บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ








Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๙๙๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙
08-08-2547

Midnight's Spirituality

ประสบการณ์ที่แตกต่างทางจิตวิญญานที่นาโรปะ
ประสบการณ์ตรงจากนาโรปะ เมืองโบลเดอร์ โคโรลาโด
วิจักขณ์ พานิช : นำสนทนา
นักศึกษามหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา

บทความนี้ได้รับมาจาก อ.ชลนภา อนุกูล
เป็นเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้รับจากการเรียน ณ มหาวิทยาลัยนาโรปะ
เพิ่มเติมจากบทความลำดับที่ ๙๘๘ ที่เคยบรรยายไปแล้วโดยคุณณัฐฬส วังวิญญู
สนใจบทความลำดับที่ ๙๘๘ คลิกไปอ่านได้จากที่นี่
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 998
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15.5 หน้ากระดาษ A4)

 

ประสบการณ์จากนาโรปะ เมืองโบลเดอร์ โคโรลาโด
วิจักขณ์ พานิช : นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา

บันทึกการประชุมจิตวิวัฒน์ ครั้งที่ ๑๐ (๖/๒๕๔๗)
วันจันทร์ที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๓๐ - ๑๕.๓๐ น.
ห้องประชุม มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


การประชุมช่วงบ่าย
- ประสบการณ์ตรงจากนาโรปะ
วิจักขณ์: ผมวิจักขณ์ พานิช ครับ กำลังศึกษาปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ เมืองโบลเดอร์ โคโรลาโด คิดว่าหลายๆ ท่านคงได้ยินชื่อแล้ว พอดีกลับไปบ้านเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ได้เปิดอ่านรายงานการประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งก่อน พบว่าพี่ณัฐฬสได้พูดไปแล้วเป็นส่วนมาก ว่านาโรปะเป็นอย่างไร ซึ่งคนที่สนใจน่าจะกลับไปอ่าน ก็จะได้รายละเอียดชัดเจนพอสมควร ส่วนที่ผมจะพูดในวันนี้ เป็นลักษณะของคนที่กำลังเรียน เหมือนขับรถไปแล้วอธิบายว่านี่คืออะไร คงจะไม่สรุปว่าการศึกษาต้องเป็นแบบนี้ ทุกที่ต้องเป็นแบบนาโรปะ หรือทุกคนต้องเรียนนาโรปะ

จริงๆ แล้วตอนกลับมา ผมได้ไปคุยกับหลายๆ ท่าน ได้คุยกับคุณอาวิศิษฐ์ วังวิญญู ที่เชียงราย ไปดูดประสบการณ์มาในลักษณะของการทำสุนทรียสนทนา ผมชอบและเห็นคุณค่าของสุนทรียสนทนา เพราะเป็นการสังเคราะห์ความรู้ด้วยกัน ไม่ใช่ผมที่จะบอกว่านาโรปะดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่คือการสังเคราะห์ว่าประสบการณ์ที่ได้มามีประโยชน์อย่างไร ?

ก่อนอื่นผมขอเล่าเรื่องของตัวเองว่า ทำไมถึงไปเรียนที่นั่น สนใจอะไร ชีวิตผ่านมาเป็นอย่างไร จริงๆ ผมยังเด็กมาก ตอนนี้อายุย่าง ๒๕ ปี จบปริญญาตรีจากวิศวะ จุฬาฯ เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ชีวิตช่วงวัยรุ่น อายุประมาณ ๑๕ - ๑๘ ปี ก็คงเหมือนวัยรุ่นทั่วไป คือค่อนข้างมีความสับสน พยายามค้นหาตัวเอง ว่าเราชอบอะไร มีความสนใจอย่างไร เข้ามหาวิทยาลัยโดยที่ยังไม่รู้เลยว่า อยากเป็นอะไร แต่ตามกระแสสังคมไป ว่าคนเรียนเก่งจะต้องเรียนแพทย์หรือเรียนวิศวะ ตอนนั้นผมทะเลาะกับคุณพ่อหนัก ทำให้มีอคติกับคนที่เป็นแพทย์ เมื่อเอนทรานซ์จึงเลือกสอบเข้าเพียงคณะเดียว คือ วิศวะ จุฬาฯ เพราะผมก็เป็นคนเรียนเก่งคนหนึ่ง สามารถเลือกเข้าคณะอะไรก็ได้

ตอนนั้นชีวิตสับสนมาก ก็เลือกทำกิจกรรมอยู่ในคณะ อยู่กับเพื่อน แต่ก็ตอบคำถามไม่ได้สักอย่าง ว่าชีวิตคืออะไร เราเกิดมาทำไม เริ่มกินเหล้าเริ่มสูบบุหรี่เหมือนวัยรุ่นทั่วไป โชคดีตอนอายุ ๑๘ มีเพื่อนคนหนึ่งเขาฟังผมพูดแล้วชอบ ก็มาบอกผมว่าอย่าไปกินเหล้าเลย อย่าไปสับสนในตัวเอง ออกมาค้นหาชีวิตดีกว่า เขาก็เลยชวนผมไปนั่งสมาธิที่ยุวพุทธิกสมาคม ๗ วัน

ผมเป็นคนเชื่อคนยาก ก็เลยจะไปพิสูจน์ว่าคุณแม่สิริ (กรินชัย) จะเป็นลัทธิอะไรหรือเปล่า แต่ก็ปฏิบัติเต็มที่ ไม่อย่างนั้นเราจะไปบอกคนอื่นไม่ได้ว่ามันไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ทำตามที่เขาบอก ทำไปเรื่อยๆ แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตของผมเปลี่ยนทั้งชีวิตเลย ผมก็อธิบายไม่ได้เหมือนกันว่าทำไม พูดไปจะกลายเป็นการอวดอุตริ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร แต่รู้ว่า ณ วินาทีนั้น มีเหตุการณ์ที่ทำให้เราเห็นศักยภาพของจิตและของชีวิต ว่ามีคุณค่ามาก เหมือนกับว่าช่วงวินาทีสั้นๆ นั้น การที่เรากำหนดสติได้ละเอียดตลอดเวลา เราเห็นเหมือนตัวเองเปล่งแสงออกมาได้ เป็นความรู้สึกเปรียบเทียบนะครับ ไม่ใช่เป็นจริงๆ แต่เหมือนกับมีพลังมหาศาล แล้วก็เป็นอยู่ช่วงสั้นๆ คือนั่งสมาธิสั้นๆ เสร็จแล้วก็เข้าไปสู่สภาวะนั้น แล้วเราก็นอนหลับ พอตื่นขึ้นมาก็หายไป แต่จะมีความรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามาก

ในแต่ละวินาทีที่เรามีชีวิตอยู่บนโลก ถ้ามีสติอยู่กับปัจจุบัน โลกเป็นของเรา จะทำอะไรก็ได้ ประสบการณ์นี้เปลี่ยนชีวิตผมทั้งชีวิต แล้วไม่ใช่การเปลี่ยนที่มีเหตุผล คือช่วงวันที่ ๔ เขามีการกราบระลึกถึงพระคุณพ่อแม่กัน เราก็นึกในใจว่าดีนะ แต่จะกราบพ่อได้หรือเปล่า เพราะผมโกรธพ่อมานานแล้ว คิดในเชิงเหตุผลก็ดี ไปกราบแล้วกัน แต่เราจะกล้าเปล่า แต่พอเกิดเหตุการณ์วันนั้น ก็เลยรู้สึกเหนือเหตุผล คือไม่รู้แล้วว่าถูกหรือผิด แต่จะต้องกลับไปกราบท่าน ต้องถามพ่อว่ารู้สึกอย่างไร นี้ก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตผม

ตอนเรียน ผมก็ไม่อยากเรียนวิศวะ แต่ก็อยากเรียนให้จบปริญญาตรี แล้วก็ทำกิจกรรมไปด้วย ได้เป็นทั้งหัวหน้านิสิต ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ใช้ชีวิตช่วงนั้นทำความดี เหมือนกับเราตั้งปณิธานไว้ว่าเราอยากใช้ชีวิตให้มีคุณค่า ก็เลยหาทางทำความดี ทำกิจกรรมช่วยชาวบ้าน แต่ก็ยังมีความทุกข์อยู่ เหมือนติดดีครับ ความดีก็มีทุกข์เหมือนกัน ผมเป็นว้ากเกอร์ เวลาไปสอนน้อง ว่าเป็นวิศวกรต้องมีจิตสำนึกอย่างนี้ เราก็พูดๆ แต่คิดในใจว่าการเปลี่ยนเขาเป็นไปไม่ได้เลย ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาเวลาที่เห็นสิ่งต่างๆ ไม่เป็นอย่างใจ แต่ก็ยังพยายามหล่อเลี้ยงจิตใจมาเรื่อยๆ แสวงหาทางนั้นทางนี้ สุดท้ายพอเรียนจบรับปริญญา ก็ไปบวชที่สวนโมกข์ปีหนึ่ง

