บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๑๐๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙
21-12-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Barefoot College
The Midnight University

การศึกษาเพื่อคนจนในอินเดียและประเทศยากจน
Sanjit Bunker Roy ผู้พลิกตำราการศึกษาด้วยวิทยาลัยเท้าเปล่า
สฤณี อาชวานันทกุล

นักวิชาการอิสระ ผู้บริหารเว็บไซต์คนชายขอบ

บทความวิชาการชิ้นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาคนยากจน
ด้วยการช่วยให้คนจนจำนวนมาก สามารถอยู่รอดได้ด้วยการพึ่งตนเอง แทนที่จะคอยรับการพึ่งพาจากรัฐ
วิทยาลัยเท้าเปล่าปัจจุบันกำลังเป็นแบบจำลองให้กับการแก้ปัญหาความยากจน
ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระดับกลางกับชีวิตประจำวัน
ทั้งหมดของความสำเร็จของวิทยาลัยเท้าเปล่าในปัจจุบัน
มาจากการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพของคนจนเอง
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๐๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)



Sanjit Bunker Roy ผู้พลิกตำราการศึกษาด้วย "วิทยาลัยเท้าเปล่า"
สฤณี อาชวานันทกุล : นักวิชาการอิสระ ผู้บริหารเว็บไซต์คนชายขอบ

ความนำ
การมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี พ.ศ. 2549 ให้กับ โมฮัมหมัด ยูนุส (Mohammad Yunus) บิดาแห่งแนวคิดไมโครเครดิต และธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ธนาคารเพื่อคนจนแห่งแรกของโลก นับเป็นการเปิดมิติใหม่ของรางวัลโนเบล ด้วยการขยายขอบเขตของรางวัลโนเบลออกจากผู้เสียสละที่ต่อต้านสงครามโดยตรง ไปยังผู้เสียสละที่ช่วยสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นทางอ้อม ดังแถลงการณ์ของคณะกรรมการโนเบลที่ว่า "สันติภาพที่ยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จนกว่าประชากรโลกจำนวนมากจะหาวิธีหลุดพ้นจากความยากจนอย่างถาวร"

การมอบรางวัลโนเบลให้กับยูนุส ยังเป็นการตอกย้ำว่า คนจนมี "ศักยภาพ" พอที่จะเป็นลูกค้าที่ดีของธนาคาร และช่วยเหลือตัวเองให้หายจนได้ ขอเพียงสังคมเลิกดูถูกพวกเขาว่า "โง่" แต่หันมามอบ "โอกาส" ให้กับพวกเขาในการใช้และพัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่

ในขณะที่ยูนุสและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในธนาคารไมโครเครดิตทั่วโลก กำลังมอบโอกาสให้กับคนจน ด้วยการให้พวกเขากู้เงินในระบบ และสอนวินัยในการใช้เงินและบริหารเงินไปในตัวนั้น ห่างออกไปไม่ไกลจากธนาคารกรามีนของยูนุสในบังคลาเทศ ในราชัฏสถาน หนึ่งในมลรัฐที่ยากจนข้นแค้นที่สุดของอินเดีย สันต์จิต บังเคอร์ รอย (Sanjit Bunker Roy) ก็กำลังมอบโอกาสให้กับผู้ยากไร้กว่า 125,000 ชีวิต ด้วยการมอบความรู้ที่พวกเขานำไปใช้ปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ได้ ภายในวิทยาลัยที่สร้างโดยคนจน บริหารโดยคนจน และมีนโยบายไม่รับคนที่จบปริญญาแล้วเข้าเรียน

ธนาคารกรามีนของยูนุสกำลังทำลายอคติของคนทั่วไปที่ว่า คนจนไม่มีวันเป็นลูกหนี้ที่ดีได้ ฉันใด
"วิทยาลัยเท้าเปล่า" (Barefoot College) ของรอย ก็กำลังทำลายอคติของคนทั่วไปอีกข้อหนึ่ง ที่อาจจะฝังรากลึกกว่าด้วยซ้ำว่า คนจนที่ไม่รู้หนังสือไม่มีวันจะเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ ฉันนั้น ...

ผมไม่เคยยอมให้การไปโรงเรียน มารบกวนการศึกษาของผม
(I have never let my schooling interfere with my education). - มาร์ค ทเวน

ความเป็นมาของ สันต์จิต บังเคอร์ รอย
สันต์จิต บังเคอร์ รอย เกิดในตระกูลร่ำรวยในเมืองกัลกัตตา พ่อของเขาเป็นวิศวกรช่างกล แม่เป็นผู้แทนการค้าของอินเดียประจำประเทศรัสเซีย รอยถูกเลี้ยงดูอย่างประคบประหงมมาตั้งแต่เด็ก จนจบปริญญาด้านวรรณกรรมอังกฤษจากวิทยาลัยเซนต์สตีเฟน (St. Stephen's College) ในกรุงเดลี หนึ่งในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ ในปี พ.ศ. 2510 เมื่ออินเดียเผชิญกับวิกฤตข้าวยากหมากแพงอย่างรุนแรง รอยตัดสินใจลาออกจากงานประจำเงินเดือนดีที่ธนาคารกรินด์เลย์ส์ (Grindlays Bank) ด้วยอายุเพียง 22 ปี โยนสูทและทักซิโด้ทั้งหมดทิ้ง แล้วเดินทางไปอาศัยอยู่กับชาวบ้านในติโลเนีย หนึ่งในหมู่บ้านที่ยากจนที่สุดในมลรัฐราชัฏสถาน เพื่อหาวิธีช่วยเหลือพวกเขา

การตัดสินใจครั้งนั้นของรอยนับว่ากล้าหาญและแหวกแนวมาก เพราะค่านิยมที่การศึกษาในระบบของอินเดียปลูกฝังบัณฑิตคือ การหวนกลับไปหมู่บ้านเป็นการแสดงออกซึ่งความล้มเหลว คนที่หางานทำในเมืองต่างหากจึงจะถือว่าประสบความสำเร็จ ค่านิยมนี้ไม่ต่างจากค่านิยมที่การศึกษาในระบบของไทยปลูกฝังนักเรียนเท่าไหร่

