เว็บไซต์ใช้เวลาพัฒนามาตลอดเวลา ๖ ปี กว่า ๒,๑๙๐ วัน แต่ละวันใช้เวลากว่า ๖ ชั่วโมง รวมเวลากว่า ๑๓,๐๐๐ ชั่วโมง เพื่อสร้างอุดมศึกษาทางเลือกสำหรับทุกคนที่อ่านไทย















บทความลำดับที่ ๑๑๑๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์
ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ ภายใต้ลิขซ้าย ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นักศึกษาและสมาชิกได้รับอนุญาตให้คัดลอกไปได้คำต่อคำ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร เมื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
R
H
020150
release date
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น... midnight's
ร่วมกันสร้างสรรค์ความรู้และความเสมอภาคเพื่อเตรียมตัวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาธิปไตยในคริสตศตวรรษที่ ๒๑
สำหรับผู้ที่สนใจบทความวิชาการก่อนหน้า ท่านสามารถคลิกที่ภาพประกอบ เพื่อย้อนกลับไปอ่านบทความที่เพิ่งผ่านมาได้จากที่นี่

นักศึกษา สมาชิก สามารถคลิกเพื่อค้นหาบทความต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้จากแถบสีฟ้า
โดยใส่คำค้นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ต้องการค้นหา
midnightuniv(at)gmail.com

Starbucks Organizing
The Midnight University

ปัญหาการเอาเปรียบแรงงานจากมุมโลกต่างๆ
กาแฟขมสตาร์บัคส์และการขูดรีดแรงงานต่างมุมโลก
ภัควดี วีระภาสพงษ์
นักวิชาการอิสระ และนักแปลอิสระ

บทความเรียบเรียง ๒ ชิ้นได้รับมาจากผู้แปล เพื่อเผยแพร่ ประกอบด้วย
๑. กาแฟขมของพนักงานสตาร์บัคส์ และ
๒. รายงานจาก Oxfam: การขูดรีดแรงงานคือราคาของอาหารที่ถูกลง
ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเอาเปรียบแรงงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในระบบทุนนิยม
ทั้งในอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป ต่างมีพฤติกรรมอันน่ารังเกียจกับแรงงานและคนยากจนไม่แตกต่างกัน
สิ่งเหล่านี้ยังคงตกค้างอยู่ในคริสตศตวรรษที่ ๒๑
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๑๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๘.๕ หน้ากระดาษ A4)

 

กาแฟขมสตาร์บัคส์และการขูดรีดแรงงานต่างมุมโลก
ภัควดี วีระภาสพงษ์ - นักวิชาการอิสระ และนักแปลอิสระ

1. กาแฟขมของพนักงานสตาร์บัคส์
"They're as Bad as Wal-Mart" Starbucks Workers Get Organized!
By DEREK SEIDMAN August 26, 2004
และ Starbucks Organizing By Mike Schwartz September 8, 2004


สองวันหลังจากพนักงานร้านสตาร์บัคส์สาขาถนน 36th เมดิสัน ในนิวยอร์กซิตียื่นบัตรขอจัดตั้งสหภาพไปที่คณะกรรมแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ (NLRB) เพื่อขอให้จัดการลงคะแนนรับรองการจัดตั้งสหภาพฯ โฮเวิร์ด ชูลทซ์ ซีอีโอของสตาร์บัคส์ ส่งข้อความเสียงไปถึงพวกเขาทันที ในข้อความที่ส่งมาจากยอดหอคอยของบรรษัท ชูลทซ์ ซึ่งมีรายได้ถึง 17 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่ผ่านมา พยายามกล่อมพนักงานที่มีค่าแรงเริ่มต้นที่ 7.75 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ด้วยถ้อยคำที่คงทำให้ ยอร์จ ออร์เวลล์ ประทับใจมาก

อภิมหาเศรษฐีซีอีโอผู้นี้ เริ่มต้นข้อความโดยกล่าวถึงลูกจ้างค่าแรงต่ำของตนว่า "หุ้นส่วน" และย้ำว่า สตาร์บัคส์และพนักงาน "สร้างความไว้วางใจกันและกันมาตลอด" เขาอธิบายต่อไปว่า "การปฏิบัติต่อทุก ๆ คนด้วยศักดิ์ศรีและความเคารพคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุด" และย้ำอีกถึง "วัฒนธรรมเอื้อเฟื้อและห่วงใย" ของบริษัท เขาทิ้งท้ายข้อความทั้งหมดนี้ด้วยถ้อยคำว่า "ผมอยากปิดท้ายด้วยการขอบคุณพวกคุณทุกคน สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกคุณทำอยู่ทุกวี่วัน รวมทั้งการเป็นหัวใจและวิญญาณที่แท้จริงของสตาร์บัคส์"

