บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๕๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
02-11-2549



Crisis of Humanities
The Midnight University

การประชุมทางวิชาการมนุษยศาสตร์
วิกฤตมนุษยศาสตร์ กับ ความเป็นไทยกระแสหลัก
โครงการวิจัยวิกฤตมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์
โดยการสนับสนุนของ สกว.

บทความต่อจากนี้ไป จะเป็นการไล่เลียงเนื้อหาในการสัมนาในหัวข้อ
วิกฤตมนุษยศาสตร์
: ความเป็นชาติ โลกของตลาด และความรู้สึก
โดยในส่วนที่ ๓ ของบทความฉบับสมบูรณ์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของปาฐกถานำโดย
รศ. สายชล สัตยานุรักษ์ - ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ซึ่งได้เขียนขึ้นมาเพื่อเป็นเอกสารประกอบเนื้อหาเกี่ยวกับวิกฤตมนุษยศาสตร์
รายการสัมนาที่จัดขึ้นเมื่อ
วันที่ ๒๔-๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๙
ที่บ้านกรูด ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
midnightuniv(at)yahoo.com


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1057
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 20.5 หน้ากระดาษ A4)

 

วิกฤตมนุษยศาสตร์ กับ ความเป็นไทยกระแสหลัก
โครงการวิจัยวิกฤตมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของ สกว.
วันที่ ๒๔ - ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๙
จัดขึ้น ณ ราชาวดีรีสอร์ท (ที่บ้านกรูด) ตำบลธงชัย
อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
(ย้อนกลับไปยังปาฐกถานำรายการนี้)


"ความเป็นไทย" กับวิกฤตมนุษยศาสตร์
รศ. สายชล สัตยานุรักษ์ (ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ความนำ
บทความนี้มองมนุษยศาสตร์ไทยในแง่ร้าย มิได้หมายความว่า ไม่มีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น หรือผู้เขียนมองไม่เห็นด้านที่ดีขึ้น แต่ด้านที่ดีขึ้นนั้นเป็นผลงานของนักมนุษยศาสตร์ส่วนน้อย ทำให้ความรู้ทางมนุษยศาสตร์ไทยยังมีพลังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อชีวิตคนไทยและสังคมไทย ในมิติที่เกี่ยวเนื่องกับ "ปัญญา" "จิตใจ" และ "อารมณ์ความรู้สึก"

ขณะเดียวกันความรู้ทางมนุษยศาสตร์จำนวนมากที่ได้รับการสร้างขึ้นในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ยังเป็นส่วนหนึ่งที่จรรโลงโครงสร้างความรุนแรงในสังคมไทย เนื่องจากได้รับการสร้างขึ้นด้วยวิธีคิดที่มาจากมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ"ความเป็นไทย" กระแสหลัก ผู้เขียนจึงเห็นว่า การสร้างความรู้ทางมนุษยศาสตร์มีปัญหามากในระดับที่สามารถเรียกได้ว่า "วิกฤตมนุษยศาสตร์"

ก่อนจะกล่าวถึง "ความเป็นไทย" กับวิกฤตมนุษยศาสตร์ ผู้เขียนขอสรุปที่มาและความหมายของ "ความเป็นไทย" กระแสหลัก โดยสังเขป

"ความเป็นไทย" กระแสหลัก
ที่มาของการนิยามหรือการสร้าง "ความเป็นไทย" กระแสหลัก ก็คือความจำเป็นและความต้องการของชนชั้นนำตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่จะจรรโลงโครงสร้างรัฐแบบรวมศูนย์อำนาจ และโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น ให้คนแต่ละชั้นมีสิทธิและหน้าที่แตกต่างกัน ในสภาวการณ์ที่อุดมการณ์แบบธรรมิกราชาธิราชเริ่มหมดพลัง ระบบไพร่และทาสที่เคยเป็นกลไกสำคัญในการจัดระเบียบสังคม กำลังสลายตัวลงจากการเข้ามาของทุนนิยม ในขณะที่เกิด "คนชั้นกลาง" ทั้งในและนอกระบบราชการ ซึ่งเริ่มสำนึกและเผยแพร่ความคิด "ชาตินิยม" ที่เน้นว่า "ชาติ" เป็นของประชาชน

การสร้าง "ความเป็นไทย" จึงเริ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ชนชั้นนำพยายามสร้าง"ชาติไทย" ให้เป็น "ชุมชนในจินตนาการ" ของชาวสยาม โดยทำให้มโนทัศน์ที่ชนชั้นนำสถาปนาขึ้นมานี้ มีอำนาจครอบงำเหนือความคิดที่เสนอโดยคนกลุ่มอื่น ๆ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ชาวสยามผูกพันกับ "ชาติไทย" แบบที่ชนชั้นนำนิยาม แทน"ชุมชน" ทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมเล็ก ๆ ที่ชาวสยามได้เคยผูกพันใกล้ชิดมาก่อน เกิดความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การนำของ "พระมหากษัตริย์แห่งชาติ" และมี "วัฒนธรรมแห่งชาติ" ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นั่นคือ "วัฒนธรรมไทย" ที่จะช่วยจรรโลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้มีความมั่นคงและยั่งยืนและเอื้อให้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

"ความเป็นไทย" ทางวัฒนธรรมที่ชนชั้นนำสร้างขึ้นนี้ เป็นผลมาจากการตัดสินใจว่าจะเลือกสรรและจัดการอย่างไรกับวัฒนธรรมเดิมของรัฐแบบราชาธิราชที่ตกทอดมา ในขณะที่วัฒนธรรมใหม่จากตะวันตกขยายอิทธิพลไปทั่วโลก ซึ่งปรากฏว่าชนชั้นนำได้เลือกที่จะรับเอาความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยีจากตะวันตกเพื่อใช้เป็นกลไกอำนาจรัฐ และเพื่อช่วยยืนยันในความสำเร็จ(คือความเจริญของบ้านเมือง) อันเกิดจากการปกครองแบบไทย ขณะเดียวกันก็เลือกรักษา "วัฒนธรรมไทย" หรือ "ความเป็นไทยทางจิตใจ" เอาไว้ เพราะจะช่วยจรรโลงสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น ที่ "เจ้า" มีความชอบธรรมในการมีอำนาจเหนือคนชั้นอื่น ๆ ทั้งนี้โดยเลือกสรรบางส่วนจากศิลปะ พิธีกรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมเท่าที่จำเป็น แล้วนิยามความหมายใหม่ พร้อมกับสร้าง "วัฒนธรรมใหม่" บางอย่าง แล้วทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ "ความเป็นไทย"

สาระสำคัญของวิธีคิดในกรอบมโนทัศน์"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย" ที่ชนชั้นนำในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างขึ้น และปัญญาชนในยุคหลังทำการสืบทอดต่อมา ก็คือวิธีคิดที่ว่า "ความเป็นไทย" ทำให้"เมืองไทยนี้ดี" คือกอปรไปด้วยระเบียบ ความมั่นคง ความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้า

หัวใจของ "ความเป็นไทย" ได้แก่ "พระมหากษัตริย์" และ "พุทธศาสนา" ซึ่งทั้งสองสถาบันได้รับการนิยามความหมายใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางการเมืองและทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเน้นให้ "พระมหากษัตริย์" มีความสำคัญเหนือ "พุทธศาสนา" นอกจากจะทรงเป็นผู้อุปถัมภ์"พุทธศาสนา" แล้ว "พุทธศาสนา" ยังได้รับการตีความใหม่และการจัดการใหม่เพื่อให้เป็นคุณประโยชน์ต่อ "ชาติไทย" ที่มี "พระมหากษัตริย์" ทรงเป็นผู้นำสูงสุด

จารึกหลักที่ 1 เป็นที่มาของมโนทัศน์ "ความเป็นไทย" ทำให้ "เมืองไทยนี้ดี"
ไม่ว่าจารึกหลักนี้จะสร้างโดยใครและเมื่อใดก็ตาม แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำให้ความคิดที่อยู่ในจารึกนี้เป็นที่รับรู้แพร่หลาย และกลายเป็นมโนทัศน์ที่ปัญญาชนในยุคต่อมาจะใช้ในการสถาปนาความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" นั่นคือความคิดที่ว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงทำการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ทรงยึดมั่นในธรรมะของพุทธศาสนา ทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาชน ทรงรับรองกรรมสิทธิ์เอกชนและเปิดให้มีการค้าเสรี ทรงอำนวยความยุติธรรมแก่คนทุกชั้น ทรงดูแลและสั่งสอนให้ทุกคนประพฤติธรรม และทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนาด้วยประการต่าง ๆ อันทำให้คนทุกชั้นมีศีลธรรม ส่งผลให้สังคมมีระเบียบ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า "การปกครองแบบไทย" จึงทำให้ "เมืองไทยนี้ดี"

มโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ได้รับการสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการขยายความ ตีความใหม่ และปรับเปลี่ยนจุดเน้นและความหมายให้สอดคล้องกับบริบททางการเมือง-สังคม-วัฒนธรรมในหลายสมัย ทำให้มโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ยังคงมีพลังและมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ แม้ว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปมากในระยะหลัง เพราะมโนทัศน์นี้กำหนดวิธีคิดของคนไทยตลอดมา คือเป็นกระบวนทัศน์ในการอธิบายปรากฏการณ์และปัญหาต่าง ๆ การหาทางออกจากปัญหา ตลอดจนการเลือกแนวทางพัฒนาประเทศด้วย

ในช่วงหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 จนถึงสิ้นสงครามโลก
กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ และหลวงวิจิตรวาทการได้พยายามปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ไปไม่น้อย แต่ในทศวรรษ 2490 เมื่อคณะราษฎร์หมดอำนาจ อุดมการณ์จากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้รับการเลือกสรรเพื่อนำมาปรับใช้อย่างเข้มข้นอีกครั้ง ดังนั้น กรอบโครงหลักทางความคิดจึงดำรงอยู่อย่างมั่นคง แม้แต่อุดมการณ์ของฝ่ายซ้ายซึ่งท้าทายมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ดังกล่าวอย่างรุนแรง ก็ไม่อาจเอาชนะได้

ชัยชนะของมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ตั้งแต่กลางทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา เกิดจากหลายปัจจัย แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความสามารถของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ได้สร้างผลงานจำนวนมากเพื่อปรับเปลี่ยนความหมายของ"ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ให้มีพลวัตอย่างสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รวมทั้งสามารถตอบโต้ความคิดแบบ "ซ้ายเก่า" และ "ซ้ายใหม่" ได้อย่างมีพลัง ทำให้ความหมายของ "ความเป็นไทย" แบบที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นิยาม มีพลังสูงในรัฐไทยและสังคมไทยตลอดมา

