นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
R
related topic
150948
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

ทุนนิยมกับการ(ไม่)มีเสรีภาพของสื่อ
รวบรวมข่าวการซื้อหุ้น นสพ.มติชน โดย บ.แกรมมี่
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
รวบรวมข่าวตั้งแต่วันที่ 13-14 กันยายน 2548

หมายเหตุ : กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รวบรวมข่าวทั้งหมด 10 ข่าว
จากรายงานที่ปรากฏบนสิ่งพิมพ์ต่างๆ ดังนี้
(กรุณาดูรายละเอียดหัวข้อข่าวได้ที่บทนำ)


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 670
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 29 หน้ากระดาษ A4)





บทนำ : การรวบรวมข่าวการซื้อหุ้น นสพ.มติชน โดย บ.แกรมมี่
รวบรวมข่าวตั้งแต่วันที่ 13-14 กันยายน 2548

1. คำแถลงของนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม กรณีซื้อหุ้นบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน)
2. ทำไม "แกรมมี่ (อากู๋)" ต้องซื้อ นสพ.
3. นักข่าวมติชน-โพสต์ช็อก "อากู๋" เทกโอเวอร์- "เจ๊ยุ" ชี้มีเบื้องหลัง
4. "อากู๋"ยันไม่เป็นตัวแทนการเมืองซื้อมติชน-โพสต์
5. "เครือมติชน"ย้ำปณิธาน ดำรง"อิสระ" เป็นกลาง-ยึดความถูกต้อง
6. มุมมอง"ทนง พิทยะ" รมว.คลัง
7. "อากู๋-แกรมมี่"ซื้อมติชน-โพสต์
8. คำแถลงการณ์ บริษัทมติชน จำกัด(มหาชน)
9. แถลงการณ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
10. แกรมมี่ซุ่มเงียบซื้อหุ้นมติชน หวังกุมอำนาจบริหาร ทิศทางของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ในอนาคตจะก้าวไปในทิศทางใด

1. คำแถลงของนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม กรณีซื้อหุ้นบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน)
หมายเหตุ--เป็นคำแถลงของนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด(มหาชน) กรณีเข้ามาซื้อหุ้นบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) ในสัดส่วน 32% และการทำคำเสนอซื้อ(เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) ตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2548


ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ได้เข้าไปซื้อหุ้นของมติชนและบางกอกโพสต์เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของมติชนนั้น เมื่อคืนได้คุยกับพี่ช้าง(นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชน) ผมกับพี่ช้างรู้จักกันมานาน เมื่อวาน(12 กันยายน 48) พอผมประชุมเสร็จก็โทรศัพท์หาพี่ช้าง พี่ช้างไม่อยู่ที่โรงพิมพ์ แล้วพี่เขาก็โทร.กลับมา เลยนัดคุยกัน สรุปสั้นๆ ว่า วันนี้ต้องแถลงข่าวร่วมกับพี่ช้างที่มติชน พอดีพี่ช้างเป็นหวัด ไม่สบาย วันนี้เลยโทร.มาบอกว่า สงสัยผมคงต้องพูดไปเองคนเดียว

สรุปสั้นๆ ว่า พี่ช้างยอมรับในสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง และในเมื่อที่รู้จักกันกันมา ก็คงไม่มีปัญหาอะไร ผมก็เรียนพี่ช้างว่า ผมคงไม่เข้าไปทำให้ใครอึดอัดใจ หรือไม่สบายใจ มีอะไรที่เป็นประโยชน์ได้ ก็ขอให้ตามผมเข้าไปทำ คงไม่เข้าไปเกะกะ ไม่ทำให้ใครกังวล ไม่ต้องระแวงสงสัย ไม่ต้องกังวลทั้งสิ้น

นักข่าว ทำไมถึงซื้อหนังสือพิมพ์?

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม จะบอกว่า จริงๆ แล้วตอนที่ผมเรียนจบมา พี่ช้าง และพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งมติชน ตั้งประชาชาติรายวัน ผมก็มีโอกาสไปอยู่ใกล้ชิด ไปอยู่แถวนั้น และได้ร่วมงาน ดังนั้น ก็คงตอบคำถามได้ว่า ผมเรียนนิเทศศาสตร์ สายหนังสือพิมพ์ ผมก็คงอยากทำหนังสือพิมพ์ ผมเขียนหนังสือเป็นด้วยนะ ชอบหนังสือพิมพ์มานานแล้ว ตั้งแต่เรียนจบ ทางแกรมมี่ไม่มีคนถนัด มีผมถนัดคนเดียว ก็คงไม่ได้เข้าไปทำอะไร

ทำไมถึงซื้อหนังสือพิมพ์ 2 โรงพิมพ์นี้ เพราะเป็น 2 โรงพิมพ์ที่มีคุณภาพ เป็นหนังสือพิมพ์ที่ประสบความสำเร็จแล้ว เป็นเรื่องโชคดีที่ผมเข้าไปซื้อได้ เขาทำดีอยู่แล้ว สิ่งที่ผมจะทำได้หรือที่อยากทำคือ เข้าไปต่อยอดให้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้รีบร้อนอยากจะทำอะไร

นักข่าว แกรมมี่จะได้ประโยชน์อะไรจากการซื้อ 2 โรงพิมพ์นี้?

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผลประโยชน์ที่จะเป็นเรื่อง Content(เนื้อหาหรือผลิตภัณฑ์) คือแกรมมี่เป็นเจ้าของ Content Provider(ผู้นำเสนอสินค้าหรือผลิตภัณฑ์) ที่มากที่สุดในไทย ในโลกนี้มี 5 Content ที่คนต้องการสูงสุดคือ ข่าว เพลง ภาพยนตร์ เกม และกีฬา ขณะนี้เรากำลังเติมเรื่องกีฬา สื่อสิ่งพิมพ์ และถ้าเราเข้าไปถือหุ้นใน 2 โรงพิมพ์นี้ เราจะเป็นผู้ที่มีข่าวสารเยอะสุด

นักข่าว จะมีนโยบายอย่างไรต่อไปกับหุ้น 2 บริษัทนี้(มติชนและเครือบางกอกโพสต์) ในอนาคต?

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เรายังอยากให้เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ คือบริษัทแกรมมี่จะต้องคำทำเสนอซื้อถึง 75% หากมีส่วนที่เหลือ ผมจะเป็นคนที่ซื้อเอง พิสูจน์ให้เห็นว่า ผมมีความเชื่อมั่นใน 2 โรงพิมพ์นี้จริงๆ เชื่อมั่นในการทำกิจกรรมเที่ยวนี้ว่า เป็น Move(การเคลื่อนตัว)ที่สำคัญต่อแกรมมี่

นักข่าว หมายรวมถึงบางกอกโพสต์ด้วยหรือเปล่า?

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม สำหรับโพสต์ต้องรอพี่สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ กลับมาจากอเมริกาก่อน จะได้ปรึกษาหารือกัน เพียงแต่มติชนจะต้องทำตามกฎก่อนว่า ต้องทำเทนเดอร์ให้ได้ 75% ก่อนถ้ามีคนขาย ถ้าเกินจากนั้นนายไพบูลย์จะซื้อเอง ส่วนโพสต์ คุณสุทธิเกียรติยังบอกว่าไม่ขาย ยังรักบางกอกโพสต์อยู่ ส่วนผมจะทำอะไรก็ตามในฐานะผู้ถือหุ้นใหม่ ผมต้องให้เกียรติผู้ถือหุ้นเก่า คงต้องรอปรึกษาหารือกับพี่สุทธิเกียรติก่อน วันนี้จะไม่พูดเรื่องโพสต์ จะพูดเรื่องแกรมมี่กับมติชน

เหตุที่ผมตัดสินใจซื้อ ผมเรียนนิเทศศาสตร์ และพิสูจน์แล้วว่า หนังสือพิมพ์เป็นสื่อเบอร์หนึ่ง ผมมีวิทยุ มีทีวี หนังสือพิมพ์เป็นสื่อหนึ่งที่มีรายได้ที่มั่นคงสุด เมื่อเทียบกับสื่ออื่น หนังสือพิมพ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มี Brand Loyalty(ความภักดีต่อยี่ห้อ) สูงที่สุดอย่างหนึ่งในโลก ผู้คนจะผูกพันอยู่กับยี่ห้อ ความสำเร็จของหนังสือพิมพ์ เมื่อหนังสือพิมพ์ที่ประสบความสำเร็จแล้ว น้อยครั้งที่จะล้มลง โอกาสเสียหายน้อยมาก เป็นการ Diversify(การเปลี่ยนทิศทาง) การลงทุนของผมจากธุรกิจธุรกิจที่ผมทำอยู่หลากหลาย ให้มีขาหยั่งมากขึ้น นั่นเป็นแนวความคิดผมมาตลอดชีวิต ผมจะไม่เอาเงินก้อนก้อนหนึ่งไปทุ่มกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผมจะกระจายให้อยู่ในเนื้อหาสาระ ในโครงสร้างที่เกื้อกูลซื้อกันและกัน มีประโยชน์ต่อกัน

ประการที่ 2 เราเป็น Content Provider ที่เยอะที่สุดอยู่แล้ว เมื่อผมได้มติชนเข้ามาสนับสนุน จะทำให้เรามี Content มากขึ้น โดยที่ผมไม่ต้องเข้าไปทำอะไรกับกองบรรณาธิการ กองบรรณาธิการก็เดินของเขาต่อไป ผมมาต่อยอด มาขยายผล เหมือนที่ผมเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้กับศิลปินนั่นแหละ Content เหล่านี้เราจะไปผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ จะเป็นประโยชน์มากขึ้น นโยบายจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ผมเรียนพี่ช้างแล้ว ผมเป็นคนตื่นสายอยู่แล้ว และผมก็มีงานทำที่นี่ ถ้าเผื่อต้องการให้ผมไปช่วยอะไร ก็บอกมาได้ แต่ผมคงไม่เดินเกะกะเข้าไป

นักข่าว จะส่งคนเข้าไปบริหารหรือไม่

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ไม่มีครับ คนที่แกรมมี่ทำหนังสือพิมพ์ไม่เป็น

นักข่าว จะเข้าไปเป็นกรรมการหรือไม่

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ค่อยปรึกษาพี่ช้างอีกที ต้องหารือกับพี่ช้างอีกที

นักข่าว คุณไพบูลย์บอกว่า รู้จักพี่ช้างมานาน ทำไมถึงไม่รู้เรื่องที่คุณไพบูลย์มาซื้อหุ้น

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เอาอย่างนี้ คือเปลี่ยนจากมือฝรั่งมาเป็นของคนไทย ฝรั่งถือกับคนไทยถือคุณว่าอันไหนดีกว่ากัน หนังสือพิมพ์ของไทยน่ะ

นักข่าว การเข้ามาเป็นพันธมิตรแบบไม่เป็นมิตรแบบนี้ สังคมไทยจะรับได้หรือ

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผมไม่ทราบ แต่เมื่อคืนผมคุยกับพี่ช้าง อย่างยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสุข

นักข่าว พี่ช้างหรือคุณไพบูลย์(ที่มีความสุข)

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ทั้งคู่ครับ คุณไปถามคุณฐากูรหรือผมมีเพื่อนอีก 2 คนที่อยู่ที่นี่ คุณวาณิชกับคุณจรูญ นั่งทานข้าวด้วยกัน ก็มีความสุขดี

นักข่าว เงินที่ซื้อหุ้นเป็นเงินกู้ระยะสั้น อยากทราบว่าหลังจากนั้นจะใช้เงินจากแหล่งไหน?

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ปัจจุบันเราได้เงินกู้จากไทยพาณิชย์ อายุ 1 ปี แปลว่าใน 1 ปีนี้ ทางผมจะต้องดูว่าเทนเดอร์ประสบความสำเร็จแค่ไหน หลังจากนั้นค่อยมาพิจารณาต่อว่า เมื่อเราซื้อหุ้นได้เท่าไหร่แล้ว เงินที่ต้องใช้ เราค่อยมาปรับโครงสร้างใหม่ในการหา อาจจะเป็นเงินกู้ระยะยาวหรือสินเชื่อประเภทอื่น เพื่อให้มีความเหมาะสมกับโครงสร้างธุรกิจมากขึ้น ขณะนี้เรายังเป็นเงินกู้ 1 ปีก่อน ถ้าเราเงินกู้ก้อนหนี้ อัตราหนี้สินต่อทุนก็ยังไม่ถึง 2 เท่า ส่วนเรื่องเพิ่มทุน คงต้องรอดูผลสรุปเทนเดอร์ก่อนว่า จะเป็นเท่าไหร่ สัดส่วนหนี้สินต่อทุนจะเป็นเท่าไหร่ เรามองที่เทนเดอร์ก่อน เพราะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น และคาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนครั้งนี้สูงกว่า 10% เมื่อเทียบกับต้นทุนของเงินที่กู้มา

นักข่าว Content ที่เราทำเป็นบันเทิง แต่หนังสือที่เราซื้อ มันไม่ใช่ คนละแบบ คุณจะเอาเบิร์ด เอามอส มาใส่ในมติชน มันจะเกิด Synergy อย่างไร?

