บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๑๐๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙
14-12-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Alien Housekeepers
The Midnight University

แรงงานหญิงจากประเทศโลกที่สาม
คนดูแลบ้านต่างด้าว ผู้หญิงในมุมอับของโลกาภิวัตน์
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
นักวิชาการอิสระประเด็นสิทธิมนุษยชนและโลกาภิวัตน์

บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน ซึ่งเคยได้รับการเผยแพร่แล้วใน
global report ฉบับที่ ๔๙ หน้า ๔๒-๔๗
ALIEN HOUSEKEEPERS
แจ๋วข้ามชาติ ผู้หญิงของโลกวันนี้
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอพยพของแรงงานหญิงที่ยากจนไปทำงานในประเทศที่ร่ำรวยกว่า
หลายคนต้องประสบกับชะตากรรมอันทุกข์ลำเค็ญ ทั้งจากนายจ้างและรัฐปลายทาง
แต่พวกเธอก็ต้องจำทน เพื่อฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของครอบครัวที่บ้านเกิด
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่พวกเธอี่ยังต้องจ่ายเพิ่มอันไม่คาดฝัน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1101
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9.5 หน้ากระดาษ A4)



คนดูแลบ้านต่างด้าว ผู้หญิงในมุมอับของโลกาภิวัตน์
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล : นักวิชาการอิสระประเด็นสิทธิมนุษยชนและโลกาภิวัตน์

แจ๋วข้ามชาติ : ผู้หญิงของโลกวันนี้
เธอถูกนายจ้างผู้หญิงชื่อ ยิม เพก ฮา อายุ 37 ปี ทำร้ายร่างกายมาตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา นายจ้างใช้เตารีดไฟฟ้านาบที่หน้าอกและหลัง แล้วยังใช้น้ำร้อนลวกที่ต้นขาของเธออีกด้วย วันก่อนที่เธอจะได้รับความช่วยเหลือออกจากขุมนรก นายจ้างใจโหดได้ใช้ถ้วยสแตนเลสทุบที่หัวของเธอ สาเหตุหลักคือไม่พอใจที่เธอทำจานแตกหรือรีดเสื้อไม่เรียบ

ถ้าพวกเขากำหนดชีวิตเองได้ เด็ก 49 คนจาก 100 คน อยากให้พ่อไปทำงานต่างประเทศแทนที่จะเป็นแม่ "แม่สามารถเป็นได้ทั้งแม่และพ่อ" ในความคิดของ ดอน, อายุ 19 "บางครั้งแม่ปีนขึ้นไปซ่อมหลังคา แต่พ่อทำกับข้าวไม่ได้เลย"

ความนำ
ทุกวันหยุด หากคุณมีโอกาสแวะไปสวนสาธารณะใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ คุณจะพบการชุมนุมสังสรรค์วงเล็กวงน้อยของแรงงานต่างชาติจำนวนมาก เช่นเดียวกัน หากคุณได้ไปฮ่องกง ที่สวนเล็กใต้สะพานในเกาลูนซิตี ทุกวันอาทิตย์ คุณก็จะได้เจอกับบรรดา "หญิงทำงานบ้าน"(แจ๋ว) ไทย ที่ไปทำงานในฮ่องกงมาชุมนุมกัน ความบันเทิงราคาถูกของพวกเขาไม่มากมายอะไร แค่ได้พูดคุยกัน กินอาหารร่วมกัน นั่นก็พอแล้ว เพราะค่าจ้างที่พวกเธอหามาได้ทั้งหมดนั้น ต้องส่งกลับประเทศเพื่อความกินดีอยู่ดีของครอบครัวซึ่งรออยู่ที่บ้าน

ต่างกรรม วาระเดียวกัน
ทันทีที่นาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ผ่านมา เส้นตายของการนิรโทษกรรมแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของรัฐบาลมาเลเซียก็สิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย ได้ออกปฏิบัติการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เพียงวันแรกเท่านั้น ตัวเลขการจับกุมสูงถึง 560 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดนีเซียที่เข้ามาทำงานในฟาร์ม โรงงาน และทำงานเป็นคนรับใช้

