ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
related topic
020848
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 629 หัวเรื่อง
อธิบายวัฒนธรรมไทยปนฝรั่ง
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักวิชาการอิสระ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The Midnight 's free article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 30,779 สูงสุด 51,792 สำรวจเมื่อเดือน มิ.ย. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

รวมบทความวิชาการที่เคยตีพิมพ์
นิธิอธิบาย : สังคม-วัฒนธรรมไทยปนฝรั่ง
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เขียน
นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ : รวมบทความที่เคยตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน
๑. คุณธรรม กับ คุณลักษณะ
๒. การปฏิวัติทางญานวิทยา


เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7.5 หน้ากระดาษ A4)




๑.
คุณธรรมกับคุณลักษณะ
"ระบบคุณธรรม" เป็นคำที่เรานิยมใช้ให้ตรงกับคำฝรั่งว่า merit system แต่ผมคิดว่าเป็นคำแปลที่ทำให้ไขว้เขวในภาษาไทย

merit ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายเดียวกับการทำ "บุญ" แต่หมายถึงความสามารถหรือความถนัดในตำแหน่งงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ตำแหน่งนักแม่นปืน คนที่เหมาะสมกินตำแหน่งนี้คือคนที่ยิงปืนแม่น แม้ว่าในชีวิตจริงเขาตบเมียและเตะลูกทุกวันก็ตาม ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณธรรมของเขาเลย ฉะนั้น ถ้าจะแปลให้ใกล้เคียงกว่าน่าจะเป็นระบบคุณลักษณะ

แต่ที่เราแปลเป็น "ระบบคุณธรรม" ก็มีเหตุอยู่เหมือนกัน ผมเดาว่าเพราะตำแหน่งสาธารณะต่างๆ ของระบบบริหารของเรามักมาจากการแต่งตั้ง โดยที่เขาก็ไม่ต้อง "รับผิด" กับสาธารณะเสียด้วย ฉะนั้น เวลาเราใช้คำว่าคุณธรรม เรากำลังคิดถึงคนแต่งตั้งมากกว่าคนที่ถูกแต่งตั้ง คือถามหา "คุณธรรม" ของคนแต่งตั้ง (เรื่องนี้ไม่ได้ตั้งใจจะกระทบกระเทือนใครทั้งนั้น)

คำที่ตรงข้ามกับ "ระบบคุณลักษณะ" ในภาษาฝรั่งคือ spoils system
spoils ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าทำให้เน่าเสีย (ซึ่งก็ไม่ควรมีตัว s) แต่แปลว่าทรัพย์ที่ฝ่ายชนะยึดได้ในสงคราม เพราะคำนี้เกิดจากวาทะของนักการเมืองอเมริกันคนหนึ่ง ปกป้องประธานาธิบดีที่แต่งตั้งสมัครพรรคพวกไปดำรงตำแหน่งสาธารณะมากมาย เขาพูดว่า ทั้งนี้เพราะผู้พิชิตย่อมยึดทรัพย์จับเชลยได้ตามปรารถนาเป็นธรรมดา (หรือโดยธรรม) ฉะนั้น ถ้าให้ผมแปลคำนี้คงแปลว่า "ระบบทรัพย์เชลย"

ถ้าเราพูดถึงการจัดการสังคม ไม่ใช่การจัดการองค์กรบริหาร "ระบบคุณลักษณะ" และ "ระบบทรัพย์เชลย" ไม่ได้เป็นสองขั้วที่อยู่แยกกันโดยเด็ดขาด แต่สังคมมนุษย์ที่ไหนๆ ก็ใช้ทั้งสองระบบเพื่อบริหารจัดการให้สังคมดำเนินชีวิตไปได้

ชนชั้นนำ (elite class) ในชุมชนเกษตรกรรมไทยโบราณ คือกลุ่มเครือญาติที่ถือครองหรือเข้าถึงทรัพยากรได้มาก เพราะมักจะสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มครอบครัวที่เข้ามาบุกเบิกป่าก่อน และด้วยเหตุดังนั้น นายบ้านจึงมักมาจากคนในกลุ่มเครือญาตินี้ แม้แต่สมภาร (ซึ่งย่อมเป็นสมาชิกสำคัญในกลุ่มชนชั้นนำ) ยังหนีไม่พ้นจากคนในกลุ่มเครือญาตินี้เลย

