นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

คำนำจากหนังสือเรื่อง รั้วกับหน้าต่าง
นาโอมี ไคลน์ อนาธิปไตย VS เสรีนิยมใหม่
ภัควดี วีระภาสพงษ์
นักวิชาการและนักแปลอิสระ

บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่โดยคุณพิภพ อุดมอิทธิพงศ์
ผู้แปลหนังสือเรื่อง รั้วกับหน้าต่าง เขียนโดย นาโอมี ไคลน์

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 695
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4)




คำนำ

เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายลง สหภาพโซเวียตแตกเป็นเสี่ยง ๆ นักวิชาการบางคนประกาศแถลงการณ์ที่เปรียบเสมือน Capitalist Manifesto ด้วยถ้อยคำเพียงประโยคเดียวว่า "ประวัติศาสตร์สิ้นสุดลงแล้ว" เมื่อระบบเศรษฐกิจทุนนิยมตลาดเสรีเฟื่องฟูไปทั่วโลก เราถูกทำให้เชื่อว่าการต่อสู้ระหว่างลัทธิทางการเมืองไม่มีอีกต่อไป อย่างมากก็มีแต่การต่อสู้แข่งขันในระบบตลาด

ขณะที่ประชาชนทุกชนชั้นกำลังเริงระบำรอบโคทองคำ เชื่อมั่นว่าความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจจะนำความมั่งคั่งและความทันสมัยมาสู่ทุกผู้นาม ขณะที่ในจอโทรทัศน์นำเสนอความสุขที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่างในรูปของสินค้ามียี่ห้อ เราปล่อยให้คนบางคนในรัฐบาลของเราไปลงนามในข้อสัญญาทางการค้าที่ยังไม่มีแม้กระทั่งเนื้อหาที่ชัดเจนของข้อสัญญา จนกลายเป็นการถือกำเนิดของ WTO หรือองค์การค้าโลก องค์กรโลกบาลยุคใหม่จึงครบองค์ 3 อันประกอบด้วย องค์การค้าโลก ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

เราควรจะเปรียบองค์กรทั้งสามนี้กับอะไรดี ตรีเอกานุภาพ? หรือเทวีแห่งโชคชะตาทั้งสามในเทพปกรณัมกรีก ที่คอยปั่นด้ายอันเปรียบเสมือนชะตากรรมของมนุษย์? เพียงแต่ดูท่าว่าองค์กรโลกบาลทั้งสามนี้จะยิ่งใหญ่เสียยิ่งกว่าเทวีแห่งโชคชะตาเสียอีก เพราะชาวกรีกเชื่อว่าเทวีมีอิทธิพลต่อมนุษย์แต่ละคน แต่องค์กรโลกบาลสมัยใหม่สามารถชี้เป็นชี้ตายแก่คนทั้งประเทศ หรือบางทีก็ทั้งทวีป

กว่าเราจะรู้ตัวว่า โคทองคำที่เราหลงเริงระบำบูชานั้น แท้ที่จริงคือโคสำริดของฟาลาริสที่ใช้ย่างคนทั้งเป็น องค์กรโลกบาลทั้งสามก็แผ่ขยายอำนาจไปแทบทุกหนแห่งในโลก พร้อมกับคาถาสามข้อที่โฆษณาว่าสามารถเนรมิตทุกอย่างได้ราวแก้วสารพัดนึก นั่นคือ เปิดเสรี ลดข้อบังคับและแปรรูป นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำต่างพากันประสานเสียงท่ามกลางความงวยงงของสามัญชนว่า นี่แหละคือโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ นี่แหละคือหนทางของโลกที่จะต้องดำเนินไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แต่ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจแปรเปลี่ยนกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ในละตินอเมริกาและเอเชีย ความตีบตันทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ปัญหาว่างงานในยุโรป ความรุ่งและร่วงสลับกันไปมาในสหรัฐอเมริกา วิกฤตตลอดกาลในแอฟริกา พร้อม ๆ กับปัญหาสิ่งแวดล้อม แรงงาน สาธารณสุข สังคม การศึกษา ฯลฯ

