wbfish.gif (2301 bytes)

SacadeR.jpg (29139 bytes)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเสนอ รายการทีทรรศน์ท้องถิ่นในรูปบทความจากโทรทัศน์ ตอน "นักวิชาการเครื่องซักผ้า" โดยวิทยากร อ.ศรีศักร วัลลิโภดม, อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์, อ.ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต, คุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, ดำเนินรายการโดย อ.ประมวล เพ็งจันทร์

ความรู้ของนักวิชาการเป็นสิ่งที่สังคมให้การยอมรับ ในเวลาเดียวกันนั้น นักวิชาการส่วนหนึ่ง ก็ได้เอาประโยชน์ที่สังคมให้ความไว้วางใจดังกล่าว ไปใช้กับผลประโยชน์ของตนเอง โดยการประพฤติปฏิบัติที่ออกมาในรูปของ ”นักวิชาการเครื่องซักผ้า”.
นักวิชาการเครื่องซักผ้า คือคนกลุ่มหนึ่ง ที่อยู่คราบของนักวิชาการที่คอยทำหน้าที่ฟอกโครงการขนาดใหญ่ หรือนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม อันไม่น่าไว้วางใจให้สะอาด บริสุทธิ์ โดยเป็นที่น่าสงสัยต่อจริยธรรมทางวิชาการ.
ความจริงแล้ว ศาสตร์ทุกศาสตร์ วิชาการทุกสาขา ควรเป็นไปเพื่อชีวิตที่งดงามและชีวิตที่มีสุขของมนุษย์และธรรมชาติ มิใช่หรือ ?

สนใจโปรดคลิกไปอ่านได้ที่แบนเนอร์ midnight's article ในหัวข้อที่ 35

 

introduction

1.TV.Program

2.Questionnaire

3. Information

4. Article and Knowledge  

5. Discussion

6. Schedule

7. Member

8. History

9. Alternative School

10. answer & Letter

11. art & movie

12. Webboard

13. midnight's report

14. midnight's special

15. psychology

16.link

17. criticism

18. creativity

19.art link

HOME

WEBBOARD

reporter

 

Bkasean.jpg (17068 bytes)

รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายของ ดร. เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการแห่งมหาวิทยาธรรมศาสตร์ ในการสัมมนาคนจนกับทางออกของสังคมไทย ซึ่งจัด ณ หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ริมสันเขื่อนปากมูล เมื่อวันที่ 20-21 เมษายน 2543 โดย สมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สถาบันเพื่อสิทธิชุมชน และ เครือข่ายแม่น้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ / กองบรรณาธิการขอขอบคุณคุณชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ที่กรุณาส่งบทความชุดทุบเขื่อนเพื่อชาติมาให้เผยแพร่ และเห็นว่า น่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว จึงได้นำมาตีพิมพ์โดยได้ทำการตัดต่อให้เหลือเฉพาะการอภิปรายของอาจารย์เกษียร เท่านั้น

"เขื่อนคือซากศพเศรษฐกิจการค้า…การรื้อ หรือทุบ หรือเปิดน้ำในเขื่อนปากมูลออก มันเป็นสัญลักษณ์ก้าวแรกว่า เราจะเดินทางใหม่"

Bstart.jpg (2995 bytes) "ผมอยากจะเล่าเรื่องคนจนโดยผ่านการเล่าเรื่องน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำมูลที่เห็นอยู่นี้ ในกรอบของความคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจการค้า ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อปี 2539 โดยจะพูดเรื่องคนจนเป็น 3 ตอนคือ: ตอนแรกน้ำมูลก่อนมีเขื่อน, ตอนที่สองคือ น้ำมูลหลังมีเขื่อนแล้ว และตอนที่สาม น้ำมูลต่อจากนี้หากไม่ทุบเขื่อน"