รอยบอกว่า ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขาไม่เคยใส่สูทผูกเนคไทอีกเลย และวันแรกที่เขานอนในหมู่บ้านภายใต้ดวงดาวพราวพราย พูดคุยกับชาวบ้านคนแล้วคนเล่าที่อยู่ได้ด้วยเงินต่ำกว่า 40 บาทต่อวัน มาเล่าปัญหาชีวิตให้ฟัง คือวันที่การศึกษาของเขาเริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริง

5 ปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2515 รอยก่อตั้ง "วิทยาลัยเท้าเปล่า" (Barefoot College) ขึ้นในหมู่บ้านติโลเนีย ด้วยความตั้งใจตั้งแต่แรกว่า จะให้สถานศึกษาแห่งนี้เป็น "วิทยาลัยสำหรับคนจน" เท่านั้น สอนเฉพาะในสิ่งที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น เช่น วิธีหาน้ำดื่มที่สะอาด, มีไฟฟ้าใช้ในบ้าน, ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และรู้วิธีรักษาพยาบาลตัวเอง

รอยบอกว่า เป้าหมายแรกของวิทยาลัยเท้าเปล่าคือ ให้คนเลิกสนใจในปริญญาบัตร วิทยาลัยแห่งนี้ไม่รับคนจบปริญญาเข้าเรียน เพราะไม่ถือว่าทักษะในการอ่านและเขียนเป็นเรื่องสำคัญ ทักษะในการเอาชีวิตรอดและความรู้เกี่ยวกับคนจนในชนบทสำคัญกว่า ดังนั้น วิทยาลัยเท้าเปล่าจึงรับเฉพาะคนจนที่เรียนไม่จบหรือถูกไล่ออกจากโรงเรียน ตกงาน เป็นเด็กเกเร หรือถูกสังคมทอดทิ้ง ค่านิยมที่ว่าคนที่กลับไปหมู่บ้านแทนที่จะอยู่เมืองคือคนที่ล้มเหลวเท่านั้น เป็นเครื่องรับรองอย่างดีว่านักเรียนรุ่นแรกของวิทยาลัยเท้าเปล่านั้น ล้วนเป็นคน "เหลือขอ" ในสายตาของสังคม

รอยบอกว่า ประโยชน์ข้อเดียวของปริญญาที่เขามีคือ เอาไว้เขียนบทความเผ็ดร้อนส่งไปลงหนังสือพิมพ์เท่านั้น
รอยก่อตั้งวิทยาลัยเท้าเปล่าขึ้นด้วยความเชื่อมั่นว่า การรู้หนังสือ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกระดับสติปัญญาข้อหนึ่งในความคิดของคนทั่วไป ไม่เป็นอุปสรรคแต่ประการใดในการเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ซับซ้อนที่สุด เขาบอกว่า ทุกคนที่ไม่เคยไปโรงเรียนมาก่อนสามารถเรียนรู้ที่จะเป็นหมอ, ครู, สถาปนิก, วิศวกร, และผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีแบบนำไปปฏิบัติได้จริงภายใน 6 เดือน ขอเพียงแต่พวกเขาเชื่อมั่นในตัวเองเท่านั้น

วิทยาลัยเท้าเปล่าคือบทพิสูจน์อันยิ่งใหญ่
ในความเชื่อมั่นข้อนี้ของรอย ปัจจุบัน วิทยาลัยเท้าเปล่าเป็นสถานศึกษาแห่งเดียวในอินเดียที่ใช้ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ตลอดทั้งบริเวณ อาคารและสิ่งปลูกสร้างทุกชนิดในบริเวณกว่า 192 ไร่ ถูกออกแบบและก่อสร้างด้วยน้ำมือของชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือและไม่เคยไปโรงเรียนมาก่อน โดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นแทบทั้งหมด วิทยาลัยแห่งนี้มีสายใยแก้วนำแสง (fiber optic), อินเทอร์เน็ตคาเฟ่, และเครื่องมือสำหรับการประชุมทางไกลด้วยภาพและเสียง (video conference) อาคารทุกหลังและอุปกรณ์ทุกชนิดบริหารและบำรุงรักษาโดยกลุ่มคนที่ทั้งเขียนไม่ได้และอ่านไม่ออก

วิทยาลัยเท้าเปล่าสอนแต่ทักษะพื้นฐานที่ช่วยให้คนจนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยใช้ "เทคโนโลยีที่เหมาะสม" ที่มีต้นทุนต่ำ ผู้ไม่รู้หนังสือสามารถสร้างและบำรุงรักษาได้เอง ตัวอย่างหลักสูตรของวิทยาลัยเช่น การสร้างปั๊มน้ำ, การเก็บและกรองน้ำฝน, การติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์, สุขอนามัยและการรักษาพยาบาลเบื้องต้น, หัตถกรรมในครัวเรือน, โรงเรียนภาคค่ำ, การสร้างที่อยู่อาศัย ฯลฯ หลักสูตรส่วนใหญ่ใช้เวลาสอน 6 เดือน

ตั้งแต่ปีที่เริ่มก่อตั้งจวบจนปัจจุบัน (ธันวาคม 2549) วิทยาลัยเท้าได้ส่ง "วิศวกรเท้าเปล่า" กว่า 750 คนไปยังหมู่บ้านห่างไกลกว่า 110 แห่ง ใน 13 มลรัฐทั่วทั้งอินเดีย เพื่อใช้ทักษะที่ได้ร่ำเรียนมาในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเพื่อนร่วมชะตากรรม ช่วยให้ผู้ยากไร้กว่า 125,000 คน ได้เข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด การศึกษา สุขอนามัย และมีงานทำ วิศวกรเท้าเปล่าของวิทยาลัยเดินทางไปติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ให้กับหมู่บ้านหลายพันครัวเรือนใน 8 มลรัฐของอินเดีย และไปติดตั้งปั๊มน้ำพลังมือไกลถึงในเทือกเขาหิมาลัย สถานที่กันดารซึ่งวิศวกรคนเมืองผู้เชี่ยวชาญเคยประกาศว่าไม่มีทางติดตั้งปั๊มน้ำได้

