Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

การอธิบายการเมืองไทยร่วมสมัย
การเคลื่อนไหว ๒๕๔๙ : รัฐประหารของคนชั้นกลาง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
นักศึกษาปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย

ข้อมูลบนหน้าเว็บเพจนี้ เป็นบทสัมภาษณ์ที่ทาง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้รับการจากผู้ให้สัมภาษณ์
ซึ่งได้รับการเผยแพร่แล้วบนเว็บไซต์ประชาไทออนไลน์แล้ว
สาระสำคัญของคำถามคำตอบในบทสัมภาษณ์นี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพยายามอธิบาย
และวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยร่วมสมัย รวมถึงการคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตของประชาธิปไตยไทย
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 958
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13 หน้ากระดาษ A4)




การเคลื่อนไหว ๒๕๔๙ : รัฐประหารของคนชั้นกลาง
สัมภาษณ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ โดยประชาไทออนไลน์

ความนำ
ประเด็นการเมืองไทยช่วงนี้อยู่ตรงไหน ขณะที่อำนาจในการจัดการกับความขัดแย้งไปอยู่ที่ฝ่ายตุลาการ และดูเหมือนความขัดแย้งที่ระอุเดือดในช่วงต้นปี ได้ผ่อนน้ำหนักลง แต่ในท่ามกลางความผ่อนคลายลงนี้ เราจะทำความเข้าใจมันอย่างไร

'ประชาไท' ไปจับเข่าคุยกับ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวายอิ เจ้าของคอลัมน์ 'คุยบนหอคอย' ในนิตยสารฉบับหนึ่งที่ปิดตัวไปแล้ว ศิโรตม์มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการและนิตยสารหลายฉบับมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น เขายังเป็นหนึ่งในปัญญาชนน้อยรายที่เชื่อมโยงความรู้เข้ากับการเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรมด้วยวิธีการต่างๆ เช่น โครงการภาพยนตร์สั้น 'ใต้ร่มเงาสมานฉันท์', การจัดตั้งสหภาพแรงงานของคนงานในนิคมอุตสาหกรรม

ศิโรตม์เป็นหนึ่งในคนไทยน้อยราย ที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีคนนี้ลาออกตั้งแต่สองปีที่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์กรือเซะ-ตากใบ แต่ในช่วงที่คนหลายฝ่ายชูธงนายกพระราชทานเพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรี ศิโรตม์กลับเคลื่อนไหวในกลุ่มอดีตนักกิจกรรมและนักศึกษาไทยในต่างประเทศ เพื่อคัดค้านการต่อสู้แนวทางนี้มาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เพราะเขาชื่นชอบทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย แต่เพราะเขาเห็นว่าประชาธิปไตยมีความหมายมากกว่าการขับไล่นายกรัฐมนตรี…

ศิโรตม์บอกว่า 'ฐานของอำนาจที่ชอบธรรม' นั้น คือประเด็นใจกลางของการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงหลายสิบปี เขาเสนอว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2549 ไม่ได้มีสาระสำคัญอยู่ที่การขับไล่นายกรัฐมนตรี หรือ 'พระราชอำนาจ' แต่คือการเกิดการเมืองแบบ 'ข้ามชนชั้น' ที่วางอยู่บน 'วาระทางการเมือง' บางอย่าง ซึ่งชนชั้นสูงและชนชั้นกลางต้องอาศัยภาพของชนชั้นล่างเป็นฐานของความชอบธรรมในการต่อสู้ทางการเมือง

ในสถานการณ์เช่นนี้ ศิโรตม์เปิดประเด็นว่าการเคลื่อนไหวที่ไม่ระมัดระวัง อาจนำไปสู่การ 'ปล้น' การเมืองแบบรากหญ้าไป เพื่อสดุดีอำนาจการเมืองแบบจารีต ทำให้ภาคประชาชนเป็นแค่ 'หางเครื่อง' ของการต่อสู้ทางการเมือง นอกจากนั้น เขายังตั้งคำถามต่อปัญญาชนฝ่ายที่ไม่ทำหน้าที่เป็น 'สติ' ให้กับสังคมในสถานการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะนักกฎหมายปีกที่ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นแค่เรื่องเทคนิคทางกฎหมาย ไม่คำนึงถึงหลักการทางการเมือง

ข้อกล่าวหาอีกหลายประการอันทิ่มแทงใจคนดีกู้ชาติ มาพร้อมคำอธิบายเป็นระบบ ด้วยน้ำเสียงนุ่มๆ ...เป็นความนุ่มนวลประการเดียวที่ปรากฏระหว่างการสัมภาษณ์ แต่ไม่สามารถทำให้ปรากฏในบทความได้ เว้นแต่ท่านจะอ่านออกเสียงและจินตนาการแบบนี้ไปด้วยพร้อมๆ กัน

ถาม : ความไม่ลงหลักปักฐานของความชอบธรรมของอำนาจในการเมืองไทย
ปัญหาที่สำคัญมากในสังคมไทยก็คือการแสวงหาว่า อำนาจที่ชอบธรรมทางการเมืองคืออะไร

ตอบ : สิ่งที่เราต้องพยายามทำความเข้าใจการเมืองในปี 2549 ก็คือ เราต้องพยายามวางมันลงในบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถ้ามองการเมืองไทยด้วยสายตาแบบนี้ เราก็จะเห็นว่าประเด็นใจกลางของการเมืองไทยสมัยใหม่คือ การพยายามหาว่าอะไรคือฐานของความชอบธรรมทางการเมือง ส่วนการต่อสู้ทางการเมืองก็คือ การต่อสู้ที่คนแทบทุกฝ่ายต้องอ้างอิงกับหลักการบางอย่างเพื่ออธิบายว่า อะไรทำให้ฝ่ายตนเองชอบธรรมที่จะมีอำนาจทางการเมือง รวมทั้งอะไรที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่มีความชอบธรรม

ในเชิงประวัติศาสตร์ความคิดนั้น ผมคิดว่าปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองคืออะไรก็ดี หรืออำนาจการเมืองที่ชอบธรรมคืออะไรก็ดี เป็นเรื่องที่ไม่มีในสังคมไทยมาก่อน ต่อให้เราเชื่อว่าการปกครองโดยกษัตริย์ของไทยวางอยู่บนความคิดเรื่องชาติกำเนิด สิทธิทางสายเลือด หลักเทวสิทธิ์ หรือหลักทศพิศราชธรรม ผมกลับเห็นว่าหลักการเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถูกสร้าง และตอกย้ำอย่างกว้างขวางในเงื่อนไขบางอย่าง โดยหนึ่งในเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดก็คือ การเกิดการเมืองสมัยใหม่ขึ้นมา