ไม่น่าแปลกใจเลย พนักงานทั้งหลายมองทะลุเห็นธาตุแท้ของถ้อยคำสวยหรูตามตำราธุรกิจแบบนี้ ประสบการณ์ของพวกเขาสอนให้รู้ดี ความเป็นมาและการต่อสู้อย่างต่อเนื่องเพื่อก่อตั้งสหภาพแรงงานสตาร์บัคส์สาขาแรก จากจำนวนร้านสตาร์บัคส์ทั้งหมดที่มีมากกว่า 4,000 แห่งในสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

มันเริ่มต้นขึ้นเมื่อพนักงานคนหนึ่ง ชายหนุ่มวัยยี่สิบเศษ ๆ ชื่อ แดเนียล กรอส เอือมระอาเต็มทนกับสภาพการทำงานของตัวเขาเองและเพื่อนร่วมงาน ค่าครองชีพในเมืองนิวยอร์กซิตีสูงลิบลิ่ว ในขณะที่สตาร์บัคส์จ่ายค่าแรงเริ่มต้นให้แค่ 7.75 เหรียญต่อชั่วโมง (กรอสทำงานมานานพอจนได้ขึ้นค่าแรงเป็น 8.09 เหรียญต่อชั่วโมง เศษเงินที่น้อยนิดจนแทบไม่เห็นความแตกต่าง) นอกจากนั้น เวลาการทำงานยังไม่แน่นอน โดยเปลี่ยนไปสัปดาห์ต่อสัปดาห์ และไม่มีหลักรับประกันว่าจะมีชั่วโมงการทำงานตลอดสัปดาห์ครบ 40 ชั่วโมง การยืนทำงานเป็นเวลานาน ๆ หลายชั่วโมงหลังเคาน์เตอร์ที่มีพนักงานน้อยเกินไป ก้ม ๆ เงย ๆ และทำงานกับน้ำร้อนจัด ล้วนแล้วแต่สร้างความเครียดให้กับพนักงาน

เมื่อฝ่ายบริหารไม่ใส่ใจรับฟังคำร้องทุกข์ กรอสจึงหันมาชักชวนเพื่อนพนักงานจัดตั้งสหภาพ แม้ว่าจะโดนอารมณ์โกรธเกรี้ยวจากฝ่ายบริหาร แต่เขาชนะใจเพื่อนร่วมงาน. ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2004 สหภาพแรงงานสตาร์บัคส์ยื่นขอลงคะแนนรับรองการจัดตั้งสหภาพ

ถ้าไปดูที่เว็บไซท์ของสหภาพ (www.starbucksunion.org) มันมีข้อเรียกร้องหลักอยู่ 3 ประการด้วยกัน นั่นคือ "เพิ่มค่าคอบแทนและค่าแรง", "หลักประกันชั่วโมงทำงานโดยมีสิทธิ์เลือกสถานะลูกจ้างเต็มเวลา", และ "ยุติการจ้างพนักงานน้อยเกินไป". ดังที่กล่าวมาข้างต้น ค่าแรงเริ่มต้นของสตาร์บัคส์ในเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเสียดฟ้าอย่างนิวยอร์กซิตีคือเงินแค่ 7.75 เหรียญต่อชั่วโมง โดยมีโอกาสได้ขึ้นค่าแรงเพียงเล็กน้อย, มอรีน เมเดียเนโร พนักงานวัย 23 ปี (ซึ่งทำงานที่ร้านสตาร์บัคส์มาเกือบ 2 ปีแล้ว) กล่าวว่า "ฉันมาทำงานและฉันทำงานหนัก แต่ฉันยังต้องอยู่อย่างกระเบียดกระเสียร ชักหน้าไม่ถึงหลังเพื่อเลี้ยงลูกสาวอีกคน มันแย่มาก"

