นโยบายหลอนหลอก สัพหยอกเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ลับหลังเจรจาคู่ค้าทั่วโลกเพื่อส่งเสริมทุนขนาดใหญ่ เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นนโยบายปากว่าตาขยิบมุบมิบทำตลกใน ครม.


เรื่องของไม้หลักปักขี้ควายอีกคำรบหนึ่ง


สมัชชาคนจน รวมตัวกัน ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2550 ออกแถลงการณ์ โจมตี คมช. รังแกคนจน แทรกแซงรัฐบาลให้ปิดเขื่อนปากมูน โดยแถลงการณ์ ระบุว่า ด้วยในวันนี้ (17 มิ.ย.) เป็นวันเริ่มเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่การแทรกแซงโดย คมช.ได้ทำให้มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 มิถุนายน 2550 มีมติให้ปิดเขื่อนปากมูนถาวร เนื่องจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ รักษาระดับน้ำเขื่อนปากมูลไว้ที่ระดับ 106-108 ม.รทก. ระดับน้ำที่ 108 ม.รทก.คือระดับเก็บกักน้ำปรกติของเขื่อนปากมูล และเมื่อเขื่อนปล่อยน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าระดับน้ำก็จะเหลืออยู่ที่ประมาณ 106 ม.รทก. เขื่อนปากมูลจึงไม่มีการเปิดในวันนี้

นั่นก็หมายความว่า เขื่อนปากมูลยังใช้งานตามปรกติ การรักษาระดับน้ำไว้ที่ระดับ 106-108 ม.รทก. เป็นเพียงการเลี่ยงบาลี นับแต่นี้ต่อไปหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างอื่น จะไม่มีการเปิดประตูน้ำเพื่อให้ปลาอพยพจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำมูนอีกต่อไป พวกเราคนหาปลาในชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมูน คือผู้รับชะตากรรมจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

หากย้อนไปในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้รับปากกับพวกเราว่า จะเปิดเขื่อนปากมูลตามมติคณะรัฐมนตรีเดิมที่มีอยู่ และต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี ยังมีมติยืนยันว่า ปีนี้เขื่อนปากมูนจะเริ่มระบายน้ำในวันที่ 7 มิถุนายน เพื่อเปิดประตูทั้ง 8 บานในวันที่ 17 มิถุนายน 2550 แต่เวลาเพียง 2 อาทิตย์ผ่านไป คณะรัฐมนตรีก็เปลี่ยนใจ ที่สำคัญเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ตัวแทนสมัชชาคนจนได้เปิดการเจรจากับนายกรัฐมนตรี กรณีเขื่อนปากมูลนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่ารัฐบาลตัดสินใจดีที่สุดแล้ว

พวกเราทราบว่ามติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ มาจากการกดดันของ คมช. ที่มอบหมายให้ พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ผ่านกลไก กอ.รมน.ลงไปเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อรวบรวมรายชื่อชาวบ้านด้วยเล่ห์กลต่างๆ (รายละเอียดจะชี้แจงในโอกาสต่อไป) แล้วอ้างว่านี่คือการตัดสินใจด้วยประชามติและเสียงส่วนใหญ่มาผลักดันให้คณะรัฐมนตรีเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ เป็นการแยกสลายและทำลายล้างสมัชชาคนจนด้วยมองว่า พวกเราเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งที่พวกเราเป็นเพียงกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิ์ และสำหรับกรณีเขื่อนปากมูล ก็มีรายงานทางวิชาการยืนยันว่า เขื่อนปากมูลล้มเหลวในทุกด้านทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

การเคลื่อนไหวมวลชนเป็นเพียงวิธีการเดียวที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการปิดเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกันกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยให้สำนักงานสถิติแห่งชาติไปสำรวจความเห็นของชาวบ้านใน อ.โขงเจียม อ.สิรินธร อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อทำให้พวกเรากลายเป็นคนกลุ่มน้อย และต้องจัดการตามความเห็นการของคนส่วนใหญ่ ต่างกันเพียงแค่รัฐบาลเก่ายอมเปิดทางให้พวกเราทำกิน 4 เดือน แต่ คมช.ปิดทางของพวกเราจนหมดสิ้น

สุดท้ายนี้ พวกเราขอยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนปากมูลนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในยุคสมัยใดก็ตาม จะต้องยึดหลักแห่งเหตุผล ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ตัดสินจากจำนวนคนที่ระดมและรวบรวมมาโดยเล่ห์กลต่างๆ และตราบใดที่รัฐบาลยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรม พวกเราก็จะยังต่อสู้จนถึงที่สุด และจำเป็นต้องเคลื่อนไหวในช่วงเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะคับขัน เพราะความเดือดร้อนจากการที่ คมช. ผลักดันให้ปิดเขื่อนปากมูล

การเคลื่อนไหวของพวกเราจึงเกิดจากภาวะการณ์ที่บีบบังคับและไม่ได้มีเจตนาซ่อนเร้นแอบแฝงในทางการเมืองแต่ประการใด แต่เพียงต้องการรักษาวิถีชีวิตและการฟื้นฟูทรัพยากรแม่น้ำมูน เพื่อความสงบสุขของคนในลุ่มน้ำมูน ที่ถูกทำลายลงด้วยการเปลี่ยนใจอย่างง่ายดายของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้

นำมาจาก : สมัชชาคนจน ออกแถลงการณ์ ซัด คมช. 'รังแกคนจน'
ประชาไท - 18 มิ.ย.2550

สำหรับผู้ที่ต้องการสนับสนุนความเคลื่อนไหวทางการเมืองของสมัชชาคนจน เพื่อรักษาวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และฟื้นฟูทรัพยากรแม่น้ำมูล ด้วยการให้มีการนำมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๙ พฤษภาคมมาใช้เพื่อเปิดประตูเขื่อนปากมูล สามารถลงชื่อสนับสนุนได้ที่ ... midnightuniv(at)gmail.com

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รายชื่อผู้สนับสนุนสมัชชาคนจน:

1. นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2. จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล 3. อรรถจักร สัตนานุรักษ์ 4. วารุณี ภูริสินสิทธิ์ 5. สมเกียรติ ตั้งนโม 6. สายชล สัตยานุรักษ์ 7. สมชาย ปรีชาศิลปกุล 8. เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช 9. ชัชวาล ปุญปัน 10. สุชาดา จักรพิสูทธิ์ 11. ไพสิฐ พาณิชย์กุล 12. นัทมน คงเจริญ 13. พิกุล อิทธิหิรัญวงศ์ 14. วัลลภ แม่นยำ 15. อำพล วงศ์จำรัส 16. พรภิมล ตั้งชัยสิน 17. อรณิชา ตั้งนโม 18. ปราณี วงศ์จำรัส 19. นงเยาว์ เนาวรัตน์ 20. ชำนาญ จันทร์เรือง 21. ชาญกิจ คันฉ่อง 22. คมเนตร เชษฐพัฒนวนิช 23. นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ 24. น.ส.กุลพร เปลี่ยนสมัย 25. ธงชัย วินิจจะกูล 26. พรพิมล พลพร้อม 27. สลักจิต แก้วคำ 28. เอมอร สิงเทพ 29. สุรีย์ กฤษณะกานต์ 30. สำเนียง เค้าหัน 31. งามศุกร์ รัตนเสถียร 32. วีรบูรณ์ วิสารทสกุล 33. ปาริชาติ วลัยเสถียร, ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 34. พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 35. อรรถสิทธิ์ บุญมาหา 36. วรรณสิริ รงรองเมือง 37. ลลิตา สุทัศน์วัฒนะ 38. ปริญญา นวลเปียน. 39 นายชำนาญ ยานะ นักศึกษาปริญญาโท สาขาการแปล สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.