ทางการมาเลเซียยังประกาศด้วยว่า จะเดินหน้าออกกวาดล้างแรงงานต่างด้าวอย่างจริงจังต่อไป เนื่องจากคาดการณ์ว่ายังคงมีแรงงานต่างด้าวอีกราว 200,000-400,000 คน ที่ยังหลบหนีและซ่อนตัวอยู่ในมาเลเซีย ส่วนผู้ที่ถูกจับกุมได้นั้นจะถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยน จำคุก และมีโทษปรับ ก่อนจะถูกส่งไปรวมกับผู้ที่เข้ามอบตัวก่อนหน้าที่แคมป์ชายแดนมาเลยเซีย-อินโดนีเซีย เพื่อรอการส่งกลับ กาชาดท้องถิ่นระบุว่า แคมป์ที่รอส่งกลับทั้งแออัดและคับแคบ ขาดแคลนน้ำสะอาด ทำให้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากป่วย โดยอาการหลักๆ คือ ท้องเสียและเป็นโรคผิวหนังติดเชื้อ

อัซมิ คาลิด รัฐมนตรีมหาดไทยมาเลเซีย ยืนยันที่จะดำเนินการต่อไป 'ถ้าหากเทียบกับฐานทัพกวนตานาโมของสหรัฐ แคมป์ของเราเทียบได้กับโรงแรมระดับ 5 ดาวทีเดียว'

วันเดียวกันกับวันสิ้นสุดนิรโทษกรรมให้แรงงานต่างด้าวในมาเลเซีย... ศาลมาเลเซียได้นัดสืบพยานปากแรกในคดี เนอร์มาลา โอบัท สาวใช้ชาวอินโดนีเซียวัยเพียง 19 ปีที่ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 สังคมมาเลเซียช็อก เมื่อสื่อมวลชนทั้งโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ตีภาพข่าว เนอร์มาลา สาวใช้ชาวอินโดนีเซียซึ่งเคยมีหน้าตาสวยสะ ถูกนายจ้างหญิงชื่อ ยิม เพก ฮา อายุ 37 ปี มีการศึกษาและฐานะการงานระดับดีทำร้ายร่างกายอย่างแสนสาหัส หน้าตาของเนอร์มานาในภาพข่าวเป็นแผลบวมช้ำผิดมนุษย์ มือช้ำบวมเป่ง

พยานรายแรกที่ขึ้นให้การคือ ดร.อาฟนิซาร์ อัคบาร์ แพทย์ซึ่งทำการรักษาเนอร์มาลา, ดร.อาฟนิซาร์ ให้การว่า จากการตรวจร่างกายผู้ป่วยทันทีที่มาถึงโรงพยาบาลพบว่า ริมฝีปากบนบวมช้ำ ภายในริมฝีปากมีรอยกรีดลึก ดั้งจมูกหักและจมูกบวมช้ำ มือบวมทั้งสองข้าง หน้าบวมทั้งหน้า มีบาดแผลถูกกรีดที่คอ หน้าอกมีของร้อนนาบจนไหม้ทั้งสองข้าง ขนาดแผลกว้าง 15 ซม. x 8 ซม.หัวนมด้านขวาไหม้ แผ่นหลังด้านขวามีแผลไหม้กว้าง 30 ซม. x 8 ซม. แผ่นหลังด้านซ้าย มีแผลกว้าง 25 ซม. x 8 ซม. น่องขวาก็เช่นกันขนาดแผลกว้าง 30 ซม. x 15 ซม. แผลเกือบทั้งหมดติดเชื้อ จนเกิดหนองและน้ำเหลืองไหลเยิ้ม

เนอร์มาลา ให้การกับตำรวจ หลังได้รับความช่วยเหลือจากยามของคอนโดหรู 'วิลล่า พูตรา' ว่า เธอถูกนายจ้างผู้หญิงชื่อ ยิม เพก ฮา อายุ 37 ปี ทำร้ายร่างกายมาตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา นายจ้างใช้เตารีดไฟฟ้านาบที่หน้าอกและหลัง แล้วยังใช้น้ำร้อนลวกที่ต้นขาของเธออีกด้วย วันก่อนที่เธอจะได้รับความช่วยเหลือออกจากขุมนรก นายจ้างใจโหดได้ใช้ถ้วยสแตนเลสทุบที่หัวของเธอ สาเหตุหลักคือไม่พอใจที่เธอทำจานแตกหรือรีดเสื้อไม่เรียบ

เหมือนไม่ใช่คน
ฮิวแมนไรท์ วอทช์ รายงานว่า คนงานต่างชาติหญิงในมาเลเซียที่ลงทะเบียนถูกฎหมายมีมากถึง 240,000 คน ในจำนวนนี้ 90 เปอร์เซ็นต์ทำงานเป็นคนรับใช้ตามบ้าน (ตัวเลขแรงงานต่างชาติทั้งหมด คาดว่าจะมีประมาณ 1.7 ล้านคน ตัวเลขที่ถูกกฎหมายประมาณ 750,000 คน)

