นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

ข้อเสนอประชาธิปไตยจากมุมมองประวัติศาสตร์
ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา
ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล
Madison, Wisconsin

บทความเพื่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย

หมายเหตุ
บทความชิ้นนี้เป็นตัวบทปาฐกถาฉบับเต็มของ อ. ธงชัย วินิจจะกูล
ซึ่งไดัรับการจัดพิมพ์เรียบร้อยแล้วและจะเผยแพร่เร็วๆนี้
(ในการนำเสนอเมื่อวันที่ 14 ตุลา 2548 ผู้เขียนเอง ต้องตัดทอนลงเพื่อให้เหมาะสมกับเวลา)
การเผยแพร่ปาฐกถาฉบับเต็มทางเวบไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนี้ ได้รับอนุญาตโดยตรงจากผู้เขียน


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 717
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 34 หน้ากระดาษ A4)

 


ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา
ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2548(1)
ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 2516
14 ตุลาคม 2548

ปรากฎการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ 2 เรื่อง ได้แก่ การตีความพระราชอำนาจทั่วไปของพระมหากษัตริย์ หวังอาศัยพระราชอำนาจเป็นปัจจัยตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาล และ ความพยายามของทุนใหญ่ที่จะยึดครองสื่อมวลชน จนสาธารณชนตื่นตระหนกว่าจะเป็นการทำลายเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน หากพิเคราะห์ให้ดี ทั้งสองกรณีมีสาระที่แท้จริงเป็นเรื่องเดิมๆที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า สะท้อนอาการของสภาวะที่ขอเรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา" เป็นอย่างดี

ปรากฏการณ์ทั้งสองสะท้อนสภาวะของประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาอย่างไร? อะไรคือคุณลักษณะของประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา?

ประเด็นสำคัญของภาคที่หนึ่ง คือ ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาเป็นการเมืองแบบมวลชนซึ่งผู้ที่ตักตวงได้ผลประโยชน์สูงสุดได้แก่ กลุ่มทุนนานาชนิดที่มากับระบอบรัฐสภา และฝ่ายกษัตริย์นิยมประชาธิปไตย(2) มีอิทธิพลสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อนหน้านับจากอวสานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

จากนั้นในภาคสองของข้อเขียนชิ้นนี้ จะเจาะจงพิจารณาคุณลักษณะสำคัญๆของประชาธิปไตยตามแบบหลัง 14 ตุลาที่เติบโตมาในสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน รวมทั้ง "ปัญหาปัตตานี" ว่าทดสอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไทยอย่างไร

ภาค 1
14 ตุลากับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย

วาทกรรม 14 ตุลากับประชาธิปไตยไทย

คนรุ่นหลังที่เติบโตหรือเกิดหลังยุครัฐบาลเปรมจนถึงปัจจุบัน (หมายความว่ายังเด็กอยู่ในเหตุการณ์พฤษภา 35) อาจนึกไม่ค่อยออกว่าการต่อสู้กับเผด็จการทหารตั้งแต่ 14 ตุลาเป็นอย่างไร เพราะตลอดชีวิตทางการเมืองของเขารู้จักแต่การต่อสู้กับนักการเมืองและกลุ่มทุนฉ้อฉล

ในทำนองเดียวกัน คนที่เกิดหลัง 2475 (หมายความว่ายังเด็กอยู่ระหว่างปี 2475-2490 หรืออาจเริ่มเข้าใจความซับซ้อนทางการเมืองก็ภายหลัง 2495 ไปแล้ว) ซึ่งหมายถึงคนส่วนมากในสังคมไทยปัจจุบัน อาจนึกไม่ออกหรือไม่เคยรับรู้เลยว่า ปัญหาเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องคอขาดบาดตายมาก่อน และไม่รู้ว่ากลุ่มการเมืองที่เรียกว่าฝ่าย "กษัตริย์นิยม"(3) มีพฤติกรรมทางการเมืองอย่างไร ระหว่าง 2475-2495

คนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (หลัง 2488) คงนึกไม่ออกเลยว่าฝ่ายเจ้าและฝ่ายกษัตริย์นิยมเคยลงมาเกลือกกลั้วต่อสู้ทางการเมืองลุ่มๆ ดอนๆ เหมือนกลุ่มฝ่ายอื่นๆ เช่นทหาร กลุ่มส.ส.อีสาน กลุ่มปรีดี กลุ่มทุนท้องถิ่น เป็นต้น ตลอดชีวิตทางการเมืองของเขา รู้จักการต่อสู้กับเผด็จการทหารกับการต่อสู้กับนักการเมืองและกลุ่มทุนฉ้อฉล พระเจ้าอยู่หัวที่เขารู้จักคือองค์ปัจจุบันเท่านั้น เขาคงเรียนรู้จักพระองค์อื่นๆ ก่อนหน้านั้นจากตำราหนังสือในและนอกห้องเรียน และพิธีกรรมต่างๆ ทางสังคม ซึ่งก็เป็นผลผลิตของอุดมการณ์ราชาชาตินิยม(4) แทบทั้งสิ้น

ประชาชนแทบทุกคนในประเทศไทยขณะนี้ไม่รู้จักวิกฤติยุคก่อน 2475 ซึ่งมีความไม่พอใจเจ้าอยู่ทั่วไป ด้วยเห็นว่าอำนาจเจ้าเป็น"ลูกตุ้มถ่วงความเจริญ"(5) ความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยของคนรุ่นเราในปัจจุบัน อยู่ภายใต้กรอบประสบการณ์ของคนรุ่นหลังสงครามโลก องค์ความรู้หลักๆ ก็ผลิตโดยปัญญาชนที่มีประสบการณ์ในกรอบนี้เป็นส่วนใหญ่

ความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับ 14 ตุลากับประชาธิปไตยไทย หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า วาทกรรม 14 ตุลากับประชาธิปไตยไทย มีสาระสำคัญ 3 ประการ แต่ละข้อล้วนมีข้อจำกัด จนกลายเป็นประวัติศาสตร์บิดเบี้ยวไป

ประการแรก ประชาธิปไตยคือผลของการต่อสู้กับเผด็จการทหาร บ้างขยายความในทางวิชาการว่า คือการต่อสู้กับรัฐราชการที่มีกองทัพเป็นตัวแทน บ้างขยายความออกไปอีกว่าผู้ต่อสู้ได้แก่ พลังนอกระบบราชการ ซึ่งหมายถึงประชาชน กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง (เช่น นักศึกษา) และกลุ่มทุนนานาชนิด

ทัศนะเช่นนี้เป็นที่มาของความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยไทยอีกหลายประเด็น เช่น ภาวะที่กองทัพและภาคเอกชนพบกันครึ่งทางช่วงรัฐบาลเปรม จึงเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ ภาวะที่กองทัพไม่เข้ามามีบทบาทครอบงำทางการเมืองอีกต่อไป จึงเรียกว่าประชาธิปไตยเต็มใบ เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ตามทัศนะนี้จึงถือว่ารัฐบาลทหารย่อมไม่เป็นประชาธิปไตย โดยไม่ต้องสนใจเงื่อนไขบริบทใดอื่น จึงถือว่าคณะทหารที่ก่อการปฏิวัติ 2475 และต่อสู้กับฝ่ายเจ้าหลัง 2475 เป็นจุดเริ่มต้นของเผด็จการของไทย ไม่สนใจบริบททางประวัติศาสตร์ว่ารัฐบาลพลเรือนขณะนั้นสนับสนุนฝ่ายเจ้า ต้องการรื้อฟื้นพระราชอำนาจ ในขณะที่ฝ่ายทหารต้องการพิทักษ์การปฏิวัติ 2475 เป็นต้น(6)

แต่ทัศนะที่เป็นสูตรตายตัวนี้ มีอิทธิพลอย่างสูงมานานตั้งแต่ก่อน 14 ตุลามาจนถึงปัจจุบัน ทัศนะนี้สะท้อนยุคสมัยเผด็จการทหารครองอำนาจ โดยเฉพาะยุคสฤษดิ์เป็นต้นมาจนถึงหลัง 14 ตุลาซึ่งยังมีความพยายามของคณะทหารที่จะสถาปนาอำนาจอยู่ แต่กลับทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยบิดเบี้ยว มองเห็นแค่มิติเดียว แง่มุมเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมองไม่เห็นสถานะบทบาทของฝ่ายเจ้า และฝ่ายกษัตริย์นิยมในประวัติประชาธิปไตยไทย ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่มากนับจาก 2475 จนถึงกลางทศวรรษ 2490

ประการที่สอง ประชาธิปไตยคือการต่อสู้กับอำนาจเงิน อำนาจทุนที่ฉ้อฉลเอาแต่แสวงหาประโยชน์ใส่ตัวเองภายใต้กรอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

14 ตุลา 2516 เป็นจุดพลิกผันของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยในแง่ เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของอำนาจทหารในการเมืองไทย และเป็นเหตุการณ์ที่เปิดประตูต้อนรับให้กลุ่มทุนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบรัฐสภาได้ ตามทัศนะนี้ ปัญหาใหญ่สุดของประชาธิปไตยหลังอำนาจทหารถอยออกไปแล้ว คือนักการเมืองเห็นแก่ตัว คอร์รัปชั่น ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง

ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยตามทัศนะนี้จึงถือว่า ต่อให้เป็นรัฐของพลเรือนมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าตักตวงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ย่อมถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย คุณธรรมความซื่อสัตย์กลายเป็นบรรทัดวัดความเป็นประชาธิปไตย ทัศนะต่อประชาธิปไตยแบบนักศีลธรรมแบบนี้สะท้อนยุคสมัยเช่นกัน นั่นคือ มีอิทธิพลสูงใน 20 กว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ระบอบรัฐสภาเริ่มลงหลักปักฐานหลังปี 2521 เป็นต้นมา เปิดโอกาสให้ทุนใหญ่น้อยทั้งระดับชาติและท้องถิ่นมีอำนาจผ่านการเลือกตั้งและรัฐสภา

แต่ประชาธิปไตยแบบนักศีลธรรมเช่นนี้ ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยบิดเบี้ยว กล่าวคือ แทนที่จะสนใจความสัมพันธ์ทางอำนาจของพลังการเมืองต่างๆ ในสังคมไทย (เช่น ทหาร สถาบันกษัตริย์ กลุ่มพลังประชาชน นายทุน) ว่าผันแปรเปลี่ยนไปอย่างไร กลับมองเห็นแค่ว่าใครสะอาด ใครสกปรก จนนำไปสู่ข้อสรุปที่แพร่หลายอย่างยิ่งในปัจจุบันว่า นักการเมืองล้วนฉ้อฉล เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ใส่ตัวเอง ส่วนบุคคลหรือกลุ่มการเมืองที่ทำตัวลอยเหนือความสกปรกทางการเมืองได้ จึงเป็นรัฐบุรุษหรือนักประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่

ประการที่สาม ดังนั้นประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาตามทัศนะทั้ง 2 แบบดังกล่าวมา จึงได้แก่การต่อสู้เพื่อสถาปนาระบอบรัฐสภา และการเลือกตั้งเพื่อรัฐบาลที่สะอาดและมีคุณธรรม

เค้าโครง (plot) ของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยชนิดนี้ ตามที่แพร่หลายในหมู่ผู้มีการศึกษาปัญญาชนไทย เป็นเรื่องของความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับของประชาธิปไตยรัฐสภา นับจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 ทว่าถูกเผด็จการทหารช่วงชิงอำนาจนำไป ประชาธิปไตยกลับคืนมาด้วยการลุกขึ้นสู้เมื่อ 14 ตุลา 2516 และต่อสู้เรื่อยมาจนถึงกรณีนองเลือดพฤษภา 35 จึงยุติเผด็จการทหารได้สำเร็จ แม้ว่าประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยจะมีจุดสะดุดอุปสรรคมากมาย รวมทั้งโศกนาฎกรรมเมื่อ 6 ตุลา 2519 ก็ตาม

ทัศนะและเค้าโครงประวัติศาสตร์เช่นนี้เองที่ให้ความหมายแก่รัฐธรรมนูญ 2540 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน เพราะเป็นผลพวงของชัยชนะเหนือเผด็จการทหารอย่างเด็ดขาด และยังมีจุดหมายสำคัญอยู่ที่การขจัดขัดขวางนักการเมืองฉ้อฉล ไร้คุณธรรมออกจากระบบรัฐสภา

ทัศนะประวัติศาสตร์ประเภทนี้ยังมักให้ความสำคัญแก่บทบาทของสถาบันกษัตริย์ ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ภารกิจการสร้างประชาธิปไตยบรรลุผล บทบาทสำคัญที่มักยกมาสนับสนุนความคิดนี้คือ การพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อ 2475 และบทบาทของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบันในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 กับเหตุการณ์พฤษภา 35

ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยตามทัศนะนี้ มีพัฒนาการควบคู่มากับขบวนการ 14 ตุลา(7) แล้วเติบโตมากับประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา ที่มองเห็นพัฒนาการของประชาธิปไตยว่าเป็นเรื่องของการต่อสู้กับเผด็จการทหาร และนักการเมืองไร้คุณธรรมเท่านั้น แต่กลับมองข้ามปัญหาสำคัญที่ครอบงำประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยเกือบตลอด 73 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ปัญหาว่าด้วยบทบาทของสถาบันกษัตริย์และพระราชอำนาจในการเมืองไทย มองไม่เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 พฤษภา 2535 และที่สำคัญคือ 6 ตุลา 2519 และ การปฏิวัติ 2475 เป็นอย่างไร และมีความหมายเกี่ยวข้องอย่างไรกับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยโดยองค์รวม

ประวัติศาสตร์ชนิดนี้ยอมรับอย่างสนิทใจและไม่ตั้งคำถามกับความคิดความเชื่อที่ว่า สถาบันกษัตริย์อยู่นอกเหนือระบบการเมืองไทย ไม่เฉลียวใจว่าความคิดความเชื่อเช่นนี้ในตัวมันเองเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองชนิดหนึ่งที่ทรงอิทธิพลครอบงำ จนกระทั่งเรามักแยกบทบาทของสถาบันกษัตริย์ออกจากความเข้าใจต่อการเมืองประชาธิปไตยของไทย

ในที่นี้ผู้เขียนขออธิบายประชาธิปไตยไทยเสียใหม่ว่า พัฒนามาท่ามกลางความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพลังทางการเมืองต่างๆ ในสังคมไทยอย่างไร ประชาธิปไตยประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาเป็นประชาธิปไตยที่มีลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทยอย่างไร

กษัตริย์นิยมในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลัง 2475

"ร่างรัฐธรรมนูญฉะบับนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันแท้จริง แต่มีลัทธิการปกครองแปลกปลาดแทรกซ่อนอยู่ ลัทธินี้ก็คือ การนิยมกษัตริย์"

"ร่างรัฐธรรมนูญฉะบับนี้เขียนไว้โดยมีความปรารถนาจะเหนี่ยวรั้งพระมหากษัตริย์เข้ามาพัวพันกับการเมืองมากเกินไป โดยการถวายพระราชอำนาจมากกว่าเดิม… ยังงี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มันเป็นรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์อย่างชัดๆ ทีเดียว"

"คณะจ้าวนี่เองเป็นปัญหาใหญ่… พระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญใหม่ฆ่าคนได้โดยมีความผิด"

ข้อความทั้งหมดที่อ้างมานี้มาจากการอภิปรายสภาผู้แทนราษฎรหลายท่าน ได้แก่ นายชื่น ระวีวรรณ นายฟื้น สุวรรณสาร และนายเลียง ไชยกาล เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2492(8) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 นายเลียงยังได้เตือนด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่ยุคเข็ญและการปฏิวัตินองเลือด เพราะถวายอำนาจแก่พระมหากษัตริย์มากเกินสมควร ในระยะนั้นมีการอภิปรายทางหน้าหนังสือพิมพ์อย่างเข้มข้นว่า สถานภาพและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ควรมีแค่ไหน โดยเรียกผู้สนับสนุนการขยายพระราชอำนาจว่าเป็นพวก "กษัตริย์นิยม"

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2490 ซึ่งนักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบเผด็จการทหารของไทยอย่างแท้จริง

น่าคิดว่าการอภิปรายอย่างเผ็ดร้อน ตรงไปตรงมาด้วยถ้อยคำดังยกมาเป็นตัวอย่างจากปี 2492 นี้ สามารถทำได้ในปัจจุบันหรือไม่? แม้แต่ภายในการประชุมรัฐสภาก็เถอะ?

คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยปัจจุบันไม่เคยมีประสบการณ์กับภาวะที่แนวความคิดแบบกษัตริย์นิยม เป็นแค่แนวความคิดหนึ่งของกลุ่มการเมืองหนึ่ง ซึ่งมีดีเลว ถูกๆ ผิดๆ และมีผลประโยชน์ทางการเมืองของตน ไม่มีอะไรต่างจากนักการเมืองอื่นๆ จึงถูกวิจารณ์ได้เหมือนนักการเมืองอื่นๆ

เราจะถือว่านี่เป็นความก้าวหน้าหรือถอยหลังดี? เกิดอะไรขึ้นในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทยนับจากหลังรัฐประหาร 2490?

นักคิดคนสำคัญเกี่ยวกับการเมืองไทยเคยเสนอไว้นานแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่แตกหักกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์(9) ผลพวงของประวัติศาสตร์แบบนี้ก็คือ การเมืองของกลุ่มประชาชนหรือในประชาสังคม มิได้มีอำนาจหรือมีส่วนร่วมการตัดสินใจในนโยบายหรือการเมืองสำคัญใดๆ รัฐหลัง 2475 ยังคงผูกขาดอำนาจไว้กับตน

เราอาจกล่าวกลับทางได้ว่า การที่พลังประชาชนยังเติบโตเข้มแข็งไม่พอ ไม่ใช่ฐานพลังของการปฏิวัติ 2475 เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ไม่แตกหักกับอำนาจรวมศูนย์ไม่ว่าจะของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือรัฐหลัง 2475

ตลอดระยะ 15-20 ปีหลังการปฏิวัติ 2475 (2475 ถึง 2490 หรือ 2495) ปัญหาใจกลางของการเมืองไทยที่สำคัญที่สุด รุนแรงและส่งผลกระทบต่อปัญหาอื่นๆ มากที่สุด คือ ปัญหาว่าด้วยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายเจ้าหลังการปฏิวัติ 2475 คือการต่อสู้กันว่าพระมหากษัตริย์ควรมีอำนาจแค่ไหน พวกกษัตริย์นิยมพยายามอยู่หลายครั้งที่จะรื้อฟื้นอำนาจของพระมหากษัตริย์ การต่อสู้อย่างดุเดือดในข้อนี้นำไปสู่กบฏบวรเดชในปี 2476 ซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองราคาแพง มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน และต่อมานำไปสู่การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี 2477 หลังจากที่พระองค์ทรงพยายามต่อสู้ต่อรองเพื่อเพิ่มพระราชอำนาจของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่ไม่สำเร็จ

ความขัดแย้งรุนแรงในปัญหานี้ยังเป็นเงื่อนไขผลักดันให้ผู้นำทหารอย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นมามีบทบาทสำคัญเหนือผู้นำพลเรือน จนกระทั่งอำนาจนำภายในคณะราษฎรตกอยู่ในมือฝ่ายทหารในที่สุดเพื่อปกป้องผลของการปฏิวัติ 2475

ฝ่ายเจ้าประสบความพ่ายแพ้ต่อเนื่อง ถึงกับถูกจับกุมคุมขัง ถูกเนรเทศไปอยู่เกาะ หรือต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ นับจากจอมพล ป. ขึ้นมามีอำนาจเต็มตัวในปี 2481 ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว รัฐธรรมนูญของคณะราษฎรไม่อนุญาตให้พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ไม่ว่าระดับใดมีบทบาททางการเมือง ด้วยบทบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ทรงอยู่ "เหนือ" การเมือง หมายความว่า พ้นไปจาก ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง พระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทั่งจะแสดงความเห็นใดๆ ในทางสาธารณะเกี่ยวกับการเมืองการปกครองโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐบาลหรือสภาฯ

บทบาทของฝ่ายเจ้าได้รับการรื้อฟื้นโดยปรีดี พนมยงค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ช่วงท้ายและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปรีดีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติ 2475 และการต่อสู้กับฝ่ายเจ้าหลังจากนั้น แต่เขาจำเป็นต้องประนีประนอมกับฝ่ายเจ้าช่วงสงครามเพื่อต่อสู้กับอำนาจของจอมพล ป.

ขบวนการเสรีไทยแท้ที่จริงแล้วเป็นแนวร่วมหรือพันธมิตรของกลุ่มการเมืองหลายฝ่าย รวมทั้งกลุ่มปรีดี กลุ่มส.ส.อีสาน ทหารเรือ และฝ่ายกษัตริย์นิยมมาร่วมมือกันอย่างหลวมๆ เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลจอมพล ป. ฝ่ายกษัตริย์นิยมและพระราชวงศ์หลายพระองค์มีบทบาทสำคัญในเสรีไทยสายอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ปรีดีเป็นผู้นำของขบวนการภายในประเทศ

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เจ้านายทั้งหลายได้รับบรรดาศักดิ์คืน และได้รับอนุญาตให้มีบทบาททางการเมืองได้ (ยกเว้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระโอรสธิดาเท่านั้น) แต่การเมืองช่วงนั้นยังอยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มปรีดี ซึ่งมิได้มีการถวายพระราชอำนาจคืนหรือเพิ่มพระราชอำนาจมากไปกว่าหลัง 2475 แต่อย่างใด

กำเนิด "กษัตริย์นิยมประชาธิปไตย"
ปี 2488-2494 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของฝ่ายกษัตริย์นิยม กล่าวคือเป็นระยะก่อตัวและสร้างรากฐานให้แก่ "กษัตริย์นิยมประชาธิปไตย" บทบาทของฝ่ายกษัตริย์นิยมในสภาฯมีความโดดเด่น ความสำคัญของเจ้าและสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้ง ภายใต้การนำของสมเด็จฯกรมขุนชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 พระองค์สุดท้ายที่ยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ในขณะนั้น พระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลาต่อมา และเป็นผู้นำสำคัญของฝ่ายกษัตริย์นิยมนับจาก 2475 ตราบจนสิ้นพระชนม์ในปี 2494

แต่ฝ่ายกษัตริย์นิยมหลังสงครามโลก ไม่มีความมุ่งหมายจะเรียกหาอำนาจของสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป นักการเมืองฝ่ายนี้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์โจมตีระบอบการเมืองก่อน 2475 ด้วยซ้ำไป แต่พวกเขาต้องการแสวงหาบทบาท สถานะ และพระราชอำนาจที่มากขึ้นกว่าที่คณะราษฎรจำกัดไว้ พวกเขาแสวงหาพระราชอำนาจมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ภายใต้ระบอบหลัง 2475 ประเด็นสำคัญๆมี อาทิ เช่น พระราชอำนาจเลือกและแต่งตั้งวุฒิสมาชิก พระราชอำนาจแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญอื่นๆ เช่น ประธานศาล ฯลฯ พระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมายที่ผ่านสภาฯ เป็นต้น

ฝ่ายกษัตริย์นิยมหลังสงคราม จึงเป็นทั้งการเริ่มต้นใหม่ของสถาบันกษัตริย์หลัง 2475 แต่ก็เป็นความต่อเนื่องสืบทอดภารกิจของฝ่ายเจ้าที่พ่ายแพ้ไปสิ้นเชิงก่อนสงคราม ความต่อเนื่องแต่เริ่มใหม่ที่สำคัญ ได้แก่การวางรากฐานทางภูมิปัญญาแก่กษัตริย์นิยมประชาธิปไตย หรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบหลัง 14 ตุลา วาทกรรมว่าด้วยพระมหากษัตริย์ที่เริ่มต้นในช่วงนี้ ด้านหนึ่งสืบทอดอุดมการณ์กษัตริย์นิยมแต่เดิม(10) แต่อีกด้านหนึ่งยอมรับสถานะประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ด้านหนึ่งยืนยันอิทธิพลมหาศาลตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาล แต่กลับอยู่นอกเหนือการเมืองการปกครองโดยตรง

ในเดือนมีนาคม 2489 สมเด็จฯ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรหรือพระองค์เจ้าธานีนิวัต(11) ทรงแสดงปาฐกถาถวายแด่พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอนุชา (พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน)และสมเด็จพระราชชนนี ต่อมาปาฐกถาดังกล่าวได้รับการปรับปรุงตีพิมพ์เป็นบทความวิชาการภาษาอังกฤษ ในหัวข้อ "Thai Old Siamese Conception of Monarchy"(12) พระนิพนธ์นี้เป็นงานสั้นๆทว่ามีความสำคัญอย่างสูง เพราะประมวลรวบยอดความคิดของลัทธิกษัตริย์นิยมขึ้นเป็นทฤษฎี ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ในระบบการเมืองหลัง 2475 ที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมปรารถนาจะเห็น เป็นฐานทางภูมิปัญญาของ "วาทกรรมพระราชอำนาจ" ซึ่งมุ่งขยายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ และเป็นกรอบเค้าโครงสำหรับพัฒนาการของสถาบันกษัตริย์ไทยตลอดระยะ 60 ปีที่ผ่านมา จนทุกวันนี้มีสถานะสูงส่งอย่างไม่เคยมีมาก่อน

พระองค์เจ้าธานีฯ เสนอในบทความว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้วมาแต่โบราณกาล คือ พระมนูธรรมศาสตร์ รัฐธรรมนูญอย่างหลัง 2475 เป็น "pure foreign institution" (p.101) ภายใต้รัฐธรรมนูญตามประเพณีนี้ พระมหากษัตริย์มิได้ทรงมีพระราชอำนาจล้นฟ้าไร้ขอบเขต แต่พระราชอำนาจกลับต้องอยู่ภายในกรอบของทศพิธราชธรรม และธรรมเนียมอื่นๆ อีกมากมาย นั่นคือต้องทรงเป็นธรรมราชา

พระองค์เจ้าธานีฯ วาดภาพประวัติศาสตร์ไทยอันสวยหรูว่า พระมหากษัตริย์ไทยที่ผ่านมาเป็นเสมือนบิดาปกครองบุตรดังตกทอดมาแต่สมัยสุโขทัย มีการแขวน "gong" (ฆ้อง?)รับร้องทุกข์ แม้ต่อมาจะรับอิทธิพลลัทธิเทวราชของเขมร แต่พระมหากษัตริย์ไทยที่เปรียบเสมือนบิดาปกครองบุตรยังคงสืบทอดต่อมาจนถึง 2475 พระองค์เจ้าธานีฯทรงย้ำว่าพระมหากษัตริย์ไทยเป็น The Great Elect อยู่แล้ว คือประชาชนร่วมใจกันเลือกแล้วเทิดทูนขึ้นเป็นเจ้าชีวิตเจ้าแผ่นดินตามคติ "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ"

นี่คือทฤษฎีของไทยว่าด้วยพระมหากษัตริย์ เป็นจารีตธรรมเนียมที่ไม่เคยมีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร(13) ทฤษฎีพระมหากษัตริย์เช่นนี้เองที่เป็นฐานของการรื้อฟื้นบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ระหว่าง 2490-2494 และนับจากยุคสฤษดิ์เป็นต้นมา

แม้ปรีดี พนมยงค์จะเป็นผู้เปิดโอกาสแก่ฝ่ายกษัตริย์นิยมให้กลับมามีบทบาททางการเมือง แต่เจ้านายบางพระองค์และฝ่ายกษัตริย์นิยมยังคงขัดข้องเคืองใจกับบทบาทของปรีดีในการปฏิวัติ 2475 จึงจ้องแก้แค้นปรีดีอย่างเอาการเอางานและอย่างเป็นระบบ กรณีสวรรคตอันน่าเศร้าสลดกลับกลายเป็นโอกาสงามที่กลุ่มนี้ใช้เล่นงานปรีดีจนพ่ายแพ้ ปรีดีต้องประสบความยากลำบากอย่างแสนสาหัสตั้งแต่ปี 2489 จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตก็ด้วยฝีมือของฝ่ายกษัตริย์นิยมเหล่านี้ ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องราวความเป็นไปของราชสำนักกลับมาเป็นจุดสนใจของสังคมอีกครั้ง

รัฐประหารปี 2490 เป็นการปิดฉากคณะราษฎร นักประวัติศาสตร์มักจะให้ความสนใจกับบทบาทของผู้นำรุ่นใหม่ในกองทัพบกอย่างผิน ชุณหะวัณและเผ่า ศรียานนท์ ข้อเท็จจริงก็คือ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างทหารบกกับฝ่ายกษัตริย์นิยม ซึ่งมีบทบาทมากมายเต็มไปหมดในการรัฐประหารครั้งนี้ อาจจัดได้ว่า 2490-2494 เป็นยุคฟื้นฟูของกษัตริย์นิยม หลักฐานชัดเจนประการหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญ 2492 ที่โปรเจ้าอย่างไม่เคยมีมาก่อน เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ระบุว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และฉบับแรกที่ระบุว่า ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ และให้อำนาจพระมหากษัตริย์อีกหลายประการ เช่นในการเลือกและแต่งตั้งวุฒิสภา ในการประกาศภาวะฉุกเฉิน และในการอนุมัติเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล เป็นต้น

นักประวัติศาสตร์ไทยมักเสนอว่าการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นในยุคสฤษดิ์(14) แต่แท้ที่จริงเริ่มในช่วงนี้เอง กล่าวคือ ในขณะที่พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันยังทรงพำนักอยู่ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ผู้สำเร็จราชการฯ และคณะองคมนตรี (เรียกว่า อภิรัฐมนตรี ระหว่าง 2490-92) ได้รื้อฟื้นประเพณีเดิมและริเริ่มประเพณีใหม่ๆ หลายอย่าง

พระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งมักกล่าวกันว่าได้รับการรื้อฟื้นในปี 2503 ได้รับการรื้อฟื้นเมื่อ 6 พ.ค. 2492(15)
ผู้สำเร็จราชการฯ เสด็จถวายปริญญาบัตรแก่นักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยรวมทั้งจุฬาฯ ในปี 2492(16)

