บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๖๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
10-11-2549



Economics - Politics
The Midnight University

เศรษฐกิจและการเมืองมีธรรม
เศรษฐกิจที่เป็นธรรม VS เศรษฐกิจพอเพียง
และการเมืองเรื่องศีลธรรม

รวบรวมโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
จากสำนักข่าวประชาธรรมและประชาไทออนไลน์

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ นำมาจากบทความที่เคยเผยแพร่แล้วบนสื่อดิจิตอล
จากสำนักข่าวประชาธรรมและประชาไทออนไลน์ ประกอบด้วย
๑. ข้อเสนอเศรษฐกิจที่เป็นธรรม VS เศรษฐกิจพอเพียง
(ศ.ดร.อานันท์ ชำแหละนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์)
๒. บทความดัดแปลงทำนองการสัมภาษณ์ท่าน 'พุทธทาสภิกขุ' : การเมืองเรื่องศีลธรรม
(สัมภาษณ์พิเศษ 'พุทธทาสภิกขุ' : การเมืองเรื่องศีลธรรม)
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1065
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10.5 หน้ากระดาษ A4)

 

เศรษฐกิจที่เป็นธรรม VS เศรษฐกิจพอเพียง และการเมืองเรื่องศีลธรรม
จากสำนักข่าวประชาธรรม และประชาไทออนไลน์ : รวบรวมโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

1. ข้อเสนอเศรษฐกิจที่เป็นธรรม VS เศรษฐกิจพอเพียง
ศ.ดร.อานันท์ ชำแหละนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์
จากสำนักข่าวประชาธรรม : ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

ความย่อ :
ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิพากษ์แนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาลปัจจุบัน..."ที่ผ่านมา รัฐมักพูดถึงการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัญหาหลักไม่ได้อยู่ตรงนั้นแต่อยู่ที่เศรษฐกิจของเราขาดความเป็นธรรมในแต่ละภาคส่วนของระบบ โดยการเลือกปฏิบัติเลือกส่งเสริมส่วนใดส่วนหนึ่ง..."

การที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสนใจกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแสดงว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญเป้าหมายทางเศรษฐกิจหรือปรัชญาทางเศรษฐกิจ เข้ามาควบคุมเศรษฐกิจให้มีทิศทางแน่นอนขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นเพียงแต่ปรัชญาเท่านั้นต้องมีการกำหนดกระบวนการวิธีการให้เป็นรูปเป็นร่างด้วย

ด้วยความที่ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของเราต้องเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจของเราซับซ้อนมากขึ้น เราไม่ได้มีแต่เกษตรกรรมอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน เรามีอุตสาหกรรม มีภาคบริการ จึงน่าจับตามองว่าจะเอาระบบปรัชญาหรือคุณค่าแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐบาลชุดนี้ยึดเป็นแนวทางมากำกับ ดูแลความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนนี้อย่างไร

ที่ผ่านมา รัฐมักพูดถึงแต่การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัญหาหลักไม่ได้อยู่ตรงจุดนั้น แต่อยู่ที่เศรษฐกิจของเราขาดความเป็นธรรมในแต่ละภาคส่วนของระบบ โดยการเลือกปฏิบัติเลือกส่งเสริมส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกรรม หรือในการระบบเกษตรกรรมเองรัฐก็เลือกที่จะส่งเสริมเฉพาะเกษตรเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญมากของสังคมไทย การที่จะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้จึงควรจะพิจารณาความเป็นธรรมดังกล่าวเป็นสำคัญ

ในความเป็นธรรมข้างต้น สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้พูดถึงคือปัญหาการจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่า ที่ดิน ทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญมาก ที่ผ่านมา กลไกในการจัดการดูแลอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เบียดบังไปให้กับคนในเขตเมืองหรือภาคธุรกิจส่วนกลางทำให้คนในชนบทเสียเปรียบ เช่น หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบก็ให้สัมปทานที่ดินแก่คนภายนอกทำให้ประโยชน์ไม่ได้เกิดแก่คนที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจของชนบทก็มักพูดถึงแต่การเกษตร หรือไม่ก็ผลิตภัณฑ์ชุมชน แต่ไม่มีการพูดถึงเรื่องของการให้สิทธิพวกเขาในการดูแลทรัพยากรข้างต้น

แต่กฎหมายปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่าทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่ในการจัดการของใคร เช่น ป่าไม้กรมป่าไม้ก็อ้างว่าตนเป็นผู้ดูแล แต่เมื่ออยู่ในเขตของอบต. อบต.ก็อ้างว่าเป็นพื้นที่ของตน ทำให้เกิดอำนาจการดูแลทับซ้อนกันซึ่งน่าจะมีระบบการจัดการตรงนี้ให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ของคนที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติกับคนนอกอย่างเป็นธรรม

เมื่อพูดถึงภาคเศรษฐกิจส่วนรวมก็มักพูดถึงด้านการเงินการคลัง เรามักไปดูในเรื่องงบประมาณขาดดุล ไม่ขาดดุล หรือการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่จริงๆ แล้วกลไกที่สำคัญที่สุดเมื่อเราพูดถึงระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมคือกลไกภาษี แต่กลับไม่ปรากฏในแนวนโยบายที่รัฐบาลชุดนี้ กลไกทางด้านภาษีเป็นกลไกที่สำคัญในเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ตลาดเสรี เพราะหากเราเก็บภาษีไม่ดีเงินก็รั่วไหลออกไป ก็จะไม่มีเงินมาใช้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบภาษีของเราตอนนี้มีความไม่เป็นธรรมสูง เราจะพบจากรัฐบาลชุดที่แล้วว่าภาษีบางอย่างที่เราไม่เก็บมันเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยขนาดไหน

จริงอยู่ว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลชั่วคราวการที่จะไปแก้ไขโครงสร้างที่ใหญ่ๆ อาจจะทำได้ยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำอะไรเลย ควรจะมีจุดเริ่มต้นว่าเราควรมีการปรับปรุงระบบภาษีตรงไหนที่ทำได้ภายใน 1 ปี เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องออกเป็นกฎหมายทั้งนั้น ยิ่งตอนนี้เรามีระบบสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็สามารถจะผ่านพระราชบัญญัติได้ในบางส่วน

