wbfish.gif (2301 bytes)

SacadeR.jpg (29139 bytes)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเสนอ รายการทีทรรศน์ท้องถิ่นในรูปบทความจากโทรทัศน์ ตอน "นักวิชาการเครื่องซักผ้า" โดยวิทยากร อ.ศรีศักร วัลลิโภดม, อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์, อ.ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต, คุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, ดำเนินรายการโดย อ.ประมวล เพ็งจันทร์

ความรู้ของนักวิชาการเป็นสิ่งที่สังคมให้การยอมรับ ในเวลาเดียวกันนั้น นักวิชาการส่วนหนึ่ง ก็ได้เอาประโยชน์ที่สังคมให้ความไว้วางใจดังกล่าว ไปใช้กับผลประโยชน์ของตนเอง โดยการประพฤติปฏิบัติที่ออกมาในรูปของ ”นักวิชาการเครื่องซักผ้า”.
นักวิชาการเครื่องซักผ้า คือคนกลุ่มหนึ่ง ที่อยู่คราบของนักวิชาการที่คอยทำหน้าที่ฟอกโครงการขนาดใหญ่ หรือนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม อันไม่น่าไว้วางใจให้สะอาด บริสุทธิ์ โดยเป็นที่น่าสงสัยต่อจริยธรรมทางวิชาการ.
ความจริงแล้ว ศาสตร์ทุกศาสตร์ วิชาการทุกสาขา ควรเป็นไปเพื่อชีวิตที่งดงามและชีวิตที่มีสุขของมนุษย์และธรรมชาติ มิใช่หรือ ?

สนใจโปรดคลิกไปอ่านได้ที่แบนเนอร์ midnight's article ในหัวข้อที่ 35

 

introduction

1.TV.Program

2.Questionnaire

3. Information

4. Article and Knowledge  

5. Discussion

6. Schedule

7. Member

8. History

9. Alternative School

10. answer & Letter

11. art & movie

12. Webboard

13. midnight's report

14. midnight's special

15. psychology

16.link

17. criticism

18. creativity

19.art link

HOME

WEBBOARD

reporter

 

Banthology.jpg (12938 bytes)

อำนาจและพลังทางสังคม 3 ชนิด

หมายเหตุ ข้อมูลทั้งหมดนี้ เป็นการเก็บความมาจากการบรรยายของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งบรรยายให้กับนักศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าฯ (ที่เดินทางมาศึกษาภาคสนาม ณ เขตจังหวัดภาคเหนือ) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ สวนบันรีสอร์ท อ.หางดง ในวันที่ 3 มิถุนายน 2543 เวลา 8.30 น. (ข้อมูลที่เก็บความมานี้ ได้มีการปรับปรุงขึ้นมาใหม่และจัดแยกหัวข้อตามที่ผู้เรียบเรียงเข้าใจ และประยุกต์ให้เข้ากันกับสื่ออิเล็คทรอนิค. ดังนั้น หากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้เรียบเรียงขอรับผิดชอบต่อข้อมูลเหล่านี้ที่นำเสนอ. สมเกียรติ ตั้งนโม)

  1. พลังทางสังคมออกเป็น 3 ส่วนคือ

  1. พลัง”พลานุภาพ” หมายถึงพลังอำนาจซึ่งมาจากการใช้กำลัง เป็นอำนาจของการใช้ความรุนแรงเข้าแก้ไขปัญหา พลังชนิดนี้ ยิ่งใช้ความรุนแรงมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เกิดความทุกข์ยากมากทั้งฝ่ายที่ถูกกระทำและฝ่ายที่กระทำ และในท้ายที่สุดผู้ใช้ความรุนแรงนั้นก็จะอยู่ไม่ได้. (สังคมที่ใช้พลังแบบ”พลานุภาพ”นี้ เป็นสังคมในรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุด มีมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน และมักเป็นสังคมที่ล้าหลัง)

  2. พลัง”ธนานุภาพ” หมายถึงพลังอำนาจซึ่งได้มาจากการใช้อำนาจทางการเงิน แทรกซึมเข้ามาในการแก้ปัญหา หรือเข้าแก้ปัญหาโดยตรง. อำนาจที่มาจากเงินนี้ไม่มีสัญชาติ แผ่ซ่านแทรกซึมไปได้ทั่วและซับซ้อน มีความแนบเนียนจนผู้ที่ถูกใช้อำนาจชนิดนี้ไม่ทันรู้ตัว ดังนั้น จึงเป็นอันตรายมากเพราะผู้ถูกกระทำไม่ทันได้ระวังตัวเหมือนกับคนที่ใช้ความรุนแรงกับเรา

