นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

ความรุนแรงและการข่มขืนผู้หญิง ในนามของรัฐชาติ
พรมแดน รัฐชาติ และเส้นทางการต่อสู้ของผู้หญิงพลัดถิ่น
ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความเพื่อความรู้และความเข้าใจปัญหาชายขอบและผู้หญิงพลัดถิ่น

หมายเหตุ
การสร้างความจำนนให้กับร่างกายของผู้หญิง
ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสร้างชาติในพม่า ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างชอบธรรม
ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด หากแต่เป็นส่วนหนึ่งในปฏิบัติการทางการทหารของพม่ามานานแล้ว

บทความนี้จะเผยให้เห็นความรุนแรงดังกล่าวอย่างชัดเจน


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 712
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)

English version (Click)
ผู้สนใจข้อมูลภาษาอังกฤษ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่ (Click)


บทนำ

ในขณะที่ชุมชนโลกในศตวรรษที่ 21 กำลังพากันเฉลิมฉลอง มิติใหม่ของสังคมโลก ที่การเคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วของสังคม ได้หลอมรวมโลกเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านการเคลื่อนไหว เคลื่อนย้าย ตัดข้ามพรมแดนที่ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เคยทำหน้าที่ในการกั้นขวางความสัมพันธ์ระหว่างกันของประเทศ ประชาคมโลกต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับวลี "โลกไร้พรมแดน" พร้อมทั้งการปรับท่าทีใหม่ของรัฐชาติที่เริ่มผ่อนปรน ความแข็งกระด้างของความเป็นชาติ หันมาสนับสนุนการเชื่อมโยง มากกว่าขัดขวาง การเอื้ออำนวย มากกว่าการแบ่งแยก และส่งเสริมความหลากหลาย ความเป็นพหุนิยม มากกว่าการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ

แต่ก็น่าแปลกที่ ในท่ามกลางภาวะดังกล่าว รัฐชาติแบบเก่าและล้าหลัง กลับยังคงปรากฏ และยืนยงคงกะพัน ไม่ได้ล้มหายตายจากไปได้ง่ายๆ รัฐชาติประเภทนี้ ยังคงพยายามสืบทอดเจตจำนงในการผูกขาดการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ การเบียดขับพวกที่แตกต่าง การแยกพวก การกดขี่ และ การเพียรสร้างความแปลกหน้าให้กับพลเมืองของตน อย่างไม่หยุดหย่อน

แน่นอนที่ว่า หนึ่งในบรรดารัฐชาติล้าหลังเหล่านี้ คือ รัฐแห่งสหภาพพม่า
น้อยคนในสังคมไทย จะตระหนักรู้ หรือกระทั่งสนใจว่า การหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย และการหนีตายของพลเมืองจากประเทศพม่ามายังประเทศไทย(1) เป็นผลพวงโดยตรงของกระบวนการสร้างและธำรงความเป็นชาติแบบเก่าและล้าหลังของรัฐบาลทหารพม่า(2) ที่มุ่งสร้างความเป็นใหญ่ของชนชาติพม่า (Burmanization) ขึ้นเหนือกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ตลอดจนกดขี่ข่มเหงประชาชนของตนเอง ทั้งชาวพม่า และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

ในขณะที่ความไม่อินังขังขอบและมุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงถ่ายเดียวของรัฐไทย กลับเป็นส่วนสำคัญที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับแสนยานุภาพของรัฐล้าหลังดังกล่าว ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ในขณะที่ รัฐไทย เลือกเปิดเสรีตามแนวทาง "โลกไร้พรมแดน" ให้แก่นักท่องเที่ยว นักลงทุนข้ามชาติ และกลุ่มธุรกิจผู้มีอำนาจต่างๆ พลเมืองผู้ถูกทำให้กลายเป็นคนแปลกหน้าโดยรัฐบาลทหารพม่า เมื่อข้ามพรมแดนมายังไทย ก็ถูกปฏิบัติโดยรัฐไทยด้วยวิธีการล้าหลังที่ไม่แตกต่างไปจากกันนัก ภายใต้นโยบายแยกพวก เบียดขับ จำกัดสิทธิ และแขวนไว้ภายนอกโครงสร้างสังคมไทย(3) อันเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทย รับรู้ชีวิตและการดิ้นรนต่อสู้ของคนพลัดถิ่นดังกล่าว เพียงด้วยวลี/วาทกรรมแคบๆ ว่าด้วย "แรงงานต่างด้าว" ที่เอาแต่ "สร้างปัญหา" หรือมิเช่นนั้นก็ "แย่งงาน" คนไทยเท่านั้น

