มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเสนอ รายการทีทรรศน์ท้องถิ่นในรูปบทความจากโทรทัศน์ ตอน "นักวิชาการเครื่องซักผ้า" โดยวิทยากร อ.ศรีศักร วัลลิโภดม, อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์, อ.ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต, คุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, ดำเนินรายการโดย อ.ประมวล เพ็งจันทร์ ความรู้ของนักวิชาการเป็นสิ่งที่สังคมให้การยอมรับ
ในเวลาเดียวกันนั้น
นักวิชาการส่วนหนึ่ง
ก็ได้เอาประโยชน์ที่สังคมให้ความไว้วางใจดังกล่าว
ไปใช้กับผลประโยชน์ของตนเอง
โดยการประพฤติปฏิบัติที่ออกมาในรูปของ
”นักวิชาการเครื่องซักผ้า”. สนใจโปรดคลิกไปอ่านได้ที่แบนเนอร์ midnight's article ในหัวข้อที่ 35
|
|
ในวันเปิดบ้าน ทำบุญมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 43 ที่ผ่านมา, ช่วงบ่ายๆได้จัดให้มีการเสวนากันเรื่อง"วัฒนธรรมฮาเฮ"ขึ้นที่บ้านใหม่ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในซอยวัดอุโมงค์ เชียงใหม่. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ทำการบันทึกเทปการเสวนาดังกล่าว และได้ถอดเทปออกมาแล้ว ดังมีเนื้อหาสาระดังต่อไปนี้ วงสนทนามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน / วันที่ 23 พฤษภาคม 2543 เวลา 13.30 น. ณ บ้านมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซ.วัดอุโมงค์ จ. เชียงใหม่ เนื่องในวันเปิดบ้านมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สนทนาในหัวข้อเรื่อง “วัฒนธรรมฮาเฮ” สุชาดา จักร์พิสุทธิ์ : วันนี้เราจะเปิดวงสนทนามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หลังจากห่างหายไปครึ่งค่อนปี และมีหลายๆคนถามถึง. ช่วงที่ผ่านมา บรรดาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีภารกิจวสัญจรไปต่างจังหวัดหลายครั้งหลายคราว ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านกรูด หรือที่ปากมูล จึงทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมการสนทนาให้ต่อเนื่องได้ แต่สำหรับวันนี้เป็นฤกษ์ดีที่เรามีบ้านใหม่ ก็ร่มรื่นพอสมควร ทำให้เราเริ่มวงสนทนากันได้ ซึ่งวันนี้เป็นวันเปิดบ้านมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จึงอยากจะนำเสนอเรื่องที่จะสนทนากันในหัวข้อ”วัฒนธรรมฮาเฮ”หรือ”อารมณ์ขัน 101” . สำหรับหัวข้อนี้ เราตั้งใจจะพูดคุยกัน สำหรับพรรคพวกเพื่อนฝูงที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯด้วยนะคะ ซึ่งอยากจะให้เป็นหัวข้อพื้นๆที่พวกเราสามารถจะแสดงความคิดเห็นกันได้. และอาจจะเป็นเรื่องแปลกที่วันนี้เรามีภารโรงคนใหม่คือ คุณวัลลภ แม่นยำ นักเขียนการ์ตูน ซึ่งจะเป็นคนนำสนทนาในเรื่อง”อารมณ์ขัน 101”. ตามกติกาเดิมของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนคือ คนนำวงสนทนามีสิทธิพูดได้ประมาณ 15 นาที โดยไปทำการบ้านมา แล้วนำมาเปิดประเด็นเป็นการปูพื้นในหัวข้อเกี่ยวกับประเด็นที่เราตั้งไว้คร่าวๆ และหลังจากนั้นก็ขอเชิญให้ทุกท่านร่วมวง แลกเปลี่ยนสนทนากัน โดยจะออกไปนอกหัวข้อหรือนอกประเด็นที่ผู้นำการสนทนานี้พูดไว้ก็ได้นะคะ เพราะปรัชญาของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็คือว่า ช่วยกันเรียนรู้และไม่มีคำตอบสำเร็จรูปสำหรับใคร สำคัญที่สุดก็คือให้ทุกคนตั้งคำถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน. ขอเชิญเข้าสู่วงสนทนามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเลยนะคะ ขอเชิญ อ. วัลลภ คะ วัลลภ แม่นยำ : มาร์ก ทเวน บอกว่า “ไม่มีความขบขันบนสวรรค์”. ผมขอเปิดประเด็นเรื่อง”วัฒนธรรมฮาเฮ” หรือ “อารมณ์ขัน 101”เลยนะครับ. …อันที่จริงหัวข้อที่เราจะคุยกันวันนี้ มีผู้ทักท้วงว่ามันคงไม่เป็นเรื่องในเชิงวิชาการ หรือทางด้านสติปัญญา มันอาจจะเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นตลกคาเฟ่เฮฮา หรือเรื่องบ้าๆบอๆ. ในทุกวันนี้เรามักจะได้ยินข่าวว่าบ้านเมืองเรากำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม. เราควรจะมาคุยกันในเรื่องวาระแห่งชาติ หรือเราควรจะมาคุยกันเรื่องความไม่เป็นไทของคนไทย, หรือเศรษฐกิจพอเพียง, หรือการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง, หรืออะไรเหล่านี้เพื่อให้คนไทยตระหนักว่า “ต่อไปนี้ห้ามหัวเราะนะ”. ผมในฐานะที่มีอาชีพเป็นคนวาดรูปให้คนหัวเราะ บางครั้งก็ไร้สาระบ้าง บางครั้งก็ไม่มีสาระ และไม่ค่อยจะมีมิติทางสังคมมากนัก. พรรคพวกที่มากันวันนี้ เป็นคนที่ชอบเฮฮาไร้สาระอย่างผมก็มี. ผมเองจะเป็นคนนำประเด็นในเรื่อง”วัฒนธรรมฮาเฮ”ในเชิงวิชาการ เพราะผมไปค้นคว้ามาพอสมควร. ขอขึ้นต้นด้วยคำถามในเชิงวิชาการว่า “ทำไมคนเราจึงหัวเราะ ?, คนเราหัวเราะกันทำไมวะ ?” ด้วยเหตุที่เราไม่รู้ชัดว่าทำไมคนเราจึงหัวเราะ อันนี้เป็นปัญหาของมนุษย์นะครับ ไม่ใช่ปัญหาของสัตว์. ซิกมันด์ ฟรอยด์ อธิบายอย่างคลุมเครือว่า อารมณ์ขันเป็นวิธีการหาหนทางหลีกเลี่ยงความทุกข์. เมื่อสถานการณ์ไม่ดี เราทำตลก เหมือนกับโลกนี้ไม่มีความหมาย มันเป็นเพียงแต่เกมส์, หรือเป็นเพียงการปฏิเสธความจริงเท่านั้น. การหัวเราะนั้นเป็น catharsis (การระบายถ่ายท้อง / แนวคิดของอริสโตเติลที่ว่า การที่เราดูเรื่องโศก หรือเรื่องตลก เป็นการปลดปล่อยตัวเราเองออกมาให้ผ่อนคลายภาวะนั้นๆ) เป็นการผ่อนคลาย บรรเทา. การที่คนเราหัวเราะก็เพราะ”คิด” เป็น comedy, ในขณะที่คนเราเศร้าก็เพราะ”รู้สึก” เป็น tragedy. อันที่จริงอารมณ์ขันเป็นปรากฎการณ์ที่สำคัญในจิตใจของมนุษย์ แต่ถูกละเลยที่จะกล่าวถึงในแง่ปรัชญา จิตวิทยา และในทฤษฎีต่างๆ. ด้วยเหตุดังนั้น อารมณ์ขันจึงสำคัญทีเดียวที่เกี่ยวข้องกับ information system acting. แต่ข้อมูลข่าวสารทั่วไป มักจะเป็นไปในลักษณะ passive information. อ.นิธิ พูดถึงอารมณ์ขันว่า มีอยู่ 2 ระดับคือ, “ระดับการทำลาย” อันนี้หมายถึงการทำลายชนชั้นของอำนาจ เกียรติยศ อภิสิทธิ์ และความศักดิ์สิทธิ์ก็หมดไป. เรียกว่าหัวเราะครั้งหนึ่ง เราทุกคนก็เท่าเทียมกันหมด. ส่วนอารมณ์ขันอีกระดับหนึ่งก็คือ “ระดับการสร้างสรรค์” เป็นการสร้างบรรยากาศการคุยกันระหว่างพวกเรา โดยเอาความสนุกเป็นหลักนั้น ไม่ต้องเป็นเรื่องเป็นราวมากนัก อันนี้น่าจะทำให้เราคิดอะไรได้มากขึ้น สร้างสรรค์มากขึ้น. แม้แต่ฟริดจ๊อป คาปร้า ยังเขียนถึงอารมณ์ขันใน”Tao of Physic” ว่า “การรับรู้ในลักษณะสหัชญาน(intuition)แบบไร้ตรรกะนั้น เป็นเรื่องของ joke หรือ ตลกขบขัน. ในเสี้ยววินาทีหนึ่งที่คุณเข้าใจ joke นั้น คุณมีประสบการณ์ที่เรียกว่า enlightenment เลย”. ในเรื่องของเซน มีเรื่องเล่าที่เป็น anecdote หรือ เกร็ดเล็กๆน้อยที่น่าสนใจซึ่งเป็นเรื่องตลกขบขันทั้งนั้น. และใน”เต๋าเต๋อจิง”คัมภีร์เต๋า มีคำกล่าวตอนหนึ่งว่า “ถ้าไม่มีการหัวเราะ ก็ไม่มีความเป็นเต๋า”. มาร์วิน วินสกี้ นักวิทยาศาสตร์ที่ MIT ได้พูดถึงเรื่องของอารมณ์ขันว่า “อารมณ์ขันนั้น มีบทบาทหน้าที่ของมันอย่างมีแก่นสารในการเรียนรู้. ถ้าเรามีการเรียนรู้อย่างมีบริบทเคร่งเครียด(serious