คิดในแง่นี้ ความชอบธรรมทางการเมืองเป็นประเด็นที่สำคัญ ในเงื่อนไขที่อำนาจทางการเมืองมีความเป็นปึกแผ่น ซึ่งสภาพเช่นนี้ไม่เคยมีอยู่ในการปกครองแบบโบราณของไทย ไม่ว่าจะในสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี หรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น อำนาจของกษัตริย์นั้นดำรงอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ขณะที่ราชธานีแทบทั้งหมดก็มีอำนาจการปกครองเหนือหัวเมืองไม่กี่แห่งที่อยู่ในระยะไม่ไกลเกินไป

อำนาจทางการเมืองในเงื่อนไขแบบนี้อ่อนแอ เปราะบาง กระจัดกระจาย และแยกย่อย จนไม่จำเป็นต้องนิยามว่าอำนาจที่ชอบธรรมคืออะไร หรือใครคือผู้ซึ่งชอบธรรมที่จะขึ้นมาเป็นกษัตริย์ เหตุผลง่ายๆ คืออำนาจการเมืองไม่ได้มีความเป็นปึกแผ่นพอที่จะทำให้การคิดแบบนี้เป็นเรื่องที่จำเป็น

ถาม : ก่อนสมัยใหม่...คนที่มีอำนาจก็คือคนที่กุมอำนาจทางทหารได้

ตอบ : ในความหมายนี้ อำนาจทางการเมืองในสังคมไทยโบราณ ก็เหมือนกับอำนาจในสังคมชนเผ่าทั้งหลาย นั่นก็คืออำนาจทางการเมืองขึ้นอยู่กับอำนาจทางการทหาร และเมื่ออำนาจการเมืองขึ้นอยู่กับอำนาจทางการทหาร ก็หมายความต่อไปว่าอำนาจการเมืองขึ้นต่ออำนาจในการควบคุมกำลังคน ในสังคมโบราณแทบทั้งหมด อำนาจทางการเมือง-การทหาร-การควบคุมคนนั้น เป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้ 'กำลัง' คือรากฐานของอำนาจ และใครที่มีกำลังมาก ก็ย่อมมีอำนาจทางการเมือง

สภาพทางการเมืองแบบนี้ถูกจำลองให้เห็นในภาพยนตร์เรื่องสุริโยทัย เพราะสุริโยทัยพูดถึงอำนาจการเมืองในช่วง พ.ศ.2089-2091 โดยมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ 5 พระองค์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำทางทหาร มีอำนาจด้วยการยึดอำนาจและกำจัดกษัตริย์พระองค์ก่อน ซึ่งธรรมชาติของการเมืองไทยในช่วงก่อนสมัยใหม่ก็เป็นแบบนี้ นั่นคือไม่มีฐานที่ชัดเจนว่าใครคือคนที่เหมาะสมที่จะมีอำนาจ และคนที่คุมอำนาจทางทหารได้ ก็คือคนที่เหมาะสมที่สุดในการมีอำนาจการเมือง

มักคิดกันว่ากษัตริย์ในสังคมไทยโบราณ อาศัยคำสอนทางศาสนาเป็นฐานของความชอบธรรมทางอำนาจ แต่การที่กษัตริย์อ้างอิงตัวเองเป็นหน่อพุทธางกูร หรือผู้มีบุญในรูปต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่เล็กมากเมื่อเทียบกับที่กษัตริย์ในโลกตะวันตก อาศัยศาสนจักรเป็นฐานของอำนาจทางการเมือง

ในกรณีของฝรั่งในบางช่วง ความเป็นกษัตริย์จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อบุคคลได้รับการแต่งตั้งจากสันตะปาปาจากวาติกัน ขณะที่ศาสนาและศาสนจักรไม่ได้สำคัญต่อการขึ้นครองอำนาจของกษัตริย์ในสังคมไทยมากถึงขั้นนั้น คิดในแง่นี้ อำนาจทางการเมืองในสังคมไทยในช่วงก่อน ร. 5 หรือก่อนสมัยใหม่ จึงเป็นอำนาจที่ดิบ วางอยู่บนอำนาจทางการทหารมากกว่าการอ้างอิงกับหลักการที่เป็นนามธรรม ส. ธรรมยศ จึงเขียนว่าเราเปลี่ยนกษัตริย์ทุกๆ 10 ปี โดยการตัดหัว ซึ่งเป็น Argument ที่แรงมากๆ โดยเฉพาะจากบรรทัดฐานของคนยุคปัจจุบัน

มองจากมุมนี้ บุคลิกประการหนึ่งที่สำคัญของอำนาจการเมืองในสังคมไทยในช่วงก่อนสมัยใหม่ ก็คือการไม่มีฐานว่าอะไรคืออำนาจที่ชอบธรรม นี่หมายความต่อไปว่าในการสร้างการเมืองสมัยใหม่นั้น ปัญหาว่าอำนาจที่ชอบธรรมคืออะไรกลายเป็นปัญหาที่มีความสำคัญที่สุด

เวลาคนไทยพูดเรื่องการใช้ศาลเพื่อยุติปัญหาทางการเมืองในขณะนี้ มันก็สะท้อนว่าขณะที่คนส่วนหนึ่งเห็นว่ารัฐบาลที่ชอบธรรมคือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็มีคนอีกส่วนที่เห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจไม่ชอบธรรมก็ได้ ส่วนศาลต่างหากที่เป็นอำนาจที่ชอบธรรม เพราะศาลคือส่วนหนึ่งของพระราชอำนาจ และพระราชอำนาจนั้น มีสถานะสูงกว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง

ถาม : การเมืองในสมัย ร. 5 คือการทำให้อำนาจทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่กษัตริย์ใช่ไหม?

