บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 635 หัวเรื่อง
สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมพื้นถิ่น
อ.ศรันย์
สมันตรัฐ : เขียน
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
บทความบริการฟรี
ม.เที่ยงคืน
The
Midnight 's free article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บิณฑบาตเรือและเรื่องที่เกี่ยวข้อง
วงศาวิทยาสังเขปว่าด้วยสถาปัตยกรรมภูมินิทัศน์ถิ่น
ศรันย์
สมันตรัฐ
สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หมายเหตุ
: บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน พร้อมภาพประกอบ เรื่อง
วงศาวิทยาสังเขปว่าด้วยสถาปัตยกรรมภูมินิทัศน์ถิ่น,บิณฑบาตเรือและเรื่องที่เกี่ยวข้อง
A brieft genealogy of Vernacular Cultural Landscape Architectures,
Bin-tha-bart-rua with related issues
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๗ สิงหาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4)
บทคัดย่อ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยชื่อเดียวกัน ในชุดโครงการวิจัยการศึกษาความเปลี่ยนแปลงการธำรงอยู่และการพลิกฟื้นวัฒนธรรม
การจัดการทรัพยากรเพื่อสันติภาพและความยั่งยืนมหาวิทยาลัยมหิดล โดยสนใจการบิณฑบาตทางเรือ
ผู้คน และสถาปัตยกรรมพื้นบ้าน ทิ่เกี่ยวเนื่องในระบบสายน้ำสัมพันธ์ชุมชน
สนใจบริบทแวดล้อมที่มีต่อวิถีชีวิตมนุษย์และรูปแบบเนื้อหาของสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมท้องถิ่น
งานศึกษาชิ้นนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจในภาคสนามและการวิจัยเชิงคุณภาพในแนวทางวงศาวิทยาโดยนัยของฟูโกเดียน โดยเลือกกรณีศึกษาที่ว่างและเวลาผ่านผู้คนและวัดในระบบชีวิตชาวสวน ครอบครัวหนึ่ง ในพื้นที่รอยต่ออำเภอบางกรวยบางใหญ่ นนทบุรี
ผลการศึกษาพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับการบิณฑบาตทางน้ำในหลายลักษณะ อันเนื่องมาจากทักษะที่ขาดหายไปของคนรุ่นใหม่ ที่เปลี่ยนไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต แต่สิ่งที่คงเหลืออยู่มีความสำคัญมาก ได้แก่ สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องอันเป็นประจักษ์พยานและภูมิปัญญาที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศน์ และกลไกทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ในฐานะของการผลิตซ้ำ เพื่อเป็นเครื่องมือของการพลิกฟื้นคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมทั้งในเขตเมืองและชนบท
นอกจากนี้ยังพบว่า
ความไม่เข้าใจในระบบวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยโครงการพัฒนาทั้งภาคเอกชนและรัฐ เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการเสื่อมถอยของสภาพแวดล้อมและความนับถือตนเองของผู้คน
คำสำคัญ วัด,สถาปัตยกรรมถิ่น,เรือกสวน, พื้นถิ่น,คลอง, ภูมินิทัศน์วัฒนธรรม
คำนำ
บทความต่อไปนี้จะศึกษาถึง การเปลี่ยนแปลง การธำรงอยู่และการพลิกฟื้นทางวัฒนธรรมผ่านกรณีบางประการในส่วนที่คาบเกี่ยวอยู่ระหว่าง
ความกำกวมของความเป็นเมืองใหญ่และชนบท ในบริเวณขอบปริมณฑลด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ
เป็นส่วนของพื้นที่ๆได้รับความสนใจ จากนักวิชาการผังเมือง สังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา
เนื่องจากบริบทและปรากฏการณ์ที่น่าสนใจทำให้มีการศึกษาผ่านงานวิชาการจำนวนมาก
งานเหล่านี้ได้ถูกอ้างอิงและทบทวนวรรณกรรมในบทความชื่อ "Field of Cultural
Capital: Land, livelihood and landscape transformation on the rural-urban