หากปิดเขื่อนปากมูนวันใด องค์กรประชาชนพร้อมฮือขับไล่ คมช.

รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ให้ "เปิดเขื่อนปากมูน ๔ เดือน" ตามมติ ครม. ของรัฐบาลเดิม แต่แล้วกลับมีการแทรกแซงของ คมช. โดยการชี้นำของพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง และ กฟผ. ให้ออกมติคณะรัฐมนตรี ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ เพื่อเปลี่ยนมติ ครม. ที่เพิ่งตัดสินใจผ่านมาเพียง 2 สัปดาห์ ให้ "ปิดเขื่อนปากมูนถาวร" เพื่อกักน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า และเพื่อกักน้ำไว้เพื่อการเกษตรสำหรับเกษตรกรท้ายน้ำ

การที่ คมช. ที่มอบหมายให้ พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ผ่านกลไก กอ.รมน. ซึ่งไปเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อรวบรวมรายชื่อชาวบ้านเพื่ออ้างว่าเป็นประชามติจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน จึงเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรี แบบพลิกลิ้น ด้วยหวังแยกสลายและทำลายล้างสมัชชาคนจนที่เป็นกลุ่มพลังมวลชนสำคัญในอีสาน เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสานถือว่าเป็นมติอัปยศภายใต้การชี้นำของทหารที่กำลังหลงใหลมัวเมาในอำนาจ มิได้ใช้ความรู้ทางวิชาการเรื่องนิเวศน์แม่น้ำมูน การอพยพของปลาจากแม่น้ำโขงมาเป็นเหตุผล แต่ใช้เหตุผลทางการเมืองและการทหาร เพราะสถานการณ์ที่กำลังคุกรุ่นรัฐบาลทหารต้องการแยกขาวแยกดำแบ่งประชาชนออกเป็นแค่สองฝ่ายคือ "เอาทักษิณ หรือเอา คมช."

จากประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ยาวนานของพี่น้องสมัชชาคนจน จากปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนต่าง ๆ ในอีสาน และกรณีปัญหาด้านทรัพยากรอื่น ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มพลังประชาชนที่ไม่ข้องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเมือง แต่มุ่งหวังเพียงแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่เกิดขึ้น ต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติ ในน้ำ ในปลา ป่าไม้ แผ่นดิน และแร่ธาตุ เครือข่ายทรัพยากรฯ ขอยืนยันในอุดมการณ์ที่ชัดเจนคือ ก่อตั้งและดำรงอยู่เพื่อที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกลุ่มชาวบ้านที่กำลังเผชิญอยู่กับปัญหาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งรวมตัวกันเป็นองค์กรเครือข่ายที่สนับสนุนการทำงานเคลื่อนไหวร่วมกันมาตลอดเวลา

การที่ คมช. บังคับให้มีมติ ครม. ปิดเขื่อนปากมูลถาวรครั้งนี้ถือว่าเป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ของรัฐบาลทหาร ไม่ต่างไปจากวิธีการ "ใช้ปืนจ่อหัวชาวบ้าน" บังคับให้มีการปิดเขื่อนปากมูลถาวร ปิดชีพจรแห่งแม่น้ำมูล ปิดทางเดินของปลา และปล้นคร่าเอาเครื่องมือประมงที่เตรียมพร้อมสำหรับคืนสู่แม่น้ำของเหล่าชาวประมง เครือข่ายทรัพยากรฯ ไม่อาจทนนิ่งอยู่ได้ เพราะวันนี้เมื่อ คมช. ลงมือทำร้ายสมัชชาคนจน ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพร้อมที่จะใช้ปืนชี้นำการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศเช่นกัน จึงได้ออกแถลงการณ์เตือน คมช. หากไม่เร่งแก้ไขมติ ครม. ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ ที่กำลังจะบังคับให้ปิดเขื่อนปากมูลถาวร ฟางเส้นสุดท้ายระหว่างรัฐบาลทหารและเครือข่ายประชาชนอีสานก็ขาดลง เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศก็พร้อมจะลุกฮือขับไล่ คมช. ทันที

เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน
๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๐
ติดต่อประสานงาน ๐๘๑-๓๘๐๘๘๐๖

บิลล์ เกตส์: จงเป็นนักเคลื่อนไหวและประจัญกับความไม่เสมอภาคที่รุนแรง


เพื่อเป็นเกียรติให้กับการต่อสู้ของคุณเจริญ วัดอักษร กระทั่งถูกลอบทำร้ายจนเสียชีวิต
ในปี ๒๕๕๐ คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้จัดให้มีการแสดงปาฐกถาพร้อมมอบเหรียญเจริญวัดอักษร
ให้กับคุณ อรุณี ศรีโต นักต่อสู้เพื่อสวัสดิภาพด้านแรงงาน
วันเสาร์ที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๐ : เริ่มงานตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ น
ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ

กรณ์อุมา พงษ์น้อย: ทำไมต้องรักท้องถิ่น และเรื่องเกี่ยวเนื่องเจริญ วัดอักษร
เจริญ วัดอักษร: กับนโยบายสาธารณะด้านพลังงาน

กำหนดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง
มติครม. ๑๒ มิ.ย. ๒๕๕๐ ปิดเขื่อนปากมูนถาวรเพื่ออะไร?
.........................................................

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2550

ณ ห้องประชุม 13 ตึก 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เวลา 13.00 -13.15 น.
กล่าวเปิดการสัมมนา โดย รศ.สุริชัย หวันแก้ว
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย

เวลา 13.15 - 13.45 น.
ปาฐกถานำ โดย ศ.ดร.ประกอบ วิโรจน์กูฎ
อธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เวลา 13.45 - 16.00 น.
สัมมนาเรื่อง: มติครม. 12 มิ.ย. ปิดเขื่อนปากมูนถาวรเพื่ออะไร?

