นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

ประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่ไม่เคยหยุดพัก
จาก: ถีบลงเขาเผาลงถัง ถึง กรณีกรือเซะและตากใบ
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
นายอานันท์ ปันยารชุน

การรวบรวมภาพสะท้อนความรุนแรง กรณีภาคใต้ของประเทศไทย

บทความ ๒ เรื่องซึ่งนำเสนอบนเว็ปไซต์ ได้รับเคยได้รับการเผยแพร่แล้วดังรายละเอียดต่อไปนี้
๑. เรื่องเล่าจากพัทลุง (มติชนรายวัน ๗ ตุลาคม ๒๕๔๘)
๒. ปาฐกถาอานันท์ : รัฐต้องให้ความมั่นคงกับคนใต้ (ประชาไทออนไลน์)
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 699
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)



๑. เรื่องเล่าจากพัทลุง
โดย เกษียร เตชะพีระ

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับคณะจากเชียงใหม่ได้จัดโครงการทัศนศึกษาให้พี่น้องมลายูมุสลิมจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เป็นนักกิจกรรมเอ็นจีโอ และผู้ประสบความสูญเสียจากความรุนแรงในระยะปีกว่าที่ผ่านมา ได้ไปพบปะเยี่ยมเยียนเครือข่ายชุมชนบางท้องที่ในภาคใต้ตอนบน ที่ดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษาฐานทรัพยากร และสร้างสื่อกระจายเสียงวิทยุชุมชนได้สำเร็จระดับหนึ่ง เพื่อดูงานและแลกเปลี่ยนทรรศนะประสบการณ์การสร้างเศรษฐกิจ-วัฒนธรรมชุมชนและทำงานการเมืองภาคประชาชน ในฐานะที่อาจเป็นทางออกทางเลือกหนึ่งในการเสริมสร้างพลังการต่อสู้ เพื่อความเป็นธรรมของประชาชนโดยสันติวิธีท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงปัจจุบัน

ผมได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมในโครงการดังกล่าวกับเพื่อนๆ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและพี่น้องมลายูมุสลิมปักษ์ใต้ที่เครือข่ายชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุงด้วย

ที่นั่นเป็นเครือข่ายชุมชนชนบทติดเขตป่าเขาที่กว้างขวางใหญ่โตพอควร ครอบคลุมพื้นที่หลายหมู่บ้านตำบล มีตัวแทนชาวบ้านจัดตั้งกันเป็นคณะกรรมการการบริหารจัดการตนเอง มีวิทยุชุมชนกระจายเสียงข่าวสารข้อมูลท้องถิ่น มีสหกรณ์การผลิตทำสินค้าพื้นบ้านส่งขายตลาดร่วมกัน และสหกรณ์ออมทรัพย์รับฝากเงินออมนับสิบล้านบาท โดยสมาชิกส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดเป็นคนไทยพุทธ

เราได้จัดโต๊ะกลมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างแกนนำและเจ้าหน้าที่โครงการต่างๆ ของเครือข่ายชุมชนกับผู้ไปเยือน ณ สำนักงานสหกรณ์ บรรยากาศตอนแรกฝืดๆ ทั้งผู้เหย้าผู้เยือนต่างแนะนำตัวเอง องค์กรสังกัดและกิจกรรมที่ทำคร่าวๆ แล้วต่างฝ่ายต่างก็อึกๆ อักๆ ไม่รู้จะคุยอะไรต่อดี โดยเฉพาะพี่น้องมลายูมุสลิมจากชายแดนใต้ซึ่งค่อนข้างเงียบงำมาตลอด อาจเพราะมีความกระทบกระเทือนในใจบางอย่างยังไม่คุ้นเคยไม่วางใจกัน หรือแม้แต่ไม่ถนัดพูดภาษาไทย จนถึงจุดหนึ่งทางตัวแทนผู้เหย้าก็ถามคณะผู้เยือนเอาตรงๆ ว่าที่จัดมากันวันนี้น่ะ เพื่อวัตถุประสงค์อะไร?

