยู่ด้วย" เท่านั้นเอง การเคลื่อนไหวในที่ประชุมชนอะไรของฮัจญีสุหลงก็กลายเป็น "การเมือง" ไปสิ้น รวมถึงใบปลิว จดหมาย และข้อเขียนอะไรที่ออกไปจากจำเลย ก็กลายเป็นการเมืองไป นั่นคือนอกเหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย แม้ว่าเรื่องที่จำเลยร้องเรียนจะเป็นความจริง และเป็นการเรียกร้องในสิทธิของมนุษยชนก็ตาม ก็เป็นความผิดตามเหตุผลของรัฐไทย

ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาเป็นเอกฉันท์เพิ่มโทษเฉพาะฮัจญีสุหลงให้จำคุกมีกำหนด ๗ ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษฐานปรานีให้ ๑ ใน ๒ เหลือจำคุกมีกำหนด ๔ ปี ๘ เดือน ศาลฎีกาก็พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

ฮัจญีสุหลงถูกจำคุกเป็นเวลา ๔ ปีกับ ๖ เดือนก่อนที่จะถูกปล่อยในปี ๒๔๙๕ เขาเดินทางกลับปัตตานีและทำงานอาชีพเก่าต่ออีก นั่นคือการสอนหนังสือ "การสอนของเขามีคนมาฟังเป็นจำนวนมาก ในวันที่เขาทำการสอน ตัวเมืองปัตตานีจะเต็มไปด้วยผู้คน ส่วนรถราติดบนท้องถนน บรรดาผู้เข้าฟังกล่าวกันว่า มีที่มาไกลถึงยะหริ่ง และปาลัส(อยู่ทางทิศตะวันตก)และบ่อทอง หนองจิก(อยู่ทางทิศเหนือ)" (11)

ในวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ตำรวจสันติบาลที่สงขลาเรียกให้ฮัจญีสุหลงไปพบ เขาไปพร้อมกับลูกชายคนโตที่เป็นล่าม เพราะฮัจญีสุหลงและเพื่อนๆ ที่ถูกเรียกตัวไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ทั้งหมดนั้นได้ "สูญหาย" ไปและไม่กลับมายังปัตตานีอีกเลย การสูญหายของฮัจญีสุหลงและพวกไม่เคยสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีพยาน ไม่มีการให้ความร่วมมือจากฝ่ายตำรวจ มีแต่ความรู้สึกกลัวที่หลอกหลอนสังคมปัตตานีเกี่ยวกับโศกนาฎกรรมของฮัจญีสุหลงและเพื่อนๆ (12)

๑๓) บทสรุป
บทความนี้ศึกษาถึงกำเนิดและความเป็นมาของการสร้างมายาคติว่าด้วย "ลัทธิแบ่งแยกดินแดน" ในวาทกรรมการเมืองสมัยใหม่ของรัฐไทย เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ผูกพันและรองรับมโนทัศน์การแบ่งแยกดินแดนมาจาก และก็ทำให้เกิดมายาคติในเรื่อง "กบฏหะยีสุหลง" และ "กบฏดุซงญอ"ด้วย ในเวลาเดียวกันพัฒนาการและความเป็นมาของรัฐไทยสยามที่เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย และการสร้างรัฐไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามมหาอาเซียบูรพา ก็มีส่วนในการผลักดันและสร้างแนวความคิดทางการเมืองของ "การแบ่งแยกดินแดน" ให้เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพลังการเมืองใหม่ในภูมิภาคต่างๆ จากใต้จรดเหนือและอีสาน กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการสร้างรัฐไทยสมัยชาตินิยมนี้ นำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงปราบปรามและสยบการเรียกร้องและสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเมืองของภูมิภาคทั้งหลายลงไป โดยที่กรณีของมลายูมุสลิมในภาคใต้มีลักษณะเฉพาะต่างจากภาคอื่น และมีผลสะเทือนที่ยังส่งผลต่อมาอีกนาน

บทความนี้มุ่งสร้างความ กระจ่างแจ้งในพัฒนาการและความเป็นมาของการเมืองยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพื่อที่จะช่วยทำให้มโนทัศน์เรื่อง "การแบ่งแยกดินแดน" มีบริบทอันถูกต้องขึ้นมาด้วย แทนที่จะเป็นเรื่องเล่าประดิษฐ์สร้างขึ้นมาโดยอำนาจรัฐและอุดมการณ์ของรัฐแต่ฝ่ายเดียว จากที่ได้อภิปรายมาทั้งหมด กล่าวได้ว่าเหตุการณ์และความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้นั้น มีทรรศนะในการมองที่ตรงข้ามกันระหว่างรัฐและประชาชนมลายูมุสลิมภาคใต้ ในขณะที่รัฐมองว่าการต่อต้านลุกฮือต่างๆของคนมลายูมุสลิมนั้นเป็นการ "กบฎ" แต่ฝ่ายประชาชนมุสลิมเองกลับมองว่า การเคลื่อนไหวถึงการประท้วงต่อสู้ต่างๆนั้นคือ "การทำสงคราม" เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมตามศรัทธาและความเชื่อของตน

จากการศึกษาในบทความนี้ เห็นได้ว่าผู้นำมลายูมุสลิมในภาคใต้มีความต้องการแน่วแน่ในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลไทย ต่อปัญหาขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในทศวรรษปี ๒๔๘๐ เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวและขบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นปฏิกิริยาต่อการจัดการปัญหาและไม่พอใจสภาพกดขี่ไม่ยุติธรรมที่พวกเขาได้รับอยู่ และต่อเนื่องมาจากการต่อรองเจรจากับรัฐบาล มีลักษณะสองอย่างในชุมชนมุสลิมที่ทางการไทยไม่เข้าใจ(จะด้วยเหตุใดก็ตาม) และนำไปสู่การสรุปว่าเป็นการแข็งขืนทางการเมือง

ข้อแรกคือ การที่ชุมชนมุสลิมมีการจัดตั้งและมีโครงสร้างสังคมที่เข้มแข็งแน่นเหนียว ทำให้สามารถดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกภาพได้สูง ลักษณาการเช่นนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ผู้นำรัฐและเจ้าหน้าที่หวาดระแวง และกระทั่งหวาดกลัวการกระทำที่อาจนำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจการปกครองของพวกตนได้ การเปรียบเทียบชุมชนในสายตาของเจ้าหน้าที่ก็ย่อมมาจากการเปรียบเทียบกับชุมชนไทย ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปที่ไม่ช่วยให้เข้าใจหรือมองชุมชนมุสลิมในด้านบวกได้มากนัก โดยเฉพาะในระยะเวลาที่สถานการณ์ตึงเครียด

ข้อสองคือ ลักษณะและธรรมชาติของศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่มีการแบ่งแยกระหว่างศาสนากับการเมืองหรือสังคม ทรรศนะเชิงลบของเจ้าหน้าที่รัฐไทยเห็นได้จาก ความเห็นของศาลเมื่อตัดสินว่าพฤติการณ์ของฮัจญีสุหลงในทางศาสนาและอื่นๆ ล้วนเป็นการเมืองทั้งสิ้น ในความหมายของการกระทำที่บ่อนทำลายอำนาจและความชอบธรรมของรัฐไทยลงไป ทั้งหมดนี้ทำให้ทางการไทยมองว่า การปฏิบัติหรืออ้างถึงศาสนาในฝ่ายมุสลิมนั้น แท้จริงแล้วคือมีจุดหมายทางการเมืองเป็นสำคัญ

นักวิชาการอธิบายถึงสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างชนชาติส่วนน้อยกับรัฐว่ามาจากการมีความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาที่แตกต่างตรงข้ามกัน ในทางเป็นจริงนั้น ดังกรณีของกบฏดุซงญอ ปัญหาของศาสนาและเชื้อชาตินั้น ขึ้นต่อปัญหาและความเป็นมาในพัฒนาการทางการเมืองระดับชาติและในทางสากลด้วย ดังเห็นได้จากการที่ทรรศนะและการจัดการของรัฐไทยต่อข้อเรียกร้องของขบวนการมุสลิมว่า เป็นภยันตรายและข่มขู่เสถียรภาพของรัฐบาลไป

จนเมื่อเกิดรัฐประหาร ๒๔๙๐ และสหรัฐฯและอังกฤษต้องการรักษาสถานะเดิมของมหาอำนาจในภูมิภาคอุษาคเนย์เอาไว้ วาทกรรมรัฐว่าด้วย "การแบ่งแยกดินแดน" ก็กลายเป็นข้อกล่าวหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์สงครามเย็นในการเมืองระหว่างประเทศ

ส่วนภาวการณ์ในประเทศ การสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายใต้อำนาจรัฐของศูนย์กลาง ก็เป็นความจำเป็นภายในประเทศที่เร่งด่วน ทั้งหมดทำให้การใช้กำลังและความรุนแรงต่อกลุ่มชนชาติ(ส่วนน้อย) และหรือกลุ่มอุดมการณ์ที่ไม่สมานฉันท์กับรัฐบาลกลาง เป็นความชอบธรรมและถูกต้องไปได้ในที่สุด