context) ผลลัพธ์ที่ได้มาคือความเปลี่ยนแปลงธรรมดา, แต่ถ้าเป็นการเรียนรู้อย่างมีบริบทขบขัน(humor context)นั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงแบบไม่ธรรมดา. ทั้งหมดที่ผมนำเสนอมานี้ มาจากหนังสือของ นอร์แมน ฮอลแลนด์ อาจารย์มหาวิทยาลัยคอร์แนล จากหนังสือเรื่อง Laughing : a psychology of humor และจากหนังสือเรื่อง The Society of Mind เล่มนี้เป็นของ มาร์วิน วินสกี้ อาจารย์จากสถาบัน MIT. และจาก The Tao of Physic ของ ฟริดจ๊อป คาปร้า. ผมคิดว่าผมได้นำเสนอครบ 15 นาทีแล้วครับ. ขอให้คนช่วยต่อผมด้วยครับ สมเกียรติ ตั้งนโม : อันที่จริง เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมฮาเฮ ถ้าเรารู้สึกว่ามันไร้สาระ, จริงๆแล้วก็คือว่า ความรู้สึกที่ว่าเรื่องตลกเป็นเรื่องที่ไร้สาระนี่ อาจจะเป็นเพราะว่าเราถูกครอบงำความคิดนี้มาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16. หรืออันที่จริงก่อนหน้านั้นเสียอีก. ทั้งนี้เพราะสมัยอารยธรรมกรีก เรื่องโศกนาฏกรรมและหัสนาฏกรรม เป็นของคู่กันมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากงานของอริสโตเติลซึ่งเขียนเอาไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า Poetics ได้กล่าวถึงเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้. แต่พอมาถึงสมัยกลาง เมื่อคริสเตียนเรืองอำนาจ ความคิดเกี่ยวกับเรื่องตลกกลายเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เป็นเรื่องต้องห้าม. “เรื่องตลกกลายเป็นเรื่องต้องห้ามเช่นเดียวกับเรื่องเซ็กซ์”ในสมัยกลาง. ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดก็คือ อย่างเช่นในงานวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์กลายๆ ซึ่งเพิ่งแปลเป็นภาษาไทยเมื่อไม่นานมานี้เล่มหนึ่งชื่อว่า”สมัญญยาแห่งดอกกุหลาย”(the name of the Rose) ถ้าใครได้อ่านงานวรรณกรรมเรื่องนี้ของ Umberto Eco. เรื่องนี้ทั้งเรื่องได้รับการประพันธ์ขึ้นมาโดยความคิดเกี่ยวกับงานปรัชญาของอริสโตเติลในเรื่อง Poetics นั่นเอง. วรรณกรรมเรื่องนี้เคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว. สำหรับวรรณกรรมหรือนวนิยายเรื่องนี้ ทั้งหมดของเนื้อหาผูกประเด็นอยู่ที่การพยายามที่ซ่อนหนังสือเรื่อง Poetics เอาไว้ในห้องสมุดที่สำคัญแห่งวัดศูนย์กลางแห่งหนึ่งในอิตาลี เพราะหนังสือเล่มดังกล่าวได้พูดถึงเรื่องตลกเอาไว้. ทั้งนี้เพราะมีพระผู้ใหญ่ที่ชราภาพองค์หนึ่งไม่ต้องการให้ใครได้อ่านเรื่องดังกล่าว เพราะเกรงว่าผู้ได้อ่านหนังสือเรื่องนั้น จะไปยกย่องสรรเสริญเรื่องของอารมณ์ขัน และทำให้ออกนอกรีตนอกรอย การเก็บซ่อนหรือการรักษาเอาไว้ให้มันเป็นความลับ เป็นที่มาของการตายอันลึกลับที่เกิดขึ้น ณ ศาสนสถานแห่งนี้ จนต้องมีกาส่งพระนักสืบมาค้นหาร่องรอยเกี่ยวกับการฆาตกรรมดังกล่าว. จะเห็นว่า วรรณกรรมเรื่องนี้ เป็นการแสดงนัยะสำคัญถึงเรื่องตลกว่าเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมสมัยนั้น และแนวคิดนี้ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใช้อีกในคริสตศตวรรษที่ 16. อันที่จริงเรื่องตลกนั้นเป็นเรื่องที่ดี เราจะเห็นว่า แนวคิดใหม่ๆในทางการแพทย์. ใครก็ตามที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง Patch Adam ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหมอที่รักษาคนไข้ด้วยการหัวเราะ(ซึ่งอันที่จริงเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง), เรื่องนี้ผู้แสดงเป็นหมอคนนั้นก็คือ โรบิน วิลเลียม. สำหรับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับวงการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา คือการรักษาโรคด้วยการหัวเราะ อันที่จริงอย่างที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี เคยกล่าวเอาไว้ในเชิงคำถามว่า “รักษาโรคหรือรักษาคน” ถ้ารักษาโรคก็จะมีวิธีปฏิบัติกับคนไข้อย่างหนึ่ง แต่หากว่ารักษาคนก็จะมีการปฏิบัติกับคนไข้อีกอย่างหนึ่ง. สำหรับการรักษาโรคด้วยการหัวเราะนี้ ผู้สนใจให้หาอ่านหนังสือเรื่อง”มิติใหม่แห่งความเข้าใจชีวิตและสุขภาพ”ซึ่งเป็นหนังสือแปล โดย คนที่ใช้นามปากกาว่า”วเนช” หมอประเวศ เป็นผู้เขียนคำนำ. เนื้อหาในหนังสือกล่าวว่า, ใครก็ตามที่ป่วยอยู่ในบ้านของเรา คนป่วยไม่เพียงป่วยคนเดียวเท่านั้น แต่คนป่วยได้พาให้ครอบครัวทั้งหมดป่วยตามกันไปหมดด้วยความห่วงใย และเป็นทุกข์ บรรยากาศทั้งบ้านที่เคยมีความสุขก็กลับโศกเศร้า เพราะเกิดมาจากคนป่วยเพียงคนเดียว. ฉนั้นทางออกสำหรับปัญหานี้ หากเราทำให้คนป่วยหัวเราะได้ ก็จะทำให้บรรยากาศแห่งความเครียด ความเศร้า และความทุกข์ร้อนคืนกลับมาสู่ความเป็นปกติ จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งของคนป่วยและไม่ป่วยในบ้าน. จากแนวคิดดังกล่าว จึงได้มีการพยายามที่จะคิดค้นในการบำบัดสุขภาพจิตของคนป่วยให้มีความสุขมากขึ้น ให้มีคุณภาพดีขึ้น อันนี้เรียกว่าการรักษาโรคด้วยการหัวเราะ. วิธีการก็คือ อาจจะไปยืมหนังสือมาจากห้องสมุด ไปยืมวิดีโอมาให้คนป่วยดู เพื่อให้คนป่วยมีสุขภาพจิตดี ร่าเริงขึ้น และมองชีวิตเป็นเรื่องที่ขบขันทดแทนความเศร้า อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับประโยชน์ของเรื่องตลกที่อยากจะยกมาเป็นตัวอย่างในที่นี้คือ นักข่าวชาวต่างประเทศคนหนึ่งเคยเรียนถามท่านทะไลลามะว่า “ท่านได้ประสบกับมรสุมชีวิตอันทุกข์ยากหนักหน่วงมากมาตั้งแต่วัยหนุ่มเพราะเหตุทางการเมืองของธิเบต และต้องลี้ภัยมาอยู่ ณ ธรรมศาลา แต่ทำไมท่านจึงยิ้มและร่าเริงอยู่ได้ ทำไมท่านจึงยังหัวเราะอยู่ได้ตลอดเวลา ? องค์ทะไลลามะตอบว่า การที่ท่านยังหัวเราะได้ก็เพราะ เรื่องของการหัวเราะเป็นเรื่องของความสุข และเมื่อไรก็ตามที่คุณทำให้คนอื่นหัวเราะได้ คุณจะทำให้สารเอนโดฟินหลั่ง. และทุกครั้งในที่ประชุม องค์ทะไลลามะจะทำให้บรรยากาศของการประชุมเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ทำให้สารเอนโดฟินของแต่ละคนหลั่งออกมา เพื่อจะได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ผมมี 2 ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นเชิงคำถามมากกว่า ไม่ใช่เป็นการประกาศสัจจธรรมว่ามันใช่นะครับ. สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้คือว่ามันใช่หรือไม่ใช่นะครับ. ประเด็นที่หนึ่งผมเข้าใจว่า สัตว์นั้นมันหัวเราะไม่ได้ ผมคิดว่าเด็กแดงๆก็หัวเราะไม่ได้ หัวเราะในความหมายที่ว่ารู้สึกขัน. เด็กเล็กๆหัวเราะได้ แต่ขันไม่ได้. เอามือไปจี้เด็กแดงๆ เด็กอาจจะหัวเราะแต่ไม่ใช่การขบขัน. เพราะการที่คนเราจะขันเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง เราจะต้องมีความเข้าใจอะไรหลายๆอย่างมาก เช่นเป็นต้นว่า เข้าใจตรรกะ ถึงจะพบว่าสิ่งที่เขาพูดมาหรือสิ่งที่เขากระทำนั้นมันขัดกับตัวตรรกะหรือมันไม่ลงรอยกับตัวตรรกะ ไม่เป็นไปตามความคาดหมายของตรรกะ เราถึงจะเห็นว่ามันน่าขบขัน. คุณจะต้องมีความเข้าใจในระเบียบประเพณีที่คุณอยู่ คุณถึงจะรู้สึกว่าการเดินแก้ผ้าไปรับปริญญานั้นมันน่าขันดี เพราะต้องเริ่มต้นก่อนว่า คนที่เดินไปรับปริญญานั้นไม่ควรจะแก้ผ้า อะไรเหล่านี้เป็นต้น. เพราะฉนั้นผมคิดว่า ความขบขันนั้นเป็นวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างมันขึ้นมา ด้วยเหตุใดอย่างที่ อ.