Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

ซาปาติสต้า: การปฏิวัติของวันพรุ่งนี้
ศึกษาเส้นทางรอยตีนดำๆของกองทัพซาปาติสต้า
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เรียบเรียง
นักแปลอิสระ และนักวิชาการอิสระ

ผลงานเรียบเรียงเกี่ยวกับซาปาติสต้าชิ้นนี้ เป็นการพูดถึงความเป็นมาของขบวนการประชาชนพื้นเมืองชาวเม็กซิโก
ซึ่งลุกขึ้นมาปฏวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม สร้างความเสมอภาคและศักดิศรีของความเป็นมนุษย์
โดยผู้คนที่มาจากชนชั้นล่างสุดของสังคมที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมานับพันปี
พวกเขาตั้งชื่อขบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมว่าซาปาติสต้า
ตามชื่อของเอมีเลียโน ซาปาตา ซึ่งเป็นผู้นำชาวพื้นเมืองและชูคำขวัญ "ที่ดินและอิสรภาพ"
อันเป็นการเคลื่อนไหวสำคัญที่นำเม็กซิโกไปสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. ๑๙๑๑
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1013
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)





ซาปาติสต้า: การปฏิวัติของวันพรุ่งนี้

ภัควดี วีระภาสพงษ์ : นักแปลและนักวิชาการอิสระ

คืนวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1993 ประธานาธิบดี การ์ลอส ซาลินาส แห่งประเทศเม็กซิโก เข้านอนด้วยความอิ่มเอมเปรมใจ ศักราชใหม่ในวันพรุ่งนี้จะเป็นวันแรกที่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) มีผลบังคับใช้ ข้อตกลงการค้าเสรีที่เขาลงนามร่วมกับสหรัฐอเมริกาและแคนาดา น่าจะช่วยยกระดับประเทศเม็กซิโกให้ก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ไม่แน่อาจฉุดให้เม็กซิโกกลายเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ หรือให้ดียิ่งกว่านั้น เม็กซิโกอาจก้าวหลุดจากนิยามของประเทศโลกที่สามเข้าไปยืดอกอยู่ในกลุ่มโลกที่หนึ่งกับเขาบ้าง

ไม่มีอะไรต้องกังวล ทุกอย่างต้องราบรื่น ถึงจะมีข่าวยืนยันมากว่าหนึ่งปีเกี่ยวกับกองทัพติดอาวุธในรัฐเชียปาส รัฐที่อยู่ทางตอนใต้ของเม็กซิโกติดกับกัวเตมาลา รัฐที่อุดมไปด้วยทรัพยากรและเป็นแหล่งรายได้สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ รัฐที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวนาอินเดียนแดงเชื้อสายเผ่ามายา มันก็แค่ชาวนายากจน ไร้การศึกษา อินเดียนแดงผิวสีดิน ล้าหลัง ป่าเถื่อนเท่านั้น

ไม่มีอะไรต้องกังวล โลกนี้มาถึงยุค "จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์" แล้ว ไม่มีสงครามเย็นอีกต่อไป ชัยชนะเป็นของโลกทุนนิยมลัทธิเสรีนิยมใหม่ ลัทธิมาร์กซ์ล่มสลายไปพร้อมกับกำแพงเบอร์ลิน ลัทธิคอมมิวนิสต์ในเม็กซิโกอ่อนเปลี้ยลงตั้งแต่สองทศวรรษก่อน หลังจากปราบปรามขบวนการนักศึกษาและนักการเมืองฝ่ายซ้ายหลายครั้ง ข่าวกรองบอกว่ามีอดีตมาร์กซิสต์ในเมืองบางคน "ทิ้งเมือง" ออกไปหาทางจัดตั้งกองทัพจรยุทธ์ในชนบท มีบ้างบางคนที่เดินทางไปถึงรัฐเชียปาส เพื่อหาทางสร้างกองทัพปฏิวัติจากชาวนาอินเดียนแดงพื้นเมือง

ข่าวกรองบอกด้วยว่ามีการจัดตั้งเกิดขึ้นจริง โดยกองทัพจรยุทธ์ตั้งฐานอยู่ในป่าลากันดอน ป่าดงดิบที่แม้แต่ชาวพื้นเมืองยังอยู่รอดยาก แล้วเจ้าเมสติโซนักศึกษาผิวขาวจากในเมืองจะทนอยู่ได้อย่างไร? สมัยนี้จะกลัวอะไรกับลัทธิมาร์กซ์? จะกลัวอะไรกับพวกอินเดียนแดงป่าเถื่อน? พวกนี้ถูกกดขี่มาห้าร้อยปี ถึงจะกบฏสักกี่ครั้ง เลือดที่ทาแผ่นดินนี้ก็ต้องเป็นเลือดของคนผิวสีดินอยู่ดีนั่นแหละ!

ไม่มีอะไรต้องกังวล ประธานาธิบดียอร์จ บุช ประกาศแล้วว่า ยุคนี้เป็นยุคของ "ระเบียบโลกใหม่" ประธานาธิบดีคลินตันถึงจะมาจากคนละพรรคการเมือง แต่นโยบายก็ไม่แตกต่างกันเท่าไร อนึ่ง เม็กซิโกได้ชื่อว่าเป็นหลังบ้านของสหรัฐอเมริกา แม้แต่ในการวิเคราะห์สถานการณ์ปฏิวัติของมาร์กซิสต์แต่ไหนแต่ไร เม็กซิโกถือเป็นข้อยกเว้นเสมอมา พวกมาร์กซิสต์เชื่อว่าเม็กซิโกเป็นจุดที่ไม่เหมาะต่อการสร้างกองทัพปฏิวัติมากที่สุด เพราะมันอยู่ใกล้สหรัฐอเมริกามากเกินไป!

