เว็บไซต์ใช้เวลาพัฒนามาตลอดเวลา ๖ ปี กว่า ๒,๑๙๐ วัน แต่ละวันใช้เวล ากว่า ๖ ชั่วโมง รวมเวลากว่า ๑๓,๐๐๐ ชั่วโมง เพื่อสร้างอุดมศึกษาทางเลือกสำหรับทุกคนที่อ่านไทย















บทความลำดับที่ ๑๑๑๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์
ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ ภายใต้ลิขซ้าย ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นักศึกษาและสมาชิกได้รับอนุญาตให้คัดลอกไปได้คำต่อคำ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร เมื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
R
H
040150
release date
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น... midnight's
ร่วมกันสร้างสรรค์ความรู้และความเสมอภาคเพื่อเตรียมตัวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาธิปไตยในคริสตศตวรรษที่ ๒๑
สำหรับผู้ที่สนใจบทความวิชาการก่อนหน้า ท่านสามารถคลิกที่ภาพประกอบ เพื่อย้อนกลับไปอ่านบทความที่เพิ่งผ่านมาได้จากที่นี่

นักศึกษา สมาชิก สามารถคลิกเพื่อค้นหาบทความต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้จากแถบสีฟ้า
โดยใส่คำค้นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ต้องการค้นหา
midnightuniv(at)gmail.com

The Moral Order
The Midnight University

การเสริมสร้างพลังทางศีลธรรมในสังคมไทย
ปัญหาสังคมไทยในมุมมองบริโภคนิยมและรัฐอำนาจนิยม
พระไพศาล วิสาโล : เขียน
วัดป่ามหาวัน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

บทความวิชาการนี้ เป็นการชี้ถึงปัญหาสังคมไทยอย่างรอบด้าน
อันเนื่องมาจากพัฒนาการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
และมุ่งเข้าหาแนวทางวัตถุนิยม บริโภคนิยม และรัฐชาติสมัยใหม่
ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้ทำให้ศีลธรรมเสื่อมคลายไปจากสังคม
ปัญหาเหล่านี้มีทางออกอย่างไร และสังคมไทยต้องปรับตัวอย่างรอบด้านมากน้อยขนาดไหน
พบกับการลำดับเรื่องราวเหล่านี้ได้จากงานเขียน ๔ ตอน ของ
การเสริมสร้างพลังทางศีลธรรมในสังคมไทย
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๑๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖.๕ หน้ากระดาษ A4)

 

ปัญหาสังคมในมุมมองบริโภคนิยมและรัฐอำนาจนิยม
พระไพศาล วิสาโล : วัดป่ามหาวัน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

(๑) การเสริมสร้างพลังทางศีลธรรมในสังคมไทย

ภาพอดีตของสังคมไทย
เมืองไทยในอดีตนั้นได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีมาตรฐานทางศีลธรรมค่อนข้างสูง เป็นที่ประจักษ์ในสายตาของชาวต่างชาติ ดังตัวอย่างเช่น เมื่อสังฆราชปัลเลอกัวซ์มาเยือนเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น ท่านได้บันทึกถึงชาวสยามว่า "ชาวประชาชาตินี้มีที่น่าสังเกตตรงอัธยาศัยอันอ่อนโยนและมีมนุษยธรรม ในพระนครซึ่งมีพลเมืองค่อนข้างคับคั่ง ไม่ค่อยปรากฏว่ามีการทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรง ส่วนฆาตกรรมนั้นเห็นกันว่าเป็นกรณีพิเศษมากทีเดียว บางทีตลอดทั้งปีไม่มีการฆ่ากันตายเลย....ไม่เพียงแต่ต่อมนุษย์ด้วยกันเท่านั้นที่คนไทยมีมนุษยธรรม ยังเผื่อแผ่ไปถึงสัตว์เดียรัจฉานอีกด้วย"

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับการบันทึกของลาลูแบร์ ซึ่งพูดถึงชาวสยามสมัยพระนารายณ์หรือ ๒๐๐ ปีก่อนหน้านั้นว่า เป็นชนชาติที่สมถะอย่างยิ่ง อีกทั้งยังไม่ชอบการฆ่าและกักขังสัตว์

จวบจนสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อคาร์ล ซิมเมอร์แมน มาสำรวจสภาพเศรษฐกิจไทย เขาอดไม่ได้ที่จะชื่นชมว่า "พลเมืองของประเทศสยามมีนิสัยใจคอดี และไม่มีความโลภในการสะสมโภคทรัพย์ไว้เป็นมาตรฐานแห่งการครองชีวิต การละทิ้งเด็ก การขายเด็ก การสมรสในวัยเยาว์ และความประพฤติชั่วร้ายต่าง ๆ ซึ่งอนารยชนชอบประพฤติกัน ไม่ปรากฏในหมู่คนไทยเลย"

ภาพปัจจุบันของสังคม : มองปัญหาสังคมเชิงสถิติ
คำบรรยายดังกล่าวเกือบจะเรียกได้ว่าตรงข้ามกับสภาพในปัจจุบัน ทุกวันนี้ประเทศไทยมีอาชญากรรมในอัตราที่สูงมาก มีคนถูกฆ่าตายวันละเกือบ ๒๐ คนหรือตายเกือบทุกชั่วโมง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับ คดีอุกฉกรรจ์อื่น ๆ เช่น คดีข่มขืน (ซึ่งเพิ่มถึงร้อยละ ๓๐ ในชั่ว ๗ ปี คือจาก ๓,๗๔๑ รายในปี ๒๕๔๐ เป็น ๕,๐๕๒ รายในปี ๒๕๔๗)[๑] ปัจจุบันจึงมีผู้หญิงถูกกระทำชำเราไม่ต่ำกว่า ๑๔ คนต่อวัน ในขณะที่เด็กถูกละเมิดทางเพศทุก ๒ ชั่วโมง[๒]

นอกจากนั้นประเทศไทยยังมีปัญหาความรุนแรงในลักษณะอื่นอีกมาก เช่น ความรุนแรงในครอบครัว มีเด็กและผู้หญิงถูกบิดาและสามีทำร้ายเป็นจำนวนมาก. ในปี ๒๕๔๕ ตัวเลขสูงถึง ๔,๔๓๕ ราย[๓] เฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีผู้หญิงถึงร้อยละ ๒๓ ที่ถูกกระทำรุนแรงจากสามีหรือคู่ครอง [๔] ขณะที่ในโรงเรียนนั้นมีการรุมตบตีและทำร้ายร่างกายกันอย่างแพร่หลาย ที่น่าวิตกก็คือ การกระทำดังกล่าวได้รับการชื่นชมจากนักเรียนจำนวนมาก โดยที่ผู้ที่ลงมือทำร้ายก็หาได้รู้สึกผิดหรืออับอายไม่ กลับพอใจที่มีการถ่ายวีดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวและเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง ราวกับว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นวีรกรรม

ความรุนแรงในลักษณะรุมทำร้ายยังมีให้เห็นอีกมากมาย เช่น การรุมทำร้ายหรือการตีกันระหว่างนักเรียนต่างสถาบันจนบางครั้งถึงแก่ชีวิต เพียงแค่เวลา ๘ เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๔๖ ถึง สิงหาคม ๒๕๔๗ มีความรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างนักเรียนนักศึกษากว่า ๓,๐๐๐ ครั้ง[๕] นอกจากนั้นยังมีการรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาหรือผู้ที่กระทำความผิดซึ่งหน้ากระทั่งถึงแก่ความตายด้วยความสะใจ มิพักต้องพูดถึงความรุนแรงโดยรัฐ ซึ่งได้รับการแซ่ซ้องจากประชาชน อาทิ การฆ่าตัดตอนหรือทำวิสามัญฆาตกรรมในสงครามปราบปรามยาเสพติดซึ่งมีคนตายถึง ๒,๕๐๐ คนภายในเวลา ๒ เดือน การใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม (ดังกรณี ตากใบ) หรือใช้วิธีการนอกกฎหมายกับผู้ต้องหาในการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

กล่าวอีกนัยหนึ่งทุกวันนี้ความรุนแรงมิได้ผูกขาดโดยอาชญากรหรือคนร้าย (ซึ่งมักถูกมองว่ามีจิตใจหยาบช้า)เท่านั้น แต่ได้กลายเป็นพฤติกรรมของคนปกติธรรมดาในสังคมไทยไปแล้ว ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก ชายหรือหญิง เจ้าหน้าที่หรือพลเมืองดี ความรุนแรงดังกล่าวยังสะท้อนจากความเห็นของคนไทยร้อยละ ๖๗ ที่เห็นด้วยให้มีการลงโทษด้วยวิธีรุนแรง คือ ประหารชีวิตและวิสามัญฆาตกรรม สำหรับกรณีนักเรียนยกพวกตีกัน ฆ่าข่มขืน ก่อความไม่สงบในภาคใต้ และผู้ค้ายาบ้า (อีกร้อยละ ๑๖.๗๔ เห็นควรให้ติดคุกตลอดชีวิต)[๖] ในขณะที่เยาวชนร้อยละ ๕๙.๕ เปิดเผยว่ามีความคิดที่จะใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยร้อยละ ๓๙.๕ คิดใช้อาวุธคือมีดหรือปืนแก้ปัญหา[๗]