ตอบ : การไม่มีฐานของอำนาจทางการเมืองที่ชอบธรรมนี้เปลี่ยนเพราะอะไรบ้าง? ผมคิดว่ามันเปลี่ยนเมื่อเกิดสภาพแวดล้อมใหม่ ที่สำคัญมากๆ นั่นก็คือการเกิดภาวะ Modernity หรือภาวะความเป็นสมัยใหม่ อันนำไปสู่กำเนิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ควบคู่ไปกับการสร้างการเมืองแบบที่อำนาจการเมือง 'รวมศูนย์' อยู่ที่พระราชา

ในการทำให้กษัตริย์เป็นศูนย์กลางของอำนาจได้สมบูรณ์แบบนั้น ภารกิจที่สำคัญมากที่สุดข้อหนึ่งคือ การป้องกันไม่ให้ขุนนางหรือผู้นำทางการทหารมีโอกาสตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ได้ต่อไป คำอธิบายว่ากษัตริย์ได้แก่คนผู้มีสถานะพิเศษบางอย่างจึงเกิดขึ้นบนเงื่อนไขนี้ และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของความพยายามอธิบายว่า อะไรคือฐานของอำนาจการเมืองที่ชอบธรรม

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 คือการพยายามที่จะสถาปนาหลักการว่า ใครคือคนที่มีสิทธิจะเป็นกษัตริย์ ซึ่งในอดีตไม่มีหลักการที่ชัดเจนขนาดนี้ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นครั้งแรกที่มีความชัดเจนว่า รากฐานของความชอบธรรมทางการเมืองคืออะไร ซึ่งหนึ่งในหลักการนี้ก็คือคนที่เป็นสายเลือดของกษัตริย์โดยตรง หรือพูดอีกอย่างก็คือ คนที่เป็นประมุขของชนชั้นสูงทั้งหมดในสังคมไทย

ถาม : 2475 คือความพยายามที่จะต่อสู้เพื่อบอกว่า 'อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน'

ตอบ : ถ้าเราเข้าใจประเด็นนี้ เราก็จะเข้าใจเรื่อง 2475 ต่อไปว่า 2475 คือความพยายามที่จะต่อสู้เพื่อบอกว่าอำนาจทางการเมืองที่ชอบธรรมไม่ได้โยงกับชาติกำเนิด แต่โยงกับสิ่งที่ท่านปรีดีเรียกว่า 'อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน' ซึ่งถ้าพูดแบบตะวันตกก็คือ สิ่งที่เรียกว่า Popular Sovereignty นั่นก็คือความเชื่อว่า ปวงชนเป็นที่มาของอำนาจสูงสุดทางการเมือง

ปัญหาสำคัญก็คือการต่อสู้เพื่อให้แนวคิด 'อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน' กลายเป็นรากฐานของความชอบธรรมทางการเมือง เป็นเรื่องที่ไม่เคยถูกยืนยันอย่างจริงจัง มันเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ หลังจากที่คณะราษฎร์ยึดอำนาจได้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน เวลาท่านปรีดีพูดถึง 2475 ท่านก็จะแทบไม่พูดถึงคำว่า 'อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน' อีกต่อไป บางครั้งท่านจะพูดว่า 2475 เกิดขึ้นเพื่อสร้างระบบ 'ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ' นั่นก็คือปรีดีพยายามทำให้ 2475 ดูอ่อนลง ว่า 2475 ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อ Popular Sovereignty แต่ทำเพื่อรักษาระบอบการปกครองที่กษัตริย์เป็นใหญ่เอาไว้ เพียงแต่ป้องกันไม่ให้ระบอบนี้กลายเป็นการปกครองโดยอำเภอใจ

ท่าทีของท่านปรีดีแบบนี้ เป็นการประนีประนอมที่สำคัญในทางหลักการ เพราะได้เปิดโอกาสให้คิดต่อไปว่า ประชาชนอาจจะเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด แต่อำนาจสูงสุดนี้สามารถโอนไปที่กษัตริย์ได้ตลอดเวลา ทำให้ประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมากในการร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับในเวลานั้น ก็คือ ตกลงแล้ว อำนาจอธิปไตย 'เป็นของ' ประชาชน หรือว่าแค่ 'มาจาก' ประชาชนเท่านั้นเอง

พูดในเชิงหลักการแล้ว ความคิดเรื่อง 'อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน' เป็นคนละเรื่องกับความเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยขึ้นอยู่กับชาติกำเนิด ฉะนั้น อำนาจของพระมหากษัตริย์จึงควรอยู่ฝั่งหนึ่ง ส่วนอำนาจที่มาจากประชาชนก็ควรอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน แต่จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ 2475 จบลงด้วยความพยายามอธิบายว่า อำนาจสองแบบนี้ไม่ได้แยกจากกัน เพราะถึงจะมีที่มาต่างกัน แต่ก็ถ่ายโอนไปหากันและกันได้ นั่นก็คือการอธิบายว่าอำนาจสูงสุดอาจจะมาจากประชาชน แต่ว่าประชาชนยกอำนาจให้กษัตริย์ไปทำเรื่องต่างๆ ต่อไป

ประเด็นนี้เป็นลักษณะพื้นฐานอันหนึ่งที่คงอยู่กับสังคมการเมืองไทยมาจนปัจจุบัน อย่างเรื่องศาลก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า คนที่คิดว่าศาลสามารถเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งได้ เขาก็คิดอยู่บนฐานการคิดแบบนี้ว่า อำนาจทางการเมืองอาจจะอยู่ที่ประชาชน แต่ก็ยังมีอำนาจอื่นเข้ามาจัดการได้ เพราะว่าอำนาจนั้นได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนมาแล้วในทางใดทางหนึ่ง

ถาม : คนที่นิยมเรื่องพระราชอำนาจ เชื่อว่ามีอำนาจที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้วจะตรวจสอบไม่ได้

ตอบ : ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนี้เองที่เกิดความคิดทางการเมืองที่สำคัญมากแบบหนึ่งขึ้นมา นั่นก็คือความคิดเรื่อง 'อเนกนิกรสโมสรสมมติ' ซึ่งปัญญาชนฝ่ายนิยมเจ้าเอาความคิดทางการเมืองของฝรั่งบางอย่างมาปรับใช้ นั่นก็คือความคิดเรื่อง 'การปกครองโดยฉันทานุมัติ' (Consensus) ซึ่งเชื่อว่าการปกครองที่ชอบธรรมต้องมีต้นกำเนิดมาจากความเห็นพ้องร่วมกันของผู้อยู่ใต้ปกครอง

ในแวบแรกนั้น ประเด็นเรื่องการปกครองโดยฉันทานุมัติฟังดูเหมือนเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยก็วางอยู่บนความเชื่อว่าอำนาจการเมืองต้องมาจากประชาชน แต่ข้อแตกต่างที่ทำให้แนวคิดเรื่องฉันทานุมัติต่างจากแนวคิดประชาธิปไตย ก็คือมันซ่อนความคิดแบบนิยมกษัตริย์เอาไว้ เพราะมันบอกว่าอำนาจที่ชอบธรรมนั้นต้อง 'มาจาก' ประชาชน แต่อำนาจนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่กับประชาชนตลอดเวลา