โดยที่ไม่มีใครคาดหมาย โดยที่ไม่มีฝ่ายไหนคาดคิดมาก่อน การประชุมองค์การค้าโลกที่ซีแอตเติลในปี พ.ศ. 2542 เกิดปรากฏการณ์ของการประท้วงที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมประท้วงถึงราว 50,000 คน และสามารถยุติการประชุมของ WTO ได้อย่างเหลือเชื่อ สิ่งที่เหลือเชื่อยิ่งกว่านั้นก็คือ ผู้ประท้วงเหล่านี้ไม่ได้เป็นขบวนการที่มีอุดมการณ์หรือยึดหลักลัทธิใดลัทธิหนึ่งเพียงลัทธิเดียว แต่ประกอบขึ้นจากกลุ่มคนเล็ก ๆ จำนวนมาก มีทั้งที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มอิสระ เสรีชน ฯลฯ แนวความคิดที่เป็นแรงบันดาลใจของผู้ประท้วงก็มีหลากหลาย นับตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม แรงงาน เกษตรกรรม สังคมนิยม สิทธิของชนพื้นเมือง ฯลฯ มีแม้กระทั่งวัยรุ่นที่ไม่พอใจกับการที่ชีวิตของตนถูกครอบงำด้วยยี่ห้อสินค้าและการโฆษณา

วิธีการประท้วงของพวกเขาไม่ใช่แค่การเดินขบวนชูกำปั้นตะโกนคำขวัญแบบเดิม ๆ อีก แต่เปลี่ยนการประท้วงให้เป็นเสมือนงานสังสรรค์ ละครย่อย การแสดงสด นิทรรศการศิลปะ การศึกษานอกสถานที่ ฯลฯ วิธีการรวมตัวของพวกเขาก็ช่างเข้ากับยุคโพสต์โมเดิร์นอย่างแท้จริง มันเป็นการรวมตัวที่มีฐานมาจากอีเมล์และเว็บไซต์ ความจริงเสมือนบนโลกไซเบอร์สเปซที่กลายเป็นความจริงบนท้องถนนอันมีชีวิตชีวาและจับต้องได้

เพื่อให้ความเหลือเชื่อครบองค์ 3 บ้าง เรื่องเหลือเชื่อประการสุดท้ายก็คือ เวลาพิสูจน์ให้เห็นว่าซีแอตเติลไม่ใช่ปรากฏการณ์พิเศษ ไม่ใช่ความสว่างที่เจิดจ้าแล้วดับวูบลงอย่างรวดเร็ว แต่การประท้วงองค์การค้าโลกกลายเป็นขบวนการต่อเนื่อง ซึ่งไม่ได้จำกัดที่การประท้วงเฉพาะองค์การค้าโลกอีกต่อไป การชุมนุมประท้วงขยายตัวเป็นการประท้วงต่อองค์กรโลกบาลทั้งหมด ไปจนถึงการคัดค้านระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่

เราจึงได้เห็นการประท้วงการประชุมของ IMF ในกรุงปรากเมื่อเดือนกันยายน 2543, การเจรจาการค้าเสรีระดับซีกโลกในเมืองควิเบก เมื่อเดือนเมษายน 2544, การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปในโกเทนเบิร์ก สวีเดนเมื่อเดือนมิถุนายน 2544, การประชุม G-8 ในเมืองเจโนอาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2544, การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปที่เมืองบาร์เซโลน่า สเปนในเดือนมีนาคม 2545 ไม่นับรวมการประท้วงย่อย ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก และยิ่งขยายวงกว้างเมื่อการประท้วงผนวกเอาประเด็นสงครามที่สหรัฐอเมริกากระทำต่ออัฟกานิสถานและอิรัก โดยมีประชาชนเข้าร่วมหลายล้านคน

มีทฤษฎีมากมายที่พยายามอธิบายปรากฏการณ์ของขบวนการประท้วงนี้ นักเสรีนิยมใหม่มองว่าคนเหล่านี้เป็นพวกต่อต้านโลกาภิวัตน์และคิดแต่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง นักสังคมนิยมมองว่านี่คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงการทำลายตัวเองของระบบทุนนิยม ขบวนการถูกวิจารณ์ว่ามีแต่ความสับสน ร้อยพ่อพันแม่ หาทิศทางไม่ได้และแสวงหาความบันเทิงจากการมาชุมนุมกัน ขบวนการนี้ไม่มีผู้นำ ไม่มีตัวแทนที่เด่นชัด ไม่มีลัทธิหรืออุดมการณ์เป็นกลุ่มก้อน แม้ว่าจะไม่ได้ประกาศออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่การกระทำของขบวนการเท่ากับเป็นการประกาศ Movement Manifesto ด้วยประโยคง่าย ๆ ประโยคเดียวว่า "พวกเราจะตามไปประท้วงในทุกที่ที่พวกเอ็งจัดประชุม!"

