Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

ว่าด้วยทฤษฎีกายา ของ James Lovelock
สนทนาเรื่องโลกมีชีวิตตามแนวคิดทฤษฎีกายา(๑)
ดร. สุทธาธร สุวรรณรัตน์
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ : บันทึกการประชุมนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากกลุ่มเชียงใหม่สำนึก
บันทึกการประชุมครั้งที่ ๑๑ (๗/๒๕๔๙)
เรื่อง ทฤษฎีกายา ของ เจมส์ เจมส์ เลิฟล็อค
บรรยายโดย ดร. สุทธาธร สุวรรณรัตน์
วันเสาร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙
เวลา ๑๔.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. ณ เติ๋นผญา วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1017
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13.5 หน้ากระดาษ A4)





สนทนาเรื่องโลกมีชีวิตตามแนวคิดทฤษฎีกายา (๑)
ดร. สุทธาธร สุวรรณรัตน์ : ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


บันทึกการประชุมกลุ่มเชียงใหม่สำนึกครั้งที่ ๑๑
วันเสาร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๔:๐๐ - ๑๗:๐๐ น.

รายชื่อผู้เข้าร่วมการประชุม
๑. ดร.สุทธาธร สุวรรณรัตน์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๒. อ.ชัชวาล ปุญปัน ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
๓. รศ. สมเกียรติ ตั้งนโม นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๔. ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๕. อ.จันทร์เพ็ญ ศิลาวงศ์สวัสดิ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๗. ดร.วนารักษ์ ไทรพันธ์แก้ว ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๘. คุณอรทัย พงศ์เชี่ยวบุญ นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๙. คุณชลนภา อนุกูล ผู้ประสานงานโครงการจิตวิวัฒน์
๑๐. คุณณัฏฐิรา ก๋าวินจันทร์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลุ่มเชียงใหม่สำนึก

สุทธาธร สุวรรณรัตน์ : เรื่องของ Gaia theory ของ James Lovelock เขาพูดถึงอะไรบ้าง?
อันที่จริงเรื่องนี้เริ่มต้นมาจากนาซ่า ที่ต้องการสำรวจความมีชีวิตของดาวดวงอื่น สิ่งนี้ที่จุดประกายความคิดของ Lovelock ขึ้นมา เพราะว่าโลกของเรามันมีลักษณะที่ค่อนข้างจะแตกต่างไปจากดาวเคราะห์ดวงอื่น Lovelock คิดว่าโลกของเราเป็นดาวเคราะห์ที่มีชีวิต ไม่ใช่เพียงแค่ว่ามีสิ่งมีชีวิตบนดาวนั้น แต่ว่าตัวของโลกเองมีชีวิตด้วย เท่าที่ดูลักษณะที่เขาพูดออกมาจะเป็นเรื่องทางกายภาพ หรือ ชีวภาพ เป็นสิ่งที่จับต้องได้วัดได้ ไม่ได้พูดถึงเรื่องของวิญญาณ Lovelock เป็นนักวิทยาศาสตร์ อะไรที่ไม่สามารถบอกได้ วัดได้ มักจะไม่ค่อยยอมเชื่อ

คำว่า "กายา" (Gaia) จริง ๆ แล้วมาจากภาษากรีก ถ้าเป็นภาษาไทยคงใกล้เคียงกับ"พระแม่ธรณี" เป็นเทพธิดาแห่งโลก เขาเปรียบเทียบระหว่างดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ที่มีลักษณะเป็น death planet (ดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว) กับ โลก. ถ้าเราดูในดาวเคราห์ดวงอื่น ส่วนประกอบของบรรยากาศ ส่วนมากจะเป็นก๊าซที่มันไม่ active แล้ว ประกอบด้วยก๊าซเฉื่อย และอีกส่วนหนึ่งที่มีมากก็คือ คาร์บอนไดออกไซด์

ถ้าเราเทียบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับสิ่งที่อยู่บนโลกของเรา ก๊าซนี้เกิดจากสิ่งที่ทำปฏิกิริยาไปแล้ว เช่น เกิดการเผาไหม้แล้ว จบลงด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซนี้ไม่ทำปฏิกิริยาอะไรแล้วทุกอย่างจบนิ่งสนิท แต่ถ้าเทียบกับบรรยากาศของโลกเรา ถ้าเผื่อว่าพวกเรายังพอจำได้ตามที่เรียนมา ก็คือ บรรยากาศของโลกมีก๊าซเฉื่อยอยู่ด้วย มีไนโตรเจนอยู่ค่อนข้างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีก๊าซชนิดอื่นและค่อนข้าง active ผสมอยู่ เรามีออกซิเจนอยู่จำนวนมากและมีไฮโดรเจน และก๊าสมีเทนซึ่งดูกันจริง ๆ พวกนี้ดูเหมือนกับเป็นเชื้อเพลิง แต่เป็นเชื้อเพลิงที่ถูกทำให้อยู่ในรูปที่เจือจาง มันพร้อมที่จะเกิดปฏิกิริยา ตรงนี้มันไม่ได้อยู่ในสมดุลแบบนิ่ง ๆ แต่ว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง มันมีพลังงานอยู่ตรงนั้น

จากตรงนี้เอง Lovelock จึงคิดขึ้นมาว่า ตัวของโลกน่าจะมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกับสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน จริง ๆ แล้วทฤษฎีกายา เริ่มต้นตอนแรกเขาไม่ได้พูดถึงเรื่องของว่าโลกสามารถจะปรับตัวได้ เขาเริ่มต้นด้วยความเชื่อว่า สิ่งมีชีวิตบนโลก สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม และทำให้สภาวะแวดล้อมนั้นมีความเหมาะสมกับความเป็นอยู่ของมันได้ ตอนแรกเขาเชื่ออย่างนั้น เหมือนเป็นในทิศทางเดียว คือ สิ่งมีชีวิตทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อจะปรับให้สภาวะแวดล้อมเหมาะกับตัวมัน แต่ว่าพอเขาศึกษาไปเรื่อย ๆ เขาพบว่าไม่ใช่ จริง ๆ แล้วความสัมพันธ์นี้เป็นสองทิศทางคือ สิ่งมีชีวิตทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมและในขณะเดียวกันสภาวะแวดล้อมจะเป็นตัวกำหนดเหมือนกันว่า สิ่งมีชีวิตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในรูปแบบไหน?

