Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

สังคม การเมือง และเรื่องตุลาการ
อำนาจตุลาการ คือจุดอ่อนของประชาธิปไตยไทย ?
ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ และศูนย์ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา
History Department And Centre for Southeast Asian Studies
University of Wisconsin - Madison, USA

บทความวิชาการบนเว็บเพจนี้ เคยตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
นำมาเผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ไทย

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 978
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9.5 หน้ากระดาษ A4)




อำนาจตุลาการ คือจุดอ่อนของประชาธิปไตยไทย?
โดย ธงชัย วินิจจะกูล (มติชน วันที่ 18 กรกฎาคม 49)

- ทำไมการใช้การชุมนุมเดินขบวนเป็นมาตรการเด็ดขาดเพื่อกำจัดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้องมาแต่ต้น ?
- ทำไมการปฏิรูปการเมืองตามที่คิดกันอยู่ในขณะนี้จึงอาจพลาดเป้า ?

ตอบ เพราะตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหามาแต่ต้น แต่เรามองข้ามไป

ผู้เขียนขออธิบายตามลำดับเป็น 6 ส่วน ดังต่อไปนี้

1. หมดความชอบธรรม 3 ประเภท
สภาวะหมดความชอบธรรมของอำนาจบริหารมีอย่างน้อย 3 ประเภทหลัก คือ

ประเภทที่หนึ่ง นโยบาย อุดมการณ์ แนวคิด ไม่ได้รับการยอมรับ
ประเภทที่สอง ความนิยมเสื่อม ความน่าเชื่อถือหมดลง
ประเภทที่สาม กระทำความผิด (wrong doing)

มาตรการเพื่อตัดสินประเภทที่หนึ่งและสองคือการเลือกตั้งเท่านั้น ให้ประชาชนเป็นผู้ชี้ขาดว่านโยบายของรัฐบาลได้รับความยอมรับมากหรือน้อยกว่ากัน ความนิยมและความน่าเชื่อถือเสื่อมถอยลงขนาดไหน

ผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไร นั่นคือคำตัดสินของมหาชน เราอาจไม่เห็นด้วยแต่ต้องยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น
(ในที่นี้ถือเอาว่าการทุจริตในการเลือกตั้งมิได้มีมากมายหรือหนักหนาถึงขนาดมีนัยสำคัญต่อผลการเลือกตั้งโดยรวม)

ข้ออ้างว่า ประชาชนไม่ได้รับข่าวสาร ยังขาดการศึกษา ยังโง่อยู่ ล้วนเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น ต่อให้เป็นความจริงก็ตาม เพราะประชาธิปไตยคือระบอบการเมืองของคนส่วนใหญ่ (ไม่ว่าจะรู้ข่าวสารดีพอขนาดไหน โง่หรือฉลาดปานใด) ไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ให้อภิสิทธิ์แก่คนฉลาด ผู้มีการศึกษา หรือคนเมืองเหนือกว่าคนอื่นๆ ที่ด้อยการศึกษาหรือฉลาดน้อยกว่า
(ขอไม่อภิปรายว่า ประชาชนโง่แบบไหน ไม่รู้ข่าวสารจริงหรือไม่)

อย่าลืมว่า ข้ออ้างทำนองนี้เป็นเครื่องมือของอำนาจเผด็จการทุกยุคสมัย ที่จะยึดอำนาจไว้กับพวกของตนผู้อวดอ้างว่ารู้ดีกว่าฉลาดกว่าประชาชน ข้ออ้างพรรค์นี้ยังเป็นเหตุผลของการเซ็นเซอร์ปิดหูปิดตาประชาชนมาตลอดอีกด้วย

อย่าลืมว่า องค์กรภาคประชาชนเองโฆษณามาตลอดว่า ประชาชนฉลาด รู้ดีมีภูมิปัญญาชาวบ้านที่ชนชั้นกลางชาวเมืองไม่เข้าใจ เข้าไม่ถึง เพราะถูกครอบงำจากฝรั่ง มาคราวนี้ภาคประชาชนกลับดูถูกประชาชนเสียเอง และพึงพอใจกับมวลชนของตนซึ่งประกอบด้วยชนชั้นกลางและสูงในเมืองกับผู้ดีมีสกุลทั้งหลายเป็นกำลังสำคัญ

