ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
related topic
130848
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 639 หัวเรื่อง
การนิยามความเป็นไทยในรอบ 100 ปี
รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ : เขียน
ภาควิชาประวัติศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The Midnight 's free article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 30,779 สูงสุด 51,792 สำรวจเมื่อเดือน มิ.ย. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ประวัติศาสตร์การนิยามความเป็นไทยในรอบ ๑๐๐ ปี
การสร้างความเป็นไทยกระแสหลัก และ
"ความจริง"ที่"ความเป็นไทย"สร้าง (ตอนที่ ๒)

รศ. สายชล สัตยานุรักษ์

ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ได้นำเสนอใน
เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยครั้งที่ ๒
มิติใหม่ของการวิจัยทางมนุษยศาสตร์แบบสหวิทยาการและบูรณาการ
ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘
ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว เชียงใหม่


เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 26 หน้ากระดาษ A4)




การสร้าง "ความเป็นไทย" กระแสหลัก และ "ความจริง" ที่ "ความเป็นไทย" สร้าง (ตอนที่ ๒)
The Construction of Maianstream Thougth on "Thainess" and the "Trurth" Constructed by "Thainess"


บทคัดย่อ

"ความเป็นไทย" กระแสหลัก ได้รับการนิยามอย่างจริงจังโดยปัญญาชนสำคัญ ๆ ของไทยนับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ทั้งนี้โดยมีการปรับเปลี่ยนจุดเน้นและความหมายของ "ความเป็นไทย" เป็นระยะ ๆ เพื่อตอบสนองบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป แต่การปรับเปลี่ยนดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้กรอบโครงหลักทางความคิดเดิม ทำให้เป็นความคิดที่มีพลังและครอบงำวิธีคิดของคนไทยอย่างลึกซึ้ง

การนิยาม "ความเป็นไทย" เกิดขึ้นในบริบททางการเมืองที่มีการรวมศูนย์อำนาจ จึงกลายเป็นฐานทางอุดมการณ์ ที่จรรโลงโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ และโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น ฐานทางอุดมการณ์ดังกล่าวนี้ เมื่อดำรงอยู่ในฐานะ "วิธีคิดกระแสหลัก" ในทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ซึ่งสังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ได้กลายเป็นอุปสรรคในการปรับตัวของคนไทย เพราะมีความหมายแคบเกินไป จนไม่สามารถเปิดพื้นที่ให้แก่คนทุกกลุ่มในสังคมไทยที่จะได้รับความเป็นธรรม สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่จำเป็นทั้งแก่การเข้าถึงทรัพยากร และการดำรงชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนอาจกล่าวได้ว่า "ความเป็นไทย" กระแสหลักได้สร้าง "ความจริง" ขึ้นมาในสังคมไทย อันได้แก่วิธีคิดของคนไทยในการอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาและวิธีแก้ปัญหาทั้งปวง ซึ่งทำให้ความหมายของ "ความเป็นไทย" กระแสหลัก กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างความรุนแรงในสังคมไทย

Abstract

Mainstream thought on "Thainess" has been firmly defined by significant intellectuals since the reign of King Rama V. Intellectuals adjusted the key aspects and significance of "Thainess" periodically in responded to the changing political contexts. However, the original structure of "Thainess" was retained throughout these adjustments. As a result, the mainstream construction of "Thainess" has an overwhelming power upon the ways of thinking of Thai people.

The definition of "Thainess" originated within the context of the centralized political structure. This construction of "Thainess" then became the basis of the ideology that maintained the centralized political regime and the hierarchical social structure. Thai people have been dominated by this overarching ideology since the end of the 1950s, since then, the ideology has functioned as an obstacle to prevent Thai people from adapting themselves to the rapid, crucial changes in Thai society. Further, the meaning of this idea of "Thainess" has been too narrow to create "social space" for all groups of Thai people to attain justice, freedom and equality. Justice, freedom and equality are essential for people to access essential resources and to live a digified life. Therefore, we can say that mainstream thought on "Thainess" has been one part of the violent structure of Thai society.

ตอนที่ 2
นอกจาก "การปกครองแบบไทย" แล้ว องค์ประกอบสำคัญอื่น ๆ ของ "ความเป็นไทย" ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นำเอาความคิดของปัญญาชนในอดีตมาเน้น หรือปรับเปลี่ยนความหมายให้เหมาะแก่กาลสมัย จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และกลายเป็น "เอกลักษณ์" หรืออัตลักษณ์ไทยสืบมา มีดังต่อไปนี้

การนิยามความหมาย "พระมหากษัตริย์"
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มุ่งแสดงว่าในระบอบ "การปกครองแบบไทย" ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 นั้น นอกจากจะมี "ผู้นำแบบไทย" แล้ว ยังจำเป็นจะต้องมีพระมหากษัตริย์ และได้นิยามให้เห็นถึงสถานภาพและบทบาทพระมหากษัตริย์ในระบบ "การปกครองแบบไทย"ด้วย นอกจากนี้ เนื่องจากตั้งแต่กลางทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ต้องการเป็นพวก "กษัตริย์นิยม" อย่างเต็มที่ จึงจำเป็นต้องเน้นอยู่เสมอว่า "พระมหากษัตริย์" มีความสำคัญและมีคุณค่าสูงสุดต่อ "ชาติไทย"

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ต้องการเน้นความหมายของพระมหากษัตริย์สองด้าน คือความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งเกิดจากการรับคติเทวราชาจากเขมร เพื่อจะทรงได้รับการเคารพสักการะอย่างสูงสุดจากคนไทย ขณะเดียวกัน ทรงเป็นผู้ปกครองที่กอปรด้วยคุณธรรม ทำให้ทรงปกครองด้วยความเมตตากรุณาเหมือนพ่อปกครองลูก ซึ่งลักษณะทั้งสองด้านของ "พระมหากษัตริย์" นี้มีความสำคัญต่อระบอบ "การปกครองแบบไทย" ด้วย กล่าวคือ

ด้านที่ทรงเป็นผู้ปกครองที่กอปรไปด้วยคุณธรรมจะส่งผลให้ "พระมหากษัตริย์" ทรงเป็นแบบอย่างในอุดมคติของ "การปกครองแบบไทย" ส่วนด้านที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์สูงส่งที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้นั้น จะทำให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในสถานะที่สามารถควบคุมดูแลการใช้อำนาจของ "ผู้นำแบบไทย" แทนประชาชน ผลก็คือ การเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวาระเข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ตลอดจนการเข้าเฝ้าฯถวายรายงานในเวลาที่เกิดเหตุวิกฤติต่าง ๆ มีความสำคัญทางการเมืองอย่างแท้จริง มิใช่เป็นไปตามประเพณีเท่านั้น

เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์กล่าวว่า พระมหากษัตริย์สุโขทัยทรงเป็นผู้ควบคุมแขนขาแห่งรัฐ จึงมีความหมายด้วยว่า พระมหากษัตริย์ทรงควบคุมการใช้อำนาจของรัฐบาล ดังที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้เขียนถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในการควบคุมการใช้อำนาจของรัฐบาลไว้ ในบทความเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน คล้ายคลึงกับที่แสดงไว้ในปาฐกถาเรื่อง "การปกครองสมัยสุโขทัย" ดังนี้

ประวัติศาสตร์ของไทยเรานั้นปรากฏว่ามีเบื้องหลังที่แตกต่างกันกับของชาติอื่น ๆ …คนไทยเราในสมัยก่อนมิได้คิดตั้งสถาบันหรือองค์การขึ้นเพื่อให้อำนาจควบคุม "แขนขา" แห่งสังคม ไทยเราได้ใช้ "หัว" แห่งสังคม หรือสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเอง เป็นเครื่องควบคุมมิให้เกิดความไม่เป็นธรรม และความผิดพลาดบกพร่องต่าง ๆ ขึ้นได้ และก็ได้ปกครองกันเป็นสุขมาหลายร้อยปีด้วยวิธีการนี้…นี้เป็นหลักการที่คนไทยเราได้ยึดถือมาโดยตลอด[39]

นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา แม้ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จะรักษากรอบความคิดหลักเกี่ยวกับ "พระมหากษัตริย์" เอาไว้ แต่ได้ปรับเปลี่ยนจุดเน้นในสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป ใน สี่แผ่นดิน ซึ่งเขียนระหว่าง พ.ศ.2494-2495 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เน้นภาพของพระมหากษัตริย์ในฐานะหัวใจของชาติไทย และเน้นสถานะที่ทรงเป็นบุคคลมากกว่าสถาบัน เพื่อจะสร้างความรู้สึกผูกพันและความรักต่อพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นมนุษย์ และเพื่อสร้างความสะเทือนใจต่อการสูญเสียการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปใน พ.ศ.2475 และยังต้องสูญเสียพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไปอีกใน พ.ศ.2489 ซึ่งจะส่งผลให้ผู้อ่านเห็นคุณค่าของ "พระมหากษัตริย์" พร้อมกับเกลียดชังนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ถือเป็นศัตรูทางการเมืองที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นบุคคลที่มีบารมีมากจนยากที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จะเอาชนะอย่างตรงไปตรงมา

ในทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังคงนำเสนอภาพพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันในฐานะที่ทรงเป็นบุคคล แต่มุ่งนิยามความหมายของ "พระมหากษัตริย์" เพื่อเน้นความใกล้ชิดระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน และหล่อหลอมความรู้สึกของประชาชนให้มีความผูกพันและความจงรักภักดีอย่างลึกซึ้งต่อพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งทำให้คนไทยมีความรู้สึกภาคภูมิใจในองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นตัวแทนของ "ชาติไทย" ที่เปี่ยมไปด้วยความมีอารยะ ซึ่งเมื่อทรงปรากฏพระองค์ต่อหน้าสายตาของชาวโลกแล้ว ก็ได้ส่งผลให้ "ชาติไทย" มีเกียรติและศักดิ์ศรีไม่ด้อยไปกว่าชาติอารยะใด ๆ ในโลก

อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้กล่าวถึง "พระมหากษัตริย์" ในฐานะสถาบันเป็นครั้งคราว เพื่อทำให้ "พระมหากษัตริย์" เป็นสถาบันที่มีความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งจนไม่มีผู้ใดจะละเมิดได้ และมีความสำคัญอย่างสูงในด้านต่าง ๆ ที่คนไทยจะสำนึกอยู่เสมอว่าจะต้องรักษาสถาบันนี้ไว้คู่กับ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ตลอดไป

การนิยามความหมาย "พระมหากษัตริย์" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ในทศวรรษ 2500 ยังมุ่งทำให้คนไทยยอมรับอำนาจของรัฐบาลทหาร ที่มีความจงรักภักดีอย่างสูงสุดต่อพระมหากษัตริย์ และทำการปกครองประเทศภายใต้การสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิดของพระองค์ นอกจากนี้ ยังมุ่งให้คนไทยมีเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจ และยอมรับความสัมพันธ์ทางสังคมแบบมีลำดับชั้น เพราะการปฏิบัติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นไปโดยมีความสำนึกในเรื่อง "ที่ต่ำที่สูง" อย่างลึกซึ้ง

การปลูกฝังความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปลูกฝังให้คนไทยเชื่อมั่นในความถูกต้องของโครงสร้างสังคมที่ไม่เสมอภาค ซึ่งเป็นรากฐานของโครงสร้างการเมืองที่ประชาชนปราศจากสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง ในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร และควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทำให้คนไทยยอมรับ "การปกครองแบบไทย" โดยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีสถาบันในระบอบประชาธิปไตย (เช่นรัฐสภาและองค์กรอิสระต่าง ๆ ) เพื่อควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพราะมี"พระมหากษัตริย์" ทรงสอดส่องดูแลการปกครองให้เป็นไปอย่างถูกต้องยุติธรรมอยู่แล้ว

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นำเอาความคิดที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติมาเน้นอยู่เสมอ เช่นเดียวกับความคิดที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงถึงพร้อมด้วยทศพิธราชธรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้ทรงกระทำแต่สิ่งที่ถูกต้องและทรงมีความห่วงใยในพสกนิกรเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น นอกจากจะทรงดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพสกนิกร และสนับสนุนการพัฒนาประเทศของรัฐบาลแล้ว หากราษฎรได้รับความไม่เป็นธรรมจากผู้ปกครอง ก็สามารถจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้

การเน้นความคิดเหล่านี้ในทศวรรษ 2510 ทำให้ "พระมหากษัตริย์" ทรงมีความสำคัญเหนือรัฐบาลอย่างชัดเจน และเมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เห็นว่าจอมพลถนอมและจอมพลประภาสครองอำนาจนานเกินไป จนเป็นอุปสรรคต่อการที่ตนเองจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็เริ่มโจมตีรัฐบาล และได้เพิ่มเติมความคิดเกี่ยวกับ"พระมหากษัตริย์" ว่า เมื่อเกิดปัญหาทางการเมือง คือผู้ปกครองมิได้ทำหน้าที่ของ "ผู้ปกครองแบบไทย" แต่กลับใช้อำนาจไปในทางแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว "พระมหากษัตริย์" ก็จะทรง "กีดขวาง" การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมดังกล่าว[40]

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้สร้างความหมายใหม่แก่ "พระพุทธศาสนา" ในฐานะที่เป็นส่วนประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งของ "ความเป็นไทย" นั่นคือการสร้างความรับรู้ว่า พระพุทธศาสนาแบบโลกียธรรมเป็นที่มาของ "ความเป็นไทย" ในด้านต่าง ๆ เช่นศิลปะไทย มารยาทไทย ตัวอักษรไทย รวมทั้งทำให้การปกครองของไทยเต็มไปด้วยความเมตตา เพราะผู้ปกครองแบบไทยยึดมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ทำให้เป็นบุคคลที่มีศีลธรรมประจำใจและใช้อำนาจด้วยความถูกต้องยุติธรรม จนไม่จำเป็นต้องมีกลไกในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจ

นอกจากนี้พุทธศาสนาแบบโลกียธรรมยังเป็นแหล่งที่มาของศีลธรรมไทย ที่ทำให้สังคมไทยเต็มไปด้วยระเบียบและความสงบสุข โดยที่ไม่เป็นอุปสรรคแก่การพัฒนาประเทศ และทำให้สังคมไทยเป็น "สังคมที่เมตตา" มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่มีการกดขี่เบียดเบียนกันอย่างรุนแรง แม้จะมีการแบ่งชั้นทางสังคมอันเป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่มีอยู่ในทุกสังคม แต่สังคมไทยก็มีลักษณะพิเศษ เพราะอิทธิพลของความเชื่อเรื่องกรรมของพุทธศาสนา ทำให้คนทำดีได้เลื่อนชั้นและคนทำชั่วต้องถูกลดชั้นลงมา สังคมไทยจึงไม่มีการแบ่งชนชั้นอย่างตายตัว

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทำให้คนไทยเห็นความสำคัญของโลกุตรธรรมในบางแง่ โดยจะกล่าวถึงโลกุตรธรรมเฉพาะเมื่อต้องการจะบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เพื่อยืนยันว่าพระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่ลุ่มลึกกว่าศาสนาอื่น หรือเพื่อทำให้คนไทยยอมรับว่าความทุกข์เป็นธรรมดาของชีวิตจะได้ไม่เรียกร้องหรือกดดันรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาได้ให้ทางเลือกแก่ชีวิตไว้ด้วย นั่นคือการบวช ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยเห็นว่า เมื่อสังคมไทยมีปัญหา ทางออกของสังคมไทยไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกับสังคมอื่น คือไม่จำเป็นต้องมีการปฏิวัติทางเศรษฐกิจแบบที่ "ซ้ายเก่า" เสนอ หรือมีการปฏิวัติทางสังคมและวัฒนธรรม แบบที่ "ซ้ายใหม่" ในเวลานั้นเสนอ[41] สังคมไทยที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น โดยมีศีลธรรมของพระพุทธศาสนากำกับระบบความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นที่อยู่ใน "ที่สูง" กับชนชั้นที่อยู่ใน "ที่ต่ำ" ย่อมทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ดี ดังนั้น นอกจาก "พระมหากษัตริย์" แล้ว "พระพุทธศาสนา" ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" คนไทยจึงต้องยอมสละแม้แต่ชีวิต เพื่อรักษา "พระมหากษัตริย์" และ "พระพุทธศาสนา" เอาไว้ เพื่อให้ "เมืองไทยนี้ดี" ตลอดไป

"ความเป็นไทย" หรือ "เอกลักษณ์ไทย" ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สร้างขึ้นดังกล่าวข้างต้น เป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็วและกว้างขวางนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เพราะตอบสนองต่อความต้องการของคนหลากหลายกลุ่มในสังคมไทย คนเหล่านี้เติบโตขึ้นมาในยุคที่สังคมไทยประสบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมืองหลายครั้ง ทำให้เกิดความสับสนและรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิต จนโหยหาสถาบันหรือแบบแผนที่จะทำให้ "ชาติไทย" มีระเบียบ ความมั่นคง ความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้า คำอธิบายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ให้คำตอบที่คนเหล่านี้พอใจ

กลุ่มเจ้านาย ได้รับการฟื้นฟูเกียรติยศและอำนาจภายหลังจากที่สถานภาพตกต่ำลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เพราะนับตั้งแต่เขียน สี่แผ่นดิน เป็นต้นมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้ทำให้ศิลปะและวัฒนธรรมของชนชั้นสูงกลับมาเป็นหัวใจของอารยธรรมไทยอีกครั้งหนึ่ง และทำให้คนไทยรับรู้ว่า "พระมหากษัตริย์ไทย" แม้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มาจากการเลือกตั้ง เห็นความสำคัญของเสรีภาพ และทำการปกครองเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร และชนชั้นสูงก็มิได้กดขี่ขูดรีดชนชั้นที่อยู่ใต้การปกครองแต่อย่างใด

แนวความคิดเรื่อง "การปกครองแบบไทย" ทำให้ผู้ปกครองในระบอบใหม่รวมทั้งข้าราชการมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ส่วนทหารก็ได้รับการฟื้นฟูเกียรติยศหลังจากประสบความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพราะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ตอกย้ำให้สังคมตระหนักอยู่เสมอว่า ทหารเป็นผู้ปกป้อง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"