ในบรรดานักคิดและนักเคลื่อนไหวที่เป็นกระบอกเสียงของขบวนการ คนหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมาจนได้รับฉายาว่า โฆษกอย่างไม่เป็นทางการของขบวนการประท้วง ก็คือหญิงสาวชาวแคนาดาวัยสามสิบต้น ๆ ที่ชื่อ นาโอมี ไคลน์ แม้ว่าตัวเธอเองจะไม่ค่อยสบายใจกับฉายานี้เท่าไรนัก

สถานะของนาโอมีในขบวนการประท้วงเป็นทั้งกึ่งคนในและกึ่งคนนอก เธอเข้าใจและเห็นด้วยกับประเด็นของการประท้วง มองเห็นจุดแข็งของขบวนการยุคใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็มองเห็นวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึงจุดอ่อนของขบวนการด้วยเช่นกัน เธอเดินทางไปทั่วทุกหนแห่งกับขบวนการ แต่ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนี้เต็มตัว โดยรักษาความเป็นคนนอกอยู่ก้าวหนึ่งเสมอ ดังที่เธอบอกเองว่า บุคลิกของตัวเองนั้นไม่ใช่คนที่จะไปเดินชูกำปั้นและตะโกนคำขวัญกับใครเขาได้ เธอนิยามตัวเองว่าเป็น สื่อมวลชนนักเคลื่อนไหว (activist journalist)

คงเพราะการเป็นทั้งคนในและคนนอกพร้อมกันนี้เอง ทำให้นาโอมีกลับเป็น "กระบอกเสียง" ที่ดีของขบวนการ เธอสามารถอธิบายแนวความคิดอันสับสนของนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างขบวนการนี้กับขบวนการทางการเมืองแบบดั้งเดิม วิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของระบบเสรีนิยมใหม่ และชี้ให้เห็นทางออกบางอย่าง

นาโอมี ไคลน์เติบโตขึ้นในครอบครัวที่มีความคิดทางการเมืองเข้มข้น ปู่กับย่าเป็นนักมาร์กซิสต์ชาวอเมริกันในยุคทศวรรษ 1930 และ 1940 ปู่ของเธอเป็นนักวาดการ์ตูนในบริษัทดิสนีย์ที่ถูกไล่ออกและขึ้นบัญชีดำ โทษฐานเป็นคนเคลื่อนไหวจัดตั้งให้มีการประท้วงของคนงานในบริษัทนี้เป็นครั้งแรก พ่อแม่ของเธอเป็นชาวอเมริกันที่ย้ายมาอยู่แคนาดาเพื่อประท้วงสงครามเวียดนาม พ่อเป็นหมอ ส่วนแม่เป็นเฟมินิสต์ที่ทำหนังต่อต้านหนังและหนังสือโป๊

สิ่งแวดล้อมนี้ทำให้นาโอมีมีความคิดก้าวหน้าทางการเมืองมาตั้งแต่เด็กหรือเปล่า? เปล่าเลย เธอก็เหมือนเด็กและวัยรุ่นจำนวนมากที่แสดงปฏิกิริยากับพ่อแม่ของตัวเอง เธอบอกว่าเธอบ้าของทุกอย่างที่มียี่ห้อมาตั้งแต่หกขวบ ไม่ว่าจะเป็นบาร์บี้ ดิสนีย์แลนด์ แม็คโดนัลด์ เบอร์เกอร์คิง พอเข้าวัยรุ่น เธอเย็บป้ายจระเข้ปลอมไว้ที่อกเสื้อเพื่อให้มันดูเหมือนยี่ห้อลากอสต์ และไปทำงานพิเศษในร้านเสื้อผ้ายี่ห้อเอสปรีต์ เธอทะเลาะกับพ่อแม่เสมอเกี่ยวกับการซื้อตุ๊กตาบาร์บี้หรือกางเกงตัวใหม่ของดีไซเนอร์ที่กำลังได้รับความนิยม ในหนังสือรุ่นของโรงเรียนไฮสกูล เธอถูกเขียนแซวไว้ว่า "หล่อนมีโอกาสติดคุกมากที่สุดเพราะขโมยน้ำยากัดสีผม"