นอกจากนี้ รัฐบาลชุดนี้พูดถึงแต่ความเป็นธรรมในผลประโยชน์ทับซ้อนแต่เฉพาะรายบุคคล ให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคล แต่ในเมื่อมองโดยรวมทั้งประเทศต้องพูดถึงผู้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นกลุ่มๆ ซึ่งสำคัญมากเพราะแต่ละกลุ่มทางเศรษฐกิจนี้จะได้ผลประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลแตกต่างกัน เช่น การทุ่มเงินการสร้างโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากถึง 160,000 ล้านบาท ในการสร้างรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ ทำให้ผลประโยชน์ก็ไปกระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง เพราะเมื่อโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดีก็จะมีการลงทุนมากขึ้นในเมืองก็จะได้รับผลประโยชน์มากขึ้น ทำให้กลุ่มทุนเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์ ส่งผลให้เกิดการเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้มากขึ้น ทำให้รัฐจะควบคุมระบบเศรษฐกิจยาก และเมื่อกลุ่มนี้มีอำนาจมากขึ้นก็จะเข้ามาบางการทางการเมืองเป็นปัญหาต่อไปอีก

จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นของเศรษฐกิจภาพรวมนั้นต้องแก้ที่กลไกต้นเหตุในระบบภาษี โดยเฉพาะปัญหาที่ดิน เช่น การเก็บภาษีที่ดินโดยใช้ระบบภาษีก้าวหน้า โดยอาจจะเก็บอัตรา 1% กับคนทั่วไป สำหรับผู้ครอบครองเกิน 100 ไร่ก็เก็บ 5% เกิน 1,000 ไร่ก็เก็บ 10% แบบนี้จะทำให้แรงจูงใจในการกว้านซื้อที่ดินมีน้อยลงเพราะต้องจ่ายภาษีมากขึ้นสำหรับคนรวย

เมื่อเก็บภาษีผู้ที่ครอบครองน้อยในอัตราถูกลง ประชาชนก็จะหันมาสนใจในการพัฒนาที่ดินของตนเพราะขายได้ราคาต่ำเนื่องจากไม่มีการซื้อขายกันมาก ทำให้เกิดเกษตรกรรมแบบใหม่ๆ ที่จะสร้างรายได้มากขึ้น ไม่ต้องให้คนไปพึ่งการจ้างงานเพียงอย่างเดียว ยิ่งตอนนี้เรามีการพูดถึงผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกรรายย่อยกันมาก ดังนั้นถ้าต้นทุนที่ดินราคาสูงก็จะเกิดผู้ประกอบการรายย่อยได้ยาก

ดังนั้น ข้อเสนอที่สำคัญคือให้พิจารณา 2 เรื่องคือ ต้องมีการนำระบบภาษีมาพิจารณา โดยเฉพาะภาษีที่ดินมาพิจารณาว่าจะดำเนินการตรงไหนได้บ้างที่สามารถทำได้ใน 1 ปี แต่ต้องเริ่มไว้ก่อนซึ่งก็จะเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไปเพราะต้องใช้เวลานาน แต่ถ้าไม่เริ่มเลยก็จะเป็นเหมือนเดิม

นอกจากนี้ ต้องดูเรื่องของอำนาจในการจัดการทรัพยากรโดยคิดว่าทำอย่างไรให้ท้องถิ่นดูแลทรัพยากรของตัวเองได้มากขึ้น มีบางเรื่องที่อาจจะทำได้เลย เช่น ป่าชุมชน อำนาจจัดการที่ดินของ ท้องถิ่น ซึ่งจะก่อให้เกิดการตื่นตัวในระบบเศรษฐกิจฐานรากที่จะทำให้ท้องถิ่นได้มีส่วนร่วม โดยในการร่วมจุดไหนอย่างไรต้องกำหนดให้ชัดเจน

ในภาวะที่เศรษฐกิจของเรามีความซับซ้อนมีทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม การตลาด ฯลฯ เราควรจะต้องมีการสร้างองค์กร หรือระบบมากำกับดูแลอย่างเป็นรูปธรรมโดยอาศัยแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจะเป็นตัวที่จะสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง.

(สำนักข่าวประชาธรรม > ข่าว > ข่าวตรวจสอบนโยบายสาธารณะ > ศ.ดร.อานันท์ ชำแหละนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์)
ผู้สนใจคลิกดู ข่าวจากสำนักข่าวประชาธรรม ที่ www.newspnn.com

2. บทความดัดแปลงทำนองการสัมภาษณ์ท่าน 'พุทธทาสภิกขุ' : การเมืองเรื่องศีลธรรม
สัมภาษณ์พิเศษ 'พุทธทาสภิกขุ' : การเมืองเรื่องศีลธรรม : จากประชาไทออนไลน์

ความนำ
'พุทธทาสภิกขุ' ปูชนียบุคคลของโลก ตามการประกาศขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี พ.ศ.2549 'ประชาไท' ขออนุญาตท่านผู้อ่านนำธรรมะของท่าน พุทธทาส มาเรียบเรียงนำเสนอในรูปบทสัมภาษณ์ นัยหนึ่งเพื่อนำเสนอเนื้อหาและธรรมะอันลุ่มลึก นัยหนึ่งเพื่อยืนยันและให้ผู้คนทั่วโลกพิสูจน์ว่า 'คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ' ยังคงอยู่
(คำถาม และบทเรียบเรียง : โดย บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล)

ท่านอาจารย์ครับ คำว่า 'การเมือง' ในความหมายทางศาสนา เหมือนหรือต่างจากความหมายโดยทั่วไปอย่างไร
สิ่งที่เรียกว่า "การเมือง" เรามีความหมายหรือบทนิยามโดยเฉพาะตามแนวทางของศาสนา แต่ก็คงจะมีใจความที่ตรงกันโดยหลักทั่วๆ ไปว่า การเมือง นั้นคือ การจัดอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เพื่อคนมากจะอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก. มันจะไม่ตรงกันบ้างก็คือว่า นักการเมืองทั้งหลาย จะไม่ยอมรับว่า 'จะต้องมีการจัดอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ' เพราะดูเหมือนเขาจะไม่พูดถึง กฎธรรมชาติกันเสียเลย ; เขาพูดถึงปรัชญาบ้าง อุดมคติบ้าง ตามลัทธินั้นๆ แล้วก็ตามความคิดเห็นของเขาเอง