แน่นอนว่าเมื่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเข้ามาสู่ชุมชนอย่างกระชั้นถี่ขึ้น คนกลุ่มนี้ย่อมมีฐานสำหรับการปรับตัวได้หลายทางเลือกกว่าคนอื่น และในหลายกรณีก็ยังสามารถรักษาความเป็นชนชั้นนำไว้ได้สืบมา

เมื่อตำแหน่งสาธารณะกลายเป็นตำแหน่งเลือกตั้งโดยประชาชนเป็นรายหัว การเลือกตั้งไม่อาจทำลายฐานอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำได้ เพราะที่จริงแล้วระบบเลือกตั้งกับ "ระบบทรัพย์เชลย" นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน ผู้ชนะเลือกตั้งย่อมสามารถยึดทรัพย์จับเชลยได้ตามปรารถนา

คนที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือ อบต. (โดยเฉพาะประธาน) นั้นไม่ได้มาคนเดียว แต่เขามีทีมของเขาซึ่งช่วยกันหาเสียง จึงต้องแบ่ง "ทรัพย์เชลย" กันเมื่อได้ชัยชนะไม่ใช่แค่ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันเท่านั้นนะครับ รวมไปถึงตำแหน่งเสมียนในสำนักงาน อบต. ด้วย ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถและความใส่ใจในหน้าที่การงานเป็นรองเครือข่ายความสัมพันธ์กับผู้แต่งตั้ง

"ระบบทรัพย์เชลย" นั้นอธิบายการบริหารของไทย ปัจจุบันจากหมู่บ้านไปได้ถึงระดับรัฐบาลกลาง เพราะระบบราชการเองก็ตกอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน คนที่จะเป็น ผบ.เหล่าทัพ, ผบ.ตำรวจ, ปลัดกระทรวง ไปจนถึงอธิบดีกรมที่สำคัญๆ ล้วนต้องมีความสัมพันธ์พิเศษกับ "ผู้พิชิต" ทางการเมืองทั้งนั้น จึงเป็นธรรมดานะครับที่ตำแหน่งซึ่งรองลงมาจากนั้น ก็ต้องถือว่าเป็นทรัพย์เชลยของคนที่ได้รับแต่งตั้งจากนักการเมืองอีกทีหนึ่ง

และด้วยเหตุดังนั้น การบริหารกิจการสาธารณะ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านขึ้นมาถึงประเทศ จึงเละเป็นธรรมดา และทำให้คนชั้นกลางเรียกร้องให้ใช้ "ระบบคุณลักษณะ" อยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ผู้เรียกร้องเองก็ไม่ปฏิเสธการใช้ "เส้น" ในชีวิตประจำวันของตัว

นั่นคือเหตุผลที่คนชั้นกลางผู้เรียกร้อง "ระบบคุณลักษณะ" กลับไปเรียกร้อง "คุณธรรม" ของผู้แต่งตั้งแทนการเรียกร้องให้เกิด "ระบบ" บางชนิด ซึ่งจะประกันว่าคนมีคุณลักษณะอันเหมาะสมเท่านั้นที่พึงได้รับการแต่งตั้ง พูดอีกอย่างหนึ่งคือหวังจะใช้แรงบีบทางศีลธรรมเพื่อให้เกิด "ระบบคุณลักษณะ" ในการบริหารกิจการสาธารณะ แต่แรงบีบทางศีลธรรมนั้นอ่อนแรงลงในสังคมสมัยใหม่ทุกแห่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปดูชุมชนเกษตรสมัยโบราณอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่า "ระบบทรัพย์เชลย" ในการบริหารกิจการสาธารณะเป็นที่แพร่หลายทั่วไป แต่ก็หลีกหนี "ระบบคุณลักษณะ" ไม่พ้น ต้องใช้ควบคู่กันไป โดยเฉพาะในกิจการซึ่งต้องทำให้ภารกิจนั้นๆ สำเร็จ เช่น หุงข้าวกระทะ อันเป็นภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จพอจะอร่อยปากแก่เจ้าภาพและแขก ก็ต้องยกให้คนที่มีความสามารถจะทำได้ รวมไปถึงงานส่วนรวมอีกหลายอย่างที่ต้องอาศัยความสามารถพิเศษของบุคคลบางคน ล้วนต้องเลือกคนกันด้วย "ระบบคุณลักษณะ" ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ผมยอมรับนะครับว่า การบริหารกิจการของหมู่บ้าน (ในสมัยก่อน) กับการบริหารกิจการขององค์กรสาธารณะเช่นระบบราชการนั้นไม่เหมือนกัน แต่ความต่างที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่ขนาดเล็กหรือใหญ่ หากอยู่ที่เงื่อนไขสองประการ