วัลลภพูดถึง หรืออย่างที่นักจิตวิทยาพูดถึง อันนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นเพราะมนุษย์สร้างมันขึ้นมาต่างหาก เป็นเหมือนกับวัฒนธรรม เป็นเหมือนๆกับศาสนาหรือสิ่งอื่นๆที่มนุษย์สร้างขึ้น. ประเด็นที่หนึ่งของผมเป็นอย่างนี้ ประเด็นที่สองก็คือ เรามักจะพูดถึงอารมณ์ขันประหนึ่งว่ามันเป็นสากล เป็นมนุษย์ที่ไหนๆก็มีอารมณ์ขัน ซึ่งก็จริง. แต่เนื่องจากเหตุผลข้อที่หนึ่งซึ่งพูดไปแล้วเมื่อกี้ ผมคิดว่าอารมณ์ขันในแต่ละวัฒนธรรมนั้นไม่เหมือนกัน เพราะว่าตรรกะในแต่ละวัฒนธรรม ระเบียบประเพณีในแต่ละวัฒนธรรมก็ไม่เหมือนกัน อะไรที่ถือว่างาม อะไรที่ถือว่าไม่งามก็ไม่เหมือนกัน ฉนั้นอารมณ์ขันในแต่ละวัฒนธรรมจึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง. ผมพูดถึงเรื่องนี้เพราะเหตุว่าในสมัยที่ผมเป็นหนุ่มกว่านี้นี่ พวกนักเรียนนอกชอบพูดว่าคนไทยไม่มีอารมณ์ขัน ซึ่งผมรู้สึกอึดอัดมากเลยว่า ผมก็ไม่เห็นว่าฝรั่งมันหัวเราะมากกว่าเราตรงไหน. มันเป็นการไม่ยอมรับการสร้างอารมณ์ขันแบบไทย แล้วก็มองว่าคนไทยไม่มีอารมณ์ขัน. เพราะฉนั้นเวลาที่เราพูดถึงเรื่องอารมณ์ขัน เราจะต้องคิดถึงว่าเรากำลังพูดถึงอารมณ์ขันของวัฒนธรรมอะไรด้วย. ทั้งสองอันนี้ไม่ใช่สัจธรรมอย่างที่พูดเอาไว้แล้ว แต่เป็นประหนึ่งคำถามด้วยนะครับ สมเกียรติ ตั้งนโม : สิ่งซึ่งท่านอาจารย์นิธิ พูดไว้นี้, Dr.Richard F. Trafinger เคยได้สรุปเอาไว้ว่า มีเงื่อนไขอยู่ 6 ประการที่จะทำให้เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องตลกได้ อย่างเช่น บรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งหากเราบิดบรรทัดฐานทางสังคมที่ยอมรับกันอยู่ ก็จะทำให้เป็นเรื่องตลกได้. หรือการทำให้เกิดการพลิกกลับไปในทางตรรกะ ก็จะทำให้เป็นเรื่องตลกได้. แต่ว่าก็มีเรื่องตลกอีกอย่างนะครับ ซึ่งเป็นการดูถูกเรื่องทางเพศ ซึ่งสมัยหนึ่งอาจเป็นเรื่องตลก แต่อีกสมัยหนึ่งอาจกลายเป็นเรื่องที่ไม่สมควรไป. อันนี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรม. หรืออย่างเช่น บางสมัย ผู้หญิงซึ่งใส่เสื้อผ้าของผู้ชาย อาจเป็นเรื่องน่าขัน แต่ในสมัยนี้กลับกลายเป็นเรื่องธรรมดา ตลกอย่างนี้จะไม่ร่วมสมัย (ใครที่สนใจเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เป็นเรื่องตลก ดูใน web site นี้ ไปที่ index หัวข้อ article & knowledge จะพบเรื่องดังกล่าว). สุชาดา จักรพิสุทธิ์ : ขอตั้งคำถามต่อจากอาจารย์นิธิซึ่งพูดถึงว่า ไม่เห็นว่าฝรั่งมันขำมากไปกว่าคนไทย ก็เลยเกิดคำถามว่าฝรั่งกับคนไทยมันขำต่างกันอย่างไร ? ในบริบทอะไรที่ทำให้ขำต่างกัน เช่น มีคนบอกว่า คนไทยจะรู้สึกขำหรือรู้สึกตลกเมื่อมีการตีหัว หรือขำที่กริยาอาการ, แต่ฝรั่งจะขำกันที่สำนวนหรือคำพูด. อันนี้จริงไหมค่ะ หรืออาจารย์ว่ามันต่างกันอย่างไร ? นิธิ เอียวศรีวงศ์ : จริงๆผมไม่ทราบว่าฝรั่งขันอย่างไร ? เป็นแต่เพียงว่า ฝรั่งกับผมที่ขันไม่เหมือนกัน เช่น เป็นต้นว่า เวลาดูในหนัง เห็นคนแก้ผ้าวิ่งประท้วงกันในเมือง แล้วคนบนถนนก็จะหัวเราะกันใหญ่เมื่อเห็นคนแก้ผ้า ผมรู้สึกว่าถ้าผมอยู่ตรงนั้น ผมจะหัวเราะไหม ? ผมคิดว่าผมไม่หัวเราะ แต่ผมจะดูว่า, ถ้าคนนั้นเป็นผู้ชายก็คงจะไม่สนใจเท่าไหร่ ? แต่ถ้าเป็นผู้หญิงผมคงจะดูและคิดถึงเรื่องอย่างอื่น ไม่ใช่เรื่องขัน. อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่ามันต่างกันอย่างไร ? อาจารย์คำรณ : ผมคิดว่าอารมณ์ขันนั้นเป็นลักษณะร่วมกันหมด อย่างเช่นถ้าเผื่อเราดูหนังของ ชาลี แชปปลิน แม้ว่าเราจะไม่ได้เติบโตในวัฒนธรรมแบบนั้น เราก็ยังสามารถขำได้. และอารมณ์ขันบางอย่าง มันต้องอาศัยชุดของตรรกะบางอย่าง มันก็ขึ้นอยู่กับสภาพทางสังคมวัฒนธรรม อย่างสมมุติว่าเราดูหนังของ woody allan ยังไงเราก็ไม่ขำ แต่ถ้าเผื่อเป็นคนที่อยู่นิวยอร์คแล้วล่ะก็จะรู้สึกขำ. แต่ที่ผมสนใจก็คือว่า ตอนต้นที่เราพูดถึงเรื่องการหัวเราะ กับอันที่สองเรากำลังพูดถึง humor หรืออารมณ์ขัน. ซึ่งเราควรที่จะแยกกันสักนิดหนึ่ง. และผมก็สนใจที่อาจารย์สมเกียรติบอกว่า การหัวเราะมันดี ทำให้เอนโดฟินหลั่ง ผมก็อยากถามว่ามันต้องหัวเราะระดับไหน ? เอ็นโดฟินถึงจะหลั่ง. ไอหัวเราะน่ะ แค่ไหนจึงจะเรียกว่าเป็นการหัวเราะ อย่างเช่น ยิ้มแฮะๆ อย่างนี้ถือว่าหัวเราะไหม ? มันมีการหัวเราะหลายอย่างนะครับ เช่นการแค่นหัวเราะ หัวเราะงอหาย อันนี้ต้องดูด้วยว่ามันระดับไหน ? หรืออย่างที่เราภาคภูมิใจว่ายิ้มสยามนี่ มันเป็นการหัวเราะอย่างหนึ่งหรือเปล่า. อาจารย์นก : เมื่อ 10 ปีที่แล้วได้ไปสอนภาษาไทยที่ต่างประเทศ ในกลุ่มนักศึกษาที่เรียน เขาได้เอาหนังเวียดนามมาฉาย ซึ่งเป็นตอนที่เราคงเคยเห็นกันบ่อยๆเป็นภาพเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม มีรูปเด็กผู้หญิงวิ่งแก้ผ้าซึ่งไฟไหม้ทั้งตัว นักศึกษาได้นำเอาภาพตอนนี้มาฉาย. แล้วก็มีการสัมภาษณ์ผู้หญิงคนนั้นตอนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วนะคะ. ขณะที่เจ้าตัวกำลังพูด เล่าถึงประสบการณ์ เธอหัวเราะไปด้วย พูดไปหัวเราะไป. ดิฉันจำได้ว่าพวกเพื่อนๆและนักศึกษาที่นั่งอยู่ ที่เป็นฝรั่งนี่ไม่มีใครเข้าใจเลยว่า เธอหัวเราะได้อย่างไร ขณะที่กำลังพูดถึงประสบการณ์อันเป็นเรื่องของความเจ็บปวด เป็นโศกนาฏกรรมในชีวิตที่รุนแรงมาก. ดิฉันก็ไม่เข้าใจเหมือนกันนะคะว่า มันเป็นความแตกต่างกันในทางวัฒนธรรม และก็เริ่มสังเกตุเห็นว่า เวลาที่เรานั่งดูทีวีหรือชาวบ้านให้สัมภาษณ์ บางทีเป็นการเล่าถึงเรื่องของความเจ็บปวด เขาหัวเราะไปด้วย แต่เขาไม่ได้ขำนะคะ. นักจิตวิทยาอาจเรียกว่ามันเป็น defence mechanism หรืออะไรต่างๆก็ได้ เพราะในภาวะนั้นการพูดถึงเรื่องความเจ็บปวดแล้วหัวเราะ มันเป็นความพยายามที่จะจัดการคลี่คลายปัญหาของเขาเองหรือเปล่า คือมันไม่ใช่เป็นอารมณ์ขัน แต่มันเป็นกลไกที่จะช่วยพยุงชีวิตให้มันพอที่จะดำรงอยู่ได้ อันนี้ใช่หรือเปล่า ? อาจารย์คำรณ : ผมขอต่ออีกหน่อยนะครับ คือว่า ลักษณะของสังคมไทย เราจะไปดูถุกว่าสังคมไทยเป็นอารมณ์ขันแบบเหยียบเปลือกกล้วยแล้วหกล้ม อันนี้จึงจะทำให้หัวเราะ. เพราะว่าในสังคมไทยที่มีเรื่องเล่า ซึ่งเป็นมุขปาฐะมาก หรือ oral literature จะเห็นว่า ไม่ว่าลำตัดหรืออะไรนี่ เป็นการเล่นคำ หรือเป็นเรื่องตลกซึ่งอยู่ในถ้อยคำ เราเรียกว่าเป็น verbal wit ในถ้อยคำ. อันนี้ของเราใช้กันมาก แล้วก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะหัวเราะกับเรื่องที่เป็นเรื่องต้องห้าม อย่างเช่น เรื่องเซ็กซ์หรือพวกเด็กๆเรียกว่าไอ้ไข่ดำ ล้อเล่นกันเป็นเรื่องธรรมดา เกี่ยวกับการนำเอาอวัยวะเพศมาล้อเล่นกันจนเป็นเรื่องธรรมดา เป็นการใช้ถ้อยคำมาสร้างอารมณ์ขัน สุชาดา จักรพิสุทธิ์ : อยากจะเล่าเรื่องขันซึ่งไปอ่านมา