fringe" 2002, Marc Askew ซึ่งเป็นฐานความรู้ทางประวัติศาสตร์สังคมของการศึกษาใน
ครั้งนี้
บทความจะนำเสนอตัวบท โดยผ่านกรอบมุมมองสามกรอบ ได้แก่ กรอบของการปฏิสังสรรค์ทางวัฒนธรรม โดยมีวัดหัวคูและวัดพระเงิน บริเวณรอยต่อ อำเภอบางใหญ่และบางกรวยเป็นกรณีศึกษา กรอบที่สองได้แก่ กรอบมุมมองของชาวสวนท้องถิ่นคนใน(Insider) ผ่านเวลาราว 3 ชั่วรุ่นตั้งแต่ พ.ศ. 2420 ถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณหนึ่งร้อยยี่สิบปี และกรอบที่สามเป็นเรื่องของประจักษ์พยาน (Eye Witness) ของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น พิธีกรรม และภูมินิทัศน์วัฒนธรรม คูคลอง อันเป็นระบบเครือข่ายของชีวิตวัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิม โดยที่กรอบมองทั้งสามเป็นเพียงมุมมองต่างกันแต่มีสัมพันธภาพซึ่งกันในระบบโครงสร้างหน้าที่ชุดหนึ่ง แบ่งออกเป็น 9 ตอน รวมถึงการเสนอแนะและบทสรุป
วิธีการศึกษา
การศึกษาชิ้นนี้เป็นใช้ระเบียบวิธีเชิงคุณภาพ ได้แก่ การสังเกต การสำรวจรูปลักษณ์
และปรากฏการณ์ผ่านสถาปัตยกรรมท้องถิ่น การสัมภาษณ์อย่างไม่มีโครงสร้างเคร่งครัด
(Unstructured interview)(ชาย:2547) และการให้รหัสความหมายการสืบค้นการนำเสนอโดยวิธีการวงศาวิทยา(genealogy)ตามนัยของฟูโกเดียนที่สนใจที่ว่างและเวลา
โดยศึกษาการเชื่อมโยงการเจาะลึกตลอดในบริบทกายภาพ และประวัติศาสตร์ (ชัยรัตน์:2545)
นำเสนอเป็นบทย่อย 9 ตอนดังต่อไปนี้
1. แม่ช้อย(เหรย)
กับยายเขียว
"ยายเป็นคนคลองบางม่วง เกิดที่นี่ อยู่ที่นี่
ไม่ไปไหน..."
โครงสร้างของบทความนี้ เป็นผลจากการเรียบเรียงมาจากบทสัมภาษณ์สมาชิกในครอบครัวชาวบ้านครอบครัวหนึ่งโดยเฉพาะความทรงจำที่แม่นยำของช้อย เต็มรักษ์ เป็นตัวแทนชีวิตชาวนาชาวสวนเติบโตในยุคที่รุ่งเรืองของชาวนนทบุรี มีโลกทัศน์ที่เชื่อมโยงอดีตกับของคนรุ่นชวด(รุ่นพ่อแม่คุณยาย) ที่สำคัญ ได้แก่ หลวงปู่คร้าม เฉื่อย จันทร์คำ เขียว(ไม่ทราบนามสกุล) ตุ๋ย เตี้ยสุด และเส็ง เตี้ยสุด ฉายให้เห็นความสัมพันธ์ที่ผู้คนมีต่อสังคมของพวกเขา ผ่านรุ่นของคุณยาย ส่งต่อไปที่คนรุ่นลูก เช่น ประสาน ซึ่งแต่งงานกับไพบูลย์และ ริเริ่มกิจการที่พัก(Home stay) จนถึงรุ่นหลาน ประไพภัค,ประไพภัทร,พรพรรษา ต่อเนื่องจนปัจจุบัน กับการสำรวจและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
คุณยายแนะนำชื่อตัวเองอย่างนี้ "พ่อฉันไปอำเภอใส่ชื่อฉันว่าช้อยให้คล้องกับชื่อแกเฉื่อย แต่ย่าเรียกฉันว่า เหรย "และได้กล่าวถึงยายเขียวซึ่งเคยมาช่วยแกเลี้ยงลูกคนที่สองว่า "แกอ่านหนังสือไม่ออก แกมีหีบไม้สักใส่หนังสือที่แกเก็บสะสมในจำนวนนั้น เล่มหนึ่งคือหนังสือพุทธทำนายแกเอามาให้ฉันอ่านให้ฟัง" และตอนที่คุณยายชอบจำได้แม่น
"..แผ่นดินจะเป็นริ้วปลา ท้องฟ้าจะเป็นใยแมงมุม มีทางแต่จะไม่มีคนเดิน
บ้านเมืองจะเป็นกล่องไม้ขีด พ่อแม่ลูกจะพลัดพรากกัน....."
ยายเขียวยังย้ำกับยายว่า " .อายุฉันจะไม่ได้เห็นหรอก แต่แม่เหรยจะได้เห็น"
คุณยายยังจำถึงข้าวฟางลอยที่หลวงแจกให้หลังน้ำท่วมได้ต้น มันยาวนักแกเรียกน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นว่า "น้ำล้างโลก, น้ำล้างเลือดญี่ปุ่น." หลังจากนั้นแกเลิกทำนาด้วยตัวเองเปลี่ยนไปให้คนอื่นเช่าที่ทำนา เมื่อ พ.ศ. 2510 หลังจากนั้นอีก 19 ปี (สารคดี, 193) นนทบุรีก็เริ่มเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินสู่ยุคหมู่บ้านจัดสรร ปัจจุบันคุณยายอยู่บ้านเป็นขวัญเรือนให้ลูกหลาน แกชอบไปวัดไปทำบุญไปฟังธรรมกับหลานๆ แขกพักฝรั่งที่สนใจก็จะไปด้วยกัน
2.