ในขณะเดียวกัน "ครูเท้าเปล่า" จากวิทยาลัย ก็ได้ใช้เทคนิคการสอนแบบบันเทิงและเข้าใจง่ายที่ร่ำเรียนมาจากวิทยาลัย เช่น แสดงละครหุ่นมือประกอบ สอนชุมชนหลายสิบแห่งจนสามารถเปลี่ยนทัศนคติดั้งเดิมที่พวกเขาเคยมี ในประเด็นสำคัญๆ เช่น การแต่งงานแบบคลุมถุงชน, สิทธิสตรี, และความสำคัญของการศึกษาเด็ก

โรงเรียนภาคค่ำของวิทยาลัยเท่าเปล่า
หนึ่งในโครงการของวิทยาลัยเท้าเปล่าที่สะท้อนพลังของความคิดสร้างสรรค์ และศักยภาพของคนจนผู้ไม่รู้หนังสือในการช่วยตัวเองได้ดีที่สุดคือ โครงการโรงเรียนภาคค่ำ ซึ่งสอนหนังสือยามค่ำให้กับเด็กวัยเรียนกว่า 4,000 คน ในโรงเรียนภาคค่ำกว่า 150 แห่ง โดย "บุคลากรครู" ส่วนใหญ่ก็คือชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นเอง ที่น้อยคนจะมีการศึกษามากกว่า 8 ปี (เทียบเท่าชั้น ม. 2) ครูโรงเรียนภาคค่ำสอนหนังสือเด็กเป็นอาชีพเสริม นอกเหนือจากงานประจำเช่น เป็นชาวนา ตำรวจ ข้าราชการชั้นผู้น้อย ฯลฯ

โครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากรอยเล็งเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า สาเหตุที่เด็กกว่าร้อยละ 70 ในอินเดียไม่ไปโรงเรียนนั้นไม่ใช่เป็นเพราะพวกเขาโง่ ขี้เกียจ หรือไม่อยากเรียน แต่เป็นเพราะพวกเขาต้องช่วยพ่อแม่ทำงานในเวลากลางวัน ดังนั้น โรงเรียนภาคค่ำจึงถูกออกแบบมาให้ตรงต่อความต้องการของนักเรียน ไม่ใช่ของครูผู้สอน การสอนทักษะช่วยชุมชน เช่น วิธีการสร้างปั๊มน้ำและถังเก็บน้ำฝน ให้เด็กๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย เท่ากับเป็นการประกันว่าพวกเขาจะสามารถช่วยเหลือชุมชนได้แน่ๆ เมื่อโตขึ้น

โรงเรียนภาคค่ำไม่บังคับให้เด็กไปโรงเรียน การเรียนการสอนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อใจระหว่างนักเรียนกับครูเป็นหลัก ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่านั้นคือ ผู้บริหารโรงเรียนภาคค่ำทั้ง 150 แห่ง ไม่ใช่รอยหรือผู้ใหญ่คนอื่น หากเป็น "สภาเด็ก" (children's parliament) ที่ประกอบด้วยตัวแทนเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 10-14 ปี นายกสภาทั้งสามคนที่ผ่านมาที่ได้รับการเลือกตั้งจากเพื่อนนักเรียนล้วนเป็นผู้หญิง สภาเด็กรับผิดชอบภาระทุกอย่างในการบริหารโรงเรียนภาคค่ำ ตั้งแต่การวางหลักสูตร จ้างและจ่ายเงินเดือนครู ซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน ฯลฯ นับเป็นวิธีมอบอำนาจให้เด็กจัดการชีวิตของพวกเขาเองที่ทรงพลัง และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

นอกจากให้เด็กบริหารโรงเรียนของพวกเขาเองแล้ว รอยยังใช้หลักการเดียวกันนี้กับวิทยาลัยเท้าเปล่าด้วย วิทยาลัยนี้ใช้โครงสร้างการบริหารจัดการแบบแนวราบและกระจายอำนาจ ชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ ในบริเวณวิทยาลัยมีสภาหมู่บ้าน ในสัปดาห์แรกของทุกเดือน สภาหมู่บ้านซึ่งมีตัวแทนมาจากการเลือกตั้งจะประชุมกันเพื่อประเมินผลโครงการต่างๆ ของเดือนที่แล้ว และวางแผนการทำงานสำหรับเดือนปัจจุบัน เช่น จะสร้างโรงเรียนภาคค่ำหรือระบบเก็บน้ำฝนอีกที่ไหนดี การกระทำทุกอย่างของสภาหมู่บ้านใช้กระบวนการตัดสินใจที่เป็นประชาธิปไตย และเป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ สภาหมู่บ้านเปิดเผยต้นทุนและราคาของโครงการทุกอย่างให้ทุกคนในชุมชนรับรู้ และให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการประเมินผลโครงการ

โรงเรียนภาคค่ำและการให้เด็กนักเรียนเป็นผู้บริหารโครงการนี้เอง เป็นเครื่องตอกย้ำความเชื่อมั่นของรอย ว่าวิธีที่ดีที่สุดในการพัฒนาชนบท คือการมอบความรู้และทรัพยากรให้กับคนจนโดยตรง ให้เขามีโอกาสช่วยตัวเอง แทนที่จะรอความช่วยเหลือจากรัฐ รอยเชื่อว่า การยกความรับผิดชอบในการให้การศึกษาขั้นพื้นฐานบางส่วนออกจากมือของรัฐ แบบเดียวกับที่เขาทำในการสร้างโรงเรียนภาคค่ำ จะช่วยบรรลุเป้าหมายของรัฐที่จะให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของวิทยาลัยเท่าเปล่า
ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญของวิทยาลัยภาคค่ำ 3 ประการ คือ