แต่เด็กบ้ายี่ห้อคนนี้นี่เอง พออายุ 30 เธอกลับเป็นคนเขียนหนังสือเรื่อง No Logo อันโด่งดัง ซึ่งได้รับคำยกย่องว่าเป็น "ตำรา Das Capital ของขบวนการต่อต้านบรรษัท" หนังสือเล่มนี้ถือเป็นปากเสียงและอธิบายความคิดของคนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ซึ่งแม้จะไม่มีความคิดทางการเมืองเข้มแข็งเหมือนคนรุ่นก่อน แต่พวกเขาก็อึดอัดคับข้องและเป็นกบฏต่อระบบเศรษฐกิจที่พยายามครอบงำชีวิตทุกด้านด้วยสินค้าและการโฆษณา กล่าวกันว่าแม้กระทั่งวงดนตรี Radiohead ยังได้รับอิทธิพลจากหนังสือเล่มนี้ ถึงขนาดห้ามไม่ให้มีป้ายโฆษณาสินค้าของบรรษัทไหนระหว่างที่วงออกทัวร์คอนเสิร์ตในประเทศอังกฤษ

ความเปลี่ยนแปลงในตัวเธอเกิดขึ้นเมื่อกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย แม่ของเธอล้มป่วย ทำให้เธอต้องอยู่ดูแลและเข้ามหาวิทยาลัยโตรอนโตช้าไปหนึ่งปี เมื่อกลับไปเป็นนักศึกษา เหตุการณ์ที่มีผลต่อตัวเธอและนักศึกษามากก็คือ การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยมอนทรีออล เด็กหนุ่มที่สอบเข้าเรียนวิศวะที่นั่นไม่ได้ เข้าไปยิงผู้หญิงตายถึง 14 คน โดยกล่าวหาว่าพวกเธอเป็นเฟมินิสต์ นาโอมีกล่าวว่า "มันเป็นอาชญากรรมที่แสดงความจงเกลียดจงชังต่อผู้หญิง...มันทำให้เราคิดเรื่องการเมืองมากขึ้น แน่นอน หลังจากนั้นมา คุณย่อมเรียกตัวเองเป็นเฟมินิสต์"

นาโอมียังต้องเผชิญกับอคติในแบบอื่นระหว่างที่อยู่มหาวิทยาลัย ถึงแม้เธอมีเชื้อสายยิว แต่เธอเขียนบทความแสดงความเห็นอกเห็นใจชาวปาเลสไตน์ไว้ในหนังสือพิมพ์ของนักศึกษา รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การปกครองของอิสราเอล โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิสตรี ผลลัพธ์ของบทความนี้ทำให้เธอถูกขู่วางระเบิดที่บ้าน

ยังไม่ทันจบปริญญาตรี เธอขอพักการเรียนและไปทำงานเป็นพนักงานฝึกหัดที่หนังสือพิมพ์ Toronto Globe and Mail จากนั้นไปทำงานเป็นบรรณาธิการวารสารการเมืองนอกกระแสที่ชื่อ This Magazine

เมื่อนาโอมีกลับไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอีกครั้งในปี พ.ศ. 2538 เธอเจอกับนักศึกษารุ่นใหม่ที่ไม่เหมือนสมัยก่อน "ฉันเจอคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้ารุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความคิดว่า บรรษัทมีอำนาจยิ่งกว่ารัฐบาล จะเลือกนักการเมืองคนไหนไม่สำคัญ เพราะพวกนั้นก็เหมือนกันหมด