นำการสัมมนาโดย
-อาจารย์ศุภวิทย์ เปี่ยมพงษ์ศานต์ อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
-ผศ.บัณฑร อ่อนดำ อดีตประธานคณะกรรมการกลางแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน
-นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต สว. จ.อุบลราชธานี
-ดร.ชวลิต วิทยานานนท์ กองทุนสัตว์ป่าโลก
-ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
-ผศ.ดร.กนกวรรณ มโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
-รศ.ดร.สุธีร์ ประศาสน์เศรษฐ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และอดีตอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนที่เกี่ยวข้องกับ กฟผ.
-คุณประสาร มฤคพิทักษ์
-ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราพงศ์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
-ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-คุณวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
-ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(อดีตเลขานุการคณะกรรมการกลางฯ)
ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้อำนวยการสถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

เวลา 16.00 - 16.30 น.
ประมวลสรุปการสัมมนาและร่วมกันแถลงข้อเสนอต่อสื่อมวลชน

องค์กรร่วมจัด
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
สถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล,
สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดต่อประสานงาน ประภาส ปิ่นตกแต่ง โทร 089-1427474
[email protected]

ความเห็นต่อมติ ค.ร.ม. 12 มิ.ย. 2550 ปิดเขื่อนปากมูนถาวร

รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 ยืนยันตามมติ ค.ร.ม.เดิมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 ให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูนทั้ง 8 บานสุดบาน เป็นเวลา 4 เดือนในต้นฤดูฝนตามผลการศึกษาและแนวทางแก้ปัญหาที่เสนอแนะโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อให้ปลาอพยพและคืนสภาพนิเวศน์ลุ่มแม่น้ำมูน แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 กลับเปลี่ยนมติ ค.ร.ม. ที่เพิ่งตัดสินใจผ่านมาเพียง 2 สัปดาห์ ให้ปิดเขื่อนปากมูนโดยรักษาระดับน้ำไว้ที่ระดับการปั่นไฟปกติคือ 106-108 เมตรจากระดับน้ำทะเล (ม.รทก.) และยกเลิกคณะกรรมการภาคีชุดต่างๆ ที่ดำรงอยู่ โดยให้โอนอำนาจการจัดมารวมศูนย์ไว้ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)

ทางเลือกกรณีปัญหาเขื่อนปากมูน
กลุ่มคณาจารย์ผู้เคยร่วมในกระบวนการแก้ปัญหา และศึกษาวิจัยผลระทบเพื่อเสนอทางเลือกกรณีปัญหาเขื่อนปากมูนมีความเห็นเพื่อเสนอต่อรัฐบาลและสังคมว่า

1. การกลับมติ ค.ร.ม.ให้ปิดเขื่อนปากมูนมีความไม่โปร่งใส ไม่เปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ว่า เหตุผลคืออะไร เพราะสังคมได้รับรู้แต่เพียงว่า นายกรัฐมนตรีได้รับปากกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนว่า จะดำเนินการตามมติ ค.ร.ม. 29 พฤษภาคม 2550 ให้เริ่มระบายน้ำในวันที่ 7 มิถุนายน 2550 และยกสุดบานในวันที่ 17 มิถุนายน 2550

การยืนยันให้เปิดเขื่อนได้ระบุเหตุผลสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานฯ ว่า เขื่อนปากมูนไม่ได้มีความสำคัญต่อกำลังการผลิตไฟฟ้า ส่วนเหตุผลด้านการใช้น้ำกระทรวงพลังงานจะประสานกับกรมชลประทานในการปรับปรุงสถานีสูบน้ำจำนวน 6 แห่ง ที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ให้สามารถสูบน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกของเกษตรกรได้โดยเฉพาะในช่วงภาวะฝนทิ้งช่วง

มติ ค.ร.ม.ให้เปิดเขื่อนจึงมีเหตุผลรองรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนถึงแนวทางการใช้ประโยชน์ว่า สามารถปฏิบัติได้และเป็นความเห็นร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีข้อสนับสนุนทางวิชาการ งานวิจัยผลกระทบและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูนซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นผู้ศึกษา

2. มติ ค.ร.ม. 12 มิถุนายน 2550 เป็นการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจตามที่หน่วยงานด้านความมั่นคงคือ กอ.รมน. โดยผู้อำนวยการ กอ.รมน. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เสนอ
ฐานคิดในการแก้ไขปัญหาความยากจนภายใต้โครงสร้างดังกล่าว มองจากมิติความมั่นคงแบบทหารในการควบคุม กำกับการเคลื่อนไหวของคนจน ดังเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่หน่วยงานดังกล่าวใช้อ้างเพื่อสนับสนุนการปิดประตูระบายน้ำว่า มีผู้ลงชื่อสนับสนุนถึงร้อยละ 98.0 ให้ปิดประตูระบายน้ำ เพื่อนำน้ำไปใช้ในการเกษตรกรรม โดยที่อาจตั้งคำถามได้ทั้งที่มาของผู้ลงชื่อสนับสนุนว่าเป็นกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือเป็นภาคีผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และทั้งข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้จากงานวิจัยทางวิชาการว่า ประชาชนในเขตลุ่มน้ำมูนตอนล่างไม่มีความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนดังกล่าว

สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ การอ้างหลักการเสียงส่วนใหญ่เพื่อทำลายสิทธิการดำรงอยู่ของคนชายขอบ คือลักษณะหนึ่งของเผด็จการเสียงข้างมาก ซึ่งไม่ต่างไปจากสิ่งที่คณะรัฐประหารใช้อธิบายความเลวร้ายของระบอบทักษิณว่าเป็น "เผด็จการประชาธิปไตยเสียงส่วนใหญ่" เพราะหลักเสียงส่วนใหญ่ในระบบประชาธิปไตยจะต้องอิงอยู่กับหลักการพื้นฐานที่มีเหตุมีผล ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนส่วนน้อย และเปิดให้ผู้คนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเขื่อนปากมูนนี้เสียงส่วนใหญ่ที่อ้างถึงเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย และไม่ได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่

นอกจากนี้ วิธีการได้มาซึ่งเสียงส่วนใหญ่ก็ยังเป็นสิ่งที่จะต้องตรวจสอบเช่นกัน เพราะหลักการสร้างประชามติ มติมหาชน จะต้องมีกระบวนการที่เปิดเผย โปร่งใส ให้ฝ่ายต่างๆ ได้ถกเถียงถึงเหตุผล การพิจารณาทางเลือกต่างๆ ฯลฯ ดังนั้น สังคมไทยจะต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้ามาแทรกแซงการแก้ปัญหาความยากจน ที่สะท้อนความไม่รู้แม้กระทั่งหลักการพื้นฐานของกระบวนการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตย

3.สำหรับข้ออ้างเรื่องการใช้น้ำสำหรับการสนับสนุนให้ชาวบ้านสามารถดำเนินการผลิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ ฐานชีวิตและวิถีการทำมาหากินของชาวบ้านปากมูนตั้งอยู่บนอาชีพประมงเป็นด้านหลัก ฐานทรัพยากรที่สำคัญสำหรับสภาพดำรงชีพจึงตั้งอยู่บนความอุดมสมบูรณ์ของนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่มูน การปิดเขื่อนปากมูนจึงเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจพอเพียงของชาวบ้านตลอดสายลุ่มน้ำมูนอย่างสิ้นเชิง

ผลการวิจัยจากโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิต และชุมชน เมื่อปี 2544 ที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจัดทำ ได้เสนอให้เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูนตลอดปี เนื่องจากข้อพิจารณาที่ว่า ปัญหาของการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนฯ สามารถมีทางออกทางเทคนิคได้หลายทาง (ดังปรากฏในมติ ค.ร.ม. 29 พฤษภาคม 2550) แต่ปัญหาเศรษฐกิจชุมชนไม่มีทางออกและไม่สามารถแก้ได้ด้วยเทคนิค เพราะเขื่อนปากมูนส่งผลลบต่อความยากจนและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางธรรมชาติ

ข้อเสนอสำหรับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูน
ดังนั้น ข้อเสนอสำหรับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูนต่อสังคมไทยและรัฐบาลคือ

1. ในการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ต้องยกเลิกมติครม. 12 มิถุนายน 2550 และเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูนทั้ง 8 บาน แบบสุดบาน ตามมติ ค.ร.ม. 29 พฤษภาคม 2550 เพื่อให้ปลาจากแม่น้ำโขงอพยพเข้าสู่แม่น้ำมูน ตามวัฏจักรของธรรมชาติ และให้คงมีคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูน เพื่อเร่งดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวบ้าน และระบบนิเวศลุ่มน้ำแม่มูนต่อไป

2. รัฐบาลและสังคมไทยควรร่วมกันพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของเขื่อนปากมูน ตามที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) (ภายใต้คณะกรรมการเขื่อนโลก) ได้ศึกษาประสิทธิภาพของเขื่อนปากมูน และสรุปว่าเขื่อนปากมูนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน รวมทั้งตามข้อเสนอของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ให้เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูนอย่างถาวร เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านคืนสู่สภาวะปรกติ สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริงต่อไป

3. รัฐบาลและสังคมไทยจะต้องไม่สร้างวัฒนธรรมในการแก้ไขปัญหาบนหลักการแบบอำนาจนิยม หรืออ้างเผด็จการเสียงข้างมากด้วยการระดมและจัดตั้งมวลชน รวมศูนย์อำนาจการแก้ไขปัญหาความยากจนมาไว้ยัง กอ.รมน. และละทิ้งหลักธรรมาภิบาล หลักการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง หลักการของเหตุผล และข้อมูลทางวิชาการ

4. รัฐบาลและสังคมไทยควรจะก้าวพ้นวิธีคิดเรื่องความมั่นคงแบบทหาร ที่เน้นการควบคุมกำกับอำนาจของรัฐ และความมั่นคงแบบทุนนิยมที่เน้นการสั่งสมความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจส่วนบน เพราะความมั่นคงทั้งสองแบบล้วนสร้างความไม่มั่นคงในการดำรงชีพของประชาชน

ความมั่นคงที่สังคมไทยควรใส่ใจคือ ความมั่นคงในชีวิต ฐานทรัพยากร วัฒนธรรม เศรษฐกิจของประชาชน อันจะนำมาซึ่งการดำรงอยู่ของสังคมอย่างสันติ
........................................................

คณะนักวิชาการผู้ร่วมลงนาม


1. ศ.ดร.ประกอบ วิโรจน์กูฎ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 2. ผศ.บัณฑร อ่อนดำ อดีตประธานคณะกรรมการกลางแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน
3. อาจารย์ศุภวิทย์ เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4. รศ.ดร.สุธีร์ ประศาสน์เศรษฐ์
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอดีตอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนที่เกี่ยวข้องกับ กฟผ. 5. รศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6. รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล 7. ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 8. ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 9. ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์
สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 10. นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ 11. ดร.นฤมล ทับจุมพล ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 12. ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อดีตเลขานุการคณะกรรมการกลางฯ) 13. อาจารย์เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล 14. อาจารย์วราภรณ์ แช่มสนิท สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล 15. อาจารย์สุภิญญา กลางณรงค์ สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล 16. นายชำนาญ ยานะ นักศึกษาปริญญาโท สาขาการแปล สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล

กรรมการสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ให้ ครม.ทบทวนมติปิดเขื่อนปากมูล

ประชาไท - เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแถลงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายกรณีเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี อันเนื่องมาจากกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 พ.ค.50 ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บานสุดบาน เป็นเวลา 4 เดือน โดยเริ่มเปิดประตูตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 50 แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีกลับมีมติเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 50 ให้รักษาระดับน้ำไว้ที่ 106-108 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดประตูน้ำถาวร

ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 พ.ค. 50 ที่ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำนั้น เป็นมติที่มาจากข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในระดับหนึ่ง ในขณะที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 50 ซึ่งให้รักษาระดับน้ำไว้อันเท่ากับเป็นการปิดประตูน้ำถาวร เป็นการตัดสินใจที่ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตลุ่มน้ำมูล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้งปี 2540 และฉบับที่กำลังยกร่างอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิตและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ได้เสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ 4 แนวทาง คือ

1. ปิดประตูน้ำ ใช้เขื่อนเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าตลอดปี
2. ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำในช่วงฤดูฝน คือ กรกฎาคม - พฤศจิกายน รวม 5 เดือน
3. ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำจากเดือนเมษายน - พฤศจิกายน รวม 8 เดือน อันเป็นช่วงปลายฤดูแล้งต่อช่วงฤดูฝน และ
4. เปิดประตูระบายน้ำตลอดปี

"คณะผู้วิจัยได้สรุปว่า ทางเลือกที่สี่เป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชุมชนได้ถึงกว่า 8,000 ครัวเรือน อีกทั้งในเมื่อการผลิตกระแสไฟฟ้ายังมิใช่ความจำเป็นเร่งด่วน แม้ว่าจะไม่ได้มีการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูลเลย ก็จะไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของกระแสไฟฟ้า และเขื่อนยังไม่ได้มีบทบาททางการชลประทานอย่างเต็มศักยภาพ จึงสมควรมุ่งประโยชน์ของลำน้ำมูลเพื่อเศรษฐกิจพื้นฐานของชุมชน ด้วยการพักการใช้เขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ก่อน จนกระทั่งความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไปจากสภาวการณ์ในปัจจุบัน" นายเสน่ห์ กล่าว

ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข้อเสนอว่า ขอให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 50 โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษาวิจัยทางวิชาการ และอยู่บนพื้นฐานกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะมีนัยยะสำคัญต่อเจตนารมณ์ปฏิรูปการเมืองในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบ้านเมืองขณะนี้

ด้าน น.ส.สมภาร คืนดี ชาวบ้าน ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดเขื่อนปากมูล กล่าวว่า จริงๆ แล้วเรื่องเขื่อนปากมูลมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาหลายครั้งแล้วก่อนหน้านี้ สมัยรัฐบาลทักษิณนั้นมีมติให้เปิดประตูเขื่อน 4 เดือน ซึ่งก็เป็นมติที่ขัดต่อความต้องการของชาวบ้านซึ่งต้องการให้เปิดตลอดปี ต่อมาเดือนมิถุนายน 47 คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้เปิดเขื่อนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน แล้วให้มีกลไกที่เรียกว่าคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตลุ่มน้ำมูล เป็นผู้กำหนดวันเปิดประตูน้ำว่าจะเปิดเมื่อไหร่ในช่วงสองเดือนนี้ ซึ่งนับแต่นั้นมา จะมีการเปิดเขื่อนโดยพิจารณาสภาพแวดล้อมและปริมาณน้ำในแม่น้ำ