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ประสบความสำเร็จในการทำให้คนไทยเชื่อว่า หัวใจของ "ความเป็นไทย" คือพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนาทำให้เมืองไทยนี้ดี เพราะเป็นแหล่งที่มาของวัฒนธรรมไทยอันสูงส่ง ดีงาม เต็มไปด้วยคุณค่า ไม่ว่าจะเป็น วรรณคดีไทย ภาษาไทย ศิลปะไทย ศีลธรรมไทย มารยาทไทย การปกครองแบบไทย ฯลฯ ถึงแม้ว่าสังคมไทยจะมีการแบ่งชนชั้น แต่ก็มิได้แบ่งอย่างตายตัว และศีลธรรมของพุทธศาสนาส่งผลให้คนต่างชั้นกันมีความสัมพันธ์กันโดยปราศจากการกดขี่ ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เมตตา และรัฐไทยก็เป็นรัฐที่เมตตา

หลายทศวรรษที่ผ่านมา หากอ่านแบบเรียน หนังสือสารคดี หนังสือพิมพ์ คำให้สัมภาษณ์ของนักการเมือง ข้าราชการ (รวมทั้งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมคนใหม่) หรือฟังวิทยุ และดูโทรทัศน์ ก็จะเห็นความคิดที่มาจากมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" อยู่เต็มไปหมด และมโนทัศน์นี้ยังนำไปสู่นโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมาย

ภายใต้อิทธิพลของมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ได้มีการสร้างความเหมือนกันในทางวัฒนธรรม คือให้ "กลายเป็นไทย" ทั้งประเทศ เช่น การเน้นการใช้หนังสือ รวมทั้งพระไตรปิฎกที่ส่วนกลางสร้างขึ้นในการเผยแผ่คำสอนของพุทธศาสนา เพื่อทำลายลักษณะเฉพาะถิ่นของพุทธศาสนา ซึ่งพระสงฆ์แต่ละท้องถิ่นเคยมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดคำสอน และการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นนั้น ๆ

ดังนั้น นับแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นต้นมา ธรรมะที่คนไทยทั่วประเทศ ทั้งพระสงฆ์และประชาชน ได้เรียนรู้โดยทางตรงหรือทางอ้อมก็คือ"ความจริงและความดี อันเกี่ยวกับชีวิต สังคม และโลก" จากมุมมองของพุทธศาสนาแบบโลกียธรรม ขณะเดียวกันก็มีการรื้อฟื้น "ความงาม" ของศิลปะไทยแบบจารีต มีการปลูกฝังภาษาไทยมาตรฐาน มีการสอนวรรณคดีไทยโดยยึดมาตรฐานที่วรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้วางเอาไว้ มีการสอนมารยาทไทยในโรงเรียน ให้นักเรียนมีมารยาทแบบ "รู้ที่ต่ำที่สูง" เช่น การไหว้ การหมอบคลาน และการใช้ภาษาอย่างเหมาะสมกับสถานภาพของบุคคล ฯลฯ กล่าวได้ว่ารัฐพยายามปลูกฝังให้คนทั่วประเทศรู้จัก "ความจริง ความดี และความงาม" แบบไทย ให้มองภาษาไทย วรรณคดีไทยและศิลปะไทยในเชิงสุนทรียศาสตร์จากมุมมองที่ "เห็นสวยเห็นงามแบบไทย" ฯลฯ

ทั้งนี้ รวมถึงการทำให้คนนิยม "การปกครองแบบไทย" ซึ่งฝากชตากรรมไว้ในมือของผู้นำที่เป็น "คนดี" จากความเลื่อมใสในพุทธศาสนา ซึ่งทำให้ไม่ต้องมีการควบคุมตรวจสอบใด ๆ จากประชาชน ในการปกครองแบบไทยนี้ ไม่มีการเมือง ซึ่งทำให้ผู้นำไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเมือง สามารถเอาเวลาไปใช้ในการทำงานเพื่อบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้รัฐไทยมีสมรรถภาพสูง ดีกว่าจะปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งคนไทยยังไม่พร้อม เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังตกอยู่ใน "วัฏจักรโง่-จน-เจ็บ"

มโนทัศน์ "เมืองไทยนี้ดี" จึงครอบงำวิธีคิดของคนไทยอย่างแน่นหนา ว่าอะไรคือ "ความจริง ความดี และความงาม" ซึ่งนำไปสู่การสร้างความรู้และศิลปะจำนวนมาก ที่จรรโลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบรวมศูนย์ และจรรโลงสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น

ภายใต้อิทธิพลของมโนทัศน์เช่นนี้ ความแตกต่างทางความคิด ความรู้ และวัฒนธรรม จะเกิดขึ้นไม่ได้ และถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นก็จะเป็นอันตรายต่อโครงสร้างรัฐและโครงสร้างสังคมดังกล่าว ภายใต้ "การปกครองแบบไทย" ทุกคนควรมุ่งทำหน้าที่ของตนให้ดี "ไม่เอิบเอื้อมก้าวก่ายหน้าที่ของคนอื่น" แม้แต่คำว่า "เสรีภาพ" ก็ได้รับการตีความว่าเป็นเสรีภาพทางใจที่มีอยู่แล้วในพุทธศาสนา มิใช่เสรีภาพในความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ทุกคนเสมอภาคกัน เสรีภาพในความหมายแบบตะวันตกจะนำไปสู่ความวุ่นวายและทำลายความมั่นคงของชาติ

"ความเป็นไทย" ทั้งหลาย เป็นสิ่งที่คนไทยจะต้องยึดมั่นและรักษาไว้ตลอดไป ถ้ายึดมั่นและรักษา "ความเป็นไทย" เอาไว้ได้ เมืองไทยก็จะดีตลอดไป แต่ถ้าละทิ้ง "ความเป็นไทย" ก็จะเกิดปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่ปัญหาส่วนบุคคล เช่น "จน เครียด กินเหล้า" ไปจนถึงปัญหาสังคมและปัญหาระดับชาติ (เช่น ถ้าไม่รักในหลวง ก็จะไม่ร่วมกันต้านยาเสพติด ซึ่งจะทำให้ชาติขาดความมั่นคง เป็นต้น)

วิธีคิดความเป็นไทย ครอบงำวงวิชาการสังคมศาสตร์ละมนุษยศาสตร์
วิธีคิดข้างต้นนี้ ครอบงำวงวิชาการสังคมศาสตร์ละมนุษยศาสตร์อย่างเข้มข้น ในวงวิชาการสังคมศาสตร์ ความหมายของ "ความเป็นไทย" "การปกครองแบบไทย" และ"ประชาธิปไตย" ที่คึกฤทธิ์นิยาม มีอิทธิพลต่อวงวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ตลอดจนนิติศาสตร์เป็นอย่างมาก เช่น นักรัฐศาสตร์มองพัฒนาการทางการเมืองของไทย โดยเน้นบทบาทของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ที่ทรงพระเมตตาและทรงเห็นการณ์ไกล จึงทรงพยายามวางรากฐานประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถึงกับยกย่องให้ปัญญาชนกระแสหลัก คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็น "เสาหลักของประชาธิปไตย" และหนังสือพิมพ์ก็ยังสืบทอดอัตลักษณ์นี้ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แม้ในปัจจุบัน นักนิติศาสตร์ส่วนใหญ่ ยอมรับกฎหมายที่ "ผู้ปกครองแบบไทย" ประกาศใช้ และเน้นให้คนเคารพกฎหมายโดยไม่ต้องตั้งคำถามว่ากฎหมายนั้น "ยุติธรรม" หรือไม่ ซึ่งเท่ากับยอมรับหลักการที่ว่า "ผู้นำแบบไทย" เป็นที่มาของความยุติธรรม ไม่สนใจปัญหาสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง หรือสิทธิชุมชน และไม่ได้สอนให้นักศึกษากฎหมายตีความกฎหมายโดยคำนึงถึงมิติทางสังคมวัฒนธรรม นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ในหลายมหาวิทยาลัยได้รับการยกเว้นไม่ต้องเรียนวิชาในหมวดการศึกษาทั่วไปและไม่ต้องให้ความสนใจความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาในสมัยหนึ่ง ก็มองว่า "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" เช่นกันในแง่ที่สังคมไทยไม่มีการแบ่งชนชั้นอย่างตายตัว เพราะพุทธศาสนาทำให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคมได้ง่าย อันเป็นการมองที่สอดคล้องกับ "เอกลักษณ์ของสังคมไทย" ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สร้างขึ้น เพื่อตอบโต้การวิเคราะห์สังคมไทยของปัญญาชนฝ่ายซ้าย และเป็นมุมมองสังคมไทยที่สอดคล้องกับ "ทฤษฎีสังคมไทยมีโครงสร้างหลวม" ของนักวิชาการอเมริกันด้วย

เป็นไปได้ว่า การที่งานวิจัยด้านไทยศึกษาในวงวิชาการตะวันตก มีลักษณะดังที่ศาสตราจารย์เบนเนดิกส์ แอนเดอร์สันวิเคราะห์ในบทความ "ศึกษารัฐไทย วิพากษ์ไทยศึกษา" นั้น เป็นเพราะนักวิชาการตะวันตกที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองไทย ได้รับอิทธิพลจากมโนทัศน์ "เมืองไทยนี้ดี" โดยตรงหรือโดยอ้อม เช่นเดียวกับนักวิชาการไทย

อย่างไรก็ตาม วงวิชาการสังคมศาสตร์ของไทย หลุดพ้นจากกรอบมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" (รวมทั้งมโนทัศน์ที่ว่าเมืองไทยจะพัฒนาประเทศได้ดีก็ต่อเมื่อ "ไม่มีการเมือง" ตามทฤษฎี "การปกครองแบบไทยไม่มีการเมือง") มานานพอสมควรแล้ว เพราะนักสังคมศาสตร์ศึกษาทฤษฎีตะวันตกที่พัฒนาไปไกลจากเดิมมาก และเมื่อศึกษาสังคมไทยก็ศึกษาเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์-ชนกลุ่มน้อย-คนด้อยโอกาส ฯลฯ ซึ่งทำให้มองเห็นปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และมองเห็นความขัดแย้งในสังคมได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศึกษาปรากฏการณ์และปัญหาร่วมสมัย ซึ่งความขัดแย้งหลายด้านได้ปะทุขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจนนับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีความเปลี่ยนแปลงในวงวิชาการมากพอสมควร เนื่องจากวิธีคิดแบบฝ่ายซ้ายสั่นสะเทือนวิธีคิดในกรอบมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ"ความเป็นไทย" ของนักวิชาการเป็นอย่างมาก และ คำอธิบายปัญหาและปรากฏการณ์ทางสังคมในกรอบมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เริ่มจืดชืด เพราะเมื่อกลายเป็นวิธีคิดของคนทั่วไปเสียแล้ว ใคร ๆ ก็อธิบายได้คล้าย ๆ กัน