เรื่องการเมืองนี้ก็ต้องเป็นเรื่องเพื่อคนมาก ถ้าคนน้อยก็ไม่จำเป็น ; เมื่อคนมันมากขึ้น จะอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกได้อย่างไร? มันก็ต้องจัดไปด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัวผู้จัดเอง ; ดังนั้น เรื่องการเมืองที่บริสุทธิ์ ก็เป็นเรื่องของศีลธรรม ; แต่นักการเมืองสมัยนี้ก็ไม่ยอมรับ ลักษณะอย่างนี้ ; ไปถือว่าเป็นเรื่องอื่นไม่ใช่เรื่องศีลธรรม. ('ธรรมสัจจะของธรรมชาติกับอุดมคติทางการเมือง' ธรรมสัจจสงเคราะห์(ธรรมโฆษณ์) ธรรมทานมูลนิธิ, ๒๕๒๑)

ท่านอาจารย์กรุณาอธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่งว่า ทำไมการเมืองจึงต้องเป็นเรื่องของศีลธรรม
เรายืนยันว่า เป็นเรื่องที่มีหัวใจเป็นศีลธรรมโดยตรง ; ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันจะถูกต้องไม่ได้ คือมันจะไปตามความต้องการของคนบางหมู่บางคณะเท่านั้นเอง. มันก็เลยเป็นการเมืองที่ทุจริต หรือเป็นการเมืองที่ปลอม เทียม สร้างความยุ่งยากขึ้นในหมู่มนุษย์ แทนที่จะสร้างสันติภาพ ; ฉะนั้น เมื่อจะเอาความถูกต้องกันก็ต้องเล็งถึงการถูกต้องจริงๆ คือ ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ...

ฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรมนั้นมีความสำคัญมาก คือเป็นสิ่งที่ทำให้อุดมการณ์ของมนุษย์ทุกชนิด ไม่เป็นปัญหา หรือถ้าจะเผอิญเกิดปัญหาขึ้นมา มันก็แก้ได้ด้วยความมีอยู่แห่งศีลธรรมนั้นเอง. นี้เป็นธรรมสัจจะที่ตายตัว. ถ้าธรรมสัจจะในส่วนนี้มันผิดไป อุดมคติทั้งหลายมันก็ผิดไป. อุดมการณ์ทางการเมืองโดยตรงนี้ ก็จะเสียไป ; เราจึงต้องย้อนไปหา สิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม ในฐานะเป็นรากฐานของอุดมคติทั้งหลาย. ('ธรรมสัจจะของธรรมชาติกับอุดมคติทางการเมือง' ธรรมสัจจสงเคราะห์(ธรรมโฆษณ์) ธรรมทานมูลนิธิ, ๒๕๒๑)

ถ้าเช่นนั้นในทรรศนะของท่านอาจารย์ การเมืองที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร
คำว่าการเมือง "การเมือง" เขาจะพูดกันอย่างไรก็ไม่รู้ตามปรัชญาการเมืองของเขา อาตมาไม่รู้ดอก แล้วไม่อยากจะรู้ด้วย, จะรู้เพียงแต่ว่า การเมือง คือระบบที่ทำให้อยู่กันเป็นผาสุก โดยไม่ต้องใช้ศาสตรา โดยไม่ต้องใช้อาญา, ไม่ต้องใช้ศาสตรา ไม่ต้องใช้อำนาจอะไร, เราอยู่กันได้ ตกลงกันได้ เข้าใจกันได้ อยู่กันอย่างความเป็นสุขสงบสุข เป็นผาสุก โดยไม่ต้องใช้ศาสตรา, นั้นแหละคือระบบการเมืองที่เราต้องการในที่นี้

แต่มันก็ต้องประกอบด้วยส่วนประกอบหลายๆ อย่าง เช่นว่ามันจะต้องเป็นอย่างที่มีอยู่นี้จะต้องมีรัฐบาล มีการบริหาร มีตุลาการ มีนิติบัญญัติ มีสภา มีตุลาการ เอาละ, เรายอมรับสิ่งเหล่านี้ว่าต้องมีในระบบการเมือง แต่ขอให้มันถูกต้อง. ให้มีรัฐสภา หรือสภาประชาชน ที่ออกกฎหมายโดยถูกต้องสมควรแก่สถานการณ์จริงๆ ; แต่ถ้าเอาคนโง่มาเป็นสมาชิก มันก็ทะเลาะกันไม่มีที่สิ้นสุดแหละ, มันต้องมีคนที่มีธรรมะ มีศีลธรรม หรือเป็นมนุษย์อย่างที่กล่าวมาข้างต้นถูกต้องนั้น มาเป็นสมาชิกของรัฐสภาหรือสภาประชาชน...

แล้วจะต้องมีการควบคุมรัฐบาลอย่างถูกต้อง ควบคุมรัฐบาล สภาต้องควบคุมรัฐบาล ควบคุมรัฐบาลด้วยจิตใจที่เป็นธรรม, ไม่ใช่เพื่อจะล้มรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา. เดี๋ยวนี้เรามีพรรคการเมืองที่พร้อมจะล้มรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา จนไม่มีเวลาทำงานทำหน้าที่, พรรคการเมืองนี้ที่จริงส่วนใหญ่แล้ว มันเป็นของที่ไม่น่าเสน่หา เพราะว่าพรรคการเมืองมันเห็นแก่พรรคยิ่งกว่าเห็นแก่ชาติ, พรรคการเมืองไหนๆ ก็ตาม มักเห็นแก่พรรคมากกว่าเห็นแก่ชาติ มักเห็นแก่พรรคมากกว่าเห็นแก่ชาติทั้งนั้นแหละ. อาตมาคิดว่าทั้งโลกเลย จะเอาพรรคอยู่รอดและเอาพรรคเจริญก่อนชาติเจริญ, เพราะมันมีพรรคอย่างนี้แหละมันเลยยุ่ง ; ถ้ามันไม่มีพรรค มันมีพรรคเดียว ทุกคนมุ่งหน้าต่อประเทศชาติแล้ว มันคงจะไม่ยุ่ง...