หนึ่ง ก็คือ ผู้รับบริการของหมู่บ้านสามารถ "ลงโทษ" ผู้บริหารได้โดยตรง ที่ว่าโดยตรงก็คือนินทาได้ ประชดได้ หรือถึงที่สุดด่าก็ได้, ไม่ให้ความร่วมมือก็ได้ หรือสร้างแรงกดดันโดยตรงในประการอื่นๆ ได้อีกแยะ เพราะผู้รับบริการกับผู้บริหารมีความใกล้ชิดกัน

เงื่อนไขข้อนี้ถ้าพูดให้ขลังหน่อยก็คือชาวบ้านมีอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลผู้บริหารหลายชั้นหลายเชิง อันเป็นเงื่อนไขที่เราไม่พบในการบริหารองค์กรสาธารณะ หรือระบบราชการปัจจุบัน ถึงมีก็ไม่ง่ายที่จะทำ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคหลายอย่าง แม้แต่ฟ้องสื่อก็ไม่แน่ว่าสื่อจะเล่นด้วย

สอง ก็คือ เพราะผู้บริหารถูกตรวจสอบควบคุมจากผู้รับบริการอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ ผู้บริหารจึงต้องมีความรับผิด (accountability) โดนเขานินทากันทั้งบ้าน ก็อายเหมือนกันนะครับ ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม หรือลาออกไป

และเงื่อนไขนี้แหละครับที่เราหาแทบไม่ได้เลยทั้งจากระบบราชการหรือจากระบบการเมืองของเรา "เงื่อนไขการจ้าง" ของตำแหน่งบริหารต่างๆ นั้น เราไม่เคยรู้ และเราไม่เคยมีส่วนร่วมในการกำหนด ฉะนั้น เราไม่มีทางรู้ได้หรอกว่า ผบ.ตำรวจ คนนี้หรือคนไหน ควรอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่

ถึงบ้านเราถูกขโมยงัดทุกวัน เราก็ไม่รู้ว่าการปราบปรามโจรกรรมตามบ้านเรือนถูกตั้งเป็น "เงื่อนไขการจ้าง" ระดับไหน คนที่เราสามารถลากตัวมารับผิดได้จึงเป็นแค่ตำรวจระดับเล็กๆ ข้างล่าง เช่น สารวัตรในท้องที่ของเรา ซึ่งเล็กเกินกว่าจะวางระดับความสำคัญของภารกิจ แต่คนที่ควรรับผิดชอบต่อเราคือตัว ผบ.ตำรวจ กลับอยู่เหนือการตรวจสอบควบคุมของเรา

เพราะมันไม่มีระบบรับผิดในการบริหารราชการ ชี้ใครก็ไม่ได้สักคน นักการเมืองเองก็ไม่ต้องรับผิด เพราะ รมต. ที่ดูแลตำรวจก็ไม่อยู่ในระบบรับผิดเหมือนกัน จึงเป็นธรรมดาที่ "ระบบทรัพย์เชลย" ย่อมเป็นหลักในการบริหารราชการในบ้านเรา

ผมคิดว่า "ระบบทรัพย์เชลย" ยังไม่เลวร้ายเกินไป (ที่จริงมีคนเสนอข้อดีของมันก็มาก) ถ้ามีเงื่อนไขทั้งสอง คือ ประชาชนตรวจสอบควบคุมได้หนึ่ง และมีระบบรับผิดชอบอีกหนึ่ง

แต่ทำไมคนชั้นกลางไทยจึงไม่เรียกร้องผลักดันให้เกิดเงื่อนไขทั้งสอง เท่ากับเรียกร้อง "ระบบคุณธรรม" เฉยๆ