ส่วนคนจีนที่อยู่ในเมืองไทย ก็มีปัญหาอันเนื่องมาจากการที่แผ่นดินใหญ่จีนเปลี่ยนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ความหวังที่จะกลับไปเมืองจีนริบหรี่ลง แม้แต่การติดต่อกับญาติพี่น้องในเมืองจีนก็ยากจะกระทำได้ อีกทั้งได้ผ่านประสบการณ์อันเจ็บปวดมาแล้ว จากนโยบายต่อต้านจีนตามคติเชื้อชาตินิยมของรัฐบาลไทยในทศวรรษ 2480 ชาวจีนเหล่านี้ต้องการคำตอบให้แก่ตนเองว่าจะดำรงชีวิตอยู่ในเมืองไทยอย่างไร ตนเองและครอบครัวจึงจะได้รับความมั่นคง มีความเจริญก้าวหน้าและความสงบสุขในชีวิต

การนิยาม "ความเป็นไทย" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทำให้ชาวจีนมีโอกาสเรียนรู้ "ความเป็นไทย" และ "กลายเป็นไทย" ได้ง่ายขึ้น ซึ่งทำให้ได้สิทธิต่าง ๆ ในฐานะพลเมืองของ "ชาติไทย" เพิ่มขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ "ความเป็นไทย" นี้มิได้ทำให้ลูกจีนกลายเป็นไทยโดยอัตโนมัติเนื่องจากการที่รัฐไทยในทศวรรษ 2480 ได้ปลูกฝังมโนทัศน์ "ชาติไทย" แบบ "เชื้อชาตินิยม" อย่างเข้มข้น จนปรากฏในเพลงชาติ, งานเขียนทางประวัติศาสตร์ บทละครอิงประวัติศาสตร์ ตลอดจนบทเพลงปลุกใจ จนลักษณะทางกายภาพของ "เชื้อชาติ" กลายเป็นข้อจำกัดของ "การกลายเป็นไทย"
และจนกระทั่งถึงครึ่งหลังของทศวรรษ 2510 "ลูกจีน" จำนวนไม่น้อยก็ยังประสบปัญหาวิกฤตอัตลักษณ์และพยายามแสวงหาอัตลักษณ์ใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการเกิดขบวนการนักศึกษาในทศวรรษนั้น

ภายหลังทศวรรษ 2510 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังคงนิยาม "ความเป็นไทย" อยู่เสมอ ที่สำคัญคือ "ความเป็นไทย" ในหนังสือ ลักษณะไทย และ ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่ ความหมายของ "ความเป็นไทย" ในทศวรรษ 2520-2530 นี้ มิได้แตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญจากที่ได้นิยามมาก่อนหน้านี้ เพียงแต่ใช้บางมิติของ "ความเป็นไทย" ในการบรรลุจุดมุ่งหมายทางการเมืองเฉพาะหน้าบางอย่าง และแม้ว่าหนังสือลักษณะไทย จะเน้นเฉพาะ "พระมหากษัตริย์" ในฐานะหัวใจของ "ความเป็นไทย" แต่ ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่ ก็กลับมาเน้นความสำคัญของพระพุทธศาสนาและความจงรักภักดีอย่างสูงของ "ทหาร" ต่อ "พระมหากษัตริย์" อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น การนิยาม "ความเป็นไทย" ในทศวรรษ 2520-2530 จึงเสริมให้ "ความเป็นไทย" ที่คนไทยรับรู้มีพลังแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเป็นความคิดกระแสหลักในสังคมไทยสืบมา

"ความจริง" ที่ "ความเป็นไทย" กระแสหลักสร้างขึ้นในสังคมไทย
จากอิทธิพลของ "ความเป็นไทย" ที่ปัญญาชนในอดีตนิยาม และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทำให้มีพลังแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ได้ทำให้เกิด "ความจริง" อันสำคัญขึ้นมาในสังคมไทย นั่นก็คือ ทำให้คนไทยมีวิธีคิดที่ว่า "สังคมที่ไม่มีการเมือง" เป็นสังคมที่ดี และจากการที่คนไทยยึดมั่นใน "ความเป็นไทย" นี้ ยังทำให้เกิด "ความเงียบทางการเมือง" เป็นเวลานาน จนกล่าวได้ว่า "ความเป็นไทย" ทำให้ระบอบการเมืองแบบเผด็จการมีความมั่นคงอย่างมาก

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทำให้คนไทยมอง "การเมือง" ในความหมายแคบ คือเห็นว่าเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งก่อให้เกิดผลร้ายต่าง ๆ ตามมา ผู้นำที่เป็นนักการเมืองก็คำนึงถึงแต่คะแนนเสียงที่ตนจะได้รับในการเลือกตั้ง จนไม่สามารถกระทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือสิ่งที่สมควรจะกระทำในฐานะที่เป็นผู้นำของชาติ[42]

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทำให้คนไทยเห็นว่า สังคมที่ดีจะมีขึ้นหรือจะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมี "ผู้นำแบบไทย" ที่มิใช่นักการเมือง "ความเป็นไทย" ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นิยามจึงส่งผลให้สังคมไทยเป็น "สังคมที่ไม่มีการเมือง" หรือทำให้เกิด "ความเงียบทางการเมือง" ขึ้นในสังคมไทย เพราะโดยหลักการแล้วถือว่าทั้ง "ผู้นำแบบไทย" และประชาชนล้วนแต่อยู่นอกพื้นที่ทางการเมือง เมื่อผู้นำไม่ต้องเสียเวลาไปกับ "การเมือง" (หากใช้ภาษาในปัจจุบันก็คือ "การเมืองนิ่ง") แล้ว ผู้นำก็จะสามารถอุทิศเวลาให้แก่การทำงานเพื่อชาติได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวลเลยว่าผู้นำจะใช้อำนาจไปในทางมิชอบ เพราะนอกจากการนับถือพระพุทธศาสนา (รวมทั้งการเข้าหาพระภิกษุที่ประชาชนเลื่อมใสศรัทธา) จะทำให้ผู้นำมีศีลธรรมประจำใจแล้ว พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นพลังบริสุทธิ์ก็จะทรงกำกับดูแลให้ผู้นำทำการปกครองอย่างถูกต้องยุติธรรมด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะหลังคนไทยเริ่มเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ แต่สิทธิและเสรีภาพที่คนไทยทั่วไปต้องการ ก็ได้แก่สิทธิเสรีภาพที่จะรับรู้ข่าวสารว่าผู้นำและบริวารคอร์รัปชั่นหรือใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ หากพบว่าใช้อำนาจในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่สามารถแก้ปัญหาหรือสร้างความเจริญให้แก่ชาติบ้านเมือง ก็จะได้ทำการเลือกตั้งผู้ปกครองใหม่ ซึ่งทำให้คนไทยพยายามเรียกร้องรัฐธรรมนูญเพื่อจะมีสิทธิในการเลือกตั้ง คนไทยไม่มีความต้องการที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ หรือกระจายอำนาจให้ชาวบ้านมีสิทธิในการจัดการทรัพยากร และไม่ต้องการให้มีเสรีภาพทางการเมืองในแง่ของเสรีภาพในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพยากร อีกทั้งยังเห็นว่าการทำเช่นนั้นจะก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้น ดังนั้น สิ่งที่คนไทยต้องการคือ "ผู้นำแบบไทย" ที่เข้มแข็งและเด็ดขาด มิใช่ภาคสังคมที่เข้มแข็ง

"การปกครองแบบไทย" ทำให้คนไทยให้ความสำคัญแก่ผู้นำอย่างสูง และทำให้ประชาธิปไตยในทัศนะของคนไทยเน้นไปที่การเลือกตั้งผู้ปกครอง เพื่อให้ได้ "คนดี" มาปกครองบ้านเมือง มิใช่เรื่องของการยอมรับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคทั้งในการดำรงชีวิต ในการจัดการทรัพยากร และในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของผู้นำนั้น หากทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่า เป็นการใช้อำนาจเพื่อความมั่นคงของชาติหรือเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ก็เป็นการกระทำที่คนไทยสรรเสริญ อีกทั้งยังเชื่อด้วยว่าการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชาติและการพัฒนาชาตินั้นจำเป็นจะต้องพึ่ง "ผู้นำแบบไทย" ความเชื่อเช่นนี้สัมพันธ์กับการมองเห็นว่าประชาชนตกอยู่ในวัฏจักร "โง่-จน-เจ็บ"[43] และไม่มีความสามารถที่จะพึ่งตนเองได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่คนไทยให้ความสำคัญแก่ "ระเบียบ" นั้น ไม่ได้หมายถึงระเบียบที่มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อในความเสมอภาคและเสรีภาพของปัจเจกชน ซึ่งมีสติปัญญาและเหตุผลในการตัดสินใจ เพราะหลวงวิจิตรวาทการมุ่งเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทยให้อยู่ในกรอบที่ผู้นำต้องการ ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า "มนุสสปฏิวัติ" ส่วนม.ร.ว.คึกฤทธิ์ให้ความสำคัญแก่ระเบียบที่เกิดจากการที่บุคคลตระหนักในหน้าที่ตามสถานภาพของตน และการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นโดย "รู้ที่ต่ำที่สูง" พร้อมกับคอยเตือนให้ระวังการใช้เสรีภาพจนเกินขอบเขตอยู่เสมอ เนื่องจากมีความคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังโง่อยู่ จึงระแวงว่าถ้าคนไทยมีเสรีภาพก็จะนำไปสู่ความวุ่นวาย เมื่อใดที่มีการกระทำ "ผิดระเบียบ" เกิดขึ้น รวมทั้งการละเมิดต่อ "ความเป็นไทย" ซึ่งเป็นที่มาของ "ระเบียบ" ในสังคมไทย "ผู้นำแบบไทย" ซึ่งทำหน้าที่ "รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" ก็มีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงในการปราบปราม

นอกจากนี้ การพัฒนาประเทศภายใต้ผู้นำแบบไทยที่มีความเมตตากรุณา (หรือเอื้ออาทร) โดยมีพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงห่วงใยในพสกนิกร เสด็จไปทรงรับรู้ปัญหาและทรงติดตามดูแลการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ได้กลายเป็นความหวังของปัญญาชน นักวิชาการ และคนทั่วไปในทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาความยากจน การฝากความหวังไว้ที่การพัฒนาภายใต้ "การปกครองแบบไทย" เช่นนี้ ทำให้เกิด "ความเงียบทางการเมือง" ตลอดทศวรรษ 2500 สืบมาจนถึงต้นทศวรรษที่ 2510

จนกระทั่งถึงกลางทศวรรษ 2510 "ความเงียบทางการเมือง" จึงถูกทำลายลงในช่วงสั้น ๆ เมื่อเกิดการค้นพบว่ายังมีคนจนอยู่อีกมากมายในเมืองไทย ทั้ง ๆ ที่ได้ทำการพัฒนามานานกว่าสิบปีแล้ว ปัญญาชน นักวิชาการ และนักศึกษา เริ่มเห็นว่าการพัฒนาล้มเหลว คำอธิบายของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ที่ว่า ความล้มเหลวในการพัฒนาเกิดขึ้นจากปัญหาการคอรัปชั่น ซึ่งหมายถึงการละเมิดศีลธรรมของ "ผู้นำแบบไทย" (ที่จะต้องใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม) มีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้คนไทยต่อต้านรัฐบาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่คนไทยเกิดความรู้สึกขาดความมั่นคงอย่างมาก เมื่อพบว่าคอมมิวนิสต์กำลังจะได้ชัยชนะในอินโดจีน และเศรษฐกิจกำลังจะทรุดโทรมลงเนื่องจากการถอนฐานทัพของสหรัฐอเมริกา ทำให้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่ารัฐบาลจอมพลถนอมไม่สามารถจะปกครองให้คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขอีกต่อไป เสียงเรียกร้องรัฐธรรมนูญจึงหนาแน่นขึ้น ด้วยความหวังว่าจะเกิดการเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนตัวผู้ปกครอง แทนที่จะปล่อยให้เกิดการสืบทอดอำนาจในกลุ่มเครือญาติของผู้นำทางทหาร ซึ่งสังคมไม่ไว้วางใจเสียแล้วว่าเป็นผู้นำที่ดีมีคุณธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เมื่อประกอบกับมีข่าวลือว่าผู้นำทางทหารจะนำระบอบสาธารณรัฐมาใช้ ซึ่งแสดงว่าไม่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เพียงพอที่จะทำการปกครองภายใต้การดูแลของพระองค์ ก็ทำให้การต่อต้านรัฐบาลทหารได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งเชื่อในความสำคัญสูงสุดของ "พระมหากษัตริย์" ต่อ "ชาติไทย" อย่างกว้างขวาง

จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นในกรอบความหมาย "ความเป็นไทย" ที่คนไทยรับรู้ และ "ความเป็นไทย" มีบทบาทอย่างมากในความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองภายหลัง 14 ตุลาคม 2516 โดยที่คนไทยทั่วไปถูกทำให้เชื่อว่าขบวนการนักศึกษาตกเป็นเครื่องมือของ "คนอื่น" และกำลังจะทำลาย "ความเป็นไทย" ลงไป พร้อมกับรู้สึกว่า "การเมือง" ทำให้สังคมเต็มไปด้วยความวุ่นวาย และเกิดความต้องการที่จะให้สังคมไทยกลับไปสู่สภาวะ "ไม่มีการเมือง" อีกครั้งหนึ่ง ผลก็คือ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้เกิดขึ้น โดยที่วิธีคิดในกรอบ "ความเป็นไทย" ส่งผลให้คนไทยยอมรับการปราบปรามขบวนการนักศึกษาอย่างรุนแรงโดยดุษณี

จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ก็ยังเห็นได้ชัดว่า ตราบใดที่ผู้นำยังคงแสดงบทบาทว่าเป็นผู้มีความเอื้ออาทร และเป็นผู้เสียสละความสุขส่วนตัวมาทำงานรับใช้ประเทศชาติ เพื่อให้มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และสามารถแก้ไขปัญหาที่ส่งผลให้สังคมขาดระเบียบและความมั่นคงด้วยความเข้มแข็งเด็ดขาด ตราบนั้นคนไทยก็จะยังคงอยู่ใน "ความเงียบทางการเมือง" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนไทยมีความเชื่อมั่นว่าการปกครองโดย "ผู้นำแบบไทย" นั้นอยู่ภายใต้การสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิดของ "พระมหากษัตริย์" ซึ่งทรงเปี่ยมด้วยพระปัญญาบารมีและพระมหากรุณาธิคุณ พระองค์จะทรงเป็นที่พึ่งในการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง และทรงคอยดูแลมิให้รัฐบาลออกนอกลู่นอกทาง หรือใช้อำนาจจนเกินขอบเขต หรือไม่เป็นธรรม ประชาชนไทยจึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิ หรือเพื่อควบคุมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล อาจกล่าวได้ว่า ในทัศนะของคนไทยทั่วไป การมีผู้นำที่มีอำนาจเด็ดขาดสูงสุดภายใต้พระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ ช่วยให้เกิดสมรรถภาพในการแก้ปัญหาและการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

เป็นที่น่าสังเกตว่า อิทธิพลของความคิดเรื่อง "การปกครองแบบไทย" ทำให้คนไทยให้ความสำคัญแก่การเลือก "คนดี" มาเป็นผู้ปกครอง เมื่อได้ "คนดี" มาแล้วก็ปล่อยให้ "คนดี" ทำหน้าที่ปกครองประเทศไปตามแต่จะเห็นสมควร เพราะ "คนดี" ย่อมมีคุณสมบัติต่าง ๆ สำหรับการทำหน้าที่ผู้ปกครองที่ดีอย่างสมบูรณ์ เช่น มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรม ส่วนประชาชนซึ่งยังคงตกอยู่ในวัฏจักร "โง่ จน เจ็บ" ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะควบคุมตรวจสอบผู้ปกครอง หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใด ๆ หากพบว่าผู้นำไม่ใช่ "คนดี" จริง ทางออกก็อยู่ที่การเลือก "คนดี" คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน มิใช่การที่ประชาชนจะเข้าไปมีบทบาทในพื้นที่ทางการเมือง เพื่อถ่วงดุลย์ ควบคุม และตรวจสอบการใช้อำนาจ หรือกดดันให้ผู้นำทำตามที่ประชาชนต้องการ

ภายใต้ความคิดเรื่อง "การปกครองแบบไทย" การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เคยครอบคลุมถึงความบกพร่องในการกำหนดนโยบายการพัฒนาที่ไม่สมดุลย์ การจัดการทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม และการขาดมาตรการในการกระจายรายได้ที่เหมาะสม แต่เน้นไปที่ความบกพร่องทางศีลธรรมของตัวบุคคลซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่ของ "ผู้นำแบบไทย" อย่างถูกต้อง ทางแก้ปัญหาจึงอยู่ที่การเปลี่ยนตัวบุคคล ไม่ให้ "คนชั่ว" มีอำนาจ มิใช่การเคลื่อนไหวกดดันให้เปลี่ยนระบบหรือโครงสร้าง อิทธิพลของความคิดเรื่อง"การปกครองแบบไทย" นี้ ทำให้ระบอบเผด็จการไม่ใช่ระบอบการปกครองที่เลวร้ายในทัศนะของคนไทย ตรงกันข้าม คนไทยจะคิดว่าถ้าได้ผู้นำที่เป็น "คนดี" ระบอบการปกครองแบบเผด็จการก็จะเป็นระบอบที่มีประสิทธิภาพที่สุด ในการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศ

"สังคมที่ไม่มีการเมือง" หรือ "ความเงียบทางการเมือง" ยังเป็นผลมาจากการที่คนไทยยอมรับในเรื่องของ "ที่สูง" และ "ที่ต่ำ" และเห็นว่าความไม่เสมอภาคเป็นเรื่องปรกติธรรมดา แม้ว่าการปฏิวัติ พ.ศ.2475 จะทำให้ความเสมอภาคทางสังคมกลายเป็นอุดมคติของคนจำนวนไม่น้อย แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มีบทบาทอย่างสำคัญในการทำให้วัฒนธรรมแบบ "รู้ที่ต่ำที่สูง" กลับมามีอิทธิพลอีกครั้งหนึ่ง เพียงแต่ไม่สามารถเน้นหลักชาติวุฒิดังในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต้องหาทางปลูกฝังให้คนไทยยอมรับความสัมพันธ์ทางสังคมแบบมีลำดับชั้น ด้วยการนิยามความหมายของ "ความเป็นไทย" ในด้านต่าง ๆ เพื่อครอบงำวิธีคิดของคนไทย เช่น

การให้ความสำคัญแก่การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ซึ่งหมายรวมถึงการใช้ภาษาอย่างเหมาะสมแก่สถานภาพของคนในระดับชั้นต่าง ๆ การปฏิบัติตามมารยาทไทย หรือการวางตัวอย่างเหมาะสมในความสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีสถาภาพต่างกัน เป็นต้น ดังนั้น การเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก และความไม่เป็นธรรมอย่างสูงในการกระจายรายได้ จึงเป็นเรื่องที่คนไทยทั่วไปไม่เห็นว่าเป็นปัญหา และไม่คิดว่าควรจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้เกิดการแก้ไข "ปัญหา" อย่างจริงจัง

กล่าวได้ว่า การยอมรับโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นว่าเป็นเรื่องถูกต้องและดีงาม เพราะทำให้เกิด "ระเบียบ" "ความมั่นคง" และ "ความสงบสุข" ทำให้คนไทยยอมรับการใช้อภิสิทธิ์และยอมรับความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ได้ง่ายหรือถึงกับเห็นว่าเป็นเรื่องปรกติธรรมดา การเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนและการต่อต้านผู้ที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพต่าง ๆ ของประชาชนจึงเกิดขึ้นอย่างเบาบาง และไม่ได้รับการสนับสนุนจากสังคมเท่าใดนัก

"ความเป็นไทย" ที่จรรโลงระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบมีลำดับชั้น จึงเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เพราะวิธีคิดที่เห็นว่าความไม่เสมอภาคเป็นเรื่องที่ "ถูกต้อง" นี้ ทำให้คนไทยเฉยเมยต่อความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในแทบทุกมิติของสังคม ไม่ว่าจะในกฎหมาย, ในโครงสร้างและนโยบายทางการเมือง ในโครงสร้างและนโยบายทางเศรษฐกิจ, ในความสัมพันธ์ระหว่างชั้น, ระหว่างเพศ, หรือระหว่างคนต่างสถานภาพ, ในกระบวนการยุติธรรม, ตลอดจนในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อระบบเศรษฐกิจทุนนิยมขยายตัวเข้มข้นและกว้างขวางขึ้น และการแย่งชิงทรัพยากรเป็นไปอย่างรุนแรง ก็ทำให้ปัญหาการสูญเสียทรัพยากร หรือการไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ "คนระดับล่าง" ประสบ ยิ่งทำร้ายคนเหล่านี้หนักหน่วงยิ่งขึ้น โดยที่ "คนระดับล่าง"ทั้งหลาย ปราศจากสิทธิอันชอบธรรมที่จะเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐและสังคม

จะเห็นได้ว่า การชุมนุมประท้วงหรือการชุมนุมเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการเรียกร้องสิทธิใด ๆ ของกลุ่มคนที่เสียเปรียบในสังคมไทย จึงเป็นการกระทำที่คนไทยไม่ให้การสนับสนุน อีกทั้งมิได้เห็นว่าการชุมนุมนั้นเป็นสิทธิอันชอบธรรม แต่เห็นว่าเป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขตที่สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายไร้ระเบียบขึ้นในสังคม ทำให้เสียภาพพจน์ของชาติและเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เสียเปรียบจึงไม่มีพลัง และ "ประชาสังคม" ของไทยก็อ่อนแอตลอดมา นับเป็น "ความจริง" ประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าเกิดจากความหมายของ "ความเป็นไทย" กระแสหลักที่กำหนดวิธีคิดหรือวิธีมองปัญหาของคนไทยในระยะหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ความสำเร็จที่สำคัญอีกประการหนึ่งของปัญญาชนกระแสหลัก คือ การทำให้คนไทยเห็นว่า "ความเป็นไทย" ทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" ถึงแม้เมืองไทยจะมีปัญหามากมาย แต่ก็ยังดีกว่าชาติอื่น ๆ เพราะการนับถือพระพุทธศาสนาทำให้คนต่างชนชั้นต่างฐานะกันมีความเมตตากรุณาต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และมีเอกภาพระหว่างคนในชาติเพราะมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจ "ความเป็นไทย" จึงช่วยให้สังคมไทยไม่มีความขัดแย้งหรือการกดขี่เบียดเบียนกันอย่างรุนแรง เพราะพระพุทธศาสนาทำให้คนไทยมีความเมตตากรุณาและมีขันติธรรม และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นมิ่งขวัญและเป็นศูนย์รวมของความจงรักภักดี ซึ่งทำให้ทรงเป็นศูนย์กลางแห่งความสามัคคีของคนในชาติ นอกจากนี้ "การปกครองแบบไทย" ยังทำให้คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขกว่าคนในชาติอื่น และทำให้"ชาติไทย" เป็นชาติที่มีเอกราช มีความเจริญรุ่งเรือง และมีศักดิ์ศรีอันน่าภาคภูมิใจ ฯลฯ

จินตภาพ "เมืองไทยนี้ดี" เช่นนี้ ทำให้คนไทยยอมรับอำนาจเผด็จการของผู้นำ และยอมรับสภาพที่ชีวิตเต็มไปด้วยปัญหาได้ง่ายขึ้น เพราะถึงแม้ผู้นำจะใช้อำนาจเผด็จการในการปกครอง และแม้ว่าผู้ปกครองนั้นอาจใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้ทำให้เมืองไทยอยู่ในสภาพเลวร้ายจนเกินไป ถึงอย่างไรเมืองไทยนี้ก็ยังดีกว่าชาติอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งดีกว่าชาติทั้งหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนไทยจึงไม่ควรเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ตรงกันข้ามควรจะสามัคคีกันไว้เพื่อทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" ตลอดไป เพราะการแตกสามัคคีจะทำให้พวกคอมมิวนิสต์ได้โอกาสเข้ายึดครองและทำลาย "ความเป็นไทย" ลงไป และ "เมืองไทยนี้" ก็จะไม่ "ดี" อีกต่อไป

มโนทัศน์ "เมืองไทยนี้ดี" กลายเป็นกรอบให้แก่การศึกษาวิจัยทางประวัติศาสตร์ที่เน้นบทบาทของพระมหากษัตริย์ในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ "ชาติไทย" และเป็นกรอบในการศึกษาวิจัยวรรณคดีไทยในแนวสุนทรียศาสตร์ ซึ่งช่วยยืนยันว่าเมืองไทยมีความเจริญรุ่งเรืองทางภาษาและวรรณคดีมาแต่โบราณ และที่สำคัญยิ่งก็คือ มโนทัศน์ "เมืองไทยนี้ดี" ได้กลายเป็นกรอบในการเขียนแบบเรียนทุกระดับสืบมาจนถึงปัจจุบัน[44] จึงสร้างจินตภาพเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยให้แก่คนไทย ว่าทุกสิ่งในสังคมและวัฒนธรรมไทยนั้นดีอยู่แล้ว ส่วนที่ไม่ดีล้วนเกิดจากอิทธิพลต่างชาติ ซึ่งทำให้ไม่สนใจความซับซ้อนของปัญหาและล้มเหลวในการแก้ปัญหา

เนื่องจากปัญญาชนกระแสหลักทำให้คนไทยรับรู้ว่า "เมืองไทยนี้ดี" เนื่องจากมี "ความเป็นไทย" ดังนั้น หากมีคนกลุ่มใดทำการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างขึ้นในสังคมไทย ก็จะถูกมองอย่างระแวงว่ากำลังต้องการทำลาย "ความเป็นไทย" ซึ่งจะทำให้สภาวะ "เมืองไทยนี้ดี" สิ้นสุดลง คนไทยจึงต้องการความเปลี่ยนแปลงที่นำโดย "ผู้นำแบบไทย" แต่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงที่มาจากการเคลื่อนไหวทางสังคม ดังนั้น ภายใต้รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็น "ผู้นำแบบไทย" อย่างเต็มที่ และสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าด้วยการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พร้อมกับทำให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น คนไทยจึงมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก และอยู่ใน "ความเงียบทางการเมือง" ต่อมา แม้ว่าระบบการเมืองจะเป็น "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ก็ตาม