ไม่มีอะไรต้องกังวล คืนนี้ประธานาธิบดีซาลินาสจะนอนหลับให้สบาย เขาจะตื่นนอนเช้าวันรุ่งขึ้นเพื่อพบกับเม็กซิโกยุคเสรีนิยมใหม่ พอกันทีกับการเป็นประเทศกำลังพัฒนา! พอกันทีกับการเป็นโลกที่สาม!

++++++++++++++++++++++

ถึงประชาชนแห่งเม็กซิโก

พี่น้องชาวเม็กซิกันทั้งหลาย:
เราคือผลผลิตของการต่อสู้ตลอดห้าร้อยปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การก่อกบฏเพื่อแสวงหาความเป็นไทจากความเป็นทาสระหว่างสงครามประกาศอิสรภาพจากสเปน การต่อสู้เพื่อไม่ให้ถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดินิยมอเมริกาเหนือ จากนั้นคือการต่อสู้เพื่อประกาศรัฐธรรมนูญและขับไล่จักรวรรดิฝรั่งเศสออกไปจากผืนดินของเรา แล้วยังการก่อกบฏต่อระบอบเผด็จการของประธานาธิบดีปอร์ฟิริโอ ดิอัซ...

พวกเขาไม่เคยแยแสว่าเราไร้สิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรเลย ไม่มีแม้แต่หลังคาคุ้มหัว ไม่มีที่ดิน ไม่มีงาน ไม่มีโรงพยาบาล ไม่มีอาหารหรือการศึกษา ไม่มีสิทธิเลือกผู้แทนทางการเมืองอย่างเป็นอิสระและประชาธิปไตย... ไม่มีเสรีภาพหรือความยุติธรรมสำหรับตัวเราและลูกหลานของเรา

แต่วันนี้ เราขอบอกว่า: พอกันที (Ya Basta!)

(แถลงการณ์ฉบับแรกจากป่าลากันดอน คำประกาศสงครามของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้า 1 มกราคม 1994)

หัวรุ่งของวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1994 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้าบุกเข้ายึดเมืองหกเมืองในรัฐเชียปาส ประกอบด้วยเมืองมาร์การิตัส, อัลตามิราโน, ลา เรอัลลิดัด, ชานัล, โอโกซินโก และซาน คริสโตบัล เดอ ลาส กาซัส ปฏิบัติการครั้งนี้ใช้กองกำลังอินเดียนแดงชาวพื้นเมืองประมาณ 600 คน ร่วมกับสมาชิกที่เป็นพลเรือนอีกประมาณ 3,000 คน เข้ายึดที่ทำการเทศบาลของแต่ละเมืองโดยแทบไม่มีการเสียเลือดเนื้อ อาวุธที่ใช้มีตั้งแต่ปืนอาก้า-47 ไปจนถึงปืนปลอมที่ทำจากไม้ (นี่เป็นเรื่องที่มารู้กันในภายหลัง) พวกเขาบุกเข้ายึดสำนักงานทะเบียน ทำลายเอกสารเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมด แต่เมื่อมีข้าราชการคนหนึ่งเข้ามาขอร้องไม่ให้ทำลายเอกสารประวัติศาสตร์ในห้องเก็บเอกสาร กองทัพซาปาติสต้าตกลงทันที มิหนำซ้ำยังส่งคนมาอารักขาห้องเอกสารไว้ด้วย

การก่อกบฏครั้งนี้ปราศจากความรุนแรง ถึงขนาดที่นักท่องเที่ยวในเมืองซาน คริสโตบัล ไม่แตกตื่นตกใจแม้แต่น้อย นักท่องเที่ยวเพียงแต่ถามถึงความสะดวกในการเดินทางต่อไปยังที่ต่าง ๆ และได้รับคำตอบว่าถนนบางสายอาจถูกปิด พร้อมกับคำรับรองว่าในเขตที่กองกำลังซาปาติสต้ายึดครองนั้น ทุกคนจะมีความปลอดภัยเต็มที่ แต่หากออกนอกเขตไปแล้ว ซาปาติสต้าไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้ได้ ตบท้ายด้วยถ้อยคำกึ่งจริงจังกึ่งขำขันว่า "ขออภัยในความไม่สะดวก แต่นี่คือการปฏิวัติ"

ทันทีที่ข่าวการปฏิวัติแพร่ออกไป นักข่าวแห่กันไปทำข่าวที่รัฐเชียปาส ตอนแรกนักข่าวเข้าใจว่านี่เป็นแค่กองกำลังจรยุทธ์คอมมิวนิสต์อีกกองหนึ่ง ในบรรดาที่มีอยู่มากมายในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แต่สิ่งที่สะดุดตานักข่าวเป็นอย่างแรกเมื่อไปถึงก็คือ นักรบปฏิวัติจำนวนมากในกองทัพนี้สวมหน้ากากสกีสีดำ เกือบทั้งหมดเป็นชาวพื้นเมืองเผ่ามายา มีจำนวนมากที่เป็นผู้หญิง พวกเขาแสดงออกว่าได้รับการฝึกระเบียบวินัยแบบทหารมาอย่างดี แต่มีน้อยคนเหลือเกินที่พูดภาษาสเปนได้