จากตัวเลขในปี 2546 มีสาวชาวอินโดนีเซียหนีจากนายจ้างชาวมาเลย์มากถึง 18,000 ราย สาเหตุหลักๆ คือ บังคับให้ทำงานมากถึง 18 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ ไม่ให้นอนมากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน และบ่อยครั้งถูกโกงค่าแรง ไม่ให้ออกจากบ้านนายจ้าง ไม่ให้ติดต่อครอบครัว 'สาวใช้ชาวอินโดถูกปฏิบัติราวกับเป็นคนชั้นสอง' สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กฎหมายคุ้มครองแรงงานของมาเลเซียที่ไม่ครอบคลุมถึงแรงงานต่างชาติ

องค์กรช่วยเหลือผู้หญิงในมาเลเซีย หรือ WAO (Women's Aid Organization ) ระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นายจ้างทำร้ายคนงานต่างชาติ เนื่องมาจาก คนงานเหล่านี้มาจากต่างประเทศ ไกลจากครอบครัว ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง ทำให้โดดเดี่ยวในทางสังคม ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับนายจ้าง ไม่สามารถติดต่อคนภายนอกได้มากนัก จดหมายถูกตรวจสอบก่อน ไม่ได้รับอนุญาตให้โทรศัพท์ ความต่างทางภาษาทำให้ไม่เข้าใจกัน และยิ่งรู้สึกถูกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น

ไม่มีกฎหมายที่รับรองสิทธิและมาตรฐานแรงงานให้กับคนงานต่างชาติ ไม่มีสัญญาว่าจ้างที่เป็นธรรม งานบ้านถูกจัดให้เป็นงานต่ำต้อย คนรับใช้จึงถูกมองว่าต่ำกว่าลูกจ้างทั่วไป คนรับใช้ที่อยู่ในสัญญาถูกมองว่าเป็นสมบัติของนายจ้าง ใช้งานอย่างไร ให้ทำอะไร โขกสับแค่ไหนก็ได้ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่จ้างมาทำงานเฉพาะอย่าง นโยบายของรัฐส่วนใหญ่ก็จะมุ่งปกป้องผลประโยชน์ของนายจ้างเป็นหลัก. นอกจากนี้ คนมาเลเซียจำนวนมากมีอคติกับแรงงานต่างชาติ ซึ่งนำไปสู่ความรังเกียจ การทำร้าย ถูกปฏิบัติต่ำกว่าคน และไม่ได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์พึงปฏิบัติต่อกัน

ในเวบไซต์ของเอเจนซีบริษัทหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่จัดหาคนดูแลบ้าน(แจ๋ว) ให้ครอบครัวชาวสิงคโปร์ ได้ให้คำแนะนำนายจ้างชาวสิงคโปร์ว่า ให้เข้าอกเข้าใจ 'แจ๋วโลกาภิวัตน์' ที่มาจากต่างวัฒนธรรม เช่น คนงานฟิลิปปินส์ชอบกินข้าวทุกมื้อ จะได้อยู่ท้องและมีแรงทำงาน ไม่ใช่ก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวต้ม แต่ก็ยังไม่วายมีคำแนะนำประเภท ให้ระวังบรรดาคุณแจ๋วต่างชาติที่ชอบโกหก อย่าให้เบิกเงินล่วงหน้า 3 เดือนเพราะคนใช้จะฮึกเหิม ไม่ยอมทำตามคำสั่ง เพราะรู้ว่านายจ้างจะไม่กล้าไล่ออก หากยังติดเงินอยู่

'แจ๋วโลกาภิวัตน์' ไม่มีทางยอมอยู่ที่ใดนานๆ จะพยายามหานายจ้างใหม่อยู่เสมอ ประมาณว่าเลี้ยงไม่เชื่อง ระวัง! อย่าทิ้งแม่สาวพวกนี้อยู่กับบ้าน เจ้าหล่อนอาจจะพาเพื่อนชายมาเริงร่าในบ้านของคุณ อย่าใจดีเกินไป และในที่สุดเธออาจจะมีพฤติกรรมเลวร้ายเพียงเพื่อขู่ให้คุณเขียนใบอนุญาตให้เธอไปหางานใหม่ได้ ฉะนั้น นายจ้างต้องคุม 'แจ๋ว' เหล่านี้ให้อยู่หมัด

