wbfish.gif (2301 bytes)

SacadeR.jpg (29139 bytes)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเสนอ รายการทีทรรศน์ท้องถิ่นในรูปบทความจากโทรทัศน์ ตอน "นักวิชาการเครื่องซักผ้า" โดยวิทยากร อ.ศรีศักร วัลลิโภดม, อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์, อ.ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต, คุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, ดำเนินรายการโดย อ.ประมวล เพ็งจันทร์

ความรู้ของนักวิชาการเป็นสิ่งที่สังคมให้การยอมรับ ในเวลาเดียวกันนั้น นักวิชาการส่วนหนึ่ง ก็ได้เอาประโยชน์ที่สังคมให้ความไว้วางใจดังกล่าว ไปใช้กับผลประโยชน์ของตนเอง โดยการประพฤติปฏิบัติที่ออกมาในรูปของ ”นักวิชาการเครื่องซักผ้า”.
นักวิชาการเครื่องซักผ้า คือคนกลุ่มหนึ่ง ที่อยู่คราบของนักวิชาการที่คอยทำหน้าที่ฟอกโครงการขนาดใหญ่ หรือนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม อันไม่น่าไว้วางใจให้สะอาด บริสุทธิ์ โดยเป็นที่น่าสงสัยต่อจริยธรรมทางวิชาการ.
ความจริงแล้ว ศาสตร์ทุกศาสตร์ วิชาการทุกสาขา ควรเป็นไปเพื่อชีวิตที่งดงามและชีวิตที่มีสุขของมนุษย์และธรรมชาติ มิใช่หรือ ?

สนใจโปรดคลิกไปอ่านได้ที่แบนเนอร์ midnight's article ในหัวข้อที่ 35

 

introduction

1.TV.Program

2.Questionnaire

3. Information

4. Article and Knowledge  

5. Discussion

6. Schedule

7. Member

8. History

9. Alternative School

10. answer & Letter

11. art & movie

12. Webboard

13. midnight's report

14. midnight's special

15. psychology

16.link

17. criticism

18. creativity

19.art link

HOME

WEBBOARD

reporter

 

BenvironR.jpg (17284 bytes)

กลุ่มอนุรักษ์เมืองกาญจนฯ ได้จัดวัน"สิ่งแวดล้อมโลก"ขึ้นในวันที่ 3-5 มิถุนายนนี้ ณ ศาลาอเนกประสงค์"60 พรรษามหาราช" จังหวัดกาญจนบุรี   โดยได้เชิญมหาวิทยาลัยเข้าร่วมในอภิปรายเรื่อง"สู่อนาคตการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม : ข้อเสนอเพื่อไม่ต้องให้มีบทเรียนในอนาคต" โดยมีผู้ร่วมอภิปรายดังนี้

Benviron1.jpg (4824 bytes)

อาจารย์พิภพ ธงไชย ผู้ดำเนินรายการ

BenvironTT.jpg (10941 bytes)

สู่อนาคตการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม : ข้อเสนอเพื่อไม่ต้องให้มีบทเรียนในอนาคต

อาจารย์พิภพ ธงไชย ผู้ดำเนินการอภิปราย ได้แนะนำผู้เข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อดังกล่าว ประกอบด้วย นางรตยา จันทรเทียร, พลเอกหาญ ลีลานนท์, และ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และหลังจากนั้นได้เชิญให้ผู้เข้าร่วมอภิปราย ดำเนินการอภิปรายตามลำดับ

นางรตยา จันทรเทียร : เสนอว่า ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยทุกวันนี้ เริ่มต้นขึ้นมาจาก ทิศทางการพัฒนาประเทศของไทยเรา ซึ่งได้เน้นการส่งออกและพัฒนาการทางด้านอุตสาหกรรมมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจเช่นนี้ เป็นแบบเดียวกันกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจฟองสบู่ซึ่งเกิดขึ้นกับสังคมไทยเมื่อไม่นานมานี้นั่นเอง

ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจลักษณะดังกล่าว เป็นแนวทางเศรษฐกิจแบบกระแสหลัก รัฐเป็นผู้กำหนดและได้ครอบงำแนวทางการพัฒนามาโดยตลอด นอกจากนี้ยังได้ให้ขยายเรื่องเศรษฐกิจแบบกระแสหลักว่า : ประเทศไทยกำลังค้นหาหนทางว่า ทำอย่างไร จึงจะมีการลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ สื่อไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย ล้วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