ตลอดปี 2491-2492 ข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมของราชสำนักได้รับการรายงานสม่ำเสมอ วันจักรี วันปิยมหาราชกลายเป็นพิธีการใหญ่โต เจ้านายหลายพระองค์ที่เสด็จลี้ภัยช่วงรัฐบาลจอมพล ป. เสด็จกลับในช่วงนี้ รวมถึงพระองค์เจ้าบวรเดชในปี 2492 แต่ข่าวใหญ่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ตลอดปี 2491-92 ได้แก่การอัญเชิญพระราชอังคารของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 กลับประเทศไทยพร้อมการเสด็จกลับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มีพระราชพิธีใหญ่โต และคำอธิบายกำเนิดประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยมประชาธิปไตย ซึ่งยกคุณความดีให้กับพระองค์ในฐานะผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นในช่วงนี้เอง

การรุกคืบขยายอำนาจของฝ่ายกษัตริย์นิยมจึงกลายเป็นหนามยอกอกคณะรัฐประหาร 2490 ในเวลาต่อมา มีความขัดแย้งหลายครั้ง จนในที่สุดคณะทหารจึงก่อการรัฐประหารในปลายปี 2494 ล้มรัฐบาลของตนเองเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2492 ลดทอนอำนาจของฝ่ายเจ้าลงฉับพลัน การรัฐประหารเกิดขึ้นก่อนการเสด็จนิวัติพระนครของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเพียง 3 วัน(17)

หลังความพ่ายแพ้ของฝ่ายกษัตริย์นิยมคราวนี้ การฟื้นฟูบทบาทพระราชอำนาจมิได้หวังผลระยะสั้นหรืออาศัยกลวิธีในระบบรัฐสภาอีกต่อไป แต่ทฤษฎีว่าด้วยพระมหากษัตริย์ไทยกลับได้รับการปลูกฝังก่อร่างสร้างตัวอีกครั้งอย่างช้าๆ ทว่ามั่นคงอย่างมาก อาศัยการสร้างสมพระบารมีในหมู่ปัญญาชน และการให้ความหมายใหม่แก่สถานะเหนือการเมือง จนประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา หรือระบอบรัฐสภาของกลุ่มทุนโดยมีธรรมราชาอยู่เหนือการเมือง
14 ตุลา 2516 คือการปฏิวัติครั้งสำคัญ ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง
แต่การปฏิวัติด้วยพลังมหาชน กลับมิได้หมายความว่ากลุ่มฝ่ายอื่นๆจะไม่ถือโอกาสร่วมตักตวงประโยชน์จากการปฏิวัตินั้น มิหนำซ้ำพลังของมหาชนที่โค่นรัฐบาลทหารสำเร็จ เป็นเพียงพลังของการลุกฮือขึ้นชั่วคราวเท่านั้น พลังจัดตั้งที่มีรากลึกในสังคมและมีอำนาจต่อรองยังมิได้เข้มแข็งพอ (ยกเว้น พ.ค.ท.)

มีผู้กล่าวมานานแล้วว่า ระบอบรัฐสภาซึ่ง 14 ตุลาช่วยให้ลงหลักปักฐานมั่นคงนั้น กลับเป็นเวทีที่กลุ่มทุนและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เข้ามาช่วงชิงหาผลประโยชน์ในที่สุด ระหว่าง 20 ปีนับจาก 2516 อำนาจนำของกองทัพเริ่มถดถอยลงทุกที จากที่มีอำนาจโดยตรง กลายเป็นการครอบงำอย่างไม่เป็นทางการ กลายเป็นการค่อยๆ ถอนตัวออกไป แม้กองทัพพยายามจะหวนกลับสู่อำนาจอีกครั้งในปี 2519 และ 2534 แต่กลับจบลงด้วยการลุกฮือของประชาชนต่อต้านอำนาจทหารอีกครั้ง เมื่อเดือนพฤษภา 2535 ท่ามกลางการถดถอยของอำนาจทหาร กลุ่มทุนน้อยใหญ่ทั้งระดับชาติและท้องถิ่นต่างเข้ามาแสวงผลประโยชน์ในรัฐสภา

การปฏิวัติ 14 ตุลาจึงเป็นการสถาปนาระบบการเมืองที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งอาศัยพลังทุนเพื่อเข้าครอบครองอำนาจ โดยเฉพาะทุนจากท้องถิ่นที่มีฐานอยู่กับชนบทและผลประโยชน์เฉพาะถิ่น เฉพาะภูมิภาค จนกลายเป็นการอาศัยระบบรัฐสภาเพื่อแบ่งสรรอำนาจและทรัพยากรของรัฐ เอาไปเป็นประโยชน์แก่ฐานการเมืองของตน สาธารณชนที่มีพลังทางการเมืองได้แก่ชาวกรุง ชนชั้นกลางผู้มีการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชน (สื่อชนชั้นกลาง สื่อชาวกรุง) เกลียดชังประชาธิปไตยบ้านนอกของทุนท้องถิ่นยิ่งนัก จึงผลักดันให้เกิดการ "ปฏิรูปการเมือง" อันนำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีจุดหมายชัดเจนแต่แรกเริ่ม เพื่อลดอำนาจหรือขจัดทุนท้องถิ่นหรือประชาธิปไตยแบบบ้านนอก และเพื่อพยายามสถาปนาประชาธิปไตยที่สาธารณชนที่มีการศึกษาเชื่อว่าถูกต้องตามแบบฉบับ

ผู้เขียนเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2540 มิได้ล้มเหลวอย่างที่มักกล่าวกัน ตรงข้าม กลับประสบความสำเร็จในการลดทอนพลังของทุนท้องถิ่นตามต้องการ แต่ผลที่คาดไม่ถึงคือ กลับเปิดโอกาสให้กลายเป็นระบบรัฐสภาภายใต้อำนาจนำเด็ดขาดของทุนขนาดใหญ่ระดับชาติ และระดับนานาชาติซึ่งมีวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมทางการเมืองต่อการกำหนดนโยบาย การบริหารราชการ และการใช้อำนาจต่างลิบลับกับการเมืองของทุนท้องถิ่น

รัฐธรรมนูญ 2540 ยังประสบความสำเร็จสร้างความมั่นคงแก่อำนาจฝ่ายบริหาร จนอำนาจของทุนใหญ่สามารถยึดครองหรือทำลายอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลโดยรัฐสภาและโดยองค์กรอิสระต่างๆ รัฐธรรมนูญ 2540 ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในประการหลังนี้

ทัศนะทำนองที่กล่าวมามิได้ผิดพลาดอะไร แต่มองเห็นแค่ซีกเดียวของระบบการเมืองประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา นั่นคือเห็นแค่ระบอบรัฐสภาของกลุ่มทุน แต่มองข้ามฝ่ายกษัตริย์นิยมซึ่งช่วงชิงประโยชน์จาก 14 ตุลาจนประสบความสำเร็จมหาศาลอย่างไม่เคยได้รับมาก่อน เป็นความสำเร็จเงียบๆ ที่สาธารณชนไม่ทันสังเกตเพราะไม่นึกว่าเป็นการเมือง

ปัญหาใจกลางของประชาธิปไตยไทย ที่ต่อสู้ขัดแย้งอย่างคอขาดบาดตายระหว่างปี 2475-2495 (20 ปี) จากนั้นลดถอยสงบเสียงลงระหว่างปี 2495-2516 (21 ปี) กลับได้รับคำตอบหรือทางออกรูปธรรมอย่างเงียบๆนับจากปี 2516 (32 ปีนับถึงขณะนี้) 14 ตุลา 2516 คือความสำเร็จโดยพื้นฐานของการรื้อฟื้นบทบาทของสถาบันกษัตริย์ขึ้นใหม่ในระบบการเมืองไทย แต่เป็นบทบาทใหม่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เคยมีมาก่อน

บทบาทแบบนี้แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดในเหตุการณ์ 14 ตุลา นั่นเอง หรืออาจกล่าวได้ว่าพระราชกรณียกิจในวันนั้น และที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วันนั้น (หมายถึงการโปรดเกล้าฯ "พระราชทาน" รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ การโปรดเกล้าฯ ริเริ่ม "สภาสนามม้า" อันนำไปสู่องค์กรนิติบัญญัติ ฯลฯ) นิยามบทบาทของพระมหากษัตริย์เหนือการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไทย นับจากนั้นจนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ คือ รัฐบาลแรกของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" แม้ว่ารัฐบาลนี้จะอ่อนแอเกินกว่าจะวางรากฐานของระบอบนี้อย่างมั่นคงทันที และต้องผ่านความระหกระเหินอีกหลายปีกว่าจะวางรากฐานของระบบนี้อย่างมั่นคงก็ตาม

ระยะที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้รัฐบาลเปรม เพราะเป็นการต่อรองอำนาจกันระหว่างกองทัพกับพลังนอกระบบราชการ (กลุ่มทุนและนักการเมืองในสภา และภาคเอกชนนอกสภา เป็นต้น) ในระยะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบบการเมืองกลับสถาปนาลงตัวเรียบร้อย

ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาจึงไม่ใช่แค่การต่อสู้ของประชาชนกับเผด็จการทหาร และไม่ใช่แค่การต่อสู้กับทุนท้องถิ่นทุนระดับชาติที่หนุนนักการเมืองฉ้อฉล แต่ขณะนี้ (หลังทหารหมดบทบาท) เป็นระบบการเมืองแบบ 3 ส่วน ได้แก่ มวลชน ทุนและนักการเมือง และฝ่ายกษัตริย์นิยม

ความหมายของสถานะเหนือการเมือง เปลี่ยนจากการถูกกีดกันออกไปให้เลยพ้นการเมือง กลายเป็นความสูงส่งเหนือกว่าการเมืองฉ้อฉลสกปรกทั่วไป

ธรรมราชาเป็นแหล่งที่มาของความชอบธรรมทางการเมือง และพระราชอำนาจศักดิ์สิทธิ์หรือบารมีมาแต่โบราณ เป็นอุดมคติดั้งเดิมของสังคมการเมืองพุทธเถรวาทที่ถือว่า พระราชาผู้ทรงทศพิธราชธรรม ย่อมสั่งสมพระราชอำนาจศักดิ์สิทธิ์หรือบารมี อันจะส่งผลโดยปริยายให้ระเบียบโลก (สังคม) ของชาวพุทธอยู่เย็นเป็นสุข

ธรรมราชาตามทฤษฎีกษัตริย์นิยมประชาธิปไตย อยู่บนพื้นฐานปรัชญาการเมืองของพุทธเถรวาทดังกล่าว แต่ปรับแปรให้สอดคล้องกับยุคสมัย ออกมาเป็นโครงการและพระราชกรณียกิจต่างๆ ซึ่งเน้นการเอาใจใส่ทุกข์สุขของมหาชน แต่พระราชกรณียกิจทั้งหลาย กลับมิได้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทาง "การเมือง" ตามที่เข้าใจกันทั่วไป เพราะพระองค์ทรงอยู่ "เหนือการเมือง" เพราะ "การเมือง" ในความเข้าใจทั่วๆ ไปหมายถึง การต่อสู้เพื่อเข้าครอบครองรัฐบาล และรัฐสภา ธรรมราชายุคประชาธิปไตยหรือกษัตริย์นิยมประชาธิปไตยอยู่เหนือการเมืองในความหมายแคบเช่นนี้

แต่ถ้าหาก "การเมือง" หมายถึงสัมพันธภาพทางอำนาจ (power relations) ระหว่างกลุ่มฝ่ายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐ สถานะ "เหนือการเมือง" ย่อมจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งในระบบการเมืองของไทย กล่าวคือมีปริมณฑล "การเมือง" (การต่อสู้เพื่อเข้าครอบครองรัฐบาลและรัฐสภา)อยู่ข้างล่าง และมีปริมณฑล "เหนือการเมือง" อยู่ข้างบนในระบบเดียวกัน ภายใต้ระบบเดียวกันนี้ ธรรมราชาเหนือการเมืองย่อมทรงพระบารมีวิเศษ เมื่อเปรียบเทียบกับนักการเมืองซึ่งทำได้อย่างเก่งก็แค่มีอำนาจอันสกปรกฉ้อฉล

อย่างไรก็ดี ตลอด 30 ปีหลัง 14 ตุลา ทั้งกลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์และนักการเมือง และฝ่ายกษัตริย์นิยมต่างตระหนักดีว่า ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาเป็นการเมืองของมวลชน หมายความว่า ทุกฝ่ายที่พยายามครองอำนาจต้องสั่งสมความสนับสนุนจากประชาชนด้วย ทุกฝ่ายต้องเป็น "ประชานิยม" เพียงแต่เป็นคนละชนิด มีวิธีการ พิธีกรรมคนละชุดในการสร้างความสนับสนุนจากประชาชน(18) แม้พรรคไทยรักไทยจะได้รับชัยชนะท่วมท้นในการเลือกตั้ง 2 ครั้ง แต่ความนิยมที่ประชาชนมอบให้แก่ผู้นำทางการเมือง เป็นความนิยมคนละชนิดคนละเรื่องกับกระแสนิยมเจ้า

แนวโน้มที่โดดเด่นมากของประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาก็คือกระแสกษัตริย์นิยมสูงขึ้นถึงระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นในระบอบการเมืองประชาธิปไตยกลับถดถอยลง เหตุสำคัญคือ นักการเมืองและผู้มีอำนาจบ่อนทำลายตัวเองด้วยความไร้ประสิทธิภาพ ทุจริตคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลไม่เป็นธรรม กลายเป็นว่ายิ่งระบบการเมืองหมดความน่าเคารพเชื่อถือลงเท่าไร ความศรัทธาต่อสถาบันเหนือการเมืองยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น จนเกิดวาทกรรมที่จัดวางพระราชอำนาจหรือบารมี กับอำนาจของนักการเมืองเป็น 2 ขั้วตรงข้ามกัน ฝ่ายแรกวิเศษสูงสุด ฝ่ายหลังชั่วสุดขีด

ความเชื่อมั่นกับระบอบการเมืองประชาธิปไตยตกต่ำถึงขนาดบางคนเห็นว่า ประชาธิปไตยเป็นยูโทเปียของพวกตามก้นฝรั่ง ในขณะที่พระบารมีเป็นของแท้ของไทยที่ไม่เคยบกพร่องผิดพลาด นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ตกอยู่ใต้อุดมการณ์ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม หรือทฤษฎีที่พระองค์เจ้าธานีฯ วางรากฐานให้ และเป็นความทรงจำขาดๆ เกินๆ ตัวอย่างของส่วนที่ขาดได้แก่ กษัตริย์นิยมในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2475-2494 ดังเสนอข้างต้น และ บทบาทของฝ่ายกษัตริย์นิยมในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นต้น

แม้ว่า 14 ตุลา คือการปฏิวัติของประชาชน และประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาเป็นการเมืองของมวลชน แต่ทั้งฝ่ายนิยมอำนาจและฝ่ายนิยมบารมีต่างไม่เห็นความสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชน ไม่ต้องการ "สังคมเข้มแข็ง" เอาเข้าจริง ทั้งสองฝ่ายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชนมาด้วยกันทั้งนั้น เพราะต่างไม่ไว้ใจประชาชน กลัวการรวมตัวจัดตั้งของประชาชน หรือถึงขนาดเห็นประชาชนเป็นภัยคุกคาม

ภาคสอง
วัฒนธรรมประชาธิปไตยของไทย

จากประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่กล่าวมาในตอนก่อน มีประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยของไทย 6 ประเด็นใหญ่ที่ขอนำมาอภิปรายในที่นี้