แต่แล้วบรรยากาศทั้งหมดก็เปลี่ยนไป เมื่อคุณลุงคนหนึ่งซึ่งเป็นที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนดังกล่าวตัดสินใจพูดบอกออกมาตรงๆ และยาวๆ อย่างไม่มีใครคาดคิด...

อันที่จริงมันก็ตรงกับความคาดเดาในใจของผมว่า ชาวนาชาวสวนที่นี่แปลกดี พูดจาชี้แจงบรรยายสรุปกิจกรรมของตนอย่างกระชับเป็นระบบ ด้วยภาษาศัพท์แสงทางความคิดการเมืองที่แหลมคมชัดเจนผิดสังเกต

อาทิ วิทยุชุมชนเป็นแค่เครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมายในตัวของมันเอง ความสำเร็จของวิทยุชุมชนจึงวัดกันที่ความเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่นของชุมชนที่ต้องการสร้างขึ้นมา หากทำสิ่งนั้นไม่ได้ ก็ถือว่าไม่บรรลุเป้า เป็นต้น

จึงไม่น่าใช่ชาวบ้านชนบทธรรมดา แต่ฟังเหมือนชาวนาที่ผ่านการฝึกฝนอบรมงานความคิดการเมืองโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ที่ผมเคยเจอตอนเข้าป่าหลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน ผู้ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 มากกว่า และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

ลุงเล่าประวัติความเป็นมาของเครือข่ายชุมชนที่พัทลุงนี้ว่า แท้จริงนี่เป็นเขตงานเก่าของ พคท. มีการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเรียกร้องปกป้องปากท้องสิทธิและความเป็นธรรม ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมานานจนขยายตัวออกไปถึงขั้นจับปืนลุกขึ้นสู้ ภายใต้การนำของ พคท. กับรัฐบาลเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสในอดีต จึงถูกกวาดล้างปราบปรามครั้งใหญ่ระหว่างปี พ.ศ.2514-2516

แต่ทางราชการก็ปกปิดเรื่องไว้ จนเพิ่งถูกเปิดโปงอื้อฉาวออกมาภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ที่ประชาชนลุกขึ้นสู้โค่นรัฐบาลเผด็จการทหารผ่านไปได้ไม่นาน ในนามกรณี "ถีบลงเขาเผาลงถังแดง" ซึ่งมีชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่เหวี่ยงแห กวาดต้อนจับกุมไปทรมานสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมทารุณ เพราะต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์หรือแนวร่วมกว่าสามพันคน

ดังปรากฏเป็นรายงานข่าวสมัยนั้นว่า:-
เจ้าหน้าที่ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และ อ.ส.เข้าล้อมหมู่บ้าน...จับบรรดาราษฎรที่ต้องสงสัยไปเป็นจำนวนมาก แล้วทำการสอบสวนโดยวิธีการทารุณต่างๆ เช่น สอบสวนแล้วเมื่อไม่รับก็ยิงกรอกหู ใช้ค้อนทุบต้นคอ จับชาวบ้านใส่ถังแดงแล้วเผาทั้งเป็น บางครั้งก็ให้ถือมีดกันคนละเล่มฆ่ากันเอง และมีราษฎรอีกจำนวนมากที่ถูกจับไปแล้วหายสาบสูญไม่ได้กลับบ้าน บางคราวเมื่อมีฝนตกหนัก ก็มักพบกะโหลกคนกลิ้งลงมาจากเขา ทำให้เชื่อกันว่าราษฎรที่หายไปนั้น ถูกจับขึ้นเฮลิคอปเตอร์แล้วถีบลงมาจากกลางอากาศ
("คดีถังแดง บ้านไมลายอีกครั้งหรือ?" ประชาชาติ, 2:66 (21 ก.พ.2518), 12)

