ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
related topic
120848
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 638 หัวเรื่อง
การนิยามความเป็นไทยในรอบ 100 ปี
รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ : เขียน
ภาควิชาประวัติศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The Midnight 's free article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 30,779 สูงสุด 51,792 สำรวจเมื่อเดือน มิ.ย. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ประวัติศาสตร์การนิยามความเป็นไทยในรอบ ๑๐๐ ปี
การสร้างความเป็นไทยกระแสหลัก และ
"ความจริง"ที่"ความเป็นไทย"สร้าง (ตอนที่ ๑)

รศ. สายชล สัตยานุรักษ์

ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ได้นำเสนอใน
เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยครั้งที่ ๒
มิติใหม่ของการวิจัยทางมนุษยศาสตร์แบบสหวิทยาการและบูรณาการ
ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘
ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว เชียงใหม่


เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 30 หน้ากระดาษ A4)




การสร้าง "ความเป็นไทย" กระแสหลัก และ "ความจริง" ที่ "ความเป็นไทย" สร้าง (ตอนที่ ๑)
The Construction of Maianstream Thougth on "Thainess" and the "Trurth" Constructed by "Thainess"


บทคัดย่อ

"ความเป็นไทย" กระแสหลัก ได้รับการนิยามอย่างจริงจังโดยปัญญาชนสำคัญ ๆ ของไทยนับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ทั้งนี้โดยมีการปรับเปลี่ยนจุดเน้นและความหมายของ "ความเป็นไทย" เป็นระยะ ๆ เพื่อตอบสนองบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป แต่การปรับเปลี่ยนดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้กรอบโครงหลักทางความคิดเดิม ทำให้เป็นความคิดที่มีพลังและครอบงำวิธีคิดของคนไทยอย่างลึกซึ้ง

การนิยาม "ความเป็นไทย" เกิดขึ้นในบริบททางการเมืองที่มีการรวมศูนย์อำนาจ จึงกลายเป็นฐานทางอุดมการณ์ ที่จรรโลงโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ และโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น ฐานทางอุดมการณ์ดังกล่าวนี้ เมื่อดำรงอยู่ในฐานะ "วิธีคิดกระแสหลัก" ในทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ซึ่งสังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ได้กลายเป็นอุปสรรคในการปรับตัวของคนไทย เพราะมีความหมายแคบเกินไป จนไม่สามารถเปิดพื้นที่ให้แก่คนทุกกลุ่มในสังคมไทยที่จะได้รับความเป็นธรรม สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่จำเป็นทั้งแก่การเข้าถึงทรัพยากร และการดำรงชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนอาจกล่าวได้ว่า "ความเป็นไทย" กระแสหลักได้สร้าง "ความจริง" ขึ้นมาในสังคมไทย อันได้แก่วิธีคิดของคนไทยในการอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาและวิธีแก้ปัญหาทั้งปวง ซึ่งทำให้ความหมายของ "ความเป็นไทย" กระแสหลัก กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างความรุนแรงในสังคมไทย

Abstract

Mainstream thought on "Thainess" has been firmly defined by significant intellectuals since the reign of King Rama V. Intellectuals adjusted the key aspects and significance of "Thainess" periodically in responded to the changing political contexts. However, the original structure of "Thainess" was retained throughout these adjustments. As a result, the mainstream construction of "Thainess" has an overwhelming power upon the ways of thinking of Thai people.

The definition of "Thainess" originated within the context of the centralized political structure. This construction of "Thainess" then became the basis of the ideology that maintained the centralized political regime and the hierarchical social structure. Thai people have been dominated by this overarching ideology since the end of the 1950s, since then, the ideology has functioned as an obstacle to prevent Thai people from adapting themselves to the rapid, crucial changes in Thai society. Further, the meaning of this idea of "Thainess" has been too narrow to create "social space" for all groups of Thai people to attain justice, freedom and equality. Justice, freedom and equality are essential for people to access essential resources and to live a digified life. Therefore, we can say that mainstream thought on "Thainess" has been one part of the violent structure of Thai society.

คำอธิบายเพิ่มเติม
บทความนี้สังเคราะห์จากผลการวิจัยโครงการ "ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน พ.ศ.2435-2535"* ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มุ่งศึกษาการนิยาม "ความเป็นไทย" โดยปัญญาชนกระแสหลักจำนวนหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อจินตภาพ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทย และจินตภาพดังกล่าวได้กลายเป็นพื้นฐานความคิดในการอธิบายปรากฏการณ์และปัญหาต่าง ๆ ในสังคมการเมืองไทย หรือมีส่วนสำคัญในการกำหนดวิธีคิดของคนไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน บทความนี้เน้นการนิยาม "ความเป็นไทย" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นปัญญาชนที่สื่อสารกับสังคมไทยมาก จนมีอิทธิพลทางความคิดสูงสุดในระยะครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

ด้วยการศึกษาผลงานจำนวนมากของปัญญาชน โดยพิจารณาบริบททางการเมืองของผลงานเหล่านั้น ช่วยให้เห็นได้ชัดว่า "ความเป็นไทย" ที่ปัญญาชนนิยาม มุ่งตอบสนองต่อปัญหาทางการเมืองที่ชนชั้นนำในแต่ละสมัยต้องเผชิญ พร้อมกับมุ่งทำให้ "ความเป็นไทย" นั้น ช่วยในการจรรโลงโครงสร้างสังคมและการเมืองที่ชนชั้นนำต้องการ โดยมีการปลูกฝังให้สังคมรับรู้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกลายเป็น "ระบอบแห่งสัจจะ" ที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อวิธีคิดของคนไทย และสร้าง "ความจริง" อันสำคัญหลายประการขึ้นมาในสังคมการเมืองไทย

ดังนั้น โครงการวิจัยนี้จึงมุ่งแสดงให้เห็นด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงว่า "ความเป็นไทย" ที่ปัญญาชนนิยาม เกิดขึ้นในบริบททางการเมืองอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรในฐานะเป็นฐานทางอุดมการณ์ที่จรรโลงโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ และโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนเป็นลำดับชั้น แล้ววิเคราะห์ให้เห็นว่าฐานทางอุดมการณ์ดังกล่าวนี้ เมื่อดำรงอยู่ในฐานะ "วิธีคิดกระแสหลัก" ในทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ซึ่งสังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ได้กลายเป็นอุปสรรคในการปรับตัวของคนไทย เพราะมีความหมายแคบเกินไป จนไม่สามารถเปิดพื้นที่ให้แก่คนทุกกลุ่มในสังคมไทย ที่จะมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่จำเป็น ทั้งแก่การเข้าถึงทรัพยากรและการดำรงชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้ "ความเป็นไทย" กระแสหลักกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างความรุนแรงในสังคมไทยในระยะหลายทศวรรษที่ผ่านมา

โดยทั่วไปแล้วสังคมที่ก้าวเข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่ จะเกิดสังคมแยกย่อย (fragmented societies) จนเกิดความรู้หรือวาทกรรมหลากหลาย โดยที่วาทกรรมแต่ละชุดมีลักษณะ "เฉพาะถิ่น" คือใช้ได้กับสังคมแยกย่อยแต่ละสังคม ไม่เป็น "ทฤษฎีสากล" ที่อธิบายครอบคลุมในลักษณะทั่วไป

แต่ในกรณีสังคมไทย แม้จะปรากฏสังคมแยกย่อยขึ้นบ้างแล้ว แต่เนื่องจากสื่อมวลชนและระบบการศึกษายังไม่ได้รับการปฏิรูปอย่างแท้จริง ทำให้ความรู้หรือวาทกรรมที่ปัญญาชนภาครัฐสถาปนาขึ้น และได้รับการถ่ายทอดผ่านสื่อมวลชนและระบบการศึกษาที่เป็นทางการ ยังคงมีอิทธิพลหรือได้รับ "ความเคารพอย่างสูง" ทั้งจากครูและนักเรียน และทั้งจาก "ผู้ผลิตซ้ำ" และ "ผู้บริโภค" ทำให้สามารถรักษาความเป็นวาทกรรมกระแสหลักเอาไว้ได้ แม้ว่าในระยะหลายทศวรรษที่ผ่านมา จะเกิดการสร้างความหมายใหม่ ๆ หรือความหมาย "ทวนกระแส" เกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" ขึ้นมา โดยนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน และชาวบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ มากแล้วก็ตาม

ผู้เขียนหวังว่าผลการวิจัยนี้จะกระตุ้นให้คนไทยร่วมกันค้นหาคำตอบว่า มีอะไรบ้างใน "ความเป็นไทย" กระแสหลัก ที่ยังคงมีคุณค่าจนสมควรที่คนไทยจะรักษาไว้ (โดยอาจปรับเปลี่ยนความหมายให้เหมาะแก่ยุคสมัย) และมีอะไรบ้างที่คนไทยควรสร้างขึ้นมาใหม่ให้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของ "ความเป็นไทย" ที่จะเอื้อให้คนไทยได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและมีความเสมอภาคมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การสร้าง "ความเป็นไทย" ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
เมื่อเมืองไทยเผชิญหน้ากับอารยธรรมตะวันตกที่เข้ามาพร้อมกับอำนาจที่เหนือกว่า ชนชั้นนำของไทยได้เลือกรับเอาความเจริญทางวัตถุแบบตะวันตก และรักษาส่วนใหญ่ของ "ความเป็นไทย" ทางวัฒนธรรมเอาไว้ โดยสร้างความหมายใหม่ให้แก่ส่วนประกอบต่าง ๆ ของ "ความเป็นไทย" เพื่อมิให้ "ความเป็นไทย" ถูกมองว่าป่าเถื่อน ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ "ความเป็นไทย" สามารถทำหน้าที่จรรโลงโครงสร้างการเมืองที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ และจรรโลงโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นตามหลักชาติวุฒิ ซึ่งเป็นโครงสร้างสังคมที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