แล้วจะต้องมีรัฐสภาหรือผู้แทนราษฎร ที่สื่อความประสงค์ของประชาชนอย่างถูกต้อง อย่างครบถ้วน ; ถ้ามันเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภา มันก็ต้องเป็นผู้แทนราษฎรชนิดที่สื่อความประสงค์ของราษฎร ให้แก่สภาหรือแก่รัฐบาลอย่างถูกต้องและครบถ้วน...

ในที่สุดเราจะพูดว่า เขาจะต้องถือหลักศีลธรรมเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ทุกแขนง ; รัฐบาลก็ดี รัฐสภาก็ดี ตุลาการก็ดี อะไรก็ดี ที่รวมกันเป็นระบบการปกครองนี้ จะต้องมีศีลธรรมเป็นหลัก ให้เรามีความเป็นชาติที่มีศีลธรรม, ให้เรามีความเป็นชาติหรือชาติที่มีศีลธรรม ซึ่งจะต้องรวมถึงว่า มีวัฒนธรรม มีศาสนา มีขนบธรรมเนียมประเพณี อะไรที่ถูกต้อง แต่เราใช้คำว่าศีลธรรมคำเดียวก็พอ ถ้ามีศีลธรรมได้จริง มันไม่เสียในทางวัฒนธรรมหรือศาสนาใดๆ นี่ระบบการปกครองทุกแขนง ไม่ว่าจะไปในทิศทางไหน จะต้องมีความเป็นธรรม คือมีศีลธรรมในการปฏิบัติหน้าที่การงาน.

ฉะนั้น การเมืองนี้ ถ้ามันบริสุทธิ์ มันก็เพื่อความสงบ หรือสันติภาพของมนุษย์นั่นเอง... ถ้าการเมือง ไม่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ หรือพระธรรมแล้ว มันก็เป็นระบบโจรที่ปล้นธรรมชาติ โจรที่ทำลายธรรมชาติ โจรที่ทำลายทรัพย์สมบัติของพระเจ้านั่นเอง... ('ธรรมสัจจะของธรรมชาติกับอุดมคติทางการเมือง')

ในระบอบประชาธิปไตยซึ่งถือว่าเป็นการปกครองที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากที่สุดแล้วนั้น ทำไมจึงยังมีปัญหามากมาย
...ประชาธิปไตย ถ้าว่าประชาชนหรือคนแต่ละคนมันไม่มีศีลธรรมแล้วมันก็วินาศแหละ วินาศในเวลาอันสั้น, ถ้าประชาชนทุกคนไม่มีศีลธรรมแล้วเอามาเป็นใหญ่สำหรับปกครองบ้านเมือง พักเดียวมันก็ทำวินาศหมด เราต้องมีประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วยธรรม เรียกว่าธัมมิกประชาธิปไตย นี้เกี่ยวกับการปกครอง ธัมมิกสังคมนิยม นั้นมันเกี่ยวกับเศรษฐกิจ, ถ้าธัมมิกประชาธิปไตย นี้มันเกี่ยวกับการปกครอง เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาความถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาธิปไตยของคนเห็นแก่ตัว เอาคนที่เห็นแก่ตัว เต็มอัดทุกๆ คน มาเป็นระบบปกครองเป็นประชาธิปไตย มันก็ฆ่ากันตายหมดแหละ ด้วยความต่างคนต่างเห็นแก่ตัว ต่างคนต่างเห็นแก่ตัว

ฉะนั้นประชาธิปไตยต้องจำกัดความให้ดีๆ ว่าต้องของประชาชนที่มีศีลธรรม เลยต้องใช้คำว่า ธัมมิกประชาธิปไตย, มีธรรมเป็นหลัก มีความถูกต้องเป็นหลัก อย่าเห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ธรรมะ, เห็นแก่ธรรมะ แล้วก็อย่าเห็นแก่ตัว นี่เรียกว่า มีธรรมะเป็นหลัก มีระบบการปกครองชนิดนี้ แล้วก็จะมีการปกครองสังคม หรือโลกให้มีสันติภาพได้โดยง่าย.

...ทีนี้เราดูให้ดี เราจะเห็นได้ว่า ประชาชนในโลกสมัยนี้ กำลังตกเป็นทาสของวัตถุนิยม หนักขึ้นๆ อย่างรั้งไว้ไม่อยู่ เมื่อประชาชนทั้งหมดเป็นทาสของวัตถุนิยมแล้ว ประชาธิปไตย ก็มีความหมายแต่เพียงว่า ช่วยกันทำโลกนี้ให้เป็นทาสของวัตถุเร็วๆ เข้าเท่านั้นเอง และผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ การเบียดเบียน เพราะว่าวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความลุ่มหลง ปราศจากธรรมะแล้ว ยิ่งมีความลุ่มหลงมาก ลุ่มหลงแล้วก็เห็นแก่ตัว ก็เบียดเบียนกันอย่างที่กำลังเป็นอยู่นี่

ทีนี้เราลองดูให้กว้าง ๆ ออกไปว่า ถ้าเป็นธรรมาธิปไตยแล้ว ก็หมดปัญหา จะใช้ระบบไหนก็ตาม ถ้าธรรมะเข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว ก็เป็นธรรมาธิปไตยไปหมด สมมติว่า จะใช้ระบบเผด็จการ ผู้เผด็จการเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอย่างยิ่งแล้ว ก็ไม่เป็นเผด็จการไปได้ มันก็เป็นธรรมาธิปไตยอยู่นั่นเอง หรือเราจะใช้ระบบประชาธิปไตยอย่างที่ใช้ ๆ กันอยู่นี่ ถ้าทุกคนที่มีสิทธิ์มีเสียง ที่จะออกเสียงเป็นผู้มีธรรมะแล้ว มันก็กลายเป็นธรรมาธิปไตยไปหมด ฉะนั้น ขอให้ถือว่า โลกนี้จะรอดได้เพราะความเป็นธรรมาธิปไตย ไม่ใช่อธิปไตยอย่างไหนเลย. ('ธรรมะ ทำไมกัน ?' บรรยายในการประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๑๖ ณ ค่ายธรรมบุตร สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ๒๑ มกราคม ๒๕๑๒)