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของคนชั้นกลางในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 มีปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ คนไทยเห็นว่าผู้ก่อการรัฐประหารมิได้เป็น "ผู้นำแบบไทย" แต่มีความต้องการที่จะครอบครองอำนาจเพื่อผลประโยขน์ส่วนตัว คนไทยจึงวิตกกังวลว่าผู้นำทางทหารเหล่านั้นจะอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน เพราะภายใต้อำนาจของ "คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" นี้ การเลือกตั้งเพื่อให้ "คนดี" ได้ปกครองบ้านเมืองก็ย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้ กล่าวได้ว่าคนไทยมิได้ต่อต้านระบอบการปกครองแบบเผด็จการ และมิได้ต่อต้านนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เป็นธรรม แต่ต่อต้านตัวบุคคลที่คนไทยไม่แน่ใจว่าเป็น "คนดี" หรือไม่เท่านั้น

ดังนั้น หลังเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ.2535 "ความเงียบทางการเมือง" จึงยังคงดำรงอยู่สืบมา และ "สังคมที่ไม่มีการเมือง" แต่มีผู้นำที่มีอำนาจเด็ดขาดสูงสุดที่มีสมรรถภาพในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมาก นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นผู้นำในดวงใจของคนไทย โดยเฉพาะของคนชั้นกลาง เพราะเป็นผู้ไม่มีความปรารถนาในอำนาจแต่เสียสละความสุขส่วนตัวมาทำงานเพื่อบ้านเมือง และได้ใช้อำนาจที่ได้รับมาในการนำระเบียบ ความสงบสุข และความเจริญทางเศรษฐกิจมาสู่สังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง ชนชั้นกลางไมให้ความสนใจต่อการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ปัญหาชาวบ้านที่บุรีรัมย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่า "ฝ่าฝืนกฏระเบียบ" ทั้ง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เพียงสามสัปดาห์ เช่นเดียวกับการใช้ความรุนแรงต่อชาวบ้านที่นครราชสีมาที่เกิดขึ้นตามมา[45]

จนกระทั่งปัจจุบัน "ผู้นำแบบไทย" ที่มีอำนาจเด็ดขาดสูงสุด แต่ได้แสดงออกให้ปรากฏว่ามีความเมตตาเอื้ออาทรต่อประชาชน มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระภิกษุบางรูปที่ประชาชนนิยมซึ่งแสดงว่าเป็นผู้ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ก็ยังคงเป็นขวัญใจของคนไทยส่วนใหญ่ ตราบจนเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าผู้นำนั้นใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งเป็นการละเมิดศีลธรรมของ "ผู้นำแบบไทย" อย่างรุนแรง ความนิยมจึงตกต่ำลง

ความคับแคบของ "ความเป็นไทย"
นับตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา โครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างมากและรวดเร็ว จน "ความเป็นไทย" กระแสหลักมีความหมายคับแคบเกินกว่าจะรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้คนไทยยากที่จะปรับตัวได้ ในขณะที่เกิดปัญหาอันหลากหลายและซับซ้อนขึ้นมากในสังคมไทย

"ความเป็นไทย" ได้รับการนิยามเพื่อจรรโลงโครงสร้างสังคมที่มีลำดับชั้น ซึ่งเน้นการ "รู้ที่ต่ำที่สูง" ทั้งมารยาทไทย ภาษาไทย ศีลธรรมไทย ฯลฯ แม้ว่าจะยอมรับการเลื่อนชั้นทางสังคม แต่การเลื่อนชั้นขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถและศีลธรรมส่วนบุคคล โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่เปิดโอกาสให้คนด้อยโอกาสได้มีโอกาสเลื่อนชั้นอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน "ความเป็นไทย" ก็ไม่มีพื้นที่ให้แก่คนชั้นกลางด้วย ดังนั้น จึงเกิดช่องว่างมากขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่าง "ความเป็นไทย" ที่ปัญญาชนนิยาม กับ สภาพที่เป็นจริงของสังคมและวัฒนธรรมไทยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อถึงทศวรรษ 2510 นั้น โครงสร้างสังคมไทยประกอบด้วยชนชั้นใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมมาก ความสัมพันธ์ทางสังคมของคนไทยก็ห่างไกลจากกรอบของศีลธรรมไทยมากขึ้น เพราะเป็นความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ที่เน้นเรื่องกำไรและขาดทุน

ส่วนการใช้ทรัพยากรก็มีความหลากหลายมากขึ้น และการแย่งชิงทรัพยากรก็มีความรุนแรงขึ้นทุกที แต่การจัดการทรัพยากรของรัฐเป็นไปอย่างไม่สมดุลย์ คือลำเอียงเข้าหานายทุน นักธุรกิจ และพ่อค้า และคนที่เสียเปรียบคือกรรมกรและชาวนา ความตึงเครียดและความขัดแย้งในสังคมไทยจึงสูงขึ้นมาก โดยที่ "ความเป็นไทย" ไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้นำมิได้ทำหน้าที่ของ "ผู้ปกครองแบบไทย" แต่กลับแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างกว้างขวาง โดยไม่มีกลไกใด ๆ ใน "ความเป็นไทย" ที่จะทำการควบคุมตรวจสอบและผลักดันให้เกิดการบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

ได้กล่าวแล้วว่า "โครงสร้างสังคมที่มีลำดับชั้นแบบไทย" นั้น เน้นว่าคนใน "ที่สูง" จะต้องมีความเมตตากรุณาต่อคนใน "ที่ต่ำ" ซึ่งทำให้ไม่เกิดการกดขี่ขูดรีดขึ้นในสังคม แต่การขยายตัวของระบบทุนนิยม ซึ่งคนมีความสัมพันธ์กันในเชิงพาณิชย์เป็นด้านหลัก ทำให้เรื่องกำไรและขาดทุนกลายเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ทางสังคม จนศีลธรรมในข้อ "ความเมตตากรุณา" หมดพลังลงไป

เมื่อประกอบกับศีลธรรมที่ปัญญาชนกระแสหลักเน้นนั้น เป็นศีลธรรมแบบโลกียธรรมที่ต้องการให้คนไทยเชื่อฟังและปฏิบัติ โดยไม่เข้าใจความคิดทั้งระบบของพระพุทธศาสนา อาศัยพระภิกษุสงฆ์และครูในฐานะปูชนียบุคคลเป็นผู้นำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาถ่ายทอด ทำให้ความเคารพศรัทธาต่อพระสงฆ์และครู เป็นเงื่อนไขสำคัญของการยอมรับและประพฤติปฏิบัติตามศีลธรรมเหล่านั้น ซึ่งปรากฏว่า ในทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา สถานภาพของพระภิกษุสงฆ์และครูในสังคมไทยได้ตกต่ำลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับคนชั้นกลางกลุ่มอื่น ๆ ทำให้ "ศีลธรรมไทย" ไม่มีพลังที่จะเป็นฐานของความสัมพันธ์ทางสังคมแบบช่วยเหลือเกื้อกูลกันอีกต่อไป

ดังนั้น ในขณะที่รัฐไม่มีนโยบายทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างแท้จริง ช่องว่างของรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนซึ่งกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ก็ทำให้คนจนเดือดร้อนมากกว่าเดิมเป็นอันมาก โดยที่ "ความเป็นไทย" ในทางศีลธรรม ไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม และปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมได้เลย

สำหรับการทำให้พระพุทธศาสนาเป็น "หัวใจ" อย่างหนึ่งของ "ความเป็นไทย" โดยที่ปัญญาชนกระแสหลักละเลยโลกุตรธรรม ก็ทำให้พระพุทธศาสนาแบบโลกียธรรมที่คนไทยนับถือ "แคบ" เกินกว่าจะตอบสนองต่อชีวิตและปัญหาที่ซับซ้อนในยุคทุนนิยม คนไทยไม่สามารถประยุกต์แนวความคิดทางพระพุทธศาสนา มาใช้ในเงื่อนไขแวดล้อมของชีวิตที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น[46] และบทบัญญัติทางศีลธรรมที่ตายตัวด้วย ก็ไม่เอื้อต่อการปรับตัวของคนไทยในยุคโลกาภิวัตร ซึ่งคนไทยจะต้องคิดและตัดสินใจปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาทางจริยธรรมด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา

ไม่เพียงแต่ "ความเป็นไทย" จะแคบเกินไปสำหรับคนใน "ชนชั้น" ที่มีมาแต่เดิมเท่านั้น ยังแคบมากขึ้นไปอีกเมื่อเกิดคนกลุ่มคนใหม่ ๆ ในยุคพัฒนาประเทศ คนหลากหลายกลุ่มทั้งที่เกิดขึ้นมาใหม่และที่มีมาแล้วในสังคมไทยนี้ อยู่ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกด้าน และเป็นสังคมที่มีความแตกต่างระหว่างคนในแต่ละระบบนิเวศ แต่ละกลุ่มอาชีพ แต่ละระดับรายได้ แต่ละระดับการศึกษา ฯลฯ และยังมีการขยายตัวของวัฒนธรรมอเมริกันที่ทำให้วิถีชีวิตของคนหลายกลุ่มเปลี่ยนแปลงไป จนความแตกต่างหลากหลายที่เกิดขึ้นในโครงสร้างสังคมไทยในทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา มีมากเกินกว่า "ระเบียบ" ที่ถูกกำหนดไว้ใน "ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบไทย" จะสามารถรองรับได้