- การสนับสนุนให้ชาวบ้านใช้ "เทคโนโลยีที่เหมาะสม"
- การใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ และ
- การใช้หลัก "ความพอเพียง" ด้วยการควบคุมทั้งค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงเกินไปจนวิทยาลัยต้องขาดทุน และด้านรายได้ไม่ให้สูงจนเสี่ยงต่อการที่จิตสำนึกในการช่วยเหลือสังคมจะถูกบิดเบือนไปเป็นผลประโยชน์ทางพาณิชย์ล้วนๆ

พนักงานและลูกจ้างของวิทยาลัยเท้าเปล่าทุกคนรับเงินเดือนไม่เกิน 4,000 บาท (รอยเองรับเงินเดือนประมาณ 3,080 บาท) พิจารณาปรับขึ้นได้ทุกๆ 2 ปี เกณฑ์ในการปรับเงินเดือนใช้ตัววัดจากการประเมินผลของสาธารณะ รวมทั้งนักเรียนของวิทยาลัยด้วย เงินเดือนของบุคลากรทุกคนเป็นข้อมูลสาธารณะ วิทยาลัยเท้าเปล่าอยู่ได้ด้วยรายได้ปีละประมาณ 80 ล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 40 มาจากเงินอุดหนุนของรัฐราชัฏสถาน อีกร้อยละ 40 จากเงินบริจาคของเอ็นจีโอนานาชาติ และที่เหลืออีกร้อยละ 20 มาจากรายได้ของตัวเอง

รอยเชื่อว่าการมีเงิน "มากเกินไป" จะทำลายจิตสำนึกทางสังคมขององค์กรพัฒนาเอกชน แม้ว่าความสำเร็จที่ผ่านมาของวิทยาลัยเท้าเปล่าแปลว่า เขาจะสามารถเรี่ยไรเงินบริจาคมากกว่าเดิม 10-20 เท่าจากเอ็นจีโอต่างชาติ รอยก็ไม่ทำ เขากลับมองว่าทางที่ดีที่สุดคือ รับเงินจำนวนน้อย แล้วแสดงให้ผู้บริจาคเห็นว่าสามารถใช้เงินนั้นได้อย่างคุ้มค่า และมองว่า ถ้าวิทยาลัยเท้าเปล่ามีเงินเก็บหรือมีเงินงบประมาณสูงๆ คนจะเริ่มรู้สึกมักง่าย คิดว่าไม่ต้องทำงานหนักแล้วเพราะมีเงินเหลือเฟือ นั่นเป็นทัศนคติที่แย่มากในความเห็นของรอย

นอกจากพิสูจน์ให้โลกเห็นศักยภาพของคนจนผู้ไม่รู้หนังสือ รอยยังพิสูจน์ให้เห็นความสำคัญของหลักธรรมาภิบาล แม้ในระดับชุมชน ปัจจุบันวิทยาลัยเท้าเปล่าเป็นองค์กรเพื่อชุมชนองค์กรเดียวในอินเดีย ที่เปิดเผยงบการเงินประจำปีที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วต่อสาธารณะ และโครงการทุกอย่างที่ผ่านสภาหมู่บ้านของบัณฑิตเท้าเปล่า ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะดังได้กล่าวไปแล้ว

การยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลของรอย เป็นแรงบันดาลใจให้ภรรยาของเขา อารูนา รอย (Aruna Roy) ริเริ่มขบวนการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียมีความโปร่งใสกว่าเดิม การเคลื่อนไหวที่เธอเป็นตัวตั้งตัวตี นำไปสู่การผ่านกฎหมายเสรีภาพในการได้รับข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information Bill) ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดว่าหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ต้องเปิดเผยเอกสารที่ประชาชนร้องขอ ภายใน 30 วัน ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้อารูนา รอย ได้รับรางวัลแม็กไซไซในปี พ.ศ. 2543

อะไรคือเทคโนโลยีที่เหมาะสม หรือเทคโนโลยีปานกลาง?
การใช้ประโยชน์จาก "เทคโนโลยีที่เหมาะสม" (appropriate technology) หรือ "เทคโนโลยีปานกลาง" ที่บรรลุเป้าหมายของชุมชนได้โดยไม่ต้องใช้วัสดุราคาแพงจากนอกชุมชน และง่ายพอที่ชาวบ้านจะสร้างและบำรุงรักษาเองได้ เป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จของวิทยาลัยเท้าเปล่า

"เทคโนโลยีที่เหมาะสม" มีความหมายคล้ายกันกับ "เทคโนโลยีชาวบ้าน" ในเมืองไทย ดังคำอธิบายในวิกิพีเดีย:
"เทคโนโลยีที่เหมาะสม" หมายถึง เทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของสังคมที่จะนำเทคโนโลยีนั้นไปใช้ เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับใช้ในประเทศกำลังพัฒนา หรือชนบทที่ยังห่างไกลความเจริญในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งอาจไม่มีทุนทรัพย์หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพียงพอที่จะใช้และบำรุงรักษาเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากๆ

ในทางปฏิบัตินั้น เทคโนโลยีที่เหมาะสมมักหมายถึงเทคโนโลยีที่ใช้ระดับเทคโนโลยีที่เรียบง่ายและอ่อนโยน(ต่อสิ่งแวดล้อม)ที่สุด ในการบรรลุจุดประสงค์ของชุมชนนั้นๆ ในทางกลับกัน เทคโนโลยีที่มีราคาแพงอาจเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดในชุมชนร่ำรวยที่สามารถซื้อและบำรุงรักษามันได้

คำถามที่ว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสมนั้นควรประกอบด้วยอะไรบ้าง เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่จบสิ้น แต่โดยทั่วไป นักทฤษฎีใช้ศัพท์นี้ในการตั้งคำถามต่อสังคมที่ใช้เครื่องจักรมากเกินความจำเป็น การตกงานของคนจำนวนมาก การร่อยหรอของทรัพยากร หรือการเพิ่มขึ้นของระดับมลพิษที่เป็นผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ไม่มีใครควบคุม ศัพท์คำนี้ยังใช้อธิบายสภาวะการตกที่นั่งลำบากของประเทศกำลังพัฒนา ที่กำลังเผชิญกับผลเสียจากการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ

จากมุมมองของผู้นิยมความเรียบง่าย (ซึ่งคนอื่นอาจมองว่าเป็นพวกปฏิเสธเทคโนโลยี) "เทคโนโลยีที่เหมาะสม" หมายถึงเทคโนโลยีที่ทำประโยชน์สุทธิ จากการประเมินผลได้เสียระหว่างความเสี่ยง ต้นทุน และคุณค่า สูงพอที่คนควรใช้มันต่อไป ตัวอย่างเช่น ราวตากผ้า, พื้นที่ปลูกผักสวนครัว, การทำปุ๋ยหมักในครัวเรือน, ฉนวนกันความร้อนในบ้าน, หรือการใช้จักรยานแทนที่รถยนต์

หลายคนใช้คำว่า "เทคโนโลยีที่เหมาะสม" กับเทคโนโลยี "ชั้นสูงสุด" ที่ถูกนำไปใช้ในบริบทที่เหมาะสมที่สุดกับมัน เช่น เราอาจนับการออกรายการวิทยุ, โทรศัพท์มือถือ, หรือการศึกษาทางไกลเป็น "เทคโนโลยีชั้นสูง" ที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาอาชีพเสริม หรือให้การศึกษาเด็กในชนบทห่างไกล

คำว่า "เทคโนโลยีปานกลาง" (intermediate technology) อาจใช้ในความหมายเดียวกันกับ "เทคโนโลยีที่เหมาะสม" อี. เอฟ. ชูมักเกอร์ (E. F. Schumacher) ผู้แต่งหนังสือเรื่อง "Small Is Beautiful" เป็นผู้คิดค้นศัพท์คำนี้ และใช้มันในความหมายว่า เทคโนโลยีใดๆ ก็ตามที่แพงกว่าเทคโนโลยีปัจจุบันในประเทศกำลังพัฒนา 10 เท่า แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกกว่าเทคโนโลยีในประเทศพัฒนาแล้ว เทคโนโลยีปานกลางสามารถซื้อหาได้สะดวกและใช้ง่ายสำหรับคนจน สามารถเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ได้โดยก่อความเสียหายทางสังคมน้อยที่สุด ชาวบ้านสามารถสร้างเทคโนโลยีปานกลางได้ด้วยใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าที่ทำงานปกติใช้เงิน 1 ดอลลาร์ในการซื้อเทคโนโลยีขั้นต่ำมาใช้ แต่วิถีทางแบบอุตสาหกรรมใหม่ต้องใช้เงินกว่า 1,000 ดอลลาร์ "เทคโนโลยีปานกลาง" ในกรณีนั้นคือเทคโนโลยีที่มีราคาระหว่าง 10-100 ดอลลาร์ต่อสถานที่ทำงาน ชูมักเกอร์และพวกพ้องนักพัฒนาของเขา ทำให้ศัพท์คำนี้เป็นที่รู้จักระหว่างที่ทำงานวิจัยเรื่องทฤษฎีการพัฒนาในทศวรรษ 2510

คุณสมบัติของเทคโนโลยีที่เหมาะสม หรือเทคโนโลยีปานกลาง
ราคาต่ำและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาต่ำคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดของเทคโนโลยีที่เหมาะสม เทคโนโลยีที่ต้องดูแลรักษาค่อนข้างถี่อาจนับว่ามีความเหมาะสมได้ หากการดูแลรักษานั้นสามารถทำได้ด้วยการใช้ทักษะ เครื่องมือ และวัสดุพื้นบ้าน เทคโนโลยีที่ "เหมาะสม" ปกติคือเทคโนโลยีที่อย่างน้อยชาวบ้านสามารถซ่อมแซมเองได้

ไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยี "ขั้นต่ำ"
เทคโนโลยีที่เหมาะสมอาจใช้ประโยชน์จากงานวิจัยล่าสุดได้ เช่น ผ้ากรองน้ำที่ทำจากผ้าส่าหรีเก่าๆ ในบังคลาเทศ ได้รับแรงบันดาลใจจากงานวิจัยเรื่องการเดินทางของเชื้ออหิวาตกโรคในน้ำ เทคโนโลยีที่เหมาะสมอาจเป็นเทคโนโลยีล่าสุด เช่น มูลนิธิทำโลกให้สว่าง (Light Up the World Foundation) รณรงค์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลในเนปาล ใช้ไดโอดเปล่งแสง (light-emitting diode หรือ LED) สีขาวแทนหลอดไฟฟ้าแบบเก่า เพราะใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 4-5 เท่า แต่ทนทานกว่าหลายเท่า (อยู่ได้นาน 50,000 ชั่วโมง เทียบกับอายุ 1,000 ชั่วโมงของหลอดไฟฟ้า)

ความยั่งยืน
คุณสมบัติเช่น ราคาต่ำ ไม่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และการใช้ทรัพยากรที่หาได้ในท้องถิ่น สามารถทำให้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมีความยั่งยืน (sustainable) กว่าเทคโนโลยีชนิดอื่น ด้วยเหตุนั้น บางครั้งนักพัฒนาที่สนับสนุนแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงสนับสนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้วย

การขยายผลโครงการวิทยาลัยเท้าเปล่า
ปัจจุบัน วิทยาลัยเท้าเปล่ามี "ศูนย์สนาม" (field center) กว่า 20 แห่งทั่วอินเดีย นอกเหนือจากแคมปัสหลักที่ติโลเนีย ฝึกสอนทั้งนักเรียนท้องถิ่น และนักเรียนต่างชาติจากประเทศกันดาร เช่น อัฟกานิสถานและเนปาล ให้นำทักษะที่ได้เรียนรู้กลับไปช่วยชุมชนของตน

ในปี 2548 ผู้หญิงชาวอัฟกานิสถาน 3 คน เดินทางไปวิทยาลัยเท้าเปล่าที่ติโลเนียเพื่อเข้าเรียนหลักสูตรเรื่องการสร้างระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากที่พวกเธอกลับไปบ้านเกิด วิศวกรเท้าเปล่าเหล่านี้ได้ติดตั้งไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ให้กับเพื่อนบ้านจำนวน 124 หลังคาเรือน ใน 5 หมู่บ้าน ภายในเดือนแรกหลังจากที่พวกเธอกลับไปถึง