"ผมคิดว่าน้ำมูลก่อนมีเขื่อนปากมูล เป็นทรัพยากรของเศรษฐกิจพอเพียง คือ มีน้ำ มีปลา ซึ่งหมายถึงมีความชอุ่ม มีพืชผักนาไร่ มีสิ่งเหล่านี้ก็มีฐานให้สร้างชีวิต มีครอบครัว มีหมู่บ้าน มีชุมชน และก็มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องทำอยู่ทำกิน ผมเคยอ่านรายงานว่า พ่อใหญ่บางคนของหมู่บ้านในลุ่มน้ำนี้สามารถจำชื่อปลาได้เป็นร้อยๆ ชนิด จากจำนวน 250 กว่าชนิด นี่เป็นความรู้ เป็นทุนทางสังคม ความเอื้ออารีต่อกัน การรู้จักอยู่ รู้จักการแก้ไขปัญหา เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทุนทางธรรมชาติเหล่านี้หมดไปพร้อมกับเขื่อน" "เมื่อมาดูน้ำมูลโดยที่มีเขื่อนอันเบ้อเริ่มขวางอยู่ อย่างที่เห็นตอนนี้ น้ำมูลไม่ใช่ทรัพยากรของเศรษฐกิจพอเพียงอีกต่อไป มันกลายเป็นทรัพยากรของเศรษฐกิจการค้า พร้อมกับมีเขื่อน เศรษฐกิจการค้าได้เข้ามาอิง มาชิง โดยที่ชาวบ้านแถวนี้มิได้ยินยอม มาปล้นเอาทรัพยากรจากเศรษฐกิจพอเพียงไป หรือพูดให้ถึงที่สุดก็คือ เขื่อนปากมูลนั้นบ่อนทำลายเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง"

"ในกระบวนการบ่อนทำลายเศรษฐกิจพอเพียงของเขื่อนปากมูล ได้สร้างคนจนขึ้นจำนวนมาก จริงอยู่ที่มีคนจนในทุกประเทศ ในประเทศพัฒนาก็มี แต่จนแต่ละที่นั้น จนคนละแบบไม่เหมือนกัน จนแบบไทยๆ หรือจนแบบประเทศกำลังพัฒนาที่ไปรับเงินกู้จากธนาคารโลกนั้น เป็นการจนแบบกระบวนท่าพิเศษ คือจนในท่ามกลางการพัฒนา ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วจน หรือพูดให้ชัดๆ ก็คือ เราจนเพราะถูกพัฒนา"

"การพัฒนาฟังแล้วดูดี แต่ที่เอามาใช้ในเมืองไทยมันเป็นกรรมอย่างหนึ่ง คนที่ถูกการพัฒนาไปเยี่ยมบ้าน ก็เหมือนกับคนที่โดนห่าลง ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อไรก็สิ้นเนื้อประดาตัว ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อไร ก็คือถูกทำลายฐานเศรษฐกิจพอเพียง ตอนนี้รู้ชื่อปลามีประโยชน์อะไร เพราะไม่มีปลาให้จับ และที่มันน่าอนาถก็คือว่า คนที่ชี้วัด ก็จะกล่าวว่า ทำเถิด เฮ็ดเขื่อนใหญ่ๆ หลายๆ ชาติจะพัฒนา จะยิ่งใหญ่

ปัจจุบัน เขื่อนก็เหมือนวัด เหมือนวิหารของประเทศไทยสมัยใหม่ สร้างเขื่อนแล้วชาติไทยจะพัฒนา คือเป็นชาตินิยมเขื่อนใหญ่ วิธีคิดแบบนี้ เป็นเพราะเริ่มต้นจากที่ว่า พอเอาน้ำมูลที่เคยให้ชาวบ้านใช้จับปลา ใช้ทำอยู่ทำกินไปทำเป็นพลังงานไฟฟ้า ไปเข้าโรงงาน ไปผลิตสินค้าแล้วขาย ประเทศชาติจะพัฒนา จะรู้ได้อย่างไรว่าพัฒนา ก็วัดเอาจากสินค้าที่ผลิตมามีกี่ชิ้น แล้วกี่บาท ก็คูณเข้าไป หารเป็นกี่ดอลลาร์ เสร็จแล้วก็พบว่า " ฉิบหาย บ้านเราโคตรรวยเลย ที่มันวัดได้ เพราะคุณวัดแบบนั้น แต่ที่ชาวบ้านฉิบหายนั้น มันวัดไม่ได้ เพราะไม่เคยวัด…"

