บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ








Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๐๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙
10-08-2547

Midnight's People Politics

บั้นปลายการเรียนรู้จากรัฐบาลทักษิณ
บทสรุปนักวิชาการ ว่าด้วย"รัฐบาลเต่าถุย"
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

นิยามศัพท์: เต่าถุย หมายถึงบัวใต้น้ำที่เต่ากินเข้าไปแล้วยังถุยทิ้ง
(ศัพท์คำนี้มาจากวรรณกรรมแฉผู้ชายเล่มหนึ่ง)

บทความที่เผยแพร่บนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน
รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เกี่ยวกับเรื่องราวในบั้นปลายรัฐบาลทักษิณ ๒๕๔๙
ประกอบด้วยบทความ ๔ เรื่อง ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดังนี้
๑. ภารกิจทางการเมืองของประชาชน ๒. การเมืองนิ่งเสียจนไม่น่าลงทุน
๓. หันหน้าเข้าหากัน ๔. ภาษี, กฎหมาย และความชอบธรรม
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1001
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)

 

บทสรุปนักวิชาการ ว่าด้วย"รัฐบาลเต่าถุย"
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ - นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

1. ภารกิจทางการเมืองของประชาชน
การเลือกตั้งทั่วไปต้องมีในเมืองไทยแน่ แต่จะมีเมื่อไรไม่ทราบได้ แม้แต่มีรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญ ก็ยังต้องจัดให้มีการเลือกตั้งและคืนอำนาจ (ครึ่งใบ, ค่อนใบ หรือเต็มใบ) ให้แก่ประชาชนจนได้ เพราะสายเกินไปเสียแล้วสำหรับประเทศไทย ที่จะถอยกลับจากการใช้สภาเป็นฐานความชอบธรรมส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหาร
พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม ทำให้เชื่อได้ว่าคงไม่มีรัฐประหาร และจะมีการเลือกตั้งแน่

กกต.ชุดนี้อาจพิสูจน์ความจริงของภาษิตชายหนุ่มรูปไม่หล่อว่า "ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก" ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดมาก เพราะไม่มีสถาบันที่ต้องทำงานสาธารณะที่ไหนในโลก จะสามารถทำงานได้ หากปราศจากความไว้วางใจจากผู้คนอย่างกว้างขวางเช่นนี้ แม้ผู้ที่ไม่ไว้วางใจ กกต.อาจไม่ได้มีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของสังคม แต่ความไว้วางใจสาธารณะไม่ใช่การนับหัว ปริมาณของผู้ไม่ไว้วางใจที่มากมายขนาดนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผลการเลือกตั้งซึ่งจัดโดย กกต.ชุดนี้ขาดความชอบธรรม

ถ้าการเลือกตั้งไม่ให้ความชอบธรรม การเลือกตั้งก็ไร้ความหมาย
ในแง่นี้ กกต.ชุดนี้จึงไม่มีประโยชน์แก่ใครเลยสักฝ่ายเดียว แม้แต่ฝ่ายที่ต้องการผลการเลือกตั้งมาค้ำจุนอำนาจของตนเองก็ไม่สู้จะได้ประโยชน์จาก กกต.ชุดนี้นัก ดังนั้นจึงน่าจะฟันธงไปเลยได้ว่า ตราบเท่าที่ กกต.ชุดนี้ยังอยู่ การเลือกตั้งจะไม่ช่วยทำให้รัฐบาลใหม่ได้รับความไว้วางใจจากสังคมมากนัก ทั้งๆ ที่ความไว้วางใจเป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ขาดแคลนอย่างยิ่ง

ความไม่ชอบธรรมของ กกต.ชุดนี้อาจไม่ได้อยู่ที่บัญญัติของกฎหมายเท่ากับความไว้วางใจ ดังที่กล่าวแล้วว่าองค์กรทางการเมืองที่ขาดความไว้วางใจเท่านี้ ไม่น่าจะทำงานได้

ในแง่บัญญัติของกฎหมาย แม้ว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุชัดเจนว่า กกต.ต้องมีกรรมการดำรงตำแหน่งอยู่เท่าใด จึงสามารถปฏิบัติงานได้ แต่คงจะเห็นพ้องต้องกันว่า เหลือกรรมการอยู่แค่คนเดียว คงไม่พอที่จะทำให้ กกต.ทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย คำถามตามมาก็คือ ถ้าสอง-สาม-สี่ เท่าไรจึงถือว่าน่าจะเพียงพอสำหรับเป็น "องค์" ของ กกต. ฉะนั้นในแง่การใช้กฎหมาย ถึงอย่างไรก็ต้องมีตัวเลขตัวหนึ่งของ "องค์" หรือ quorum อย่างปฏิเสธไม่ได้

ตัวเลขนั้นคืออะไร นักกฎหมายท่านหนึ่งบอกผมว่า ในประเพณีโรมันซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานกันทั่วไปนั้น quorum ต้องมีอย่างน้อยสาม แต่ผมเตือนท่านว่าในประเพณีของพระพุทธศาสนา จะขึ้นชื่อว่าสงฆ์ได้ต้องมีอย่างน้อยสี่ แปลว่าอะไรคือ "องค์" นั้นแตกต่างกันได้ตามวัฒนธรรมและตามยุคสมัย

คดีที่ค้างอยู่ในศาลปกครองที่มีผู้ร้องว่า การจัดการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นในวันที่ 23 กรกฎาคม 2549 ของ กกต.ในครั้งนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคณะกรรมการ กกต.มีไม่ครบ "องค์" ก็อาจมีคำตัดสินออกมาทางใดทางหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งผมคิดว่าอาจชี้ชะตาของคณะกรรมการที่เหลืออยู่ขณะนี้มากเสียกว่าความเห็นของที่ประชุมศาลฎีกาเสียอีก

การเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะเกิดขึ้นแน่ (ไม่ว่า กกต.ชุดไหนจะเป็นผู้จัดก็ตาม) พรรคใดจะได้ที่นั่งในสภามากที่สุด ทุกคนคงลงความเห็นพ้องต้องกันว่าพรรค ทรท. แม้ว่าคะแนนเสียงอาจไม่มากอย่างเคย เพราะจะมีคนจับตาดูและทักท้วงการใช้กลไกรัฐมาสนับสนุน รวมทั้งจับตาดูการจัดการเลือกตั้งมิให้ฉ้อฉลมากนักด้วย แม้กระนั้น พรรค ทรท.ก็ยังน่าจะได้ที่นั่งในสภาเกินกึ่งหนึ่ง อีกทั้งนี่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดทางการเมืองของพรรค ทรท.เองด้วย เพราะการเป็นแกนนำของรัฐบาลผสมที่ไม่ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มคนจำนวนมหึมาของสังคม หมายถึงการไร้อำนาจต่อรองโดยสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องตำแหน่งและนโยบาย