ปัจจุบันผู้หญิงทั้งสามคนได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมวิศวกรเท้าเปล่าพลังแสงอาทิตย์ (Barefoot Solar Engineers Association) ขึ้นในอัฟกานิสถาน เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่พวกเธอได้รับให้กับคนอื่น นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์ไม่น้อยในอัฟกานิสถาน ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ากดขี่ผู้หญิงมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

รอยมีแผนที่จะขยายผลโครงการวิทยาลัยเท้าเปล่าออกไปเรื่อยๆ รวมทั้งเผยแพร่แนวคิดเท้าเปล่าของเขาออกไปนอกอินเดีย โดยใช้เงินสนับสนุนจากมูลนิธิ Skoll ที่เขาได้รับระหว่างปี 2548-2550 ไปสร้างวิทยาลัยเท้าเปล่าในชุมชน 30 แห่ง ใน 5 ประเทศ ความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนจนทุกหนแห่งในการช่วยตัวเอง ทำให้รอยเชื่อว่าโมเดลของวิทยาลัยเท้าเปล่ามี "ความเป็นสากล" สูง สามารถนำไปปรับใช้ในประเทศอื่นได้สำหรับผู้ใดก็ตามที่สนใจ และแคลงใจในวิถีการพัฒนาราคาแพงของกระแสหลัก ดังคำอธิบายบนเว็บไซด์ของวิทยาลัยเท้าเปล่า:

โมเดลของวิทยาลัยเท้าเปล่าเข้ากันได้หรือไม่กับโครงการพัฒนาของคุณ? ("คุณ" ในที่นี้หมายถึงองค์กรระดับโลกอย่างสหประชาชาติ)

คนจนในชนบทมีความต้องการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิต เช่น น้ำดื่มที่สะอาด, สุขอนามัยที่ดี, การศึกษา, การมีงานทำ, แต่ละปี เงินเป็นพันๆ ล้านเหรียญสหรัฐถูกทุ่มในนามของคนจน. มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และเอ็นจีโอต่างๆ จ้างผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการศึกษาสูงๆ จากในเมือง มาเสนอบริการเหล่านี้ให้กับคนจนในราคาแพงลิบลิ่ว แต่พวกเขาหนีไม่พ้นผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ต้องการเห็นคนจนจนอยู่ต่อไป เพราะความจนเป็นธุรกิจใหญ่สำหรับพวกเขาที่หมายถึงงานหลายพันตำแหน่ง

ความเชื่อของวิทยาลัยเท้าเปล่าคือ โครงการพัฒนาชนบทไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากในเมือง เพราะหมู่บ้านต่างๆ มี "ผู้เชี่ยวชาญ" อยู่แล้ว ผู้มีภูมิปัญญา ความรู้ และทักษะที่นักพัฒนาไม่สนใจจะจำแนก ระดม หรือปรับใช้ เพียงเพราะพวกเขาไม่มีวุฒิการศึกษาในระบบ

โมเดลของวิทยาลัยเท้าเปล่าจะใช้ได้ในชุมชนของคุณหรือไม่?
วิทยาลัยเท้าเปล่าใช้ได้กับชุมชนคนยากไร้ในชนบททุกแห่งในโลก ที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

- มีความยากจนข้นแค้น
- ชุมชนนั้นถูกปล่อยปละละเลยจนพวกเขาไม่มีทางเลือกใดๆ นอกเหนือจากต้องพึ่งความรู้ความสามารถของตัวเอง
- ครอบครัวต่างๆ ในชุมชนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่ใช่พึ่งคนนอกชุมชน ดังนั้นความรู้และทักษะต่างๆ ของพวกเขาจึงมีประโยชน์ จำเป็น และเป็นที่นับถือในชุมชน
- อัตราการไม่รู้หนังสืออยู่ในระดับสูง ทำให้ประเพณีปากเปล่า (oral tradition) ฝังรากลึกซึ้ง คนรุ่นหนึ่งมีการส่งต่อความรู้และทักษะไปยังคนรุ่นต่อไป

สาเหตุที่เป้าหมายแห่งสหัสวรรษจะไม่มีวันสัมฤทธิ์ผล
ในบทบรรณาธิการที่รอยเขียนลงหนังสือพิมพ์ International Herald Tribune เรื่อง "สาเหตุที่เป้าหมายแห่งสหัสวรรษจะไม่มีวันสัมฤทธิ์ผล" (Why the Millennium Goals Won't Work) รอยขยายเหตุผลที่เขาต่อต้านวิถีการพัฒนากระแสหลัก ที่เน้นการใช้ผู้เชี่ยวชาญจากโลกตะวันตกไปให้คำแนะนำ (วิธี "บนลงล่าง" หรือ top-down approach) แทนที่จะต่อยอดจากศักยภาพของคนในท้องถิ่น ("ล่างขึ้นบน" หรือ bottom-up approach) ไว้อย่างตรงไปตรงมาดังต่อไปนี้:

ในปี พ.ศ. 2521 เมื่อโรเบิร์ต แม็คนามารา (Robert McNamara อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐในช่วงสงครามเวียดนาม) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลกในสมัยนั้น และแม็คจอร์จ บันดี้ (McGeorge Bundy) ประธานมูลนิธิฟอร์ด มาค้างคืนที่วิทยาลัยเท้าเปล่าที่นี่ ที่หมู่บ้านติโลเนีย แม็คนามาราถามชายผู้หนึ่ง ที่เลี้ยงครอบครัวด้วยรายได้เพียงสิบกว่าบาทต่อวัน ว่าเขาหวังอะไรในชีวิต เขายิ้มและตอบเบาๆ ว่า "ได้อิ่มท้องวันละสองมื้อ"