จากผลของทิศทางการพัฒนาในเรื่องเศรษฐกิจเงินตรา เน้นการส่งออกและอุตสาหกรรมเช่นนี้ ได้เป็นที่มาของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล. และลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นพร้อมๆกันทั้งโลก. คุณรตยา เสนอว่า ทิศทางการพัฒนาของประเทศมีแนวทางอีกกระแสหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นแนวทางเศรษฐกิจแบบกระแสรอง เน้นการช่วยเหลือตัวเอง และเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศในฝ่ายของภาคประชาชน

นางรตยา ได้พูดถึงแนวคิดของ ศ.เสน่ห์ จามริก ในเรื่องเกี่ยวกับ”ฐานทรัพยากรทางธรรมชาติ” ซึ่งการคำนึงถึงฐานทรัพยากรธรรมชาติ จะเป็นปัจจัยหรือตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศที่ถูกต้อง

สำหรับข้อเสนอหรือทางออกต่อประเด็นปัญหาข้างต้นนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างหนักเช่นดังเดิม นางรตยาได้พูดถึงทางออกนี้ด้วยกัน 3 ประเด็นคือ

  1. การที่รัฐมีแผนและทิศทางการพัฒนาของประเทศนั้น ประชาชนขอมีสิทธิ์และมีส่วนในการรับรู้เกี่ยวกับแผนการณ์ดังกล่าวว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร ? ประเทศชาติจะไปทางไหน ? และลงรายละเอียดลึกลงไปถึงว่า แต่ละภูมิภาคจะมีทิศทางการพัฒนาอย่างไร ?

  2. ให้ประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่ออ้างสิทธิดังกล่าวให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูล และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งข้อนี้เป็นการนำเอารัฐธรรมนูญมาเป็นเครื่องมือของประชาชน

  3. ขอให้มีคณะกรรมการแต่ละจังหวัดขึ้นมา เพื่อดูแผนพัฒนาของแต่ละจังหวัด ทั้งนี้เพื่อใช้สิทธิของการมีส่วนร่วม และเพื่อความโปร่งใส

พลเอกหาญ ลีลานนท: เสนอว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่าที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นมาจากผู้มีอำนาจทางการเมืองและผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย. ส่วนสำหรับทางออกเกี่ยวกับการแก้ปัญหานี้ พลเอกหาญ เสนอเอาไว้ 4 หนทางคือ

  1. ให้ใช้รัฐธรรมนูญเข้าแก้ไขปัญหาการผลาญทรัพยากรและการทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะ รัฐธรรมนูญมีกลไกมากมายในการแก้ปัญหาดังกล่าว

  2. เน้นการเมืองภาคประชาชนและของพลเมืองให้เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น

  3. ให้มีการตรวจสอบนักการเมืองทั้งระดับชาติ ไล่ลงมาจนถึงระดับท้องถิ่น

  4. เน้นบทบาทของวุฒิสมาชิกให้เข้ามาแก้ไขปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : กล่าวนำถึงจังหวัดกาญจนบุรีว่า กาญจนบุรีถือเป็นเมืองหลวงของการเคลื่อนไหวในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะชาวจังหวัดกาญจนบุรีมีการคลื่อนไหวในเรื่องของเขื่อนน้ำโจน หรือเรื่องท่อก๊าส ปตท. แต่เป็นเพราะจังหวัดกาญจนบุรีมีการร่วมมือกันของชนชั้นกลางในเมืองกับชนในชนบทรอบนอก การรวมตัวกันเช่นนี้ เป็นมิติที่ดีของสังคม และจะส่งผลให้ความเคลื่อนไหวประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพราะ ชนชั้นกลางเป็นพวกที่มีอำนาจทางการเมือง เป็นพวกที่มีกำลังซื้อ และเป็นพวกที่เข้าถึงอำนาจได้

อ.นิธิ ได้พูดถึงสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมว่า เกิดจากการพัฒนาของระทุนนิยม. ทุกวันนี้การชำรุดของสิ่งแวดล้อมมีที่มาหรือต้นตอจากระบบทุนนิยม โดยยกภาพให้เห็นว่า นับตั้งแต่ ค.ศ.1850-1900 มานี้ โลกเราได้ผลิตคาร์บอนในบรรยากาศมากกว่าตั้งแต่ได้กำเนิดมีมนุษย์ขึ้นมาบนโลกรวมกันเนแสนๆปี. อ.นิธิ ได้กล่าวต่อในลักษณะเป็นการตั้งคำถามว่า”ทำไมทุนนิยมจึงร้ายการ”