อย่าว่าแต่ภาษาอื่น เมื่อถูกนักข่าวถามหาใครสักคนที่พอจะให้สัมภาษณ์ถึงจุดมุ่งหมายของการปฏิวัติครั้งนี้ นักรบชาวพื้นเมืองจึงไปตามชายผิวขาวสวมหน้ากากสกี จุดเด่นบนใบหน้าเขาเท่าที่โผล่ออกมานอกหน้ากาก คือนัยน์ตาสีน้ำตาลอ่อนกับจมูกโต คาบไปป์ พูดได้ ๓ ภาษาเป็นอย่างน้อย เขาแนะนำตัวเองว่าเป็นโฆษกของกองทัพซาปาติสต้า เมื่อถูกนักข่าวถามชื่อ เขานิ่งไปอึดใจหนึ่งและตอบว่า "ผมคือรองผู้บัญชาการมาร์กอส"

รองผู้บัญชาการมาร์กอสให้สัมภาษณ์นักข่าวถึงมูลเหตุของการปฏิวัติครั้งนี้ว่า:
"...วันนี้คือวันเริ่มต้นของข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ซึ่งที่แท้แล้วคือคำสั่งประหารชาวพื้นเมืองในเม็กซิโก ประชากรที่เป็นส่วนเกินในแผนการนำประเทศไปสู่ความทันสมัยของประธานาธิบดีซาลินาส เด กอร์ตารี กอมปันเญอโร (สหาย) ของเราจึงตัดสินใจลุกฮือขึ้นในวันนี้ เพื่อตอบโต้ต่อประกาศิตความตายที่ข้อตกลงการค้าเสรีหยิบยื่นให้แก่พวกเขา เพื่อตอบโต้ด้วยประกาศิตของชีวิตที่ได้มาด้วยการจับอาวุธ เพื่อเรียกร้องอิสรภาพและประชาธิปไตย..."

นักข่าวคาดหวังตามความเคยชินเดิม ๆ ว่า จะได้เจอกองกำลังติดอาวุธอีกกองหนึ่งที่อ้างตัวเองเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งปวง อ้างว่าวิถีทางของตัวเองเป็นหนทางเพียงหนึ่งเดียวในการแก้ปัญหา อ้างถึงจุดมุ่งหมายในการโค่นล้มอำนาจรัฐเพื่อสถาปนารัฐคอมมิวนิสต์ของเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ แต่รองผู้บัญชาการมาร์กอสกลับทำให้นักข่าวต้องประหลาดใจด้วยคำให้สัมภาษณ์ว่า:

"...เราหวังว่าประชาชนคงเข้าใจ เจตนารมณ์ที่ผลักดันให้เราทำการครั้งนี้เป็นเจตนาอันชอบธรรม และเส้นทางที่เราเลือกเป็นเพียงวิถีทางหนึ่ง ไม่ใช่วิถีทางเดียว ทั้งเราก็ไม่คิดว่ามันเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดด้วย และเราขอเชื้อเชิญให้ประชาชนลงมือกระทำเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ลุกขึ้นจับอาวุธ แต่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อมีรัฐบาลเสรีประชาธิปไตยที่แท้จริงในเม็กซิโก...เราไม่ต้องการเผด็จการรูปแบบไหนทั้งนั้น และไม่ต้องการอะไรในระดับโลกอย่างลัทธิคอมมิวนิสต์สากลด้วย..."

มาร์กอสยังบอกอีกว่า การปฏิวัติครั้งนี้เพื่อ "...ให้บทเรียนเรื่องศักดิ์ศรี และหน้าที่นี้ตกอยู่กับผู้อาศัยที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศนี้... มันตกอยู่กับพลเมืองที่ต่ำต้อยที่สุดในประเทศนี้ที่ต้องเป็นคนเงยหน้าขึ้นด้วยศักดิ์ศรี และนี่ควรเป็นบทเรียนสำหรับทุกคน เราไม่ควรปล่อยให้ตัวเองถูกปฏิบัติแบบนี้ และเราต้องพยายามสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าเดิม โลกที่เป็นของคนทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ของคนแค่ไม่กี่คนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นี่คือสิ่งที่เราต้องการ เราไม่ต้องการผูกขาดการเป็นผู้นำการปฏิวัติ หรือบอกว่าเราคือแสงสว่าง หรือเป็นทางเลือกเพียงทางเดียวที่มีอยู่...

เรามีศักดิ์ศรี ความรักชาติและเรากำลังแสดงมันออกมา คุณควรทำอย่างเดียวกัน ภายใต้อุดมการณ์ของคุณ ในวิถีทางของคุณ ในขอบเขตความเชื่อของคุณและทำให้เงื่อนไขความเป็นมนุษย์ของคุณมีความหมายขึ้นมา"

คำขวัญแรกของซาปาติสต้าที่ว่า Ya Basta! (พอกันที) มาจากแถลงการณ์ฉบับแรก และจากคำให้สัมภาษณ์นี้กลายเป็นคำขวัญที่สองที่บอกว่า ถ้าไม่ได้ทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับทุกคน เราก็ไม่เอาอะไรเลย "Everything for everyone, nothing for us" ซาปาติสต้าแสดงจุดยืนชัดเจนว่า พวกเขาเป็นขบวนการปฏิวัติที่ไม่ได้แสวงหาอำนาจเพื่อตนเอง ไม่ต้องการต่อรองกับรัฐบาลเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่พวกเขาเป็นขบวนการปฏิวัติที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน การปฏิวัติเพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม อย่างที่รองผู้บัญชาการมาร์กอสพูดบ่อย ๆ ว่า โลกที่รองรับทุกคนได้

