บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 634 หัวเรื่อง
ประเทศไทยที่หายไป-ขาลงทักษิณ
ศ.ดร.
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เขียน
นักวิชาการอาวุโส
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความบริการฟรี
ม.เที่ยงคืน
The
Midnight 's free article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
การเมืองเรื่องภาคใต้และรัฐบาลทักษิณ
ประเทศไทยที่หายไป-วิกฤตของรัฐบาลทักษิณ
ศ.ดร.
นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ
: บทความ ๒ ชิ้นต่อไปนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน
นำมารวบรวมไว ณ ที่นี้ เพื่อสะดวกกับนักศึกษาและผู้สนใจทุกทท่านได้ใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
๑. ประเทศไทยที่หายไป ๒ วิกฤตของรัฐบาลทักษิณ
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๖ สิงหาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)
๑.
ประเทศไทยที่หายไป
ก่อนที่จะมีการ "ยึด" เมืองยะลา มีใบปลิวแจกจ่ายในหลายพื้นที่ของภาคใต้
เรียกร้องให้ชาวมลายูมุสลิมซึ่งไปทำงานกับรัฐ โดยเฉพาะที่เข้าไปในโครงการจ้างงานพิเศษ
ให้ถอนตัวออกเสีย มิเช่นนั้นแล้วจะถือว่าเป็นปฏิปักษ์กับขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของรัฐปัตตานี
ส่วนคนที่ร่วมงานกับรัฐไทยถึงกับมีตำแหน่งที่เป็นทางการนั้น รู้กันอยู่แล้วว่าฝ่ายขบวนการถือเป็นปฏิปักษ์มานานแล้ว
กรณี "ยึด" เมืองยะลานั้น ที่จริงแสดงให้เห็นสมรรถนะที่สูงมากของขบวนการ ดังที่สำนักข่าวต่างประเทศชี้ให้เห็นแล้วว่า ต้องมีการวางแผน, การจัดการ, และการควบคุมกันอย่างเป็นระบบทีเดียว คำให้การของผู้ที่ถูกจับกุมตัวได้กล่าวว่า มีผู้ร่วมปฏิบัติการประมาณ 60 คน และทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ให้ข่าวว่าเป็นขบวนการคนหนุ่ม(Pemuda) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลาย นับตั้งแต่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย(ตามที่นายกฯอ้าง) ไปจนถึงคนในชนบท
60 คนที่สามารถนำเอาอาวุธและอุปกรณ์การก่อวินาศกรรมนานาชนิด เข้าสู่เขตเทศบาล กระจายไปตามจุดต่างๆ และปฏิบัติตามคำนัดหมายได้ตรงเวลา ทั้งยังสามารถสร้างอุปสรรคการติดตามของเจ้าหน้าที่ในการหลบหนี และส่วนใหญ่ก็หนีได้ เปรียบเทียบกับการปฏิบัติการที่กรือเซะ(ถ้ากรณีกรือเซะเกิดขึ้นตามรายงานของฝ่ายเจ้าหน้าที่จริง) จะเห็นว่าต่างกันไกล ไม่ว่าจะเป็นประเภทอาวุธที่ใช้, การวางแผน, หรือการจัดการอย่างมีระบบ
กรณี "ยึด" เมืองยะลา จึงเป็นปฏิบัติการที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พวกเขาสามารถทำให้รัฐไทยสูญหายไปจากพื้นที่ได้ และด้วยเหตุดังนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จึงกล่าวว่า กรณีนี้เป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" (ซึ่งแปลตามตัวอักษรคือหลังลาหักไปแล้ว)