1. อำนาจของรัฐในวัฒนธรรมประชาธิปไตยของไทย
1.1 ธรรมชาติของอำนาจ: ฉ้อฉลหรือเป็นธรรม
คำกล่าวที่ว่า "อำนาจเป็นสิ่งฉ้อฉล อำนาจสมบูรณ์ย่อมฉ้อฉลอย่างสมบูรณ์" (Power corrupts. Absolute power corrupts absolutely.) มีกำเนิดจากวัฒนธรรมการเมืองสมัยใหม่ของโลกตะวันตกซึ่งประชาชนไม่ไว้ใจอำนาจของรัฐ สำหรับสังคมไทย ปัญญาชนและผู้ตื่นตัวทางการเมืองจนไม่ไว้ใจอำนาจอาจเห็นด้วยกับคำกล่าวเช่นนั้น

แต่ในวัฒนธรรมการเมืองของไทยแต่เดิมมาถือว่า อำนาจกับบุญบารมีเป็นของคู่กัน มีอำนาจได้แสดงว่าต้องมีบุญมากพอ สิ้นบุญก็สิ้นอำนาจ อำนาจที่มากับบุญจึงเป็นอำนาจที่เป็นธรรมตามธรรมชาติ อำนาจสูงสุด คือ พระบารมีของจักรพรรดิราชหรือธรรมราชา พ่อขุนจึงเป็นตัวแบบอุดมคติของอำนาจที่เต็มไปด้วยความกรุณา อำนาจตามคติไทยจึงไม่ฉ้อฉล จนกว่าผู้ทรงอำนาจนั้นจะเสื่อมถอยไร้คุณธรรม เขาก็จะหมดอำนาจลงไป ความคิดต่อพระราชอำนาจพระบารมีในปัจจุบันมีมูลฐานจากวัฒนธรรมอำนาจเช่นนี้

การตีความประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมว่า การปฏิรูประบบราชการสมัยรัชกาลที่ 5 มาจากความริเริ่มของพระองค์เองโดยไม่ต้องมีราษฎรเรียกร้องต่อสู้ เพราะเห็นแก่ความสุขความเจริญของราษฎร หรือประวัติศาสตร์ที่ว่าประชาธิปไตยมาจากการพระราชทานโดยรัชกาลที่ 7 เหล่านี้ล้วนตอกย้ำความเชื่อว่า โดยปกติแล้วอำนาจเป็นธรรมไม่ใช่ฉ้อฉล อำนาจฉ้อฉลเป็นเรื่องของความเสื่อมถอย กลับ
กลาย หรือผิดปกติ

แต่การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของไทย ไม่เคยเกิดการแตกหักกับอำนาจตามประเพณี ไม่ว่าจะเน้นว่าเกิดจากการพระราชทานหรือเน้นว่าเกิดจากการปฏิวัติของกองทัพและปํญญาชนในระบบราชการก็ตาม ไม่ได้เกิดจากพลังทางสังคมจัดตั้งกันเพื่อขุดรากถอนโคนสังคมเก่า วัฒนธรรมการเมืองที่สืบทอดกันมาในระบอบประชาธิปไตยของไทย จึงได้แก่ ความเชื่อมั่นในอาญาสิทธิ์ของรัฐ เชื่อไว้ก่อนว่าผู้มีอำนาจรู้ดี มีความชอบธรรมกว่าราษฎร แม้ว่าอำนาจทางการเมืองจะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์แบบเดิมอีกต่อไป แต่วัฒนธรรมอำนาจของไทยยังคงเอื้ออำนวยต่อผู้นำเข้มแข็ง จอมเผด็จการ คุณพ่อรู้ดี และการใช้อำนาจแบบสั่งการ บนลงล่าง ผู้นำแบบซีอีโออาจมีที่มาจากธุรกิจ แต่สามารถเข้ากันได้พอดีกับวัฒนธรรมอำนาจแบบไทย

วัฒนธรรมการเมืองที่สำคัญของไทย จึงได้แก่การแสวงหาผู้นำที่มีคุณธรรม ถือว่าศีลธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นคุณสมบัติสำคัญเหนือคุณสมบัติอื่นๆ การต่อต้านอำนาจจึงเพ่งเล็งที่คุณธรรมของผู้มีอำนาจ เน้นความซื่อสัตย์จริงใจ หรือความเสื่อมถอยทางคุณธรรมในลักษณะต่างๆ

ผู้นำอย่างพลเอกเปรมจึงเป็นตัวแบบตามอุดมคติในวัฒนธรรมอำนาจแบบนี้

1.2 อำนาจอยู่ที่ศูนย์กลาง
ความไม่แตกหักหรือการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยโดยไม่มีการปะทะ ขุดรากถอนโคนระบอบเก่า ยังส่งผลสืบทอดโครงสร้างอำนาจที่กระจุกอยู่ที่ศูนย์กลาง(19)

การต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญหมายถึงการช่วงชิงอำนาจรัฐส่วนกลาง การแบ่งสรรอำนาจในหมู่ผู้นำ การเมืองระดับท้องถิ่นและการเมืองในปริมณฑลอื่นจึงด้อยความสำคัญลงไป รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เพิ่มความสำคัญของท้องถิ่นและอำนาจขององค์กรตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล น่าเสียดายที่อำนาจเหล่านี้ถูกแทรกแซงบ่อนทำลายตั้งแต่ยังไม่เติบโต แล้วกลับไปเน้นอำนาจศูนย์กลาง บนลงล่าง ภายใต้การนำของผู้นำรู้ดี อย่างที่เคยเป็นมาตลอด

แม้แต่วาทกรรมการกระจายอำนาจของไทย ก็หมายถึง การที่ส่วนกลางยอมลดอำนาจของตน แจกจ่ายอำนาจการตัดสินใจออกไปให้แก่ท้องถิ่น แต่กลับมิได้หมายถึงอำนาจอันเกิดก่อขึ้นด้วยการรวมตัวจัดตั้งของประชาชน ทั้งท้องถิ่น ชุมชนหรือในกลุ่มคนเฉพาะด้านเช่น วิชาชีพ องค์กร และหน่วยงานต่างๆ เพื่อปกครองดูแลในขอบข่ายของตน ซึ่งเป็นอำนาจที่ส่วนต่างๆ ในสังคมพึงมีโดยอำนาจรัฐส่วนกลางละเมิดมิได้

ประชาธิปไตยฉบับวัฒนธรรมไทย สืบทอดมรดกวัฒนธรรมอำนาจรัฐแบบยอมรับอาญาสิทธิ์ของศูนย์กลาง เป็นประชาธิปไตยที่เอื้ออำนวยต่ออำนาจนิยม (ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหาร ซีอีโอเหลิงอำนาจ หรือกษัตริย์นิยม ก็ตาม) การสร้างอำนาจใหม่ๆโดยประชาชนเพื่อปกครองดูแลตนเอง ซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตยกลับถูกรัฐสงสัย ไม่ไว้ใจ หรือถึงกับบ่อนทำลาย

ปัญหามีอยู่ว่า วัฒนธรรมอำนาจแบบนี้ไม่สอดคล้องกับสังคมที่หลากหลายซับซ้อนมากขึ้นทุกที และอาจเป็นปัจจัยทำลายศักยภาพความสามารถในการปรับตัวของสังคมไทยสมัยใหม่ด้วย

2. ประชาชนคืออะไรในวัฒนธรรมประชาธิปไตยไทย
2.1 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนแบบเอื้ออาทร
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนจึงยังอยู่ในกรอบเดิมๆ (20) ได้แก่ ทำนุบำรุงสุขหรือเอื้ออาทร นั่นคือรัฐจะบันดาลความสุขความเจริญให้ ขจัดปัดเป่าปัญหาให้ ประชาชนในวัฒนธรรมประชาธิปไตยไทยก็อยู่ในกรอบเดียวกัน คือฝากความหวังให้รัฐรับผิดชอบ แม้แต่ในเรื่องที่เราไม่ควรให้รัฐมายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของเรา ไม่สนใจสร้างพลังอำนาจเพื่อจัดการชีวิตของตนเองในระดับ/ด้านที่รัฐไม่ควรมายุ่ง รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยไทยจึงไม่คิดจะถอยลงไปเป็นผู้สนับสนุน อำนวยความสะดวกแก่การใช้อำนาจของประชาชนหรือเป็นผู้คุมกฎ

รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จึงไม่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ในแง่การสนับสนุนให้ประชาชนมีอำนาจ เช่น เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ส่วนใหญ่เน้นเรื่องการเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจรัฐศูนย์กลาง กิจกรรมทางการเมืองก็เป็นเรื่องนี้ คือ ไม่ใช่เรื่องการสร้างอำนาจของประชาชนระดับล่าง

รัฐธรรมนูญบางฉบับรวมทั้งฉบับ 2540 พยายามสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจเพื่อขจัดการฉ้อฉลอำนาจของรัฐ แต่หลักการสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนยังคงมีความสำคัญในระดับหลักการเท่านั้น ยังคงถูกปล่อยปละละเลย เห็นเป็นเรื่องรอง มิได้มีสถาบันที่มีอำนาจเพื่อปกป้องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ความสัมพันธ์กับประชาชนยังอยู่ในกรอบของการปกครองควบคุมประชาชนภายใต้อำนาจของรัฐ มิใช่การส่งเสริมให้เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนเป็นช่องทางเสริมสร้างอำนาจของประชาชน แม้แต่ผู้นำทางด้านสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ก็ยังคงมีภารกิจเป็นเชิงรับคือ การปกป้อง ป้องกันการละเมิด ไม่มีเงื่อนไขหรือโอกาสอาศัยหลักการเหล่านี้ในเชิงรุก คือเป็นฐานแก่การสร้างอำนาจของประชาชน

2.2 ประชาธิปไตยแบบไม่ไว้ใจประชาชน จัดการความขัดแย้งกับประชาชนไม่เป็น
แม้การลุกฮือของประชาชนเมื่อ 14 ตุลา 16 ก่อให้เกิดการเมืองแบบมวลชน จนเป็นปัจจัยหนึ่งใน 3 ส่วนของประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา แต่วัฒนธรรมการเมืองของไทยไม่ไว้ใจ และไม่สนับสนุนให้ประชาชนเติบโตจัดตั้งก่อตัวเป็นพลังทางสังคม ที่สามารถมีอำนาจจัดการดูแลตนเอง

มวลชนในประชาธิปไตยของไทยคือ ราษฎรปัจเจกภาพ ต่างคนต่างอยู่ แต่ใส่ใจปฏิบัติตามการนำของรัฐ ร่วมมือในกิจกรรมที่รัฐปรารถนา การใช้อำนาจของประชาชนหมายถึงขณะที่หย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น หลังจากนั้นมักถือว่าประชาชนได้มอบหมายอำนาจสิทธิ์ขาดให้กับผู้แทนในสภาฯ และให้กับรัฐบาลไป โดยมวลชนไม่ควรไปก่อความวุ่นวายกวนใจรัฐอีก จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ในเมื่อไม่ไว้ใจว่าประชาชนมีความสามารถจัดตั้งกันเอง สงสัยและเชื่อเป็นตุเป็นตะว่าต้องมีมือที่สาม (หมายถึงคนนอกที่ประสงค์ร้าย) ยุยงชาวบ้านให้กระด้างกระเดื่อง คิดเช่นนี้จึงไม่สนใจรับฟังประชาชนจริงจัง บวกกับวัฒนธรรมการใช้อำนาจแบบบนลงล่าง จึงไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่เชื่อมั่นและไม่มองในแง่ดีว่า ประชาชนเป็นเจ้าของและมีอำนาจในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ โดยรัฐมีส่วนร่วมและสนับสนุนตามจำเป็น

หากเป็นการต่อสู้ที่บานปลายคือมีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก รัฐมักใช้วิธีควานหา "ตัวการ" หวังจัดการกับตัวการดังกล่าวเพื่อให้ "ฝูงชนที่ไม่รู้เรื่องราวอะไร"สลายตัวไปเอง หากความขัดแย้งบานปลาย รัฐจึงมักใช้อาญาสิทธิ์ของตนก่อความรุนแรงโดยสาธารณชนไม่ค่อยปฏิเสธ

2.3 ประชาชนไม่ใช่แหล่งอ้างอิงของความยุติธรรม ความชอบธรรมทางการเมืองหรือการถ่วงดุลอำนาจ
แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ชัดเจนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่ในประชาธิปไตยฉบับวัฒนธรรมไทยนั้น แหล่งที่มาของความชอบธรรมและตัดสินความยุติธรรมในท้ายที่สุดกลับไม่ใช่ประชาชน แต่กลับเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์(21)

กล่าวคือ แม้ว่าการเลือกตั้งจากประชาชนจะเป็นกระบวนการคัดเลือกผู้เข้าครองอำนาจรัฐบาล แต่ทันทีที่การเลือกตั้งสิ้นสุดลง รัฐบาลหลัง 14 ตุลา เป็นต้นมาต่างตอกย้ำความสำคัญของพระบรมราชโองการราวกับว่าเป็นรัฐบาลพระราชทาน การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ และแม้แต่องค์กรการเมืองอิสระ มักตอกย้ำความภาคภูมิใจที่ได้รับพระบรมราชโองการทั้งนั้น รวมทั้งกรณีขัดแย้งอื้อฉาวที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ล้วนแต่ตอกย้ำความสำคัญและอำนาจสูงกว่าของพระราชอำนาจ ไม่ใช่เพียงแค่การละเมิดระเบียบปฏิบัติอันเหมาะสม (protocol)

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่ใช่แค่ตำหนิรัฐบาลว่าบกพร่องในแง่ระเบียบวิธีปฏิบัติ แต่กลับชวนให้สาธารณชนเข้าใจว่า พระราชอำนาจมีความสำคัญกว่า เป็นแหล่งที่มาของความชอบธรรมและแหล่งตัดสินความยุติธรรมสูงสุด เหนือกว่าอำนาจของรัฐสภาซึ่งมาจากประชาชน

ผู้เขียนไม่ใช่ผู้สนับสนุนรัฐบาลทักษิณ ทั้งได้เขียนและพูดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนี้ในหลายๆแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดพลาดล้มเหลวแต่ยังอวดดีกับนโยบายผิดๆ วิธีการผิดๆ ในการแก้วิกฤติในภาคใต้ แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ในวัฒนธรรมการเมืองของระบอบประชาธิปไตยไทยนั้น ประชาชนยังไม่ใช่เจ้าของสุงสุดของอำนาจอธิปไตยตามหลักการในกฎหมาย

3. ว่าด้วยความสามัคคี ด้วยการกดปราบความแตกต่างหลากหลาย
3.1 ความสามัคคีแบบเดินตามอำนาจ
ระบบประชาธิปไตยไทยนับจาก 2475 เป็นระบบที่ต้องการระดมประชาชนสนับสนุน แต่นั่นคือบทบาทเดียวของประชาชนในระบบนี้ คือเป็นผู้สนับสนุนอำนาจของรัฐ ประชาชนที่รัฐปรารถนาได้แก่ ประชาชนที่เชื่อผู้นำ คิดคล้ายๆ กันในกรอบที่ทางราชการจัดวางให้

ในเมื่อประชาธิปไตยมิได้เกิดจากพลังหลากหลายในสังคมเข้าหักล้างสังคมเก่า ความแตกต่างอันเกิดจากพลังหลากหลายในสังคมจึงกลับกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของอำนาจ ความคิดเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ เป็นอุปสรรคขัดขวางการบริหารประเทศ ความคิดเห็นต่างที่มุ่งหมายก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เป็นความหลงผิดที่ต้องแก้ไข หรือเป็นอันตรายที่ต้องกำจัด