ในความหมายนี้ อำนาจของกษัตริย์, ชนชั้นนำ, หรือชนชั้นสูง ก็ถือว่าชอบธรรมได้ เพราะเขาอ้างได้เขามีอำนาจจากความยินยอมพร้อมใจของประชาชนในอดีตกาลอันไกลโพ้น และต่อให้จะไม่มีเงื่อนไขหรือโครงสร้างหรือสถาบันอะไรที่ยึดพวกเขาไว้กับประชาชนในปัจจุบัน ภายใต้กรอบการคิดแบบนี้ ก็ถือว่าคนเหล่านี้ชอบธรรมที่จะครอบครองอำนาจทางการเมืองการปกครอง

แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยสมัยใหม่ ไม่ได้คิดถึงอำนาจการเมืองอย่างเลื่อนลอยแบบนี้ ในทางตรงกันข้าม ประชาธิปไตยให้ความสำคัญต่อโครงสร้าง และสถาบันทางการเมืองที่พิสูจน์ได้ว่า คนที่อยู่ในอำนาจทางการเมืองนั้น มีที่มาและยึดโยงอยู่กับประชาชนตลอดเวลา สถาบันอย่างรัฐสภาและการเลือกตั้งจึงเกิดขึ้นมาเพราะฐานการคิดแบบนี้ ขณะที่ความคิดเรื่องฉันทานุมัติไม่เน้นความเชื่อมโยงของสถาบันและโครงสร้าง สนใจแต่การอ้างอย่างเลื่อนลอยว่าชนชั้นปกครองชอบธรรม เพราะถูกประชาชนรับรองมาแต่ครั้งบรรพกาล

ในสังคมไทยเองนั้น คนที่ให้การสนับสนุนเรื่องพระราชอำนาจ เช่น ประมวล รุจนเสรี ก็ใช้ฐานคิดแบบนี้ในการอธิบาย ประมวลจึงอ้างตลอดเวลาว่าสถาบันกษัตริย์มีความชอบธรรมเพราะทำให้ประเทศไทยเป็นปึกแผ่นมาเป็นพันๆ ปี ซึ่งเวลาเป็นพันๆ ปีนั้น เป็นเวลาที่ความเป็นชาติไทยยังไม่เกิดด้วยซ้ำไป แต่นี่คือฐานของวิธีคิดของคนที่นิยมเรื่องพระราชอำนาจ ที่เชื่อว่ามีอำนาจที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้ว อำนาจนั้นจะตรวจสอบไม่ได้ และยืนยันความจริงไม่ได้ว่าโยงใยกับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้างก็ตาม

อันที่จริงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีส่วนสำคัญในการขยายแนวความคิดแบบนี้ โดยเฉพาะเมื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการรัฐประหาร, ฉีกรัฐธรรมนูญ และล้มการเลือกตั้ง แต่ในที่สุดความคิดนี้ไม่ได้ถูกใช้โดยทรราชย์สฤษดิ์ฝ่ายเดียว หากยังเปิดช่องให้คนกลุ่มอื่นเอาไปใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน

ถาม : สิ่งสำคัญของการเมืองไทยหลังสมัยใหม่คือคำถามว่า อะไรสำคัญที่สุดระหว่าง อำนาจที่อ้างฉันทานุมัติ กับอำนาจที่พิสูจน์ได้ว่ามาจากประชาชน

ตอบ : เพราะฉะนั้นปัญหาหนึ่งที่สำคัญมากของการเมืองไทยในช่วงหลังสมัยใหม่ก็คือ ระหว่างอำนาจการเมืองแบบที่อ้างว่าตัวเองมาจาก Consensus (ฉันทานุมัติ) ของประชาชน กับอำนาจการเมืองแบบที่ Proof ได้อย่างชัดแจ้ง มีโครงสร้างมีสถาบันที่ชัดเจนว่ามาจากประชาชน อะไรคืออำนาจที่สำคัญที่สุดในการเมืองไทย
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่สำคัญทั้งหมดล้วนเกี่ยวพันกับปัญหานี้

ตัวอย่างเช่นความขัดแย้งในกรณี 14 ตุลา 2516, พฤษภาคม 2535 หรือขบวนการขับไล่ทักษิณในปี 2549 ล้วนจบลงเมื่อกษัตริย์เข้ามาแสดงบทบาททางการเมือง นี่แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทั้ง 3 ครั้ง แสดงถึงความเชื่อว่ากษัตริย์เป็นฐานของอำนาจทางการเมืองที่ชอบธรรมที่สุดในสังคมไทย

การเมืองไทยต้นปี 2549
ถาม : การเคลื่อนไหวแบบพันธมิตรฯ หรือการเคลื่อนไหวแบบ 2549 ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องเชิดชูกษัตริย์

ตอบ : ถ้าคิดเรื่องการเมืองไทยด้วยสายตาแบบนี้ ก็จะเห็นแง่มุมหนึ่งที่สำคัญมากในขบวนการขับไล่ทักษิณในปี 2548-2549 ก็คือ มันเป็นการเคลื่อนไหวที่วางอยู่บนความพยายามที่จะบอกว่า อำนาจที่ชอบธรรมคืออำนาจแบบพระราชอำนาจ ไม่ใช่อำนาจสมัยใหม่ที่มีโครงสร้างเชิงสถาบันให้พิสูจน์ได้ว่ามาจากประชาชน ประชาชนควบคุมได้ ซ้ำยังถอดถอนอำนาจนั้นได้ตลอดเวลา

จุดแข็งที่สุดของขบวนการขับไล่ทักษิณคือการเป็นขบวนการ Popular Movement ที่มีฐานผู้สนับสนุนอย่างกว้างขวาง กระจายไปทุกพื้นที่ แต่ถ้ามองขบวนการนี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองว่าอะไรคืออำนาจการเมืองที่ชอบธรรม การขับไล่ก็วางอยู่บนการประกาศอย่างกลายๆ ว่าอำนาจที่ชอบธรรมคืออำนาจที่อิงอยู่กับพระมหากษัตริย์

ในมุมนี้ ขบวนการต่อต้านทักษิณไม่ได้เป็นแค่การขับไล่นายกรัฐมนตรีทรราชย์ เพราะนัยยะทางการเมืองที่สำคัญกว่านั้นก็คือนี่เป็นครั้งแรกที่เกิด Popular Movement ซึ่งเชิดชูหลักการทางการเมืองบางอย่างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ในอดีตนั้น หลักการเรื่องนี้ถูกพูดและผลักดันจากเชื้อพระวงศ์ เช่นพระองค์เจ้าธานีนิวัติ, มรว.เสนีย์ และ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือปัญญาชนพลเรือนฝ่ายนิยมเจ้าหลายต่อหลายราย แต่ในปี 2549 สื่อมวลชนสมัยใหม่, อาจารย์มหาวิทยาลัย, ปัญญาชนสาธารณะ, นักกฎหมายมหาชน, องค์กรพัฒนาเอกชนบางส่วน กลายเป็นขุมกำลังหลักในการผลิตซ้ำและเผยแพร่แนวความคิดเรื่องนี้ ขณะที่นักเคลื่อนไหวการเมืองแนวรากหญ้ากลับแสดงบทบาทหลักในการฉวยใช้ความเชื่อเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดการต่อสู้บนท้องถนนครั้งสำคัญ