ผมจึงคิดว่า การออก พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น อย่างน้อยก็ช่วยให้สังคมไทยไม่ย้อนกลับมาถามว่า ใครควรรับผิดชอบที่ทำให้รัฐไทยหายไปในพื้นที่ของประเทศไทยเองเช่นนี้ (ในสมัยที่เผด็จการทหารครองเมือง เมื่อ พ.ค.ท.ทำอะไรทำนองนี้ในเขตเมือง สิ่งที่รัฐบาลทหารตอบโต้ทันทีคือ สั่งปิดข่าวครับ หมายความว่าแม้แต่เผด็จการทหารยังรู้เลยว่า กรณีเช่นนี้ทำลายความชอบธรรมของผู้ปกครองอย่างถึงรากถึงโคนเพียงไร)
รัฐจะอยู่หรือรัฐจะหายนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการรับรองของนานาชาติเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงที่ผู้คนในพื้นที่นั้นๆ ได้ประสบในชีวิตของเขาด้วย ลักษณะสำคัญของรัฐอย่างหนึ่งคือ Omnipresent แปลว่า ปรากฏอยู่เสมอโดยไม่ขาดตอน ฉะนั้น จู่ๆ รัฐจะหายไปเฉยๆ แม้ชั่วโมงเดียวก็ไม่ได้ เพราะทำให้คนหมดความมั่นใจว่ารัฐยังมีอยู่ตอนไหน และจะไม่มีอยู่ตอนไหน
รัฐไทยในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้นั้น ไม่ใช่รัฐเล็กๆ อย่างในสมัย ร.3 แต่เป็นรัฐใหญ่ที่เข้าไปปรากฏตัวในชีวิตของผู้คนอยู่ตลอดเวลา ทั้งในเขตเมืองและชนบท ทั้งในเวลาตื่นและหลับ แต่จู่ๆ ผู้ปฏิบัติการ 60 คน หรือรวมแนวร่วมไปด้วยก็ไม่น่าเกิน 200 คน สามารถเขี่ยรัฐทิ้งไปได้อย่างง่ายๆ เช่นนั้น แสดงให้เห็นว่ารัฐไทยในพื้นที่ แม้จะใหญ่โตอย่างไร ข้างในก็ฟ่าม พร้อมจะเหี่ยวยุบไปได้ด้วยแรงสะกิดนิดเดียว
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติการ "ยึด" เมืองยะลา อาจไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐหายไป รัฐไทยเอง โดยเฉพาะรัฐไทยภายใต้รัฐบาลทักษิณนี่แหละที่มีส่วนสำคัญในการลบรัฐไทยให้หายไปจากพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้
ในประสบการณ์จริงของชีวิตผู้คน รัฐไม่ปรากฏตัวให้สัมผัสได้ด้วยอำนาจควบคุมสั่งการ(coercion) เพียงด้านเดียว และแท้ที่จริง รัฐใดที่แสดงตัวได้เพียงมิติอำนาจควบคุมสั่งการด้านเดียวแล้ว รัฐนั้นก็สูญเสียความเป็นรัฐไปจนแทบหมดแล้ว เพราะชีวิตในรัฐนั้นไม่ต่างอะไรจากการมีชีวิตอยู่ในซ่องโจร หรือค่ายกักกันเชลยศึก
กว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ชีวิตของผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ในซ่องโจรหรือค่ายกักกันเชลยศึก ฝ่ายขบวนการซึ่งอ้างว่าจะสถาปนารัฐอิสระขึ้น มีวิธีปฏิบัติการควบคุมบังคับบัญชาประชาชนในพื้นที่อยู่อย่างเดียว คือการใช้ความรุนแรงทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินของเขา หากจะใช้วิธีอื่นเช่นปลุกระดมด้านอุดมการณ์ ก็ทำแต่เฉพาะกับบุคคลที่จะดึงเข้ามาร่วมในการปฏิบัติการ ส่วนประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือนับถือศาสนาอื่น ได้รับแต่คำสั่งเด็ดขาดให้ทำหรือไม่ทำอะไร หากฝ่าฝืนคำสั่ง ก็มีแต่บทลงโทษที่รุนแรง ฆ่า, เผา, ตัดคอ, ทำลายทรัพย์สิน