รัชกาลที่ 5
เพื่อให้กระบวนการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางบรรลุผลสูงสุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นการนิยาม "ความเป็นไทย" ไปที่การสร้างความหมายใหม่แก่พระราชพิธีต่าง ๆ และการสร้างสัญลักษณ์ที่ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์กลางของรัฐที่มีพระราชอำนาจเด็ดขาดสูงสุด มีเจ้านาย ข้าราชการระดับต่าง ๆ และราษฎรทุกชนชาติ ที่ชีวิตขึ้นอยู่กับพระบรมเดชานุภาพ พระปัญญาธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่การนิยามความหมายของ "พระมหากษัตริย์" และ "ข้าราชการ" เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจแบบสมบูณณาญาสิทธิ์อย่างแท้จริง อีกทั้งยังทรงมีพระราชอำนาจในฐานะที่ทรงเป็นมนุษย์ มิใช่เทพเจ้า

ในขณะที่มีการสร้างระบบราชการสมัยใหม่ ที่จะต้องทำให้กลายเป็นกลไกอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในการรักษาความสงบเรียบร้อยและการจัดการทรัพยากรทั่วประเทศ แต่ไม่เป็นอันตรายต่อพระราชอำนาจ พระองค์ทรงเน้นสถานะของพระมหากษัตริย์ซึ่งมีพระราชอำนาจเด็ดขาดสูงสุดเหนือ "สยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง...ลาวประเทศ...มลายูประเทศ" ดังเห็นได้ชัดจากสัญลักษณ์บนผืนธง "บรมราชธวัชมหาสยามมินทร์" ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110[1] และทรงเน้นอัตลักษณ์ของข้าราชการในฐานะผู้มีเกียรติยศอันเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งนี้โดยอาศัยพระราชพิธีที่ถูกทำให้เป็น "แบบไทย" มากขึ้น ในการเน้นให้เห็นถึงสถานภาพที่ลดหลั่นตามลำดับชั้นของคนในรัฐ ควบคู่กับการเลือกใช้สัญลักษณ์แบบ "สากล" บางประการ เพื่อให้ "ความเป็นไทย" ดำรงอยู่อย่างมีเกียรติในฐานะส่วนหนึ่งของโลกที่ศิวิไลซ์[2]

ในรัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเผชิญกับมโนทัศน์ "ชาติไทย" ที่เป็นชาติของราษฎร ซึ่งเสนอโดยนักหนังสือพิมพ์, ข้าราชการบางกลุ่ม, ขุนนางเก่าบางคน และลูกจีน[3] ซึ่งอาจกลายเป็นฐานทางความคิดสำหรับการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงการปกครองได้โดยง่าย พระองค์จึงทรงเร่งนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เพื่อให้มีอำนาจครอบงำเหนือกว่าคำนิยามของคนเหล่านั้น ทรงนิยามความหมายของ "ชาติไทย" ที่ประกอบขึ้นด้วยคนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับวัฒนธรรมไทย และ จงรักภักดีต่อหัวใจของ "ความเป็นไทย" อันได้แก่ พระมหากษัตริย์ และพระพุทธศาสนา

โดยทรงเน้นว่าวัฒนธรรมไทยนั้นมีความเป็น "ไทยแท้" คือมีลักษณะเฉพาะที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ แต่ "ความเป็นไทย" นี้มีแก่นแท้ที่เป็นสากล ไม่แตกต่างจากอารยธรรมที่เจริญแล้วในยุโรป โดยเฉพาะพระพุทธศาสนานั้นทรงแสดงให้เห็นว่าเป็นศาสนาที่เหนือกว่าศาสนาอื่น ๆ ในโลก ทั้งในแง่ของหลักคำสอนที่มีความเป็นเหตุเป็นผล และในแง่พระชาติวุฒิขององค์พระศาสดา พร้อมกันนั้นก็ทรงสร้าง "คนอื่น" ขึ้นมา โดยเน้นไปที่ชาวจีนที่มีจำนวนและอิทธิพลทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังนำเอาอุดมการณ์ทางการเมืองแบบสาธารณรัฐ และความรู้สึกชาตินิยมจีนเข้ามาอีกด้วย

การนิยาม "ชาติไทย "และ "ความเป็นไทย" จึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ทั้งเพื่อเผชิญกับภัยคุกคามอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์จากชาติตะวันตกและชาวจีน และเพื่อการจัดระเบียบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรัฐแบบใหม่ การนิยาม "ชาติไทย "และ "ความเป็นไทย" โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเน้นไปที่การสร้างเอกภาพทางการเมือง โดยมี "พระมหากษัตริย์" ซึ่งทรงเป็นหัวใจของ "ชาติไทย" เป็นผู้มีพระราชอำนาจสูงสุด เนื่องจากทรงเป็นศูนย์รวมแห่งความจงรักภักดีของคนทั้งชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันความสำคัญความสำคัญของ"พระมหากษัตริย์" ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำในการสร้างความศิวิไลซ์แก่ "ชาติไทย" ขณะเดียวกันก็เบียดขับชาวจีนที่ไม่ยอม "กลายเป็นไทย" ให้พ้นไปจากการเป็นสมาชิกของ "ชาติไทย" และยังเป็นการตอบโต้ความคิดที่ว่า "ชาติ"และ"อำนาจอธิปไตยไเป็นของราษฎรอีกด้วย

นอกจากนี้ การนิยาม "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ในรัชกาลที่ 6 ยังมุ่งตอบสนองปัญหาการเมืองภายใน ที่ทรงขัดแย้งกับเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ และไม่ทรงไว้วางพระทัยในความจงรักภักดีของข้าราชการนับตั้งแต่เกิด "กบฏ ร.ศ.130" ทำให้ทรงมีความพยายามจะครอบครองอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ยิ่งกว่าในสมัยรัชกาลที่ 5

กล่าวได้ว่าการสร้างจินตภาพ "ชาติไทย" ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นหัวใจ จะส่งผลให้เกิดความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ "คนไทย" ทั้งประเทศ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์กลางของความจงรักภักดี และความสามัคคีของคนในชาติ พร้อมกันนั้นทรงพยายามจะเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ศิวิไลซ์แล้ว แต่มีความจำเป็นต้องรักษา "ความเป็นไทย" อันเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่ช่วยจรรโลงโครงสร้างอำนาจของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เอาไว้ ทำให้ต้องเน้นว่า

"ความเป็นไทย" ที่พระมหากษัตริย์แต่อดีตได้ทรงรักษาสืบทอดสืบต่อกันมานั้น มี "อารยธรรม" หรือมีแก่นแท้ที่เป็นสากลไม่ต่างจากอารยธรรมตะวันตก ทั้งนี้เพื่อให้ "คนไทย" สามารถภาคภูมิใจใน "ชาติไทย" ของตน และมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงช่วยทำให้ "ชาติไทย" ยังคงมีอารยธรรม มีอิสรภาพ และยืนอยู่อย่างมีเกียรติเคียงบ่าเคียงไหล่ชาติตะวันตกทั้งหลาย[4]

สมเด็จฯ กรมพระยาวชิญาณวโรรส
สมเด็จฯ กรมพระยาวชิญาณวโรรส ทรงทำให้จินตภาพ "ชาติไทย" ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นหัวใจ และทรงนำ "ชาติไทย" ไปสู่การเป็นชาติที่มีอารยธรรมเคียงบ่าเคียงไหล่ชาติตะวันตก กลายเป็นจินตภาพที่ชัดเจนและเป็นที่รับรู้ของคนทุกชั้น เพราะพระองค์ได้ทรงทำให้ความคิดทั้งหลายเกี่ยวกับ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นมานั้น กลายเป็นแนวความคิดทางพุทธศาสนา (Buddhistization) แล้วทรงถ่ายทอดปลูกฝังความคิดเหล่านั้นด้วยการเทศน์ การจัดหลักสูตรการศึกษาของพระสงฆ์ และทรงพระนิพนธ์ตำราทางพุทธศาสนาจำนวนมาก เพื่อให้พระภิกษุสามเณรใช้ในการศึกษาและการสอบ

การนำแนวความคิดทางพุทธศาสนามาใช้ในการนิยาม "ชาติไทย" อันมี "พระมหากษัตริย์" ทรงเป็นหัวใจเช่นนี้ ได้สร้างจินตภาพเกี่ยวกับ "ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" อันมิอาจแบ่งแยกได้ขึ้นมาอย่างเด่นชัด และเป็นจินตภาพที่รับรู้กันกว้างขวางในหมู่สงฆ์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคนระดับล่างทั้งในเขตเมืองและชนบท เพราะหนังสือทางพุทธศาสนาที่ทรงพระนิพนธ์จำนวนมากยังใช้ในระบบการของสงฆ์สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ควรกล่าวด้วยว่า เนื่องจากทรงต้องการทำให้แนวความคิดเกี่ยวกับ "ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" กลายเป็นความคิดทางพระพุทธศาสนา ทำให้สมเด็จฯ กรมพระยาวชิญาณวโรรสทรงมีความจำเป็นที่จะต้องเน้นเฉพาะพระพุทธศาสนาแบบโลกียธรรม โดยไม่อาจเชื่อมโยงโลกียธรรมเข้ากับโลกุตรธรรมได้เลย เพราะโลกุตรธรรมจะทำให้ "ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" กลายเป็นสิ่งปราศจากแก่นสารหรือตัวตนอันพึงยึดถือ

และพระพุทธศาสนาแบบโลกียธรรมนี้เองที่ปัญญาชนในยุคหลังนำมาเน้นอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ส่งผลให้ "ความเป็นไทย" ทางศาสนามีความสำคัญอย่างสูง เพราะทำให้การนับถือพระพุทธศาสนาหมายถึง การมีความรู้สึกนึกคิดที่ผูกพันอย่างลึกซึ้งกับ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ด้านต่าง ๆ เช่น ทำให้ยอมรับในความดีงามของ "การปกครองแบบไทย" มีความจงรักภักดีอย่างสูงสุดต่อ "พระมหากษัตริย์" เพราะสามารถเข้าใจความหมายของการปกครองตามหลักทศพิธราชธรรมอย่างถ่องแท้ และยังมีความภาคภูมิใจในศิลปะและวัฒนธรรมไทยทั้งปวงที่มี "พระพุทธศาสนา" เป็นแหล่งที่มาอันสำคัญอีกด้วย