"ทั้งหมดที่ชาวบ้านเสียไป พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกัน มีพ่อแม่คนไหนในโลกที่อยากจะให้ลูกไปคุ้ยกองขยะที่ดอนเมือง มีพ่อคนไหนที่อยากจะทิ้งลูกทิ้งเมียไปหางานทำไกลๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าลูกจะเป็นอย่างไร.." "พอพูดแล้วมันทำให้คนที่มีอำนาจอยู่ในรัฐบาลฟังยาก เพราะพอพูดทีไรก็จะบอกว่า ชาวบ้านปากมูลตรงนี้มีกี่คน ประเทศไทยมีตั้ง 50 ล้าน 60 ล้านคน เพราะฉะนั้น คุณเป็นคนส่วนน้อย จงเสียสละเถิดเพื่อเห็นแก่ชาติ"

"เอาแผนที่ประเทศไทยมาวาด ปากมูลเล็กกว่าชาติ จงเสียสละเถิด ไปที่ลำตะคองจงเสียสละเถิดเพื่อเห็นแก่ชาติ ไปที่ราษีไศล จงเสียสละเถิดเพื่อเห็นแก่ชาติ ไปที่ไหนก็จะพูดอย่างนี้ตลอด ประทานโทษ คุณหั่นคนเหล่านี้หมดไป ผมอยากจะรู้ว่าชาติคุณอยู่ตรงไหน? ชาติคุณหมายถึงใคร หรือเอาเข้าจริงๆ ชาติคุณมีไหม"

"คุณไล่คนแต่ละท้องที่ออกไปแล้วนับว่าเขาไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของชาติ มันก็พูดได้ไม่จบ พูดไปได้เรื่อยๆ แต่ประเด็นก็คือว่าที่คุณทำไปทั้งหมด มันกำลังทำลายชาติ ยิ่งทำเศรษฐกิจสินค้าให้ใหญ่ให้โต ยิ่งบ่อนทำลายเศรษฐกิจพอเพียงลงไป ชาติไทยก็ยิ่งฉิบหายลงไปอีก"

"ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อนนั้นชัดที่สุด แต่บทเรียนนั้นก็จะไม่เคยเรียน มีความจริง 3 อย่างเกี่ยวกับเศรษฐกิจสินค้าที่ผมคิดว่าเราควรจะตระหนัก อันที่หนึ่ง คือเศรษฐกิจการค้าบริโภคทรัพยากรสิ้นเปลืองมาก สอง เพราะมันเปลืองทรัพยากรมหาศาล มันจึงบ่อนทำลายทรัพยากรของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้วในตัว และสาม เมื่อมันบริโภคมากอย่างนั้น มันบ่อนทำลายชาวบ้านที่อยู่กันอย่างพอเพียงอย่างนี้แล้ว เศรษฐกิจสินค้าอยู่ดีๆ มันยังเจ๊งเองอีก เพราะคนมันโลภ มันอยู่เฉยมันก็เจ๊งเหมือน 2-3 ปีก่อน"

"เพราะเศรษฐกิจการค้ามีลักษณะเหล่านี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคุมเศรษฐกิจการค้า มันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคคนประชาชน คนจน ภาคเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องมีส่วนในอำนาจสาธารณะ อำนาจการเมือง เพื่อไปดึงเศรษฐกิจการค้าไว้ไม่ให้มันไปกำเริบร่าน พล่าน และทำลายชาติลง ประเด็นมันไม่ใช่ว่าจะลดอำนาจภาครัฐแล้วเอาไปให้ภาคประชาชน ผมว่าประเด็นมันยิ่งกว่านั้นอีก"