แม้แต่ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกสมัยนั้นก็ยอมรับว่าเรื่องถังแดงนั้นเกิดขึ้นจริง ลุงเองก็เป็นแกนำชาวบ้านคนหนึ่งที่ทนการปราบโหดเช่นนั้นไม่ได้ เจ็บแค้นที่ญาติมิตรพี่น้องถูกทางการปราบฆ่าอย่างไม่เป็นธรรม ก็เลยเข้าป่าจับปืนด้วย

ลุงเกริ่นเล่าประวัติภูมิหลังของเครือข่ายชุมชนที่มาจากเขตงานเดิมของ พคท.ซึ่งต่อมาภายหลังป่าแตก ชาวบ้านต่างพากันวางปืนคืนสู่เหย้าแล้ว ก็ได้อาศัยเครือข่ายสายสัมพันธ์ทางการจัดตั้งแต่เดิมเป็นพื้นฐานมาสร้างชุมชนพึ่งตนเองจัดการดูแลช่วยเหลือตนเองให้เราฟังก็เพื่อจะบอกว่า : แกเข้าใจและเห็นใจพี่น้องมลายูมุสลิมภาคใต้ที่ถูกรัฐบาลปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างโหดร้ายอยุติธรรม โดยเฉพาะในกรณีตากใบ

แกบอกว่าเมื่ออ่านข่าวและดูภาพบันทึกเหตุการณ์ที่พี่น้องเหล่านั้นถูกบังคับถอดเสื้อทุบตี กวาดต้อนไปนอนทับกันเป็นชั้นๆ บนรถบรรทุกจนเจ็บตายก่ายกอง แกก็รับไม่ได้ แม้แต่ไก่ที่แกเลี้ยงซึ่งเป็นสัตว์ เวลาแกขนย้ายมันไปไหนแกยังไม่ทำกับมันอย่างนั้นเลย หากคอยระวังดูแลไม่ให้มันทับกันจนเจ็บตาย แต่นี่เป็นคน ถ้าผู้ที่ประสบชะตากรรมเหล่านั้นเป็นญาติพี่น้องของแกแล้ว มาถูกกระทำเช่นนี้ แกก็คงทนไม่ไหวเหมือนกัน

พูดมาถึงตอนนี้เสียงแกก็สั่งเครือปนสะอื้นและยกมือขึ้นเช็ดน้ำตา

หลังลุงเล่าเสร็จ การสนทนาก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ พี่น้องมลายูมุสลิมจากชายแดนเลิกอ้ำอึ้งอีกต่อไป หากเปิดใจเผยความในใจออกมาอย่างหมดเปลือกว่า ตนคิดตนรู้สึกอย่างไร เจ็บปวดชอกช้ำน้อยเนื้อต่ำใจอย่างไรที่ถูกผู้มีอำนาจกระทำ ด้วยความรู้สึกเข้าใจ ซึ้งใจ อุ่นใจ ในมิตรภาพและความเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจที่มีให้แก่กันและกันกับไทยพุทธอดีตผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เหล่านั้น

ในฐานะผู้ร่วมทุกข์ร่วมชะตากรรม เพราะต่างเคยถูกอำนาจรัฐปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างไม่เป็นธรรมมาเหมือนกัน

ผมเล่าเรื่องนี้สู่ท่านฟังในโอกาสครบรอบ 29 ปี ของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เพราะผมคิดว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่มีนัยสำคัญน่าสนใจบางอย่าง ต่อการพยายามสร้างสมานฉันท์และสันติภาพในบ้านเมืองปัจจุบันกล่าวคือ:-