ผมจำความตกตะลึงอันเงียบกริบได้จนถึงทุกวันนี้ ความทรงจำนี้หวนคืนมาเมื่อผมได้อ่านรายงานสรุปความคืบหน้าของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ของสหประชาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2548 น่าเสียดายที่ความรู้และประสบการณ์ของนักพัฒนาระดับสูงผู้ทรงอิทธิพล หน่วยงานของสหประชาชาติทั้ง 25 หน่วยงาน และผู้บริจาคเงินนานาชาติหลายกลุ่มที่ให้เงินสนับสนุนพวกเขา ไม่ช่วยลบล้างทัศนคติเกี่ยวกับความยากจนที่ไร้เดียงสาและเชื่อคนง่าย ออกจากรายงานฉบับนี้ได้เลย

โลกความจริงเทียม (virtual reality) ที่กลุ่มคนเขียนรายงานฉบับนี้อาศัยอยู่ ซึ่งเต็มไปด้วยแผนการดำเนินงาน กลยุทธ์ และเอกสารข้อมูล เป็นโลกอันน่าหวาดหวั่น พวกเขาควรจะหันมาฟังเสียงของคนที่ใช้เวลากว่า 34 ปีที่ผ่านมา ทำงานและอาศัยอยู่กับผู้ยากไร้ในชนบท: การขจัดความยากจนแร้นแค้นและความหิวโหย (เป้าหมายแห่งสหัสวรรษข้อ 1) ไม่จำเป็นต้องใช้ดัชนีวัดหรือฐานข้อมูลใดๆ, นักกิจกรรมผู้มีการศึกษาที่ไม่มีไอเดียว่าจะเข้าถึงผู้ยากไร้อย่างไรต่างหาก ถึงจะจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเหล่านั้น

ตราบใดที่รัฐบาลต่างๆ ในทวีปอเมริกาใต้ ยังไร้พลังที่จะสลัดตัวเองออกจากการครอบงำของบริษัทเอกชนที่ฉ้อฉล และนักการเมืองท้องถิ่นระดับหมู่บ้านที่คอร์รัปชั่น ผู้ยากไร้จะไม่มีวันได้รับอิสรภาพจากความหิวโหย และจากความกลัวได้อย่างแท้จริง ไม่ว่ารายงานของสหประชาชาติจะพูดอย่างไร วิธีแก้ปัญหาน่ะหรือ? กดดันให้รัฐบาลทุกประเทศในทวีปนั้นให้ออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการรับข้อมูลข่าวสาร เหมือนกับที่อินเดียมี สร้างกลไกรับประกันความโปร่งใสและความรับผิด ชุมชนท้องถิ่นรวมตัวกันกดดันรัฐจากฐานราก ให้เปิดเผยการใช้เงินงบประมาณ ขอความร่วมมือจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) พวกเขาจะต้องยื่นมือมาช่วยแน่ๆ

ถ้าเราต้องการทำให้คนทุกคนทั่วโลกได้รับการศึกษาขั้นประถมเป็นอย่างต่ำ (เป้าหมายแห่งสหัสวรรษข้อ 2) วิธีการของยูเนสโกในประเด็นนี้ใช้ไม่ได้ผล ในภาวะที่เด็กชนบทกว่าร้อยละ 60 ทั่วโลกไม่สามารถไปโรงเรียนได้เพราะพวกเขาต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน รายงานนี้ทำได้เพียงสาธิตให้เราเห็นว่าสหประชาชาติไร้ความสามารถที่จะคิดนอกกรอบ ทั้งๆ ที่เราสามารถแก้ปัญหานี้โดยใช้สามัญสำนึกแบบชาวบ้าน - ให้เด็กเรียนหนังสือภาคค่ำแทน

เนื่องจากครูโรงเรียนรัฐส่วนใหญ่ไม่นอนค้างในหมู่บ้าน เราควรฝึกสอนและจ้างหนุ่มสาวชนบทที่รู้หนังสือแต่ไม่มีงานทำหลายพันคนทั่วโลก ให้เป็น "ครูเท้าเปล่า" ไปสอนและบริหารโรงเรียนภาคค่ำเหล่านี้

กลุ่มผู้เขียนรายงานฉบับนี้รู้หรือไม่ว่า ความสำเร็จของกลุ่มพัฒนาชนบทที่ใช้พลังชุมชนเป็นฐานรากมากมายทั่วโลก ที่กำลังทำงานแบบนี้ในการศึกษาระดับประถม ยังไม่ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของสถิติที่เป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นสถิติของยูเนสโกหรือของรัฐบาลต่างๆ? นั่นเป็นเพราะว่ารัฐไม่เห็นและไม่มีวันจะเห็นคุณค่าของงานของพวกเขา เพราะพวกเขาเป็นอันตรายต่อข้าราชการระดับหมู่บ้านผู้เป็นตัวแทนของรัฐบาลกลาง ที่ต้องการรักษาดุลอำนาจเดิมต่อไปเรื่อยๆ

ในทำนองเดียวกัน มีหนทางอันสร้างสรรค์มากมายที่กลุ่มพัฒนาชนบทระดับชุมชนทั่วโลกกำลังช่วยมอบอำนาจให้กับผู้หญิง (เป้าหมายแห่งสหัสวรรษข้อ 3) จากประสบการณ์ของผม หญิงชาวชนบทที่แทบไม่รู้หนังสือมากมาย ได้กลายเป็นวิศวกรแสงแดด (solar engineer) และวิศวกรน้ำ (water engineer) พวกเธอสามารถซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำพลังมือ, สร้างถังเก็บน้ำฝนในโรงเรียน, ติดตั้งไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ให้กับทั้งหมู่บ้าน และป้อนข้อมูลลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งหมดนี้โดยปราศจากการช่วยเหลือใดๆ ทางเทคนิคจากโลกภายนอก เรื่องนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญในเมืองหลายคนไม่เชื่อสายตาตัวเอง