นนทบุรีโบราณ
"ตลาดขวัญ"
นนทบุรีฝั่งตะวันตกเป็นเขตที่ทำสวนมานาน มีประชากรตั้งถิ่นฐานหนาแน่นกว่าฝั่งตะวันออก
โดยมีคลองบางกอกน้อยเป็นแกนกลางของพื้นที่ด้านนี้ เราทราบว่าคลองนี้เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าที่เปลี่ยนสภาพมาเป็นคลอง
ก็เนื่องจากคลองลัดที่ขุดในรัชสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช(พ.ศ.2077-2089)ได้ขยายเป็นแม่น้ำในปัจจุบัน
นอกจากนี้ลาร์ลูแบร์ก็ได้บันทึกถึงนนทบุรีโบราณในนามบ้านตลาดขวัญ แหล่งผลิตผลไม้ก่อนยกฐานะเป็นเมืองใน พ.ศ.2092 ในรัชกาลพระมหาจักรพรรดิ์ กล่าวได้ว่าที่นี่มีการตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านสวนรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์มานานกว่าสี่ร้อยปี โดยมีวัดโบราณจำนวนมากเป็นประจักษ์พยาน(Askew:197) วัดโบราณหลายวัดถูกอ้างอิง(Citation)ทางรูปแบบประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม เช่น
หน้าบันไม้แกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ อุโบสถแบบมหาอุตทรงโค้งท้องสำเภา ที่วัดปราสาทสมัยอยุธยาตอนปลาย, หน้าบันนารายณ์ทรงครุฑสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ อุโบสถวัดสุวรรณารามคลองบางกอกน้อย(น.ณ ปากน้ำ,2543:21), หน้าบันทรงวิลันดาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชของวัดชมภูเวก(น.ณ ปากน้ำ,2543:45) หอระฆังทรงคฤห์วัดละมุดใน หอระฆังเครื่องไม้, หอไตรทรงโรงและศาลาท่าน้ำแบบมุขลดที่วัดสิงห์ (สมคิด,2543:125,123,142,180) วัดอัมพวัน วัดละมุดใน และ วัดบางขนุน(ศรัณย์:184-202) สำหรับวัดนี้ ช้อย เต็มรักษ์ ระบุว่าชื่อเดิมคือ วัดบางขนุนขุนกอง นอกจากนี้ก็ยังมีการศึกษาระดับตำบลบางขนุนและพิมลราชของ มาร์ก เอสกิว ที่ระบุว่า ที่วัดบางขนุนนี้ยังชาวบ้านยังคงภูมิใจในประเพณีในการใช้กระทงใบตองเป็นภาชนะหลักในงานทำบุญประเพณี (Askew:220)
การทำสวนผลไม้ในที่ราบลุ่มภาคกลางนั้นถือว่าเป็นตัวอย่างภูมิปัญญาในการยกร่องพื้นที่ "ทะเลตม" ในสภาพนิเวศน์เดิมให้เป็นสวนผลไม้ เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิศาสตร์ให้เอื้อต่อการปลูกไม้ผลยืนต้นนับเป็นตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนสภาพธรรมชาติให้เข้ากับพัฒนาการยั่งยืนอย่างวิเศษสุด โดยคูคันคลองที่เกิดขึ้นเอื้อต่อการใช้สายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง ทั้งในการผลิตภาคเกษตรกรรม และการคมนาคมได้หลอมรวมเป็นวัฒนธรรมชาวนาชาวสวน อันเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมแกนหลักในสังคมไทยภาคกลางสยามประเทศนับแต่บัดนั้น
3. คูคลองสะพาน
"แถวนี้บิณฑบาตทางน้ำทั้งนั้น"
ผู้คนในสังคมชาวสวนเหล่านี้ได้ใช้ทักษะในการขุดร่องยกคันสวนที่สะสมกันมาแต่บรรพบุรุษมาใช้บุกเบิกการคมนาคมทางน้ำดังเห็นได้จากบันทึกต่อไปนี้
"การขุดลัดครั้งแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชา เห็นจะไม่ได้ขุดแผ่นดินดอน คงจะมีคลองลัดเล็กๆ ซึ่งเขาเดินเรือกันอยู่ แล้วเป็นสิ่งนำทางขุดซ้ำรอยให้เป็นคลองกว้างขวาง""คลองลัดเดิมน่าจะเป็นชาวบ้านขุดบรรจบกัน" (สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ 2526, สาส์นสมเด็จ: 226 ในสุจิตต์, 2544) จนแม้ในความทรงจำของ คนในปัจจุบัน อย่าง พระมหาอุธร ฐานิสสโร (37ปี) เจ้าอาวาสวัดสุนทรธรรมิการาม (วัดหัวคู)
".........สามัคคีช่วยกันขุดคลองเล็กคลองน้อยลำน้ำเป็นสิ่งสำคัญของการทำนาทำสวน การคมนาคม เครือข่ายที่บิณฑบาตทางน้ำ แถวนี้บิณฑบาตทางน้ำทั้งนั้น วัดอัมพวัน วัดบางขนุน วัดแพรก วัดส้มเกลี้ยง วัดสิงห์ วัดใหม่ผดุงเขต วัดศรีสวัสดิ์ วัดศรีเรืองบุญ...."