ในจังหวะนี้เอง ที่เริ่มมีคำอธิบายความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทยจากนักวิชาการที่หลุดจากกรอบมโนทัศน์"ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เช่น อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอวิธีคิดใหม่ในการเข้าใจการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ทั้งอดีตและปัจจุบัน ซึ่งอาจเรียกว่า "วิธีคิดที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับบริบท" ทำให้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยหลากหลายที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม

อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ เริ่มเสนอ "วิธีคิดเชิงซ้อน" อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เสนอ "รัฐศาสตร์มนุษย์-รัฐศาสตร์ทวนกระแส" อาจารย์เกษียร เตชะพีระ อธิบายการเมืองจากแง่มุมการเมืองวัฒนธรรม อาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อธิบาย การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 โดยพิจารณาความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมความคิดของกลุ่มสังคมตั้งแต่เจ้านายจนถึงราษฎร ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ก็อธิบายความเปลี่ยนแปลงหรือปัญหาทางเศรษฐกิจด้วยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิค ซึ่งอยู่นอกกรอบวิธีคิดเรื่อง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" มาแต่แรก เช่น อาจารย์อัมมาร์ สยามวาลา อธิบายปัญหาในระบบเศรษฐกิจไทยโดยเห็นว่าทุนไม่มีสัญชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ตามความรู้ที่ก้าวหน้าขึ้นนี้ เป็นที่รับรู้ในวงการมนุษยศาสตร์ค่อนข้างน้อย

เมื่อมองเฉพาะเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งนักมนุษยศาสตร์น่าจะมีความสนใจเป็นพิเศษ แต่นักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคงมองวัฒนธรรมในความหมายของแบบแผนการดำเนินชีวิตที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง มองเห็นการรู้ที่ต่ำที่สูงเป็นเรื่องดี กลัวที่จะคิดเรื่องอำนาจ แม้ว่านักมานุษยวิทยาจะมองวัฒนธรรมในความหมายอื่นมานานแล้ว และงานของอาจารย์นิธิ ก็วิเคราะห์และอธิบายวัฒนธรรมไทยนอกกรอบมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" มาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 คือมองวัฒนธรรมว่าหมายถึงระบบความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับอำนาจ และ"อำนาจที่ซึมลึกที่สุดก็คืออำนาจที่มาจากการนิยามความหมาย"

แต่วิชามนุษยศาสตร์ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการนิยามความหมาย หรือการตีความ กลับหวั่นกลัวที่จะคิดเรื่องอำนาจ แต่อยากให้มนุษยศาสตร์และ "ความเป็นมนุษย์" มีแต่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีเรื่องอำนาจมาแปดเปื้อน โดยหารู้ไม่ว่ามนุษยศาสตร์เป็นตัวแทนของ "soft power" ที่ซึมลึกและน่ากลัวยิ่งกว่า "hard power" เสียอีก เพราะกำหนดและควบคุมชีวิตผู้คนและสังคมมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้เลย

กล่าวได้ว่าวงวิชาการมนุษยศาสตร์ ถูกมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ครอบงำแน่นหนาและยาวนานกว่าวงวิชาการสังคมศาสตร์เป็นอันมาก และตราบจนกระทั่งปัจจุบัน นักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยังคงสร้างความรู้ด้วยวิธีคิดที่มาจากมโนทัศน์ดังกล่าวนี้

"ความเป็นไทย"กระแสหลัก กับ "วิกฤตมนุษยศาสตร์"
หลายทศวรรษที่ผ่านมา การวิจัยและการสอนวิชาด้านมนุษยศาสตร์ เช่น ภาษาไทย วรรณคดีไทย ประวัติศาสตร์ไทย ปรัชญาความคิดไทย ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวิธีคิด "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" อย่างเห็นได้ชัด เพราะการสร้างความรู้ทางมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่แล้วยังคงเป็นไปเพื่อค้นหา "ความจริง ความดี ความงาม" ที่มีอยู่ในศิลปะและวัฒนธรรมไทย ตามมุมมองของปัญญาชนกระแสหลัก และยึดเอาปัญญาชนกระแสหลักเป็นปรมาจารย์

ในปัจจุบันนักมนุษยศาสตร์เริ่มพูดว่าสังคมมีปัญหาเพราะคนเราแข็งกระด้าง เนื่องจาก "เราคิดมากเกินไป และรู้สึกน้อยเกินไป" และที่เรารู้สึกน้อยก็เพราะสังคมของเรามองไม่เห็นคุณค่าของมนุษยศาสตร์ ข้อความข้างต้นนี้อาจนำมาดัดแปลงเสียใหม่ว่า วิธีคิดในกรอบมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ทำให้นักมนุษยศาสตร์ไทย "คิดน้อยเกินไปและรู้สึกน้อยเกินไปด้วย" ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

๑.
มโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ไม่เพียงแต่ทำให้เกิด "มนุษยศาสตร์ต้องห้าม" คือห้ามศึกษาเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าคือทำให้เกิด "มนุษยศาสตร์ไร้จินตนาการ" ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งกว่า "มนุษยศาสตร์ต้องห้าม" เสียอีก เพราะถ้าเรารู้ว่าเขาห้ามก็หมายความว่าเรารู้ว่าเรื่องนั้นมีอยู่ ซึ่งเราสามารถฝ่าฝืนได้-ถ้ามีความกล้าหาญ แต่การครอบงำของมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ทำให้เราไม่สามารถจินตนาการไปสู่เรื่องต่าง ๆ จำนวนมาก ที่มีความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองและผู้อื่น

"มนุษยศาสตร์ไร้จินตนาการ" ทำให้นักมนุษยศาสตร์ไม่เกิดคำถาม และไม่ตระหนักว่าจะต้องหาทางเข้าใจหรือหาคำตอบ เช่น นักมนุษยศาสตร์ไม่สนใจว่าอะไรคือ "ความจริง ความดี ความงาม" ตามทัศนะของคนหลายกลุ่มที่อยู่ในประเทศเดียวกับเรา แต่เราไม่ถือว่าคนเหล่านั้นเป็น "คนไทย" เป็นต้นว่า ชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้มอง "ความงาม" อย่างไร ชาวกระเหรี่ยง ชาวม้ง ชาวเย้า ฯลฯ คิดและรู้สึกอย่างไรในเรื่อง "ความจริง" และ "ความดี"

คนยากจนในที่ต่าง ๆ มีความรู้สึกอย่างไรต่อความยากจนของตนเอง และความร่ำรวยของคนจำนวนเพียงหยิบมือเดียว (ซึ่งเป็น "ความจริง" ที่เขาเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน) ฯลฯ นักมนุษยศาสตร์ (และนักสังคมศาสตร์บางท่าน) กลับสนใจ "คนไต" หรือ "คนไท" นอกประเทศมากกว่า เพราะคิดว่าเป็นคนเชื้อชาติเดียวกันกับคนไทยปัจจุบัน อันเป็นอิทธิพลจากการนิยาม "ชาติไทย" ตามคติเชื้อชาตินิยม

นักมนุษยศาสตร์ไม่ตระหนักว่า ความรู้ที่ตนสร้างขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางอำนาจที่บีบบังคับให้คนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในรัฐไทย ต้องเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับ "ความจริง ความดี ความงาม" ที่พวกเขาเคยมีอยู่ หันมามอง "ความจริง ความดี ความงาม" จากมุมมอง "แบบไทย" หากใครไม่ต้องการเปลี่ยนหรือไม่สามารถที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมมาอยู่ในกรอบของ "ความเป็นไทย" ได้ เขาก็จะถูกพิจารณาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง หรืออย่างน้อยก็ได้รับการดูถูกเหยียดหยาม

๒.
อำนาจรัฐที่รวมศูนย์ รวมทั้ง "พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์" ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน ทำให้จินตนาการ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เป็นแหล่งที่มาของจินตนาการเกี่ยวกับ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทย. คนไทยไม่ได้จินตนาการ "สังคมไทย" ที่แยกออกมาจาก "ชาติไทย" และความหมายของ "วัฒนธรรมไทย" ก็ผูกติดกับ "ความเป็นไทย" ที่ปัญญาชนนิยาม

เช่น "วัฒนธรรมไทย" ได้แก่ การใช้ราชาศัพท์อย่างถูกต้อง การนับถือพุทธศาสนาแบบทางการ การพูดและเขียนภาษาไทยที่ถูกต้องตามมาตรฐาน การยึดมั่นในมารยาทไทย เช่น การกราบ การไหว้ การหมอบคลานอย่างถูกต้องตามแบบแผน เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ได้รับการสืบทอดโดยแทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงในกรอบความคิดหลัก จินตนาการ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" จึงพลอยหยุดนิ่งตามไปด้วย โดยเฉพาะในหมู่นักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ไม่สนใจอ่านผลงานของนักสังคมศาสตร์ และไม่อ่านประวัติศาสตร์ของอาจารย์นิธิ หรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็จะไม่สามารถจะเข้าใจความเปลี่ยนแปลง ความหลากหลาย และความซับซ้อนของสังคมและวัฒนธรรมไทยได้ ทำให้ใช้จินตภาพ"สังคมและวัฒนธรรมไทย"กระแสหลัก มาเป็นฐานในการอธิบายหรือการวิจารณ์ศิลปะและวรรณกรรมไทย

ในการศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ไทย วรรณกรรมไทย และปรัชญาความคิดของไทยนั้น หากปราศจากความเข้าใจอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ในความเปลี่ยนแปลงอันหลากหลายและซับซ้อนของสังคมและวัฒนธรรมไทยแล้ว ก็ยากที่จะศึกษาให้เข้าใจอย่างลุ่มลึกได้

แม้แต่คำว่า "วัฒนธรรม" นักมนุษยศาสตร์จำนวนไม่น้อยก็ยังมองในความหมายที่กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงบัญญัติเอาไว้ คือหมายถึงสิ่งที่แสดงความเจริญงอกงาม สิ่งเจริญตาเจริญใจ หรือ"ภูมิธรรมแห่งความเจริญงอกงาม" เมื่อนักมนุษยศาสตร์มอง "วัฒนธรรม" ในความหมายเช่นนี้ ก็ย่อมจะมีอคติว่าชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีวัฒนธรรม และเชื่อว่าศิลปะและวัฒนธรรมของชนชั้นสูงเป็นตัวแทนของศิลปะและวัฒนธรรมไทยอันดีเลิศของไทย แต่ชาวบ้านนั้นไม่มีศิลปะและวัฒนธรรม ส่งผลให้มีนักมนุษยศาสตร์น้อยคนที่สนใจศึกษาศิลปะ ปรัชญา และวัฒนธรรมของชาวบ้าน