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผมไม่เข้าใจคำถามคุณ ผมจะเอาเบิร์ด เอามติชนไปทำอะไร ผมบอกแล้วว่า คนที่แกรมมี่ไม่มีใครรู้เรื่อง มีผมรู้เรื่องคนเดียว และหนังสือพิมพ์ที่ผมไปซื้อ เป็นหนังสือที่ดีอยู่แล้ว ผมจึงไปซื้อ อายุขนาดนี้ ผมจะไปแบกหนังสือขึ้นมาทำไม ผมไปซื้อสิ่งที่มันดีอยู่แล้ว แล้วคุณจะไปยุ่งไปทุบกับมันเหรอ ผมโง่ขนาดนั้นเหรอ

นักข่าว Synergy(การรวมกันเพื่อสร้างจุดแข็ง) มีอะไรบ้าง

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เยอะแยะครับ คือข้อมูลผมเอามาลง ผมมีซีดี มีผลิตรายการ ผมขอซื้อ content มา ข่าวมา ต่อไปผมมือถือ เรากำลังจะเป็นร่วมทุนกับญี่ปุ่น จะเอาข้อมูลต่างๆ ไปลงได้

นักข่าว การที่แกรมมี่ซื้อหุ้นมติชน ทำให้ความน่าเชื่อถือของมติชนน้อยลง ถ้ามติชนรายได้ลดลงจะทำอย่างไร

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม อันนั้น คุณคิดเอาเอง มันยังไม่เกิดขึ้น

นักข่าว มีความสงสัยว่าที่คุณไพบูลย์เข้ามาเป็นกลุ่มทุนการเมือง

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผมบอกกับตัวเอง บอกกับลูกหลานว่า ผมไม่เล่นการเมือง ถ้าผมอยากเล่นการเมือง ผมเข้าไปแล้ว ผมเป็นอะไรไปแล้ว

นักข่าว ไม่ได้หมายถึงเข้าการเมือง แต่เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนการเมืองการ ที่จะเข้ามาครอบงำสื่อ

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผมเป็นผู้ก่อตั้งแกรมมี่ ผมค้าขายอยู่ขนาดนี้ แล้วผมต้องไปเป็นตัวแทนใครเหรอ

นักข่าว ถ้ามีพนักงาน 2 บริษัทประท้วงจะทำอย่างไร

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประท้วงอะไรครับ ผมไม่ได้เดินเข้าไปให้เห็นหน้าด้วยซ้ำ ประท้วงที่ไหน ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน อย่าระแวงสงสัย เชื่อผมเถอะ ผมคำไหนคำนั้นอยู่แล้ว

ไม่ต้องห่วง ผมไม่โง่พอที่จะไปทุบสิ่งดีๆ ให้มันเสีย มีแต่ได้ ผมโง่ขนาดนั้นเหรอ

นักข่าว คุณไพบูลย์คิดว่า การเข้ามาลงทุนในมติชนถือเป็นปรากฏการณ์ปกติเหรือเปล่า

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เป็นปกติครับ ก่อนหน้าผมเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท อินเด็กซ์ อีเว้นท์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเขากำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยซ้ำ แต่เมื่อคุยกัน สิ่งที่เป็นประโยชน์กันเขาก็ขาย ซีเอ็ดผมก็ซื้อมาจากเนชั่น เป็นเรื่องปกติมาก มติชน ผมซื้อหุ้นมาจากชาวต่างประเทศที่เขาซื้อหุ้นนี้มา 7-8 ปี

นักข่าว ทราบว่าก่อนหน้านี้คุณไพบูลย์ได้เข้าไปเจรจากับคุณขรรค์ชัย

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ไม่เคยครับ ไม่เคยคุยกันมาก่อน จนเมื่อคืนไปคุยกับพี่ช้าง มีคุณฐากูร มีสมหมาย และก็เป๋า ปิยะชาติ และพี่วาณิช พี่จรูญ ซึ่งเรารู้จักพี่ช้างมา 30 กว่าปี ก็นั่งคุยกัน ยิ้มแย้มแจ่มใส พี่ช้างแกเป็นคนที่มีความชัดเจน เป็นผู้ใหญ่ แกใช้คำว่ายอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมก็บอกแกว่า ผมไม่ได้มาเกะกะ อะไรที่เป็นประโยชน์ก็บอกมา อะไรที่ไม่สบายใจก็บอกมา ผมไม่ได้มีเจตนาทำให้พรรคพวกเพื่อนฝูงเดือดร้อนและไม่มีความสุข ถ้าผมไปทำอย่างนั้น เขาไม่มีความสุข ผมก็ไม่มีความสุข ผมไม่ทำแน่

นักข่าว มีโอกาสจะใช้ Synergy ระหว่างมติชนกับโพสต์หรือไม่

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม คือต้องแล้วแต่ผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อคืนมีการพูดถึงบ้าง ก็มีรายละเอียดบางอย่างที่คุยว่า ทำอย่างนั้นดีมั้ย อย่างนี้ดีมั้ย ระหว่างมติชนกับโพสต์ ก็คงต้องศึกษาต่อไปว่า ทำแล้วจะเป็นประโยชน์มั้ย เช่น แท่นพิมพ์ โพสต์เพิ่งซื้อแท่นพิมพ์ 700 ล้านบาทไป มติชนก็จะซื้อแท่นพิมพ์ ก็ถามว่าจะใช้ร่วมกันได้มั้ย ก็บอกว่าบางทีอาจจะไม่ได้ เพราะต้องเร่งออกด้วยกันทั้งคู่

นักข่าว คุยเรื่องควบรวมกิจการหรือไม่

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ไม่ถึงขนาดนั้น ก็มีบางประเด็นที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ก็ถามพี่ช้างว่า พี่ช้างรู้สึกอย่างไร เมื่อคืนเราก็คุยกับแบบกว้างๆ ก่อน ไม่เข้าลึก ต่างคนต่างแสดงเจตนาตัวเองว่ายังไง แต่ผมก็บอกหลายครั้งแล้วว่า เจตนาผมไม่ต้องการทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ทำให้สิ่งดีๆ เสียหายไป

นักข่าว ก่อนหน้านั้นคุณไพบูลย์บอกว่า จะตั้งหนังสือพิมพ์เอง ทำไมเปลี่ยนใจ

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ใช่ครับ ผมคิดเรื่องตั้งหนังสือพิมพ์มานาน ใครที่เป็นเพื่อนผมจะได้ยินผมรำพึงรำพันเสมอ เสร็จแล้วก็ชักชวนผู้คนเป็นเรื่องเป็นราว และคนที่คุณภาพมักจะอยู่ในองค์กรที่ดี ได้รับการไว้เนื้อเชื่อใจอยู่แล้ว ฉะนั้นการจะตัดสินใจมาอยู่กับผมเป็นสิ่งที่เขาตัดสินใจยากมาก ก็เลยเป็นอะไรที่คาราคาซัง ไม่เกิดซักที คุยหลายคน

นักข่าว ในมติชนหรือโพสต์หรือเปล่า

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ทายถูก ก็เลยบอกว่า ไม่ต้องมาไง เดี๋ยวจะไปหา

2. ทำไม "แกรมมี่ (อากู๋)" ต้องซื้อ นสพ.
ปฎิบัติการเข้าฮุบกิจการของหนังสือพิมพ์ถึง 2 ฉบับ คือ มติชน และ บางกอกโพสต์ ในคราวเดียวกันของ "อากู๋"-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ในนามของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) วานนี้นับเป็นเรื่องที่ช็อกวงการสื่อมวลชนอย่างมาก แม้ว่าก่อนนี้ "อากู๋" เคยประกาศแล้วว่า จะรุกเข้าสู่ธุรกิจหนังสือพิมพ์รายวัน พร้อมกันเงินลงทุนไว้สูงถึง 1,000 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์ การซื้อหุ้นบางส่วนหรือเทคโอเวอร์หนังสือพิมพ์เก่าที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว เพื่อไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

สำหรับบางกอกโพสต์ มีกระแสข่าวระแคะระคายอยู่บ้าง แต่ไม่มีใครคาดคิดว่า จะรวมถึง มติชน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพ ที่มีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นด้านวิเคราะห์เจาะลึกการเมืองและสังคม

ตรงนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไม อากู๋ ต้องลงทุนควักเงินซื้อหุ้นถึง 2 ฉบับ

ข้อแรก มีนักวิเคราะห์หุ้นหลายคนมองว่า ธุรกิจบันเทิงที่แกรมมี่ทำอยู่กำลังถึงทางตัน เพราะด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ยอดขายเพลงหรือซีดีของบริษัทลดน้อยลงจากการใช้วิธีดาวน์โหลด หรือก็อบบี้แผ่นของบรรดาคอเพลง ขณะที่ต้นทุนทำศิลปินสูงขึ้นทุกวัน การก้าวข้ามมาเป็นเจ้าของสื่อเองก็น่าจะเกื้อหนุนให้ธุรกิจของแกรมมี่ครบวงจรมากขึ้น

อย่างน้อยที่สุดจะประหยัดงบซื้อสื่อโฆษณาลงไปได้มาก ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า เฉพาะลงทุนในโพตส์ที่เดียวจะผลักดันให้แกรมมี่กำไรในปี 2549 เพิ่มขึ้นได้อีกถึง 15%

ข้อที่สอง มองกันว่า การซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับมีความเป็นได้สูงว่ามีเรื่องของการเมืองเข้ามาแทรกอยู่ด้วย ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะรายหัวจะพบว่า ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์มติชน โดดเด่นในเรื่องของเนื้อหาทางด้านการเมือง สังคม เป็นหลัก แต่ในช่วงหลังเริ่มที่จะไม่เน้นข่าวที่เป็นผลเสียต่อรัฐบาล ขณะที่บางกอกโพสต์มีความเห็นที่ขัดแย้งกันในหมู่ตระกูลจิราธิวัฒน์ ผู้ถือหุ้นใหญ่หลังจากการนำเสนอข่าวสนามบินสุวรรณภูมิร้าว กระทั่งถูกฟ้องเรียกเงินกว่า 1 พันล้านบาท ทางหนึ่งต้องขายหุ้นออกไปเพื่อไม่อยากมีปัญหากับรัฐบาล ขณะที่หัวเรือใหญ่อย่างสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ไม่ต้องการขาย

ย่อมทราบกันดีว่า สายสัมพันธ์ระหว่าง"อากู๋" มีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั้นลึกซึ้งกันเพียงใด ดังปรากฎชัดในกรณี การหาทางลงในเรื่องการซื้อหุ้นลิเวอร์พูล ที่นายกฯ ขอให้แกรมมี่เป็นผู้มารับภาระตอบคำถามกับสาธารณะ

งานสังคมใดๆก็ตามส่วนใหญ่อากู๋ก็จะออกงานร่วมกับนายกทักษิณหลายงาน และจะมีภาพถ่ายที่ถ่ายร่วมกันมากมาย หรือแม้แต่งานคอนเสิร์ตดังๆของแกรมมี่หลายงาน นายกฯทักษิณ มักหอบหิ้วเอาครอบครัวไปฟังคอนเสิร์ตหลายครั้ง ตลอดจนงานบันเทิงหรือคอนเสิร์ตช่วยชาติ ของรัฐบาลก็มักมีชื่อของ ค่ายจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ปรากฏอยู่ทุกครั้ง ทิ้งค่ายคู่แข่งอย่างอาร์.เอส.โปรโมชั่น ให้ทำได้แค่เพียงนั่งเฉยๆ มากกว่านั้น การจัดงานใหญ่ของรัฐบาล บริษัทที่เข้ารับผิดชอบงานจัดการ ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็น อินเด็กซ์ อีเว้นท์ ซึ่งมีจีเอ็มเอ็มฯถือหุ้นใหญ่อยู่ด้วย

ขณะเดียวกัน อีกมิติหนึ่งก็มองว่า การซื้อมติชน เพื่อที่จะได้เป็นการตัดทางสื่อของทางฝ่ายตรงข้าม คือ พรรคประชาธิปัตย์ เพราะ เชื่อกันว่า ค่ายมติชนนั้นค่อนข้างแนบแน่นกับพรรคประชาธิปัตย์