ด้วยความที่เขาพยายามจะเปรียบเทียบระหว่าง "โลก" กับ "สิ่งมีชีวิตชนิดอื่น" ว่าโลกมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตกันแน่ กฎเกณฑ์ข้อหนึ่งที่เขาใช้ในการตัดสินใจว่าโลกหรือ"กายา"มีชีวิตก็คือว่า "กายา"เป็นระบบซึ่งสามารถที่ทำให้เกิด self regulation ในตัวของมันเอง ทำให้เกิดการคงสภาพเดิม และมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในสภาวะสมดุล รักษาสภาพของตัวเองไว้ได้อยู่เสมอ. ถ้าเทียบกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็คือ กินเข้าไป มีการสูญเสียพลังงานออกมาบางส่วน พร้อมกับของเสีย ใช้พลังงานที่นำเข้าไปและเก็บเอาไว้ในการรักษาสภาพภายในของตัวเอง ลด entropy "ความยุ่งเหยิง"

ถ้ามองในทางชีววิทยา ก็คือรับพลังงานเข้ามาในร่างกาย เปลี่ยนรูปพลังงานให้เป็นพลังงานเคมี แล้วเอาพลังงานเคมีตรงนั้นไปใช้ในการดำเนินชีวิตของตัวเอง เกิดกระบวนการเมแทโบลิซึมต่างๆ, Lovelock บอกว่าโลกก็เหมือนกัน เพราะว่าโลกก็มีการรับพลังงานเข้ามาเหมือนกัน ใช้พลังงานไปบางส่วน พลังงานส่วนไหนที่ไม่ได้ใช้ก็ปล่อยออกมาคล้าย ๆ กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ในหนังสือ Gaia ของ Lovelock พูดถึงโลกโดยเปรียบเทียบ"โลก"ว่า"เป็นคนไข้" ถ้าเผื่อว่าเราเป็นหมอแล้วเรากำลังศึกษาสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเพื่อจะทำการรักษา ก็ต้องศึกษาให้รู้และเข้าใจตั้งแต่โครงสร้าง องค์ประกอบและการทำงานในร่างกายของคนไข้เสียก่อน ดังนั้นเมื่อจะรักษาโลกก็ควรเริ่มจากการศึกษา ตั้งแต่กายวิภาค หรือ anatomy ของโลก ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เพื่อที่จะทำความเข้าใจ

ในขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาเกี่ยวกับสรีรวิทยาและกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในโลกด้วย กระบวนการต่าง ๆ ทางสรีรวิทยาเป็นกลไกหลักที่ทำให้เกิดความสมดุลหรือคงที่ของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายสิ่งมีชีวิต เขาพยายามยกขึ้นมาว่ามันมีอะไรบ้างที่ทำให้เกิดกระบวนการต่างๆ ในการรักษาสมดุลของโลก ซึ่งที่กล่าวถึงนี้จะมีทั้งในส่วนของสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา และ อื่นๆ

ในระบบการรักษาสมดุลของโลก ประกอบด้วยวัฏจักรของสารต่าง ๆ ซึ่งสิ่งที่มีความสำคัญมาก ๆ ก็คือ ออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีการเปลี่ยนรูปไปมา เพราะว่าออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ถ้าเราดูปริมาณจริง ๆ มีไม่มากนัก แต่ถ้าเราดูการหมุนเวียน ประมาณมากกว่าครึ่งของการหมุนเวียนของก๊าซบนโลกคือออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ โดยผ่านกระบวนการต่างๆ ทั้งที่อยู่ในสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิต ก๊าสทั้งสองชนิดนี้มีการหมุนเวียนตลอดเวลา ไม่ได้นิ่ง เช่น คาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปอยู่ในพืช ในรูปของสารอินทรีย์แล้วผ่านไปยังระบบต่าง ๆ กล่าวคือ แม้ว่าจะมีน้อย แต่ก็เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้นสารตัวนี้ เป็นตัวที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก เขาก็ทำการศึกษา โดยดูไปทีละส่วนอย่างเรื่องของวัฏจักรของคาร์บอน สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากวัฏจักรที่เคยเกิดขึ้นในอดีตค่อนข้างมากก็คือ มีการเผาไหม้ทำให้ปริมาณคาร์บอนบอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศสูงขึ้น ที่จริงแล้วก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นก๊าซที่มีความสำคัญค่อนข้าง มากในระบบนิเวศของโลก ถ้าเทียบกับในอดีตตอนนี้คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศน้อยกว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่ถ้าถามว่าเทียบยาวขนาดไหนก็คงต้องเทียบตั้งแต่โลกเริ่มตั้งต้นขึ้นมา ๔.๖ พันล้านปี คือ ช่วงนั้นโลกยังมีความร้อนอยู่มาก ยังมีภูเขาไฟ เพราะฉะนั้นคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศจึงมีมาก

การที่คาร์บอนไออกไซด์มันเริ่มมาลดลงเมื่อเริ่มมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นบนโลก สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นก่อนเป็นกลุ่มพวกแบคทีเรียที่สามารถใช้พลังงานแสงได้ เพราะฉะนั้นมันจึงสามารถดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยายกาศผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงได้ด้วย คาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดึงเข้ามา ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปสารอินทรีย์ พอถูกใช้ไปเช่นนี้ปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ก็ค่อยๆ ลดลง จริงๆ แล้วคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงมาตลอดจนกระทั่งถึงปริมาณที่ ถ้าน้อยไปกว่านี้พืชก็จะไม่โต จึงอยู่ในสมดุล คือ อยู่ในจุดที่พืชสามารถจะเจริญเติบโตได้และในขณะเดียวกันสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ได้ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นการสมดุลกันอยู่ตรงนั้น

พร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงของคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงของสารตัวอื่นด้วย ตอนแรกเริ่มที่โลกของเราเกิดขึ้นมาแล้วเริ่มมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น สิ่งมีชีวิตพวกนี้ยังไม่มีการหายใจแบบใช้ออกซิเจน เป็นการหายใจแบบอื่น ไม่ใช่แบบพวกเรา เป็นการหายใจแบบหมักแบบพวกยีสต์ให้คาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเหมือนกัน หรืออาจให้ในรูปของมีเทนขึ้นมาด้วย ก็มีก๊าซมีเทนเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง

สมเกียรติ ตั้งนโม : มัน input ยังไง ก่อนที่มันจะปล่อย output ออกมาเป็นมีเทน เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ มัน input อะไรเข้าไป

สุทธาธร สุวรรณรัตน์ : ถ้าช่วงแรก ๆ เป็นพวกที่ใช้พลังงานแสงเป็นหลัก กับอีกพวกหนึ่งก็คือใช้พลังงานเคมี สารเคมีแทนที่จะเป็นพลังงานแสง เช่น แบคทีเรียที่ใช้สารในกลุ่มของสารประกอบพวกซัลเฟอร์ เมื่อได้รับพลังงานเข้าไปก็จะนำไปสร้างและสะสมไว้ในรูปของสารอินทรีย์ จากนั้นเมื่อจะนำพลังงานมาใช้ จึงเกิดการหายใจแล้วให้คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ มีเทนออกมา สิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกๆ ที่เกิดขึ้นนี้ในปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แต่ว่าพื้นที่ที่เขาอยู่ค่อย ๆ โดนเบียดขับไปเรื่อย ๆ เพราะเหมือนกับว่าสภาวะที่เคยเหมาะสมกับเขาตอนนี้มันไม่เหมาะแล้ว โลกค่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไป

พอมาถึงอีกยุคหนึ่งเริ่มมีการสังเคราะห์แสงอย่างจริงจัง มีพวกพืชเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ ปริมาณของออกซิเจนที่เพิ่มขึ้น ออกซิเจนที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้สภาพบรรยากาศค่อย ๆ เปลี่ยนไปสิ่งมีชีวิตที่ใช้ออกซิเจนในการหายใจก็เพิ่มจำนวนขึ้น หากดูสิ่งมีชีวิตของโลกเราส่วนใหญ่ใช้ออกซิเจนในการหายใจเกือบทั้งหมด แสดงว่าเป็นกลุ่มที่มีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพบรรยากาศของโลกที่มีออกซิเจนอยู่มาก

บางทีอาจเป็นข้อผิดพลาดก็ได้ ที่สมัยก่อนเวลาเขาสำรวจดาวแต่ละดวง มักเริ่มจากการดูว่ามีออกซิเจนหรือเปล่า ถ้าไม่มีแสดงว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันอาจจะไม่ใช่ ดาวดวงนั้นอาจมีสิ่งมีชีวิตในรูปแบบอื่นอยู่ก็ได้ จากตรงนี้ทำให้เห็นว่าทั้งสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน

อีกอย่างที่พูดถึงและค่อนข้างมีความสำคัญคือ เรื่องของ"น้ำ" Lovelock เชื่อว่า โลกหรือดาวเคราะห์อะไรก็ตามที่ไม่มีสิ่งมีชิวิตอยู่ก็จะไม่มีน้ำด้วย คิดง่าย ๆ ว่าปกติพวกสารทุกอย่างจะมีการแตกตัว น้ำเกิดจากอะตอมของไฮโดรเจนกับออกซิเจน ถ้ามันหลุดออกมามันสามารถจะแตกออกมาเป็นไฮโดรเจนกับออกซิเจนได้ แล้วก๊าซไฮโดรเจนเป็นก๊าซที่เบา เพราะฉะนั้นมันหนีแรงดึงดูดได้ง่าย พออยู่ในรูปของไฮโดรเจนก็จะลอยออกไปจากชั้นบรรยากาศ ถ้าเกิดว่ามีก๊าซออกซิเจนไม่เพียงพอก็ไม่สามารถจะตรึงพวกไฮโดรเจนให้อยู่ในรูปของน้ำได้ แต่การที่เกิดสิ่งมีชีวิตที่สามารถสังเคราะห์แสงได้ทำให้เกิดความสมดุล โดยออกซิเจนที่ผลิตออกมามีมากพอที่จะตรึงไฮโดรเจนให้อยู่ในรูปของน้ำทำให้โลกของเรายังมีน้ำอยู่ เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ค่อนข้างจะสำคัญ

อีกวัฎจักรหนึ่งที่เขาพูดถึงระบบที่เป็น self regulation คือ "วัฎจักรของซัลเฟอร์" ตรงนี้ถ้าเราดูในปัจจุบัน ซัลเฟอร์มักอยู่ในพวกหิน วัฏจักรของมันถูกนำจากบกลงไปอยู่ในน้ำ ถ้ามองในแง่ของระบบที่ต้องรักษาสมดุลตัวเอง ก็จะต้องมีกระบวนการอะไรที่ทำให้ซัลเฟอร์ตรงนี้กลับขึ้นไปอยู่บนบกเหมือนเดิม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สมัยก่อนเชื่อว่า ซัลเฟอร์ออกจากน้ำในรูปไฮโดรเจนซัลไฟด์อย่างเดียวแต่ Lovelock บอกว่าจากปริมาณไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่เขาวัดมาแล้วนั้น ถ้ากระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไฮโดรเจนซัลไฟด์เพียงอย่างเดียวรับรองน้ำเน่าทั้งโลก ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ก็คือ ที่เราได้กลิ่นเวลาน้ำเน่า ๆ ถ้าผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยไม่มีออกซิเจน จะได้ก๊าซตัวนี้ออกมา

Lovelock บอกว่า ซัลเฟอร์ควรออกมาในอีกรูปหนึ่งมากกว่า คือ เป็น"ไดเมทิลซัลไฟด์" (DMS) ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกสัตว์ทะเลผลิตออกมาอยู่แล้ว เป็นอันหนึ่งที่มีกลิ่นอยู่ในอาหารทะเล คือ เป็นพวกไดเมทิลซัลไฟด์เหมือนกัน ซัลเฟอร์ควรจะกลับมาในลักษณะนี้มากกว่า พอกลุ่มของ DMS หลุดออกมาในรูปของก๊าซแล้วตกมาพร้อมฝนพร้อมความชื้น Lovelock ก็พยายามดูว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไงโดยดูแยกทีละระบบทีละอย่าง วัฏจักรแต่ละอย่างรวมกันจึงทำให้เกิดความสมดุลและทำให้สภาพแวดล้อมของโลกสามารถคงที่อยู่ได้

กระบวนการอีกอันหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้โลกของเราคงสภาวะอยู่ได้ก็คือ เรื่องของ green house effect หลาย ๆ คนพอพูดถึงเรื่องก๊าซเรือนกระจกจะมองแต่แง่ร้ายตลอดว่ามัน คือ สิ่งที่ไม่ดี ทำให้โลกร้อนขึ้นก่อให้เกิดปัญหาสภาวะแวดล้อม ที่จริงแล้วสภาวะเรือนกระจกเป็นสภาวะปกติ คือ เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว การที่เรามีก๊าซเรือนกระจกปกคลุมโลกอยู่เวลาที่เราได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ ก็เหมือนกับเราอยู่ในเรือนกระจกในเขตหนาว ก็คือ พลังงานที่รับเข้ามาเป็นพลังงานที่อยู่ในรูปคลื่นที่มีพลังงานสูง เมื่อเข้ามากระทบผิวโลกเปลี่ยนรูปไปบ้าง เอาไปใช้บ้างบางส่วนพอกระทบกับโลกแล้วก็แผ่ออกมาในรูปของพลังงานความร้อน หรือเป็นคลื่นในช่วงอินฟราเรด (IR) ซึ่งพวกนี้ถ้าเผื่อไม่มีก๊าซเรือนกระจกอยู่เลย ก็คือ เข้ามาแล้วสะท้อนกลับออกไปหมด

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ถ้าเปรียบเทียบระหว่าง"โลก"กับ"ดวงจันทร์"ซึ่งที่จริงแล้วเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ในระยะห่างจากดวงอาทิตย์เท่า ๆ กัน IR หรือรังสีอินฟราเรดที่โลกคายออกมามันน้อยกว่าดวงจันทร์ ก็แสดงว่ามันมีบางส่วนถูกกักเก็บไว้ ส่วนของดวงจันทร์พลังงานแสงเข้ามาเท่าไรเปลี่ยนไปอยู่ในรูป IR แล้วคืนออกไปหมด ทำให้ดวงจันทร์ช่วงกลางวัน พอโดนแดดก็ร้อนมาก พอไม่มีแดดก็เย็นยะเยือกไปเลย ทำให้ไม่สามารถจะมีอะไรอาศัยอยู่ได้ แต่โลกของเรามีลักษณะที่พอแสงส่องเข้ามา บางส่วนถูกปล่อยออกไป แต่บางส่วนจะถูกเก็บกักไว้เพื่อรักษาความอบอุ่นของโลกทำให้สภาวะดังกล่าวเหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของชีวิต

แต่ตอนนี้ที่มันเกิดปัญหา ก็คือว่า มันเหมือนเราเคยห่มผ้าห่มอยู่ผืนหนึ่ง แล้วตอนนี้เราโป๊ะไปอีกสามสี่ผืน ที่ควรจะออกตอนนี้มันก็ไม่ออก ข้างในมันก็ร้อนขึ้นกว่าเดิม ทำให้เกิดปัญหาตามมา รวมไปถึงการที่ทำให้เกิดการตื่นตัวเรื่องนี้ขึ้นมาก อันนี้รวมไปถึงเรื่องของ CFC ด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จุดกระแสแล้วได้ผลค่อนข้างมาก. CFC เป็นเรื่องซึ่งเห็นผลได้ง่าย ว่ามันตัวที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และทำให้เกิดโอโซนล๊อคด้วย แต่ CFC เป็นแค่ส่วนเดียว ที่จริงแล้วยังมีอันอื่นอีกมาก

อีกอันหนึ่งที่คนลืมนึกถึงคือ "มีเทน" ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นการเบนกระแส เพื่อโยนความผิดให้เรา (ประเทศเกษตรกรรม) รึเปล่า? เพราะส่วนใหญ่เขาจะบอกว่ามีเทน อันหนึ่งมาจากพวกสัตว์เลี้ยง แต่อีกอันหนึ่งมาจากนาข้าว คืออะไรก็ตามที่ปลูกแบบแฉะ ๆ ก็คงต้องดูเหมือนกันว่าจริง ๆ แล้วปริมาณมันมากจริง ๆ หรือเป็นเพียงเรื่องที่เขาพยายามจะให้เป็นความผิดของผู้ที่ทำการเกษตร

โดยรวมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำ วัฏจักรของสารหรือเรื่องของอุณหภูมิ โดยรวมแล้วโลกของเรามีความสามารถที่จะรักษาหรือคงสภาพภายในไว้ได้ส่วนหนึ่ง Lovelock เลยบอกว่าน่าจะบอกได้ว่าโลกมีลักษณะของสิ่งมีชีวิตอยู่ และมี homeostasis (การดำรงรักษาสภาวะสมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยผ่านกระบวนการกลไกชีวภาพ/สรีรวิทยา). ข้างใน ข้างนอกเปลี่ยนไปไม่เป็นไร ฉันรักษาระบบในตัวของฉันไว้ได้ ถ้าเผื่อโดนกระทบแรง ๆ หรือมีอะไรที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมาก ๆ ภายในโลก เมื่อเวลาผ่านไปโลกก็มักจะสามารถปรับตัวให้กลับเข้า อาจไม่กลับไปเหมือนเดิมแต่กลับเข้าสู่สมดุลอันใหม่ เหมือนกับหลังจากที่โดนอุกาบาตตอนช่วงจูราสสิค จากนั้นก็เริ่มต้นใหม่

แต่ตอนนี้ปัญหาหนักของโลกยังมีอยู่อีกอย่างหนึ่งที่เขาพูดถึง คือ คนบนโลก ถ้าเราเปรียบเทียบว่าโลกเหมือนสิ่งมีชีวิต จำนวนของคนที่เพิ่มมาก ๆ ก็เหมือนสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ที่เข้าไปอยู่ในร่างกายของโลก อาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นเชื้อโรค อันนี้อาจเป็นความคิดเห็นส่วนตัว คือ Lovelock เขาพยายามเปรียบเทียบโลกกับสิ่งมีชีวิตเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น หรือว่าเขาเชื่อจริง ๆ ว่าโลกมีชีวิต แต่ในความรู้สึกของตัวเองไม่แน่ใจว่ามันมีชีวิตหรือเปล่า แต่การเปรียบเทียบอย่างนี้ มันทำให้เข้าใจและเห็นภาพง่ายขึ้น

จันทร์เพ็ญ ศิลาวงศ์สวัสดิ์ : และมันทำให้เห็นใจต่อสภาพแวดล้อม

สุทธาธร สุวรรณรัตน์ : จะได้รู้ว่าเชื้อโรคควรจะทำตัวยังไง (หัวเราะ) คือ ทำให้เรามองเห็นระบบตรงนี้ว่า มันมีความเชื่อมโยงกันอยู่ค่อนข้างมาก และการที่เราไปเปลี่ยนอะไรไปสักจุดหนึ่ง มันจะส่งผลกระทบที่ค่อนข้างมาก

ชลนภา อนุกูล : ชื่อโรคอะไรน่ะค่ะ

สุทธาธร สุวรรณรัตน์ : Disseminated primatemia คือ โรค primate เยอะเกินไป (primate รวมกลุ่มลิงและคน) ทำให้เกิดลักษณะอาการของโรคขึ้นมา พอพูดถึงการเกิดโรค เขาบอกว่าเวลาที่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเข้าไปอยู่ในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง อาจเกิดเหตุการณ์ได้ ๔ อย่าง คือ

สิ่งมีชีวิตที่เป็นผู้ให้อาศัยกำจัดตัวที่เข้ามา ก็เหมือนเรารับเชื้อโรคอะไรสักอย่างหนึ่งเข้ามาถ้าเรามีภูมิต้านทานพอเรากำจัดทิ้งไปกับอีก ๒ อัน คือ สู้กันต่อไปเป็นประเภทโรคเรื้อรังผลัดกันชนะกับแพ้ไปเรื่อย ๆ หรือบางทีตัวที่เข้ามาทำให้ตัวที่ถูกอาศัยตายไปเลย ส่วนแบบสุดท้ายก็คือ symbiosis อยู่ด้วยกันแบบพึ่งพาอาศัย

คิดว่าจุดประสงค์อันหนึ่งของ "ทฤษฎีกายา" ต้องการให้เรารู้ว่า ถ้าเราต้องการอยู่ในลักษณะที่พึ่งพาอาศัยกับโลกได้ คือ ไม่ทำให้เขาเป็นอันตรายจนอยู่ไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้เกิดผลร้ายกับเราจนกระทั่งเราอยู่ไม่ได้ เราควรจะทำยังไง คิดว่าอันนี้เป็นวัตถุประสงค์ของการสร้างทฤษฎีดังกล่าวขึ้นมา คือ ทำให้คนมองเห็นความสัมพันธ์ตรงนี้และได้ระวังมากขึ้นเวลาที่คิดจะทำอะไร แต่จนถึงปัจจุบันทฤษฎีกายาก็ยังเป็นที่ถกเถียงพอสมควร พอพูดถึงว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต แต่ละคนก็มีความคิดไม่เหมือนกัน

จันทร์เพ็ญ ศิลาวงศ์สวัสดิ์ : คืออาจจะไม่ถึงกับมีชีวิตจริง ๆ แต่ว่าเปรียบเทียบได้

สุทธาธร สุวรรณรัตน์ : ต้องถามว่าคำจำกัดความของคำว่า มีชีวิตนี้คืออะไร? สำหรับทางด้านชีววิทยา เราอาจจะบอกว่า กินอาหารได้และที่สำคัญสืบพันธุ์ได้ และถ้าเป็นของดาร์วิเนียนที่สำคัญต้องมีการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดจากการสืบพันธุ์ ด้วยกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติต่อไปอีก เป็นการมองในลักษณะของทั้งประชากรหรือทั้งชนิด แต่ไม่ใช่หนึ่ง individual พอมองเป็นโลกหนึ่งโลกนักชีววิทยาเขาก็เลยมองในลักษณะที่ว่ามันไม่ครบ

ชัชวาล ปุญปัน : เป็นไปได้ไหมครับว่าจักรวาลไม่มีที่สิ้นสุด คือ หมายความว่าโลกมีชีวิตแบบที่เราอยู่ มันอาจจะสร้างหรือมีอยู่แล้วแต่เราไม่มีเครื่องมองเห็นในสิ่งมีชีวิตอันนี้ ในกาแล็คซี่อื่นอย่างนี้เป็นต้น คือ ถ้าถามว่ามันสืบพันธุ์ได้ มันต้องมองไปในสเกลของกาแล็คซี่เลย

ชลนภา อนุกูล : เมื่อสักครู่ที่ถามว่า Lovelock เชื่อหรือเปรียบเทียบว่ากายาเป็นแค่ metaphor หรือเปล่า ที่ลองอ่านดูสายที่เชื่อเรื่องกายา นอกจาก Lovelock ก็จะมี ลิน มาร์คูลิส ที่เขียน เรื่อง symbiotic planet เขายืนยันว่ามันไม่ใช่เรื่องแค่เปรียบเทียบแต่มันเป็นจริง ๆ และอย่างความเชื่อ self regulation คือเข้าใจว่าความหมายของ living being ความมีชีวิตของสิ่งหนึ่ง คือ ยังต้องเปรียบเทียบว่า การกินของโลก คืออะไร? คือการรับพลังงานเข้ามาและถ่ายออกมาคืออะไร? รวมถึงการเปลี่ยนรูปพลังงานแต่จะไม่มีของเสีย เขาใช้คำว่าปกติสิ่งมีชีวิตจะไม่มีของเสียอย่างเรากิน เราขับถ่าย แต่ของขับถ่ายมันเป็นของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก่อนจะแปรรูปกลับมาให้เราอีก ในความหมายของกินกับถ่าย ถ้าสืบพันธุ์ ก็ตั้งคำถามว่าถ้าเผ่าพันธุ์โลก เรามีโลกใบเดียว แต่เราไม่รู้ว่าเรามีโลกใบอื่น ๆ อีกหรือเปล่า อันนี้ไม่รู้ หรือถ้ามีอันเดียวเราก็ไม่นับเป็นเผ่าพันธุ์

สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นคำถาม แต่ถ้าถามความหมายของสิ่งมีชีวิตที่ Lovelock เชื่อ, ริชาร์ด ดอร์จิน กลับไม่เชื่อเรื่องทฤษฎีกายาเลย เขาถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยบอกว่าถ้าเปรียบเทียบว่าโลกมีชีวิตมันก็ดูสวยงาม คนจะได้เคารพโลก แต่มันเพ้อฝัน และโต้เถียงกับมาร์คูลิส

สุทธาธร สุวรรณรัตน์ : เขาพยายามหาตัวเปรียบเทียบเหมือนกันว่าโลกเทียบกับสิ่งมีชีวิตมันจะเทียบกับอะไรได้ อันหนึ่งที่เขายกตัวอย่างมา ก็คือ red wood ต้นสนต้นยักษ์แถบอเมริกาเหนือ ส่วนที่มีชีวิตมันมีแค่ตรงเนื้อเยื่อเจริญ เนื้อไม้ทั้งหมดมันตายแล้ว เวลาเราตัดไม้ ในส่วนที่เป็นวงปีมันตายหมดแล้ว ตัวเนื้อเยื่อที่มีชีวิตของมันแค่ตรงขอบเท่านั้นเองและถ้าถามว่าต้นนี้มันจะตายในอนาคตไหม มันก็คงจะตาย เพราะมันไม่ผลิตลูกแต่มันยังยืนต้นอยู่อย่างนั้น โดยเหตุนี้เขาก็เลยมองว่าถ้าเผื่อต้นสนต้นนี้ยังถือว่ามีชีวิตได้ โลกก็มีชีวิตได้เหมือนกัน เพราะว่าโลกก็ลักษณะแบบเดียวกัน คือด้านในของโลกมันก็ไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ ส่วนที่มีชีวิตคือ ส่วนที่เป็น biosphere บาง ๆ ไม่ถึง ๒๐ กิโลเมตรที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เทียบในลักษณะเดียวกัน ในเมื่อต้นสนมันมีชีวิต โลกก็มีชีวิตด้วย

อีกประการหนึ่งซึ่งเขาได้พูดถึงคือ ลักษณะของ super organism คือ ถ้าเทียบกับทางนิเวศมันเหมือน community นั่นคือ เป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันทำให้เกิดลักษณะพิเศษขึ้นมา เป็นลักษณะประจำของกลุ่มแต่ว่าไม่ใช่เฉพาะหนึ่งตัวและมีลักษณะของพวกสัตว์สังคม เช่น ผึ้ง มด ซึ่งดูทั้งรังมันก็เหมือนกับเป็นสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งอย่าง เป็น super organism อันหนึ่ง ซึ่งประกอบขึ้นด้วยหน่วยย่อย ๆ เหมือนโลกที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น

Lovelock พยายามเปรียบเทียบกับมุมมองในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตกับหลาย ๆ กลุ่ม ส่วนมากก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วยกัน อย่างทางชีววิทยา สิ่งมีชีวิตต้องมีการกิน เจริญเติบโตได้ สืบพันธุ์ได้ อาจจะมีวิวัฒนาการ. ส่วนบรรดานักฟิสิกส์มองว่า อะไรมีชีวิตก็ดูแค่ว่ามีระบบอยู่ มีขอบเขตที่แน่นอน รับพลังงานที่เป็น free energy เข้ามาใช้ไปในการควบคุม entropy ของตัวเองแล้วปล่อย low grade energy ออกมา เอาพลังงานส่วนหนึ่งไปใช้ที่เหลือทิ้ง นักฟิสิกส์มองชีวิตเป็นอย่างนี้. ส่วนของนักชีวเคมี อาจเพิ่มจากของฟิสิกส์ตรงพลังงานที่เข้ามา ต้องเอาไปใช้ในการเจริญเติบโตเสร็จแล้วค่อยปล่อยออก และกระบวนการที่เกิดขึ้นต้องถูกกำหนดด้วยพันธุกรรม ซึ่งเท่าที่ศึกษามาสำหรับเรื่องของทฤษฎีกายา มันหายไปในเรื่องของพันธุกรรม เหมือนกับว่ามันไม่มี