ชีวิตที่เปลือยเปล่า ความแปลกแยก และความรุนแรงของรัฐชาติแบบเก่า

เมื่อตอนที่อยู่ในพม่า เป็นคนไทใหญ่ มักถูกดูถูก เป็นพลเมืองชั้นสองในสายตาของรัฐพม่า มาอยู่ในเมืองไทย ฉันกลับได้รับบัตรผู้อพยพสัญชาติพม่า ไม่มีที่ไหนเลยที่ยอมรับความมีอยู่ของคนไทใหญ่ ฉันจึงเริ่มคิดว่า ทำอย่างไร เราจึงจะสามารถมีชาติของตัวเอง ที่มีศักดิ์ศรีของตัวเองได้" ผู้หญิงไทใหญ่ ณ หมู่บ้านชายแดนไทย-พม่า

สงครามในพม่าได้ให้อภิสิทธิ์แก่กองทหารพม่าในการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อ
ผู้หญิงต่างชาติพันธุ์โดยไม่ต้องรับโทษทัณฑ์… ความรุนแรงทางเพศถูกใช้เพื่อ
วัตถุประสงค์หลายประการ ตั้งแต่สร้างความหวาดกลัวให้กับชุมชนท้องถิ่นเพื่อ
บังคับให้ยอมจำนน ไปจนถึง [การใช้ร่างกายของผู้หญิง] เป็นที่แสดงแสนยานุภาพของกองทัพ [พม่า] ต่อผู้หญิงของชนชาติศัตรู เพี่อเป็นการดูหมิ่นและเหยียดหยามพวกกองกำลังต่อต้าน และบำเหน็จรางวัลให้กับกองทัพในสงคราม
จากใบอนุญาตข่มขืน, SWAN และ SHRF


เราไม่มีไร่นาอีกแล้ว ทหารพม่าริบเอาทรัพย์สินเราไปหมด ที่โน่นเราไม่สามารถหา
รายได้ให้เพียงพอที่จะยังชีพได้ งานก็ไม่พอตลอดปี ที่นี่ดีกว่าในประเทศพม่า
ค่าจ้างยังเพียงพอที่จะอยู่ได้ เราอยู่ที่นี่เกือบหนึ่งปีแล้ว เราจะไม่กลับไป เราไม่รู้ว่าจะหากินอย่างไรเมื่อกลับไป
อ้างในกฤตยา อาชวานิชกุล ทริส โคเอทท์ และนิน นิน ไพน์(2543: 84)

หากพรมแดน เปรียบเสมือนบทจารึกทางประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของผู้คน ข้ามเส้นแบ่งของความเป็นรัฐชาติ บทจารึกข้ามพรมแดนของผู้หญิงพลัดถิ่นจากพม่า กลับเปี่ยมไปด้วยความทรงจำของความรุนแรงที่รัฐชาติกระทำต่อผู้หญิงสามัญชน ความขัดแย้งอันน่าขมขื่นประการหนึ่ง ในความสัมพันธ์ระหว่างชาติ รัฐชาติและประชาชนก็คือ ชาติที่อบอุ่นนั้น มีไว้เพียงสำหรับ "คนในชาติ"เท่านั้น สำหรับ "คนนอก" แล้ว การถูกทำร้ายโดยชาติ กลับเป็นกลายเป็นประสบการณ์สามัญของชีวิตประจำวัน และในบรรดาประสบการณ์เหล่านี้ ผู้หญิง กลับเป็นผู้ที่ถูกกระทำทารุณ มากที่สุด

การเดินทางข้ามพรมแดนของผู้หญิงพลัดถิ่นจากพม่า จึงไม่ได้เพียงเป็นเรื่องราวของผู้หญิงที่ต้องการเข้ามาหางานทำ ในประเทศที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจมากกว่าเท่านั้น แต่กลับได้แบกเอาความทรงจำอันโหดร้ายมาตลอดเส้นทาง

จากการสัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้หญิงพลัดถิ่นที่เดินทางมาจากพม่า ในระหว่างเดือนมกราคม 2544 ถึงมีนาคม 2545 โดย หน่วยงานที่ทำงานกับผู้พลัดถิ่นจากพม่า คือ เครือข่ายผู้หญิงไทใหญ่ (SWAN) และ มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF) อันเป็นที่มาของรายงานใบอนุญาติข่มขืน (Licence to Rape) ได้พบข้อมูลอันน่าสลดใจว่า ผู้หญิงที่ให้สัมภาษณ์จำนวน 173 คน ได้บอกเล่าเรื่องราวของการถูกทารุณกรรมทางเพศ ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานกว่า 5 ปี (2539-2545) โดยทหารพม่า ซึ่งกระทำต่อผู้หญิงและเด็กสาวชาวไทใหญ่จำนวน 625 คน โดยในแทบทุกกรณีเป็นการข่มขืนต่อหน้ากองทหารพม่า