"ปีนี้คณะรัฐมนตรีมีมติที่ถูกเสนอโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งถือว่าไม่ใช่กลไกปกติ เพราะปกติกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้เสนอให้คณะรัฐมนตรีตัดสินใจ แต่มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 มิถุนายน นั้น ถูกเสนอโดย กอ.รมน. โดยอ้างว่าประชาชน 23,000 คนต้องการให้รักษาระดับน้ำ ซึ่งหมายถึงการปิดเขื่อน และมีการเลี่ยงบาลีในมติคณะรัฐมนตรีให้สังคมเข้าใจว่าไม่ได้ปิดเขื่อน นอกจากนี้กระบวนการได้มาซึ่งตัวเลขของรายชื่อประชาชน ต้องตั้งคำถามว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ และเราเห็นว่าการดำเนินการครั้งนี้ของ กอ.รมน. ถือว่าเป็นคุกคามชาวบ้าน" น.ส.สมภาร กล่าว

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเขื่อนปากมูลต้องการให้มีการตัดสินว่า เมื่อมีการรักษาระดับน้ำแบบนี้แล้ว คนได้ประโยชน์คือคนสองหมื่นกว่าอย่างที่มีการอ้างจริงๆ หรือไม่ หรือว่ากรณีนี้เป็นแค่การนำตัวเลขมาอ้างกัน "การที่นายพลคนหนึ่งลงไประดมรายชื่อในพื้นที่ เพื่อเอามาสนับสนุนการกระทำเช่นนี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่ชาวบ้านไม่มีโอกาสได้พูดถึงว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร" น.ส.สมภาร กล่าว

ขณะที่ ศ.เสน่ห์ จามริก กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ทำการยื่นหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีไปเมื่อเช้านี้แล้ว ส่วนที่ผู้สื่อข่าวถามว่าจะยื่นหนังสือไปยังพล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ด้วยหรือไม่นั้น เขาตอบว่า การยึดอำนาจของ คมช.จะเป็นด้วยอะไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิฯ ต้องทำงานในกรอบสิทธิเสรีภาพ เวลาติดต่ออะไรจึงไม่ติดต่อไปที่ คมช.

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เรื่อง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายกรณีเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้งแปดบานสุดบานประตู เป็นเวลา ๔ เดือน โดยเริ่มเปิดประตูตั้งแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐ แต่ต่อมา คณะรัฐมนตรีกลับมีมติเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ ให้รักษาระดับน้ำไว้ที่ ๑๐๖-๑๐๘ เมตร (เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดประตูน้ำถาวร

จากการติดตามศึกษาการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูลมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากรอย่างกว้างขวาง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ดังนี้

๑. ข้อมูลและข้อเสนอที่นำไปสู่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้งแปดบานสุดบานประตู เป็นเวลา ๔ เดือนนั้น เป็นข้อมูลและข้อเสนอจาก "คณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตลุ่มน้ำมูล" ซึ่งแต่งตั้งโดยคำสั่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ ค.๕๐/๒๕๕๐ คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนชุมชนที่ได้รับผลกระทบ การดำเนินงานของคณะกรรมการอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และข้อมูลจากการศึกษาวิจัย มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐ จึงเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในระดับหนึ่ง

๒. มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ ให้รักษาระดับน้ำไว้ที่ ๑๐๖-๑๐๘ เมตร (เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดประตูน้ำถาวรนั้น เป็นการตัดสินใจที่อาศัยข้อมูล จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งไม่ครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้มีส่วนได้เสีย ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตลุ่มน้ำมูล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ และร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.... ซึ่งกำลังยกร่างอยู่ในปัจจุบัน

๓. การใช้ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่มาเป็นข้อมูลชี้ขาดในการตัดสินใจ โดยละเลยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบนั้น เป็นวิธีการเช่นเดียวกันกับการดำเนินงานของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลในปี ๒๕๔๗ โดยในครั้งนั้น รัฐบาลได้มีมติเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เลื่อนการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลจากวันที่ ๑ กรกฎาคม - ๓๑ ตุลาคม เป็นการเปิดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปจนครบ ๔ เดือน โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้พิจารณากำหนดวันเปิดประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ เกิดจากผลการศึกษาของกรมชลประทานและกรมประมง และผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยมิได้ใช้ข้อมูลและข้อเสนอแนะจากการศึกษาวิจัยของคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งทางสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ว่าจ้างให้ดำเนินการศึกษาด้วยงบประมาณ ๑๐,๒๐๐,๐๐๐ บาท (สิบล้านสองแสนบาทถ้วน)

๔. ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิตและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ได้เสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ ๔ แนวทาง คือ

๔.๑ ปิดประตูน้ำ ใช้เขื่อนเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าตลอดปี
๔.๒ ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำในช่วงฤดูฝน คือ กรกฎาคม - พฤศจิกายน รวม ๕ เดือน
๔.๓ ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำจากเดือนเมษายน - พฤศจิกายน รวม ๘ เดือน อันเป็นช่วงปลายฤดูแล้งต่อช่วงฤดูฝน
๔.๔ เปิดประตูระบายน้ำตลอดปี

โดยคณะผู้วิจัยได้สรุปว่า ทางเลือกที่สี่ เป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชุมชนได้ถึงกว่า ๘,๐๐๐ ครัวเรือน อีกทั้งในเมื่อการผลิตกระแสไฟฟ้ายังมิใช่ความจำเป็นเร่งด่วน แม้ว่าจะไม่ได้มีการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูลเลยก็จะไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของกระแสไฟฟ้า และเขื่อนยังไม่ได้มีบทบาททางการชลประทานอย่างเต็มศักยภาพ จึงสมควรมุ่งประโยชน์ของลำน้ำมูลเพื่อเศรษฐกิจพื้นฐานของชุมชน ด้วยการพักการใช้เขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ก่อน จนกระทั่งความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไปจาก สภาวการณ์ในปัจจุบัน (ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันก็ยังมีกำลังไฟสำรองอยู่ในระบบอยู่มาก ไม่มีความจำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูล)

๕. จากรายละเอียดข้างต้น จะเห็นได้ว่ามติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ เป็นการตัดสินใจโดยใช้วิธีการเดียวกันกับรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ทำให้การจัดการแก้ไขปัญหาลุล่วงไปได้ และโดยเนื้อหาของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว มีผลเท่ากับเป็นการปิดประตูน้ำอย่างถาวรนั้น จะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนและผลกระทบต่อระบบนิเวศร้ายแรงยิ่งไปกว่ามติ คณะรัฐมนตรีวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ควรดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงใคร่ขอเสนอให้ รัฐบาลโปรดพิจารณาให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษาวิจัยทางวิชาการ และอยู่บนพื้นฐานกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะมีนัยสำคัญต่อเจตนารมณ์ปฏิรูปการเมืองในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบ้านเมืองขณะนี้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๐
(ที่มา: สำนักข่าวชาวบ้าน)