ก) ภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์ที่แตกต่าง มิใช่อุปสรรคขวางกั้นการเข้าใจและเข้าถึงเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมชาติและร่วมโลก ขอเพียงแต่เราซื่อตรงยอมรับความจริง และไม่เพิกเฉยยอมจำนนต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น คนไทยเราที่ถือศาสนา พูดภาษา และมีเชื้อชาติวัฒนธรรมต่างกันสามารถรักกันได้ เห็นอกเห็นใจกันได้ ร้องไห้สงสารกันได้ พูดคุยแลกเปลี่ยน กินข้าวร่วมหม้อตักแกงร่วมถ้วยดื่มน้ำร่วมขัน จับมือบอกลาด้วยความรักอาลัยหวังดีปรารถนาดีต่อกันได้ ขอแต่เราเคารพความจริงและยืนอยู่บนความยุติธรรม

ข) ลุงและเจ้าหน้าที่เครือข่ายชุมชนที่พัทลุงเข้าใจกิจกรรมที่พวกตนทำอยู่ทุกวันนี้ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังวางปืนเลิกรบสงครามประชาชนกับรัฐบาลว่าอย่างไร?

พวกเขายืนยันว่าเป้าหมายจุดยืนของพวกเขาไม่เปลี่ยน แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือวิธีการต่อสู้ ทุกวันนี้พวกเขาก็ยังต่อสู้เพื่อปากท้องสิทธิ และความเป็นธรรมเช่นเดิม แต่ด้วยสันติวิธีภายใต้เงื่อนไขประชาธิปไตย แน่นอนมันไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อแรกขึ้นเสาทำวิทยุชุมชน ทหารที่ตั้งค่ายอยู่ใกล้ๆ ก็มาสอบถามด้วยความหวาดระแวง, ทว่าด้วยความจริงใจบริสุทธิ์ใจรอบคอบ และยืนหยัดผลประโยชน์ของชาวบ้านท้องถิ่น พวกเขาก็ดำเนินกิจกรรมมาได้โดยทางการยอมรับ

คำถามที่น่าถามคือ

- ทำอย่างไรพี่น้องมลายูมุสลิมจะมีโอกาสเช่นนั้นบ้าง?
- ทำอย่างไรความเปลี่ยนแปลงจากสงครามไปสู่สันติภาพที่ว่านี้ จึงจะเกิดขึ้นกับผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้ได้บ้าง?
- บทเรียนและประสบการณ์ในการเปลี่ยนแปรสงครามที่ไทยฆ่าไทย ให้กลายเป็นการต่อสู้ที่คนไทยเราสามารถทะเลาะกัน และร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนาบ้านเมืองได้โดยสันตินั้น สังคมไทยเรามี ไม่ใช่ไม่มี แต่มันหายไปไหน?
ทำไมไม่เอามาใช้?

ทำอย่างไรเราจึงจะถ่ายทอด ผลิตซ้ำ และนำมาประยุกต์ใช้ใหม่ซึ่งบทเรียนและประสบการณ์ล้ำค่านั้นในกรณีความขัดแย้งรุนแรงที่ชายแดนภาคใต้ปัจจุบันได้?

( ข้อมูลเรื่องที่หนึ่งนำมาจาก : มติชนรายวัน ๗ ตุลาคม ๔๘)

๒. ปาฐกถาอานันท์ : รัฐต้องให้ความมั่นคงกับคนใต้
นายอานันท์ ปันยารชุน

นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "การสร้างความสมานฉันท์ และร่วมกันฟื้นฟูท้องถิ่นภาคใต้" ในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ประจำปี 2548 จัดโดยภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 29 กันยายน 2548 ที่โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีเนื้อความ ดังนี้...

ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 800 - 900 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 800 - 900 ราย มีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก และยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกมากมาย เป็นสถิติที่ไม่น่าภาคภูมิใจ แม้ในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้จะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นมาต่อเนื่อง แต่ก็เป็นในลักษณะประปราย ซึ่งน้อยกว่าช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา คำถามก็คือเป็นเพราะอะไรและจะแก้ปัญหากันอย่างไร

เป็นหน้าที่ของ กอส.ที่จะต้องหาคำตอบให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วก็สร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นมา สมานฉันท์ทั้งเรื่องในของศาสนาและประชาชน กอส.มีกรรมการ 2 คนที่เป็นพระ คนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ และอีกคนหนึ่งเป็นพระนักคิดนักเขียน นอกจากนี้ก็ยังมีผู้นำศาสนาอิสลาม ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ

กอส.ต้องสะท้อนความหลากหลายมีอยู่ในพื้นที่ แต่เราไม่ใช่หน่วยงานบริหาร ไม่มีอำนาจทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น

กอส.มีหน้าที่เสนอแนะหาต้นเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหา และนำเสนอต่อรัฐบาลที่มีอำนาจทางการบริหาร และนิติบัญญัติถูกต้องตามกฎหมาย ให้เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหา หากภายในระยะเวลา 2 ปีนี้ความรุนแรงยังไม่ลดลง ก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประชาชนและภาคใต้ของเรา

จากปัญหาดังกล่าวทำให้มีประชาชนอพยพออกนอกพื้นที่แล้วนับหมื่นคน ไม่เฉพาะ 131 ชาวไทยมุสลิมที่หลบหนีเข้าประเทศมาเลเซีย ยังมีประชาชนอีกมากที่หนีออกนอกพื้นที่รวมทั้งมาที่หาดใหญ่นี้ด้วย แสดงให้เห็นความหวาดกลัวของประชาชน

ในอีก 3 - 4 เดือน จะทำรายงานเสนอไปยังรัฐบาลถึงข้อสรุปของ กอส. ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของรัฐบาล แต่อยากให้สังคมร่วมกันคิด เพราะ กอส.ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่สังคมต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ

ในแอฟริกาใต้ซึ่งเคยเกิดความวุ่นวายมาก่อน เมื่อเหตุการณ์สงบก็มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อค้นหาความจริงและสมานฉันท์ขึ้นมา แม้แต่ประธานาธิบดีบุชของหสรัฐอเมริกาก็ออกมาขอโทษ กรณีที่การให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกพายุแคทริน่าไม่ดีพอ

เพราะฉะนั้นใน 9 มาตรการหลักที่ กอสน.เสนอต่อรัฐบาล ก็คือการเปิดเผยความจริงขึ้นมาและพร้อมที่จะรับผิดชอบ มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องรายวัน นโยบายที่รัฐบาลจะให้แก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเป็นนโยบายที่ดีไม่ใช่นโยบายรายวัน ต้องทำต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ต้องแน่ใจว่าไม่ไปซ้ายไปขวา และรัฐบาลต้องพร้อมสำหรับการขอโทษ

การให้อภัยจะเกิดไม่ได้ตราบใดที่ประชาชนยังข้องใจในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งการไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งรัฐบาลต้องกล้าเปิดเผยความจริง ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนและต้องรับผิดชอบ ที่ผ่านมามีแต่ผู้รับชอบไม่มีใครกล้ารับผิด และไม่เคยมีการแสดงความเสียใจ

การดำเนินการด้วยสันติวิธี ซึ่งสันติวิธีไม่ใช่การยอมจำนนต่อความรุนแรง แต่เป็นกระบวนการหนึ่งของการแก้ปัญหาความรุนแรง

การสร้างความทรงจำและการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์ไม่ใช่การบันทึกเหตุการณ์เชิงสถิติว่า เกิดกี่ครั้ง มีคนตายเท่าไหร่ แต่ประวัติศาสตร์คือการอธิบายเหตุการณ์ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร และมีผลกระทบอย่างไร ไม่ใช่การแจ้งเหตุการณ์ ถ้าเป็นเช่นนี้แน่นอนความรุนแรงลดลง ความสมานฉันท์เกิดขึ้น