ความต่างต้องถูกกลืน ทำให้สงบ หรือถูกกำจัดอย่างรุนแรง
วัฒนธรรมไทยเรียกการเห็นคล้อยตามกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การนำของผู้มีอำนาจว่า ความสามัคคี ซ้ำเห็นว่าการแสดงความเห็นมากเกินไปเป็นวัฒนธรรมฝรั่ง โดยลืมไปว่า "ความสามัคคี" ของราษฎรภายใต้การนำของรัฐเพิ่งเกิดขึ้นอย่างเก่าที่สุดเมื่อปลายรัชกาลที่ 5 นี่เอง พอๆ กับหรืออาจหลังจากการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพของปัญญาชนไทยในยุคเดียวกัน ทว่า "ความสามัคคี" พรรค์นี้มีที่มาผูกพันกับวัฒนธรรมอำนาจรัฐดังกล่าวมาแล้ว ในขณะที่รากเหง้าของหลักสิทธิเสรีภาพในสังคมไทยง่อนแง่นเต็มที (22) ประชาธิปไตยของไทยจึงเป็นระบบการเมืองที่ประชาชนเชื่อง ผู้มีอำนาจกลับสามารถอ้างอิงประชาชนที่กระจัดกระจายไร้พลังต่อรอง เพื่อทำลายความแตกต่างอันเกิดจากประชาชนที่มีการจัดตั้ง

ความมุ่งมั่นต่อหลักการสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนจึงอ่อนแอมากในประชาธิปไตยไทย รัฐสามารถปฏิเสธ หลบเลี่ยง เฉยเมยได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องรับผลกระทบใดๆ แม้ว่ากระแสสิทธิเสรีภาพนับจาก 14 ตุลาจะมีผลเปลี่ยนแปลงข้อนี้ในทางที่ดีขึ้นอย่างมาก แต่หนทางยังอีกยาวไกล กว่าที่วัฒนธรรมการเมืองไทยจะเห็นคุณค่าของเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน

3.2 วัฒนธรรมปิดกั้นความคิด
วัฒนธรรมทางการเมืองที่เน้นความสามัคคีตามผู้มีอำนาจ ได้รับการค้ำจุนด้วยกลไกและวัฒนธรรมสำคัญอีกอย่างคือ censorship

การตรวจสอบปิดกั้นการแสดงออก (censorship) มิใช่แค่เรื่องของกลไกรัฐกระทำต่อประชาชน แต่มีอยู่ในแทบทุกวงการทุกระดับของสังคม ตั้งแต่กลไกรัฐ เช่น ตำรวจและกิจการสื่อมวลชน ในระบบการศึกษา ในภาคเอกชน แม้กระทั่งวงการสื่อสารมวลชน และมีอยู่ในแวดวงภาคประชาชนด้วยเช่นกัน

Censorship ที่สำคัญที่สุดกลับมิใช่การกระทำของรัฐต่อประชาชนจนเป็นกรณีอื้อฉาวโด่งดัง แต่คือการตรวจสอบปิดกั้นการแสดงออกที่กระทำกันเองในหมู่ประชาชน หรือเราท่านกระทำต่อตัวเอง ปัญญาชนและผู้มีอาชีพอยู่กับการสื่อสารทั้งหลาย ต้องเรียนรู้ที่จะปิดปากตัวเอง เลียบเลาะกับขอบเขตของการเมืองและกฎหมายอันไม่เป็นธรรม จนกระทั่งการปิดกั้นความคิดและการแสดงออกกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปกติประจำวัน กลายเป็นวัฒนธรรมไม่ใช่แค่เรื่องของกลไกรัฐอีกต่อไป

ในภาวะที่ผู้เรียกร้องให้เด็กไทยกล้าคิดกล้าแสดงออก กลับมีวัฒนธรรมปิดกั้นการแสดงออกอยู่ทุกอณูของสังคม บางท่านอาจกล่าวว่าการแสดงออกต้องมีขอบเขต แต่เราไม่ตระหนักว่าวัฒนธรรมปิดกั้นความคิดแทรกซึมทำลายความคิดสร้างสรรค์เพียงใด นอกจากนั้นเรายังดูหมิ่นสังคมและตัวเราเองไปหน่อยว่าจะเกิดความวุ่นวายปั่นป่วนง่ายๆ เพียงเพราะความคิดเห็นที่แปลกแตกต่างจากทัศนะมาตรฐาน

3.3 สิทธิของเสียงข้างน้อย
วัฒนธรรมความสามัคคีแบบเบ็ดเสร็จและการปิดกั้นความคิดอิสระ ประกอบกันขึ้นเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประชาธิปไตย คือเห็นว่าเสียงข้างมากย่อมถูกต้องมีอำนาจชอบธรรมที่จะทำลายเสียงข้างน้อยได้

ไม่มีพรรคการเมืองใดในประเทศประชาธิปไตย ที่ให้อำนาจพรรคควบคุมการแสดงความคิดเห็นและการลงคะแนนของสมาชิกพรรคได้อย่างเด็ดขาดขนาดพรรคการเมืองไทย

เรื่องนี้เป็นแค่ภาพสะท้อนวิธีการที่รัฐและสังคมไทยใช้ตอบโต้ลงโทษ ดูถูก ทำลายเสียงข้างน้อยในสังคม ไม่มีความเคารพให้เกียรติรับฟังเสียงข้างน้อย ไม่มีความเข้าใจว่าเสียงข้างน้อยชี้ให้เห็นแง่มุมตรงข้ามที่เสียงข้างมากมักมองข้าม ดังนั้นแม้คนส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วย แต่อาจเป็นประโยชน์ในแง่ชี้ให้เห็นข้อจำกัดหรือผลอันไม่พึงประสงค์ของเสียงข้างมาก

ไม่มีความเข้าใจแม้แต่น้อยว่า เสียงข้างน้อยอาจกลายเป็นทางเลือกสำหรับอนาคต เพราะความเห็นที่ต่างกันอาจมีส่วนถูกต้องทั้งนั้น แต่ในระยะเวลาเงื่อนไขที่ต่างกันเท่านั้นเอง

ไม่มีความระมัดระวังแม้แต่น้อยว่า เสียงข้างมากอาจพากันเดินผิดทางก็ได้ (23)

ประชาธิปไตยที่ไม่เคารพเสียงข้างน้อย เรียกอีกอย่างว่าทรราชย์ของเสียงข้างมาก (tyranny of the majority)

4. ความไม่เชื่อมั่นในประชาธิปไตย (จากทัศนะจารีตนิยม)
4.1 ประชาธิปไตยไม่ใช่ "ของไทย"
มักมีผู้เสนอว่า รัฐธรรมนูญเป็นของฝรั่ง จึงผิดฝาผิดตัวไม่เข้ากับสังคมไทย ปัญหาสำคัญมิได้อยู่ตรงที่ว่าประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ หรือหลักการเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนเป็นของนำเข้าจากฝรั่งหรือเป็นของไทยดั้งเดิม เพราะสังคมไทยเลือกรับดัดแปลงหรือปฏิเสธความคิดจากภายนอกตลอดประวัติศาสตร์ทั้งจาก แขก จีน ญี่ปุ่น ฝรั่ง ตามแต่ความจำเป็นสอดคล้องกับสังคมไทย

พระมหากษัตริย์แต่โบราณยึดถือพระมนูธรรมศาสตร์ อรรถศาสตร์ ทศพิธราชธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นของนอกมาจากชมพูทวีปผ่านมอญและเขมรทั้งสิ้น โดยมีการดัดแปลงให้เข้ากับเงื่อนไขของตน

รัฐและระบบราชการสมัยใหม่ และกลไกต่างๆ ที่ช่วยให้เกิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นของนอก คือ เอามาจากระบบการปกครองของฮอลันดาในชวา และของอังกฤษในอินเดียและสิงคโปร์ ระบบที่สยามใช้ในการรวมประเทศก็เป็นแบบแผนการปกครองที่ฝรั่งทั้งสองใช้กับอาณานิคม โดยมีการดัดแปลงให้เข้ากับเงื่อนไขของสยามเอง

ทฤษฎีว่าด้วยพระมหากษัตริย์สยามของพระองค์เจ้าธานีนิวัติ เริ่มต้นด้วยการแถลงถึงความสำคัญล้ำค่าของขนบประเพณีเดิมในสังคมที่ไม่พึงละทิ้ง โดยอ้างจาก คำของ Malinowski บรมครูทางมานุษยวิทยาของฝรั่งยุคล่าอาณานิคม

ทั้งระบบการศึกษา ระบบราชการ ระบบกระบวนการยุติธรรม ระบบกฎหมาย กองทัพประจำการ การแพทย์สมัยใหม่ ฯลฯ มีกำเนิดมาจากภายนอกทั้งนั้น ไม่ว่าฝรั่ง ญี่ปุ่น อินเดีย ชวาหรือสิงคโปร์ แต่ "ของนอก" เหล่านี้ถูกดัดแปลงด้วยเงื่อนไขสภาพของสังคมไทยแล้ว จึงกลายเป็นของไทยแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะดัดแปลงตามความเข้าใจผิวๆ เผินๆ ลอกเลียนมาแต่เปลือก หรือสร้างสรรค์จนเข้าสนิทกับสังคมไทย

การที่ระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย เป็นแนวคิดและประสบการณ์ที่เริ่มมาจากสังคมอื่นอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ใช่เหตุผลเพื่อปฏิเสธประชาธิปไตย เพราะถ้าใช้เหตุผลนี้ เราคงต้องปฏิเสธพระมนูธรรมศาสตร์ ทศพิธราชธรรมด้วย รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย ประชาธิปไตยฉบับวัฒนธรรมไทย หรือพระบารมีแบบไทย จึงไม่เป็นเหตุผลเพียงพอในตัวเองว่าเป็นสิ่งเหล่านี้พึงประสงค์หรือไม่พึงประสงค์

อันที่จริง เราไม่สามารถกล่าวด้วยซ้ำไปว่าประชาธิปไตยเป็นของนอก ไม่มีประสบกรณ์สั่งสมมาในสังคมไทย หากเรานับจาก 2475 เป็นต้นมา สังคมไทยมีประสบการณ์มาแล้ว 73 ปี และเริ่มลงหลักปักฐานมั่นคงขึ้นใน 30 ปีที่ผ่านมาด้วยความเสียสละของชีวิตจำนวนมาก เราคงกล่าวไม่ได้ว่าประสบการณ์แค่นี้เพียงพอแล้ว แต่ 73 ปี และหลายร้อยชีวิตที่ผ่านไปจะไม่เรียกว่า "ประชาธิปไตยของไทย" ได้อย่างไรกัน

เหตุผลสำคัญที่จะรับหรือปฏิเสธหรือเลือกสรรดัดแปลง กลับอยู่ที่ความจำเป็นและความเหมาะสมเพื่อสังคมไทยปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้คนในสังคมเห็นต่างกันได้ จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการเพื่อให้ทัศนะที่ต่างกัน ได้ปะทะขัดแย้งกันเพื่อชี้ให้เห็นข้อดีเสียหลายๆ แง่มุม

หากเชื่อว่าหลักการสิทธิมนุษยชนเป็นของดีสำหรับสังคมไทย ต่อให้ไม่มีรากในจารีตวัฒนธรรมไทย ย่อมสมควรลงแรงต่อสู้จนกว่าจะปลูกขึ้น ในทางตรงข้าม วัฒนธรรมการบังคับใช้กฎหมายตามชั้นและอำนาจของคน หรือจารีตความยุติธรรมในวัฒนธรรมไทยที่ถือว่ามีความผิดจนกว่าจะพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ ต่อให้มีรากแก้ว ก็สมควรถูกขุดรากถอนโคน

อะไรคือความจำเป็นและเหมาะสมของประชาธิปไตย?

การเมืองของมวลชนมิใช่อุบัติเหตุที่บังเอิญเกิดขึ้นหรือจะถอยหายไปจากสังคมไทย กรณีนองเลือด 3 ครั้งใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการประชาชนในระยะเวลาเพียง 20 ปี บทบาทความเติบโตของกลุ่มองค์กรประชาชนนับไม่ถ้วนนับจาก 14 ตุลา 2516 มิใช่การหาเรื่องก่อความวุ่นวายโดยผู้ประสงค์ร้ายต่อสังคมไทยเพียงหยิบมือ แต่ทั้งหมดนี้สะท้อนพัฒนาการของสังคมไทยที่สลับซับซ้อน เต็มไปด้วยกลุ่ม ชุมชน อาชีพ และกลุ่มผลประโยชน์ที่แตกต่างขัดแย้งกันมหาศาล เกินกว่าระบบการเมืองแบบเสด็จพ่อผู้ทรงธรรม หรือคุณพ่อรู้ดี หรือตามผู้นำชาติพ้นภัยจะสามารถเข้าใจได้หมด หรือจะจัดการความขัดแย้งในหมู่ประชาชนด้วยอาญาสิทธิ์ของศูนย์กลางอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวิทยาของประชาชนจึงเป็นสาเหตุ เป็นเงื่อนไข เป็นวิธีการ เป็นจุดหมาย และเป็นความจำเป็นของประชาธิปไตย ความเข้าใจต่อจารีตประเพณีเดิม หรือจินตนาการถึงตัวแบบประชาธิปไตยในสังคมอื่น ย่อมมีประโยชน์ต่อการเข้าใจอุปสรรค เงื่อนไข ข้อจำกัด และเพื่อการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่เหมาะกับสังคมของเรา

แน่นอนว่าถ้าหากสังคมไทยเลือกที่จะจัดการกับสังคมซับซ้อน ด้วยระบบเสด็จพ่อผู้ทรงธรรม หรือซุปเปอร์ซีอีโอ และเลือกปฏิเสธประชาธิปไตย ย่อมเป็นการตัดสินใจที่จะต้องรับผิดชอบต่ออนาคต

ถ้าหากสังคมไทยเลือกหนทางประชาธิปไตย แม้ว่าจะยังต้องพัฒนาสร้างสรรค์อย่างระหกระเหินอีกยาวนาน ย่อมเป็นการตัดสินใจที่ต้องรับผิดชอบอนาคตเช่นกัน

4.2 วาทกรรมพระราชอำนาจหรือประชาธิปไตยแบบคิดสั้น
ประวัติศาสตร์ที่มักได้รับการอ้างถึงโดยผู้สนับสนุนวาทกรรมพระราชอำนาจ นับจากพระองค์เจ้าธานีฯ มาจนถึงคนรุ่นเรา เป็นประวัติศาสตร์ตามลัทธิราชาชาตินิยม ถ้าหากจะไม่พิพากษาว่าประวัติศาสตร์ดังกล่าวบิดเบือน แต่ทรงพลังครอบงำสังคมไทยราวกับเป็นยากล่อมประสาท อย่างน้อยที่สุด เราต้องตระหนักว่าเป็นอุดมการณ์ประวัติศาสตร์แบบหนึ่ง ที่ไม่ได้ดีกว่าถูกต้องกว่าทัศนะประวัติศาสตร์แบบอื่น (ดังเช่นที่ผู้เขียนเสนอในภาคแรกเป็นต้น)

ในทัศนะของผู้เขียน ประวัติศาสตร์แบบสนับสนุนพระราชอำนาจมองข้ามการเมืองระหว่างกษัตริย์นิยมกับคณะราษฎรไปทั้งหมด น่าสังเกตด้วยว่าบรรดาผู้สนับสนุนวาทกรรมพระราชอำนาจอ้างถึงประสบการณ์ของตนภายในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่ความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ยาวไกลไปในอดีตหรือคิดคำนึงด้วยสายตายาวไกลถึงอนาคต

ผู้เขียนเห็นว่าความพยายามต่อสู้กับรัฐบาลเหลิงอำนาจด้วยวาทกรรมพระราชอำนาจ เป็นเรื่องน่าวิตกอย่างยิ่ง และควรต้องมีการทัดทาน เพราะเราไม่น่าจนตรอกถึงขนาดโยนความสำเร็จเมื่อ 73 ปีก่อนลงถังขยะประวัติศาสตร์

การต่อสู้ด้วยวิถีทางพรรค์นี้ผิดหลักการโดยพื้นฐาน 2 ประการ

ประการแรก แทนที่จะส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยด้วยการส่งเสริมอำนาจของประชาชน กลับไปเรียกร้องหาอำนาจศักดิ์สิทธิ์มาถ่วงดุลรัฐบาล

การใช้อาวุธตอบโต้อาวุธ ไม่ก่อให้เกิดสันติ ฉันใด การต่อสู้กับรัฐบาลอำนาจนิยม ด้วยอำนาจพิเศษ เป็นวิถีทางที่ไม่ช่วยให้ประชาชนหรือสังคมเข้มแข็งขึ้นมา ไม่ก่อผลดีใดๆเลยต่อประชาธิปไตย ฉันนั้น

ทำไมเราจึงมักง่าย จะต่อสู้กับรัฐบาลซึ่งทำลายประชาธิปไตย ด้วยการละทิ้งวิถีทางประชาธิปไตย ? ทำไมเราคิดจะต่อสู้กับสิ่งที่ผิด ด้วยวิถีทางที่ไม่ถูกต้อง? ผิด+ไม่ถูก จะกลายเป็น ถูก ได้อย่างไรกัน?

ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่ารัฐบาลปัจจุบันทำร้ายระบอบประชาธิปไตย ด้วยการจูงจมูกประชาชน ไม่ส่งเสริม ไม่ไว้ใจ ไม่ให้โอกาส แต่กลับทำลายการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่หากเราต่อสู้จนชนะด้วยวิถีทางที่ไม่เห็นหัวประชาชนพอๆกัน เราจะชนะไปทำไม ในเมื่อเราช่วยกันย่ำยีหลักการและวิถีทางประชาธิปไตย จนไม่เหลืออะไรที่น่าเคารพอีกต่อไป

ประการที่สอง วาทกรรมพระราชอำนาจ อิงกับจินตนาการว่า พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีตและอนาคตย่อมทรงบุญญาบารมีเหมือนพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน วาทกรรมพระราชอำนาจชอบอ้างอิงอดีต แต่กลับขาดสำนึกอดีตและวิสัยทัศน์ทางประวัติศาสตร์โดยสิ้นเชิง พวกเขากำลังวางระเบิดเวลาลูกใหญ่แก่ประเทศไทยในอนาคต เป็นประชาธิปไตยแบบคิดสั้น เพื่อแลกกับผลทางการเมืองระยะสั้นๆในปัจจุบัน

หรือว่าผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องพระราชอำนาจไม่เคยคิดถึงอนาคตเลย?

5. ความไม่เชื่อมั่นในประชาธิปไตย (จากทัศนะผู้ครองอำนาจ)
นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรเคยกล่าวครั้งหนึ่งว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่เป้าหมาย เป็นเพียงวิธีการ เป้าหมาย (เช่น การขจัดความยากจน) จึงสำคัญกว่า คำกล่าวนี้ถูกครึ่งหนึ่ง คือ ประชิปไตยเป็นวิธีการหรีอวิถีทางไปสู่เป้าหมาย แต่อีกครึ่งที่ไม่ถูกก็คือ เพราะเป็นวิธีการจึงไม่สำคัญ

สังคมประชาธิปไตยไม่ว่าที่ไหนในโลกทุ่มเทกับการรักษาพัฒนาวิถีทางนี้อย่างมั่นคง ก็เพราะวิถีทางนี้เป็นเงื่อนไขอันจำเป็นสำหรับสังคมที่สลับซับซ้อน มีความแตกต่างขัดแย้งกันมากมาย จะได้มีวิถีทางปะทะขัดแย้งต่อรองผลประโยชน์หาทางออกต่อปัญหาต่างๆ อย่างสันติ

ทุกสังคมมีปัญหาสำคัญๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนไปไม่สิ้นสุด สิ่งที่นายกฯ ทักษิณเรียกว่าเป็นจุดหมายเกิดขึ้นใหม่เปลี่ยนแปลงไปไม่รู้จบ การสถาปนาวิถีทางอันเหมาะสมจึงกลับเป็นสิ่งจำเป็นเสียยิ่งกว่าความพยายามแก้ปัญหาสักอย่างให้ตก โดยทำลายหลักการวิถีทางจนยับเยิน

รัฐบาลปัจจุบันบริหารประเทศเหมือนกิจการธุรกิจ แนวทางเช่นนี้แม้จะมีผลดีจำนวนหนึ่ง แต่มีข้ออ่อนอย่างร้ายแรงเช่นกัน

ประการแรก การใช้อำนาจแบบฉับไว และให้อำนาจตัดสินใจเด็ดขาดอยู่กับซีอีโอ อาจเหมาะกับการผลักดันระบบราชการเทอะทะให้เคลื่อนตัวสนองความคิดริเริ่มใหม่ๆ แต่การใช้อำนาจแบบนี้กลับไม่เหมาะสม และยิ่งก่อปัญหาแก่การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม การนำของนายกฯ ทักษิณเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้วิกฤตชายแดนภาคใต้บานปลายรุนแรง

ประการที่สอง ความสำเร็จของการบริหารธุรกิจวัดด้วยผลลัพธ์อาทิเช่น สินค้า กำไร การแก้ปัญหาสำเร็จ แต่บ่อยครั้ง ผลลัพธ์นั้นได้มาด้วยวิธีการอะไรก็ได้หรือกลายเป็นเรื่องรอง ความสำเร็จทางการเมืองอย่างมีสายตายาวไกลและอย่างรับผิดชอบต่อลูกหลานในอนาคต ต้องรวมถึงการสถาปนาวิถีทางประชาธิปไตยด้วย แม้ว่าอาจกินเวลาจนไม่บรรลุผลลัพธ์ทันใจ

การละเลยความสำคัญของวิถีทาง ถึงขนาดหลบเลี่ยงหรือละเมิดเสียเอง ดังที่เป็นมาตลอดตั้งแต่ต้นรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การแทรกแซงหรือเข้ายึดครองสื่อมวลชน การทำลายผู้เห็นต่างและผู้วิจารณ์รัฐบาล การทำลายพลังขององค์กรประชาชน การบ่อนทำลายกระบวนการกระจายอำนาจ ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อ "ส่งมอบของให้ถึงที่" (deliver the goods) เป็นประชาธิปไตยแบบสายตาสั้น ซึ่งบั่นทอนพัฒนาการของประชิปไตยในระยะยาวทั้งสิ้น

ประวัติศาสตร์อาจบันทึกว่ารัฐบาลทักษิณแก้ปัญหา ก ข ค ง ได้สำเร็จ แต่ประวัติศาสตร์จะบันทึกว่ารัฐบาลนี้ก่อความเสียหายมหาศาลแก่การพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว

ประวัติศาสตร์จะบันทึกแน่ๆว่ารัฐบาลนี้ ทำให้วิกฤติชายแดนภาคใต้ปะทุบานปลาย เพราะ ความอหังการ์เหลิงอำนาจ ไม่ใช้วิถีทางประชาธิปไตย

6. "ปัญหาปัตตานี" กับประชาธิปไตยไทย
วิกฤตความรุนแรง ณ ชายแดนภาคใต้หรือ "ปัญหาปัตตานี" (24) ไม่ใช่ปัญหาที่เป็นผลโดยตรงของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย แต่เป็นปัญหาประวัติศาสตร์ ซึ่งรัฐประชาธิปไตยไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง และเป็นปัญหาประวัติศาสตร์ที่กำลังทดสอบขีดจำกัดของรัฐประชาธิปไตยไทยในปัจจุบัน เพราะคงไม่สามารถหาทางออกได้อย่างถึงที่สุด หากไม่มีการเปลี่ยนวัฒนธรรมการเมืองและยกระดับรัฐประชาธิปไตยไทย

6.1 ปัญหาปัตตานีเป็นปัญหาประวัติศาสตร์ (1)
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีรากมาจากความแตกต่างที่ลึกซึ้งรุนแรงยิ่งกว่าความต่างประเภทอื่นที่รัฐประชาธิปไตยไทยเคยประสบมาก่อน แตกต่างลึกซึ้งยิ่งกว่าความต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองอันนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาหรือ 6 ตุลา 2519

เพราะเป็นความแตกต่างของรัฐและอารยธรรมที่ต่างมีประวัติศาสตร์ของตนเองมาคนละทางกัน (แต่เกี่ยวข้องกัน) นับหลายร้อยปี ความแตกต่างของการนับถือศาสนา วิถีชีวิต วัฒนธรรม หรือความคิดเห็น ซึ่งล้วนแต่เป็นปรากฏการณ์ของความต่างลึกซึ้งกว่านั้น ที่ปะทุขึ้นมาในปัจจุบันในบริบทของรัฐประชาธิปไตยไทยและสังคมไทย

เป็นความแตกต่างว่าด้วยรัฐในรัฐ สังคมในสังคม ทางออกใดๆ ที่ไม่ยอมเผชิญกับความจริงข้อนี้จึงไม่มีทางแก้ปัญหาได้อย่างถึงที่สุด

ปัจจัยที่ทำให้รัฐและอารยธรรมที่ต่างกัน เกิดความขัดแย้งปะทุขึ้นมาในบริบทของรัฐประชาธิปไตยไทยได้ ก็คือ colonization ของรัฐหนึ่งเหนืออีกรัฐหนึ่ง

ความเข้าใจที่ว่าเป็นความบกพร่องตกทอดมาจากการ "รวมประเทศ" จึงไขว้เขว ยังไม่กล้าเผชิญหน้ากับอดีตอย่างตรงไปตรงมา เพราะความเข้าใจประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการรวมประเทศของสยามจากทัศนะของอำนาจกรุงเทพฯ เป็นประวัติศาสตร์แบบลำเอียง

ความเข้าใจที่ไม่เห็นปัญหาประวัติศาสตร์ คือ ความไม่เข้าใจ

ทางออกใดๆ ที่ไม่เริ่มจากการเผชิญหน้ากับอดีตอย่างตรงไปตรงมาย่อมไม่มีทางแก้ปัญหาอย่างถึงที่สุด อย่างเก่งได้แค่บรรเทาความขัดแย้งลงชั่วคราวเท่านั้นเอง

จากรากเหง้าของความแตกต่างแบบรัฐในรัฐอันเกิดขึ้นด้วย colonization ในอดีต ทางออกที่ฝ่ายก่อการประสงค์คือ การแยกรัฐออกจากรัฐ

หากรัฐและสังคมไทยปิดประตูแก่ทางออกนี้และไม่ต้องการพิจารณาทางออกนี้เลย สังคมไทยควรตระหนักว่า ทางออกอื่นทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องรูปการรัฐเดี่ยวของไทยทั้งสิ้น

จินตนาการรัฐเดี่ยวอันแบ่งแยกมิได้เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์สยามซึ่งเผชิญภัยคุกคามของลัทธิอาณานิคม บวกมรดกของรัฐจักรวรรดิแบบรวมศูนย์ซึ่งตกทอดมาในรัฐประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์

รูปการรัฐเดี่ยวรอดมานานขนาดนี้ได้ ด้วยการกดปราบดูดกลืนความต่างในกรณีอื่นที่ลึกซึ้งน้อยกว่าปัญหาปัตตานี แต่ทว่ารัฐไทยที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จเลยในกรณีปัตตานี มิหนำซ้ำในปัจจุบันกลับมีความสามารถแย่กว่าก่อน ที่จะกดปราบดูดกลืนความต่างที่ลึกซึ้งขนาดปัญหาปัตตานี ทั้งด้วยนโยบายมาตรการที่ไม่เข้าใจปัญหา และด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการกดปราบดูดกลืนความต่างในแบบเดิมอีกต่อไป

การทบทวนรูปการรัฐเดี่ยวเป็นคนละเรื่องลิบลับกับการแยกรัฐ แต่หมายถึง แสวงหาทางเลือกอื่นๆว่า จะจัดความสัมพันธ์ของปัตตานีในรัฐไทยอย่างไร แสวงหาหนทางที่ทุกฝ่ายยอมประนีประนอมกันได้ ที่จะยังประโยชน์ระยะยาวกับทุกฝ่าย

หากปิดประตูนี้อีกและมุ่งแต่การเอาชนะเด็ดขาด อาจหมายถึงความพ่ายแพ้เสียหายระยะยาวกับทุกฝ่าย

ประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาประวัติศาสตร์ดังกล่าวเลย กลับสืบทอดปัญหาและทำให้บานปลายเป็นพักๆ (อาจยกเว้นความพยายามของปรีดี พนมยงค์หลังสงครามโลก ซึ่งสั้นเกินกว่าจะส่งผลใดๆ)

6.2 ปัญหาปัตตานีเป็นปัญหาประวัติศาสตร์ (2)
ปัญหาปัตตานียังเป็นปัญหาประวัติศาสตร์ในอีกความหมายหนึ่ง นั่นคือ เป็นปัญหาเนื่องมาจากความคับแคบของสำนึกประวัติศาสตร์ในสังคมไทย

ลัทธิอุดมการณ์ประวัติศาสตร์ที่ครอบงำสังคมไทย ได้แก่ ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม คืออุปสรรคสำคัญต่อการแก้ปัญหาปัตตานี เพราะเป็นประวัติศาสตร์ของอำนาจรัฐที่กรุงเทพฯอันเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งนี้โดยตรง เป็นประวัติศาสตร์ลำเอียงสุดๆในประเด็นว่าด้วยสยามท่ามกลางลัทธิล่าอาณานิคม กล่าวคือ อำพรางสภาวะกึ่งอาณานิคมของสยาม และอำพรางการกระทำของสยามต่อรัฐเล็กๆตามชายขอบรวมทั้งปัตตานีอย่างอาณานิคม (25)

สำนึกประวัติศาสตร์ในสังคมปัตตานีกลับตรงข้าม เป็นประวัติศาสตร์ที่ขัดฝืน เข้ากันไม่ได้กับประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมของอำนาจรัฐที่กรุงเทพฯอย่างที่สุด ทว่าความทรงจำและสำนึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ "บ้าน" ของตนเองกลับยังทรงพลังอยู่ในสังคมปัตตานีตลอดเวลา(26) สังคมไทยไม่เคยนึกถึงข้อนี้(27) หรือไม่เข้าใจและไม่เปิดใจกว้างพยายามเข้าใจด้วยซ้ำไปว่า จะให้คนเรารู้จักบ้านของตนเองผ่านประวัติศาสตร์ของคู่กรณีได้อย่างไรกัน