วิธีการข่มขืนเป็นไปอย่างโหดร้ายและทารุณ โดยเหยื่อกว่า 25 % เสียชีวิตจากการข่มขืน ในขณะที่ 61% ถูกข่มขืนรวมหมู่ จำนวนไม่น้อยของเหยื่อเหล่านี้ถูกกักขังเพื่อการข่มขืนต่อเนื่องในตลอดช่วงเวลาที่กองทหารพม่าประจำการอยู่ บางรายเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 เดือน พื้นที่ของการข่มขืนส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณตอนกลางของรัฐไทใหญ่ ที่ซึ่งชาวบ้านกว่า 300,000 คนถูกใช้กำลังบังคับให้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในพื้นที่รองรับการอพยพนับแต่ปี 2539 เป็นต้นมา

การข่มขืนจำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้หญิงและเด็กออกเก็บหาอาหารนอกพื้นที่รองรับการอพยพ ขณะเดียวกัน การข่มขืน ยังเกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้หญิงถูกบังคับให้เป็นแรงงานแบกของโดยไม่มีค่าตอบแทนให้กับทหารพม่า และในจุดตรวจต่างๆที่ทหารพม่าประจำการอยู่ (SHRF and SWAN 2002)

การสร้างความจำนนให้กับร่างกายของผู้หญิง ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสร้างชาติในพม่า ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างชอบธรรม ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด หากแต่เป็นส่วนหนึ่งในปฏิบัติการทางการทหารของพม่ามานานแล้ว ในการปราบปรามกองกำลังกบฏกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆนับแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ (Apple 1998) ดังที่ Betsy Apple ผู้เขียนหนังสือ โรงเรียนแห่งการข่มขืน กองทัพพม่าและความรุนแรงทางเพศ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า…

การข่มขืนจำนวนมาก เป็นผลพวงมาจากการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบของทหารพม่า ในการใช้การข่มขืนเป็นเครื่องมือสำคัญในปฏิบัติการล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่การข่มขืนหญิงในกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ นอกเหนือจากไทใหญ่ ก็ปรากฏอย่างกว้างขวาง แม้ในบริเวณที่มีข้อตกลงหรือสัญญาหยุดยิงก็ตาม

ร่างกายของผู้หญิงในบริบทดังกล่าว ได้ถูกทำให้เป็นสนามแห่งความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และเครื่องมือแห่งการสื่อสารอันทรงพลัง เพื่อส่งความหมายของความเหนือกว่ารัฐชาติพม่า และชัยชนะ เหนือชาติพันธุ์อื่นๆ ในสนามแห่งสัญญะดังกล่าว ความเป็นอื่นทางชาติพันธุ์จึงได้ถูกจินตนาการขึ้น ถูกเหยียดหยาม ดูหมิ่น และถูกบดขยี้ให้พ่ายแพ้ ย่อยยับลง

สำหรับผู้หญิงต่างชาติพันธุ์ในพม่าแล้ว ความเจ็บปวดไม่ได้เพียงมาจากเหตุการณ์และความทรงจำที่มีต่อความรุนแรงทางเพศเท่านั้น หากแต่ยังมาจากการที่ไม่สามารถจะทำความเข้าใจได้ว่า เหตุใด ร่างกายของตนเอง จึงถูกกระทำ และต้องกลายมาเป็นสมรภูมิแห่งความรุนแรงของรัฐ (topography of state's violence)

ในบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ The Nation เหยื่อของการข่มขืนรายหนึ่งที่รอดชีวิตจากการข่มขืนอันทารุณ และได้ลี้ภัยเข้ามาอยู่ในไทย ได้พยายามตอบคำถามของนักข่าว ที่ถามเธอถึงความคิดเห็นของเธอต่อสาเหตุที่ทหารพม่ากระทำทารุณกรรมต่อเธอ ครอบครัวของเธอ และผู้หญิงไทใหญ่คนอื่นๆ ว่า

"ฉันเคยได้ยินเรื่องราวของการต่อสู้ระหว่างกองทัพไทใหญ่และกองทัพพม่า หลายปีมาแล้ว ในตอนนั้น ทหารไทใหญ่ได้สังหารทหารพม่า 6 คน และได้ยินมาว่า ทหารพม่าต้องการที่จะล้างแค้น" (The Nation 8/23/2002) แต่เหตุใดเล่า การล้างแค้นจึงได้มาลงเอยที่ผู้หญิงสามัญชนธรรมดาเช่นเธอ และร่างกายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดเลยกับความขัดแย้งทางการเมือง และอยู่ห่างไกลจากเวทีแห่งการสู้รบ เธอเองกลับไร้ซึ่งคำตอบ

ความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงพลัดถิ่น กลับไม่ได้สิ้นสุดลง ณ พรมแดนที่พวกเธอข้ามมา เพียงเท่านั้น แต่เรื่องเล่าของการถูกทำร้าย กลับยังคงดำเนินต่อไป โดยได้เปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนพื้นที่ จากหมู่บ้านชายแดนในพม่า มาเป็น สวนส้ม โรงงาน ในบ้าน สถานก่อสร้าง สถานีตำรวจ โดยที่เปลี่ยนตัวละคร จากทหาร มาเป็นนายจ้าง(4) และเจ้าหน้าที่รัฐไทย ชีวิตที่อยู่นอกรัฐชาติ ของผู้หญิงพลัดถิ่นเหล่านี้ ที่ถูกปฏิเสธทั้งจากรัฐชาติที่จากมา และรัฐชาติที่ตนได้เข้ามาอาศัยร่มโพธิ์ร่มไทรในผืนแผ่นดินไทย กลับยังคงเป็นชีวิตอันเปลือยเปล่า(5) ขาดเกราะคุ้มครอง ป้องกัน ไร้หลักยึด และไร้ซึ่งสิทธิทั้งปวงที่พลเมืองพึงมี เป็นชีวิตที่ยังคงอยู่ด้วยความหวั่นวิตก หลบซ่อน เต็มไปด้วยความเสี่ยงต่อการถูกกระทำ ถูกคุกคาม และทารุณกรรม โดยไม่อาจร้องขอ หรืออุทธรณ์ ให้ใครช่วยเหลือได้

บนเส้นทางการต่อสู้

คำขอร้องประการหนึ่งของฉันคือ ขอให้ประเทศไทยได้ยินยอมให้ชาวไทใหญ่
ที่ลี้ภัยเข้ามาในไทยสามารถที่จะตั้งค่ายผู้อพยพของตนเองได้ ภายใต้การสนับสนุนของ องค์การข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees)
สมาชิกเครือข่ายผู้หญิงไทใหญ่

คนไตที่อยู่ที่เดิมอาจจะไม่ได้ต้องการกลับไปอยู่ที่รัฐฉานอีก คนเฒ่าคนแก่ไม่ได้อยากกลับไปกับพวกเขา ก็ถือเป็นคนไทยเรานี่แหละ แต่ว่า การเรียกร้องเอกราชของคนไตนอก(6)
ก็เพื่อให้คนไตด้วยกันไปมาหาสู่กันได้ ให้คนอยู่เมืองนอกตรงนั้น เขาอยู่อย่างสุขสบาย
สุนันตา บ้านแม่อายหลวง อ้างในอรัญญา ศิริผล (2548)

สำหรับผู้หญิงพลัดถิ่นแล้ว การต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด และประตูที่ปิดตายของรัฐชาติ ทั้งไทยและพม่า ที่กรอบคิดเรื่องความเป็นชาติ ยอมรับแต่เพียงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติพันธุ์และวัฒนธรรม โดยไม่เหลือที่ทางให้กับพหุลักษณะของสังคมแม้แต่น้อย ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้หญิงพลัดถิ่น จึงจำเป็นต้องเลือกเส้นทางในการต่อรอง และต่อสู้ ที่หลากหลาย เพื่อขยายความหมายของความเป็นพลเมือง ที่กินความกว้างกว่าแนวคิดเรื่องสัญชาติ และความเป็นประเทศ

การรวมตัวกันขององค์กรพลัดถิ่นทั้งหลาย ตลอดจนการเริ่มต้นรณรงค์ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า เช่น รายงานใบอนุญาติข่มขืน (Licence to Rape) ของเครือข่ายผู้หญิงไทใหญ่ และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2545 เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของความพยายามในการให้การศึกษาแก่สาธารณะ ถึงชะตากรรมของผู้หญิงต่างชาติพันธุ์ และการกระทำทารุณกรรมที่เป็นส่วนสำคัญของการสร้างฐานอำนาจของรัฐเผด็จการทหารพม่า

ทั้งนี้ ภาวะทวิชายขอบของผู้หญิงเหล่านี้ ที่เป็นทั้งชาติพันธุ์ส่วนน้อย และเป็นทั้งผู้หญิง ชายขอบสองประเภทของสังคมที่ไม่เคยมีสิทธิมีเสียงใดๆ ได้ทำให้การต่อสู้ของพวกเธอ เต็มไปด้วยอุปสรรค และอันตราย(7) หากแต่ผลสะเทือนที่สำคัญของความกล้าหาญของผู้หญิงเหล่านี้ กลับได้ช่วยเปิดพรมแดนของการรับรู้ ทำให้ประชาคมโลก ได้ตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาการกดขี่ และทารุณกรรม ที่รัฐบาลล้าหลังของพม่า กระทำต่อพลเมืองของตนเอง และเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพม่า