ส่วนหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์นั้นก็มีคำตอบให้ติดตาม เพราะ หนังสือพิมพ์ของไทยที่เป็นภาษาอังกฤษนั้นมีเพียง 2 ฉบับที่เป็นที่ยอมรับและติดตลาดมานานคือ เนชั่น และบางกอกโพสต์ แต่อากู๋เลือก"บางกอกโพสต์" เพราะ จีเอ็มเอ็มสามารถไล่ซื้อหุ้นของบางกอกโพสต์ได้ และที่จำนวนมากก็มาจากการซื้อจากกลุ่ม ตระกูลกรรณสูต จำนวน 9.74% ขณะเดียวกันบางกอกโพสต์คือสื่อภาษาอังกฤษ ที่ค่อนข้างจะเล่นข่าวตีและเปิดเผยข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับรัฐบาล โดยเฉพาะในแง่ลบอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าคนในพรรคไทยรักไทยและรัฐบาลทั้งหมดย่อมไม่พอใจ

ส่วนเนชั่น รู้กันอยู่ว่า คนในตระกูล "จึงรุ่งเรืองกิจ" ถุงเงินใหญ่อีกถุงหนึ่งของรัฐบาลไทยรักไทยถือหุ้นอยู่

กล่าวโดยรวม การเข้าซื้อบางกอกโพสต์จึงได้ทั้งการคุมในเชิงธุรกิจและเป็นแขนขาเสริมอีกทางหนึ่งของ อากู๋ และส่งผลดีทางการเมืองของ นายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่ยังมีอายุการบริหารอีก 3 ปีกว่า ที่จะมีสื่ออยู่ในมือ นอกเหนือจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และโมเดิร์นไนน์ เพื่อสามารถสื่อสารภาพลักษณ์ไปยังคนต่างประเทศในเชิงบวกในอันที่จะควบคุมได้ด้วย เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ที่คนต่างชาติอ่านไม่น้อย

นี่คือบทสรุปของการที่ ทำไม "อากู๋"(โดยมีแรงหนุนหลัง) ต้องลงทุนซื้อหนังสือพิมพ์ถึง 2 ฉบับ
สนามการเมืองทุกวันนี้ นอกจากรบกันทางด้านการเมืองแล้ว ยังรบกันผ่านทางสื่ออีกด้วย

นสพ. ผู้จัดการ


3. นักข่าวมติชน-โพสต์ช็อก "อากู๋" เทกโอเวอร์- "เจ๊ยุ" ชี้มีเบื้องหลัง

"หลายคนยังตั้งตัวไม่ติด และไม่รู้ว่าจะต้องปรับตัวเองอย่างไร" ผู้สื่อข่าวอาวุโสหลายคนในเครือของหนังสือพิมพ์มติชน และบางกอกโพสต์ระบุเป็นเสียงเดียวกัน และยังย้ำว่าการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวผู้สื่อข่าวได้ เพราะการซื้อหุ้นก็ซื้อได้แค่เพียงบริษัท ตึก โต๊ะ หรือเก้าอี้เท่านั้น แต่ไม่สามารถซื้อตัวผู้สื่อข่าวได้

"เมื่อแกรมมี่มาถือหุ้นบริษัทฯ แล้วคงต้องไปหัดร้องเพลงบ้าง เพราะอีกหน่อยอาจจะต้องเปลี่ยนไปออกเทปแทน หรือหากสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์ในเครือโพสต์วันนี้ โหลดริงโทน(เสียงเรียกเข้าโทรศัพท์มือถือ) ในเครือแกรมมี่ฟรี 2 ปี" นักข่าวบางคนกล่าวประชดประชัน

ตามการแถลงของตัวแทนบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ที่มี นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม หรือที่รู้จักกันในนาม "อากู๋" เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงการลงทุนซื้อหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์มติชน จำนวน 32.23 เปอร์เซ็นต์ และซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ จำนวน 23.60 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้เงินลงทุนเพื่อการนี้กว่า 2,000 ล้านบาท

นางยุวดี ธัญญสิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ประจำทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า การที่มีนักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ด้วยการลงทุนที่มีมูลค่ามหาศาลเป็นประวัติการณ์ของสื่อไทย มองได้หลายแง่ แง่หนึ่งถือเป็นการลงทุนตามธรรมดา หุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ถ้ามีคนขายเขาก็สามารถที่จะซื้อได้ แต่อีกแง่หนึ่งเป็นเรื่องของการอยากเข้ามามีธุรกิจทางด้านนี้เพื่อที่ทรงอิทธิพล ต้องยอมรับว่าสื่อมีอิทธิพลสูง ใครได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของธุรกิจทางด้านนี้ก็จะกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลดังจะเห็นตัวอย่างนักธุรกิจในต่างประเทศที่เป็นเจ้าของสื่ออย่างครบวงจร ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์

"นายทุนที่เข้ามาซื้อหุ้นจะมีแนวนโยบายอย่างไร หากมีความเข้าใจในวิชาชีพสื่อมวลชนก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหวังที่จะครอบงำคงทำไม่ได้ เพราะว่าสื่อเองมีความเป็นอิสระ มีความเป็นวิชาชีพ ถ้าไม่เข้าใจคิดว่าสื่อสามารถสั่งซ้ายหัน ขวาหันได้ คงจะคิดผิด คงซื้อได้แค่ อสังหาริมทรัพย์ จิตวิญญาณคงซื้อไม่ได้ คนที่ทำอาชีพนี้เป็นผู้มีความละเอียดอ่อน เพราะทุกคนทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมในการเป็นกระจกเงาสะท้อน และตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา เราไม่ได้เป็นเครื่องมือเพื่อไว้ปกป้องผลประโยชน์หรือไว้เชียร์ใคร" ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล กล่าว

นางยุวดี ยังตั้งข้อสังเกตว่า การลงทุนกว่า 2 พันล้านเพื่อซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และหนังสือพิมพ์มติชนในครั้งนี้ เป็นการฉีกแนวจากธุรกิจที่มีอยู่เดิมไม่ทราบว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่ คงต้องดูกันต่อไป ของอย่างนี้คงปิดบังกันได้ไม่ง่าย

ผู้จัดการออนไลน์


4. "อากู๋"ยันไม่เป็นตัวแทนการเมืองซื้อมติชน-โพสต์
นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ GMMM เปิดแถลงข่าวเมื่อเวลา 15.30 น.วันนี้(13 ก.ย.48) ภายหลังเข้าซื้อหุ้นสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่เมืองไทย 2 ค่าย โดยยืนยันว่าการเข้ามาซื้อหุ้นบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หรือ MATI จำนวน 32% และบริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) หรือ POST จำนวน 23% จะไม่มีการเข้าไปยุ่งในการบริหาร หรือ ทำให้เดือดร้อน และจะไม่มีการปลดพนักงาน

ส่วนการจะส่งตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมการด้วยหรือไม่ยังต้องมีการพูดคุยกับผู้บริหารบริษัท MATI และ POST คุณขรรค์ชัย บุนปาน, คุณสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์, ก่อน นอกจากนี้ยังยืนยันว่าจะไม่นำหุ้นทั้งสองบริษัทออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

"แต่ถ้าผมช่วยอะไรได้ก็ขอให้บอกผมพร้อมที่จะช่วย การซื้อหุ้นครั้งนี้มองในแง่ธุรกิจจะช่วยต่อยอดธุรกิจด้านคอนเทนท์ให้กับบริษัทฯ"

นายไพบูลย์ เล่าที่มาที่ไปของการซื้อหุ้นมติชนครั้งนี้สืบเนื่องมาจากกองทุนต่างประเทศที่ถือหุ้นมติชนอยู่ต้องการขายหุ้นมติชน จึงได้รวบรวมหุ้นกันแล้วหาคนซื้อหุ้นมติชน ทำให้มาเจอกัน จากนั้นจึงนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวานนี้(12 ก.ย.48) หลังจากนั้นจึงมติคณะกรรมการบริษัทไปยังมติชน และนัดรับประทานอาหารค่ำกับนายขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของและผู้บริหารมติชน ซึ่งบรรยากาศก็เป็นมิตร ไม่มีปัญหาอะไร

ขณะนี้ได้เตรียมเงินสำหรับเสนอรับซื้อหุ้นคืนจากรายย่อย (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) 75% ซึ่งหากมีการเสนอเกินที่เหลืออีก 15% ตนจะเป็นผู้รับซื้อไว้เอง โดยบริษัทฯมีเงินจำนวน 600 ล้านบาท และที่สำรองจากการกู้ยืมเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ 2.2 พันล้านบาท อายุเงินกู้ 1 ปี ซึ่งการใช้เงินกู้คงต้องดูจากผลการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ก่อน จากนั้นจึงปรับโครงสร้างการเงินอีกครั้ง โดยดีอี หรือหนี้สินต่อทุนจะอยู่ไม่เกิน 2 เท่า ซึ่งถือว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับการทำดีลใหญ่ระดับนี้ ทั้งนี้จะเสนอซื้อหุ้นจากรายย่อยในวันที่ 21 กันยายน ถึง 26 กันยายน 2548 นี้

"ผมยืนยันไม่เป็นตัวแทนนักการเมือง เข้าซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์เพราะความชอบส่วนตัว และเห็นว่า 2 สื่อนี้มีคุณภาพและศักยภาพ" นายไพบูลย์กล่าว

ผู้จัดการออนไลน์


5. "เครือมติชน"ย้ำปณิธาน ดำรง"อิสระ" เป็นกลาง-ยึดความถูกต้อง
กก.ปฎิรูปสื่อกังวลผูกขาด, ส.ว.-ฝ่ายค้านชี้บั่นทอนเสรี, "อากู๋"ปัดตัวแทนทุนการเมือง

ผู้บริหาร"มติชน" ประกาศรักษาปณิธานดั้งเดิม ยึดมั่นความเที่ยงธรรมเป็นกลางและอิสระในการเสนอข่าว แม้กลุ่มแกรมมี่จะเข้ามาซื้อหุ้น ด้านประธานแกรมมี่ เปิดใจเหตุซื้อเพราะชอบ แจงเป็นสื่อที่มีคุณภาพและรายได้มั่นคง วอนอย่าระแวงสงสัย ยันไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง

แกรมมี่แจ้งตลท.ซื้อหุ้น"มติชน-โพสต์"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2548, บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ช่วงระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน 2548 บริษัทได้ดำเนินการซื้อหุ้นสามัญของบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จากผู้ถือหุ้นเดิมชาวต่างประเทศบางราย ได้แก่ Arisaig Asean Fund Limited, State Teachers Retirement System of Ohio, First State Asia Pacific Fund, The Scottish Oriental Smaller Companies Trust plc., and Investors Bank and Trust-Oakmark International Small Cap Fund รวม 65,961,100 หุ้น คิดเป็นประมาณ 32.18% ของทุนที่ชำระแล้วของบริษัท ซึ่งเมื่อรวมกับหุ้นที่ซื้อมาก่อนหน้านี้ 116,000 หุ้น ทำให้ถือหุ้นรวม 66,077,100 หุ้น คิดเป็นประมาณ 32.23%

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ซื้อหุ้นสามัญของบริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) จากผู้ถือหุ้นเดิมคือ กลุ่มจิราธิวัฒน์, กลุ่มกรรณสูต, และอื่นๆ รวม 116,277,830 หุ้น คิดเป็นประมาณ 23.26% ของทุนที่ชำระแล้วของบริษัท เมื่อรวมกับที่ได้มาก่อนหน้านี้ 1,722,170 หุ้น ทำให้ถือหุ้นรวม 118,000,000 หุ้น คิดเป็นประมาณ 23.60%

ตั้งเป้าซื้อจากรายย่อยอีก 42%
ทั้งนี้บริษัทจะร่วมกับนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม(ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารจีเอ็มเอ็ม มีเดีย) ทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญที่เหลือของมติชนตามกฎหมาย ที่จะต้องทำคำเสนอซื้อ(Tender Offer) จำนวนไม่เกิน 87,693,400 หุ้น หรือไม่เกิน 42.78% ในราคาหุ้นละ 11.10 บาท และในกรณีที่มีผู้เสนอขายเกินกว่า 87,693,400 หุ้น นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม จะซื้อหุ้นส่วนเกินนั้นในราคาหุ้นละ 11.10 บาท

"การซื้อหุ้นของทั้งสองบริษัทดังกล่าว บริษัทจะใช้เงินรวมกันทั้งสิ้น 2,664.85 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินทุนของบริษัท 650 ล้านบาท และเงินกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 2,200 ล้านบาท โดยมติชนมีทุนจดทะเบียน 245 ล้านบาท เรียกชำระแล้ว 205 ล้านบาท มูลค่าตามราคาที่ตราไว้(พาร์) หุ้นละ 1 บาท, ส่วน โพสต์มีทุนจดทะเบียน 505 ล้านบาท เรียกชำระแล้ว 500 ล้านบาท พาร์ 1 บาท"