ในด้านการประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นอกจากการปล้น จี้ ลักขโมยซึ่งเกิดขึ้นอย่างดกดื่น รวมทั้งการยึดเอาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้อื่นทำตกไว้มาเป็นของตน (ซึ่งจัดเป็นอทินนาทานอย่างหนึ่ง) การคดโกงหรือคอรัปชั่น นับเป็นปรากฏการณ์ที่โดดเด่นที่สุด เนื่องจากแพร่หลายไปทุกวงการและทุกระดับ

เมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยถูกจัดว่ามีความโปร่งใสอยู่ในอันดับที่ ๓๓ ซึ่งต่ำกว่า ฟิลิปปินส์ จีน และเม็กซิโก ปรากฏการณ์ดังกล่าวสอดรับกับความเห็นของเยาวชนร้อยละ ๘๓ ที่เห็นว่า การซื่อมากไปนั้นไม่ดีเพราะจะถูกคนเอาเปรียบ, ขณะที่ร้อยละ ๕๑ เห็นว่า ถึงแม้จะโกงบ้าง ก็ไม่เป็นไร หากมีผลงานหรือทำประโยชน์แก่สังคม[๘] ทุกวันนี้พูดกันมากขึ้นว่าการคอรัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ใครที่ไม่คอรัปชั่น ไม่ใช่เพราะไม่อยาก แต่เป็นเพราะไม่มีโอกาสเสียมากกว่า เพราะแม้แต่เศรษฐีที่มีเงินนับหมื่นล้านก็ยังคอรัปชั่น เป็นแต่ไม่มีใบเสร็จเป็นหลักฐานเท่านั้น

ควรกล่าวด้วยว่านอกจากการคดโกงที่เกี่ยวข้องกับเงินทองแล้ว ยังมีการคดโกงอีกประเภทหนึ่งซึ่งนิยมกระทำอย่างดาษดื่นมาก ได้แก่ การทุจริตในการสอบทุกระดับ ทั้งในแวดวงของคฤหัสถ์และภิกษุสามเณร รวมไปถึงการวิ่งเต้นใช้เส้นสายซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่มีความสามารถเหมาะสมกว่า

ในเรื่องความไม่ซื่อตรงต่อคู่ครองหรือความสัมพันธ์ทางเพศที่ขาดความรับผิดชอบนั้น เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทย ในการสำรวจพฤติกรรมของคนไทยในกรุงเทพมหานคร พบว่า ผู้ชายร้อยละ ๔๑ ตอบว่าเคยนอกใจ (อีกร้อยละ ๒๒ ตอบว่าอาจจะเคย) ส่วนผู้หญิงร้อยละ ๒๒ เคยนอกใจคู่ครอง (อีกร้อยละ ๒๔ จำไม่ได้) นอกจากนั้น ผู้ชายถึงร้อยละ ๔๕ ตอบว่าตนมีคู่ครองปีละ ๓ คน อีกร้อยละ ๒๕ ตอบว่ามี ๒ คนต่อปี ร้อยละ ๓๐ เท่านั้นที่ตอบว่ามีเพียงคนเดียว[๙]

พฤติกรรมดังกล่าวมิได้จำกัดเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น หากยังแพร่หลายในหมู่เยาวชน จนเกิดค่านิยมเปลี่ยนคู่ แลกคู่ หรือไล่ล่าหาคู่นอนให้ได้มากที่สุด ดังมีการสำรวจพบว่าร้อยละ ๒๙.๔ ของวัยรุ่นในกรุงเทพ ฯ เคยมีเพศสัมพันธ์โดยมีคู่นอนเฉลี่ย ๒ คน ในกลุ่มนี้ร้อยละ ๒๓.๘ นิยมมีคู่นอนประจำตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ที่น่าเป็นห่วงคือร้อยละ ๒๒.๗ ของกลุ่มวัยรุ่นที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ใช้เวลาสานความสัมพันธ์ไม่เกิน ๑ วันก็ตกลงปลงใจมีเพศสัมพันธ์ด้วยกัน[๑๐]

ความสำส่อนทางเพศหรือเพศสัมพันธ์ที่ขาดความรับผิดชอบดังกล่าว นับเป็นสาเหตุสำคัญของการทำแท้งปีละ ๓ แสนคน หรือวันละ ๑,๐๐๐ คน[๑๑] ขณะที่มีเด็กวัยรุ่นมาทำคลอดทุก ๆ ๑๐ นาที [๑๒] ผลที่สืบเนื่องตามมาก็คือมีการทิ้งทารกตามที่ต่าง ๆ เฉลี่ยวันละ ๓ คน[๑๓] และถ้ารวมเด็กที่มิใช่ทารก จำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละเกือบ ๒๐ คน หรือปีละกว่า ๖,๐๐๐ คน[๑๔] ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงจำนวนเด็กที่มาเป็นโสเภณีมากขึ้นเพื่อตอบสนองความสำส่อนทางเพศของผู้ใหญ่ ซึ่งคาดว่าปัจจุบันมีเด็กขายบริการทางเพศถึงร้อยละ ๔๐ ของโสเภณีที่เป็นผู้ใหญ่[๑๕]

พฤติกรรมที่สมควรกล่าวถึงเพราะมีผลกระทบต่อศีลธรรม หรือการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม ได้แก่ การหมกมุ่นในอบายมุข อาทิ สุราเมรัย ปัจจุบันคนไทยกินเหล้าสูงสุดเป็นอันดับ ๑ ในเอเชีย และติดอันดับ ๑ ใน ๕ ของโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ประเทศอื่นมีแนวโน้มลดลง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากปรากฏการณ์ดังกล่าวคือเยาวชน ทุกวันนี้มีเด็กระดับมัธยมศึกษาขึ้นไปร้อยละ ๓๘ กินเหล้า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิง กินเหล้าเพิ่มเป็น ๕.๖ เท่าในชั่วเวลาเพียง ๗ ปี (ปี ๒๕๓๙-๒๕๔๖) [๑๖] สำหรับยาบ้านั้น แม้ว่าปริมาณการขายจะลดลงไปมาก แต่จำนวนผู้เสพก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้นยังพบว่าคนไทยนิยมเล่นการพนันและซื้อหวยอย่างแพร่หลาย ประมาณว่า ๑ ใน ๓ ของครัวเรือนทั้งประเทศซื้อหวยทั้งใต้ดินและบนดินถึงเดือนละ ๑,๘๕๐ บาทโดยเฉลี่ย จำเพาะหวยใต้ดินมูลค่าการเล่นทั้งประเทศมีจำนวนสูงถึงปีละ ๔ แสนล้านบาท[๑๗] ยังไม่นับการพนันบอล ซึ่งพบว่าร้อยละ ๒๕ ของผู้ที่อยู่ในวงจรการพนันฟุตบอลเป็นเยาวชน และคาดว่าจำนวนเงินที่ประชาชนต้องสูญเสียให้กับการพนันฟุตบอลสูงถึง ๑๒,๐๐๐-๑๕,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี[๑๘]

พฤติกรรมดังกล่าว เมื่อผนวกกับเมื่อผนวกกับความฟุ้งเฟ้อและค่านิยมบริโภค ซึ่งแพร่หลายไปยังทุกระดับ ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก เมืองหรือชนบท จึงนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ มากมาย อาทิ ปัญหาหนี้สิน (ซึ่งมีสูงถึง ๑๑๕,๓๕๕ ต่อครอบครัวโดยเฉลี่ย) ปัญหาความแตกแยกในครอบครัว และปัญหาอาชญากรรม ไม่ว่าการทำร้ายถึงแก่ชีวิต การปล้น จี้ ลักขโมย รวมไปถึงการฆ่าตัวตาย ซึ่งทุกวันนี้มีถึงวันละ ๑๓ คน หรือ ๒ คนทุก ๓ ชั่วโมง [๑๙]

เชิงอรรถ
[๑] โครงการสุขภาพคนไทย ๒๕๔๘
[๒] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘
[๓] นสพ.ผู้จัดการ ๒๕๔๖ อ้างใน เด็กไทยในมิติวัฒนธรรม (กลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ๒๕๔๘) น.๒๗
[๔] สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล อ้างใน การสาธารณสุขไทย ๒๕๔๔-๒๕๔๗
(กระทรวงสาธารณสุข ๒๕๔๙) น.๗๔
[๕] นสพ.มติชน วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๗ อ้างใน เด็กไทยในมิติวัฒนธรรม น.๑๕๙
[๖] มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ปี ๒๕๔๘
[๗] มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปี ๒๕๔๖
[๘] องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ปี๒๕๔๗
[๙] การสำรวจของดร.แมนดริลลอ ซิริลลอ อ้างใน พุทธิกา สิงหาคม ๒๕๔๘

[๑๐] การสำรวจความเห็นของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปี ๒๕๔๘
[๑๑] ประมาณการของพญ.สุวรรณ เรีองกาญจนเศรษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสริมสุขภาพวัยรุ่น ร.พ.รามาธิบดี
[๑๒] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘
[๑๓] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘
[๑๔] กองกลาง กรมพัฒนสังคมและบริการ อ้างในการสาธารณสุขไทย ๒๕๔๔-๒๕๔๗ น.๗๖
[๑๕] รายงานสภาวการณ์เด็กและเยาวชนไทย ๒๕๔๐ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
[๑๖] มูลนิธิเมาไม่ขับ อ้างใน เด็กไทยในมิติวัฒนธรรม น.๙๔
[๑๗] คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ๒๕๔๙
[๑๘] คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด
สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘
[๑๙] กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ๒๕๔๘