มติครม. 12 มิ.ย. ปิดเขื่อนปากมูนถาวรเพื่ออะไร?
ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความนำ
การเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนปากมูนของชาวบ้าน แม้จะไม่สามารถหยุดการสร้างเขื่อน แต่ก็ได้ทำให้รัฐยอมจ่ายค่าชดเชยผลกระทบที่ไม่สามารถทำประมงได้ในช่วงการก่อสร้างเขื่อนเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีข้อตกลงว่า หลังการเปิดใช้เขื่อน จะมีการประเมินผลกระทบต่ออาชีพ และข้อพิสูจน์ว่าบันไดปลาโจนจะทำให้ปลาอพยพขึ้นได้ดังปกติหรือไม่

หลังการเปิดเขื่อนปากมูน ชาวบ้านซึ่งพบว่า ตนได้รับผลกระทบจากการใช้เขื่อนต่อการทำอาชีพประมงจึงได้เคลื่อนไหวให้รัฐบาลเปิดเขื่อนปากมูน อย่างไรก็ดี ข้อถกเถียงระหว่างชาวบ้านกับราชการว่า มีผลกระทบจริงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องราวที่ต่อสู้กันมายาวนาน ชาวบ้านเคยยึดหัวเขื่อนและตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนกว่า 2 ปี ในช่วงรัฐบาลชวนหลีกภัย และได้เคลื่อนมาล้อมทำเนียบ โดยมีชาวบ้านจำนวน 225 คน ปีนทำเนียบรัฐบาลและถูกจับ

ผลของการเคลื่อนไหวครั้งนั้น ได้นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการกลางแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ 10 คน มติคณะกรรมการกลางฯ ได้เสนอให้มีสถาบันทางวิชาการเข้ามาศึกษาผลกระทบหลังการเปิดเขื่อน

ในขณะที่ทางสภาพัฒน์ฯ พยายามผลักดันเสนอให้มีการศึกษาในทำนองเดียวกันโดยเป็นผู้จัดจ้างเอง แต่ได้รับการคัดค้าน เพราะหลักการประเมินผลกระทบไม่ควรให้เจ้าของโครงการเป็นผู้ดำเนินการฝ่ายเดียว (กล่าวได้ว่า ปัญหาปากมูนเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญแห่งหนึ่ง ที่ทำให้ข้อถกเถียงเช่นนี้นำไปสู่ประเด็นเรื่ององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ในรัฐธรรมนูญ 2540 ม. 56 วรรค2)
(มาตรา 56 วรรค 2: การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้ให้องค์กรอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและผู้แทนสถาบันศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ)

ข้อเสนอของคณะกรรมการกลางฯ ได้นำมาสู่การศึกษาผลกระทบ และแนวทางแก้ไขโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผลการศึกษาดังกล่าวนี้ได้นำมาสู่ข้อเสนอให้เปิดเขื่อนแบบถาวร และรัฐบาลทักษิณมีมติครม. 14 มกราคม 2546 ให้เปิดเขื่อนโดยยกประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานเป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม (ต่อมามีมติครม. วันที่ 8 มิถุนายน 2547 ขยับมาให้เปิดวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี) เพื่อให้ปลาได้อพยพขึ้นมาวางไข่

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูน ซึ่งมีลักษณะภาคี โดยประกอบไปด้วยผู้แทนหน่วยราชการ นักวิชาการ และตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ (ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิชย์ อดีตประธานบอร์ด กฟผ. เคยเป็นประธาน และปัจจุบันประธานคณะกรรมการคือ ปลัดกระทรวงพลังงานฯ) เพื่อพิจารณาการเปิดประตูระบายน้ำ และดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวบ้าน แม้ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้สรุปว่า เขื่อนปากมูนได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนและเสนอให้เลิกใช้เขื่อน แต่ชาวบ้านยอมรับเงื่อนไขการเปิดประตูระบายน้ำ 4 เดือน ปิด 8 เดือน ตามการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีในยุครัฐบาลทักษิณ

ดังนั้น พัฒนาการของการแก้ไขกรณีปัญหาเขื่อนปากมูน แม้จะลุ่มๆ ดอนๆ ฝ่ายชาวบ้านเองก็ไม่ได้ตามข้อเรียกร้องทั้งหมด แต่กระบวนการแก้ปัญหาได้นำมาสู่การถกเถียงบนหลักการธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งตัดสินใจที่อาศัยฐานข้อมูล ข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา

"รัฐทหาร" กับการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูน
หลังการรัฐประหาร มติ ครม.ให้เปิดเขื่อนปากมูน 4 เดือน และคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูน ยังเป็นกลไกการแก้ไขปัญหาสำคัญ แต่เกิดกลไกด้านความมั่นคงขึ้นซ้อนทับขึ้นมา กล่าวคือ รัฐบาลระบอบรัฐประหาร ได้มีการยุบเลิกศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน(ศตจ.) และเปลี่ยนเป็น "ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนภายใต้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)"

ที่สำคัญก็คือ ได้นำ ศจพ. มาอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลโดย กองอำนวยการร่วมรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ซึ่งมี ผบ.ทบ. เป็นผู้อำนวยการฯ ดังที่จะเห็นได้ว่า ระบอบรัฐประหารได้ฟื้นฟู กอ.รมน. และเข้ามามีบทบาทอย่างมาก (เช่น เรื่องการตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายความมั่นคง และเสนอร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคง เพื่อเพิ่มเติมกำหนดภารกิจให้ กอ.รมน.มีอำนาจและบทบาทเพิ่มมากยิ่งขึ้น ฯลฯ)

ภายใต้ระบอบรัฐประหาร ปัญหาคนจน ความยากจน จึงอยู่ภายใต้แนวคิดเรื่องความมั่นคงใหม่ คนจนถูกมองว่า เป็นเหยื่อของนักการเมือง เหยื่อประชานิยมของทักษิณ และอยู่ภายใต้กลไกการควบคุมกำกับโดย กอ.รมน. ปัญหาของพี่น้องปากมูนจึงอยู่ภายใต้บริบทดังกล่าวนี้

การเปิดเขื่อนในรัฐบาลชุดปัจจุบันตามมติ ครม.ที่มีอยู่เดิม ชาวบ้านจึงได้เสียงร่ำลือและเค้าลางว่า มีนายทหารเข้ามาเคลื่อนไหวไม่ให้เปิดเขื่อนปากมูน. วันที่ 23 เมษายน 2550 ชาวบ้านจึงได้พยายามพบนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดอุบลราชธานี และนายกฯ ได้รับปากกับชาวบ้านว่า จะเปิดเขื่อนปากมูนตามมติ ครม.ที่มีอยู่เดิม ซึ่งก็คือ มติ ครม. 14 มกราคม 2546 ให้เปิดเขื่อนโดยยกประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานเป็นเวลา 4 เดือน