ปฏิบัติการทำลายความเป็นรัฐเช่นนี้แหละ ที่ขบวนการใช้สำหรับสถาปนารัฐ ดูเป็นหนทางที่ตีบตันอันไม่อาจนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้เลย
แต่โชคดีของขบวนการที่เลือกจังหวะเวลาปฏิบัติการภายใต้รัฐบาลทักษิณ เพราะแทนที่รัฐบาลจะตอบโต้ด้วยการทำให้มิติด้านอื่นๆ ของรัฐ ที่ไม่ใช่การควบคุมสั่งการด้วยกำลังอำนาจ ปรากฏแก่ประชาชนในสามจังหวัด รัฐบาลกลับเลือกวิธีการเดียวกับฝ่ายขบวนการ นั่นคือใช้วิธีการนอกกฎหมายในการทำให้ประชาชนในพื้นที่ระย่อต่ออำนาจอันไร้ขีดจำกัดของรัฐ
ร้ายยิ่งไปกว่านั้น การใช้อำนาจเด็ดขาดรุนแรงดังกล่าว ยังกระทำไปโดยไร้เป้าหมายที่ชัดเจน ใครก็ตามที่ถูกระแวงสงสัยจากรัฐ ก็อาจประสบชะตากรรมที่ร้ายแรง เช่น ถูกยิงทิ้ง, อุ้มหายไปจากโลก, หรือถูกจับกุมคุมขังภายใต้กฎอัยการศึก แม้รัฐบาลประกาศนโยบายสมานฉันท์แล้ว ประชาชนในพื้นที่ยืนยันว่าวิธีการนอกกฎหมายเหล่านี้ก็ยังใช้กันอยู่ หรืออย่างน้อยก็มีเหตุให้ประชาชนระแวงว่ายังใช้กันอยู่ (เช่นกรณีการสังหารเงียบอุสตาซสามคนเมื่อไม่นานมานี้เป็นต้น)
ไม่มีฝ่ายใดที่ต้องการสถาปนารัฐที่แท้จริงขึ้นในชีวิตของคนในพื้นที่ เพราะไม่มีใครคาดเดาได้เลยว่า กระทำอะไรหรือไม่กระทำอะไรแล้วจะได้รับโทษ แค่เดินไปตัดยางในตอนเช้าตรู่ก็อาจโดนประหารชีวิต หรือแค่นั่งคุยกันในร้านน้ำชา ก็อาจถูกจับกุมคุมขัง ความสามารถในการคาดเดาหรือเก็งผลการกระทำของตัว เป็นพื้นฐานของความเป็นรัฐ ถ้าไม่มีก็ไม่มีรัฐเหลืออยู่
อันที่จริง ผมพูดว่ารัฐบาลเลือกใช้วิธีรุนแรงโดยไม่สนใจว่าจะเป็นวิธีนอกกฎหมายหรือไม่ ยังถูกไม่หมด เพราะอีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เองด้วย โดยได้รับสัญญาณจากหน่วยเหนือขึ้นไป อย่างตรงไปตรงมา หรือโดยนัยให้เข้าใจเช่นนั้น เพราะลึกลงไปจริงๆ แล้ว หน่วยที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เองหลายหน่วย ก็ยังเชื่อว่าความรุนแรงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียว ในการระงับความรุนแรงที่กระทำโดยบุคคลซึ่งไม่ใช่รัฐ
และด้วยเหตุดังนั้น กว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐและโจรคุกคามประชาชนเท่าๆ กัน จนกระทั่งรัฐหายไปในชีวิตของประชาชน แม้ว่าโดยทางการและโดยการรับรองจากนานาชาติ รัฐไทยก็ยังคงดำรงอยู่อย่างมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัด
และแม้จะใช้วิธีรุนแรงมากว่าหนึ่งปี ด้วยอำนาจทางกฎหมายที่หนุนหลัง เช่น กฎอัยการศึก สถานการณ์กลับยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ จนขบวนการสามารถแสดงสัญลักษณ์ของความไร้รัฐได้โดยการ "ยึด" เขตเทศบาลของเมือง รัฐบาลกลับตอบโต้ด้วยการให้อำนาจที่ไร้ขีดจำกัดและการควบคุมแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่มากขึ้นด้วยการออก พ.ร.ก.