ภาคผนวก: ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของปตานีและสยาม จากยุคโบราณถึง พ.ศ. ๒๕๐๐
รวบรวมจาก อิมรอน มะลูลีม วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมในประเทศ กรณีศึกษากลุ่มมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรุงเทพ, สำนักพิมพ์อิสลามิคอะเคเดมี, ๒๕๓๘) และ รัตติยา สาและ, การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส (กรุงเทพ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๔)

รัฐปตานี
- ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ (ศตวรรษที่ ๖) เมืองปตานีเริ่มส่งทูตและการค้าติดต่อกับอาณาจักรจีน

- พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๗ นครรัฐปตานีเป็นส่วนหนึ่งของรัฐหรือแคว้นลังกาสุกะที่เป็นฮินดู-ชวาและพุทธมหายาน และยังเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายกลุ่มเมืองศรีวิชัย

- พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ (ศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕) อาณาจักรปตานีนับถืออิสลาม ปฏิสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัยที่เพิ่งก่อตั้ง ต่อมา เมืองมลายูปักษ์ใต้ถูกกำกับโดยเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา

- พ.ศ. ๒๐๔๓ - ๒๓๕๑ (ค.ศ.๑๕๐๐ - ๑๘๐๘) ราชอาณาจักรมลายู-อิสลาม ปตานี

- พ.ศ. ๒๓๓๒ - ๒๔๕๑ (ค.ศ.๑๗๘๙ - ๑๘๐๘) กบฏตนกูละมิดดิน รายาปตานี

- พ.ศ.๒๓๗๔ (ค.ศ.๑๘๓๑) ไทรบุรีก่อกบฏ ขยายไปทั่วเมืองมลายู

- พ.ศ. ๒๓๕๑ (ค.ศ ๑๘๐๘) กบฏดะโต๊ะปักลัน

- พ.ศ. ๒๓๗๕ (ค.ศ.๑๘๓๒) ถูกปราบ สยามแบ่งแยกเป็นเจ็ดหัวเมือง

- พ.ศ. ๒๓๕๑ - ๒๔๔๕ (ค.ศ.๑๘๐๘ - ๑๙๐๒) นครรัฐปตานีถูกแบ่งออกเป็น ๗ หัวเมือง (ปตานี หนองจิก ยะหริ่ง ยะลา สายบุรี รามัน ระแงะ)

- พ.ศ. ๒๓๘๒ (ค.ศ. ๑๘๓๙) เมืองไทรบุรี เมืองกะบังปาสุ เมืองเปอร์ลิส เมืองสตูล

- พ.ศ. ๒๔๐๒ (ค.ศ.๑๘๕๙) เมืองไทรบุรี เมืองเปอร์ลิส เมืองสตูล

- พ.ศ. ๒๔๔๐ (ค.ศ. ๑๘๙๗) มณฑลไทรบุรี

- พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๒๔๔๕ "กบฏพระยาแขกเจ็ดหัวเมือง"

- พ.ศ. ๒๔๔๕ - ๒๔๔๙ (ค.ศ. ๑๙๐๒ - ๑๙๐๖) ตั้ง "บริเวณ ๗ หัวเมือง"

- พ.ศ. ๒๔๕๒ - ๒๔๗๖ (ค.ศ.๑๙๐๙ - ๑๙๓๓) จากสัญญาอังกฤษ มณฑลไทรบุรีประกอบไปด้วย รัฐเคดาห์และรัฐเปอร์ลิสของสหพันธรัฐมาเลเซีย และเมืองสตูล (รวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต)

- พ.ศ. ๒๔๔๙ - ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๐๖ - ๑๙๓๒) มณฑลปัตตานี (ปตานี ยะลา สายบุรี บางนรา)

- พ.ศ. ๒๔๗๕ - ปัจจุบัน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล สงขลา รวมเป็นห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้

- พ.ศ. ๒๔๗๖ ถึงปัจจุบัน จังหวัดสตูล

สยามประเทศไทย
- พ.ศ. ๑๖๙๖ (ค.ศ.๑๒๕๓) กองทัพมงโกลบุกถึงยูนนาน กำเนิดรัฐไททั้งหลาย
- พ.ศ. ๑๘๙๓ (ค.ศ.๑๓๕๐) กำเนิดอยุธยา
- พ.ศ. ๒๐๐๓ (ค.ศ.๑๔๖๐) อยุธยามีอำนาจเหนือทวาย
- พ.ศ. ๒๑๐๖ (ค.ศ.๑๕๖๓) กบฏปัตตานีสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ
- พ.ศ. ๒๑๓๒-๗๖ กบฏปัตตานีสมัยพระเจ้าปราสาททอง