ตัวอย่างข้างต้น คงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงมาเลเซีย และสิงคโปร์... ในประเทศไทย เคยมีรายงานถึงคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 2544 ถึงกรณีที่สาวใช้ชาวพม่าถูกนายจ้างเฆี่ยนตีและเผาทั้งเป็น หลังถูกกล่าวหาว่าขโมยสร้อยทองของนายจ้าง แรงงานชายก็มีสภาพไม่ต่างกัน... ขณะที่หลายฝ่ายกล่าวว่า เหตุการณ์สึนามิ ทำให้เห็นน้ำใจคนไทย แต่ไม่แน่ใจว่า น้ำใจคนไทยกระจุกตัวแค่คนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหรือไม่

ฝ่ายวิชาการของสมัชชาคนจนรายงานว่า หลังเหตุการณ์สึนามิ แรงงานพม่าเป็นผู้ประสบภัยและได้รับความทุกข์ถูกพบเห็นน้อยที่สุด 'พวกเขายังคงถูกกักขังไว้เยี่ยงสัตว์' เพราะเกรงว่า แรงงานเหล่านี้จะถอดใจกลับประเทศ. เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิแห่งหนึ่งที่พยายามช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้อย่างเงียบๆ ถูกข่มขู่จากมาเฟียใหญ่ที่มีเรือประมงขนาดใหญ่ในสังกัดหลายสิบลำ ครั้งสุดท้ายถูกซ้อมอย่างทารุณ ต่อหน้านายอำเภอในพื้นที่ที่ประสบภัย จนมูลนิธิต้องประกาศถอนตัวเจ้าหน้าที่คนนั้น ยุติความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่เพื่อนร่วมโลก

แจ๋วโลกาภิวัตน์: ผู้หญิงของโลก
ในหนังสือ Global Woman: Nannies, Maids, and Sex Workers in the New Economy ได้ทำให้เห็นภาพกระแสการอพยพของแรงงานหญิงข้ามชาติ

นับตั้งแต่กระแสความเท่าเทียมระหว่างหญิงชายเพิ่มมากขึ้น ผู้หญิงในประเทศตะวันตกเริ่มออกไปทำงานนอกบ้านเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็ยังคงต้องรับภาระงานบ้านมากกว่าผู้ชายอยู่ดี จากตัวเลขในปี 2538 ผู้หญิงอเมริกันที่ทำงานนอกบ้านต้องทำงานบ้านมากถึง 6.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่ผู้ชายทำงาน 1.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ระยะต่อมา เพื่อให้การหาเงินนอกบ้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น การจ้าง 'ผู้หญิงอีกคน' เพื่อมาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะเริ่มกลายเป็นความจำเป็น ผู้หญิงเหล่านี้มาจากไหน... แนวโน้มทั่วโลกคือ เป็นผู้หญิงจากประเทศยากจนอพยพมาทำงานในประเทศที่ร่ำรวยกว่า แม้จะมีกำแพงด้านภาษาก็ตาม

งานวิจัยในหนังสือ Global Woman พบว่า ผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่สามารถทำงานหาเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพของครอบครัว จำต้องตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศ แม้ไม่เต็มใจที่จะจากลูกและสามีไปก็ตาม วัตถุประสงค์เดียวที่พวกเธอไปเมืองนอก ก็คือเพื่อทำงานหาเงินแล้วส่งกลับมาให้ครอบครัว ความยากจนจึงเป็นตัวผลักดันสำคัญ

ขณะที่ในประเทศที่ร่ำรวยกว่ามีแรงฉุดดึงเพื่อให้พวกเธอมาช่วยเติมเต็มหน้าที่งานบ้าน มันเป็นความเหมือนที่แตกต่าง ระหว่าง 'ประเทศโลกที่ 1' ที่ซึ่งผู้ชายแบบโบราณ ไม่สามารถทำงานครัว ทำความสะอาด หรือแม้แต่หาถุงเท้าเอง กับ 'ประเทศโลกที่ 3' ที่ซึ่งผู้หญิงแบบโบราณในครอบครัวโลกมีความอดทน ดูแลเอาใจใส่ และยอมที่จะสะกดความต้องการของตัวเองเพื่อผู้อื่น

ขณะนี้นับว่าเป็นยุคที่สาวใช้จากต่างประเทศ หรือ 'แจ๋วโลกาภิวัตน์' มีจำนวนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่การทำทะเบียนประวัติเหล่านี้ ไม่ถูกต้อง ปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่คือ ไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิแรงงานเท่าแรงงานปกติ ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทำให้เกิดช่องว่างให้พวกเธอถูกทำร้ายและเอาเปรียบ แม้จะมีวีซ่าทำงานถูกต้อง ก็ยังมีปัญหาเนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาตให้พวกเธอเปลี่ยนนายจ้าง และจะยิ่งแย่มากขึ้น หากพวกเธอพูดภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ไม่ได้