ในส่วนของคุณภาพน้ำในคูคลองนั้น ช้อยเล่าว่า
"ยายเคยไปว่าเขาว่า วัดปากน้ำคลองภาษีเจริญเหม็นเน่าดำ ...นี่ ก็มาเกิดกับคลองบางม่วงบ้านเราเสียแล้ว"
สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นพื้นฐานที่สัมพันธ์กับคูคลอง ในการศึกษานี้พบ สะพานไม้เครื่องสับ ทอดข้ามคลองหลังวัดส้มเกลี้ยง แม้ว่าจะอยู่ในสภาพทรุดโทรม อันเนื่องมาจากการวางอาคารใหม่ทำลายแนวแกนเดิมทำลายการเข้าถึง(Accessibility) ทางบกไปมากและการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา
แต่สิ่งที่เหลืออยู่นับเป็นประจักษ์พยานถึงความสัมพันธ์ที่ดี ทางด้านภูมินิทัศน์วัฒนธรรมที่เป็นเลิศของระบบชุมชนและวัดวาอารามในอดีต รวมไปถึงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมไทยเครื่องสับชั้นสูงที่งามทั้งแง่สัดส่วนและองค์ประกอบสถาปัตยกรรม
สะพานข้ามคลอง วัดส้มเกลี้ยง(บางใหญ่) ภายใน และ ทัศนียภาพสะพาน(Bridgescape)
4.หลวงปู่คร้ามและหอไตรวัดพระเงิน
"...คุณตาเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อคร้ามวัดพระเงิน
"
คุณยายช้อยยังกล่าวถึงสะพานแบบเดียวกันที่ถูกรื้อไปแล้วว่า มีที่วัดพระเงินอีกแห่งในละแวกนี้เรียกกันว่าสะพานหลวงปู่คร้าม
วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2364 โดยพระอาจารย์เสือ มีหอไตร อายุประมาณ 100
ปี สร้างโดยหลวงปู่คร้ามเช่นกัน เป็นอาคารไม้ ตัวหอขนาด 2 ห้อง ตั้งบนคานและเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก
ซึ่งปักอยู่ในสระน้ำ ตัวหอไตรมีเฉลียงรอบ หลังคาเป็นชั้นซ้อน 2 ชั้น ประดับเครื่องลำยอง
ไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก หน้าบันเป็นไม้กระดานเรียบ สภาพปัจจุบันไม้ผุพังไปมากพอสมควร
หอไตรหลังนี้ สร้างในช่วงที่นนทบุรีได้รับผลจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ คือโครงการคลองมหาสวัสดิ์ผลจากโครงการดังกล่าวส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่และความรุ่งเรืองของชาวนาชาวสวนในระหว่างปี พ.ศ.2420 -2440
"...สมัยนั้นทำนาเขารวยกันได้ ทำปีละครั้งนี่แหละ" (ช้อย)
" ..คุณตาเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อคร้ามวัดพระเงิน บวชเป็นพระ ตาพายเรือมาบิณฑบาต ยายทำสวนทำนา ใส่บาต ตาจึงรู้จักกับ ครอบครัวนี้มาก่อน ครั้นสึกออกมา (ชวดไปล่) แม่คุณยายเสีย ในงานศพ คุณตาเห็นยายกำพร้า ก็ออกปากจะดูแล....." (สัมภาษณ์ ประไพภัทร ฟ้ากระจ่าง (25) หลานยาย) คุณตาคือ นายสุข เต็มรักษ์ (83) ตาเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านม.8 บ้านหัวคูนอก อยู่ 10 ปี
หอไตรวัดพระเงินด้านหลัง
5.ศาลาการเปรียญ
"ถึงได้ไม้จริงก็ไม่ทิ้งไม้ไผ่"