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ส่วน สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสร้างอัตลักษณ์ไทยโดยมิได้เน้น "ความเป็นไทยแท้" ในทางวัฒนธรรม แต่ทรงเน้นความเป็นไทยแท้ในด้าน "อุปนิสัย" หรือ "คุณธรรม" ของชนชาติไทย ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ "ความจงรักในอิสรภาพของชาติ ความปราศจากวิหิงสา และความฉลาดในการประสานประโยชน์"

ทรงแสดงให้เห็นว่าคุณธรรมทั้งสามประการนี้เป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทย ซึ่งทำให้ชนชาติไทยดำรงความเป็นใหญ่ในประเทศสยามมาได้ยาวนาน ทรงเน้นว่าถึงแม้ชนชาติไทยจะเป็นใหญ่ใน "เมืองไทย" แต่ชนชาติไทยก็ไม่เคยเบียดเบียนชนชาติอื่น เพราะชนชาติไทยมีคุณธรรม "ความปราศจากวิหิงสา" และ "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" ทำให้ทุกชนชาติอยู่เย็นเป็นสุขภายใต้ "การปกครองแบบไทย" ขณะเดียวกันชนชาติไทยซึ่ง "ฉลาดในการประสานประโยชน์" ก็สามารถเลือกรับแต่ส่วนดีจากชาติอื่นมาผสมผสานกับวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ ทำให้เกิดความเจริญงอกงามแก่ศิลปะและวัฒนธรรมของไทยในทุก ๆ ทางตลอดมา

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเน้นในพระนิพนธ์อยู่เสมอ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็คือ เมืองไทยมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มานานแล้ว จนกลายเป็นประเพณี "การปกครองแบบไทย" ซึ่งควรรักษาไว้สืบไป ทั้งนี้เพราะพระมหากษัตริย์ไทยมิได้ทรงใช้พระราชอำนาจแบบเทวสิทธิ์ ตรงกันข้าม "การปกครองแบบไทย" เป็นแบบ "พ่อปกครองลูก" ซึ่งเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา และพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทรงเป็นผู้นำแห่งคุณธรรมของชนชาติไทยทั้งสามประการ ซึ่งช่วยให้ "เมืองไทย" สามารถรักษาเอกราช มีความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก

นอกจากนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้ทรงทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกลายเป็นตัวแบบในอุดมคติของ "พระมหากษัตริย์ไทย" ด้วยการสถาปนา "สมเด็จพระปิยมหาราช" ขึ้นมา ให้หมายถึง "พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของคนทั้งหลาย" เนื่องจากทรงเป็นผู้ปกครอง "ของประชาชน" และ "เพื่อประชาชน" ทั้งนี้เพราะสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงต้องการทำให้กระแสการเรียกร้องรัฐธรรมนูญลดความเข้มข้นลง ด้วยการทำให้คนทุกชั้นเกิดความสำนึกว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ทรงเป็นของประชาชน และทรงปกครองเพื่อประชาชนอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องทำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ในด้านศาสนานั้น ทรงเน้นว่า แม้พระพุทธศาสนาจะเป็นศาสนาที่ชนชาติไทยส่วนใหญ่นับถือ แต่พระมหากษัตริย์ไทยทรงปราศจากวิหิงสา จึงทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนาในเมืองไทย ทำให้คนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ส่วน "ความเป็นไทย" ในด้านอื่น ๆ เช่น ภาษาไทย วรรณคดี และศิลปะทุกแขนง ล้วนเป็นผลมาจากการที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นผู้นำที่ฉลาดในการประสานประโยชน์ทั้งสิ้น

นอกจากนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสร้างอัตลักษณ์ของชนชั้นต่าง ๆ ในเมืองไทย เพื่อให้คนแต่ละชั้นรู้ว่าตนเป็นใคร มีสถานภาพและหน้าที่อย่างไรในเมืองไทย เป็นการสร้างฐานทางอุดมการณ์ให้แก่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อจรรโลงโครงสร้างทางชนชั้นที่มีความสำคัญต่อเสถียรภาพของรัฐและชนชั้นนำ ในขณะที่พยายามลดความขัดแย้งระหว่างชนชาติลงด้วยการสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" มิใช่ "ชาติไทย" ทรงหลีกเลี่ยงมโนทัศน์ "ชาติไทย" เนื่องจากทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่ทำให้ทรงตระหนักว่า ประชาชนทั่วประเทศภายใต้ความรับผิดชอบของพระองค์นั้น ประกอบด้วยคนหลายชนชาติ และกระบวนการทำให้ชนชาติเหล่านั้นกลายเป็นไทยเพิ่งจะเริ่มขึ้น หากเน้น "ชาติไทย" ที่เป็นชาติของ "คนไทย" เท่านั้น จะเป็นการเร้าให้ชนชาติอื่นในประเทศสยามสำนึกถึงความแตกต่างทางชนชาติอย่างแหลมคมขึ้น ซึ่งจะทำให้ยากแก่การปกครอง[5]

จะเห็นได้ว่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นี้ แม้ปัญญาชนทั้งสี่พระองค์จะมิได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางความคิดอย่างสมบูรณ์ แต่ความคิดหลักที่ได้รับการเน้นร่วมกันก็คือหัวใจของ "ความเป็นไทย" อันได้แก่ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ที่จรรโลงโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจและโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นตามหลักชาติวุฒิ แม้ว่า "ภาษา" หรือ "คำ" ที่เลือกใช้ในการสร้างมโนทัศน์ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" จะแตกต่างกันอยู่บ้างก็ตาม

การสร้าง "ความเป็นไทย" ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475
ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 โครงสร้างการเมืองยังคงรวมศูนย์อำนาจที่ผู้นำ ชนชั้นนำในระบอบใหม่จึงไม่เปลี่ยนแปลงอุดมการณ์รัฐที่ได้รับการสถาปนาขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากนัก เพียงแต่เลือกความคิดบางประการที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้นำในระบอบใหม่ มาเน้นให้เด่นชัด และปรับเปลี่ยนคำอธิบายเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป แม้ในบางช่วงจะมีการเพิ่มเติมความคิดบางประการ แต่ก็ไม่ขัดแย้งกับกรอบความคิดเดิมของ "ความเป็นไทย" ที่เน้นอำนาจเด็ดขาดสูงสุดของผู้นำ และเน้นหน้าที่ตามสถานภาพของคนในชนชั้นต่าง ๆ เพียงแต่ให้ความสำคัญแก่ความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ต่อ "ชาติไทย" มากกว่าหลักชาติวุฒิ และนำเอา "ภาษา" หรือ "คำ" ที่มีอยู่ในอุดมการณ์ประชาธิปไตยมานิยามความหมายใหม่เพื่อสร้างความชอบธรรมเท่านั้น (เช่น คำว่า "มติมหาชน" และ "เสรีภาพ" เป็นต้น)

หลวงวิจิตรวาทการ
ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้าง "ความเป็นไทย" ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 คือหลวงวิจิตรวาทการ บรรยากาศทางการเมืองภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้หลวงวิจิตรวาทการให้ความสำคัญแก่ "มติมหาชน" ในการกำหนดนโยบายและโครงการต่าง ๆ ของรัฐ เพื่อทำให้ "ชาติไทย" เจริญก้าวหน้า

อย่างไรก็ตาม "มติมหาชน" นี้มิได้เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของปัจเจกบุคคลในรัฐซึ่งต่างก็มีความคิดเห็นเป็นของตนเอง แต่เกิดขึ้นภายหลังกระบวนการ "มนุสสปฏิวัติ" ตามแนวทางที่เรียกว่า "รัฐนิยม" ซึ่งเปลี่ยนจิตใจหรือเปลี่ยนนิสัยใจคอของ "คนไทย" ไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น "มติมหาชน" จึงอยู่ในกรอบที่รัฐต้องการ และทำให้ความคิดของผู้นำสะท้อน "มติมหาชน" อยู่เสมอ ไม่ว่าผู้นำจะคิดอะไรหรือทำอะไร คนก็จะคิดตามและทำตาม[6]

เพื่อให้เกิด "มติมหาชน" ในแนวทางที่จอมพลป. พิบูลสงคราม และหลวงวิจิตรวาทการต้องการ หลวงวิจิตรวาทการจึงพยายามสร้าง "ความเป็นไทย" ให้คนไทยยึดถือร่วมกัน "ความเป็นไทย" ที่หลวงวิจิตรวาทการเน้นในแต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้เป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ในปลายทศวรรษ 2470 หลวงวิจิตรวาทการซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร เน้น "ความเป็นไทย" ในแง่ของศิลปะไทยที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ เพื่อให้คนไทยมีความภาคภูมิใจในชาติของตน เป็นการสืบทอดความคิดที่ปัญญาชนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เคยเน้นมาแล้ว จนกระทั่งถึงต้นทศวรรษ 2480 เมื่อไทยเป็นพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อหวังจะเป็นมหาอำนาจในแหลมทอง เพราะตระหนักถึงความไม่มั่นคงของชาติเล็กที่จะถูกมหาอำนาจยึดครองได้โดยง่าย หลวงวิจิตรวาทการจึงเริ่มสร้าง "ความเป็นไทย" ขึ้นใหม่ โดยเน้น "ความเป็นไทย" ในแง่ของจิตใจหรืออุปนิสัยที่รักความก้าวหน้า มีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้ มีความอุตสาหะขยันหมั่นเพียรในการทำงาน และนิยมการค้าขาย อุปนิสัยเหล่านี้จะทำให้ "คนไทย" ทั้งมวลร่วมกันสร้าง "ชาติไทย" ให้รุ่งเรืองและกลายเป็นมหาอำนาจได้ในที่สุด

เพื่อให้ "คนไทย" เห็นว่าอุปนิสัยทั้งหลายที่รัฐต้องการให้มีอยู่ในตัว "คนไทย" นั้น เป็นคุณสมบัติดั้งเดิมของชนชาติไทย หลวงวิจิตรวาทการจึงใช้วิธีเปลี่ยนบริบทของ "อุปนิสัยประจำชาติ" ที่คาดหวังให้เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตเหล่านี้ ให้เคยมีมาแล้วในชนชาติไทยสมัยโบราณ ดังปรากฏอย่างชัดเจนใน "วัฒนธรรมสุโขทัย" แต่ถูกทำลายไปจากการรับอิทธิพลฮินดู-ขอมในสมัยอยุธยา เมื่อคนไทยรับรู้ว่าในอดีตชนชาติไทยได้เคยมีอุปนิสัยเหล่านั้นมาแล้ว ก็จะรู้สึกว่าเป็นไปได้ที่จะหวนกลับไปมีอุปนิสัยเช่นนั้นอีก จะเห็นได้ว่ากระบวนการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติจิตใจ "คนไทย" ที่หลวงวิจิตรวาทการเรียกว่า "มนุสสปฏิวัติ" นั่นเอง[7]