”ทำไมทุนนิยมจึงร้ายการ”

  1. ที่ทุนนิยมร้ายการก็เพราะ มันเน้นในเรื่องตัวกูของกู สำคัญที่สุด หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุนนิยมเน้นในเรื่องของปัจเจกชนสำคัญที่สุดและแบ่งแยกตนเองออกมาจากธรรมชาติ. ก่อนหน้านี้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่โดยอาศัยอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ มีความเชื่อมโยงกัยสิ่งแวดล้อมรอบตัว คือ ธรรมชาติ มนุษย์ พืช และสัตว์

  2. แนวคิดของทุนนิยมเป็นเรื่องของการแสวงหากำไร กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถที่จะเอามาทำกำไรได้ทั้งสิ้น แม้แต่แม่ของมันเองก็ตาม. ในระบบทุนนิยมนี้ มีการเน้นในเรื่องของ rational ซึ่งสำหรับคำๆนี้มิได้หมายถึงหรือแปลว่า”ความมีเหตุผล” ที่จริงมันหมายความถึง “การทำอะไรที่มีเป้าหมายชัดเจน” สำหรับระบบทุนนิยมนั้นมี rational อยู่ที่คำสั้นๆที่ว่า”กำไร”

อ.นิธิ ได้ยกตัวอย่างถึง กรณีของชาวกระเหรี่ยง ทางรัฐได้ออกโฉนดที่ดินให้กับคนเหล่านี้ได้มีสิทธิครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ ปรากฏว่าชาวกระเหรี่ยงตกใจมาก ทั้งนี้เพราะที่ดินหรือที่ทำกินทั้งหมดนั้นเป็นของพระเจ้าหรือของผี มนุษย์ไม่สามารถเป็นเจ้าของได้. เรื่องราวและสำนึกในทำนองเดียวกันนี้ อ.นิธิกล่าวว่า ได้รับฟังมาจาก อ.ชัชวาล ปุญปัน ว่า ชาวลาดัคหรือชาวธิเบตก็มีความเชื่ออย่างเดียวกันนี้เช่นกัน. ทั้งนี้เพราะ เราจะนำเอาที่ดินไปเป็นสินค้าไม่ได้ หรือเอาไปขายหรือหากำไรไม่ได้ เพราะมันเป็นปัจจัยการผลิต

ทางออกของปัญหาสิ่งแวดล้อม และการแก้ไข

  1. อ.นิธิ เสนอว่า “จะต้องเลิกเป็นทุนนิยม”. แต่ในระยะเวลาอันใกล้นี้ยังเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงเสนอทางออกในข้อที่ 2 คือ

  2. เป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง หรือ เป็นทุนนิยมที่ก้าวหน้า. อ.นิธิ ได้กล่าวไปถึงข้อมูลอันหนึ่งซึ่งได้ฟังมาจาก อ.รัชนี ธงไชย ว่า มีรัฐมนตรีบางคนได้ไปพูดที่มหาวิทยาลัยบูรพาว่า เศรษฐกิจพอเพียงที่เสนอมานั้น มันเป็นไปไม่ได้.

นอกจากนี้ ในกรณีที่ต้องมีการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรนั้น อ.นิธิ เสนอว่า กระบวนการตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม จะต้องให้คนหลากหลายกลุ่มที่สุดได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคในการเข้าร่วมการตัดสินใจ และได้เสนอหนทาง 5 ข้อสำหรับเรื่องนี้คือ

  1. ให้ใช้รัฐธรรมนูญเป็นพื้นฐานในการเรียกร้องสิทธิดังกล่าวในการเข้าไปมีส่วนร่วม นอกจากนี้ของให้ตามดูกฎหมายลูกด้วยว่า ได้ออกกฎหมายมาสอดคล้องและตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่าให้นักการเมืองบิดเบือนกฎหมายเหล่านี้

  2. ขยายอำนาจการตัดสินใจไปสู่ชุมชน โดยได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการตีความคำว่า”ชุมชน”ให้กว้างกว่าเดิม ไม่ใช่หมายเพียงว่า เป็นคนที่อาศัยอยู่มาแต่เดิมในพื้นที่หนึ่งเท่านั้น แต่ให้กว้างไปถึงชุมชนในลักษณะใหม่ๆที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับสังคมข่าวสารข้อมูล