ถาม : การเมืองในช่วงปี 2549 เป็นผลของการเสื่อมสลายลงของการเมืองภาคประชาชน และวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540

ตอบ : ผมคิดว่ามีสาเหตุที่ทำให้ Popular Movement หรือการเมืองภาคประชาชน สามารถหลอมรวมกับกระแสการเมืองแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้ เพราะการเมืองภาคประชาชนในปี 2549 เป็นผลของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองที่สำคัญมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อย่างน้อยสองข้อ

ข้อแรกคือ ความเสื่อมถอยทางการเมืองของการเมืองภาคประชาชนโดยรวม
ข้อที่สองคือ ผลกระทบที่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 มีต่อสภาพทางการเมืองของภาคประชาชน

ต้องยอมรับก่อนว่า ลักษณะสำคัญของการเมืองไทยในช่วงหนึ่งทศวรรษหลังจากเดือนพฤษภาคม 2535 ก็คือการเติบโตของประชาสังคมและภาคประชาชน ทั้งในระดับแนวคิดและปฏิบัติการทางการเมือง โดยเฉพาะในแง่ปฏิบัติการทางการเมืองนั้น องค์กรอย่าง ครป. (คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย), เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ, สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน, สมัชชาคนจน, หรือเครือข่ายคนชั้นรากหญ้าหลายแห่ง ก็เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงเวลานี้เอง

พูดโดยรวมแล้ว พฤษภาคม 2535 เปิดโอกาสให้การเมืองแบบที่เรียกว่า Grass-root Democracy ขยายตัวขึ้นอย่างกว้างขวาง สมัชชาเกษตกรรายย่อยและสมัชชาคนจนมีพลังถึงขั้นที่กดดันให้รัฐบาลหลายชุดปฏิบัติตามข้อเรียกร้องบางอย่างได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ครป. และองค์กรในลักษณะคล้ายคลึงกัน ก็มีส่วนสำคัญมากในการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง

ในช่วงปฏิรูปการเมืองในปี 1997 (2540) เราเห็นภาพอย่างชัดเจนว่า Grass -Root Democracy มีพลังถึงขั้นที่ทำให้เกิดขบวนการธงเขียวได้ ซ้ำยังสามารถผลักดันให้แนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ถ้ายอมรับว่า Grass- Root Democracy เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองไทย ขบวนการขับไล่ทักษิณก็ Hi-Jack ลักษณะบางอย่างของ Grass- Root Democracy ไปเพื่อต่อสู้กับศัตรูทางการเมืองเฉพาะหน้า นั่นก็คือการเอาองค์กรภาคประชาชนและภาคประชาสังคมมาใช้ เคลื่อนไหวโดยวิธีชุมนุมและเดินขบวน จัดการชุมนุมโดยหยิบยืมทักษะจาก 'ภาคประชาชน' แต่ใช้ในเพื่อเป้าหมายที่แตกต่างจากที่ 'ภาคประชาชน' เคยใช้ นั่นก็คืออาศัย Grass -root Democracy ไปสนับสนุนแนวความคิดว่า อำนาจทางการเมืองที่ชอบธรรม คืออำนาจที่ไม่จำเป็นต้องมาจากประชาชน

เพราะฉะนั้นที่ถามว่าทำไมการเคลื่อนไหวในปี 2549 เป็นแบบนี้ ก็คือมันมีมรดกของ Grass Root Democracy อยู่ ซึ่งเมื่อถึง 2549 มันถูกเปลี่ยนสภาพ ถูก Hi-Jack ให้กลายเป็นหางเครื่องหรือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเมืองของชนชั้นนำไป

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าคนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในปี 2549 ไม่เข้าใจ ก็คือ เขารู้สึกอยู่ตลอดเวลา เขาอยู่ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของมวลชนที่มีความตื่นตัวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งก็เป็นความจริงว่า มีคนจำนวนมากที่ตื่นตัวทางการเมือง และออกมาร่วมขบวนการขับไล่ทักษิณ แต่สิ่งที่ต้องคิดให้มากคือคนเหล่านี้เป็น 'มวลชน' หรือ 'ประชาชน' แบบที่ใครต่อใครใน 'ภาคประชาชน' ใฝ่ฝันถึงจริงๆ หรือเป็นคนชั้นกลางและคนชั้นสูงที่อาศัย 'ภาคประชาชน' ไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการผลักดัน Agenda ทางการเมืองบางอย่าง ซึ่งหากไม่ระมัดระวัง ก็อาจทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังลงคลอง

ถาม : หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 คนชั้นล่างจำนวนมากเข้าไปผนึกเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ แล้วคิดว่าตนเองกำลังทำเพื่อประชาธิปไตย

ตอบ : คิดว่าวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ Grass-Root Democracy เปลี่ยนรูปไป เพราะนอกจากวิกฤติทางเศรษฐกิจจะทำให้ชั้นกลางหรือชนชั้นนายทุนจำนวนหนึ่งพังทลายลงไปแล้ว มันยังทำให้คนยากจนและคนชั้นล่างจำนวนหนึ่ง ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะต่อสู้และสร้างขบวนการทางการเมืองที่เข้มข้นได้ต่อไปอีก

เราจะเห็นว่าในทันทีที่ทักษิณและไทยรักไทยต้องการจะตั้งพรรคการเมือง สิ่งที่เขาทำก็คือเขาพยายามที่จะอาศัยวิกฤติทางเศรษฐกิจ และความต้องการของชนชั้นล่างเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์สูงที่สุดของเขา เขามีการตั้ง Forum ต่างๆ เขามีการตั้ง Panel ต่างๆ ขึ้นมาเยอะมากเพื่อดูว่าชนชั้นล่างต้องการอะไร และมันก็นำไปสู่นโยบายแบบประชานิยม

เราอาจวิจารณ์หรือประเมินนโยบายประชานิยมของรัฐบาลได้หลายแง่ แต่ในแง่การเมืองนั้น ประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ ประชานิยมส่งผลให้องค์กรประชาสังคมหรือ 'ภาคประชาชน' จำนวนมากหายไป 'ประชาชน' กลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประชานิยม, เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน, รวมทั้งเป็นสาขาของเครือข่ายต่างๆ ที่รัฐบาลไทยรักไทยทำขึ้นมา