ในที่สุดนายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็คือ คุณทักษิณ ชินวัตร นี่แหละ (หรือคนที่คุณทักษิณไว้วางใจให้เข้ามาทำหน้าที่แทน) แต่เป็นคุณทักษิณที่ไม่มีทางจะเหมือนเก่าได้อีกแล้ว เพราะรัฐบาลใหม่จะตั้งอยู่บนความระแวงสงสัยของคนชั้นกลางทั้งประเทศ ไม่ว่าจะระแวงสงสัยเรื่องความสุจริต ไปจนถึงการดำเนินนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก อะไรที่อ้างว่าทำค้างไว้ ถึงจะทำต่อก็ไม่ราบรื่นเหมือนเคยเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเอฟทีเอ, ขายรัฐวิสาหกิจ, โครงการเมกะโปรเจ็คต์, นโยบายเอื้ออาทร ฯลฯ

เสียงคัดค้านท้วงติงจะดังระงมทั้งในสื่อ, ในถนน, และในการกล่าวสุนทรพจน์ต่างๆ ของผู้หลักผู้ใหญ่ที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญ นอกรัฐบาล พันธมิตรฯ ก็พร้อมจะออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลทุกเมื่อ หากหยั่งได้ว่าจะมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก (หยั่งผิดก็เลื่อนออกไปก่อน) คนอีกพวกหนึ่งที่บุรีรัมย์ สุรินทร์ และเชียงรายก็จะมีอาชีพใหม่ คือเป็นโบรกเกอร์จัดคาราวานหนุนรัฐบาล ซึ่งน่าจะเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดีกว่าเป็นโบรกเกอร์บ่อนตลาดหุ้น เพราะดัชนีไม่น่าจะกระเตื้องขึ้นเลย ส่วนข้าราชการที่เคยอุทิศตัวฝากอนาคตราชการของตัวไว้กับ "นาย" อย่างเต็มที่ ก็จะเริ่มรีรอ ไมรู้ว่า "นาย" จะรอดไหม

หรือไม่อีกทีหนึ่ง หากคิดจะใช้เงิน ต้นทุนการดำเนินธุรกิจการเมืองจะมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก

กล่าวโดยสรุปมีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้สังคมตื่นตัว คอยตรวจสอบควบคุมรัฐบาล (แม้อย่างไม่ชอบขี้หน้ามากกว่าเป็นมิตรก็ตาม) และทำให้รัฐบาลต้องทำอะไรอย่างระมัดระวังมากขึ้น การใช้เสียงโหวตของลูกสมุนในสภาอย่างเดียวไม่พอที่จะปกป้องนักการเมืองที่ตะกละมูมมามได้อีกแล้ว อย่างที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ว่าไว้แหละครับ ประชาธิปไตยระบบปาเลียเมนต์ทำงานได้ดี ก็ต่อเมื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสังคมได้รับการปกป้องอย่างแข็งขัน แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต้องมีสังคมที่พร้อมจะหวงแหนปกป้องสิทธิเสรีภาพของตัว และใช้สิทธิเสรีภาพนั้นอย่างจริงจังด้วย

ฉะนั้น ผมจึงเห็นว่าดีแล้วที่การเมืองไทยจะพ้นจากสภาพผูกขาดของคุณทักษิณเสียที อย่าลืมด้วยนะครับว่า สภาพผูกขาดทางการเมืองเช่นนี้ ไม่ได้เกิดจากคะแนนเสียงอันท่วมท้นที่คุณทักษิณได้รับมาอย่างเดียว (อันที่จริงนั่นเป็นปลายเหตุด้วยซ้ำ) แต่เกิดจากสังคมที่เฉื่อยแฉะมักง่ายมองการณ์สั้น โดยเฉพาะของกลุ่มคนชั้นกลางซึ่งบัดนี้กลายเป็นศัตรูของคุณทักษิณ การละเมิดสิทธิเสรีภาพและนิติธรรมของรัฐบาลทักษิณกระทำขึ้นท่ามกลางความเงียบสงบของสื่อ และความเห็นชอบอย่างท่วมท้นของผู้ซื้อสื่อ

ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มกลุ่มประท้วงของสมัชชาคนจน, การฆ่าตัดตอนสองพันกว่าศพ, การใช้ตำรวจทำร้ายร่างกายชาวบ้านที่ต้องการยื่นหนังสือให้แก่นายกฯ ที่หาดใหญ่, การอุ้มฆ่าในภาคใต้, กรือเซะและตากใบ, ทนายสมชาย นีละไพจิตร, การสังหารผู้นำชาวบ้านในหลายท้องที่, การทำเอฟทีเอกับจีนอย่างรีบร้อน, โครงการเมกะโปรเจ็คต์ที่ไม่เคยปรึกษาประชาชน, ฯลฯ

การผูกขาดทางการเมืองเกิดขึ้นได้แต่ในสังคมที่เฉื่อยแฉะมักง่ายและมองการณ์สั้นอย่างนี้แหละครับ ถ้าสังคมโดยเฉพาะคนชั้นกลางเปลี่ยนไปเป็นสังคมที่ "สกรรมนิยม" (active) ในการควบคุมตรวจสอบรัฐบาล สังคมไทยและประชาธิปไตยไทยย่อมก้าวหน้าขึ้นอย่างแน่นอน โดยไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษที่มาจากการรัฐประหารด้วย

คนเราโตได้จากการเรียนรู้ประสบการณ์นะครับ ไม่มีใครโตขึ้นมาได้จากการประคับประคองของผู้ใหญ่หรอกครับ

ถึงที่สุดของที่สุดแล้ว มันจะแตกต่างอะไรที่ใครจะขึ้นมาเป็นนายกฯ ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่านายกฯ หน้าเหลี่ยมหรือหน้าหล่อ แต่อยู่ที่ว่า เรา - ประชาชนไทยทุกกลุ่มทุกชนชั้น - สามารถตรวจสอบบังคับควบคุมรัฐบาลนอกหีบเลือกตั้งได้หรือไม่ต่างหาก รวมทั้งเราสามารถมีเวทีกลางสำหรับการต่อรองกันโดยสันติได้หรือไม่ (โดยไม่ต้องหวัง win-win situation เพราะนั่นเป็นเรื่องของนักธุรกิจซึ่งมีเป้าหมายแคบแต่เพียงกำไร ซึ่งพอแบ่งปันกันได้ แต่เป้าหมายของสังคมสลับซับซ้อนกว่านั้นมาก ฉะนั้นอุดมคติของการต่อรองในสังคมประชาธิปไตยจึงเป็นเพียงไม่มีใครได้หมด และไม่มีใครเสียหมดเท่านั้น)

มีสัญญาณส่อให้เห็นว่า ศักยภาพในการตรวจสอบควบคุมรัฐบาลของสังคมไทยจะดีขึ้นภายใต้รัฐบาลทักษิณ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มิได้หมายความว่าควรพอใจแต่เพียงเท่านั้น เพราะกำลังสมรรถภาพของสังคมไม่ได้มีมากนัก ในการเผชิญกับการยึดกุมสื่อ, การใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉล, การมีตำรวจเป็นเครื่องมือ, และเงินทุนสำหรับใช้ทางการเมืองอีกมหาศาล พลังเข้มแข็งที่มีอยู่ขณะนี้ก็อาจอ่อนลงในระยะยาว กลับกลายเป็นสังคมเฉื่อยแฉะมักง่ายและมองการณ์สั้นอีก