ปัดซื้อหุ้น"มติชน"ไม่เกี่ยว"ทักษิณ"
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการของมติชนนั้น มีเป้าหมายต้องการเป็นสื่อครบวงจร ซึ่งการที่ได้สื่อมาเพิ่มทำให้มีพื้นโฆษณา หรือช่องทางโฆษณาเพิ่ม และไม่มีเจตนาที่ต้องซื้อหุ้นให้ได้ถึง 100% หรือเอาบริษัทออกจากตลาด

"แต่ยอมรับว่าต้องการถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือประมาณ 50% และยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงทีมผู้บริหาร หรือบรรณาธิการข่าว เพราะตนเองทำข่าวไม่เป็น แต่เป็นการเข้าไปช่วยทางด้านการตลาดมากกว่า"

ส่วนกระแสข่าวที่เป็นการซื้อให้นายกฯทักษิณ นายสุเมธกล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่ แต่เป็นการเข้ามาซื้อของบริษัทเอง ส่วนสาเหตุที่ใช้เงินกู้ แทนที่จะใช้เงินบริษัท เนื่องจากจะได้ชัดเจนถึงแหล่งที่มาของเงิน

ไพบูลย์"แถลงเหตุซื้อเพราะชอบ นสพ.
ต่อมานายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดแถลงข่าวเพียงฝ่ายเดียวถึงการเข้ามาซื้อหุ้นบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 32.2% และการทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) ตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรากฏว่ามีสื่อมวลชนทุกแขนงทั้งไทยและต่างประเทศร่วมฟังการแถลงข่าวจำนวนมาก

นายไพบูลย์กล่าวว่า ในกรณีของมติชน ได้คุยกับนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) แล้วเมื่อคืนวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ตนได้แจ้งนายขรรค์ชัยไปว่า คงไม่ไปทำให้ใครอึดอัดใจหรือไปเกะกะ จะไม่ทำให้ใครกังวล ดังนั้น จึงไม่ต้องระแวงสงสัยอะไรทั้งสิ้น เหตุที่ซื้อเพราะตนเรียนจบนิเทศศาสตร์และชอบหนังสือพิมพ์มานานแล้ว ถ้าถามว่าทำไมต้องซื้อโพสต์และมติชน ก็เพราะทั้งสองเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีคุณภาพ ประสบความสำเร็จ

ยันไม่ได้เป็นตัวแทนกลุ่มทุนการเมือง
"ผมเห็นว่าหนังสือพิมพ์เป็นสื่อเบอร์หนึ่ง และมีรายได้มั่นคงที่สุดเมื่อเทียบกับสื่ออื่น เมื่อหนังสือพิมพ์ประสบความสำเร็จแล้ว น้อยครั้งที่จะล้มลง ครั้งนี้จึงถือว่าเป็น move (การเคลื่อนตัว) ที่สำคัญต่อแกรมมี่ เป็นเรื่องโชคดีที่ผมเข้าไปซื้อได้ เพราะเขาทำดีอยู่แล้ว สิ่งที่ผมจะทำได้หรือที่อยากทำคือต่อยอดให้ดีขึ้น ผมมีความเชื่อมั่นใน 2 หนังสือพิมพ์นี้" นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์ยังกล่าวยืนยันว่า การซื้อหุ้นครั้งนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนการเมืองที่ต้องการเข้ามาครอบงำสื่อ เพราะถ้าตนอยากเล่นการเมืองก็เล่นไปนานแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าพนักงานทั้ง 2 บริษัทประท้วง จะทำอย่างไร นายไพบูลย์กล่าวว่า จะประท้วงอะไร เพราะตนไม่ได้เดินเข้าไปให้เห็นหน้าด้วยซ้ำ ดังนั้น อย่าระแวงสงสัย ขอให้เชื่อตน เพราะคำไหนคำนั้นอยู่แล้ว

"ชิน"แจงไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
นายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มชินไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อหุ้นมติชนและโพสต์ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย เพราะทางกลุ่มมีนโยบายชัดเจนว่าจะลงทุนในสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ขณะที่ธุรกิจหนังสือพิมพ์ไม่ใช่สื่ออิเล็กทรอนิกส์ การที่จีเอ็มเอ็มเข้ามาในธุรกิจสิ่งพิมพ์ เพราะต้องการมีสื่อครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

"มติชน" ประกาศรักษาปณิธานดั้งเดิม
ด้านนายสมหมาย ปาริจฉัตต์ กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2548 ว่าตามที่บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัทมติชนเป็นจำนวน 32.23% นั้น การเข้ามาของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม มีเดีย ซึ่งจะต้องเข้าสู่กระบวนการจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับบริษัทมาก่อน บริษัทยังไม่อาจคาดถึงผลกระทบต่อแนวทางในการดำเนินนโยบายของบริษัทในอนาคต

หนังสือชี้แจงระบุต่อไปว่า "อย่างไรก็ตาม บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบด้วยผู้ยึดถือวิชาชีพสื่อสารมวลชนอิสระ ดำรงความเป็นกลาง ยึดมั่นความถูกต้อง เที่ยงธรรมในการนำเสนอข่าวสารมาโดยตลอด ขอยืนยันความมุ่งมั่นที่จะรักษาปณิธานดั้งเดิมของบริษัท ในความเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้วยเจตนาอันแน่วแน่ ที่จะดำรงรักษาความเป็นอิสระ และจะยืนหยัดทำหน้าที่เพื่อสังคมส่วนรวมต่อไป" หนังสือระบุ

โบรกฯ ระบุแกรมมี่หวังต่อยอดธุรกิจ
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส จำกัด(มหาชน) ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนมีผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือผู้ก่อตั้ง ถือหุ้นต่ำกว่า 50% มีจำนวนค่อนข้างมาก ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนใหม่ๆ เพิ่ม การซื้อกิจการ จึงเป็นช่องทางที่ดีและเหมาะสม เพราะเป็นการต่อยอดทางธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าสื่อหลายสำนักสามารถอยู่รอดได้

"การเข้าซื้อหุ้นทั้งในโพสต์และมติชน ยังระบุไม่ได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารการจัดการหรือไม่ รวมทั้งจะเป็นการเทกโอเวอร์แบบไม่เป็นพันธมิตร หรือลักษณะร่วมพลัง(Synergy) ร่วมกันหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นว่ามีการคุย หรือตกลงกันว่าอย่างไร เพราะการเข้าซื้อกิจการนั้นเหตุผลหนึ่งก็มาจากอาจจะราคาถูก หรือบริษัทนั้นมีเงินสดค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้ซื้อจะได้สินทรัพย์และเงินนั้นไปด้วย

จับตาทิศทางข่าวหลังแกรมมี่ถือหุ้น
นายวรุฒ ศิวศรียานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โกลเบล็ก กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นการหา content provider(ผู้สนับสนุนเนื้อหา) ของทางจีเอ็มเอ็ม มีเดียฯ เพื่อเข้าไปสนับสนุนในสื่อเดิมที่ทางแกรมมี่มีอยู่ ซึ่งทั้งมติชนและโพสต์ ถือเป็นสื่อชั้นนำที่ได้รับการยอมรับในสังคม โดยจะส่งผลให้จีเอ็มเอ็มฯได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น สำหรับในเรื่องของการบริหารนั้นมติชนมีการบริหารที่ดีอยู่แล้ว

"ปัญหาคือ แกรมมี่จะมีสิทธิเข้ามาควบคุมกองบรรณาธิการ และจะเข้ามาปรับเปลี่ยนนโยบายหรือจุดยืนการนำเสนอข่าวที่เป็นกลางและยุติธรรมมากน้อยแค่ไหน"

ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตเป็นคนใกล้รัฐบาล
ที่รัฐสภา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) แถลงภายหลังการประชุมวิปฝ่ายค้าน ว่า กรณีที่กลุ่มธุรกิจบันเทิงซื้อสื่อสิ่งพิมพ์ผ่านตลาดหลักทรัพย์นั้น วิปฝ่ายค้านได้ตั้งประเด็นไว้คือ เป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติของกลุ่มธุรกิจหรือไม่ และมีผลกระทบต่อสังคมหรือไม่

วิปฝ่ายค้านมีข้อสังเกตว่า กลุ่มธุรกิจที่เข้าไปซื้อนั้นเป็นธุรกิจบันเทิง แต่เข้าไปซื้อสื่อที่เสนอข่าวทางการเมือง ไม่น่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจบันเทิง และยังมีข่าวว่า กลุ่มทุนดังกล่าวนั้นใกล้ชิดกับบุคคลในรัฐบาล ตั้งแต่ครั้งจะซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล

เล็งยกร่างกฎหมายป้องกันครอบงำสื่อ
"จำเป็นที่กลุ่มทุนดังกล่าวจะต้องชี้แจงต่อสังคมว่า จะเข้าไปครอบงำ แทรกแซง การเสนอข่าวสารของสื่อนั้นหรือไม่ จะเปลี่ยนทิศทางการเสนอข่าวหรือไม่ จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารหรือไม่?" นายสาทิตย์กล่าว

ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวเสริมว่า เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษา เพราะขณะนี้อยู่ภายใต้บรรยากาศการแทรกแซงครอบงำสื่อเป็นระยะ ก่อนหน้านี้ กลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลได้เทกโอเวอร์โทรทัศน์จนเกิดปัญหาภายใน เกิดกบฏไอทีวี ดังนั้น วิปฝ่ายค้านจะติดตามเรื่องนี้ต่อไปด้วยการศึกษาเทียบเคียงกับต่างประเทศ ที่บางประเทศจะมีกฎหมายป้องกันการซื้อหุ้นข้ามสื่อ เช่น กรณีโทรทัศน์ซื้อสิ่งพิมพ์ เพื่อป้องกันการครอบงำ ซึ่งหากศึกษาแล้วว่าต้องมี ฝ่ายค้านจะเป็นผู้ยกร่างกฎหมายต่อรัฐสภา

ปชป.ถกชี้"ทักษิณ"กุมครบวงจร
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้มาหารือและเห็นว่า การซื้อดังกล่าวน่าจะเป็นความพยายามของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ที่จะรุกคืบเข้าไปมีบทบาทในสื่อสารมวลชนอิสระของเอกชนมากยิ่งขึ้น โดยผู้มีอำนาจในบ้านเมืองผ่านบริษัทธุรกิจเอกชนที่มีความรู้จักมักคุ้นกัน จนทำให้การเสนอข่าวสารถูกแทรกแซงจนไม่เป็นอิสระ

สิ่งที่ในที่ประชุมพูดกันมาก คือเวลานี้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปยึดกุมอำนาจไว้ครบวงจร ซึ่งจะส่งผลต่อการนำเสนอทัศนคติ ความเคลื่อนไหวฝ่ายที่เห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาลที่จะประสบปัญหายากลำบากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรายการด้านโทรทัศน์ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประเทศอย่างยิ่ง

"เรามีการวิเคราะห์กันว่า รัฐบาลนี้แสดงเจตนารมณ์ตั้งแต่ต้น ที่จะพยายามเข้าไปยึดกุมสื่อให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะในช่วง 4 -5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความพยายามในลักษณะนี้หลายกรณีทั้งทางตรงและทางอ้อม กรณีการเข้าไปซื้อมติชนนั้น ไม่น่าจะเป็นการลงทุนตามปกติธรรมดา เรื่องนี้ถือเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ เพราะไม่รู้ว่าจะใช้สื่อมาหาประโยชน์ส่วนตัวหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่" นายองอาจกล่าว

ส.ว.ห่วง นสพ.ถูกบั่นทอนอิสระ
ที่รัฐสภา นายจอน อึ๊งภากรณ์ ส.ว.กทม. อนุกรรมาธิการ(กมธ.)ปฏิรูปสื่อ วุฒิสภา กล่าวถึงกรณี บริษัทจีเอ็มเอ็มฯ ซื้อหุ้นบริษัทมติชนและโพสต์พับลิชชิ่ง ว่า ในปัจจุบันเกิดการรวมศูนย์สื่ออยู่แล้ว เห็นได้จากสื่อทีวีถูกจำกัดการเสนอข่าว ซึ่งสิ่งนี้กำลังจะเกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์ด้วย หนังสือพิมพ์เป็นด่านสุดท้ายที่จะนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นอิสระ แต่ขณะนี้ความเป็นอิสระของหนังสือพิมพ์ถูกรุกคืบเข้าและถูกบั่นทอนเข้าไปทุกที