๓.
"ความเป็นไทย" กับ "ความเป็นสากล" ดูเผิน ๆ จะขัดแย้งกัน แต่ในวงวิชาการมนุษยศาสตร์กลับไม่ขัดแย้งกันเลย เพราะสิ่งที่นักมนุษยศาสตร์พยายามจะพิสูจน์ ก็คือ "ความเป็นไทย" ที่แสดงออกในปรัชญา วรรณคดี ภาษา ศาสนา ฯลฯ ของไทย มีลักษณะและคุณค่าที่เป็น "สากล" การศึกษาปรัชญา วรรณคดี ภาษา ศาสนา และประวัติศาสตร์ ฯลฯ ของชาติอื่น ก็เพื่อจะภูมิใจใน "ความเป็นไทย" ได้มากขึ้น เพราะของไทยก็มีดีเทียบได้กับชาติอื่น หรือมีดียิ่งกว่าชาติอื่นเสียอีก

วิธีคิดเช่นนี้ ปรากฏในผลงานของปัญญาชนไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา และมีผลอย่างมากต่อการนิยาม "ความเป็นไทย" ในรัชกาลที่ 6 กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเผชิญปัญหาเรื่อง "คนสมัยใหม่" ที่มักคิดว่าชาติตะวันตกมีอะไรดีกว่าไทยมาก รวมทั้งเชื่อในความคิดแบบตะวันตกว่า ชาติที่ถือว่าเจริญนั้น "ต้องมีอิสรภาพแก่บุคคลทุกคนโดยบริบูรณ์" ซึ่งเป็นความเชื่อที่เป็นอันตรายต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

พระองค์จึงทรงยืนยันอยู่เสมอว่า "เมืองไทยนี้ดี" มาแต่โบราณ และภายใต้การปกครองของพระองค์นั้น "ชาติไทย" ดียิ่งกว่าเดิม ทรงชี้ให้เห็นว่า "ความเป็นไทย" ทั้งหลายนั้น แม้ว่าจะมีลักษณะเฉพาะ แต่ก็มี "วิญญาณ" หรือ"ภูมิธรรม" ที่เป็นสากล และ "ประเพณีประพฤติธรรมจรรยาอย่างแบบไทย" นั้น ไม่ต่างจากของฝรั่ง "เพราะหลักแห่งธรรมย่อมเหมือนกันหมดทั้งโลก"

ภูมิธรรมบางอย่างของไทยยังเหนือกว่าชาติตะวันตกเสียอีก เช่น พุทธศาสนาซึ่ง"เป็นของไทย" นั้น "เป็นศาสนาที่ควรผู้มีสติปัญญาจะนับถือยิ่งกว่าศาสนาอื่น ๆ ...นำเอาแต่ความที่เป็นจริง, ที่รู้จริง, ที่เห็นจริงมาแสดง... พระพุทธเจ้าของเราได้เป็นผู้มีกำเนิดดี สมควรเป็นที่นับถือของเราทั้งหลาย..."

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเน้นด้วยว่า "ความเห็นของข้าพเจ้านั้น มีหลักที่อ้างได้ในพวกนักปราชญ์ ทั้งในทางรัฐศาสตร์และในทางกฎหมายที่เลื่องลือที่สุดในยุโรป" และหลักการที่ทรงเสนอนั้น "ปราชญ์ทุกชาติย่อมยกย่อง"

ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 วิธีคิดที่ว่า ใน "ความเป็นไทย" มีอะไรดีเท่ากับ "สากล" หรือดียิ่งกว่า ยังคงได้รับการสืบทอดอย่างเข้มข้น เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เน้นอยู่เสมอว่า ประชาธิปไตยและเสรีภาพซึ่งมีอยู่แล้วในพุทธศาสนาของไทยนั้นดีกว่าของตะวันตก เพราะระบอบประชาธิปไตยตะวันตกนั้น ผู้นำมักจะไม่สามารถกระทำในสิ่งที่เห็นสมควรเนื่องจากกลัวเสียคะแนนเสียง และเสรีภาพแบบตะวันตกก็ทำให้คนโดดเดี่ยว ว้าเหว่ ในบางกรณีก็ทำให้สังคมปั่นป่วนวุ่นวาย

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เน้นว่า "ชาติไทย" เป็นชาติที่น่าภาคภูมิใจ เพราะสามารถ"รักษาขนบประเพณีตลอดจนศิลปวิทยาการของตนตั้งแต่โบราณเอาไว้ได้จนถึงวันนี้" และการที่ "คนไทยรักษาเอกราชไว้ได้ตลอดมา" ก็ทำให้ "วัฒนธรรม วรรณคดี ตลอดจนศิลปะทุกแขนง จึงมีแต่พัฒนาการมาตามแบบไทย..." ซึ่งน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ในนวนิยาย สี่แผ่นดิน นั้น เมื่อลูกชายของแม่พลอยไปเรียนต่อในยุโรป "มารยาทไทย" ที่แม่พลอยอบรมสั่งสอนก็ช่วยให้เข้าสังคมฝรั่งได้โดยไม่เคอะเขิน

วิธีคิดว่า ใน "ความเป็นไทย" มีอะไรดีเท่ากับ "สากล" นี้ ไม่เคยหายไปจากวงการมนุษยศาสตร์เลย มีความพยายามจะเปรียบเทียบให้เห็นความคล้ายคลึงระหว่าง วรรณกรรมไทยกับวรรณกรรมตะวันตก ในแง่ต่างๆ อยู่เนือง ๆ เพื่อที่จะภาคภูมใจใน "ความเป็นไทย"

การที่วงการศึกษาวรรณคดีหรือวรรณกรรมไทยและภาษาไทย สร้างความรู้ภายใต้วิธีคิด "เมืองไทยนี้ดี" ตลอดมา ยังทำให้การศึกษาเชิงสุนทรียศาสตร์หรือ "สุนทรียภาพ" เป็นการศึกษากระแสหลักสืบมาจนถึงปัจจุบัน เพราะการศึกษาวรรณคดีและวรรณกรรมในเชิงสุนทรียศาสตร์ ทำให้เห็นความสูงส่งหรือเห็นคุณค่าของผลงานทางวรรณคดีและศิลปะของไทย ที่ช่วยยืนยันว่า "เมืองไทยนี้ดี" รวมทั้งช่วยให้เทิดทูนพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีอันสูงค่าไว้ให้คนไทยด้วย ส่วนการศึกษาวรรณกรรมไทยร่วมสมัยในแนวสุนทรียศาสตร์ ก็ช่วยยืนยันให้มั่นใจมากยิ่งขึ้นว่า การสร้างสรรค์ทางวรรณศิลป์ของไทยที่เคยรุ่งเรืองมาแต่โบราณนั้น ยังคงรุ่งเรืองอยู่ในปัจจุบัน เราจึงยังคงภูมิใจได้ว่า "เมืองไทยนี้ดี"

ใน พ.ศ.2530 ไพฑูรย์ ธัญญา เคยวิจารณ์ว่า "สายตาของนักวิชาการทางภาษาที่มาจากอักษรศาสตร์ ส่วนมากก็มักจะมองในเชิงสุนทรีย์กันมากกว่า แต่ถ้ามาจากสาขาอื่น การมองก็จะแตกต่างออกไป" แต่นักมนุษยศาสตร์ก็มีความพยายามจะชี้แจงความหมายและคุณค่าของการศึกษาในแนวนี้ เพื่อให้สามารถศึกษาในแนวสุนทรียศาสตร์ได้อย่างมั่นใจต่อไป เช่น มีการให้ความหมายการศึกษาเชิงสุนทรียศาสตร์ หรือที่เรียกว่า "สุนทรียภาพ" ให้กว้างกว่าการศึกษาองค์ประกอบทางวรรณศิลป์หรือภาษา รูปแบบ หรือกลวิธีการเขียน แต่ให้ครอบคลุม "พลังทางศิลปะ" ที่มีประสิทธิผลในการสื่อสาร หรือเน้นว่าเป็นการศึกษา "ความหมายทั้งหมดของบทประพันธ์ (หรือศิลปะ) ว่าเป็นผลมาจากส่วนประกอบย่อยอย่างไรบ้าง" ซึ่งทำให้ "การศึกษาสุนทรียภาพ...เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นทั้งอารมณ์และปัญญาผู้อ่าน"

อย่างไรก็ตาม "อารมณ์และปัญญา" ประการหนึ่งที่เกิดจากการศึกษาวรรณคดีและภาษาไทยในแนวสุนทรียศาสตร์ ก็น่าจะได้แก่ความรักใน "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" อย่างซาบซึ้งยิ่งขึ้น แต่คงไม่ช่วยกระตุ้นอารมณ์และปัญญาที่จะเข้าใจชีวิต ตลอดจนความนึกคิด และอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่เท่าใดนัก

ตัวอย่างของการวิเคราะห์ศิลปะและวัฒนธรรมของไทย อันมาจากความรักและภาคภูมิใจใน "ความเป็นไทย" ก็คือบทความเรื่อง "จากการวิจารณ์ศิลปะสู่การวิจารณ์ชีวิตและสังคม" ซึ่งผู้เขียนวิเคราะห์ว่า "ในส่วนที่เกี่ยวกับสถานะอันสูงส่งของศิลปะในชีวิตไทยนั้น เรามีตัวอย่างมากมายในศิลปะไทย... ศิลปะขั้นสูง... ความคิดแบบไทยซึ่งอาจเดินไปในทางเดียวกับความคิดเรื่องความเป็นอิสระของศิลปะ (autonomy of the arts) แต่แสดงออกต่างออกไป" และ "ศิลปะขั้นสูงของไทย" นั้น "เป็นพลังที่หนุนเนื่องการสร้างสรรค์มาตลอด" ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการวิจารณ์ เพื่อชี้ให้เห็นความหมายและคุณค่าของศิลปะขั้นสูงที่มีมาแล้วในอดีตที่ผ่านมาของไทย

แน่นอนว่า เมื่อทำการศึกษาในกรอบความคิดข้างต้น ก็ย่อมไม่เห็น "พลังครอบงำ" ของศิลปะและวรรณกรรมไทย ที่ทำให้คนไทยยอมรับโครงสร้างการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่ไม่เป็นธรรม หรืออาจทำให้ผู้ศึกษาถึงกับมอง "พลังครอบงำ" ว่าเป็น "พลังสร้างสรรค์" ที่จรรโลงชีวิตของคนไทยและ "ชาติไทย" ให้ดีงามก็เป็นได้

อนึ่ง ในระยะหลายปีที่ผ่านมา วงการวรรณคดีไทยเริ่มดำเนินการศึกษาวรรณกรรมในเชิงวิจารณ์ ภายใต้แนวคิดว่าศิลปะและและสังคมมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพในการวิจารณ์ชีวิตและสังคม ซึ่งน่าสนใจอย่างมาก แต่การวิจัยในแนวนี้ก็ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เพราะยังไม่ได้ทำการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมไทยอย่างเพียงพอ

เคยมีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับการเมืองอยู่บ้าง แต่เป็นการมอง"การเมือง" ที่เน้นไปที่เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อวรรณกรรม แต่ยังไม่มีการศึกษาว่า พลังทางศิลปะ ภาษา และความคิดในวรรณกรรม มีผลอย่างไรต่อ "วาทกรรม" และ "ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ" ในสังคมไทย

ในด้านการศึกษาภาษาไทย เมื่ออยู่ภายใต้กรอบมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ก็ทำให้นักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่มุ่งอนุรักษ์ภาษาไทยให้ถูกต้องตามแบบแผน โดยมีแนวโน้มที่จะมองความเปลี่ยนแปลงของภาษาไปในแง่ที่เห็นว่า "ภาษาวิบัติ" อีกทั้งไม่สนใจที่จะศึกษาความเปลี่ยนแปลงของภาษามากนัก ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้การศึกษาภาษาไทยมีเสน่ห์แก่ผู้เรียน หรือในการเสริมสร้างศักยภาพทางภาษาของคนไทย ให้สามารถสื่อสารความคิดและความรู้สึกที่ลึกซึ้ง เพื่อพัฒนาความเข้าใจซึ่งกันและกันตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างกันให้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางสังคมและความรู้สึกนึกคิดของคนไทยล้วนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากแล้ว

นอกจากนี้ การให้ความสำคัญแก่ภาษาไทยมาตรฐาน ยังทำให้นักภาษาไทยหรือนักภาษาศาสตร์ส่วนใหญ่ ไม่สนใจวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของภาษาที่คนไทยกลุ่มต่าง ๆ ใช้หรือประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจจิตใจหรืออารมณ์ความรู้สึกของคนกลุ่มนั้น ๆ อย่างละเอียดอ่อนขึ้น เช่น ภาษาของวัยรุ่นในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น

ผลงานที่ศึกษาเกี่ยวกับภาษาไทยอย่างมีพลวัตและมีมิติทางสังคมวัฒนธรรม ส่วนใหญ่กลับเป็นของนักวิชาการที่อยู่นอกแวดวงของนักภาษา เช่น อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์, อาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นต้น เป็นไปได้ว่านักภาษาเองไม่ต้องการแตะต้องความหมายทางการเมือง หรือความสัมพันธ์ทางชนชั้นอันซับซ้อน ที่แฝงอยู่ในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน เพราะจะกระทบต่อจินตภาพ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี"

เพราะตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาแล้ว ที่ชนชั้นนำพยายามทำให้เห็นว่า ในเมืองไทยไม่มีการกดขี่เบียดเบียน และนับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา "ความเสมอภาคและประชาธิปไตย" ก็ได้กลายเป็นอุดมคติของสังคมไทย จนแม้แต่ผู้นำที่ใช้อำนาจเผด็จการอย่างมาก ก็ต้องอ้างอิง "ประชาธิปไตยแบบไทย" ดังนั้น หากนักภาษายอมรับ "ความไม่เสมอภาค"ที่ "ภาษาไทยมาตรฐาน" ช่วยจรรโลงเอาไว้ ก็หมายถึงการตั้งข้อสงสัยต่อมโนทัศน์"ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยดี" นั่นเอง

ดังนั้น นักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่จึงมุ่งหาแต่ "สุนทรียภาพ" และ "อัจฉริยลักษณ์" ของภาษาไทย เมื่อได้พบ "คุณค่า" อย่างใดอย่างหนึ่งของภาษาไทย ก็จะเต็มไปด้วยความยินดีปรีดา เพราะเท่ากับได้ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า "ความเป็นไทย" ทำให้เมืองไทยดี และด้วยความเชื่อมั่นใน "สุนทรียภาพ" "อัจฉริยลักษณ์" และ "คุณค่า" อันสูงส่งของภาษาไทย เมื่อประกอบกับมองความเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยจากทัศนคติที่เห็นว่าเป็น "ภาษาวิบัติ" ก็ทำให้การเรียนการสอนภาษาไทยทุกระดับชั้น เน้นไปที่การถ่ายทอดแบบแผนและกฎเกณฑ์อันถูกต้อง แต่ไม่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างภาษาไทยกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมไทย

อนึ่ง ความเคยชินที่มีต่อการเรียนภาษาไทยในแนวทางที่กล่าวข้างต้น ได้ทำให้การสอนภาษาต่างประเทศในเมืองไทย เน้นไปที่การถ่ายทอดกฎเกณฑ์อันถูกต้องของภาษาต่างประเทศเช่นเดียวกัน นักมนุษยศาสตร์น้อยคนที่สนใจเรียนรู้วัฒนธรรม (หรือระบบความสัมพันธ์) ของเจ้าของภาษาต่างประเทศเหล่านั้น ดังนั้น การสอนภาษาต่างประเทศในเมืองไทยจึงมักไม่สัมพันธ์กับการสอนวรรณคดี ส่วนใหญ่มุ่งให้ผู้เรียนสามารถจะใช้ภาษาเพื่อทำงานเป็นเลขานุการหรือเป็นล่าม มิใช่ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงวัฒนธรรมอันซับซ้อนและศิลปะวิทยาการอันลุ่มลึกที่มีอยู่ในภาษาที่ตนได้เรียนรู้

การศึกษาภาษาต่างประเทศจึงไม่ช่วยพัฒนาศักยภาพในการมองชีวิตและสังคมจากมุมมองอื่นๆ นอกเหนือไปจากมุมมองที่ตนเคยชิน และไม่เป็นรากฐานให้แก่การสร้างความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ ระหว่างคนที่มาจากต่างวัฒนธรรมเท่าที่ควร

๔.
นักมนุษยศาสตร์ส่วนหนึ่งคิดว่า การศึกษามนุษยศาสตร์นั้น ไม่ต้องมีวิธีวิทยา เพราะ "สำคัญที่ใจ" หาก "ใจ" ของผู้ศึกษาสัมผัส "ความจริง ความดี ความงาม" ได้แค่ไหน ก็วิเคราะห์ออกมาเท่าที่ "ใจ" ได้สัมผัสไปถึง แต่นักมนุษยศาสตร์ไม่ตระหนักว่า ในฐานะที่เติบโตขึ้นมาในรัฐไทยนั้น "ใจ" ของตนได้ถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาโดยรัฐไทยอย่างเข้มข้นตั้งแต่ยังเล็ก จนเชื่ออย่างปราศจากข้อสงสัย ว่า "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ความไม่ตระหนักเช่นนี้ ทำให้ "ใจ" ของนักมนุษยศาสตร์ มักจะฟุ้งซ่านไปในแง่ที่อยากเห็น "เมืองไทยนี้ดี" อยู่ร่ำไป จนพยายามมองหา "ความจริง ความดี ความงาม" ของศิลปะและวัฒนธรรมไทย เพื่อจะภาคภูมิใจใน "ความเป็นไทย" ต่อไป

แต่นักมนุษยศาสตร์มองไม่เห็น หรือไม่สนใจจะมองมิติที่ศิลปะและวัฒนธรรมเหล่านั้น มีส่วนในการสถาปนาและสืบทอดมาตรฐานของ "ความจริง ความดี ความงาม" ที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐและต่อคนส่วนน้อยในสังคม แต่ทำให้คนส่วนใหญ่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และมองไม่เห็นความขัดแย้งหรือความตึงเครียดที่มีอยู่ทั้งในความรู้สึกนึกคิดและในความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งหากศึกษาโดยไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ก็จะมองเห็นได้ไม่ยาก และจะช่วยสร้างทางเลือกให้แก่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความตึงเครียดในชีวิตและในสังคมได้มากทีเดียว

แม้แต่เมื่อสลัดพ้นจากการครอบงำของมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี"แล้ว นักมนุษยศาสตร์ก็ยังต้องพัฒนาศักยภาพของ "ใจ" ตนเอง ให้มี "วิสัยทัศน์" และความอ่อนไหว ในการเข้าใจมนุษย์และสังคม และมีความสามารถที่จะมองชีวิตและมองโลกจากหลากหลายแง่มุม เพื่อที่ "ใจ" จะสามารถสัมผัสถึง "ความจริง ความดี ความงาม" อันหลากหลายและซับซ้อนลุ่มลึกได้ มิฉะนั้นก็อาจเสี่ยงต่อการมองหรือการประเมินคุณค่าวรรณกรรมและศิลปะอย่างตื้นเขินหรือผิดพลาด แต่นักมนุษยศาสตร์มักเคยชินที่จะใช้ "ใจ" ในการมองหา "ความจริง ความดี ความงาม" ในงานวรรณกรรมและศิลปะที่ตนศึกษา โดยนำระบบคุณค่าที่ตนยึดถือเข้าไปค้นหา และมักจะไม่คำนึงถึงระบบคุณค่าในยุคที่วรรณกรรมหรือศิลปะถูกสร้าง

จนถึงปัจจุบัน นักวรรณคดีวิจารณ์บางท่าน ก็ยังมุ่งสร้างความตระหนักในคุณค่าของวรรณกรรมไทย ในแง่ที่วรรณกรรมช่วยเสริมสร้าง "คุณธรรมดี ๆ " หรือ "ความศรัทธาดี ๆ " ให้เกิดขึ้น ซึ่งแม้ไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่ผิด แต่ปัญหาก็คือ "คุณธรรมดี ๆ " หรือ "ความศรัทธาดี ๆ " ที่ได้ "ค้นพบ" นั้น "นักมนุษยศาสตร์ผู้ค้นพบ" ตระหนักหรือไม่ว่า ใครเป็นผู้สร้างความหมายของ "ความดี" ดังกล่าว และ "คุณธรรมดี ๆ " กับ "ความศรัทธาดี ๆ " เหล่านั้น สร้างความได้เปรียบและเสียเปรียบให้แก่ใครในสังคมไทยอย่างไรบ้าง

นักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่มิได้ตระหนักว่า "คุณธรรมดี ๆ " หรือ "ความศรัทธาดี ๆ" หลายประการในกรอบมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" กระแสหลัก ก่อให้เกิดความอยุติธรรมทางสังคมมาแล้วนับไม่ถ้วน เช่น ความเป็นคนที่"รู้ที่ต่ำที่สูง" ความมีศรัทธาในความสูงส่งดีงามที่มีอยู่ในศิลปะไทยและวัฒนธรรมไทยแบบชนชั้นสูง(และเหยียดหยามศิลปะ วรรณกรรม และวัฒนธรรมของชาวบ้าน) ความสามัคคีที่ไม่ยอมให้มีความแตกต่างทางความคิด ฯลฯ ความไม่เป็นธรรมและความอยุติธรรมที่เกิดจาก "คุณธรรมดี ๆ " และ "ความศรัทธาดี ๆ" เหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้คนต่างชั้นกันและต่างชาติพันธุ์กันเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ไม่เท่าเทียมกันเท่านั้น แต่ยังทำให้คนมีสิทธิที่จะนิยามและเข้าถึง "ความจริง ความดี ความงาม" ไม่เท่าเทียมกันอีกด้วย