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง พร้อมกับความฝันว่า "ชาติไทย" จะเป็นมหาอำนาจในแหลมทองต้องแตกสลาย หลวงวิจิตรวาทการก็เปลี่ยนจุดเน้นของ "ความเป็นไทย" เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่ "ชาติไทย" เป็นชาติเล็กที่ต้องเผชิญหน้ากับสงครามเย็น ชนชั้นนำของไทยรวมทั้งหลวงวิจิตรวาทการไม่เพียงแต่กลัวภัยคอมมิวนิสต์ แต่ยังอาศัยการต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นช่องทางสำหรับการได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาอีกด้วย[8] ดังนั้น "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการเน้นจึงได้แก่ "ความเป็นไทย" ที่จะช่วยในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ อันได้แก่ "ชาติไทย" "พระมหากษัตริย์" และ "พระพุทธศาสนา" มีการโฆษณาอย่างกว้างขวางว่า หากไทยกลายเป็นคอมมิวนิสต์ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ก็จะถูกทำลายลงไปอย่างสิ้นเชิง ผู้ที่รักและหวงแหนใน "ความเป็นไทย" จึงต้องต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่

เห็นได้ชัดว่า แม้จุดมุ่งหมายของรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม และหลวงวิจิตรวาทการในทศวรรษ 2490 จะแตกต่างจากรัชกาลที่ 6 แต่หัวใจของ "ความเป็นไทย" ที่เน้นก็ได้แก่สถาบันเดียวกัน แม้ว่า "พระมหากษัตริย์" จะถูกเปลี่ยนความหมายไปจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างมาก คือเน้นเฉพาะความหมายในแง่ที่ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ ซึ่งทำให้เกิดความสามัคคีและเอกภาพของคนในชาติ เพื่อจะมิให้เป็นอุปสรรคต่ออำนาจสูงสุดของผู้นำในระบอบใหม่

ส่วนเอกลักษณ์ไทย 3 ประการที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสนอไว้นั้น มีเพียงข้อที่หนึ่ง คือ "ความจงรักในอิสรภาพของชาติ" เท่านั้น ที่ยังคงได้รับการเน้น ส่วน "ความปราศจากวิหิงสา" และ "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" ได้ถูกละเลย ทั้งนี้ก็เพราะต้องการความสนับสนุนจากคนไทยในการใช้ความรุนแรงปราบปรามคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีแกนนำเป็นชาวจีน ขณะเดียวกันก็ใช้วิธีการกล่าวหาชาวจีนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เพื่อกดดันให้ชาวจีนทั้งหลายยอมเป็นเบี้ยล่าง หรือยอมให้ความร่วมมือในการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้กุมอำนาจรัฐ ถ้ายังคงเน้น "ความปราศจากวิหิงสา" และ "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" ก็จะไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายข้างต้นได้เลย

แต่การให้ความสำคัญแต่เฉพาะ"ความจงรักในอิสรภาพของชาติ" และละเลยอีกสองข้อ ก็เป็นการสืบทอดพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่ทรงให้ความสำคัญแก่ "ความปราศจากวิหิงสา" และ "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" เช่นเดียวกัน

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
ปัญญาชนอีกพระองค์หนึ่งที่มีบทบาทในการสร้างอัตลักษณ์ไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญ 2 ด้านด้วยกัน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นบทบาทในระบอบการปกครองใหม่ ที่ต้องปรับเปลี่ยนความหมายและวิธีดำเนินการไปไม่น้อย แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็เป็นการสืบทอดวิธีคิดและบทบาทของชนชั้นเจ้าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นเอง นั่นคือ การเลือกรับความเจริญทางวัตถุจากตะวันตก และการควบคุมความสัมพันธ์ทางสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจด้วย "ความเป็นไทย" ทางวัฒนธรรม

บทบาทของพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ด้านหนึ่งเป็นบทบาทในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับต่างประเทศ ซึ่งพระองค์ทรงพยายามทำให้ชาวต่างประเทศรับรู้ว่าไทยเป็นชาติอารยะ และมีทรัพยากรต่าง ๆ อุดมสมบูรณ์ เพื่อให้นายทุนต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุน และเพื่อให้ชาติตะวันตกและญี่ปุ่น เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับไทยมากขึ้น อีกด้านหนึ่งทรงพยายามควบคุมความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ไม่ให้ดำเนินไปในทิศทางที่ไม่พึงปรารถนา หรือเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป ทั้งนี้ด้วยการบัญญัติศัพท์ คือสร้างคำศัพท์ใหม่ ๆ เพื่อแทนการทับศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะคำศัพท์ที่เกี่ยวกับความคิด เช่น "ปฏิวัติ" "ประชาชาติ" "วัฒนธรรม" ฯลฯ

การบัญญัติศัพท์ให้กลายเป็นคำใน "ภาษาไทย" เท่ากับเป็นการควบคุมความคิดของคนไทย หรือการกำหนดขอบเขตและทิศทางความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยนั่นเอง นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเสนอพระดำริที่สอดคล้องกับปัญญาชนอนุรักษ์นิยมหลายคนในยุคเดียวกัน ว่าในระบอบ "การปกครองแบบไทย" นั้น มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว เพราะมีการเลือกตั้งตามหลัก "อเนกชนนิกรสโมสรสมมุติ"[9]

ปัญญาชนอื่นที่มีบทบาทในการนิยาม "ความเป็นไทย"
นอกจากนี้ยังมีปัญญาชนอื่นอีกจำนวนหนึ่ง ที่มีบทบาทในการนิยาม "ความเป็นไทย" เช่น กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, พระยาศรีวิศาลวาจา, พันเอกแสวง เสนาณรงค์ แต่ความคิดเกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" ที่ปัญญาชนเหล่านี้เสนอ มิได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญถึงขั้นที่เป็นการเสนอกรอบความคิดใหม่ แนวความคิดสำคัญ ๆ ที่ปัญญาชนเหล่านี้เสนอก็คือการพิสูจน์ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์และ/หรือพระพุทธศาสนายังคงมีคุณค่าในระบอบใหม่ และต้องการสถาปนาอุดมการณ์ทางการเมือง "แบบไทย" ที่สถาบันพระมหากษัตริย์และ/หรือพระพุทธศาสนาเป็นแหล่งที่มาทางศีลธรรม ที่จะช่วยในการจัดระเบียบสังคมการเมืองไทยให้ดีงาม

ดังนั้น แม้ว่าแนวความคิดที่แต่ละคนเสนอจะมีรายละเอียดและมีจุดเน้นแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็มิได้ขัดแย้งกันในสาระสำคัญ และส่วนใหญ่ของแนวความคิดเหล่านี้ก็ช่วยเสริมให้ความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่ปัญญาชนในอดีตนิยามไว้ มีความชัดเจนและมีพลังเข้มแข็งมากขึ้น

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในกระแสภูมิปัญญาที่สืบทอดความหมายของ "ความเป็นไทย" จากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นี้ แต่เป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในการปรับเปลี่ยนจุดเน้น ความหมาย และคำอธิบาย เพื่อให้ "ความเป็นไทย" ตอบสนองต่อสถานการณ์ในสังคมการเมืองไทยสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างมีพลัง โดยสามารถรักษากรอบโครงหลักของ "ความเป็นไทย" เอาไว้ได้ จนกล่าวได้ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการทำให้ "ความเป็นไทย" ที่เป็นรากฐานทางอุดมการณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กลับมาครอบงำวิธีคิดของคนไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์แตกต่างจากหลวงวิจิตรวาทการและกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในแง่ที่มิได้พอใจแต่เพียงการสร้าง "ความเป็นไทย" เพื่อตอบสนองความจำเป็นทางการเมืองของผู้นำและระบอบการปกครองใหม่ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 เท่านั้น หากแต่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[10] การนิยาม "ความเป็นไทย" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จึงมีเป้าหมายหลักสองประการที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน คือ เพื่อใช้ "ความเป็นไทย" ช่วยจัดระเบียบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทย และเพื่อสร้างบารมีหรืออำนาจทางปัญญาให้แก่ตนเอง อันจะทำให้ได้รับเลือกจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร และ/หรือประชาชน ให้ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเอื้ออำนวย

มักเชื่อกันว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นผู้มีจิตวิญญาณเป็นพวกกษัตริย์นิยมอย่างแท้จริง แต่จากผลงานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เองแสดงให้เห็นว่า ก่อนหน้า พ.ศ 2494 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เคยโจมตีชนชั้นนำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าเป็น "สังคโลกร้าวชำรุด" ซึ่งมีแต่ "ความเห็นที่ตายตัว เปลี่ยนแปลงไม่ได้" และเต็มไปด้วย "ความเห็นแก่ตัว"[11] นอกจากนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังแสดงความไม่พอใจที่ถูก "กาหน้า" ว่าเป็นพวกกษัตริย์นิยม พร้อมกับโจมตีนักการเมืองบางคนว่าเป็นพวกกษัตริย์นิยม[12]

นอกจากนี้ยังแสดงความคิดเห็นสนับสนุนจอมพล ป. และพลเอกเผ่า ศรียานนท์อยู่เสมอ ในขณะที่โจมตีนายควง อภัยวงศ์และพรรคประชาธิปัตย์อย่างตรงไปตรงมา ตราบจนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกใน พ.ศ.2497 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จึงได้หันมาโจมตีจอมพล ป. และพลเอกเผ่ารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และมีบทบาทสำคัญในการทำให้สังคมรับรู้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ.2500 นั้น เป็น "การเลือกตั้งสกปรก"[13] จนเป็นปัจจัยสำคัญในการทำลายความชอบธรรมของจอมพล ป. ที่เอื้ออำนวยให้การรัฐประหาร พ.ศ.2500 ของจอมพลสฤษดิ์ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนอย่างกว้างขวาง