"การเข้ามากว้านซื้อหุ้นของนายทุน ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวพันกับคนในรัฐบาล น่าสงสัยว่ามาซื้อแทนใครหรือไม่ และอาจจะทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ ถูกควบคุมจากนายทุนเหล่านั้น โดยเฉพาะมติชนและบางกอกโพสต์ที่มีผลงานโดดเด่นในการเป็นหนังสือพิมพ์เชิงตรวจสอบรัฐบาล ผมไม่เคยเชื่อเลยว่า นายทุนที่เข้ามากว้านซื้อสื่อหนังสือพิมพ์ เขาจะหวังว่าหนังสือพิมพ์ฉบับที่เขากว้านซื้อนั้นจะทำกำไรให้ สิ่งที่เขาต้องการจริงๆ คือใช้สื่อนั้นเป็นกระบอกเสียงให้ตัวเองมากกว่า เพราะค่าตอบแทนของกิจการหนังสือพิมพ์มันไม่ได้มีกำไรสูงขนาดนั้น" นายจอนกล่าว

ชี้อันตรายต่อประชาธิปไตย
นายจอนกล่าวต่อไปว่า การกระทำเช่นนี้เป็นอันตรายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนและสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องควรออกมาคัดค้าน และสื่อมวลชนเองต้องหนักแน่นและยืนหยัดในวิชาชีพของตนเองโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ต้องการเห็นธุรกิจสื่อสารมวลชน กระจายอย่างกว้างขวาง ไม่ควรจะมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ควรที่จะมีผู้ถือหุ้นรายย่อย เพราะหากมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพียงคนเดียวผลที่เกิดขึ้นตามมาจะกลายเป็นเหมือนอย่างไอทีวี

ทรท.ดาหน้าโต้ยันไม่เกี่ยว"แม้ว"
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายเป็นห่วงว่า พรรคไทยรักไทยจะเข้ามาแทรกแซงสื่อว่า หากจะคิดว่านายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม สนิทกับนายกรัฐมนตรีโดยนำเรื่องหนึ่งเรื่องใดมาจับโยงก็ผูกได้หมด เพราะวันนี้สังคมสลับซับซ้อนมากการที่ใครจะรู้จักใครแล้ว บอกว่าเกี่ยวข้องกับคนนั้นไม่ถูก คนที่คิดอย่างนี้ก็คิดอยู่นั่น ยืนยันไม่ใช่เรื่องของพรรคไทยรักไทย

"เขาก็เป็นนักธุรกิจเขาก็มีสิทธิลงทุนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พวกคุณอย่าพยายามสร้างประเด็น เรื่องนี้ไม่มีประเด็น อย่ามาถามหรือดึงให้พวกเราเข้ามาเกี่ยวข้อง การลงทุนอย่างนี้มันครอบงำสื่อไม่ได้ เพราะถ้าต้องการแทรกแซงจริง คนหนังสือพิมพ์ที่นั้นมันต้องไม่พอใจแน่ เขาอาจจะย้ายออกไปเปิดหนังสือพิมพ์ใหม่ เขาคงไม่ยอมแน่ แล้วถามว่าคนที่เป็นแฟนประจำหนังสือพิมพ์เขาก็ต้องติดตามไปอ่านหนังสือพิมพ์ใหม่ สื่อที่เข้ามาลงทุนด้วยก็คงขายไม่ได้ และขอยืนยันด้วยว่าไม่มีนักการเมืองคนใด ที่คิดจะไปทำอะไรอย่างที่เข้าใจกัน" นายภูมิธรรมกล่าวอย่างมีอารมณ์

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ช่วงตั้งพรรคไทยรักไทยใหม่ๆ มีคนแนะนำให้พรรคไปซื้อสื่อ แต่เห็นว่าเรื่องนี้ไม่เหมาะและไม่คุ้มที่จะไปลงทุน เพราะสื่อเป็นวิชาชีพโดยตรง เป็นเรื่องยากที่จะเข้าไปควบคุมเพราะถ้าเกิดการแทรกแซง กองบรรณาธิการก็จะย้ายออกแล้วไปจัดตั้งหัวหนังสือกันใหม่ ขณะนั้นจึงยกเลิกความคิดนี้ไป ส่วนสื่อทีวี ที่เข้าไปซื้อหุ้นในไอทีวี ก็เป็นเรื่องของธุรกิจที่เข้าไปลงทุนไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซงสื่อ

เชื่อแกรมมี่ลงทุนตามปกติ
นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีพฤติกรรมไปแทรกแซงสื่อทั้งทางตรงและทางอ้อม ขนาดบิดาของตนคือนายนิสสัย เวชชาชีวะ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกฯ เข้าไปเป็นผู้บริหารในเครือเนชั่น โดยได้รับการเชิญจากนายสุทธิชัย หยุ่น กรรมการบริหารบริษัทเครือเนชั่น ให้บิดาตนไปนั่งเป็นกรรมการบริหาร เพราะเห็นว่าเป็นคนที่มีความกว้างขวางและมีความสัมพันธ์กับสื่อระดับผู้ใหญ่ รวมทั้งบุคคลในครอบครัวของสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม) ที่มีหุ้นอยู่ในบริษัทเนชั่นฯ จำนวนมากแต่ก็ไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการเสนอข่าว

"ดังนั้นกรณีของแกรมมี่จึงยืนยันว่าเป็นการลงทุนตลาดหลักทรัพย์ตามปกติ ในโลกทุนนิยมที่ใครมีเงินก็สามารถเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทต่างๆ ได้ เรื่องนี้จึงไม่มีอะไรและความสัมพันธ์ระหว่างนายไพบูลย์กับพรรคไทยรักไทยก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ" นายสุรนันทน์กล่าว

น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ถือเป็นสิทธิที่สามารถทำได้โดยชอบตามกฎหมาย เพราะนายไพบูลย์ก็ถือเป็นนักธุรกิจ การซื้อหุ้นก็ถือเป็นธุรกิจส่วนตัว หากไม่เบียดเบียนสิทธิเสรีภาพใคร และคนที่รู้จัก พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีมาก หากจะนำมาเชื่อมโยงกัน แล้วคนที่รู้จักนายกฯไม่สามารถทำอะไรได้เลยก็ไม่เป็นธรรม

ติง"อากู๋"ไม่น่าทำอย่างนี้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไม่รู้ว่านายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม คิดอย่างไร แต่ความจริงก็ไม่น่าทำเช่นนี้

นายสมใจนึก เองตระกูล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ร่วม บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า เชื่อว่ากองบรรณาธิการของมติชนมีความเข้มแข็ง มีอิสระในการทำงานพอสมควร ดังนั้น การจะเข้ามาควบคุม หรือให้ทำตามคำสั่งคงทำไม่ได้ง่ายๆ

สื่อฝรั่งตีข่าวทั่วโลก"อากู๋"สนิท"แม้ว"
วันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศทุกสำนักไม่ว่า เอพี, เอเอฟพี, และรอยเตอร์, ต่างรายงานข่าวกรณีที่ บริษัทจีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) เข้ากว้านซื้อหุ้นของบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) และโพสต์พับลิชชิ่ง ออกไปทั่วโลก โดยทุกสำนักต่างรายงานตรงกันว่า นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารบริษัทจีเอ็มเอ็ม มีเดียฯ เป็นผู้ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

โดยเอเอฟพี.ระบุว่า นายไพบูลย์เคยขึ้นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ไทยเกือบทุกฉบับเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อออกมาทำหน้าที่ในการติดต่อซื้อหุ้นจากทีมฟุตบอลลิเวอร์พูลให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ แม้ความพยายามดังกล่าวจะไม่บรรลุผลแต่ก็แสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของบุคคลทั้งสอง

ตั้งข้อสังเกตปม"มติชน-โพสต์"ถูกซื้อ
เอเอฟพี. ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงความพยายามในการซื้อหุ้นจากมติชน และบางกอกโพสต์ โดยการทุ่มเงินถึงกว่า 2,600 ล้านบาทว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาทั้งมติชนและบางกอกโพสต์ ต่างตกเป็นเป้าในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมาก โดยมติชนถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายถึง 15,000 ล้านบาท จากบริษัทปิคนิค ซึ่งเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากการเสนอข่าวที่ทางบริษัทระบุว่าส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และทำให้ราคาหุ้นของบริษัทตก ขณะที่บางกอกโพสต์ก็ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐจากการเสนอข่าวรันเวย์ของสนามบินสุวรรณภูมิร้าว

เอเอฟพี. ระบุในตอนท้ายว่ากลุ่มสิทธิสื่อเคยออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความพยายามในการปิดปากสื่อมวลชน ทั้งจากการกดดันโดยตรงของรัฐบาล หรือจากความพยายามในการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและเจ้าของสื่อ ทั้งนี้หนึ่งในธุรกิจของครอบครัวชินวัตรคือ การเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งเป็นทีวีเสรีเพียงแห่งเดียวในไทยที่เคยเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีมาแล้ว

รอยเตอร์ชี้ น.ส.พ.ทั้งสองฉบับวิจารณ์รัฐบาล
ด้านรอยเตอร์รายงานว่า ความพยายามในการเข้าซื้อหุ้นของหนังสือพิมพ์ชั้นนำของไทย ของกลุ่มจีเอ็มเอ็มในครั้งนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับ ความเป็นอิสระของหนังสือพิมพ์ชั้นนำของประเทศไทยในอนาคต ขณะที่ไม่ว่าองค์การตรวจสอบการทำงานของสื่อ และบรรดาพนักงานของบริษัททั้งสองต่างรู้สึกหวาดกลัวนายไพบูลย์ ผู้ที่มีภาพชัดเจนว่ามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีว่า จะพยายามลดการเสนอรายงานข่าวที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

รอยเตอร์ระบุว่า บางกอกโพสต์เป็นหนังสือพิมพ์ที่มักจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่มติชนก็เป็นเสมือนหนามยอกอกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นศัตรูของเสรีภาพสื่อมวลชนอยู่เสมอ โดยหนึ่งในข่าวที่หนังสือพิมพ์ในเครือมติชนเคยนำเสนอคือ ความพยายามที่จะปิดปังความร่ำรวยโดยการนำหุ้นจำนวนมากใส่ไว้ในชื่อของแม่บ้านและคนขับรถของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งนำไปสู่การพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งทางการเมือง แต่ พ.ต.ท.ทักษิณก็สามารถหลุดพ้นข้อกล่าวหาด้วยเสียงข้างมากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

คปส.แถลงกังวลสื่อถูกผูกขาด
ทางด้านคณะกรรมการณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) ออกแถลงการณ์ระบุว่า คปส.มีความกังวลอย่างสูงต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มความถดถอยของระบบสื่อในเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจน โดยเฉพาะผูกขาดกิจการสื่อสารอย่างครบวงจร ส่งผลต่ออิสรภาพของกองบรรณาธิการ และความหลากหลายของสื่อ กระทบต่อสิทธิของพลเมืองและผู้บริโภค นำไปสู่การผูกขาดทางธุรกิจการ ก่อให้เกิดภาวะสมยอมทางการเมือง นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนกับกองบรรณาธิการ

แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ทิศทางของสื่อมีความอ่อนเบาลงในเชิงเนื้อหาข่าวสารเชิงเจาะลึกในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจะลดน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยความบันเทิงเริงรมย์ทำให้ประชาชนเพลิดเพลินไปกับโลกแห่งมายาและการบริโภค หลงลืมการตั้งคำถามเรื่องความเป็นจริงในสังคม ดังนั้น สื่อต้องรวมตัวให้เข้มแข็ง ส่วนภาคประชาชนต้องเพิ่มการรับรู้เท่าทัน ท้าทายระบอบทักษิณ เพื่อปกป้องเสรีภาพแห่งข่าวสาร

อาจารย์ จุฬาฯ ชี้สื่อถูกกระทำมากขึ้น
ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาในหัวข้อ "จรรยาบรรณ ประโยชน์สาธารณะและการคุกคามสื่อจากรัฐ-ทุน ในกรณี "บางกอกโพสต์" ผู้ร่วมเสวนามีนายพีระ จิระโสภณ คณบดีคณะนิเทศาสตร์ จุฬาฯ, นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ อดีตบรรณาธิการข่าวสายความมั่นคงบางกอกโพสต์, นายกวี จงกิจถาวร อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยจากเนชั่น เป็นต้น

นายพีระกล่าวว่า กรณีรันเวย์ร้าวที่เกิดขึ้นกับบางกอกโพสต์ มองได้ 2 มุม คือ

1.บทบาทของสื่อในการเสนอข่าวตามหน้าที่
2.ความรับผิดชอบต่อจรรยาบรรณสื่อ

ความถูกต้องซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการรายงานข่าว กรณีนี้สภาการหนังสือพิมพ์ต้องพิจารณาอย่างดีแล้วว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็น เจตนาดี หรือเจตนาร้าย และเป็นที่น่าสังเกตว่าไม่เคยมีหนังสือพิมพ์ใดปลดบรรณาธิการข่าว 3 คน ในช่วง 3 ปี อย่างบางกอกโพสต์ ช่วงหลังเราจะเห็นตลอดว่าสื่อเป็นผู้ถูกกระทำทั้งสิ้น เช่น กรณีบริษัทปิคนิคฟ้องหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 5,000 ล้านบาท