ชีวิตที่สวนโมกข์เป็นช่วงเวลาที่มีค่ามาก ได้ย้อนมองตัวเองตรงจุดเปลี่ยนชีวิตอีกครั้งหนึ่ง รู้สึกเหมือนกับเราเห็นความกลัวของตัวเอง และถึงจุดที่เราต้องก้าวข้ามไป ในการที่จะเรียนรู้อะไรสักอย่างที่เราต้องการจริงๆ ดังนั้น ก่อนจะสึก ด้วยความบ้าบิ่นที่อยากจะทำอะไรสักอย่าง ก็เลยเขียนจดหมายไปหาคนที่เรานับถือสองท่าน คือคุณลุงประเวศ กับ อ.สุลักษณ์ ด้านหนึ่งคือนักปราชญ์ อีกด้านหนึ่งคือนักรบ คุณลุงก็ตอบจดหมายกลับมา แนะนำที่เรียนมาสองสามแห่ง แห่งหนึ่งคือนาโรปะ

ผมก็ออกค้นหาข้อมูล คือผมจะไม่ชอบให้คนมาจูงผมไปทางนั้นทางนี้ ผมจะหาของผมเอง ไปดูเว็บไซต์ ค้นคว้าของผมเอง ว่าที่นี่ที่นั่นเป็นอย่างไร แสวงหาว่าคนเรียนจบมีไหม ไปเจอชื่อณัฐฬส ก็โทรศัพท์ไป ตอนนั้น พี่ณัฐฬสนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ แล้วเราก็ติดต่อกัน ผมไปเชียงรายเพื่อไปคุยให้เห็นหน้าเลยว่าเขาเป็นอย่างไร ประทับใจพี่ณัฐฬส มาก เลยตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยนาโรปะ

ช่วงนั้น จะมีช่วงว่างอยู่ประมาณเกือบ ๘ เดือน ผมก็ใช้เวลาไปเรียนรู้ชนบทไทย เพราะผมถามพี่ณัฐฬสว่า ผมจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เขาบอกว่าหนึ่งภาษา สองคือให้รู้เรื่องของคนไทย ผมก็คิดว่าเราไม่ต้องไปเรียนเมืองนอกเพื่อตีตราว่าเป็นนักเรียนนอก เรารู้สึกว่าอยากจะเอาคุณค่าของเราไปแลกเปลี่ยนกับเขา ก็เลยท่องเที่ยวไทย ได้อะไรเยอะมาก จากการไปดูที่เขาทำอยู่ ปราชญ์ชาวบ้านบ้าง ชุมชนชาวเขาต่างๆ

สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ นาโรปะไม่ใช่คำตอบแบบเป็นสำเร็จรูป หรือเป็นโรงงานผลิตบัณฑิตเหมือนที่เราเชื่อในการศึกษากระแสหลัก นาโรปะจะเป็นเหมือนสิ่งแวดล้อมของการเรียนรู้มากกว่า คือการเรียนรู้จะมีพื้นฐานหลายปัจจัย

๑. ตัวเราเอง
๒. สิ่งแวดล้อม
๓. กัลยาณมิตร

ที่เชื่อมโยงกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้ การเรียนรู้จริงๆ เช่น ผมไม่เคยอ่าน เคน วิลเบอร์ เลย แต่เพื่อนผมอ่าน ผมก็จะรู้ว่า เคน วิลเบอร์ พูดอะไร แล้วผมก็คิดต่อว่าพื้นฐานที่เรามี ที่เราปฏิบัติธรรมมา คือสิ่งที่เขาพยายามจะพูด เราก็ไปต่อยอดในรากของเราเอง ผมมองว่านี่คือกระบวนการเรียนรู้ คือทุกคนมีอิสระในการเรียนรู้ของตัวเอง มีอาจารย์ มีเพื่อน บรรยากาศของการเรียนรู้ช่วงนั้นทำให้เราเติบโต โดยแต่ละคนก็เติบโตไม่เหมือนกัน ฟังผมกับฟังพี่ณัฐฬสพูดก็ไม่เหมือนกัน คนละแบบ ก็คิดว่าตรงนั้นคือสิ่งที่ผมได้จากนาโรปะ

สิ่งที่ผมอยากจะพูดก็คือ ความแตกต่างที่นาโรปะมีไม่เหมือนที่อื่น คือในสายตาของคนอเมริกันทั่วไป จะบอกว่านาโรปะเป็นสถานที่แปลกประหลาด ถ้าคิดเทียบอย่างง่ายๆ คือทุกคนเรียนมหาวิทยาลัยหมด แต่มีคนกลุ่มหนึ่งมาศึกษาในวัด นั่งเรียนกันบนพื้นในวัด ปริญญาที่ได้มาก็เอาไปสมัครงานไม่ได้ เป็นความแปลกความที่หลุดออกมาจากกระแส จากความคาดหวังที่เป็นแบบแผนในอุดมคติของคนทั่วไป

คนที่มาเลือกเรียนนาโรปะจะมีความคิดก้าวหน้า หนึ่งคืออาจารย์ พวกนี้จะมีความคิดหลุดออกมาจากกระแสหลัก สังคมอเมริกันเป็นสังคมสุดโต่งทางด้านวัตถุมาก คนที่หลุดเข้ามาในนาโรปะ คือคนที่เห็นทางตันมาแล้ว เห็นคุณค่าในเรื่องแบบนี้ เขาก็จะทุ่มเทชีวิตให้กับการสอน การพูดคุยกับนักศึกษา แล้วตัวนักศึกษาเองเนื่องจากผมเรียนปริญญาโท คนที่มาเรียนจะมีความหลากหลายมาก บางคนอาจจะเป็น พยาบาล เป็นนักเขียน เป็นนักจิตวิทยา แต่ละคนก็จะมีประสบการณ์ของตัวเองมาแลกเปลี่ยนกัน โดยทุกคนเห็นคุณค่าของการพัฒนาด้านในและมิติทางด้านจิตใจ

ลักษณะเด่นของนาโรปะ คือเป็นสถานที่บ่มเพาะบุคลิก บางคนอาจจะมองว่าเป็นโลกมายาหรือเปล่า ให้คนไปเรียนอะไรก็ไม่รู้ ไม่ใช่ความเป็นจริง แต่ผมคิดว่าสถานที่บ่มเพาะอุดมคติ เป็นทางเลือกที่เราต้องมี การคิดว่าเราต้องอยู่บนโลกที่มีความทุกข์ตลอดเวลา น่าจะไม่ถูก ต้องมีสถานที่ให้เราศึกษาแสวงหาหนทางให้พ้นทุกข์ว่ามีไหม เป็นอย่างไร ซึ่งนาโรปะเป็นสถานที่ของอุดมคติ คนจะพูดว่าระวังนะ อยู่นาโรปะนานๆ จะทำให้หลุดเข้าไปในโลกฟองสบู่ แล้วหลุดออกมาไม่ได้ แต่ผมมองว่าการบ่มเพาะอุดมคติเป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วทำให้เราค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง เพื่อออกมาเผชิญกับความเป็นจริงได้ด้วย

อีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องบรรยากาศ พิธีกรรม และความศักดิ์สิทธิ์ อาจจะฟังดูแปลก ที่นาโรปะค่อนข้างจะมีพื้นฐานวัฒนธรรมทิเบตเป็นหลัก ก็จะมีเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ เรื่องความขลังของพิธีกรรม อย่างการเริ่มเรียนก็ต้องมานั่งเป็นวงกลม แล้วอาจารย์จะมีวิธีการ เช่น เริ่มต้นด้วยการเคารพกัน นั่งสมาธิเงียบๆ สักพักหนึ่งก่อน อาจจะให้พูดเป็นบทกลอนสั้นๆ แล้วก็น้อมตัวเคารพกัน มีการพูดเกี่ยวกับสิ่งที่เราเรียนรู้มา โลกของความเป็นจริง โลกของภายใน โลกของภายนอก เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของการเรียนรู้ที่โยงเรื่องภายในกับภายนอกเข้าด้วยกัน ซึ่งคนภายนอกมองแล้วจะแปลกๆ แต่คนที่เรียนจะรู้ว่าความศักดิ์สิทธิ์ทำให้เกิดสมาธิ รับฟังคนอื่น แล้วเกิดการประมวล คล้ายๆ กับกระบวนการในกลุ่มมีพลวัตตลอดเวลา อธิบายยาก ผมพยายามจะเขียนบทความเรื่องความศักดิ์สิทธิ์มานานแล้ว ยังอยู่ในขั้นตอนของการย่อยความคิด