ซึ่งการดำเนินการเปิดประตูระบายก็ล่าช้าเพราะกลไกด้านความมั่นคงที่เข้ามาทับซ้อน อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ยังมีมติยืนยันว่าปีนี้เขื่อนปากมูนจะเริ่มระบายน้ำในวันที่ 7 มิถุนายน เพื่อเปิดประตูทั้ง 8 บาน โดยได้เห็นชอบแนวทางดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในการกำหนดวันเปิดบานประตูเขื่อนปากมูล ตามที่กระทรวงพลังงานฯ เสนอด้วยเหตุผลว่า

1. ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ใกล้เคียง มีเพียงพอใช้จ่ายให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างทั่วถึง แม้ไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูล ดังนั้น ความสำคัญของเขื่อนปากมูลจึงควรมุ่งเน้นด้านชลประทานและประมงเป็นหลัก ส่วนการผลิตไฟฟ้าควรพิจารณาเป็นผลพลอยได้

2. โดยที่ข้อเสนอกำหนดการปิด-เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลของประชาชนทั้ง 2 กลุ่มข้างต้นมีความแตกต่างกันในช่วงระยะเวลา 15 วัน คือระหว่างวันที่ 1 - 15 มิถุนายน 2550 ประกอบกับจากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ในขณะนี้ฝนเริ่มตกในพื้นที่ต้นน้ำมูลแล้ว ประกอบกับปริมาณน้ำมีมากกว่าปี 2549 และคาดว่าจะทำให้ปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนปากมูลเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังจากสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน 2550 ซึ่งจะทำให้ลำน้ำมีปริมาณน้ำเพียงพอให้ปลาสามารถอพยพขึ้นไปวางไข่บริเวณต้นน้ำเหนือเขื่อนปากมูลได้ และเพียงพอสำหรับการเตรียมกล้าและเตรียมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ดังนั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั้ง 2 กลุ่ม จึงเห็นควรเริ่มเปิดประตูเขื่อนปากมูลในวันที่ 7 มิถุนายน 2550 และเปิดยกบานขึ้นสูงสุดในวันที่ 17 มิถุนายน 2550

3. กระทรวงพลังงานจะประสานกับกรมชลประทานในการปรับปรุงสถานีสูบน้ำ จำนวน 6 แห่ง ที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ให้สามารถสูบน้ำได้เมื่อระดับน้ำในลำน้ำมูลลดลง หลังจากการเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล เพื่อให้สามารถสูบน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกของเกษตรกรได้โดยเฉพาะในช่วงภาวะฝนทิ้งช่วง (http://www.thaigov.go.th/Download/560_29%2005%2050.doc)

รัฐซ้อนรัฐ และสภาวะ "สองรัฐ หนึ่งสังคม"
แต่การตัดสินใจของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี 29 พฤษภาคม ซึ่งดำเนินผ่านช่องทางความรับผิดชอบของกลไกปกติคือ คณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรฯ และกระทรวงพลังงานฯ ก็เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งกับกลไก กอ.รมน. ซึ่งอ้างว่า งานด้านการแก้ไขความยากจนเป็นความรับผิดชอบของ ศจพ.ที่มีท่านประธาน คมช.เป็นผู้อำนวยการ

เค้าลางที่ชาวบ้านเริ่มรับรู้ว่า ทหารจะปิดเขื่อนปากมูนเริ่มชัดเจนเมื่อ พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน (ภายใต้ ศจพ.) ได้เข้ามามีบทบาทในการออกหนังสือให้คณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรฯ งดการประชุมเพื่อพิจารณาการเปิดประตูระบายน้ำ (ตามการนัดหมายการประชุมในวันที่ 18 พฤษภาคม)

ชาวบ้านล่ำลือกันว่า นายทหารที่เข้ามามีบทบาทได้อ้างว่า ได้รับอำนาจมาจาก คมช. ซึ่งในโครงสร้างการบังคับบัญชาก็เป็นจริงเช่นนั้น เพราะหนังสือฉบับต่างๆ ได้ระบุว่า ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน) ในฐานะศูนย์อำนวยการ ศจพ.ได้มอบหมายอำนาจให้อนุกรรมการชุดนี้เป็นผู้ดำเนินการ

"ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้มอบหมายให้อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เชิญหน่วยงานตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนที่จะกราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป" (หนังสือ ที่ นร. 5100.26 /สจพ.ทด/15)

ปัญหาปากมูนภายใต้กลไก กอ.รมน. ได้มีการประชุมที่เป็นทางการ 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 18 พฤษภาคม และวันที่ 4 มิถุนายน และข้อเสนอได้นำไปสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน เพื่อเปลี่ยนมติคณะรัฐมนตรี 29 พฤษภาคม

อย่างไรก็ดี แม้เรื่องราวจะผ่านมาจนถึงวันที่ 17 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่ กฟผ.จะต้องยกประตูระบายน้ำสูงสุดทั้ง 8 บาน ก็ยังไม่มีใครได้เห็นมติ ครม.ดังกล่าวนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ทราบข่าวว่า ฝ่ายต่อต้านการเปิดเขื่อนได้เฉลิมฉลองชัยชนะที่ทำให้รัฐบาลปิดประตูระบายน้ำได้ ซึ่งน่าสนใจว่า ติครม.ดังกล่าวนี้ไม่มีในข่าวทำเนียบ และโฆษกฯ ก็ไม่ได้แถลง ชาวบ้านพยายามสอบถามรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีใครบอกได้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจนได้พบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล จึงได้รับทราบจากปากท่านนายกฯ ว่า คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นชอบให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ รักษาระดับน้ำเขื่อนปากมูลไว้ที่ระดับ ๑๐๖ - ๑๐๘ ม.รทก.

ซึ่งต้องเข้าใจว่า ระดับน้ำที่ ๑๐๘ ม.รทก. คือระดับเก็บกักน้ำปรกติของเขื่อนปากมูล และเมื่อเขื่อนปล่อยน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าระดับน้ำก็จะเหลืออยู่ที่ประมาณ ๑๐๖ ม.รทก เขื่อนปากมูลจึงไม่มีการเปิด นั่นก็หมายความว่า เขื่อนปากมูลยังใช้งานตามปรกติ การรักษาระดับน้ำไว้ที่ระดับ ๑๐๖ - ๑๐๘ ม.รทก. เป็นเพียงการเลี่ยงบาลี
ความหมายก็คือ นับแต่นี้ต่อไปหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างอื่น ก็จะไม่มีการเปิดประตูน้ำ เพื่อให้ปลาอพยพจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำมูนอีกต่อไป มติครม. 12 มิถุนายน จึงเป็นการปิดเขื่อนปากมูนถาวร

น่าสนใจว่า เหตุผลที่ใช้สนับสนุนการปิดเขื่อนถาวรนี้มีอย่างน้อย 2 ประการที่สำคัญคือ ประการแรก ข้ออ้างเรื่องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรม ดังที่นายกรัฐมนตรีกล่าวแก่ชาวบ้านสมัชชาคนจนว่า