นอกจากสร้างความพิศวงงงงวยแก่นักข่าวด้วยจุดยืนที่ไม่เหมือนกองกำลังติดอาวุธในอดีต รองผู้บัญชาการมาร์กอสยังใช้ท่าทีที่ทำให้ผู้สื่อข่าวถึงกับปากอ้าตาค้าง แทนที่จะให้สัมภาษณ์ด้วยท่าทีจริงจังก้าวร้าวอย่างนักปฏิวัติทั้งหลาย พอถูกนักข่าวถามว่าทำไมนักรบบางคนถึงใส่หน้ากากสกีและบางคนไม่ใส่ มาร์กอสตอบด้วยอารมณ์ขันว่า:

"คนที่หล่อกว่าก็ต้องปกป้องตัวเองหน่อยสิ"

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น
อะไรทำให้อินเดียนแดงสองสามพันคนลุกขึ้นมาก่อกบฏ? พวกเขาบ้าไปหรือเปล่า? พวกเขาไม่กลัวตายหรืออย่างไร? หากจะย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นจริง ๆ เราคงต้องย้อนกลับไปถึงห้าร้อยปีอย่างที่เขียนไว้ในแถลงการณ์ฉบับแรกของซาปาติสต้า ย้อนกลับไปถึงคนผิวขาวคนแรกที่เหยียบลงบนผืนแผ่นดินที่ปัจจุบันคือประเทศเม็กซิโก และยังความหายนะให้เกิดแก่อารยธรรมของชนเผ่ามายา นับแต่นั้นมา สภาพชีวิตของชาวพื้นเมืองมีแต่จะเลวร้ายลง นอกจากยากไร้จนต่ำกว่าระดับความยากจนแล้ว ชาวพื้นเมืองยังถูกเหยียดหยามและถูกลิดรอนสิทธิ ทั้งในทางวัฒนธรรม การเมืองและสังคม

ไม่ใช่ว่าชาวพื้นเมืองจะงอมืองอเท้ารับชะตากรรมที่เกิดขึ้น การก่อกบฏและการปฏิวัติของชาวพื้นเมืองปะทุขึ้นหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญและอยู่ในความทรงจำมากที่สุดคือ การปฏิวัติภายใต้การนำของปานโช วีญ่า และเอมีเลียโน ซาปาตา โดยเฉพาะซาปาตาที่เป็นผู้นำชาวพื้นเมืองและชูคำขวัญ "ที่ดินและอิสรภาพ" ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวสำคัญที่นำเม็กซิโกไปสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1911

การต่อสู้ครั้งนั้นทำให้เม็กซิโกมีรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิของชาวพื้นเมือง การปฏิรูปที่ดินและคำมั่นสัญญาอื่น ๆ แต่มันไม่เคยปรากฏเป็นจริงในทางปฏิบัติ ขบวนการซาปาติสต้าจึงหมายถึง "ผู้เจริญรอยตามซาปาตา" และสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบยึดอำนาจ พวกเขาเพียงแต่เรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญที่มีอยู่แล้วมาปฏิบัติอย่างจริงจังเท่านั้นเอง

รัฐเชียปาสเป็นรัฐที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเม็กซิโก รัฐนี้เป็นแหล่งผลิตกาแฟ ปศุสัตว์และโกโก้ ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้ในปริมาณมากและมีแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ แต่ในจำนวนประชากร 3.7 ล้านคนเมื่อปี ค.ศ. 1994, 50% อยู่ในภาวะทุโภชนาการ, 75% มีรายได้ต่ำกว่ารายได้ขั้นต่ำสุดของเม็กซิโก, และ 56% อ่านเขียนไม่ได้

ในเขตติดกับป่าลากันดอนที่เป็นฐานที่มั่นของซาปาติสต้า สภาพของผู้คนยิ่งเลวร้ายกว่านั้น ประชากรที่เป็นชาวอินเดียนแดงเกือบ 80% ต้องอยู่อาศัยอย่างแออัดยัดเยียดถึง 76 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร เกือบทั้งหมดไร้การศึกษา ไม่มีสถานพยาบาล อัตราการตายของเด็กและทารกมีสูงมาก และเป็นการตายด้วยโรคพื้น ๆ เช่น โรคหวัด ท้องร่วง หัด ไอกรน มาลาเรีย ฯลฯ

ตามประเพณีดั้งเดิม ชาวอินเดียนแดงจะอยู่รวมกันเป็นชุมชน มีกฎเกณฑ์ในการปกครองควบคุมกันเองที่เรียกว่า "ขนบและจารีต" (custom and uses) การตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ จะใช้กระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง นั่นคือทุกคนในชุมชนจะมาประชุมกันและลงมติ ลักษณะเด่นอีกอย่างของชุมชนชาวพื้นเมืองก็คือ พวกเขาไม่มีการครอบครองที่ดินแบบกรรมสิทธิ์เอกชน ที่ดินเป็นของส่วนรวมที่เรียกว่า ระบบเอฮิโด (ejido) ที่ดินไม่ใช่สินค้าซื้อขาย แต่เป็นปัจจัยทำกิน

รัฐธรรมนูญของเม็กซิโกรับรองระบบเอฮิโด แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าของปศุสัตว์รายใหญ่ที่มีอิทธิพลมักอาศัยอำนาจ และกองกำลังส่วนตัวกวาดรวบรวมที่ดินมาไว้ในครอบครอง ชาวพื้นเมืองที่พยายามขัดขืนมักถูกฆ่าทิ้งง่าย ๆ รัฐบาลหรือการปกครองท้องถิ่นไม่อาจเป็นที่พึ่งของชาวพื้นเมืองได้เลย อินเดียนแดงเหล่านี้จึงถอยร่นไปเรื่อย ๆ พวกเขารุกป่าลากันดอนเพื่อหาที่ทำกิน เสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บสารพัด เมื่อป่าถูกบุกเบิกจนกลายเป็นที่ดินที่เหมาะต่อการเพาะปลูก พวกเจ้าของปศุสัตว์ก็จะตามรุกคืบมายึดครองที่ดินนั้นไปอีก ทำให้ชาวพื้นเมืองต้องถอยร่นไปเรื่อย ๆ หรือไม่ก็จำทนอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีแต่โคลนเลน เพาะปลูกได้ผลเพียงน้อยนิด