ชลนภา อนุกูล : ถ้าถามว่าโลกมีชีวิตแล้วโลกสืบพันธุ์อย่างไร ถ้ามีโลกใบเดียวเราจะมองวิวัฒนาการของโลกแบบไหน เพราะวิวัฒนาการในทางชีววิทยาจะดูเป็นสปีชีส์หนึ่ง เผ่าพันธุ์หนึ่งแล้วเปลี่ยนไปทั้งฝูง แต่ว่าถ้าโลกมีใบเดียว แล้วจะนับเป็นฝูงได้ไหม ก็เลยคิดว่าน่าจะถามในวงการของผู้ทำงานศิลปะ และคณาจารย์ท่านอื่น ๆ

สมเกียรติ ตั้งนโม : ที่ผมฟังมาทั้งหมดเวลานักฟิสิกส์หรือนักวิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องของโลกมีชีวิต ไม่มีมิติทางจิตวิญญาณเหลืออยู่เลย ที่อธิบายมันเป็นเรื่องกายภาพ มันต้องมีการเติบโต มันต้องมีการ input อะไรเข้าไป output อะไรออกมา ผมคิดว่าสัตว์เกือบทุกชนิดมีเจตจำนงของมันพอสมควร แต่ไม่แน่ใจว่าสัตว์ชั้นต่ำมีรึเปล่า เท่าที่อาจารย์สุทธาธรนำเสนอยังไม่ได้ยินเรื่องมิติทางจิตวิญญาณ

อันต่อมาก็คือว่า เมื่อสักครู่อาจารย์พูดเรื่องการสืบพันธุ์ ถ้ามันเป็นส่วนหนึ่งของคำอธิบายของสิ่งมีชีวิต ผมไม่แน่ใจว่าใครพูด สิ่งที่อยากถามก็คือว่า ถ้าเกิดมันมีการสืบพันธุ์ มิติในการสืบพันธุ์ทางชีววิทยามีกี่แบบเช่น แบ่งตัว มีตัวผู้ตัวเมีย แบบไม่ต้องใช้เพศ ถ้าโลกของเราเป็นแบบไหน มีเพศไหม ต้องมีโลกอีกใบหนึ่งไหม เนื่องจากว่ามันถึงยุคสุดท้ายของจักรวาลแล้ว โลกของเราอาจจะเป็นผู้หญิงก็ได้แต่ไม่มีผู้ชาย (หัวเราะ)

สุทธาธร สุวรรณรัตน์ : ทางด้านชีววิทยา เวลาที่เราพูดถึงสิ่งมีชีวิต เรามักไม่ได้ดูเพียงแค่หนึ่งตัว แต่มักจะดูทั้งกลุ่มว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต กระบวนการหลาย ๆ อย่างมันเกิดขึ้นเมื่อสิ่งมีชีวิตหลาย ๆ ตัวมาอยู่รวมกันก่อน แต่ถ้าอาจารย์ถามว่าเรานับรวมหมดไหมเรื่องของการสืบพันธุ์ ที่แบ่งตัว เขาก็นับหมด อันไหนก็ได้ กำลังคิดว่าาถ้าเผื่ออีกหน่อยประชากรของเราย้ายไปอยู่ดาวอื่นจะถือว่าเป็นการขยายพันธุ์ไหม

ชลนภา อนุกูล : เคยอ่านของ Lovelock จากที่หนึ่ง คือเขาคล้าย ๆ บอกว่า โลกเกิดมานานมากก่อนสิ่งมีชีวิต การเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิตบนโลกเป็นเจตจำนงของโลกเอง เพราะมันเหมือนกับว่าทันทีที่มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น ตั้งแต่แบคทีเรียไล่มาเรื่อย ๆ ชั้นบรรยากาศของโลกมีการปรับเปลี่ยนกันเอง มีเขียนคำว่า will (เจตจำนง)ของโลก

สุทธาธร สุวรรณรัตน์ : แต่ถ้าพูดถึง"กายา" เขาเชื่อว่ากายาเกิดขึ้นหลังสิ่งมีชีวิต โดยเชื่อว่าโลกเกิดมา ๔.๖ พันล้านปี แต่สิ่งมีชีวิตอาจจะเริ่มประมาณ ๓.๘ พันล้านปี Lovelock เชื่อว่ากายาเกิดขึ้นหลังจากนั้นนิดหนึ่ง เขาบอกว่าพอมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น มันมีการเปลี่ยนแปลงของระบบเป็น self regulation มากขึ้น ถ้าเป็นดาวเคราะห์ดวงอื่นก็เหมือนกับการที่มีดาวเคราะห์เกิดขึ้นทั่วไป มีภูเขาไฟระเบิด แล้วจบลงตรงนั้น แต่โลกของเราเกิดโชคดี มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาทำให้สภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนไปในอีกทิศทางหนึ่ง แล้วมันมีลักษณะของความมีชีวิต มีลักษณะที่เป็น self regulation ขึ้นมา แล้วมันถึงจะกลายเป็น"กายา"

ถ้ามองในแง่ที่ว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของ super organism หากมองเช่นนี้"กายา"มันก็ต้องมีส่วนย่อยเกิดขึ้นมาก่อน ถึงจะสร้างส่วนใหญ่ขึ้นมาได้ ถ้าบอกว่ามันเริ่มก่อนหน้านั้นมันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง นั่นแสดงว่าโลกมีจิตวิญญาณ มีความต้องการของตัวเองที่ว่าจะสร้างออกมาในลักษณะไหน

ชลนภา อนุกูล : เพราะมันจะโยงในเรื่องของเจตจำนงของจักรวาลอีกทอดหนึ่ง… คิดว่ามนุษย์ชนเผ่าเกือบทั่วโลกมีความเชื่อเรื่องพระแม่ธรณี แล้วเหมือนกับว่า ทฤษฎีกายามันมาทีหลัง พยายามอธิบายเชิงกายภาพ เหมือนกับ Lovelock ก็ไม่แตะกับมิติชนเผ่า ที่เขาเชื่อกันอย่างนี้อยู่ ซึ่งน่าสนใจ

จันทร์เพ็ญ ศิลาวงศ์สวัสดิ์ : ในทางพระพุทธศาสนา ก็คือ อย่างคนประกอบด้วยรูปกับนาม แต่อย่างที่อาจารย์ว่า เราพูดถึงแต่รูปอย่างเดียว ทั้งสสาร ทั้งพลังงาน

สุทธาธร สุวรรณรัตน์ : ก็จะวนกลับไปที่ว่า เป็นวิทยาศาสตร์ที่มาจากตะวันตกอาจจะมองกันคนละอย่าง ถึงได้บอกตั้งแต่เริ่มว่าทฤษฎีกายา มุมมองหลักๆ คือ สิ่งที่จับต้องได้ วัดได้ เป็นเรื่องปกติของวิทยาศาสตร์