"กรณีที่เกิดขึ้นกับบรรณาธิการบางกอกโพสต์คนล่าสุดถือเป็นเหยื่อรายหนึ่งในระบบทุนนิยม กลุ่มนายทุนเข้าครอบครองสื่อเริ่มรุนแรงขึ้น แถมโยงใยเป็นเครือข่าย แม้แต่คนในสื่อเองยังรู้ไม่เท่าทันในบางครั้ง แล้วผู้อ่านจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ถึงวิกฤตการณ์ยึดสื่อแบบเงียบๆ ไม่แน่ในอนาคตอาจเกิดจีเอ็มโอสื่อ" นายพีระกล่าว

ระบุพิลึกแกรมมี่ซื้อ"มติชน-โพสต์"
ด้านนายกวีกล่าวว่า การที่แกรมมี่จะมาซื้อหุ้นมติชน-โพสต์ ถือว่าเป็นเรื่องพิลึกกึกกืออย่างยิ่ง รัฐบาลพยายามสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้ประชาชนว่า สื่อเป็นองค์กรธุรกิจ อย่าไปเคารพ อย่าไปสนใจ มองว่าเป็นพวกดีแต่วิจารณ์รัฐบาล ชอบกล่าวหาว่าสื่อไม่รักชาติ ดังนั้น ต่อไปสื่อต้องรอบรู้ทุกด้านและสร้างมาตรฐานไอเอสโอขึ้นมาเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ มีคุณภาพ จริยธรรมเพื่อต่อสู้กับกลุ่มนายทุน และทำให้สื่อเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน รัฐจะมากำหนดการรับรู้ของประชาชนไม่ได้


6. มุมมอง"ทนง พิทยะ" รมว.คลัง
การเทคโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร ไม่เหมาะกับวัฒนธรรมของเอเชีย

ผมยังเชื่อมั่นว่า กระบวนการในการป้องกันการถูกครอบงำกิจการของตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ได้รับการพัฒนามาระดับหนึ่งแล้ว จะไม่เอื้อให้เกิดปรากฏการณ์เทคโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร (hostile take over) ได้ง่าย และที่ผ่านมายังไม่เคยมีกรณีที่ประสบความสำเร็จเลยในประเทศไทย เพราะวัฒนธรรมของเอเชียไม่เอื้อให้ทำเรื่องแบบนี้ได้ง่าย แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับสื่อ 2 ฉบับนี้ เป็นเรื่องปกติของโลกทุนนิยม ที่เมื่อธุรกิจดี บริษัทดี ก็มีคนมาสนใจ แต่เมื่อใครที่ทำธุรกิจดี ก็เชื่อว่าน่าจะทำได้ดีในบริษัทอื่น ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ทั้ง 2 แห่งก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีผลประกอบการที่ดีจนเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ

ถ้าถามว่าตลาดหลักทรัพย์จะพิสูจน์อย่างไรเพื่อเป็นหลักประกันว่า ธุรกิจครอบครัวที่เข้าตลาดหุ้นจะไม่ถูกเทคโอเวอร์ ก็ต้องตอบว่า คนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์จะได้ประโยชน์จากตลาดได้มาก ทั้งจากการระดมทุน สิทธิประโยชน์ทางภาษี และถ้ายังถือหุ้น 60% และไม่ขายออก ก็ไม่มีใครเทคโอเวอร์ได้


7. "อากู๋-แกรมมี่"ซื้อมติชน-โพสต์

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จีเอ็มเอ็มขอแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการอนุมัติการลงทุนของบริษัท ในธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ โดยซื้อหุ้นสามัญของบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จากนักลงทุนต่างประเทศจำนวนทั้งสิ้น 66.07 ล้านหุ้น หรือ 32.23% ของทุนที่ชำระแล้วของบริษัทและหุ้นสามัญของบริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)จำนวนทั้งสิ้น 118 ล้านหุ้น คิดเป็นประมาณ 23.60% ของทุนที่ชำระแล้ว การซื้อหุ้นครั้งนี้เข้าข่ายการเทกโอเวอร์บริษัท และนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม จะทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญที่เหลือทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว จากประชาชนเป็นการทั่วไป (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ซื้อหุ้นสามัญที่เหลือของมติชน โดยบริษัทจะซื้อหุ้นสามัญอีกจำนวนไม่เกิน 87,693,400 หุ้น หรือคิดเป็นประมาณไม่เกิน 42.78% ของหุ้นที่จำหน่ายในราคาหุ้นละ 11.10 บาท


8. คำแถลงการณ์ บริษัทมติชน จำกัด(มหาชน)
วันที่ 13 ก.ย.2548

ตามที่บริษัทจีเอ็ม เอ็ม มีเดีย จำกัด(มหาชน) ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) เป็นจำนวน 32.23 เปอร์เซ็นต์ นั้น บริษัทยังไม่อาจคาดถึงผลกระทบต่อแนวทางในการดำเนินนโยบายของบริษัท ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) ซึ่งประกอบด้วยผู้ยึดถือวิชาชีพสื่อสารมวลชนอิสระ ดำรงความเป็นกลาง ยึดมั่นความถูกต้อง เที่ยงธรรมในการนำเสนอข่าวสารมาโดยตลอด ขอยืนยันความมุ่งมั่นที่จะรักษาปณิธานดั้งเดิมของบริษัท ในความเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ด้วยเจตนาอันแน่วแน่ที่จะดำรงรักษาความเป็นอิสระ และจะยืนหยัดทำหน้าที่เพื่อสังคมส่วนรวมต่อไป

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
วันเดียวกันเวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) แถลงภายหลังประชุมวิปฝ่ายค้านว่า ที่ประชุมหยิบยกกรณีที่มีข่าวซื้อสื่อของกลุ่มธุรกิจบันเทิงผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประเด็น คือ

1. การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติของกลุ่มทุนนั้นหรือไม่ และ
2. มีผลกระทบต่อสังคมหรือไม่ เพราะกลุ่มธุรกิจนี้เดิมเป็นธุรกิจด้านบันเทิง แต่กลับมาซื้อสื่อด้านการเมือง และกลุ่มทุนกลุ่มนี้เคยมีข่าว มีความใกล้ชิดกับคนในรัฐบาล ตั้งแต่มีข่าวว่าจะซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลมาแล้ว และแม้ว่าจะอ้างว่าเป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติ

"เนื่องจากหุ้นที่ซื้อเป็นหุ้นสื่อสารมวลชน ซึ่งมีหน้าที่เป็นสื่อกลางนำเสนอข่าวต่อประชาชนผู้บริโภค โดยที่รัฐธรรมนูญมาตรา 39 และ 40 ได้บัญญัติให้ความคุ้มครองการทำหน้าที่ของสื่อ ห้ามมิให้มีการแทรกแซงทั้งสื่อของรัฐและเอกชน จึงจำเป็นที่กลุ่มทุนดังกล่าวต้องชี้แจงต่อประชาชนให้ชัดเจนว่า จะเข้าไปแทรกแซงครอบงำการนำเสนอข่าวสารของสื่อนั้นหรือไม่ จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารหรือไม่ หรือเปลี่ยนแปลงทิศทางการนำเสนอข่าวสารหรือไม่" ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าว

ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวอีกว่า เรื่องนี้เป็นกรณีที่น่าศึกษา เพราะภายใต้บรรยากาศในปัจจุบัน มีปัญหาและมีข่าวเข้ามาครอบงำสื่อเป็นระยะ โดยผู้นำรัฐบาลและบริษัทกลุ่มทุนของตนเอง เคยเข้าไปเทกโอเวอร์บริษัทไอทีวี จนเกิดปัญหาภายในองค์กรและเกิดกบฏไอทีวีมาแล้ว ดังนั้นวิปฝ่ายค้านจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยควรออกกฎหมายป้องกันการครอบงำสื่อ ด้วยการซื้อหุ้นข้ามสื่อ ซึ่งวิปฝ่ายค้านจะศึกษาเรื่องนี้โดยเทียบเคียงกับต่างประเทศ หากพบว่าควรออกกฎหมาย ฝ่ายค้านจะเป็นผู้เสนอกฎหมายต่อสภาเอง โดยที่ผ่านมานักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาไว้ว่า บางประเทศออกกฎหมายห้ามซื้อหุ้นข้ามสื่อ หากเห็นว่าธุรกิจเดิมได้รับความนิยมสูงอยู่แล้ว เพื่อป้องกันการครอบงำ

องอาจ คล้ามไพบูลย์
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หยิบยกเรื่องซื้อหุ้นบริษัท โพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน) และบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) มาหารือและเห็นว่าการซื้อดังกล่าว น่าจะเป็นความพยายามลุกคืบเข้าไปมีบทบาทในสื่อสารมวลชนอิสระของเอกชนมากยิ่งขึ้น โดยผู้มีอำนาจในบ้านเมืองผ่านบริษัทธุรกิจเอกชนที่มีความรู้จักมักคุ้นกัน จนการเสนอข่าวสารถูกแทรกแซงไม่เป็นอิสระ

นายองอาจกล่าวต่อว่า สิ่งที่ในที่ประชุมพูดกันมากคือเวลานี้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าไปยึดกุมอำนาจไว้ครบวงจรจะส่งผลต่อการนำเสนอทัศนคติความเคลื่อนไหว ฝ่ายที่เห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาลจะยากลำบากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรายการด้านโทรทัศน์ที่ในอดีตอาจเป็นรายการที่บุคคลสามารถแสดงความเห็นได้หลากหลาย จะกลายเป็นรายการที่มีแต่โฆษณาชวนเชื่อ จากที่อันตรายอยู่แล้วยิ่งทวีมาก ซึ่งพรรคพูดคุยกันว่า น่าจะถึงเวลาที่จะพิจารณาทบทวนว่า สื่อสารมวลชนแม้เป็นของเอกชนก็ควรมีกฎเกณฑ์บางอย่างหรือไม่ ในการเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการหรือเป็นผู้ถือหุ้นจำนวนมากในกิจการเหล่านี้

"เราวิเคราะห์กันว่ารัฐบาลนี้แสดงเจตนารมณ์ตั้งแต่ต้นที่จะพยายามเข้าไปยึดกุมสื่อให้ได้มากที่สุด เท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่มีความพยายามลักษณะนี้หลายกรณีทั้งทางตรงและทางอ้อม ฉะนั้นการเข้าไปเป็นเจ้าของ จะมีบทบาทและอิทธิพลเหนือการทำงานได้มากยิ่งขึ้น อย่างกรณีของมติชนเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้บริหารแกรมมี่คุ้นเคยกันดีกับผู้บริหารมติชน ถ้าจะซื้อขายกันตามปกติธรรมดาน่าจะรับรู้กันได้ แต่นี่กลับซื้อผ่านทางต่างประเทศ โดยผู้บริหารมติชนรับรู้ทีหลัง แสดงว่าต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากล ไม่น่าจะเป็นการลงทุนตามปกติธรรมดา เรื่องนี้ถือเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ เพราะไม่รู้ว่าจะใช้สื่อหาประโยชน์ส่วนตัวหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่" นายองอาจกล่าว

จอน อึ๊งภากรณ์
ทางด้านนายจอน อึ๊งภากรณ์ ส.ว.กทม. เจ้าของรางวัลแม็กไซไซคนล่าสุด ในฐานะอนุกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ วุฒิสภา กล่าวถึงการกว้านซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์มติชน และหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด(มหาชน) ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์มติชน และหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ทำให้เกิดการรวมศูนย์ของสื่อ ซึ่งเราจะเห็นได้จากที่ผ่านมาสื่อทีวีถูกจำกัดไม่ให้นำเสนอข่าว และทีวีส่วนใหญ่มีรัฐเป็นเจ้าของ เช่น ช่อง 11 อยู่ในกำกับของรัฐ โดยขึ้นกับรัฐมนตรีที่กำกับ, ช่อง 5 อยู่ในกำกับของทหาร, หรือกรณีของไอทีวี ที่เจตนาตอนก่อตั้งหลังจากยุคพฤษภาทมิฬ เพื่อต้องการข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและแม่นยำ แต่หลังจากที่กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่นเข้าไปกว้านซื้อหุ้น และเปลี่ยนนโยบายจากสถานีข่าวเป็นสถานีความบันเทิง จนทำให้การเสนอข่าวเกิดปัญหา และทำให้สื่อทีวีขาดเสรีภาพในการนำเสนอข่าว