คงมีเหตุผลที่จะตอบเรื่องนี้ได้หลายอย่าง แต่เหตุผลหนึ่งซึ่งไม่ค่อยพูดกันแต่ผมคิดว่าสำคัญก็เพราะ "คุณลักษณะ" ที่ถือว่าสำคัญที่สุดในการคัดคนเข้าสู่อำนาจ เป็น "คุณลักษณะ" ที่คนชั้นกลางมีมาก นั่นคือระดับการศึกษาครับ

คนชั้นกลางในเมืองไทยก็เหมือนคนชั้นกลางที่อื่น ตรงที่ประสบความสำเร็จในการทำลาย "คุณลักษณะ" ของตำแหน่งแห่งอำนาจแบบเดิมลงได้ นั่นก็คือทำให้ชาติกำเนิด, เพศ, วรรณะ, ชาติพันธุ์, รูปกาย, ไม่ใช่ "คุณลักษณะ" สำคัญของตำแหน่งแห่งอำนาจ แต่กลับมาเน้นที่ระดับการศึกษาซึ่งตัวมีมากที่สุดแทน (ไม่จำเป็นต้องแสดงด้วยวุฒิบัตรอย่างเดียว พูดภาษาอังกฤษคล่องก็ใช่, เคยอยู่เมืองนอกนานก็ใช่, จบมหาวิทยาลัยดังก็ใช่ ฯลฯ)

ระบอบปกครองที่คนชั้นกลางอยากสถาปนาขึ้น ฝรั่งเรียกอย่างประชดว่า Meritocracy ผมแปลตามใจชอบว่าคุณลักษณาธิปไตย คือให้อำนาจแก่คนที่มีคุณลักษณะอันตรงกับที่คนชั้นกลางมีและบูชา และด้วยเหตุดังนั้น การศึกษาในทุกวันนี้จึงเป็นสนามทางการเมืองที่สำคัญ คนกลุ่มหนึ่งใช้เป็นที่หล่อหลอมลูกหลานให้ไต่เต้าไปสู่อำนาจ คนอีกกลุ่มหนึ่งพยายามเบียดเข้ามา แต่กำลังน้อยจึงมักถูกเบียดให้หลุดออกไปจากสนามที่แออัด ทว่า กลุ่มหลังนี้มีจำนวนมาก จึงบีบบังคับให้ขยายสนามให้กว้างขึ้น จนอาจทำให้ "คุณลักษณะ" แห่งอำนาจของคนชั้นกลางกระทบกระเทือนได้

ด้วยเหตุดังนั้น จึงต้องสร้างรั้วเป็นชั้นๆ ในสนามที่ถูกเปิดกว้างขึ้น รั้วอย่างแรกคือการทำให้สถาบันการศึกษาเป็นชั้นหนึ่ง ชั้นสอง และชั้นสาม และรั้วอย่างที่สองคือการขึ้นค่าเล่าเรียนลดหลั่นกันตามชั้นของสถาบัน


๒. การปฏิวัติทางญาณวิทยา

ในท่ามกลางกระแสคัดค้านรัฐบาลจากหลายฝ่าย ท่านนายกฯ ใช้วาจาคมคายของท่านตอบโต้ว่า จุดอ่อนของไทยนั้นอยู่ที่คนไม่รู้เถียงกับคนไม่รู้ ความหมายคือกระแสเสียงที่เปล่งกันออกมาคนละทิศคนละทางกับรัฐบาลนั้น ล้วนมาจากคนไม่รู้ทั้งนั้น จึงไม่มีประโยชน์ที่รัฐบาลจะไปเถียงด้วย เพราะจะทำให้จุดอ่อนของไทยเหลวเละลงไปอีก

น่าอัศจรรย์นะครับที่โวหารอันคมคายเช่นนี้ มาจากบุคคลซึ่งพูดอะไรไว้ผิดบ่อยๆ จนรู้กันทั่วทั้งสังคมอย่างท่านนายกฯ ก็ผู้คนยังไม่ได้ลืมไปไม่ใช่หรือว่า ท่านกล่าวโทษบุคคลในที่สาธารณะว่าค้ายาเสพติดบ้าง เป็นสมาชิกเจไอบ้าง และความผิดอุกฉกรรจ์อีกหลายเรื่อง แต่กลับปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นกลับได้รับคำพิพากษายกฟ้องในศาล ท่านคาดว่าน้ำมันจะขึ้นราคาชั่วคราว จึงควรตรึงราคาน้ำมันไว้เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ แล้วน้ำมันก็ยังขึ้นราคาสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ จนทำให้เศรษฐกิจผันผวนหนักกว่าที่ควรจะเป็น ท่านประเมินสถานการณ์ในภาคใต้ตอนล่างไว้ว่า เป็นฝีมือของโจรกระจอก ฯลฯ