เมื่อพูดถึงน้ำฝน เราทุกคนรู้ว่าฝนตกลงมาบนหลังคาบ้านทุกหนทุกแห่ง ชาวบ้านควรเก็บน้ำฝนเหล่านี้ไว้เป็นพันๆ ล้านแกลลอน ไว้ดื่มกินและชักโครก ในขณะเดียวกับที่ค่อยๆ เลิกใช้เทคโนโลยีแบบรวมศูนย์ที่แพงลิบลิ่ว ที่ใช้ปั๊มน้ำพลังมือหรือระบบท่อส่งน้ำ วิธีแก้ปัญหาแบบง่ายๆ เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานข้อนี้จะทำให้ผู้ยากไร้มีน้ำสะอาดดื่มเพิ่มขึ้น (เป้าหมายแห่งสหัสวรรษข้อ 7) และจะช่วยให้เป้าหมายแห่งสหัสวรรษข้ออื่นๆ แทบทุกข้อคืบหน้าไปด้วย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

เราไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรอนามัยโลกในทุกหมู่บ้าน เพราะเราสามารถยกระดับทักษะและขีดความมั่นใจของหมอตำแยท้องถิ่นได้อย่างง่ายดาย และไม่ต้องใช้เงินมาก เราต่อยอดความรู้ของพวกเธอได้ เมื่อใดที่ระบบแพทย์สมุนไพรที่ตั้งอยู่บนภูมิปัญญาชาวบ้านถูกนำมาใช้ อัตราการตายของเด็กก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว สุขภาพของแม่ดีขึ้น และโรคที่ระบาดมาตามน้ำก็ลดลงตามไปด้วย (เป้าหมายแห่งสหัสวรรษข้อ 4 ถึง 6)

ถ้าเราต้องการขจัดความยากจนจริงๆ พันธมิตรที่เราต้องทำให้แข็งแกร่งขึ้นคือพันธมิตรระหว่างชุมชนยากไร้ ซึ่งเป็นพันธมิตรรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่การค้าระหว่างประเทศ (เป้าหมายแห่งสหัสวรรษข้อ 8 ) พวกเขาจะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และแบ่งปันความรู้และทักษะที่ใช้ได้จริงระหว่างกัน การนำเข้าไอเดีย เครื่องมือ และที่ปรึกษาราคาแพงจากโลกตะวันตก มีแต่จะทำลายศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในการช่วยตัวเอง

เป้าหมายใดๆ ก็ตามที่ถูกผลักดันจากเบื้องบนโดยองค์กรผู้ให้บริจาคและรัฐบาล ที่ไม่มีความรับผิดต่อชุมชนท้องถิ่นและปราศจากความโปร่งใส ย่อมไม่มีทางสำเร็จ โมเดลแบบนั้นส่งเสริมให้มีการปลอมแปลงตัวเลข จ้างที่ปรึกษาและผู้รับเหมาเอกชนเกินความจำเป็น ผลประโยชน์ทับซ้อน และระบอบอุปถัมภ์อันมหึมา

เมื่อชุมชนยากจนคิดหาทางออกแบบชาวบ้าน เป้าหมายของพวกเขาเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด แต่ในโมเดลจากบนลงล่างของสหประชาชาติ ที่ปราศจากขบวนการเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าที่ร่วมมือกับชุมชนในฐานะพันธมิตรที่เท่าเทียมกัน เป้าหมายต่างๆ ถูกแยกออกเป็นโครงการย่อยๆ ตามความสะดวกของผู้ให้บริจาคและรัฐบาลโลกพัฒนาแล้วเท่านั้น นั่นคือสูตรสำเร็จของหายนะ และสาเหตุที่เป้าหมายแห่งสหัสวรรษจะเป็นได้เพียงความสำเร็จบนกระดาษเท่านั้น

ส่งท้าย
นักข่าวเคยถามรอยว่า เขาเคยรู้สึกเสียดายโอกาสหรือเปล่า เวลาเห็นเพื่อนร่วมรุ่นจากวิทยาลัยเซนต์สตีเฟน ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานในฐานะทูต นักการเมือง และนักธุรกิจพันล้าน?

รอยส่ายหัว "คุณรู้ไหมว่าผมเห็นอะไรเมื่อพวกเขามองผม?" เขาตอบ "ความอิจฉา ภาษากายของพวกเขาพูดว่า 'เราอยากมีความกล้าพอที่จะทำสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่' การไม่มีเงินเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ผมไม่เข้าใจคุณค่าของมัน ไม่มีใครสามารถซื้อตัวผมได้ แต่แล้วผมก็มีทุกสิ่งทุกอย่าง มันมาเองเสมอ."

++++++++++++++++++++++++++++

บทความชิ้นนี้นำมาจาก
http://www.onopen.com/2006/02/1268

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

โครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากรอยเล็งเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า สาเหตุที่เด็กกว่าร้อยละ 70 ในอินเดียไม่ไปโรงเรียนนั้นไม่ใช่เป็นเพราะพวกเขาโง่ ขี้เกียจ หรือไม่อยากเรียน แต่เป็นเพราะพวกเขาต้องช่วยพ่อแม่ทำงานในเวลากลางวัน ดังนั้น โรงเรียนภาคค่ำจึงถูกออกแบบมาให้ตรงต่อความต้องการของนักเรียน ไม่ใช่ของครูผู้สอน การสอนทักษะช่วยชุมชน เช่น วิธีการสร้างปั๊มน้ำและถังเก็บน้ำฝน ให้เด็กๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย เท่ากับเป็นการประกันว่าพวกเขาจะสามารถช่วยเหลือชุมชนได้แน่ๆ เมื่อโตขึ้น โรงเรียนภาคค่ำไม่บังคับให้เด็กไปโรงเรียน การเรียนการสอนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อใจระหว่างนักเรียนกับครูเป็นหลัก ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่านั้นคือ ผู้บริหารโรงเรียนภาคค่ำทั้ง 150 แห่ง ไม่ใช่รอยหรือผู้ใหญ่คนอื่น หากเป็น "สภาเด็ก" (children's parliament) ที่ประกอบด้วยตัวแทนเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 10-14 ปี นายกสภาทั้งสามคนที่ผ่านมาที่ได้รับการเลือกตั้งจากเพื่อนนักเรียนล้วนเป็นผู้หญิง