"สิ่งที่ทางเจ้าหน้าที่ได้รายงานมา (อีกครั้ง-ผู้เขียน) นั้นก็เป็นเรื่องที่เราพูดกันอยู่ว่า ในเรื่องที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำของแม่น้ำมูนว่า จะสามารถให้ประโยชน์ได้มากแค่ไหน ในระดับน้ำแค่ไหน ซึ่งได้ข้อยุติตรงที่กรมชลประทานบอกว่าที่ระดับ 106 ม.รทก. จะเป็นประโยชน์ในการใช้น้ำได้ในลักษณะที่ทั้งเป็นประโยชน์ในด้านการเกษตร ต่อผู้ที่มีพื้นที่อยู่เหนือน้ำแล้ว ก็จะสามารถที่จะระบายน้ำในช่วงเวลาที่เรากำหนดไว้ได้ตามนั้นด้วย"

ชาวบ้านสมัชชาคนจนซึ่งได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ในวันที่ 15 มิถุนายน เล่าว่า ท่านรัฐมนตรีก็เห็นดีงามกับการมีน้ำเพื่อการเกษตรกรรม เพราะจะได้นำน้ำมาใช้ในการผลิตภายใต้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ท่านไม่ทราบว่า ระดับการเก็บกักน้ำที่ 106-108 ม.รทก. ความหมายก็คือการปิดเขื่อน
ข้ออ้างดังกล่าวนี้ ชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้รับฟังจากปากของพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ที่รัฐสภาว่า งานวิจัยเหล่านี้เชื่อถือไม่ได้ ผู้เขียนจะไม่ถกเถียงในที่นี้ เพราะมีผู้คน สถาบันทางวิชาการ คณะวิจัยต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย คงจะได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางต่อไป ผู้คนเหล่านี้คงไม่ยินยอมให้งานวิชาการถูกโยนทิ้งอย่างง่ายๆ ด้วยกำลังอำนาจดิบๆ

เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ การอ้างว่า มีผู้ลงชื่อสนับสนุนให้ปิดเขื่อนถาวร ร้อยละ 98 และนายทหารท่านหนึ่งอ้างว่า นี่แหละประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะเป็นการตัดสินโดยประชามติของเสียงส่วนใหญ่

ชาวบ้านสมัชชาคนจนพยายามสะท้อนว่า กระบวนการได้มาซึ่งรายชื่อแฝงไปด้วยเล่ห์กลต่างๆ แต่ฐานคิดและความเข้าใจเรื่อง ธรรมาภิบาล และหลักการพื้นฐานประชาธิปไตย กระบวนการของประชามติเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องเศร้าใจสำหรับสังคมไทยมากพอแล้ว

ข้อสังเกตเบื้องต้น
การปิดเขื่อนปากมูนจะนำมาสู่ความเดือดร้อนของชาวบ้าน ซึ่งได้เตรียมเครื่องมือหาปลากันเอาไว้ และส่วนใหญ่ต้องกู้หนี้ยืมสินเขามาก่อน หลายครอบครัวหยิบยืมเงินมาให้ลูกๆ ใช้จ่ายในช่วงโรงเรียนเปิด โดยหวังว่า เมื่อเปิดเขื่อนจะได้หาปลาเอามาใช้หนี้เขา

สำหรับการตัดสินใจกลับไปกลับมาของครม. ชาวบ้านก็ตั้งคำถามว่า นายทหารบางคนเกี่ยวข้องกับ กฟผ. แต่เหตุใดจึงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของการบริหารประเทศขนาดนี้ นี่ไม่ใช่ผลประโยชน์ทับซ้อนดอกหรือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านปากมูนจะช่วยให้เราหูตามสว่าง และเห็นว่า เหตุใด ร่างพ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน จึงถูกต่อต้านจากหน่วยงานด้านความมั่นคง และมหาดไทย เพราะพวกเขาวิธีคิดการพัฒนาประชาธิปไตยที่ต้องการเอาอำนาจไปไว้ที่ประชาชน แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยโดยการกำกับ (ดังมหาดไทยที่กำลังดำเนินโครงการพัฒนาประชาธิปไตยร่วมกับทหาร พวกเขากำลังเร่งอบรม "วิทยากรแม่ไก่" เพื่อให้ผู้คนได้เห็นความเลวร้ายของระบอบทักษิณ และลากพาคนมาลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ)

การดาหน้าออกมาคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.สภาชุมชนโดยหยิบอ้างปัญหาเทคนิค ความซ้ำซ้อน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนมีวาระซ่อนเร้นทั้งสิ้น เพราะสิ่งที่ทหารและมหาดไทยกำลังผลักดันกันอยู่ก็คือ การเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ 2457 เพื่อฟื้นคณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน และกวาดเอาองค์กรชุมชน กลุ่มก้อนต่างๆ ไว้ภายใต้การกำกับของมหาดไทย

สิ่งที่มหาดไทยและทหารต้องการสร้างคือ ประชาธิปไตยและองค์กรมวลชนแบบกำกับโดยรัฐ (state corporatism) ไม่ใช่การขยายไปสู่ประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

วิธีคิด กลไกการการแก้ปัญหาปากมูนเช่นนี้ยังช่วยทำให้เราตั้งคำถามว่า สังคมจะสร้างวัฒนธรรมการการแก้ปัญหาโดยใช้เกณฑ์การตัดสินกันด้วยการเมืองของจำนวน การระดมมวลชน การควบคุมกำกับผู้คนในสังคม ฯลฯ มากกว่าการตัดสินกันด้วยข้อมูล เหตุผล และกระบวนการมีส่วนร่วม กระนั้นหรือ

ความเดือดร้อนของชาวบ้านคงจะช่วยเตือนสติสังคมไทยให้ตั้งคำถามว่า ในบริบทรัฐทหารเช่นนี้เราจะสร้างและจรรโลงประชาธิปไตย และหลักธรรมาธิบาลให้ลงหลักปักฐานในสังคมไทยได้หรือไม่

 


คลิกเข้าสู่หน้าแรกของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6

ประวัติ ม.เที่ยงคืน I webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com
midnightuniv(at)yahoo.com

ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ช่องทางด่วน
midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน และสังคมไทยของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่ หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

ข้อความใดๆก็ตามที่ปรากฏบนเว็บบอร์ดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นของเจ้าของชื่อ หรือนามแฝง หรือ IP ของผู้นั้น
ซึ่งไม่อยู่ในวิสัยความรับผิดชอบโดยตรงของบรรณาธิการเว็บไซต์นี้
หากพบข้อความใดบนเว็บบอร์ดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่หมิ่นประมาท หรือล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ชุมชน และสังคม กรุณาแจ้งให้ทราบ
เพื่อที่จะดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด (หากพบข้อความดังกล่าว กรุณาแจ้งให้ทราบที่ midnightuniv(at)gmail.com)

 

 

 

 

 

 

 

The Midnight University
H