วนารักษ์ ไทรพันธ์แก้ว : อันไหนที่มันไม่เห็นก็นึกว่ามันไม่มี แต่บางครั้งที่เราไม่เห็นมันอาจจะมีอยู่ก็ได้ เราไม่สามารถที่จะ detect ได้

ประมวล เพ็งจันทร์ : พอได้ยินชื่อมันมีคำที่คล้ายกันคำว่า "กายา" กับคำว่า"กาย" อาจจะมีความเชื่อมโยงทางด้านประวัติศาสตร์ ความคิดแต่ผมไม่รู้ว่ามันไปสัมพันธ์กันยังไง พอพูดถึงกายในคติทางพระพุทธศาสนา องค์ความรู้ในทางพุทธศาสนา มีสิ่งที่ต้องรู้อยู่ ๔ ระดับ ระดับต้นที่สุดคือระดับ"กาย"เรียกว่า กายคตาสติ (kayagatasati) ที่สำคัญที่สุดคือ เริ่มต้นจากการพิจารณาร่างกายเรากับร่างกายคือ "ลมปราณ" ที่เข้าออกระหว่างตัวเรากับโลก

ถ้าเราไปดูในรายละเอียดของการพิจารณากายที่เป็นลม ซึ่งเรียกว่า "อาณาปาณาสติ" มันจะพบถึงความยึดโยงแบบที่อาจารย์พูด คือ จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า ชีวิตคือกายเรากับชีวิตข้างนอกมันยึดโยงสัมพันธ์กัน มันไม่ได้ตัดขาดแยกจากกัน ถ้าเราสามารถเห็นกายในกาย เป็นภาษาที่พระท่านสอน จงพิจารณากายในกายก็คือ พิจารณาให้เห็นว่ากายของเรามันอยู่ในกาย คือ กายา ที่อาจารย์พูดถึง และกระบวนการที่จะรู้ความยึดโยงสัมพันธ์นี้ ต้องข้ามระดับไปสู่ความหมายที่ ๒ ของการเรียนรู้ก็คือ "เวทนา"

ขณะที่เรามีกาย กายที่เรายึดครองเป็นเจ้าของ ก็จะเชื่อมให้เราเข้าใจและรู้โดยผ่านเวทนาที่เรามีความรู้สึกกระทบและถ้าเราเข้าใจ ประเด็นนี้ มันก็ไปประเด็นที่สูงเข้าไปเรียกว่า "จิต" คือสภาวะที่มีความเชื่อมโยงโดยแม้ว่าเราจะไม่ได้สัมพันธ์กันโดยตรง แต่เราก็สามารถเกิดความรู้เห็น ความสัมพันธ์กันได้ แล้วสุดท้ายคือ สภาวะที่สูงสุด เขาเรียกว่า "ธรรม" สภาวะนี้ ที่เมื่อสักครู่ที่เราพูดถึงเจตจำนง ที่ถามว่า โลกนี้ กาแลคซี่นี้ จักรวาลนี้ มีเจตจำนงไหม?

เมื่อสักครู่มีการพูดถึงเรื่องเชื้อโรค ผมเกิดความคิดว่า ใช่เลย! เหมือนกับที่ผมคิดมาตั้งนานว่า หรือมนุษย์เราเป็นเชื้อโรคร้าย เนื้อร้ายที่งอกขึ้นในกายใหญ่ เวลามีเนื้อร้ายแล้วก่อให้เกิดเนื้อร้าย พอไปตรวจวันนี้แล้วหมอบอกว่ามีเนื้อร้าย ผมไม่แน่ใจว่า ขณะนี้เรามีสภาวะเป็นเนื้อร้ายในกายนี้รึเปล่า เพราะเรามีความรู้สึกเหมือนกับว่าเราต้องการทำลายเนื้อตัวส่วนอื่น ๆ ที่จะไม่ให้มันขยาย นึกถึงภาพดูว่าเรากลัวตาย เราไปฆ่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพื่อที่จะมาทำอันตรายเรา เพื่อหวังว่าเราจะมีห้วงเวลาที่จะมีตัวเรายาวออกไปแล้วขยายออกไป

และเนื้อร้ายเป็นประเด็นที่เราจะต้องควบคุมและลดทอนลง และถ้าเราสามารถลดทอนเนื้อร้ายนี้ออกไปจากกายที่เราครอบครองโดยตัวเราเอง ซึ่งจริง ๆ ก็คือ กายทั้งหมดทั้งมวล ตรงนั้นมันจะเป็นกายที่ภาษาทางพระ เรียกว่า "ไม่เข้าไปยึดถือเป็นเนื้องอก" ผมไม่อยากใช้คำว่าตะวันออกตะวันตก แต่มันมีประเด็นที่น่าคิดคือว่ามันมีประเด็นที่เป็นการพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องของเจตจำนงหรือจิตวิญญาณ เป็นมุมมองที่ผมสะท้อนจากความรู้เล็ก ๆ ทางพุทธศาสนา

สมเกียรติ ตั้งนโม : ผมคิดคล้าย ๆ อาจารย์ประมวล คราวนึงที่อาจารย์เสน่ห์ จามริก มาบรรยายที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ผมถามอาจารย์เสน่ห์ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า มนุษย์มีความจำเป็นที่จะอยู่บนโลกนี้ต่อไปรึเปล่า เพราะว่าเท่าที่ผ่านมา ตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้น ดูเหมือนโลกอายุสั้นลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยิ่งเพิ่มจำนวนประชากร คิดว่ามีคนหลายคนที่เริ่มตั้งคำถามกับการมีอยู่ของมนุษย์ ซึ่งอยู่บนโลกใบนี้ว่าคุณมาอยู่บนโลกใบนี้ในฐานะที่เป็นเชื้อโรคหรือว่าเป็นสิ่งเกื้อกูลสร้างสรรค์ เป็น symbiosis แบบข้อที่ ๔ หรือว่าคุณเป็นข้อที่ ๓ คือทำให้ผู้ถูกอาศัยตายลงอย่างรวดเร็ว

ทีนี้ผมย้อนกลับมาคำถามแรก ๆ ที่อาจารย์พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มันเริ่มเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เคยมีมาก จนมีน้อยลงเรื่อย ๆ ผมไม่แน่ใจอาจารย์ศึกษาไปถึง ณ ขณะนี้มันยังมีอัตราการลดลงต่อไปหรือไม่?