แต่หากอำนาจบริหารสูญเสียความชอบธรรมเพราะกระทำความผิด ใช้อำนาจในทางที่ผิด ต่อให้ได้รับการเลือกตั้งท่วมท้นถล่มทลาย ก็ไม่สามารถอาศัยคะแนนเสียงมากลบล้างการกระทำความผิดได้. สมมุติว่า พรรคการเมืองหนึ่งชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 100% แต่วันถัดมาพบว่าพรรคนั้นกระทำการทุจริต หรือใช้อำนาจนอกเหนือกฎหมายหรือหัวหน้าพรรคไปฆ่าคนตายมาก่อนการเลือกตั้ง คะแนนเสียง 100% ก็ช่วยพรรคนั้นหรือหัวหน้าพรรคคนนั้นไม่ได้

โดยปกติ นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลมักพยายามโมเมตีขลุมว่า ปัญหาที่ตนกำลังประสบเป็นสองประเภทแรกเท่านั้น จึงมักเรียกร้องให้ไปอภิปรายกันในสภา แล้วมักโมเมตีขลุมว่าการเลือกตั้งเป็นมาตรการตัดสินทุกกรณี เพื่อรวบหัวรวบหางกลบการกระทำความผิด ให้กลายเป็นเรื่องของความนิยมและความน่าเชื่อถือไปเสียหมด ทั้งๆ ที่เป็นการเสื่อมความชอบธรรมคนละประเภทกัน

แต่กระบวนการที่จะตัดสินว่า ฝ่ายบริหารกระทำความผิดจริงหรือไม่ คืออำนาจตุลาการตามกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ประชาชนมีสิทธิป่าวร้องโฆษณาว่ารัฐกระทำความผิด การชุมนุมเดินขบวนอย่างสันติเพื่อป่าวร้องโฆษณาเช่นนั้นจึงเป็นสิทธิอันชอบธรรม การชุมนุมอาจส่งอิทธิพลต่อมติมหาชนและต่อปัจเจกชนผู้ทำหน้าที่ตุลาการ ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่พึงกระทำได้

แต่การชุมนุมที่เป็นมาตรการเด็ดขาดในตัวเองเพื่อเอาชนะกำจัดรัฐบาล เท่ากับถือเอาการชุมนุมเป็นกระบวนการตัดสินความผิดของรัฐโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ยิ่งการชุมนุมที่พยายามอาศัยอำนาจพิเศษมาจัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยถือว่าตนรู้ดีกว่าฉลาดกว่าคนส่วนใหญ่ (ต่อให้เป็นความจริงก็เถอะ) ย่อมเป็นวิธีการที่ผิด

เพราะปฏิเสธทั้งกระบวนการยุติธรรม และเสียงของคนส่วนใหญ่ หันไปสู่ "อภิชนาธิปไตย" อันจะมีผลให้ประชาธิปไตยไทยตาถั่วเสียหายครั้งใหญ่หลวง

2. อำนาจตุลาการในระบบปาลิเมนต์
เราไม่ต้องการระบบการเมืองแบบประธานาธิบดีที่ประชาชนเลือกผู้นำฝ่ายบริหารโดยตรง และเลือกผู้แทนเข้าสภาเป็นอีกกระบวนการต่างหากจากกัน

ระบบปาลิเมนต์ของไทยเลือกผู้แทนเข้าสภา ฝ่ายบริหารมาจากผู้แทนในสภาอีกทอดหนึ่ง การแยกอำนาจบริหารกับสภาไม่เด็ดขาดจากกันอย่างในระบบแรก การตรวจสอบถ่วงดุลโดยสภาในระบบนี้จึงไม่แข็งแรงเท่าระบบแรก แต่เวลาเราคิดถึงระบบตรวจสอบถ่วงดุล เรากลับมักคาดหวังว่าสภาจะทำหน้าที่นี้ได้ดีตามแบบระบบประธานาธิบดี ผิดฝาผิดตัวเป็นประจำ

เพราะในระบบที่ฝ่ายบริหารและสภาต่างมาจากประชาชนโดยตรง สภาย่อมมีอำนาจ โอกาส และความชอบธรรมในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารเต็มที่ โดยมากพรรคที่ชนะในสภา กับพรรคที่ได้อำนาจบริหารจะเป็นคนละพรรคกัน ตัวอย่างเช่น ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา สภากับประธานาธิบดีมาจากคนละพรรคกันเป็นส่วนใหญ่ น้อยครั้งที่พรรคเดียวกันจะคุมอำนาจทั้งสองฝ่าย ประชาชนตั้งใจเลือกให้เป็นแบบนั้น

ในระบบนี้ ยังมีอำนาจตุลาการเป็นอีกกระบวนการต่างหากทั้งจากสภาและฝ่ายบริหาร ศาลหลายระดับในสหรัฐอเมริกามาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ศาลสูงของประเทศทุกระดับมาจากการยอมรับร่วมระหว่างฝ่ายบริหารและรัฐสภา

ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลโดยสภา มีพื้นฐานมาจากอำนาจของแต่ละฝ่ายมีแหล่งที่มาคนละกระบวนการกัน ต่างมีแหล่งอ้างอิงความชอบธรรมของตนเอง

ในระบบปาลิเมนต์แบบที่ประเทศไทยใช้อยู่ ฝ่ายบริหารมาจากสภาเสมอ ตามหลักการแล้ว สภาจะไม่พยายามสั่นคลอนฝ่ายบริหาร ไม่มีบทบาทตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารแข็งขันอย่างในระบบแรกเพราะย่อมเป็นพวกพรรคเดียวกัน

ในประวัติศาสตร์สั้นๆ ของระบบปาลิเมนต์ของไทย เราไม่เคยมีพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเด็ดขาดจนกระทั่งพรรคไทยรักไทยนี่เอง ฝ่ายบริหารที่ผ่านมาเป็นรัฐบาลผสมที่เปราะบาง แตกคอกันง่าย บ่อนเซาะกันเองก็มี ในขณะที่ฝ่ายค้านในสภา มักมีสัดส่วนใหญ่พอที่จะก่อปัญหาแก่ฝ่ายบริหาร บทบาทตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารโดยสภา จึงเกิดขึ้นได้ด้วยภาวะรัฐบาลผสมและฝ่ายค้านที่ใหญ่โตพอ แต่มิใช่ด้วยโครงสร้างตามระบบปาลิเมนต์

เราคาดหวังผิดๆ ว่าสภาต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลได้แข็งขัน เพราะเราเคยตัวกับรัฐบาลผสมตลอดมา จนเราลืมไปว่าตามโครงสร้างของระบบปาลิเมนต์นั้นสภากับฝ่ายบริหารเป็นพวกเดียวกัน

ในระบบปาลิเมนต์แบบนี้ มักออกแบบให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลได้สะดวก โดยไม่ขึ้นต่อจำนวนจนเกินไปนัก แต่ทว่าอำนาจหลักที่จะมาตรวจสอบฝ่ายบริหารมิให้กระทำการฉ้อฉล ใช้อำนาจในทางที่ผิด คือ สื่อมวลชน และอำนาจตุลาการ เรียกว่าเป็นระบบตรวจสอบ (accountability system) แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ถ่วงดุลแต่อย่างใด

ตามระบบนี้ จึงต้องออกแบบและสร้างกฎหมายรองรับการตรวจสอบโดยตรงจากประชาชนและสื่อมวลชนที่สะดวก ไม่ยากจนเกินไป และมีประสิทธิภาพ เช่น สิทธิในการเรียกข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการรวมตัวฟ้องร้อง ยื่นเสนอกฎหมาย และถอดถอนบุคคลที่มีอำนาจการเมือง

ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ตามระบบนี้อำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรมจะต้องพัฒนาให้ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจบริหารด้วย แต่มิใช่ตามกระบวนการทางการเมือง

ประชาธิปไตยแบบปาลิเมนต์ในหลายประเทศ เติบโตมาพร้อมกับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและระบบศาลที่เป็นอิสระ เข้มแข็ง ไม่ขึ้นต่อการเมือง เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนพึ่งพิง ตรวจสอบ ดำเนินคดีการใช้อำนาจรัฐฉ้อฉล

แต่ละประเทศพัฒนาระบบตรวจสอบที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ใช่ศาลตุลาการเสมอไป อาทิ คณะกรรมการเฉพาะกรณีเพื่อสอบสวนการกระทำความผิดของรัฐ (และสภา) โดยให้มีอำนาจในการสอบสวนสูงมาก สามารถเรียกเอกสารและบุคคลได้เต็มที่ เช่น ระบบ Royal Commission ในประเทศเครือจักรภพ (พระมหากษัตริย์มิได้ทรงเลือกคณะกรรมการหรือยุ่งเกี่ยวแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่เป็นแหล่งที่มาของอำนาจในการสอบสวน) ระบบ tribunal ในหลายประเทศ หรือผู้สอบสวนอิสระของรัฐสภาในสหรัฐอเมริกา ผู้สอบสวนสูงสุดเหล่านี้ไม่ใช่องค์กรอิสระถาวร มักมีขอบเขตอำนาจจำกัดเฉพาะกรณีและมักไม่มีอำนาจเป็นตุลาการเสียเอง แต่มีอำนาจฟ้องร้องต่อศาลสูง อำนาจตัดสินคดียังคงเป็นของตุลาการ