คือ ถ้าคิดง่ายๆ อย่างเรามีบ้านอยู่หลังหนึ่งเก่าแก่มาก ส่งทอดจากปู่ย่าตายายมา แล้วเรามีความรู้สึกว่าบ้านหลังนี้ศักดิ์สิทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้คืออะไร ผมคิดง่ายๆ คือการที่ตัวเรามีความสัมพันธ์และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งๆ นั้น เราจะไม่สามารถแยกตัวเอง แยกจิตใจออกจากสิ่งๆ นั้นได้ ผมคิดว่าการเรียนรู้ที่นาโรปะศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นการเรียนรู้ซึ่งแต่ละคนมีส่วนร่วมในกระบวนการตลอดเวลา ไม่ได้มีคำสั่งว่าถูกต้อง ว่าเราจะต้องฟังอาจารย์คนนี้อย่างเดียวตลอดเวลา แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ มีพลวัตรของการเรียนรู้ตลอดเวลา

คิดง่ายๆ คือกระบวนการสุนทรียสนทนา ซึ่งผมมองว่านาโรปะมีตรงนี้ แล้วพิธีกรรม การจัดวาง การจัดห้องหรือว่าบรรยากาศ มีผลมากต่อการทำให้บรรยากาศการเรียนรู้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา ผมคิดว่าทิเบตมีค่อนข้างมาก เพราะชีวิต ศาสนา สังคม และวัฒนธรรมรวมเป็นหนึ่งเดียว แล้วธิเบตเห็นความทุกข์ชัดมาก เพราะถูกรังแก ทำให้เกิดพลังการเรียนรู้ ซึ่งนาโรปะก็พยายามทำให้เห็นจุดนั้น

ก่อนทำวิทยานิพนธ์เรื่องหนึ่ง จะมีส่วนหนึ่งที่เรียกว่าการไปเรียนรู้ด้วยการรับใช้ ผมเลือกที่จะกลับเมืองไทย แล้วใช้เวลา ๕ อาทิตย์ ในการเรียนรู้ด้วยการรับใช้ คือไปใช้ความรู้ที่เรียนมา ไปเห็นไปเรียนรู้จากปัญหาจริงๆ เหมือนความรู้ที่เราเรียนกับปัญหาที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกัน เป็นสิ่งที่ผมเห็นว่านาโรปะแปลกกว่าที่อื่น

การเป็นชุมชนเล็กๆ ตอนนี้มีนักเรียนอยู่ ๑,๒๐๐ คน ก็ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ผมไม่เคยได้รับจากที่ไหนมาก่อน ยิ่งตอนเรียนจุฬาฯ ผมแสวงหาอาจารย์ทั้งชีวิต ขอแค่อาจารย์คนเดียวที่ผมเข้าไปหาเมื่อไรก็ได้ ที่พูดเรื่องชีวิต พูดเรื่องความสับสนได้ ผมหาไม่พบเลย แต่ที่นาโรปะ อาจารย์ทุกท่านมีใจที่จะอยู่ที่นั่น นักเรียนมีปัญหาอะไรในชีวิต ในการเรียน เข้าไปหาอาจารย์ได้ตลอดเวลา แล้วเขาไม่ได้พูดเรื่องความรู้ตลอดเวลา แต่พูดจากประสบการณ์การใช้ชีวิตทั้งชีวิต ซึ่งผมโชคดีมากที่ไปเจออาจารย์ที่ผมรักและเคารพ ได้เรียนรู้ ได้เติบโตกับอาจารย์ท่านนั้นมาตลอด ๑ ปี

ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนก็มีผลมาก เพราะนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ส่วนหนึ่งก็จะมีหน้าที่ทำงานในมหาวิทยาลัย อาจจะเก็บขยะ ทำงานห้องสมุด เป็นประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย ทำงานบริหารจัดการ รับโทรศัพท์ เขาจะจ้างนักศึกษาให้มีส่วนร่วมในมหาวิทยาลัย ในชุมชน ให้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในมหาวิทยาลัย คือพยายามจะไม่ให้เป็นภาวะคนนอกกับคนใน ทุกคนที่เรียนรู้ในชุมชนคือคนในหมด ทุกคนก็จะรู้ความเป็นไปในมหาวิทยาลัย ทุกสิ่งทุกอย่าง การบริหาร การตัดสินใจของผู้บริหารก็จะโปร่งใส เพราะว่าทุกคนจะมีส่วนร่วมหมด ผมทำงานที่ห้องสมุด และได้ประโยชน์มาก เพราะทุกคนจะเข้าห้องสมุดมาหาหนังสือหรือหางานวิจัยมาอ่าน

ผมก็ได้แลกเปลี่ยนพูดคุย ถามว่าเล่มนั้นที่อ่านไปเป็นอย่างไรบ้าง เขาบอกว่าดีมาก คือแต่ละคนมีเวลาว่าง ไม่รีบร้อน การเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยจะสบายๆ เข้าห้องสมุดก็มีเวลานั่งคุยกัน ไม่ต้องรีบเข้าห้องเรียน แล้วเวลาที่เราเข้าไปคุยกับคนที่ทำงานด้านอื่นๆ เราก็จะถามเขาว่าเป็นอย่างไร ได้ยินข่าวนั้นไหม เราก็ได้เรียนรู้กับเขาด้วย ตรงนั้นก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ผมได้อะไรมาก

หนังสือที่นาโรปะสุดยอดมาก เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีลักษณะเด่นของตัวเองที่เลือกมาแล้ว ว่าเราจะเป็นแนวพุทธ การศึกษาด้านใน จิตวิญญาณ สังคม ศิลปะ หนังสือในห้องสมุดจะถูกคัดสรรและมีความเชื่อมโยงมาแล้วระดับหนึ่ง เราอ่านหนังสือเล่มไหนก็จะโยงไปตรงนั้นหมด ทำให้ผมจะไม่ค่อยรู้เรื่องกระแสหลักเท่าไร อาจเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียด้วย ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะมองในแง่ไหน แต่ผมมองว่ากระบวนการการเรียนรู้ที่นั่นสมบูรณ์ เพราะว่าหนังสือที่อยู่ในห้องสมุดคัดสรรแล้ว

ผมได้เรียนคล้ายๆ พี่ณัฐฬส คือปีแรกเรียนภาควิชาสิ่งแวดล้อม แต่ผมตัดสินใจเปลี่ยนเมื่อเรียนจบไปแล้ว ๑ เทอม คือก่อนเรียน ผมตั้งคำถามไปคำถามเดียว คือคำถามที่เกี่ยวกับการศึกษา ผมไม่รู้ เพราะผมเรียนวิศวะมา แต่ผมอยากทำเรื่องการศึกษา ไม่รู้ว่าเขาจะเอาเราหรือเปล่า แต่เขารับเราแล้วก็คงจะเรียนได้ เราเข้าไปด้วยความตั้งใจจะตอบคำถามให้ได้ว่าการศึกษาคืออะไร การศึกษาที่มีคุณค่าทำอย่างไร แล้วเราก็เข้าใจว่าที่นาโรปะสิ่งแวดล้อมน่าจะครอบคลุมเรื่องการการศึกษา น่าจะรวมเรื่องคนเข้ามาด้วย รวมเรื่องเกี่ยวกับชุมชน วัฒนธรรมด้วย ซึ่งก็ตรงกับที่ผมคาดหวัง แล้วอาจารย์ก็เข้าใจว่าการที่เราสนใจเรื่องการศึกษาแต่มาเลือกภาคสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องธรรมดา รับได้

จะมีปัญหานิดหน่อย คือผมต้องไปรอเพื่อน เพราะเพื่อนๆ ในกลุ่มจะมีความคิดกระแสหลักมาก่อน ก็จะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงมากในปีแรก เพราะผมก็มีพื้นฐานมาบ้างแล้ว ผมรอไม่ไหว เพราะเขาทะเลาะกันมากเกินไป รู้สึกว่าต้องเหนื่อยมากเกินไป เราไม่ได้ว่าเราเก่งกว่าคนอื่น แต่เราอยากจะช่วยให้กลุ่มไปเร็วขึ้น ก็พยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าเราช่วยอาจารย์ ทำให้เหนื่อยมาก เลยตัดสินใจว่าปีแรกจะลงภาคสิ่งแวดล้อม เพราะผมชอบเรียนเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีระบบ เกี่ยวกับมานุษยวิทยา สังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน แล้วปีที่ ๒ ตั้งใจว่าจะย้ายไปเรียนสหวิทยการ คือเรียนอะไรก็ได้ เพราะว่าเราเริ่มรู้จักมหาวิทยาลัยมากขึ้น (เป็นความคิดเดียวกับที่มองว่า การเรียนรู้น่าจะรวมภูมิปัญญาทั้งสามฝ่ายเข้าด้วยกัน) คือสิ่งที่ผมสนใจมี ๓ ส่วน หลังจากที่ผ่านมาเทอมหนึ่งแล้ว เรื่องแรกคือวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ เรียนเรื่อง ทฤษฎีระบบ ทฤษฎีโกลาหล เรียนเรื่องควอนตัม จิตสำนึกใหม่ เรื่องที่ ๒ คือภูมิปัญญาด้านศาสนา