รัฐบาลคิดว่าจะใช้อำนาจที่เพิ่มขึ้นนี้เพื่อทำอะไร? ผมเชื่อว่ารัฐบาลไม่มีคำตอบ เพราะรัฐบาลเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะฟื้นฟูรัฐไทยกลับคืนมาได้อย่างไร อำนาจที่ล้นเกินและไร้การควบคุมของเจ้าหน้าที่นั้นมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะออกกฎหมายใหม่มารองรับหรือไม่ก็ตาม รัฐบาลได้ปล่อยให้การใช้ความรุนแรง(ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย)ในภาคใต้ เดินมาถึงขีดที่ไม่มีทางใช้ความรุนแรงได้มากไปกว่านี้อีกแล้ว กฎหมายใหม่จึงเป็นแค่กฎหมายลม ซึ่งไม่ได้วางอยู่บนนโยบายอะไรสักอย่าง
ผมไม่ปฏิเสธความรุนแรงเด็ดขาด ซึ่งรัฐทุกรัฐต้องใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แนวรบของรัฐนั้นมีหลายด้าน(ผมไม่ชอบคำว่าแนวรบ หากพูดภาษานักธุรกิจก็คือสนามแข่งขัน) ด้านที่ต้องใช้ความรุนแรงก็ต้องใช้ แต่พร้อมกันนั้นยังมีด้านที่ให้ความเป็นธรรมแก่ความรุนแรงซึ่งต้องทำควบคู่กันไป นั่นคือการอำนวยความเป็นธรรม การทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์จริง ควบคุมได้ทั้งคนร้ายและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการนอกกฎหมาย
แม้รัฐจะให้ความคุ้มครองอย่างเต็มที่เพียงใด ก็ยังมีประชาชนบางคนถูกคนร้ายลอบยิง แต่ประชาชนต้องมั่นใจว่า การยืนอยู่ฝ่ายรัฐนั้น เขาจะได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมาย, เขาคาดเดาได้ว่าพึงทำอะไรไม่ทำอะไร, เขาได้สิทธิทุกประการตามที่กฎหมายบัญญัติ อีกทั้งสามารถใช้สิทธิเหล่านั้นได้อย่างปลอดภัยภายใต้การคุ้มครองจากรัฐ, เขามีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะไม่ถูกลงโทษเพียงเพราะเจ้าหน้าที่ระแวงสงสัย ฯลฯ
นี่คือแนวรบที่รัฐต้องบุกเบิกออกไปอย่างแข็งขัน เพราะเป็นแนวรบที่ฝ่ายตรงข้ามอ่อนแอที่สุด
นายกฯจะลงไปภาคใต้หรือไม่ไม่สำคัญเท่าไร แต่ต้องมีใครสักคนที่มีอำนาจบังคับบัญชา ลงมาสร้างนโยบายที่ฉลาดในภาคใต้ พร้อมทั้งกำกับให้การดำเนินงานมีเอกภาพสอดคล้องกับนโยบายนั้นๆ ให้ได้ต่างหาก เวลานี้ไม่มีเลย ฉะนั้น การสูญหายของรัฐไทยจึงไม่ได้เกิดเฉพาะในสามจังหวัดภาคใต้เท่านั้น แต่รวมถึงในทำเนียบรัฐบาลด้วย
๒. วิกฤตของรัฐบาลทักษิณ
ผมออกจะสงสัยว่า สิ่งที่รัฐบาลทักษิณเผชิญอยู่เวลานี้ไม่ใช่ "ขาลง"
ซึ่งมักใช้กันในความหมายถึงปรากฏการณ์ชั่วครั้งชั่วคราว ลงได้เดี๋ยวก็ขึ้นได้
อันเป็นปรกติธรรมดาของรัฐบาลทั้งหลายในโลก ที่ความนิยมของประชาชนย่อมผันผวนไปเรื่อยๆ
ไม่มีวันหยุดนิ่งเฉยๆ เป็นอันขาด
มีปัญหาอยู่ 3 อย่างที่ผมคิดว่ารัฐบาลทักษิณยังแก้ไม่ได้ และตราบเท่าที่ยังแก้ไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกเป็นขบวน