สำหรับสังคมไทย ความพยายามของผู้หญิงพลัดถิ่นเหล่านี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการรับรู้ของรัฐไทย และของสังคมไทยโดยรวม ที่มักจำกัดทรรศนะของตน ที่มีต่อผู้พลัดถิ่นจากพม่า แต่เพียงในฐานะของแรงงานผิดกฎหมาย ที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เป็นตัวผลักดันให้เธอเหล่านี้ เข้ามาหางานทำในไทยเท่านั้น

การต่อสู้ของผู้หญิงพลัดถิ่นเหล่านี้ ได้พยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่า การข้ามพรมแดนมาอย่างไม่ขาดสาย และทวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆของผู้พลัดถิ่นจากพม่า เกี่ยวเนื่องโดยตรง กับกระบวนการใช้ความรุนแรงทางเพศ และการสืบทอดอำนาจของรัฐแบบเก่าในพม่า อันเป็นภาวการณ์ซึ่งมีแต่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยที่นโยบายที่มีอยู่ของรัฐไทยในการออกบัตรและลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว ไม่ได้มีส่วนช่วยให้เข้าใจปัญหา หรือทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นแต่อย่างใด

แม้ว่า การกระทำทารุณกรรมต่อชาวไทใหญ่โดยรัฐบาลทหารพม่า จะดำเนินมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ซึ่งก่อให้เกิดคลื่นการอพยพของผู้คนอย่างไม่ขาดสาย รัฐไทยก็ยังคงปฏิเสธที่จะยินยอมให้ชาวไทใหญ่สามารถมีค่ายผู้ลี้ภัยของตนเองได้ จวบจนปัจจุบัน ผู้หญิงพลัดถิ่นชาวไทใหญ่ จำนวนไม่น้อย จำเป็นที่จะต้องแสวงหาทางออกเพื่อการอยู่รอดในสังคมไทย ด้วยทางเลือกอื่นๆที่ตนมีอยู่ ไม่ว่าจะด้วยการสร้างเครือข่ายการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่เครือญาติ การพยายามในการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนไทใหญ่ที่มีอยู่ หรือกระทั่งสร้างชุมชนของตนเองขึ้นมา

ผู้พลัดถิ่นเหล่านี้ ไม่ได้มองตัวเองเป็นเพียงแค่ "แรงงานต่างด้าว" อย่างที่รัฐได้จำกัดความไว้ให้ หากแต่เป็น สมาชิกที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตให้กับสังคมไทย จำนวนไม่น้อยของคนเหล่านี้ หนีมาจากพม่ามาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ซึ่งนานพอที่ลูกหลานของพวกเขาได้เกิด เติบโต และอาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย แต่ความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อสังคมไทย กลับไม่ได้ช่วยให้พวกเขาหลุดจากสภาพ "คนไร้รัฐ" ไปได้เลยแม้แต่น้อย

หนทางที่ทอดยาว
ผู้หญิงนักเคลื่อนไหวท่านหนึ่ง ได้เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชาติและ ผู้หญิงนั้นแปลก ที่แม้ว่าในทางหลักการแล้ว ผู้หญิงควรจะเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ของชาติ แต่ในประสบการณ์ที่เป็นจริงแล้ว เราจะพบว่า ผู้หญิงมักถูกเลือกปฏิบัติโดยชาติ (หรือที่จริง รัฐชาติ) ที่ทำให้บางครั้งพวกเธอก็ถูกรวมไว้เป็นคนในชาติ แต่บางครั้งกลับไม่ใช่(8)

ประสบการณ์ของผู้หญิงพลัดถิ่นจากพม่า เป็นเครื่องชี้ความลักลั่นอันนี้เป็นอย่างดี ที่ทารุณกรรมที่รัฐชาติกระทำต่อพวกเธอ และการเบียดขับพวกเธอออกจากสมาชิกภาพของสังคม กลายเป็นบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ที่ชาติมีต่อเธอ ความเป็นชนต่างชาติพันธุ์ ที่ไม่ใช่พม่า ได้กลายเป็นที่มาของความชอบธรรม ที่รัฐชาติสามารถทำร้ายพวกเธอได้ ในขณะเดียวกัน ความเป็นชนต่างชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ไทย ได้กลายเป็นที่มาของอัตลักษณ์ถาวร ของการเป็นแรงงานต่างด้าว ที่ไม่มีสิทธิเข้าถึงสวัสดิการหรือการยอมรับใดๆในสังคม