นพ.โกมาตร: เวลาเรียนวิทยาศาสตร์ ไปเรียนอย่างไร

วิจักขณ์: ไม่ใช่ครับ จะเรียนวิธีคิดมากกว่าจะลงลึกหรือเน้นการพิสูจน์ โดยเอาหนังสือมาอ่านแล้วแลกเปลี่ยนกัน อาจารย์ก็ต้องมีประสบการณ์ มีความรู้มากกว่าคนอื่น แต่การเรียนวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่จะเป็นลักษณะวิธีคิดมากกว่า วิธีคิดแบบเชื่อมโยงว่านักวิทยาศาสตร์เขาทดลองมาแล้ว พิสูจน์มาแล้วว่าเป็นอย่างไร ผลของการเปลี่ยนผ่านจากฟิสิกส์แบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ไม่ใช่ลักษณะวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ต้องบอกว่านาโรปะจะเป็นมหาวิทยาลัยศิลป์เสรี

เรื่องที่ ๒ ที่ผมสนใจ คือภูมิปัญญาด้านศาสนา นาโรปะสอนกว้างมาก หลายรูปแบบ พุทธก็มีเถรวาท มหายาน วัชรยาน คริสต์ก็มี อิสลามก็มี ซูฟี ฮินดู มีหมด แล้วการสอนก็เป็นลักษณะเปลี่ยนแปลงไปด้วย คือมีปริยัติ แล้วก็มีลักษณะการปฏิบัติในชั้นเรียน คือเราฟังแล้วก็มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ คุยเรื่องความโกรธเป็นอย่างไรแล้วก็มาแลกเปลี่ยนกัน ประมาณว่าพระพุทธศาสนาสอนมาอย่างนี้ แล้วสิ่งที่เราประสบมาเป็นอย่างไร จะมีกระบวนการสุนทรียสนทนา บางคนพูดเรื่องความทุกข์ในชีวิตแล้วร้องไห้ เป็นเรื่องธรรมดามาก ผมพบว่ากระบวนการที่นี่เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง คือเราเรียนศาสนาอย่างไร แล้วน้อมนำเข้าสู่ใจ โยนิโสมนสิการ คิดใคร่ครวญโดยแยบคาย แล้วก็มาพูดในห้องเรียน เป็นลักษณะของการภาวนาอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ต้องไปนั่งหลับตา เป็นกระบวนการโยนิโสมนสิการ

นพ.โกมาตร: วิจักขณ์บอกว่ามีนักศึกษาส่วนหนึ่งคล้ายๆ กับต้องปรับตัวนานเหมือนกัน แสดงว่าตอนที่เขาตัดสินใจมาเรียน เขาไม่รู้หรือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแบบนี้ คนเลือกเรียนที่นี่คิดอย่างไร เพราะว่าเราก็พอจะทราบว่าแปลกๆ แล้วทำไมถึงมา

วิจักขณ์: ผมว่าเขารู้แล้ว แต่คนเราจะบอกให้เปลี่ยนมันเปลี่ยนยากนะครับ คือเรารู้ว่าเราไม่ดีแต่เราเปลี่ยนยาก ก็เราเป็นของเราอย่างนี้ จะมีความรู้สึกนี้อยู่เวลาที่เราอยู่ในภาวะเปราะบาง คือจะมีภาวะก้าวข้ามผ่านพ้นไป หรือจะปิดตัวเอง เพื่อนผมในชั้นมี ๑๖ คน ตอนนี้มีลาออกไปแล้วคนหนึ่ง เขามีปัญหากับพ่อมานาน เขาคิดเสมอว่าสังคมต้องเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น คิดถึงคนอื่น แต่เขามีปัญหาเปิดรับความความแตกต่างคนอื่นไม่ได้ เขารู้ว่าพ่อทำธุรกิจปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำเกษตรกรรมแบบทำลายธรรมชาติ ใช้สารเคมี เขารู้ว่าโลกเราถูกเปลี่ยนแปลงตรงนี้ เขามีความตั้งใจดี แต่เขามองพ่อเป็นศัตรู

เขามีความรู้สึกว่ายิ่งเรียนแทนที่จะเข้าใจว่าคนเราค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป แต่ตัวเราต้องเปลี่ยนก่อน ความทุกข์ของเขากลับโตขึ้น กลับเป็นว่าเขาเกลียดพ่อ กระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ทำให้เขารู้สึกว่าความเปราะบางเป็นอันตราย แล้วเขาก็เครียดมาก เห็นได้ชัดว่าคนนี้มีปัญหา คือเขาไม่เข้าใจว่าความเปราะบางนี้คือการรู้ตัวเอง แล้วเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่เขากลับมองว่าตรงนี้เป็นอุปสรรค ผมเห็นแล้วน่ากลัวเหมือนกัน

ผมเลยบอกว่า คนที่ไปเรียนต้องเป็นคนมีพื้นฐานตรงนี้บ้าง แต่เพื่อนบางคนที่เขาก้าวข้ามผ่านไปแล้ว เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดมาก เขายังพูดกับผมว่า เขาอยู่ในสังคมอเมริกันมาตลอด รู้สึกเลยว่าเป็นวัฒนธรรมที่ไม่เปิดตัวเองเพื่อการเรียนรู้ ไม่มีการมองว่าตัวเองเป็นอย่างไร เหมือนกับทุกคนมีกรอบป้องกันตนเองตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เวลาที่กรอบค่อยๆ เปิดออก ทุกคนจะกลัวมาก แต่เขาบอกว่าไม่น่ากลัวอะไรเลย แค่เขาเรียนรู้ว่ามีเพื่อน มีอาจารย์ที่เป็นกัลยาณมิตร คุยกัน แลกเปลี่ยนกัน เขาก็สบายใจแล้ว เห็นชัดมากคือจะมี ๒ พวก

นพ.อารี: ในกระบวนการสุนทรียสนทนา ได้มีการพูดเรื่องของความคาดหวังในการมาลงเรียนอย่างนี้ แต่ละคนมีความคาดหวังอย่างไร

วิจักขณ์: ตอนเริ่มต้นใช่ไหมครับ

นพ.อารี: ใช่ ตอนเริ่มต้น มีความคาดหวังอะไร เรื่องที่ ๒ มีคนอเมริกันอยู่เท่าไร

วิจักขณ์: ๙๐ %

นพ.อารี: ๙๐% คนต่างชาติมีน้อยมาก

วิจักขณ์: คนต่างชาติน้อยมากครับ เขาจะรู้มาก่อนว่า นาโรปะสอนไม่เหมือนที่อื่น มีบรรยากาศคล้ายๆ ภูมิปัญญาตะวันออกกค่อนข้างมาก เขาจะรู้สึกว่าชีวิตเขาแสวงหามิติด้านจิตวิญญาณอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเข้าใจว่าเขาเป็นอเมริกัน ส่วนใหญ่เขาจะไม่ค่อยรู้ว่ามิติทางจิตวิญญาณคืออะไร เพราะฉะนั้น เขาจะรู้สึกชีวิตพร่อง พอเขามาหา ก็จะมีกระบวนการที่ต้องวิ่งวนอยู่สักพัก เพื่อหาจุดสมดุล เขาก็มีความคาดหวังคล้ายๆ กันคืออยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น อยากมีชีวิตที่มีคุณค่ามากขึ้นกับโลก สังคม

อ.สุมน: เป็นห่วงนักศึกษาที่ออกไป ที่จริงถ้าหากว่าในนาโรปะมีอาจารย์ที่จะช่วยได้ ชักสงสัยว่าทำไมไม่ช่วยนักศึกษา เวลาที่พูดถึงความเปราะบาง คนที่เข้ากรรมฐานจะรู้ว่า ช่วงหนึ่งเราก็เกิดอาการเปราะบาง แล้วเราไปพิจารณาจนรู้ว่าความจริงคืออะไร เช่นเดียวกัน เป็นห่วงนักศึกษาคนนี้ขึ้นมา ทำไมไม่มีกัลยาณมิตรไปช่วย

วิจักขณ์: ลักษณะของเพื่อนคนนี้มีลักษณะที่ปิดตัวเองมากๆ แรงมาก จะมีปัญหาบางอย่าง เวลาเปลี่ยนแปลง ในห้องเรียนอาจารย์ก็จะพูด มีเส้นทางให้เราเดินไปเรื่อยๆ เราต้องตามไปสักพัก คนอเมริกันส่วนใหญ่พอตามไปสักพักไม่เห็นอะไรเขาก็จะกลัว คือไม่เห็นอะไรเลย สอนห่วย แล้วเขาจะด่า จะมีภาวะหนึ่งมีการตำหนิติเตียนกันเยอะมาก อาจารย์คนนี้ก็ถูกติ คนนั้นก็ถูกติ คนนั้นถูกด่า คนนี้ถูกด่า เพราะอย่างที่บอก ๙๐ % เป็นคนอเมริกัน ผมมองว่ามันเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงแบบฝรั่ง ไม่ใช่การนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ๗ วัน คือไม่มีบรรยากาศของตะวันออก ผมมองว่าเพื่อนคนนี้เขามีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว แล้วเขาปิดตัวเอง ไม่ฟังอาจารย์ พูดอะไรก็ไม่ฟัง เพื่อนพูดอะไรก็ไม่ตลก คือยากที่จะไปบอกเขา ผมว่าเพื่อนคนนี้เขามีปัญหาทางจิตอยู่ด้วยครับระดับหนึ่ง