ความทรงจำเรื่อง ศาลาการเปรียญเป็นประเด็นเปรียบเทียบ ระหว่างวัดพระเงินซึ่งคุณตาคุณยายเคยนับถือทำบุญอยู่กับวัดหัวคู
ในเรื่องของความสัมพันธ์ของวัดและชุมชน ศาลาการเปรียญทั้งสองแห่งเป็นศาลาไม้หลังใหญ่
ที่สร้างด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้าน หากแต่ต่อมาวัดพระเงินตัดสินใจรื้อทิ้งแล้วสร้างอาคารใหม่เป็นคอนกรีตหลังใหญ่
ไม่ถามใจชาวบ้าน โดยมีแรงหนุนทางจิตวิทยาจากนโยบายภาครัฐ ที่เลือกที่จะปูนยศศักดิ์ให้กับพระผ่านวาทกรรมชุด
"วัดพัฒนาตัวอย่าง" ช้อยจึงเลิกไปทำบุญที่นี่ ตรงกันข้ามกับที่วัดหัวคู
ซึ่งท่านเจ้าอาวาสวัดหัวคูเคยประกาศงานบุญว่า
"..ศาลานี้จะรื้อเปลี่ยนเป็นปูน" แต่ชาวบ้านไม่ยอม "ขอไว้เถิด ถ้าจะรื้อก็ขอให้เป็นรุ่นหลังให้คนรุ่นนี้หมดเสียก่อน" หลวงพ่อจึงว่าประกาศนั้นเพื่อลองใจชาวบ้าน สำหรับหลวงพ่อแล้ว "ถึงได้ไม้จริงก็ไม่ทิ้งไม้ไผ่"
"ที่หายไปนะพี่ทิด คนเขานึกว่าฉันไปมีเมียน้อย"(ตุ๋ยและเส็ง) "แกไปกัน 2 คน เดินไป ค่ำไหนก็นอนนั่น แกเคยค้าขายวัวควาย ก็บอกลูกเมียว่าจะไปซัก 2 เดือนแต่หายไปเกือบ 3 ปีกว่าจะได้ไม้มา คนอื่น ก็ช่วยกันบริจาคเป็น เงินค่าแรงค่าช่าง.......ไปดูเถอะเสาดีตรงต้นใหญ่ เหมือนต้นเดียวกัน ไม้ซุงนั้นลงแพล่องซุงมาเป็นแพ ถ่อมาแต่เมืองเหนือ มาช่วงน้ำหลาก ถึงจะล่องเข้าคลองหัวคูที่เล็กแคบได้ ยากลำบากแต่ได้บุญมาก"(ช้อย)
ศาลาการเปรียญวัดหัวคู และ ขวา ศาลาการเปรียญวัดส้มเกลี้ยงกำลังถูกรื้อ
6.บิณฑบาตทางเรือ
"ยายใส่บาตรมาตั้งแต่ยังไว้ผมจุกแม่บอกว่าถ้าไม่ใส่บาตรแล้วไม่สบายใจ
แม่ลาไม่ใส่ ลาไม่ได้ มันไม่สบายใจ..."
การบิณฑบาตโดยใช้เรือ เป็นการภิกขาจารวัตรของพระในวัดย่านสวน อย่างนนทบุรีมาแต่โบราณ แม้ในปัจจุบันก็ยังเป็นวัตรปฏิบัติของวัดส่วนใหญ่ อันเนื่องมาจากระบบการคมนาคมในคูคลอง เป็นสายสัมพันธ์พื้นฐานทุกวันที่วัดและชุมชนจะมีแก่กัน
ในวัดหัวคู(สุนทรธรรมิการาม)พระจะออกบิณฑบาตทางเรือเช้า 4 ลำใน สี่สายคลอง สายใกล้ 3 สาย ใช้เรือเล็กพายโดยภิกษุรูปเดียว ส่วนที่ไปคลองบางนาที่ไกลกว่านั้นไปโดยเรือใหญ่ภิกษุ 2 รูปพายหัวท้าย การเรียงอาหารในเรือเป็นปิ่นโตซ้อนๆกัน ขนมไว้ท้ายเรือ กับข้าวแกงไว้ที่หัวเรือ สำหรับวัดนี้ การบิณฑบาตทางน้ำนับเป็นสดมภ์หลักทางภัตตาหารในการดำรงอยู่ของวัดทั้งวัด ทั้งสำหรับภิกษุ 22 รูป รวมไปถึงสรรพชีวิตอื่นๆ แม้จนทุกวันนี้
ภิกษุตระเตรียมเรือ ออกรับบิณฑบาต เมื่อถึงวัดก็ช่วยกันลำเลียงภัตตาหารขึ้น
นอกจากนี้การบิณฑบาตทางน้ำยังมีส่วนโดยตรงในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ เมื่อพระคุณเจ้าเทศนาถึงขยะที่ติดพายขณะบิณฑบาต ทำให้ศาสนิกชน เช่น คุณตาสุขคนริมน้ำชายคลองต้องระมัดระวังใจไม่ให้เผลอทิ้งขยะ
7.Thaihouse
"...พาฝรั่งไปด้วย ทำให้เขารู้จักประเพณีของเรา..."