ในภาวะที่กดทับเช่นนี้ ผู้หญิงพลัดถิ่น ผู้ด้อยอำนาจ กลับไม่ได้ยอมจำนนเสมอไป ความพยายามในการต่อสู้กับทรรศนะคติอันจำกัด และกลไกรัฐอันล้าหลัง ในแง่หนึ่ง เป็นการพยายามเรียกร้องให้มีการขยายแนวคิดที่มีต่อความเป็นพลเมืองที่มีอยู่ เพื่อให้พ้นจากการยึดติดแต่เพียงเรื่องดินแดน อธิปไตย หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางวัฒนธรรม อันเป็นแนวคิดที่ไม่เพียงแต่เก่าและล้าหลัง แต่ยังเป็นที่มาของความชอบธรรมในการทำร้ายคนในชาติของรัฐ ไปสู่ แนวคิดว่าด้วยพลเมืองทางวัฒนธรรม ที่ซึ่ง การยอมรับความแตกต่างและหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม น่าจะเป็นส่วนสำคัญของ ความเป็นพลเมืองของชาติ

สำหรับรัฐบาลทหารพม่าแล้ว การต่อสู้ทางความคิดเช่นนี้ คงเป็นเส้นทางที่ยังคงยืดเยื้อ และทอดไปอีกยาวไกล แต่สำหรับสังคมไทย ความเป็นประชาธิปไตยของสังคม น่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ช่วยให้เกิดการทบทวน และปรับเปลี่ยนแนวคิดและทรรศนะคติ ที่มุ่งแต่จะสร้าง "ความเป็นอื่น" ให้กับผู้ที่ไม่ใช่ไทย มาสู่การเข้าใจ และยอมรับคนพลัดถิ่น ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมไทยให้มากยิ่งขึ้น

เชิงอรรถ

(1) การเดินทางข้ามพรมแดนผ่านเส้นทางต่างๆเข้ามาในไทยของชาวบ้านจากพม่า เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เส้นทางจำนวนมากเต็มไปด้วยความเสี่ยง ขณะเดียวกัน การหลบหลีกเจ้าหน้ารัฐในไทยในยุทธวิธีต่างๆก็เสี่ยงต่อชีวิต แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งกระแสการลี้ภัยจากพม่าลงได้

จากสถิติในช่วงปี พ.ศ.2545-2547 ลำพังบริเวณชายแดนอำเภอไชยปราการ ฝาง และแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ มีชาวไทใหญ่เดินทางจากเมืองต่างๆในรัฐไทใหญ่เข้าสู่ไทยปีละไม่น้อยกว่า 10,000 คน บางเดือนสูงถึง 1,000 คน โดยชาวบ้านเหล่านี้ มาจาก เมืองลายค่า เมืองนาย เมืองกึ๋ง เมื่องน้ำจั๋ง เมืองปั่น เมืองขุนหิ้ง เมืองปูโหลง ฯลฯ ซึ่งเป็นเมืองที่ทหารพม่ามักเข้าไปยึดเอาทรัพย์สินจากคนไทใหญ่ทั้งสิ้น (อรัญญา ศิริผล 2548 )

อย่างไรก็ตาม มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF) ได้ประมาณการตัวเลขของผู้อพยพที่เพิ่มสูงกว่าตัวเลขของทางการไทย โดย หลังจากมีนาคม 2539 เป็นต้นมา อันเป็นปีที่รัฐบาลทหารพม่าเริ่มนโยบายการอพยพโยกย้ายชาวบ้านในตอนกลางของรัฐไทใหญ่ มีชาวไทใหญ่ไม่น้อยกว่า 8,000 ถึง 15,000 คน หนีตายเข้ามาในไทย ซึ่ง 47% ของชาวบ้านเหล่านี้มีอายุอยู่ระหว่าง 17 ปีหรือต่ำกว่านั้น และ 45 ปี หรือสูงกว่านั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การอพยพดังกล่าว เป็นการหนีมาของทั้งครอบครัว ไม่ใช่การอพยพมาหางานทำแบบปกติ ทั้งนี้ ข้อค้นพบดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าความคิดของรัฐไทย หรือกระทั่งคนไทยทั่วไปที่มีต่อการอพยพของชาวไทใหญ่ ว่าเป็นเพียงมางานทำ จึงไม่ถูกต้องนัก (SHRF 2545)