ในขณะที่โลกกำลังวุ่นวาย หลายประเทศเกิดปัญหาการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ เกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากร ท่านอาจารย์มองปัญหาการเมืองของโลกที่เป็นอยู่นี้อย่างไร
...เราจะมองดูระบบการเมืองในโลกปัจจุบันกันสักสามแง่ คือ ดูที่ต้นเหตุของมัน, ดูที่ความเจริญของมัน, แล้วก็ดูที่มันพัวพันกันอย่างสับสน แง่อย่างแรก ที่ว่าต้นเหตุของปัญหาการเมืองทั้งโลกนี้มันมีอยู่ที่ไหน? อาตมาอยากระบุลงไปว่า โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ ไปหลับหูหลับตาหลงใหลในเรื่องความเจริญทางวัตถุมากเกินไป ไม่มีใครรู้สึกตัว ไม่มีใครละอายในการที่จะกอบโกยวัตถุ. เมื่อตกเป็นทาสของกิเลสหรือตกเป็นทาสของวัตถุเสียแล้ว, จิตใจก็ไม่อาจจะรู้สึกละอายได้ ก็ไม่รู้สึกกลัวด้วย... เป็นทาสของเนื้อหนังมันก็ละทิ้งพระเจ้า ; พวกฝรั่ง เขาเคยมีพระเจ้า เขาก็ละทิ้งพระเจ้า เขาจัดให้พระเจ้าตายแล้ว ไม่มีอยู่แล้ว.

ฝ่ายตะวันออกนี้ก็ละทิ้งพระธรรม ซึ่งมีฐานะอย่างเดียวกับพระเจ้า ละทิ้งศาสนา ละทิ้งพระธรรม แม้แต่วัฒนธรรมของบรรพบุรุษฝ่ายตะวันออก อย่างจีน อย่างไทยแท้นี้ มันก็ถูกละทิ้งไป ไปเป็นทาส ของเนื้อหนัง... ('ถ้าจะให้ธรรมะครองโลกต้องมีระบบการเมืองแบบธัมมิกสังคมนิยม' เมื่อธรรมครองโลก (ธรรมโฆษณ์) ธรรมทานมูลนิธิ,๒๕๒๓.)

ลัทธิวัตถุนิยม ได้เป็นชนวนให้เกิดการแย่งชิงระหว่างชาติ ที่เราเรียกกันว่า สงคราม, ถึงขนาดที่เป็นวิกฤตกาลถาวร ยืดเยื้อเรื้อรังเหลือความสามารถขององค์การโลกทุกชนิดจะระงับได้ ดังที่ทุกคนได้เห็นกันอยู่แล้วในบัดนี้. นี่แหละคือการกระทำและผลงานของซาตาน ที่กระทำหน้าที่ของตนได้อย่างดีที่สุด ในการรับใช้พระเจ้า เพื่อการทดสอบมนุษย์และลงโทษมนุษย์ผู้สอบไล่ตก พร้อมกันไปในตัว. ดังนั้น เพื่อการที่มนุษย์เราจะเปลี่ยนกลับไปเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า จนได้รับสันติภาพที่แท้จริงเป็นรางวัลนั้น เราจะต้องมองลงไปยังสิ่งที่เรียกว่าวัตถุนิยม หรือ 'วัฒนธรรมทางวัตถุ' ที่เรากำลังบูชากันยิ่งกว่าพระเจ้านั่นเอง ว่าเป็นสิ่งที่ตั้งขวางกีดกั้นอยู่ ระหว่างเรากับพระเจ้า. ทำให้เราเกลียดพระเจ้าที่แท้จริง และตั้งตัวเอง เป็นพระเจ้าเสียเอง. ('รบกันพลาง แลกธรรมกันพลาง' เอกสารประกอบ คำบรรยายในโอกาสมีการประชุมพุทธสมาคมฯ ที่ค่ายธรรมบุตร ๒๒ ธันวาคม ๒๕๑๑)

ท่านอาจารย์บอกว่า มนุษย์กำลังบูชาวัตถุนิยมมากกว่าศาสนายิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในสภาพเช่นนี้จะนำไปสู่การที่โลกจะไม่มีศาสนาหรือไม่
โลกในสภาพปัจจุบันนี้ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปโดยไม่มีใครแย้ง ว่ากำลังตกอยู่ในวิกฤตกาลอย่างหนัก ใกล้ต่อความวินาศยิ่งขึ้นทุกที ทั้งนี้ เนื่องมาจากการที่โลกตกเป็นทาสของวัตถุ หรือวัตถุนิยม, มากเกินไปนั่นเอง. โลกกำลังก้าวหน้าแต่ทางวัตถุ. โดยไม่มีความก้าวหน้าทางวิญญาณ (spiritual) เอาเสียเลย, มีแต่จะตกต่ำหรือถอยหลังไปเสียอีก. โลกกำลังหลงใหลในความสุขทางเนื้อหนัง, กำลัง หันหลังให้ธรรม, หันหลังให้ศาสนา, หันหลังให้พระเจ้า, จนกระทั่งไม่ให้ความสำคัญแก่สิ่งเหล่านี้เลย. ('รบกันพลาง แลกธรรมกันพลาง' เอกสารประกอบ คำบรรยายในโอกาสมีการประชุมพุทธสมาคมฯ ที่ค่ายธรรมบุตร ๒๒ ธันวาคม ๒๕๑๑)

โลกไม่มีศาสนา ! ที่เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นเฉพาะพุทธศาสนา เป็นหมดทุกศาสนา ; เพราะว่าโลกทั้งโลก มันถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยม หรือความเจริญอย่างแผนใหม่ คนในโลกกำลังหายใจเป็นวัตถุ แล้วก็บูชาวิชาเทคโนโลยี่ ที่จะช่วยให้สำเร็จประโยชน์ สำเร็จตามความต้องการในทางวัตถุ เขาบูชาเทคโนโลยี่แทนสิ่งที่เรียกว่าศาสนา. ศาสนาไม่มีวัตถุให้ เหมือนเทคโนโลยี่ ; ศาสนามีแต่ความรู้แจ้งในฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณให้. ส่วนคนไม่ต้องการ เพราะว่าเขาเห็นว่า ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ; ฉะนั้นจึงไม่พอใจ ไม่ชอบศาสนา ถือเป็นของทำให้เสียเวลา เป็นของครึคระ. (' วิญญาณของความเป็นครู' บรรยายในโอกาส งานอบรมครูของทางราชการผู้พักแรมอยู่ที่ค่ายธรรมบุตร ๘ เมษายน ๒๕๑๓)