รองผู้บัญชาการมาร์กอสกล่าวว่า "นาฟต้าคือคำสั่งประหารชีวิตของเรา" เพราะนาฟต้าเป็นเสมือนกรรไกรที่ตัดด้ายเส้นสุดท้ายให้ขาดผึง ตามข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนรวมแบบเอฮิโดจะต้องถูกยกเลิก ซึ่งเท่ากับทำลายระบบชุมชนของชาวพื้นเมือง นอกจากนี้ การเปิดเสรีการค้าเกษตรเท่ากับเปิดช่องให้สหรัฐอเมริกาส่งสินค้าเกษตรของตน เช่น ข้าวโพด เข้ามาตีตลาดในเม็กซิโก ชาวนาอินเดียนแดงที่เพาะปลูกข้าวโพดไม่มีทางสู้ราคาต่ำของสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ได้อยู่แล้ว พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากลุกขึ้นก่อกบฏ

นี่แหละคือเรา คนตายของทุกยุคสมัย ยอมตายอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้เพื่อมีชีวิตอยู่

ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ชาวพื้นเมืองกว่า 150,000 คน เสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่รักษาได้ รัฐบาลทั้งในระดับประเทศ มลรัฐและท้องถิ่น รวมทั้งโครงการทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขา ไม่เคยแยแสที่จะหาทางแก้ไขปัญหาของเราอย่างจริงใจ พวกเขาทำแค่หยิบยื่นเศษทานให้เราทุกครั้งที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามา... นั่นคือสาเหตุที่เราคิดว่าไม่ ไม่เอาอีกแล้ว พอกันทีกับการตายอย่างไร้ค่า ขอต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงดีกว่า ถ้าเราต้องตายในวันนี้ มันจะไม่ใช่การตายอย่างอัปยศอดสู แต่เป็นการตายอย่างมีศักดิ์ศรี เฉกเช่นบรรพบุรุษของเรา เราพร้อมแล้วที่จะตาย ตายอีกกว่า 150,000 คนก็ได้ถ้าจำเป็น เพื่อให้ประชาชนของเราตื่นขึ้นจากความฝันจอมปลอมที่กักขังเรามาตลอด

รองผู้บัญชาการมาร์กอส
6 มกราคม 1994

หรือดังที่นักข่าวคนหนึ่งถามผู้บัญชาการตาโช ซึ่งเป็นนายทหารปฏิวัติชาวพื้นเมือง

"ขบวนการซาปาติสต้ามาจากไหน?"
ตาโชนิ่งไปครู่หนึ่ง สายตาเหม่อมองไปในที่ไกลโพ้น "เรามาจากส่วนลึกของความหลงลืม" เขาตอบด้วยเสียงนุ่มนวลแต่เข้มข้น "จากห้วงเหวสุดลึก จนไม่มีใครได้ยินเสียงของเรา สุดมืดมิด จนไม่มีใครมองเห็นเรา เราปรากฏออกมาจากส่วนลึกที่ลึกที่สุดของความลืมเลือน"

รองผู้บัญชาการมาร์กอสพูดบ่อย ๆ ว่า ถ้าไม่ยิงกระสุนนัดแรก ก็ไม่มีใครได้ยินพวกเขา โลกทั้งโลกลืมไปด้วยซ้ำว่าพวกเขามีตัวตนอยู่ ชาวซาปาติสต้าจึงต้องสวมหน้ากากเพื่อให้โลกมองเห็น และถอดหน้ากากเพื่อหายตัวไป

เส้นทางรอยตีนดำ ๆ ของชาวซาปาติสต้า
แน่นอน รัฐบาลตอบโต้กองทัพซาปาติสต้าด้วยความรุนแรงทันที ปฏิบัติการของรัฐบาลเม็กซิกันไม่ได้แยกแยะระหว่างนักรบกับพลเรือน ทหารบุกเข้าไปในชุมชนชาวพื้นเมืองหลายแห่งและสังหารอินเดียนแดงไปอย่างน้อย 145 คน ความรุนแรงดำเนินไป 12 วัน ถึงขนาดที่กองทัพวางแผนจะส่งเครื่องบินรบเข้าไปทิ้งระเบิดปูพรมในป่าลากันดอน แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น

ราวกับภาคประชาสังคมเม็กซิกันและอีกหลายแห่งในโลกตื่นจากหลับ มีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลขนานใหญ่ทั้งในเม็กซิโกและในอีกหลายประเทศ เฉพาะในเม็กซิโกประมาณว่ามีผู้ออกมาประท้วงร่วมแสนคน ประชาชนที่ออกมาประท้วงประกอบด้วยคนหลากหลายอาชีพ มีตั้งแต่นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย แม่บ้าน ผู้ใช้แรงงาน ฝ่ายซ้ายทั้งเก่าทั้งใหม่ ฯลฯ สื่อมวลชนพร้อมใจกันตีพิมพ์แถลงการณ์และคำสัมภาษณ์ของรองผู้บัญชาการมาร์กอส มีเว็บไซท์เกี่ยวกับซาปาติสต้าในอินเตอร์เน็ตผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด ความรู้สึกแปลกใหม่เกิดขึ้นในสังคมเม็กซิกัน