ฉะนั้น สิ่งที่การเมืองภาคประชาชนจะต้องผลักดันอย่างหนักในเวลานี้ คือการเปิดพื้นที่สาธารณะที่เป็นประชาธิปไตยให้กว้างขวาง ต้องร่วมกันต่อสู้ (อย่างน้อยในเชิงสัญลักษณ์) กับแกนนำกลุ่มพันธมิตร เมื่อพวกเขาโดนตั้งข้อหาซึ่งควรเป็นสิทธิพลเมืองที่ต้องได้รับความคุ้มครอง หากพวกเขาชนะคดีในศาล ควรช่วยกันกดดันให้ สตช.ลงโทษเจ้าพนักงานที่ตั้งข้อหาอันขัดกับรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับควรช่วยกันกดดันให้ สตช.ลงโทษตำรวจที่ทำร้ายร่างกายผู้ประท้วงท่อก๊าซที่หาดใหญ่ และทำคดีซึ่งละเมิดรัฐธรรมนูญและในที่สุดศาลได้ยกฟ้อง อย่าปล่อยให้ตำรวจตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาล และข้อนี้ประชาชนต้องทำเอง อย่าไปหวังกับ ผบ.ตำรวจ

ในขณะเดียวกัน ควรช่วยกันช่วงชิงสื่อที่ถูกครอบงำให้กลับมาเป็นของประชาชน ดังเช่นกลุ่มที่พยายามเคลื่อนไหวช่วงชิงไอทีวีกลับคืนมาเป็นทีวีเสรีของประชาชนตามเดิม ในขณะเดียวกันควรเคลื่อนไหวรวมกลุ่มบอยคอตสถานีทีวีพาณิชย์ที่ไร้ความรับผิดชอบด้านข่าวสาร ดังที่เป็นอยู่ขณะนี้อย่างจริงจัง

เราควรรวมตัวกันเพื่อช่วยกันคิดว่า จะปฏิรูปการเมืองไปในทิศทางใดและอย่างไร เพื่อให้การเมืองไทยตอบสนองความต้องการและจินตนาการของประชาชน ไม่ใช่ของกลุ่มชนชั้นนำเพียงไม่กี่คน หากเราไม่มีข้อเสนอที่ชัดเจน การปฏิรูปการเมืองจะถูกนักการเมืองช่วงชิงไปสร้างกติกากันขึ้นเอง

ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะกีดกันทักษิณออกไปจากตำแหน่งนายกฯ โดยอาศัยวิธีที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย หรือนิติธรรม แต่เราควรเตรียมตัวและเร่งสร้างพลังของสังคมไทยให้เข้มแข็งพอที่จะตรวจสอบและควบคุมรัฐบาลอย่างได้ผลดีกว่า ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะมีทักษิณเป็นนายกฯ หรือไม่ก็ตาม

2. การเมืองนิ่งเสียจนไม่น่าลงทุน
ถ้าผมเป็น "นักลงทุน" - ซึ่งแปลว่าลงทุนเพื่อจะผลิตสินค้าหรือบริการอะไรสักอย่าง ขายหากำไร ไม่ได้หมายถึงเล่นพนันในตลาดหุ้น - ผมจะหวั่นเกรงต่อความไม่แน่นอนทางการเมืองประเภทที่ไทยประสบอยู่หรือไม่? คำตอบคือ ไม่ครับ

ในฐานะนักลงทุน ความแน่นอนที่ผมต้องการไม่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แต่เกี่ยวกับอัตราภาษี, สิทธิประโยชน์ของนักลงทุน, เงินในกระเป๋าของตลาดเป้าหมาย, วัตถุดิบ, แรงงานและพลังงานในราคาที่คุ้มสำหรับนำไปผลิต, ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, ฯลฯ อะไรทำนองนี้แหละครับ ผมไม่ปฏิเสธว่า การเมืองอาจนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่ผมใช้ในการตัดสินใจดังกล่าว แต่ไม่ใช่การเมืองเรื่องใครจะเป็นนายกฯ หรือนายกฯเก่าจะโดนริบทรัพย์หรือไม่ ฯลฯ แต่การเมืองซึ่งอาจกระทบต่อความเสี่ยงในการลงทุนย่อมหมายถึงความเปลี่ยนแปลงระดับที่ถึงรากถึงโคนกว่านั้น

เช่นผมไม่ลงทุนในประเทศเนปาลช่วงนี้แน่ เพราะหากพวกเมาอิสต์ได้อำนาจหรือได้แบ่งอำนาจเพิ่มขึ้น การเมืองของพวกเขาอาจกระทบต่อปัจจัยที่ผมใช้คำนวณในการจะลงทุนที่เนปาลแน่ พวกเขาอาจไม่ยินยอมให้ผมโอนย้ายเงินออกนอกประเทศเลยก็ได้ ฉะนั้น เก็บเงินไว้ก่อนดีกว่า รออีกสองสามปีจนเห็นแนวทางชัดแล้ว ค่อยกลับมาคิดเรื่องลงทุนในเนปาลใหม่ก็ไม่สายเกินไป

แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยไม่ส่อแต่อย่างใดว่า จะมีความเปลี่ยนแปลงใกล้ไปถึงรากถึงโคน แม้แต่การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลทักษิณใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ ก็คงเปลี่ยนไม่มาก เพราะถ้ามีนายกฯคนใหม่ อย่างไรเสียก็คงยากที่จะยกเลิกทั้งหมด และอันที่จริงคุณทักษิณก็ไม่ใช่นายกฯคนแรก ที่เอาการใช้จ่ายภาครัฐเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยล้วนใช้การใช้จ่ายภาครัฐมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจทั้งนั้น เพราะมีปริมาณมหาศาล จึงมีผลต่อการเงินของประเทศอยู่ไม่น้อย

แน่นอนว่า เปลี่ยนกลุ่มอำนาจกันที เส้นสายทางธุรกิจย่อมเปลี่ยนไปบ้าง ใครที่ทำมาหากินด้วยเส้นกับรัฐบาลทักษิณอาจต้องลงทุนเสียค่าวิ่งเต้นกันใหม่ แต่หากผมเป็นนักลงทุนบริสุทธิ์ (ซึ่งมีจริงในโลกและในเมืองไทย - อย่าเชื่อคติว่า "ใครๆ เขาก็ทำ (ชั่ว) อย่างนั้น" เป็นอันขาด) จึงไม่ต้องการใช้เส้นสายทางการเมืองอะไร จะไปเดือดร้อนทำไมครับ

ด้วยเหตุดังนั้นผมจึงไม่เชื่อนายธนาคาร, สภาพัฒน์, บีโอไอ, นักวิชาการ, นักการเมือง ฯลฯ ที่มักจะออกมาเตือนเสมอว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองในขณะนี้กระทบต่อการลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวม บางคนก็เอาตัวเลขความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจซึ่งลดลงบ้าง, ตัวเลขขออนุมัติการลงทุนซึ่งลดลงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว, ตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนซึ่งก็ลดลงเหมือนกัน, ฯลฯ มาแสดง