ใน พ.ศ.2494 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ตัดสินใจเป็นพวกกษัตริย์นิยมอย่างเต็มที่ และพยายามทำให้อุดมการณ์กษัตริย์นิยมมีพลังแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญก็คือ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จกลับมาประทับอยู่ในเมืองไทยเป็นการถาวร และการที่พรรคประชาธิปัตย์ (ซึ่งกลายเป็นศัตรูทางการเมืองของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2491) สูญเสียอำนาจที่เคยมีอยู่ในรัฐสภา เนื่องจากมีการรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2494 ในสถานการณ์เช่นนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรอีกแล้วจากการที่อุดมการณ์กษัตริย์นิยมมีพลังแข็งแกร่งขึ้น แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เองจะได้ประโยชน์โดยตรง เพราะสามารถอิงตัวเองเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ และยกระดับตนเองจาก "เจ้าหางแถว"[14] กลายเป็นสมาชิกของพระราชวงศ์จักรีอันศักดิ์สิทธิ์และสูงส่ง ซึ่งทุกฝ่ายรับรู้ว่าเป็นผู้มีความรอบรู้ในวัฒนธรรมราชสำนัก ที่เป็นแบบแผนอันดีเลิศของ "ความเป็นไทย" ในทุกด้าน

นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2490 ซึ่งเขียน สี่แผ่นดิน เป็นต้นมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการรื้อฟื้นอุดมการณ์กษัตริย์นิยม โดยทำให้คนไทยเห็นว่า สถาบันและองค์พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันและบุคคลที่ขาดไม่ได้ของ "ชาติไทย" เพราะทรงมีส่วนอย่างสำคัญยิ่งในการทำให้ "ชาติไทย" มีระเบียบ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า นอกจากนี้ยังได้เชื่อมโยงพระพุทธศาสนากับ "พระมหากษัตริย์" และ "ชาติ" อย่างแนบแน่น ด้วยการทำให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นแหล่งที่มาทางศีลธรรมที่ทำให้ "พระมหากษัตริย์" ทรงเป็นผู้ปกครองที่ดี และทำให้คนไทยซึ่งมีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่ "รู้ที่ต่ำที่สูง" นั้น อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ปราศจากการกดขี่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ "พระมหากษัตริย์" และ "พระพุทธศาสนา" ยังเป็นที่มาและช่วยจรรโลง "ความเป็นไทย" ในด้านอื่น ๆ ที่ทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" เช่น การปกครองแบบไทย ภาษาไทย วรรณคดีไทย ศิลปะไทย มารยาทไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ฯลฯ

"ความเป็นไทย" ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นิยามมีอิทธิพลอย่างสูง เนื่องจากเป็นฐานทางอุดมการณ์ให้แก่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ ทำให้สามารถใช้สื่อประเภทต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ในเครือสยามรัฐของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เอง ในการปลูกฝังแก่สังคมไทย และถึงแม้ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จะได้ปรับเปลี่ยนความหมายขององค์ประกอบต่าง ๆ ของ "ความเป็นไทย" เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ได้รักษากรอบโครงหลักทางความคิดเดิม ที่สืบทอดมาจากปัญญาชนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เอาไว้อย่างเหนียวแน่น ทำให้ "ความเป็นไทย" กลายเป็นความคิดที่มีพลังอย่างไพศาล แม้ว่าสังคมการเมืองไทยจะได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมากแล้ว

ความหมายทางการเมืองของ "ความเป็นไทย" ที่นิยามโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์
ตั้งแต่ครึ่งหลังของทศวรรษ 2490 การเขียน สี่แผ่นดิน และ ไผ่แดง ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มีส่วนทำให้ "ความเป็นไทย" ในแง่ของการปกครองแบบไทย ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างคนที่อยู่ในชั้นต่างกัน ตลอดจนศิลปะและวัฒนธรรมไทยในด้านอื่น ๆ ที่มีพระมหากษัตริย์และพระพุทธศาสนาเป็นหัวใจ กลับมามีคุณค่าในสายตาของคนไทยอีกครั้งหนึ่ง

ในเวลานั้น บทบาทของหลายฝ่ายได้ทำให้กระแสชาตินิยมทางวัฒนธรรมมีพลังสูงขึ้นมาก ที่สำคัญได้แก่ การที่จอมพล ป. เลือกสร้างความนิยมในหมู่ประชาชน ด้วยการแสดงตนเป็นผู้นำที่ดีตามคติพุทธศาสนา เช่น อ้างอิงตนเองเป็นเสมือนพ่อขุนรามคำแหงที่ปกครองประชาชนแบบพ่อปกครองลูก มีพรรคเสรีมนังคศิลา (อันมาจากชื่อพระแท่นของพ่อขุนรามคำแหง) เป็นฐานอำนาจ และพยายามทำหน้าที่ต่าง ๆ ตามอย่างพ่อขุนรามคำแหง หรือตามประเพณีของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต เป็นต้นว่า การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างมาก การดำเนินนโยบายฟื้นฟูศีลธรรมภายในชาติ การอุปถัมภ์ศิลปะไทยและการส่งเสริมวัฒนธรรมอื่น ๆ ของไทย[15]

นอกจากนี้ยังมีปัญญาชนหลายคน เขียนหนังสือและแสดงปาฐกถาที่เน้นความสำคัญและคุณค่าของ "ความเป็นไทย" โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ และวัฒนธรรมไทยในด้านต่าง ๆ เช่น กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พระยาศรีวิสารวาจา ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พระยาอนุมานราชธน เป็นต้น

กระแสชาตินิยมทางวัฒนธรรมแบบจารีตประเพณีที่เข้มข้นขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2490 นี้ ทำให้จอมพลสฤษดิ์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องแสดงบทบาท "พ่อขุนอุปถัมภ์" เช่นเดียวกับจอมพล ป. นอกจากคำปราศรัยและสุนทรพจน์ในโอกาสต่าง ๆ ของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเชื่อกันว่าหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ร่างแล้ว[16] ยังมีการสร้างฐานทางอุดมการณ์สำหรับรองรับปฏิบัติการทางสังคมของจอมพลสฤษดิ์จนประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเป็น "ผู้ปกครองแบบไทย" โดยม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นปัญญาชนที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างมาก จากผู้มีการศึกษามาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2490 ว่าเป็นผู้ที่สามารถ "นำประชาชนได้ทั้งชาติ" หรือแม้แต่ "นำเอเซียอาคเนย์ได้ทั้งแถบในด้านความคิดอ่าน"[17]


ในยุคจอมพลสฤษดิ์ "ความเป็นไทย" ประการหนึ่งที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สร้างขึ้น เน้นไปที่ "การปกครองแบบไทย" เพื่อรองรับการใช้อำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งได้ล้มระบอบรัฐธรรมนูญแบบมีรัฐสภาและการเลือกตั้งลง อันเป็นเรื่องรุนแรงอย่างยิ่งในกระแสภูมิปัญญาของสังคมไทย ที่ได้ให้คุณค่าแก่รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งมานานหลายสิบปี เพราะมีการเสนอให้ปกครองในระบอบ "คอนสติติวชั่นแนลโมนากี" และให้มี "ปาร์ลิเมนต์" มาตั้งแต่ พ.ศ.2427 (ร.ศ.103) และหลังจากนั้นก็มีหลายฝ่ายที่เชื่อมั่นว่า การปกครองที่ดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมี "คอนสติติวชั่น" และ "ปาร์ลิเมนต์"[18]

จนแม้แต่กลุ่ม "อนุรักษ์นิยม" ในระยะหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 แล้ว ก็ยังต้องพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าระบอบ "การปกครองของไทย"นั้นมี "รัฐธรรมนูญ" มาแล้วตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง คือ "จารึกหลักที่ 1" หรือมีในสมัยอยุธยาด้วย คือ "พระคัมภีร์ธรรมศาสตร์" และยังอ้างด้วยว่าในระบอบราชาธิปไตยก็มีการเลือกตั้งตามหลัก "อเนกชนนิกรสโมสรสมมุติ"[19] ดังนั้น การสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้แก่ระบอบที่ไม่มี "คอนสติติวชั่น" และ "ปาร์ลิเมนต์" ของจอมพลสฤษดิ์จึงต้องกระทำอย่างจริงจังและโดยเร่งด่วนที่สุด

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นำคำอธิบายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมาปรับใช้ พระองค์ทรงเสนอว่า ถึงแม้ในสมัยสุโขทัยพระมหากษัตริย์จะทรงมีอาญาสิทธิ์เช่นเดียวกับการปกครองของขอม แต่หลักในการปกครองของขอมเป็นแบบนายปกครองบ่าว ส่วนของสุโขทัยเป็นแบบพ่อปกครองลูก และประเทศสยามได้ใช้ประเพณีการปกครองนี้สืบมาจนถึง "ทุกวันนี้"[20] ส่วน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้ชี้ให้เห็นว่า ระบอบ "การปกครองแบบไทย" เป็นการผสมผสานระหว่างการปกครองของสุโขทัยกับของอยุธยา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทวราชา แต่ทรงใช้พระราชอำนาจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยปราศจากการกดขี่ และยังเปิดโอกาสให้มีการเลื่อนชั้นทางสังคมอีกด้วย ทั้งนี้เพราะเป็นการปกครองตามหลักทศพิธราชธรรมของพระพุทธศาสนา[21]

ผลประโยชน์ทั้งหลายของประชาชนที่เกิดขึ้นภายใต้ "การปกครองแบบไทย" ในสมัยสุโขทัยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างในปาฐกถาเมื่อ พ.ศ.2503 นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผลประโยชน์ที่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมจะพึงได้รับ และเป็นสิ่งที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้พยายามทำให้คนไทยรับรู้ว่า "ผู้นำแบบไทย" คือจอมพลสฤษดิ์ ก็ได้กระทำเช่นเดียวกับผู้ปกครองกรุงสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในทรัพย์สิน, การปราบปรามอาชญากรรม การพัฒนาประเทศ และการอุปถัมภ์คนทั้งหลาย รวมทั้งการเป็นผู้นำที่เอื้ออาทรประชาชน คือ "ส่งเสริมการอาชีพต่าง ๆ ที่จะให้ราษฎรอยู่ดีกินดี และระงับการเบียดเบียนเช่นการยึดทรัพย์ผู้อื่นมาเป็นของตน นอกจากนั้น...ยัง...คอยช่วยเหลือให้คนตั้งตัวได้ด้วยการให้ความอุปการะต่าง ๆ อีกด้วย[22]