ผมควรกล่าวไว้เสียก่อนว่า ผมไม่เห็นว่าการที่ท่านนายกฯ พูดผิดเป็นความเลวร้ายอะไรหนักหนานะครับ นายกฯ ก็เป็นคนเหมือนเรานี่แหละ ไม่ใช่พระอรหันต์ จึงคิดอะไรไม่ถูกด้วยอคติสี่บ้าง ด้วยความผิดพลาดของข้อมูลในมือบ้าง ฯลฯ จึงเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่ที่เที่ยวพูดปาวๆ ในที่สาธารณะ แล้วผลบั้นปลายพิสูจน์ออกมาว่าผิด ผมก็ยังยอมรับได้ด้วยซ้ำ ยกเว้นเรื่องที่อาจไปกระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่น เช่นผู้ต้องหาในคดีต่างๆ เพราะเสียงของนายกรัฐมนตรีนั้นย่อมกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

แต่ที่ยอมรับไม่ได้คือ "ท่าที" ในการพูดครับ เพราะท่านใช้ "ท่าที" ของผู้ผูกขาดความจริงแต่ผู้เดียวตลอด ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องแสดงพยานหลักฐาน หรือกระบวนการทางตรรกะอะไรที่จะนำท่านมาสู่ข้อสรุปอย่างนั้น ประโยคว่า "เชื่อผมเถอะ..." สามารถใช้แทนพยานหลักฐานและกระบวนการทางตรรกะซึ่งไม่เคยบอกได้เสมอ

"ความจริง" ที่ท่านประกาศโผล่มาลุ่นๆ อย่างนั้นเลย ผู้ฟังมีทางเลือกเหลือเพียงสองทางคือ เชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้น ถ้าไม่เชื่อก็ต้องวัดบารมีกัน ระหว่างทีดีอาร์ไอกับนายกรัฐมนตรี บารมีใครจะมากกว่า แล้วคนไทยเชื่อใครก็พอจะเห็นๆอยู่ จากผลการเลือกตั้งครั้งหลังสุดนะครับ ฉะนั้น "ท่าที" ต่อความจริงที่ผมรับไม่ได้นั้น เอาเข้าจริงกลับตรงกับพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ความจริงของคนไทย ผมเองต่างหากที่เป็นไทยน้อยเกินไปจนดัดจริตไปขยะแขยงกับ "ท่าที" แบบนี้

ญาณวิทยาของไทยนับแต่โบราณกาลมาก็คือ ความจริงนั้นมีอยู่ (ไม่ใช่ถูกสร้างขึ้น) และมนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงนั้นได้ โดยได้รับการบอกเล่าจากคนที่ได้เข้าถึงความจริงนั้นแล้ว (ซึ่งเรียกว่าครู, ผู้รู้, นักปราชญ์, ทิศาปาโมกข์, พระมนู ฯลฯ) ฉะนั้น การเรียนรู้คือกระบวนการที่จะทำให้เราสามารถจดจำความจริงที่มีผู้บรรลุแล้วเหล่านั้นไว้ ให้กลายเป็นสมบัติของเราเอง และนั่นคือที่มาของการให้ความสำคัญแก่การท่องจำ

ขอให้สังเกตนะครับว่า ในญาณวิทยาแบบนี้ ความจริงย่อมสถิต คือไม่เปลี่ยนแปลง แต่คงที่อยู่อย่างนั้นเสมอไป จึงไม่จำเป็นต้องไปตรวจสอบความจริงนั้นอีก และด้วยเหตุดังนั้น กระบวนการที่จะแสดงหลักฐานและเหตุผลว่า เราอาจบรรลุความจริงดังกล่าวได้อย่างไร (โดยอาศัยการใช้เหตุผล, โดยอาศัยการสังเกตการณ์, โดยอาศัยการใช้ความรู้สึก ฯลฯ) จึงไม่เกี่ยวหรือไม่สำคัญเลย