ผู้สื่อข่าวต่างประเทศคนหนึ่งที่เข้าไปในเม็กซิโกช่วงนั้นเล่าว่า ขณะที่เขานั่งอยู่ในรถแท็กซี่ มีรถลิมูซีนสองตอนคันหนึ่งจอดขวางการจราจร คนขับรถแท็กซี่ขับไปจอดขวางที่ประตูหลังของรถหรูคันนั้นทันทีเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารเปิดประตูรถ แล้วตะโกนเรียกตำรวจจราจรที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ เข้ามา ยืนกรานให้รถลิมูซีนหาที่จอดให้ถูกกฎจราจร คนขับแท็กซี่พูดใส่หน้าผู้โดยสารในรถคันนั้นว่า "พอกันที อย่ามาทำแบบนี้อีก ออกไปให้พ้น! ถ้าอินเดียนแดงยังเต็มใจตายเพื่อประเทศที่ดีกว่าล่ะก็ อย่างน้อยฉันก็ทำได้แค่นี้แหละ ไป!"

แรงกดดันทั้งในและนอกประเทศทำให้ประธานาธิบดีซาลินาส ยอมยกเลิกการปราบปรามด้วยอาวุธ แถมยังประกาศอีกว่าจะอภัยโทษให้ผู้ก่อกบฏทั้งหมด รองผู้บัญชาการมาร์กอสโต้กลับทันทีด้วยแถลงการณ์ฉบับที่กินใจที่สุดฉบับหนึ่ง

"ทำไมเราต้องขออภัยโทษ? พวกเขาจะอภัยโทษเราเรื่องอะไร? อภัยโทษให้เราที่ไม่ตายเพราะความหิวโหย? ที่ไม่ยอมทนทุกข์โดยหุบปากเงียบ? ที่ไม่ยอมก้มหน้าก้มตาแบกรับแอกประวัติศาสตร์อันหนักอึ้งของการเหยียดหยามและทอดทิ้ง? ที่ดันสะเออะหยิบอาวุธขึ้นมาเมื่อไม่มีหนทางอื่นเหลือไว้ให้เราแล้ว?... ที่ดันมาแสดงให้ทั้งประเทศและทั่วทั้งโลกรับรู้ว่า ศักดิ์ศรีของมนุษย์ยังมีอยู่และพบได้ในประชาชนที่ยากไร้ที่สุด? ที่เราเตรียมตัวเตรียมใจมาอย่างดีก่อนที่จะลงมือ? ที่ถือปืนเข้าสนามรบแทนที่จะถือคันธนูกับลูกดอก? ที่ดันเรียนรู้วิธีการสู้รบมาล่วงหน้า? ที่เราทุกคนเป็นคนเม็กซิกัน? ที่พวกเราส่วนใหญ่เป็นอินเดียนแดง? ที่เราเรียกร้องให้ชาวเม็กซิกันลุกขึ้นต่อสู้ในทุกวิถีทาง เพื่อปกป้องสิ่งที่เป็นของตนอยู่แล้ว? ที่พวกเราต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตยและความยุติธรรม? ที่ไม่ยอมเดินตามแบบแผนเดิม ๆ ของขบวนการกองโจร? ที่ไม่ยอมแพ้? ที่ไม่ยอมขายตัว? ที่ไม่ยอมทรยศกันเอง?...

ใครกันแน่ที่ควรขออภัยโทษและใครกันแน่ที่ควรเป็นผู้ให้อภัย?"

วันที่ 19 ธันวาคม 1994 กองทัพซาปาติสต้าประกาศเขตการปกครองอิสระ ซึ่งประกอบด้วยเขตเทศบาล 38 แห่ง เขตการปกครองอิสระของซาปาติสต้าดำรงอยู่มาจนครบสิบปีในปีนี้ เมื่อต้นปี ค.ศ. 2004 นี้เอง กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้าประกาศว่า กองทัพขอมอบอำนาจการปกครองให้แก่ชุมชนชาวพื้นเมือง โดยที่การตัดสินใจของชุมชนไม่ต้องขึ้นกับกองทัพซาปาติสต้าอีกต่อไป กองทัพจะยังคงดำรงอยู่เพื่อทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้แก่เขตอิสระเท่านั้น แต่จะไม่เข้าไปแทรกแซงการบริหารของชุมชนชาวพื้นเมือง นี่เป็นการยืนยันอีกครั้งถึงหลักการไม่มุ่งยึดอำนาจรัฐของซาปาติสต้า