งานวิจัยอีกชิ้นในหนังสือ Global Woman พบว่า พวกเธอต้องทำงานมากถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน ได้ค่าแรงต่ำกว่ารายได้ขั้นต่ำ ถูกบังคับให้นอนกับสัตว์เลี้ยงของครอบครัว ถูกยึดหนังสือเดินทาง ทำให้ความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นและการได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ด้วยกันในสังคมที่ร่ำรวยกว่าถูกทำลาย กลายเป็นการขาดดุลทางความรู้สึกมากกว่ารางวัลที่พวกเธอพึงจะได้รับ

มันน่าแปลก สำหรับคนที่อยู่ในสังคมที่ร่ำรวยไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาก็ตาม, การดูแลใส่ใจ และซึ้งน้ำใจ'ผู้ช่วยเหลือ'จากต่างแดนที่เข้ามาช่วยทำงานบ้าน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เรากลับพบว่า 'ผู้ช่วยเหลือ' จากต่างแดนจำนวนมากถูกทำร้ายไม่ว่าจะด้วยทางวาจา ทางร่างกาย หรือทางจิตใจจากคนที่ได้รับการศึกษา มีหน้าที่การงานเป็นชนชั้นนำในสังคมที่เชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ

แม้ในหนังสือ Global Woman จะไม่ได้กล่าวถึงการอพยพระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเองมากนัก แต่สภาพที่เป็นจริงในปัจจุบัน แนวโน้มนี้กำลังมาแรงที่สุด จากผู้หญิงในชนบทอพยพเข้าสู่เมือง ก็เริ่มกลายเป็นการดูดแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นๆ ที่ยากจนกว่า เห็นได้ชัดในกรณีของฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซียและประเทศไทย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า แรงงานพม่าเกือบจะกลายเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทย ช่วงเศรษฐกิจบูมมีการเปิดรับแรงงานต่างชาติทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โดยเฉพาะจากพม่าและลาวจำนวนมาก แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 สิ่งแรกที่รัฐบาลในขณะนั้นคิดทำก็คือ การกวาดล้างแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายและส่งกลับโดยอุ้มลุกจูงหลานข้ามตะเข็บชายแดนไปเอง แล้วแรงงานเหล่านี้ก็ถูกเรียกใช้อีกครั้งเมื่อเศรษฐกิจมีทีท่าว่าจะดีขึ้น

สภาพการเอารัดเอาเปรียบ และการละเมิดสิทธิไม่ได้แตกต่าง หลายกรณีมีความรุนแรงมากกว่า โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิ ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจังและที่สำคัญไม่เคารพสิทธิมนุษยชน เช่นที่เกิดขึ้นใน สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย. ขณะที่ในฮ่องกง 'แจ๋วโลกาภิวัตน์' ไม่มีปัญหาเรื่องการถูกนายจ้างทำร้ายมากนัก แต่พวกเธอถูกนโยบายรัฐทำร้ายมากกว่า

ต้นปี 2546 บรรดา 'แจ๋วโลกาภิวัตน์' จาก ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศไทย ศรีลังกา ออกมาเดินขบวนประท้วงแผนของรัฐบาลฮ่องกงที่จะหักรายได้ของพวกเธอแถมยังเพิ่มภาษี พวกเธอตะโกน และชูป้าย No to Levy, No to Wage Cuts และเดินประท้วงจากสวนสาธารณะวิคตอเรียพาร์ค ไปจนถึงทำเนียบรัฐบาล

รัฐบาลฮ่องกงมีแผนเก็บค่าธรรมเนียม 9,600 เหรียญฮ่องกง (48,000 บาท) สำหรับสัญญาจ้างงานคนทำงานบ้าน 2 ปี สิ่งที่รัฐบาลตั้งใจไว้แต่แรก คือนายจ้างต้องเป็นผู้จ่าย แต่ในที่สุดรายจ่ายเหล่านี้ถูกส่งผ่านไปยังลูกจ้าง คือหักจากรายได้ของพวกเธอเดือนละ 400 เหรียญจนครบสัญญาจ้าง 2 ปี ขณะที่รายได้ต่อเดือนของพวกเธอนั้นอยู่ที่ 3,270 เหรียญ (16,350 บาท) ดังนั้นค่าธรรมเนียมที่หักนี้สูงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือน

อันที่จริงรายได้ของพวกเธอต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี แต่การเก็บค่าธรรมเนียมเช่นนี้ มันรุนแรงยิ่งกว่าการเสียภาษี เพราะช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2542 พวกเธอถูกลดรายได้ลง 5 เปอร์เซ็นต์แล้ว จนถึงบัดนี้เศรษฐกิจของฮ่องกงดีขึ้นมาก แต่พวกเธอก็ไม่เคยได้เงินเดือนที่หักไปนั้นกลับคืนมา