เนื่องจากนักมนุษยศาสตร์เชื่อว่า "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" จึงมักไม่สนใจปัญหาความไม่เป็นธรรมหรือความอยุติธรรมในสังคม และไม่ค่อยมีการศึกษาวรรณกรรม ภาษา และศิลปะ ในแง่มุมของปัญหาชีวิตและสังคมที่มาจาก "คุณค่า" ต่าง ๆ เหล่านั้น สิ่งที่ค้นพบมักได้แก่ "ภูมิปัญญาที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมไทย" ซึ่งตอกย้ำว่า "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี"

ความสามารถในการวิเคราะห์วรรณกรรมที่นักมนุษยศาสตร์มีอยู่ หากนำไปใช้วิในการเคราะห์ในแง่มุมอื่น ๆ ด้วยคำถามอื่น ก็คงเป็นประโยชน์แก่สังคมมากทีเดียว เช่น หากวิเคราะห์ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างอิเหนากับ วิหยาสะกำ และจรกา และความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเหล่านี้กับตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องอิเหนา ก็จะมองเห็นถึงความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาค ทั้งระหว่างชนชั้น ชาติพันธุ์ เพศ และวัย ได้ชัดเจน และจะช่วยให้เข้าใจต่อไปด้วยว่า เมื่อวรรณคดีเรื่องนี้กลายเป็นหนังสือบังคับอ่านสำหรับนักเรียนนักศึกษา ที่ผู้สอนพากันเน้นเฉพาะการวิเคราะห์เชิงสุนทรียศาสตร์ และเน้นการปลูกฝัง "คุณธรรมดี ๆ" ที่มีอยู่ในวรรณคดีเรื่องนี้ ตามที่ "ใจ" ของผู้สอนได้สัมผัส โดยไม่ชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจว่าทั้งหมดนั้นเป็น "ความงาม" และ "คุณธรรม" ในระบอบราชาธิปไตย มิใช่ประชาธิปไตย ผลที่จะตามมาก็คือ การทำให้ "คุณธรรมของสังคมที่ไม่เสมอภาค" ยังคงมีพลังสืบต่อไปนั่นเอง

ตรงกันข้าม หากนักมนุษยศาสตร์ตระหนักว่า "คุณธรรม" ในวรรณคดีเรื่องอิเหนา เป็น"คุณธรรมของสังคมที่ไม่เสมอภาค" ก็จะนำไปสู่การตั้งคำถามและการหาคำตอบว่า เมื่อสังคมเปลี่ยนไปแล้ว ควรจะนำ"คุณธรรมดี ๆ" ที่เป็นมรดกตกทอดมาสู่ปัจจุบันนั้น มาปรับเปลี่ยนหรือสร้างความหมายใหม่หรือไม่อย่างไร และมีคุณธรรมอะไรอีกบ้าง ที่จำเป็นสำหรับชีวิตคนไทยในสังคมปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งจำเป็นต่อระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งยังไม่มีพลังอยู่ในสังคมไทย และจะต้องหาทางพัฒนาขึ้นมาในความรู้สึกนึกคิดของคนไทย ซึ่งการสร้างศิลปะและวรรณกรรมตลอดจนการวิจารณ์ศิลปะและวรรณกรรม น่าจะมีส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนาพลังทางจิตใจและทางปัญญาของคนไทย ให้กอปรไปด้วย "คุณธรรมดี ๆ" แบบใหม่นี้ เพื่อแทนที่พลังทางจิตใจและทางปัญญาบนรากฐานของ "คุณธรรมดี ๆ" จากอดีต ที่บางอย่างอาจไม่มีประโยชน์อีกแล้วในสังคมปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของ "โครงสร้างความรุนแรง" ในสังคมไทยเสียด้วยซ้ำ

ควรกล่าวด้วยว่า การมุ่งค้นหา "คุณค่าในเชิงบวก" ของวรรณกรรมและศิลปะไทยโดยไม่สนใจบริบททางสังคมนั้น นอกจากจะทำให้ตัดสินคุณค่าของวรรณกรรมและศิลปะไทยจาก "ใจ" หรือจากจุดยืนที่ตนเคยชินแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะตัดสินผลงานบางเรื่องที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ตนยึดถือว่าเป็นผลงานที่ "ขาดศิลปะ" และทำให้ขาดความใส่ใจที่จะวิเคราะห์วรรณกรรมหรือศิลปะที่ "ขาดศิลปะ" เหล่านั้น ซึ่งแม้ว่าจะ "ขาดศิลปะ" จริง แต่ก็อาจสะท้อนความคิดหรืออารมณ์ความรู้สึกของคนบางกลุ่มในสังคมได้ดี หากทำการศึกษางานวรรณกรรมและศิลปะดังกล่าวด้วยมุมมองใหม่ และด้วยคำถามที่ดีก็น่าจะช่วยให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของคนหลายกลุ่มในสังคมไทยได้ดีขึ้น ซึ่งความรู้เช่นนี้จำเป็นต่อการปรับตัวของคนไทยเหล่านั้นตลอดจนจำเป็นต่อการปรับตัวของสังคมไทยโดยรวม นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ในแง่ที่ทำให้คนไทยต่างกลุ่มกันได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้นด้วย

ที่สำคัญ มุมมองใหม่และคำถามใหม่ของนักมนุษยศาสตร์ อาจจะช่วยให้เข้าใจปัญหาชีวิตและปัญหาสังคมในมิติที่แตกต่างออกจากความรู้ที่นักสังคมศาสตร์แขนงต่างๆ ได้สร้างมาแล้ว เพราะจะเป็นองค์ความรู้ที่มาจากวิธีคิดและวิธีวิทยาแบบมนุษยศาสตร์ ซึ่งหากนักมนุษยศาสตร์หลุดพ้นจากการครอบงำของมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ไปแล้ว และได้พัฒนา "ใจ" ของตนให้เปิดกว้างและรอบรู้แล้ว ก็จะมีโอกาสสร้างความรู้ด้วยจินตนาการอันไร้ขีดจำกัด โดยไม่ถูกจำกัดเอาไว้ด้วยกรอบทฤษฎีใด ๆ เพราะสำหรับนักมนุษยศาสตร์แล้ว ทฤษฎีจะเป็นเพียงเครื่องมือในการตั้งคำถามต่อข้อมูลหรือต่อ "ตัวบท" ส่วนคำตอบนั้นย่อมจะมาจากจินตนาการของนักมนุษยศาสตร์เอง ที่จะใช้ "ใจ" หรือสติปัญญาและอารมณ์ความรู้สึกของตน ในการสนทนากับข้อมูลหรือ "ตัวบท" ที่อยู่ในมือ

๕.
นักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่รังเกียจการเมือง เห็นการเมืองสกปรก เน้น"คุณค่าความเป็นมนุษย์" แบบที่ไม่ได้มองว่า "มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง" ไม่ต้องการให้การเมืองมาแปดเปื้อนความรู้ทางมนุษยศาสตร์ นักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่ต้องการให้สร้างและศึกษาหาความรู้ทางมนุษยศาสตร์แบบปลอดจากการเมืองหรือ "ไม่มีการเมือง" โดยเชื่อว่าจะสามารถสร้างสรรค์ "ความจริง ความดี ความงาม" อันสูงส่งขึ้นมา และเชื่อว่ายิ่งเข้าถึง "ความจริง ความดี ความงาม" อันสูงส่งแบบ "ไม่มีการเมือง" ได้มากเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้ "ความเป็นมนุษย์" สูงส่งขึ้นเท่านั้น นักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่คิดว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจมีอยู่ในทุก ๆ ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์

นักมนุษยศาสตร์ทั่วไปเข้าใจผิดว่า การสร้างความรู้เกี่ยวกับ "ความจริง ความดี ความงาม" ของตน ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการเมือง หรือสามารถศึกษามนุษยศาสตร์โดยไม่เกี่ยวกับการเมือง และคิดว่าตนสามารถศึกษาอย่าง "เป็นกลาง" นักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่มองศิลปะและวรรณกรรมโดยไม่เคยตั้งคำถามว่า ผลงานเหล่านั้นเกิดขึ้นภายใต้การมอง "ความจริง ความดี ความงาม" จากมุมมองแบบไหน และมุมมองนั้น ๆ จรรโลงโครงสร้างการเมืองและสังคมเช่นใด โครงสร้างการเมืองและสังคมเช่นนั้นส่งผลร้ายต่อมนุษย์ สังคมและธรรมชาติอย่างไรบ้าง จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมอง "ความจริง ความดี ความงาม" จากมุมมองใหม่ เพื่อเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรมมากขึ้น

ตราบใดที่นักมนุษยศาสตร์ยังคงสร้างความรู้ภายใต้กรอบมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ก็เท่ากับนักมนุษยศาสตร์กำลังต้องการจรรโลงโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ และโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น ซึ่งส่งผลให้คนไทยเข้าถึงทรัพยากรทั้งปวงอย่างไม่เสมอภาค รวมทั้งเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับ "ความจริง ความดี และความงาม" อย่างไม่เสมอภาคกัน และขาดโอกาสที่จะนิยามความหมายของ "ความจริง ความดี และความงาม" อย่างเสมอภาคกันด้วย

๖.
เป็นที่น่าสังเกตว่า การมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่ยึดมั่นเทิดทูน "ความเป็นไทย" แบบกระแสหลัก ก็อาจสร้างความรู้ที่ลึกซึ้งได้ โดยมีความกล้าหาญทางจริยธรรมและมีปัญญาญาณมากเพียงพอที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนต้องการอนุรักษ์อย่างเต็มที่ เพราะหากนักมนุษยศาสตร์ส่วนหนึ่งสามารถสร้างความรู้แบบกระแสหลักให้ลึกซึ้ง ก็จะช่วยสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการ และเพิ่มความหลากหลายและความมั่งคั่งทางความคิดและความรู้ให้แก่สังคมไทยได้มาก

อย่างไรก็ตาม นักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่ของไทยเป็นคนชั้นกลาง ที่มิได้มีความรักในความรู้มากเพียงพอที่จะติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างจริงจัง ดังที่กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้เป็นนัยว่า "ผู้ที่ไม่มีภูมิศึกษาก็มักชอบเรื่องโศกนาฏกรรม เพราะเขาได้ใช้ความรู้สึกของเขา ผู้ที่มีภูมิศึกษาแล้ว ก็ชอบเรื่องโศกนาฏกรรม เพราะได้รับคติข้อความรู้และความนึกคิด แต่ผู้ที่มีภูมิศึกษาเพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ นั่นแหละ ไม่ชอบโศกนาฏกรรม เพราะมักจะพอใจในทำนองชีวิตประจำวันว่าเป็นสิ่งมั่นคงและดีอยู่แล้ว"