ฝ่ายตุลาการในระบอบประชาธิปไตยของไทยเป็นอย่างไร

3. อำนาจตุลาการไทยไม่ตรวจสอบรัฐ?
นับจาก 14 ตุลา 2516 จนถึงบัดนี้ สังคมไทยทุ่มเททรัพยากรและพลังมหาศาลลงไปกับการพัฒนารัฐสภาและการเลือกตั้ง หวังขจัดอำนาจเงินและผู้มีอิทธิพลที่จะแสวงประโยชน์ส่วนตัวจากอำนาจทางการเมือง หวังจะได้คนดีวิเศษเข้าสภา เราเขียนรัฐธรรมนูญหลายฉบับเพื่อแสวงหารัฐสภาและรัฐบาลแบบอุดมคติ
แต่เราลืมอำนาจตุลาการ!

เราลืมไปสนิทว่ากระบวนการยุติธรรมมีความสำคัญขนาดไหนในระบบปาลิเมนต์ เราไม่ได้คิดเลยว่า ต้องพัฒนาอำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นฐานของระบบตรวจสอบการใช้อำนาจฉ้อฉล แต่ทว่าจะต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง

มิได้หมายความว่า ตุลาการไทยไม่มีการพัฒนาเลยใน 30 ปีที่ผ่านมา เป็นความจริงว่าวงการตุลาการไทยได้บุคลากรระดับยอดเยี่ยมของสังคมเข้าไปเสริมสร้างความเข้มแข็งขึ้นมากตลอดมา แต่ผู้เขียนหมายความว่า สังคมไทยมิได้ให้ความสนใจถกเถียงทุ่มเทพัฒนาตุลาการ และกระบวนการยุติธรรมเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐเท่าไรนัก ยกเว้นการสร้างศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2540

เราแทบไม่นึกถึงอำนาจตุลาการให้ทำหน้าที่นี้เลย เรานึกถึงแต่สภา

ในวิกฤตคราวนี้ชี้ให้เห็นเด่นชัดว่า ทั้งสองศาลที่เกิดขึ้นใหม่มีความสำคัญขนาดไหน แต่ทว่ายังขาดประสบการณ์อย่างมาก ที่สำคัญที่สุดก็คือ อำนาจตุลาการของไทยไม่เคยมีประวัติว่าทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐสักเท่าไรเลย

ฝ่ายตุลาการถูกมองในเชิงลบว่าอาจเอื้อต่ออำนาจฝ่ายบริหาร มีจารีต ธรรมเนียม และวัฒนธรรมที่เอื้อรัฐมากกว่ารับใช้ประชาชน อาทิ การยอมรับประเทศและอำนาจอธรรมของระบอบเผด็จการทุกชุด และลงโทษผู้ที่ต่อสู้กับรัฐเผด็จการ มีผู้วิจัยพบว่า การตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐเหนือสิทธิของพลเมืองอยู่ในฟากรัฐเกินกว่า 90%

จารีตหรือวัฒนธรรมการใช้กฎหมายเพื่อรับใช้รัฐ เกี่ยวข้องกับประวัติการร่างกฎหมาย และโรงเรียนกฎหมายในประเทศไทยด้วย กล่าวคือ เราผลิต "เนติบริกร" มาแต่ไหนแต่ไร หมายความว่า เราผลิตนักเทคนิคทางกฎหมายที่ขาดความเข้าใจพลวัตของกฎหมายกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งๆ ที่ระบบตุลาการคือการผดุงความยุติธรรมในสังคมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

การปล่อยปละละเลยไม่ต่อสู้เพื่อพัฒนาฝ่ายตุลาการ ทั้งเรื่องระบบโครงสร้างการบริหาร ตลอดจนถึงวัฒนธรรมการใช้กฎหมาย ตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติลงมาจนถึงโรงเรียนกฎหมายทุกระดับ หมายถึง อำนาจตุลาการไม่ได้รับการพัฒนาให้ทันกับภารกิจในระบอบประชาธิปไตยที่เปลี่ยนไปมหาศาลใน 30 ปีที่ผ่านมา

จึงไม่แปลกที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จะลืมนึกถึงศาลแทบสนิท (ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีภารกิจเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงกว่าศาลอื่นๆ) จนกระทั่งมีพระราชดำรัสแก่คณะตุลาการเมื่อ 25 เมษายน 2549

4. สมควรมองข้ามอำนาจตุลาการและหลักการประชาธิปไตยหรือไม่?
ท่านทราบไหมว่า ท่ามกลางกระแสเปิดโปงความเลวร้ายของ "ระบอบทักษิณ" นับจากเมืองไทยรายสัปดาห์เมื่อปีที่แล้วจนถึงพันธมิตร ก่อน 25 เมษายนนั้น มีคดีฟ้องร้องเอาผิดกับรัฐบาล และนายกฯ ทักษิณกี่คดี?