(๒) การเสริมสร้างพลังทางศีลธรรมในสังคมไทย

ความล้มเหลวของสถาบันทางศีลธรรม
สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตทางศีลธรรม ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วยังเป็นรากเหง้าของวิกฤตต่าง ๆ อีกมากมายในปัจจุบัน อาทิ วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม วิกฤตทางการเมือง และวิกฤตทางเศรษฐกิจ (ซึ่งสามารถหวนกลับมาได้ทุกเวลา) รวมไปถึงช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นระหว่างคนรวยกับคนจน และความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นภายในชาติ นอกจากนั้นวิกฤตศีลธรรมดังที่กล่าวมา ยังเป็นภาพสะท้อนถึงความล้มเหลวสถาบันต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่ในการเสริมสร้างศีลธรรมในสังคมไทย อาทิ ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน และสถาบันศาสนา

ครอบครัว
ครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่มีหน้าที่ให้การกล่อมเกลาทางศีลธรรมแก่ผู้คนโดยเฉพาะในช่วงต้น ๆ ของชีวิต ในอดีตครอบครัวได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการจรรโลงศีลธรรมในสังคม แต่ปัจจุบันครอบครัวมีบทบาทลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ชัด หรือไม่มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้ ส่วนหนึ่งเพราะต้องใช้เวลาไม่น้อยกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ ยิ่งในกรุงเทพ ฯ ด้วยแล้ว จำนวนมากต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่และกว่าจะกลับถึงบ้านก็ค่ำแล้ว จึงมีเวลาอยู่กับลูกน้อยมาก

พ่อแม่ถึงร้อยละ ๔๓ ในกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่ารู้สึกห่างเหินกับลูก เนื่องจากในแต่ละวันมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกเพียง ๑-๓ ชั่วโมงเท่านั้น [1] สภาพดังกล่าวอาจไม่ส่งผลเสียหายมากนักหากครอบครัวนั้นเป็นครอบครัวขยาย มีปู่ย่าตายายหรือลุงป้าน้าอาช่วยดูแล แต่ปัจจุบันครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ก็เท่ากับว่าบ้านมิใช่สถานที่ที่จะให้การกล่อมเกลาลูกได้ดีดังแต่ก่อน

อย่างไรก็ตาม บ้านที่มีพ่อและแม่อยู่ด้วยกันกับลูกนั้นยังนับว่าดี เพราะปัจจุบันมีบ้านจำนวนมากที่มีพ่อหรือแม่เพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ประมาณว่าครอบครัวพ่อแม่เดี่ยวในปัจจุบันมีถึง ๑.๓ ล้านครอบครัว ที่ร้ายกว่านั้นก็คือมีครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่ลูกไม่ได้พบหน้าพ่อแม่เลยเป็นเวลานาน ๆ จำเพาะในชนบท พบว่ามีเด็กถึงร้อยละ ๓๐ ที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรือพ่อแม่แยกทางกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวมีสูงถึง ๑ ใน ๔ ของผู้ที่จดทะเบียนสมรสกัน [2]

ตัวเลขดังกล่าวย่อมชี้ให้เห็นว่าครอบครัวในปัจจุบัน ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสภาพความเปลี่ยนแปลงในสังคม ทำให้แม้แต่การที่จะรักษาสภาพความเป็นครอบครัวที่มีพ่อแม่และลูกอยู่กันอย่างพร้อมหน้าก็เป็นไปได้ยากเสียแล้ว ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงอิทธิพลของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ในหลายครอบครัวการทะเลาะเบาะแว้งของพ่อแม่มีผลต่อพฤติกรรมของลูกมาก ดังมีตัวเลขชี้ว่าร้อยละ ๕๕ ของเด็กในสถานพินิจมาจากครอบครัวที่แตกแยก [3]

แต่นอกจากพฤติกรรมในทางรุนแรงและผิดศีลธรรมของเด็กแล้ว พฤติกรรมในทางลบด้านอื่น ๆ เช่น พฤติกรรมในทางบริโภคนิยมหรือความหลงใหลในวัตถุและอบายมุข เด็กจำนวนไม่น้อยก็ได้รับอิทธิพลมาจากพฤติกรรมของพ่อแม่ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พ่อแม่นิยมปรนเปรอลูกด้วยวัตถุ เพื่อทดแทนเวลาที่ไม่มีให้แก่ลูก หรือการใช้เวลาว่างกับลูกไปในสถานที่ที่ส่งเสริมบริโภคนิยม เช่น พาลูกไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าเป็นประจำ

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ครอบครัวมีอิทธิพลน้อยลง ในการสร้างสำนึกทางศีลธรรมของอนุชน ทั้งนี้มิพักต้องกล่าวถึงความเข้าใจของพ่อแม่จำนวนมากที่เห็นว่า การกล่อมเกลาทางศีลธรรมนั้นเป็นหน้าที่หลักของโรงเรียนต่างหาก หาใช่หน้าที่ของพ่อแม่ไม่

ชุมชน
ในอดีตครอบครัวถูกแวดล้อมด้วยชุมชน ชุมชนจึงมีความสำคัญรองลงมาจากครอบครัวในการกล่อมเกลาศีลธรรมแก่บุคคลตั้งแต่เล็กจนโต การกล่อมเกลานั้นอาจเกิดจากปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน ซึ่งมักเอาใจใส่ดูแลกันในฐานที่เป็นเครือญาติกัน หรือเพราะนับญาติกันทั้งหมู่บ้าน นอกจากนั้นการกล่อมเกลาส่วนหนึ่งยังเกิดจากประเพณีที่มีส่วนร่วมกันทั้งชุมชน ซึ่งช่วยเสริมสร้างสำนึกทางศาสนา ท่าทีต่อธรรมชาติแวดล้อม และความรู้สึกผูกพันแน่นแฟ้นกับชุมชน นอกจากนั้นวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันในชุมชน ยังทำให้ทุกคนไม่อาจทำใจตนหรือละเมิดกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมของชุมชนได้ การละเมิดกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมของชุมชนอาจมีผลให้ถูกลงโทษจากชุมชนได้ ดังนั้นนอกจากการกล่อมเกลาแล้ว ชุมชนยังมีบทบาทในการกำกับศีลธรรมของบุคคลด้วย

อย่างไรก็ตาม สภาพดังกล่าวได้เปลี่ยนไปอย่างแทบจะสิ้นเชิง ความผูกพันแน่นแฟ้นภายในชุมชนได้จางคลายไปมาก เพราะผู้คนมีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันน้อยลง เศรษฐกิจสมัยใหม่ทำให้ผู้คนพึ่งพาตลาดและปัจจัยภายนอกมากขึ้น รวมถึงการไปทำงานนอกชุมชน นอกจากนั้นการขยายตัวของอำนาจรัฐ ทำให้ระบบราชการเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ผู้คนจึงหันไปพึ่งพาหน่วยงานรัฐมากกว่าชุมชน ผู้คนจึงเป็นอิสระจากชุมชนเป็นลำดับ และใช้ชีวิตในลักษณะต่างคนต่างอยู่มากขึ้น ขณะที่ประเพณีต่าง ๆ ก็มีผู้คนเข้าร่วมน้อยลง เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ จึงมีอิทธิพลต่อสำนึกทางศีลธรรมของผู้คนน้อยลง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง กระแสการพัฒนาให้ทันสมัย ได้ทำให้ชุมชนอ่อนแอเป็นลำดับ ขณะเดียวกันก็ทำให้บุคคลมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น มีอิสระที่จะทำตามใจตัวมากขึ้น โดยชุมชนไม่สามารถควบคุมได้ดังแต่ก่อน ยิ่งในเมืองด้วยแล้ว ความเป็นชุมชนแทบไม่เหลือ คงมีแต่ละแวกบ้าน ซึ่งผู้คนก็แทบจะไม่รู้จักชื่อหรือเห็นหน้าค่าตากันเลย พ้นไปจากละแวกบ้านก็คือ "พื้นที่แวดล้อม" ซึ่งในปัจจุบันมีอิทธิพลในทางลบยิ่งกว่าทางบวก เนื่องจากเต็มไปด้วย "พื้นที่เสี่ยง" มากมาย อาทิ ร้านเหล้า ผับ บาร์ คาราโอเกะ โรงแรมม่านรูด อาบอบนวด ซ่องโสเภณี ขณะที่ "พื้นที่ดี" (เช่น ลานกีฬา ลานกิจกรรม ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์)มีน้อยมาก จากการสำรวจทั้งประเทศพบว่า ในเขตเมืองนั้นมีพื้นที่เสี่ยงมากกว่าพื้นที่ดีประมาณ ๓ เท่า [4]