คนรุ่นใหม่เหล่านี้จึงคิดทำนองว่า ดีล่ะ เราพุ่งเป้าไปที่อำนาจดีกว่า...หนุ่มสาวพวกนี้เป็นนักปฏิบัติแบบ DIY ถ้าไม่ชอบ (ยี่ห้อ) อะไรสักอย่าง ก็เปลี่ยนมันสิ ตัดแปะมัน ดาวน์โหลดมัน แม้ฉันคิดว่า การประท้วงทางวัฒนธรรมแบบนี้ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองที่มีอำนาจสักเท่าไร แต่มันก็มีอะไรบางอย่างที่น่าประทับใจ มันเป็นการใช้มือจัดการกับตรายี่ห้อโดยไม่ได้ทำร้ายใคร นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ที่ฉันรู้จัก มีพื้นฐานการทำกิจกรรมทางการเมืองมาจากการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ และเข้าใจดีว่าอำนาจดำเนินไปอย่างไร พวกเขามีความคิดละเอียดอ่อนซับซ้อนกว่าพวกเราเพราะมันจำเป็น เพราะเดี๋ยวนี้ทุนนิยมมันซับซ้อนกว่าเมื่อก่อนมาก"

การเปิดใจกว้างต่อวิธีคิดและวิธีทำกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ ทำให้นาโอมีเป็นสะพานเชื่อมที่ถ่ายทอดความคิดของขบวนการประท้วงออกมาได้ดี ในขณะที่นักวิชาการและฝ่ายซ้ายบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการว่า หาจุดยืนและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ได้ นาโอมีกลับปกป้องและแสดงให้เห็นว่า ความหลากหลายสับสนของขบวนการเป็นได้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน แต่แทนที่เราจะยัดเยียดลัทธิหรืออุดมการณ์บางอย่างลงมาให้ขบวนการจากเบื้องบน เราน่าจะปล่อยให้ขบวนการแสวงหาคำตอบของตนเองอย่างเป็นธรรมชาติขึ้นมาจากเบื้องล่าง และ "คนรุ่นเก่า" ต้องสลัดทิ้งความเคยชินของการมีคำตอบเพียงหนึ่งเดียวเสียที

หลายชั่วรุ่นมาแล้วที่มนุษย์เรามุ่งหวังจะแสวงหาคำตอบเดียว รอคอยวีรบุรุษหรือศาสดา ฝากความหวังไว้กับผู้เชี่ยวชาญ ยึดติดอยู่กับความแน่นอนของลัทธิอุดมการณ์บางอย่าง เวลาล่วงเลยนานเท่าไร สภาพของมนุษย์ก็มีแต่จะเลวร้ายลงกว่าเดิม คงถึงเวลาแล้วกระมังที่เราต้องสลัดทิ้งความเคยชินเดิม ๆ และตะโกนเหมือนอย่างชาวซัปปาติสตาว่า "มันมากเกินพอแล้ว!" ถึงเวลาที่เราต้องให้โอกาสแก่อนาธิปไตยทางความรู้ การริเริ่มของสามัญชน หัวเราะเยาะวีรบุรุษ และหัดสร้างความเคยชินว่า เมื่อใดก็ตามที่มีใครมาบอกคุณว่า นี่คือความจริงแท้แน่นอน เมื่อนั้นจงคาดหมายเถิดว่า นรกกำลังมารอรำไรอยู่เบื้องหน้า ไม่ว่าคนที่มาบอกคุณคนนั้นจะสวมหัวโขนของฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา หรือทางสายกลางก็ตาม

การประท้วงสงคราม "ทิ้งระเบิดฝ่ายเดียว" ที่อัฟกานิสถานและอิรักอย่างกว้างขวาง ถึงขนาดมีการประเมินว่ามีประชาชนเข้าร่วมประท้วงถึง 11 ล้านคนทั่วโลก (ฟ้าเดียวกัน, เมษ.-มิ.ย. 2546) แม้ว่าตัวเลขนี้จะน่าชื่นชม แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็สร้างความใจหายให้ไม่น้อย การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษย์ ดูเหมือนไม่ได้สร้างความสะทกสะเทือนให้ผู้มีอำนาจที่ตัดสินใจทำสงครามเลย
ราวกับอำนาจในโลกยุคปัจจุบันไม่ยี่หระต่อประชาชนที่เป็นฐานเสียงอีกแล้ว

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในขณะที่ขบวนการต่อต้านเสรีนิยมใหม่ คือความจริงเสมือนที่กลายมาเป็นความจริงบนท้องถนน แต่ลัทธิเสรีนิยมใหม่กับอำนาจปกครองของลัทธินี้ กำลังผันตัวเองให้กลายเป็นความจริงเสมือนที่ตัดขาดจากประชาชนไปทุกที พร้อม ๆ กับระบอบเศรษฐกิจที่ผันตัวเอง จากภาคการผลิตจริงไปเป็นการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่ตั้งอยู่บนการซื้อขายอนาคตอันจับต้องไม่ได้ ความเป็นไปนี้คือปัญหาที่ท้าทายต่อขบวนการและท้าทายต่อทุกคนที่ไม่ต้องการเป็นเกาะโดดเดี่ยวบนมหาสมุทรแห่งความทุกข์