(2) การใช้ความรุนแรงและกำลังทางทหาร นับเป็นคุณลักษณะของรัฐแบบเก่า ที่รัฐบาลพม่าใช้เป็นยุทธวิธีอย่างต่อเนื่อง โดยตัวอย่างของแนวทางดังกล่าว ได้แก่ นโยบายตัดสี่ (ตัดอาหาร ข่าว เงินทุน และกำลังคนของกองกำลังกู้ชาติทั้งหลาย) ที่ได้ดำเนินการมานับแต่ปี 2518 ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลทหารพม่าในการขยายแสนยานุภาพของตนไปยังพื้นที่ชายขอบทั้งหลาย ซึ่งได้นำมาซึ่งการทำลายพืชผล อาหาร ทรัพย์สิน การทรมานและสังหารผู้ต้องสงสัย การข่มขืน เฆี่ยนตี และการบังคับพลัดถิ่นภายในรัฐ ของชาวไทใหญ่จำนวนมาก

ได้มีการประมาณการว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2539 เป็นต้นมา ทหารพม่าได้ทำการบังคับโยกย้ายชาวบ้านไม่น้อยกว่า 1,400 หมู่บ้าน ในพื้นที่กว่า 7,000 ตารางไมล์ ในรัฐไทใหญ่ตอนกลาง ซึ่งยังผลให้ชาวไทใหญ่ไม่น้อยกว่า 300,000 คน ถูกบังคับให้อพยพออกจากบ้านเกิดของตน เข้าไปอยู่ในพื้นที่รองรับทางยุทธศาสตร์ ชาวบ้านเหล่านี้ ได้ถูกบังคับให้เป็นแรงงาน ในโครงการต่างๆของพม่า ขณะเดียวกัน ก็มีชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยที่พากันหลบหนี และลี้ภัยอยู่ในเขตป่า และอีกกว่าครึ่งล้านคนที่พากันหนีอพยพเข้ามาในไทย ที่ซึ่งสถานะภาพของผู้ลี้ภัยของชาวไทใหญ่ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทย

(3) รัฐไทยสร้างระยะห่าง และกีดกันผู้อพยพพลัดถิ่นจากพม่า ไว้อย่างเหนียวแน่น ด้วยระบบบัตรประจำตัวอันซับซ้อน สำหรับผู้อพยพเข้ามาในไทย โดยมีชนิดของบัตรไม่น้อยกว่า 20 ประเภทด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อจัดวางอัตลักษณ์อันแน่นอนให้กับ "คนต่างด้าว" ด้วยระเบียบการควบคุมอย่างเข้มงวด

สำหรับผู้อพยพที่มาจากพม่าแล้ว มีการถือบัตรประจำตัว อย่างน้อย 5 ประเภทด้วยกัน กล่าวคือ บัตรสีชมพู หรือ บัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ซึ่งอนุญาตให้ผู้ถือบัตรสามารถทำงานได้ แต่ต้องอยู่ในพื้นที่ควบคุมเท่านั้น และการออกนอกพื้นที่ต้องขออนุญาตทุกครั้ง และทำได้ไม่เกิน 6 วัน บัตรสีส้ม ผ่อนผันให้ทำงานได้ในพื้นที่ควบคุม บัตรสีม่วง หรือบัตรแรงงาน ผ่อนผันให้มีการจ้างงานได้ บัตรสีฟ้า หรือบัตรประจำตัวสำหรับบุคคลบนพื้นที่สูง ที่อนุญาตให้เดินทางภายในจังหวัดได้ แต่ข้ามเขตจังหวัดไม่ได้ และบัตรเขียวขอบแดง หรือบัตรประชาชนบนพื้นที่สูง ที่ห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกเขตอำเภอที่กำหนด

ระบบบัตรเหล่านี้ ไม่เพียงเพื่อควบคุมเสรีภาพในการเดินทางและทำมาหาเลี้ยงชีพของผู้อพยพ เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องเน้นย้ำ และยืนยัน ภาวะความเป็นคนไร้สัญชาติ ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ทั้งนี้สำหรับผู้พลัดถิ่นจำนวนไม่น้อย การถือบัตรเหล่านี้ กลับกลายเป็นความขมขื่นชนิดหนึ่ง ทั้งนี้เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ถาวร หรือเครื่องเตือนให้ระลึกถึงความจำของความเป็นคนต่างด้าวของตนเอง

(4) การถูกทำร้ายโดยนายจ้าง เป็นประสบการณ์ที่แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติของคนพลัดถิ่นจากพม่า กรณี สาวใช้ชาวกะเหรี่ยงที่ถูกทำร้ายโดยนายจ้างจนกะโหลกศีรษะร้าว ซึ่โครงหัก ต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน เป็นหนึ่งในตัวอย่างจำนวนมากของทารุณกรรมที่เกิดขึ้นกับคนพลัดถิ่นจากพม่าในสังคมไทย ความรู้สึกต่อความเป็น "คนอื่น" ของคนไทย สามารถพิจารณาได้จากระดับของความรุนแรง ของการกระทำ

(5) ดู Decha Tangseefa (2003) Imperceptible Naked-Lives and Atrocities: Forcibly Displaced Peoples and the Thai-Burmese In-between Spaces. Ph.D. Dissertation, University of Hawaii at Manoa.