รัฐและสังคมไทยสมัยประชาธิปไตยสืบทอดความสัมพันธ์กับปัตตานี และสืบทอดความทรงจำและสำนึกประวัติศาสตร์ต่อปัญหาปัตตานีมาจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตอกย้ำซ้ำเติมด้วยลัทธิชาตินิยม ยามที่ความขัดแย้งปะทุ รัฐไทยไม่ว่าสมัยไหนใช้วิธีกำราบปราบปรามด้วยอำนาจที่เหนือกว่า ไม่ใช้วิถีทางประชาธิปไตยเพื่อหาทางออก

6.3 ปัญหาปัตตานีทดสอบสังคมประชาธิปไตยไทยขณะนี้อย่างไร
ท่าทีการใช้อำนาจของรัฐบาลทักษิณในการจัดการปัญหาปัตตานีผิดพลาด 2 ชั้น (28)

หนึ่ง ใช้ท่าทีแบบเดียวกับการปราบคอมมิวนิสต์ก่อนปี 2523 ทั้งที่รัฐไทยเองมีบทเรียนแล้วว่าเป็นมาตรการที่ผิด ยิ่งไปกว่านั้นปัญหาปัตตานีก็ต่างลิบลับกับปัญหาคอมมิวนิสต์

สอง การนำแบบซีอีโอ อาจเหมาะกับการสร้างผลงานตามเป้าหมาย แต่การจัดการความขัดแย้งทางสังคมอย่างเจ้านายในบริษัท นอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ปัญหาบานปลายอย่างมาก

"แผนจาตุรนต์" เป็นโอกาสสำคัญที่อาจช่วยให้ความรุนแรงไม่บานปลาย แต่กลับถูกปฏิเสธ อย่างน่าเสียดายด้วยความคิดแบบข้อหนึ่งและการนำแบบข้อสอง

ท่าทีของรัฐบาลต่อโศกนาฏกรรมที่ตากใบแสดงถึงใจคอโหดร้ายไร้คุณธรรมอย่างเหลือเชื่อ เพราะมองเหตุที่เกิดขึ้นจากทัศนะแบบข้อหนึ่ง และจัดการความขัดแย้งทางสังคมอย่างไร้ความละเอียดอ่อน

โศกนาฏกรรมที่ตากใบยังฉายให้เห็นว่า รัฐและสังคมไทยไม่เห็นคนเป็นคนเท่ากัน ตอกย้ำความเชื่อที่มีอยู่ทั่วท้องถิ่นว่า ความยุติธรรมอย่างเสมอหน้าก็ไม่มี นายทหารถูกลงโทษในความบกพร่องชนิดเบา แต่ผู้ชุมนุมถูกสังหารโหดร้าย ถูกจับมาทารุณ แล้วยังถูกฟ้องข้อหารุนแรงอีก ทั้งนี้เพราะรัฐและสังคมไทยเห็นดีงามกับการปราบปรามแบบนั้น

โศกนาฏกรรมที่ตากใบจึงเป็น moment ที่ผลักให้ความขัดแย้งก้าวเข้าสู่ระดับใหม่ นั่นคือ ชาวมลายูมุสลิมหมดความเชื่อใจรัฐและเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตกอยู่ในอันตรายยิ่งกว่าเดิมเพราะ การใช้ความรุนแรงสนองความรุนแรงกลายเป็นเป้าหมายในตัวเอง กรณีชาวมลายูมุสลิมลี้ภัยเข้าไปในมาเลย์เซีย เป็นเรื่องคาดได้หลังจากโศกนาฏกรรมที่ตากใบ โศกนาฏกรรมที่ตันหยงลิมอก็คงเป็นหน้าแรกๆของความโหดร้ายไร้สาระของสงครามอันไม่น่าจะเกิดขึ้น

ความรุนแรง ณ วันนี้เกินเลยไปกว่าที่จะอธิบายได้ด้วยสาเหตุรากฐานเท่านั้นแล้ว ความเกลียดชังและความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายเติบโตจนสามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องอ้างความชอบธรรมจากเหตุผลรากฐานของแต่ละฝ่ายอีกต่อไป กระนั้นก็ตาม การหาทางออกกลับต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจในสาเหตุรากฐานอย่างมั่นคง หาไม่แล้ว ทางออกใดๆก็ตามจะเป็นแค่ยาบรรเทาปวดชั่วคราว หรือ อาจจะยิ่งส่งเสริมให้ความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายเติบโตขึ้นไปอีก

ปัจจัยสำคัญที่ขาดหายไปและจำเป็นต้องเรียกฟื้นคืนมาให้ได้ หาไม่แล้วจะไม่มีทางทำอะไรอื่นทั้งสิ้น คือ ความไว้วางใจที่ชาวมลายูมุสลิมมีต่อรัฐและเจ้าหน้าที่

กุญแจดอกเดียวที่จะเปิดประตูความไว้วางใจได้ คือ ความยุติธรรมเสมอหน้าอย่างเที่ยงตรงเคร่งครัดกับทุกฝ่าย

แต่วิถีทางประชาธิปไตยที่ควรทำอย่างคงเส้นคงวาเริ่มเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี ได้แก่ จะต้องให้ชาวมลายูมุสลิมและคนท้องถิ่นเข้าร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรการสำคัญ หรือถึงขนาดมีบทบาทนำในการแก้ปัญหา ให้อำนาจแก่เขาเพื่อหาทางยุติความรุนแรง นี่คือวิถีทางประชาธิปไตยต่อปัญหาปัตตานีที่ตรงข้ามกับวิถีทางใช้อำนาจของรัฐบาลปัจจุบัน

รัฐและสังคมประชาธิปไตยไทย จะให้ความไว้วางใจแก่ชาวมลายูมุสลิมและคนท้องถิ่นได้หรือไม่?

6.4 ปัญหาปัตตานีทดสอบท้าทายประชาธิปไตยไทยในระยะยาวอย่างไร
ในระยะยาวปัญหาปัตตานีจะท้าทายทดสอบวัฒนธรรมทางการเมืองของประชาธิปไตยไทย ดังต่อไปนี้

1) สังคมไทยมีวุฒิภาวะพอที่จะสามารถอภิปรายเรื่องรูปการรัฐเดี่ยว เพื่อหาทางเลือกนอกกรอบจำกัดตายตัวของรัฐเดี่ยวได้หรือไม่
2) สังคมไทยมีวุฒิภาวะพอที่จะสามารถอภิปราย เพื่อแสวงหาความสัมพันธ์ในสังคมที่ยอมรับความต่างให้ดำรงอยู่ได้ถึงระดับไหน
3) สังคมไทยมีวุฒิภาวะพอที่จะเผชิญหน้ากับอดีต เพื่อทำให้อดีตเป็นอดีตอย่างเข้าใจและตระหนักรู้ แต่สามารถสร้างสรรค์ทางเลือกที่เหมาะกับปัจจุบันและอนาคตได้หรือไม่

การเผชิญหน้ากับอดีตอย่างตรงไปตรงมา ในกรณีนี้หมายถึงการยอมรับว่า ประวัติศาสตร์ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องราวของรัฐเดียว ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องความดีของบรรพบุรุษ หมายถึงยอมให้มีการศึกษาเรื่อง colonization โดยสยามก็ได้

การปล่อยให้อดีตเป็นอดีตต้องมิใช่การจงใจลืมอดีต (ซึ่งไม่มีทางสำเร็จในกรณีปัญหาปัตตานีเพราะมีคนเยอะแยะที่ลืมไม่ลงต้องการพูดขึ้นมา) ต้องมิใช่ทำลายปิดบังอดีต ปฏิเสธประวัติศาสตร์ (ซึ่งไม่มีทางสำเร็จในกรณีนี้ เว้นเสียแต่จะทำลายทุกชีวิตที่เป็นเจ้าของความทรงจำชุดอื่นให้หมดไปจากสังคมไทย) ต้องมิใช่การยกเอาประวัติศาสตร์ไขว้เขวลำเอียงของชาตินิยมไทย ขึ้นข่มปราบประวัติศาสตร์ของผู้ถูกเบียดเบียนในอดีต ต้องมิใช่หมายถึงการกล้อมแกล้มบอกให้คนอื่นลืมเรื่องราวรากเหง้าของตนเอง แต่กลับสถาปนาเรื่องราวรากเหง้าของกรุงเทพฯลงไปแทน

การปล่อยให้อดีตเป็นอดีตอย่างมีวุฒิภาวะ คือ การเผชิญหน้าเข้าใจอดีต แต่ไม่ถูกบงการด้วยอดีต ประวัติศาสตร์หลายรัฐประชาธิปไตยปัจจุบันจึงไม่ก่อให้เกิดการแยกรัฐเสมอไป ถ้าหากทุกฝ่ายตกลงใจปล่อยให้อดีตเป็นอดีต และเลือกหนทางปัจจุบันและอนาคตที่ตนพอใจ

วัฒนธรรมทางการเมืองของประชาธิปไตยไทย ที่ปล่อยให้อำนาจนำอยู่กับรัฐศูนย์กลางจนเกินไป ที่พลังสร้างสรรค์ของประชาชนถูกกดทับทำลายหรือทำให้เชื่องไปหมด ที่หลงใหลกับชาตินิยมและความสามัคคีแบบตื้นเขิน และที่ไม่เชื่อมั่นในหนทางประชาธิปไตยด้วยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงออก และร่วมในการแก้ปัญหา จะรับมือปัญหาปัตตานีได้อย่างไรกัน

หัวใจและหนทางแก้ปัญหาปัตตานีในที่สุด คือ ให้ชาวมลายูมุสลิมและคนท้องถิ่นมีอำนาจในการแก้ปัญหาระยะยาวและตัดสินอนาคตของตนเอง

หลักการเพื่อข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา:
ประชาธิปไตยคือวิถีทาง (means) ที่เป็นจุดหมาย (end)
ประชาธิปไตยไม่เคยให้คำตอบสำเร็จรูปแก่ปัญหาใดๆ สังคมประชาธิปไตยทุกแห่งใช้เวลานานกว่าจะแก้ปัญหาใหญ่โตได้ เช่น ใช้เวลาเป็นร้อยปีกว่าจะยอมรับสิทธิเสมอภาคของผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย หรือยกเลิกการเหยียดผิว เป็นต้น

แต่ประชาธิปไตยคือวิถีทางยั่งยืนเพื่อให้ประชาชนปะทะขัดแย้งกันอย่างสันติ ให้สังคมปรับตัวท่ามกลางสภาวการณ์ใหม่ๆ ด้วยการยอมให้ความแตกต่างหลากหลายดำรงอยู่ร่วมกัน แล้วค่อยๆ ตัดสินใจเลือกทางเดินที่คนส่วนใหญ่พอใจโดยไม่ต้องทำลายทางเลือกอื่นๆ

ประชาธิปไตยมิใช่หมายถึง การยกย่องเชิดชูอย่างเพ้อฝันว่าประชาชนถูกต้องเสมอ ฉลาด มีภูมิปัญญาเป็นเลิศ แต่เราต้องมั่นคงกับหนทางที่ให้ประชาชนมีอำนาจตัดสินทางเลือกของตนไม่ว่าจะฉลาดหรือด้อยปัญญาก็ตามที การสกัดกั้นทำลายอำนาจของประชาชน หรือทำให้หลงใหลความเอื้ออาทรของรัฐ หรือขัดขวางหรือไม่ส่งเสริมให้ประชาชนสร้างอำนาจของตนขึ้นมา ไม่ว่าจะฉลาดหรือด้อยปัญญาก็ตามที จึงเป็นการบ่อนทำลายหนทางประชาธิปไตยขั้นรากฐานที่ต้องยุติ

ประชาธิปไตยไม่ฝากความหวังกับคุณพ่อรู้ดีไม่ว่าประเภทใด ถ้าเราต้องการสร้างอำนาจของประชาชนให้เข้มแข็ง ย่อมไม่ควรหวังพึ่งพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ย่อมไม่ควรหวังพึ่งพลังทุนเหลิงอำนาจ เพราะการหวังพึ่งพลังเหล่านั้นทำให้การสร้างอำนาจของประชาชนไม่รู้จักโต

ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบการเมืองของปัญญาชนหรือคนกรุงผู้ฉลาดรู้ดีกว่า ปัญญาชนทำหน้าที่เป็นสติปัญญาแก่สังคม แต่ไม่ควรมีอำนาจมากไปกว่าประชาชนคนหนึ่งๆ การปิดกั้นทำลายความเห็นต่าง ทำลายการวิจารณ์จึงเป็นการบ่อนทำลายหนทางประชาธิปไตยที่น่ารังเกียจที่สุด การไม่ปิดกั้นทำลายความคิดเห็น และกลับส่งเสริมความกล้าเผชิญความจริง และกล้าคิดหาทางออกนอกกรอบจำกัด จึงเป็นหลักการสำคัญกว่าที่หลายท่านคิด

สังคมไทยใหญ่โตและมีวุฒิภาวะพอที่จะไม่แตกสลายง่ายๆ ด้วยความคิดเห็นต่างๆ หลากหลาย แม้แต่ความคิดนอกรีตนอกกรอบก็เถอะ

32 ปีหลัง 14 ตุลา 2516 แม้ว่าการเสริมสร้างอำนาจของประชาชนจะยังค่อนข้างอ่อนแออยู่ ทั้งด้วยความจำกัดของประชาชนเองและด้วยการบ่อนทำลายโดยรัฐ แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า 14 ตุลาได้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่แก่ประชาธิปไตยไทยแล้ว นั่นคือเปิดประตูบานใหญ่แก่การพัฒนาเติบโตของพลังประชาชน ไม่ว่าจะในนามของ "ภาคประชาชน" หรืออื่นใดก็ตามที ไม่ว่าจะด้วยอุดมการณ์เชิดชู "ชาวบ้าน" จนเกินไป เชิดชูแรงงานจนเกินไป หรือด้วยอุดมการณ์อื่นใดก็ตามที(29) ความเติบโตเหล่านี้ คือ ก้าวย่างที่สำคัญของอนาคต เพื่อข้ามให้พ้นการแย่งชิงอำนาจนำของพลังส่วนอื่นนับจากหลัง 14 ตุลา

ประชาชนซึ่งไร้การจัดตั้ง เชื่อผู้นำตามอำนาจมากกว่าเชื่อมั่นในพลังประชาชนเอง นั่นแหละคือความเป็นจริงในวันนี้ที่จะเติบโตสร้างอำนาจของตนเอง รักษาผลประโยชน์ของตนเอง และดูแลตนเองในอนาคต เพื่อข้ามให้พ้นการแย่งชิงอำนาจนำของพลังส่วนอื่นนับจากหลัง 14 ตุลา

ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยประวัติศาสตร์ข้อเท็จจริงมากมายในภาคแรก ต่อด้วยประเด็นเชิงหลักการหลายข้อในภาคสอง ซึ่งหลายท่านอาจเห็นว่าคงยากที่จะเกิดขึ้น แถมจบลงท้ายด้วยความใฝ่ฝันซึ่งอาจฟังดูเลื่อนลอย เพราะจะข้ามให้พ้นสภาวะปัจจุบันของประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาได้ เราต้องอาศัยทั้งความรู้และความใฝ่ฝันประกอบกัน ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้

เพราะความรู้บวกความใฝ่ฝัน คือ อำนาจของประชาชน
แต่ทว่ามีหลักประกันอะไรว่า ความรู้และความใฝ่ฝันดังกล่าวจะสร้างสรรค์อนาคตที่เราปรารถนาได้จริง?