สรุปความว่า มนุษย์ในทุกวันนี้ ทำสงครามกับพระเจ้า. กำลังเอาชนะพระเจ้า เพื่อให้ตัวเองได้ทำอะไรตามชอบตัว ตามความเห็นแก่ตัว ตามกิเลสของตัว, โดยยกเอากิเลสนั้นขึ้นเป็นพระเจ้าเสียเอง. ข้อนี้เท่ากับการตั้งตัวเอง เป็นพระเจ้า, โดยการทำสงครามกับพระเจ้าตามที่มีอยู่ในบทบัญญัติทางศาสนา. เขาไม่เข้าใจพระเจ้าในบทบัญญัติของศาสนาอย่างถูกต้อง จนถึงกับมอบชีวิตกับพระเจ้าจริง จึงได้สร้างพระเจ้าองค์ปลอมขึ้นตามที่ตนจะถูกลวงด้วยซาตานอย่างไร พระเจ้ากิเลสของเขา ก็คือตัวเขาเอง กำลังเหยียบย่ำบทบัญญัติทางศาสนา ที่ได้ตราไว้โดยพระเจ้าที่แท้จริง นั่นคือการทำสงครามกับพระเจ้าของมนุษย์แห่งยุคปัจจุบัน ('รบกันพลาง แลกธรรมกันพลาง' เอกสารประกอบ คำบรรยายในโอกาสมีการประชุมพุทธสมาคมฯ ที่ค่ายธรรมบุตร ๒๒ ธันวาคม ๒๕๑๑)

เหมือนที่ท่านอาจารย์บอกไว้ตั้งนานแล้วว่าตอนนี้โลกเข้าสู่ 'กลียุค'แล้ว
กลียุค คือยุคที่โลกมีความเสื่อม มีความทุกข์ร้อน มีความลำบากยากเข็ญ สำหรับอินเดีย ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นนั้น มีความลำบากยากเข็ญ ด้วยเรื่องความคิดเห็น ถือกันเป็นปัญหาใหญ่ กำลังมีความคิดเห็นที่ผิด ซึ่งไปหลงที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการบูชายัญอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเรียกกันว่า เป็นยุคที่มีความมืดทางวิญญาณ เพราะฉะนั้น ความหมายของคำว่า กลียุค ก็คือ ยุคที่โลกกำลังมีปัญหา กำลังเดือดร้อน.

แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันยังไม่มีความสำคัญมากเท่าๆ กับว่า ในตัวบุคคลคนหนึ่งๆ นั่นแหละ กำลังมี กลียุค โดยส่วนตัวในใจของคนสมัยนี้กำลังมีลักษณะแห่งกลียุค กำลังเดือดร้อน, กำลังตกเป็นทาสของวัตถุ, กำลังให้โอกาสแก่กิเลสตัณหามากขึ้นๆ จึงมีความทุกข์ร้อนอยู่ในจิตใจของมนุษย์ในสมัยนี้มากขึ้น จึงเรียกว่า กลียุคนั้นกำลังมีอยู่ในใจของคนทุกคน ในเวลานี้ จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะมีธรรมะเป็นเครื่องขจัดปัญหาข้อนี้

ความหมายของคำว่า กลียุคนั้น หมายถึงเรื่องของโลก แผ่นดินก็ได้ หมายถึงเรื่องของมนุษย์เป็นส่วนรวมก็ได้ แต่ไม่สำคัญเท่ากับเรื่องที่บุคคลคนหนึ่งกำลังมีกลียุคอยู่ในใจของตน ฉะนั้น ธรรมะมีขึ้นก็เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาข้อนี้ เพื่อจะปัดเป่าความเป็นกลียุคนั้นให้หมดไปจากใจ นี่แหละ เราจะได้ดูกันต่อไปว่า มันจะได้อะไรที่ดีมากไปกว่านี้

แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่า ถ้าได้ครอบครองวัตถุสิ่งของมากขึ้น ชีวิตก็จะมีความสุขเพิ่มขึ้น
พวกที่นิยมวัตถุนี้เขาเชื่อกันว่า ถ้าเราทำการพัฒนาทำให้เจริญนั้น, การพัฒนาหรือการทำให้เจริญนั้นมันขึ้นอยู่ กับวัตถุ โดยมุ่งแต่จะพัฒนาหรือให้เจริญทางวัตถุ ซึ่งมีผลมหาศาลออกมาเป็นที่พอใจมากมายได้เหมือนกัน; แต่มันเสียสมดุลในการที่ว่าจิตจะนำวัตถุ มันไม่สมดุล, มันก็ถูกให้วัตถุนำไป, เฮ เฮ เฮกันไปทางวัตถุ. ฉะนั้นการที่ถือว่าความเจริญหรือการพัฒนาขึ้นอยู่กับวัตถุนั้นแหละ คือวัตถุนิยม, เป็นความคิดที่เป็นวัตถุนิยม; ฉะนั้นการพัฒนาวัตถุจนท่วมโลก พัฒนากันจนโลกเป็นทาสของวัตถุนิยม, นั่นแหละคือวัตถุนิยม.

ระวังให้ดีๆ ผู้ที่ชอบวัตถุและพัฒนาทางวัตถุนั้นอย่าให้มันไปถึงขนาดว่า พัฒนาจนตัวเองตกเป็นทาสของวัตถุ; นี่พุทธบริษัทจะต้องระมัดระวัง มิฉะนั้น จะสูญเสียศักดิ์ศรีของความเป็นพุทธบริษัทจนหมดสิ้น. มาศึกษาให้รู้ความเลวร้าย เสน่ห์อันเลวร้ายของวัตถุนิยม หลอกลวงคนไปจมปลักอยู่ในเรื่องของวัตถุ, ทรมานจิตใจอยู่ด้วยเรื่องมีกิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม ทำกรรมแล้วรับผลกรรม, รับผลกรรม แล้วก็เพิ่มกิเลส, แล้วก็เพิ่มกรรม แล้วก็เพิ่มผลของกรรม แล้วก็เพิ่มกิเลส, นี่คืออาการที่ว่ามันจมปลักอยู่ในวัตถุนิยม เห็นแก่ความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางรูปธรรมก็ได้ ทางอรูปธรรมก็ได้; แต่ทางอรูปธรรมนั้นเป็นไปน้อยมาก ฉะนั้นเราจึงไม่พูดถึงกัน.