ความรู้ฝรั่งที่เราให้ความเคารพนับถือนับตั้งแต่ ร.4 ลงมานั้น ไม่ได้เกิดจากญาณวิทยาแบบนี้

ฝรั่งสมัยนั้นยอมรับว่าความจริงมีอยู่ เราอาจจำลองความจริงซึ่งมีอยู่เป็นอิสระจากความคิดของเราได้ โดยอาศัยการสังกตการณ์และเหตุผล แต่การจำลองของเราอาจถูกขัดแย้งได้ เมื่อคนอื่นได้พบอะไรใหม่ในการสังเกตการณ์และใช้เหตุผลคนละชุดกับของเรา ฉะนั้น ความจริงของฝรั่งจึงไม่สถิต อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามการสังเกตการณ์และการคิดของมนุษย์

การเรียนรู้ที่เหมาะสมในญาณวิทยาแบบนี้ก็คือ การฝึกสังเกตการณ์และใช้เหตุผล ไม่มีความจริงให้ท่องจำ มีแต่กระบวนการบรรลุภาพจำลองความจริงที่ดีที่สุด ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจกระบวนการนั้นๆ ให้กระจ่าง แน่นอนว่า จะประกาศว่าเป็นผู้รู้อยู่คนเดียว โดยไม่แสดงพยานหลักฐานหรือกระบวนการคิดเหตุคิดผลของตัวให้คนอื่นรู้เลย ย่อมเป็นเพียงขี้ฟันที่มีกลิ่นเหม็นในญาณวิทยาแบบนี้เท่านั้น

ตั้งแต่ ร.4 ลงมา เรารับเอาความรู้ฝรั่งมาใช้งานเยอะแยะไปหมด จนอาจกล่าวได้ว่าชนชั้นนำไทยไม่ได้ขัดขวางต่อต้านความรู้ฝรั่งเลย รวมทั้งการจัดการศึกษามวลชนที่อาศัยความรู้ฝรั่งเป็นเนื้อหาหลักในหลักสูตร แต่ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าเราไม่เคยละทิ้งญาณวิทยาแบบเก่าของเรา ฉะนั้น ความรู้ฝรั่งสำหรับเราจึงเป็นความจริงที่ต้องท่องจำ และให้ความสำคัญเสียยิ่งกว่ากระบวนการคิดที่อยู่เบื้องหลังความรู้นั้น ฝรั่งเปลี่ยนความรู้ใหม่ เราก็ท่องจำใหม่ ไม่มีปัญหาอะไรครับ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การรับวัฒนธรรมฝรั่งของไทยนั้น ไม่นำไปสู่การปฏิวัติทางญาณวิทยา

นอกจากนี้ ใครยิ่งใกล้ฝรั่งมากเท่าไร คนนั้นก็ยิ่งใกล้ความจริงหรือบังคับควบคุมความจริงได้มากเท่านั้น ก็ฝรั่งมันรู้ความจริงหรือมีความรู้นี่ครับ ผมคิดว่านี่คือที่มาของความคลั่งปริญญาบัตรในวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน (ซึ่งมีลำดับชั้นของ "ศักดิ์และสิทธิ์" ชุดหนึ่ง อันอาจวิเคราะห์ได้ว่าขึ้นอยู่กับความใกล้-ไกลจากความรู้ฝรั่งนั่นเอง)

ยังมีมิติทางสังคมในญาณวิทยาแบบไทยด้วย นั่นก็คือความรู้หรือความจริงนั้นสัมพันธ์กับสถานะทางสังคมและการเมือง พูดกันตรงๆ ก็คือคนที่มีสถานะทางสังคมและการเมืองสูง ย่อมเข้าถึงความจริงหรือมีความรู้สูงตามไปด้วย

ผมไม่ทราบว่าญาณวิทยาแบบไทยทำให้เกิดเงื่อนไขนี้มาแต่โบราณหรือไม่ แต่ญาณวิทยาแบบไทยที่รักษาเอาไว้ท่ามกลางการเรียนความรู้ฝรั่งนั้น ทำให้เกิดเงื่อนไขนี้ขึ้นแน่ เพราะเฉพาะคนที่มีสถานะทางสังคมและการเมืองสูงเท่านั้น ที่มีโอกาสได้รับการศึกษาจนสามารถมีฉลากฝรั่งติดตัวได้