"โดยตัวภาคธุรกิจเอกชน ภาคเศรษฐกิจการค้านั้นมันจะทำลายเศรษฐกิจพอเพียง เพราะโดยตัวมันเองมีวิกฤติอยู่ในตัวมันเอง ทางเดียวที่จะหยุดมันตรงนั้นได้ ภาคประชาชน คนจนจะต้องมีอำนาจการเมือง และมีอำนาจเข้าไปหยุดมันด้วย อำนาจตรงนั้นเป็นอำนาจสาธารณะ เป็นอำนาจการเมือง ปฏิเสธตรงนั้นไม่ได้ ทุกวันนี้ไม่มีใครจะหยุดความอยากกำไร ความโลภตรงนั้น และเพราะไม่มีใครจะหยุด ระบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็จะกุมทรัพยากร ก็จะไล่คนที่เคยอยู่อย่างพอเพียงออกจากทรัพยากรของเขา และในที่สุด ก็จะนำไปสู่วิกฤติอีกไม่รู้จบ"

"สินค้าที่ผลิตขึ้นมาจากเศรษฐกิจการค้าเหล่านั้นเอามาทำไม ก็เอามาขาย พอถึงจุดนี้ประเด็นที่คุยมาทั้งหมด ดูเหมือนปัญหามันจะรวมศูนย์ไปอยู่ที่รัฐบาลหรือภาครัฐ อันนี้ผมเห็นด้วย ผมคิดว่าโครงสร้างอันหนึ่งที่เป็นปัญหาต่อคนจนในเมืองไทยมากคือ ภาครัฐที่ทำการพัฒนาแบบรวมศูนย์"

"ขณะที่เราพูดถึงภาครัฐ มันมักจะมีการพูดถึงภาคอื่นควบคู่กันด้วย. ใน 4-5 ปีมานี้ คือภาคประชาสังคม และก็พูดราวกับว่าภาคประชาสังคมคือคำตอบ คือความหวังที่จะเป็นกุญแจสารพัดนึก เป็นโอสถสารพัดนึก กินเข้าไปแล้วจะหายป่วย คนจนจะหายจน ผมคิดว่า ไม่แน่นะครับ และผมก็คิดด้วยว่า ไม่เพียงแต่รัฐเท่านั้นที่เป็นปัญหาของคนจน ประชาสังคม ก็เป็นปัญหาของคนจนด้วย"

"ประชาสังคมเป็นปัญหาของคนจนอย่างไร พูดให้ถึงที่สุด ประชาสังคมที่พูดๆ และใช้กันอยู่ในเมืองไทย เราหมายถึงคนกรุง คือคนชั้นกลางที่อยู่ในกรุง คนเหล่านี้มีสองอย่างที่คนไทยไม่มี คือ หนึ่ง อำนาจที่จะซื้อ, สอง เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีมาตราหนึ่งบอกว่าเมืองไทยจะต้องดำเนินเศรษฐกิจแบบเสรี โดยมาตรานี้คนชั้นกลางในกรุงจึงไม่เพียงแต่จะมีเงิน มีอำนาจซื้อ แต่ยังมีเสรีภาพที่จะบริโภคด้วย" "ภายใต้ระบบแบบนี้ คนชั้นกลางถ้าไม่คิดให้ดี เอาเข้าจริงก็เหมือนกับยักษ์ที่เดินกร่าง เข้ามาสู่พื้นที่เศรษฐกิจพอเพียงต่างๆ ในชนบท มือซ้ายกำธนบัตร มือขวากำเสรีภาพที่จะบริโภค แล้วก็ซื้อ ซื้อ ซื้อ กิน กิน กิน แล้วเมืองไทยก็หมดทรัพยากร"

"ผมคิดว่ามีทรัพยากรบางอย่าง ได้แก่ ลุ่มน้ำ ที่ดิน ป่าไม้ สำคัญกับคนจน และสำคัญสำหรับชาติไทยของเราเกินกว่าที่จะปล่อยให้ทรัพยากรเหล่านี้กลายเป็นสินค้าที่ใครมีเงินก็ซื้อได้โดยเสรี ใครมีเงินก็ถือครองที่ดินได้โดยไม่จำกัด ร้อยไร่ พันไร่ หมื่นไร่ เราปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไม่ได้" "ต้องจำกัดอำนาจที่จะซื้อ เสรีภาพที่จะบริโภคของคนชั้นกลาง และคนมีอำนาจเหล่านั้นในสังคมไทยต่อทรัพยากรบางอย่างที่สำคัญต่อคนจน อันนี้ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ต่อคนจนโดยแคบ แต่เพื่อชาติไทยโดยรวม