ส่วนผู้แปลหนังสือเล่มนี้คือ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับนาโอมี และเช่นเดียวกับนาโอมี สมัยที่เป็นวัยรุ่น คงไม่มีใครคิดว่าเขาจะพลิกผันตัวเองมาอยู่ในแวดวงของคนทำงานทางด้านสังคม ดังที่เคยพูดในการอภิปรายครั้งหนึ่งว่า เขาเคยเมาจนถูกไล่ออกจากหอพัก แม้แต่การศึกษาปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิภพก็เรียนมาทางด้านพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ซึ่งดูน่าจะไปทำงานด้านธุรกิจมากกว่า แต่ลงท้ายพิภพกลับเวียนว่ายอยู่ในแวดวงนักเคลื่อนไหวและนักคิด ทำงานทั้งด้านความคิดและการปฏิบัติ โดยเคยทำงานอยู่ในคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา เสมสิกขาลัย เป็นสาราณียกรของปาจารยสารอยู่หลายปี และในปัจจุบันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิ EarthRights International เชียงใหม่

หนังสือเรื่อง รั้วกับหน้าต่าง เป็นเรื่องราวที่เล่าจากสมรภูมิการต่อสู้ ของขบวนการที่พยายามแย่งชิงโลกาภิวัตน์มาจากเงื้อมมือของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เพื่อให้โลกาภิวัตน์กลับมาเป็นของประชาชนคนเดินดินอย่างแท้จริง เรื่องราวทั้งหมดนี้ไม่มีวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีวีรกรรมที่ปราศจากข้อบกพร่อง เป็นเรื่องของคนธรรมดาสามัญที่ต้องการเขียนประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง เหมือนดังที่ชาวซัปปาติสตาบอกว่า "เราไม่สามารถสร้างประวัติศาสตร์ให้คุณได้ แต่เราขอบอกว่า คุณต่างหากที่ต้องสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาเอง"

ภัควดี วีระภาสพงษ์
18 สิงหาคม 2546

 

 





บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ลัทธิเสรีนิยมใหม่กับอำนาจปกครองของลัทธินี้ กำลังผันตัวเองให้กลายเป็นความจริงเสมือนที่ตัดขาดจากประชาชนไปทุกที พร้อม ๆ กับระบอบเศรษฐกิจที่ผันตัวเอง จากภาคการผลิตจริงไปเป็นการทำธุรกรรม
ทางการเงิน ที่ตั้งอยู่บนการซื้อขายอนาคตอันจับต้องไม่ได้
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

หลายชั่วรุ่นมาแล้วที่มนุษย์เรามุ่งหวังจะแสวงหาคำตอบเดียว รอคอยวีรบุรุษหรือศาสดา ฝากความหวังไว้กับผู้เชี่ยวชาญ ยึดติดอยู่กับความแน่นอนของลัทธิอุดมการณ์บางอย่าง เวลาล่วงเลยนานเท่าไร สภาพของมนุษย์ก็มีแต่จะเลวร้ายลงกว่าเดิม คงถึงเวลาแล้วกระมังที่เราต้องสลัดทิ้งความเคยชินเดิม ๆ และตะโกนเหมือนอย่างชาวซัปปาติสตาว่า "มันมากเกินพอแล้ว!" ถึงเวลาที่เราต้องให้โอกาสแก่อนาธิปไตยทางความรู้ การริเริ่มของสามัญชน หัวเราะเยาะวีรบุรุษ และหัดสร้างความเคยชินว่า เมื่อใดก็ตามที่มีใครมาบอกคุณว่า นี่คือความจริงแท้แน่นอน เมื่อนั้นจงคาดหมายเถิดว่า นรกกำลังมารอรำไรอยู่เบื้องหน้า ไม่ว่าคนที่มาบอกคุณคนนั้นจะสวมหัวโขนของฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา หรือทางสายกลางก็ตาม

R
related topic
081048
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้