สุทธาธร สุวรรณรัตน์ : มันไม่ลดแล้วค่ะ มันเริ่มเพิ่มขึ้น เพราะมนุษย์เพิ่มจำนวนมากขึ้น ถ้าเป็นสมัยก่อนที่มันยังไม่มีเรื่องของการใช้พลังงานเยอะ ๆ พื้นที่ของโลกส่วนมากจะเป็นน้ำ กระบวนการสังเคราะห์แสงถ้าเผื่อเทียบแล้ว จะเกิดในทะเลมากกว่าบนบก เกิดจากพวก phytoplankton พอเกิดขึ้นจะมีส่วนหนึ่งที่จมลงไป แล้วถูกสะสมไว้ข้างล่าง

แต่ตอนนี้เราเหมือนกับว่าเราดึงออกมาใช้ คือ ดึงส่วนที่เก็บไว้ในรูปที่ไม่ active แล้ว มาใช้เป็นพลังงาน ไม่ใช่เฉพาะในทะเลที่มีการเปลี่ยนแปลง บนบกที่มันเคยมีการสะสมของพืช พวกถ่านหิน น้ำมัน ก็คือขุดมันขึ้นมาใช้ ตัวคาร์บอนที่มันถูกเก็บไว้ก็ถูกปล่อยกลับออกมาเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น ในธรรมชาติมันลดลงมาเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้น มันถึงมีปัญหาเรื่องโลกร้อน

สมเกียรติ ตั้งนโม : ผมยังสงสัยต่อมาก็คือว่า ที่อาจารย์พูดถึงเกราะป้องกันของโลก คล้าย ๆ เป็นวงแหวนที่เป็นชั้นบรรยากาศล้อมโลกเราอยู่ อันนี้มีชื่อเรียกว่าอะไรบ้าง, และวงแหวนของภาวะเรือนกระจกเขาเรียกว่าอะไร?

สุทธาธร สุวรรณรัตน์ : ก๊าซเรือนกระจกอยู่ในโทรโพสเฟียร์ คือ ชั้นล่างสุด เป็นชั้นที่ทำให้เกิดสภาวะภูมิอากาศของเรา มีไอน้ำ มีเมฆ ฯลฯ ถัดขึ้นไปเป็นสตราโตสเฟียร์ซึ่งมีชั้นของโอโซนอยู่ด้วย คือ เป็นตัวที่กรองส่วนหนึ่งตั้งแต่ขาเข้าเป็นเกราะของเราเหมือนกัน เพราะว่าโอโซนช่วยกรองพวกรังสี UV คือพวกแสงที่พลังงานสูง ๆ จะกรองไว้ส่วนหนึ่ง พอกลับออกไปจะมีชั้นโทรโพสเฟียร์และสตราโตสเฟียร์ที่ช่วยบล๊อคไว้ไม่ให้มันออกไปหมด เพราะนอกจากพวกคาร์บอนไดออกไซด์ ก็จะมีเมฆด้วยที่จะเป็นตัวสำคัญที่ช่วยเก็บความร้อนไว้ เขาก็ดูแยกเป็นชั้น ๆ และชั้นที่จะมีผลมาก ๆ คือ ชั้นโทรโพสเฟียร์และสตราโตสเฟียร์

ชัชวาล ปุญปัน : ผมยังนึกถึงประเด็นการสืบเผ่าพันธุ์ นึกถึงบทความในหนังสือ Revision พูดถึงเรื่องการแต่งงานระหว่าง"น้ำ"กับ"ไฟฟ้า" เวลาเราพูดถึงเรื่องไฟฟ้าเราก็จะมองว่ามันอันตราย แต่ปรากฏว่าในโลกธรรมชาติ ฟ้าผ่าทีหนึ่ง มันให้ไนโตรเจนไดออกไซด์เยอะมากและในปริมาณเหล่านี้ มันก็เกิดขึ้นในโลก แล้วมันก็วนกลับมาเป็นน้ำแล้วเป็นไอ แล้ววนกลับมาเป็นประจุไฟฟ้า คือ วงจรการแต่งงานระหว่างน้ำกับไฟฟ้า ถือได้ไหมว่าเป็นระบบการสืบพันธุ์หนึ่งของระบบกายา คือ มันไม่ได้สืบพันธุ์ระหว่างโลก

ก). กับโลก
ข). เพื่อจะมีลูกคือโลก
ค). แต่ว่าในตัวมันเองสืบเผ่าพันธุ์กันด้วยวัฏจักรหรือว่าวงจร ทำให้มันดำรงอยู่

อันต่อมาก็คือว่า มนุษย์เกิดขึ้นมาในโลกนี้ก็ไม่นาน และไป ๆ มา ๆ ก็ดูท่าว่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน (หัวเราะ) ในสเกลของโลก หมดยุคมนุษย์เชื้อโรคก็สืบเผ่าพันธุ์ใหม่อีก ผมก็คิดว่าถ้ามันเป็นวัฏจักรอย่างนั้น มันก็มีระบบสืบพันธุ์ของมัน คือ การแพร่ตัวมันเองของมัน สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่มาอยู่บนโลกได้อาจจะไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



คลิกไปอ่านต่อ "สนทนาเรื่องโลกมีชีวิตตามแนวคิดทฤษฎีกายา(๒)"

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



260849
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
ว่าด้วยทฤษฎีกายาของเจมส์ เลิฟล็อค
บทความลำดับที่ ๑๐๑๗ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
จากตรงนี้เอง Lovelock จึงคิดขึ้นมาว่า ตัวของโลกน่าจะมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกับสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน จริง ๆ แล้วทฤษฎีกายา เริ่มต้นตอนแรกเขาไม่ได้พูดถึงเรื่องของว่าโลกสามารถจะปรับตัวได้ เขาเริ่มต้นด้วยความเชื่อว่า สิ่งมีชีวิตบนโลก สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม และทำให้สภาวะแวดล้อมนั้นมีความเหมาะสมกับความเป็นอยู่ของมันได้ ตอนแรกเขาเชื่ออย่างนั้น เหมือนเป็นในทิศทางเดียว คือ สิ่งมีชีวิตทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อจะปรับให้สภาวะแวดล้อมเหมาะกับตัวมัน แต่ว่าพอเขาศึกษาไปเรื่อย ๆ เขาพบว่าไม่ใช่ จริง ๆ แล้วความสัมพันธ์นี้เป็นสองทิศทางคือ สิ่งมีชีวิตทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมและในขณะเดียวกันสภาวะแวดล้อมจะเป็นตัวกำหนดเหมือนกันว่า สิ่งมีชีวิตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในรูปแบบไหน?
ด้วยความที่เขาพยายามจะเปรียบเทียบระหว่าง "โลก" กับ "สิ่งมีชีวิตชนิดอื่น" ว่าโลกมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตกันแน่ กฎเกณฑ์ข้อหนึ่งที่เขาใช้ในการตัดสินใจว่าโลกหรือ"กายา"มีชีวิตก็คือว่า กายาเป็นระบบซึ่งสามารถที่ทำให้เกิด self regulation ในตัวของมันเอง ทำให้เกิดการคงสภาพเดิม

 

ในหนังสือ Gaia ของ Lovelock พูดถึงโลกโดยเปรียบเทียบ "โลก" ว่า"เป็นคนไข้" ถ้าเผื่อว่าเราเป็นหมอแล้วเรากำลังศึกษาสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเพื่อจะทำการรักษา ก็ต้องศึกษาให้รู้และเข้าใจตั้งแต่โครงสร้าง องค์ประกอบและการทำงานในร่างกายของคนไข้เสียก่อน ดังนั้นเมื่อจะรักษาโลกก็ควรเริ่มจากการศึกษา ตั้งแต่กายวิภาค หรือ anatomy ของโลก ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เพื่อที่จะทำความเข้าใจ