ส่วนดีของระบอบประชาธิปไตยตามที่คนไทยรับรู้ เช่น ความยุติธรรม และกระบวนการควบคุมฝ่ายบริหารนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในระบอบ "การปกครองแบบไทย" ที่คน ๆ เดียวมีอำนาจเด็ดขาดสูงสุด โดยไม่ต้องมีรัฐสภาและศาล[23] ซึ่งหมายความว่า "ผู้ปกครองแบบไทย" มีความชอบธรรมที่จะใช้ "ประกาศคณะปฏิวัติ" และ "มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย" ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตุลาการโดยไม่ต้องมีศาลยุติธรรม

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้นำเนื้อความจากจารึกหลักที่ 1 คือ "ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุน ผิแลผิดแผกแสกว้างกันสวนดูแท้แล้วจึงแล่งความแก่ข้าด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน" มาเป็นหลักฐานเพื่อยืนยันว่าผู้ปกครองที่มีอำนาจเด็ดขาดสูงสุด สามารถใช้อำนาจตุลาการด้วยความยุติธรรม และยังทำให้คนไทยรับรู้ด้วยว่า ในระบอบ "การปกครองแบบไทย" นี้ จะไม่เกิดปัญหาที่ "แขนขาแห่งรัฐ"หรือ "ฝ่ายบริหาร" ใช้อำนาจไปในทางมิชอบ เพราะถึงแม้จะไม่มีรัฐสภาคอยควบคุม แต่ "ประมุขแห่งรัฐ...เป็นอำนาจของประชาชนในอันที่จะควบคุมฝ่ายบริหาร"[24] อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังเน้นว่า การนับถือพระพุทธศาสนาทำให้ "ผู้นำแบบไทย" มีศีลธรรมจรรยาอย่างเต็มเปี่ยม จึงสามารถปกครองโดยไม่ต้องมีกระบวนการถ่วงดุลย์อำนาจ หรือการควบคุมตรวจสอบของประชาชน และ "ผู้นำแบบไทย" ยังเป็นผู้นำในทางศีลธรรมของคนอื่น ๆ ในรัฐอีกด้วย ดังนั้น ในขณะที่ "ผู้นำแบบไทย" เป็นผู้ควบคุมข้าราชการและฝ่ายบริหารมิให้ใช้อำนาจไปในทางที่ผิด "ผู้นำแบบไทย" เอง ก็มีธรรมะคอยควบคุมไม่ให้ประพฤติผิดเช่นกัน และ "หากประพฤติผิดธรรม…ราษฎรก็มีสิทธิ์ที่จะล้มพระราชอำนาจ และตั้งกษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นปกครองต่อไป[25]

อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้พยายามทำให้คนไทยรับรู้ว่า จอมพลสฤษดิ์ได้ทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามแบบฉบับของ "ผู้นำแบบไทย" ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาประเทศ, การตัดสินคดีความอย่างยุติธรรม,การปราบปรามการคอร์รัปชั่น การอุปถัมภ์ประชาชนในด้านต่าง ๆ ด้วยความเอื้ออาทร ดังนั้น การล้มล้างอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ เพื่อตั้งผู้ปกครองคนใหม่จึงไม่สมควรจะเกิดขึ้น

จะเห็นได้ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้ทำให้คนไทยเข้าใจว่า "การปกครองแบบไทย" ที่ "อำนาจการปกครองทั้งหลายทั้งปวง…รวมอยู่ในบุคคลเพียงคนเดียว" นั้น ส่งผลดีแก่ประชาชนไม่ต่างจากระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ได้ล้มล้างลงไปแล้ว และ "การปกครองแบบไทย" ที่ผู้ปกครองใช้อำนาจทางการศาลด้วยตนเอง ก็สามารถอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้ ระบอบการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ซึ่งเป็น "การปกครองแบบไทย" จึงมีความชอบธรรมทุกประการ

ภายหลังการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังคงพยายามทำให้จอมพลสฤษดิ์เป็นแบบอย่างในอุดมคติของ "ผู้นำแบบไทย" คือเป็นผู้ที่ไม่มีความปรารถนาในอำนาจ แต่จำเป็นจะต้องเข้ามา "ใช้ชีวิตทางการเมือง" เพราะมีความจงรักภักดีอย่างสูงต่อพระมหากษัตริย์จนต้องเข้ามาพิทักษ์ราชบัลลังก์ และแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองให้พ้นจากภาวะวิกฤติ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนว่า "ท่านก็จำเป็นที่จะต้องตัดสินใจเข้ามาดำเนินการทางการเมือง และถือบังเหียนการบริหารประเทศ ทั้ง ๆ ที่ผมเข้าใจว่าเป็นการฝืนต่อความรู้สึกและความประสงค์ของท่าน[26]

เพื่อให้ "การปกครองแบบไทย" เป็นที่ยอมรับว่าเป็นระบอบการปกครองที่ดี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์พยายามทำให้คนไทยเห็นว่า ระบบศักดินาของไทยซึ่งเป็นรากฐานของการปกครองแบบไทยในสมัยโบราณนั้น มิได้เป็นระบบสังคมที่เลวร้ายดังที่ "ฝ่ายซ้าย" โจมตี เพราะสังคมไทยได้เกิดระบบศักดินาที่ไม่เกี่ยวกับการแบ่งที่ดิน แต่เป็นระบบการปกครองที่ใช้ "นาแห่งศักดิ์" ในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของคน และการถือครองที่ดินในเมืองไทยสมัยหลังก็ยังคงสะท้อนว่า ผู้มีอำนาจมิได้เคยยึดที่ดินส่วนใหญ่มาเป็นของตน "ตามสถิติที่ปรากฏในปัจจุบันปรากฏว่า เนื้อที่ไร่นาในประเทศไทยนั้นเป็นของชาวไร่ชาวนานั้นเองเป็นส่วนมาก ข้อเท็จจริงเช่นนี้จะเป็นผลที่เกิดมาจากระบอบสังคมอันผู้มีอำนาจเข้าถือที่ดินเสียเป็นส่วนใหญ่เช่นของฝรั่งนั้น มิได้เป็นแน่นอน[27]

การนิยาม "ความเป็นไทย" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ช่วยให้คนไทยเข้าใจ "ความหมาย" (significance) ของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากบทบาทของนายกรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล กล่าวคือ ทำให้คนไทยรับรู้ว่า ผู้นำที่มีความเมตตากรุณาเอื้ออาทรนั้น ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาประเทศให้คนไทยอยู่เย็นเป็นสุข พ้นจากความทุกข์อันเกิดแต่ความยากจนข้นแค้นเท่านั้น แต่ยังช่วยค้ำจุนรักษา "ความเป็นไทย" อันมีคุณค่า ซึ่งแม้ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงเนื่องจากความเจริญทางวัตถุมากเพียงใด คนไทยก็จะไม่สูญเสียวิถีชีวิตแบบไทยอันเต็มไปด้วยความสงบสุขและความมั่นคง เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่เมตตา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจต่อกัน และมีความสามัคคีกัน ภายใต้สถาบันหลักที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยคือพระมหากษัตริย์และพระพุทธศาสนา อันทำให้คนไทยยึดมั่นในความดีงามทั้งปวง

ขณะเดียวกันสังคมไทยก็มีกลไกในการปกครอง และการปกป้องเอกราชของชาติที่มีประสิทธิภาพ คือ ข้าราชการและทหาร ที่จะช่วยให้ภาระกิจทั้งหลายของผู้นำดังที่กล่าวมาข้างต้นบรรลุผล จนอาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย หรือ "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม"[28] นั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มีส่วนอย่างมากในการ "สร้าง" และทำให้มีเสถียรภาพในสังคมการเมืองไทยตลอดมา

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยืนยันว่าไม่ควรเรียกการปกครองของไทยว่าเป็น "ประชาธิปไตยแบบไทย" ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงอาจจะอยู่ที่ความต้องการจะยืนยันในความเป็นผู้รอบรู้สูงสุดของตนเกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" และ "ความเป็นอื่น" ประกอบกับความต้องการที่จะทำให้คนไทยยอมรับอำนาจเผด็จการของรัฐบาลในเวลานั้น โดยปราศจากคำถามและการถกเถียงในเชิงอุดมการณ์อย่างสิ้นเชิง เพราะได้เคยมีการใช้คำว่า "ประชาธิปไตยใหม่" โดย "ฝ่ายซ้าย" มาแล้วในทศวรรษ 2490 หากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอมใช้คำว่า "ประชาธิปไตยแบบไทย" ก็จะเปิดช่องให้มีการถกเถียงกันต่อไปว่าเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือไม่ และเมืองไทยควรจะเป็นประชาธิปไตยแบบใดกันแน่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางอุดมการณ์ตามมา แต่ยังจะส่งผลให้เกิดเสียงเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพตามคตินิยมของระบอบประชาธิปไตยทั่วไป อัน "อาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากได้มากทีหลัง"[29] อีกด้วย

อนึ่ง การสร้าง "ความเป็นไทย" วางอยู่บนพื้นฐานความคิดของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยอยู่มากทีเดียว โครงสร้างสังคมไทยที่มีการแบ่งชั้นอย่างละเอียดซับซ้อนเป็นเรื่องที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เห็นว่าถูกต้องเหมาะสม แม้ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จะพูดถึง "ประชาธิปไตย" "สิทธิ" "เสรีภาพ" "เสมอภาค" ฯลฯ อยู่เสมอ แต่คำเหล่านี้ก็มีความหมายเฉพาะตามที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ต้องการให้คนไทยรับรู้ในสถานการณ์หนึ่ง ๆ