จริงหมดเลยนะครับ แต่ข้อสรุปของคนเหล่านี้มีปัญหาด้านวิธีวิทยา คือไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว (ซึ่งจริง) กับการตัดสินใจด้านการลงทุนของนักลงทุน สองอย่างนี้สัมพันธ์กันหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ แต่ "นัก" ต่างๆ เหล่านั้นตีขลุมเอาเองต่างหากว่ามันต้องสัมพันธ์กัน และต้องสัมพันธ์กันในเชิงสาเหตุ-ผลลัพธ์เสียด้วย

แม้ผมไม่เชื่อขี้ปากของ "นัก" ต่างๆ เหล่านั้น เพราะความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยไม่กระทบต่อปัจจัยสำคัญของการลงทุน แต่หากผมเป็นนักลงทุนจริง ผมก็ไม่อยากลงทุนในประเทศไทยในช่วงนี้หรอกครับ ด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองอะไรเลยด้วย แต่มาจากเหตุผลที่ว่า ประเทศไทยไม่พร้อมจะเข้าไปอยู่ในเศรษฐกิจของโลกปัจจุบันเสียแล้ว และหากยังแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ ผมก็ไม่ขอลงทุนในประเทศไทยอย่างแน่นอน

ขอยกตัวอย่างให้ดูเพียงสองสามประเด็น
การปฏิรูปการศึกษาของไทยล้มเหลว นักวิชาการคนหนึ่งเพิ่งแถลงผลงานวิจัยของตัวเมื่อเร็วๆ นี้เองว่า หลัง พ.ร.บ.การศึกษาคลอดออกมาแล้ว คุณภาพการศึกษาของไทยกลับเลวลง ผมไม่ทราบหรอกครับว่าเขาใช้เกณฑ์อะไรเป็นตัววัด แต่ผลการศึกษาของเขาตรงกับข้อสังเกตส่วนตัวของผมพอดี ผมเชื่อว่าตัวเลขเฉลี่ยการอยู่ในโรงเรียนของเด็กไทยยาวนานขึ้นในรอบ 8-9 ปีที่ผ่านมาแน่ แต่ "คุณภาพการศึกษา" ของสังคมที่ดูจากระยะเวลาที่คนใช้ชีวิตในโรงเรียนนั้น เป็นเกณฑ์ที่ล้าสมัยเต็มทนแล้ว

โรงเรียนเป็นสถานที่สำหรับฝึกคนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งคนงานแต่ละคนจะทำงานซ้ำเก่าตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน จนถึงวันสุดท้ายก่อนปลด แต่แหล่งผลิตของโลกปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว แม้แต่ที่ยังใช้โรงงานเป็นแหล่งผลิต สภาพภายในก็เปลี่ยนไป ทักษะของแรงงานคุณภาพจะไม่ตายตัวเหมือนเก่า ทุกคนต้องมีความคิดสร้างสรรค์, ทดลองปรับเปลี่ยนได้เอง, และใฝ่หาความรู้ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก มิฉะนั้น ก็จะตามไม่ทันเทคโนโลยี และกระบวนการผลิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วพอๆ กัน

อุตสาหกรรมเหล็กกล้าในสหรัฐสามารถลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงได้ 5% ไม่ใช่เพราะนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทหรอกครับ แต่เพราะคนงานพบว่าหากหมั่นปิดประตูเตาทุกครั้งที่เติมเชื้อเพลิง ก็จะทำให้ลดการใช้เชื้อเพลิงไปได้ 5% แปลว่าคนงานรู้จักปรับเปลี่ยน, สังเกตปรากฏการณ์, มีอำนาจต่อรองเงื่อนไขการทำงาน (พอที่จะทำให้ผู้จัดการเห็นว่าเสียเวลาปิดประตูคุ้มกว่า), มีอำนาจต่อรองผลประโยชน์ที่คนงานพอใจ (ไม่งั้น ปล่อยให้บริษัทเจ๊งไปเสียก็สะใจดี), ฯลฯ

ฉะนั้น คุณภาพของการศึกษาจึงกลายเป็นเรื่องของโอกาสและความใฝ่ใจที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต คุณภาพการศึกษาจึงไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนอย่างเดียวอีกแล้ว แต่อยู่ในสังคมวงกว้าง สื่อของสังคมนั้นเป็นอย่างไร ทีวีมีแต่ละครน้ำเน่า หนังสือบันเทิงและกีฬาคือสิ่งที่คนอ่านมากที่สุด ทั้งประเทศแทบจะหาห้องสมุดไม่เจอ พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้มีขึ้นสำหรับผลาญเงินเล่น ฯลฯ

จะลงทุนในประเทศนี้ได้อย่างไร นอกจากตั้งโรงงานนรกขึ้นตามชายแดน เพื่อกดขี่ขูดรีดแรงงานต่างด้าว หรือใช้เส้นใหญ่ทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมด้วยแคดเมียมแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ ฯลฯ แต่ผมอยากเป็นนักลงทุนที่ดีนี่ครับ อย่างน้อยได้กำไรแล้วก็ต้องเหลือความเป็นมนุษย์ให้ผมไว้บ้าง ผมจึงไม่อยากลงทุนในพาราสาวัตถีอย่างแน่นอน… ตกนรกตั้งแต่ยังไม่ทันตาย

ยกตัวอย่างอีกเรื่องคือ"พลังงาน" โลกเราทั้งโลกกำลังย่างเข้าสู่ยุคที่น้ำมันปิโตรเลียมราคาถูกหมดไปแล้ว ทั้งเพราะสำรองร่อยหรอลง และเพราะเมื่อการพัฒนาทุนนิยมขยายตัวไปทั่วโลกเช่นนี้ ย่อมมีคนที่ต้องการใช้และเข้ามาแข่งราคาจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมาก รัฐบาลไทยเตรียมตัวเข้าสู่ยุคนี้อย่างไร ? เฉพาะรัฐบาลทักษิณทำอะไรพลาดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว เช่นเข้าไปพยุงราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งทำให้ทั้งนิสัยผู้บริโภค, ระบบเศรษฐกิจ, ระบบธุรกิจ, และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ยอมปรับตัวเข้าสู่ยุคน้ำมันแพง ในตอนนั้นรัฐบาลไม่ยอมรับว่า ภาวะน้ำมันแพงเป็นปรากฏการณ์ถาวร ไม่ใช่ชั่วคราวพอให้ผ่านฤดูหนาวอเมริกัน ผมก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลเชื่ออย่างนี้จริง หรือโกหกหลอกลวงประชาชนเพราะไม่มีกึ๋นในการนำประชาชนเข้าสู่ยุคใหม่ของพลังงานกันแน่

ครั้นปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า น้ำมันบาร์เรลละ 70-100 เหรียญจะเป็นราคาปกติไปอีกนาน รัฐบาลทักษิณก็ทำอย่างเดียวกับที่รัฐบาลไทยทำมานานแล้ว คือบอกให้ประหยัดหรือใช้น้ำมันอย่างคุ้มค่าที่สุด แต่การเตรียมการที่เป็นรูปธรรมจริงๆ เพื่อประหยัดหรือใช้น้ำมันอย่างคุ้มค่าไม่มีเลย เรื่องรถยนต์ไฮบริดหายสาบสูญไปแล้ว ควรเร่งให้เกิดโรงกลั่นเอทานอลมาตั้งนานแล้ว แต่เพิ่งมาอ้างว่าจะเปิดได้ครบเอาปีนี้เอง (และผมสงสัยว่าจะผลิตไม่ได้ตามเป้าด้วย)