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ก็คือองค์กรหรือคนชั้นล่างจำนวนมากเข้าไปผนึกเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ โดยมองไม่เห็นว่าในระยะยาว หรือจริงๆ ก็ไม่ใช่ระยะยาวด้วยซ้ำ ในระยะเวลาแค่ 10 ปี ทั้งหมดนี้ มันส่งผลให้ Grass-root Democracy แทบจะหายไปอย่างสิ้นเชิง

ถ้าเปรียบเทียบความตื่นตัวของขบวนการประชาสังคมในปี 2549 กับในสมัยรัฐบาลชวน ก็จะเห็นชัดว่าปี 2549 มีความตื่นตัวในระดับที่ต่ำลงไปมาก ขณะที่ในสมัยรัฐบาลชวนนั้น เราจะพูดอยู่ตลอดเวลาว่ารัฐบาลชวนปล่อยหมามากัดคนจน แต่ในช่วงที่เกิดนโยบายประชานิยม เราไม่มีคนจนชุมนุมหน้าทำเนียบต่อไปอีกแล้ว เพราะว่าคนจนมีสายสัมพันธ์กับคนในทำเนียบได้โดยตรง

ขณะที่ คนชั้นล่าง, คนชนบท, และคนชั้นรากหญ้าจำนวนหนึ่งก็ผนึกตัวเองกับระบบนี้ เพราะรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า ระบบนี้ให้ประโยชน์มากกว่าระบบแบบที่ผ่านมา คนจนและคนชั้นรากหญ้าอีกหลายกลุ่มกลับได้รับผลกระทบกระเทือนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล คนฝ่ายหลังมองไม่เห็นทางออกไปจากสภาพเช่นนี้ และในเงื่อนไขเช่นนี้เองที่พวกเขาหันไปฉวยใช้อะไรก็ได้ ที่สามารถเป็นอาวุธในการขับไล่รัฐบาล

ถาม : การเมืองในช่วงหลังจากนี้ไปจะอยู่ในจุดที่ชนชั้นล่างจะมีความสำคัญมากขึ้น

ตอบ : การเมืองในช่วงหลังจากนี้ไปจะหักล้างความเชื่อว่า คนชั้นล่างและคนจนไม่มีความสำคัญทางการเมือง ในทางตรงกันข้าม คนกลุ่มไหนประสบความสำเร็จในการช่วงชิงภาพของคนชั้นล่างและ 'มวลชน' ให้อยู่ฝ่ายตัวเองได้ คนกลุ่มนี้คือคนที่จะมีชัยชนะในการต่อสู้ทางการเมือง

ถ้าเชื่อว่าการต่อสู้ทางการเมือง คือการต่อสู้เพื่อบอกว่าอะไรคืออำนาจทางการเมืองที่ชอบธรรม อำนาจที่ชอบธรรมในสังคมสมัยใหม่คืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งคืออำนาจที่เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ หรือพูดอีกอย่างก็ได้ว่า อำนาจที่ชอบธรรมในการเมืองสมัยใหม่คืออำนาจที่วางอยู่บน 'ปริมาณ' และ 'จำนวน'

ในเงื่อนไขแบบนี้ ยุทธศาสตร์สำคัญของฝ่ายที่ต้องการเชิดชูอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็คือ การหาช่องทางอะไรก็ได้ เพื่อจะบอกว่าเขาเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ ต่อให้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือสถาบันทางการเมืองที่ประชาชนควบคุมตรวจสอบได้ก็ตามที

ต้องยอมรับความจริงว่ารัฐบาลทักษิณเปรียบได้กับคนป่วยใกล้ตาย อุปกรณ์ช่วยชีวิตเพียงอย่างเดียวที่ทำให้คนป่วยรายนี้อยู่ได้ก็คือความชอบธรรมทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง การฆ่าทักษิณจึงต้องเริ่มต้นที่การทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นฐานรากของความชอบธรรมทางการเมือง

'ภาพ' ของคนชั้นล่างจึงสำคัญที่สุดในการปฏิบัติภารกิจทางการเมืองข้อนี้ เพราะถ้าทำให้ 'ภาพ' ของคนชั้นล่างหรือ 'คนส่วนใหญ่' ไปอยู่ฝ่ายเดียวกับพวกเขาได้ ก็ย่อมชอบธรรมที่พวกเขาจะหักล้างอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง, รัฐธรรมนูญ และสถาบันการเมืองในระบบรัฐสภา

นักเคลื่อนไหวต้องเข้าใจประเด็นนี้ว่าเราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่การเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นสูงอีกต่อไป แต่เราอยู่ในสถานการณ์ที่ชนชั้นนำ 'จำเป็น' ต้องอาศัยชนชั้นล่างเป็นฐานของการสนับสนุนทางการเมืองและความชอบธรรมทางการเมือง เพราะฉะนั้นลักษณะของการเมืองจากนี้ไป จึงเป็นการเมืองซึ่งมีลักษณะ 'ข้ามชนชั้น' นั่นก็คือการเมืองซึ่งคู่ต่อสู้แต่ละฝ่าย ไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นของชนชั้นหนึ่งชนชั้นใดอย่างเห็นได้ชัด แต่ทุกฝ่ายต้องอาศัยพลังต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับฝ่ายตัวเอง

ในกรณีของการเคลื่อนไหวปี 2549 เราก็จะเห็นว่ารัฐบาลไทยรักไทย เป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุนอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่รัฐบาลไทยรักไทยก็มีฐานการสนับสนุนจากคนจนเมือง และคนชนบทระดับล่างจำนวนไม่น้อย ขณะที่ฝ่ายพันธมิตรฯ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประกอบด้วยคนชั้นสูง, เชื้อพระวงศ์บางส่วน, คนชั้นกลางในเมือง, อาจารย์มหาวิทยาลัย, นายทุนระดับกลางและล่าง ฯลฯ ซึ่งพยายามระดมคนชั้นล่างจำนวนหนึ่งให้เข้าไปอยู่ฝ่ายเดียวกับเขา จึงจำเป็นต้องอาศัยองค์กรพัฒนาเอกชนและ Popular Movement เพื่อเป็นฐานทางการเมือง

สรุปให้สั้นก็คือ ในการที่จะล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้อย่างชอบธรรมนั้น ภาพและเสียงของคนชั้นล่างคือตัวแปรที่มีความสำคัญที่สุด เพราะถ้ามีเสียงจากคนชั้นล่างมากพอ คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ย่อมล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะสามารถอ้างได้ว่าเขาเป็นตัวแทนของสิ่งที่ใหญ่กว่าการเลือกตั้ง ก็คือเขาเข้าถึงคนชั้นล่างได้โดยตรง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และคงจะต่อเนื่องไปถึงอนาคต การเมืองเรื่องการสร้างภาพของการเข้าถึงประชาชนและคนชั้นล่างโดยตรง คือหัวใจของชัยชนะทางการเมือง