ท่ามกลางความสัมพันธ์แบบกำกวม ระหว่าง วัฒนธรรมชาวสวนเดิมกับวัฒนธรรมการบริโภคแบบเมือง(The ambiguous rural-urban fringe) (Askew:194) การเกิดขึ้นของกิจการที่พักแบบ Home stay ของ ครอบครัวของประสาน ลูกสาวคนโตของคุณยายเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจ หลังจากแต่งงานกับ ไพบูลย์ ทั้งสองเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจการท่องเที่ยวแบบวัฒนธรรม(Cultural Adventure)
วิสัยทัศน์จากประสบการณ์ทำให้ทั้งสองเชื่อมั่นว่าการปรุงเรือนไทยเครื่องสับ และเสนอบริการเพื่อพักผ่อนอยู่อาศัยแบบดั้งเดิมนั้น มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ธุรกิจเปิดใหม่ดำเนินได้ไม่นาน ไพบูลย์ก็เสียชีวิต อุปสรรคอื่นๆตามมาไม่ว่าจะเป็น"พฤษภาทมิฬ"ในปี พ.ศ.2535 ที่สร้างความซบเซาระยะยาวต่อธุรกิจท่องเที่ยว ธนาคารก็จะยึดกิจการสุดท้าย คุณยายขายที่ดินเอาเงินสดคืนธนาคารทำให้กิจการคงอยู่ในครอบครัวบุตรสาว
ทุกวันนี้ไทยเฮาส์ก็เป็นกิจการในครอบครัวที่สมควรค่ากับความภาคภูมิใจ ได้มีโอกาสต้อนรับบุคคลสำคัญจำนวนหนึ่ง และถูกอ้างอิงผ่านเอกสารการท่องเที่ยวนานาชาติใน 3 ด้าน กล่าวคือ ในด้านเป็นสถานที่พักแรม(Yousry-Jouve. 2003, Scholz. 2004) ในด้านคุณค่าสถาปัตยกรรมไทยประเพณี (Chami, Phuthorn and Mckeen. 2002.) และสุดท้ายในเรื่องอาหารไทยและการเรียนการสอนการปรุงอาหารไทย (Knaur.2005)
ผู้เข้าพักบางคนมีโอกาสพบคุณยาย
"เวลาเราไปวัด ถ้าใครเขาสนใจ เราก็พาฝรั่งไปด้วย ทำให้เขารู้จักประเพณีของเรา.... เราทำบุญเราก็ได้ของเรา" (ช้อย)
ไทยเฮ้าส์จึงเป็นจุดเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมระหว่างตะวันตกและตะวันออกในกระแสโลกาภิวัฒน์อีกด้วย ทั้งนี้หากสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมดั้งเดิมยังมั่นยืนถาวรอยู่ได้ นอกจากผลผลิตภาพแล้ว ยังเปิดหนทางการเพิ่มคุณค่าทางการท่องเที่ยวปัจจุบันและอนาคตเป็นหลักประกันต่อความยั่งยืนของท้องถิ่นนั้น
8.หมู่บ้านจัดสรร
"แผ่นดินริ้วปลา"
การที่หมู่บ้านจัดสรรได้แทรกสอดเข้าไปในพื้นที่นาสวนจำนวนมากตั้งแต่ ปี พ.ศ.2529
แม้จะชะงักงันไปในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่(2540-2543) แต่ปัจจุบันด้วยถนนหลักสายใหม่เช่น
วงแหวนตะวันตกสายใน ถนนนครอินทร์ ทำให้เกิดหมู่บ้านจัดสรรและผู้คนอีกจำนวนมากจะเป็นประชากรใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาอันเนื่องมาจากการโยกย้ายใช้ชีวิตที่แตกต่างกันของประชากรสองกลุ่มเป็นปรากฏการณ์เมืองชนิดใหม่ ที่ทับศัพท์ว่าเจตริฟิเคชั่น(จาตุรงค์: 2546)เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนและเกิดไปแล้ว แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ก็คือ การเสริมสร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตดั้งเดิม สิ่งแวดล้อมดั้งเดิม จะทำให้อัตราการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมทรัพยากรวัฒนธรรมเป็นไปอย่างช้าที่สุด และลดระดับความรุนแรงให้อยู่ในของเขตของขีดจำกัดที่รองรับได้ (carrying capacity) ด้วยกลไกที่มีอยู่แล้ว อาทิ เช่น การรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ก่อนมีการออกแบบโครงการ ต้องมองเห็นและเข้าใจประเด็นทางนิเวศน์วัฒนธรรม โครงการที่ผุดขึ้นใหม่ควรรู้จักสถาบันทางวัฒนธรรมศาสนาที่อยู่ใกล้เคียง และออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตเดิม
การบิณฑบาตทางน้ำเป็นรูปธรรมที่ดีอย่างหนึ่ง ของการประสานกลมกลืนของโครงการหมู่บ้านจัดสรรใหม่ๆกับชุมชนหมู่บ้านเดิม นอกจากไม่ปิดกั้นถมทำลายคูคลองแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ในคูคลองทางวัฒนธรรมให้มาก โครงการไม่ควรปิดล้อมตัวเองจากเส้นทางน้ำเหล่านี้อย่างที่เป็นอยู่ ตรงข้ามหากมีการเปิดพื้นที่สาธารณะของโครงการ ให้ใช้กิจกรรมวัฒนธรรม เช่นการบิณฑบาตทางเรือ จะเป็นช่องทางเพิ่มคุณภาพชีวิตคุณค่าทางวัฒนธรรมของคนในหมู่บ้านจัดสรรอีกด้วย