การเรียกร้องหลักประกันชั่วโมงทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการดำรงชีพวันต่อวันของพนักงาน ด้วยค่าแรงที่ต่ำมาก (และยิ่งน้อยลงเมื่อถูกหักภาษี) ค่าใช้จ่ายพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็ก กลายเป็นภาระสาหัสทันทีถ้าพนักงานไม่ได้ชั่วโมงทำงานมากพอ

แม้ว่าสตาร์บัคส์เสนอประกันสุขภาพบางอย่างให้พนักงาน แต่มันไม่มีความหมายหากว่าพนักงานไม่มีเงินเหลือพอที่จะจ่ายเบี้ยสมทบ ยิ่งกว่านั้น ชั่วโมงทำงานมักไม่แน่นอน เปลี่ยนไปในแต่ละสัปดาห์ ยิ่งทำให้ชีวิตพนักงานลำบากมากขึ้น (โดยเฉพาะคนที่มีลูก) ดังที่แดเนียล กรอส กล่าวว่า "พวกเขายึดแนวคิดเรื่องความยืดหยุ่นและใช้มันกลับตาลปัตร"

ข้อเรียกร้องประการสุดท้ายเกี่ยวข้องกับการจ้างพนักงานน้อยเกินไป สิ่งที่ตามมาคือการบาดเจ็บจากความตึงเครียดในการทำงานที่เกิดขึ้นซ้ำซาก พนักงานสตาร์บัคส์คนหนึ่งชื่อ แอนโธนี โพลันโค กล่าวว่า "ถ้ามองในแง่การออกแบบสถานที่ทำงานที่มีประสิทธิภาพ ร้านกาแฟสตาร์บัคส์เปรียบเหมือนดงทุ่นระเบิด ร้านสตาร์บัคส์ตั้งหน้าตั้งตาจะเลียนแบบร้านกาแฟอิตาเลียน โดยไม่คำนึงถึงความไม่สบายที่เราต้องก้ม ๆ เงย ๆ ในการทำงาน... สตาร์บัคส์มักโฆษณาถึง 'สร้างบรรยากาศอบอุ่น' แต่ความอบอุ่นอย่างเดียวที่ผมรู้สึกคือ แผ่นประคบร้อนแก้ปวดตอนเลิกงาน"

ข้อเรียกร้องนอกเหนือจากนี้ สหภาพยังพยายามเรียกร้องให้สตาร์บัคส์ซื้อเมล็ดกาแฟจากแหล่งที่มีตรารับรองการค้าที่เป็นธรรมอย่างน้อย 5% จากปริมาณการซื้อทั้งหมด จากปัจจุบันที่มีการจัดซื้อน้อยกว่า 1%

แม้ว่าสตาร์บัคส์มักพยายามวางท่าเป็นสถานประกอบการที่มีสำนึกทางสังคม มีความห่วงใยในพนักงานลูกจ้าง แต่การต่อสู้ของสหภาพแรงงานเปิดโปงให้เห็นว่า ทั้งหมดนั้นเป็นแค่ลมปาก "เบื้องหลังผ้ากันเปื้อนสีเขียวและรอยยิ้ม คือคนที่ต้องดำรงชีวิตด้วยความแร้นแค้น" กรอสกล่าวว่า "สตาร์บัคส์โกยเงินจากภาพพจน์ความเป็นมิตรในชุมชน แต่มันไม่เคยเผื่อแผ่น้ำใจให้พนักงานหรือชาวไร่กาแฟเลย นั่นคือเหตุผลที่เราต้องจัดตั้งสหภาพ"

ดังนั้น การต่อสู้จึงมีนัยสำคัญยิ่งกว่าข้อเรียกร้องทางด้านวัตถุ มันยังเป็นการแฉโพยธุรกิจหลายพันล้านดอลลาร์ที่จ่ายค่าแรงต่ำติดดินให้พนักงาน แล้วยังหน้าด้านพอที่จะประชาสัมพันธ์ตัวเองด้วยหน้ากากของความใจบุญสุนทาน ดังที่โพลันโค กล่าวว่า "สตาร์บัคส์เก่งมากในการทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีการที่บริษัทปฏิบัติต่อลูกจ้าง เรารู้สึกว่าลูกค้าสมควรรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว สตาร์บัคส์ปฏิบัติอย่างไรต่อพนักงานที่ภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้บริการกาแฟให้ลูกค้า" กรอสแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า "ทั้งหมดนี้ทำลายความเชื่อผิดๆ ที่คิดว่า สตาร์บัคส์เป็นสถานประกอบการที่แตกต่าง เป็นบริษัทธุรกิจที่ห่วงใยพนักงาน"