ม.ร.ว.พักตร์พริ้ง ทองใหญ่ เคยเล่าว่า ตามปรกตินั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ให้ความสำคัญแก่การ "รู้ที่ต่ำที่สูง" เป็นอย่างมาก[30] แม้แต่ในการฝึกโขนธรรมศาสตร์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็มีจุดมุ่งหมายหลักอยู่ที่การทำให้นักศึกษามี "จิตใจแบบไทย" คือเป็นคนที่ "รู้ที่ต่ำที่สูง" รวมทั้งการทำให้ "ลูกจีน" กลายเป็นไทย คือมี "จิตใจแบบไทย" ด้วย[31]

ดังนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จึงนิยาม "ความเป็นไทย" เพื่อจรรโลงโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น เพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่ง "ระเบียบ, ความมั่นคง, ความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้า" โดยที่การยึดมั่นใน "ความเป็นไทย" จะส่งผลให้คนในแต่ละชั้นปฏิบัติหน้าที่ตามสถานภาพทางสังคม และการเลื่อนชั้นหรือลดชั้นก็จะเป็นไปตามหลักการที่ว่า "คนทุกคนจะอยู่ในฐานะอย่างไร ก็แล้วแต่ความสามารถ หรือ "กรรม" ของตน"[32]

อภิสิทธิ์ในการเลื่อนชั้นตามปรกติแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเนื่องจาก "ความสามัคคีอันแท้จริงจะเกิดขึ้นได้เพราะจะไม่มีความรู้สึกว่าใครได้เปรียบใคร" แต่เมื่อเลื่อนชั้นหรือมีฐานะสูงขึ้นด้วยความสามารถหรือด้วย "กรรม" ของตนแล้ว ก็สามารถจะมีสิทธิและมีหน้าที่ต่อสังคมเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าเมื่อมีอภิสิทธิ์ ก็จะต้องมีหน้าที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้น คนจึงมีสิทธิและหน้าที่ไม่เท่าเทียมกัน ตามหลักการที่ว่า "การกระทำให้สังคมวัฒนาถาวรรุ่งเรืองต่อไปจึงเป็นภาระกิจของสมาชิกทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน และภาระนั้นจึงจำต้องเฉลี่ยไประหว่างบุคคลตามแต่ความสามารถที่จะแบกภาระนั้นได้ มิใช่ว่าแต่ละคนจะเอาแต่สิทธิ์ต่าง ๆ ส่วนหน้าที่นั้นไม่มีใครยอมรับ"[33]

ในทัศนะของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ การพัฒนาเศรษฐกิจในสมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมา และการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมอเมริกัน ทำให้เกิดปัญหา "ความเป็นไทย...ลดน้อยถอยลงไปอย่างน่าวิตก ...เราลืมความเป็นไทยกันมากขึ้นทุก ๆ ที[34] อันจะทำให้ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมและระบบ "การปกครองแบบไทย" ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เชื่อว่าถูกต้องและดีงามไม่สามารถดำรงอยู่ได้ จำเป็นจะต้องทำให้คนไทยรับรู้ว่าอะไรคือ "ความเป็นไทย" "เพื่อจะได้เป็นพลเมืองดีที่สามารถรักษาสังคม รักษาระบบการปกครองที่เรียบร้อยไว้ได้ในที่สุด"[35]

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์พยายามทำให้คนไทยยึดมั่นใน "ความเป็นไทย" ด้วยการชี้ว่า หากคนไทยไม่รู้จัก "ความเป็นไทย" และไม่สามารถรักษา "ความเป็นไทย" เอาไว้ได้ ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ "กำลังเดินทางไปสู่ความสาบสูญทางประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่าจะไม่สาบสูญในทางกายก็สาบสูญในทางเป็นชาติ"[36] และถ้าหากว่ามีแต่เพียงพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจแล้ว จะไม่เพียงพอสำหรับการรักษาความเป็น "ชาติไทย" เอาไว้ได้ เพราะชาติอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาก็มีอีกหลายชาติ จำเป็นจะต้องเน้น "ความเป็นไทย" ในด้านอื่น ๆ ควบคู่กับพระพุทธศาสนา

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จึงเน้นว่า "ชาติไทย" ดีกว่าชาติอื่น เพราะมี "ความเป็นไทย" อันมีคุณค่าหลายอย่าง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ไทย การปกครองแบบไทย ภาษาไทย ศิลปะไทย เช่น วรรณคดี ละคร ตลอดจนมารยาทไทย และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ "ความเป็นไทย" เหล่านี้ล้วนแต่ช่วยจรรโลงโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น ซึ่งเป็นรากฐานของระบอบการเมืองแบบเผด็จการ ดังนั้น ในขณะที่สนับสนุนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ถึงกับเน้นแต่พระพุทธศาสนาแบบโลกียธรรม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็พยายามเหนี่ยวรั้งให้ความสัมพันธ์ทางสังคมยังคงเป็น "แบบไทย" อยู่เสมอ

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มีความต้องการเช่นเดียวกับปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ต้องการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญทางวัตถุแบบตะวันตก แต่รักษาความสัมพันธ์ทางสังคมแบบไทยเอาไว้ จึงพยายามยืนยันว่า

ที่ผมเห็นว่าเป็นไทยแท้อยู่จริง ๆ นั้น ก็เห็นจะได้แก่จิตใจของคนไทย ซึ่งแต่โบราณมาจนถึงทุกวันนี้ เราก็ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลง เราก็ยังเป็นไทยแท้กันอยู่นั่นเอง…และความสัมพันธ์ในบรรดาคนไทยด้วยกันนั้น ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน คนไทยเราส่วนใหญ่ที่เป็นไทยแท้ ๆ ก็มีความจงรักภักดีเทอดทูนพระมหากษัตริย์นั้นประการหนึ่ง นับถือบิดามารดาครูอาจารย์ ถือเด็กถือผู้ใหญ่ คือว่า เด็กก็นับถือผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็เมตตาปรานีต่อเด็ก

ความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นความสัมพันธ์ที่ดี เป็นความสัมพันธ์แบบไทย ผมเห็นว่าที่ไหนก็ตาม…เมื่อคนไทยพบกันแล้ว ความสัมพันธ์เช่นนี้ก็ย่อมเกิดขึ้น และทำให้รู้ว่าคนไทยเรานั้นแตกต่างกว่าคนชาติอื่นเขา และมีอะไรดีกว่าเขามาก[37]

ในขณะเดียวกัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ชี้ให้เห็นว่าคนไทยไม่ควรจะรักษา "ความเป็นไทย" ในทางวัตถุเอาไว้ เพราะไม่เหมาะแก่วิถีชีวิตในปัจจุบันและจะก่อให้เกิดปัญหาแก่ชีวิตได้มาก "…เรือนแบบไทยแท้ฝาประกลนี้ก็มีอยู่ในเฉพาะภาคกลาง…แพง…หน้าหนาว หนาวที่สุดเลย…พอถึงหน้าฝนก็เปียกที่สุด…บ้านไทยแท้นั้นเป็นเรื่องของพิพิธภัณฑ์…การนุ่งผ้าแบบไทยไม่สะดวก…การรับประทานอาหาร…จะให้กลับเป็นไทยแท้…คงจะขลุกขลักมาก"[38] ทั้งนี้ก็เพราะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ต้องการให้คนไทยยอมรับการพัฒนาประเทศแบบตะวันตกนั่นเอง

-------------------------------------------------------


คลิกไปอ่านต่อจากที่นี่
การสร้างความเป็นไทยกระแสหลัก และ"ความจริง"ฯ (ตอนที่ ๒)

 

เชิงอรรถ

[1] เสถียร ลายลักษณ์ (ผู้รวบรวม), "พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110" ใน ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 13 พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2478. หน้า 79-80.

[2] Saichol Sattayanurak, "Intellectuals and the Establishment of Identities in the Thai Absolute Monarchy State", Journal of the Siam Society 90, 1 & 2 (2002): 101-124.

[3] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ" รัฐศาสตร์สาร 21, 3 (2542) : 1-104.

[4] Saichol Sattayanurak, "Intellectuals and the Establishment of Identities in the Thai Absolute Monarchy State", Journal of the Siam Society 90, 1 & 2 (2002): 101-124.

[5] สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546.

[6] สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545. หน้า 76-78.

[7] เรื่องเดียวกัน.

[8] Kasian Tejapira, Commodifiing Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958. Kyoto Area Studies on Asia, Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University, Volume 3, 2001. p.130-137.

[9] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ร่วมกับฝ่ายสิ่งพิมพ์ โครงการ 60 ปีประชาธิปไตย, 2535. หน้า 151-156.

[10] หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯไทม์ ปีที่ 3 เล่ม 13 พ.ศ. 2492 กล่าวถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชว่า "เขาต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งของเมืองไทย" ในเวลาต่อมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เองได้ประกาศอย่างเปิดเผยเป็นระยะ ๆ ว่าต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี (โปรดดู "สยามรัฐหน้า 5" ใน หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 14 ธันวาคม 2513 และวันที่ 3 มิถุนายน 2514 เป็นอาทิ.

[11] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, "สามยุค" หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ (3 กุมภาพันธ์ 2492) ใน คึกฤทธิ์ว่า. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ชัยฤทธิ์, 2495. หน้า 106-107.

[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 190-191.

[13] โปรดดู ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, คึกฤทธิ์ ปราโมชกับปัญหาของไทยสมัยเลือกตั้งไม่เรียบร้อย. กรุงเทพฯ: เกษมบรรณกิจ, 2511.

[14] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, "คึกฤทธิ์กับการเมืองไทย" ใน คึกฤทธิ์ 2528. กรุงเทพฯ: สวิชาญการพิมพ์, 2528. หน้า 40.

[15] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526. หน้า 124-127.

[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า 235-244.

[17] สุลักษณ์ ศิวรักษ์, "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชที่ข้าพเจ้ารู้จัก" ใน คึกฤทธิยาลัย. กรุงเทพฯ: สถาบันสันติประชาธรรม, 2539. หน้า 8-11.

[18] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "สองกระแสภูมิปัญญาในการปฏิวัติสยามทศวรรษที่ 2470" ใน ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2546.หน้า 162-167.

[19] โปรดดูรายละเอียดใน เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช," แนวความคิดประชาธิปไตยแบบไทย" วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาชาวิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536. หน้า 39-126.

[20] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, "ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ" ใน ประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2516. หน้า 8-9.