- พ.ศ. ๒๓๒๘ รัชกาลที่ ๑ โจมตีปัตตานี
- พ.ศ. ๒๓๗๔ กบฏไทรบุรี
- พ.ศ. ๒๔๔๒ (ค.ศ.๑๘๙๙) รัชกาลที่ ๕ ปฏิรูปการปกครองสยาม
- พ.ศ. ๒๔๔๔ (ค.ศ.๑๙๐๑) ออกกฎข้อบังคับการปกครองหัวเมืองต่างๆ ระบบเทศาภิบาล
- พ.ศ. ๒๔๕๐-๑ (ค.ศ. ๑๙๑๐) กบฏชาวบ้านปัตตานีสมัยรัชกาลที่ ๖
- พ.ศ. ๒๔๕๒ (ค.ศ. ๑๙๐๙) สนธิสัญญาอังกฤษ
- พ.ศ. ๒๔๖๖ (ค.ศ.๑๙๒๓) กระทรวงมหาดไทยออกสมุดคู่มือสำหรับปกครองในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลามขึ้น

- พ.ศ. ๒๔๗๕ การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม
- พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๘๑ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา
- พ.ศ. ๒๔๗๗ รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้ออกกฎหมายให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ทั่วประเทศ แต่ให้ยกเว้น "บริเวณเจ็ดหัวเมืองซึ่งมีกฎข้อบังคับ ร.ศ. ๑๒๐" ในส่วนที่เกี่ยวด้วยครอบครัว ให้ใช้กฎหมายอิสลาม

- พ.ศ. ๒๔๘๑-๘๗ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามครั้งแรก
- พ.ศ. ๒๔๘๖ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ พุทธศักราช ๒๔๘๖ ยกเลิกข้อยกเว้นแต่เดิมสำหรับคนมลายูมุสลิม

- สิงหาคม ๒๔๘๗ - สิงหาคม ๒๔๘๘ รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ (๑)
- พ.ศ. ๒๔๘๘ พระราช กฤษฏีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. ๒๔๘๘
- กันยายน ๒๔๘๘ - มกราคม ๒๔๘๙ รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
- มกราคม ๒๔๘๙ - มีนาคม ๒๔๘๙ รัฐบาลควงฯ (๒)
- มีนาคม ๒๔๘๙ - สิงหาคม ๒๔๘๙ รัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์
- สิงหาคม ๒๔๘๙ - ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
- ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ รัฐประหารโดยคณะทหารบก
- พฤศจิกายน ๒๔๙๐ - กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ ตั้งรัฐบาลควงฯ (๓)

- ๑๖ มกราคม ๒๔๙๑ จับกุมฮัจญีสุหลง มลายูมุสลิมวางแผนบอยคอตการเลือกตั้งทั่วไป
- กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ - เมษายน ๒๔๙๑ รัฐบาลควงฯ (๔)
- เมษายน ๒๔๙๑ - กันยายน ๒๕๐๐ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ยุค ๒)
- ๒๖-๒๗ เมษายน ๒๔๙๑ เกิดจลาจลที่หมู่บ้านดุซงญอ นราธิวาส
- พ.ศ. ๒๔๙๕ ปล่อยตัวฮัจญีสุหลงหลังจากถูกพิพากษาจำคุก ๔ ปี ๖ เดือน
- ๑๓ สิงหาคม ๒๔๙๗ ฮัจญีสุหลงหายสาบสูญไป หลังจากตำรวจสันติบาลเรียกไปพบที่สงขลา พร้อมกับลูกชายคนโต

++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ

(1) ดูรายละเอียดใน สุชิน ตันติกุล, รัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๑๕), หน้า ๑๖๖-๑๗๑.

(2) รัฐบาลนายควงสมัยนี้เป็นครั้งที่ ๓ ที่เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี. รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ( ๑) สิงหาคม ๒๔๘๗-สิงหาคม ๒๔๘๘ และรัฐบาลควง(๒) มกราคม ๒๔๘๙ -มีนาคม ๒๔๘๙ ส่วนรัฐบาลควง(๓) พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ถึง กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ ตามมาด้วยรัฐบาลควง (๔) กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ ถึง เมษายน ๒๔๙๑ เป็นอันสิ้นสุด ก่อนที่จอมพล ป. พิบูลสงครามจะกลับเข้ามารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม(ยุค ๒) เมษายน ๒๔๙๑ ถึง กันยายน ๒๕๐๐

(3) Surin Pitsuwan, Islam and Malay Nationalism, p. 159.