มีของบางอย่างที่สำคัญต่อชาติไทยเราเสียจนกระทั่งคุณปล่อยให้ทุกคนมาซื้อไม่ได้" "ตอนนี้กำลังเตรียมจะเข็นน้ำเข้าตลาด และขายน้ำให้กับคนที่มีอำนาจซื้อและมีเสรีภาพที่จะบริโภคน้ำ ธรรมชาติของน้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ แต่น้ำที่เข้าตลาดจะไม่ไหลอย่างนั้น น้ำที่กลายเป็นสินค้าจะไหลตามอำนาจซื้อ มันจะไหลจากที่ๆ อำนาจซื้อต่ำ ไปสู่ที่ๆ มีอำนาจซื้อสูง คือไหลจากที่นี่ไปสู่ที่นั่น"

"คนจนในเมืองไทยถ้าปล่อยให้มีการเก็บค่าน้ำชาวนา ที่เป็นก้าวแลกไปสู่การทำให้น้ำเป็นสินค้า คนจนจะเอื้อมไม่ถึงน้ำ และน้ำก็ไม่เหมือนรถเบนซ์ ที่ไม่มีก็โหนรถเมล์ทนร้อนได้ แต่น้ำเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ที่มนุษย์ทุกคนต้องมีมัน พื้นฐานกว่าเรื่องศักดิ์ศรีด้วยซ้ำ ไม่มีน้ำเราตายแน่นอน และเงื่อนไขธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ที่เสนอให้รัฐบาลไทยด้วยการเอาเงินกู้มาแลกนั้น ถ้าเราปล่อยอันนี้ ฉิบหายนะครับ"

"ถ้าจะหยุดมัน เขื่อนปากมูลก็เป็นสัญลักษณ์ที่ดี ไม่ใช่เฉพาะเขื่อนปากมูล เขื่อนจำนวนมากในเมืองไทยเรา คิดให้ดีมันก็คือซากศพของเศรษฐกิจการค้า มันเป็นพยานความล้มเหลวที่เดินมา 40 ปี สร้างขึ้นมาคุ้มไหม. บอกจะผลิตๆ ไฟฟ้า ผลิตได้เท่าไร บอกจะแก้ปัญหาชลประทาน แล้วได้ทำจริงหรือเปล่า บอกจะเพิ่มจำนวนปลาแล้วมีไหม เปิดเขื่อนหรือทุบเขื่อนอันนี้ทิ้ง จึงสำคัญตรงนี้"

"มันไม่ใช่แค่ทำให้ชาวบ้านได้มีปลาใช้ต่อ ปมมันอยู่ตรงนี้ คือชาติไทย ที่ไม่ได้มีแต่เพียงผู้มีอำนาจ แต่คือคนไทยทั้งหมด คนชั้นกลางในเมือง คนทั้งหลายหรือพวกเราทั้งหมด ที่ร่วมเดินทางผิดมา 40 กว่าปี พร้อมจะรับไหมว่ามันผิด ถ้ารับว่ามันผิด การรื้อ หรือทุบ หรือเปิดน้ำในเขื่อนปากมูลออก มันเป็นสัญลักษณ์ก้าวแรกว่าเราจะเดินทางใหม่ ทางนี้เราเดินต่อไปไม่ได้ เดินต่อไปชาติจะฉิบหาย และที่ฉิบหายก็คือ ลูกหลานของเราข้างหน้า"

"ผมอยากเก็บเมืองไทยให้เป็นที่อยู่ที่ทำกินของลูกผมข้างหน้า และผมไม่อยากให้เมืองไทย เป็นที่ที่คนไม่มีน้ำ ขาดน้ำ อดน้ำตาย เพราะว่าเขาจน ผมคิดว่าการทุบเขื่อนมันจึงสำคัญต่อความเป็นไปทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่คนจนเท่านั้น"

Back to Article

HOST@THAIIS