งานวิจัยด้านไบโอดีเซลไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเท่าที่ควร ระบบขนส่งมวลชนมีแต่ลมปากซึ่งบรรทุกใครไม่ได้เลย ซ้ำพอคู่แข่งทางการเมืองจะขยายทางรถไฟฟ้า กลับขัดขวางเขาเพราะกลัวคู่แข่งจะได้คะแนนเสียงทางการเมือง ไม่ต่างจากสนามบินใหม่ซึ่งยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่เพียงพอสำหรับขนคนเข้า-ออก ทำให้ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้นไม่รู้กี่เท่ากว่าดอนเมือง ส่วนการขนส่งมวลชนที่เป็นการบริหารงานในกำกับของรัฐ ก็ไม่มีความโปร่งใส

ที่สำคัญกว่าประหยัดก็คือการลงทุนกับพลังงานหมุนเวียน (แสงอาทิตย์, ลม, ขยะ, ไบโอดีเซล, น้ำไหล, มูลปศุสัตว์, ฯลฯ) ซึ่งเป็นอนาคตที่เป็นจริงของพลังงานในโลก และหลายประเทศได้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้สูงขึ้นตลอดมา ทั้งรัฐบาลไทยและหน่วยผลิตพลังงานหลัก เช่น กฟผ. ไม่เคยเชื่อหรือสนใจพลังงานหมุนเวียนเลย เพราะพลังงานหมุนเวียนไม่ต้องลงทุนก่อสร้างอะไรใหญ่โต โอกาสทำมาหากินกับโครงการจึงไม่ค่อยมี และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ พลังงานหมุนเวียนรวมศูนย์ไม่ได้ ต้องให้ท้องถิ่นมีส่วนเข้ามากำกับดูแลหรือผลิตเป็นส่วนใหญ่

ฉะนั้น ราคาของพลังงานที่คนไทยต้องจ่ายสูงขึ้นตลอดมาและตลอดไป จึงเป็นราคาที่ไม่มีอนาคต แล้วแต่ฝรั่งและแขกอาหรับจะรวมหัวกันเรียกเก็บตามใจที่เต็มไปด้วยโลภะของตัว ทำไมผมจึงควรมาลงทุนในประเทศที่ไม่มีอนาคตด้านพลังงานเช่นนี้เล่าครับ

ทั้งสองตัวอย่างนี้ไม่ต้องการให้เข้าใจว่าเป็นความเหลวแหลกด้านนโยบายเฉพาะของรัฐบาลทักษิณ เพราะความเหลวแหลกเช่นนี้ปรากฏในทุกรัฐบาลไทยที่ผ่านมา และท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองนี้ก็คาดเดาได้ไม่ผิดว่า ถึงมีนายกฯคนใหม่ก็จะวางนโยบายเหลวแหลกอย่างนี้ต่อไป

ฉะนั้น ที่ผมไม่อยากลงทุนในประเทศไทยจึงไม่ใช่เพราะความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่เป็นเพราะความแน่นอนทางการเมืองของไทยต่างหาก ไกลไปที่สุดขอบฟ้าทางการเมือง ยังมองไม่เห็นแสงอะไรเลย รัฐบาลอะไรมาก็จะต่างกันที่สีสันภายนอกเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วก็บริหารผ่านไปวันๆ สำหรับบริษัทบริวารของตัวได้กอบโกยเท่านั้น ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารพอที่นักลงทุนที่คิดจะลงทุนระยะยาวไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานอยากจะลงทุนในประเทศนี้หรอก

3. หันหน้าเข้าหากัน
"หันหน้าเข้าหากัน" ผมก็เชื่อ แต่พอหันเข้าไปจริง อ๊ะ มันหน้าเก่านี่หว่า ผมไม่ได้หมายความว่าเป็นหน้าเหลี่ยมหน้าเก่า แต่ผมหมายความว่าไม่เห็นมีหน้าไหนที่พร้อมจะเริ่มต้นกันใหม่อย่างมีไมตรีจิตที่แท้จริงแก่กันเลยสักฝ่ายเดียว การกินหูฉลามร่วมกัน เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ประสาน ก็แสดงถึงระยะห่างของทุกฝ่ายอยู่แล้วว่า ไม่สามารถสัมผัสกันได้โดยตรง แต่กลับเรียกความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างกันนี้ว่า "สมานฉันท์"

สมานฉันท์จึงเป็นเพียงชื่อของเกมการต่อสู้รอบใหม่ ในสังคมที่เบื่อหน่ายกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่มีทางออก เป็นยุทธวิธีสำหรับสยบฝ่ายตรงข้าม

สมานฉันท์ในสังคมใดก็ตาม เริ่มจากการสำนึกในความผิดของตนเอง พร้อมระบุความผิดของตนเพื่อขออภัย ไม่ใช่ระบุแต่ความผิดของคนอื่น การขออภัยที่จริงใจแสดงออกได้ด้วยความพยายามที่จะแก้ไขความผิดพลาดนั้น รวมไปถึงชดเชยความเสียหายซึ่งผู้คนได้รับจากการกระทำความผิดนั้นๆ ด้วย

และอย่าลืมว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ได้ตกอยู่กับนักการเมืองเท่านั้น หากเกิดแก่คนในสังคมวงกว้าง คนที่ต้องสูญเสียญาติมิตรไปจากการฆ่าตัดตอน, การอุ้มฆ่า, และการสังหารหมู่อย่างเลือดเย็นในภาคใต้, ฯลฯ รวมไปถึงคนที่สูญเสียช่องทางทำมาหากินไปแทบตลอดชีวิต ด้วยสัญญาเปิดประเทศที่ชิงทำกับมหาอำนาจต่างๆ อย่างมีเงื่อนงำ และผู้คนอีกมากมายที่ถูกล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ผมไม่ได้หมายความว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการกระทำของฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว ผมแน่ใจว่านักการเมืองในฝ่ายค้าน หรือแม้แต่ประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลในท้องถนน หรือฝ่ายที่อาสาหนุนรัฐบาลกลางถนนก็ตาม ล้วนได้ทำผิดไว้แก่กันและกัน และทำผิดแก่สังคมไทยโดยรวมทั้งสิ้น (โดยไม่เกี่ยวกับการถูกดำเนินคดีของตำรวจ เพราะผมเชื่อว่าหลายคดีที่ตำรวจพยายามจะเอาผิดกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนั้น ล้วนเป็นข้อหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งนั้น)

ดังนั้นจึงควรประกาศสัจธรรมไว้ตรงนี้เลยว่า ไม่มีการสมานฉันท์ที่ไหนเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่เริ่มจากความจริง ซึ่งทุกฝ่ายมีโอกาสรู้เท่าๆ กัน สมานฉันท์ไม่มีทางเกิดได้ระหว่างคนสองคนที่แอบเจรจากันเหนือชามหูฉลามโดยไม่มีใครรู้เห็น