ท่านทราบไหมว่า ท่ามกลางการกล่าวโทษเปิดโปงการขายหุ้นไม่เสียภาษีของนายกฯ มีใครไปฟ้องร้องเอาผิดหรือดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมบ้าง ?

ลองหาคำตอบแล้วท่านจะตกใจ

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลใช้การชุมนุมเป็นมาตรการเด็ดขาด แต่กลับไม่สนใจกระบวนการยุติธรรมเลย ไม่กี่คดีที่มีอยู่ในศาล มิได้ริเริ่มโดยผู้นำของพันธมิตรเลยสักกรณีเดียว. ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามโมเมตีขลุมให้ปัญหาทุกอย่างตัดสินด้วยการเลือกตั้ง ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลรวบหัวรวบหางเอาปัญหาทุกอย่างมาตัดสินด้วยการชุมนุมแสดงพลัง แล้วหวังใช้อำนาจพิเศษเพื่อเอาชนะ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียอนาคตของระบอบประชาธิปไตย

ฝ่ายต่อต้านเองไม่เคยตระหนักว่า การกระทำความผิดของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยต้องตัดสินตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนเรื่องนโยบาย แนวคิด และความน่าเชื่อถือนั้น ต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง

ฝ่ายพันธมิตรอาจให้เหตุผลว่า ทุกอำนาจที่สามารถทัดทาน "ระบอบทักษิณ" ถูกซื้อไปหมดแล้ว หรืออยู่ใต้ความกลัวรัฐบาล จึงหวังพึ่งไม่ได้

ฝ่ายพันธมิตรอาจให้เหตุผลเพิ่มตามที่ผู้เขียนเองให้ไว้ข้างต้นว่า อำนาจตุลาการไทยถูกเข้าใจว่าไม่เคยมีประสบการณ์ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐฉ้อฉล จึงไม่มีความเชื่อถือศรัทธาพอ (ในความเป็นจริงผู้เขียนเชื่อว่าฝ่ายพันธมิตรมิได้คิดข้อนี้เลย เพราะเขาไม่สนใจอำนาจตุลาการ ไม่สนใจประวัติศาสตร์ และไม่สนใจหลักการของระบอบประชาธิปไตย)

เหตุผลทั้งสองประการมีมูลอยู่ แต่เป็นเหตุผลเพียงพอหรือที่จะใช้การชุมนุมเดินขบวนตัดสินการกระทำความผิดของรัฐแทนกระบวนการยุติธรรม ?

มีความจำเป็นขนาดไหนที่จะต้องต่อสู้กับอำนาจฉ้อฉลด้วยพลังของชนชั้นอภิสิทธิ์ และด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ?

เหตุผลทั้งสองประการเพียงพอที่จะมองข้ามการต่อสู้เพื่อพัฒนาอำนาจตุลาการเชียวหรือ ?

มีตัวอย่างมากมายชี้ว่า อำนาจตุลาการมิได้ย่ำแย่ขนาดพึ่งไม่ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการต่อสู้ผลักดันให้ตุลาการแสดงบทบาท และขึ้นอยู่กับการทำสำนวนฟ้องและตีความกฎหมาย

เอาเข้าจริงอำนาจตุลาการหวังพึ่งไม่ได้หรือฝ่ายพันธมิตรเองมักง่าย ต้องการเอาชนะจนไม่สนใจหลักการใดๆ ทั้งสิ้น ?

ฝ่ายพันธมิตรเองตระหนักข้อนี้หลัง 25 เมษายน (แต่กลับ "ใช้" อำนาจตุลาการในทางที่ถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่อยู่ดี - ดังจะกล่าวต่อไป)

ฝ่ายพันธมิตรมักให้เหตุผลอีกชุดว่า สถานการณ์ในวิกฤตคราวนี้เป็นกรณีพิเศษของประเทศไทย จึงต้องใช้มาตรการพิเศษ (ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย) จะมัวอาศัยช่องทางตามกระบวนการปกติไม่ได้ สถานการณ์พิเศษตามที่ฝ่ายต่อต้านมักกล่าวอ้าง ได้แก่ ความเลวร้ายของ "ระบอบทักษิณ" ราวกับประเทศไทยจะถูกธรณีสูบจนมอดไหม้หากปล่อยให้ "ระบอบทักษิณ" ดำรงอยู่นานขึ้นอีกวัน