หลังจากพนักงานยื่นขอลงคะแนนรับรองการจัดตั้งสหภาพเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม สตาร์บัคส์เดินหน้าว่าจ้างทนายความนักต่อต้านสหภาพ, นายแดเนียล แนช และ เกรกอรี คนอปป์ จากบริษัทกฎหมาย Akin Gump ทันที. บริษัทอ้างว่า การที่พนักงานรวมตัวกันจัดตั้งในสาขาเดียวเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย มันต้องเป็นการจัดตั้งของพนักงานสตาร์บัคส์ทั้งกว่า 50 สาขาในเขตดาวน์ทาวน์แมนฮัตตัน หรือมิฉะนั้นก็จัดตั้งไม่ได้เลย

แน่นอน นี่เป็นเรื่องไร้สาระ ดังที่สจ๊วต ลิชเตน อัยการของสหภาพแรงงาน เขียนถึงการเล่นตลกทางกฎหมายของสตาร์บัคส์ว่า "นายจ้างบริษัทนี้ ดูท่าจะอยู่ในจักรวาลคู่ขนานกระมัง พวกเขาเรียกลูกจ้างชั่วโมงละ 7 เหรียญและไม่มีชั่วโมงทำงานแน่นอนว่า 'หุ้นส่วน' แล้วบอกว่าถนน 36th อยู่ในย่านดาวน์ทาวน์ นายจ้างบริษัทนี้มีโลกทัศน์กลับหัวกลับหางอย่างคงเส้นคงวาจริง ๆ ตอนนี้เลยบอกให้คณะกรรมการยกเลิกหลักปฏิบัติที่ดำเนินมากว่า 40 ปีเสียด้วย"

แม้ว่าสตาร์บัคส์จะพยายามทุกหนทางที่จะปิดกั้นสิทธิของพนักงานในการจัดตั้งสหภาพ แต่ NLRB ยังมีมติให้พวกเขาดำเนินการลงคะแนนจัดตั้งสหภาพได้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม

อย่างไรก็ตาม สตาร์บัคส์และทนายความยังใช้กลอุบายต่าง ๆ นานาเพื่อให้กาแฟของพนักงานขมต่อไป มีการใช้กลยุทธ์สร้างความหวาดกลัวเพื่อข่มขู่พนักงาน ขู่ว่าจะตัดค่าแรง ติดสินบน และสัญญาว่าจะเลื่อนตำแหน่งแก่พนักงานที่ทรยศต่อการจัดตั้งสหภาพ สร้างบรรยากาศการทำงานที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง รวมทั้งให้ข้อมูลผิด ๆ จนฝ่ายพนักงานต้องยื่นฟ้องบริษัทข้อหาปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม โดยตั้งข้อหาว่าบริษัทละเมิดกฎหมายแรงงานและพยายามขัดขวางการลงคะแนนเสียงรับรองสหภาพ

ในเว็บไซท์ของพนักงาน พวกเขาตั้งคำถามว่า "ถ้าสตาร์บัคส์ปกป้องผลประโยชน์ของพนักงานจริง ๆ มีอะไรทำให้ท่านประธานบริษัท โฮเวิร์ด ชูลทซ์ ที่มีรายได้กว่า 17 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ถึงได้กลัวนักหนา? มร.ชูลทซ์ ชอบพูดว่า หลักการสำคัญของสตาร์บัคส์คือ ให้ความเคารพและศักดิ์ศรีแก่ลูกจ้าง แต่เห็นได้ชัดว่า มันไม่รวมถึงการใช้สิทธิ์ก่อตั้งสหภาพ บริษัทยอมรับว่า พนักงานขายกาแฟคือมูลค่าเพิ่มอันยิ่งใหญ่ของกิจการ แต่กลับไม่ยอมจ่ายค่าแรงให้พนักงานที่จะช่วยให้พวกเขารอดพ้นจากความยากจน"