สมานฉันท์จึงเป็นเรื่องที่กว้างกว่านักการเมือง ไม่ใช่หนทางไปสู่การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ไม่ใช่ข้อห้ามความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อลงสนามเลือกตั้งกันโดยสะดวก แต่สมานฉันท์เป็นการสร้างบรรยากาศแห่งไมตรีจิตให้คลุมทั่วทั้งสังคม การสงบแต่เบื้องบนแล้วค้าความข้างล่าง ไม่ใช่สมานฉันท์. จนถึงวันนี้ มีใครได้ยินบ้างว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสำนึกผิดและขอลุแก่โทษ หรือต้องการสมานฉันท์กับสังคมไทยโดยรวม

อะไรที่เคยทำกันมาก็ยังทำต่อไปเหมือนเดิม โครงการที่ไม่โปร่งใสก็คงยังไม่โปร่งใส โดยบริษัทบริวารซึ่งมีอำนาจดำเนินการไม่ยอมให้มีการตรวจสอบจริงจัง ซ้ำยังอนุมัติโครงการใหม่ๆ ออกมาประหนึ่งไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ และขาดความโปร่งใสตามเคย ฤดูโยกย้ายข้าราชการก็ยังเป็นฤดูของการสั่งสมพรรคพวกบริวารเข้าไปกุมอำนาจในกลไกของรัฐ ขจัดคนที่ตนคิดว่าเป็นศัตรูออกไปให้พ้นทาง

เพราะสมานฉันท์ถูกมองแคบแต่เพียงหยุด "ด่า" กันในระหว่างนักการเมืองเท่านั้น คนไทยไม่เกี่ยว ประชาชนเป็นเพียงหญ้าแพรกที่ต้องแหลกลาญจากการโรมรันกันของพญาช้างสาร ใครจะไปสนใจสมานฉันท์กับหญ้าแพรก หันหน้าเข้าหากันจึงเจอแต่หน้าเก่าอย่างที่กล่าวแล้ว

นอกจากสมานฉันท์ที่แท้จริงต้องเป็นสิ่งที่กว้างแล้ว ยังต้องเป็นสิ่งที่ลึกเข้าไปถึงจิตใจด้วย คือมองคนอื่นอย่างเป็นมิตรด้วยความจริงใจ หรืออย่างน้อยก็เห็นว่าคนอื่นมีความเป็นคนเท่ากันกับตัว แม้มีความเห็นขัดแย้งกันหรือแม้แต่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ก็เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้กันโดยสุจริตและเปิดเผย ไม่เอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่งในการต่อสู้ (เช่นจับจองพื้นที่สาธารณะในสื่อฝ่ายเดียว หรือเตรียมคนเป็นล้านไว้ก่อการจลาจลในบ้านเมืองหากตัวเพลี่ยงพล้ำอย่างหนึ่งอย่างใด)

หากให้ความเคารพผู้อื่นเสมอตนลึกถึงระดับจิตใจ ก็จะมองเห็นคนที่ตัวสมานฉันท์กว้างขวางทั่วไปหมด ความกว้างและความลึกของสมานฉันท์จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่แต่เฉพาะสมานฉันท์กับคนอื่นเท่านั้น สรรพสิ่งในโลกนี้ก็ต้องสมานฉันท์คือเห็นคุณค่าของกันและกัน เพราะสรรพชีวิตล้วนเกื้อกูลกันจึงทำให้ทุกชีวิตดำเนินต่อไปได้ คนที่มีจิตใจสมานฉันท์แท้จริงย่อมไม่เอาช้างไปแลกกับสัตว์ต่างถิ่นอื่น เพราะช้างและสัตว์พื้นถิ่นย่อมมีความสุขในพื้นถิ่นของตนเองทั้งนั้น ไม่ว่าช้างหรือหมีโคอาลา

พูดเรื่องนี้แล้วผมก็อดไม่ได้ที่จะบอกว่า หากจะพบปะใครเพื่อสมานฉันท์ แม้เป็นสมานฉันท์จอมปลอม ก็ไม่ควรพบปะกันในร้านหูฉลาม เพราะการกินโง่ๆ ที่ไม่รู้จักเลือกเช่นนี้เอง ที่ทำให้ฉลามกำลังจะสูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว นอกจากถิ่นที่อยู่อาศัยและอาหารของฉลามจะถูกทำลายแล้ว ยังมีมนุษย์อีกมากที่ไม่เคยคิดจะสมานฉันท์กับโลกจ้องกินครีบของมันด้วยราคาแพงๆ อีกด้วย การกินหูฉลามแสดงได้ชัดเจนอยู่แล้วว่า สมานฉันท์ไม่มีทางเข้าไปลึกถึงระดับจิตใจของผู้เสพได้เลย

สังคมสมานฉันท์ไม่ใช่สังคมที่ไม่มีข้อขัดแย้งหรือความขัดแย้ง เพียงแต่ความขัดแย้งนั้นถูกแก้ไขไปตามกระบวนการที่ไม่ทำให้เกิดความแตกร้าวอย่างรุนแรงต่างหาก ไม่มีสังคมใดในโลกนี้ ทั้งในปัจจุบันหรืออดีต ที่ไม่มีความขัดแย้งเลย. สังคมที่มองความขัดแย้งว่าเป็นความแตกร้าวเสียสามัคคี คือสังคมที่ซุกความขัดแย้งเอาไว้ภายใต้ความหน้าไหว้หลังหลอก ในที่สุดก็ปะทุออกมาเป็นความรุนแรงที่จับต้นชนปลายไม่ถูก และสร้าง "เหยื่อ" ของความรุนแรงกว้างขวางไปทั่ว

"ยามศึกเรารบ แต่ยามสงบเราไม่รบกันเอง" ตามเนื้อร้องของสถานีโทรทัศน์ที่เจ้าของเข้าไปร่วมรัฐบาล เป็นตัวแทนความไร้เดียงสาของสังคมไทยเองที่ไม่เข้าใจว่า สมานฉันท์ไม่ใช่การขจัดมิให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเลย ความอยุติธรรมนานาชนิดในสังคมจะแก้ได้อย่างไร หากไม่นำขึ้นสู่เวทีสาธารณะ เพื่อขัดแย้งกันอย่างเปิดเผย และต่อรองกัน โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ทำอย่างไรคนที่มั่งคั่งรุ่มรวยขึ้นมาจากการสัมปทานทีวีจึงจะมองเห็นความอยุติธรรมนั้น ถ้าไม่เปิดให้มีความขัดแย้งกันโดยสงบ หรือฝ่ายที่ไม่ได้รับความยุติธรรมควรทนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตายไปเองกระนั้นหรือ

บางทีผมอาจเรียกร้องจากนักการเมืองมากเกินไป เพราะเขาก็เป็นแค่นักการเมืองในสังคมที่ไม่รู้จักแม้แต่ความขัดแย้ง และสังคมที่ไม่รู้จักความขัดแย้ง จะรู้จักการสมานฉันท์ได้อย่างไร ?