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องดับทุกข์, อรูปธรรม อรูปฌาน อรูปสุขนี้ ยังไม่ใช่เรื่องดับทุกข์ มันต้องมาเป็นเรื่องของพระนิพพาน จึงจะเป็นเรื่องของการดับทุกข์, คืออยู่เหนืออำนาจของวัตถุ โดยประการทั้งปวง. ('ปณิธานข้อสาม การนำโลกออกมาเสียจากวัตถุนิยม' ธรรมบรรยาย วันล้ออายุ ภาคค่ำ ๒๗ พ.ค. ๒๕๒๙)

ปัจจุบัน ความขัดแย้งและสงครามได้ดึงเอาความแตกต่างทางด้านศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปในทางที่รุนแรงยิ่งขึ้น ท่านอาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร และเราจะมีทางออกจากวิกฤตการณ์นี้อย่างไร
โลกต้องมีหลายศาสนา นี้เป็นสภาพความจริงอันแรกที่ต้องยอมรับ เพราะว่าคนในโลกไม่เหมือนกัน มันจัดเป็นพวกๆ เป็นยุคเป็นสมัย, แล้วก็มีภูมิหลังแห่งวัฒนธรรมต่างกันๆ ฝังแน่นอยู่ในจิตใจเปลี่ยนไม่ได้, เขาก็เหมาะที่จะถือศาสนาที่เหมาะสมกับภูมิหลังแห่งวัฒนธรรมของตนๆ โดยภูมิศาสตร์ ในโลกนี้ก็ต้องแบ่งศาสนาให้เหมาะสมกับมนุษย์ ตามถิ่นโดยภูมิศาสตร์และยังจะต้องคำนึงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีที่มันมีอยู่อย่างแน่นแฟ้น ซึ่งจะต้องปรับปรุง

ศาสนาทุกศาสนาต้องทำหน้าที่เป็นแสงสว่างของสังคม, นำวิญญาณของสังคมไปอย่างถูกวิถีทาง คือไปสู่จุดหมายปลายทางไม่เห็นแก่ตัว แล้วรักผู้อื่น โดยอัตโนมัติ, ข้อนี้ขอให้สนใจให้มาก ถ้ามันไม่เห็นแก่ตัว แล้วมันจะรักผู้อื่นโดยอัตโนมัติ; ดังนั้น หน้าที่ของศาสนาจึงมีหน้าที่เพียงแต่ทำลายความเห็นแก่ตัว, ทำลายความเห็นแก่ตัว เมื่อหมดความเห็นแก่ตัวจะรักผู้อื่นโดยอัตโนมัติ โลกนี้ก็จะมีสันติภาพ.

เดี๋ยวนี้คนถือศาสนาต่างกันมาก จนไม่ค่อยจะมองหน้ากัน; แต่ไปดูเถอะว่าในหัวใจของคนเหล่านั้น ซึ่งต่างศาสนากันนั่นแหละ มันก็มีกิเลสเหมือนกัน. ความโลภของคนที่ถือศาสนาพุทธ ก็ไม่ต่างจากความโลภของคนที่ถือศาสนาคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู ซิกข์อะไร, ความโกรธก็เหมือนกัน, ความหลงก็เหมือนกัน. ฉะนั้นความทุกข์ที่เกิดขึ้นมันก็เป็นความทุกข์เหมือนกัน, ถ้าไปดูกันที่ตัวกิเลสและตัวความทุกข์แล้ว มันก็เหมือนกันเลยของทุกคนที่ถือศาสนาต่างกัน

เมื่อเป็นอย่างนี้มันก็ควรจะมีสิ่งซึ่งแก้ทุกข์หรือดับทุกข์ได้ร่วมกัน ไม่ว่าเขาจะถือศาสนาอะไร; เหมือนอย่างว่าปัจจุบันใครจะถือศาสนาอะไรก็ตามใจ ถ้ากินน้ำตาล มันก็รู้สึกหวาน, ถ้ากินเกลือ มันก็รู้สึกเค็ม. ถ้ากินน้ำส้ม มันรู้สึกเปรี้ยว, อย่างนี้ใช่ไหม? จะถือศาสนาอะไร มันก็ไม่เว้นที่ว่าจะต้องมีความเป็นอย่างเดียวกันอยู่ในด้านลึก

หรือว่าจะมียาแก้โรค ขึ้นมาในโลกแม้แต่ยาแก้ปวดศีรษะอย่างนี้ คนถือศาสนาอะไรซื้อไปกินมันก็หายได้, ไม่ว่าจะถือศาสนาอะไร. ทีนี้มันยิ่งกว่านั้นก็ว่าเมื่อกิเลสของคนก็เหมือนกัน ความทุกข์ของคนก็เหมือนกันในการที่จะดับทุกข์ มันก็เหมือนกันได้, เหมือนกับว่ายาแก้โรคทางฝ่ายกายใช้ร่วมกันได้อย่างนี้ ยาแก้โรคในทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ มันก็ใช้ร่วมกันได้อย่างนี้แหละ

การทำความเข้าใจระหว่างศาสนา ก็เพื่อแก้ปัญหาคือการกระทบกระทั่งกัน ในระหว่างศาสนา ซึ่งมีผลมาถึงบุคคลแต่ละคน เดี๋ยวนี้ก็มีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับศาสนาต่างกัน ทางการเมืองบ้าง, ทางภายในหรือส่วนบุคคลบ้าง ก็มีอยู่แล้วก็เป็นปัญหาใหญ่โตเหมือนกัน ที่เป็นปัญหาทางการเมืองเกิดจากพลเมืองถือศาสนาต่างกันวิวาทกันอะไรกันทำนองนี้. เราอาจจะขจัดปัดเป่าปัญหาประเภทนี้โดยเฉพาะออกไปได้โดยการทำความเข้าใจระหว่างศาสนา. ('ปณิธานข้อสอง การทำความเข้าใจระหว่างศาสนา' ธรรมบรรยาย วันล้ออายุ ภาคบ่าย ๒๗ พ.ค. ๒๕๒๙)