อำนาจและความรู้กลายเป็นเรื่องเดียวกันขึ้นมา

คงจำกันได้นะครับว่า ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญที่กีดกันคนไม่มีปริญญาลงรับเลือกตั้งนั้น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอ้างว่า กว่า 80% ของประชาชนที่ไปสำรวจความเห็นต้องการอย่างนั้น

เมื่อท่านนายกฯ พูดว่า คนที่คิดเห็นไม่เหมือนรัฐบาล "ไม่รู้" โดยไม่ต้องอธิบายว่าข้อเสนอหรือความคิดเห็นของเขาผิดตรงไหนเลย ผมก็เชื่อว่ามีคนไทยกว่า 80% เหมือนกันที่เห็นพ้องกับท่าน ก็ท่านเป็นถึงนายกรัฐมนตรี มีสถานะทางสังคมและการเมืองสูงสุด จะไม่มีความจริงในมือมากกว่าคนอื่นได้อย่างไร

กล่าวโดยสรุปก็คือ ญาณวิทยาแบบไทยที่ถือว่า มีคนบางคนเข้าถึงความจริงสูงสุดนั้น ยังเป็นญาณวิทยาของคนส่วนใหญ่ในประเทศอยู่ ไม่ว่าเราจะรับวัฒนธรรมฝรั่งมามากเพียงใดก็ตาม และญาณวิทยาแบบนี้ยังเป็นฐานของระบบการศึกษาไทย และการเมืองไทยสืบมาจนปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะเรียกระบบปกครองของเราว่าประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม

อันที่จริง ถ้าพูดกันด้วยญาณวิทยาแบบนี้ จะเป็นประชาธิปไตยกันจริงๆ คนไม่รู้นั่นแหละควรพูดมากกว่าคนรู้ ก็คนรู้มีอยู่ไม่กี่คนเท่านั้นนี่ครับ เจ้าของประเทศล้วนเป็นคนไม่รู้เสียเป็นส่วนใหญ่ ถ้าไม่ให้เขาพูดก็ยกประเทศให้ผู้รู้ไม่กี่คนนั้นไปเลยก็แล้วกัน

ผมเชื่อว่า คงมีคนจำนวนไม่น้อยแย้งว่า ถ้าปล่อยให้คนไม่รู้พูดมาก บ้านเมืองก็เละเทะไปหมดสิ เพราะเมื่อไม่รู้แล้วจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร ต้องปล่อยให้คนรู้เขาจัดการไปนั่นแหละถูกแล้ว

ถ้าประชาธิปไตยหมายถึงการปกครองของคนไม่รู้ ก็อย่าเป็นมันเลยประชาธิปตงหรือปไตย

ใช่เลยครับ เพราะประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เรารู้จักนั้น เป็นระบบที่วางอยู่บนญาณวิทยาแบบใหม่ของฝรั่ง (ใหม่กว่าสมัยกลาง) นั่นก็คือความรู้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะอยู่ในมือใครก็ตาม ย่อมอาจถูกตรวจสอบได้เสมอ มี "ศักดิ์และสิทธิ์" เท่าๆ กันหมด เพราะจะเป็นที่ยอมรับได้ก็ต้องแสดงหลักฐานและเหตุผลวิธีคิดมาให้เป็นที่ยอมรับ จะมาประกาศปาวๆ เพราะถือว่าเป็นนายกฯ หรือเป็นผู้มีสถานะสูงอย่างเดียวไม่ได้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประชาธิปไตยเป็นระบอบปกครองของคนไม่รู้ด้วยกัน ที่ใครอ้างว่ารู้นั้น คนอื่นอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเขาแสดงกระบวนการคิดของเขาให้เป็นที่เชื่อถือได้หรือไม่ต่างหาก

ปราศจากการปฏิวัติทางญาณวิทยา ประชาธิปไตยไทยย่อมไม่ง่อนแง่นเป็นธรรมดา รัฐธรรมนูญหรือทหารประชาธิปไตยหรือประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นคงของระบอบนี้ขึ้นมาได้ เพราะลึกลงไปจริงๆ เรายังแสวงหาคนที่กุมความจริงไว้ในมือมาปกครอง มากกว่าจะถกเถียงแลกเปลี่ยนระหว่างคนไม่รู้ด้วยกัน

เช่นเดียวกับการปฏิรูปการศึกษาที่พูดกันมากมายนั้น ต้องมีการปฏิวัติญาณวิทยาเป็นฐานของการปฏิรูป ไม่อย่างนั้นก็ต้องเถียงกันแต่เรื่องอำนาจในการคุมโรงเรียนควรอยู่ในมือใคร กระทรวง, ครู หรือ อบต.