ความทรงจำไม่ใช่ในเรื่องของการสร้างความเคียดแค้น แตเป็นการทำความเข้าใจเหตุการณ์

ในเรื่องความมั่นคง ช่วงหลังๆ เมื่อพูดถึงความมั่นคง คนจะนึกถึงความมั่นคงของรัฐอย่างเดียว ซึ่งเป็นความคิดที่แคบ โดยมองว่าเป็นความมั่นคงระหว่างประเทศกับประเทศ เป็นการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ หรือเป็นหน้าที่ของตำรวจกับทหารเท่านั้น แต่ในกฎบัตรข้อแรกของสหประชาชาติไม่ได้พูดถึงรัฐเลย

เพราะความมั่นคงนั้นหมายถึง การรักษาความมั่นคงให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นรัฐต้องรับผิดชอบในการรักษาความมั่นคงให้กับประชาชน ต้องดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งในภาคใต้ของไทย รัฐยังดูแลไม่สมบูรณ์ นั่นคือการสร้างความมั่นคงให้มนุษย์

ในภาคใต้หากรัฐไม่เปิดเผยความจริงให้ทันเวลา อาจทำให้รัฐเสียเปรียบกลุ่มกองโจร เพราะประชาชนไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธารัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนก็ไม่พร้อมที่จะเปิดเผยความจริงตามที่เขารู้ เพราะกลัว เราเรียกร้องให้ประชาชนเปิดเผยข้อมูล แต่รัฐเองก็ไม่เปิดเผยความจริงออกมา เขาก็ไม่กล้าพอแน่นอน
ภาคใต้ในขณะนี้ตกอยู่ในบรรยากาศแห่งความกลัว ไทยพุทธก็กลัว ไทยมุสลิมก็กลัว เพราะฉะนั้นต้องเร่งให้ประชาชนมีความเชื่อถือรัฐก่อน จึงจะแก้ปัญหาได้

ขอชมเชยเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วย ที่รับผิดชอบแก้ไขวิกฤติที่บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่ใช้ขันติธรรมในการแก้ไขปัญหาโดยไม่ยอมเดินเข้าหลุมพรางที่คนร้ายขุดวางไว้ วันนั้นหากเจ้าหน้าที่ตัดสินใจเข้าจู่โจม ซึ่งมองตามศักยภาพแล้วก็สามารถทำได้ แต่ผลที่ตามมาอาจจะเป็นอีกแบบ เหมือนกับดุซงญอ ตากใบ หรือกรือเซะ เพราะเข้าใจว่าอย่างไรแล้ว ทหารนาวิกโยธินทั้ง 2 นายก็คงไม่รอด เมื่อเกิดการยิงกันขึ้น เหตุการณ์ก็จะยิ่งโกลาหล และอาจมีการตายมากขึ้น ทั้งเด็กและผู้หญิง

จริงอยู่การสูญเสียทหารนาวิกโยธินทั้ง 2 นายเป็นสิ่งที่น่าเสียใจและน่าสลด แต่เราต้องเข้าใจว่า คนที่ก่อเหตุต้องการสร้างความหวาดกลัว และแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่สามารถให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนได้ จนต้องพึ่งเขา ฉะนั้นเราต้องรู้เท่าทันและอย่าตกหลุมพราง

เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีคดีอุกฉกรรจ์จำนวนถึง 85% ที่รัฐบาลไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ มีเพียง 15% เท่านั้นที่รู้ว่าใครทำจนนำมาสู่การจับกุมผู้ก่อเหตุ แต่ในจำนวนดังกล่าว มีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่จับผิดตัวจนต้องปล่อยไปในที่สุด เนื่องจากไม่มีหลักฐานเอาผิด

จากการลงพื้นที่และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า ส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและพอเพียงอิงอยู่กับหลักธรรมในศาสนาอิสลาม ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า วิถีชีวิตดังกล่าวสอดคล้องกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงชี้แนะให้พสกนิกรดำรงตนตั้งอยู่บนความพอเพียง ไม่ฟู่ฟ่าหรูหรา ประกอบสัมมาอาชีพอย่างพออยู่พอกิน