ไม่มี

เพราะการสร้างอนาคตที่เราปรารถนาเป็นเรื่องของความศรัทธาและมุ่งมั่น ไม่ใช่เส้นทางสัจธรรมที่กำหนดไว้ล่วงหน้าโดยศาสดาใดหรือวิทยาศาสตร์สังคมสำนักไหน

ศรัทธาและความมุ่งมั่นเป็นเรื่องของมนุษย์ผู้ต้องการสร้างประวัติศาสตร์ มีมนุษย์เช่นนั้นอยู่ในโลกนี้หรือ?
มี และมีอยู่ในสังคมไทยไม่น้อยเลย

วีรชน 14 ตุลา เมื่อปี 2516 คือตัวอย่างของมนุษย์ผู้สร้างประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยด้วยความศรัทธาและมุ่งมั่นในความรู้และความใฝ่ฝันของเขาตั้งแต่เมื่อ 32 ปีก่อน
14 ตุลา เป็นโอกาสพิเศษ ที่เราทั้งหลายมารำลึกถึงความยิ่งใหญ่งดงามของประชาชนสามัญธรรมดา ผู้สร้างประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทยด้วยความศรัทธา และมุ่งมั่นในความรู้และความใฝ่ฝันของเขาตั้งแต่เมื่อ 32 ปีก่อน

ขอน้อมรำลึกถึงวีรชนทุกท่านด้วยบทเพลงอันจะเป็นอมตะคู่ดวงวิญญาณของท่านตลอดไป

...โอ้วีรชนแห่งเดือนตุลา ร้อยมวลบุปผาร่วมสดุดี
เทิดวีรกรรมสู้เพื่อศักดิ์ศรี สิทธิเสรีประชาธิปไตย
...ใจ อาจหาญชาญชัย มิยอมก้มให้อำนาจอธรรม
เส้นทางขวางด้วยขวากหนาม ร้อยภัยคุกคามเจ้ายังมุ่งไป
...ใจเจ้านั้นโบยบิน สู้เพื่อแผ่นดินถิ่นเจ้าเกิดกาย
หยัดยืนฝืนอันตราย ชีพเจ้ามลายฝากไว้ความดี
… ดิน ถิ่นฝังเรือนกาย ที่มอดมลายเป็นเถ้าธุลี
และฟ้ายังต้องเปลี่ยนสี ร่วมสดุดีวีรชน

(สดุดีวีรชน โดย กิตติพงษ์ บุญประสิทธิ์ - ตี้ กรรมาชน)

++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ
(1) ขอขอบพระคุณธนาพล ลิ่มอภิชาต ธนาพล อิ๋วสกุล และประจักษ์ ก้องกีรติ ในการช่วยค้นคว้าและจัดทำต้นฉบับของบทความนี้

(2) คำของประจักษ์ ก้องกีรติ ใน และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ. ผู้เขียนใช้คำว่า "ราชาชาตินิยมใหม่" สำหรับอุดมการณ์ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม ที่เน้นความเป็นนักประชาธิปไตยของกษัตริย์ แต่ในที่นี้ เราจะไม่พิจารณาถึงชาตินิยมเลยจึงขอใช้คำของประจักษ์ซึ่งสื่อความได้ตรงกับที่ต้องการในที่นี้ดีกว่า

(3) คำว่า "กษัตริย์นิยม" มาจาก royalism, royalist เป็นคำที่ใช้กันมานานแล้วในสังคมไทย เพียงแต่ไม่ค่อยปรากฏในระยะหลัง หมายถึงผู้นิยมระบบการเมืองที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจมาก (มากแค่ไหนแล้วแต่กรณีและยุคสมัย) คนกลุ่มนี้อาจมียศฐาบรรดาศักดิ์หรือเป็นสามัญชนก็ได้ ผู้เขียนมิได้ผลิตคำนี้เอง แต่ใช้ตามที่ใช้กันมาก่อน

(4) ธงชัย วินิจจะกูล, "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม"ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 23, ฉบับที่ 1 (พ.ย. 2544): 56-65.

(5) Matthew Copeland, "Contested Nationalism and the 1932 Overthrow of the Absolute Monarchy in Siam," Ph.D. thesis, Australian National University, 1994.

(6) ดู ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543), บทที่ 4 และ 5

(7) ดู ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548), น. 99-134, 464-514 โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวความคิดกษัตริย์นิยมประชาธิปไตยในหมู่ปัญญาชนเสรีนิยมแม้กระทั่งฝ่ายซ้ายบางคน

(8) สยามนิกร 16 ม.ค. 2492

(9) Benedict Anderson, "The Studies of Thai State: the State of Thai Studies," in Elizer B. Ayal ed., The Study of Thailand, (Athens, Ohio: Ohio University, Center for International Studies, 1979), pp. 193-247. ดูฉบับแปลภาษาไทยใน ฟ้าเดียวกัน 1, 3 (ก.ค.- ก.ย. 2546), น. 99-147

(10) ดู สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ เมืองไทย และ ชั้น ของชาวสยาม, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2546), น. 141-179

(11) พระองค์เจ้าธานีนิวัต ทรงมีบทบาทสำคัญในอภิรัฐมนตรีสภา ซึ่งขัดขวางความพยายามของรัชกาลที่ 7 ในการที่จะ "ปฏิรูป" การเมืองไทย พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ที่ปราดเปรื่อง ในระยะที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมถอยร่นในช่วงสมัยแรกของจอมพล ป. พระองค์ท่านเก็บตัวทำงานวิชาการอยู่เงียบๆ บทบาทสำคัญต่อมาคือ ทรงเป็นพระอาจารย์ที่ถวายการอบรมตระเตรียมยุวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์เพื่อขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์เจ้าธานีฯ ทรงรับหน้าที่นี้หลายปีต่อมา กระทั่งพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันทรงมีวุฒิภาวะ พระองค์เจ้าธานีฯ ยังเป็นประธานองคมนตรีหลังจากที่สมเด็จฯ กรมขุนชัยนาทฯ สิ้นพระชนม์

(12) บทความนี้ตีพิมพ์ใน Journal of Siam Society, 36:2 (1947) ในที่นี้อ้างอิงฉบับตีพิมพ์ซ้ำใน Collected Articles by H.H. Prince Dhani Nivat, (Bangkok: the Siam Society, 1969), pp. 91-104. มีคนอ่านบทความนี้จริงๆ กี่คนไม่ใช่ปัญหา เพราะ ความสำคัญอยู่ที่นำเสนออุดมการณ์ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ของฝ่ายกษัตริย์นิยมอย่างเป็นระบบ เป็นความคิดรวบยอดของวาทกรรมและการปฏิบัติจำนวนมาก

(13) เห็นได้ชัดว่านี่คือฐานทางภูมิปํญญาของ Tongnoi Tongyai, "The Role of the Monarchy in Modern Thailand," in Pinit Ratanakul ed. Development, Modernization and Tradition in Southeast Asia ฺ (Bangkok: Mahidol University, 1990; ของวิทยานิพนธ์ของธงทอง จันทรางศุ พ.ศ. 2529, และของหนังสือ พระราชอำนาจ โดยประมวล รุจนเสรี และความเห็นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน รวมทั้งบทความของศรีศักร วัลลิโภดม ใน มติชน เมื่อ 23 ก.ย. 2548 ที่ผ่านมานี้เอง ทั้งหมดอ้างถึงรัฐธรรมนูญตามวัฒนธรรมประเพณีไทยที่สอดคล้องกับสังคมไทยกว่ารัฐธรรมนูญทางการซึ่งเป็นของนอก ทั้งหมดอ้างถึงพระราชอำนาจตามประเพณีซึ่งมิได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ (ของนอก) ธงทองเสนอว่านี่เป็นพระราชอำนาจตามธรรมชาติของพระมหากษัตริย์ ประมวลเสนอว่า ดังนั้นพระองค์จึงทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ (ของนอก)

(14) ต้นแบบความเข้าใจนี้ คือ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526) จากนั้น มีผู้ใช้ตามอีกมาก รวมทั้งประจักษ์ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ. แม้กระทั่งสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2534) ซึ่งศึกษายุคหลัง 2490 โดยตรง ก็เน้นที่กลุ่มทหารบกและความขัดแย้งกับปรีดี สุธาชัยอภิปรายถึงกลุ่มนิยมเจ้า 2-3 ครั้ง แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญนัก (น. 52, 100, 102-103) มาให้ความสนใจมากขึ้นเมื่ออธิบายถึงรัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ถึงกับกล่าวว่าเป็นการ "ถวายพระราชอำนาจคืน" (น.110) กลุ่มนิยมเจ้าในที่นี้ หมายถึง นักการเมืองสำคัญ เช่น พี่น้องตระกูลปราโมช

(15) Bangkok Post, 7 May 1949 แต่ยังไม่ใช่การประกอบพระราชพิธีที่ท้องสนามหลวง

(16) Bangkok Post, 3 June 1949

(17) ชนิดา ชิตบัณฑิตย์, "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถปนาพระราชอำนาจนำ (พ.ศ. 2494-2546)" (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตทางมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547) ถือเอาการเสด็จนิวัติในปี 2494 เป็นหลักหมายว่า สถาบันกษัตริย์เริ่มเข้มแข็งขึ้น อันที่จริงการเสด็จนิวัติเกิดขึ้น ณ จุดตกต่ำอีกครั้งของฝ่ายกษัตริย์นิยม แต่หากถือว่าเป็นจุดเริ่มของการรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์ให้เข้มแข็งอีกครั้ง หลังถูกลดทอนอำนาจฉับพลัน 3 วันก่อนหน้านั้นก็ย่อมถูกต้อง

(18) ผู้เขียนจะอธิบายต่อไปว่า แรงสนับสนุนจากประชาชนที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ ไม่ใช่พลังประชาชนที่มีการรวมตัวจัดตั้ง

(19) ดูคำอธิบายของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลในประเด็นทำนองเดียวกันนี้ ใน การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2548), น.56-67.

(20) เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, การเมืองภาคประชาชน, น.19-28

(21) สายชล สัตยานุรักษ์, "สองร้อยปีวัฒนธรรมไทย และความยุติธรรม" (เวบไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน) อธิบายได้ดีเกี่ยวกับความคิดเรื่องความยุติธรรมตามวัฒนธรรมไทย

(22) ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, "สิทธิคนไทยในรัฐไทย," จินตนาการสู่ปี 2000: นวกรรมเชิงกระบวนทัศน์ด้านไทยศึกษา (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2539, น. 179-233.

(23) น่าคิดว่า การศึกษาเพื่อเข้าใจหลักการเรื่องสิทธิของเสียงข้างน้อย (minority right) ดูเหมือนจะยังไม่เคยมีขึ้นในสังคมไทยเลย สิทธิของเสียงข้างน้อยมิใช่แค่เรื่องของวัฒนธรรมหรือความเคารพใส่ใจต่อกัน แต่เป็นมาตรการรูปธรรมทางการเมืองและในทางกฎหมายด้วย เพื่อปกป้องความแตกต่างอันละเมิดมิได้ และเพื่อเป็นหลักประกันว่าสังคมจะไม่สุดขั้วจนเหลือมิติเดียว ไม่ว่าในเรื่องใดๆ

(24) ผู้เขียนขอเสนอว่าคำว่า "ปัญหาปัตตานี" มีนัยที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายในความขัดแย้ง และเป็นธรรมทั้งต่ออดีต ปัจจุบัน และอนาคตใดๆ ที่จะตามมา มากกว่าคำอื่นๆ ที่ใช้กันทั่วไป ไม่ว่า "ปัญหาโจรใต้" "ปัญหาชายแดนภาคใต้" ฯลฯ แต่ผู้เขียนขอไม่อภิปรายในที่นี้

(25) ธงชัย วินิจจะกูล, "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม," อ้างแล้ว, น. 58-61

(26) นี่คือประเด็นสำคัญของ "เรื่องราวจากชายแดน: สิ่งแปลกปลอมต่อตรรกทางภูมิศาสตร์ของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย," ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 23, ฉบับที่ 12 (ต.ค. 2545):70-83; พิมพ์ซ้ำใน รัฐปัตตานี ในอาณาจักรศรีวิชัย, สุจิตต์ วงษ์เทศ บ.ก. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2545), น. 2-30

(27) แม้กระทั่งยามที่การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเฟื่องฟูเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ก็ไม่มีการศึกษาประวัติศาสตร์ปัตตานี อาจเป็นเพราะว่าประวัติศาสตร์ปัตตานีไม่เข้ากับกรอบ "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น" แบบที่เน้นความสัมพันธ์อันดีกับกรุงเทพฯ ดู Thongchai Winichakul, "The Changing Landscape of the Past: New Histories in Thailand Since 1973," Journal of Southeast Asian Studies 26, 1 (1995): 110-114.

(28) ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ส่งผลมากต่อปัญหาปัตตานี ทว่าคนในสังคมไทยนึกไม่ถึง และขอไม่อภิปรายในที่นี้ คือ การแข่งขันช่วงชิงการนำระหว่างอำนาจต่างๆ ในสังคมไทยตามที่กล่าวมาในภาคแรก ดู Duncan McCargo, "Understanding Conflicts in the Thai South through Domestic Politics", paper presented at the 9th International Conference on Thai Studies, Northern Illinois University, April 2005.

(29) เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, การเมืองภาคประชาชน, น.143-199


 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

ประชาธิปไตยคือวิถีทางยั่งยืนเพื่อให้ประชาชนปะทะขัดแย้งกันอย่างสันติ ให้สังคมปรับตัวท่ามกลางสภาวการณ์ใหม่ๆ ด้วยการยอมให้ความแตกต่างหลากหลายดำรงอยู่ร่วมกัน แล้วค่อยๆ ตัดสินใจเลือกทางเดินที่คนส่วนใหญ่พอใจโดยไม่ต้องทำลายทางเลือกอื่นๆ ...
ประชาธิปไตยมิใช่หมายถึง การยกย่องเชิดชูอย่างเพ้อฝันว่าประชาชนถูกต้องเสมอ ฉลาด มีภูมิปัญญาเป็นเลิศ แต่เราต้องมั่นคงกับหนทางที่ให้ประชาชนมีอำนาจตัดสินทางเลือกของตนไม่ว่าจะฉลาดหรือด้อยปัญญาก็ตามที การสกัดกั้นทำลายอำนาจของประชาชน หรือทำให้หลงใหลความเอื้ออาทรของรัฐ หรือขัดขวางหรือไม่ส่งเสริมให้ประชาชนสร้างอำนาจของตนขึ้นมา ไม่ว่าจะฉลาดหรือด้อยปัญญาก็ตามที จึงเป็นการบ่อนทำลายหนทางประชาธิปไตยขั้นรากฐานที่ต้องยุติ ...

R
related topic
291048
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ประชาธิปไตยไม่ฝากความหวังกับคุณพ่อรู้ดีไม่ว่าประเภทใด ถ้าเราต้องการสร้างอำนาจของประชาชนให้เข้มแข็ง ย่อมไม่ควรหวังพึ่งพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ย่อมไม่ควรหวังพึ่งพลังทุนเหลิงอำนาจ เพราะการหวังพึ่งพลังเหล่านั้นทำให้การสร้างอำนาจของประชาชนไม่รู้จักโต