ในฮ่องกงมีแรงงานต่างชาติที่มาทำงานรับใช้ตามบ้านมากถึง 240,000 คน อันดับ 1 คือ ฟิลิปปินส์ รองลงมาคือ อินโดนีเซียและไทยที่รั้งอันดับ 3 มีมากถึง 5,000 คน ส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน ผู้สื่อข่าวบีบีซีในฮ่องกงรายงานว่า พวกเธอเป็นกำลังสำคัญของสังคมฮ่องกง เพราะเป็นการดูแลเด็กราคาถูก และยังช่วยดูแลบ้านให้กับครอบครัวชนชั้นกลางที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านทั้งคู่

นักวิเคราะห์มองว่า รัฐบาลของต่งเจี้ยนหวา หวังที่จะใช้ค่าธรรมเนียมจากแรงงานต่างชาติไปโปะแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในขณะนั้นได้มากถึง 1.4 พันล้านเหรียญฮ่องกง และยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากพวกเธอเป็น 'แจ๋วโลกาภิวัตน์' จึงไม่อาจหลุดพ้นเงื้อมมือของขบวนการแปลง 'แจ๋ว' เป็นทุน

พันธมิตรเพื่อสิทธิแรงงานต่างด้าวในฮ่องกง กล่าวถึงความพร้อมในการเตรียมต้อนรับการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกหรือ WTO ครั้งที่ 6 ที่ฮ่องกงในปลายปี 2548 อย่างอบอุ่น

"ไม่ว่ามันจะถูกเรียกด้วยคำวิลิศมาหราว่า 'แนวคิดเสรีนิยมใหม่' หรือ 'จักรวรรดินิยม' แต่เนื้อหาของข้อตกลงการค้าและบริการ หรือแกตส์ (GATS) ซึ่งครอบคลุมถึงการทำงานของคนรับใช้ในบ้านว่า เป็นงานบริการอย่างหนึ่งที่ห้ามจัดตั้งสหภาพ ต้องกดค่าแรงให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยข้ออ้างว่าเป็นแรงงานไร้ทักษะ จำกัดสิทธิการเลือกงานหรือเลือกนายจ้าง ไม่มีสิทธิที่จะท้องหรือแต่งงานกับคนท้องถิ่น ห้ามนำครอบครัวติดไปประเทศที่ทำงานด้วย ไม่อนุญาตให้ขอสัญชาติแม้ว่าจะอยู่นานกว่า 20 ปีก็ตาม"

"เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา พวกเราก็ถูกทำร้ายด้วยพฤติกรรมและแนวความคิดนี้มาโดยตลอด...เป็นวิธีการแปลงแรงงานเป็นสินค้า" "ทำให้พวกเราต้องออกมาคัดค้าน WTOและข้อตกลงประเภทเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะโดย IMF, APEC, นายจ้าง หรือรัฐบาลใดๆ ก็ตาม"

แนวหลังของคนดูแลบ้าน
การที่พวกเธอจากบ้านไปแดนไกล ทุ่มเททำงานหนัก ยอมทน ยอมเสี่ยงกับการถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งหมดก็เพื่อครอบครัวที่อยู่แนวหลัง. "คนที่ออกไปทำงานต่างประเทศหลายล้านคนสร้างความเปลี่ยนแปลงระหว่างการมีชีวิตพอมีพอกินไปวันๆ กับชีวิตที่ดีกว่าสำหรับครอบครัวที่บ้าน" ซารา ทอม ผู้สื่อข่าวของบีบีซีตั้งข้อสังเกต "แต่มันมีรายจ่ายที่เกิดกับลูกๆ ของพวกเขาที่อยู่ด้านหลัง"

จากผลของงานวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการดูแลแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ หน่วยงานที่ดูแลด้านสวัสดิการแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ และศูนย์แรงงานอพยพสกาลาบรินิที่วิเคราะห์ผลจากการที่พ่อแม่ออกไปทำงานต่างประเทศ โดยผ่านสายตาลูกๆ ที่อยู่ข้างหลัง ที่มักถูกเรียกขานว่า 'เด็กกำพร้าตามฤดูกาล'

ปัจจุบัน 1 ใน 10 ของคนฟิลิปปินส์อาศัยหรือทำงานอยู่ในต่างประเทศ ในจำนวนนี้ 1 ใน 4 ทำอย่างผิดกฎหมาย เงินที่พวกเขาเหล่านี้ส่งกลับมาประเทศผ่านธนาคารต่างๆ มีมากถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีอีกจำนวนมากกกว่านี้ที่ส่งผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ

จากสถิติเพียงปีเดียวในปี 2546 คนฟิลิปปินส์ 867,969 คนออกไปทำงานในที่ต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 100 จุดหมาย หลายที่เป็นชื่อแปลกๆ ที่แทบไม่มีใครทราบว่าอยู่ส่วนใดของโลก มีคนงานฟิลิปปินส์ไปคุมเครื่องจักรในคาซัคสถาน เป็นลูกเรือในทะเลแคริบเบียน และทำงานบ้านในฮ่องกง

เริ่มตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 ที่จำนวนผู้หญิงออกไปทำงานมากกว่าผู้ชาย "พวกเราไปทำงานต่างประเทศไม่ได้ พวกเธอเป็นคนที่หางานได้" พีทซึ่งมีภรรยาไปทำงานเป็นสาวใช้ตามบ้านกล่าว. รายจ่ายเหล่านี้มีอะไรบ้าง... ความกังวลเพิ่มขึ้นตามตัวเลขคนฟิลิปปินส์ที่ออกไปทำงานยังต่างประเทศ มันมีบางสิ่งที่ซุกอยู่ และไปไกลกว่าตัวเลขทางสถิติและเงินดอลลาร์ที่ส่งกลับ

ดร.มารูจา จากศูนย์แรงงานอพยพสกาลาบรินิกล่าวว่า คนฟิลิปปินส์เรียกแม่ว่า 'อิลอ งัง ทาฮานาน' หรือ "แสงสว่างของบ้าน" ดังนั้น เมื่อแม่ต้องไปทำงานต่างประเทศ ความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัวก็ถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย. ถ้าพวกเขากำหนดชีวิตเองได้ เด็ก 49 คนจาก 100 คน อยากให้พ่อไปทำงานต่างประเทศแทนที่จะเป็นแม่ "แม่สามารถเป็นได้ทั้งแม่และพ่อ" ในความคิดของ ดอน, อายุ 19 "บางครั้งแม่ปีนขึ้นไปซ่อมหลังคา แต่พ่อทำกับข้าวไม่ได้เลย"

เงินสดที่พวกเขาหามาได้นำมาซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกปรนเปรอให้ลูก เช่น บ้าน ถาวรวัตถุต่างๆ โรงเรียนที่มีคุณภาพ การรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานดีขึ้น ลูกๆ ของแรงงานเหล่านี้ได้เข้าเรียนในสถานศึกษาเอกชนที่มีมาตรฐานการศึกษาดีกว่าเด็กทั่วไป แต่ผลการศึกษาของพวกเขาดีกว่าเด็กที่ไม่ใช่ลูกคนที่ไปทำงานต่างประเทศเพียงเล็กน้อย

"มันเหมือนความขัดแย้งต่อครอบครัวที่คุณทิ้งไว้ข้างหลัง คุณไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเด็กๆ ของคุณ" เรื่องราวที่ได้ยินเป็นประจำคือ ผัวไปมีเมียน้อย และลูกหลงผิด-ใจแตก. "การที่แม่หรือพ่อ คนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองคนต้องไปทำงานต่างประเทศ มันเป็นรอยด่างในความรู้สึกของลูก" โดยเฉพาะหากครอบครัวนั้น ผู้เป็นแม่คือคนไป ในเด็กหลายรายที่ไม่มีปัญหา พบว่า พวกเขาอยู่กับครอบครัวขยาย ซึ่งนับเป็นตาข่ายหรือเบาะของสังคมชั้นดี

การศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้มองข้ามผลกระทบทางด้านจิตใจ "หนูสงสารแม่มากๆ เลย รู้สึกกลัวว่าเธอจะไม่ปลอดภัย" ฮาฟิซ, อายุ 19 "ตอนนั้น ผมยังเด็กมาก อายุแค่ 6 ขวบ ผมร้องไห้ตลอด มันยากที่จะเข้าใจในตอนนั้นว่าแม่จากผมไปไหน" ริค เล่าให้นักวิจัยฟัง "น้องสาวคนเล็กของผมร้องหาแม่ตลอดเวลา แต่เธอไปเพื่อความกินดีอยู่ดีของพวกเรา"

หัวใจจะแตกสลายยิ่งกว่า หากการไปทำงานต้องยืดระยะเวลาออกไป "พ่อของหนูเป็นคนใจดีมาก แต่เราก็เหมือนคนแปลกหน้าต่อกัน" นี่คือความรู้สึกของอิสา อายุ 19 ปี ที่ถ่ายทอดความเสียใจที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวของเธอ เมื่อแม่ต้องไปทำงานต่างประเทศ