  3. พลัง”สังคมานุภาพ” หมายถึงพลังทางสังคมหรือชุมชน บางท็เรียกว่า”ประชานุภาพ” พลังชนิดนี้เชื่อใน”อำนาจของความรู้”ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกัน ร่วมคิดร่วมทำ และการระดมสมองเพื่อเข้าแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นอำนาจในลักษณะของการประสานร่วมมือกัน อำนาจความรู้นี้มีความยั่งยืน. สำหรับ”สังคมานุภาพ”นี้ เป็นพลังอำนาจที่รวมตัวกันอยู่ในพื้นที่จริงทางภูมิศาสตร์หรือทาง cyber space ก็ได้ โดยผ่านสื่ออีเล็คทรอนิค ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน พลังเช่นนี้จึงมาจากหลายแหล่งความคิด และมีอำนาจในการแก้ไขปัญหาทุกชนิด โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง

2. รูปธรรมโครงสร้างทางอำนาจ

    1. รูปธรรมทางโครงสร้างพลัง”พลานุภาพ” จะเป็นไปในลักษณะแนวดิ่งจากบนลงล่างตามลำดับ มีการสั่งการและมีผู้ปฏิบัติตาม. โครงสร้างทางอำนาจชนิดนี้มีลักษณะของผู้ชาย และอำนาจไม่ยั่งยืน กล่าวคือ เมื่อผู้มีอำนาจแบบนี้ตายลง โครงสร้างนี้ก็จะเสื่อมทรุดลง หรือบางครั้งก็พังครืนลงมา

    2. รูปธรรมทางโครงสร้างพลัง”ธนานุภาพ” มีลักษณะเป็นแนวดิ่งและแนวนอน ทั้งในลักษณะของการสั่งการของผู้มีอำนาจเงินมากกว่าลงมาตามลำดับ และการแพร่กระจายไปตามแนวนอนแบบเชื้อโรค อีกทั้งยังทำงานร่วมกับอำนาจแบบ”พลานุภาพ”ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้อำนาจความรุนแรงเข้มข้นมากขึ้น. ส่วนการสืบทอดอำนาจนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

    3. รูปธรรมทางโครงสร้างพลัง”สังคมานุภาพ” จะเป็นไปในลักษณะแนวนอน และร่วมประสานความร่วมมือ อำนาจนี้มีความยั่งยืนกว่า และเป็นอำนาจแบบผู้หญิง คือถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่มีลักษณะของความเป็นผู้นำที่โดดเด่น หรือการสืบทอดอำนาจตลอดกาล

3. สังคมานุภาพ

สังคมานุภาพ เกิดขึ้นมาได้จากหลายๆสาเหตุ บางครั้งเริ่มต้นขึ้นมาจากการพยายามหาทางแก้ปัญหาร่วมกันในสิ่งที่นำมาซึ่งความทุกข์ อาจเริ่มจากความทุกข์ของปัจเจกชน และพัฒนาไปสู่การร่วมกันกับคนที่มีความทุกข์อย่างเดียวกัน และพยายามค้นหาทางออกพร้อมๆกัน. การร่วมทุกข์นี้ในทางพุทธศาสนาถือว่าจะทำให้ความรู้สึกทุกข์นั้นน้อยลง และที่สำคัญ การร่วมทุกข์ทำให้ได้มีการปรับทุกข์ ได้รับการปรึกษาหารือกัน จากหนักกลายเป็นเบา

4. หลักธรรมแห่งสังคมานุภาพ

ในทางพระพุทธศาสนา มีหลักธรรมที่นำมาประยุกต์ใช้ได้กับพลังแห่ง”สังคมานุภาพ”คือ หลักแห่ง”อปริหานิยธรรม”(หรือ ธรรมะที่ไม่ทำให้ฉิบหาย)[ปริหานิยธรรม – ธรรมแห่งความฉิบหาย] ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนให้มีการ”หมั่นประชุมกันเนืองนิจ”

ในหนังสือเรื่อง Making Democracy World : civic tradition of modern Itary เป็นหนังสือเกี่ยวกับการไปศึกษาเชิงเปรียบเทียบถึงความแตกต่างของประเทศอิตาลีว่า ทำไมเมืองมิลาโน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี จึงมีความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง, แต่พอมาศึกษาที่ซิซิลี ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ ทำไมจึงพบว่ามีแต่การคอรัปชั่น การฆ่ากัน การโกงกัน และมาเฟีย. ผมสรุปของการศึกษาเชิงเปรียบเทียบนี้ออกมาคือ เป็นเพราะเมืองมิลาโนมีประชาคม ในขณะที่ซิซิลีไม่มีประชาคม. การมีประชาคม ทำให้การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมดี มีศีลธรรม

สรุปทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้ หากใช้คำพูดที่รวบรัดและสั้นที่สุดก็คือ “ประชาคม”, “ประชาสังคม”, และ”ความร่วมมือกัน”นั่นเอง

Bantho1.jpg (15267 bytes)

เก็บตกสาระ (Anthology)