วันที่ 28 กรกฎาคม มีลางไม่ดีสำหรับพนักงาน เมื่อ NLRB มีมติใหม่ให้รับฟังคำร้องทุกข์จากสตาร์บัคส์ เว็บไซท์ของสหภาพกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "คณะกรรมแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลบุช ยอมรับที่จะทบทวนคำร้องของสตาร์บัคส์เกี่ยวกับชัยชนะของสหภาพ. IWW IU/660 ซึ่งอนุมัติให้คนงานในร้านกาแฟสาขาเดียวลงคะแนนรับรองการจัดตั้งสหภาพได้ มตินี้ทำให้คนงานท้อใจ เพราะไม่ว่าผลของการอุทธรณ์จะออกมาอย่างไร แต่ผลของการลงคะแนนจะถูกเตะถ่วงไปอีกหลายปี จนกว่าการตัดสินคดีจะเสร็จสิ้น"

แดเนียล กรอส กล่าวถึงมติครั้งนี้ว่า "สตาร์บัคส์และสำนักกฎหมายต่อต้านสหภาพประสบความสำเร็จในการขัดขวางสิทธิลงคะแนนของเรา เห็นได้ชัดอย่างไม่ต้องมีข้อสงสัยเลยว่า บริษัทมีนโยบายต่อต้านการจัดตั้งสหภาพแรงงานอย่างสุดขั้ว"

โชคร้ายสำหรับบริษัท สหภาพแรงงานสตาร์บัคส์ตั้งอยู่บนความสามัคคีที่เกิดจากการจับมือกันอย่างเหนียวแน่นของพนักงาน การรับรองจากรัฐบาลจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุด และพนักงานยึดหลักการท้าทายซึ่งหน้า (direct action) เพื่อให้ข้อเรียกร้องบรรลุผล

ในเว็บไซท์ของสหภาพยังผูกโยงมติ NLRB เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม เป็นชิ้นส่วนหนึ่งในภาพที่ใหญ่กว่าของสงครามชนชั้นที่กำลังกระทำต่อคนงาน "มติของ NLRB ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรครีพับลิกัน คือกรณีล่าสุดของคำตัดสินที่ลดทอนสิทธิของคนงานในการจัดตั้งสหภาพ มติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ชี้ขาดว่า ผู้สอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีไม่ใช่ลูกจ้าง จึงไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพ ก่อนหน้านั้น คณะกรรมการยังเพิกถอนสิทธิของลูกจ้างนอกสหภาพที่จะเข้าร่วมการประชุมเพื่อรับการอบรม"

กระนั้นก็ตาม คนงานสตาร์บัคส์ยังคงต่อสู้อย่างหนักเพื่อบุกเบิกหนทางไปสู่สหภาพแรงงานสตาร์บัคส์แห่งแรกในสหรัฐอเมริกา. หนังสือพิมพ์ ฟิลาเดลเฟีย อินไควเรอร์ เขียนถึงการต่อสู้ครั้งนี้ในฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม ว่า "ถ้ามันประสบความสำเร็จ ย่อมถือว่าเท่ากับเป็นชัยชนะด้านการประชาสัมพันธ์ครั้งสำคัญของพนักงานกลุ่มนี้ มันอาจกระตุ้นให้เกิดการจัดตั้งสหภาพมากขึ้นในภาคบริการที่เป็นอุตสาหกรรมที่จัดตั้งสหภาพได้ยาก"

ควรย้ำอีกครั้งว่า คนงานในภาคบริการ ตั้งแต่ฟาสต์ฟู้ดไปจนถึงซูเปอร์สโตร์อย่างวอลมาร์ต ควรรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสหภาพ และถ้าทำได้ พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยพลิกฟื้นขบวนการแรงงานขึ้นมา ด้วยการอัดฉีดพลังจากกลุ่มคนงานที่ถูกขูดรีดที่สุดกลุ่มหนึ่ง ความพยายามของพนักงานในนิวยอร์กซิตี ช่วยกระตุ้นให้เกิดการรณรงค์ระดับชาติเพื่อสนับสนุนพวกเขา ขบวนการนักศึกษาเองก็กำลังรณรงค์ในมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนการก่อตั้งสหภาพแรงงานสตาร์บัคส์

หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ ลงบทความเกี่ยวกับแดเนียล กรอสและสหภาพเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน แดเนียลกล่าวในบทความนั้นว่า "มันต้องมีอะไรไม่ถูกต้อง เมื่อประธานบริษัทมีรายได้ถึง 17 ล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ. 2003 ในขณะที่พนักงานขายกาแฟ ซึ่งเป็นรากฐานของบริษัท ต้องดำรงชีวิตด้วยความยากจนขัดสน ต้องบริการกาแฟร้อนจัดด้วยความรีบร้อนจนไม่ปลอดภัย ภายในสถานที่ทำงานที่ออกแบบมาอย่างไม่มีประสิทธิภาพ" นี่คือการต่อสู้ของพนักงานจน ๆ ตัวเล็ก ๆ แต่กล้าหาญ เพื่อเปิดโปงโฉมหน้าของกิจการหลายพันล้านดอลลาร์ ที่ทุ่มเงินก้อนโตไปกับการประชาสัมพันธ์ เพื่อวาดภาพตัวเองว่าเป็นนายจ้างที่มีน้ำใจและให้ความเป็นธรรม

แม้ว่าจะมีอุปสรรคมากมาย แต่แอนโธนี โพลันโค ยืนยันว่า "เรายังยืนหยัดมั่นในความเชื่อว่า พนักงานสตาร์บัคส์สมควรได้รับสิ่งที่ดีกว่านี้ ค่าแรงแค่พอประทังชีพไม่เพียงพอให้เราดำเนินชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นคน สหภาพจะต้องคงอยู่ต่อไป"

ระหว่างการเดินขบวนประท้วงการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกันที่นิวยอร์กซิตี ในวันที่ 28 สิงหาคม 2004 มีการรณรงค์สนับสนุนการก่อตั้งสหภาพที่หน้าร้านกาแฟสตาร์บัคส์สาขา 36th เมดิสัน. แดเนียล กรอส กล่าวคำปราศรัย จากนั้นขบวนพนักงานและผู้ร่วมประท้วงราว 200 คนเดินไปที่สำนักงานใหญ่สตาร์บัคส์ที่อยู่ถัดไปไม่กี่ช่วงตึก แล้วเดินกลับมาที่หน้าร้านอีกครั้ง ระหว่างที่เดินกลับมานั่นเอง ตำรวจเข้าแยกผู้ประท้วงออกเป็นสองกลุ่ม และเจาะจงจับแดเนียล กรอส กับ แอนโธนี โพลันโค พร้อมกับตั้งข้อหา "ขัดขวางการบริหารงานของรัฐบาล" "ขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่" และ "ก่อความไม่สงบ"

หมายเหตุ: กระบวนการจัดตั้งสหภาพแรงงานของสหรัฐอเมริกา ขั้นตอนแรกคือรวบรวมรายชื่อของคนงานที่สมัครใจจะเข้าร่วมสหภาพ ยื่นต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ ถ้าหากนายจ้างไม่คัดค้านการก่อตั้งสหภาพ NLRB สามารถอนุญาตให้ดำเนินการจัดตั้งสหภาพต่อไปได้เลย แต่ถ้านายจ้างคัดค้าน คนงานต้องยื่นอุทธรณ์ต่อสำนักงาน NLRB ในเขตที่ใกล้ที่สุด เพื่อขอให้จัดการลงคะแนนรับรองการจัดตั้งสหภาพ (union certification election)

นายจ้างอาจยินยอมให้มีการลงคะแนนได้ทันทีเมื่อได้รับจดหมายจาก NLRB แต่ถ้านายจ้างยังไม่ยินยอม NLRB จะพิจารณาจากรายชื่อคนงานที่ยื่นเข้าไปว่า มีความสนใจที่จะเข้าร่วมสหภาพเพียงพอหรือไม่

จากนั้น NLRB จะกำหนดวันและสถานที่ในการลงคะแนน นายจ้างและสหภาพมีสิทธิ์ตั้งผู้สังเกตการณ์เพื่อตรวจสอบการลงคะแนน การลงคะแนนของคนงานจะทำเป็นความลับ ในบัตรลงคะแนนจะมีสองช่องให้กา ช่องหนึ่งเป็นชื่อสหภาพที่จะก่อตั้ง อีกช่องระบุว่าไม่ต้องการสหภาพ

ถ้าสหภาพได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากคนงาน NLRB ก็จะรับรองสหภาพนั้น เป็นไปได้ที่ NLRB อาจรับรองสหภาพใดสหภาพหนึ่งโดยไม่ต้องมีการลงคะแนน หากมีหลักฐานแน่ชัดว่า นายจ้างกดดันบีบคั้นคนงานอย่างรุนแรงระหว่างการลงคะแนน