ปัญหาแรก คือสถานการณ์ในภาคใต้ เฉพาะเหตุร้ายต่างๆ เพียงอย่างเดียวก็อาจพูดได้ว่า ยังไม่ได้มีทีท่าอย่างใดว่าอะไรจะดีขึ้น รัฐบาลอ้างเสมอว่า การก่อเหตุร้ายรุนแรงขึ้นนั้นเป็นเพราะถูกฝ่ายรัฐบาลบีบกระชับขึ้น จนฝ่ายก่อการต้องใช้ความสะพึงกลัว (terror) ให้หนักขึ้นไปอีก ข้อนี้จะจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ แต่แน่ใจว่าเป็นข้ออ้างที่ใช้ไปนานๆ ไม่ได้แน่
ยิ่งกว่านี้ ถ้าสำรวจตรวจสอบเหตุร้ายที่สื่อรายงานอย่างละเอียด ดูเหมือนมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่น่าตกใจประการแรก อาวุธที่ใช้ในการทำร้ายผู้คนดูจะร้ายแรง มีลักษณะเป็นอาวุธสงครามมากขึ้นกว่าเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
ประการที่สอง ก็คือ ลักษณะการก่อเหตุดูจะมีการจัดการอย่างเป็นระบบดีกว่าเดิม
ซึ่งสะท้อนความแข็งแกร่งมากขึ้นของการจัดองค์กรที่น่าวิตกยิ่งกว่าอะไรอื่นก็คือ รัฐบาลสามารถเอาชนะใจประชาชนส่วนใหญ่ได้มากขึ้นหรือไม่? ผมออกจะสงสัยว่าไม่ ถ้าดูจากกรณีอุสตาซ 3 คนที่ถูกมือลึกลับยิงเสียชีวิต ด้วยปืนเก็บเสียง โดยไม่ทิ้งปลอกกระสุนไว้ในที่เกิดเหตุเลย เหตุการณ์นี้สร้างความแคลงใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ยังมีเหตุการณ์ที่ไม่ร้ายแรงเท่านี้ แต่สร้างความแคลงใจให้แก่ประชาชนเหมือนกันอีกมากมายหลายเหตุการณ์
ชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งอาสาสมัครเป็นผู้พิทักษ์หมู่บ้านบอกผมว่า เขาไม่เชื่อว่าผู้ก่อการเป็นผู้เผาโรงเรียนในตำบลของเขา เนื่องจากในวันเกิดเหตุ มีหน่วยทหารเข้ามาในพื้นที่ แล้วบอกหน่วยอาสาว่า คืนนั้นไม่ต้องออกปฏิบัติหน้าที่ เพราะหน่วยทหารจะทำหน้าที่แทน และในคืนนั้นแหละ ที่โรงเรียนถูกเผา
ชาวบ้านอีกคนหนึ่งเล่าว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านของเขาไม่เชื่อเลยว่า ผู้ก่อการเป็นผู้ฆ่าตัดคอบุคคลคนหนึ่งในหมู่บ้านของเขา แต่เชื่อว่าบุคคลผู้นั้นถูกฆ่าตัดคอโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้ชาวบ้านเชื่อต่อไปว่า กรณีฆ่าตัดคอทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสามจังหวัด ล้วนไม่ใช่ฝีมือของผู้ก่อการทั้งสิ้น
ผมไม่ทราบหรอกว่า ความหวาดระแวงของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้มีมูลความจริงมากน้อยเพียงไร แต่เห็นได้ชัดเจนว่า แม้เขาอยากเป็นพลเมืองไทยและมีชีวิตที่สงบสุขในประเทศไทย แต่ใจของเขาไม่ได้อยู่กับฝ่ายรัฐบาลแน่นอน
ผมเชื่อว่าเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการนำความสงบกลับคืนมาสู่ชายแดนภาคใต้ คือปรับปรุงแก้ไขกลไกรัฐ โดยเฉพาะฝ่ายที่มีและสามารถใช้อำนาจไปในทางให้โทษแก่ประชาชน งานพัฒนาหรืออะไรอื่นจะได้ผล ก็ต่อเมื่อประชาชนต้องรู้สึกเสียก่อนว่าเขาได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ
แต่นี่แหละคือสิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลต้องไกล่เกลี่ยอุดมการณ์และผลประโยชน์ของคนหลายฝ่าย ฉะนั้นข้อเสนอของรองนายกฯ จาตุรนต์ ฉายแสง จึงไม่ได้รับแม้แต่การพิจารณาด้วยซ้ำ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐบาลทักษิณไม่มีนโยบายไปในทิศทางใดที่แน่นอนชัดเจนในกรณีความไม่สงบในภาคใต้
ถามว่าอีกหกเดือน อีกปีหนึ่ง อีกสองปี รัฐบาลทักษิณจะมีนโยบายดังกล่าวหรือไม่ ผมเดาว่าไม่
ปัญหาที่สอง คือ ภาพของการคอร์รัปชั่นในรัฐบาล
ผมใช้คำว่าภาพเพราะมีข้อสรุปเบื้องต้น (presupposition) ว่า รัฐบาลนี้และรัฐบาลไหนๆ ก็มีคนโกงร่วมในรัฐบาลทั้งนั้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่โกงหรือไม่โกง แต่อยู่ที่ว่าจะทำให้คนเชื่อว่าไม่โกงได้สำเร็จหรือไม่ต่างหาก. เรื่องนี้สำคัญ เพราะนักการเมืองทำงานอยู่ได้ด้วยความไว้วางใจของประชาชน เมื่อใดที่ขาดความไว้วางใจนั้น ก็ทำงานต่อไปไม่ได้ แม้ไม่มีบิลแสดงการทุจริตสักใบเดียวก็ตาม
ท่านนายกฯ เคยประสบความสำเร็จอย่างสูงในการทำให้ประชาชนไว้วางใจคนในรัฐบาล (หรือแม้แต่ตัวท่านเอง) ทั้งๆ ที่หลายคนในคณะรัฐบาลของท่านคือ "ยี้" ดังๆ นี่เอง แต่ข่าวอื้อฉาวเรื่อง CTX ในครั้งนี้ ท่านทำไม่สำเร็จ แม้ได้อาศัยยุทธวิธีเก่ามาทุกอย่างแล้วก็ตาม และเพราะได้ใช้ยุทธวิธีเก่านี่เองที่ทำให้ท่านถูกดูดลงไปในหลุมแห่งความไม่ไว้วางใจไปด้วย
ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า ท่านเรียกร้องความไว้วางใจจากประชาชนกลับคืนมาแก่รัฐบาลของท่านได้อย่างไร เรื่องมันไม่ง่ายเพียงแค่สับเปลี่ยนตำแหน่งของรัฐมนตรีบางคน หรือเอารัฐมนตรีบางคนออก เพราะความไม่ไว้วางใจที่ประชาชนมีนั้นกินรวมไปถึงตัวท่านนายกฯ เองด้วย ไม่ได้แปลว่าเขาเชื่อว่าท่านโกง แต่เขาไม่เชื่อว่าท่านรังเกียจ หรือกีดกัน หรือตั้งใจลงโทษคนโกง (อย่างที่เขาเคยเชื่อมา) ต่างหาก สมรรถภาพของท่านในการกลบเสียง "ยี้" ในบรรดารัฐมนตรีของท่านหมดไปแล้ว เหตุนี้มาเกิดในช่วงที่ท่านทิ้ง "ยี้" ได้ยากเสียด้วย
ผมเดาไม่ออกว่า ท่านจะฟื้นฟูความไว้วางใจของประชาชนในความสุจริตของรัฐบาล กลับมาให้แก่รัฐบาลของท่านได้เมื่อไร แต่รู้แน่ว่าต้องใช้เวลานาน และต้องใช้การตัดสินใจที่อาจไม่เป็นผลดีทางการเมืองของตัวท่านเองนัก
ปัญหาที่สาม คือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด. เหตุใดเงินจึงไหลออกมากกว่าไหลเข้า ทั้งๆ ที่ตัวเลขการส่งออกของเราเพิ่มขึ้น ท่านนายกฯ ยกโทษของราคาน้ำมันเพียงอย่างเดียว ซึ่งผมออกจะสงสัยว่าไม่จริง แม้สมมติให้น้ำมันเป็นสาเหตุเพียงอย่างเดียว มาตรการในระยะสั้นเพื่อประหยัดพลังงานของท่านก็ดูจะหน่อมแน้มเกินกว่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะท่านแทบจะไม่แตะภาคที่ใช้พลังงานสูงสุดคืออุตสาหกรรมเลย