เป็นเรื่องของตลกฟิลิปปินส์นะคะ เป็นเรื่องของประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราด้า. บางคนก็บอกว่า หน้าตาบุคลิกคล้ายคลึง”ท้วม ทระนง” แค่เห็นออกทีวีก็ขำแล้ว. แต่ที่อ่านมาได้ทำให้เกิดขำถามขึ้นมาว่า บางทีคนเรามีอารมณ์ขัน บนพื้นฐานที่เห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งต่ำต้อยกว่า หรือไม่เหมือนกับตัวเรา มันก็เลยกลายเป็นความตลกขบขัน. ที่อยากจะเล่าเกี่ยวกับประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราด้า ซึ่งคนฟิลิปปินส์ทั้งหลายเรียกเขาว่า”อีแล็ป” ซึ่งอาจจะเป็นชื่อเล่นของเขาหรืออะไรไม่ทราบ. แล้วก็มีหนังสือเกี่ยวกับความน่าตลกขบขันของ”อีแล็ป”ชื่อว่า”อีแล็ปชั่น”. หนังสือเล่มนี้ได้เล่าถึงในวันที่ประธานาธิบดีเอสตราด้าขึ้นดำรงตำแหน่ง ความที่ท่านเป็นคนที่ภาษาอังกฤษแย่มาก ซึ่งก็คงเหมือนกับพวกเราชาวเอเชียทั้งหลายซึ่งมได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่. วันที่อีแล็ปของเราชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี จากการไล่แจกยาสีฟัน ในวันที่จะต้องขึ้นปราศรับเป็นครั้งแรกต่อสาธารณชนกลาง park ใหญ่ คนสนิทก็เขียนโพยให้ว่าจะต้องพูดยังไงๆ ในข้อความนั้นเขียนเอาไว้ว่า “เขาน่ะไม่ใช่เป็นอันดับหนึ่งหรอก ที่ได้เป็นประธานาธิบดีนี่ ไม่ได้ถือว่าเป็นอันดับหนึ่ง ประชาชนต่างหากล่ะที่เป็นอันดับหนึ่ง”. คนสนิทคู่ใจได้เขียนโพยเป็นตัวย่อว่า “People is No.(number) One”. แต่เอสตร้าด้าได้เอาไปอ่านว่า “People is no one”. นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ที่พูดว่าเราหัวเราะเพราะความต่ำต้อยกว่า ผมไม่รู้ว่าอะไรมาก่อนระหว่างการหัวเราะให้แก่ความต่ำต้อยกว่า หรือเราต้องการให้เขาต่ำต้อยกว่า เราจึงหัวเราะ. เพราะผมขอย้ำในสิ่งที่ อ.วัลลภ พูดเมื่อสักครู่นี้ว่า, ที่ผมเคยเขียนเอาไว้คือ การทำให้คนอื่นกลายเป็นตัวตลกเพื่อทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของเขา. ผมจำได้ว่า เมื่อตอนที่ รสช.ยึดอำนาจ แล้วตัวหัวหน้าของ รสช. มาออกทีวีแล้วก็พูดออกมาว่า”เฮ้ย เดี๋ยวเอาใหม่”. ผมว่ามันเจ๊งตั้งแต่นาทีนั่นแล้ว เพราะว่าถ้าคุณยึดอำนาจบ้านเมือง แล้วมาบอกว่าเอาใหม่ มันตลกสิ้นดี เพราะคนไทยไม่สามารถรับผู้ปกครองที่ตลกได้. อาจารย์คำรณ : ในทางละครได้บอกว่าเอาไว้ว่า บางทีการหัวเราะนี่ไม่จำเป็นต้องใช้เหตุผล ไม่ต้องใช้ตรรกะ แต่การหัวเราะนี่อาจจะเป็นโรคติดต่อกันได้. เคยไม่ครับว่าเวลาที่เรานั่งล้อมวง แล้วมีการเริ่มหัวเราะ คนในวงก็จะหัวเราะตามๆกันไปหมด …โดยไม่ต้องคิดอะไรปล่อยให้มันเป็นโรคติดต่อ แต่หมายความว่า ถ้าเผื่อว่าจะเป็นการหัวเราะอย่างนั้น เราต้องปล่อยตัวเราเอง เราต้องถอดหัวโขน ถอดหน้ากาก แล้วก็วาง แล้วก็ปล่อยมันไป. แล้วหลังจากทำอย่างนั้นได้ เราหัวเราะเราจะรู้สึกสบายใจ โล่งใจ. วัลลภ แม่นยำ : มีคำถามที่ว่า อารมณ์ขันนั้นมีเพศไหมครับ ? คือผมสังเกตุว่า คนที่พูดตลกหรือมีอารมณ์ขันนั้น ส่วนมากมักจะเป็นผู้ชาย. ผมถามว่าผู้หญิงมีอารมณ์ขันไหมครับ ? วานิช จรุงกิจอนันต์ : (หลังจากเงียบกันไปพักหนึ่ง คุณวานิชก็หยิบไมค์ฯ ขึ้นมาร้องเพลง) …เดี๋ยวนี้เธอเป็นเบอร์หนึ่ง ไม่นานก็ถึงเบอร์สี่ คนนั้นจูบทีคนนี้จูบที อีกไม่กี่ปีก็บ๊วย พอเสียทรงหมดสาว ก็เหมือนเสื้อเก่าขึ้นคาน ต้องติดร้านขายค้าอยู่ที่หน้าโรงหวย แล้วหล่อนก็ต้องคอยเปิดตุ่ม ให้ผู้ชายเขาจุ่มกระบวย. ผู้เข้าร่วมสนทนา : คำถามที่ว่า ผู้หญิงมีอารมณ์ขันไหม ? คำถามนี้ไม่น่าจะตั้งขึ้นมา