แต่ก็พบว่าประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังยากจนมากกว่าพื้นที่อื่น ได้รับโอกาสน้อยกว่าพื้นที่อื่น เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่สืบทอดวิถีชีวิตตามหลักศาสนาที่บรรพบุรุษได้ปูแนวทางไว้ ซึ่งตรงกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุด ไม่คิดที่จะใช้เงินเกินเหตุ มีชีวิตอยู่อย่างสมถะ พอดี พอใจ และพอเพียงในสิ่งที่มีอยู่

แต่กระแสทุนนิยม บริโภคนิยม ทำให้วิถีชีวิตดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป บางพื้นที่มีการแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างหนักระหว่างชาวบ้านกับนายทุนผู้มีอิทธิพล ดังนั้นการใช้นโยบายแก้ปัญหาในพื้นที่นี้ควรต้องมีการคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมากับแนวทางทุนนิยมด้วย เพราะเรื่องการค้าเสรีนั้น บางพื้นที่ก็สามารถทำได้ แต่อาจสร้างปัญหาให้อีกบางพื้นที่ ต้องแยกแยะให้ถูก

รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึง และได้รับบริการในเรื่องที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากิน เข้าถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา การดำเนินชีวิตและอนาคตของตนเอง ให้ชุมชนได้มีโอกาสจัดการปัญหาของตนเองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 56, มาตรา 78 ซึ่งเชื่อว่ารัฐสามารถทำได้ อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่เท่านั้น

(ข้อมูลเรื่องที่สองนำมาจาก : ประชาไทออนไลน์)
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=1091&SystemModuleKey
=HilightNews&System_Session_Language=Thai


ภาคผนวก : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๔๐


มาตรา 56 : และ มาตรา 78:

ที่มาของข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำหรับนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจ สามารถค้นรัฐธรรมนูญฉบับเต็มได้ที่
www.thaihealth.or.th/document/ThailandsConstitution.pdf

 

 

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

รายงานข่าวสมัยนั้นว่า: เจ้าหน้าที่ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และ อ.ส.เข้าล้อมหมู่บ้าน... จับบรรดาราษฎรที่ต้องสงสัยไปเป็นจำนวนมาก แล้วทำการสอบสวนโดยวิธีการทารุณต่างๆ เช่น สอบสวนแล้วเมื่อไม่รับก็ยิงกรอกหู ใช้ค้อนทุบต้นคอ จับชาวบ้านใส่ถังแดงแล้วเผาทั้งเป็น บางครั้งก็ให้ถือมีดกันคนละเล่มฆ่ากันเอง และมีราษฎรอีกจำนวนมากที่ถูกจับไปแล้วหายสาบสูญไม่ได้กลับบ้าน บางคราวเมื่อมีฝนตกหนัก ก็มักพบกะโหลกคนกลิ้งลงมาจากเขา ทำให้เชื่อกันว่าราษฎรที่หายไปนั้น ถูกจับขึ้นเฮลิคอปเตอร์แล้วถีบลงมาจาก กลางอากาศ
แม้แต่ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกสมัยนั้นก็ยอมรับว่าเรื่องถังแดงนั้นเกิดขึ้นจริง ลุงเองก็เป็นแกนำชาวบ้านคนหนึ่งที่ทนการปราบโหดเช่นนั้นไม่ได้ เจ็บแค้นที่ญาติมิตรพี่น้องถูกทางการปราบฆ่าอย่างไม่เป็นธรรม ก็เลยเข้าป่าจับปืนด้วย

R
related topic
121048
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
แต่ด้วยวาทกรรมที่แตกต่างกันคนละขั้วระหว่างรัฐกับประชาชน รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงมีพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ตนเป็นผู้กำหนดว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพหรือไม่มีสิทธิเสรีภาพในเรื่องใดบ้าง และในฐานะผู้มอบสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนจึงมีอำนาจและอภิสิทธิ์เหนือประชาชน