4. ภาษี, กฎหมาย และความชอบธรรม
หลักการของภาษีและการบริจาคเพื่อสาธารณกุศลแตกต่างเป็นตรงกันข้าม มาจากการมองโลกคนละมุม ไม่เกี่ยวกัน และอันตรายมากที่จะเอามาแทนกันและกัน

โดยพื้นฐาน ภาษีคือ "ค่าเช่า" ที่บุคคลต้องจ่ายให้แก่สังคม เนื่องจากประโยชน์ที่เขาได้รับจากสังคมและรัฐ เช่น ได้รับความปลอดภัย, ได้รับหลักประกันแห่งความยุติธรรม, ได้รับความสะดวกในการดำเนินชีวิตและการงาน ฯลฯ ประโยชน์นี้ทุกคนได้รับเท่าเทียมกัน แต่ความสามารถในการจ่าย "ค่าเช่า" มีไม่เท่ากัน ฉะนั้นจึงใช้รายได้เป็นเกณฑ์วัดว่าใครได้ใช้ประโยชน์ไปมากกว่ากัน

ฉะนั้น โดยหลักการแล้วสังคมมีอำนาจเด็ดขาดที่จะตัดสินว่า จะนำเอาเงินที่รัฐเก็บได้จากภาษีไปใช้อย่างไร ไม่เกี่ยวกับความเห็นส่วนตัวของผู้เสียภาษีด้วยประการทั้งปวง ผู้เสียภาษีอาจมีอคติกับโสเภณีด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตาม แต่สังคมก็อาจเอาภาษีไปใช้เพื่อประกันสุขภาพให้โสเภณีเป็นพิเศษกว่าโครงการ 30 บาทก็ได้ เพราะเป็นกลุ่มคนที่จำเป็นต้องใช้สุขภาพของร่างกายในการทำงาน

ภาษีมาจากการมองโลกว่า ทุกคนที่ไม่ใช่ฤษีชีไพร คืออยู่ร่วมกันในสังคมมี "หน้าที่" ต้องช่วยกันจรรโลงสังคม และอาศัยอำนาจในโลกนี้เป็นเครื่องมือบังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติ "หน้าที่" นั้น ทำแล้วจะได้ไปสวรรค์หรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ถ้าไม่ทำก็จะถูกลงโทษในชาตินี้

ส่วนเงินบริจาคเพื่อสาธารณกุศลเป็นเรื่องจิตใจของแต่ละบุคคล บางคนอาจรู้สำนึกบุญคุณของคนอื่นที่อยู่ร่วมสังคม จึงอยากแบ่งปันส่วนเกินในชีวิตของตนแก่คนอื่นๆ บ้าง บางคนอาจอยากไถ่บาปที่เอาเปรียบสังคมมาตลอดชีวิต คิดว่าเงินบริจาคจะช่วยสร้างพาหนะนำไปสู่สวรรค์ได้บ้าง บางคนอาจมองการบริจาคเป็นการลงทุน เพื่อการยอมรับของสังคมหรือเพื่อตำแหน่งทางการเมืองหรือทางศีลธรรม ฯลฯ

ผู้บริจาคในฐานะเจ้าของเงิน จะใช้เงินนั้นย่อมมีสิทธิที่จะตัดสินการใช้เงินนั้นไปในทางใดก็ได้ จึงทำให้เงินบริจาคมีเสน่ห์มากขึ้น เพราะสามารถเอาไปใช้ได้ตามแต่จุดมุ่งหมายของการบริจาค อยากไปสวรรค์ก็อาจไปซื้อพาหนะที่วัด อยากดังก็แจกตังค์หน้ากล้องทีวี อยากเป็นนายกฯ ก็อาจแจกให้ ส.ส.ที่จนๆ ฯลฯ แล้วแต่บุญและบาปของแต่ละคนจะชักนำไป และด้วยเหตุดังนั้น เงินบริจาคอาจเหมือนน้ำพริกที่ถูกตำละลายแม่น้ำ และสังคมไม่มีสิทธิจะมาต่อว่าต่อขานเจ้าของเงินแต่อย่างไร

การบริจาคมาจากการมองโลกที่ไม่เกี่ยวอะไรกับ "หน้าที่" ทางสังคม เป็นเรื่องของการหาผลตอบแทนของแต่ละบุคคล คนที่มีใจสูงก็หวังผลตอบแทนทางใจและทางจิตวิญญาณ คนที่มีใจหยาบช้า ก็หวังผลเป็นลาภ, ยศ, สรรเสริญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ร้ายไปกว่านั้น สังคมใดที่เห็นว่าภาษีและการบริจาคย่อมแทนที่กันได้ ก็เท่ากับสังคมนั้นยอมรับโดยปริยายว่า ทรัพย์คืออำนาจ คนที่ไม่มีทรัพย์ย่อมต้องพึ่งพาคนมีทรัพย์ตลอดไป เลิกพูดกันได้เลยถึงความเสมอภาค, ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, หรือนิติธรรม

ถ้าคนอย่างมหาจำลองจะเรียกร้องให้คนที่ทำรายได้ชิ้นใหญ่บริจาคกำไรของตัวแก่สังคม โดยคำนวณว่าหากต้องเสียภาษีจะมีมูลค่าเท่านั้นเท่านี้ ก็ไม่เป็นไร เพราะท่านเป็นมหาจำลองซึ่งมองโลกจากแง่ดี-ชั่วทางศีลธรรมเพียงอย่างเดียว แต่หากคนที่เป็นนักกฎหมายเรียกร้องอย่างเดียวกัน ไม่น่าจะยอมรับได้ เพราะนักกฎหมายไม่ควรเป็นมหาจำลอง และสิ่งสุดท้ายที่นักกฎหมายควรเป็นคือผู้ประกาศิตความดี-ชั่วทางศีลธรรม

ภาษีเป็นเรื่องของกฎหมาย ถ้ามีคนทำกำไรมหาศาลได้จากตลาดหุ้นโดยไม่ต้องชดใช้อะไรแก่สังคมเลย ทั้งๆ ที่ตลาดหุ้นก็ตาม, ธุรกิจที่เอาไปซื้อขายในตลาดก็ตาม, หลักประกันความมั่นคงของธุรกิจนั้นๆ และหลักประกันความมั่นคงของสัญญาการซื้อขาย ฯลฯ ล้วนเกิดขึ้นได้เพราะสังคมทั้งนั้น แสดงว่ากฎหมายมีปัญหาเสียแล้ว การพิจารณาด้านภาษีคือการพิจารณาความถูกต้องของกฎหมายไปพร้อมกัน

หากพิจารณาจากทุกแง่มุมของกฎหมายแล้ว กรณีเช่นนี้ไม่ต้องเสียภาษีจริง (พิจารณาจริงๆ ไม่ใช่พิจารณาจากแง่มุมของนักกฎหมายที่เป็นลูกจ้างทางตรงหรือทางอ้อมของธุรกิจที่ทำกำไร) แสดงว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีช่องโหว่มากมายเสียจนคนชั่วสามารถเล็ดลอดไปได้สบายๆ ฉะนั้นต้องหาทางอุดช่องโหว่ในทางกฎหมาย ยิ่งกว่านี้หากพบว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมาเพื่อช่วยให้คนรวยไม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ก็ควรต้องทบทวนและรื้อกฎหมายส่วนนี้ทั้งระบบ