เป็นไปได้ว่า การครอบงำของมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ซึ่งทำให้คำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตและสังคมมีคำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนและแน่นอนตายตัวอยู่แล้ว เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนชั้นกลางที่เป็นนักวิชาการมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่ ไม่ชอบหรือไม่พยายามที่จะใช้ทั้งปัญญาและความรู้สึกในระดับลึก และเมื่อพูดถึงจิตใจและความรู้สึกของตัวละครในวรรณกรรม ก็มักมองในแง่ความรู้สึกที่เป็นสากล หรือที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ไม่นึกถึงความสลับซับซ้อนของจิตใจและความรู้สึกในแง่ที่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม ซึ่งจะต้องทำการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคมและวัฒนธรรมอย่างชัดเจน

ถึงแม้ว่านักมนุษยศาสตร์บางกลุ่มจะเชื่อว่า "ตัวบท" ที่ตนศึกษานั้น สามารถมองอย่างเป็นอิสระทั้งจากผู้สร้างและบริบททางสังคมของผู้สร้าง โดยผู้เสพย์และผู้วิจารณ์มีอิสระเต็มที่ในการสัมผัสกับศิลปะจากมุมมองของตน แต่ผู้เสพย์และผู้วิจารณ์ศิลปะ ก็ควรตระหนักด้วยว่าความคิดและอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ในศิลปะที่ตนเสพย์นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็น "วัฒนธรรม" มิใช่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เช่น เมื่อวรรณกรรมหนึ่ง ๆ มีเรื่องราวเกี่ยวกับ "ความรัก" ก็ต้องเข้าใจ "ความรัก" ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมด้วย แทนที่จะศึกษา "ความรัก" เฉพาะในฐานะที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เข้าใจความรู้สึก "รัก" ของตัวละครผิดพลาดหรือไม่ลึกซึ้งเพียงพอที่จะเข้าใจความซับซ้อนของมนุษย์หรือปัญหาของมนุษย์

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า การตกอยู่ภายใต้กรอบมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ"ความเป็นไทย" ทำให้คนชั้นกลางพอใจโครงสร้างสังคมที่มีอยู่แล้ว ความมั่นคงในชีวิตตามทัศนะชนชั้นกลางขึ้นอยู่กับการทำบุญและความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (รวมทั้งการเข้าสู่ "ลัทธิเสด็จพ่อ ร.5") กับความสามัคคีภายในชาติ ตลอดจนการยึดมั่นใน"ความเป็นไทย" ทั้งหลาย

คนชั้นกลางไม่มีจินตนาการว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา และไม่ให้ความสำคัญแก่กระบวนการในระบอบประชาธิปไตยที่จะช่วยจัดการกับความขัดแย้งให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังมองการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movements) ว่าเป็นการแตกสามัคคีและการสร้างความวุ่นวายไร้ระเบียบ คนชั้นกลางต้องการ "ผู้นำแบบไทย" และ "พระมหากษัตริย์" ที่จะช่วยแก้ปัญหา ไม่คิดว่าทุก ๆ คนในสังคมต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น และนักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ไม่คิดว่าตนเองมีหน้าที่โดยตรงในการสร้างความรู้ทางมนุษยศาสตร์ ที่จะใช้เป็นฐานสำหรับการแก้ปัญหาเกี่ยวกับความคิด จิตใจ และอารมณ์ความรู้สึก ที่มีผลต่อปัญหาชีวิตและปัญหาสังคม หรือสร้างความรู้เพื่อเปิดทางเลือกใหม่ ๆ ให้แก่คนไทยและสังคมไทย

๗.
ถึงแม้ว่าการศึกษาวรรณคดีแบบหลังสมัยใหม่จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในวงวิชาการมนุษยศาสตร์ แต่นักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่นั้น ยังไม่ได้นำเอาความคิดแบบหลังสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการตั้งคำถามกับ "ตัวบท" ที่ตนศึกษา ขณะเดียวกันการศึกษาในแนวเดิมที่ต้องการเชื่อมโยง "ตัวบท" เข้ากับสังคมและวัฒนธรรม ผู้ศึกษาก็ยังไม่ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทของ "ตัวบท" และบริบทของ "ผู้สร้างตัวบท" อย่างเพียงพอ

แน่นอนว่า การศึกษาหรือวิจารณ์ศิลปะและวรรณกรรมไทยโดยไม่เชื่อมโยง "ตัวบท" เข้ากับ "บริบท" เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ แต่ผู้วิจารณ์จะต้องพัฒนา "ใจ" หรือวิสัยทัศน์และญาณทัศนะของตนให้แหลมคมเพียงพอ จนสามารถมองเรื่องหนึ่ง ๆ ได้ทะลุปรุโปร่ง หรือมองได้จากหลากหลายมุมมอง จนเห็นสิ่งที่คนทั่วไปมองไม่เห็น ขณะเดียวกันก็ต้องมีความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมไทยนอกกรอบมโนทัศน์ "ชาติไทย" "ความเป็นไทย" และจะต้องเข้าใจความแตกต่างหลากหลายและความซับซ้อนของมนุษย์ให้มากพอด้วย จึงจะสามารถเข้าใจ "สาร" ที่สื่อผ่านศิลปะและวรรณกรรมได้อย่างลึกซึ้งและรอบด้านกว่าคนอื่น ๆ จนผลการศึกษาสามารถเสริมสร้างวิจารณญาณให้แก่ผู้อื่นได้อย่างแท้จริง

ความผิดพลาดในการวิจารณ์วรรณกรรมนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการตั้งคำถาม เป็นต้นว่า ตั้งคำถามต่อนักเขียนวรรณกรรมว่า "ถ้าความยากจนเป็นศัตรูของประชาชน ความยากจนก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ที่กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน... แล้วมนุษย์ตนนั้นอยู่ที่ไหน?" คำถามเช่นนี้แสดงว่าผู้วิจารณ์ไม่ได้นึกถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง หรือวัฒนธรรม

หรือการวิจารณ์เรื่องสั้น "แล้วหญ้าแพรกก็แหลกลาญ" ของอัศศิริ ธรรมโชติ โดยตีความว่าตัวละครเอกทั้งสองตัวในเรื่องนี้ว่า มีความจงรักภักดีต่อนาย "อย่างไร้เหตุผล" อันสะท้อนให้เห็นว่า ศัตรูของประชาชนก็คือ "ความคิดความเชื่อที่โง่งมงาย" ซึ่งมีนัยว่าการแก้ปัญหาของประชาชนอยู่ที่การให้การศึกษา เพื่อทำให้ประชาชนหลุดพ้นจาก "ความคิดความเชื่อที่โง่งมงาย" นั่นเอง การวิจารณ์เช่นนี้ เท่ากับว่าผู้วิจารณ์กำลังสืบทอดอัตลักษณ์ของประชาชนที่ปัญญาชนกระแสหลักได้สถาปนาเอาไว้ นั่นก็คือประชาชนตกอยู่ในวัฏจักร "โง่-จน-เจ็บ" ซึ่งทำให้ประชาชนสมควรจะอยู่ในฐานะของคนไร้อำนาจใน "ชาติไทย" และจะต้องฝากชะตากรรมเอาไว้ในมือ "ผู้นำแบบไทย" กับ "พระมหากษัตริย์ไทย" ตลอดไป จนกว่าประชาชนจะมีการศึกษาดีขึ้นและฉลาดขึ้น

หากผู้วิจารณ์สนใจความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ซึ่งเคยเป็นความสัมพันธ์หลักในสังคมไทยมาช้านาน ก็อาจมองเห็นได้ว่า วรรณกรรม "แล้วหญ้าแพรกก็แหลกลาญ" กำลังวิพากษ์อุดมการณ์ของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ที่ทำให้ความขัดแย้งในระหว่างผู้อุปถัมภ์ (หรือความขัดแย้งในกลุ่มชนชั้นนำด้วยกัน) ส่งผลกระทบต่อผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ถึงระดับ "แหลกลาญ" โดยที่ "ผู้อุปถัมภ์" ทั้งหลาย ต่างยังคงมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย (คล้าย ๆ กรณีรัฐประหาร 19 กันยาน2549 ???)

และหากผู้วิจารณ์เข้าใจ "ความเป็นไทย" กระแสหลักมากพอก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า "ความเป็นไทย" นั้นเอง ที่มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังอุดมการณ์ หรือศีลธรรมของระบบอุปถัมภ์ โดยเฉพาะวรรณกรรมไทยและพุทธศาสนาแบบโลกียธรรม ดังนั้น คนที่ปฏิบัติตามคุณธรรมของระบบอุปถัมภ์จึงมิใช่คนที่ "โง่งมงาย" แต่คือคนที่ถูกครอบงำทางความคิด ซึ่งความรู้ทางมนุษยศาสตร์ควรทำหน้าที่ทำลายการครอบงำทางความคิด เพื่อให้คนมีอิสรภาพอย่างแท้จริง

๘.
การศึกษาวิชาสังคม วรรณคดี และภาษาไทยในโรงเรียน ซึ่งตกอยู่ภายใต้การครอบงำของมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี"อย่างลึกซึ้งยาวนาน มีผลทำให้นักเรียนที่มีปัญญา มีความอ่อนไหว และมีจินตนาการสูง พากันปฏิเสธวิชามนุษยศาสตร์ ซึ่งทำให้วงวิชาการมนุษยศาสตร์มี "คนเก่ง" เข้ามาเป็นนักวิชาการน้อยกว่าสาชาวิชาอื่น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตมนุษยศาสตร์

๙.
ประเด็นสุดท้ายที่จะกล่าวในที่นี้ ก็คือ มีบางคนได้วิเคราะห์(ลับหลังเฟมินิสต์) ว่าเหตุที่ความรู้ทางมนุษยศาสตร์อ่อนแอและไร้จินตนาการ ก็เนื่องจากนักวิชาการมนุษยศาสตร์เต็มไปด้วยผู้หญิง แต่การวิเคราะห์เช่นนี้จะฟังไม่ขึ้นเลย หากมองไปที่วงการสงฆ์ซึ่งมีแต่ผู้ชาย แต่ก็ตกอยู่ในสภาพ "วิกฤต" ไม่น้อยไปกว่ามนุษยศาสตร์