ในขณะที่สังคมโลกกำลังรุดหน้าไปด้วยพลังของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น โลกก็กำลังก้าวไปสู่ภาวการณ์ขาดสันติภาพยิ่งๆ ขึ้นเรื่อยๆ ขอให้ท่านอาจารย์กรุณาพูดถึงประเด็นนี้เป็นการทิ้งท้าย
...มนุษย์สามารถไปดวงจันทร์แล้วกลับมาได้ เขาตะโกนกันทั่วโลกอย่างระบือลือชาทีเดียวว่า ชัยชนะของมนุษย์! ชัยชนะของมนุษย์! ชัยชนะสูงสุดของมนุษย์!...

ถ้าไปดวงจันทร์ได้นั้น มันนำมาซึ่งสันติภาพหรือไม่ อาตมาเห็นว่า การไปดวงจันทร์ได้ ยังไม่นำมาซึ่งสันติภาพ แล้วก็เป็นการพ่ายแพ้แก่ดวงจันทร์ แล้วการกระทำนี้ เป็นการกระทำเพื่อขู่ขวัญกัน เพื่ออวดฝีมือในโลกนี้กันอย่างมากเท่านั้นเอง แล้วมันจะนำมาซึ่งสันติภาพอย่างไร ความรู้สึกของเราที่เป็นพุทธบริษัท รู้สึกว่านี่แหละคือวันที่พ่ายแพ้แก่ดวงจันทร์ถึงที่สุดแล้ว...

หรือว่าถ้าจะพูดให้ตรงกว่านั้น มันเป็นเรื่องการกระทำของคนบ้าถึงขนาดหนัก เท่านั้นเอง มันจึงทนทำของยุ่งยากลำบากหมดเปลืองอยู่ได้ แต่ถ้าว่าจะต้องการความดับทุกข์ หรือสันติภาพโดยตรงกันแล้ว มันไม่ต้องมากมายถึงอย่างนั้น มันไม่ต้องลงทุนมากถึงอย่างนั้น ไม่ต้องลำบากมากถึงอย่างนั้น ก็ยังทำให้มีสันติภาพ และความสงบสุขอันแท้จริงได้

ทีนี้การชนะผู้อื่น ซึ่งเป็นมนุษย์ เป็นคู่ปรปักษ์ หรือเป็นคู่แข่งกันนี้ ก็ไม่นำมาซึ่งสันติภาพ จงฟังดูให้ดีๆ ว่า ชนะวัตถุล้วนๆ เช่นก้อนดวงจันทร์เป็นต้นนั้น ก็ไม่นำมาซึ่งสันติภาพ เพราะฉะนั้นการชนะมนุษย์ด้วยกันซึ่งเป็นคู่ปรปักษ์คู่แข่งขัน คู่อะไรก็ตาม มันก็ไม่นำมาซึ่งสันติภาพ เพราะว่ามันทำให้สร้างความเกลียดชัง อาฆาต จองเวรอะไรกันมากขึ้น แล้วก็กลับแพ้ กลับชนะอย่างรุนแรงกันไปมา ๆ ยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ดังนั้นการชนะคู่ปรปักษ์นั้นไม่นำมาซึ่งสันติภาพ แต่การชนะตน คือชนะกิเลสของตนเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งสันติภาพ

ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ชนะตนนั่นแลเป็นดีเลิศนี้หมายความว่า ชนะตัวเอง อะไรเป็นตัวเอง ในที่นี้ก็หมายถึงอ้ายความโง่ ว่าตัวกูว่าของกูนั่นแหละ คือตน อุปาทานว่าตัวกูว่าของกูนั่นแหละคือตน อุปทานนั้นคือกิเลส เพราะฉะนั้นกิเลสนั่นแหละคือตน ทีนี้ชนะกิเลสหรือตนเสียให้ได้ ก็จะนำมาซึ่งความสุขหรือสันติภาพแก่ตน ดังนั้นทุกคน ๆ จะต้องพยายามชนะตน คือชนะกิเลสของตนให้ได้ แล้วการชนะนั้นจะนำมาซึ่งสันติภาพกล่าวคือพระนิพพาน ในปริยายใด ปริยายหนึ่ง ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง หรืออันดับใดอันดับหนึ่งไม่มากก็น้อย มันจึงเป็นสันติภาพขึ้นมา การชนะตนเท่านั้นนำมาซึ่งสันติภาพ

ทีนี้ดูต่อไปอีก การชนะน้ำใจผู้อื่น หลังจากที่ชนะตนแล้ว ให้เหมือนกับที่ตนชนะตนเท่านั้น จะยิ่งนำมาซึ่งสันติภาพของสากลโลก หรือของสากลจักรวาล ข้อนี้หมายความว่า เมื่อเราชนะตัวเราเองได้ จริง ๆ แล้วหมดความเห็นแก่ตนแล้ว เราชนะน้ำใจผู้อื่น ให้เขาหมดความเห็นแก่ตัวอย่างเราบ้าง เหมือนกับที่เราได้หมดแล้วนั่นแหละจะนำมาซึ่งสันติภาพของสากลโลก สากลจักรวาล...
('ชนะดวงจันทร์ หรือชนะตนดี' เทศน์ในวันอาสาฬหบูชา (กัณฑ์บ่าย), ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๒ ณ สวนโมกขพลาราม ไชยา)

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

ที่ผ่านมา รัฐมักพูดถึงแต่การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัญหาหลักไม่ได้อยู่ตรงจุดนั้น แต่อยู่ที่เศรษฐกิจของเราขาดความเป็นธรรมในแต่ละภาคส่วนของระบบ โดยการเลือกปฏิบัติเลือกส่งเสริมส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกรรม หรือในการระบบเกษตรกรรมเองรัฐก็เลือกที่จะส่งเสริมเฉพาะเกษตรเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญมากของสังคมไทย การที่จะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้จึงควรจะพิจารณาความเป็นธรรมดังกล่าวเป็นสำคัญ

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น