สัดส่วนการใช้พลังงานต่อหน่วยสินค้าที่สูงอย่างอุตสาหกรรมไทย ทำให้การส่งออกที่เพิ่มขึ้นหมายถึงการผลาญพลังงานไปพร้อมกัน จึงต้องหันกลับมาเบียดบังสองอย่างในประเทศคือค่าแรง (ซึ่งจะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นประมาณ 3.4% หรือเท่ากับ 10.3% ของเงินเพิ่มที่ฝ่ายแรงงานร้องขอ) และทรัพยากรสิ่งแวดล้อมซึ่งมีคนเล็กๆ ใช้ประโยชน์อยู่มากมายในประเทศ
ราคาน้ำมันไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก อย่างที่พูดกันเสมอว่า คู่แข่งของเราก็ต้องซื้อน้ำมันแพงเหมือนกัน แต่ยิ่งการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นเหตุให้ต้องขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากเท่านั้น เพราะอุตสาหกรรมไทยต้องซื้อเครื่องจักร, วัตถุดิบ และเทคโนโลยีจากต่างชาติมาผลิต ไม่มีอะไรในประเทศ ไม่ว่าวัตถุหรือความรู้ ที่เราใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มนอกจากแรงงาน หรือทรัพยากรดิบๆ (ท่านนายกฯเองก็เคยพูดเรื่องนี้มาแล้ว)
เศรษฐกิจ "ทวิวิถี" ที่ท่านริเริ่มเอาไว้ไม่บังเกิดผล หรืออย่างน้อยก็ยังไม่บังเกิดผล น้ำพริกเผา, ข้าวเกรียบ, กระเป๋าสาน ฯลฯ จึงยังไม่อาจช่วยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้
การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องในระยะยาวจะเกิดอะไรขึ้น ท่านนายกฯ และคนไทยที่เพิ่งผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาคงจำได้ ท่านนายกฯจะหยุดยั้งมันได้อย่างไร
ดังนั้น วิกฤตจึงเป็นสิ่งปรกติที่เกิดขึ้นในทุกสังคมอยู่เสมอ เพราะสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ทำให้ไม่อาจใช้วิธีการที่เคยใช้มาแก้ปัญหาได้อีกต่อไป จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้เกิดแก่สังคมอย่างเดียว
หากเกิดแก่ชีวิตของบุคคลเหมือนกัน
กล่าวโดยสรุปก็คือ สิ่งที่รัฐบาลเผชิญอยู่เวลานี้ไม่อาจแก้ได้ด้วยวิธีการเดิมๆ ที่ท่านนายกฯเคยใช้ และประสบความสำเร็จมาแล้ว ดังเช่นกรณีภาคใต้ หลังจากหนึ่งปีผ่านไป ท่านนายกฯก็ได้เรียนรู้ว่าความรุนแรงไม่อาจแก้ได้ด้วยความรุนแรง แต่แค่นั้นยังไม่พอ เพราะในช่วงที่ท่านใช้ความรุนแรงแก้ความรุนแรงอยู่หนึ่งปีนั้น ได้ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปเป็นอันมาก จำเป็นที่ท่านจะต้องใช้มาตรการความไม่รุนแรงเชิงรุกอย่างเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อบุคคลที่ท่านเห็นว่าเป็นมิตรของท่านได้จำนวนมาก