คนไทยจึงอยู่ในภาวะสับสนงุนงงท่ามกลางค่านิยมเดิมที่ "ความเป็นไทย" มอบให้ กับค่านิยมใหม่ ๆ ซึ่งแตกต่างหรือแม้แต่ขัดแย้งกับค่านิยมเดิม โดยที่ค่านิยมเดิมไม่เอื้อต่อวิถีชีวิตในสังคมที่คนมีจิตสำนึกแบบปัจเจกชนนิยมมากขึ้น และมีความสัมพันธ์กันในเชิงพาณิชย์เข้มข้นขึ้น ส่วนค่านิยมใหม่ก็ถูกประณามจากคนที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ส่งผลให้เกิดวิกฤตอัตลักษณ์ขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนปัญหาเกี่ยวกับชาติพันธุ์นั้น "ความเป็นไทย" ก็แคบเกินไปเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ยึดติดอยู่กับคติเชื้อชาตินิยมแบบเดิม แต่ก็มิได้ยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติ กลับพยายามกดดันให้คนชาติพันธุ์อื่น ๆ ต้อง "กลายเป็นไทย" ปัญหาดังกล่าวนี้ไม่รุนแรงมากนักในช่วงเวลาที่คนแต่ละชาติพันธุ์ไม่ต้องสัมพันธ์กับข้าราชการมาก แต่การพัฒนาประเทศทำให้ระบบราชการขยายตัวออกไปสู่เขตชนบท และคนทุกชาติพันธุ์ต้องเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของราชการ คนหลายชาติพันธุ์ที่ไม่ต้องการ และ/หรือไม่สามารถ "กลายเป็นไทย" อย่างแท้จริง จะไม่ได้รับสิทธิบางประการจากรัฐ ได้รับความไม่สะดวกจากการติดต่อกับทางราชการ หรือแม้แต่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐรังแกด้วยประการต่าง ๆ นับตั้งแต่การดูถูกเหยียดหยาม ไปจนกระทั่งการขูดรีดและการปราบปราม โดยไม่ได้รับสิทธิ, ความเสมอภาค และความยุติธรรมภายใต้ระบบกฎหมายและระบบตุลาการของรัฐไทย แม้ว่าจะถือกำเนิดในรัฐไทยก็ตาม

การที่ "ความเป็นไทย" ไม่กว้างพอสำหรับคนทุกชาติพันธุ์ในรัฐไทย แต่บีบให้คนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ต้อง "กลายเป็นไทย" เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาวิกฤตอัตลักษณ์ ซึ่งแหลมคมขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา เมื่อการขยายตัวของระบบทุนนิยมได้เชื่อมโยงคนทุกชาติพันธุ์เข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น แต่มีความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างมากมายในโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมือง "การปกครองแบบไทย" ที่รวมศูนย์อำนาจในการจัดการทรัพยากร จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนชาติพันธุ์ต่าง ๆ กับ "คนไทย" สูงขึ้นมากในหลายพื้นที่ ทั้งความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและการแย่งชิงทรัพยากร

อนึ่ง "ความเป็นไทย" ที่บีบให้คนทุกชาติพันธุ์ต้อง "กลายเป็นไทย" ยังหมายถึงการทำให้คนแต่ละชาติพันธุ์ซึ่งเคยมีวัฒนธรรมที่รับใช้ชีวิตของพวกเขาในระบบนิเวศหนึ่งๆ จำเป็นต้องละทิ้งทัศนะต่อ "ความจริง ความดี ความงาม" แบบเดิมที่เคยยึดถือ หันมายอมรับ "ความจริง ความดี และความงามแบบไทย" ซึ่งคนบางชาติพันธุ์ไม่ต้องการหรือไม่สามารถจะเข้าถึง "ความเป็นไทย" ดังกล่าวนี้ได้ หรือเข้าถึงได้เพียงส่วนน้อย ก่อให้เกิดความสับสนด้านค่านิยมที่เกี่ยวเนื่องกับทัศนะต่อ"ความจริง ความดี ความงาม" ซึ่งนำความยุ่งยากและความตึงเครียดมาสู่ชีวิตและความสัมพันธ์ทางสังคม ทั้งภายในกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ๆ และระหว่างคนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กับคนอื่น ๆ ใน "ชาติไทย" ไม่น้อย

ในหลายกรณีด้วยกัน คนบางชาติพันธุ์ที่ยึดถือ "ความจริง ความดี ความงาม" ในทัศนะของตนเอาไว้ ได้กลายเป็น "สินค้าแปลกประหลาด" ที่มีไว้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งในที่สุดแล้วคนในชาติพันธุ์นั้น ๆ ก็จะไม่สามารถสืบทอดและปรับเปลี่ยนการมอง "ความจริง ความดี ความงาม" ตามทัศนะของตนต่อไปอย่างราบรื่น เพราะบริบทของชีวิตเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินไป

นอกจากนี้ความหมายของ "ความเป็นไทย" ที่คนไทยรับรู้นั้น ไม่เพียงแต่ทำให้คนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ยังไม่ "กลายเป็นไทย" ไม่มี "พื้นที่" อยู่ในสังคมการเมืองไทย เพราะมี "ความเป็นไทย" น้อยกว่าคนกลุ่มอื่น หรือไม่มี "ความเป็นไทย" อยู่ในตัวเท่านั้น แต่ "ความเป็นไทย" ยังแคบเกินกว่าจะทำให้คนไทยเข้าใจถึงความซับซ้อนและความเปลี่ยนแปลงอันหลากหลายของสังคมไทย โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา ซึ่งเมื่อไม่สามารถเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งและรอบด้าน ก็ย่อมไม่สามารถจะปรับตัวหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพได้เลย

อนึ่ง ปัญญาชนกระแสหลักที่นิยาม "ความเป็นไทย" ล้วนแต่มุ่งจะทำให้คนไทยยึดมั่นในกรอบโครงหลัก "ความเป็นไทย" อย่างเต็มที่ ด้วยการทำให้เชื่อว่า "ความเป็นไทย" นั้นเป็นมรดกตกทอดมาแต่อดีต โดยไม่มีความเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ คนไทยจึงมีจินตนาการเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยเฉพาะในด้านวัตถุที่เจริญขึ้น แต่ขาดจินตนาการเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในด้านของความสัมพันธ์ทางสังคม และมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะที่เศรษฐกิจและวัฒนธรรมเปลี่ยนไป กลับมองปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมร่วมสมัย ที่ไม่เป็นไปตามกรอบของ "ความเป็นไทย" ว่าเป็นเรื่อง "ผิดปรกติ" ที่จะต้องทำการปราบปรามหรือแก้ไข เช่น การที่ "เด็ก" หรือ "ผู้น้อย" ไม่เชื่อฟัง "ผู้ใหญ่" หรือการที่คนไทยมีจิตสำนึกปัจเจกชนสูงขึ้นและต้องการสิทธิเสรีภาพมากขึ้น เป็นต้น

การมองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยขาดความเข้าใจเช่นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ความความขัดแย้งในสังคมสูงขึ้น และทำให้ผู้มีอำนาจสามารถใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยขาดการสร้างนโยบายทางสังคมและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนไป พร้อมกับหาทางปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมที่สร้างปัญหาแก่ชีวิตคน แทนการใช้อำนาจบังคับ ควบคุม หรือปราบปราม ดังที่ปรากฏอยู่เสมอ

ความคับแคบของ "ความเป็นไทย" กระแสหลักดังกล่าวข้างต้น ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเกิดความสงสัยว่า "ความเป็นไทย" ที่ตนรับรู้นั้นจริงหรือไม่ เพราะคำอธิบายปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจากกรอบของ "ความเป็นไทย" กระแสหลัก ไม่นำไปสู่การเข้าใจปัญหาที่เพียงพอสำหรับการหาทางออกอย่างเหมาะสม ในขณะที่ปรากฏการณ์จำนวนมากที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา ไม่สอดคล้องกับ "ความเป็นไทย" กระแสหลัก จนเกิดคำถามต่อลักษณะหลายประการของ "ความเป็นไทย" ว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ เป็นต้นว่า

- "เมืองไทยนี้ดี" และสังคมไทยเป็นสังคมที่เมตตา
- "ความเป็นไทย" มีแบบเดียว คือวัฒนธรรมไทยชั้นสูงซึ่งเป็นมาตรฐานอันถูกต้องดีงาม
- คนทุกชาติพันธุ์จะต้อง "กลายเป็นไทย" จึงจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "ชาติไทย"
- ชาวบ้านโง่-จน- เจ็บ ต้องรอรับความเมตตาเอื้ออาทรจากรัฐหรือ "นายข้าราชการ"
ฯลฯ

ยิ่งสังคมการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและซับซ้อนขึ้นเพียงใด คำถามหรือความสงสัยต่อ "ความเป็นไทย" ในประเด็นข้างต้นก็ยิ่งทวีขึ้น นับเป็นปัญหา "วิกฤตอัตลักษณ์ไทย" ที่ทุกส่วนของสังคมไทยจะต้องร่วมกันคลี่คลายโดยเร็วที่สุด ด้วยการหาทางนิยามความหมายของ "ความเป็นไทย" ให้กว้างพอที่คนทุกกลุ่มจะมี "พื้นที่" อยู่ในสังคมการเมืองไทยอย่างเสมอภาค และสามารถดำรงชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

------------------------------------------------------------------------

คลิกกลับไปอ่านได้จากที่นี่
การสร้างความเป็นไทยกระแสหลัก และ"ความจริง"ฯ (ตอนที่ ๑)

 

เชิงอรรถ

[39] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, "ในหลวงของประชาชน" อ้างใน สละ ลิขิตกุล, ในหลวงกับคึกฤทธิ์. หน้า 103-104.