นอกจากนี้ความเข้าใจในกลไกของการช่วงชิงการนิยาม การเก็บกดลดทอนการนับถือตนเอง / อำนาจและความรู้ในการครองตนของผู้คนและชุมชนเดิม จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับศาสตร์และวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม อาทิ สถาปัตยกรรมชุมชน ภูมิสถาปัตยกรรม เพื่อให้มองเห็นปัจจัยแยกแยะและเป็นพลวัตรที่เป็นสิ่งเฉพาะของสังคมไทย เพื่อสร้างทฤษฎีและการออกแบบสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่แต่ละบริบท
อนึ่งการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและภูมินิทัศน์วัฒนธรรมในพื้นที่ศึกษาอื่นพบว่า อำนาจในการครองตน และความรู้เห็นถึงความเป็นเจ้าของ(Sense of belonging) เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความยั่งยืนของท้องถิ่นสถาปัตยกรรม และภูมินิเวศน์วัฒนธรรมเช่นเดียวกัน (ศรันย์, 2547)
9.วัฒนธรรมที่ผลิตซ้ำได้
ปัญหาความทรุดโทรมทางสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถมองแยกส่วนกับการแตกสลายทางวัฒนธรรมได้ฉันใด
การฟื้นฟูสภาวะแวดล้อมก็สามารถกระทำผ่านกลไกทางวัฒนธรรมได้ฉันนั้น
ความเสื่อมทรามทางสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมในการศึกษาพบว่า มีจากหลายสาเหตุสรุปเป็น 2 ลักษณะ
แนวที่หนึ่ง มาจากการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชน ที่สูญเสียความภูมิใจเข้าใจในคุณค่าศิลปวัฒนธรรมของตนเอง เช่น กรณีวัดชลอ
(Askew: 222-223)
อีกแนวหนึ่ง มาจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญได้แก่ หนึ่งมาจากความไม่รู้ไม่เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาครัฐ ในกรณีวาทกรรม"วัดพัฒนาตัวอย่าง"ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในบทความนี้ และอีกส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากภาคเอกชน ซึ่งประกอบการหมู่บ้านจัดสรรอันเป็นส่วนในกระแสการค้าเสรีทุนนิยมเป็นธรรมดา ที่จะมองไม่เห็นปัจจัยที่ไม่มีผลต่อยอดขายและผลกำไร
นอกจากนี้การผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมยังสามารถผลิตซ้ำในพื้นที่อื่นได้อีกด้วย เช่น การบิณฑบาตเรือสามารถผลิตซ้ำได้ในสังคมไทยส่วนอื่น ที่มีระบบคูคลองและวัดวาอารามหลงเหลืออยู่ แม้แต่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ก็มีพื้นที่ที่เอื้อต่อปัจจัยนี้เช่นกัน นี่จะเป็นการฟื้นฟูสภาวะแวดล้อมทางน้ำให้สะอาดเป็นหัวใจผลิตภาพทางวัฒนธรรม และการคมนาคมของเมืองใหญ่ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
มีการเปลี่ยนแปลงสังคมวัฒนธรรมชาวสวนนนท์ ที่ผ่านจุดสังเกตจากประเพณีการบิณฑบาตทางเรือในหลายลักษณะ อันเนื่องมาจากทักษะที่ขาดหายไปของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป พร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต แต่สิ่งที่มีความสำคัญมาก ได้แก่ สิ่งที่คงเหลืออยู่คือ สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องอันเป็นประจักษ์พยานทางภูมิปัญญาที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศน์ และกลไกทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ในฐานะของการผลิตซ้ำเพื่อเป็นเครื่องมือเพื่อการพลิกฟื้นคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมทั้งในเขตเมืองและชนบท
นอกจากนี้ความไม่เข้าใจในระบบวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยโครงการพัฒนาทั้งภาคเอกชนและรัฐ เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการเสื่อมถอยของสภาพแวดล้อมและความนับถือตนเองของผู้คน เราอาจสรุปการเปลี่ยนแปลงนี้ผ่านปากคำของคุณยายที่ว่า
"ตอนแรกที่ได้อ่านหนังสือนั้น ฉันก็ไม่เข้าใจ ไม่เห็น จนถึงวันนี้ในชีวิตก็ได้พบได้เห็น แผ่นดินเป็นริ้วปลาก็ที่เขาแบ่งที่ดินจัดสรรกันนั่น ท้องฟ้าเป็นใยแมงมุมก็จากสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ที่ขึงโยงใย ที่ว่ามีทางแต่ไม่มีคนเดินก็ถนนทางด่วนที่เขาทำให้รถวิ่งแต่ไม่ให้ใครไปเดิน ที่พ่อแม่ลูกไม่ได้อยู่ด้วยกัน ก็เพราะต่างคนต่างไปเรียนหนังสือไปทำงานไกลๆกัน ชีวิตฉันก็ได้เห็นตามที่ยายเขียวแกว่าไว้จริงๆ..."