มูลค่าและคุณค่าจากการได้ทบทวน, รื้อ และสร้างใหม่ซึ่งระบบกฎหมายภาษี ให้มีความเป็นธรรม ย่อมมีแก่สังคมมากกว่าเงินบริจาคอย่างเทียบกันไม่ได้ ไม่ว่าเงินบริจาคนั้นจะมีมูลค่ากี่หมื่นล้านบาทก็ตาม

เรามีนักกฎหมายก็เพื่อประโยชน์แก่สังคมตรงนี้ แม้ไม่ได้ปฏิเสธว่านักบุญก็มีคุณค่าแก่สังคมเหมือนกัน แต่สังคมจะประกอบด้วยนักบุญอย่างเดียวไม่ได้

การขายหุ้นของครอบครัวชินวัตรแก่บรรษัทลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ จะถูกหรือผิดกฎหมายและกฎของ ก.ล.ต.ประการใด น่าจะศึกษากันอย่างถ่องแท้ จะฟังความข้างเดียวจากนักกฎหมายที่รับใช้ครอบครัวชินวัตรอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะดูเฉพาะจากที่สื่อรายงานไว้ ก็มีความเห็นของนักกฎหมายอื่นที่คิดไม่เหมือนกัน เช่นซื้อหุ้นนอกตลาดในราคาพาร์แล้วมาขายในตลาด ไม่น่าจะได้สิทธิการไม่เสียภาษีเป็นต้น นักกฎหมายมีหน้าที่ทำให้กฎหมายชัดเจน หรือชี้ให้เห็นจุดอ่อนของกฎหมาย เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงได้

หากการซื้อขายหุ้นในลักษณะนี้ไม่ผิดกฎหมายและกฎของ ก.ล.ต.เลย เพราะได้หาช่องไว้สำหรับหลบเลี่ยงอย่างรัดกุมแล้ว ก็แปลว่าครอบครัวชินวัตรไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย กำไรที่พวกเขาได้มาจะเอาไปใช้ทำอะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่มีใครมีสิทธิไปเรียกร้องให้เขาใช้กำไรนั้นไปในทางใด

อย่างไรก็ตาม ในโลกนี้ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญกว่ากฎหมายอยู่ด้วย นั่นคือความชอบธรรม (decency) แต่ความชอบธรรมเป็นเรื่องของความละเอียดอ่อน ต้องการความเข้าใจกระบวนการที่ยอกย้อนซ่อนเงื่อนเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัวอย่างหน้าด้านๆ ให้ดี

จนถึงนาทีที่เขียนบทความนี้ สื่ออิสระที่เหลืออยู่คือหนังสือพิมพ์ยังทำการบ้านเรื่องนี้ไม่ดีพอ เพราะมัวไปเล่นแต่เรื่องภาษีและกฎหมาย สองเรื่องนี้ก็มีความสำคัญ แต่ข้อมูลที่สื่อควรไปขุดคุ้ยให้มากกว่าการให้สัมภาษณ์ของนักการเมืองและแอ๊คติวิสต์คือนักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎและจริยธรรมการค้าในตลาดหลักทรัพย์

ยิ่งเรื่องของความชอบธรรมด้วยแล้ว สื่อมีหน้าที่ต้องกลับไปตรวจสอบกระบวนการอันยอกย้อนของการขายหุ้นครั้งนี้อย่างละเอียด ทั้งในแหล่งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยไม่ได้ตั้งใจ ผู้เขียนได้พบบุคคลจำนวนไม่น้อยที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการอันยอกย้อนนี้ ว่าทั้งสองฝ่ายมีเจตนาที่จะหลบเลี่ยงกฎหมาย (หรือปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น) กันอย่างไร แต่น่าเสียดายที่ผู้เขียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ไม่พอจะเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งได้ จับความได้แน่นอนเพียงว่า ความยอกย้อนซ่อนเงื่อนเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างไรทั้งสิ้น หากทั้งสองฝ่ายมีความสุจริตใจที่จะซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันตามปกติธรรมดา

รวมทั้งข้อสงสัยว่า ก.ล.ต.อาจ "เลือกปฏิบัติ" กับการซื้อขายของผู้มีอำนาจทางการเมืองด้วย (แม้ทำโดยไม่ผิด "กฎ" อีกตามเคย)

บุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างดี และพร้อมจะให้ข้อมูลแก่สื่อยังมีอีกมาก หลายคนคงไม่อยากให้อ้างชื่อในสื่อ อย่างน้อยก็เพื่อความมั่นคงปลอดภัยในหน้าที่การงานของตน แต่สื่อสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ แล้วตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลอื่น ทั้งที่เป็นบุคคลและเอกสาร จนแน่ใจว่าได้เรื่องจริงมาแล้ว ก็สามารถนำมาเขียนอย่างที่ชาวบ้านพึงเข้าใจได้ เพื่อเสนอให้ประชาชนได้เห็นว่า การซื้อขายหุ้นครั้งมโหฬารนี้ มีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด

อันที่จริงความชอบธรรมมีอำนาจยิ่งกว่ากฎหมายเสียอีก โดยเฉพาะแก่บุคคลซึ่งเป็นนักการเมืองและต้องได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน เครื่องมือการตรวจสอบผู้บริหารทางการเมืองของประชาชนไม่ได้มีแต่กฎหมาย แม้การกระทำที่ถูกต้องตามตัวอักษรของกฎหมาย ก็ต้องมีความชอบธรรมควบคู่ไปด้วย ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถแยกนักการเมืองสุจริตออกจากโจรเสื้อนอกได้

ประชาชนจะมีเครื่องมือนี้ได้อย่างไร ถ้าสื่อไม่สนใจประเด็นความชอบธรรม ซึ่งไม่อาจประกาศออกมาเฉยๆ โดยไม่สอบสวนและรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อชี้แจงให้สาธารณชนได้เข้าใจ



 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H
R
พูดเรื่องนี้แล้วผมก็อดไม่ได้ที่จะบอกว่า หากจะพบปะใครเพื่อสมานฉันท์ แม้เป็นสมานฉันท์จอมปลอม ก็ไม่ควรพบปะกันในร้านหูฉลาม เพราะการกินโง่ๆ ที่ไม่รู้จักเลือกเช่นนี้เอง ที่ทำให้ฉลามกำลังจะสูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว นอกจากถิ่นที่อยู่อาศัยและอาหารของฉลามจะถูกทำลายแล้ว ยังมีมนุษย์อีกมากที่ไม่เคยคิดจะสมานฉันท์กับโลกจ้องกินครีบของมันด้วยราคาแพงๆ อีกด้วย การกินหูฉลามแสดงได้ชัดเจนอยู่แล้วว่า สมานฉันท์ไม่มีทางเข้าไปลึกถึงระดับจิตใจของผู้เสพได้เลย