"สิ่งที่เกิดขึ้นกับไอทีวีกำลังเป็นสิ่งเดียวกับที่เกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์ การเข้ามากว้านซื้อหุ้นของนายทุน ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวพันกับคนในรัฐบาล จะทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ ถูกควบคุมจากนายทุนเหล่านั้น โดยเฉพาะมติชนและบางกอกโพสต์ ที่มีผลงานโดดเด่นในการเป็นหนังสือพิมพ์เชิงตรวจสอบรัฐบาล ผมคิดว่าหนังสือพิมพ์เป็นด่านสุดท้ายที่จะนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นอิสระ แต่ขณะนี้ความเป็นอิสระของหนังสือพิมพ์กำลังถูกรุกคืบและถูกบั่นทอนเข้าทุกที ซึ่งการมีความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนที่เข้ามากว้านซื้อหุ้นกับรัฐมนตรีในรัฐบาลย่อมมีอิทธิพลต่อการนำเสนอเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ อย่างแน่นอน

การกระทำเช่นนี้ผมคิดว่าเป็นอันตรายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนและสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องควรออกมาคัดค้าน และสื่อมวลชนเองต้องหนักแน่นและยืนหยัดในวิชาชีพของตนเอง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก" ส.ว.เจ้าของรางวัลแม็กไซไซกล่าว

ส.ว.เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราอยากเห็นคือธุรกิจสื่อสารมวลชนกระจายอย่างกว้างขวางไม่ควรมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ควรมีผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งหากมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพียงคนเดียวผลที่เกิดขึ้นตามมาจะกลายเป็นเหมือนอย่างไอทีวี มติชนเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีบทความของนักวิชาการ นักคิด นักเขียน ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมาก เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงเหมือนกัน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นแล้วเนื้อหาจะเปลี่ยนแปลงด้วยหรือไม่

"ผมไม่เคยเชื่อเลยว่านายทุนที่เข้ามากว้านซื้อสื่อหนังสือพิมพ์ จะหวังว่าหนังสือพิมพ์ฉบับที่เขากว้านซื้อนั้นจะทำกำไรให้ สิ่งที่ต้องการจริงๆ ผมคิดว่าเขาต้องการใช้สื่อนั้นเป็นกระบอกเสียงให้ตัวเองมากกว่า เพราะค่าตอบแทนของกิจการหนังสือพิมพ์มันไม่ได้มีกำไรสูงขนาดนั้น ผมค่อนข้างมองเรื่องนี้อย่างระแวง แต่ละก้าวที่รุกคืบเข้ามาของกลุ่มทุนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาล อย่างผู้บริหารของจีเอ็มเอ็ม ก็เคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลในตอนซื้อหุ้นลิเวอร์พูล เพราะฉะนั้นการเข้ามาซื้อหุ้นมติชนครั้งนี้จึงน่าสงสัยว่า มาซื้อแทนใครหรือเปล่า" ส.ว.เจ้าของรางวัลแม็กไซไซกล่าว

ภูมิธรรม เวชยชัย
วันเดียวกันที่ที่ทำการพรรคไทยรักไทย อาคารไอเอฟซีที นายภูมิธรรม เวชยชัย รมช.คมนาคม และรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย อดีตผู้บริหารเครือชินวัตรฯ กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายเป็นห่วงว่ารัฐบาลโดยเฉพาะพรรคไทยรักไทย จะเข้ามาแทรกแซงสื่อผ่านนายทุนแกรมมี่ ว่า ก่อนหน้านี้เคยมีผู้เสนอพ.ต.ท.ทักษิณซื้อกิจการหนังสือพิมพ์บางฉบับ ในช่วงการตั้งพรรคไทยรักไทย แต่พ.ต.ท.ทักษิณปฏิเสธแนวคิดดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของวิชาชีพ ที่ไม่สามารถไปซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ได้ แต่หากคิดว่านายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เจ้าของแกรมมี่ฯสนิทสนมกับนายกฯ แล้วมาจับโยงมันก็ผูกได้หมด เพราะวันนี้สังคมสลับซับซ้อนมาก การที่ใครจะรู้จักใคร แล้วบอกว่าเกี่ยวข้องกับคนนั้นไม่ถูก ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องของพรรค

"เขาก็เป็นนักธุรกิจมีสิทธิ์ลงทุนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่าพยายามสร้างประเด็น อย่ามาถามหรือดึงให้พวกเราเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของนักลงทุน ขอร้องอย่าหลงประเด็น เพราะเป็นเรื่องธุรกิจของเขา ขอให้คิดในสิ่งที่เป็นความจริงบ้าง การลงทุนอย่างนี้มันครอบงำสื่อไม่ได้ เพราะถ้าต้องการแทรกแซงจริง คนหนังสือพิมพ์ต้องไม่พอใจแน่ เขาอาจจะย้ายออกไปเปิดหนังสือพิมพ์ใหม่ ถามว่าคนอย่างพี่ช้าง, คุณพงษ์ศักดิ์, และไอ้ถึกไทยโพสต์ คงไม่ยอมแน่ แล้วถามว่าคนที่เป็นแฟนประจำหนังสือพิมพ์ก็ต้องติดตามไปอ่านหนังสือพิมพ์ใหม่ สื่อที่เข้ามาลงทุนด้วยก็คงขายไม่ได้ และขอยืนยันด้วยว่า ไม่มีนักการเมืองคนใด ที่คิดจะไปทำอะไรอย่างที่เข้าใจกัน" นายภูมิธรรมกล่าวอย่างมีอารมณ์

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่ตระกูลชินวัตรซื้อหุ้นไอทีวี และกลุ่มทราฟฟิคคอนเนอร์ของน้องสาวนายกฯ เข้าไปประมูลงานสื่อโทรทัศน์และวิทยุ รวมทั้งตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ เข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทเนชั่นฯ ก็ดูเหมือนเป็นความพยายามที่รัฐบาลต้องการแทรกแซงสื่อ นายภูมิธรรม กล่าวว่า รู้ได้อย่างไรว่าตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจต้องการแทรกแซงสื่อ ถ้าพูดอย่างนี้แสดงว่าคนที่ถามคิดฝ่ายเดียว เพราะอาจเป็นเรื่องของการลงทุน สื่อควรยุติการคิดลักษณะนี้ได้แล้ว มิเช่นนั้นสื่ออาจตีค่าตัวเองอยู่แค่จุดๆหนึ่ง ควรประเมินตัวเองใหม่ ไม่ควรนำความคิดลักษณะนี้ไปบอกคนอื่นด้วย จะทำให้สังคมเข้าใจผิด ส่วนการซื้อหุ้นไอทีวีก็เป็นเรื่องของธุรกิจที่เข้าไปลงทุน ไม่ใช่เข้าไปแทรกแซงสื่อ

สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค(สอบ.)
ขณะที่น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค(สอบ.) ออกแถลงการณ์ว่า สัญญาณอันตราย การใช้ตลาดหลักทรัพย์เป็นเครื่องมือในการครอบงำสื่อกระแสหลักของประเทศ

จากกรณีที่บริษัทแกรมมี่ฯ ทุ่มเงินกว่า 2,600 ล้านบาท กว้านซื้อสื่อหนังสือพิมพ์สำคัญแนวสาระหรือซีเรียส ที่ทรงอิทธิพลในสังคมไทย ทั้งหนังสือพิมพ์ภาษาไทย คือ เครือมติชน และหนังสือพิมพ์ ภาษาอังกฤษ คือ เครือบางกอกโพสต์นั้น เป็นการส่งสัญญาณอันตรายต่อสังคม

เนื่องจากเครือหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับเป็นสื่อกระแสหลักที่ทำหน้าที่สื่อสารข่าวข้อมูล เน้นสาระ และการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อก่อให้เกิดการตั้งคำถามเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสังคมและผู้บริโภค ส่งผลต่อการเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลชี้นำสังคมได้ ซึ่งองค์กรเช่นนี้ต้องสามารถทำหน้าที่ฐานะนักสื่อสารมวลชนของตนได้อย่างมีอิสระ มีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารตามจรรยาบรรณ และหลักการของสื่อมวลชนที่ดีที่ต้องพึงกระทำ และคำนึงถึงภารกิจและหน้าที่ที่สังคมคาดหวัง และมีความซื่อสัตย์ต่อการสื่อสารต่อสาธารณะ

การที่องค์กรสื่อหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับนี้ต้องถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุนสื่อบันเทิง ที่มีอาณาจักรธุรกิจด้านบันเทิงทั้งการสร้างนักร้อง ดารา ละคร ภาพยนตร์ และการครอบครองธุรกิจสื่อมากมายทั้งโทรทัศน์ และวิทยุ ซึ่งกว้างขวางครอบคลุมธุรกิจสื่อเกือบจะรอบด้านอยู่แล้ว ทั้งยังกล่าวกันว่ากลุ่มทุนดังกล่าวนี้ มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลหมายถึงใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจทางการเมืองด้วย จึงถือเป็นปรากฏการณ์ของสัญญาณอันตรายสำหรับสังคมไทยและผู้บริโภคสื่อ เพราะการครอบงำสื่อส่งผลต่อการครอบงำสังคมและผู้บริโภคสื่อด้วย

ปรากฏการณ์นี้ได้อาศัยช่องทางของตลาดหลักทรัพย์เข้ามารุกคืบ ครอบงำกิจการที่มีลักษณะเฉพาะเช่นกิจการสื่อสารมวลชนที่มีผลชี้นำสังคม เช่นเดียวกับกิจการเฉพาะเช่นกิจการสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา ที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่รัฐบาลเตรียมนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้กลุ่มทุนธุรกิจการเมืองครอบงำนโยบายและหาผลประโยชน์ได้เต็มที่

สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค(สอบ.) เห็นว่า

1. เป็นการไม่เหมาะสมและไม่สมควรอย่างยิ่งที่บริษัทแกรมมี่ฯ จะมาเทกโอเวอร์สื่อหนังสือพิมพ์แนวสาระ ซีเรียส ทั้ง 2 ฉบับนี้ ซึ่งการเข้ามาถือหุ้นจำนวนมากดังกล่าว อาจหมายถึงการใช้อำนาจในฐานะผู้ถือหุ้นแทรกแซงการทำหน้าที่สื่อสารมวลชน หรือสร้างความอึดอัดในการทำหน้าที่ของคนทำสื่อสาระ แนวซีเรียส ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการสื่อสารกับสาธารณะที่ต้องมีอิสระ และอิสรภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ไม่ถูกครอบงำจากกลุ่มทุนธุรกิจ และการเมือง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นสังคมและผู้บริโภคสื่อคือผู้เสียประโยชน์

2. จากกรณีดังกล่าวเป็นบทเรียนและเป็นคำถามสำคัญอีกครั้งว่า สมควรหรือไม่ ที่กิจการบางประเภท เช่น สื่อสารมวลชน ซึ่งมีอิทธิพลชี้นำสังคมได้ จะเข้าไประดมทุนเพิ่มหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคิดถึงผลกำไร เป็นที่ตั้ง และตลาดหลักทรัพย์ยังเป็นช่องทางที่ทำให้กลุ่มทุน ธุรกิจการเมืองสามารถเข้าไปเทกโอเวอร์ หรือฮุบกิจการที่นอกจากหวังผลทางธุรกิจ ยังหวังผลการเมืองได้ด้วย โดยเฉพาะในบางกิจการที่มีความละเอียดอ่อนต่อสังคม เช่น ธุรกิจสื่อสารมวลชน


9. แถลงการณ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
กรณี เครือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เข้าถือหุ้นใหญ่ ในหนังสือพิมพ์รายวัน

วิกฤตสื่อในยุคทุนนิยมผูกขาด เอื้อประโยชน์กลุ่มธุรกิจการเมือง
นักวิชาชีพ ประชาชนต้องรวมตัว สามัคคี ท้าทายการกินรวบ
ยึดกุม มาตรา 41 สู้ศึกกลุ่มทุนฮุบสื่อ

จากปรากฏการณ์ บริษัทจีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กลุ่มทุนใหญ่ด้านธุรกิจบันเทิง ได้เข้าซื้อหุ้นสื่อในเครือมติชนและบางกอกโพสต์นั้น คณะกรรมการณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) มีความกังวลอย่างสูงมากต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มความถดถอยของระบบสื่อในเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจน ดังนี้

1. แนวโน้มเรื่องการควบรวม ผูกขาดกิจการสื่อสารอย่างครบวงจร โดยกลุ่มทุนสื่อขนาดใหญ่
จะเห็นได้ว่า เรามีสื่อและเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น แต่การกระจุกตัวของผู้เป็นเจ้าของสื่อนั้นอยู่ในกำมือของกลุ่มคนจำนวนน้อยลงทุกที โครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อ (media ownership)ที่กระจุกตัวดังกล่าวย่อมส่งผลต่ออิสรภาพของกองบรรณาธิการ (media independence) และความหลากหลายของสื่อ กระทบต่อสิทธิของพลเมืองและผู้บริโภคอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