[40] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, "สยามรัฐหน้า 5" (4 มกราคม 2515) ใน สยามรัฐ หน้า 5 เล่ม 9. กรุงเทพฯ: ก้าวหน้า, 2516. หน้า 307.

[41] ประจักษ์ ก้องกีรติ, "ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ: ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ.2506-2516)" วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณพิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545. หน้า 304-373.

[42] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, "สงครามผิวในสหรัฐ" (3) ("เพื่อนนอน" 17 มิถุนายน 2506) ใน สงครามผิว. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2545. หน้า 240.

[43] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, "ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่" ใน หนังสืออนุสรณ์คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2539. หน้า 252.

[44] โปรดดูรายละเอียดใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์ กรุงเทพฯ: มติชน, 2538 และ สายชล สัตยานุรักษ์, การเมืองและการสร้างความเป็นไทยโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. รายงานผลการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548.

[45] เรื่องเดียวกัน, หน้า 190.

[46] โปรดดู นิธิ เอียวศรีวงศ์, สภาพเศรษฐกิจสังคมไทยยุคใหม่ จริยธรรมในการศึกษาสำหรับอนาคต, กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2536.

++++++++++++++++++++++++++++++

บรรณานุกรม

เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช. " แนวความคิดประชาธิปไตยแบบไทย" วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาชาวิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536.

คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. "การปกครองสมัยสุโขทัย" ใน ประวัติศาสตร์และการเมือง. ประวัติศาสตร์และการเมือง หนังสืออ่านประกอบวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2516.

. "การศึกษาของชาติ จะป้อนการศึกษาแก่พลเมืองอย่างไรดี" ( เพื่อนนอน 19 กุมภาพันธ์ 2506) ใน คึกฤทธิ์ถกเมืองไทย. กรุงเทพฯ : บรรณาคาร 2514. หน้า 203,

_____________. "ข้อคิดในการเดินทางไปต่างประเทศ" แสดงที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 30 พฤษภาคม 2502. ใน ปาฐกถาของคึกฤทธิ์ กรุงเทพฯ: คลังวิทยา 2503.

_____________. "ของดีของไทย" (เพื่อนนอน 6 มกราคม 2506) ใน โลกกับคน กรุงเทพฯ : บรรณาคาร 2509.

_____________. "ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่" ใน หนังสืออนุสรณ์คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2539.

_____________. "คนมีคนจน" ใน เก็บเล็กผสมน้อย. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2502.

_____________. "คึกฤทธิ์กับการเมืองไทย" ใน คึกฤทธิ์ 2528. กรุงเทพฯ: สวิชาญการพิมพ์, 2528.

_____________. คึกฤทธิ์ ปราโมชกับปัญหาของไทยสมัยเลือกตั้งไม่เรียบร้อย กรุงเทพฯ: เกษมบรรณกิจ, 2511.

_____________. "ทรรศนะลิขิตที่ 3 การสืบเนื่องและการถ่ายทอดนาฏศิลป์ไทย" เอกสารประกอบการสัมมนานาฏศิลป์และดนตรีไทย สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 23-24 มิถุนายน 2522.

_____________. "ไทย(โบราณ)เนรมิต" (เพื่อนนอน 26 เมษายน 2506) ใน คึกฤทธิ์ถกเมืองไทย. กรุงเทพฯ : บรรณาคาร 2514.

_____________. "ในหลวงของประชาชน" อ้างใน สละ ลิขิตกุล ในหลวงกับคึกฤทธิ์. กรุงเทพฯ : สรรพศาสตร์, 2546.

_____________. "ประชาธิปไตยแบบซูการ์โนในอินโดนีเซีย" (เพื่อนนอน 2 ตุลาคม 2506) ใน ประชุมพงศาวดารประชาธิปไตย บรรณาคาร, 2512.

คึกฤทธิ์ ปราโมช,ม.ร.ว. ฝรั่งศักดินา กรุงเทพฯ: ก้าวหน้า, 2504.

_____________. ยิว กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543.

_____________. "สงครามผิวในสหรัฐ" (3) ("เพื่อนนอน" 17 มิถุนายน 2506) ใน สงครามผิว. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2545.

_____________. "สยามรัฐหน้า 5" (4 มกราคม 2515) ใน สยามรัฐ หน้า 5 เล่ม 9. กรุงเทพฯ: ก้าวหน้า, 2516.

_____________. "สามยุค" หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ (3 กุมภาพันธ์ 2492) ใน คึกฤทธิ์ว่า. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ชัยฤทธิ์, 2495.

_____________. "อสัญญกรรมของจอมพลสฤษดิ์" เพื่อนนอน 9 ธันวาคม 2506 ใน คึกฤทธิ์ถกเมืองไทย. กรุงเทพฯ: บรรณาคาร, 2514

ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จฯ กรมพระยา. "ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ" ใน ประวัติศาสตร์และการเมือง หนังสืออ่านประกอบวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2516.

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. "พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ" รัฐศาสตร์สาร 21, 3 (2542) : 1-104.

_____________. "สองกระแสภูมิปัญญาในการปฏิวัติสยามทศวรรษที่ 2470" ใน ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2546.

_____________. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ร่วมกับฝ่ายสิ่งพิมพ์ โครงการ 60 ปีประชาธิปไตย, 2535.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. "ชาตินิยมในขบวนการประชาธิปไตย" ใน ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ กรุงเทพฯ: มติชน, 2538.

_____________. "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" ใน ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์ กรุงเทพฯ: มติชน, 2538.

_____________. สภาพเศรษฐกิจสังคมไทยยุคใหม่ จริยธรรมในการศึกษาสำหรับอนาคต, กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2536.

ประจักษ์ ก้องกีรติ. "ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ: ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ.2506-2516)" วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณพิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545.

พักตร์พริ้ง ทองใหญ่, ม.ร.ว. "บท สัมภาษณ์ ม.ร.ว. พักตร์พริ้ง ทองใหญ่" หนังสือพิมพ์ประชาชาติ 9 มีนาคม 2518.

สายชล สัตยานุรักษ์. การเมืองและการสร้างความเป็นไทยโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รายงานผลการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548.

_____________. ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.

_____________. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546.

สุลักษณ์ ศิวรักษ์. "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชที่ข้าพเจ้ารู้จัก" ใน คึกฤทธิยาลัย. กรุงเทพฯ: สถาบันสันติประชาธรรม, 2539.

เสถียร ลายลักษณ์ (ผู้รวบรวม). "พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110" ใน ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 13 พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2478.

Kasian Tejapira, Commodifiing Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958. Kyoto Area Studies on Asia, Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University, Volume 3, 2001.

Saichol Sattayanurak. "Intellectuals and the Establishment of Identities in the Thai Absolute Monarchy State", Journal of the Siam Society. 90, 1 & 2 (2002): 101-124.

 

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 630 เรื่อง หนากว่า 8300 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(จะมีการปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

ในยุคจอมพลสฤษดิ์ "ความเป็นไทย" ประการหนึ่งที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สร้างขึ้น เน้นไปที่ "การปกครองแบบไทย" เพื่อรองรับการใช้อำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งได้ล้มระบอบรัฐธรรมนูญแบบมีรัฐสภาและการเลือกตั้งลง อันเป็นเรื่องรุนแรงอย่างยิ่งในกระแสภูมิปัญญาของสังคมไทย ที่ได้ให้คุณค่าแก่รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งมานานหลายสิบปี เพราะมีการเสนอให้ปกครองในระบอบ "คอนสติติวชั่นแนลโมนากี"

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทำให้คนไทยเห็นว่า สังคมที่ดีจะมีขึ้นหรือจะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมี "ผู้นำแบบไทย" ที่มิใช่นักการเมือง "ความเป็นไทย" ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นิยามจึงส่งผลให้สังคมไทยเป็น "สังคมที่ไม่มีการเมือง" หรือทำให้เกิด "ความเงียบทางการเมือง" ขึ้นในสังคมไทย เพราะโดยหลักการแล้วถือว่าทั้ง "ผู้นำแบบไทย" และประชาชนล้วนแต่อยู่นอกพื้นที่ทางการเมือง เมื่อผู้นำไม่ต้องเสียเวลาไปกับ "การเมือง" (หากใช้ภาษาในปัจจุบันก็คือ "การเมืองนิ่ง") แล้ว ผู้นำก็จะสามารถอุทิศเวลาให้แก่การทำงานเพื่อชาติได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวลเลยว่าผู้นำจะใช้อำนาจไปในทางมิชอบ (สายชล สัตยานุรักษ์
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 630 เรื่อง หนากว่า 8300 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 150 บาท
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้อ้างอิง