อ.เอกวิทย์: เกือบลืมถาม ๒ ประเด็น ประเด็นแรก คุณวิจักขณ์รู้สึกไหมว่าจากที่ได้รู้จักแล้วอ่านถึง อ.สุลักษณ์ อ.ประเวศ และบวชที่สวนโมกข์ ได้สร้างความพร้อมทางความรู้ทางจิตใจไว้ระดับหนึ่ง พอไปถึงนาโรปะแล้วไปได้สวย ไปได้ทันที เพราะเรามีพื้นตะวันออกที่เข้าใจปัญหาชีวิตและสรรพสิ่ง เข้าใจกฎของธรรมชาติของสรรพสิ่งได้ดีกว่าคนอเมริกันโดยรวม คำถามที่ ๒ คือ ชาวนาโรปะได้แลกเปลี่ยนกับนักศึกษาโคโรลาโดบ้างไหม เพราะว่าระบบแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง มีโอกาสปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนกันอย่างไร ?

วิจักขณ์: คำถามแรก แน่นอนครับ ผมถึงบอกว่า ผมมีความโชคดีหลายด้าน เมื่อ ๓ เดือนที่ผ่านมา ผมย้อนมองตัวเอง ถ้าจำไม่ผิดเดือนมีนาคม อ.สุลักษณ์ มาพูดที่นาโรปะ ผมได้มีโอกาสนั่งคุยนั่งฟัง สนทนากันอย่างใกล้ชิด ๒ วันต่อมาลุงประเวศ มาที่นาโรปะเหมือนกัน คือผมมองว่ามีการเรียนที่เกี่ยวกับชีวิตของเรา จะมีคำเป็นความคิดหลักอยู่ ๒-๓ ตัว คือคำว่า ปฏิจจสัมพันธ์ ธรรมะจัดสรร อนิจจัง คือมันเป็นเหมือนกับเขาให้มองชีวิตว่าอนิจจัง คือไม่มีทุกสิ่งทุกอย่างแน่นอน การที่เราเปิดตัวเอง รับรู้ความเปราะบาง ความไม่แน่นอนของชีวิต จะทำให้เห็นความเชื่อมโยงของทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบัน ณ วินาทีนั้น แล้วเราจะเห็นว่ามีบางสิ่งบางอย่างผุดบังเกิดขึ้นมา

ผมมองว่าการที่เราจะหลุดไปจากแบบแผนในอุดมคติของสังคม แล้วเรียนรู้โดยใช้ญานทัศนะของเรา ตรงนั้นจะมีพลังมาก ถ้าเราสนใจอะไร ทุกสิ่งจะเข้ามาสอดประสานทำให้เกิดขึ้นกับตัวเรา จากเดิม ผมมองคนที่อยู่ในแบบแผนในอุดมคติของสังคมจะมีข้อจำกัดอยู่ตลอดเวลา ว่าคนนั้นคิดอย่างนี้ เดินทางไปไหนไม่ได้เลย แล้วโลกที่เราเดินไป สมมติเราเดินผ่านไปเรื่องหนึ่ง จิตเราจะไม่เปิดรับรู้อะไรเลย จะปิดอยู่ตลอดเวลา เราจะมีหมวกๆๆๆ แต่หลังจากที่ผมตัดสินใจไปนาโรปะ จะเกิดหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างที่ทำให้ผมเห็นว่าการเรียนรู้ของคนเรา ไม่ควรจะมีขีดจำกัดในเรื่องของความคาดหวัง ว่าจบแล้วจะต้องเป็นอะไร เรียนอะไรอยู่ ได้ปริญญาอะไร

เพราะฉะนั้น ผมจะมีความสนุกกับการเรียนรู้ ได้อ่านหนังสือที่อยากอ่าน แล้วพอเพื่อนมาคุยว่าน่าสนใจจังเลย เราก็อยากมาอ่านบ้าง แล้วก็เขียนบทความวิชาการโดยนำสิ่งเหล่านี้มาประมวล ในสิ่งที่เขาตั้งคำถาม คืออาจารย์จะเปิดมาก เราจะใส่เรื่องอะไรลงไป ที่ผุดขึ้นมา เขารับหมด เขาจะรู้สึกว่ามันเป็นปัญญาที่คุณสร้างขึ้นมาเอง เขาไม่ได้ป้อนให้เรา

เรื่องแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยโคโลราโดจะเป็นแบบไม่เป็นทางการ เพราะไม่ค่อยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยโคโลราโดสนใจนาโรปะเท่าไร เพราะเขาจะเป็นกระแสหลักมาก ที่ไม่เป็นทางการ คือคนที่มีจิตใจเปิดกว้างจะสนใจ อยากได้เพื่อนร่วมห้องเป็นนาโรปะ เขาก็จะมาหาธีม แล้วพูดคุยกัน

นพ.อุดมศิลป์: ทีแรกก็สนใจคล้ายๆ อ.สุมน ที่ถามและเป็นห่วงนักศึกษาคนนั้น เพราะดูเหมือนจะมีปัญหากับพ่อเหมือนวิจักขณ์ แต่พอฟังแล้ว ก็รู้ว่าเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน ภาษาอังกฤษว่า like but not alike คล้ายๆ กับมือซ้ายมือขวาเหมือนกัน แต่จริงๆ ไม่เหมือนกันเลย เพราะถุงมือซ้ายเอามาใส่มือขวาไม่ได้ ผมเชื่อสิ่งที่ต่างกัน คือเพื่อนคนนั้นไม่ใช่คนแบบวิจักขณ์ ที่เคยนั่งกรรมฐาน บวชเรียน จนกระทั่งในที่สุดกราบเท้าคุณพ่อได้ ปมนั้นหลุดไปแล้ว แต่เพื่อนคนนั้นโชคร้ายกว่า

เขาแบกความเกลียด ซึ่งไม่มีอะไรในโลกนี้ที่หนักเท่ากับการเกลียดพ่อ พอเกลียดแล้วจะทุกข์ที่สุดในโลก พอเกลียดก็จะทั้งรักทั้งแค้น เมื่อทั้งรักทั้งแค้น จะเป็นความโกรธที่รุนแรงมาก เพราะฉะนั้น ผมตอบ อ.สุมน ได้เลยว่า เพื่อนวิจักขณ์คนนั้น ลำพังเพียงกัลยาณมิตรในวงแลกเปลี่ยนคงช่วยไม่ได้ ต้องอาศัยมืออาชีพตอนหลังเมื่อ อ. สุมน ถาม วิจักขณ์ก็ตอบได้ดี ผมดีใจที่ผมได้ฟังวิจักขณ์พูดถึงนาโรปะ เพราะ อ.ประเวศ เล่าให้ฟังว่าวิจักขณ์ไปนาโรปะ ผมก็ติดตามรอฟังข่าวด้วย คราวที่แล้วยังฟังคุณณัฐฬสไม่จุใจ วันนี้ก็มาฟังวิจักขณ์ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น

มีคำถามเดียวคือว่า ในฐานะที่พวกเราส่วนใหญ่ในห้องนี้สนใจเรื่องการศึกษา ฟังแล้วก็อยากไปดู ผมไม่เคยไป แต่ถ้ารู้ว่าที่ไหนมีดี มีโอกาสก็จะกระเสือกกระสนไป อยากไปดู ทราบจาก อ.ประเวศ ว่าระยะหลังมีการไปดูงานมาก แล้วก็มีปัญหาบ้าง ผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยแนวใหม่ วิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ ข้อสำคัญที่สุด วิจักขณ์พูดแล้ว ครูไม่ใช่แต่เฉพาะต้องมีความรู้จริงเท่านั้น ยังต้องมีทัศนคติในการเรียนการสอนเท่ากับปรัชญาของนาโรปะด้วย ถึงจะทำการเรียนการสอนที่อยากจะได้เกิดขึ้น คำถามคือว่า คนที่ไปดูงานที่ไม่เข้าใจ บางทีก็อาจจะสร้างความรำคาญได้เหมือนกัน อยากจะให้วิจักขณ์ขยายความตรงนี้ว่า ประสบการณ์ที่มีคนภายนอกมาเยี่ยมมาดูงานเป็นอย่างไรบ้าง

วิจักขณ์: ก็มี ๒ แบบครับ คือคนที่ไปดูงาน คนที่สนใจเรื่องปรัชญาด้านการศึกษา ส่วนใหญ่จะไปนั่งเรียน ซึ่งนาโรปะจะสนับสนุนมาก เข้ามานั่งบนพื้น มาแลกเปลี่ยน มาร้องไห้ มาเรียนรู้ด้วยกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นใครจากไหน คุณก็มานั่งคุยกับเรา มาเปราะบางด้วยกันได้ แต่คนที่ยึดติดในการศึกษาแบบเก่า แล้วมาดูงานที่นาโรปะ ก็จะสร้างความปวดหัวให้ผู้บริหารพอสมควร ถ้าจะตอบแทนเขา ผมจะบอกว่านาโรปะไม่ได้อยู่ที่ไปเดินดู ความรู้ไม่ได้อยู่ที่กายภาพของแต่ละคนหรือของผู้บริหาร ความรู้เป็นสิ่งบังเกิดขึ้นใหม่ซึ่งไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นกระบวนการครับ

อย่างผมเคยไปหาอาจารย์ ผมสนใจเรื่องการศึกษาทางจิตวิญญาน ผมถามว่าจิตวิญญานของคุณมีความหมายว่าอย่างไร อาจารย์อธิบายว่า "It's too fragile; it's too precious." คือเปราะบางมาก แล้วมีค่าเกินกว่าที่จะไปพูดถึง ยิ่งเราจะไปจับจิตวิญญานมาใส่อะไรสักอย่างหนึ่ง มันก็จะแตก จะหายไป แล้วสิ่งที่เราคิดว่ามีค่า คล้ายๆ หิ่งห้อย พอเราจับ ก็จะเป็นแค่หนอนธรรมดา ผมฟังแล้วก็รู้สึกว่า สิ่งที่เป็นจิตวิญญาน จริงๆ แล้วก็เป็นเพียงการผุดขึ้นของหลายสิ่งหลายอย่างของความสัมพันธ์ ของกระบวนการทั้งหลาย แล้วบางสิ่งที่เป็นจิตวิญญานสำหรับเรา อาจไม่ใช่จิตวิญญาน สำหรับคนอื่นก็ได้

คุณวิศิษฐ์: หารอยต่อเชื่อมระหว่างเช้ากับบ่ายได้พอดี ที่วิจักขณ์พูดประเด็นจิตวิญญานว่าเปราะบาง เป็นสิ่งที่บอบบางต้องทะนุถนอม หล่อเลี้ยง เป็นชั่วขณะจิตไปสู่อีกขณะจิต วิจักขณ์พูดเรื่องโผล่ปรากฏ การผุดบังเกิด ณ ขณะนั้น ผมเชื่อมโยงกับเรื่องวิทยาศาสตร์คุณภาพของคุณหมอประสาน ผมจินตภาพเส้นทางเดินไปสู่จุดหมายไม่ใช่การเดินไปจากหลายๆ จุดแล้วไปจุดๆ เดียวกันหมด ผมว่ามันเป็นปลายเปิด เป็นรูปทรงกรวย จุดหลายๆ จุดอาจเดินจากจุดเดียวกัน แล้วเปิดเป็นทรงกรวยให้กว้างขวางลึกซึ้ง เพราะยิ่งบรรลุถึงคุณภาพที่สูงกว่า ยิ่งมีความกว้างขวาง ลึกซึ้ง อะลุ้มอล่วย ประนีประนอม รอมชอมกันไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเรื่องที่เปิดกว้างจริงๆ

ในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ นอกจากเปิดพื้นที่ให้กัน การเชื่อมโยง การรู้จักธรรมชาติ จนกระทั่งเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ยังมีพื้นที่ให้แก่การโผล่ปรากฏด้วย ในวงสนทนานั้น ความรู้ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ความรู้ไม่ใช่นำเข้าจากตำรับตำราเท่านั้น ตำรับตำราอาจจะเป็นเพียงตัวกระตุ้นเท่านั้นเอง แต่ความรู้จะเกิดขึ้นสดๆ ณ ขณะนั้นๆ ที่คุยกัน เป็นการผุดบังเกิด การโผล่ปรากฏ

ในที่ประชุมนี้ ต้องใช้ ๒ คำ คุณหมอประเวศใช้คำว่า "ผุดบังเกิด" คุณหมอประสานใช้คำว่า "โผล่ปรากฏ" พอดีผมเป็นลูกศิษย์ของทั้ง ๒ ท่าน เลยใช้ทั้ง ๒ คำ คือการโผล่ปรากฏ มันเป็นการก่อประกอบ
ขอโยงทฤษฏีไร้ระเบียบเล็กน้อย แล้วก็โยงไปถึงความเปราะบาง ว่าในความเปราะบาง หมิ่นเหม่ มีความเสี่ยง มีความไม่สะดวกสบาย เพราะออกมาจากความคุ้นเคย เข้าไปสู่สิ่งที่เรียกว่าความโกลาหลปั่นป่วน สับสนอลหม่าน แต่ในความไร้ระเบียบนั้น เป็นช่วงของระยะเวลาด้วย แล้วก็เป็นศักยภาพที่จะนำไปสู่การจัดระเบียบภายใน

สิ่งที่จะโผล่ปรากฏในทฤษฎีไร้ระเบียบมีความเป็นไปได้อเนกอนันต์ แต่จะต้องผ่านความโกลาหล ความไร้ระเบียบ ซึ่งตรงนั้น ในความรู้สึกหนึ่งอาจจะเป็นความเปราะบาง แล้วทฤษฎีไร้ระเบียบก็จะพูดถึงตัวดึงดูดประหลาด ไม่ใช่การกำหนดแน่นอน ไม่ใช่เป็นกฎที่ตายตัว แต่เป็นกฎที่ผันแปรได้ จะเรียกว่ามีชีวิต เป็นวิวัฒนาการที่ไม่จบสิ้น ต่อไปได้เรื่อยๆ ที่เชื่อมโยงทั้งหมด ก็คือพื้นที่คุณภาพ มันเปราะบาง มีค่ายิ่ง และดำรงอยู่ชั่วขณะ พูดถึงเรื่องสติและการตื่นรู้อยู่ในปัจจุบันขณะ ก็นึกถึงวงสุนทรียสนทนาอันเป็นพื้นที่ที่การโผล่ปรากฏในการคิดค้นร่วมกันจะเกิดขึ้นได้

ทั้งหมดนี้กำลังจะบอกว่า จุดหมายนั้นปลายเปิด อาจไม่ใช่รูปทรงกรวย แต่เป็นรูปอะไรก็ได้ ยังไม่แน่ใจ แต่ว่าจินตนาการชั้นต้นคือไม่ได้มุ่งไปที่จุดๆ เดียว ขณะที่เปิดออก ก็เชื่อมโยงถึงกัน ไม่ใช่เปิดออกอย่างขัดแย้งไปคนละทิศละทาง อาจเป็นทิศเดียวกันทั้งหมดแต่ว่ามีอิสระภาพในการคิดแต่ละส่วน เป็นปัจเจก ขณะเดียวกันเป็นคุณูปการของคำตอบส่วนรวมด้วย

นพ.โกมาตร: ผมลองตั้งคำถามสำหรับในวงดูนะครับ เราฟังเรื่องนาโรปะมา ๒ ครั้งแล้ว คิดว่าได้เห็นมิติของการเรียนรู้ที่เชื่อมไปถึงสิ่งที่อาจมีคุณค่าต่อการเติบโตของมนุษยชาติ อยากจะลองโยนคำถามกว้างๆ ในวงว่า เราเห็นการปรับประยุกต์ของความคิดที่ได้มีการนำมาเสนอ ในแง่ผลต่องานของพวกเราเอง ในแง่ที่จะนำไปใช้กับสถาบันอื่นๆ หรือการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้เสริมต่อ หรือผลัดเปลี่ยนจากที่เป็นอยู่ในสถาบัน ในกลุ่ม ในกิจกรรมทางด้านศาสนาก็ดี ทางด้านอื่นๆ ก็แล้วแต่ เราจะลองคุยเรื่องนี้ดีไหม เพราะเราคุยเรื่องนาโรปะมา ๒ ครั้งแล้ว

นพ.ประเวศ: ที่นาโรปะตอนไปฟังเขาคุย เขาว่ามีกลุ่มหนึ่งที่มาเรียน เป็นครูประจำการ แต่มาทำปริญญาโท ซึ่งผมว่าน่าสนใจ ถ้าครูมาเรียนอะไรที่ทำให้รู้ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง เรียกว่า จิตตปัญญาศึกษา เป็นแกนของทุกเรื่อง กับให้รู้เพื่อนมนุษย์แล้วกลับไปเป็นครู ผมว่าจะดีมาก ขณะนี้ ร.ร.รุ่งอรุณกำลังสร้างอาศรมศิลป์ กำลังพัฒนาแก่นความคิด ดูแล้วคล้ายศานตินิเกตันกับนาโรปะบวกกัน หลักสูตรแกนคือให้รู้ชีวิต ทุกหลักสูตรมีเรื่องนี้เป็นตัวกลาง นอกจากนั้นจะเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการศึกษา เป็นต้น

มาดูเรื่องการจัดการ ศานตินิเกตันที่ท่านรพินทรนารถ ฐากูร เป็นผู้ก่อตั้ง การจัดการอาจไม่ดี เพราะว่าต่อมารัฐเข้ามาอุดหนุน คล้ายๆ การยึดไปทำ ก็เลยเพี้ยนไป ผมไม่รู้จักนาโรปะมากพอ แต่เท่าที่ดู เขาจัดการเก่ง อ.ประภาภัทร (นิยม) ก็พิสูจน์ตัวเองจากการทำโรงเรียนรุ่งอรุณ ว่าจัดการได้ดี ไม่ขาดทุน สามารถวนเวียนทรัพยากรให้เคลื่อนไหวไปได้ แล้วเขาก็เปิดกว้าง เข้าใจว่าได้คุยกับวิศิษฐ์ใช่ไหม พระธรรมปิฎก วิจักขณ์ก็คุย ผมว่าตรงนี้น่าสนใจ

คือสิ่งที่เราคุยกันทั้งหมดจะต้องเข้าสู่การศึกษาเหมือนที่นาโรปะ เพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาทั้งโลกที่ไม่ดี แต่ว่าควรจะหารูปแบบไปส่งเสริมว่าหลักสูตรเป็นอย่างไรบ้าง อาจจะทดลองดูรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่ควรจะเป็น ผมชอบพูดว่า เรามีสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง เช่น อ็อกซ์ฟอร์ด ฮาร์วารด์ เคมบริดจ์ สแตนฟอร์ด แล้วทำไมมนุษย์เป็นอย่างนี้

ที่เรามาคุยตั้งวงกัน ใช้เวลาไป ๗ -๘ เดือน ก็เพื่อที่จะสมานทิฐิเข้ามา เรียกว่าสมานัตตตา เพื่อจะได้เคลื่อนต่อ สิ่งที่เราทำคือเรียนรู้ ประมวลความรู้ แล้วก็เอาไปทำอะไรต่อในรูปแบบต่างๆ ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่หลายแห่ง มีเรื่องที่น่าทำเต็มไปหมด บางทีกรรมการให้ความเห็น แต่เขายังทำไม่ได้ ขาดการจัดการเป็นที่สุด ถ้าผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีการจัดการที่ดีก็สามารถจะทดลองอะไรก็ได้ เพราะทรัพยากรมหาวิทยาลัยมีมาก แต่ว่าบริหารแบบระเบียบราชการมันขาดการจัดการ เขาไม่เรียกการจัดการ ที่ทำๆ กันเขาเรียกบริหาร ถ้าจัดการจะต้องได้ผลตามที่ต้องการ แต่ส่วนใหญ่เป็นแค่บริหารทั้งนั้น (นพ.ประสาน: ไม่ใช่เผด็จการหรือ?) (หัวเราะ) โครงสร้างเป็นอย่างนั้นหมดเลย ทั้งการเมือง ราชการ การศึกษา ธุรกิจ และคณะสงฆ์ เหมือนกันหมด

พระไพศาล: นาโรปะมีนักศึกษากว่า ๑,๒๐๐ คน ถือว่าไม่น้อย ถ้าเทียบกับความพยายามที่จะเสริมสร้างศักยภาพ ไม่ใช่แต่เรื่องสมอง สงสัยว่าเขาจัดการอย่างไร ในการทำให้ได้ครูที่มีคุณภาพ แล้วมีความสุข เพราะว่าหลายแห่งที่พยายามทำการศึกษาแบบอุดมคติ เช่น โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก หรือโรงเรียนรุ่งอรุณ ทราบว่าครูเหนื่อยมาก แล้วกำลังไม่มีความสุข

นพ.ประเวศ: โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เป็นของมูลนิธิเด็ก นักเรียนมีความสุข แต่ครูไม่มีความสุข

พระไพศาล: โรงเรียนรุ่งอรุณก็ได้ข่าวมาทำนองนั้น ว่าครูเหนื่อยมาก ขนาดมีขนาดเล็กกว่านาโรปะมาก ไม่ทราบว่าจัดการกันอย่างไร หรือว่าวัยรุ่นอาจจะมีปัญหาน้อยกว่าเด็ก เรื่องนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ สอง ความสำเร็จของนาโรปะอยู่ตรงไหน อย่างซัมเมอร์ ฮิลล์ เขาบอกเลยว่า ถ้านักเรียนของเขาเป็นนายกรัฐมนตรี ถือว่าล้มเหลว ความสำเร็จของนาโรปะอยู่ที่ไหน อยู่ที่จบไปเป็นใหญ่เป็นโต หรือว่าอะไร ?

อ. ประเวศ: ผมไปมหาวิทยาลัยมาหลายแห่งในโลก อย่างนาโรปะนี่เราสัมผัสได้ ครูก็ดี เจ้าหน้าที่ก็ดี นักศึกษาก็ดี ดูมีความสุขอยู่ภายในตัว ผมว่าสารความสุขจะสูงกว่าที่อื่น

นพ.โกมาตร: เขาปล่อยนักเรียนเรียนเองเยอะครับ สัดส่วนครูต่อนักเรียนเป็นอย่างไรครับ

วิจักขณ์: คือห้องหนึ่ง ประมาณ ๒๐ คนครับ ส่วนใหญ่จะประมาณ ๑๐ คน

อ.ประเวศ: แล้วครูล่ะ

วิจักขณ์: ครูลาออกไม่ค่อยเห็นนะครับ ส่วนใหญ่ก็มีความสุข ผมมองว่านาโรปะจะมีวัฒนธรรมใหม่ บางอย่าง เช่น การอยู่ร่วมกัน มีการเฉลิมฉลอง การละเล่น พิธีกรรม แล้วจะเป็นมหาวิทยาลัยคล้ายๆ เสรีศิลป์ ก็มีการผ่อนคลายมาก ถ้าใครเคยอ่านงานของตรุงปะ รินโปเช จะเห็นว่านาโรปะจะเล่นกับธรรมะ จะมองศาสนาว่าเป็นเรื่องของความสุข ความสบายใจ นาโรปะจะดึงดูดศิลปิน นักแสดงมาได้เป็นอันมาก ดังนั้น จะมีลักษณะสบายๆ หลุดจากความคาดหวังของคนอื่น มาเรียนรู้ร่วมกันสบายๆ ไม่ต้องอะไรมาก

แล้วผมเห็นว่าข้อดีอย่างหนึ่งของนาโรปะคือ การบริหาร ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะปล่อยให้ภายในทำกันไป เรียนรู้กันไป ถ้ามีปัญหาอะไรจากภายนอก เขาจะเป็นเกราะให้ เป็นการสร้างพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ ถ้ามองว่ามหาวิทยาลัยแปลกๆ ภายนอกก็ย่อมสงสัยว่า จะเอางบมาจากไหน ใครจะมาพูดว่าอย่างไร เรื่องการยอมรับ ทำปริญญาได้หรือเปล่า สุดท้ายก็ทำได้ มีปริญญา มีการวัดผลในรูปแบบแปลกๆ ออกมาเรื่อย เป็นการสร้างสรรค์จากภายใน จะมีความสนุกสนาน แล้วก็มีบรรยากาศร่วมกันสบายๆ

(ในส่วนของอาจารย์) พื้นฐานของอาจารย์เป็นนักการศึกษาอยู่ทุกคน เขามาเป็นอาจารย์เพราะเห็นคุณค่าของการศึกษา เข้ามาทำร่วมกัน นาโรปะมีพลังที่เกิดจากการทำร่วมกันมาก กลับมาดูเมืองไทย บางทีผมก็ตั้งคำถามว่า เรามีคนอยากทำเป็นจำนวนมาก แต่กระจัดกระจาย ที่นั่นก็อยากทำ ที่นี่ก็อยากทำ

อ.เอกวิทย์: ผมมีโจทย์ฝากให้คุณวิจักขณ์คิด คือว่าวิจักขณ์มีอดีตและปัจจุบันกรรมที่ดีมาก แล้วผมมองได้ชัดเจน จิตตปัญญาจะเป็นเช่นเดียวกับที่คุณวิศิษฐ์ว่า คือเป็นหัวขบวนของกระแสธารใหม่ที่ดีงาม ดังนั้น ฝากโจทย์ไปคิด เชื่อไม่เชื่อไม่เป็นไร อาชีพที่เหมาะสมกับคุณวิจักขณ์ก็คือ เป็นครูพันธุ์ใหม่ที่แทงทะลุอะไรดีๆ ที่พอจะให้นักเรียน เรื่องนี้มีอยู่ทุกมหาวิทยาลัยในเมืองไทย และทั่วโลก เพียงแต่ต้องการคนที่เสียสละทุ่มเทที่จะสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีให้กับนักเรียนที่กำลังแสวงหาสัจธรรม ผมคิดว่าเป็นความหวังได้ อ.เอเชีย ก็เหมือนกันนะครับ ผมฝากโจทย์ ถ้าไม่หนีไปทำอย่างอื่น ดีใจมากที่หนีจากเรียนรู้ทางวัตถุ เรื่องวิศวกรรม มาเป็นเรื่องของคน เรื่องชีวิต เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง ดังนั้น ลองเป็นตัวหลักในการนำกระแสทางเลือกหลักที่สร้างสรรค์สิ่งดีงาม