ถาม : วาทกรรมพระราชอำนาจในฐานะรัฐประหารของคนชั้นกลาง

ตอบ : ในขบวนการขับไล่ทักษิณนั้น ข้อที่น่าสนใจที่สุดคือ คนชั้นสูงและเชื้อพระวงศ์ไม่ใช่เป็นคนกลุ่มที่มีบทบาทแข็งขันที่สุด ในการใช้วาทกรรมพระราชอำนาจไปเพื่อต่อต้านอำนาจทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่คือคนธรรมดาสามัญชน ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจแบบคนชั้นกลางและคนเมือง ไม่ต้องพูดถึงเรื่องมาตรา 7 และการเรียกร้องให้กษัตริย์แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่กระเหี้ยนกระหือในการผลักดันเรื่องนี้มากกว่าใครๆ

ต้องยอมรับก่อนว่าขบวนการต่อต้านทักษิณ ได้ใช้เหตุผลในการขับไล่นายกรัฐมนตรีรายนี้อย่างหลากหลาย แต่หนึ่งในเหตุผลที่ทรงพลังในการจูงใจผู้คนได้มากที่สุดคือ ข้อหาเรื่องการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย, การใช้ตำแหน่งทางการเมืองไปเอื้อประโยชน์ทางการค้า, การฉ้อฉลนโยบายสาธารณะ, ความเป็นผู้นำแบบอำนาจนิยม , การแทรกแซงตลาดหุ้น หรือพูดให้สั้นก็คือการกระทำทุกวิถีทางเพื่อสถาปนาระบอบผูกขาดอำนาจของนายกรัฐมนตรี

อย่าลืมว่า การผูกขาดทุกชนิดเป็นอุปสรรคต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจการเมืองของคนชั้นกลาง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม คนชั้นกลางต้องการตลาดหุ้นที่โปร่งใส พรรคการเมืองที่ไม่มีอำนาจมากเกินไป ระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้แข่งขันได้โดยเสมอภาค สื่อสารมวลชนที่อิสระจากรัฐบาล ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนถูกรัฐบาลทักษิณทำลายลงไป ไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง

ความไม่พอใจต่อการผูกขาดแบบนี้ ผลักดันให้คนชั้นกลางเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับฝ่ายชนชั้นสูงและทหาร กลายเป็นฐานกำลังหลักของขบวนการพระราชอำนาจ และหันไปอาศัยอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อกำจัดผู้นำทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ

คนต่างชนชั้นเหล่านี้เชื่อมโยงกันได้ด้วยวาทกรรมที่ชนชั้นสูงและทหารสร้าง ซึ่งเผยแพร่อย่างต่อเนื่องในช่วงหลัง พ.ศ. 2520 นั่นก็คือวาทกรรมต่อต้านประชาธิปไตยรัฐสภา ที่โจมตีว่าสถาบันการเมืองต่างๆ ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่ชอบธรรม เพราะว่ามาจากการซื้อเสียง รัฐสภาและพรรคการเมืองเป็นเพียงที่รวมของผู้รับเหมา, พ่อค้านายทุนท้องถิ่น, กลุ่มทุนผูกขาด ฯลฯ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ในที่สุดก็ผลิดอกออกผลเป็นทรรศนะคติต่อต้านประชาธิปไตยรัฐสภาในระดับที่ลึกซึ้ง ถึงขั้นเหยียดหยามว่ารัฐสภาเป็นแค่ที่รวมของ 'นักเลือกตั้ง' ซึ่งเข้ามามีบทบาททางการเมืองเพื่อ 'ธุรกิจการเมือง'

สำหรับคนที่คิดแบบนี้ การเลือกตั้ง, พรรคการเมือง , และรัฐสภา คือเวทีให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ผูกขาดอำนาจการเมือง เพื่อสร้างการผูกขาดทางธุรกิจ และเมื่อการผูกขาดทางธุรกิจใหญ่ขึ้น การผูกขาดอำนาจทางการเมืองก็ยิ่งเติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กัน

ในระหว่างปี 2521-2531 ชนชั้นนำและทหารใช้ความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ ไปสร้างระบบการเมืองที่นายกรัฐมนตรีทุกคนล้วนเป็นทหาร ในปี 2534 ทหารใช้ทรรศนะคติแบบนี้รัฐประหารขับไล่นายกรัฐมนตรีที่มาจากรัฐสภา และในปี 2549 คนชั้นกลางหยิบยืมวาทกรรมต้านประชาธิปไตยนี้มาใช้ในทิศทางเดียวกัน

วาทกรรมเช่นนี้สำคัญต่อการกำหนดประเด็นหรือวาระทางการเมืองของคนชั้นกลางไทย เพราะเมื่อเห็นว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งนั้นสกปรก ก็ย่อมเห็นต่อไปว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีทางเป็นอำนาจที่ชอบธรรมได้ และในท้ายที่สุด ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องยอมรับว่า อำนาจที่อยู่นอกรัฐสภาและการเลือกตั้งคืออำนาจที่ชอบธรรม

นี่ไม่ใช่ปัญหาการเมืองเฉพาะหน้า แต่เป็นปัญหาของการเมืองในอนาคต เพราะวาทกรรมแบบนี้ถูกสร้างมาในช่วง 20-30 ปี จึงไม่มีทางจะเสื่อมพลังไปได้ง่ายๆ ซ้ำยังเป็นกรอบความคิดที่ยากจะสลัดให้หลุดออกไป นั่นหมายความว่าประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของไทย อยู่ในเนื้อดินที่เติบโตได้ยาก เพราะดำรงอยู่ท่ามกลางสังคมที่เห็นว่า องค์ประกอบทั้งหมดของประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเป็นเรื่องเลวไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเสียง การรวบอำนาจ การแย่งตำแหน่งทางการเมือง หรือการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลบิดเบือน

หากประเมินขบวนการขับไล่ทักษิณด้วยสายตาแบบนี้ ปัญหาที่สำคัญมากประการหนึ่งก็คือ การเกิดพันธมิตรทางการเมืองที่วางอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นกลาง-ทหาร-คนชั้นสูง เพื่อต่อต้านนายกรัฐมนตรีทรราชย์โดยวิธีการปฏิเสธการเลือกตั้ง นั่นเท่ากับว่าพันธมิตรแบบนี้สุ่มเสี่ยงต่อการถือว่า เสียงของคนชนบทและคนชั้นล่างจำนวนมากมี 'น้ำหนัก' และ 'ความชอบธรรม' น้อยกว่าเสียงของคนเมืองและคนในระดับบนของสังคม