  3. การละเมิดกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งหมดมาจากราชการ ดังนั้นจะต้องมีการปฏิรูประบบราชการ ราชการควรเปลี่ยนแปลงตนเองได้แล้ว ทั้งนี้เพราะเท่าที่ผ่านมา ราชการทำตัวเหมือนกับเป็นลูกจ้างของนายทุน ความจริง ราชการไม่ใช่ลูกจ้างของนายทุน และราชการก็ไม่ใช่พวกชาวบ้านด้วย แต่ราชการเป็นหน่วยงานกลางที่คอยทำหน้าที่เชื่อมโยงคนจากหลายๆกลุ่ม พร้อมรับฟังข้อมูลจากทุกด้านเพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจ

  4. องค์กรบริหารทรัพยากรแบบใหม่นั้น จะต้องประกอบกันขึ้นมาจากหลายๆส่วน เป็นลักษณะของการผสมผสาน หรือเป็นส่วนผสมของชุมชน องค์กรฯต่างๆ และรัฐ มาจากหลายภาคของสังคม แล้วร่วมกันตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการตัดสินใจแบบรวมศูนย์

  5. การตัดสินใจในเรื่องปัญหาต่างๆเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมนั้น ยังใช้ไม่ได้ แม้ว่าจะมีการทำประชาพิจารณ์ก็ตาม ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมา การประชาพิจารณ์ได้กลายเป็นวิธีการประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่ง. นอกจากนี้ การทำ EIA ก็เป็นบริษัทธุรกิจของบรรดานักวิชาการทั้งหลายมากกว่าที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชน ดังนั้นจึงต้องมี EIA ภาคประชาชนขึ้นมาคู่กันกับ EIA ของนักวิชาการธุรกิจ.

หลังจากได้มีการอภิปรายกันจนครบทุกคนแล้ว ที่ประชุมได้เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นและการตั้งคำถาม ปรากฎว่ามีคำถามหนึ่งที่หลุดเข้ามาเกี่ยวกับกรณีที่ญาติวีรชนเดือนพฤษภา ขอให้กองทัพฯ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนพฤษภาทมิฬ ทั้งนี้เพราะ จากข้อมูลที่เปิดเผยโดยกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีการลบข้อมูลด้วยแถบสีดำถึง 80 % ของข้อมูลทั้งหมด โดยอ้างความมั่นคงนั้น เป็นการถูกต้องแล้วหรือ

ต่อประเด็นนี้ อ.นิธิ ตอบว่า “พวกเราทุกกลุ่ม จะต้องช่วยกันกำหนดนิยามคำต่างๆขึ้นมาด้วย โดยไม่ยินยอมให้ใครเป็นผู้ให้นิยามความหมายของสิ่งใดแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว ทั้งนี้เพราะการนิยมคืออำนาจ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็น”การแย่งชิงการสร้างวาทกรรม”ขึ้นมานั่นเอง

สำหรับคำว่า”ความมั่นคง”นั้น ทหารหรือกองทัพฯเป็นผู้ผูกขาดการนิยามคำนี้มาโดยตลอด การนิยามคำนี้ มีมาตั้งแต่การปราบปรามคอมมิวนิสต์.

อ.นิธิ กล่าวเสริมว่า ครั้งหนึ่ง บรรดาแม่บ้านทหารบก เคยเชิญ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ให้ไปพูดเรื่องทำนอง”แม่บ้านกับความมั่นคงของประเทศ” ต่อกรณีนี้จะเห็นได้ว่า ทหารได้นิยามความมั่นคงขึ้นมานับตั้งแต่ขอบเขตที่กว้างที่สุดลงมาถึงครกและสากกระเบือในบ้านของเรา. ดังนั้น จึงอยากให้ประชาชนทุกกลุ่มอย่ายอมให้ใครหรือคนบางกลุ่มสร้างนิยามความหมายของอะไรขึ้นมาแต่เพียงผู้เดียว ประชาชนทุกกลุ่มจะต้องเข้ามาแย่งชิงการนิยาม.

Benviron2.jpg (11820 bytes)

 

Back to Home   Next to Article   Next to Webboard

 
HOST@THAIIS