ดังนั้น การรักษาสายสัมพันธ์ภายในความครัวจึงต้องพึ่งพาการสื่อสารราคาแพง กลายเป็น "สัตว์เลี้ยงลูกด้วยโทรศัพท์" ค่าโทรศัพท์ในแต่ละเดือนที่พวกเขาใช้สื่อสารภายในครอบครัว บางครั้งสูงกว่าค่าใช้จ่ายรายเดือนที่พวกเธอพยายามกระเหม็ดกระแหม่

แล้วสำหรับประเทศของพวกเขา ต้อง 'จ่าย' อะไรบ้าง
ขณะที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ยกย่องคนที่ไปทำงานต่างประเทศว่าเป็นวีรบุรุษ และพยายามจูงใจ พร้อมกับเปิดตลาดใหม่ๆ ให้กับแรงงาน. 9 ใน 10 ของลูกแรงงานเหล่านี้ ก็มีแผนที่จะไปทำงานต่างประเทศ กว่าครึ่ง (52 เปอร์เซ็นต์) อยากจะเป็นหมอ พยาบาล รองลงมาคือ วิศวกร และนักแสดง แต่ทั้งหมดต้องการไปทำงานต่างประเทศ

รอน อายุ 19 "ผมไม่วางอนาคตสำหรับที่นี่ อนาคตของผมอยู่ที่เมืองนอก". ขณะที่ ริค อายุ 19 เช่นกันบอกว่า "ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ของฟิลิปปินส์ออกไปทำงานยังประเทศอื่นๆ ประเทศอื่นๆ ก็รุ่งเรืองก้าวหน้า แต่ประเทศแผ่นดินเกิดของเรา ไม่มีความก้าวหน้าใดๆเลย"

บางส่วนก็ยังไม่แน่ใจ ริซา อายุ 19 บอกว่า "จริงๆ ฉันพอใจที่จะอยู่ในประเทศเรามากกว่า แต่ถ้าไม่มีอะไรดีขึ้น ฉันก็ปรารถนาจะไปเมืองนอก"

บทความชิ้นนี้ในหนังสือพิมพ์ มะนิลา ไทม์ส ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า อีกนานแค่ไหนที่คนฟิลิปปินส์นับล้านออกไปทำงานนอกประเทศ โดยที่ประเทศไม่กระทบกระเทือนและไม่พิกลพิการ?

+++++++++++++++++++++++++++++++++

เรียบเรียงจาก

- การสนทนากับตัวแทนสมาคมรวมไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวเพื่อปกป้องสิทธิของคนงานไทยในฮ่องกง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2548
- Homecoming ภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ที่ฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ผ่านมา
- ข้อมูลของ Coalition for Migrants Rights (CMR), Women's Aid Organization (WAO) และ Human Right Internet, World Hunger และ Inter Mares

- BBC, Manila Time Strait Times, Malay Mail Online, ผู้จัดการ ออนไลน์,
- ร้ายกว่าสึนามิ โดย ฝ่ายวิชาการ สมัชชาคนจน
- ประชาไท http://www.prachathai.com, http://www.thaingo.org

- http://www.hri.ca/fortherecord2003/vol3/thailandtr.htm


 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)gmail.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

ALIEN HOUSEKEEPERS
งานวิจัยในหนังสือ Global Woman พบว่า ผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่สามารถทำงานหาเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพของครอบครัว จำต้องตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศ แม้ไม่เต็มใจที่จะจากลูกและสามีไปก็ตาม วัตถุประสงค์เดียวที่พวกเธอไปเมืองนอก ก็คือเพื่อทำงานหาเงินแล้วส่งกลับมาให้ครอบครัว ความยากจนจึงเป็นตัวผลักดันสำคัญ ขณะที่ในประเทศที่ร่ำรวยกว่ามีแรงฉุดดึงเพื่อให้พวกเธอมาช่วยเติมเต็มหน้าที่งานบ้าน มันเป็นความเหมือนที่แตกต่าง ระหว่าง 'ประเทศโลกที่ 1' ที่ซึ่งผู้ชายแบบโบราณ ไม่สามารถทำงานครัว ทำความสะอาด หรือแม้แต่หาถุงเท้าเอง กับ 'ประเทศโลกที่ 3' ที่ซึ่งผู้หญิงแบบโบราณในครอบครัวโลกมีความอดทน ดูแลเอาใจใส่ และยอมที่จะสะกดความต้องการของตัวเองเพื่อผู้อื่น