[21] ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, "การปกครองสมัยสุโขทัย" และ ""สังคมสมัยอยุธยา" ใน ประวัติศาสตร์และการเมือง. หน้า 31-67.

[22] ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, "การปกครองสมัยสุโขทัย", หน้า 37-38.

[23] เรื่องเดียวกัน.

[24] เรื่องเดียวกัน, หน้า 36-37.

[25] เรื่องเดียวกัน, หน้า 37.

[26] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, "อสัญญกรรมของจอมพลสฤษดิ์" เพื่อนนอน 9 ธันวาคม 2506 ใน คึกฤทธิ์ถกเมืองไทย. กรุงเทพฯ: บรรณาคาร, 2514. หน้า 290.

[27] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ฝรั่งศักดินา กรุงเทพฯ: ก้าวหน้า, 2504. หน้า 224.

[28] นิธิ เอียวศรีวงศ์, "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" ใน ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์ กรุงเทพฯ: มติชน, 2538. หน้า 136-171.

[29] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, "ประชาธิปไตยแบบซูการ์โนในอินโดนีเซีย" (เพื่อนนอน 2 ตุลาคม 2506) ใน ประชุมพงศาวดารประชาธิปไตย. บรรณาคาร, 2512. หน้า 241.

[30] สัมภาษณ์ ม.ร.ว.พักตร์พริ้ง ทองใหญ่, หนังสือพิมพ์ประชาชาติ 9 มีนาคม 2518.

[31] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช,"ทรรศนะลิขิตที่ 3 การสืบเนื่องและการถ่ายทอดนาฏศิลป์ไทย" เอกสารประกอบการสัมมนานาฏศิลป์และดนตรีไทย. สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 23-24 มิถุนายน 2522. หน้า 40.

[32] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, "คนมีคนจน" ใน เก็บเล็กผสมน้อย. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2502. หน้า 476. (เน้นโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์)

[33] เรื่องเดียวกัน, หน้า 475-476. (เน้นโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์)

[34] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, "ของดีของไทย" (เพื่อนนอน 6 มกราคม 2506) ใน โลกกับคน. กรุงเทพฯ : บรรณาคาร 2509, หน้า 212-213.

[35] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช,"การศึกษาของชาติ จะป้อนการศึกษาแก่พลเมืองอย่างไรดี" ( เพื่อนนอน 19 กุมภาพันธ์ 2506) ใน คึกฤทธิ์ถกเมืองไทย. กรุงเทพฯ : บรรณาคาร 2514. หน้า 203,

[36] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ยิว. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543. หน้า 47.

[37] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, "ไทย(โบราณ)เนรมิต" (เพื่อนนอน 26 เมษายน 2506) ใน คึกฤทธิ์ถกเมืองไทย. กรุงเทพฯ : บรรณาคาร 2514, หน้า 266-267.

[38] เรื่องเดียวกัน, หน้า 261.

++++++++++++++++++++++++++++++

บรรณานุกรม

เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช. " แนวความคิดประชาธิปไตยแบบไทย" วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาชาวิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536.

คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. "การปกครองสมัยสุโขทัย" ใน ประวัติศาสตร์และการเมือง. ประวัติศาสตร์และการเมือง หนังสืออ่านประกอบวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2516.

. "การศึกษาของชาติ จะป้อนการศึกษาแก่พลเมืองอย่างไรดี" ( เพื่อนนอน 19 กุมภาพันธ์ 2506) ใน คึกฤทธิ์ถกเมืองไทย. กรุงเทพฯ : บรรณาคาร 2514. หน้า 203,

_____________. "ข้อคิดในการเดินทางไปต่างประเทศ" แสดงที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 30 พฤษภาคม 2502. ใน ปาฐกถาของคึกฤทธิ์ กรุงเทพฯ: คลังวิทยา 2503.

_____________. "ของดีของไทย" (เพื่อนนอน 6 มกราคม 2506) ใน โลกกับคน กรุงเทพฯ : บรรณาคาร 2509.

_____________. "ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่" ใน หนังสืออนุสรณ์คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2539.

_____________. "คนมีคนจน" ใน เก็บเล็กผสมน้อย. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2502.

_____________. "คึกฤทธิ์กับการเมืองไทย" ใน คึกฤทธิ์ 2528. กรุงเทพฯ: สวิชาญการพิมพ์, 2528.

_____________. คึกฤทธิ์ ปราโมชกับปัญหาของไทยสมัยเลือกตั้งไม่เรียบร้อย กรุงเทพฯ: เกษมบรรณกิจ, 2511.

_____________. "ทรรศนะลิขิตที่ 3 การสืบเนื่องและการถ่ายทอดนาฏศิลป์ไทย" เอกสารประกอบการสัมมนานาฏศิลป์และดนตรีไทย สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 23-24 มิถุนายน 2522.

_____________. "ไทย(โบราณ)เนรมิต" (เพื่อนนอน 26 เมษายน 2506) ใน คึกฤทธิ์ถกเมืองไทย. กรุงเทพฯ : บรรณาคาร 2514.

_____________. "ในหลวงของประชาชน" อ้างใน สละ ลิขิตกุล ในหลวงกับคึกฤทธิ์. กรุงเทพฯ : สรรพศาสตร์, 2546.

_____________. "ประชาธิปไตยแบบซูการ์โนในอินโดนีเซีย" (เพื่อนนอน 2 ตุลาคม 2506) ใน ประชุมพงศาวดารประชาธิปไตย บรรณาคาร, 2512.

คึกฤทธิ์ ปราโมช,ม.ร.ว. ฝรั่งศักดินา กรุงเทพฯ: ก้าวหน้า, 2504.

_____________. ยิว กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543.

_____________. "สงครามผิวในสหรัฐ" (3) ("เพื่อนนอน" 17 มิถุนายน 2506) ใน สงครามผิว. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2545.

_____________. "สยามรัฐหน้า 5" (4 มกราคม 2515) ใน สยามรัฐ หน้า 5 เล่ม 9. กรุงเทพฯ: ก้าวหน้า, 2516.

_____________. "สามยุค" หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ (3 กุมภาพันธ์ 2492) ใน คึกฤทธิ์ว่า. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ชัยฤทธิ์, 2495.

_____________. "อสัญญกรรมของจอมพลสฤษดิ์" เพื่อนนอน 9 ธันวาคม 2506 ใน คึกฤทธิ์ถกเมืองไทย. กรุงเทพฯ: บรรณาคาร, 2514

ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จฯ กรมพระยา. "ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ" ใน ประวัติศาสตร์และการเมือง หนังสืออ่านประกอบวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2516.

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. "พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ" รัฐศาสตร์สาร 21, 3 (2542) : 1-104.

_____________. "สองกระแสภูมิปัญญาในการปฏิวัติสยามทศวรรษที่ 2470" ใน ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2546.

_____________. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ร่วมกับฝ่ายสิ่งพิมพ์ โครงการ 60 ปีประชาธิปไตย, 2535.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. "ชาตินิยมในขบวนการประชาธิปไตย" ใน ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ กรุงเทพฯ: มติชน, 2538.

_____________. "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" ใน ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์ กรุงเทพฯ: มติชน, 2538.

_____________. สภาพเศรษฐกิจสังคมไทยยุคใหม่ จริยธรรมในการศึกษาสำหรับอนาคต, กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2536.

ประจักษ์ ก้องกีรติ. "ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ: ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ.2506-2516)" วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณพิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545.

พักตร์พริ้ง ทองใหญ่, ม.ร.ว. "บท สัมภาษณ์ ม.ร.ว. พักตร์พริ้ง ทองใหญ่" หนังสือพิมพ์ประชาชาติ 9 มีนาคม 2518.

สายชล สัตยานุรักษ์. การเมืองและการสร้างความเป็นไทยโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รายงานผลการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548.

_____________. ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.

_____________. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546.

สุลักษณ์ ศิวรักษ์. "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชที่ข้าพเจ้ารู้จัก" ใน คึกฤทธิยาลัย. กรุงเทพฯ: สถาบันสันติประชาธรรม, 2539.

เสถียร ลายลักษณ์ (ผู้รวบรวม). "พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110" ใน ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 13 พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2478.

Kasian Tejapira, Commodifiing Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958. Kyoto Area Studies on Asia, Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University, Volume 3, 2001.

Saichol Sattayanurak. "Intellectuals and the Establishment of Identities in the Thai Absolute Monarchy State", Journal of the Siam Society. 90, 1 & 2 (2002): 101-124.


 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 630 เรื่อง หนากว่า 8300 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(จะมีการปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

มักเชื่อกันว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นผู้มีจิตวิญญาณเป็นพวกกษัตริย์นิยมอย่างแท้จริง แต่จากผลงานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เองแสดงให้เห็นว่า ก่อนหน้า พ.ศ 2494 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เคยโจมตีชนชั้นนำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าเป็น "สังคโลกร้าวชำรุด" ซึ่งมีแต่ "ความเห็นที่ตายตัว เปลี่ยนแปลงไม่ได้" และเต็มไปด้วย "ความเห็นแก่ตัว" นอกจากนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังแสดงความไม่พอใจที่ถูก "กาหน้า" ว่าเป็นพวกกษัตริย์นิยม

สมเด็จฯ กรมพระยาวชิญาณวโรรส ทรงทำให้จินตภาพ "ชาติไทย" ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นหัวใจ และทรงนำ "ชาติไทย" ไปสู่การเป็นชาติที่มีอารยธรรมเคียงบ่าเคียงไหล่ชาติตะวันตก กลายเป็นจินตภาพที่ชัดเจนและเป็นที่รับรู้ของคนทุกชั้น เพราะพระองค์ได้ทรงทำให้ความคิดทั้งหลายเกี่ยวกับ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นมานั้น กลายเป็นแนวความคิดทางพุทธศาสนา (Buddhistization) แล้วทรงถ่ายทอดปลูกฝังความคิดเหล่านั้นด้วยการเทศน์ การจัดหลักสูตรการศึกษาของพระสงฆ์ และทรงพระนิพนธ์ตำราทางพุทธศาสนาจำนวนมาก เพื่อให้พระภิกษุสามเณรใช้ในการศึกษาและการสอบ

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 630 เรื่อง หนากว่า 8300 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 150 บาท
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้อ้างอิง