นพ.ประเวศ: คุณวิศิษฐ์ เอเชีย วิจักขณ์ และคนอื่นๆ อีกไม่ช้าคงรวมตัวกันทำวิทยาลัยแบบใหม่ แล้วตอนนั้นจะสะสมพลัง จะมีนักศึกษา อาจจะทำปริญญาโทหรืออะไรก็ได้ แต่ให้ไปจากของจริง ถ้าจะเริ่มโดยฟอร์ม ไปเสนอนายก ไปเสนอคุณอดิศัย ไม่ใช่ของจริง แล้วจะไปไม่ได้

นพ.อารี: ประเด็นนี้ ผมจะถามอยู่เหมือนกัน คือเป็นผู้นำด้านการศึกษา แต่อย่าไปเป็นอธิการ อย่าไปเป็นรัฐมนตรี อย่าไปเล่นการเมือง

นพ.ประเวศ: มูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์ คุณสดศรี คือน้องสาวของ อ.อารี ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมทางการศึกษา เดิมคุณหญิงสดศรีคิดว่าจะมีเงินสัก ๔๐๐ ล้านบาท แต่พอเศรษฐกิจตกก็ไม่มีเงิน แต่มีที่ดินอยู่ น่าจะขายได้ จะเอามาทำอะไรบ้างที่เป็นการศึกษา คุณหญิงก็ปวารณาไว้แล้วว่าเงินจากการขายที่ดิน จะมอบให้มูลนิธิบริหารจัดการ ที่ประเมินราคาไว้ มีราว ๕๔ ไร่ ๓๕๐ ล้าน เขาว่าจะให้หมด

นพ.ประสาน: ผมกำลังนึกว่านาโรปะเป็นอย่างไร เหมือนว่าวัดสมัยสุโขทัยซึ่งเป็นเรื่องของการสร้างโยนิโสมนสิการจากภายใน ให้เรียนรู้ตัวเองก่อนที่จะเรียนรู้โลก เป็นกรวยแบบ อ.วิศิษฐ์ กรวยมีจากบานไปหาตีบ และจากตีบไปหาบาน แต่ว่าคนละมิติกัน เราก็ต้องนึกถึงว่า ขณะนี้ คนก็เรียนทางด้านการมองภายใน แต่คนที่เรียนไม่ได้เข้าวัด ไม่สื่อกัน ทำให้สิ่งซึ่งเป็นความลับเหล่านั้น กลายเป็นเรื่องไสยศาสตร์ เมื่อวัตถุออกมาเป็นวิทยาศาตร์ ออกมาเป็นฝ่ายนำ เราก็สร้างรูปแบบการศึกษาการเรียนรู้ไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งทำลายล้างพวกจิตนิยมทั้งหมด มันก็จิตวิญญานเหมือนกัน แต่อันหนึ่งเป็นพวกจิตนิยม อีกอันหนึ่งเป็นจิตวิญญาน เพราะฉะนั้น เมื่อมีโรงเรียนวัดขึ้นมาใหม่ ที่อเมริกาเขาก็ต้องต่อต้าน

สมมติว่าในประเทศไทยเราจะทำ ก็อยู่ในสภาพเดียวกัน เพราะว่าสังคมภายนอกสอนให้เรามองไปข้างนอก ก็เห็นแต่ของข้างนอกวันยังค่ำ ไม่มีทางที่จะเห็นข้างใน ตราบใดที่ไม่เจ็บปวด ต้องมีความเจ็บปวดก่อน เพราะฉะนั้น งานที่เราทำ ต้องทำ และต้องทำอย่างรีบเร่ง แต่ไม่ใช่ทำไปด้วยความรู้สึกจะไปล้มล้าง แต่ทำด้วยใจ ว่าเป็นสิ่งสร้างสรรค์

คุณวิศิษฐ์: อยากจะตอบคำถาม แต่ไม่ใช่คำตอบแบนๆ ขอเชื่อมโยงกับหลวงพี่ไพศาล เรื่องความอ่อนล้าในงานจัดการศึกษาที่ดีๆ แล้ว อ. ประเวศ ก็พูดเรื่องการจัดการ ผมนึกถึง ๒ คำ คือ"การจัดการ"คำหนึ่ง และอีกคำหนึ่งคือ "ศิลปะ"

ผมมองว่าเรื่อง"การจัดการ" คิดว่าเข้าใจคุณหมอประเวศถูก แต่อาจถูกไม่หมด เวลาฟังคำว่า"จัดการ" ในคนทั่วไปจะมีความหมายหนึ่ง อยู่ในอุปมาของเครื่องจักร การสั่งการ ควบคุม ผมมองว่าเป็นวิทยาศาสตร์เก่า กระบวนทัศน์เก่า. การจัดการที่คุณหมอประเวศพูด ผมมองว่าเป็นการจัดการที่เป็นเนื้อเป็นตัว คือทำอย่างไรให้ความคิด อุดมคติเป็นรูปธรรมขึ้นมา ตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณหมอประสานมองว่าเป็นความลี้ลับ เวลาเราเป็นวิทยาศาสตร์เก่านั้น เราเอาเรื่องแบบนี้ออกมา เป็นเรื่องของจิต เรื่องของศิลปะเป็นเรื่องของในเนื้อในตัว เรื่องของศิลปะ ที่ผ่านมา ติดอยู่กับความคิดมาก ร.ร.รุ่งอรุณ ใหม่ๆ ก็เล่นเรื่องความคิดมาก ทำแผนการสอนล่วงหน้ามาก

ช่วงหลังที่ผมไปใกล้ชิด พี่อ๋อย(ประภาภัทร) ไม่ค่อยสนใจเรื่องแผนการสอน เพราะรู้ว่าแผนการสอนมีชีวิต แต่สนใจเรื่องกระบวนการสอนมากกว่า และเวลานี้เอาสุนทรียสนทนาเข้าไปในการประชุมครูทุกระดับ ผมติดตามครูอยู่คนสองคน คนหนึ่งชื่อครูชาลี จะบอกว่าทุกครั้งที่ฟังถือว่าฟังดีแล้ว พอมาทำสุนทรียสนทนาอีก การฟังก็จะดีขึ้น และทำให้เขารู้ว่าการฟังที่ผ่านมายังไม่ดีพอ จะมีการพัฒนาที่เรียกว่าเกลียวพลวัต ซ้อนทับที่เดิมแต่ยังต้องขวนขวายต่อไปอีก เป็นทั้งศิลปะและการจัดการ

เราพูดถึงความเท่าเทียมกันแต่ว่าคนละสำนัก ไม่ว่าจะเป็นสำนักเรียน สงฆ์ ฆราวาสล้วนแต่ทรงไว้ซึ่งอำนาจแบบพระราชา ราชอำนาจเสมอไป ไม่ได้ถอดถอนอำนาจจริงๆ ลึกๆ เราไม่คิดว่าคนอื่นจะเก่ง คนอื่นจะมีความคิด ปัญหานี้ยากที่สุด ความเป็นเนื้อเป็นตัวและศิลปะ

วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ บันทึก
สรยุทธ รัตนพจนารถ ตรวจทาน
ชลนภา อนุกูล ตรวจทาน
NewConsc meeting 10th naropa 060513.doc

 

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 980 เรื่อง หนากว่า 16000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 


 

H
R
ที่เรามาคุยตั้งวงกัน ใช้เวลาไป ๗ -๘ เดือน ก็เพื่อที่จะสมานทิฐิเข้ามา เรียกว่าสมานัตตตา เพื่อจะได้เคลื่อนต่อ สิ่งที่เราทำคือเรียนรู้ ประมวลความรู้ แล้วก็เอาไปทำอะไรต่อในรูปแบบต่างๆ ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่หลายแห่ง มีเรื่องที่น่าทำเต็มไปหมด บางทีกรรมการให้ความเห็น แต่เขายังทำไม่ได้ ขาดการจัดการเป็นที่สุด ถ้าผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีการจัดการที่ดีก็สามารถจะทดลองอะไรก็ได้ เพราะทรัพยากรมหาวิทยาลัยมีมาก แต่ว่าบริหารแบบระเบียบราชการมันขาดการจัดการ เขาไม่เรียกการจัดการ ที่ทำๆ กันเขาเรียกบริหาร ถ้าจัดการจะต้องได้ผลตามที่ต้องการ แต่ส่วนใหญ่เป็นแค่บริหารทั้งนั้น โครงสร้างเป็นอย่างนั้นหมดเลย ทั้งการเมือง ราชการ การศึกษา ธุรกิจ และคณะสงฆ์ เหมือนกันหมด - ประเวศ วะสี