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเม็กซิกันยังพยายามหาทางทำลายซาปาติสต้า โดยใช้ยุทธศาสตร์การทำสงครามความเข้มข้นต่ำ (low-intensity warfare) หรือที่เรียกในอีกนิยามหนึ่งว่า การทำสงครามมุ่งเป้าพลเรือน (civilian-targeted warfare) โดยกวาดต้อนพลเรือนหลายหมื่นคนไปอยู่ในค่ายกักกัน เปลี่ยนหมู่บ้านให้เป็นค่ายทหาร ขัดขวางการเพาะปลูก ทำลายแหล่งน้ำ แทรกแซงวิถีชีวิตของชุมชนชาวพื้นเมือง รวมทั้งสังหารหมู่ชาวพื้นเมืองเป็นครั้งคราว ชาวพื้นเมืองได้แต่ตอบโต้ด้วยการประท้วงแบบสันติวิธี และขอความร่วมมือจากภาคประชาสังคมเม็กซิกันและต่างชาติ กระนั้นก็ตาม พลเรือนที่เข้าเป็นสมาชิกของซาปาติสต้ายังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม กองทัพซาปาติสต้าจัดการประชุมนานาชาติครั้งแรกในชื่อ การประชุมสังสรรค์ข้ามทวีป เพื่อมนุษยชาติและต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Intercontinental Encuentro for Humanity and against Neoliberalism) มีนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางสังคม เอ็นจีโอ ฝ่ายซ้าย ฯลฯ หลายพันคนจากเกือบทุกทวีปเดินทางมาร่วมประชุมครั้งนี้ ท่ามกลางโคลนเลนในหมู่บ้านที่ลา เรอัลลิดัด ชาวพื้นเมืองที่ยากไร้ต่ำกว่าระดับความยากจน สามารถจัดเตรียมสถานที่และอาหารเพื่อต้อนรับนักเคลื่อนไหวจากทุกมุมโลก มีทั้งการแสดง ดนตรี การประชุมกลุ่มย่อย การประชุมกลุ่มใหญ่ ฯลฯ ในพิธีปิดการประชุม รองผู้บัญชาการมาร์กอสอ่านแถลงการณ์ที่มีข้อความว่า:

"ขอให้มันเป็นเครือข่ายของกระแสเสียงเพื่อคัดค้านสงครามที่มหาอำนาจมุ่งทำลายล้าง เครือข่ายของกระแสเสียงที่ไม่เพียงแค่พูด แต่ยังต่อสู้และขัดขืนเพื่อมนุษยชาติและต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ เครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วทั้งห้าทวีปและจับมือกันต่อต้านความตายที่มหาอำนาจยัดเยียดให้แก่เรา"

การผนึกกำลังเป็นเครือข่ายไม่ใช่แค่ลมปาก มันเกิดขึ้นจริง ๆ การเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายที่เคยซบเซา ช่องว่างระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติที่เคยมีแต่จะถ่างกว้างขึ้น จนนักคิดฝ่ายขวาถึงกับประกาศอย่างมั่นอกมั่นใจถึง "จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์" แต่แล้วราวกับมันได้พลังชีวิตใหม่ ครั้งนี้เป็นความแปลกใหม่อย่างแท้จริง ดังที่เดวิด เกรเบอร์ กล่าวไว้ในบทความชื่อ "The New Anarchists" ใน New Left Review ว่า แต่ไหนแต่ไรมา รูปแบบการต่อต้านและการปฏิวัติล้วนแต่เป็นการส่งออกจากตะวันตกไปสู่ตะวันออก แต่ครั้งนี้ลมหายใจที่เป่าให้การเคลื่อนไหวทางสังคมกลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง มีต้นทางจากตะวันออกสู่ตะวันตก จากโลกที่สามสู่โลกที่หนึ่ง จากชนเผ่าที่โลกหลงลืม จากอารยธรรมของอินเดียนแดงที่โลกคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว

นักเคลื่อนไหวหลายคนที่เข้าร่วมในการประชุมสังสรรค์ข้ามทวีปครั้งนี้กลับไปประเทศของตน และกลายเป็นกำลังหลักที่จุดประกายให้เกิดแนวทางการต่อสู้อย่างใหม่ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการแรงงานไร้ที่ดินในบราซิล ขบวนการปีเกเตโรส์ในอาร์เจนตินา (นักประท้วงในขบวนการเหล่านี้หลายคนนิยมสวมเสื้อที่มีอักษรย่อ EZLN ที่เป็นอักษรย่อของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้าในภาษาสเปน) กลุ่ม Ya Basta! ในอิตาลี ฯลฯ และที่เขย่าโครงสร้างของลัทธิเสรีนิยมใหม่อย่างไม่มีใครคาดคิด ก็คือการประท้วง WTO ที่ซีแอตเติลเมื่อปี ค.ศ. 1999

แกนหลักหลายคนของการประท้วงครั้งนั้นคือผู้ที่ไปเข้าร่วมการประชุมของซาปาติสต้า นักกิจกรรมหลายคนของตะวันตกยอมรับอย่างเปิดเผยว่า ซาปาติสต้าคือแรงบันดาลใจประการหนึ่งที่ทำให้เกิดขบวนการสังคมใหม่ ที่ตามประท้วงองค์กรโลกบาลไปทุกหนแห่งทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้

สหัสวรรษปี 2000 เม็กซิโกได้ประธานาธิบดีคนใหม่คือ นายบีเซ็นเต้ ฟอกซ์ จากพรรค PAN ซึ่งเป็นการสิ้นสุดอำนาจของพรรค PRI ที่ครองอำนาจมาถึง 71 ปี ปีรุ่งขึ้นใน ค.ศ. 2001 กองทัพซาปาติสต้าประกาศว่า จะเดินทางไกลเข้าสู่เมืองหลวงเม็กซิโกซิตี้ ผู้บัญชาการระดับสูงของซาปาติสต้าจำนวน 23 คน พร้อมด้วยรองผู้บัญชาการมาร์กอส เดินทางครั้งประวัติศาสตร์ไปตามเมืองต่าง ๆ ในเม็กซิโก โดยมีจุดหมายปลายทางที่จัตุรัสโซกาโลหน้าทำเนียบรัฐบาล นักกิจกรรมหลายพันคนจากทั่วโลกเดินทางไปทำหน้าที่ "เกราะมนุษย์" เพื่อไม่ให้นักปฏิวัติชาวอินเดียนแดงเหล่านี้ถูกลอบสังหาร มีประชาชนเม็กซิกันออกมาต้อนรับถึงราว 200,000 คน พร้อมกับเสียงร้องตะโกนว่า "คุณจะไม่อยู่อย่างโดดเดี่ยว!"