(4) ข้อความข้างบนนี้มาจากคำไว้อาลัยของ พลโท ชิด มั่นศิลป สินาดโยธารักษ์ ใน พระยารัตนภักดี, ดินแดนไทยในแหลมทอง(แหลมมลายู) (กรุงเทพฯ, งานพระราชทานเพลิงศพพระยารัตนภักดี(แจ้ง สุวรรณจินดา), พ.ศ. ๒๕๑๕, หน้า ๑-๖.

(5) ดูรายละเอียดเบื้องหลังการจับกุมฮัจญีสุหลง ความไม่ลงรอยกันระหว่างฮัจญีสุหลงกับพระยารัตนภักดีที่มีมานานก่อนหน้าแล้ว ใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ "ความรุนแรงกับการจัดการความจริง….." บทที่ ๔. และ เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฎ…หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้ (กรุงเทพฯ, ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, ๒๕๔๗).

(6) เรื่องโจรจีนคอมมิวนิสต์เข้ามาปล้นทำร้ายชาวบ้านฝั่งไทยนั้น เฉินผิง(จีนเป็ง) อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ได้เขียนในบันทึกของเขาว่า ในระยะสงครามโลกครั้งที่ ๒ และการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นนั้นมีกลุ่มทหารจีนก๊กมินตั๋งเข้ามาร่วมขบวนกับ พคม.ด้วย แต่พวกนั้นมีพฤติการณ์เป็นโจรและทำร้ายชาวบ้านทั้งสองฝั่ง จึงถูกขับและปราบโดย พคม.เอง ต่อมาก็ยังมีกลุ่มโจรเล็กโจรน้อย ทำความเดือดร้อนอยู่เป็นประจำ เพราะภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง และการลักลอบค้าข้าวบริเวณชายแดนเป็นธุรกิจที่ทำเงินดีมาก แสดงว่าโจรจีนที่มาจากฝั่งมลายานั้นมีจริง แต่ไม่จำเป็นว่าเป็นพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเสมอไป ดู Chin Peng, My Side of History as told to Ian Ward and Norma Miraflor (Singapore: Media Masters, 2003), p. 327-8.

(7) Singapore Free Press, 28 July 1948 อ้างใน W.K. Che Man, Muslim Separatism, p. 67.

(8) Clive J. Christie, A Modern History of Southeast Asia…, p. 89.

(9) ศาลจังหวัดปัตตานี คดีอาญาที่ ๒๕/๒๔๙๑ อัยการจังหวัดปัตตานี กับ หะยีสุหลงและพรรคพวก, วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ ตีพิมพ์ใน พระยารัตนภักดี, ประวัติเมืองปัตตานี (กรุงเทพฯ ๒๕๐๙), หน้า ๗๕-๗๘.

(10) ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช, คดีดำเลขที่ ๒๕๐/๒๔๙๑, "คำพิพากษาคดีหะยีสุหลง", อ้างในเฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, หะยีสุหลง…, หน้า ๑๓๔.

(11) อาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี , ประวัติศาสตร์ปัตตานี หน้า ๙๕-๙๖.

(12) เพิ่งอ้าง, หน้า ๙๗.

 

 

คลิกกลับไปทบทวน ตอนที่ ๑
คลิกกลับไปทบทวน ตอนที่ ๒
คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๓
คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๔
คลิกไปอ่านต่อ ภาคผนวก

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่ว่านี้ เป็นเพียงผลอันเกิดแต่มูลเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "มูลเหตุ" จากแบบแผนวิธีคิดและประพฤติปฏิบัติ ซึ่งอาจเรียกรวมๆ ว่า "วัฒนธรรมการเรียนรู้" อันเป็นสมบัติแนบเนื่องอยู่กับสังคมวัฒนธรรมหนึ่งๆ สมบัติทางวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ว่านี้ นับเป็นผลพวงของเหตุผลและความจำเป็นตามเงื่อนไขสถานการณ์แห่งยุคสมัย ครั้นเมื่อเงื่อนไขสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมการเรียนรู้ชุดเดียวกันนั้นเอง ก็มักกลายเป็นโทษสมบัติและมิจฉาทิฐิ บั่นทอนความมั่นคงและการดำรงคงอยู่ของสังคม (คำนำ โดยเสน่ห์ จามริก)

06-02-2550

Thai History
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com