ผู้เขียนยอมรับว่า การประเมินความเลวร้ายของระบอบที่ฉ้อฉลเป็นเรื่องที่ไม่สามารถตัดสินชัดเจนได้ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ เพราะข้อมูลท่วมหัวก็ยังขึ้นอยู่กับการประเมินตามจริตวิสัยของแต่ละคน และขึ้นอยู่กับการโฆษณาชวนเชื่อจากทุกฝ่าย ผู้เขียนคงทำได้เพียงฝากให้คิดสัก 3-4 ข้อเพื่อประกอบการประเมินความหายนะอันเกิดจากระบอบทักษิณ ดังต่อไปนี้

1. ทำไมฝ่ายต่อต้านทักษิณจึงไม่รู้สึกถึงหายนะนี้ตั้งแต่คราวที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน จากการ "ฆ่าตัดตอน" อันเนื่องมาจากมาตรการปราบยาเสพติด?

2. ทำไมฝ่ายต่อต้านทักษิณจึงไม่รู้สึกถึงหายนะ ตั้งแต่คราวที่มีผู้เสียชีวิตมากมายจากความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งกว่า 70 คนที่ตายในรถบรรทุกในโศกนาฏกรรมที่ตากใบ?

3. ทำไมฝ่ายต่อต้านจึงเพิ่งรู้สึกว่าประเทศไทยหายนะแน่หลังจากกรณีขายหุ้นอื้อฉาวโดยไม่เสียภาษี? ถ้ากว่า 2,000 ชีวิตไม่ใช่หายนะ ทำไมภาษีหลายพันล้านที่เก็บไม่ได้จึงเป็นหายนะ?

4. ท่านคิดว่า "ระบอบทักษิณ" ก่อหายนะเท่ากับมาร์คอสและซูฮาร์โตหรือไม่?

ผู้เขียนขอตอบข้อ 4 ว่า ยังห่างไกลลิบลับ และขอเสริมว่า การมุ่งเอาชนะอย่างปราศจากหลักการจนบานปลายเป็นความมั่วเละเทะ เป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์พิเศษที่เลวร้ายอยู่ในขณะนี้. สถานการณ์พิเศษแบบไหนกันถึงขนาดจำเป็นต้องใช้ความมั่ว ทิ้งหลักการและกระบวนการยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย?

หรือว่าขบวนการสนธิและฝ่ายพันธมิตรเองยึดมั่นผิดๆ มาแต่แรก ว่าจะใช้การชุมนุมเป็นมาตรการเพื่อเอาชนะและใช้อำนาจพิเศษเป็นทางออก จึงต้องสร้างปีศาจขึ้นมาเกินความจริง เพื่ออธิบายว่าเป็นสถานการณ์พิเศษ เพียงเพื่อให้ความชอบธรรมแก่การยึดมั่นผิดๆ ของตนเองแต่ต้น

สถานการณ์พิเศษมิใช่เหตุนำไปสู่มาตรการพิเศษ

แต่การยึดมั่นผิดๆ กับมาตรการพิเศษแต่ต้นต่างหาก เป็นที่มาของการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องสถานการณ์พิเศษ

เหตุผลทั้งหลายเป็นแค่ข้ออ้างให้ความชอบธรรมแก่วิถีทางต่อสู้ผิดๆ ของตนมาแต่ต้น (อย่าลืมว่าขบวนการสนธิปักใจกับการต่อสู้เพื่อถวายพระราชอำนาจคืนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว หลายเดือนก่อนกรณีขายหุ้นของทักษิณ)

ข้ออ้างเพื่อละเลยหลักการ คือ การละเมิดหลักการที่ปะหน้าทาแป้งให้ดูดีขึ้นแค่นั้นเอง

5. บทบาทขาดๆ เกินๆ ของฝ่ายตุลาการ ?
ครั้นพระราชดำรัสแก่คณะตุลาการเมื่อ 25 เมษายน กระตุ้นให้วงการตุลาการแสดงบทบาทของตนเพื่อขจัดปัญหา ทั้งฝ่ายพันธมิตรและวงการตุลาการกลับเผชิญปัญหาหนักเข้าไปอีก กล่าวคือ แทนที่จะวินิจฉัยการกระทำความผิดของรัฐบาล อันเป็นมูลเหตุของปัญหาทั้งหมด

กลับไปสะสางปัญหาอันเกิดจากการเลือกตั้ง และการชิงไหวพริบกันทางการเมืองของทั้งสองขั้วคู่ขัดแย้ง

มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปฏิเสธเสียงของประชาชนในการเลือกตั้ง โดยอาจไม่มีหลักฐานชี้ชัดแต่อย่างใดว่าคูหาเจ้าปัญหา ส่งผลต่อการเลือกตั้งอย่างมีนัยสำคัญอย่างไร

มีคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งหลายร้อยคดี มีคดีฟ้องกันไปมาข้อหาหมิ่นประมาทหลายสิบคดี แต่คดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายกฯ หรือรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งกลับมีอยู่ไม่กี่คดีตามเดิม

ฝ่ายพันธมิตรใช้อำนาจตุลาการจัดการปัญหาการเมือง แต่ยังคงละเลยอำนาจตุลาการในการตรวจสอบการกระทำความผิดของรัฐ ขณะที่วงการตุลาการซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการตรวจสอบฝ่ายบริหารเท่าใดนัก จนถูกนักวิชาการด้านกฎหมายวิจารณ์และท้วงติงว่า ระวังจะเผอเรอแสดงบทบาทเกินขอบเขตของตน

ตุลาการมีอำนาจสูง คำตัดสินถือเป็นสิ้นสุด ทุกฝ่ายยังคงต้องยอมรับคำตัดสินของศาลด้วยเหตุนี้ อำนาจตุลาการทุกแห่งในโลกจึงถูกจำกัดอำนาจไว้อีกแบบ คือ มีอำนาจตัดสินตามคดีที่มีการฟ้องร้องกันขึ้นมาเท่านั้น

เกิดคำถามที่น่าพิจารณาว่า ตุลาการมีหน้าที่จัดประชุมเพื่อแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านสื่อมวลชนในฐานะอำนาจฝ่ายตุลาการหรือไม่ และควรมีขอบเขตเพียงใด การแสดงความเห็นในฐานะประชาชนคนหนึ่งๆ ย่อมกระทำได้ แต่ในฐานะผู้ใช้อำนาจตุลาการควรมีหน้าที่วินิจฉัยคดีที่มาสู่ศาลเท่านั้นหรือไม่

ผู้ใดเห็นว่ารัฐบาลใช้อำนาจในทางที่ผิด กระทำความผิด ก็สมควรที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีเอากับรัฐบาลหรือนายกฯ ตุลาการใช้อำนาจตัดสินไปตามกฎหมายตามคดีที่มีขึ้นมา

ตุลาการไม่ควรออกมาแถลงความเห็นทางการเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับคดีความในศาลใช่หรือไม่?

ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากในฝ่ายพันธมิตรกำลังฝากความหวังกับอำนาจตุลาการ แต่การแสดงออกของวงการตุลาการกลับมีผู้มองด้วยความห่วงใยว่า มีประสบการณ์เพียงพอหรือไม่กับบทบาทในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร

มีแต่ขาดๆ กับเกินๆ หรือไม่ ???

ฝ่ายพันธมิตรก็ยังคงขาดความเคารพต่ออำนาจตุลาการเช่นเดิม เห็นเป็นแค่เครื่องมือเอาชนะคู่ต่อสู้ อาศัยศาลในการพันตูทางการเมือง แต่ยังคงมองไม่เห็นความสำคัญของอำนาจตุลาการในฐานะอำนาจต่างหาก เพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหารตามกระบวนการประชาธิปไตยแบบปาลิเมนต์

ทั้งวงการตุลาการและสาธารณชนไม่เคยตั้งคำถามว่า ทำไมฝ่ายตุลาการจึงไม่แสดงบทบาทด้วยการเร่งคดีที่เกี่ยวข้องโดยไม่ต้องรอพระราชดำรัส ?

ทั้งหมดนี้สะท้อนการพัฒนาของอำนาจตุลาการของไทย ? และอำนาจตุลาการได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหามาแต่ต้น ?

6. ปฏิรูปประชาธิปไตยไทยที่อำนาจตุลาการ
ผู้อ่านหลายท่านอาจเข้าใจผิดว่าผู้เขียนเชียร์ทักษิณ. ภาวะแยกขั้ว มักทำให้คนที่เลือกข้างทั้งสองขั้วไม่สามารถเข้าใจอะไรได้โดยไม่ชี้ชัดว่าพวกเรา หรือพวกมัน. คนเหล่านี้เกลียดบุช แต่คิดไม่ต่างจากบุช