(6) คนไทใหญ่หรือคนไต อาศัยอยู่ในเขตติดต่อระหว่างไทยและรัฐไทใหญ่มาเป็นเวลานาน และมีการติดต่อสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง แม้เมื่อมีการขีดเส้นพรมแดนระหว่างรัฐชาติไทยและพม่าเมื่อ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การปิดกั้นพรมแดน การเข้มงวดของรัฐต่อการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน และการเน้นความเป็นไทย ภายใต้ระบบสัญชาติของรัฐไทย เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ชาวไต เริ่มจัดแบ่งอัตลักษณ์ระหว่างกันด้วยพรมแดนของรัฐชาติ ไตนอก จึงเป็นคำที่คนไตในไทยใช้เรียกคนไทใหญ่ในฝั่งพม่า และที่อพยพเข้ามาในไทยใน 10-20 ปีที่ผ่านมา

(7) ผลพวงประการหนึ่งจากรายงานใบอนุญาติข่มขืน คือการถูกขู่ คุกคาม จนทำให้องค์กรที่รณรงค์ในเรื่องนี้ ต้องปิดสำนักงานลง เพื่อหนีภัยจากรัฐ

(8) Norma Alarc?n ใน Kaplan, Caren, Norma Alarc?n, and Minoo Moallem. 1999. Between Woman and Nation: Nationalisms, Transnational Feminisms, and the State. Durham and London: Duke University Press.

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอกสารอ้างอิง
กฤตยา อาชวนิชกุล, ทริส โคเอทท์, นิน นิน ไพน์ (2543)
เรื่องเพศอนามัยเจริญพันธุ์และความรุนแรง: ประสบการณ์ชีวิตของแรงงานอพยพจากประเทศพม่า นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

อรัญญา ศิริผล (2548)
ระหว่างเส้นทางพลัดถิ่น: ประสบการณ์ชีวิตชุมชนไทใหญ่กับการค้าแรงงานในมิติทาง สังคม วัฒนธรรม บริเวณชายแดนไทย-พม่า รายงาน ในโครงการวิจัย "อำนาจ พื้นที่ และอัตลักษณ์ทาง ชาติพันธุ์: การเมืองเชิงวัฒนธรรมของรัฐชาติในสังคมไทยภาคเหนือ" คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

Apple, Betsy. 1998. School for Rape: The Burmese Military and Sexual Violence.

Shan Human Rights Foundation (2002) Charting the Exodus from Shan State: Patterns of Shan refugees flow into northern Chiang Mai province of Thailand (1997-2002).

Shan Human Rights Foundation and Shan Women's Action Network (2002) Licence to Rape. Chiang Mai: SHRF

The Nation 8/23/2002

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

English version (Click)
ผู้สนใจข้อมูลภาษาอังกฤษ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่ (Click)


 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

สงครามในพม่าได้ให้อภิสิทธิ์แก่กองทหารพม่า ในการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงต่างชาติพันธุ์ โดยไม่ต้องรับโทษทัณฑ์… ความรุนแรงทางเพศถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์หลายประการ ตั้งแต่สร้างความหวาดกลัวให้กับชุมชนท้องถิ่นเพื่อบังคับให้ยอมจำนน ไปจนถึง [การใช้ร่างกายของผู้หญิง] เป็นที่แสดงแสนยานุภาพของกองทัพ [พม่า] ต่อผู้หญิงของชนชาติศัตรู เพี่อเป็นการดูหมิ่นและเหยียดหยามพวกกองกำลังต่อต้าน และบำเหน็จรางวัลให้กับกองทัพในสงคราม...

ในขณะที่ความไม่อินังขังขอบและมุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงถ่ายเดียวของรัฐไทย กลับเป็นส่วนสำคัญที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับแสนยานุภาพของรัฐล้าหลังดังกล่าว

R
related topic
261048
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
สำหรับผู้หญิงต่างชาติพันธุ์ในพม่าแล้ว ความเจ็บปวดไม่ได้เพียงมาจากเหตุการณ์และความทรงจำที่มีต่อความรุนแรงทางเพศเท่านั้น หากแต่ยังมาจากการที่ไม่สามารถจะทำความเข้าใจได้ว่า เหตุใด ร่างกายของตนเอง จึงถูกกระทำ และต้องกลายมาเป็นสมรภูมิแห่งความรุนแรงของรัฐ