  • เขื่อนกับการทำลาย / การสร้างเขื่อนกักน้ำขึ้นมาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั้น เพื่อนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม เป็นการลงทุนให้กับเศรษฐกิจแบบกระแสหลัก โดยทำลายเศรษฐกิจแบบพอเพียงของผู้คนที่อยู่หลังเขื่อนนับเป็นหมื่นคนอย่างถาวร. การที่เราเข้าไปเดินในห้างสรรพสินค้าซึ่งติดแอร์คอนดิชั่นเย็นฉ่ำ เราเคยรู้สึกสำนึกไหมว่า ความสะดวกสบายเหล่านี้ที่ได้มา แลกมาด้วยความทุกข์และความตายอันเนื่องมาจากเขื่อนขนาดใหญ่ เบื้องหลังของความสบายของเรา คือความเดือดร้อนของผู้คนและการทำลายธรรมชาติที่อยู่หลังเขื่อน คนเล็กคนน้อยเหล่านี้เป็นผู้ที่ต้องจ่ายให้กับความสะดวกของคนในเมือง เพราะถูกผลกระทบ เช่น น้ำท่วมที่อยู่ที่ทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่มาแต่เดิมนับชั่วอายุคนลงไปอย่างไม่มีวันเรียกคืนกลับมาได้ พันธุ์ปลาหายไปเป็นจำนวนมาก ปัญหาดินเค็ม เหล่านี้คือต้นทุนทั้งหมดที่ต้องนับรวมเข้าไปด้วยกับโครงการเขื่อน ซึ่งผู้ที่จ่ายไม่ได้ใช้ และผู้ใช้ไม่ได้จ่าย และสิ่งที่ต้องจ่ายเป็นต้นทุนเหล่านี้มันจึงไม่ใช่เพียงแค่งบประมาณในรูปตัวเงิน

  • ปลักควายคือแหล่งน้ำสุดท้าย และเป็นที่มาของความคิดบ่อปลาของพ่อสุก / คุณโสภณ สุภาพงษ์ ได้เล่าให้นักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าฯฟังว่า เคยไปถามเรื่องบ่อปลาของพ่อสุกว่า “ทำไมจึงเก็บน้ำเอาไว้ได้ ทั้งๆที่อยู่ในภาคอีสาน ?”. พ่อสุกอธิบายว่า ความเป็นครูของตน. เพราะตนเรียนรู้เรื่องนี้ได้โดยการสังเกตุปลักควายว่า สภาพอากาศในฤดูร้อนอย่างนี้ ทำไมปลักควายจึงยังมีน้ำอยู่ ทำไมมันจึงไม่แห้งเหือดไปเหมือนกันกับแหล่งน้ำอย่างอื่นๆ จากคำถามและข้อสงสัยนี้ทำให้ค้นหาคำตอบออกมาได้ว่า เป็นเพราะควายมันลงไปนอนกลิ้งเกลือกอยู่ในปลัก ในขณะที่มันนอนกลิ้งเกลือกเพื่อคลายความร้อนนั้น มันก็ได้ทำหน้าที่ยาก้นบ่อด้วยดินเหนียวไปในตัวด้วย ทำให้น้ำไม่ดูดซึมหายลงไปในดิน ทั้งหมดนี้ พ่อสุกสรุปว่า”ควายเป็นครูของตน, ควายกำลังสอนคน. หลังจากนั้นพ่อสุกจึงทำบ่อปลาของตนขึ้นมาโดยยาก้นบ่อด้วยดินเหนียว และบ่อปลาของพ่อสุกนั้นยังป้องกันเรื่องดินเค็มในภาคอีสานได้ด้วยทั้งนี้โดยการยกขอบบ่อขึ้นมา แทนที่จะเป็นการขุดลงไป

  • การกำหนดเส้นแบ่งของความยากจนในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี คุณโสภณ สุภาพงษ์ กล่าวถึงเส้นแบ่งความยากจนโดยอาศัยปริมาณของสารอาหารที่บริโภคเข้าไปในแต่ละวัน ด้วยการดูที่การได้มาซึ่งปริมาณแคลอรี่ที่บริโภคเข้าไปในแต่ละวัน และพบว่า ทุกๆ 4 คนที่เดินสวนกันกับเรา จะมี 1 คนที่เรียกว่าเป็นคนจนตามเส้นแบ่งนี้ ทั้งนี้เพราะคน 1 คนนั้น ได้แคลอรี่ต่อวันไม่ถึงมาตรฐาน, คน 1 คนนั้นจึงมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่าวัว เพราะวัวแต่ละตัวได้แคลอรี่จากอาหารที่มันบริโภคเข้าไปพอเพียง (เก็บความมาจากการบรรยายของคุณโสภณ สุภาพงษ์ ซึ่งบรรยายให้กับนักศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าฯ ที่เดินทางมาศึกษาภาคสนาม ณ เขตจังหวัดภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ สวนบันรีสอร์ท อ.หางดง ในวันที่ 3 มิถุนายน 2543)

 

Back to Home Next to Article

 

 

 

 

 

 

 

 

 

HOST@THAIIS