2. แนวโน้มที่นักการเมือง กลุ่มทางการเมือง และกลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิดการเมือง เข้ามาถือหุ้นในสื่อสารมวลชนมากขึ้น (politicians as shareholders) เพื่อหวังผลในการคุมทิศทางการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารแบบทางตรง เพื่อทำให้เนื้อหาสาระผ่านสื่อเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายทางการเมือง ถือเป็นการควบคุมที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะถือเป็นการควบคุมผ่านโครงสร้างทางเศรษฐกิจและระบบตลาดเสรี แต่นำไปสู่การผูกขาดทางธุรกิจการเมืองอย่างลึกซึ้ง ก่อให้เกิดภาวะสมยอมทางการเมือง นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนกับกองบรรณาธิการ

3. แนวโน้มที่กลุ่มทุนบันเทิง เข้ามาถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ ย่อมส่งผลให้ทิศทางของสื่อมีความอ่อนเบาลงในเชิงเนื้อหา ข่าวสารเชิงเจาะลึกในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจะลดน้อยลง แต่จะถูกแทนที่ด้วยความบันเทิงเริงรมย์ ทำให้ประชาชนเพลิดเพลินไปกับโลกแห่งมายาและการบริโภค หลงลืมการตั้งคำถามเรื่องความเป็นจริงในสังคม ผู้รับสื่อจะมีทางเลือกที่จำกัดมากขึ้นในทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม

โดยสรุป การรุกคืบ ของ กลุ่มสื่อขนาดใหญ่ที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มอำนาจทางการเมือง นั้นจะส่งให้เกิดทางลบ ต่อ

1. อิสรภาพของสื่อมวลชน
2. สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และ
3. ผลกระทบต่อดุลยภาพทางเศรษฐกิจ / การเมือง

ดังนั้น นักวิชาชีพสื่อคงต้องรวมตัวกันให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อสร้างกลไกในการต่อรองและคานอำนาจกับกลุ่มทุนผู้เป็นเจ้าของสื่อ ตามหลักการที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 41


ส่วนภาคประชาชน ต้องเพิ่มการรับรู้เท่าทัน ท้าทายระบอบทักษิณ รณรงค์ยุติการกินรวบ/ผูกขาดสื่อจากกลุ่มทุนสื่อสารที่ใกล้ชิดการเมือง เพื่อปกป้องอิสรภาพแห่งการสื่อสารของสังคมไทย จากภัยคุกคามในปัจจุบัน

เสรีสื่อ เสรีประชาชน
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)


(หมายเหตุ: มาตรา 41 (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย) พนักงงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดกับจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ
ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ในกิจการวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนตามวรรคหนึ่ง)



10. แกรมมี่ซุ่มเงียบซื้อหุ้นมติชน
หวังกุมอำนาจบริหาร ทิศทางของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ในอนาคตจะก้าวไปในทิศทางใด

วานนี้ (12 ก.ย.48) บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ GMMM รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ ถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทว่า ที่ประชุมอนุมัติการลงทุนของบริษัทฯ ในธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ ในระหว่างวันที่ 12-13 ก.ย.48 โดยจะเข้าซื้อหุ้นสามัญ บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) จากผู้ถือหุ้นเดิมชาวต่างประเทศบางรายจำนวนทั้งสิ้น 65,961,100 หุ้น คิดเป็นประมาณ 32.18% ของทุนที่ชำระแล้ว 205 ล้านบาท ของบริษัท ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนหุ้นสามัญของมติชน ที่บริษัทฯ ได้มาก่อนหน้านี้จำนวน 116,000 หุ้น เป็นผลให้บริษัทฯ ถือหุ้นสามัญของ MATI เป็นจำนวนทั้งสิ้น 66,077,100 หุ้น คิดเป็นประมาณ 32.23% ของทุนที่ชำระแล้ว

ข่าวดังกล่าวทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ในเครือมติชน โดยเย็นวันเดียวกันมีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นในส่วนพันธมิตรของนายขรรค์ชัย บุนปาน เนื่องจากนายขรรค์ชัยมีหุ้นของมติชนรวมกันเพียง 28 % ดังนั้นจึงมีการระดมหุ้นให้นายขรรค์ชัยเพื่อรักษาอำนาจในการบริหารไว้ที่กลุ่มเดิม

แหล่งข่าวในกองบรรณาธิการมติชนรายวันกล่าวว่า ข่าวการเข้าซื้อหุ้นมติชนของบริษัทแกรมมี่ ก่อให้เกิดความกังวลในกองบรรณาธิการ เนื่องจากไม่แน่ใจว่า หากเปลี่ยนผู้บริหารแล้ว นโยบายในการทำนำเสนอข่าวจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ทั้งนี้ รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า ทางแกรมมี่ยังจะเข้าไปซื้อหุ้นสามัญของ บริษัทโพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จากผู้ถือหุ้นเดิมบางรายจำนวนทั้งสิ้น 116,277,830 หุ้น คิดเป็นประมาณ 23.26% ของทุนที่ชำระแล้วของบริษัท ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนหุ้นสามัญของโพสต์ ที่บริษัทฯ ซื้อมามาก่อนหน้านี้จำนวน 1,722,170 หุ้น เป็นผลให้บริษัทฯ ถือหุ้นสามัญของ โพสต์ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 118,000,000 หุ้น คิดเป็นประมาณ 23.60% ของทุนที่ชำระแล้ว 500 ล้านบาท

นายภัทระ คำพิทักษ์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับทั้งโพสต์ และ มติชน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ฝ่ายกองบก.หรือ สาธารณชนเองก็อาจจะหวั่นไหวได้ แต่เป็นเรื่องปกติของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ใครก็ได้ที่จะเข้ามาซื้อ คนทำสื่อต้องเข้าใจและยอมรับ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่านายทุนคนไหนจะเข้ามาคนทำสื่อก็ต้องตระหนักถึงผลประโยชน์ของสาธารณ ไม่ใช่มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัว แกรมมี่ที่มาจากธุรกิจบันเทิงก็ต้องมีหลักการเช่นกัน

กองบก.มติชนป่วน
แหล่งข่าวจากกองบรรณาธิการมติชน กล่าวว่า กองบก.หวั่นไหวกับข่าวการเข้ามาซื้อหุ้นของแกรมมี่เป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์ถึงทิศทางข่าวหลังจากนี้ ว่ามีโอกาสสูงที่จะไม่เหมือนเดิม ซึ่งที่ผ่านมามีสัญญาณบางอย่างบ่งบอกคือ ข่าวที่ส่งผลเสียต่อรัฐบาล จะถูกนำเสนอเป็นข่าวเล็กซ่อนไว้ข้างใน หากแกรมมี่ ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งคาดว่าสัดส่วนของนายไพบูลย์และพันธมิตรจะมีสูงถึง 51% ขณะที่ส่วนของนายขรรค์ บุนปานและครอบครัวรวมกัน จะมีแค่ไม่เกิน 30 % การเปลี่ยนแปลงนโยบายข่าวจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คนโพสต์เชื่อการเมืองชักใยอากู๋
บรรยากาศที่กอง บก.บางกอกโพสต์ และโพสต์ทูเดย์วานนี้ พนักงานมีการจับกลุ่มพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าว ขณะที่ผู้บริหารและหัวหน้าข่าวได้กำชับพนักงาน และนักข่าวไม่ให้ตื่นตระหนกกับเรื่องดังกล่าวมากเกินไป

พนักงานบริษัทบางกอกโพสต์รายหนึ่งเปิดเผยว่า นายไพบูลย์ น่าจะเป็นตัวแทนนักการเมืองใหญ่ที่ต้องการซื้อสื่อ เพื่อจะได้แทรกแซงการทำงาน เชื่อว่าการเข้ามาฮุบกิจการครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงมิติทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการเมืองของรัฐบาลที่เข้ามาแอบแฝง โดยใช้นายไพบูลย์เป็นตัวแทน (nominee) จึงต้องการเรียกร้องให้สมาคมนักข่าวฯ ออกมาเรียกร้องหรือแถลงจุดยืนในวิชาชีพ เพราะการเข้ามาฮุบกิจการครั้งนี้ ส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนทั้งค่ายบางกอกโพสต์ มติชน และสื่อมวลชนทุกค่าย

"แกรมมี่ซึ่งประกอบธุรกิจบันเทิง ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ในขณะที่อาชีพนักข่าวเป็นวิชาชีพเฉพาะ ต้องมีจรรยาบรรณและจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม จึงเกรงว่าจะมีความขัดแย้งในอาชีพและในที่สุดผู้ถือหุ้นใหญ่อาจบิดเบือนหน้าที่สื่อมวลชนที่ดี"

ด้านบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ NMG เจ้าของหนังสือพิมพ์เครือ เนชั่น และกรุงเทพธุรกิจ ซึ่งมีกลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจ และจุฬางกูร ตระกูลของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าไปถือหุ้นล่าสุดเกือบ 25% (ณ 4 เม.ย.)

นายธนะชัย สันติชัยกูล รองประธานกรรมการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ NMG เปิดเผยว่า จากการที่มีนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งถือหุ้นอันดับ 1 ที่ 14.74%, น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ถืออันดับ 15 ที่ 1.58 %, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถือหุ้นอันดับ 16 ที่ 1.54%, นายทวีฉัตร จุฬางกูร ถือหุ้นอันดับที่ 6 ที่ 3.69 %, และอันดับที่ 8 ถือ 3.07 %, ถือว่าเป็นนักลงทุนคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจของบริษัท แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็ได้มีการก็ได้ส่งคน 1 คนเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทฯ

"อย่ามองว่านามสกุล จึงรุ่งเรืองกิจ เข้ามาถือหุ้นแล้วพูดว่า เป็นกลุ่มนักการเมืองเข้ามาถือไม่ได้ เพราะตัวนายสุริยะไม่ได้เข้ามาถือหุ้นของบริษัท และนางสมพร เองก็มีการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทต่างๆ หลายบริษัท ก็ถือว่าเป็นนักลงทุนธรรมดาคนหนึ่ง"

ส่วนกรณีกลุ่มแกรมมี่เข้าถือหุ้นในบริษัทเจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และมติชน นั้นโดยส่วนตัวมองว่าหากผู้นำธุรกิจบันเทิงจะไม่ทำให้ภาพรวมของธุรกิจเปลี่ยนไป เช่น ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการขายหุ้น บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด ให้กับ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) GRAMMY ซึ่งก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนโครงสร้างแต่อย่างไร

"การที่ GRAMMY เข้าไปถือหุ้น POST และ MATI นั้น กองบรรณาธิการมีความเข้มแข็ง ซึ่งหากจะปรับโครงสร้างอะไรนั้นก็ไม่ง่าย"

อย่างไรก็ตาม ซึ่งหากเข้ามาเป็นพันธมิตรกันก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะเข้ามาเสริมกัน และทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์มีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่ได้ก็จะตกเป็นของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้รับการติดต่อจาก GRAMMY เรื่องจะเข้าซื้อในกระดานก็คงทำไม่ได้ ง่ายเพราะจำนวนหุ้นในกระดานมีไม่เยอะ"

ประชาไท



 

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 650 เรื่อง หนากว่า 8500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
เชิญชวนผู้สนใจภาษาอังกฤษ นำเสนอคำศัพท์ใหม่ๆ พร้อมคำอธิบายเพื่อทำความเข้าใจโลก และความคิดร่วมสมัย ทั้งในมิติด้านการมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
จริงๆ แล้วตอนที่ผมเรียนจบมา พี่ช้าง และพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งมติชน
ตั้งประชาชาติรายวัน ผมก็มีโอกาสไปอยู่ใกล้ชิด ไปอยู่แถวนั้น
และได้ร่วมงาน ดังนั้น ก็คงตอบคำถามได้ว่า ผมเรียนนิเทศศาสตร์
สายหนังสือพิมพ์ ผมก็คงอยากทำหนังสือพิมพ์


"การเข้ามากว้านซื้อหุ้นของนายทุน ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวพันกับคนในรัฐบาล น่าสงสัยว่ามาซื้อแทนใครหรือไม่ และอาจจะทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ ถูกควบคุมจากนายทุนเหล่านั้น โดยเฉพาะมติชนและบางกอกโพสต์ที่มีผลงานโดดเด่นในการเป็นหนังสือพิมพ์เชิงตรวจสอบรัฐบาล ผมไม่เคยเชื่อเลยว่า นายทุนที่เข้ามากว้านซื้อสื่อหนังสือพิมพ์ เขาจะหวังว่าหนังสือพิมพ์ฉบับที่เขากว้านซื้อนั้นจะทำกำไรให้ สิ่งที่เขาต้องการจริงๆ คือใช้สื่อนั้นเป็นกระบอกเสียงให้ตัวเองมากกว่า เพราะค่าตอบแทนของกิจการหนังสือพิมพ์มันไม่ได้มีกำไรสูงขนาดนั้น"

ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี