โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 27 Jun 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๘๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ (June, 27, 06,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

สำหรับเราแล้ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือนโยบายที่แท้จริง ต้องเริ่มจากตีนเล็กๆ ของชาวบ้านที่มาเดินร่วมกัน ฟันฝ่าล้มลุกคลุกคลานด้วยกัน ผลักดันความเปลี่ยนแปลงไปทีละก้าว ที่ละขั้นร่วมกัน ตราบใดที่แต่ละก้าวนั้น ย่างออกไปด้วยกำลังขาของตัวเอง และด้วยการตัดสินใจของตัวเอง จะเดินช้า หรือสะดุดล้มบ้าง ก็ยังภูมิใจได้ว่าเป็นการก้าวไปด้วยตีนของเรา เหมือนอย่างที่พี่น้องของสมัชชาคนจนเคยบอกว่า รัฐธรรมนูญเขียนได้ด้วยตีนของเรา เหมือนอย่างที่พวกเราเชื่อว่าถ้าอยากเห็นรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ก็ให้ลงมือทำเอา แล้วรัฐธรรมนูญก็จะเป็นไปตามนั้น
27-06-2550

Empowerment
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

สามปีของการจากไปของนักสู้สามัญชนเจริญ วัดอักษร
กรณ์อุมา พงษ์น้อย:
ทำไมต้องรักท้องถิ่น และเรื่องเกี่ยวเนื่องเจริญ วัดอักษร

กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ปาฐกถา และรายงานบรรยากาศรำลึกถึง ๓ ปีของการสูญเสียเจริญ วัดอักษร

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้เป็นการปาฐกถาของ กรณ์อุม พงษ์น้อย
และรายงานที่นำมาจากเว็บไซต์ต่างๆ เกี่ยวกับงานครบรอบวันเสียชีวิตของเจริญ วัดอักษร
(๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๙ / ครบรอบ ๓ ป๊) โดยเนื้อหาประกอบด้วย
- ปาฐกถากรณ์อุม พงษ์น้อย: ทำไมต้อง"รักท้องถิ่น"?

- หลายเครือข่ายร่วมแห่รูปหล่อ 'เจริญ วัดอักษร' รำลึก ๓ ปีการสูญเสีย
- คดีเจริญ วัดอักษร ไม่คืบ: บทสะท้อนความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมไทย
- กรีนพีซร่วมงานรำลึกเจริญ วัดอักษร เรียกร้องรัฐบาลหยุดใช้ถ่านหินยุติโลกร้อน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๘๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สามปีของการจากไปของนักสู้สามัญชนเจริญ วัดอักษร
กรณ์อุมา พงษ์น้อย:
ทำไมต้องรักท้องถิ่น และเรื่องเกี่ยวเนื่องเจริญ วัดอักษร

กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ปาฐกถา และรายงานบรรยากาศรำลึกถึง ๓ ปีของการสูญเสียเจริญ วัดอักษร

1. ปฐกถา: ทำไมต้อง"รักท้องถิ่น"?
กรณ์อุมา พงษ์น้อย : ปาฐก

สวัสดีค่ะพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนมิตรทุกท่านที่ได้เดินทางมาร่วมกันเป็นสักขีพยานในการติดตั้งรูปหล่อ "เจริญ วัดอักษร" หรือที่อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ได้ตั้งชื่อไว้ให้ว่า "ทรนง ณ ธรณี"

แม้ว่าแรงบันดาลใจในขั้นแรกของการสร้างรูปหล่อนี้ จะมาจากน้ำใจและความปรารถนาดีของเหล่าศิลปิน ที่ต้องการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อแสดงความระลึกถึงและให้เกียรติต่อ เจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี ที่ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนยน ๒๕๔๗ แต่ความหมายที่แท้จริงของอนุสาวรีย์นี้ ก็เป็นอย่างที่พวกเราในที่นี้ทุกคนเข้าใจร่วมกัน และที่เป็นสาเหตุให้เราต่างมาจากทุกสารทิศเพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในพิธีติดตั้งอนุสาวรีย์ในวันนี้ นั่นคือ เพื่อให้อนุสาวรีย์นี้เป็นสัญลักษณ์ถึงการต่อสู้ของชาวบ้านสามัญชนอย่างเราทั่วทุกหัวระแหง ที่ต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ของความรักท้องถิ่น และสามัคคีกันทั้งชุมชนเพื่อเป็นพลังอันเข้มแข็ง

ทำไมต้องอุดมการณ์ของการปกป้องรักท้องถิ่น?
ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของบ้านเมืองนี้ ชุมชนหลายแห่งได้ลุกขึ้นมาต่อรองอำนาจในการกำหนดอนาคตของตนเอง ได้เกิดการต่อสู้ขึ้นมาหลายครั้งในหลายพื้นที่ แลกมาด้วยเลือดเนื้อของชาวบ้านนิรนามไม่รู้เท่าไหร่ ทั้งที่แพ้บ้างชนะบ้าง แต่ก็ล้วนได้ลุกขึ้นสู้อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นชาวบ้านที่ลุกขึ้นสู้ด้วยสำนึกอย่างชาวบ้าน ว่ากูอยู่ของกูมาอย่างนี้ จะดีจะชั่วกูก็อยู่ของกูมาแต่รุ่นปู่ย่า ทำมาหากินเลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัวมาโดยอาศัยทรัพยากรรอบตัว คือ ผืนดิน แม่น้ำ ป่าเขา ทะเล อยู่ร่วมกันมาเป็นชุมชน เป็นเทือกเถาเหล่ากอ ที่สามัคคีกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ก็ยังยึดโยงกันอยู่เป็นชุมชน เพราะเราต้องพึ่งพาพึ่งพิงซึ่งกันและกัน

เมื่อวันหนึ่งมีคนมาทุบหม้อข้าว จะมาแบ่งแยกทำลายชุมชนของเรา เราจึงมีแต่ต้องลุกขึ้นสู้ตามสัญชาติญาณตามสามัญสำนึก ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนตรงไปตรงมาว่า เราต้องสู้เพื่อรักษาปากท้อง หม้อข้าว และหม้อรกของเราไว้

อย่ามาพูดคำว่า "ผลประโยชน์ของชาติ" หรือ "ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่" กับเราแต่เพียงลอยๆ เพื่อเป็นข้ออ้างให้เราต้องเสียสละ เพราะคนส่วนใหญ่ย่อมประกอบด้วยคนส่วนน้อย คนเล็กคนน้อยมารวมกัน
ศักดิ์ศรีของคนส่วนใหญ่ จะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าคนส่วนน้อยถูกย่ำยี ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่จะมีอยู่จริงได้อย่างไร ถ้ามันได้มาด้วยการยื้อแย่ง ทำลาย ปล้นชิงคนเล็กคนน้อย เพราะชาติ ประกอบขึ้นด้วยชุมชนเล็กๆ หลายๆ ชุมชน เมื่อชุมชนเข้มแข็ง ชาติจึงเข้มแข็ง

เรารู้ว่าธงอย่างที่เรียกว่าธงชาติไทย มีสีอะไรบ้าง แต่เมื่อเราจะลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องท้องถิ่นของเรา เราเย็บธงของเราขึ้นเอง ตัดไม้ทำด้ามธงของเราเอง และเลือกเองว่าจะใช้ธงสีอะไร การชูธงเขียว ธงแดง ไม่ใช่เป็นการปฏิเสธธงชาติ ตรงกันข้าม มันคือการยืนยันตัวตนของเราในฐานะชุมชนที่ประกอบกันขึ้นเป็นชาติ ถ้าเราไม่รอด ชาติก็ไม่รอด

ขบวนการประชาชนในระดับชุมชน อาจดูเป็นเรื่องเฉพาะประเด็น เฉพาะถิ่น แต่ภายในขบวนการเล็กๆ เช่นนี้นี่เอง ที่เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร เรามองเห็นได้ทะลุในทุกส่วน ทุกองค์ประกอบของขบวน เพราะมันล้วนมาจากเรา อยู่ในสายตาของเรา อยู่ในการควบคุมและตัดสินใจของพวกเรา กระทั่งคนที่ได้ชื่อว่าเป็นแกนนำหรือผู้นำ ก็ไม่อาจตัดสินใจหรือลงมือกระทำการใด ที่รอดพ้นไปจากการกำกับตรวจสอบของพวกเราได้ สนามเล็กๆ นี้เองที่ฝึกฝนเราให้เท่าทันสนามที่ใหญ่กว่า ผลจากอุดมการณ์ของความรักท้องถิ่นนี่เอง ที่ทำให้เราเท่าทันกลลวงและความหมายที่แท้จริงของอุดมการณ์ที่ใหญ่กว่า

สำหรับเราแล้ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือนโยบายที่แท้จริง ต้องเริ่มจากตีนเล็กๆ ของชาวบ้านที่มาเดินร่วมกัน ฟันฝ่าล้มลุกคลุกคลานด้วยกัน ผลักดันความเปลี่ยนแปลงไปทีละก้าว ที่ละขั้นร่วมกัน ตราบใดที่แต่ละก้าวนั้น ย่างออกไปด้วยกำลังขาของตัวเอง และด้วยการตัดสินใจของตัวเอง จะเดินช้า หรือสะดุดล้มบ้าง ก็ยังภูมิใจได้ว่าเป็นการก้าวไปด้วยตีนของเรา เหมือนอย่างที่พี่น้องของสมัชชาคนจนเคยบอกว่า รัฐธรรมนูญเขียนได้ด้วยตีนของเรา เหมือนอย่างที่พวกเราเชื่อว่าถ้าอยากเห็นรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ก็ให้ลงมือทำเอา แล้วเดี๋ยวรัฐธรรมนูญก็จะเป็นไปตามนั้นเอง

พี่น้องอาจไม่ทราบว่า ในช่วงการเตรียมการติดตั้งอนุสาวรีย์นี้ พวกเราที่นี่หลายคน อดตาหลับขับตานอน ลงแรงขนหิน ขนทราย แบกปูน ร่วมกันก่อสร้างฐานเพื่อรองรับอนุสาวรีย์นี้ เพราะอนุสาวรีย์นั้น ต่อให้ยิ่งใหญ่ หรือสูงค่าเพียงใด ก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้โดยปราศจากฐานรองรับ อุดมการณ์ของการรักท้องถิ่น คืออุดมการณ์ของคนที่เชื่อในการลงแรงสร้างฐาน เพื่อนำไปสู่การผงาดของอนุสาวรีย์หรือการเปลี่ยนแปลงอันเป็นประวัติศาสตร์

และด้วยความเชื่อที่ว่า ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นคือฐานสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงนี่เอง เราจึงตั้งใจที่จะพัฒนาพื้นที่อันเป็นสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์นี้ ให้เป็นโรงเรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้ปกป้องท้องถิ่น เป็นที่เก็บรวบรวมเรื่องราวการต่อสู้ของท้องถิ่น เป็นสถานที่บันทึกประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยคนท้องถิ่นที่เป็นผู้ลงมือสร้างประวัติศาสตร์เอง

สถานที่แห่งนี้จะเก็บรวบรวมประวัติศาสตร์และเรื่องราวการเคลื่อนไหวของชาวประจวบฯ และชุมชนต่างๆ เป็นศูนย์กลางสำหรับพี่น้องชาวบ้านชุมชนต่างๆ ที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์ของการต่อสู้ปกป้องหวงแหนท้องถิ่นเหมือนกัน ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ฝึกฝนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กัน เราอยากเห็นชุมชนต่างๆ ลุกขึ้นมาสร้างประวัติศาสตร์ของตนเอง ต่อสู้ยืนหยัดปกป้องท้องถิ่นด้วยความเข้มแข็ง ส่งทอดและสืบสานอุดมการณ์รักท้องถิ่นให้แก่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป

ขณะเดียวกัน การรักษาอุดมการณ์และความเข้มแข็งของชาวประจวบฯ ไว้ ก็เป็นภารกิจที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ในวันนี้ การต่อสู้ของพวกเราชาวประจวบฯ เองก็ยังไม่จบสิ้น แม้โรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูดจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่โรงไฟฟ้าใหม่ๆ ทั้งถ่านหิน ก๊าซและนิวเคลียร์ ก็รอจังหวะที่จะรุกเข้ามา โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างสหวิริยาก็จ้องจะขยายอาณาจักร มารุกรานทำลายทรัพยากรและสุขภาพของชาวประจวบฯ ให้ยิ่งหนักข้อเข้าไปอีก ที่ดินสาธารณะคลองชายธงก็ยังอยู่ในมือกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น

ถ้าเมื่อไหร่ที่ชุมชนของเราไม่เห็นความสำคัญของการรวมตัวกันต่อสู้ด้วยความเข้มแข็ง ไม่เห็นความสำคัญของการยืนหยัดด้วยตนเอง ประวัติศาสตร์แห่งชัยชนะของชุมชนที่เราเคยสร้างไว้ ก็จะกลายเป็นตำนาน เป็นนิทานปรัมปราที่มีแต่จะถูกลืมเลือนไป พร้อมๆ กับวิถีชีวิตและทรัพยากรของชุมชนที่จะถูกทำลาย แล้วเราก็จะเหลือแต่อนุสาวรีย์ทองเหลืองนี้ตั้งไว้ แต่ไม่เหลือภารกิจให้สืบสานอะไร เป็นท้องถิ่นที่หมดศักดิ์ศรีและถูกกลืนหาย เป็นชุมชนทาสอยู่ในชาติที่เรียกตัวเองว่าไทย

๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๐
ครบสามปีการจากไปของเจริญ วัดอักษร



2. หลายเครือข่ายร่วมแห่รูปหล่อ'เจริญ วัดอักษร' รำลึก ๓ ปีการสูญเสีย

ประชาไท - 20 มิ.ย.50 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลาตั้งแต่ 08.00 น. กลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก - บ้านกรูด - กรุยบุรี กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นแม่รำพึง ประมาณ 400 คน ได้ตั้งขบวนแห่รูปหล่อสัมฤทธิ์ของนายเจริญ วัดอักษร ไปรอบตัวเมืองประจวบฯ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในจังหวัดประจวบได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน การรุกที่ดินสาธารณะในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดยได้แกนนำขึ้นปราศรัยระบุว่าแม้การต่อสู้ที่ผ่านมาทำให้ต้องสูญเสีย นายเจริญ วัดอักษร แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังมีโครงการจะสร้างต่อไป แต่ย้ายไปทำความเดือดร้อนให้ประชาชนที่อำเภอทับสะแก ในจังหวัดประจวบฯ เอง รวมทั้งที่ย้ายไปในจังหวัดอื่น นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมเหล็กที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยชาวบ้านแม่รำพึงก็กำลังลุกขึ้นมาต่อสู้. ทั้งนี้ หลังจากแห่รอบเมืองประจวบฯ แล้ว มีกำหนดการจะเคลื่อนขบวนแห่รูปหล่อ ไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้ยกเลิกเอกสารสิทธิที่ดินสาธารณะประโยชน์คลองชายธงที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุให้เกิดการสังหารนายเจริญ วัดอักษร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้มีตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่ต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึงตอนเช้าตรู่ของวันนี้ สวมเสื้อสีเขียวเข้าร่วมเดินรณรงค์ด้วยจำนวนประมาณ 60 คน. นายกัญหา คำลาภ รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยว่า เขารู้สึกถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรท้องถิ่นไว้

"ปีนี้ครบรอบปีที่ 3 ของการจากไปของเจริญ วัดอักษร แต่เจริญไม่เคยตาย เขาอยู่ในวิญญาณการต่อสู้ของคนประจวบฯ และเขาก็เป็นตัวอย่างอุดมการณ์การต่อสู้ของคนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีศรัทธาในอุดมการณ์นั้นจึงได้มาร่วมงานในครั้งนี้ หลังจากตั้งรูปหล่อเสร็จก็จะกลับไปที่วัดสี่แยกบ่อนอก ซึ่งจะได้มีงานรำลึก 3 ปีการตายของเจริญ โดยกลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ จะจัดนิทรรศการเรื่องเหมืองแร่โปแตช การต่อสู้ของประชาชนชาวอุดรฯ กับโครงการเหมืองแร่โปแตช เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับประชาชนที่มาร่วมงานตลอดสองวัน" นายกัญหากล่าว

มีรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ แล้ว กลุ่มชาวบ้านจังหวัดประจวบฯ และผู้เข้าร่วมจะเคลื่อนขบวนกลับไปที่วัดสี่แยกบ่อนอก สถานที่จัดงานซึ่งได้มีการจัดนิทรรศการการต่อสู้ของภาคประชาชนจากกรณีปัญหาต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีการจัดเวทีปาฐกถาโดยนักวิชาการ และการแสดงดนตรีโดย ศิลปินมากมาย เช่น พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, สุรชัย จันทิมาธร, หว่อง มงคล อุทก, ปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์,โฮป, ซูซู, ตลอดสองวันสองคืน

นางกรอุมา พงษ์น้อย, ภรรยาหม้ายของนายเจริญ วัดอักษร กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (21 มิ.ย. 50) จะได้มีการประกอบพิธีทางศาสนาทำบุญเลี้ยงพระเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เจริญ และฉายวิดีโอภาพประวัติศาสตร์การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากนั้นจะเคลื่อนขบวนแห่รูปหล่อจากวัดสี่แยกบ่อนอกไปประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ณ จุดที่เจริญ วัดอักษร ถูกยิง

"การตั้งรูปหล่อ "ทรนง ณ ธรณี" (เป็นชื่อที่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ตั้ งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ) ของเจริญ วัดอักษร เพื่อให้เป็นอนุสาวรีย์การต่อสู้ของภาคประชาชน โดยได้เชิญพี่น้องที่ต่อสู้ปกป้องท้องถิ่นมาร่วมกัน ประกาศเจตนารมณ์ปกป้องรักท้องถิ่นด้วยพลังประชาชน เพราะงานนี้ไม่ได้ต้องการจัดเพียงพิธีรำลึกไว้อาลัยแก่การจากไปของเจริญเท่านั้น แต่เป็นการรำรึงถึงผู้ที่ต่อสู้อยู่ด้วยเจตนารมณ์เช่นกันกับที่เจริญต่อสู้จนตัวตาย" นางกรอุมากล่าว

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ขบวนได้แห่รูปหล่อ "ทรนง ณ ธรณี" โดยขบวนแห่ได้เดินทางไปหยุดที่หน้าศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ต่อมาว่าที่ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ พลายเวช รองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ออกมารับหนังสือหนังสือ หนังสือดังกล่าวมีใจความระบุว่า:- กรณีที่ดินสาธารณะคลองชายธงถูกบุกรุกทำลายมาสิบปี เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยต่อหน้าที่ หรืออาจรู้เห็นเป็นใจต่อการกระทำของผู้บุกรุก จนกระทั่งเจริญ วัดอักษร ถูกฆ่าตายเป็นข่าวครึกโครมไปทั้งประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงถูกกดดันจากสังคมให้ต้องดำเนินคดีกับกลุ่มอันธพาลที่บุกรุกทำลายที่สาธารณะคลองชายธง ชาวบ้านในนามกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี มีความเห็นและข้อสงสัยว่า กระบวนการดำเนินคดีเอาผิดกับผู้บุกรุกในช่วงสามปีที่ผ่านมา เป็นเพียงปาหี่หลอกลวงประชาชนหรือไม่ เพราะเป็นเวลาสามปีแล้วที่เจริญ วัดอักษร เสียชีวิตไป แต่การแก้ไขปัญหาของทางจังหวัดกลับยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ดังนั้น จึงขอให้ผู้ว่าฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตอบคำถามให้เป็นที่กระจ่าง และต่อหน้ารูปปั้นของนายเจริญ วัดอักษร ณ ศาลากลาง จังหวัดประจวบฯ

นอกจากนี้หนังสือยังระบุข้อสงสัยอีก 4 ข้อคือ

1. เป็นที่รู้กันดีทั่วไปว่า ที่ดินสาธารณะคลองชายธงถูกบุกรุกทั้งแปลง 931 ไร่ จนแทบไม่เหลือพื้นที่ราบ เหตุใดจนถึงบัดนี้กลับสามารถดำเนินคดีต่อผู้บุกรุกได้ไม่ถึงครึ่งของพื้นที่ที่ถูกบุกรุกทั้งหมด

2. ที่ดิน 53 ไร่ที่นายเจริญ วัดอักษร กับพวกเราเคยคัดค้านความพยายามจะออกโฉนดโดยมิชอบ จนสุดท้ายได้ถูกเพิกถอนการออกโฉนดไปแล้วนั้น เหตุใดจนถึงวันนี้ทั้งผู้ขอออกโฉนดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกลับไม่ถูกดำเนินคดีเอาผิดแต่อย่างใด

3. เหตุใดจนถึงบัดนี้ยังคงมีที่ดิน 16 ไร่ที่ถูกล้อมรั้วไว้ใจกลางที่สาธารณะคลองชายธง ทั้งที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดเคยชี้แจงตอบกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ที่ดินดังกล่าวมีเอกสารหนังสือสำคัญที่หลวงไม่สามารถครอบครองได้ และ

4. กรณีที่ดินของนายปอง นามจัด ซึ่งที่ผ่านมาอ้างว่ามีเอกสารครอบครอง สค.1 ของที่ดิน 184 ไร่ในพื้นที่สาธารณะคลองชายธง และฟ้องร้องกรมที่ดินให้เพิกถอนหนังสือสำคัญที่หลวงที่ออกทับ สค. 1 และบัดนี้คดีได้ถึงที่สุดแล้ว โดยที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะ แต่เหตุใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงปล่อยให้นายปอง นามจัด ครอบครองอยู่ แทนที่จะดำเนินคดีนายปองขอหาบุกรุก เจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหรือไม่

หลังจากนั้น ชาวบ้านได้นำ ว่าที่ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ พลายเวช รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ เดินทางไปดูที่ดินสาธารณคลองชายธงที่มีปัญหา โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดรับที่จะเร่งดำเนินการตามที่ชาวงบ้านได้ร้องเรียนในครั้งนี้

สำหรับวันที่ 21 มิถุนายน 2550 ซึ่งเป็นวันครอบรอบ 3 ปีการจากไปของเจริญ วัดอักษร จะมีการทำบุญเลี้ยงพระเพื่ออุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลให้กับนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศ จากนั้นจะร่วมกันแห่รูปหล่อ"ทรนง ณ ธรณี" ใบหน้าคล้ายเจริญ วัดอักษร นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ไปติดตั้งยังแท่นภายในบริเวณอนุสาวรีย์วีรกรรม ริมถนนเพชรเกษม ภายในวัดสี่แยกบ่อนอก เพื่อเชิดชูวีรกรรมการต่อสู้ปกป้องสิ่งแวดล้อมและพิทักษ์สิทธิชุมชน นอกจากนี้ที่อนุสาวรีย์ดังกล่าวจะมีการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ ในการต่อสู้ภาคประชาชนเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งห้องสัมมนาให้ความรู้ และศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชน

ในช่วงบ่ายจะมีการปาฐกถาจากนักวิชาการในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน การจัดเวทีเสวนาปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดนิทัศน์การการต่อสู้ของประชาชนในประเทศ และการแสดงดนตรีเพื่อชีวิตโดยศิลปินชั้นนำ

3. คดีเจริญ วัดอักษร ไม่คืบ : บทสะท้อนความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมไทย
องอาจ เดชา : รายงาน

เจริญสร้าง เจริญสู้ เจริญอยู่กับชาวบ้าน
บ่อนอกเป็นตำนาน ที่สร้างคนให้สู้คน
คือใจของชาวบ้าน ผู้กล้าหาญและทานทน
บ่อนอกบ่จำนน... กับถ่อยเถื่อนอธรรมใด

คือทรายทุกเม็ดทราย... ที่คลื่นซัดสะอาดใส
แกร่งกล้าและเกรียงไกร จะกู้ถิ่นแผ่นดินทอง
อันเจริญ ด้วยเจริญ... จึงเผชิญกับพาลผอง
ขุนมารเขม่นมอง เขม้นมาฆ่าเจริญ

เจริญสู้เจริญดับ เจริญจับใจเผชิญ
ใจสู้จะกรูเกิน กว่าหมู่มารจักพึงหมาย
ถึงตายก็แต่คน ความเป็นคนไม่เคยตาย
เทิดทัศน์และท้าทาย... เถอะตายสิบจะเกิดแสน

บ่อนอกเป็นตำนาน.... แห่งคนหาญอันหวงแหน
รักษ์ถิ่นอันดินแดน... ยอมแตกดับกับแผ่นดิน
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

"ทุกแว่นแคว้นถิ่นฐาน ล้วนมีคนอยู่ประเภทหนึ่งซึ่งนับจำนวนแล้วไม่เคยมาก พวกเขาทุ่มเททุกอย่างเพื่อกอบกู้สังคมที่ตนเองสังกัด โดยไม่เคยนึกถึงความเหนื่อยยากหรือแม้แต่ภัยอันตราย คนเหล่านั้นไม่ใช่ศาสดา แต่ถ้าถามถึงลักษณะร่วมกันผมพอจะระบุได้ว่ามีอยู่พอสมควร ที่สำคัญที่สุด คือ ทุกคนต้องมาใช้ชีวิตไถ่บาปที่เขามิได้เป็นผู้ก่อ ต้องลำบากตรากตรำและเสียสละสิ่งต่างๆ อันควรเป็นของเขา เพื่อให้คนอื่นได้พ้นเคราะห์กรรมและได้รับคุณค่าแห่งชีวิตในราคาที่ถูกลง"
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ย้อนรอยคดีเจริญ วัดอักษร กับบทสะท้อนความล้มเหลวของกระบวนยุติธรรมไทย
เป็นที่รับรู้กันว่า "เจริญ วัดอักษร" ได้ร่วมกับพี่น้องบ่อนอก-บ้านกรูด ต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท กัลฟ์เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนรัฐต้องระงับโครงการดังกล่าว หลังจากนั้น เขาได้ร่วมกับชาวบ้านคัดค้านกลุ่มนายทุนที่ได้เข้ามาบุกรุกพื้นที่สาธารณะและการทำนากุ้ง เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของชาวบ้านโดยส่วนรวม

กระทั่ง ในคืนเวลาประมาณ 22.00 น.ของวันที่ 21 มิถุนายน 2547 ตรงบริเวณทางแยกบ้านบ่อนอก ขณะลงจากรถบัสก่อนจะเดินเข้าไปในหมู่บ้าน เขาถูกมือปืนเดินปรี่เข้าไปยิงอย่างโหดเหี้ยมอุกอาจจนเสียชีวิต. หลังจากนั้น กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเจริญ จำต้องสืบสานภารกิจต่อ ด้วยการเป็นแกนนำพาชาวบ้านแห่ศพสามีไปหน้ากระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

ไยคดีถูกเบี่ยงเบน เพียงแค่บันดาลโทสะ
ถึงแม้ว่าคดีดังกล่าวจะสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ถึง 5 คน แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า คือ 2 คนแรกเป็นเพียงแค่มือปืนเท่านั้น และมากลับคำให้การสารภาพในภายหลังว่า ที่มายิงเจริญเป็นเพราะความแค้นส่วนตัว เพราะเจริญเคยไปด่าแม่เขา ไม่ได้ตั้งใจมายิง มานั่งกินเหล้าที่ศาลาที่รอรถเมล์ เห็นเจริญลงรถทัวร์มาเป็นความบังเอิญ บันดาลโทสะแล้วก็ยิงเจริญเสียชีวิต

อีก 3 คนที่จับกุมทีหลัง ก็ยังไม่ใช่ผู้บงการที่แท้จริง แต่ตัวบงการก็ยังคงลอยนวลอยู่ในพื้นที่ดังเดิม เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น! "ทุกฝ่ายพยายามจะโยงคดีนี้ว่าเป็นเรื่องการทะเลาะวิวาท เรื่องชู้สาว และมีความพยายามสรุปว่าเป็นประเด็นความแค้นส่วนตัว ผลคือ จับมือปืนได้ 2 คน คนจ้างวาน 2 คน แต่ไม่มีการขยายผลคดีหาตัวผู้บงการเบื้องหลัง จน ดีเอสไอ เข้ามารับคดี เจริญ ไม่ใช่คนที่จะไปขัดแย้งเป็นการส่วนตัวกับใคร ไม่เคยมีปัญหากับชาวบ้าน"

โอนคดีให้ดีเอสไอ แต่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
30 กรกฏาคม 2547 ดีเอสไอรับโอนคดีไปรับผิดชอบ ได้เพิ่มสำนวนจากข้อมูลพื้นที่ และความคิดเห็นถึงประเด็นข้อขัดแย้งคัดค้านการถือครองที่ดินสาธารณะ คลองชายธง การรุกเข้าทำนากุ้งโดยกลุ่มอิทธิพลและโรงไฟฟ้าบ้านกรูด-บ่อนอก และการออกโฉนดบนพื้นที่สาธารณะอีกหลายแปลง และจับคนร้ายเพิ่มเป็น 5 คน คือนายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว, นายธนู หินแก้ว, สจ.มาโนช หินแก้ว, และอดีตกำนันเจือ หินแก้ว

กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของนายเจริญ บอกว่า ถึงแม้ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรม ได้เข้ามารับทำคดี แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เมื่อดีเอสไอเข้ามาดูแล ตอนแรกดูเหมือนการทำงานกันอย่างจริงจัง แต่หลังจากนั้นทุกอย่างก็ไม่มีอะไรคืบหน้า คนผิดก็ยังอยู่ในพื้นที่โดยไม่มีการจับกุมใดๆ เลย "อีกทั้งยังมีข่าวบอกว่า มีความพยายามปิดคดีโดยมีการจับกุมเพียงแค่มือปืนเท่านั้น และมีการออกมาพูดว่าทำเท่านี้ก็ดีแล้ว พอเท่านี้แหละ ในส่วนของคดีตอนนี้มีเพียงแค่นัดไต่สวน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าในข้อเท็จจริงมันคืออะไร แต่ทำให้เกิดความสงสัยเป็นอย่างมาก"

กรณ์อุมา ยังบอกอีกว่า กลุ่มผู้ต้องหาชุดแรกเหมือนมีการออกแบบคดีเสร็จแล้ว นั่นคือมีการพยายามตัดผู้เกี่ยวข้องที่เหลือทั้งหมดออกไป เพราะฉะนั้น คดีเจริญ ในขณะนี้มองได้ 2 ส่วน คือ มีการตัดตอนผู้ที่เกี่ยวข้องระหว่างมือปืนกับลูกพี่ที่เป็นคนรับงานมา และกลุ่มที่ถูกตั้งข้อหาใช้จ้างวานกับผู้บงการ

ชาวบ้านงง ศาลอาญายึกยัก โอนคดีกลับศาล จ.ประจวบฯ
ต่อมา ศาลอาญา กรุงเทพฯ มีการโอนคดีเจริญ ไปที่ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตามเดิม ท่ามกลางความคลางแคลงใจของชาวบ้านบ่อนอกกับระบบศาลยุติธรรมของไทย

"ที่ชาวบ้านได้เรียกร้องให้มีการย้ายโอนคดีจากศาล จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาอยู่ที่ศาลอาญาที่กรุงเทพฯ ก็เพราะชาวบ้านรู้ดีว่า หนึ่งในผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นทนายความ และมีความสนิทสนม มีเครือข่ายอิทธิพล การปฏิสัมพันธ์กันเป็นอย่างดีในวงการศาลที่ประจวบฯ แต่กลับกลายเป็นว่า ในขณะนี้ ได้มีคำสั่งจากศาลอาญา กรุงเทพฯ ส่งสำนวนคดีเจริญกลับไปที่ศาล จ.ประจวบฯ ตามเดิม ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ได้ทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดหวังอย่างมาก ชาวบ้านทุกคนมีความรู้สึกกันว่า ความล่าช้าของความยุติธรรม ก็คือความอยุติธรรมนั่นเอง" กรณ์อุมา บอกเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงไม่เข้าใจ

มือปืน 2 ราย ตายในคุกบนความเคลือบแคลง
และที่น่าเคลือบแคลงสงสัยมากที่สุด เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 มือปืนทั้ง 2 คนได้เสียชีวิตลงในระหว่างการกุมขังในเรือนจำ

จนกระทั่ง กรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ได้ออกมาตั้งคำถาม พร้อมกับเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลว่า คดีความที่มีต่อมือสังหารและผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารเจริญ วัดอักษร นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต้องเผชิญกับข้อกังขาอันใหญ่หลวงเมื่อมือปืนทั้งสองได้เสียชีวิตลงในระหว่างการกุมขังในเรือนจำ แต่ไม่ได้มีการชันสูตรการเสียชีวิตแต่อย่างใด ทำให้เกิดความสงสัยเป็นอย่างมากว่า มือปืนทั้งสองเสียชีวิตด้วยเหตุผลใดกันแน่ และยังส่งผลไปสู่ความหนักแน่นของคดีในการซัดทอดไปยังผู้จ้างวานอีกด้วย

โดยได้ระบุว่า เจริญ วัดอักษร ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โดยเชื่อว่าเขาถูกสังหารโดยกลุ่ม "ผู้มีอิทธิพล" ในพื้นที่ ซึ่งมีความโกรธเคืองจากการรณรงค์ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้า มือปืน นายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว รับสารภาพว่าเป็นคนลงมือ แต่ไม่ได้ให้การซัดทอดไปถึงผู้จ้างวาน. ต่อมา ตำรวจได้จับตัวสองพี่น้องนักการเมืองและทนายความในท้องที่ จากนั้น คดีได้ถูกโอนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ และถัดมาได้มีการจับกุมบิดาของสองพี่น้องผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ แต่หลังจากนั้นกลับไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนแต่อย่างใด กระทั่งทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ (http://thailand.ahrchk.net/dsi_petition/) มือปืนทั้งสองถูกขังในเรือนจำ และผู้ต้องหาที่เหลือทั้งสามได้รับการประกันตัว

21 มีนาคม 2549 ก่อนที่จะมีการเบิกความพยาน นายประจวบได้เสียชีวิตในเรือนจำ รายงานว่าติดเชื้อแบคทีเรีย ต่อมา ขณะที่การสืบพยานกำลังดำเนินต่อไป วันที่ 3 สิงหาคม 2549 ก็ได้รับรายงานว่า นายเสน่ห์ได้เสียชีวิตไปอีกคน โดยจากรายงานพบว่าติดเชื้อมาลาเรีย ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์วันที่ 9 สิงหาคม 2549 รายงานว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลของเรือนจำให้สัมภาษณ์ว่า นายเสน่ห์ไม่ได้แสดงอาการของโรคมาลาเรียมาก่อนที่จะเสียชีวิต ผู้คนหลายคนมีข้อกังขาว่า เหตุใดมือสังหารทั้งสองจึงได้เสียชีวิตในเวลาห่างกันไม่กี่เดือน อันเป็นช่วงเวลาที่มีการพิจารณาคดี มีคำกล่าวจากญาติของมือปืนทั้งสองก่อนหน้านี้ว่า พวกเขาไม่คิดว่าทั้งสองจะออกจากคุกอย่างคนมีชีวิต

ผู้ให้การสนับสนุนนายเจริญและกลุ่มคนทำงานด้านสิทธิ์ ได้เรียกร้องให้มีการชันสูตรพลิกศพนายเสน่ห์โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หรือหน่วยงานอื่นใดที่นอกเหนือไปจากสำนักงานตำรวจและราชทัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการรายงานถึงการสืบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวแต่อย่างใด. การเสียชีวิตของทั้งสองได้ก่อให้เกิดคำถามต่อการคุ้มครองพยานในไทย กฎหมายคุ้มครองพยานในขณะนี้ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ต้องหาที่อยู่ในระหว่างการกุมขัง ผู้ต้องขังและอดีตผู้ต้องขังที่ได้เคยพูดคุยกับ AHRC กล่าวว่า การเสียชีวิตโดยการถูกสังหารแล้วให้มีรายงานผลเป็นเสียชีวิตเพราะเจ็บป่วยนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในเรือนจำ

เผยความคืบหน้าของคดี พบสิ่งผิดปกติในกระบวนยุติธรรม
นับจากวันนั้นจนถึงบัดนี้ และวันที่ 21 มิ.ย.2550 คือวันครบรอบ 3 ปีแห่งการจากไปของ "เจริญ วัดอักษร" ทว่าคดีดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้า. ล่าสุด นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยานายเจริญ วัดอักษร และประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี ได้ให้สัมภาษณ์กับ "ประชาไท" ว่า จนถึงตอนนี้จะครบ 3 ปีแล้ว คดีเจริญก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด และมือปืนก็ตายหมดในคุก ซึ่งมาถึงตอนนี้ เราจำเป็นต้องวิพากษ์ระบบความยุติธรรมของไทยว่าพึ่งไม่ได้ และยังมีความล้าหลังเป็นอย่างมาก เมื่อสอบถามไปก็จะบอกว่ายังอยู่ในขั้นสอบสวน สอบพยานอยู่ ซึ่งตนก็พยายามติดตามการสอบสวนคดีของศาลทุกนัด แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย

"จำได้ว่า นายอุดมพร คชหิรัญ ซึ่งเคยเป็นรอง ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ในขณะนั้น ได้บอกเล่าถึงคดีนี้ว่า เนื่องจากคดีเจริญเป็นคดีที่น่าสนใจของประชาชน จึงได้มีการตั้งคณะกรรมสอบสวน โดยได้เป็นพยานโจทย์ตอนนั้น และยืนยันว่าได้มีการบันทึกวีดีโอเอาไว้เป็นหลักฐานด้วย แต่ว่ามาถึงตอนนี้ หลักฐานดังกล่าวกลับสูญหายไป ไม่ได้มีการหยิบมาใช้ประกอบพิจารณาคดีนี้เลย ซึ่งพอตนได้ไปสอบถามอัยการ ก็บอกว่าไม่ได้รับหลักฐานดังกล่าว ซึ่งถือว่า นี่เป็นเรื่องที่ผิดปกติในกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก"

นางกรณ์อุมา กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น เรายังมองเห็นกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าเป็นอย่างมาก ทั้งที่คดีดังกล่าว มือปืนมีการซัดทอดไปถึงผู้บงการ และกระบวนการซัดทอดนั้นมีหลักฐานมัดตัวได้ชัดเจน โดยดูได้จากโทรศัพท์มีการพูดคุยวางแผนกันก่อนลงมือฆ่า ซึ่งถ้าเช็คดูจริงๆ เราจะเห็นข้อเท็จจริงได้ แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย

พ้อศาล ตัดพยานโจทย์ทำให้สูญเสียโอกาส
"ล่าสุด ยังทราบมาว่า ทางศาลจะมีการตัดพยานโจทย์ออกไปอีก โดยอ้างว่าทางฝ่ายเรามีการสืบพยานโจทย์ล่าช้า ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเป็นดุลยพินิจของศาล แต่ทางศาลก็ควรจะให้สิทธิ์แก่เราซึ่งเป็นฝ่ายผู้เสียหายอย่างเต็มที่ เพราะถ้าเป็นอย่างนี้ ในฐานะผู้เสียหายก็จะยิ่งสูญเสียโอกาสมากยิ่งขึ้นไปอีก"

เมื่อถามถึงรัฐบาลสุรยุทธ์ ได้ให้ความสำคัญกับคดีนี้หรือไม่ นางกรณ์อุมา กล่าวว่า ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนๆ มันก็เหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทยรักไทย หรือรัฐบาลสุรยุทธ์ คมช. หรือแม้กระทั่งประชาธิปัตย์ ตนก็ไม่เคยคาดหวังกับรัฐบาลมานานแล้ว เพราะฉะนั้น ประชาชนจะต้องพึ่งพาตนเองเพียงเท่านั้น

เตรียมจัดงานครบรอบ 3 ปี เจริญ ที่วัดสี่แยกบ่อนอก
นิธ เอียวศรีวงศ์ นำมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดเวทีอภิปราย
ทั้งนี้ ในวันที่ 20-21 มิ.ย.นี้ ที่วัดสี่แยกบ่อนอก อ.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะมีการจัดงานรำลึก 3 ปี แห่งการจากไปของ เจริญ วัดอักษร โดยในคืนวันที่ 20 มิ.ย.50 มีการแสดงดนตรีเพื่อชีวิต โดย สุรชัย จันทิมาธร, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ และการแสดงลำตัด คณะลำตัดจาก จ.เพชรบุรี และกิจกรรมในวันที่ 21 มิ.ย. ในช่วงเช้าจะมีพิธีกรรมทำบุญ ในช่วงบ่าย จะมีการตั้งรูปหล่อเจริญ วัดอักษร

หลังจากนั้นจะมีการเปิดเวทีอภิปรายโดย ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และตัวแทนภาคประชาชน และในช่วงค่ำ จะมีการแสดงดนตรีของกลุ่มศิลปินเพื่อชีวิต นำโดย พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์, วงโฮป, ซูซู และดอกไม้ไหว

4. กรีนพีซร่วมงานรำลึกเจริญ วัดอักษร เรียกร้องรัฐบาลหยุดใช้ถ่านหินยุติ "โลกร้อน"
ผู้จัดการออนไลน์

กรีนพีซร่วมงานรำลึกเจริญ วัดอักษร นักต่อสู้เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2547 โดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลในอุตสาหกรรมถ่านหิน

ผู้แทนชุมชนนับพันจากทั่วทุกภาค และตัวแทนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมได้เข้าร่วมงานรำลึกครบรอบ 3 ปี การเสียชีวิตของเจริญ วัดอักษร ที่จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ในงานมีทั้งพิธีสงฆ์ ขบวนแห่ นิทรรศการ และการอภิปรายเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ และอุตสาหกรรมเหล็กในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อแสดงความสมานฉันท์ร่วมกับชุมชนที่ต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและรำลึกถึงเจริญ วัดอักษร นักต่อสู้เพื่อชุมชน

ธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซกล่าวว่า "การจากไปของเจริญ วัดอักษร กระตุ้นเตือนถึงการต่อสู้คัดค้านถ่านหินโดยชุมชน ซึ่งขณะนี้ตระหนักเป็นอย่างดีว่า พวกเขานั่นเองที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดจากมลพิษและภาวะโลกร้อน โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นตัวการของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่มหันตภัยโลกร้อน นอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลที่ปล่อยออกมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน การปล่อยสารพิษชนิดต่าง ๆ เช่น ปรอท ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ยังจะเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ด้วย"

ธารากล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและฉับพลัน กำลังเป็นมหันตภัยคุกคามโลก มีการคาดการณ์ว่าความอดอยากและการขาดแคลนน้ำในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จะเกิดขึ้นภายใน 20 ปีข้างหน้าอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน แต่เรายังมีโอกาส และยังมีเวลาเพื่อการปฏิวัติพลังงานอันมีหัวใจสำคัญอยู่ที่พลังงานหมุนเวียน และมาตรการประสิทธิภาพทางพลังงาน ซึ่งจะทำให้ระบบพลังงานที่เป็นอยู่ ได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอยู๋ในระดับที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เป็นหายนะภัยร้ายแรงที่สุด

กรีนพีซจึงมีข้อเรียกร้องกับรัฐบาลไทยดังนี้

1. ยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ และยกเลิกการอุดหนุนการพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานนิวเคลียร์

2. จัดให้มีการทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ และออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียน และตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2553

3. ขจัดอุปสรรคในการเร่งรัดพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพทางพลังงาน ส่วนการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนต้องดำเนินการควบคู่ไปกับประเด็นความเร่งด่วนของภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com