2. รายงานจาก Oxfam: การขูดรีดแรงงานคือราคาของอาหารที่ถูกลง
โดย Cahal Milmo (ที่มา Independent (UK) จาก Asheville Global Report Online http://www.agrnews.org/)

ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ระดับโลก รวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติอังกฤษ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สภาพการทำงานของคนงานหญิงหลายล้านคนตกอยู่ในภาวะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ เพียงเพื่อการแข่งขันในสงครามราคา และสนองความต้องการของลูกค้าที่คาดหวังสินค้าราคาถูก Oxfam (Oxford Committee for Famine Relief) กล่าวไว้ในรายงานที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ปีนี้

การศึกษาถึงสภาพการจ้างงานใน 12 ประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและจัดหาสินค้า นับตั้งแต่กางเกงยีนส์ไปจนถึงดอกเยอบีร่า ให้แก่ซูเปอร์สโตร์ข้ามชาติ เช่น วอลมาร์ตและเทสโก้ พบว่า แรงงานสตรีส่วนใหญ่ในประเทศผู้ผลิตและจัดหาสินค้า ต้องมีชั่วโมงทำงานยาวนานขึ้นทั้งที่ได้รับค่าจ้างต่ำ ต้องทนกับสภาพการทำงานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ เลยจากระบบการค้าแบบโลกาภิวัตน์

ประเมินว่าในประเทศกำลังพัฒนา ผู้หญิงคือแรงงานที่ถูกจ้างถึง 60-90% ของอัตราการจ้างงานในขั้นตอนการผลิตที่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก ทั้งในอุตสาหกรรมสิ่งทอและการผลิตผักผลไม้สด ที่ส่งไปวางจำหน่ายบนชั้นขายสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตของยุโรปและอเมริกา

Oxfam กล่าวว่า นโยบายการจัดซื้อของบริษัทผู้ค้าปลีกระดับโลก ใช้การแข่งขันทางด้านราคาระหว่างซัพพลายเออร์ที่อยู่ห่างกันคนละซีกโลก เช่น ประเทศไทยและเคนยา เพื่อกดราคาให้ต่ำลงและเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ สภาพการทำงานที่เลวร้ายลงของแรงงานที่อยู่ระดับล่างสุดของสายพานการผลิตสินค้า

เคท ราเวิร์ธ ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ กล่าวว่า: "คนงานที่ทำงานอย่างเช่น เก็บผลไม้ เย็บเสื้อผ้า ตัดดอกไม้ เป็นผู้หญิงเสียส่วนใหญ่ แต่แทนที่การทำงานจะทำให้มีรายได้ช่วยครอบครัวให้พ้นจากความยากจน คนงานหญิงมักถูกจ้างงานโดยมีสัญญาจ้างชั่วคราว หรือไม่มีสัญญาจ้างเลย ไม่มีแม้แต่วันลาป่วย ไม่มีความมั่นคงและถูกเลิกจ้างเมื่อไรก็ได้. การขูดรีดแรงงานจากคนที่ไม่มีหลักประกันใด ๆ เลยเช่นนี้ ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มันคือหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์การจ้างงานในระบบการผลิตและจัดหาสินค้าระดับโลก"

Oxfam กล่าวว่า การวิจัยในประเทศต่าง ๆ อาทิเช่น แอฟริกาใต้, บังคลาเทศ, โคลอมเบีย, ฮอนดูรัส และประเทศไทย พบว่า คนงานสตรีถูกคาดหวังให้แบกภาระความรับผิดชอบตามค่านิยมดั้งเดิม ทั้งงานบ้านและการเลี้ยงลูก รวมไปจนถึงการหารายได้พิเศษเพิ่มเติมให้แก่ครอบครัวด้วย. ด้วยเหตุนี้ คนงานหญิงจึงถูกนายจ้างขูดรีดแรงงาน โดยบีบคั้นให้คนงานต้องทำงานที่ใช้ "ความชำนาญต่ำ" ด้วยประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่คนงานส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำสุดจากซับพลายเออร์ รายได้นี้ไม่เพียงพอแก่การใช้จ่ายเพื่อปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพด้วยซ้ำ