อย่างไรก็ตาม ผมไม่อยากพูดจนดูเหมือนโลกมืดมนไปหมด เพราะผมคิดว่าญาณวิทยาแบบไทยกำลังถูกสั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นั่นคือการแพร่เข้ามาของญาณวิทยาโพสต์มอเดิร์นของฝรั่ง ผมขอสรุปฐานความคิดของโพสต์มอเดิร์นตามความเข้าใจอย่างตื้นเขินของตัวเองว่า ความจริงสูงสุดอาจมีอยู่ก็ได้ แต่เราไม่มีวันเข้าถึงหรอก ที่เรียกกันว่าความจริงหรือความรู้ล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างทางสังคมทั้งนั้น เพื่อเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง

ด้วยเหตุดังนั้น จะคว้ามาแต่ "ความรู้" แล้วรักษาญาณวิทยาไว้เหมือนเดิมอย่างที่ไทยเคยทำมากับพวกมอเดิร์นนิสต์จึงไม่ได้ จะคว้าไว้ได้ก็แต่เพียงวิธีวิทยา ไม่ใช่ความจริงที่ตายตัวอันควรแก่การทรงจำไว้

ความแพร่หลายของโพสต์มอเดิร์น โดยเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการรุ่นใหม่ ชี้ให้เห็นว่า แล้วในที่สุดมันก็จะขยายไปถึงนักเรียนมัธยม และพอถึงตอนนั้น (หรืออาจจะก่อนนั้นเสียอีก) ญาณวิทยาแบบไทยก็จะถูกท้าทายอย่างหนัก จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติทางญาณวิทยาขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 620 เรื่อง หนากว่า 8200 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

ในภาษาฝรั่ง spoils system. spoils ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าทำให้เน่าเสีย แต่แปลว่าทรัพย์ที่ฝ่ายชนะยึดได้ในสงคราม เพราะคำนี้เกิดจากวาทะของนักการเมืองอเมริกันคนหนึ่ง ปกป้องประธานาธิบดีที่แต่งตั้งสมัครพรรคพวกไปดำรงตำแหน่งสาธารณะมากมาย เขาพูดว่า ทั้งนี้เพราะผู้พิชิตย่อมยึดทรัพย์จับเชลยได้ตามปรารถนาเป็นธรรมดา (หรือโดยธรรม) ฉะนั้น ถ้าให้ผมแปลคำนี้คงแปลว่า "ระบบทรัพย์เชลย"

ตั้งแต่ ร.4 ลงมา เรารับเอาความรู้ฝรั่งมาใช้งานเยอะแยะไปหมด จนอาจกล่าวได้ว่าชนชั้นนำไทยไม่ได้ขัดขวางต่อต้านความรู้ฝรั่งเลย รวมทั้งการจัดการศึกษามวลชนที่อาศัยความรู้ฝรั่งเป็นเนื้อหาหลักในหลักสูตร แต่ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าเราไม่เคยละทิ้งญาณวิทยาแบบเก่าของเรา ฉะนั้น ความรู้ฝรั่งสำหรับเราจึงเป็นความจริงที่ต้องท่องจำ และให้ความสำคัญเสียยิ่งกว่ากระบวนการคิดที่อยู่เบื้องหลังความรู้นั้น ฝรั่งเปลี่ยนความรู้ใหม่ เราก็ท่องจำใหม่ ไม่มีปัญหาอะไรครับ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การรับวัฒนธรรมฝรั่งของไทยนั้น ไม่นำไปสู่การปฏิวัติทางญาณวิทยา นอกจากนี้ ใครยิ่งใกล้ฝรั่งมากเท่าไร คนนั้นก็ยิ่งใกล้ความจริงหรือบังคับควบคุมความจริงได้มากเท่านั้น

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 600 เรื่อง หนากว่า 8000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้อ้างอิง