วิธีการเก่ามีเสน่ห์ต่อคนทั้งหลาย เพราะมันได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้วว่าใช้ได้ผลดี ดังนั้น การเปลี่ยนวิธีการจึงเป็นเรื่องยาก เพราะมักนำมาซึ่งความเสี่ยงสูง อาจเป็นผลให้กำลังทางการเมืองของผู้ใช้วิธีการใหม่อ่อนลงก็ได้ ด้วยเหตุดังนั้น วิกฤตจึงดำรงอยู่ได้นาน เพราะไม่มีใครอยากเสี่ยง
ผมเห็นว่า กำลังอำนาจหรือที่คนไทยเรียกว่าบารมีของท่านนายกฯ ทั้งในสังคมไทยและในพรรคไทยรักไทยขณะนี้ ยังมีมากพอที่ท่านจะนำการฟันฝ่าวิกฤตออกไปได้ ไม่ง่ายหรอกครับ เจ็บกันพอสมควร แต่หากยังแก้วิกฤตกันด้วยวิธีเดิมๆ ต่อไป ผมสงสัยว่าบารมีของท่านทั้งในสังคมและในพรรค จะลดลงไปจนกระทั่งไม่มีทางแก้ไขอะไรได้เลย
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 630 เรื่อง หนากว่า 8300 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(จะมีการปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
รัฐจะอยู่หรือรัฐจะหายนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการรับรองของนานาชาติเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงที่ผู้คนในพื้นที่นั้นๆ ได้ประสบในชีวิตของเขาด้วย ลักษณะสำคัญของรัฐอย่างหนึ่งคือ Omnipresent แปลว่า ปรากฏอยู่เสมอโดยไม่ขาดตอน ฉะนั้น จู่ๆ รัฐจะหายไปเฉยๆ แม้ชั่วโมงเดียวก็ไม่ได้ เพราะทำให้คนหมดความมั่นใจว่ารัฐยังมีอยู่ตอนไหน และจะไม่มีอยู่ตอนไหน
รัฐบาลคิดว่าจะใช้อำนาจที่เพิ่มขึ้นนี้เพื่อทำอะไร? ผมเชื่อว่ารัฐบาลไม่มีคำตอบ เพราะรัฐบาลเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะฟื้นฟูรัฐไทยกลับคืนมาได้อย่างไร อำนาจที่ล้นเกินและไร้การควบคุมของเจ้าหน้าที่นั้นมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะออกกฎหมายใหม่มารองรับหรือไม่ก็ตาม รัฐบาลได้ปล่อยให้การใช้ความรุนแรง(ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย)ในภาคใต้ เดินมาถึงขีดที่ไม่มีทางใช้ความรุนแรงได้มากไปกว่านี้อีกแล้ว กฎหมายใหม่จึงเป็นแค่กฎหมายลม ซึ่งไม่ได้วางอยู่บนนโยบายอะไรสักอย่าง ผมไม่ปฏิเสธความรุนแรงเด็ดขาด ซึ่งรัฐทุกรัฐต้องใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แนวรบของรัฐนั้นมีหลายด้านด้าน ที่ต้องใช้ความรุนแรงก็ต้องใช้ แต่พร้อมกันนั้นยังมีด้านที่ให้ความเป็นธรรมแก่ความรุนแรงซึ่งต้องทำควบคู่กันไป
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 630 เรื่อง หนากว่า 8300 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 150 บาทสนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ
ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์