++++++++++++++++++++++++++++++
เอกสารอ้างอิง (ภาษาอังกฤษ)
Chami Jotsalikorn,Phuthorn Bhumadhon and Virginia Mckeen.2002. ClassicThai:Design,Interiors,Architecture. Hongkong:Crocco Periplus.:50-53
Knaur.2005.Thailand:
K?che,Land und Leute,Kulinarische Landschaften,Die Kochschule im
Thaihaus; M?chen.51-55
เอกสารอ้างอิง (ภาษาไทย)
จาตุรงค์ โพคะรัตน์ศิริ.
2546. การศึกษาปรากฏการณ์ "เจนติฟิเคชัน"ในการอนุรักษ์ชุมชนเมืองใน
Procedings:Current Reflect of Society.Silpakorn Architectural Discourse
3rd Symposium. กรุงเทพฯ. อัมรินทร์พรินติ้ง
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร.,2543, วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ความจริงเอกลักษณ์และความเป็นอื่น., กรุงเทพฯ: วิภาษา.:433
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร.,2545,สัญวิทยา, โครงสร้างนิยม, หลังโครงสร้างนิยมกับการศึกษารัฐศาสตร์., กรุงเทพฯ:วิภาษา.: 39-43
ชาย โพธิสิตา. 2547.
ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพ. นครปฐม: โครงการเผยแพร่
ข่าวสารและการศึกษาด้านประชากร,สถาบันวิจัยประชากรแลสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
น.ณ. ปากน้ำ(นามปากกา).2543,หน้าบัน:
ปกิณกะศิลปะไทยในสายตา น.ณ ปากน้ำ.กรุงเทพ
สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ:45
สุจิตต์ วงษ์เทศ.2544. ขุดอย่างไรจึงจะได้คลอง ใน แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์.กรุงเทพฯ:มติชน
สมคิด จิระทัศนกุล.2543.
วัด. เอกสารคำสอนพื้นฐานสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ.
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศรันย์ สมันตรัฐ.
2547. Estuarine Vernacular Landscape and Architectures in the Right
side of Maeklong Delta: in พลิกฟื้น ท่าจีน-แม่กลอง สู่สังคมภูมิปัญญา.นครปฐม.
เครือข่ายการวิจัยบูรณาการลุ่มน้ำท่าจีนแม่กลอง คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล. :102-118
ศรัณย์ ทองปาน.2537.หอไตรในเมืองนนท์.ใน สารคดี ฉบับที่110 เมษายน,กรุงเทพฯ.: 184-202
เอี่ยม ทองดี. 2547.
ควาย ข้าว พระ ผี พิธีกรรม.นครปฐม: อาศรมชาวพัฒนาชนบท
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.:119-120
สัมภาษณ์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 630 เรื่อง หนากว่า 8300 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(จะมีการปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ทุกวันนี้ไทยเฮาส์ก็เป็นกิจการในครอบครัวที่สมควรค่ากับความภาคภูมิใจ ได้มีโอกาสต้อนรับบุคคลสำคัญและถูกอ้างอิงผ่านเอกสารการท่องเที่ยวนานาชาติใน 3 ด้าน กล่าวคือ ในด้านเป็นสถานที่พักแรม(Yousry-Jouve. 2003, Scholz. 2004) ในด้านคุณค่าสถาปัตยกรรมไทยประเพณี (Chami, Phuthorn and Mckeen. 2002.) และสุดท้ายในเรื่องอาหารไทยและการเรียนการสอนการปรุงอาหารไทย ...
"..แผ่นดินจะเป็นริ้วปลา
ท้องฟ้าจะเป็นใยแมงมุม มีทางแต่จะไม่มีคนเดิน บ้านเมืองจะเป็นกล่องไม้ขีด พ่อแม่ลูกจะพลัดพรากกัน..."
ยายเขียวยังย้ำกับยายว่า "อายุฉันจะไม่ได้เห็นหรอก แต่แม่เหรยจะได้เห็น"
"ตอนแรกที่ได้อ่านหนังสือนั้น ฉันก็ไม่เข้าใจ ไม่เห็น จนถึงวันนี้ในชีวิตก็ได้พบได้เห็น
แผ่นดินเป็นริ้วปลาก็ที่เขาแบ่งที่ดินจัดสรรกันนั่น ท้องฟ้าเป็นใยแมงมุมก็จากสายไฟฟ้า
สายโทรศัพท์ที่ขึงโยงใย ที่ว่ามีทางแต่ไม่มีคนเดินก็ถนนทางด่วนที่เขาทำให้รถวิ่งแต่ไม่ให้ใครไปเดิน
ที่พ่อแม่ลูกไม่ได้อยู่ด้วยกัน ก็เพราะต่างคนต่างไปเรียนหนังสือไปทำงานไกลๆกัน
ชีวิตฉันก็ได้เห็นตามที่ยายเขียวแกว่าไว้จริงๆ..."
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 630 เรื่อง หนากว่า 8300 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 150 บาทสนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ
ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์