วัด
วัดมีบทบาทโดยตรงในการสร้างสำนึกทางศีลธรรมของผู้คนในสังคม ในอดีตวัดมีบทบาทดังกล่าวได้ก็เพราะวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน กิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนล้วนจัดในพื้นที่ของวัด ไม่ว่ากิจกรรมทางศาสนา หรืองานรื่นเริง (เช่น งานวัด) ประเพณีต่าง ๆ ก็อาศัยวัดเป็นศูนย์กลาง ยิ่งไปกว่านั้นพระสงฆ์ยังมีบทบาททางสังคมมากมาย นอกเหนือจากบทบาททางศาสนาและพิธีกรรม เช่น การให้การศึกษากุลบุตร การเยียวยารักษาโรค การสงเคราะห์ผู้ทุกข์ยาก การอนุรักษ์และสืบทอดศิลปวัฒนธรรม การระงับความขัดแย้งในชุมชน เป็นต้น อีกทั้งท่านยังเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมที่ประชาชนศรัทธาและนับถือ ดังนั้นวัดจึงมีบทบาทอย่างมากในการให้การศึกษาและกล่อมเกลาทางศีลธรรมแก่ประชาชนควบคู่ไปกับกิจกรรมด้านอื่น ๆ

แต่ปัจจุบันวัดได้ถูกแยกออกไปจากวิถีชีวิตของผู้คนทั่วไป บทบาททางสังคมที่วัดเคยมี ได้ถูกหน่วยงานอื่นดึงเอาไปทำ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล กรมประชาสงเคราะห์ กรมการปกครอง ผู้คนมีความจำเป็นต้องเข้าวัดน้อยลง อีกทั้งวิถีชีวิตที่เร่งรัด ก็ทำให้มีเวลาน้อยลงที่จะมาวัด แม้แต่ในวันสำคัญทางศาสนา. ในอีกด้านหนึ่งฆราวาสก็มีการศึกษามากขึ้น ในขณะที่พระซึ่งเคยเป็นผู้นำทางสติปัญญา กลับมีความรู้น้อยลงโดยเฉพาะในทางโลก จึงตามฆราวาสไม่ทัน

ยิ่งไปกว่านั้นพระสงฆ์จำนวนมากนับวันจะมีความรู้ทางธรรมน้อยลง อาศัยการท่องจำเป็นหลัก จึงไม่สามารถสื่อธรรมให้ฆราวาส เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ หรือสอนธรรมอย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ ที่ร้ายก็คือศรัทธาในปฏิปทาของฆราวาสที่มีต่อพระสงฆ์ก็ลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ เพราะพระสงฆ์จำนวนมากไม่สามารถเป็นแบบอย่างในทางศีลธรรมแก่ประชาชนได้ โดยเฉพาะในด้านการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย เสียสละ ในขณะที่จำนวนไม่น้อยละเมิดพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรงจนเป็นข่าวอยู่เนือง ๆ

สภาพความเหินห่างจากวัดของประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนนั้น เป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว แต่หากพระภิกษุสงฆ์ยังเป็นที่ศรัทธานับถือของประชาชน อย่างน้อยปฏิปทาของท่านก็สามารถเป็นแบบอย่างหรือแรงบันดาลใจทางศีลธรรมแก่ผู้คนได้ แม้จะไม่ค่อยได้มีโอกาสเข้าวัดฟังธรรมจากท่านเท่าใดนัก แต่อุปสรรคสำคัญในเวลานี้ก็คือแม้แต่เยาวชนก็มีศรัทธาน้อยลงต่อพระสงฆ์ ในการสำรวจความเห็นของนักศึกษาเมื่อปี ๒๕๓๙ ว่าเหตุใดจึงไม่ไปฟังเทศน์ ร้อยละ ๔๑ ตอบว่า "เพราะพระสงฆ์ไม่น่านับถือหรือรู้ธรรมะไม่ดีพอ" [5] มาถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว ๑๐ ปี ทัศนคติของนักศึกษาต่อพระสงฆ์ไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น กลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ

โรงเรียน
โรงเรียนเป็นสถาบันอย่างใหม่ที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ให้การศึกษาโดยตรงแก่ประชาชน ในขณะที่ครอบครัว ชุมชน และวัดถูกลดทอนบทบาทลงไป ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้คนใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษามากขึ้นเป็นลำดับ โดยปัจจุบันเริ่มตั้งแต่อายุเพียง ๒-๓ ขวบเท่านั้น แต่เวลาที่เพิ่มมากขึ้นในโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ไม่ได้ช่วยให้ระดับศีลธรรมของผู้คนเพิ่มขึ้นเลย กลับลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด

ปัจจุบันนี้พูดกันมากขึ้นว่าครูและอาจารย์ไม่มีเวลาให้แก่ลูกศิษย์เท่าที่ควร เพราะนอกจากจะถูกงานเอกสารแย่งชิงเวลาไปจากงานสอนแล้ว ครูจำนวนมากยังต้องทำอาชีพพิเศษ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นและมีหนี้สินเพิ่มขึ้นด้วย ที่สำคัญก็คือครูที่เป็นแบบอย่างในทางศีลธรรมมีน้อยลงเป็นลำดับ ในทางตรงกันข้ามครูที่เอาเปรียบหรือทำร้ายลูกศิษย์กลับเพิ่มมากขึ้น ศรัทธาในครูและอาจารย์จึงลดลงอย่างมาก

ใช่แต่เท่านั้น นับวันโรงเรียนได้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะค่านิยมที่ผิดแก่เยาวชน อาทิ ค่านิยมบริโภค (ซึ่งเกิดจากการเห็นแบบอย่างจากครู และการประชันขันแข่งในหมู่นักเรียน) และการนิยมความรุนแรง โรงเรียนกลายเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ไม่เฉพาะความรุนแรงจากครูเท่านั้น หากยังรวมถึงความรุนแรงระหว่างนักเรียนด้วยกัน ปัจจุบันเยาวชนที่ถูกทำร้ายในโรงเรียนระดมประถมศึกษามีถึงร้อยละ ๓๐ ส่วนในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษามีร้อยละ ๑๐[6]

คลิปวีดีโอที่นักเรียนตบตีกันจนเป็นข่าวนั้น ถือได้ว่าเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นเอง นอกจากนั้นโรงเรียนยังเป็นสถานที่ที่นักเรียนจำนวนหนึ่ง ใช้ในการล่อลวงเพื่อนนักเรียนด้วยกันเพื่อประโยชน์ในทางเพศ มิพักต้องพูดถึงการรวมกลุ่มเพื่อการมั่วสุมทางเพศ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทุกวันนี้พื้นที่เสี่ยงได้รุกเข้าไปในโรงเรียนแล้ว ทำให้นักเรียนจำนวนไม่น้อยกลายเป็นเหยื่อ โดยที่ครูแทบจะไม่สามารถปกป้องได้ ในทางตรงข้ามอาจมีส่วนร่วมด้วยซ้ำ

เชิงอรรถ
[1] มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และศูนย์ประชามติ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ๒๕๔๖
อ้างในเด็กไทยในมิติวัฒนธรรม น.๒๔
[2] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘
[3] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘
[4] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘
[5] สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๔๙
[6] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘
(๓) การเสริมสร้างพลังทางศีลธรรมในสังคมไทย

การครอบงำของวัตถุนิยมและอำนาจนิยม
จะเห็นได้ว่าสถาบันหรือกลไกทางสังคมที่มีหน้าที่เสริมสร้างสำนึกทางศีลธรรมแก่ประชาชนโดยตรงนั้น ประสบความล้มเหลวในการทำหน้าที่ดังกล่าว สาเหตุสำคัญเพราะมีความอ่อนแอเสื่อมทรุดภายในตัวเอง อีกทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงจิตใจของประชาชนได้ ในทางตรงข้ามมีปัจจัยแวดล้อมอย่างใหม่ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อสำนึกและพฤติกรรมของประชาชน แต่เป็นอิทธิพลในทางลบ ที่สำคัญได้แก่สื่อมวลชน

สื่อมวลชน
ในขณะที่แต่ละวันพ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกน้อยมาก แต่ลูกกลับมีเวลาอยู่กับสื่อชนิดต่าง ๆ มากขึ้นทุกที มีการศึกษาพบว่า ในวันธรรมดามีเด็กเพียง ๑ ใน ๔ หรือร้อยละ ๒๕.๓ เท่านั้นที่ดูโทรทัศน์ในวันธรรมดาไม่เกิน ๒ ชั่วโมงต่อวัน ที่เหลือนอกนั้นคือร้อยละ ๗๔.๗ ดูโทรทัศน์ตั้งแต่ ๓ ชั่วโมงขึ้นไปจนถึง๑๒ ชั่วโมง ยิ่งเป็นวันเสาร์อาทิตย์ เด็กที่ดูโทรทัศน์ไม่ถึง ๒ ชั่วโมงจะลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง คือเหลือเพียงร้อยละ ๑๓.๗ ส่วนที่เหลือคือร้อยละ ๘๖.๓ จะดูโทรทัศน์ตั้งแต่ ๓ ชั่วโมงขึ้นไปจนถึง ๑๒ ชั่วโมง[1] และ ๕ อันดับแรกที่เด็กชอบดูล้วนแต่เป็นรายการบันเทิง ได้แก่ ๑)ละคร, ๒)การ์ตูน, ๓) รายการเพลง, ๔)รายการตลก และ ๕)รายการกีฬา[2]

การใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์วันละหลายชั่วโมงตั้งแต่เล็กจนโต ทำให้โทรทัศน์มีอิทธิพลอย่างมากต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ดังนั้นเนื้อหาสาระทางโทรทัศน์จึงมีความสำคัญอย่างมาก แต่เมื่อสำรวจโดยละเอียดจะพบว่า โทรทัศน์เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระที่ส่งเสริมความรุนแรงและยั่วยุในทางเพศ ดังพบว่าภาพยนตร์และละครไทยมีฉากรุนแรงหรือยั่วยุทางเพศ ๓ ฉากทุก ๆ ชั่วโมง และเมื่อสอบถามความเห็นของเด็ก พบว่าร้อยละ ๕๔ ชอบดูหนังที่มีฉากต่อสู้และยิงฟันฆ่ากัน นอกจากนั้นโทรทัศน์ยังเต็มไปด้วยโฆษณาที่กระตุ้นความอยาก ขณะที่ภาพยนตร์และละครก็มักจะมีเนื้อหาส่งเสริมบริโภคนิยม หรือค่านิยมฟุ้งเฟ้อ[3]

แต่นอกจากโทรทัศน์แล้ว ยังมีสื่ออีกหลายชนิดที่เข้าถึงเด็ก อาทิ อินเตอร์เน็ต วีซีดี และดีวีดี ปัจจุบันมีเด็กร้อยละ ๓๐-๔๐ เสพสื่อลามก เช่น การ์ตูน วีซีดี เว็บโป๊ และภาพโป๊ทางโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ ขณะที่เด็กซึ่งติดเกมร้อยละ ๔๔ ชอบเล่นเกมที่มีการต่อสู้กัน[4]

จะเห็นได้ว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมของประชาชน ไม่ว่าการใฝ่เสพใฝ่บริโภค การหมกมุ่นในทางเพศ และการนิยมความรุนแรง ซึ่งอาจเรียกสั้น ๆ ว่า กิน กาม โกรธ ที่จริงนอกจาก ๓ ก. แล้ว ยังมี ก.ที่ ๔ คือ เกียรติ อันได้แก่ การติดยึดในเรื่องหน้าตา ความโก้เก๋ ความเท่ รวมทั้งการใฝ่หาความเด่นดัง ชื่อเสียง ตำแหน่ง และเกียรติยศ ค่านิยมและพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของคนไทยในปัจจุบัน ก็ได้รับอิทธิพลจากสื่อมวลชนมิใช่น้อย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองให้กว้างแล้ว กิน กาม โกรธ และเกียรติ เป็นค่านิยมที่ไม่ได้ส่งผ่านมาโดยสื่อมวลชนเท่านั้น หากได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังโดยสถาบันอื่น ๆ ในสังคม อาทิ ครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมทั้งจากปฏิสัมพันธ์กับผู้คนทั้งหลายทั้งในละแวกบ้าน ที่ทำงาน สถานที่ราชการ ศูนย์การค้า ฯลฯ กล่าวอีกนัยหนึ่งวิถีชีวิตและระบบความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมปัจจุบันล้วนเป็นไปในทางที่บ่มเพาะหรือเป็นเงื่อนไขให้เกิดค่านิยมและพฤติกรรมดังกล่าว

วิถีชีวิตและระบบความสัมพันธ์ดังกล่าว มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมากับมนุษยชาติหรือประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่ถึงร้อยปีมานี้เอง ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอย่างสำคัญให้เกิดวิถีชีวิตและระบบความสัมพันธ์ดังกล่าว ได้แก่ ระบบทุนนิยม และการแผ่ขยายอำนาจรัฐ

ระบบทุนนิยม
ระบบทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่ถือว่าเสรีภาพทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานของเสรีภาพทั้งปวง ดังนั้นจึงส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีโดยอาศัยกลไกตลาดเป็นตัวกำกับ ทั้งนี้โดยถือเอากำไรสูงสุดเป็นเป้าหมาย ความคิดที่อยู่เบื้องหลังระบบดังกล่าวก็คือ ความเชื่อว่า การที่มนุษย์ทุกคนทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง ผลสุดท้ายย่อมเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม กล่าวอีกนัยหนึ่งระบบชี้เชื่อว่าการกระตุ้นความโลภ และใช้ความโลภเป็นสิ่งขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ (รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ด้วย)นั้น เป็นของดี ประโยคที่สะท้อนความเชื่อพื้นฐานของระบบทุนนิยมก็คือคำพูดที่ว่า "Greed is good"

แม้ระบบนี้จะทำให้การผลิตขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อผลิตเกินความต้องการ ก็ต้องมีการกระตุ้นให้บริโภคมากขึ้น แม้จะเป็นการบริโภคที่ไม่จำเป็น สิ่งที่ตามมาก็คือระบบบริโภคนิยม ทั้งทุนนิยมและบริโภคนิยมนั้นได้ทำให้เงินกลายเป็นสิ่งสำคัญ เงินกลายเป็นเป้าหมายของชีวิตและของประเทศ ดังเห็นได้ว่าทุกประเทศถือเอาการเติบโตของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ)เป็นเป้าหมายหลักของประเทศ ขณะที่ความร่ำรวยก็เป็นเป้าหมายของคนส่วนใหญ่ในสังคม ด้วยเหตุนี้สิ่งแรกที่ผู้คนพากันขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออวยพรให้แก่กันและกันก็คือ ขอให้มั่งมี "บ้านนี้อยู่แล้วรวย" จึงเป็นพรยอดปรารถนาที่ใครๆ ก็อยากได้จากหลวงพ่อคูณ

ใช่แต่เท่านั้นเงินยังกลายเป็นตัววัดคุณค่าของทุกสิ่ง ความรู้หรืออาชีพใดจะมีคุณค่ามากน้อยเพียงใดวัดกันที่รายได้หรือเงินตราที่จะเกิดขึ้น ประเพณีใดควรส่งเสริมหรือไม่ อยู่ที่ว่านำรายได้เข้าท้องถิ่นได้มากน้อยเพียงใด หรือขายนักท่องเที่ยวได้หรือไม่ ป่าและแม่น้ำจะถือว่ามีคุณค่าต่อเมื่อสามารถแปรเป็นเม็ดเงินได้อย่างมหาศาล หาไม่ก็ต้องเปลี่ยนสภาพเช่น สร้างเขื่อน หรือปลูกสวนป่าแทน แม้แต่ชีวิตจะมีคุณค่าหรือไม่ก็ต้องวัดกันที่จำนวนเงินที่หาได้ ชีวิตของ CEO จึงมีค่ากว่าชีวิตของนักการ

เงินยังกลายเป็นสื่อกลางความสัมพันธ์ในทุกมิติ ทุกวันนี้ความรักที่พ่อแม่แสดงกับลูกหรือสามีแสดงกับภรรยาโดยอาศัยเงินและวัตถุ (เช่น โทรศัพท์มือถือ) ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน อาจารย์กับนักศึกษา หมอกับคนไข้ ก็ต้องอาศัยเงินเป็นตัวเชื่อม หาใช่น้ำใจดังแต่ก่อนไม่ แม้แต่ฆราวาสก็เข้าหาพระก็เพราะหวังโชค เช่น ถูกหวย ขณะที่พระก็ปรารถนาได้ลาภจากฆราวาส

กล่าวได้ว่าทุนนิยมและบริโภคนิยมได้ทำให้แทบทุกอย่างถูกตีค่าเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันได้ด้วยเงิน หรือต้องอาศัยเงินเป็นหลัก ไม่เว้นแม้แต่ ความรู้ สุขภาพ บุญกุศล ความสงบ รวมทั้งเด็ก ผู้หญิง และอวัยวะมนุษย์ ทัศนะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม เพราะเมื่อเห็นคนเป็นสินค้า (เช่น เห็นเป็นแค่แรงงาน หรือวัตถุทางเพศ ที่ซื้อได้ด้วยเงิน) ไม่ได้เห็นเป็นคนเต็มคน ก็ย่อมขาดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจหรือเอื้ออาทร ไม่มีสำนึกทางศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในความสัมพันธ์ มีแต่เงินเท่านั้นที่เข้ามาเป็นใหญ่ในฐานะสื่อกลาง

ด้วยเหตุที่เงินมีความสำคัญมากมายถึงเพียงนี้ จึงมีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดกลไกต่าง ๆ ในสังคม เช่น ทำให้ครอบครัวและชุมชนอ่อนแอ เพราะแต่ละคนมัวแต่ทำมาหาเงิน และให้เวลากับวัตถุมากกว่าที่จะให้เวลาแก่กันและกัน ขณะเดียวกันเงินยังเป็นตัวกำหนดการศึกษาโดยเน้นการผลิตคนเพื่อตอบสนองเศรษฐกิจหรือตลาดจ้างงาน หลักสูตรใดจะเปิดหรือไม่ขึ้นอยู่ว่าตลาดแรงงานต้องการมากน้อยเพียงใด หรือเปิดแล้วจะทำให้มีรายได้เข้าคณะการศึกษาหรือไม่ หลักสูตรที่มีคุณค่า แต่ไม่ทำให้เกิดรายได้งอกเงย ทั้งแก่คณะการศึกษาหรือแก่ประเทศชาติ ย่อมถูกมองข้ามไป จึงไม่น่าแปลกใจที่การส่งเสริมศีลธรรมจรรยา จึงไม่ได้รับความสำคัญจากคณะการศึกษาทั้งหลาย