รองผู้บัญชาการมาร์กอสไม่ยอมพบกับประธานาธิบดีฟอกซ์ เขาเลือกที่จะปราศรัยต่อประชาชนหน้าทำเนียบแทน แม้ว่าสุดท้ายแล้ว การเจรจาจะไม่บรรลุผล แต่ก็นับเป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการที่รัฐสภายินยอมให้ตัวแทนของซาปาติสต้า เข้าไปปราศรัยในรัฐสภาถึงความต้องการของชาวพื้นเมือง โดยในครั้งนี้ ผู้บัญชาการเอสเธอร์ นักรบสตรีของซาปาติสต้า ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการอ่านแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสของเม็กซิโก

กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้าไม่มีทางเอาชนะรัฐบาลเม็กซิกันในการสู้รบก็จริง แต่ในแง่ของ "สงครามถ้อยคำ" หรือ "สงครามความคิด" แล้ว ซาปาติสต้าได้ชัยชนะอย่างท่วมท้น อาจเป็นเพราะพวกเขายึดหลักคำสอนของดอน อันโตเนียว หมอผีชาวเผ่ามายา ผู้เปรียบเสมือนพ่อบุญธรรมและอาจารย์ของรองผู้บัญชาการมาร์กอส ดอน อันโตเนียวฝากถ้อยคำไว้กับมาร์กอสว่า

"หากเจ้าไม่สามารถเลือกเหตุผลและกำลังได้พร้อมกันสองอย่าง จงเลือกเหตุผลก่อนเสมอ แล้วปล่อยให้ศัตรูเลือกกำลังไป ในบางสนามรบ พละกำลังเป็นสิ่งที่ทำให้ได้ชัยชนะก็จริง แต่เหตุผลต่างหากที่จะทำให้เราได้ชัยชนะในการต่อสู้โดยรวม คนที่มีพละกำลังไม่มีทางค้นหาเหตุผลจากความแข็งแกร่งของตนเอง ในขณะที่เราสามารถค้นพบความแข็งแกร่งจากเหตุผลได้เสมอ"

"...อย่าลืมว่าความคิดก็เป็นอาวุธเช่นกัน"

+++++++++++++++++++++++++++++++++

ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เรียบเรียงจาก
Subcomandante Insurgente Marcos, Our Word is Our Weapon,
(edited by Juana Ponce de Leon), New York: Seven Stories Press, 2002.

Tom Hayden (edit.), The Zapatista Reader, New York: Thunder's Mouth Press/Nation Books, 2002.


 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



220849
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
ซาปาติสต้า-การปฏิวัติของวันพรุ่งนี้
บทความลำดับที่ ๑๐๑๓ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
"...เราหวังว่าประชาชนคงเข้าใจ เจตนารมณ์ที่ผลักดันให้เราทำการครั้งนี้เป็นเจตนาอันชอบธรรม และเส้นทางที่เราเลือกเป็นเพียงวิถีทางหนึ่ง ไม่ใช่วิถีทางเดียว ทั้งเราก็ไม่คิดว่ามันเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดด้วย และเราขอเชื้อเชิญให้ประชาชนลงมือกระทำเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ลุกขึ้นจับอาวุธ แต่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อมีรัฐบาลเสรีประชาธิปไตยที่แท้จริงในเม็กซิโก...เราไม่ต้องการเผด็จการรูปแบบไหนทั้งนั้น และไม่ต้องการอะไรในระดับโลกอย่างลัทธิคอมมิวนิสต์สากลด้วย..."

รองผู้บัญชาการมาร์กอสยังบอกอีกว่า การปฏิวัติครั้งนี้เพื่อ "...ให้บทเรียนเรื่องศักดิ์ศรี และหน้าที่นี้ตกอยู่กับผู้อาศัยที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศนี้... มันตกอยู่กับพลเมืองที่ต่ำต้อยที่สุดที่ต้องเป็นคนเงยหน้าขึ้นด้วยศักดิ์ศรี และนี่ควรเป็นบทเรียนสำหรับทุกคน เราไม่ควรปล่อยให้ตัวเองถูกปฏิบัติแบบนี้ และเราต้องพยายามสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าเดิม โลกที่เป็นของคนทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ของคนแค่ไม่กี่คนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นี่คือสิ่งที่เราต้องการ เราไม่ต้องการผูกขาดการเป็นผู้นำการปฏิวัติ หรือบอกว่าเราคือแสงสว่าง หรือเป็นทางเลือกเพียงทางเดียวที่มีอยู่...

ี่นักข่าวคนหนึ่งถามผู้บัญชาการตาโช ซึ่งเป็นนายทหารปฏิวัติชาวพื้นเมือง
"ขบวนการซาปาติสต้ามาจากไหน?"ตาโชนิ่งไปครู่หนึ่ง สายตาเหม่อมองไปในที่ไกลโพ้น "เรามาจากส่วนลึกของความหลงลืม" เขาตอบด้วยเสียงนุ่มนวลแต่เข้มข้น "จากห้วงเหวสุดลึก จนไม่มีใครได้ยินเสียงของเรา สุดมืดมิด จนไม่มีใครมองเห็นเรา เราปรากฏออกมาจากส่วนลึกที่ลึกที่สุดของความลืมเลือน"
(คำอธิบายภาพประกอบ : ภาพของรองผู้บัญชาการมาร์กอส) ผู้สนใจดูภาพประกอบเกี่ยวกับ
ขบวนการซาปาติสต้าคลิก http://aztlan.net/zapafotos.htm