เป็นไปได้ว่า ทั้งปัญหาวิกฤตมนุษยศาสตร์และวิกฤตพุทธศาสนา มิใช่ปัญหาเรื่องเพศชายหรือเพศหญิง แต่ทั้งผู้หญิงและพระสงฆ์ในวัฒนธรรมไทยต่างถูกกระแสความคิด "ชาติไทย" "ความเป็นไทย" กำหนดให้เป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมกระแสหลัก คือวัฒนธรรมแบบรู้ที่ต่ำที่สูง วัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม วัฒนธรรมที่เน้นความอ่อนช้อยแบบชนชั้นสูงและดูหมิ่นวัฒนธรรมชาวบ้าน ดังนั้น ผู้หญิงและพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในสังคมไทยจึงยากที่จะเป็นนักมนุษยศาสตร์และนักคิดทางศาสนาที่ก้าวหน้าได้ หากนักมนุษยศาสตร์คิดอะไร "นอกกรอบ" ก็จะกลายเป็น "คนอื่น" (the other) ไปในทันที ซึ่งแน่นอนว่าทำให้มีชีวิตอยู่ในวงวิชาการมนุษยศาสตร์อย่างเจ็บปวด

ดังนั้น การปลดปล่อยมนุษยศาสตร์และพุทธศาสนา จึงต้องปลดปล่อยสังคมไทย ปลดปล่อยผู้หญิง และปลดปล่อยพระสงฆ์ทั้งหลาย ให้หลุดพ้นจากมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" กระแสหลัก ไปพร้อมกัน

มองอดีตเพื่อก้าวไปข้างหน้าและหาทางออกจากวิกฤต
เท่าที่กล่าวมาแล้ว อาจสรุปได้ว่า วิกฤตของมนุษยศาสตร์เป็นวิกฤตของวิธีคิด ซึ่งส่วนสำคัญส่วนหนึ่งมาจากวิธีคิดและมุมมองที่อยู่ในกรอบมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" อันเป็นวิธีคิดและมุมมองที่คับแคบเกินกว่าจะเข้าใจมนุษย์และสังคมไทย ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว จนชีวิตและสังคมเต็มไปด้วยความหลากหลายซับซ้อน (รวมทั้งปัญหาของชีวิตและสังคมก็มีความหลากหลายและซับซ้อนตามไปด้วย)

นักมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่มุ่งแต่จะเข้าถึง "ความจริง ความดี ความงาม" แบบไทยหรือแบบสากล (ที่ "ความเป็นไทย" ก็มี "ความเป็นสากล" หรือมีสิ่งดี ๆ "เทียบเท่ากับสากล--อย่างน่าภาคภูมิใจ) ดังนั้น นักมนุษยศาสตร์ จึงมักศึกษาวรรณกรรมและศิลปะไทย เพื่อค้นหาคุณค่าของ "ความเป็นไทย" ที่ตกทอดมาแต่โบราณ (ซึ่งหยุดนิ่งตายตัว) หรืออาจจะพยายามแสดงให้เห็นว่า "ความเป็นไทย" นั้นมี "ความเป็นสากล" ก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในแบบใดก็ตาม ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อยืนยันว่า "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ทั้งสิ้น

ผลงานวิจัยแบบที่ช่วยให้ผู้อ่านหรือผู้เรียน ได้พัฒนาความรู้สึกนึกคิดให้แหลมคมและละเอียดอ่อนจึงมีอยู่น้อย แม้ในระยะหลังจะมีการมองวรรณกรรมจากแง่มุมใหม่ ๆ มากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับการมองตามกรอบทฤษฎี หรือการพิสูจน์ทฤษฎี หากมีความยืดหยุ่นหรือการพลิกแพลงในการวิเคราะห์และอธิบาย ผลงานของนักมนุษยศาสตร์ก็จะมีเสน่ห์ขึ้นมากทีเดียว

มโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ทำให้มนุษยศาสตร์ไทยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่การจรรโลงจิตใจที่เข้าถึง "ความจริง ความดี ความงาม" โดยปราศจากจินตนาการที่จะตั้งคำถามว่า ใครคือผู้นิยาม "ความจริง ความดี ความงาม" นั้น ๆ จึงสร้างความรู้เพื่ออนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทยในฐานะ "ความดีและความงามแห่งชาติไทย" หากนักมนุษยศาสตร์ไทยพยายามสร้างความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทย วัฒนธรรมไทย และศิลปะไทย ให้ตอบสนองต่อพลวัตทรงเศรษฐกิจและการเมือง ในวิถีทางที่เอื้อให้คนไทยมีความเสมอภาคมากขึ้น และทำให้คนทุกคนมีโอกาสกับเสรีภาพในการเข้าถึง "ความจริง ความดี ความงาม" ตามความใฝ่ฝันของแต่ละคน จนสามารถบรรลุความสงบสุขในชีวิตพร้อมไปกับการมีชีวิตที่มีคุณค่าต่อสังคมอย่างเต็มตามศักยภาพ ก็จะส่งผลดีเป็นอย่างยิ่ง

หากวงวิชาการมนุษยศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลงตนเองมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น โดยปรับเปลี่ยน "ความเป็นไทย" ให้มีพลวัตเพียงพอที่จะตอบสนองคนทุกกลุ่มที่ประกอบกันขึ้นเป็น "สังคมไทย" อย่างทันท่วงทีแล้ว กระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งส่งผลให้สำนึกปัจเจกชนของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้คนไทยขาดความสำนึกในความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับคนอื่น กับสังคมไทยและกับมนุษยชาติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คนไทยแต่ละคนก็จะทำทุกอย่างให้ตัวเองอยู่รอดโดย มีอัตลักษณ์ที่ลื่นไหลไปตามความจำเป็นเฉพาะหน้า

เมื่อถึงตอนนั้น "ความเป็นไทย" ที่วงการมนุษยศาสตร์มอบให้ ก็จะเป็นเพียง "ความจริง ความดี ความงาม" ที่น่าเบื่อหน่ายที่ถูกบังคับให้เรียน ให้ภาคภูมิใจ และให้ยึดมั่นหวงแหนโดยที่ไม่รู้ว่าจะเอา "ความเป็นไทย" ไปวางไว้ตรงไหน ในวิถีชีวิตที่แทบจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ "ความเป็นไทย" อีกแล้ว นอกจากเอาไว้ขายนักท่องเที่ยว หรือขายให้แก่คนไทยที่ยังมีความต้องการที่จะบริโภค "ความเป็นไทย" เป็นครั้งคราว ซึ่งในปัจจุบันเวลาเช่นนั้นก็เริ่มปรากฏให้เห็นมากแล้ว อันทำให้ "ความเป็นไทย" มีลักษณะดังที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระได้วิเคราะห์ไว้ในบทความ "บริโภคความเป็นไทย" อย่างน่าสนใจว่า

"ความเป็นไทย....ได้ถูกลดทอนลงให้เหลือเป็นเพียงเครื่องหมายหรือเปลือกปลอกสัญลักษณ์ที่ตายซาก กลวงเปล่า และล่องลอยอิสระ ซึ่งสินค้าชนิดใด ๆ ก็สามารถเข้ามาสวมเสียบได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะไทยหรือไม่ไทย"

จำเป็นอย่างยิ่งที่นักมนุษยศาสตร์จะต้องปรับเปลี่ยนความหมายของ "ความเป็นไทย" ให้ตอบสนองปัญหาชีวิตและปัญหาสังคมปัจจุบัน และยุติการใช้วิธีคิด "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" แบบเดิม อันจะส่งผลให้ความรู้ทางมนุษยศาสตร์สามารถกระตุ้นให้คนกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ เพราะ "ความจริง ความดี ความงาม" มิได้มีความหมายเดียวและมิได้หยุดนิ่งตายตัว ที่ทุกคนต้องท่องจำให้ขึ้นใจ แต่มีความหมายที่แตกต่างหลากหลาย
จนแต่ละคนต้องครุ่นคิดอย่างจริงจัง ต้องรู้สึกอย่างลึกซึ้งละเอียดอ่อน และต้องแสวงหาอย่างไม่สิ้นสุด

ขณะเดียวกัน การคิดนอกกรอบ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ที่ทำให้ตระหนักอย่างเพียงพอว่า "มิติด้านพื้นที่ เวลา และความเป็นจริงเปลี่ยนไป เมื่อเราเปลี่ยนจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่ง" ก็จะทำให้เรามีความเคารพต่อคนในวัฒนธรรมอื่น วิธีคิดที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายนี้ สำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์ ที่จะเกิดสังคมแยกย่อย (fragmented societies) ขึ้นมากมาย และคนไทยจะมีจิตสำนึกปัจเจกชนเข้มข้นขึ้น ซึ่งความแตกต่างหลากหลายทางความคิดย่อมจะตามมาอย่างไพศาล

หากไม่สามารถสร้าง "ความรู้ทางมนุษยศาสตร์" ที่ช่วยให้เราคิดได้มากขึ้นและรู้สึกได้มากขึ้น จนทำให้เรามีขันติธรรมและสันติธรรมอย่างมีปัญญา และจิตใจที่เคารพในความแตกต่าง และไม่สามารถเสริมสร้างวิธีคิดและวิธีรู้สึกที่เอื้อให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมและมนุษย์ วิชามนุษยศาสตร์ก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่อีกต่อไป

ในขณะที่วิกฤตมนุษยศาสตร์เป็นวิกฤตของวิธีคิดและวิธีรู้สึก พลังของมนุษยศาสตร์ก็อยู่ที่วิธีคิดและวิธีรู้สึกเช่นเดียวกัน มนุษยศาสตร์จะต้องพัฒนาวิธีคิดและวิธีรู้สึกเพื่อจะสร้างความรู้ที่ส่งเสริมให้ทุกคนมีอิสรภาพและมีความสามารถที่จะเลือกสิ่งที่ "ถูกต้องที่สุด ดีที่สุด และงามที่สุด" ด้วยตนเองตลอดไป


คลิกไปอ่านต่อบทความถอดเทปเกี่ยวเนื่อง 1058

 


 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

หากไม่สามารถสร้าง "ความรู้ทางมนุษยศาสตร์" ที่ช่วยให้เราคิดได้มากขึ้นและรู้สึกได้มากขึ้น จนทำให้เรามีขันติธรรมและสันติธรรมอย่างมีปัญญา และจิตใจที่เคารพในความแตกต่าง และไม่สามารถเสริมสร้างวิธีคิดและวิธีรู้สึกที่เอื้อให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมและมนุษย์ วิชามนุษยศาสตร์ก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่อีกต่อไป
ในขณะที่วิกฤตมนุษยศาสตร์เป็นวิกฤตของวิธีคิดและวิธีรู้สึก พลังของมนุษยศาสตร์ก็อยู่ที่วิธีคิดและวิธีรู้สึกเช่นเดียวกัน มนุษยศาสตร์จะต้องพัฒนาวิธีคิดและวิธีรู้สึกเพื่อจะสร้างความรู้ที่ส่งเสริมให้ทุกคนมีอิสรภาพและมีความสามารถที่จะเลือกสิ่งที่ "ถูกต้องที่สุด ดีที่สุด และงามที่สุด" ด้วยตนเองตลอดไป

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น