นอกจากนั้นเงินยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อสื่อมวลชน ไม่ว่าโทรทัศน์หรือวิทยุ ต่างเน้นความบันเทิง เช่น เพลง ละคร ทอล์คโชว์ ชิงรางวัล ก็เพราะต้องการมีรายได้มาก ๆ จากค่าโฆษณา ในขณะที่รายการที่ส่งเสริมความรู้และจริยธรรม กลับไม่สามารถอยู่ได้ เพราะไม่ทำรายได้ให้แก่เจ้าของสื่อ ดังนั้นจึงต้องหลีกทางให้แก่ผู้ผลิตรายการที่มีทุนมาก และต้องการใช้สื่อโฆษณาสินค้าของตัวเอง หรือเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดให้แก่ตนเอง ผลก็คือในขณะที่นายทุนมีรายได้มากขึ้น แต่สังคมกลับเต็มไปด้วยค่านิยมบริโภค หมกมุ่นทางเพศ และนิยมความรุนแรง

แม้แต่คณะศาสนาก็ยังถูกเงินเข้ามามีอิทธิพล จนเกิดไสยพาณิชย์อย่างแพร่หลาย มีการขายวัตถุมงคลเพื่อตอบสนองบริโภคนิยมโดยไม่สนใจมิติด้านศีลธรรม แม้แต่บุญก็ถูกใช้เป็นสินค้าเพื่อแลกกับความหวังว่าจะมั่งมีศรีสุข วัดจึงกลายเป็นตลาดค้าบุญและโชคลาภวาสนา ขณะที่พระสงฆ์องคเจ้าก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของบริโภคนิยมมากขึ้น จนไม่สามารถทำหน้าที่หรือเป็นแบบอย่างในทางศีลธรรมแก่ประชาชนได้เหมือนก่อน

รัฐอำนาจนิยม
การเกิดขึ้นของรัฐชาติเมื่อศตวรรษที่แล้ว ทำให้เกิดการรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางอย่างไม่เคยมีมาก่อน รัฐกลายเป็นตัวกำหนดทุกอย่างเพื่อให้เกิดแบบแผนเดียวกันทั้งประเทศ อาทิ เช่น ภาษา ศาสนา การศึกษา การปกครอง การศาล กระบวนการยุติธรรม ภาษี เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการแผ่ขยายอำนาจรัฐไปยังทุกชุมชนและทุกมิติของชีวิต เพื่อบังคับปรับเปลี่ยนให้ทุกอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานของชาติ มีการใช้อำนาจทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รวมทั้งสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ผู้คนละทิ้งภาษา ประเพณี ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่อย่างดั้งเดิม โดยอาศัยระบบราชการ ระบบโรงเรียน หรือแม้แต่คณะสงฆ์ที่อิงกับรัฐ เป็นกลไกสำคัญ

การแผ่ขยายอำนาจและบทบาทของรัฐเข้าไปในทุกพื้นที่ ในด้านหนึ่งได้ทำให้กลไกต่าง ๆ ของชุมชนที่มีอยู่แต่เดิมอ่อนแอลง ความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชนจึงลดต่ำลง ไม่ว่า ในด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การจัดการทรัพยากรสาธารณะ และการแก้ไขความขัดแย้งภายในชุมชน ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ผู้คนพึ่งพารัฐมากขึ้น สภาพดังกล่าวเปิดโอกาสให้รัฐมีอำนาจเหนือชุมชนและปัจเจกบุคคลมากขึ้น ยิ่งเจ้าหน้าที่รัฐมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับนายทุนท้องถิ่นซึ่งเติบใหญ่ขึ้นมาได้ด้วยระบบทุนนิยม ก็ยิ่งมีอำนาจต่อชุมชนและผู้คนมากขึ้น มีการใช้อำนาจดิบกับผู้ที่ขัดผลประโยชน์ของนายทุน โดยได้รับการปกป้องคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่รัฐ สายสัมพันธ์แบบอำนาจนิยมจึงแผ่ไปทั่วทุกหนแห่ง

อำนาจนิยมโดยรัฐยังแสดงออกผ่านนโยบายต่าง ๆ อีกมายมาย เช่น การยึดเอาทรัพยากรของชุมชนไปตอบสนองนโยบายของรัฐ เช่น ปิดกั้นลำน้ำเพื่อสร้างเขื่อน หรือการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งการแปรประเพณีท้องถิ่นไปตอบสนองนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ยิ่งกว่านั้นก็คือการใช้อำนาจรัฐในการปราบปรามผู้ที่เห็นต่างจากรัฐอยู่เนือง ๆ เช่น การปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่า จนเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา, ๖ ตุลา, พฤษภาหฤโหด, และกรณีตากใบ ทั้งนี้มิพักต้องพูดถึงการประกาศสงครามกับผู้ค้ายาเสพติด ด้วยการฆ่าตัดตอน อีกทั้งยังมีการทำวิสามัญฆาตกรรมอีกมากมาย รวมทั้งกรณีสมชาย นีละไพจิตร

กล่าวได้ว่าอำนาจนิยมเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของรัฐไทย การแผ่อำนาจของรัฐไทยจึงหมายถึงการแผ่ขยายสำนึกและพฤติกรรมแบบอำนาจนิยมออกไปอย่างกว้างขวาง กลไกสำคัญในการแผ่ขยายวัฒนธรรมดังกล่าวคือระบบราชการ ระบบราชการนั้นได้สร้างระบบความสัมพันธ์ภายในองค์กรโดยอาศัยอำนาจ ยิ่งกว่าคุณธรรมหรือความรู้ อำนาจของผู้บังคับบัญชาคือสิ่งชี้ขาดโดยอาศัยระเบียบกฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือ ข้าราชการจึงซึมซับเอาวัฒนธรรมอำนาจนิยมเข้าไปอย่างเต็มที่ และนำไปใช้กับประชาชนทั่วไป จึงเกิดความสัมพันธ์แบบอำนาจนิยม

ดังนั้นไม่ว่าระบบราชการแพร่หลายไปถึงไหน วัฒนธรรมอำนาจนิยมก็แพร่หลายไปถึงนั่น ผู้นำชาวบ้านเมื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ เช่น เป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน จึงหันมาใช้อำนาจกับลูกบ้าน แทนที่จะปรึกษาหารือตามวิถีชาวบ้านดังแต่ก่อน โรงเรียนเป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่ถูกครอบด้วยระบบราชการ (หรือองค์กรที่จัดตั้งแบบราชการ) ครูอาจารย์จึงใช้อำนาจกับนักเรียนอยู่เนือง ๆ ดังนั้นจึงไม่น่าสงสัยเลยที่นักเรียนในที่สุดก็ใช้อำนาจกับนักเรียนด้วยกัน ผลก็คือมีการข่มขู่คุกคามและตบตีกันในโรงเรียนหรือรุมทำร้ายกันระหว่างโรงเรียนเป็นประจำ รวมทั้งเกิดปรากฏการณ์รับน้องด้วยวิธีรุนแรงและวิตถาร

ในขณะที่ระบบทุนนิยมได้ทำให้วัฒนธรรมบริโภคนิยมแพร่หลายอย่างกว้างขวาง การแผ่ขยายอำนาจของรัฐ ก็ทำให้ชีวิตและกลไกต่าง ๆ ในสังคมถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยม

- บริโภคนิยมนั้นเป็นเรื่องของ"กิน"และ"กาม"
- ขณะที่อำนาจนิยมนั้นตอกย้ำให้ผู้คนหมกมุ่นใน"โกรธ"และ"เกียรติ"

กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว วัฒนธรรมบริโภคนิยมและอำนาจนิยมนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการบั่นทอนพลังทางศีลธรรมในสังคมไทย และทำให้ผู้คนคลาดเคลื่อนออกจากศีลธรรม เพราะนอกจากจะบริโภคนิยมจะทำให้ผู้คนเห็นเงินเป็นใหญ่ ใฝ่เสพใฝ่บริโภค และคิดหาหนทางลัดเพื่อบรรลุประโยชน์ของตน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของผู้อื่น นำไปสู่การคอรัปชั่น ทุจริต คดโกง ลักขโมย เอารัดเอาเปรียบ และการหมกมุ่นในอบายมุข พึ่งพาโชคชะตาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว, อำนาจนิยมยังเป็นเหตุให้มีการทำร้ายฆ่าฟันกัน การจับกุมคุมขัง ตลอดจนการรังเกียจเดียดฉันท์และหยามเหยียดกัน เพียงเพราะความต่างกันทางด้านศาสนา ภาษา เชื้อชาติ และความคิด จนนำไปสู่ความรุนแรงระหว่างกลุ่มหรือถึงขั้นทำสงครามกัน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มิได้หมายความว่าเราไม่ได้มีการสอนศีลธรรมกันเลย จะว่าไปแล้วเรามีการสอนศีลธรรมกันไม่น้อย ทั้งในบ้าน ในโรงเรียน ในวัด ตามสถานที่ทำงาน ตามสื่อมวลชน แม้แต่รัฐบาลก็รณรงค์ให้ผู้คนมีศีลธรรมมาหลายยุคหลายสมัย (คนรุ่นอายุ ๔๐ กว่าคงจำคำขวัญของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เผยแพร่ไปทั่วประเทศว่า "จงทำดี มีศีลธรรม ถือความสัตย์ พึงขจัด อีกทั้งโลภ และโกรธหลง สามัคคีมีทั่วกัน ชาติมั่นคง ทุกคนจง รักเอกราช ของชาติไทย") แต่การสอนและรณรงค์ศีลธรรมเหล่านี้มีความหมายน้อยมาก ตราบใดที่วิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนนั้น สวนทางกับคำสอนหรือคำขวัญดังกล่าว