บทความนี้เขียนขึ้นด้วยความห่วงใยเพียงประการเดียว นั่นคือ เราไม่พึงต่อสู้กับการกระทำความผิดด้วยการทำผิดๆ หนักเข้าไปอีก ผู้เขียนขอย้ำอีกครั้ง (ครั้งแรกเมื่อกันยายน 2548 อีกครั้งเมื่อตุลาคม 2548) ว่าการต่อสู้กับรัฐซึ่งใช้อำนาจในทางที่ผิดไม่ควรใช้วิธีการผิดๆ

- เพราะ ผิด + ไม่ถูก จะกลายเป็นถูกไปได้อย่างไรกัน
- ผิด + ไม่ถูก = มั่ว คือการทำร้ายประชาธิปไตยซ้ำสอง

หลายเดือนที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า การต่อสู้กับอำนาจที่ฉ้อฉลด้วยวิธีการผิดๆ ฉุดรั้งประชาธิปไตยจนอาการเพียบ จนการเมืองน่าเอือมระอา และคงอีกหลายปีกว่าจะฟื้นตัว

วิกฤตคราวนี้ช่วยให้เราเห็นปัญหาที่แฝงตัวอยู่เงียบๆ มานานหลายสิบปี

ทำอย่างไรจะให้อำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรม สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนในการต่อสู้กับอำนาจรัฐฉ้อฉลได้ ถ้าไม่ได้ก็อย่าคาดหวังถึงการปฏิรูปการเมืองเลย

แต่การพัฒนาอำนาจตุลาการเป็นเรื่องใหญ่โตมาก กินความรวมทั้งศาลและกลไกอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรม การจะพัฒนาให้มีความกล้าความสามารถตรวจสอบอำนาจบริหาร และให้สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้สะดวก คงต้องใช้เวลาไม่น้อยไปกว่าที่เราทุ่มเทลงไปกับการพัฒนาสภาและการเลือกตั้งที่ผ่านมา

และคงไม่ใช่แค่การพัฒนาอย่างราบๆ เรียบๆ ตามระบบราชการ
แต่ต้องรวมถึงการต่อสู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของวงการตุลาการอย่างถึงราก

 

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 950 เรื่อง หนากว่า 15000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



200749
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
อำนาจตุลาการกับการเมืองไทย
บทความลำดับที่ ๙๗๘ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
ท่านทราบไหมว่า ท่ามกลางการกล่าวโทษเปิดโปงการขายหุ้นไม่เสียภาษีของนายกฯ มีใครไปฟ้องร้องเอาผิดหรือดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมบ้าง ?

ลองหาคำตอบแล้วท่านจะตกใจ

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลใช้การชุมนุมเป็นมาตรการเด็ดขาด แต่กลับไม่สนใจกระบวนการยุติธรรมเลย ไม่กี่คดีที่มีอยู่ในศาล มิได้ริเริ่มโดยผู้นำของพันธมิตรเลยสักกรณีเดียว. ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามโมเมตีขลุมให้ปัญหาทุกอย่างตัดสินด้วยการเลือกตั้ง ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลรวบหัวรวบหางเอาปัญหาทุกอย่างมาตัดสินด้วยการชุมนุมแสดงพลัง แล้วหวังใช้อำนาจพิเศษเพื่อเอาชนะ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียอนาคตของระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายต่อต้านเองไม่เคยตระหนักว่า การกระทำความผิดของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยต้องตัดสินตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนเรื่องนโยบาย แนวคิด และความน่าเชื่อถือนั้น ต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง

 

แต่ละประเทศพัฒนาระบบตรวจสอบที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ใช่ศาลตุลาการเสมอไป อาทิ คณะกรรมการเฉพาะกรณีเพื่อสอบสวนการกระทำความผิดของรัฐ (และสภา) โดยให้มีอำนาจในการสอบสวนสูงมาก สามารถเรียกเอกสารและบุคคลได้เต็มที่ เช่น ระบบ Royal Commission ในประเทศเครือจักรภพ (พระมหากษัตริย์มิได้ทรงเลือกคณะกรรมการหรือยุ่งเกี่ยวแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่เป็นแหล่งที่มาของอำนาจในการสอบสวน) ระบบ tribunal ในหลายประเทศ หรือผู้สอบสวนอิสระของรัฐสภาในสหรัฐอเมริกา ผู้สอบสวนสูงสุดเหล่านี้ไม่ใช่องค์กรอิสระถาวร มักมีขอบเขตอำนาจจำกัดเฉพาะกรณีและมักไม่มีอำนาจเป็นตุลาการเสียเอง แต่มีอำนาจฟ้องร้องต่อศาลสูง อำนาจตัดสินคดียังคงเป็นของตุลาการขาแรก)

midnightweb