- ในบังคลาเทศ คนงาน 98% ที่ Oxfam เข้าไปทำวิจัย ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำสุดตามกฎหมาย แต่อัตราขั้นต่ำนี้กำหนดไว้ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1994 และราคาของอาหารหลักสำหรับดำรงชีวิตขึ้นราคาไปถึงสองเท่าแล้ว

- ส่วนในโมร็อคโค คนงานในโรงงานเสื้อผ้าซึ่งส่งสินค้าให้สาขาห้างสรรพสินค้าเอล กอร์เตสในสเปน ถูกบีบให้ทำงานถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ทันกับใบสั่งสินค้าที่มีกำหนดเส้นตายการจัดส่งอยู่ที่ 7 วัน แต่คนงานเหล่านี้ได้รับค่าล่วงเวลาไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่สมควรได้รับ

รายงานยังกล่าวอีกว่า ตลาดถูกครอบงำโดยบริษัทใหญ่ ๆ ที่ทำตัวเป็น "คนเก็บค่าผ่านประตู" ระหว่างประเทศกำลังพัฒนา กับตลาดที่ทำกำไรมหาศาลในประเทศตะวันตก

ปัจจุบัน บริษัทผู้ค้าปลีกใช้ "การประมูลทางอินเตอร์เน็ต" เพื่อให้ซับพลายเออร์ยื่นประมูลขั้นต่ำสุดสำหรับสัญญาจัดหาสินค้า และใช้การวางใบสั่งซื้อ "ภายในวันเดียว" สำหรับสินค้าอาหารสดที่บังคับให้บรรจุและจัดส่งมาภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับสร้างภาระเพิ่มขึ้นแก่คนงานสตรีที่ทำงานเก็บเกี่ยวผักผลไม้และบรรจุหีบห่อ

ต้นทุนบางอย่างที่เพิ่มขึ้น เช่น การบรรจุหีบห่อพิเศษที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอังกฤษมักระบุมาในใบสั่ง บ่อยครั้งถูกผลักให้เป็นภาระของผู้ผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งพอถูกบีบกำไรส่วนต่างให้เหลือน้อยลง ผู้ผลิตเหล่านี้ ก็มักผลักภาระทางการเงินให้ตกอยู่ที่แรงงานอีกที

ในแอฟริกาใต้ ราคาส่งออกสำหรับแอปเปิ้ลตกลงมาถึง 33 % ตั้งแต่ ค.ศ. 1994. ในฟลอริดา ราคามะเขือเทศที่ใช้แรงงานหญิงต่างด้าวเก็บเกี่ยว ตกลงมาถึงหนึ่งในสี่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 ในขณะที่ราคาที่ผู้บริโภคในอเมริกาจ่ายเงินซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตขึ้นไปถึง 43%

รายงานชิ้นนี้พุ่งความสนใจไปที่เทสโก้ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดและทำกำไรมากที่สุดของอังกฤษ ซึ่งมีสาขาในอีก 10 ประเทศ เทสโก้เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ค้าปลีกที่นิยมผลักภาระต้นทุนโดยไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นแก่ซับพลายเออร์ผู้จัดส่งสินค้า

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

ข้อเรียกร้องประการสุดท้ายเกี่ยวข้องกับการจ้างพนักงานน้อยเกินไป สิ่งที่ตามมาคือการบาดเจ็บจากความตึงเครียดในการทำงานที่เกิดขึ้นซ้ำซาก พนักงานสตาร์บัคส์คนหนึ่งชื่อ แอนโธนี โพลันโค กล่าวว่า "ถ้ามองในแง่การออกแบบสถานที่ทำงานที่มีประสิทธิภาพ ร้านกาแฟสตาร์บัคส์เปรียบเหมือนดงทุ่นระเบิด ร้านสตาร์บัคส์ตั้งหน้าตั้งตาจะเลียนแบบร้านกาแฟอิตาเลียน โดยไม่คำนึงถึงความไม่สบายที่เราต้องก้ม ๆ เงย ๆ ในการทำงาน... สตาร์บัคส์มักโฆษณาถึง 'สร้างบรรยากาศอบอุ่น' แต่ความอบอุ่นอย่างเดียวที่ผมรู้สึกคือ แผ่นประคบร้อนแก้ปวดตอนเลิกงาน"