ถึงแม้จะสอนให้ทำดีเพียงใด แต่วิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และระบบความสัมพันธ์ทางสังคม ล้วนเป็นไปในทางบริโภคนิยมและอำนาจนิยม เช่น วิถีชีวิตมีแต่การแข่งขัน เร่งรีบ พ่อแม่มัวแต่ทำมาหาเงิน สื่อเต็มไปด้วยเรื่องราวที่รุนแรงและกระตุ้นความโลภ วัดเอาแต่หาเงิน นักการเมืองพากันคอรัปชั่น รัฐบาลใช้ความรุนแรงกับราษฎร ในสภาพเช่นนี้ยากมากที่ผู้คนจะมีศีลธรรม เช่น มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกงหรือคอรัปชั่น มีชีวิตที่รู้จักพอ หรือมีใจกว้าง เมตตากรุณาต่อกัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ อิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่มีต่อพฤติกรรมของเยาวชน ดังกรณีจังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยง ๓๔๐ แห่งต่อประชากรแสนคน (ขณะที่อัตราเฉลี่ยทั้งประเทศ มี ๒๙ ต่อแสน) ปรากฏว่ามีเด็กอายุ ๑๐-๑๔ ปี และ ๑๕-๑๙ ปีมาทำคลอดถึง ๓๔๑ และ ๒,๗๑๓ คนต่อแสน สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศหลายเท่าตัว (อัตราเฉลี่ยทั้งประเทศ ๙๑ และ ๑,๓๕๒ คนต่อแสน) และมีเด็กเข้าสถานพินิจและเข้ารับการบำบัดยาเสพติด ๑๑๙ และ ๘๖๒ คนต่อแสน (อัตราเฉลี่ยทั้งประเทศ ๕๕ และ ๗๓ คนต่อแสน)[5] แม้ว่าเหตุปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมของเยาวชนมีหลายด้าน แต่ตัวเลขข้างต้นก็ชี้ว่า การมีพื้นที่เสี่ยงเป็นจำนวนมากก็เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งส่งผลในทางลบต่อพฤติกรรมของเยาวชนอย่างมีนัยสำคัญ

ด้วยเหตุนี้ การเสริมสร้างสำนึกและพฤติกรรมทางศีลธรรมของประชาชน ด้วยการเพิ่มหลักสูตรศีลธรรมในโรงเรียนมากขึ้น นิมนต์พระมาเทศน์มากขึ้น ชวนประชาชนเข้าวัดมากขึ้น จัดกิจกรรมทางศาสนาที่พุทธมณฑลและสนามหลวงบ่อยขึ้น และรณรงค์ตามสื่อมวลชนให้คนมีศีลธรรมมากขึ้น ย่อมไม่เพียงพอ ตราบใดที่วิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่

เชิงอรรถ
[1] มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ๒๕๔๘
[2] สำนักงานสถิติแห่งชาติ ๒๕๔๖
[3] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘
[4] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘
[5] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘

(๔) การเสริมสร้างพลังทางศีลธรรมในสังคมไทย

เสริมสร้างพลังทางศีลธรรมอย่างรอบด้าน
การเสริมสร้างพลังทางศีลธรรมในสังคมจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง จะต้องมีการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้าน วิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และระบบความสัมพันธ์ทางสังคมเพื่อให้เกื้อกูลต่อศีลธรรม โดยมีมาตรการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๑. เสริมสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว
การส่งเสริมให้พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญประการแรก ความรักของพ่อแม่นั้นเป็นปัจจัยเบื้องต้นในการสร้างพื้นจิตที่ดีงามให้แก่เด็ก เด็กที่ได้สัมผัสกับความรักของพ่อแม่ย่อมมีจิตใจอ่อนโยน อบอุ่น และเป็นสุข อันเป็นภาวะที่เอื้อต่อการทำความดี แต่ความรักนั้นกับเวลาเป็นของคู่กัน ความรักของพ่อแม่นั้นลูกจะประจักษ์ได้อย่างเต็มหัวใจ ก็ต่อเมื่อพ่อแม่ยอมสละเวลาให้แก่ลูก มิใช่ให้แต่เงินหรือวัตถุเท่านั้น

ประการต่อมาก็คือการส่งเสริมให้พ่อแม่มีความสามารถในการฝึกฝนกล่อมเกลาลูก ให้รู้จักคิด ใฝ่รู้ และมีจิตสำนึกที่ดีงาม ปัจจุบันพ่อแม่มีความสามารถทางด้านนี้น้อยมาก นอกจากเพราะไม่มีเวลาเรียนรู้แล้ว ยังเป็นเพราะเห็นว่าหน้าที่ดังกล่าวเป็นของครู การนำบทบาททางการศึกษากลับมาสู่พ่อแม่แม้จะไม่ทั้งหมด จะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้เข้มแข็งขึ้น

จะทำเช่นนั้นได้ นอกจากแต่ละครอบครัวจะต้องช่วยตัวเองแล้ว ควรมีกลไกสนับสนุนความเข้มแข็งของครอบครัวด้วย เช่น การจัดตั้งเครือข่ายครอบครัวเพื่อช่วยเหลือกัน ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และแม้แต่การช่วยดูแลลูกให้แก่กันและกันในบางโอกาส เครือข่ายดังกล่าวอาจเกิดขึ้นตามละแวกบ้านหรือพื้นที่ใกล้เคียงกัน หรือเกิดขึ้นในหมู่พ่อแม่ที่มีความคิดเห็นคล้ายกัน

นอกจากนั้นควรรณรงค์ให้มีกฎหมายที่เอื้อให้พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น เช่นสามารถลางานมาดูแลลูกได้มากขึ้น หรือยอมให้พ่อแม่นำลูกมาเลี้ยงในที่ทำงานได้ ตลอดจนการส่งเสริมให้มีพื้นที่สาธารณะหรือกิจกรรมสำหรับการเรียนรู้ของครอบครัวมากขึ้น ปัจจุบันเริ่มมีบ้างแล้วเช่น พิพิธภัณฑ์เด็ก ช่องรายการโทรทัศน์สำหรับครอบครัว แต่ควรมีให้มากขึ้นและแพร่หลายยิ่งกว่าเดิม

๒. ฟื้นฟูชุมชนให้เข้มแข็ง
แม้ชุมชนจะอ่อนแอลงไปมากแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ชนบท แต่ก็ยังมีศักยภาพที่จะฟื้นฟูส่งเสริมศีลธรรมของผู้คนภายในชุมชนได้ มีหลายชุมชนที่เมื่อมีการหันหน้ามาร่วมมือกัน ปรากฏว่าสามารถลดปัญหาภายในชุมชนลงไปได้มาก เช่น อบายมุข ไม่ว่าการพนันหรือการกินเหล้าลดลง วัยรุ่นลดการมั่วสุม และทะเลาะกันน้อยลง ครอบครัวประพฤติดีต่อกันมากขึ้น ใช้ความรุนแรงน้อยลง นอกจากนั้นสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนก็ดีขึ้น เนื่องจากมีการร่วมมือดูแลรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรสาธารณะ มีการพัฒนาชุมชนร่วมกัน

แน่นอนว่าชุมชนเหล่านี้มาร่วมมือกันได้ มิใช่เพราะมีพระหรือข้าราชการมาเทศน์มาสอนให้สามัคคีกัน แต่เกิดจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการกลุ่ม ซึ่งมีหลายลักษณะ เช่น มาในรูปโครงการสัจจะสะสมทรัพย์ โดยการนำของพระสุบิน ปณีโต การได้ทำงานร่วมกันและเห็นผลสำเร็จที่มิอาจทำได้ด้วยตัวคนเดียว ทำให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของการร่วมมือกัน และเกิดความไว้วางใจกันมากขึ้น กระบวนการกลุ่มบางครั้งก็มาในลักษณะของการจัดเวทีชุมชน โดยมีแกนนำชาวบ้านเป็นผู้ดำเนินการ ทำให้มีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน ดังที่คณะครอบครัวรักลูก ได้ริเริ่มใน ๘ จังหวัด ซึ่งนอกจากจะสานสัมพันธ์ในชุมชนให้แน่นแฟ้นขึ้นแล้ว การฟื้นฟูวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ยังทำให้ชาวบ้านมีความภูมิใจในตนเองมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ชุมชนมีชีวิตชีวาและความเข้มแข็งขึ้นกว่าแต่ก่อน