พูดให้รุนแรงขึ้นก็ได้ว่า การเคลื่อนไหวในปี 2549 เป็น 'รัฐประหารของคนชั้นกลาง' ที่หยิบยืมวาทกรรมพระราชอำนาจมาใช้ เพื่อเป้าหมายบางอย่างที่สอดคล้องผลประโยชน์ทางการเมืองของชนชั้นสูงและทหาร และแทบเป็นไปไม่ได้ที่ปฏิบัติการทางการเมืองจะบรรลุผลได้ หากหลักการเรื่อง Popular Sovereignty ไม่ถูกทำลายลงไป

ในเชิงสัญลักษณ์นั้น สภาพทั้งหมดนี้สรุปได้ง่ายๆ ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการเสื้อเหลืองในสถานการณ์ขับไล่ทักษิณในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา กับขบวนการเสื้อเหลืองทุกวันนี้ ซึ่งเสื้อเหลืองกลายเป็นสัญลักษณ์ที่คนแทบทั้งหมด ใช้เพื่อแสดงความจงรักภักดีพร้อมกับประกาศจุดยืนต่อต้านทักษิณไปพร้อมๆ กัน

ถาม : อันตรายระยะยาว การปฏิเสธอำนาจจากการเลือกตั้ง-ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา สร้างผู้นำทางการเมืองไม่ได้

ตอบ : ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่สถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยในระยะยาว นั่นก็คือสถานการณ์ที่ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ไม่สามารถสร้างผู้นำทางการเมือง ทำให้สังคมทั้งสังคมต้องหันไปหาผู้นำทางการเมืองที่มาจากแหล่งอำนาจอื่น เช่นกองทัพ, ธุรกิจ, หรือการจำแลงแปลงร่างของหลักนายกพระราชทาน

อันที่จริง ประเด็นนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาระยะหนึ่งแล้ว เริ่มต้นที่นายกรัฐมนตรีของไทยเกือบทุกคนในช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 ล้วนไม่ได้เป็นผู้นำที่เติบโตมาจากประชาธิปไตยรัฐสภา แต่มาจากอำนาจนอกรัฐสภาอื่นๆ ตัวอย่างเช่น พลเอกเกรียงศักดิ์ และพลเอกเปรม ในช่วงปี 2521-2531 ซึ่งทั้งคู่ล้วนเป็นนายกรัฐมนตรีที่ใช้กองทัพเป็นฐานอำนาจทางการเมือง, อานันท์มาด้วยการพระราชทาน, ทักษิณสั่งสมอำนาจทางการเมืองโดยอาศัยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐาน ฯลฯ

ในภาพรวมแบบนี้ การเมืองในอนาคตจะประสบกับปัญหาทางการเมืองที่สำคัญมากๆ นั่นก็คือประชาธิปไตยรัฐสภา ไม่สามารถสร้างผู้นำที่มาจากระบบรัฐสภาได้ ทำให้ฐานอำนาจจากนอกรัฐสภากลายเป็นแหล่งเดียวที่เป็นไปได้ในการสร้างผู้นำทางการเมืองขึ้นมา ฉะนั้น ผู้นำในตัวแบบนี้อาจไม่ได้มาจากทหารและการยึดอำนาจอย่างในอดีต แต่อาจมาจากอำนาจที่พิเศษกว่าอำนาจทหาร ซ้ำยังเหนือกว่าตรงที่มีความสามารถทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน

ลองนึกถึงคนรุ่นพวกเราดูก็ได้ว่า เวลาที่เรามองดูที่รัฐสภา เราก็รู้สึกว่าไม่มีใครที่จะเป็นผู้นำของเราได้ คนหลายคนรู้สึกว่าผู้นำน่าจะเป็นคนอย่าง สุเมธ ตันติเวชกุล, สุรยุทธ จุลานนท์ หรือใครก็แล้วแต่ นี่คือความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และนี่คือวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 แล้วมันผลิดอกออกผลอย่างเต็มที่ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2549

 

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 950 เรื่อง หนากว่า 15000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



290649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
บทสัมภาษณ์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
บทความลำดับที่ ๙๕๘ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ

หากประเมินขบวนการขับไล่ทักษิณด้วยสายตาแบบนี้ ปัญหาที่สำคัญมากประการหนึ่งก็คือ การเกิดพันธมิตรทางการเมืองที่วางอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นกลาง-ทหาร-คนชั้นสูง เพื่อต่อต้านนายกรัฐมนตรีทรราชย์โดยวิธีการปฏิเสธการเลือกตั้ง นั่นเท่ากับว่าพันธมิตรแบบนี้สุ่มเสี่ยงต่อการถือว่า เสียงของคนชนบทและคนชั้นล่างจำนวนมากมี 'น้ำหนัก' และ 'ความชอบธรรม' น้อยกว่าเสียงของคนเมืองและคนในระดับบนของสังคม

พูดให้รุนแรงขึ้นก็ได้ว่า การเคลื่อนไหวในปี 2549 เป็น 'รัฐประหารของคนชั้นกลาง' ที่หยิบยืมวาทกรรมพระราชอำนาจมาใช้ เพื่อเป้าหมายบางอย่างที่สอดคล้องผลประโยชน์ทางการเมืองของชนชั้นสูงและทหาร และแทบเป็นไปไม่ได้ที่ปฏิบัติการทางการเมืองจะบรรลุผลได้ หากหลักการเรื่อง Popular Sovereignty ไม่ถูกทำลายลงไป

 

ในกรณีของฝรั่งในบางช่วง ความเป็นกษัตริย์จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อบุคคลได้รับการแต่งตั้งจากสันตะปาปาจากวาติกัน ขณะที่ศาสนาและศาสนจักรไม่ได้สำคัญต่อการขึ้นครองอำนาจของกษัตริย์ในสังคมไทยมากถึงขั้นนั้น คิดในแง่นี้ อำนาจทางการเมืองในสังคมไทยในช่วงก่อน ร. 5 หรือก่อนสมัยใหม่ จึงเป็นอำนาจที่ดิบ วางอยู่บนอำนาจทางการทหารมากกว่าการอ้างอิงกับหลักการที่เป็นนามธรรม ส. ธรรมยศ จึงเขียนว่าเราเปลี่ยนกษัตริย์ทุกๆ 10 ปี โดยการตัดหัว ซึ่งเป็น Argument ที่แรงมากๆ โดยเฉพาะจากบรรทัดฐานของคนยุคปัจจุบัน

midnightuniv