เพราะว่าผู้ชายก็คน ผู้หญิงก็คนเหมือนกัน. อย่างที่ทำงานผู้หญิงเยอะ เพราะเป็นครูด้วยกัน เราก็มีการเล่าเรื่องขำๆกัน แต่ที่คิดว่าผู้หญิงต้องมีอารมณ์ขันที่สุดก็คือ”เรื่องในครอบครัว” เพราะว่าถ้าผู้หญิงไม่มีอารมณ์ขัน โลกนี้ต้องวิบัติไปแล้วล่ะ. เพราะว่าคนในครอบครัวของเราจะสร้างแรงกดดันต่างๆขึ้นมา ทำให้เครียดได้หลายๆอย่าง การที่สังคมยังอยู่ดี อาศัยอารมณ์ขันของผู้หญิงช่วยเยอะ เรื่องที่จะกลายเป็นความรุนแรง เราก็ใช้เรื่องอารมณ์ขันเป็นการช่วยผ่อนคลายไปซะ มองในแง่มุมซึ่งเบาบางลง อาจจะหัวเราะให้กันได้ ตลกใส่กันได้. คิดว่าการที่สังคมเป็นอย่างนี้ อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติ ผาสุกกันแบบนี้ อาศัยอารมณ์ขันของผู้หญิง. คิดว่าไม่ต้องลงรายละเอียดนะคะ เพราะใครที่มีครอบครัวก็น่าจะต้องรับรู้ ว่าตรงนี้คืออะไร. …หลังจากนั้นก็มีการตั้งข้อสังเกตุกันต่างๆหลายหลาก เช่น สังคมต้องการอารมณ์ขันเพราะเครียดใช่ไหม ? หรือเดี๋ยวนี้ อารมณ์ขันต้องเสียเงินไปซื้อหามากันแล้ว เช่นติดตามรายการ talk show ต่างๆที่ตลกๆ เหล่านี้เป็นต้น …มีการพูดถึงสังคมไทยเป็นสังคมที่มีอารมณ์ขัน เป็นอารมณ์ขันทางภาษาต่างๆ อย่างเช่นของพ่อเพลงแม่เพลงเก่าๆ ซึ่งก็ไม่ได้แบ่งเพศว่าต้องเป็นเพศชายหรือเพศหญิง …เรื่องขำๆส่วนใหญ่เป็นเรื่องใต้สะดือ การที่ผู้หญิงไม่กล้าไปร่วมวงด้วยก็เพราะกลัวว่าคนอื่นจะหาว่าตนเป็นพวกที่เชี่ยวชาญ จึงทำให้แกล้งทำเป็นไม่ค่อยเข้าใจ หรืออย่างตลกคำผวนที่สัปดน ก็ทำเป็นไม่รู้เรื่อง อันนี้อาจเป็นแนวป้องกันทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ผู้เข้าร่วมสนทนา : จะขอเล่าเจี้ย(เรื่องตลกในภาษาเหนือ)ให้ฟังเรื่องหนึ่ง ซึ่งอันนี้เป็นเจี้ยที่มาจากคนกรุงเทพฯเน้อ… หมู่เฮาบางคนอาจจะได้ฟังมาจากคนกรุงเทพฯกันแล้ว …เจี้ยมีว่า, มีฝรั่งซึ่งมีอายุหน่อย ไปนอนโฮงยา เปิ้นไม่สบายนะ เปิ้นเป็นคนมีสตางค์ได้จ้างพยาบาลมาดูแล พยาบาลมาดูแลนี่เวลาตอนเย็นๆก็จะมีการเช็ดเนื้อเช็ดตัว ฝรั่งนี้เปิดหมดครับ เปิดหมดทั้งตัว บ้านเฮาเรียกว่าเปิดควอย เหมือนกับละอ่อนเวลาเล่นน้ำเปิดควอยหมด เล่นน้ำม่วนครับ. พยาบาลที่มาเช็ดตัวที่เฒ่าหน่อย หลังจากเช็ดเสร็จก็มาเล่ารือว่า ไอ้ฝรั่งคนป่วยนี้มันสักครับ เปิ้นสักที่ไอ้ตัวสำคัญ มีข้อความว่า “เดวิด”. อันนี้เล่ารือกันไปทั่วโรงพยาบาลฯ ว่า ฝรั่งนอนป่วยนี่สักคำว่า”เดวิด”. ที่นี้พยาบาลสาวๆก็อย่างหัน(อยากเห็น)ว่าฝรั่งนี้มักนสักแต๊เหรอ. พยาบาลสาวๆก็ขออาสาไปเช็ดตัวบ้าง บอกว่า”อีป้าฉันขอไปเช็ดตัวให้ฝรั่งนี่เน้อ” พยาบาลนี้อายุสักประมาณซาวปายครับ(ยี่สิบกว่าๆ). พยาบาลสาวก็ไปเช็ด… เช็ดเสร็จแล้วก็ปิ๊กออกมา. พยาบาลทั้งหลายก็รีบมาถามว่า “มันสัก”เดวิด”อย่างที่ป้าว่าก่อ”. อีน้อยพยาบาลสาวออกมาก็บอกว่า “ไม่ใช้อีป้า มันบ่ได้สักว่า”เดวิด”น่ะ, มันสักว่า “แด่เธอด้วยชีวิต”. ………….. หลังจากนั้น ได้มีการขั้นรายการ โดยมีพี่น้องชนเผ่ามาร่วมอวยพรอาจารย์นิธิ และแสดงความยินดีกับงานเปิดบ้านของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนด้วย …จากนั้น วงสนทนา”วัฒนธรรมฮาเฮ”ก็เปลี่ยนบรรยากาศไป แล้วก็ล่มลงในที่สุด. เพราะบรรยากาศโดยรวมของวันเปิดบ้านมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนี้ หลังจากเสร็จจากพิธีกรรมในช่วงเช้าแล้ว มีการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน จากนั้นก็มีการพูดคุยกันเป็นส่วนใหญ่สำหรับคนที่นานๆจะพบเจอกันมากหน้าหลายตาในโอกาสที่ดีๆเช่นนี้
|