ประสบการณ์ของคณะครอบครัวรักลูก ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ชุมชนนั้นมีส่วนอย่างมากในการช่วยให้ครอบครัวเข้มแข็งขึ้น เพราะชุมชนที่สามัคคีกัน จะเข้ามาช่วยให้คำแนะนำแก่ครอบครัวที่มีปัญหา หรือช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัว รวมทั้งใส่ใจดูแลเด็ก ๆ ในชุมชนด้วย นอกจากนั้นบรรยากาศที่สงบสุขและเกื้อกูลกันภายในชุมชน ก็ช่วยกล่อมเกลาให้เด็กและผู้ใหญ่ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมกันมากขึ้น ดังนั้นในการสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นโดยเฉพาะในชนบท การฟื้นฟูชุมชนให้เข้มแข็ง ตลอดจนการส่งเสริมให้ชุมชนมีบทบาทในการช่วยเหลือครอบครัว เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง

ดังได้กล่าวแล้วว่ากระบวนการกลุ่มมีความสำคัญมากในการช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้เกิดกระบวนการกลุ่มขึ้นในชุมชน ตามสภาพของชุมชน โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมมากที่สุด โดยเฉพาะในการจัดการดูแลสิ่งที่มีผลกระทบต่อชาวบ้านโดยตรง ไม่ว่าด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรชุมชน สุขภาพ การศึกษา สิ่งนี้มีความสำคัญต่อชุมชนยิ่งกว่าการส่งเงินหรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ มาให้ ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านแตกแยกกันหนักกว่าเดิม หรือเกิดนิสัยพึ่งพารัฐ ยิ่งกว่าจะหันหน้ามาร่วมมือกัน

๓. ฟื้นฟูบทบาทของวัดและคณะสงฆ์
พลังทางศีลธรรมของวัดนั้นอยู่ที่ปฏิปทา หรือวิถีชีวิตของพระภิกษุสงฆ์เป็นประการแรก แม้ท่านจะไม่ได้ทำอะไรเลย แต่เพียงแค่วิถีชีวิตที่สมถะ เรียบง่าย สงบ และผ่องใสของท่านก็สามารถเป็นแบบอย่างให้ผู้คนอยากเจริญรอยตาม หรือเกิดแรงบันดาลใจอยากทำความดี อย่างน้อย ๆ ก็ได้คิดว่าความสุขนั้นมิได้อยู่ที่วัตถุ หากอยู่ที่จิตใจเป็นสำคัญ และยิ่งท่านมีบทบาทมากกว่านั้น ในทางเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือชุมชน หรือประกาศธรรมแก่มหาชน การกระทำและคำพูดของท่านก็จะมีพลังในทางศีลธรรมมากขึ้น และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสำนึกและพฤติกรรมของผู้คนไม่มากก็น้อย

ปัจจุบันระบบต่าง ๆ ของคณะสงฆ์ ไม่เอื้อให้เกิดพระภิกษุสงฆ์ที่ใฝ่ในวัตรปฏิบัติดังกล่าว ระบบการปกครองของคณะสงฆ์ นอกจากจะความล้มเหลวในการส่งเสริมพระดีแล้ว ยังทำให้พระสนใจในเรื่องลาภยศสรรเสริญมากขึ้น การรวมศูนย์อำนาจคณะสงฆ์ มาอยู่ในมือของมหาเถรสมาคม (ซึ่งจะทำงานได้ต่อเมื่อมาประชุมเดือนละ ๒-๓ ครั้ง และประกอบด้วยพระภิกษุทรงสมณศักดิ์ ที่ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า ๗๐ ปีขึ้นไป) นอกจากจะทำให้การปกครองเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดการวิ่งเต้น ระบบเส้นสาย และการแบ่งพรรคแบ่งพวก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ขณะเดียวกันระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ ก็ไม่สามารถทำให้พระภิกษุสงฆ์มีความรู้ทั้งทางธรรมและทางโลกดีพอ ที่จะสื่อธรรมให้ผู้คนเกิดความซาบซึ้งแจ่มชัดจนเห็นภัยของบริโภคนิยมหรืออำนาจนิยม และหันมาดำเนินชีวิตตามวิถีพุทธ ยิ่งการศึกษาเพื่อฝึกฝนตนให้มีความสุขภายใน พึงพอใจกับชีวิตที่เรียบง่าย และสามารถแก้ทุกข์ให้แก่ตนเองได้ อีกทั้งมีเมตตากรุณาปรารถนาที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลมนุษย์ผู้ทุกข์ยาก อย่างรู้เท่าทันสังคมสมัยใหม่ด้วยแล้ว แทบจะไม่มีเอาเลย ผลก็คือคณะสงฆ์ปัจจุบันไร้ซึ่งพลังทางปัญญา ศีลธรรม และศาสนธรรม

การจะส่งเสริมให้คณะสงฆ์เปี่ยมด้วยพลังทางปัญญา ศีลธรรม และศาสนธรรม นั้นจะต้องมีการปฏิรูปการปกครองและการศึกษาของคณะสงฆ์อย่างจริงจัง อย่างน้อยก็ควรมีการกระจายอำนาจเพื่อให้การปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้อำนาจน้อยลง แต่ใช้ปัญญาและคุณธรรมมากขึ้น เพื่อส่งเสริมพระดีอย่างจริงจัง มีการศึกษาทางธรรมและทางโลกอย่างสมสมัย ชนิดที่ช่วยให้พระสงฆ์รู้จักคิด มิใช่ถนัดท่องจำ สามารถสื่อและประยุกต์ธรรมได้อย่างมีพลัง ทั้งโดยการประพฤติเป็นแบบอย่าง การสอน และการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ว่าโดยผ่านการฟัง การคิด หรือการปฏิบัติ

นอกจากนั้นควรมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนให้แน่นแฟ้นขึ้น เพื่อพลังทางศีลธรรมของวัดจะสามารถถ่ายทอดไปยังชุมชน และส่งอิทธิพลต่อผู้คนได้มากขึ้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวสามารถฟื้นฟูขึ้นได้ด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของวัดมากขึ้น ตามคติแต่โบราณที่ถือว่าวัดเป็นของชุมชน เช่น มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการศึกษา และสนับสนุนวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์สามเณร รวมทั้งร่วมในการปฏิบัติธรรมที่วัดจัดขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง พระสงฆ์ก็เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการของชุมชนมากขึ้น เช่น ร่วมแก้ปัญหาอบายมุข ปัญหาวัยรุ่น การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ส่งเสริมการออมทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน

แม้กิจกรรมเหล่านี้บางส่วนจะเป็นเรื่อง "ทางโลก" แต่สิ่งหนึ่งที่พึงตระหนักก็คือ พลังทางศีลธรรมของศาสนาไม่ว่าที่ใดก็ตาม ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการสงเคราะห์ช่วยเหลือทางโลก เช่น เยียวยารักษาผู้ป่วย ช่วยเหลือคนยากจน สงเคราะห์เด็กพิการ แม้แต่กลุ่มศาสนาที่ถือว่าหัวรุนแรง เช่น Muslim Brotherhood ในอียิปต์ หรือ Hamas ในปาเลสไตน์ กลุ่มเหล่านี้สามารถทำให้คนทั่วไปหันมาศรัทธานับถือศาสนาอิสลามอย่างกว้างขวาง ก็เพราะการทำกิจกรรมสงเคราะห์ผู้ทุกข์ยากอย่างจริงจังเป็นประการสำคัญ หาใช่เพราะการโฆษณาชวนเชื่อหรือเทศนาสั่งสอนตามสุเหร่าไม่

ที่จริงไม่ต้องดูอื่นไกล การที่พระสงฆ์แต่ก่อนมีอิทธิพลในทางศีลธรรมต่อคนไทยในสมัยก่อนได้ ก็เพราะท่านสงเคราะห์ช่วยเหลือชาวบ้านในแทบทุกเรื่อง เป็นแต่ว่าสมัยก่อนนั้นใครที่มีปัญหาก็มุ่งหน้ามาที่วัด เพราะวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ผิดกับปัจจุบัน ที่คนมีปัญหามิได้หันหน้าเข้ามาหาวัดอีกต่อไป จึงเป็นหน้าที่ที่พระสงฆ์จะต้องเดินเข้าหาคนเหล่านี้ แทนที่จะตั้งรับที่วัดดังแต่ก่อน

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว วัฒนธรรมบริโภคนิยมและอำนาจนิยมนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการบั่นทอนพลังทางศีลธรรมในสังคมไทย และทำให้ผู้คนคลาดเคลื่อนออกจากศีลธรรม เพราะนอกจากจะบริโภคนิยมจะทำให้ผู้คนเห็นเงินเป็นใหญ่ ใฝ่เสพใฝ่บริโภค และคิดหาหนทางลัดเพื่อบรรลุประโยชน์ของตน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของผู้อื่น นำไปสู่การคอรัปชั่น ทุจริต คดโกง ลักขโมย เอารัดเอาเปรียบ และการหมกมุ่นในอบายมุข พึ่งพาโชคชะตาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว, อำนาจนิยมยังเป็นเหตุให้มีการทำร้ายฆ่าฟันกัน การจับกุมคุมขัง ตลอดจนการรังเกียจเดียดฉันท์และหยามเหยียดกัน เพียงเพราะความต่างกันทางด้านศาสนา ภาษา เชื้อชาติ และความคิด จนนำไปสู่ความรุนแรงระหว่างกลุ่มหรือถึงขั้นทำสงครามกัน